วันเวลาปัจจุบัน 22 พ.ค. 2025, 16:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ต.ค. 2010, 12:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 ส.ค. 2010, 13:16
โพสต์: 279

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ละความโกรธด้วยเมตตา
ละความโกรธด้วยการเจริญเมตตาลืมความโกรธนั้นเสีย

แล้วระลึกถึงกัมมสกตาของตนและของผู้อื่น

อย่างนี้ว่า

“ท่านโกรธแล้วจะทำอะไรเขาได้

จักอาจเพื่อยังคุณ อันมีศีล เป็นต้น ของเขาให้พินาศไป ได้หรือ

เขามาด้วยกรรมของเขา

เขาก็จักไปด้วยกรรมของเขานั้นแหละ

มิใช่หรือ”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2010, 22:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 พ.ค. 2010, 13:34
โพสต์: 1654

งานอดิเรก: ฟังเพลง และฟังธรรมตามกาลเวลา
สิ่งที่ชื่นชอบ: อภัยทาน
อายุ: 39
ที่อยู่: กรุงเทพมหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว




Lotus227.jpg
Lotus227.jpg [ 3.9 KiB | เปิดดู 1716 ครั้ง ]
» เมตตาตัวเอง

เย็นวันนี้ บุษบารำไพพาคุณยายมาเดินเล่นออกกำลังกายที่สวนรถไฟ คุณยายรู้สึกเบิกบานที่ได้เดินชมดอกไม้สวย ๆ ที่ปลูกอยู่ข้างทางเดิน เด็กชายเล็ก ๆ คนหนึ่งวิ่งเล่นอยู่บนสนามใกล้แนวต้นลั่นทมที่กำลังออกดอกสีแดงไปทั่ว แกสะดุดเท้าตัวเองเล็กน้อย จนทำท่าเซถลาไปข้างหน้า แต่ก็ตั้งตัวได้ ก่อนที่จะหกล้มลงไป คุณยายร้องอุ๊ยเบาๆ พลางทำท่าเหมือนจะประคองไว้ ทั้งที่อยู่ห่างกันตั้งไกล

บุษบารำไพหัวเราะเบาๆ เอ็นดูทั้งเด็กและคุณยายที่กำลังพึมพำเบา ๆ ว่า “ขอให้เป็นสุขเป็นสุขนะลูก”

“แกเป็นสุขอยู่แล้วนี่คะ คุณยายขา” บุษบารำไพเอ่ยยิ้ม ๆ

“ก็ให้แกเป็นสุขมากขึ้น”

“คุณยายแผ่เมตตาประจำเลยนะคะ”

“ใช่จ๊ะ ยายชอบปฏิบัติเรื่องแผ่เมตตา มันสบายใจดี” คุณยายยิ้มอย่างมีความสุข ดวงหน้าอิ่มเอิบผ่องใส

“การแผ่เมตตานี่ เราแผ่ไปได้ตลอดเวลา เมตตาคือปรารถนาให้ผู้ที่เราพบมีความสุข ส่วนกรุณาคือ ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ มันก็จะมาคู่กันเสมอ เพราะเมื่อเราอยากให้เขาเป็นสุข เราก็อยากช่วยให้เขาพ้นทุกข์”

“เวลาคุณยายสวดมนต์เสร็จ หนูก็เห็นคุณยายนั่งแผ่เมตตาด้วย นานเชียว” บุษบารำไพเข้าประคองแขนคุณยายขณะเดินข้ามสะพาน

“อันนั้นเราแผ่ให้หลาย ๆ คน แต่เราควรจะแผ่เมตตาให้ตัวเองก่อนนะจ๊ะ ท่านมีบทสวดที่ว่า ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข เพื่อให้เราเป็นพยานกับตัวเองว่าเราเองก็อยากจะมีความสุข คนอื่นเขาก็อยากมีความสุขเหมือนกัน แผ่ให้ตัวเองแล้ว ก็แผ่ให้คนอื่น คนที่มีพระคุณ คนที่เรารัก แม้แต่คนที่เราเฉย ๆ หรือคนที่เราไม่ชอบเราก็แผ่ให้ แผ่ให้สรรพสัตว์ทั้งหลายใน 31 ภูมิเลย”

“แผ่ให้คนที่เกลียดกันนี่ลำบากหน่อยนะคะ คุณยายขา” บุษบารำไพหัวเราะเบา ๆ ส่ายหน้าเล็กน้อย เธอยกไม้ยกมือตามกลุ่มคนที่กำลังเต้นออกกำลังกายไปตามเสียงเพลงอยู่กลางสนาม คุณยายยืนพักพลางแกว่งแขนเบา ๆ

“การแผ่เมตตาให้คนที่เราเกลียด ก็ไม่ใช่ว่าเราจะต้องไปรักเขา แต่หมายความว่าเราจะไม่ไปคิดร้ายเขา แล้วการแผ่ไปให้เขาบ่อย ๆ ก็อาจมีอานิสงส์ ทำให้เขากลับมาดีกับเราได้ เราเองก็ไม่ควรจะนึกเกลียดใครด้วย มันทำให้เราไม่สบายใจ”

“แต่ความที่มันรู้สึกไม่ชอบมันก็ยากนะคะ”

“เราไม่ได้มองที่ความเป็นเขาในนิสัยที่เราไม่ชอบ ตอนที่เราแผ่เมตตา เรามองว่าเขาเป็นเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ดิ้นรนอยู่ในสังสารวัฏเหมือนกัน มันเป็นทุกข์โศกของสังสารวัฏ ขอให้เขาเป็นสุขเถิด เพราะเขาเองก็มีความทุกข์ในใจเขาเหมือนกัน เขาก็ทุกข์ร้อนในแบบของความเป็นเขานั่นแหละ ที่เราไม่ชอบเขาเพราะเขาไม่ถูกใจเรา แต่เราเองก็ไม่ได้เป็นที่ถูกใจคนอื่นไปทั้งหมดเหมือนกันไม่ใช่หรือจ๊ะ ก็จะมีคนไม่ชอบใจเราเหมือนกัน ไม่มีใครเป็นที่รักของคนทั้งโลกได้”

********

บุษบารำไพพาคุณยายเข้าไปนั่งในซุ้มไม้ที่ดอกจันทร์กระจ่างฟ้าสีเหลืองห้อยย้อยลงมา หนุ่มสาวคู่หนึ่งเข็นรถเด็กทารกแฝดผ่านมา เสียงเพลงจากลำโพงของสวนยังคงขับกล่อมผู้มาเดินเล่นให้เพลิดเพลิน สายลมพัดมาเบา ๆ

“การแผ่เมตตาให้ตัวเองนี่ ไม่ใช่เพียงเพื่อเป็นพยานให้ตัวเองก่อนแผ่ให้คนอื่นเท่านั้นนะ เวลาปกติ เราก็ต้องเมตตาตัวเองด้วย” คุณยายเริ่มคุยต่อ เมื่อนั่งพักได้สักครู่

“เมตตาตัวเองคือยังไงคะ คุณยายขา” บุษบารำไพลงมือนวดคุณยายเบา ๆ

“อย่างบางคนไม่ชอบข้อบกพร่องของตัวเอง เช่นไม่ชอบที่ตัวเองมักโกรธ ก็จะหงุดหงิดเมื่อเห็นตัวเองโกรธง่าย แล้วก็พยายามกดดัน บังคับนิสัยขี้โกรธนี้ให้หายไป ซึ่งมันก็จะไม่หายไป ทำให้ตัวเองยิ่งไม่มีความสุขเข้าไปใหญ่ เขาต้องเมตตาตัวเองเห็นและยอมรับว่าตัวเองเป็นคนขี้โกรธ แล้วก็ค่อย ๆ แก้ไขไปคราวใดที่พลาดไป โกรธไปแล้วก็ไม่ต้องต่อว่าตัวเองซ้ำลงไปอีก ในตอนนั้นน่ะเมตตาตัวเอง ให้โอกาสตัวเองอีกครั้งที่จะฝึกแก้ไขใหม่”

“อันนี้เหมือนมีสองคนในตัวเราสิคะคุณยาย คนหนึ่งโกรธ อีกคนเมตตาคนที่โกรธ” บุษบารำไพนึกภาพตาม

“ทำนองนั้นแหละ” คุณยายพยักหน้า บุษบารำไพตั้งสังเกต “บางคนขี้โกรธ แต่ก็ชอบความโกรธของตัวเอง ได้โว้กว้ากใส่คนอื่น เวลาฉันโกรธใครก็เข้าหน้าไม่ติด มีทิฐิว่าตัวเองมีอำนาจรู้สึกว่าฉันใหญ่นะใครอย่ามาแหยม เห็นใคร ๆ กลัวก็เหมือนกับว่าจะเท่ดี หารู้ไม่ว่าเขาเบื่อไม่อยากจะยุ่งด้วยต่างหาก”

คุณยายเสริมว่า “คนขี้โกรธไม่ดี ควรหัดเลิก ใคร ๆ ก็รักคนใจเย็น ใจดี พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ ไม่มีเคราะห์ใดเสมอด้วยโทสะ” เพราะโทสะพาแต่เรื่องเคราะห์ร้ายมาให้อยู่เสมอ

พระพุทธเจ้าทรงสอนภิกษุว่า ให้วางความโกรธ ท่านสอนขนาดว่า ถ้ามีโจรมาทำร้ายมาตัดแขนตัดขา ถ้าภิกษุโกรธตอบนี่ ถือว่าไม่ได้ทำตามที่พระพุทธเจ้าสอนเลยนะจ๊ะ ท่านทรงสอนให้มีเมตตาให้มาก เมตตาคือสิ่งตรงข้ามกับโทสะ เราจะลดความโกรธได้นี่ต้องใช้เมตตามาลบล้างกัน พระองค์สอนให้เรามีเมตตาให้มากอยู่ 4 ข้อ ข้อแรก ให้มีเมตตาให้มากเหมือนแผ่นดินที่ใครจะขุดให้หมดไม่ได้”

“โอ้โฮ” บุษบารำไพร้อง “อะไรมันจะมากได้ขนาดนั้นคะ คุณยายขา” แล้วก็หัวเราะ คุณยายยิ้มสบายใจ

“ใช่จ้ะ มากมายมหาศาล ถ้าเรามีเมตตามากอย่างนั้น ใครจะมาทำให้เราโกรธได้”

“แล้วข้อ 2 อะไรคะ คุณยาย” บุษบารำไพอยากรู้ความน่าสนใจของข้อต่อไปทันที

“ข้อ 2 คือให้มีเมตตามากเหมือนเราเป็นแม่น้ำคงคา ที่ใครจะเอาคบไฟมาจุดให้ติดไม่ได้ จุ่มลงมาทีไรต้องดับไปหมดเองใครหรืออะไรที่จะมาทำให้เราโกรธนี่ มาถึงไม่มีปัญญาทำให้เราโกรธดับไปเองเหมือนคบไฟที่เจอแม่น้ำ”

“คือพร้อมที่จะเป็นที่พึ่งพิงให้ความสบายแก่เหล่าสัตว์โดยทั่วหน้า” คุณยายเสริม แล้วเล่าเรื่องเมตตาต่อไป

“ข้อ 3 คือ ให้เรามีเมตตาให้เหมือนอากาศที่ใครจะวาดภาพให้ติดไม่ได้”

“งง ค่ะ คุณยายขา “ บุษบารำไพหัวเราะ

“หมายความว่า อารมณ์ร้ายที่เข้ามาหาเรา มันไม่สามารถเกาะติดอยู่กับเราได้ เหมือนวาดสีไปบนอากาศ จะให้สีติดอากาศลอยอยู่ไม่ได้ คือ เมตตาเรามากจนดับโทสะ ดับอารมณ์ร้ายที่เข้ามาได้นั่งเอง”

“อ๋อ พอโทสะเข้ามาถึงเรา ก็ร่วงปึ๊ดลงไปเหมือนสะบัดสีไปในอากาศ สีก็ร่วงลงไปหมด “ บุษบารำไพหัวเราะหึ ๆ คุณยายเล่าต่อ

“ข้อ 4 ให้เหมือนถุงหนังแมวที่ใครจะตีให้ดังไม่ได้ ถุงหนังแมวนี่มันนุ่มมาก ตีเท่าไหร่มันก็ไม่ดัง คือเรามีเมตตามาก ใครจะมายั่วให้เราโกรธ คือให้เสียงดังตอบเขาบ้าง หรือทำอะไรตอบโต้กลับไปบ้างอย่างที่เขาต้องการนี่ ทำไม่ได้”

บุษบารำไพยกมือขึ้นเหมือนเด็กนักเรียนตอบครู

“อย่างนี้มาหาหนูได้ หนูจะเป็นหนังวัวที่ขึงหน้ากลอง ตีเบา ๆ ก็ดังลั่นเลย” พูดแล้วก็หัวเราะแล้วรีบประจบคุณยาย

“ล้อเล่นนะคะคุณยายขา หนูเด็กดี ใจเย็น ไม่โวยวายใครหรอกค่ะ”

คุณยายหัวเราะเบา ๆ

“คนที่โวยวายน่ะ ไม่มีอะไรหรอก ท่านสอนว่า คนมีดีเขาเงียบ เหมือนโอ่งน้ำที่มีน้ำเต็ม เราตีข้างโอ่งมันจะเงียบ แต่โอ่งเปล่านี่สิ ตีเบา ๆ ก็ดังกังวาน”

“แล้วเราจะมีเมตตามากขนาดพระพุทธเจ้าสอนได้ยังไงคะคุณยายขา”

“ก็ค่อย ๆ ฝึกไป เปิดใจออกมองเห็นความธรรมดาของโลกความธรรมดาของคน มีเรื่องอะไรกันเราก็ว่า “ไม่เป็นไร” หัดมีเมตตาต่อใคร ๆ ไปเรื่อย ๆ มันก็มากขึ้นได้เอง เหมือนคลองเล็ก ๆ ถ้ามีน้ำมากผ่านมาบ่อย ๆ ก็กลายเป็นแม่น้ำได้ อย่างแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อก่อนก็เป็นคลองเล็ก ๆ มาเหมือนกัน เป็นคลองเชื่อมบางกอกใหญ่กับบางกอกน้อย เดี๋ยวนี้กลายเป็นแม่น้ำ

อีกอย่างหนึ่งคือ พระพุทธเจ้าท่านทรงสอนมรณานุสติให้เราระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ท่านถามพระอานนท์ว่า วันหนึ่งระลึกถึงความตายกี่ครั้ง พระพุทธเจ้าเองระลึกถึงความตายทุกลมหายใจ ถ้าเราระลึกถึงความตายบ่อย ๆ แล้ว จะรู้สึกว่าเราจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แล้วจะโกรธไปทำไม

การหัดมีเมตตามาก ๆ ก็เป็นการเมตตาตัวเองอย่างหนึ่งเหมือนกัน เพราะถ้าเราหัดได้แล้ว มีเมตตามากได้แล้ว เราก็จะมีความสุขมีความเย็น ถ้าเราขี้โกรธนั่นเราทำร้ายตัวเอง ไม่เมตตาตัวเอง คอยทำให้ตัวเองเร่าร้อนพลุ่งพล่านไปด้วยความโกรธอยู่เสมอ ๆ ไม่เมตตาให้ตัวเองได้มีชีวิตที่มีความสุขความสบายใจของอย่างนี้เราไม่ทำให้ตัวเอง จะคอยให้ใครมาทำให้ จะมาหวังว่าให้คนอื่นมาดีกับเราตลอดเวลา เราจะได้ไม่ต้องโกรธงั้นหรือ เราจะไปหวังคนอื่นได้อย่างไร เขาก็เป็นเขา เราเองต่างหากที่ต้องทำตัวเราเองให้เป็นที่พึ่งของตัวเราเองได้ เราหัดมีเมตตามากเอง เราก็เย็นเอง ถึงใครจะเมตตาเรา ถ้าเรายังร้อน เราก็ร้อนอยู่นั่นแหละ เราต้องเมตตาตัวเอง เย็นเอง สบายเอง”

บุษบารำไพยิ้ม นวดคุณยายต่อ กลับมาถามคุณยายเรื่องเมตตาตัวเองที่คุยค้างไว้ คุณยายยกตัวอย่างเรื่องใหม่

“อย่างคนที่ไม่สบาย ลุกไปทำอะไรไม่ได้ถนัดเหมือนปกติจะหงุดหงิดซ้ำว่าทำไมต้องมาป่วย ทำไมทำอะไรไม่ได้อย่างใจ นี่ต้องเมตตาตัวเองว่าเราป่วยอยู่ ทำไมทำอะไรไม่ได้อย่างนี้ นี่ต้องเมตตาตัวเองว่าเราป่วยอยู่ ทำอะไรได้แค่ไหน แค่นั้นก็ดีแล้วมองในแง่ดี เราไม่ต้องไปชอบมันหรอก ที่เราต้องทำคืออดทนกับมันเข้าใจมัน ไม่ไปเกลียดมันเท่านั้นเอง”

“อดทนกับมันคือยังไงคะ คุณยาย”

“อดทนในที่นี้ก็คือเมตตานั่นแหละ ให้ใจเมตตามัน ให้ใจอดทนที่จะอยู่กับความป่วยไข้ ปล่อยวางความกดดัน เหมือนอย่างถ้าเรามีหลานที่เกเรสักคน เราจะทิ้งขว้างเขาหรือ เรายังอยู่กับเขาอย่างอดทนใช่มั้ย แล้วก็พยายามสอนให้เขาเปลี่ยนเป็นคนดี อดทนที่จะสอนอีกด้วย จะมีเมตตา ต้องอดทนกับสิ่งที่เราเมตตาด้วย แต่อดทนอย่างเมตตา ไม่ใช่อดทนอย่างเก็บกด ไม่ถูก”

คุยมาถึงตอนนี้ คุณยายหัวเราะขึ้นมาเบา ๆ

“หลวงพ่อชาเคยเทศน์ว่า ลูกคนมันไม่ใช่ลูกกระสุนนี่ จะได้ยิ่งแล้วทิ้งไป ท่านเทศน์น่ารักดี ยายชอบ”

“อย่างนี้ถ้าบางคนเกเร เป็นอันธพาล เขาจะไม่คิดว่าเขาต้องเมตตาตัวเองที่เกเร แล้วก็เกเรต่อไปหรือคะ คุณยาย” บุษบารำไพตั้งข้อสงสัย

“เวลาเราคุยกันเรื่องธรรมะ เหมือนเราจะละไว้ในฐานะที่เข้าใจว่าเราจะคุยกันโดยมีหลัก 2 ข้อ ว่าสิ่งนั้นดีมั้ย และผิดศีลหรือเปล่า และการฟังธรรมะ เราก็ฟังเพื่อการพัฒนาไปสู่จิตใจที่ถูกต้องดีงาม ทำให้ใจเบาสบายขึ้น

ดังนั้น ถ้าเรื่องเกเร แล้วจะบอกว่าเมตตาให้เกเรมันคงอยู่ต่อไป ฟังแล้วก็รู้ว่าผิดเลย จริงมั้ยหลาน เพราะมันไม่ได้พัฒนาขึ้นไปสู่สิ่งที่ดี”

บุษบารำไพยิ้ม “เขาต้องดูตัวเอง ว่ามีชีวิตที่ไม่ดีอยู่ แล้วเมตตาตัวเองว่าควรจะเปลี่ยนนิสัย เพื่อให้สิ่งดี ๆ กับชีวิตตัวเองบ้าง “

“ใช่ ถูกแล้ว” คุณยายยิ้มรับ

“คุณยายเมตตาตัวเองยังไงมั่งล่ะคะ” บุษบารำไพถามคุณยาย

“ยายก็เมตตาตัวเองว่าแก่แล้ว จะให้คล่องแคล่วเหมือนก่อนนะไม่ได้ มาเดินได้อย่างนี้ก็ดีแล้ว ไม่ได้นึกรังเกียจรำคาญความแก่ของเรา ถ้าเราคอยรู้สึกว่าเราไม่ชอบอะไร ความไม่ชอบนั้นก็จะสร้างทุกข์ขึ้นมาใส่ไว้ในใจเรา เราต้องไม่ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ความเมตตาคือเราสามารถอยู่กับความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในตัวเรา และที่มาจากภายนอกได้ด้วยความสงบสุข”

คุณยายลุกขึ้นเดินต่อ บุษบารำไพพยุงคุณยายเล็กน้อย

“ความรู้สึกต่าง ๆ มันมาแล้ว มันก็ต้องไป อย่างบางวันที่เรารู้สึกหดหู่ เราก็เมตตาคือ ดูมัน ทำความรู้จักกับมันอย่างสงบไม่ต้องไปรู้สึกขับไสไล่ส่ง ความรู้สึกพวกนี้มันเกิดขึ้นตามธรรมชาติแล้วมันก็ต้องหายไปเอง ถ้าเรายิ่งไปรังเกียจไปขับไส มันก็ยิ่งติดอยู่กับเรานานขึ้นอีก แทนที่จะหายไป กลายเป็นว่าความจดจ่อใส่ใจที่จะขับไล่นั่นแหละ เป็นตัวดึงเอาไว้ เลยทุกข์ไม่เลิก”

“อย่างนี้การเมตตาตัวเองนี่รู้สึกจะได้ใช้มากกว่าการแผ่เมตตาไปให้คนอื่นอีกนะคะคุณยาย เพราะในตัวเราเองนี่มีเรื่องเยอะเลยค่ะ”

“เราก็เป็นคนคนหนึ่งเหมือนกัน เราก็ต้องเมตตาตัวเองด้วย เราจะได้มีความสุขความสงบในใจ พอใจเรามีความสุขแล้วเราจึงจะมีความสุขสำหรับจะแผ่ไปให้คนอื่นด้วยนะจ๊ะ”

“จริงสินะคะ คุณยาย ถ้าเราไม่มีความสุขแล้ว เราจะไปบอกว่า ขอให้คนนั้นคนนี้เป็นสุขเป็นสุขเถิดได้ยังไง เหมือนในถ้วยเรา เราเองยังไม่มีน้ำจะกินเลย แล้วจะยื่นให้คนอื่นกิน ก็คงได้แต่กัดถ้วยเหล่าเท่านั้นเองนะคะคุณยาย” บุษบารำไพหัวเราะร่าเริง คุณยายหัวเราะตามเบาๆ ก่อนจะเอ่ยว่า

“ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกจ้ะ แม้ว่าเราเองจะยังไม่มีความสุขเราก็พยายามดูแลจิตใจของเราเพื่อแก้ปัญญาของเราไป แต่เราก็ยังคงปรารถนาจะให้ผู้อื่นมีความสุขได้เหมือนกัน”

“ยังไงล่ะคะ คุณยาย”

“เหมือนอย่างที่ยายจะเดินไม่ไหวแล้ว แต่ยายก็ปรารถนาจะให้หลานวิ่งฉิว ๆ ไปได้ยังไงล่ะ ถ้าต้องรอให้ยายวิ่งได้ฉิวก่อนหลานคงไม่มีโอกาสได้วิ่งแน่ๆ เลย”

บุษบารำไพหัวเราะชอบใจแล้วเข้าหอมแก้มคุณยายฟอดใหญ่ คุณยายหัวเราะอย่างมีความสุข.

ที่มา :: เรือนธรรม :บ้านพักผ่อนทางจิตใจด้วยธรรมะ

กราบอนุโมทนาบุญกับท่านผู้เจริญในธรรมและกัลยาณมิตรทุกท่านค่ะ tongue tongue tongue

.....................................................
ธรรมอำนวยพร
ขอให้.....มีจิตที่รู้ ที่ตื่น ที่เบิกบาน (พุทธะ)
ขอให้.....ทำการงานด้วยความสุข (อิทธิบาทสี่)
ขอให้.....ขจัดทุกข์ได้ด้วยปัญญา (อริยสัจสี่)
ขอให้.....มีดวงตาที่เห็นความจริง (ไตรลักษณ์)
ขอให้.....เจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา)
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร