วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 03:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2010, 11:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


คนดีคืออย่างไร?

คนจะดีมิใช่ดีอยู่ที่ทรัพย์ มิใช่นับพงศ์พันธุ์ชันษา
คนจะดีดีที่การงานนานา อีกวิชาศีลธรรมนำให้ดี

พุทธภาษิต “นิมิตตัง สาธุรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา
ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี”


คนดีต้องมีและรู้จักหน้าที่ทั้ง ๑๒ สถานะในสังคม (เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม อยู่ลำพังคนเดียวไม่ได้) เพราะหน้าที่คือธรรมะ ธรรมะคือหน้าที่

หน้าที่ ๑๒ สถานะ ได้แก่ สถานะพ่อแม่ – บุตร, สามี – ภรรยา,ครู – ศิษย์, เพื่อน – เพื่อน, สมณชีพราหมณ์ – ชาวบ้าน, นาย – บ่าว

พระคุณบุพการี
คุณแม่หนาหนักเพี้ยง พสุธา
คุณมิตรดุจอา กาศกว้าง
คุณพี่พ่วงศิขรา เมรุมาศ
คุณพระอาจารย์อ้าง อาจสู้สาคร

ศิษย์กับอาจารย์
ช่างหม้อตีหม้อใช่ ตีฉาน
ตีแต่งเอางามงาน ชอบใช้
ดุจศิษย์กับอาจารย์ ตีสั่ง สอนแฮ
ตีใช่ตีจักให้ สู่ห้องอบาย

มิตรแท้
มีมิตรรองรอบรู้ รักสนิท
ดุจอุทรเดียวชิด ชอบหน้า
ความงำเงื่อนงำบิด ปัดเป่า
ท่านว่ามิตรนี้อ้า เอกล้ำเหลือดี
โคลงโลกนิติ

พระพุทธองค์ตรัสสอนหน้าที่ของคฤหัสถ์ และสมณชีพราหมณ์ไว้สองพันกว่าปีแล้ว
ให้มีหน้าที่ซึ่งกันและกัน โปรดอ่านพระไตรปิฎกเรื่องทิศหก

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2010, 11:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ความย่อแห่งพระไตรปิฎก ภาค ๔ เล่ม ๑๑ ทิศ ๖ คือ บุคคล ๖ ประเภท อริยสาวกเป็นผู้ปกปิด (ปฏิบัติชอบ) ทิศทั้งหก คือ ควรทราบว่า

๑.ทิศเบื้องหน้า ได้แก่มารดาบิดา
๒.ทิศเบื้องขวา ได้แก่อาจารย์
๓.ทิศเบื้องหลัง ได้แก่ บุตรภรรยา
๔.ทิศเบื้องซ้าย ได้แก่ มิตรอำมาตย์ (“อำมาตย์” เป็นสำนวน บาลี หมายถึง มิตรอย่างเดียว)
๕.ทิศเบื้องล่าง ได้แก่ ทาสกรรมกร
๖.ทิศเบื้องบน ได้แก่ สมณพราหมณ์ (คำว่า “พราหมณ์” ก็เหมือน กัน เป็นสำนวนแฝดกับคำว่า สมณะ คงหมายเฉพาะสมณะ)

ครั้นแล้วทรงแสดงการปฏิบัติต่อบุคคลทั้งหกประเภท ที่เปรียบเหมือนทิศ ๖ เหล่านี้ ฝ่ายละ ๕ ประการ เป็นการถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันทุกฝ่าย เช่น มารดาบิดากับบุตรธิดา อาจารย์กับศิษย์ สามีกับภริยา มิตรกับมิตรนายจ้างกับลูกจ้าง สมณะกับประชาชน
สิงคาลมาณพก็เลื่อมใสพระธรรมเทศนา แสดงตนเป็นอุบาสกถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต
(หมายเหตุ พระสูตรนี้ชาวยุโรปเลื่อมใสกันมาก ว่าจะแก้ปัญหาสังคมได้ เพราะเสนอหลักทิศ ๖ อันแสดงว่าบุคคลทุกประเภทในสังคมควรปฏิบัติต่อกันในทางที่ดีงาม ไม่มีการกดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลงไป อนึ่ง ในที่นี้ไม่ได้แปลงรายละเอียดทั้งหมด เพื่อรวบรัด ผู้ต้องการทราบรายละเอียดโปรดอ่านหนังสือนวโกวาท ซึ่งพิมพ์เผยแพร่หลายแล้วนับจำนวนล้านฉบับ)

มิตรเทียม ๔ ประเภท
ทรงแสดงมิตรเทียม (มิตรปฏิรูปกะ) ๔ ประเภท คือ ๑. มิตรปอกลอก ๒. มิตรดีแต่พูด ๓. มิตรหัวประจบ ๔. มิตรชวนในทางเสียหายพร้อมทั้งแสดงลักษณะของมิตรเทียมทั้ง ๔ ประเภทนี้ประเภทละ ๔ ประการ

มิตรแท้ ๔ ประเภท
ทรงแสดงมิตรแท้ ๔ ประเภท คือ ๑. มิตรมีอุปการะ ๒. มิตรร่วมทุกข์ร่วมสุข ๓. มิตรแนะนำประโยชน์ ๔. มิตรอนุเคราะห์ (อนุกัมปกะ) พร้อมทั้งแสดงลักษณะของมิตรแท้ทั้งสี่ประเภทนั้น ประเภทละ ๔ ประการ
ทุกคนเกิดมาต้องรู้หน้าที่ของตน คนเราเกิดมาทุกคนมีหน้าที่ในสังคมรวม ๑๒ สถานะ ซึ่งมีหน้าที่ต่างๆ กัน ไปตามสถานะนั้นๆ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องทิศหก ดังนี้

สถานะที่ ๑ ถ้าเราเป็น “ลูก” เราควรปฏิบัติต่อพ่อแม่ ดังนี้
(๑)ท่านเลี้ยงเรามา ควรเลี้ยงดูท่านตอบ
(๒)ช่วยทำการงานของท่าน
(๓)ดำรงวงศ์สกุล
(๔)ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
(๕)เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน

สถานะที่ ๒ ถ้าเราเป็น “พ่อแม่” เราควรช่วยเหลือลูก ดังนี้
(๑)ห้ามปรามจากความชั่ว
(๒)แนะนำส่งเสริมให้ตั้งอยู่ในความดี
(๓)ให้ศึกษาศิลปวิทยา
(๔)หาคู่ครองที่สมควรให้
(๕)มอบทรัพย์สมบัติให้ในโอกาสอันควร

สถานะที่ ๓ ถ้าเราเป็น “ลูกศิษย์” เราควรปฏิบัติต่อครูอาจารย์ ดังนี้
(๑)ลุกขึ้นต้อนรับ (ให้เกียรติ)
(๒)เข้าไปหา (เพื่อปรึกษา ซักถาม รับคำแนะนำ บำรุง ฯลฯ)
(๓)ใฝ่ใจเรียน (คือมีใจรักเรียน เรียนด้วยศรัทธา รู้จักฟังให้เกิด
ปัญญา)
(๔)ปรนนิบัติช่วยบริการ
(๕)เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ (เอาจริงเอาจังถือเป็นกิจสำคัญ)

สถานะที่ ๔ ถ้าเราเป็น “ครูอาจารย์” เราควรช่วยเหลือลูกศิษย์ ดังนี้
(๑)ฝึกฝนแนะนำส่งเสริมให้เป็นคนดี
(๒)สอนให้เข้าใจแจ่มแจ้ง
(๓)สอนศิลปวิทยาให้สิ้นเชิง
(๔)ยกย่องให้ปรากฏในหมู่คณะ
(๕)สร้างเครื่องคุ้มกันภัยให้ในทุกสารทิศ

สถานะที่ ๕ ถ้าเราเป็น “สามี” เราควรปฏิบัติตนต่อภรรยา ดังนี้
(๑)ยกย่องให้เกียรติสมฐานะที่เป็นภรรยา
(๒)ไม่ดูหมิ่นภรรยา
(๓)ไม่นอกใจภรรยา
(๔)มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้ภรรยา
(๕)หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส

สถานะที่ ๖ ถ้าเราเป็น “ภรรยา” เราควรปฏิบัติต่อสามี ดังนี้
(๑)จัดงานบ้านให้เรียบร้อย
(๒)สงเคราะห์ญาติมิตรของทั้งฝ่ายตนและฝ่ายสามีด้วยดี
(๓)ไม่นอกใจ
(๔)รักษาสมบัติที่หามาได้
(๕)ขยัน ไม่เกียจคร้านในงานทั้งปวง

สถานะที่ ๗ ถ้าเราเป็น “นายจ้าง” เราควรปฏิบัติตนต่อคนงานและคนรับใช้ดังนี้
(๑)จัดการงานให้ทำตามความเหมาะสมกับกำลังความสามารถ
(๒)ให้ค่าจ้างรางวัลตามสมควรแก่งานและความเป็นอยู่
(๓)จัดสวัสดิการดี มีช่วยรักษาพยาบาลในยามเจ็บไข้ เป็นต้น
(๔)ได้ของกินแปลกๆ พิเศษมาก็แบ่งปันให้
(๕)ให้มีวันหยุดและพักผ่อนหย่อนใจตามโอกาสอันควร

สถานะที่ ๘ ถ้าเราเป็น “คนงาน คนรับใช้” เราควรปฏิบัติตนต่อนายจ้าง ดังนี้
(๑)เริ่มทำการงานก่อนนายจ้าง
(๒)เลิกงานทีหลังนาย
(๓)ถือเอาแต่ของที่นายให้
(๔)ทำการงานให้เรียบร้อยและดียิ่งขึ้น
(๕)นำเกียรติคุณของนายไปเผยแพร่

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2010, 11:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ๔ ประการ

คนดีเมื่อมีทรัพย์สมบัติและบริวารแล้ว ควรปฏิบัติธรรมเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ คือ ธรรมอันเป็นเหตุให้ได้ประโยชน์ในปัจจุบัน คือ

๑. อุฏฐานสัมปทา มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบกิจหน้าที่การงานหรือการศึกษาเล่าเรียน (ขยันหา)
๒. อารักขสัมปทา รู้จักรักษาทรัพย์ที่หามาได้ หรือรักษาความดีให้คงอยู่ (รักษาดี)
๓. กัลยาณมิตตา คบแต่คนดีเป็นมิตร (มีกัลยาณมิตร)
๔. สมะชีวิตา ใช้จ่ายเลี้ยงชีพให้เหมาะสมแก่ฐานะ ไม่ฟุ่มเฟือย หรือ สุรุ่ยสุร่าย หากบุคคลใดตั้งอยู่ในคุณธรรมเหล่านี้ จะเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติและบริวารสมบัติ (เลี้ยงชีวิตตามควร)

หลักทางศาสนาเกี่ยวกับการใช้จ่ายเลี้ยงชีพ เป็น “สมะชีวิตา” นั้น ให้แบ่งทรัพย์ที่หามาได้เป็น ๕ ส่วน ดังนี้

“ทิ้งเหว – ใส่ปากงู – ให้เขากู้ – ฝังดินไว้ – ใช้หนี้เก่า”
๑. ใช้หนี้เก่า ๑ ส่วน ให้บำรุงเลี้ยงดูบุพพการี บิดามารดา ญาติ พี่น้องและมิตรสหาย
๒. ทิ้งลงเหว ๑ ส่วน สำหรับใช้จ่ายบริโภค
๓. ใส่ปากงู ๑ ส่วน ให้ภรรยาเก็บไว้ยามขาดแคลนและป่วยไข้ ได้รักษา
๔. ให้เขากู้ ๑ ส่วน ให้เลี้ยงดูบุตรธิดาศึกษาเล่าเรียน
๕. ฝังดินไว้ ๑ ส่วน ให้ทำบุญให้ทานฝากไว้ในพระพุทธศาสนา ทำลายมัจฉริยะตระหนี่

พ่อแก่ – แม่เฒ่า

พ่อแม่ก็แก่เฒ่า จำจากเจ้าไม่อยู่นาน
จะพบจะพ้องพาน เพียงเสี้ยววารของคืนวัน
ใจจริงไม่อยากจาก เพราะยังอยากเห็นลูกหลาน
แต่ชีพมิทนทาน ย่อมร้าวรานสลายไป
ขอเถิดถ้าสงสาร อย่ากล่าวขานให้ช้ำใจ
คนแก่ชะแรวัย คิดเผลอไผลเป็นแน่นอน
ไม่รักก็ไม่ว่า เพียงเมตตาช่วยอาทร
ให้กินและให้นอน คลายทุกข์ผ่อนพอสุขใจ
เมื่อยามเจ้าโกรธขึ้ง ให้นึกถึงเมื่อเยาว์วัย
ร้องไห้ยามป่วยไข้ ได้ใครเล่าเฝ้าปลอบโยน
เฝ้าเลี้ยงจนโตใหญ่ แม้เหนื่อยกายก็ยอมทน
หวังเพียงจะได้ยล เติบโตจนสง่างาม
ขอโทษถ้าทำผิด ขอให้คิดทุกทุกยาม
ใจแท้มีแต่ความ หวังติดตามช่วยอวยชัย
ต้นไม้ที่ใกล้ฝั่ง มีหรือหวังอยู่นานได้
วันหนึ่งคงล้มไป ทิ้งฝั่งไว้ให้วังเวง


วันผู้ให้กำเนิด
งานวันเกิด ยิ่งใหญ่ ใครคนนั้น ฉลองกัน ในกลุ่ม ผู้ลุ่มหลง
หลงลาภยศ สรรเสริญ เพลินทะนง วันเกิดส่ง ชีพสั้น เร่งวันตาย
ณ มุมหนึ่ง ซึ่งเหงา น่าเศร้าแท้ หญิงแก่แก่นั่งหงอย และคอยหาย
โอ้วันนี้ ในวันนั้น อันตราย แม่คลอดสายโลหิต แทบปลิดชนม์
วันเกิดลูก เกือบคล้าย วันตายแม่ เจ็บท้องแท้ เท่าไร ก็ไม่บ่น
กว่าอุ้มท้อง กว่าคลอด รอดเป็นคน เติบโตจน บัดนี้ นี่เพราะใคร
แม่เจ็บเจียน ขาดใจ ในวันนั้น กลับเป็นวัน ลูกฉลอง กันผ่องใส
ได้ชีวิต แล้วก็เหลิง ระเริงใจ ลืมผู้ให้ ชีวิต อนิจจา
ไฉนเรา เรียกกันว่า “วันเกิด” “วันผู้ให้กำเนิด” จะถูกกว่า
คำอวยพร ที่เขียน ควรเปลี่ยนมา “ให้มารดา คุณเป็นสุข” จึงถูกแท้
เลิกจัดงาน วันเกิด กันเถิดนะ ควรแต่จะ คุกเข่า กราบเท้าแม่
รำลึกถึง พระคุณ อบอุ่นแด อย่ามัวแต่ จัดงาน ประจานตัวง

ค่าน้ำนม
อันพระคุณชนนีนี้ใหญ่หลวง แม่เฝ้าห่วงลูกยามาแต่หลัง
ลูกเจริญเติบใหญ่มีพลัง เพราะแม่หลั่งน้ำนมให้ดื่มกิน
หยาดน้ำนมแม่นี้มีค่านัก ลูก ยากจักทดแทนให้หมดสิ้น
พระคุณแม่ใหญ่กว่าฟ้าและดิน มิรู้สิ้นสุดทางจะอ้างคุณ
น้ำใจแม่ล้ำเลิศประเสริฐพร้อม แม่ถนอมโอบเอื้อช่วยเกื้อหนุน
เฝ้ากล่อมเกลี้ยงเลี้ยงลูกด้วยการุณย์ แม่เจือจุนแผ่เผื่อเอื้ออารี
โอ้พระคุณเหนือเกล้าของลูกเอย ลูกไม่เคยลืมบุญคุณแม่นี้
สุดร่ำซึ้งถึงค่าความปรานี ที่แม่มีต่อลูกจิตผูกพัน
ลูกจะแทนคุณได้อย่างไรหนอ เพื่อให้พอเพียงบุญคุณแม่นั้น
ลูกบวชเรียนเพียรพากมากอนันต์ แต่ดูมันเล็กน้อย ด้อยเกินไป
อันน้ำนมแม่นี้มีค่าล้น ลูกสุดค้นสรรหาคำปราศรัย
หาค่าอื่นหมื่นแสนในแดนใด จะยิ่งใหญ่เกินกว่า “ค่าน้ำนม”

นกน้อยทำรังแต่พอตัว
นกน้อยขนน้อยแต่ พอตัว
รังแต่งจุเมียผัว อยู่ได้
มักใหญ่ย่อมคนหัว ไพเพศ
ทำแต่พอตัวไซร้ อย่าให้คนหยัน
พึงไม่เพียรหาทรัพย์ใน ๔ อย่าง
อย่าเรียนเพียรคิดค้น ขุดทอง
อย่าตริตรึกนึกปอง บ่อนเหล้น
อย่าเรียนเวทย์มนต์ลอง สาวสวาท
แปรธาตุหนึ่งพึงเว้น สี่นี้เบียนตน

สามสิ่งนี้ถึงมีก็เหมือนไม่มี
มีเงินให้ท่านกู้ ไปนา
ศิลปศาสตร์ฤาศึกษา เล่าไว้
มีเมียอยู่เคหา ไกลย่าน
สามลักษณะนี้ใกล้ แกล่แม้นไป่มี

ทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบ
สินใดบ่ชอบได้ มาเรือน
อยู่แต่เจ็ดเดือนเตือน ค่ำเช้า
ครั้นนานย่อมเลือนเบือน ปนอยู่
มักชักของเก่าเหย้า มอดม้วยหมดโครง
โคลงโลกนิติ

แม้จะได้ยึดครองอยู่ถึงเจ็ดเดือนก็ต้องระมัดระวังให้ดีเพราะผ่านไปย่อมปะปนกับสมบัติเก่าแล้วจะพลอยดึงทั้งของเก่าและของใหม่ไปใช้จนร่อยหรอหมดได้ในที่สุด

คิดผิด...ทำผิด
ผมผิดคิดสิบห้า วันวาร
ทำไร่ผิดเทศกาล ขวบเข้า
เลี้ยงเมียผิดรำคาญ คิดหย่า
ทำผิดไว้คิดเศร้า ตราบเท้าวันตาย

:b48: โคลงโลกนิติ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 41 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร