วันเวลาปัจจุบัน 15 พ.ค. 2025, 21:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2010, 18:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 09:55
โพสต์: 405


 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม : กามตัณหากับกามุปาทานเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?

ตอบ : คำถามข้อนี้หากจะให้ได้คำตอบที่กระจ่างชัดเจน เบื้องต้นควรดูที่พยัญชนะและอรรถตามที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกและพจนานุกรมก่อน ดังนี้

เรื่องพยัญชนะ ได้แก่ ตัวอักษร ถือว่าทั้งสองคำมีคำศัพท์ข้างหน้าเหมือนกัน คือคำว่า “กาม” แต่คำศัพท์ที่นำมาประกอบข้างหลังไม่เหมือนกัน คือ คำว่า “ตัณหา” กับ “อุปาทาน” ตามลำดับ

หากดูเรื่องอรรถ ได้แก่ ความหมาย ถือว่าทั้งสองคำมีความหมายใกล้เคียงกัน โดยในพระไตรปิฎกได้บอกความหมายไว้ว่า

กามตัณหา หมายถึง “ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความชักนำให้คล้อยตามไป ความยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิตอันประกอบด้วยกามธาตุ” @๑

กามุปาทาน หมายถึง “ความพอใจคือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ตัณหาคือความใคร่ สิเนหาคือความใคร่ ความเร่าร้อนคือความใคร่ ความสยบคือความใคร่ ความหมกมุ่นคือความใคร่ในกามทั้งหลาย” @๒

ส่วนในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ได้บอกความหมายไว้ว่า

กามตัณหา หมายถึง “ความทะยานอยากในกาม, ความอยากได้กาม” @๓

กามุปาทาน หมายถึง “ความยึดติดถือมั่นในกาม ยึดถือว่าเป็นของเรา หรือจะต้องเป็นของเรา จนเป็นเหตุให้เกิดริษยาหรือหวงแหน ลุ่มหลง เข้าใจผิด ทำผิด” @๔

เมื่อได้ทราบทั้งอรรถทั้งพยัญชนะของคำทั้งสองจากพระไตรปิฎกและพจนานุกรมแล้ว ต่อไปผู้เขียนขออธิบายจากทัศนะส่วนตัว ดังนี้

กามตัณหา คือ ความชอบใจหรืออยากได้ในกามคุณ ๕ อันได้แก่ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่เกิดขึ้นเพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย หมายถึง เมื่อตาได้เห็นรูป, หูได้ยินเสียง, จมูกได้รู้กลิ่น, ลิ้นได้รู้รส, กายได้รู้สึกโผฏฐัพพะอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นจะเกิดสุขเวทนาขึ้น เมื่อสุขเวทนาเกิดขึ้นแล้ว จิตใจของปุถุชนจะเกิดความชื่นชมยินดีในสิ่งที่เป็นกามคุณ เมื่อความชื่นชมยินดีเกิดขึ้นแล้ว หลังจากนั้นจะเกิดความอยากได้ในกามคุณขึ้นในใจ แต่ยังไม่ถึงขั้นคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสมปรารถนา เพียงแค่ชอบใจและอยากได้มาครอบครองเท่านั้น ปฏิกิริยาต่างๆ ทั้งหมดนี้เรียกว่า “กามตัณหา”

ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กได้เห็นโฆษณาของเล่นในโทรทัศน์ จิตใจจึงเกิดความสุข(เวทนา) แล้วจึงเกิดความชอบใจของเล่น อยากได้ของเล่นนั้น(กามตัณหา) แต่ยังไม่มีการคิดว่าทำอย่างไรถึงจะได้ของเล่นมา

ส่วน กามุปาทาน คือ ความยึดติดถือมั่นในกามคุณ ๕ อันได้แก่ รูป, เสียง, กลิ่น, รส, โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ที่เกิดขึ้นเพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย หมายถึง เมื่อเกิดกามตัณหา คือ ความชอบใจหรืออยากได้ในกามคุณขึ้นครั้งหนึ่งแล้ว เท่านั้นยังไม่เพียงพอ ยังได้เกิดกามตัณหาขึ้นซ้ำอีก แม้ว่าจะเกิดขึ้นซ้ำเพียงครั้งเดียวในวาระต่อเนื่องกัน หรือในวาระไม่ต่อเนื่องกันก็ตาม หรือแม้ว่าจะเกิดขึ้นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอย่างเดิม หรืออย่างใหม่ก็ตาม ความรู้สึกที่เกิดกามตัณหาขึ้นซ้ำอีกเหล่านี้ เรียกว่า “กามุปาทาน”

ไม่ได้เรียกว่ากามตัณหาอย่างเดิมอีกต่อไป เนื่องจากการเกิดขึ้นซ้ำครั้งหลังมีความใคร่ ความพอใจ ความกำหนัด ความเสน่ห์หา ความเพลิดเพลิน ความเร่าร้อน ความหมกมุ่น มีแม้กระทั่งตัณหา ณ ที่นี้ คือ กามตัณหา เองอยู่ในนั้นตรงตามความหมายจากพระไตรปิฎกที่ยกมาข้างต้น

เรื่องกามตัณหาครั้งหลังที่เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ถูกเรียกว่าเป็นความยึดติดถือมั่น “กามุปาทาน” มีการกล่าวเอาไว้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาด้วยเหมือนกัน ท่านกล่าวเอาไว้ว่าตัณหาครั้งหลังเรียกว่า “ความยึดมั่นด้วยตัณหา” ได้เกิดขึ้นอย่างมั่นคง เพราะมีตัณหาครั้งแรกเคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นปัจจัย ขอยกมาให้อ่านดังนี้

“กามุปาทานก่อน ว่าโดยย่อ ตรัสว่า ความยึดมั่นด้วยตัณหา เพราะบาลีมาแล้วว่า บรรดาอุปาทาน ๔ นั้น กามุปาทานเป็นไฉน ความพอใจ คือความใคร่ ความกำหนัดคือความใคร่ ความเพลิดเพลินคือความใคร่ ตัณหาคือความใคร่ สิเนหาคือความใคร่ ความเร่าร้อนคือ ความใคร่ ความสยบคือความใคร่ ความหมกมุ่นคือความใคร่ ในกามทั้งหลาย อันใด นี้เรียกว่า กามุปาทานดังนี้ ตัณหาหลังเกิดขึ้นมั่นคงด้วยอุปนิสสยปัจจัย เพราะตัณหาแรกนั่นเอง ชื่อว่า ความยึดมั่นด้วยตัณหา.” @๕

ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กเริ่มดูโฆษณาของเล่น แล้วเกิดความชอบใจหรืออยากได้ของเล่นขึ้นในใจเป็นครั้งแรก (กามตัณหา) ต่อเนื่องกันนั้นเด็กยังคงดูโฆษณาอยู่ต่อไปยังไม่จบ ในทุกๆ ขณะที่โฆษณากำลังเล่นไป ภายในใจเด็กได้เกิดความชอบใจหรือความอยากได้ของเล่นมาเป็นของตนเกิดขึ้นซ้ำๆ ไปอีกด้วย (กามุปาทาน) จนกระทั่งจบโฆษณา, เมื่อเด็กได้เห็นโฆษณาของเล่นในโทรทัศน์ครึ่งหนึ่งแล้ว เด็กติดใจเกิดความอยากเห็นโฆษณาของเล่นซ้ำอีก (กามุปาทาน), เมื่อเด็กได้เล่นของเล่นครั้งหนึ่งแล้ว เด็กติดใจเกิดความอยากเล่นซ้ำอีก (กามุปาทาน) แม้ว่าเด็กอยู่ที่โรงเรียนไม่ได้เอาของเล่นมาด้วย ในใจยังเกิดความอยากเล่นของเล่นอยู่อีก (กามุปาทาน) เรียกอย่างภาษาทั่วไปว่า “ติดของเล่น” เป็นต้น

นอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเป็นกามุปาทานหรือไม่ ได้แก่ การเริ่มคิด เริ่มมีความเห็น ทฤษฎี ทิฐิต่างๆ หรือเริ่มคิด เริ่มมีแบบแผนความประพฤติ ข้อปฏิบัติที่จะให้ได้สิ่งที่ปรารถนา เมื่อนั้นแสดงว่าเป็น “กามุปาทาน” แล้ว แตกต่างจากกามตัณหาดังที่ได้กล่าวไป คือ กามตัณหาเพียงแค่ชอบใจหรืออยากได้กามคุณมาครอบครองเท่านั้น แต่ยังไม่ถึงระดับคิดว่าทำอย่างไรจึงจะสมปรารถนา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเด็กได้เห็นโฆษณาของเล่นในโทรทัศน์ จิตใจจึงเกิดความสุข(เวทนา) แล้วจึงเกิดความชอบใจของเล่น อยากได้ของเล่นนั้น(กามตัณหา) และเริ่มคิดว่าทำอย่างไรดีจึงจะได้ของเล่นมา (กามุปาทาน) หลังจากนั้นเด็กจึงคิดออกว่าต้องขอเงินพ่อแม่ไปซื้อจึงจะได้ของเล่นมา (กามุปาทาน)

ยังมีจุดสังเกตที่เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของ กามตัณหา และ กามุปาทานได้ คือ กามตัณหา เวลาเกิดขึ้นจะมีสภาวธรรมปรากฏขึ้นในใจด้วยเสมอให้เป็นจุดสังเกต เช่น เมื่อตาได้เห็นรูปที่น่ารักจะมีความชอบใจหรือความอยากได้ในรูปเกิดขึ้นด้วย เป็นต้น แต่กับกามุปาทานแม้กามตัณหาที่เคยเกิดขึ้นนั้นได้ดับลงไปแล้วก็ตาม แต่กามุปาทานยังกลับสะสมอยู่ในสันดานต่อไปได้อีก โดยกามุปาทานในจิตดวงเดิมได้เป็นปัจจัยสืบทอดต่อให้กับจิตดวงใหม่เรื่อยไป วิธีพิสูจน์เรื่องนี้ คือ ไม่ว่าตอนไหนเวลาไหนจะมีกามตัณหาเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม ปุถุชนย่อมจะสามารถรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของรวมทั้งบอกได้ว่ามีสิ่งต่างๆ อะไรบ้างที่เป็นของเรา และอะไรบ้างที่จะต้องเป็นของเรา เช่น รู้สึกและบอกได้ว่านี่คือของเล่นของเรา, รู้สึกและบอกได้ว่านี่คือรถของเรา, รู้สึกและบอกได้ว่านี่คือเงินของเรา เป็นต้น และเวลาที่เกิดเหตุการณ์อันใดที่มากระทบกระทั่งกามคุณที่ชอบใจอยู่ ครอบครองอยู่ อยากได้อยู่ให้เป็นไปต่างๆ ทั้งทางดีหรือไม่ดีก็ตาม ปุถุชนย่อมรู้สึกถึงว่าถูกกระทบกระทั่งให้เป็นไปต่างๆ ด้วยเช่นเดียวกันไม่มากก็น้อย เช่น เวลาที่ของเล่นเด็กเกิดสูญหายไปเด็กเกิดความเสียใจร้องไห้ถามหาว่าของเล่นของหนูหายไปไหน เป็นต้น

สรุป

กามตัณหาและกามุปาทานหากมองผิวเผินเป็นเรื่องง่าย แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง ไม่ใช่เรื่องที่จะแยกแยะความแตกต่างให้กระจ่างแจ้งอย่างครอบคลุมทุกประเด็นได้โดยง่าย เพราะทั้งสองคำนี้มีทั้งส่วนที่เหมือนกัน และส่วนที่แตกต่าง แม้ที่ผู้เขียนยกหลักฐานมาแสดง และได้อธิบายเพิ่มเติมไปทั้งหมด ยังถือว่าเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้นไม่ครอบคลุม ดังนั้นขอให้ผู้สนใจทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไปอีกจะเป็นประโยชน์มาก เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ หลังจากศึกษาในภาคทฤษฎีเข้าใจไม่คลุมเครือแล้ว จะได้ปฏิบัติเพื่อกำจัดออกให้หมดสิ้นจากจิตใจต่อไป

---------------------------------------------------------------------------

@๑ อภิ.วิ. ๓๕/๙๓๓/๕๓๑
@๒ อภิ.สงฺ. ๓๔/๗๘๑/๒๗๑
@๓ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๔๖), หน้า ๑๐.
@๔ พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, ๒๕๔๖), หน้า ๑๑.
@๕ อภิ.วิ.อ.๗๗/๒๖๔/๕๔๐


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร