วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 17:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


เพื่อนสนิท (มิตรสหาย)

ในสังคมมนุษย์เรื่องการคบค้าสมาคมกันนั้นถือเป็นเรื่องปกติ จนมีคำกล่าวของนักปรัชญาว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” คำว่าสัตว์สังคมนั่นคืออยู่ร่วมกัน คบหากัน มีทั้งพึ่งพาอาศัยกัน และแบ่งหน้าที่อาชีพกันทำ ซึ่งมนุษย์เกิดมาส่วนมากนั้น ก็จะต้องคบหาใครบ้างเป็นมิตร ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องปกติมากสำหรับที่คนๆหนึ่งจะคบหาเพื่อน อาจจะเป็นเรื่องแปลกเสียด้วยซ้ำสำหรับคนที่ไม่มีเพื่อน
แต่ถ้าศึกษาในศาสนาพุทธก็จะทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆได้ละเอียดลึกซึ้ง เกินกว่าคำอธิบายของนักปรัชญามาก
คำว่ามิตรในทางพุทธศาสนา เป็นคำที่ยิ่งใหญ่มาก มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่สุด เกินกว่าคนทั่วไปจะคาดคิดถึงเลยทีเดียว แล้วยิ่งศึกษาในส่วนอื่นเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด และกฎแห่งกรรม ก็ทำให้เข้าใจถึงสิ่งที่เป็นตัวกำหนดว่าคนๆ นั้นจะได้ไปพบเจอใคร บุคคลนั้นมีกรรมผูกพันกับใคร จะมีมิตรมากน้อยอย่างไร แล้วส่วนมากจะได้มิตรแบบไหน การที่ใครจะได้คบหามิตรสักคน จนเป็นเพื่อนสนิท ซึ่งเพื่อนสนิทนั้นจะมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อคนๆนั้น เพราะมีส่วนในการซึมซับนิสัยสันดาน การกระทำ และมีผลต่อการตัดสินใจกระทำอะไรบางอย่างในชีวิต
ก่อนที่จะกล่าวส่วนต่อไปนั้น เรามาดูประเภทของมิตรที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้กันก่อน



มีต่อ >>>>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ประเภทของมิตร (อ้างอิง ๑) มีดังนี้
มิตรปฏิรูป หรือมิตรเทียม ๔ ประเภท


แบบที่ ๑ คนปอกลอก (อัญญทัตถุหร) เป็นคนที่หวังจะเอาของจากเพื่อน มี ๔ ลักษณะ
๑. คิดเอาแต่ได้ฝ่ายเดียว
๒. เสียให้น้อยคิดเอาให้ได้มาก
๓. ไม่รับทำกิจของเพื่อนในคราวมีภัย
๔. คบเพื่อน เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์

แบบที่ ๒ คนดีแต่พูด (วจีบรม) มี ๔ ลักษณะ
๑. ดีแต่ยกของล่วงแล้วมาปราศรัย เช่น หลายเดือนที่แล้วมีข้าวสารอยู่หลายกระสอบ ถ้าเจอเพื่อนตอนนั้น ก็จะแบ่งให้ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้วน่าเสียดายจัง ทำไมเพื่อนเพิ่งมา
๒. ดีแต่อ้างสิ่งที่ยังไม่มาถึงมาปราศรัย เช่น อีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ฉันจะมีเงินมีทองแล้ว จะแบ่งให้พวกนายด้วย
๓. สงเคราะห์ด้วยสิ่งหาประโยชน์มิได้
๔. เมื่อเพื่อนมีกิจอ้างแต่เหตุขัดข้อง เช่น เพื่อนชวนไปขนของย้ายบ้าน ก็บอกว่าน่าเสียดายมีธุระสำคัญในวันย้ายบ้านของเพื่อนพอดี

แบบที่ ๓ คนหัวประจบ (อนุปปิยภาณี) มี ๔ ลักษณะ
๑. เพื่อนจะทำชั่วก็คล้อยตาม
๒. เพื่อนจะทำดีก็คล้อยตาม
๓. ต่อหน้าสรรเสริญ
๔. ลับหลังนินทา

แบบที่ ๔ คนชักชวนในทางฉิบหาย (อปายสหาย) มี ๔ ลักษณะ
๑. ชักชวนให้เพื่อนดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๒. ชักชวนให้เพื่อนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้เพื่อนเที่ยวดูการเล่น
๔. ชักชวนให้เพื่อนไปเล่นการพนัน



มีต่อ >>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


สุหทมิตร หรือมิตรแท้ ๔ ประเภท

แบบที่ ๑ มิตรอุปการะ (อุปการกะ) มี ๔ ลักษณะ

๑. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาเพื่อน
๒. เพื่อนประมาท ช่วยรักษาทรัพย์สินของเพื่อน
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งพำนักได้
๔. มีกิจจำเป็น ช่วยออกทรัพย์ให้เกินกว่าที่เพื่อนออกปาก

แบบที่ ๒ มิตรร่วมสุขร่วมทุกข์ (สมานสุขทุกข์) มี ๔ ลักษณะ
๑. บอกความลับแก่เพื่อน
๒. ปิดความลับของเพื่อน
๓. มีเหตุภัยอันตรายก็ไม่ละทิ้งเพื่อน
๔. แม้ชีวิตก็อาจสละเพื่อประโยชน์แก่เพื่อนได้

แบบที่ ๓ มิตรแนะประโยชน์ (อัตถักขายี) มี ๔ ลักษณะ
๑. คอยห้ามปรามเพื่อนจากความชั่ว
๒. คอยแนะนำเพื่อนให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ได้ฟังได้รู้สิ่งที่ไม่เคยได้รู้ได้ฟัง
๔. บอกทางสวรรค์ให้

แบบที่ ๔ มิตรมีน้ำใจ (อนุกัมปกะ - มีความรักใคร่) มี ๔ ลักษณะ
๑. ไม่ยินดี เมื่อเพื่อนมีความเสื่อม
๒. ยินดี เมื่อเพื่อนมีความเจริญ
๓. ห้ามคนที่กล่าวโทษเพื่อน
๔. สรรเสริญคนที่ สรรเสริญเพื่อน


มีต่อ >>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


กัลยาณมิตร ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
กัลยาณมิตร คือ เพื่อนที่ดี (มิตรผู้มีคุณอันพึงนับ)
กัลยาณมิตรมีคุณสมบัติที่เรียกว่า กัลยาณมิตรธรรม หรือธรรมของกัลยาณมิตร ๗ ประการ คือ
๑. ปิโย น่ารัก ด้วยมีเมตตา เป็นที่สบายจิตสนิทใจ ชวนให้อยากเข้าไปหา
๒. ครุ น่าเคารพ ด้วยความประพฤติหนักแน่น เป็นที่พึงอาศัยได้ ให้รู้สึกอบอุ่นใจ
๓. ภาวนีโย น่าเจริญใจ ด้วยความเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตน ควรเอาอย่าง ให้ระลึกและเอ่ยอ้างด้วยซาบซึ้งภูมิใจ
๔. วัตตา รู้จักพูดให้ได้ผล รู้จักชี้แจงแนะนำ เป็นที่ปรึกษาที่ดี
๕. วจนักขโม อดทนต่อถ้อยคำ พร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาซักถาม ตลอดจนคำเสนอแนะวิพากษ์วิจารณ์
๖. คัมภีรัญจะ กถัง กัตตา แถลงเรื่องล้ำลึกได้ สามารถอธิบายเรื่องยุ่งยากซับซ้อนให้เข้าใจและสอนให้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไป
๗. โน จัฏฐาเน นิโยชเย ไม่ชักนำในอฐาน คือ ไม่ชักจูงไปในทางเสื่อมเสียหรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร


มีต่อ >>>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


การพิจารณาดูคนที่เราคบหาเป็นมิตรประเภทไหน

จากการเวียนว่ายในวัฏสังสารอันยาวนาน ทุกคนจึงผ่านการมีมิตรด้วยกันทั้งนั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่แต่ละคนจะไม่มีมิตรเลย มิตรจึงมีอิทธิพลอย่างมากสำหรับสัตว์ผู้เวียนว่ายด้วยกัน การที่บุคคลหนึ่งจะมีความฉิบหาย ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งก็เกิดจากการชักนำของเพื่อนที่คบค้าสมาคม และในทางกลับกันในส่วนของความเจริญบางครั้งก็ต้องอาศัยมิตรที่ดีเข้ามาชี้นำ

เมื่อดูประเภทของมิตรที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดังที่กล่าวมาในตอนต้นนั้น สิ่งที่ทุกคนควรจะทำต่อไปคือการประเมินว่ามิตรที่เราคบอยู่ในตอนนี้เป็นมิตรประเภทไหน และหันกลับมามองตัวเราเองด้วยว่าเราเป็นมิตรประเภทไหนของเพื่อนเรา แต่ในความคิดผู้เขียนนั้น ก่อนที่จะมองไปยังภายนอก เราควรจะมามองตัวเราเองเสียก่อนว่า ตัวเองนั้นเป็นมิตรประเภทไหนของเพื่อนเรา เป็นมิตรแท้หรือมิตรเทียม เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกันระหว่างมิตรต่างๆแล้วจะพบว่า มิตรปฏิรูป (มิตรเทียม) นั้นเลวร้ายที่สุดและหาได้ง่ายสุด ส่วนมากจะมีเยอะสุด ซึ่งบาปมิตรเหล่านั้นจะมีพฤติกรรมต่างๆดังที่กล่าวไว้ในประเภทของมิตรปฏิรูป ถ้าใครยังประเมินไม่ออกว่า ตัวเราเองนั้นและมิตรที่เราคบหาอยู่เป็นมิตรประเภทไหน ก็ลองมองหาสถานการณ์ที่มิตรของเราและตัวเราเองกำลังตกที่นั่งลำบากอยู่ แล้วลองมองพฤติกรรมของมิตรที่เราคบหาและตัวเราเองว่า เมื่อมิตรที่เราคบหาตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก มิตรคนอื่นและตัวเราเองได้แสดงพฤติกรรมอย่างไรออกไป เมื่อมองตัวเราเองเรียบร้อยแล้ว ก็ลองมองภายนอกว่า เมื่อเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก มิตรที่คบหาอยู่ได้แสดงพฤติกรรมอย่างไรกับเรา เพราะในสถานการณ์ที่ลำบากแต่ละคนจะแสดงธาตุแท้ของแต่ละคนออกมาแม้กระทั่งตัวของเราเองก็เหมือนกัน

สำหรับอีกหลักหนึ่งในการพิจารณามิตรนั่นคือ เมื่อคบค้าสมาคมกันแล้ว แต่ละคนจะชวนเพื่อนที่คบอยู่ไปทำอะไรกันบ้าง ไปทำในเรื่องที่ชั่ว หรือเรื่องที่ดี ส่วนมากชักชวนไปทำอะไรกัน ซึ่งการชักชวนกันไปทำอะไรนั้น สำหรับคนที่มีจิตอ่อนก็จะถูกมิตรที่คบหาชักจูงไปได้ง่าย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติสำหรับคนที่ขาดการฝึก เพื่อนว่าไงเราก็ว่าตามเพื่อนแต่เมื่อลองพิจารณาดูว่ากลุ่มคนที่คบหาสมาคมกันอยู่ชอบชวนไปทำอะไรกัน และทำไมแต่ละคนถึงไปถูกใจคบหากับคนประเภทไหนเป็นพิเศษ เมื่อพิจารณาดูแล้วก็เป็นวิบากกรรมของคนๆนั้น ว่าจะไปกับกลุ่มไหน ไปทำสิ่งไหนกัน ซึ่งเรื่องนี้ในความคิดของผู้เขียนนั้น ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องไม่ดี เราต้องรู้ทันกรรม และอย่าไปตามกระแส หาทางวางแผนเพื่อรับมือจนพบทางออกที่ดีที่สุด


มีต่อ >>>>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


มิตรแท้ กับกัลยาณมิตร

เมื่อแต่ละคนประเมินเสร็จเรียบร้อย ก็ลองหาดูว่าใครเป็นมิตรแท้บ้าง อย่างไรก็ตาม ทางผู้เขียนก็ขอให้ทุกท่านประเมินให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจ อย่าเพิ่งประเมินตนและเพื่อนที่คบหาอยู่สูงไปนัก เพราะว่าการที่จะหามิตรแท้สักคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

ถึงแม้ว่ามิตรแท้นั้นจะหายากมากสักเท่าไรก็ตาม แต่การเป็นมิตรแท้นั้นก็ยังเป็นง่ายกว่าการเป็นกัลยาณมิตรมากกว่ามาก เพราะการเป็นกัลยาณมิตรนั้นต้องเป็นผู้มีธรรมดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว อีกทั้งยังต้องเป็นผู้มีความรู้ที่ถูกต้อง สามารถชักนำมิตรของตนไปสู่ทางที่ถูกได้ ไม่ใช่ว่าจะมีแค่ความหวังดีอย่างเดียว แต่ผู้นั้นยังต้องศึกษาความรู้ที่ถูกต้องอีกด้วย ถึงแม้มิตรนั้นเป็นผู้หวังดีจริงๆ แต่เป็นมิจฉาทิฐิ คิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งถูกกลับชักนำมิตรของตนเข้าไปพบกับความฉิบหายก็มี เช่น มิตรที่หวังดีคนหนึ่งไปพบพระสัทธรรมปฏิรูป (พระสัทธรรมเทียม) แต่เข้าใจผิดคิดว่าเป็นพระสัทธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ก็พยายามชักนำมิตรของตนไปสู่ทางที่ตนคิดว่าถูกต้องแต่จริงๆแล้วเป็นทางที่ผิด สร้างความฉิบหายแก่ตนและผู้อื่นมากมาย

เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชาวพุทธมักมองข้าม อาศัยเพียงแต่ความหวังดีอย่างเดียว และประสบการณ์ที่ตนประสบมาบางเรื่องที่อาจารย์ของตนแนะนำ แล้วคิดเอาเองว่าตัวเองเป็นกัลยาณมิตร แล้วพยายามกระโดดเข้าไปช่วยเหลือผู้อื่น การกระทำนั้นกลับทำให้ตนเองและผู้อื่นสร้างบาปไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวเองคิดว่าได้เดินมาถูกทาง ถ้าจะให้ผู้เขียนแนะนำว่าควรจะเริ่มต้นที่ไหน ผู้เขียนก็จะขอแนะนำว่าให้กลับไปหากัลยาณมิตรที่ประเสริฐที่สุด นั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลับไปดูว่าพระองค์แนะนำอย่างไร อย่าพึ่งไปเชื่อใครแม้แต่ครูบาอาจารย์ตน (ในความคิดของผู้เขียนนั้น ลองกลับไปอ่านพระไตรปิฎกฉบับเก่าๆ เช่น ฉบับสยามรัฐ เป็นฉบับที่หลวงปู่ต่างๆได้ปฏิบัติตามพระไตรปิฎกนั้น จนสำเร็จบรรลุเป็นพระอรหันต์ เมื่อเผาศพออกมากระดูกของพระเหล่านั้นก็เป็นพระธาตุ ซึ่งพอที่จะเป็นเครื่องยืนยันได้พอสมควร เนื่องจากพระไตรปิฎกฉบับใหม่ๆที่สร้างกันออกมา อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขไปเรื่อยๆ ตามความเข้าใจผิดของอาจารย์แต่ละท่าน)

จากที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงพอที่จะรู้ว่าการที่จะหามิตรแท้สักคนนั้นหาได้ยากเย็นมากก็จริง แต่การที่จะหากัลยาณมิตรนั้นหายากยิ่งกว่า จึงอยากจะเตือนมิตรแท้ทุกท่าน ให้พยายามฝึกพัฒนาตนให้เป็นกัลยาณมิตรให้ได้ เพื่อที่จะได้ทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริงได้

มีต่อ >>>>>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ความสำคัญของกัลยาณมิตร

ส่วนคำว่า “กัลยาณมิตร” นั้นเป็นสิ่งที่มีความหมาย และความสำคัญอย่างที่สุด
เนื่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นผู้ประเสริฐเลิศที่สุดใน ๓ โลก พระองค์ได้เปรียบพระองค์เอง เป็นดั่งกัลยาณมิตรของทุกคน ในเมื่อพระองค์เปรียบตัวพระองค์เองเป็นดังกัลยาณมิตรของทุกคนแล้ว ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากัลยาณมิตรจึงได้กลายเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย กัลยาณมิตรจึงเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากที่สุด การที่บุคคลหนึ่งจะกระทำตนให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ หลุดพ้นบรรลุธรรม ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรเท่านั้น นั่นคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีทางที่ทุกท่านจะทำที่สุดแห่งทุกข์บรรลุธรรมได้เองโดยไม่อาศัยกัลยาณมิตร ในที่สุดแล้วก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรมาชี้นำแนวทางนั่นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสุดยอดกัลยาณมิตรนั่นเอง ยกเว้นแต่ท่านจะปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตกาลข้างหน้า ถึงจะไม่ต้องการชี้นำในชาติสุดท้ายเพื่อบรรลุธรรม แต่ระหว่างบำเพ็ญบารมีนั้น ทั้งผู้บำเพ็ญเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในอนาคต ก็ยังต้องอาศัยกัลยาณมิตรดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ดี
แต่การที่เราจะมาคิดวิเคราะห์เอาเองถึงความสำคัญของกัลยาณมิตรนั้นอาจจะไม่ได้รับคำตอบที่ถูกต้องนัก ดังนั้นจึงต้องกลับมาหาพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าพระองค์ได้ตรัสถึงในส่วนของการมีกัลยาณมิตรอย่างไรบ้างและลักษณะไหนบ้าง เมื่อกลับมาหาสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ ก็จะทำให้เราได้รับคำตอบอย่างสมบูรณ์ถึงความสำคัญของการมีกัลยาณมิตรนั่นคือแม้แต่พระองค์ยังตรัสถึงกัลยาณมิตรว่า “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์”

(อ้างอิง ๒) ครั้งหนึ่งพระอานนท์สงสัยว่า กัลยาณมิตรเป็นเพียงครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ ใช่หรือไม่ จึงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์นี้ คือความเป็นผู้มีมิตรงาม ๑ ความเป็นผู้มีสหายงาม ๑ ความเป็นผู้โน้มเข้าไปในมิตรที่งาม ๑”
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “อานนท์! เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้เลย อานนท์ พรหมจรรย์ทั้งสิ้นนี้คือ ความเป็นผู้มีมิตรงาม ๑ ความเป็นผู้มีสหายงาม ๑ ความเป็นผู้โน้มไปในมิตรงาม ๑ ” เมื่อดูจากข้อความที่พระองค์ตรัสกับพระอานนท์แล้ว ก็พอจะเห็นว่า “กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ดังนั้นการที่คนๆหนึ่งจะได้เจอกับกัลยาณมิตรนั้นจึงนับว่าเป็นเรื่องที่ประเสริฐอย่างที่สุด ดังตัวอย่างเช่น ในครั้งที่พระพุทธองค์เปรียบ พระสารีบุตรเป็นกัลยาณมิตรของผู้ที่ได้พบ เช่น โจรเคราแดง (อ้างอิง ๑) (สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่บทความโจรเคราแดง) หรือแม้แต่ในสมัยหนึ่ง ตอนที่พระองค์ได้เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ ก็ได้อาศัยกัลยาณมิตรชักนำพระองค์ไปสู่ทางที่ดี ดังในตอนที่พระองค์ได้บังเกิดเป็นโชติปาลมาณพ


มีต่อ >>>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


โชติปาลมาณพ (อ้างอิง ๓)

ครั้งหนึ่งในภัทรกัปนี้ ชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ ได้เกิดในตระกูลพราหมณ์ มีชื่อว่าโชติปาลมาณพเป็นผู้จบไตรเพทมีชื่อเสียงในการทำนายลักษณะพื้นดินและลักษณะอากาศ โดยที่โชติปาลได้เกิดในชาติพราหมณ์ดังนั้นจึงไม่เลื่อมใสในพระศาสนา ซึ่งในตอนนั้นโชติปาลมาณพได้มีสหายรักผู้หนึ่งชื่อว่าฆฏิการะซึ่งมีอาชีพเป็นช่างหม้ออยู่ในขณะนั้น ฆฏิการะมาณพได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า อีกทั้งฆฏิการะเป็นอุปัฏฐากอันเลิศของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยนั้น ด้วยความปรารถนาดีกับเพื่อนและมั่นใจว่า มาณพโชติปาลนี้เป็นคนมีปัญญาเมื่อได้เห็นเพียงครั้งเดียว ก็จะเลื่อมใสในการเห็นพระตถาคตด้วย และก็จะเลื่อมใสในธรรมกถาด้วย จึงมีความคิดที่จะชักชวนสหายรักไปพบพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ได้ ดังนั้นฆฏิการะจึงได้ทำการชักชวนโชติปาลมาณพให้ไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปด้วยกัน จึงกล่าวกับสหายรักว่า “มาเถิดเพื่อนโชติปาละ เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สมมติกันว่าเป็นความดี” เมื่อฆฏิการะช่างหม้อกล่าวอย่างนี้แล้ว แต่โชติปาลมาณพกลับกล่าวปฏิเสธว่า “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเห็นเล่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นมีได้อย่างไรเล่า เพราะการตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง”
ถึงแม้จะได้รับการปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฆฏิการะเลิกความพยายามที่จะนำโชติปาลมาณพสหายของตนไปเข้าเฝ้าพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าให้จงได้ จึงได้ชวนเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเหมือนเดิม ฆฏิการะจึงเปลี่ยนเรื่องกล่าวชวนโชติปาลไปอาบน้ำที่แม่น้ำกัน เมื่อโชติปาลได้ยินดังนั้นก็รับคำ ทั้งคู่ก็เดินทางไปยังแม่น้ำ ซึ่งในระหว่างทาง ฆฏิการะก็ได้ทำการเชิญชวนอีกครั้งว่า “เพื่อนโชติปาล ที่แห่งนี้ก็ไม่ไกลจากพระอารามของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มาเถิดเพื่อน เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความดี” ส่วนโชติปาลก็ตอบไปแบบเดิมว่า “อย่าเลยเพื่อนฆฏิการะ จะมีประโยชน์อะไรด้วยพระสมณะศีรษะโล้นนั้นที่เราเห็นแล้วเห็นเล่า การตรัสรู้ของสมณะโล้นมีได้อย่างไรเล่า เพราะการตรัสรู้เป็นของที่ได้โดยยากยิ่ง” ฆฏิการะได้ทำการเชิญชวนอีกเป็นครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ ก็ได้รับคำตอบแบบเดิมอีก ต่อมานายฆฏิการะจึงได้จับที่ชายพก (อ้างอิง ๔) ของโชติปาลและกล่าวชวนอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโชติปาลก็ได้ให้ฆฏิการะปล่อยชายพกแล้วก็ตอบปฏิเสธแบบเดิมอีก ถึงแม้ว่านายฆฏิการะได้รับท่าทีขนาดนั้นของเพื่อนรัก แต่ก็ไม่ได้ทำให้นายฆฏิการะยอมเลิกล้มความพยายามจึงได้รอจังหวะโอกาสถัดไป หลังจากนั้นทั้งคู่ได้ไปอาบน้ำในแม่น้ำจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว สำหรับนายฆฏิการะได้อาบเสร็จก่อนจึงได้ขึ้นจากแม่น้ำและยืนรอเพื่อนอยู่ เมื่อโชติปาลอาบน้ำเสร็จขึ้นมาจากแม่น้ำกำลังทำผมให้แห้ง คราวนี้ฆฏิการะจับที่ผมของโชติปาลแล้วดึงจนทำให้โชติปาลผู้เป็นพระโพธิสัตว์ซึ่งมีกำลังดุจช้างสารเอนเล็กน้อย (ตอนฆฏิการะจับผมของสหายแล้วดึงนั้น นายฆฏิการะได้คิดว่าการที่เราจับผมของโชติปาลสหายผู้มีชาติสูงของเราคราวนี้ หาได้จับด้วยกำลังของตัวเราเองไม่ แต่เป็นการจับด้วยกำลังของพระศาสดา) แล้วชวนแบบเดิมอีก แต่การกระทำครั้งนี้กลับทำให้โชติปาลฉุกใจคิดว่า “ไม่เคยมีมาเลย ที่สหายเราผู้มีชาติต่ำ กลับมาดึงผมของเราแบบนี้ การที่จะไปตามคำชวนของสหายเราคงจะไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อยซะแล้ว” จึงได้หันมาถามฆฏิการะว่า ที่เพื่อนทำมาทั้งหมดนี้ ตั้งแต่ได้ชักชวนเราตั้งแต่ต้นหลายครั้ง จนมาดึงชายพก จนกระทั่งถึงขนาดดึงผมของเรานั้น เป็นเพียงแค่ จะชวนเราไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป เท่านั้นเองหรือ ซึ่งฆฏิการะก็กล่าวตอบรับว่า เป็นไปเพียงเพื่อชวนโชติปาลไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และนายฆฏิการะได้กล่าวย้ำคำเดิมอีกว่า การที่เราได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นความดี โชติปาลจึงกล่าวให้สหายปล่อยผมของตนก่อนและกล่าวว่าตนจะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ากับสหายฆฏิการะ ในที่สุดความพยายามของฆฏิการะทำให้โชติปาลมาณพได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อโชติปาลได้เฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสธรรมกถาเพื่อให้โชติปาละนั้นกลับมาได้สติว่า “ดูก่อนโชติปาละ ตัวท่านมิใช่สัตว์ผู้หยั่งลงสู่ฐานะอันต่ำทราม แต่ท่านปรารถนาสัพพัญญุตญาณ ธรรมดาคนเช่นท่านไม่ควรอยู่ด้วยความประมาท” อีกทั้งพระองค์ทรงสั่งสอนถึงโทษในกามทั้งหลาย และอานิสงส์ในการออกบวชด้วยประการทั้งปวง
จนในที่สุดทำให้โชติปาลมาณพได้มีความศรัทธาออกบวชในศาสนาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากัสสปในสมัยนั้น และได้ประพฤติธรรมอันสมควรแก่ธรรมทำให้เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุด เนื่องด้วยเพราะความมีกัลยาณมิตรดั่งเช่นฆฏิการะนั่นเอง

(เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวจบ ก็ตรัสบอกพระอานนท์ว่า
ดูก่อนอานนท์ เธอมีความคิดว่าโชติปาละในตอนนั้นต้องเป็นคนอื่นแน่นอน เธอไม่ควรเห็นอย่างนั้น สมัยนั้นเราได้เป็นโชติปาลมาณพ)

เรื่องที่กล่าวมานั้นแสดงให้เห็นว่าแม้แต่พระองค์ ครั้งในสมัยที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ก็ยังอาศัยกัลยาณมิตรเป็นผู้ชักนำพระองค์ในชาตินั้นสู่เส้นทางอันประเสริฐ
ส่วนตัวอย่างถัดไปเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่ได้พบทั้งบาปมิตร และกัลยาณมิตรในอดีตมาเล่า เพื่อให้ทุกท่านได้พิจารณากันอีกตัวอย่างหนึ่ง (อ้างอิง ๕)


มีต่อ >>>>>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


เมฆะมาณพ

ครั้งหนึ่งในสมัย พระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า มีมาณพหนุ่มผู้หนึ่งที่ชื่อว่าเมฆะ เขาเป็นนักศึกษาอยู่ในขณะนั้น ได้อยู่ในเหตุการณ์ขณะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทีปังกรได้ทรงพยากรณ์แก่สุเมธดาบส ว่าสุเมธดาบสผู้นี้จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดมในอนาคตกาลข้างหน้า ครั้งนั้น เทวดาและมนุษย์เป็นอันมากล้วนมีจิตใจยินดีเบิกบานหลังจากได้ฟังดำรัสพยากรณ์ของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประเสริฐว่าสุเมธดาบสผู้นี้จะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลเบื้องหน้า เมฆะมาณพได้สนิทสนมกับสุเมธดาบส อีกทั้งยังได้ออกบวชตามสุเมธดาบส ผู้เป็นดั่งวีรบุรุษของเมฆะมาณพ ขณะที่เมฆะมาณพบวชเป็นดาบสอยู่นั้น เป็นผู้สำรวมในพระปาติโมกข์และอินทรีย์ ๕ เป็นผู้มีอาชีวะหมดจด มีสติ เป็นนักปราชญ์ กระทำตามคำสอนของพระผู้พิชิตมารทีปังกรพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมฆะมาณพเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์อยู่เช่นนี้

ต่อมาภายหลัง เมฆะได้ไปคบกับบาปมิตรบางคน ถูกบาปมิตรนั้นชักชวนไปในทางเสื่อม ทำให้หนทางอันชอบที่เขากำลังดำเนินอยู่ถูกตัดขาดไป จึงได้หลีกไปจากพระศาสนาในที่สุด ต่อมาเมฆะมาณพได้ถูกมิตรอันน่าเกลียดนั้น ชักชวนให้ฆ่ามารดา ขณะนั้นเมฆะมาณพเป็นผู้มีจิตใจชั่วช้า ได้ทำอนันตริยกรรมฆ่ามารดา หลังจากสิ้นจากอัตภาพนั้น เมฆะมาณพได้ไปเกิดในอเวจีมหานรกอันแสนทารุณ แล้วได้เวียนว่ายไปสู่ภพอันลำบากเป็นเวลานาน ได้ท่องเที่ยวเวียนว่ายในวัฏฏะ และก็ไม่ได้เห็นสุเมธดาบสผู้เป็นนักปราชญ์ผู้ประเสริฐนั้นอีกเลย

เวลาได้ดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนมาถึงในยุคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมที่เราอยู่ปัจจุบันนี้ สุเมธดาบสในวันนั้นได้เกิดเป็นเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดม ส่วนมาณพเมฆะได้เกิดอยู่ในภพสัตว์เดรัจฉาน เป็นปลาติมิงคละ อยู่ในมหาสมุทร มีอยู่วันหนึ่งเมื่อปลาติมิงคละนั้นเห็นเรือพ่อค้าที่แล่นอยู่ในทะล จึงว่ายน้ำมุ่งหน้าเข้าไปหาเรือเพื่อจะเข้าไปฮุบเรือทั้งลำกินเป็นอาหาร พวกพ่อค้าเห็นดังนั้นก็ตื่นตกใจกลัวเป็นอันมาก เมื่อมีภัยใกล้มาถึงตัว พวกพ่อค้าที่อยู่ในเรือนั้นก็ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด จึงตะโกนเปล่งเสียงกึกก้องว่าโคตโม เมื่อปลาติมิงคละได้ยินเสียงของพ่อค้าเหล่านั้นที่เปล่งคำว่า “โคตโม” จึงนึกถึงสัญญาเก่าในอดีต (เหตุการณ์ในอดีตตอนที่ได้พบกับสุเมธดาบส) ขึ้นมาได้ด้วยอำนาจวาสนาที่ได้อบรมมาในกาลก่อน ปลาใหญ่จึงเกิดความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากนั้นปลาใหญ่ติมิงคละก็ได้ตายจากภพชาตินั้นทันที ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์อันมั่งคั่ง ณ พระนครสาวัตถี มีชื่อว่าธัมมรุจิ พอเกิดมา ธัมมรุจิเป็นคนเกลียดบาปกรรมทุกอย่าง เมื่ออายุได้ ๗ ขวบ ก็ได้มีโอกาสพบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระสมณโคดมผู้ส่องโลกให้โชติช่วงในเวลานั้น ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา จึงได้ไปยังพระมหาวิหารเชตวัน แล้วออกบวช เมื่อบวชแล้วได้บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ครั้งหนึ่งที่เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรมายังธัมมรุจิ จึงได้ตรัสว่า “ดูก่อน ธัมมรุจิ ท่านจงระลึกถึงเรา” ลำดับนั้น ธัมมรุจิกราบทูลบุรพกรรมแต่ปางก่อนอย่างชัดเจนว่า
“เพราะบาปกรรมในปางก่อน ทำให้ข้าพระองค์มิได้พบพระองค์เสียนาน มาบัดนี้ข้าพระองค์ได้มีโอกาสพบพระองค์แล้ว ข้าพระองค์ตามหาพระองค์มานานนักหนาแล้ว ข้าพระองค์ได้ทำให้ตัณหาเหือดแห้ง ได้ชำระพระนิพพานหมดมลทิน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กว่าข้าพระองค์จะพบพระองค์ก็นานนักหนา เนื่องจากข้าพระองค์ได้พินาศไปเวลานาน แต่มาในวันนี้ ข้าพระองค์ได้มาสมาคมกับพระองค์อีกครั้ง ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายสิ้นแล้ว กิจในศาสนาพุทธข้าพระองค์ได้ทำสำเร็จหมดสิ้นแล้ว”
จากเรื่องในอดีตของธัมมรุจิเถระ เมื่อพิจารณาตอนชาติที่เป็นมาณพชื่อว่าเมฆะ เมฆะมาณพได้มีโอกาสพบกับกัลยาณมิตร และบาปมิตรในชาตินั้น ตอนที่ได้พบกับกัลยาณมิตร เมฆะได้ออกบวชเป็นดาบสตามสุเมธ ได้ประพฤติธรรมตามคำสอนของพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็ได้ปฏิบัติธรรมจนมีความเจริญอย่างมากในชาตินั้น ถ้าตอนนั้นเมฆะไม่พบกับบาปมิตรเสียก่อนก็อาจจะบรรลุธรรมก็เป็นไปได้

แต่อย่างไรก็ตามการที่พบกัลยาณมิตรที่ประเสริฐสุดอย่างพระทีปังกร และกัลยาณมิตรอย่างสุเมธดาบสในชาตินั้น ก็หาได้เสียประโยชน์อะไรไม่ เพราะสิ่งนั้นได้มาเป็นเหตุเป็นปัจจัยในการได้เกิดมาพบกับศาสนาของพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังสามารถบรรลุธรรมในชาตินั้นอีกด้วย
ซึ่งตอนนี้ทุกท่านก็เปรียบได้กับดั่งเมฆะในตอนนั้น นั่นคือทุกท่านมีโอกาสเลือกในปัจจุบันนี้ มีโอกาสเลือกที่จะทำอะไร คบกับใคร เมื่อคบหากับใครแล้วจะทำสิ่งใดระหว่างที่คบค้ากับคนผู้นั้นอยู่

มีต่อ >>>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


จะประพฤติตัวอย่างไรกับการมีบาปมิตร

เมื่อได้รับความรู้ดังนี้แล้ว ทุกท่านจะทำอย่างไรเมื่อพบกับบาปมิตรแล้ว ก็ลองพิจารณาดูกันเอาเอง ตอนนี้ทุกท่านมีทางเลือกที่จะทำสิ่งต่างๆได้อยู่แล้ว
ท่านลองจินตนาการดูว่า ถ้าท่านในชาติใดชาติหนึ่งได้เกิดเป็นคนเลว จิตใจกำลังมืดบอดไปด้วยอกุศล ถ้าตายชาตินั้นต้องไปรับกรรมอีกนับไม่ถ้วนจากผลของการกระทำ ท่านอยากที่จะมีแสงสว่างมาคอยชี้นำทางหรือไม่ ท่านต้องการที่จะมีมิตรที่ดีสักคนมาพาท่านออกจากสิ่งที่เลวร้ายหรือไม่ บางทีถ้ามีคนให้โอกาสท่านสักนิด ท่านอาจจะไม่ต้องไปถลำลึกกับบางสิ่งที่ดำมืด และไปประสบกับสิ่งที่จะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคตก็เป็นไปได้
ทุกท่านลองพิจารณาดูว่า ถ้าแต่ละคนคิดแต่จะเอาตัวรอด โดยไม่สนใจคนรอบข้าง สังคมจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจกัน

ในอดีตมีมาณพหนุ่มผู้หนึ่ง เดินทางพร้อมกับมารดาออกทะเลไปกับเรือ แต่เคราะห์ร้ายเจอพายุทำให้เรืออับปาง มาณพหนุ่มผู้นั้นได้แบกมารดา ว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรเพื่อให้ถึงฝั่ง ในใจได้คิดถึงความทุกข์ยากทั้งของตนเองและผู้อื่น ก่อนที่มาณพผู้นั้นจะหมดแรงจมน้ำตายพร้อมกับมารดาที่ได้แบกอยู่ในขณะนั้น มาณพผู้นั้นเห็นถึงความทุกข์ และจึงมีจิตคิดว่า “ถ้าเราพ้นทุกข์ เราจะพาผู้อื่นพ้นทุกข์ไปด้วย” เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้วทำให้มาณพผู้นั้นกลับมีแรงที่จะว่ายน้ำต่อขึ้นมาอีกครั้ง จึงว่ายน้ำพาตนเองและมารดารอดชีวิตมาจนถึงฝั่งได้ในที่สุด จากเหตุการณ์เล็กๆครั้งนั้นในอดีตที่ดูเหมือนไม่มีอะไรมาก เป็นแค่จุดเล็กๆของเหตุการณ์หนึ่งในอดีต แค่คนๆหนึ่งช่วยแม่และตนเองรอดตายจากภัยทางทะเล แต่ในความเป็นจริงในเหตุการณ์ครั้งนั้นกลับได้ก่อให้เกิดเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสามโลก ทำให้เรามีมหาบุรุษผู้ขนสัตว์ออกจากทะเลแห่งทุกข์ มาณพหนุ่มผู้แบกมารดาข้ามมหาสมุทรได้มาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมในปัจจุบันนี้ พระองค์ผู้เป็นดั่งแสงสว่างส่องโลกให้โชติช่วง นำพาผู้คนออกจากความมืดมิด พาผู้คนข้ามฝั่งออกจากทะเลแห่งทุกข์ทั้งปวงไปสู่แดนนิพพานได้อย่างมากมาย
ถ้าโจรเคราแดงไม่ได้พบกัลยาณมิตรดั่งเช่นพระสารีบุตร อนาคตของโจรเคราแดงก็ยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะโจรเคราแดงสร้างอกุศลกรรมมาอย่างมากมาย สิ่งที่โจรเคราแดงต้องไปเผชิญในอนาคตนั้นอาจจะสุดแสนทารุณเกินกว่าท่านจะคาดคิดได้ ส่วนทุกท่านที่พบกับบาปมิตร ท่านจะปล่อยมิตรเหล่านั้นให้จมอยู่กับความดำมืดโดยไม่คิดจะทำอะไรเลยหรือ ในทางกลับกัน ถ้าท่านได้ไปรู้จักคบค้าสมาคมกับมิตรคนหนึ่ง มีวันหนึ่งมิตรดังกล่าวชักชวนท่านให้นั่งรถไปเป็นเพื่อนเพื่อทำธุระ แต่แท้จริงเขากำลังนำยาบ้าไปส่ง ซึ่งขณะนั้นได้มีตำรวจล้อมจับพอดีท่านก็พลอยติดร่างแหไปด้วย อีกทั้งเพื่อนคนนั้นก็ยังป้ายความผิดมาที่ท่านอีก ชีวิตทั้งชีวิต ชื่อเสียงวงศ์ตระกูล ฉิบหายพังทลาย ทั้งพ่อแม่พี่น้องที่ต้องมาเดือดร้อนกับเรื่องนี้ก็พลอยประสบกับความทุกข์ไปพร้อมกับท่านไปด้วย ท่านก็ได้เห็นประเภทของมิตรต่างๆแล้ว สังคมปัจจุบันนี้คนที่ต่อหน้าทำเป็นคนดีแต่แท้ที่จริงจิตใจชั่วร้าย ก็มีอยู่มากมายในสังคม อีกทั้งพวกหลอกลวงต้มตุ๋นก็มีอยู่เต็มไปหมด

ในความคิดผู้เขียนนั้น การประพฤติตัวได้อย่างดีเหมาะสมกับเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องที่ยาก ต้องยอมรับว่าการดำเนินชีวิตอยู่ในวัฏสงสารเป็นเรื่องยาก จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทุกชนิดมาช่วยในระหว่างเดินทางในวัฏสงสาร เพื่อทำให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดทั้งส่วนของตัวเองและผู้อื่น ในส่วนนี้อาจจะไม่มีคำตอบตายตัวชัดเจน แต่ในทุกๆการกระทำย่อมมีผลของมัน


มีต่อ >>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


สร้างเหตุในปัจจุบันเพื่อที่จะได้พบกัลยาณมิตรที่ยิ่งใหญ่ต่อไป

ในชีวิตประจำวันของท่านผู้อ่านแต่ละคน ส่วนมากจะได้พบกับมิตรประเภทไหน ถ้าส่วนมากแต่ละท่านพบกับมิตรเทียมเป็นส่วนมาก ก็พึงรู้ว่านั่นเป็นผลที่เกิดจากเหตุในอดีตที่แต่ละคนสร้างและสะสมทำกันมาจึงมาส่งผลในปัจจุบันนี้ ดังนั้นเราควรจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ เริ่มสร้างเหตุดีในปัจจุบันเพื่อสร้างอนาคตอันสดใส และเปิดโอกาสให้กรรมดีทำงาน การเริ่มต้นก็ควรเริ่มทำจากจิตเสียก่อน และต่อมาก็เริ่มทำตัวในปัจจุบัน ทำตัวเองให้เป็นมิตรที่ดีกับผู้อื่น ถ้าท่านเป็นกัลยาณมิตรกับผู้อื่นมาตลอด แน่นอนว่าโอกาสที่ท่านจะพบกับกัลยาณมิตรต่อไปก็เปิดกว้างมากยิ่งๆขึ้นไป

สำหรับท่านที่น้อยใจว่า เราเกิดมาทำไมพบแต่เพื่อนที่แย่ๆ ซึ่งผู้เขียนก็ขอให้ท่านเหล่านั้นใจเย็นๆไว้ก่อน กลับมาตรวจสอบตัวเองให้ดีเสียก่อนว่า มีอะไรบางอย่างที่เรามองข้ามไปหรือไม่ ผู้เขียนมั่นใจว่าแต่ละคนไม่ใช่ไม่มีกัลยาณมิตร เพียงแต่ว่าแต่ละคนอาจจะได้ละเลยกัลยาณมิตรบางท่าน ซึ่งกรรมอันนี้อาจจะส่งผลให้แต่ละท่านพบมิตรแต่ละคนที่แย่ๆ เนื่องเพราะท่านได้ละเลยกัลยาณมิตรที่สำคัญที่สุดไป เมื่อคนใดได้พบคนที่มีคุณค่าแล้วแต่กลับมองไม่เห็น ด้วยกรรมอันนั้นย่อมจะส่งผลให้บุคคลที่แต่ละคนจะไปพบย่อมมีคุณต่ำกว่าบุคคลคนนั้น ที่ผู้เขียนกล้าเขียนอย่างนี้ก็เพราะว่าแต่ละคนยังมีกัลยาณมิตรผู้ประเสริฐที่สุดนั่นคือ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ เพียงแต่ว่าแต่ละคนจะให้ความสำคัญมากหรือน้อยเพียงไหน

ผู้เขียนไม่ได้หมายความในเชิงปรัชญาเท่านั้น แต่หมายความว่าท่านยังมีกัลยาณมิตรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจริงๆ ถ้าผู้อ่านบางท่านคิดว่าท่านไม่มีพระชนม์ชีพอยู่แล้วย่อมเป็นกัลยาณมิตรเราไม่ได้ ซึ่งในส่วนนี้ไม่เป็นความจริง เนื่องเพราะพระองค์ท่านได้ให้พระธรรมนั้นเป็นตัวแทนของพระองค์ท่าน เป็นตัวแทนที่จะคอยแนะนำทุกๆคนไปสู่ทางที่ดี

ดังนั้นท่านผู้อ่านที่มีแต่มิตรแย่ๆนั้นก็ลองไปตั้งจิต กลับไปหาพระองค์ท่านใหม่ ศึกษาสิ่งที่ท่านสั่งสอนอย่างจริงจัง แล้วไปขอขมากรรมต่อพระองค์ว่า กรรมอันใดที่ได้ล่วงเกินพระองค์ เนื่องจากได้มองข้ามพระองค์ ข้าพระพุทธเจ้ากราบขอขมากรรม และด้วยการที่ข้าพระพุทธเจ้าหันกลับมาเห็นถึงความสำคัญของพระองค์และได้มาศึกษาพระธรรมนั้น ขอให้ส่งผลให้ข้าพระพุทธเจ้าได้พบกัลยาณมิตรดังเช่นพระองค์ด้วยเทอญ


มีต่อ >>>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


จะประพฤติตัวอย่างไรเมื่อพบกับกัลยาณมิตร

ส่วนว่าเราจะประพฤติตัวอย่างไรเมื่อทุกท่านได้มีโอกาสพบกัลยาณมิตรนั้น ในความคิดของผู้เขียนนั้น ก่อนอื่นก็ไม่ต้องคิดอะไรที่มันยิ่งใหญ่เกรียงไกรมากนัก อันดับแรกสิ่งที่ทุกคนควรทำคือไม่ไปทำร้ายกัลยาณมิตรผู้นั้น จากประสบการณ์ที่ได้เห็นมา ผู้คนส่วนมากเมื่อได้พบมิตรที่ดีแล้ว ก็จะไปสร้างความเดือดร้อนให้กับมิตรผู้นั้นเป็นส่วนมาก ไปเอาเปรียบมิตรผู้นั้นบ้าง เห็นว่าเป็นกันเองก็จะไปล่วงเกินบ้าง ไม่ว่าจะเป็นด้วย กาย วาจา ใจ ซึ่งทำให้ตัวของผู้กระทำเองก็ต้องมารับกรรมในส่วนนี้เองในอนาคต ยิ่งกัลยาณมิตรนั้นเป็นผู้มีธรรมเท่าไหร่ คนที่ไปล่วงเกินก็จะยิ่งมีความเดือดร้อนมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อหยุดล่วงเกินแล้ว ต่อไปก็หาสิ่งที่ดีของกัลยาณมิตรนั้นน้อมมาสู่ตน เพื่อให้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองที่อุตส่าห์ได้มาพบกัลยาณมิตรผู้นั้นแล้ว พยามยามฝึกฝนตนเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทำตัวเองให้เป็นภาชนะที่ดีและใหญ่ สามารถรองรับสิ่งที่กัลยาณมิตรให้ได้โดยไม่จำกัด เมื่อแต่ละท่านฝึกตนเองเป็นภาชนะที่ดีได้แล้ว ถ้าโอกาสแต่ละท่านมาถึงได้พบกัลยาณมิตรอันประเสริฐสุดดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์จะให้ประโยชน์ที่สูงที่สุดที่สัตว์เหล่านั้นพึงจะรับได้อยู่แล้ว ปัญหาคือว่าสัตว์ที่มีโอกาสพบพุทธองค์นั้นจะมีปัญญารับในสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ได้เท่าไหร่ ยิ่งถ้าไม่ได้เป็นผู้ฝึกมาแล้วก็ไม่ต้องพูด ทางผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างของนายฆฏิการะ


มีต่อ >>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


นายฆฏิการะ (อ้างอิง ๖)

นายฆฏิการะที่จะกล่าวถึงต่อไปก็คือผู้ที่ได้เป็นกัลยาณมิตรชักชวนโชติปาลมาณพไปพบพระผู้มีพระภาคเจ้าดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความข้างบน
เมื่อโชติปาละได้พบพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็บังเกิดความศรัทธาไปแจ้งแก่นายฆฏิการะว่าตนจะออกบวชในศาสานาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วถามถึงนายฆฏิการะว่าจะเอายังไงกับชีวิต นายฆฏิการะก็ตอบว่า “เพื่อนก็รู้แล้วนี่ว่า เรามีมารดาบิดาผู้ชราตาบอดที่ต้องเลี้ยงดู ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะออกบวช” นายฆฏิการะจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับสหายโชติปาลและอนุโมทนากับการบวชของสหาย ส่วนตนก็ใช้ชีวิตฆราวาสเลี้ยงดูบิดามารดาตาบอดต่อไป
ครั้งหนึ่งพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จไปประทับอยู่ ณ ป่าแห่งหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินพระนามว่ากิกิได้รู้ข่าวจึงเสด็จไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเข้าเฝ้าพระผู้มีภาคเจ้าและได้ฟังธรรมจากพระองค์ จึงนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อถวายอาหารในวันรุ่งขึ้นซึ่งพระองค์ก็ทรงรับนิมนต์ เมื่อถึงเวลาพระองค์กับเหล่าภิกษุได้เสด็จไปยังราชนิเวศของพระเจ้ากิกิ พระเจ้ากิกิได้ถวายอาหารด้วยมือพระองค์เอง จนเสร็จสิ้นการฉันอาหาร พระเจ้ากิกิได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้จำพรรษาอยู่ที่เมืองของพระองค์ แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า “อย่าเลย มหาบพิตร อาตมภาพรับการอยู่จำพรรษาที่อื่นเสียแล้ว” พระเจ้ากิกิจึงสงสัยว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญมีใครอื่นที่เป็นอุปัฏฐากยิ่งกว่าหม่อมฉันหรือ” พระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “มีอยู่ มหาบพิตร นิคมชื่อเวภฬิคะ ช่างหม้อชื่อฆฏิการะ อยู่ในนิคมนั้น เขาเป็นอุปัฏฐากของอาตมภาพ นับเป็นอุปัฏฐากชั้นเลิศ” และพระองค์ตรัสสรรเสริญนายฆฏิการะว่า ช่างหม้อฆฏิการะนั้น
เป็นผู้ถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ
เป็นผู้มีศีล ๕
เป็นผู้เลื่อมใส อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะเจ้าใคร่
เป็นผู้หมดสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เป็นผู้บริโภคอาหารมื้อเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล กัลยาณธรรม
เป็นผู้ปล่อยวางแก้วมณีและทองคำ ปราศจากการใช้ทองและเงิน
เป็นผู้ไม่ขุดแผ่นดินด้วยเครื่องมือและด้วยมือของตน แต่จะนำมาเฉพาะแต่ดินตลิ่งพังหรือขุยหนู แล้วค่อยทำดินนั้นเป็นภาชนะ
เป็นผู้ให้ภาชนะที่ทำด้วยดินแก่ผู้ใดก็ตามที่ต้องการ ส่วนผู้ใดนำภาชนะไปแล้ว จะตอบแทนการทำภาชนะดินของนายฆฏิการะ ด้วยข้าวสาร ถั่วเขียว ถั่วดำ ก็ให้วางสิ่งที่จะตอบแทนนายฆฏิการะไว้ แล้วนำภาชนะนั้นไป
เป็นผู้เลี้ยงมารดาบิดา ผู้ชรา ตาบอด
เป็นผู้ที่เมื่อละจากโลกนี้ไปแล้ว จะไปเกิดเป็น โอปปาติกะ (อุปปาติกะ) และจะปรินิพพานในภพนั้น

พระองค์ตรัสเล่าต่อไปว่า ครั้งหนึ่งนั้นพระองค์ประทับอยู่ที่ นิคมชื่อเวภฬิคะ เมื่อเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปที่บ้านของนายฆฏิการะ แล้วถามถึงนายฆฏิการะว่าไปไหน มารดาบิดาของนายฆฏิการะตอบพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอุปัฏฐากของพระองค์ออกไปเสียแล้ว ขอพระองค์จงเอาข้าวสุกจากหม้อข้าวนี้ เอาแกงจากหม้อแกงนี้เสวยเถิด พระองค์จึงได้นำข้าวสุกจากหม้อข้าว นำแกงจากหม้อแกงมาฉัน เมื่อพระองค์ฉันเสร็จแล้วก็เสด็จจากไป ต่อมาเมื่อนายฆฏิการะกลับมา จึงได้ถามมารดาบิดาว่า ใครมาเอาข้าวสุกและแกงมาบริโภคแล้วจากไป มารดาบิดาบอกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนเอาข้าวและแกงมาเสวยแล้วเสด็จจากไป เมื่อนายฆฏิการะได้ฟังดังนั้น คิดว่าพระองค์ทรงได้ให้ความคุ้นเคยแก่เราขนาดนี้ นับว่าเป็นบุญของเราอย่างหาที่เปรียบมิได้ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น บิดามารดาผู้ชราตาบอด ได้บังเกิดปิติและสุขตลอดเจ็ดวัน ส่วนนายฆฏิการะได้บังเกิดปิติและสุขตลอดครึ่งเดือน

อีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ประทับอยู่ที่ นิคมชื่อเวภฬิคะ เมื่อเวลาเช้าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปที่บ้านของนายฆฏิการะ แล้วถามถึงนายฆฏิการะว่าไปไหน มารดาบิดาของนายฆฏิการะตอบพระองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญอุปัฏฐากของพระองค์ออกไปเสียแล้ว ขอพระองค์โปรดเอาขนมสดจากกระเช้านี้ เอาแกงจากหม้อแกงเสวยเถิด พระองค์จึงได้นำขนมสดจากกระเช้า เอาแกงจากหม้อแกงมาฉัน เมื่อพระองค์ฉันเสร็จแล้วก็เสด็จจากไป ต่อมาเมื่อนายฆฏิการะกลับมา จึงได้ถามมารดาบิดาว่า ใครมาเอาขนมสดและแกงมาบริโภคแล้วจากไป มารดาบิดาบอกว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนเอาขนมสดและแกงมาเสวยแล้วเสด็จจากไป เมื่อนายฆฏิการะได้ฟังดังนั้น คิดว่าพระองค์ทรงได้ให้ความคุ้นเคยแก่เราขนาดนี้ นับว่าเป็นบุญของเราอย่างหาที่เปรียบมิได้ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น บิดามารดาผู้ชราตาบอด ได้บังเกิดปิติและสุขตลอดเจ็ดวัน ส่วนนายฆฏิการะได้บังเกิดปิติและสุขตลอดครึ่งเดือน

และอีกครั้งหนึ่งที่พระองค์ประทับอยู่ที่ นิคมชื่อเวภฬิคะ ซึ่งตอนนั้น กุฏิของพระผู้มีพระภาคเจ้ามีรูรั่ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับสั่งแก่เหล่าภิกษุว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพากันไปดูหญ้าที่บ้านของนายฆฏิการะช่างหม้อ เหล่าภิกษุตอบพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ หญ้าที่บ้านของนายฆฏิการะช่างหม้อไม่มี มีแต่หญ้าที่มุงหลังคาเรือนที่นายฆฏิการะอยู่เท่านั้น เมื่อได้ฟังดังนั้นพระผู้มีภาคเจ้าสั่งให้ภิกษุเหล่านั้น ไปรื้อหญ้าที่มุงหลังคาบ้านของนายฆฏิการะ ลำดับนั้น เหล่าภิกษุทั้งหลายจึงพากันไปรื้อหลังคาบ้านนายฆฏิการะ ขณะที่ทำการรื้ออยู่นั้น มารดาบิดาของฆฏิการะช่างหม้อได้ถามว่า ใครมารื้อหญ้ามุงหลังคาบ้านของเรา ภิกษุทั้งหลายตอบว่า กุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้ารั่ว จึงได้มารื้อหลังคานี้ มารดาบิดาของฆฏิการะจึงกล่าวว่า “เอาไปเถิดเจ้าข้า เอาไปตามสะดวกเถิด ท่านผู้เจริญ” ต่อมาเมื่อนายฆฏิการะกลับมาถึงบ้านเห็นสภาพบ้านตนเองเป็นอย่างนั้น จึงถามแก่มารดาบิดาว่า ใครมารื้อหญ้ามุงหลังคาเรือนเสียเล่า มารดาบิดาจึงบอกว่า “เหล่าภิกษุทั้งหลายเป็นคนรื้อและท่านทั้งหลายบอกแก่เราว่า กุฎีของพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้ารั่ว” เมื่อนายฆฏิการะได้ฟังดังนั้น คิดว่าพระองค์ทรงได้ให้ความคุ้นเคยแก่เราขนาดนี้ นับว่าเป็นบุญของเราอย่างหาที่เปรียบมิได้ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น บิดามารดาผู้ชราตาบอด ได้บังเกิดปิติและสุขตลอดเจ็ดวัน ส่วนนายฆฏิการะได้บังเกิดปิติและสุขตลอดครึ่งเดือน หลังจากนั้นบ้านที่ฆฏิการะกับมารดาบิดาผู้ชราตาบอดอาศัยอยู่นั้นจึงเปิดโล่ง ไม่มีหลังคาคลุมอยู่ตลอดสามเดือน แต่ว่าฝนถึงแม้ตกก็ไม่รั่วลงมา

เมื่อพระเจ้ากิกิ ได้ฟังถึงคุณของนายฆฏิการะแล้ว ก็ทรงคิดว่าเป็นลาภของช่างหม้อแล้ว ช่างหม้อผู้นั้นเป็นผู้ได้ดีแล้ว ที่พระองค์ทรงให้ความคุ้นเคยถึงเพียงนี้แก่เขา พระเจ้ากิกิเมื่อได้รับรู้คุณของฆฏิการะแล้วจึงอยู่เฉยไม่ได้ ทำการส่งเกวียนบรรทุกข้าวสาร ห้าร้อยเล่มเกวียน และเครื่องแกงที่พอเหมาะกับข้าวสารนั้น พระราชทานแก่ช่างหม้อฆฏิการะนั้น ช่างหม้อเมื่อเห็นของที่ส่งมาแล้ว ก็ไม่ได้รับไว้ แล้วกล่าวว่าพระราชามีพระราชกรณียกิจมาก ของที่พระราชทานมานี้ อย่าเป็นของข้าพเจ้าเลย จงเป็นของหลวงเถิดจากเรื่องราวของนายฆฏิการะที่ผู้อ่านได้รับทราบแล้ว เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ให้แง่คิดมากมายแก่พวกเราทั้งหลาย สมมติว่าท่านมีโอกาสได้พบกัลยาณมิตรอันประเสริฐสูงสุด ดังเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วนั้น พระองค์ย่อมให้ประโยชน์สูงสุดแก่สัตว์ทั้งหลายเท่าที่สามารถจะรับได้อยู่แล้ว ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าแต่ละคนที่มีโอกาสไปพบกับพระองค์นั้น จะสามารถรับในสิ่งที่พระองค์ให้ได้แค่ไหน แต่ละคนเป็นภาชนะแบบไหน สามารถรับได้แค่ไหน ทุกคนมีคุณประมาณไหน สามารถรับในสิ่งที่พระองค์จะให้ได้แค่ไหน ท่านจะสามารถรับได้หรือไม่เมื่อพระองค์สั่งให้คนมารื้อหลังคาบ้านท่าน ท่านจะทำใจให้เกิดปิติได้ตลอดครึ่งเดือนได้หรือไม่ ถ้าท่านทำไม่ได้แล้วท่านทำได้แค่ไหน ท่านทำได้แค่ไหนท่านก็จะได้เพียงสิ่งนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรนำมาคิดพิจารณา เมื่อพิจารณาแล้วก็ควรฝึกฝนตนเองให้ดี เพราะเมื่อคราใดได้มีโอกาสพบกัลยาณมิตรต่างๆ ก็จะไม่เสียประโยชน์ พลาดโอกาสอันน่าเสียดายที่สุด

มีต่อ >>>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


โอกาสที่ดีเข้ามาแล้วก็ผ่านไป

อีกทั้งบางทีโอกาสที่ดีนั้นไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา บางครั้งโอกาสมันมาแค่แวบเดียวแล้วก็ผ่านไป เมื่อท่านเผชิญหน้ากับทางเลือก เวลาตัดสินใจก็มีไม่มาก ท่านจะมุ่งมั่นสู่เส้นทางสายใด เหมือนกับในทุกๆวันที่เราดำเนินชีวิตไปนั้น เราจะพบทางเลือกให้เราตัดสินใจตลอด เมื่อเราเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งแล้วเดินทางตามเส้นทางสายนั้นก็จะทำให้เราต้องพบกับเหตุการณ์ที่เราต้องไปเผชิญ และจะทำให้เราพบกับทางเลือกหลากหลายถัดไปต่อจากเส้นทางสายนั้น เมื่อเราได้เลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งไปแล้ว เราก็จะไม่มีทางย้อนกลับมาจุดเดิมเพื่อลองเลือกเส้นทางสายอื่นได้อีกในช่วงเวลาเดิม อีกทั้งเราก็จะไม่มีวันรู้ว่าถ้าเราเลือกอีกเส้นทางที่เราไม่ได้เลือกนั้นจะให้ผลเช่นไรกับเรา อีกประเด็นหนึ่งสำหรับการตัดสินใจว่าจะเลือกทำอะไรแต่ละอย่างนั้นท่านสังเกตหรือไม่ว่า ไม่ว่าท่านจะเลือกทางเลือกเช่นไร นั่นแสดงถึงการจัดลำดับความสำคัญในใจของท่านสำหรับทางเลือกนั้นไปโดยอัตโนมัติ ถ้าท่านเลือกทางเลือกหนึ่งโดยไม่ได้เลือกทางเลือกอื่น นั่นหมายถึงท่านได้ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ท่านได้ตัดสินใจเลือกนั้นมากกว่าทางเลือกอื่น และข้อสำคัญบางทางเลือกนั้นก็ดูเหมือนว่าจะดีแต่อาจจะไม่ดี ในทางกลับกัน อีกทางเลือกหนึ่งอาจดูเหมือนจะเลวร้ายแต่จริงๆอาจเป็นทางเลือกที่ดีก็เป็นไปได้ (อ้างอิง ๗)

มีต่อ >>>>>>

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 พ.ค. 2010, 12:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


หญิงผู้ถวายน้ำ

ครั้งหนึ่ง ณ สถานที่แห่งหนึ่งตำบลบ้านพราหมณ์(ถูณะ) แคว้นโกศล พวกคหบดีพราหมณ์เป็นพวกที่มีนิสัย ไม่เลื่อมใส มีความเห็นผิด และตระหนี่ เมื่อได้ยินข่าวว่าพระสมณโคดมเสด็จถึงเขตบ้านของพวกเราแล้ว ก็พากันคิดว่าถ้าพระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาประทับที่หมู่บ้านพวกเรานี้สัก ๒ - ๓ วัน ก็จะทำให้พวกชนทั้งหมด อยู่ในถ้อยคำพระองค์ซึ่งจะให้พราหมณ์ธรรม ถูกทอดทิ้ง ไม่มีคนสนใจ พวกชาวถูณะจึงได้ทำการตกลงกันว่าจะไม่ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในตำบลของเรา จึงช่วยกันนำเรือที่ผูกไว้ตามท่าน้ำออกเสียเพื่อกันไว้ไม่ให้พระองค์พร้อมกับเหล่าภิกษุข้าม เมื่อนำเรือออกจากท่าน้ำแล้วชาวบ้านจึงได้สร้างสะพานทางเดินและแพไว้ให้พวกของตนข้ามแทนเรือที่ท่าน้ำ ช่วยกันสร้างโรงประปาไว้ในหมู่บ้าน ส่วนบ่อน้ำด้านนอกก็พากันเอาหญ้าและฟางถมบ่อน้ำจนเต็มปากบ่อ เพื่อกันไม่ให้พระองค์พร้อมเหล่าภิกษุได้ดื่มน้ำ และได้ทำกติกาตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่า ถ้าพระสมณโคดมเสด็จมา ณ ที่แห่งนี้ จะไม่ทำการต้อนรับพระองค์ จะไม่ถวายอาหารหรือน้ำดื่ม

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในละแวกนั้น ก็ทรงทราบอาการวิปริตของคนเหล่านั้น พระองค์พร้อมเหล่าภิกษุจึงได้เหาะข้ามแม่น้ำ เสด็จไปพัก ณ โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งตอนนั้น หญิงทาสีจำนวนมากเทินหม้อน้ำผ่านมาไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้งนั้นหญิงทาสีที่มากันจำนวนมากที่ได้ผ่านมา กลับมีทาสหญิงแค่คนเดียวที่คิดได้ ทาสหญิงคนนั้นเป็นภรรยาของพราหมณ์คนหนึ่ง เดินถือหม้อน้ำ พบพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งแวดล้อมด้วยหมู่ภิกษุ ก็รู้ว่าหมู่ภิกษุลำบากกาย กระหายน้ำ เพราะเดินเหนื่อยมา มีจิตเลื่อมใสประสงค์จะถวายน้ำดื่ม จึงตัดสินใจว่า แม้ชาวบ้านเราจะตั้งกติกาตกลงกันไว้ไม่ให้ถวายสิ่งใดๆ ไม่กระทำสามีจิกรรม (กิจอันสมควรกระทำเช่นทำความเคารพ) แก่พระสมณโคดม แต่ในเมื่อเราได้มาพบพระทักขิไณยบุคคลซึ่งเป็นบุญเขต แล้วเรามิได้แม้ด้วยเพียงถวายน้ำดื่มแล้วไซร้ ครั้งไรเล่าเราจึงจะหลุดพ้นจากชีวิตลำเค็ญเช่นนี้ได้ นายของเรา ชาวบ้านเราทั้งหมด จะฆ่าเรา จะขังจองจำเรา เราก็จะถวายปานียทาน น้ำดื่ม ในบุญเขตนี้ จึงได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้าและเหล่าภิกษุทั้งหลาย เมื่อชาวบ้านหลายคนได้เห็นท่าทีของนางจึงพากันห้ามปราม ถึงแม้นางจะถูกคนอื่นห้ามปรามก็ไม่อาลัยในชีวิต ลดหม้อน้ำจากศีรษะ เข้าไปถวายบังคมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า นิมนต์พระองค์ให้เสวยน้ำดื่ม พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเห็นจิตเลื่อมใสของนาง ทรงอนุเคราะห์นาง จึงได้ทรงกรองน้ำล้างพระหัตถ์และพระบาทแล้วจึงเสวยน้ำดื่ม เมื่อนางได้ถวายน้ำแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว น้ำในหม้อก็มิได้หมดสิ้นไป เมื่อนางเห็นสิ่งอัศจรรย์นั้นแล้วก็มีจิตเลื่อมใส จึงได้ถวายแก่ภิกษุทุกรูปจนครบ น้ำในหม้อก็มิได้สิ้นเปลืองหมดไป นางร่าเริงยินดี ยกหม้อที่เต็มด้วยน้ำอย่างเดิม เดินมุ่งหน้าไปยังเรือน พราหมณ์สามีของนางรู้ว่า นางได้ถวายน้ำดื่ม จึงคิดว่าหญิงคนนี้ทำลายธรรมเนียมบ้านเสียแล้ว เราก็ต้องถูกครหาแน่ จึงได้โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เข้าไปตบตีทั้งเตะต่อยจนนางล้มกลิ้งไปที่พื้น จนนางเสียชีวิตไป เมื่อนางเสียชีวิตแล้วก็ได้ไปบังเกิดในภพดาวดึงส์ อยู่ที่นาวาวิมานทันที

ขอย้อนกลับมาทางฝั่งของพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากนั้นไม่นานพระองค์ทรงเรียกพระอานนท์มา แล้วตรัสรับสั่ง ให้พระอานนท์ไปเอาน้ำจากบ่อน้ำมาให้พระองค์ เมื่อพระอานนท์ได้ฟังดังนั้นจึงทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ชาวถูณะได้ถมบ่อน้ำเสียแล้ว ไม่อาจนำน้ำมาถวายได้ พระเจ้าข้า แต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ยังทรงรับสั่งใช้ให้พระอานนท์ไปเอาน้ำมาเหมือนเดิม เป็นครั้งที่สอง ครั้งที่สาม พอครั้งที่สามพระอานนท์ได้ทำตามรับสั่งถือบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้า เดินไปยังบ่อน้ำตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่ง ขณะที่พระอานนท์กำลังเดินไป ก็ได้บังเกิดสิ่งอัศจรรย์ น้ำในบ่อได้ไหลล้นขึ้นมาจากบ่อ ดันฟางที่ถมอยู่ในบ่อน้ำออกมาทั้งหมด น้ำที่ไหลออกนั้นก็หาได้หยุดไหลไม่ ไหลล้นไปเรื่อยๆจนน้ำเพิ่มสูงขึ้น เต็มแหล่งน้ำอื่น ล้อมพื้นที่หมู่บ้านของชาวถูณะไว้ พวกพราหมณ์เห็นปาฏิหาริย์นั้น เกิดอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก พากันขอขมาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า หลังจากขอขมาแล้วน้ำที่ไหลหลากท่วมพื้นที่ก็หายวับไปในทันที พราหมณ์เหล่านั้นได้จัดแจงสถานที่ต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุ และนิมนต์พระองค์พร้อมกับเหล่าภิกษุเพื่อรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น พอรุ่งขึ้น ก็จัดมหาทาน นำอาหารของเคี้ยวอาหารอันประณีตมาถวายพระองค์และเหล่าภิกษุ ส่วนพวกพราหมณ์คหบดีชาวถูณะทุกคนเข้าไปนั่งเฝ้าใกล้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า จนเมื่อพระองค์เสวยเสร็จ ก็ได้ชักพระหัตถ์ออกจากบาตร เป็นอันเสร็จสิ้นการถวายมหาทาน

เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ เรื่องบางเรื่องอาจจะสุดที่เราจะคาดเดาได้ ในที่สุดพวกพราหมณ์ถูณะก็ได้มีโอกาสเข้าเฝ้า ทำการต้อนรับ จัดหาที่พัก และได้ถวายมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ในที่สุด เมื่อทุกท่านเผชิญหน้ากับเหตุการณ์บางเรื่องที่เราไม่รู้อนาคต เราจะเลือกเส้นทางที่เราคิดว่าถูกต้อง หรือเราจะเลือกเส้นทางแห่งความถูกต้อง หรือเราจะเลือกอีกเส้นทางที่เราเห็นว่าจะนำพาเรารอดตายโดยไม่สนความถูกต้อง การกระทำบางอย่างที่ได้กระทำไปโดยคิดว่าการกระทำนั้นเป็นความถูกต้องนั้น สำหรับผู้ที่เห็นเหตุการณ์ภาพรวมทั้งหมดบางคนอาจจะคิดว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำที่ตายเปล่า เป็นการกระทำที่เกิดประโยชน์น้อย หรือไม่เกิดประโยชน์อะไรเลยก็เป็นไปได้ แต่ไม่ว่าใครจะคิดยังไงก็ไม่สำคัญเท่ากับความจริงที่เกิดขึ้นจากที่เราได้ตัดสินใจเลือกทำสิ่งนั้น และได้เสวยผลที่เราได้กระทำสิ่งนั้น
เหมือนกับที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เนื่องเพราะเราไม่ได้รู้อนาคต และไม่มีวันรู้ว่าสิ่งที่เรากระทำนั้นดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุดหรือยัง เมื่อเดินทางมาถึงทางเลือก ท่านจะใช้อาศัยวิหารธรรมใดเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกทางเลือกนั้น ใช้ฝ่ายกุศล เช่น ศรัทธา ปัญญา พรหมวิหาร๔ เป็นองค์ประกอบที่ใช้ตัดสินใจในการเลือกทางเลือกนั้น หรือท่านจะใช้อกุศล โลภะ โทสะ โมหะ เป็นองค์ประกอบที่ใช้ตัดสินใจในการเลือกทางเลือกนั้น อย่างไรก็ตามผู้เขียนหวังว่าทุกท่านได้ใช้เครื่องมือต่างๆที่ถูกต้องมาประกอบการตัดสินใจเพื่อจัดลำดับความสำคัญ สามารถเลือกทางเลือกที่มีความสำคัญและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุดในทางเลือกนั้น ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญนั้นเป็นสิ่งที่ทุกท่านจะต้องพิจารณาให้มาก ว่าท่านได้จัดลำดับความสำคัญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับเหตุการณ์หรือไม่

ทุกท่านลองพิจารณาดูว่าหญิงผู้โดนสามีตบตีเตะต่อยจนตาย ถ้าหญิงผู้นั้นเปลี่ยนใจไม่ยอมถวายน้ำในตอนแรก ยอมทำตามกติกาบาปที่ชาวบ้านได้ตกลงกันไว้ เธอผู้นั้นเห็นเหล่าภิกษุเหนื่อยกระหายน้ำก็พยายามไม่สนใจ ตัดใจไม่ถวายน้ำ ตัดสินใจทำตามกติกาที่ชาวบ้านตกลงกันไว้โดยรอจังหวะโอกาสที่เหมาะสมกว่านี้ต่อไป ในที่สุดเธอผู้นั้นจะได้ถวายมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้ากับเหล่าภิกษุเหมือนกับชาวบ้านในตอนหลังหรือไม่ การที่ชาวบ้านได้มีโอกาสทำมหาทานในตอนหลังนั้นเป็นการถวายสังฆทานที่ได้บุญมากหรือไม่ และการทำมหาทานของชาวบ้านนั้นจะได้บุญมากกว่าหญิงผู้ถวายน้ำหรือไม่ การกระทำของเธอผู้นั้นท่านผู้อ่านทุกท่านคิดว่าเธอได้ตายฟรีหรือไม่ เธอควรจะค่อยๆหลบคนในหมู่บ้านรอในจังหวะที่ไม่มีคนเห็นแล้วค่อยๆย่องไปถวายน้ำซึ่งทำให้เธอได้ทั้งถวายน้ำอีกทั้งแถมในภายหลังก็ยังมีโอกาสได้ถวายมหาทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุหรือไม่ สิ่งที่เธอทำนั้นได้ประโยชน์เหมาะสมที่สุดแล้วหรือยัง แล้วประโยชน์นั้นเกิดกับใคร ใครได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์ในสิ่งที่เธอได้กระทำ สามีที่ทุบตีเธอจนตายจะรู้สึกอย่างไรและจะได้รับผลกรรมอย่างไร ชาวบ้านที่เป็นเพื่อนเธอเมื่อเห็นเธอกระทำอย่างนั้นแล้วโดนตบตีเตะต่อยจนตายจะรู้สึกอย่างไร ชาวหมู่บ้านของเธอนั้นจะรู้สึกอย่างไร จะรู้สึกว่าเธอทรยศต่อความไว้ใจหรือไม่ อะไรคือสิ่งที่เธอควรใส่ใจให้ความสำคัญและสนใจที่สุดในเวลานั้น คำถามทั้งหมดเกี่ยวกับหญิงผู้ถวายน้ำนั้นเป็นคำถามที่เราอาจจะไม่มีวันได้รู้คำตอบใดๆเลย อาจจะเป็นปริศนาไปตลอดกาล แม้ว่าเราจะไม่ได้รับคำตอบจากอะไรเลยก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็ยังมีสิ่งมีค่าที่สุดเหลือทิ้งไว้อยู่ นั่นคือ “ความจริงที่เกิดขึ้น” ความจริงที่เกิดจากผลลัพธ์ที่เราได้เลือกทางเลือกหนึ่ง ความจริงดังกล่าวก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างไร ความจริงนั้นก็อาจจะเพียงพอสำหรับบางสิ่ง เพียงพอสำหรับการเฉลยอะไรบางอย่าง เพียงพอต่อการประเมินว่าสิ่งที่เราได้ตัดสินใจทำอะไรลงไปในทางเลือกหนึ่ง ได้มีผลเช่นไร ผลนั่นแหละคือคำตอบของสิ่งที่เราได้เลือก

เมื่อผู้อ่านได้อ่านบทความย่อหน้าด้านบนก่อนที่จะมาถึงบทความในส่วนนี้แล้ว ท่านผู้อ่านอาจจะมีคำถามและคำตอบหรือความคิดต่างๆที่คาดเดาเอาเองในใจพอสมควร อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้อ่านได้อ่านมาถึงตอนนี้ทางผู้เขียนก็อยากจะบอกกับทุกท่านว่า เรื่องราวของหญิงสาวผู้ถวายน้ำนั้นยังไม่จบ ยังมีส่วนที่สำคัญต่อมาอีก จึงขอนำทุกท่านกลับมาสู่เรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เมื่อทางฝ่ายหญิงที่ถวายน้ำแด่พระผู้พระภาคเจ้าพร้อมเหล่าภิกษุ แล้วโดนสามีตนเองตบตีเตะต่อยจนตายแล้วได้ไปบังเกิดเป็นเทวดา ต่อมาเทวดาองค์นั้นได้พิจารณาทบทวนว่าสมบัติของตนนั้นได้มาด้วยเหตุใดหนอ เมื่อพิจารณาก็รู้เหตุที่มาของสมบัติตน เนื่องเพราะได้ถวายน้ำดื่ม จึงบังเกิดปิติขึ้นและคิดว่าเราควรจะไปถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเดี๋ยวนี้ จึงลงไปปรากฏตัวพร้อมทั้งวิมาน อุทยาน ในที่พระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่ ถวายบังคมประคองอัญชลี อยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นเทวดาองค์นั้น มีพุทธประสงค์จะประกาศผลกรรมของเทพนารีนั้นแก่ประชุมชนบริษัทที่อยู่ ณ ที่นั้น จึงได้ตรัสถามเทวดาองค์นั้นถึงเหตุกรรมต่างๆ เทพนารีองค์นั้นเมื่อถูกพระองค์ตรัสถาม ก็มีใจยินดีได้เล่าถึงเหตุที่ตนได้กระทำและประสบมา เมื่อเล่าจบ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาทรงประกาศสัจจะ ๔ แก่เทวดาผู้มีใจเลื่อมใสแล้ว หลังจากจบเทศนาบริษัทที่ประชุมอยู่ได้ประโยชน์เป็นอันมาก ส่วนเทวดาองค์นั้นก็ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล ...จบ....

ส่วนถัดมานี้ก็เป็นส่วนตอนจบของเรื่องหญิงผู้ถวายน้ำ ทุกท่านสังเกตหรือไม่ว่า ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันนั้นคือเทพนารีองค์เดียว ถ้าจะพูดกันง่ายๆแล้วนั่นคือ ทั้งหมู่บ้านนั้นที่ได้ประสบกับเหตุการณ์ที่พระองค์ผู้เป็นกัลยาณมิตรเสด็จมา มีแต่ผู้หญิงถวายน้ำนั้นได้ทำประโยชน์ได้สูงสุดคนเดียวนั่นคือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลในศาสนาพุทธคือบรรลุเป็นพระโสดาบัน ถ้านับทั้งหมู่บ้านหญิงผู้ถวายน้ำเป็นคนเดียวที่รอดพ้นจากอบายแน่นอน ส่วนคนอื่นยังต้องเวียนว่ายในวัฏสังสารด้วยความไม่แน่นอนต่อไป และก็ไม่รู้อีกเมื่อไหร่ที่คนเหล่านั้นจะได้บรรลุธรรม ถ้าหญิงผู้ถวายน้ำจัดลำดับความสำคัญผิดไปจากนี้ โดยไปตัดสินใจเลือกทางเลือกอื่น ตัดสินใจไม่ถวายน้ำทำตามกติกาบาปของชาวหมู่บ้าน หรือหาทางอื่นเพื่อได้ถวายน้ำโดยที่ชาวบ้านไม่เห็น ท่านคิดว่าหญิงคนนี้จะได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันหรือไม่ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าคิดพิจารณาไม่ใช่น้อย แต่อย่างน้อยสิ่งที่เราชี้ชัดได้อย่างแน่นอนเรื่องหนึ่งนั้นก็คือ สิ่งที่เธอตัดสินใจได้ทำให้เธอได้ไปบังเกิดเป็นเทพนารี และได้บรรลุธรรมในที่สุด

ส่วนในความคิดของผู้เขียนนั้น หญิงผู้ถวายน้ำอาจจะทำในสิ่งที่ดีที่สุด หรืออาจจะยังไม่ดีที่สุดก็เป็นไปได้ เพราะผู้ที่ทำสิ่งต่างๆได้สมบูรณ์ที่สุดในทุกเหตุการณ์นั้นคือพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับผู้ฝึกฝนมาอย่างดีอาจจะทำสิ่งที่ดีได้มากกว่าหญิงผู้ถวายน้ำ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันกับหญิงผู้ถวายน้ำ อาจจะตัดสินใจทำอะไรได้ดีกว่า จนทำให้สามารถบรรลุเป็นพระสกทาคามี อนาคามีหรืออรหันต์ หรือสามารถเป็นเหตุนำพาให้คนในหมู่บ้านบรรลุธรรมตามนางเลยก็เป็นไปได้ สำหรับผู้ฝึกมาอย่างดีก็อาจจะทำสิ่งที่ดีได้เทียบเท่ากับหญิงผู้ถวายน้ำหรือทำได้ดีมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่านางได้ทำในสิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดหรือไม่สมบูรณ์ที่สุดก็ตาม แต่อย่างน้อย นางได้จัดลำดับความสำคัญได้อย่างถูกต้องโดยเลือกทางเลือกที่คิดว่ามีความสำคัญมากกว่าทางเลือกอื่น นางได้ทำในสิ่งดีสิ่งที่ประเสริฐยอมตายเพื่อสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งเพียงพอสำหรับทำให้นางได้บรรลุธรรมได้ ในบางเรื่องที่ทุกท่านอาจจะต้องไปเผชิญในอนาคต การยอมตายอาจจะเป็นคำตอบเดียวของเหตุการณ์นั้นก็เป็นไปได้ ลองถามใจของท่านเองว่าทุกท่านสามารถมีปัญญาจัดลำดับความสำคัญของแต่ละทางเลือกได้อย่างถูกต้องหรือไม่ เมื่อจัดลำดับความสำคัญแล้วทุกท่านสามารถยอมตายเพื่อสิ่งที่คิดว่าถูกต้องเหมือนนางผู้ถวายน้ำนั้นได้หรือไม่
ดังนั้นการประเมินโอกาสที่เข้ามาให้เราตัดสินใจทำอะไรลงไปสักอย่าง ด้วยเวลาอันจำกัด จึงเป็นเรื่องที่เราประมาทไม่ได้ ซึ่งแต่ละท่านได้ฝึก กาย วาจา ใจ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างดีแล้วหรือยัง ถ้ายังฝึกมาไม่ดีถึงแม้ว่ามีโอกาสเข้ามาสักล้านหน แต่ละคนก็คงจัดลำดับความสำคัญผิด และไม่สามารถทำสิ่งที่เกิดประโยชน์กับตนเองสูงสุดได้

ในชีวิตประจำวันของแต่ละคน ส่วนมากจะทำกรรมกับคนที่สนิทใกล้ชิดและจะทำกรรมกับคนที่คนเหล่านั้นได้ไปพบเจอบ่อยที่สุด ซึ่งเพื่อนสนิทมิตรสหายก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งในชีวิตที่ทุกท่านจะได้ไปพบเจอและไปสร้างกรรมได้เป็นประจำ ดังนั้นจึงหวังว่าทุกท่านจะรู้จักกับประเภทของมิตร และประเมินออกแล้วว่ามิตรที่ท่านคบและตัวท่านเองเป็นมิตรประเภทไหน ทุกท่านจะตัดสินใจทำอย่างไรนั้นก็แล้วแต่ทุกท่าน ไม่ว่าท่านทำอะไรก็ตามในชาติปัจจุบัน ท่านก็จะต้องไปรับสิ่งนั้นในอนาคต ถ้าท่านสร้างเหตุดีในปัจจุบัน ผลที่จะไปรับในอนาคตก็ต้องเป็นผลดี ท่านจะทำสิ่งใดเมื่อมีโอกาสพบทั้งบาปมิตร และกัลยาณมิตร ท่านจะรู้ถึงความสำคัญของกัลยาณมิตรและจะได้รับประโยชน์ในสิ่งที่กัลยาณมิตรให้ท่านได้แค่ไหน ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ทุกท่านต้องเขียนคำตอบเอง ทางผู้เขียนหวังว่าเมื่อโอกาสของแต่ละคนมาถึงทุกท่านจะได้ตัดสินใจกระทำสิ่งต่างๆ จัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้องและเหมาะสมกับเหตุการณ์ของแต่ละคนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 17 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร