วันเวลาปัจจุบัน 14 ก.ย. 2024, 03:48  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2010, 10:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

โสเภณีกับพระพุทธศาสนา
ศ. (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต

โสเภณี ย่อมาจากคำเต็มว่า นครโสเภณี ซึ่งดีทั้งทางความหมายและเกียรติยศ

นครโสเภณี แปลว่า สตรีที่ยังนครให้งาม หรือสตรีงามเมือง ชื่อนี้เป็นตำแหน่งที่พระราชามหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเชียวนะครับ ไม่ใช่ย่อยๆ คนที่ได้รับตำแหน่งนี้ต้องเป็นสตรีที่งามเลิศจริงๆ ผ่านการคัดเลือกโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไม่แพ้ประกวดนางสาวจักรวาลเชียวแหละ

ธรรมเนียมการแต่งตั้งหญิงนครโสเภณี ดูเหมือนจะเกิดขึ้นที่เมืองไพศาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชีก่อน แคว้นนี้มีความคิดก้าวหน้าในด้านต่างๆ มาก ทางการปกครองก็นำเอาระบบรีพับลิก หรือสาธารณรัฐมาใช้ ผู้ปกครองเมืองต้องผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนอยู่กันเป็นเทอม หมดเทอมก็ออกเลือกตั้งผู้ปกครองใหม่ขึ้นมาแทน

วัตถุประสงค์ของการแต่งตั้งสตรีงามเมือง เพื่อดึงดูดใจเงินตราต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญ

กษัตริย์ และพวกพ่อค้าวาณิชต่างเมือง เมื่อรู้ว่าเมืองไหนมีหญิงงามเมืองเลอโฉม ก็พากันไปเที่ยวหาความสำราญ ขนเงินขนทองไปให้คราวละมากๆ เธอจึงเสมือนแม่เหล็กดูดเงินตราเข้าประเทศอย่างมหาศาล เจ้าของประเทศไม่ต้องทำอะไร นั่งนับเงินมือเป็นหวัดทีเดียว

นับว่าพวกวัชชีนี้หัวแหลมจริงๆ

นางนครโสเภณีของเมืองไพศาลีคนหนึ่ง ที่เดินเข้ามาในประวัติพุทธศาสนา จนผมต้องนำมาจั่วหัวเรื่องว่า “โสเภณีกับพระพุทธศาสนา” นั้นชื่อว่า
อัมพปาลี พูดถึงความงามก็คงไม่แพ้นางสาวโลกนางสาวจักรวาลสมัยนี้แน่ เท่าที่ทราบจากหลักฐานที่จารึกไว้เธอเป็นตัวเงินตัวทองดึงดูดเงินตราเข้า ประเทศอย่างมหาศาล

ขนาดพระเจ้าพิมพิสาร อยู่ถึงเมืองราชคฤห์ ก็เทียวไล้เทียวขื่อเป็น “ขาประจำ” ของเธออย่างสม่ำเสมอ

กษัตริย์องค์นี้ ตำราศาสนาว่าเป็นโสดาบันเสียด้วยซ้ำ

ไม่ทราบว่า ตอนที่เข้าออก “ซ่อง” อยู่ทุกบ่อยนี้เป็นโสดาบันหรือยัง หรือว่ามาบรรลุธรรมเอาทีหลัง ตำรามิได้บอกไว้ แต่ถ้าเป็นอย่างแรกก็แสดงว่านางอัมพปาลีนี่มีเสน่ห์มิใช่ย่อยเอาทีเดียว

ขนาดพระโสดาบันยังหลง ว่างั้นเถอะ

พิเคราะห์ดูตามประวัติ กษัตริย์พิมพิสารคงเป็นชายหนุ่มเจ้าสำราญเอาการอยู่ ไม่ว่าเมืองไหนมีนางงามเมือง ไปเที่ยวหมด อย่างเมืองอุชเชนี แคว้นอวันตี อยู่ห่างเมืองราชคฤห์ตั้งหลายร้อยโยชน์ ท้าวเธอยังไปย่ำมาซะโชกโชน เผลอไผลลืมใส่ “มีชัย” หรือไงไม่ทราบ (สมัยนั้นมีหรือยังตำราไม่ได้บอกไว้) ไปไข่ทิ้งไว้ให้
นางปทุมวดี นางงามเมืองผู้เลอโฉมของอุชเชนี เข้าจนได้

พอคลอดออกมาแม่ก็เลยส่งลูกชายมาให้กษัตริย์พิมพิสารเลี้ยงไว้ในวังเมืองราชคฤห์ ลูกชายคนนี้ชื่อ เจ้าอภัยราชกุมาร ผู้เป็นพ่อเลี้ยงหมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งผมจะเล่าทีหลัง


ระยะที่พิมพิสารไปมาหาสู่นางอัมพปาลีอยู่นั้นเอง นางก็ตั้งครรภ์ขึ้นด้วยความประมาท คลอดออกมาเป็นชาย ตั้งชื่อให้ว่า วิมล ว่ากันว่าเจ้าหนูน้อยวิมลคนนี้ก็เป็นผลงานของพิมพิสารกษัตริย์โสดาบันเจ้าสำราญเหมือนกัน ดีที่แม่เธอไม่ส่งให้ไปเลี้ยงไว้อีก ไม่งั้นราชสำนักเมืองราชคฤห์คงเต็มไปด้วยลูกนางโสเภณี

หลังจากขนเงินไปทิ้งให้ประเทศเพื่อนบ้านมากแล้ว พิมพิสารก็ได้คิดว่าตนเองน่าจะหาทางดูดเงินกลับคืนมาบ้าง จึงสั่งให้ประกวดสาวงามทั่วกรุงเพื่อแต่งตั้งเป็นนางนครโสเภณี ผลการประกวดปรากฏว่าสตรีแน่งน้อยนาม สาลวดี ชนะที่ ๑ และได้รับแต่งตั้งให้รับตำแหน่งที่เชิดชูตาของนครราชคฤห์

ไม่ต้องสงสัย พิมพิสารย่อมเป็นคน “เบิกฤกษ์” เป็นคนแรกและเทียวไล้เทียวขื่อมิได้ขาด จนกระทั่งได้ลูกชายด้วยความเผลอมาคนหนึ่ง บังเอิญเด็กคนนี้กลายเป็นคนสำคัญในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในคราวต่อมา จึงขอเล่าเรื่องโดยละเอียด ณ ที่นี้ซะเลย

พอรู้ว่าตั้งครรภ์ สาลวดีเธอก็งดรับแขก ใครมาหาเธอก็สั่งให้บอกว่าไม่สบาย ไม่พร้อมที่จะรับแขก จนกระทั่งคลอดลูกเป็นชาย เธอตัดสินใจสั่งให้เอาไปทิ้ง ใครจะว่าใจยักษ์ใจมารก็ช่างเถอะ ถ้าใครๆ รู้ว่าเธอมีลูก ราคาเธอคงจะตกฮวบฮาบ หรือไม่อาจถูก “ปลด” ออกจากตำแหน่งอันทรงเกียรติก็ได้ (อย่าลืมนะครับ สมัยโน้นโสเภณีมีเกียรติมาก มิได้เป็นกันง่ายๆ อย่างสมัยนี้) เธอสั่งให้นำลูกไปทิ้งในที่ที่จะมีคนเดินไปพบ เผื่อบุญวาสนาส่งลูกชายเธออาจมีผู้มีอันจะกินนำไปอุปการะก็ได้

นับว่าเธอคาดการณ์ไม่ผิด หรือชะรอยจะเป็นบุญของเด็กน้อยก็มิทราบ เช้าวันนั้น
อภัยราชกุมาร โอรสกษัตริย์พิมพิสาร ออกมอร์นิ่งวอล์กแต่เช้าพร้อมกับข้าราชบริพาร ได้เห็นกาฝูงหนึ่งร้องเซ็งแซ่อยู่ข้างหน้า จึงรับสั่งให้มหาดเล็กวิ่งไปดูว่าฝูงกามันรุมล้อมอะไร

มหาดเล็กกลับมาทูลว่า เด็กน้อยคนหนึ่ง ไม่ทราบว่าใครนำมาทิ้งไว้

รับสั่งถามว่า มีชีวิตอยู่หรือเปล่า

“มีชีวิตอยู่พ่ะย่ะค่ะ” (ตรงนี้ภาษาบาลีว่า ชีวโก = ยังมีชีวิตอยู่)


ได้ยินคำกราบทูลของมหาดเล็ก อภัยราชกุมารทรงสาวพระบาทไปใกล้ ทอดพระเนตรเห็นทารกน้อยดิ้นกระแด่วๆๆ อย่างน่าสงสาร จึงสั่งให้นำเข้าวัง เลี้ยงดูอย่างทะนุถนอมรับไว้เป็นโอรสบุญธรรมต่อมา อาศัยคำกราบทูลของมหาดเล็กว่า ยังมีชีวิตอยู่ (ชีวโก) จึงทรงตั้งชื่อบุตรบุญธรรมว่า ชีวกโกมารภัจจ์

ต่อมาเมื่อโตขึ้น ชีวกถูกพวกเด็กๆ ในวังล้อเลียนว่า เจ้าลูกไม่มีพ่อ ด้วยความมานะจึงหนีพ่อเลี้ยงไปเรียนศิลปวิทยาที่เมืองตักสิลา

วิชาที่เจ้าหนูชีวกเรียนคือ วิชาแพทย์ หนีพ่อไป ไม่ได้นำเงินติดตัวไปไม่มีค่าเล่าเรียนให้อาจารย์ เลยอาสาอยู่รับใช้อาจารย์สารพัดแล้วแต่อาจารย์จะใช้ อาศัยเป็นเด็กอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเคารพเชื่อฟังอาจารย์เป็นอย่างดี จึงเป็นที่โปรดปรานของอาจารย์ มีศิลปวิทยาเท่าไรอาจารย์ได้ถ่ายทอดให้หมดไม่ปิดบังอำพราง


รูปภาพ
รูปหล่อหมอชีวกโกมารภัจจ์


ชีวกเรียนหมออยู่ ๗ ปี ชักคิดถึงพ่อ คิดถึงบ้าน จึงเข้าไปเรียนถามอาจารย์ว่าเมื่อไหร่จะเรียนจบหลักสูตรซะที ตนอยากกลับบ้านเต็มทีแล้ว

อาจารย์บอกว่า วิชาการแพทย์เรียนเท่าไรไม่รู้จบ แต่ถ้าเธอจะกลับบ้านก็ต้องทดสอบก่อนว่าเธอมีความรู้พอที่จะไปรักษาคนหรือยัง

ว่าแล้วอาจารย์ก็บอกให้ชีวกออกจากรั้วมหาวิทยาลัย เข้าป่าไปสำรวจดูว่าต้นไม้ต้นไหนที่เปลือกรากหรือใบใช้ทำยาไม่ได้ ให้เอาตัวอย่างกลับมาให้อาจารย์ กำหนดระยะเวลาสำรวจ ๗ วัน

นับว่าเป็นข้อสอบไล่ที่ทันสมัยเอาการ

ครบ ๗ วัน ชีวกเดินตัวเปล่ากลับมา เรียนอาจารย์ว่าต้นไม้ใบหญ้าทุกชนิดที่เขาพบไม่มีอย่างไหนที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย

อาจารย์เอื้อมมือมาลูบศีรษะเขาเบาๆ กล่าวว่า

“ชีวก เธอเรียนจบหลักสูตรแล้ว กลับไปทำประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์เถิด”

เขาเดินทางจากตักสิลา มุ่งหน้ามายังนครราชคฤห์ เสบียงเดินทางหมดระหว่างทางที่เมืองสาเกตรับอาสารักษาเศรษฐีคนหนึ่งที่ป่วยด้วยโรคปวดศีรษะมาเป็นเวลานาน จนหายสนิท ได้รับเงินค่ารักษาเป็นจำนวนมาก

ว่ากันว่าหมอชีวกได้ใช้วิธีศัลยกรรมผ่าตัดกะโหลกศีรษะ ทั้งๆ ที่ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยเหมือนอย่างสมัยนี้ จึงไม่ต้องสงสัยว่าพอเขารักษาเศรษฐีหายจากโรค ชื่อเสียงเขาก็ขจรขจายไปทั่วเมือง ถึงกับลือว่าเขาเป็นหมอเทวดาเอาทีเดียว

กลับมาถึงบ้านได้ข่าวว่าเสด็จปู่พิมพิสาร (ความจริงก็ “พ่อ” ของชีวกนั่นเอง) ป่วยเป็นโรคร้ายแรงชนิดหนึ่ง ภาษาบาลีเรียกว่า ภคัณฑลา มีอาการโลหิตไหลหนองไหลออกมาเปื้อนภูษาทรงน่ารังเกียจ

ผู้รู้ท่านว่าโรคริดสีดวงทวาร แต่ผมสงสัยว่าพี่แกน่าจะเป็นโรคอย่างว่ามากกว่า

ก็เห็นสำส่อนเหลือเกินนี่ครับ

หมอชีวกรับอาสารักษาให้จนหายสนิท จึงเป็นที่โปรดปรานมาก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหมอหลวง พร้อมได้รับพระราชทานสวนมะม่วงนอกเมืองให้เป็นสมบัติอีกด้วย

สวนมะม่วงหรืออัมพวัน นี่เองที่เขาได้ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ในกาลต่อมา หลังจากที่เขาได้ถวายพระโอสถแด่พระศาสดา เมื่อคราวพระองค์ทรงประชวร

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถูกพระเทวทัตคิดร้าย กลิ้งก้อนหินหมายทับพระองค์ แต่ก้อนหินพลาดสะเก็ดหินแตกมากระทบพระบาทจนห้อพระโลหิต พระสงฆ์ช่วยกันหามพระองค์มาพักที่สวนมะม่วงนี่เหมือนกัน

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นประมาณ ๘ ปีก่อนปรินิพพาน หมอชีวกทราบข่าววิ่งกระหืดกระหอบไปถวายการรักษาพยาบาล

ครับ ! นี่คือประโยชน์มหาศาลอย่างหนึ่งที่โสเภณีสร้างไว้แก่พระพุทธศาสนา เธอได้ให้กำเนิดแก่ทารกชื่อ ชีวกโกมารภัจจ์ ผู้ซึ่งทำประโยชน์มากมายแก่พระศาสนาและประชาชนทั่วไปในกาลต่อมา แม้ว่าจะให้กำเนิด “อย่างเสียไม่ได้” ก็ตามที

เธอไม่ทำแท้งซะก็นับว่าบุญหนักหนาแล้วละครับ

โสเภณีอีกคนหนึ่งที่ทำคุณแก่พระศาสนาที่ควรทราบก็คือ...เสียดาย ตำนานมิได้จารึกชื่อเธอไว้
โสเภณีนิรนาม ผู้นี้โคจรมาเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์หลังจากตรัสรู้ไม่นาน

พระองค์เสด็จไปเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน แล้วโปรดยสกุมารพร้อมบริวาร ๕๐ คน เมื่อได้สาวกจำนวน ๖๐ องค์แล้วได้ส่งพวกเธอจาริกไปสั่งสอนประชาชนตามรัฐต่างๆ


พระองค์เสด็จมุ่งหน้ามายังตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เพื่อโปรดชฎิลสามพี่น้อง นักบวชเกล้าผมที่ประชาชนชาวมคธศรัทธาเลื่อมใส ระหว่างทางทรงพบเด็กหนุ่มเจ้าสำราญ ๓๐ คน

เด็กหนุ่มพวกนี้ได้พากันมาปิกนิกพร้อมภริยาของตน หนึ่งในสามสิบนั้นไม่มีภริยา จึงนำโสเภณีคู่ขาคนหนึ่งมาร่วมงานด้วย ขณะที่ทั้งหมดกำลังเล่นสนุกสนานกันอยู่ โสเภณีนิรนามเธอฉวยโอกาส “ยกเค้า” ทรัพย์สินของพวกเขาหลบหนีไป พวกเขาจึงยกขบวนติดตามมาพบพระพุทธองค์ จึงเข้าไปถาม

“สมณะ เห็นอิสตรีนางหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม”

แทนที่จะตอบว่าเห็นหรือไม่เห็น ทรงย้อนถามว่า

“พวกเธอแสวงหาตัวเองจะมิดีกว่าแสวงหาอิสตรีหรือ”


วาทะคมคายแฝงด้วยความคิดปรัชญาประโยคเดียวนี้แท้ๆ กระทบความรู้สึกภายในของเด็กหนุ่มเจ้าสำราญพวกนี้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จริงสินะ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขาได้ “วิ่งไล่” ความสุขในเนื้อหนังอันจอมปลอม ยิ่งวิ่งไล่ก็ดูเหมือนว่ายิ่งห่างไกลความสุขที่แท้จริงออกไปทุกที มีแต่ได้รับทุกข์ถนัดอย่างที่เป็นอยู่ หากหยุดไล่หันมามองที่ตัวเองบ้างบางทีอาจได้พบความสุขที่ตนกำลังไขว่คว้าหาก็เป็นได้

คิดได้ดังนี้จึงนั่งลงสนทนากับพระองค์ท่าน พระองค์ได้แสดงธรรมโปรดพวกเขา จนได้บรรลุคุณธรรมชั้นสูง ทูลขอบวชเป็นสาวกของพระองค์ในที่สุด

เพราะโสเภณีนิรนามขโมยของแท้ๆ เด็กหนุ่มเหล่านี้จึงได้ไล่ติดตามพบพระพุทธองค์ และกลายเป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในที่สุด

อย่างนี้ไม่เรียกว่าโสเภณีทำคุณประโยชน์ให้แก่ศาสนาได้อย่างไร


-----------------------------

:b47: พระอัมพปาลีเถรี อดีตนางคณิกา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50276

:b47: พระปทุมวดีเถรี อดีตนางโสเภณี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50329

:b47: อภัยราชกุมาร พระบิดาแห่งนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50414

:b47: หมอชีวกโกมารภัจจ์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57759

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2010, 05:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 พ.ค. 2009, 02:41
โพสต์: 5636

แนวปฏิบัติ: พอง ยุบ
ชื่อเล่น: เจ
อายุ: 0
ที่อยู่: USA

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถ้านับกันจริงๆแล้ว....พระอภัยราชกุมาร

ก็เป็นพี่คนละแม่ของ...

กุมารน้อยชีวกโกมารภัจจ์ นะซิค่ะ คุณสาวิกาฯ :b10:

รออ่านต่ออยู่นะคะ :b1:

.....................................................
"มิควรหวังร่มเงาจากก้อนเมฆ"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2010, 08:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

โสเภณีอีกคนที่ผมจะพูดถึง ชื่อ สิริมา ชื่อเพราะเสียด้วย สิริมาเธอเป็นน้องสาวของหมอชีวก ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหญิงนครโสเภณีต่อจากสาลวดี มารดาของเธอ เรียกว่าเชื้อไม่ทิ้งแถว หรือลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น

ว่ากันว่าค่าตัวเธอประตูละพันกหาปณะเชียวแหละ กหาปณะหนึ่งคิดเป็นเงินไทยก็ตกราว ๔ บาท พันกหาปณะก็ ๔,๐๐๐ บาท ชายหนุ่มระดับกระจอกๆ ไม่มีปัญญาได้เป็น “แขก” เธอหรอก นอกจากเศรษฐีเงินถุงเงินถัง

วิถีชีวิตของหญิงโสเภณีไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับวัดวาศาสนาเพราะอาชีพสวนทางกัน แต่นางสิริมากลับกลายเป็นสาวิกาผู้ใจบุญ อุปถัมภ์ค้ำชูพระศาสดาจนตลอดอายุขัย

เรื่องมีอยู่ว่า ครั้งหนึ่งนางได้รับจ้างให้ไปเป็น “เมียเช่า” ของเศรษฐีคนหนึ่ง นัยว่าเมียอีตาคนนี้เป็นคนเคร่งครัดในศาสนา ถือศีลอุโบสถ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ แต่อีตาเศรษฐีสามีแกไม่ถือศีลด้วย คอยสะกิดสีข้างทุกคืน เมียแกจึงไปว่าจ้างโสเภณีสิริมาทำหน้าที่ภรรยาแทนตน สามีก็ไม่ขัดข้อง ชอบเสียอีกที่ได้เปลี่ยนรสเปลี่ยนชาติ

อยู่กับสามีคนอื่นนานเข้า สิริมาเธอนึกอยากจะเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย คิดกำจัดภรรยาเขาฮุบเอาสมบัติ แต่ทำยังไงๆ อุบาสิกาผู้เคร่งศีลก็ไม่โกรธ จนสิริมาแกรู้สำนึกในความผิดของตนในภายหลังจึงขอขมา อุบาสิกาแกยกโทษให้พร้อมแนะนำให้ไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า

หลังจากพบพระพุทธเจ้าแล้ว สิริมาเธอมีความเลื่อมใสในพระศาสนา บำเพ็ญตนเป็นสาวิกาที่ดี ทำบุญใส่บาตรพระสงฆ์วันละ ๘ องค์ทุกวัน

ภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งไปบิณฑบาตบ้านนางสิริมาแล้วไปคุยถึงความงามของนางให้อีกรูปหนึ่งฟัง พระหนุ่มรูปนั้นได้ฟังก็หูผึ่ง “นางสิริมานี่งามจริงๆ หรือ”

“หยาดฟ้ามาดินเชียวแหละคุณเอ๊ย ตั้งแต่เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นนี่แหละ ผู้หญิงอะไรงามไปหมดทั่วสรรพางค์”

“งามเท่าอาภัสรามั้ย”

“ต่อให้อาภัสราบวกอรัญญา บวกเออร์เนล่า มูติ บวกฟาร์ราห์ ฟอร์เซ็ต ก็งามสู้เธอไม่ได้” (หมายเหตุ - บุคคลเหล่านี้มีชีวิตอยู่สมัยพระพุทธเจ้านะเออ อย่าสับสนกับคนสมัยนี้)

ได้ยินเกียรติคุณแห่งความงามของนาง พระหนุ่มอยากพบหน้าเธอเป็นกำลัง ตื่นเช้าขึ้นคว้าบาตรได้เดินลิ่วตรงไปยังบ้านเธอทันที บังเอิญ วันนั้นหลังจากใส่บาตรแล้วเธอป่วยกะทันหัน รุ่งเช้าขึ้นเธอให้คนพยุงออกมาใส่บาตร พระหนุ่มก็เห็นหน้าเธอเท่านั้น รำพึงในใจว่า

“โอ้โฮ ! ขณะไม่สบายเธอยังสวยงามถึงเพียงนี้ ถ้าไม่ป่วยไข้เธอจะงามขนาดไหนหนอ”

กลับถึงวัดข้าวปลาไม่ยอมฉัน เอาจีวรคลุมศีรษะนอนครางหงิงๆ อยู่คนเดียว

มิไยพระเพื่อนพ้องจะปลอบโยนยังไงก็ไม่ฟัง

กามเทพแกเล่นพิลึกแผลงศรปักหัวใจพระหนุ่มเข้าแล้วละครับ

นอนซมด้วยไข้ใจถึง ๓ วัน ๓ คืน ไม่แตะต้องข้าวปลาอาหาร โดยไม่รู้ว่านางสิริมาผู้เลอโฉมถึงแก่กรรมลงในคืนวันที่ตนไปรับบาตรนั่นเอง

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับสาวกหนุ่มของพระองค์ พอได้ข่าวนางสิริมาตายจึงรับสั่งไปยังพระเจ้าพิมพิสารว่าอย่าเพิ่งเผานางสิริมา ขอให้นำศพเธอไปทิ้งไว้ที่ป่าช้าผีดิบสัก ๓ วัน พอครบ ๓ วันพระองค์รับสั่งให้บอกเหล่าพระสงฆ์สาวกว่าวันนี้ให้พระทั้งหมดไปดูนางสิริมา

พระหนุ่มผู้ต้องศรกามเทพพอได้ยินคำว่าสิริมาก็ผลุดลุกขึ้นคว้าจีวรห่มแล้วกระโดดลงกุฏิแจ้นไปทันที

พระพุทธองค์ตรัสสั่งให้ในหลวงประกาศแก่คนทั่วไปว่า ใครอยากได้นางสิริมาไปนอนด้วยให้จ่ายค่าตัวพันกหาปณะ สิ้นเสียงประกาศมีแต่ความเงียบวังเวง ไม่มีใครรับข้อเสนอ

“ใครจ่ายห้าร้อยรับเอาเธอไป”

“สองร้อย”

“หนึ่งร้อย”

“ห้าสิบ”

“สิบ”

“หนึ่งกหาปณะ”

“หนึ่งมาสก”

“หนึ่งกากณิก”

“ถ้าอย่างนั้นใครอยากได้เปล่าๆ เอาไปเลย”

เงียบ !

พระศาสดาทรงหันมาตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า

“ดูเอาเถิดภิกษุทั้งหลาย เมื่อก่อนใครอยากจะอยู่ร่วมกับเธอ เพียงครู่เดียวต้องจ่ายเงินถึงพันกหาปณะ บัดนี้ยกให้ใครเปล่าๆ ก็ไม่มีใครเอา ร่างกายนี้แหละที่ใครต่อใครแย่งกันเพื่อหวังครอบครอง บัดนี้หาค่าอันใดมิได้ ทุกอย่างมันช่างฝันแปรไม่แน่นอนอะไรเช่นนี้”


ปัสสะ จิตตะกะตัง พิมพัง
อรุกายัง สะมุสสิตัง
อาตุรัง พะหุสังกัปปัง
ยัสสะ นัตถิ ธุวัง ฐิติ


จงดูร่างกายที่ว่าสวยงามนี้เถิด
เต็มไปด้วยแผล สร้างขึ้นด้วยกระดูก
เต็มไปด้วยโรค มากด้วยความครุ่นคิดปรารถนา
หาความยั่งยืนถาวรมิได้


ตรัสจบพลางชำเลืองสายพระเนตรมายังภิกษุหนุ่มผู้ต้องศรกามเทพที่ยืนเจี๋ยมเจี้ยมอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์

ศรรักที่ปักอกเธอได้ถูกถอนออกแล้ว เธอได้ฟื้นตื่นจากความลุ่มหลงงมงายในบัดดล

เห็นหรือยังครับ โสเภณีที่คลุกคลีอยู่ในทะเลตัณหายังช่วยให้พระบรรลุธรรมได้

ตําแหน่งโสเภณี แม้ว่าจะมีเกียรติยศถึงขนาดเรียกว่า ผู้ทำเมืองให้งามหรือผู้สร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติขนาดเป็นตำแหน่งที่พระราชาทรงแต่งตั้งก็ตาม แต่นั่นเข้าใจว่าคงจะเป็นสมัยแรกๆ เท่านั้น ต่อมาคงไม่มีใครคิดว่าเป็นเกียรติยศอีก ทั้งพระราชาก็คงมิได้ตั้งอีกต่อไปแล้ว

เพราะปรากฏว่าโสเภณีได้เพิ่มจำนวนขึ้นมามากมาย ตั้งสำนักหากินกันเป็นล่ำเป็นสัน มีเจ้าสำนักหรือ “คุณแม่” คอยควบคุมกิจการค้า คอยฝึกคอยเทรนเทคนิคและศิลปะการทำมาหาเลี้ยงชีพให้แก่คุณเธอผู้เป็นลูกเล้า

เมื่อมีสำนัก มีแม่เล้า โสเภณีก็ต้องมีแมงดาด้วยแหงๆ ไม่งั้นใครจะเป็นมือเป็นตีนให้คุณแม่ท่าน แต่ในตำราผมยังอ่านไม่พบว่ามีพูดถึงแมงดาหรือบทบาทของแมงดาเลย

ที่ผมว่าชื่อเสียงโสเภณีเริ่มตกต่ำ และคุณเธอได้ผุดขึ้นราวดอกเห็ดถึงขั้นหากินกันเป็นสำนักนี้ สันนิษฐานเอาจากชื่อที่เรียกคุณเธอพวกนี้แหละครับ มันบอกความหมายแฝงอยู่ในตัว

เดิมเขาเรียกว่า นครโสเภณี แปลว่า สตรีทำเมืองให้งาม ชื่อนี้เป็นชื่อดั้งเดิม ผู้มีสิทธิ์เป็นนครโสเภณีจะต้องผ่านการคัดเลือก และได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดิน แสดงว่าคนเป็นนครโสเภณีต้องมีไม่มาก เมืองหนึ่งอาจมีเพียงคนหรือสองคนเท่านั้น

เผลอๆ คุณเธออาจมีเงินเดือนกินซะด้วยสิ เป็นข้าราชการผู้ทำงานให้แก่รัฐคนหนึ่งเหมือนกันนี่ครับ

ต่อมาคนมักเรียกคุณเธอพวกนี้ว่า “คณิกา” คำนี้บ่งบอกว่ามีการหากินเป็นพรรคเป็นพวกเป็นสำนักแน่ๆ คณิกา มาจากคำว่า คณะ ซึ่งแปลว่าหมู่ กลุ่ม พวก คณิกา ก็ต้องแปลว่า ผู้หากินเป็นหมู่ เป็นกลุ่ม เป็นพวก ตั้ง “สำนัก” หากินเป็นการถาวร เรียกกันสมัยนี้ว่า “ซ่อง”

มีสำนัก ก็ต้องมีเจ้าสำนัก และผู้คุมสำนัก เป็นธรรมดา

หากินกันเป็นล่ำเป็นสันจนร่ำรวย คนที่รวยกว่าใครก็เห็นจะเป็น “คุณแม่”

คุณแม่บางคนแก่เฒ่าขึ้นมาแล้ว นึกถึงพระศาสนาตามประสาชาวพุทธ จึงเจียดเงินที่ได้จาก “มังสพาณิชย์ (แปลว่า ขายเนื้อ ครับ)” ของเธอมาสร้างวัดสร้างวาไว้เป็นอนุสรณ์ก็มี

หยั่งยายแฟง แกตั้งสำนักทำมาค้าขายของแกจนร่ำรวยแล้วเอาเงินมาสร้างวัดตั้งชื่อเสียโก้เก๋ว่า วัดคณิกาผล (แปลว่าวัดที่สร้างจากผลประโยชน์ของอีตัวหรือวัดอีตัว)

สร้างวัดเสร็จแล้ว ยายแฟงก็ทำบุญฉลอง นิมนต์สมเด็จพุฒาจารย์โต วัดระฆัง มาเทศน์ฉลอง สมเด็จท่านเป็นคนพูดตรงๆ ท่านบอกยายแฟงว่า ถึงยายจะสร้างเอาวัดวาใหญ่โต ยายก็ไม่ได้บุญเท่าไหร่หรอก เพราะเงินที่ยายเอามาสร้างมิได้หามาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานของยายเอง แต่ไปรีดไปไถคุณเธอมา คนควรจะได้บุญมากควรจะเป็นพวกคุณเธอลูกๆ ของยายมากกว่า

ว่ากันว่า แรกๆ ยายแฟงแกโมโหสมเด็จโตมาก แต่ครั้นนั่งคิดนอนคิดถึงเหตุผลแล้วก็เห็นด้วยกับสมเด็จ

ชื่ออีกชื่อหนึ่งที่ป๊อปปูลาร์พอๆ กับสองชื่อแรกคือ “เวสิยา” ชื่อนี้ท่านอธิบายไว้สามความหมาย ทั้งสามความหมายก็บ่งบอกว่าเป็นชื่อที่เรียกกันในยุคหลัง คือยุคที่คุณเธอตั้งซ่องหากินแล้ว

ความหมายแรกว่า ผู้ที่สวยงามมาก ความหมายที่สองแปลว่า ผู้ที่ชายต้องไปหา อันนี้ชัดแจ๋วอยู่แล้ว เวลาเกิด “กามรดี” (ก็ “เซี่ยน” น่ะคุณก็) ขึ้นมา ผู้ชายไม่ว่าหนุ่มหรือแก่ แม้กระทั่งพวกที่ “งั่ก” ก็ยังไม่เว้น ก็ต้องไปหา ไปที่ไหนก็ไปที่สำนักพวกคุณเธอนั่นเอง

ความหมายสุดท้ายแปลว่า ผู้อยู่ตามตรอก ตามซอกซอย ความหมายนี้อาจตีความได้สองนัย คือสำนักของคุณเธอตั้งอยู่ตามซอย หรือตรอก ทำเลที่เหมาะ เช่น แถวๆ บางขุนพรหมอะไรอย่างนี้ หรืออีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงว่า คุณเธอตอนนี้ได้ตกต่ำถึงขนาดแล้ว ไม่ได้หากินอยู่ตามตึกรามบ้านช่อง แต่เร่ดักเหยื่ออยู่ตามซอกซอย ประเภท “ไก่หลง” อย่างนั้นก็อาจเป็นได้

เวสิยา (นางที่หากินตามตรอก ตามซอย) นี้ ไทยเราเรียกเพี้ยนเป็น “แพศยา” ดูจะเป็นชื่อที่เรียกด้วยความเหยียดหยามมาก แสดงว่าอาชีพของคุณเธอไม่ได้รับการยกย่อง หรือมีเกียรติอีกต่อไป

อีกชื่อหนึ่งไม่มีเรียกในตำราบาลี สันสกฤต หรอกครับ แต่คนไทยเราเรียกกัน คือ “กะหรี่” เรียกด้วยความเหยียดหยาม เช่นเดียวกับ “แพศยา” ชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรผมไม่ทราบ ลองนึกดูว่ามันจะมีเค้าเพี้ยนมาจากคำบาลีเหมือนชื่อแพศยาก็นึกไม่ออก แต่เพื่อนผมคนหนึ่งแกบอกว่า คำนี้เป็นภาษามลายูหรือชวาอะไรนี่แหละ ผมก็จำไม่ถนัด แปลว่าหม้อ แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าไอ้หม้อนี่มันมาเกี่ยวข้องกับคุณเธอพวกนี้อย่างไร และงงเต็กไปกว่านั้น ก็ตรงที่เวลาไอ้หนุ่มๆ ไปเที่ยวกะหรี่กัน ไหงเขาเรียกว่าไป “ตีหม้อ” ก็ไม่รู้เหมือนกัน

คนแก่วัดหยั่งผมนี่ ตามภาษาชาวบ้านไม่ค่อยจะทัน เพราะฉะนั้นบ่อยครั้งมักจะปรากฏพระสงฆ์องค์เจ้าท่าน “ปล่อยไก่” หรือ “จุดไต้ตำตอ” อยู่เสมอๆ เพราะไอ้การตามภาษาชาวบ้านเขาไม่ทันนี่แหละ

เล่ากันว่า พระผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเทศนาสั่งสอนชาวบ้าน พูดถึงการฟังเทศน์ของคนว่า บางคนตั้งอกตั้งใจฟัง บางคนไม่ค่อยตั้งใจฟัง ฟังไปคุยไปหรือสัปหงกไป

“ศาสนิกชนที่ฟังเทศน์มีอยู่สองจำพวก คือ พวกหม้อหงายพวกหนึ่ง พวกหม้อคว่ำอีกพวกหนึ่ง พวกหม้อหงายย่อมฟังเข้าใจดี ได้รับประโยชน์จากการฟัง ส่วนพวกหม้อคว่ำนี่สิใช้ไม่ได้”

ว่าแล้วท่านก็หันไปทางสีกาสาวคนหนึ่ง ซึ่งนั่งตั้งอกตั้งใจฟังอยู่ข้างๆ ธรรมาสน์


-----------------------------

:b47: นางสิริมา หญิงงามแห่งกรุงราชคฤห์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=26773

:b47: นางสิริมา หญิงโสเภณีผู้บรรลุโสดาบัน
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7465

(มีต่อ)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.พ. 2010, 08:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

“อย่างโยมคนหนึ่ง หม้อหงาย ดีมาก ตั้งอกตั้งใจฟังธรรมดี ย่อมได้รับความรู้และซาบซึ้งในรสพระธรรม อันจักนำมาซึ่งความสุขความเจริญในชีวิตแน่นอน...”

ลงจากศาลา สีกาเธอฉงนนัก “เอ พระคุณเจ้ารู้ยังไงนะ หม้อเราหงาย”

ความจริงถ้าพระคุณท่านพูดซะให้เต็มรูปว่า หม้อน้ำก็จะไม่เกิดปัญหาการเข้าใจผิดเลย และเป็นการเทศน์ที่เห็นภาพพจน์ดีมาก คนที่ฟังไปสัปหงกไปไม่ต่างอะไรกับหม้อน้ำที่คว่ำไว้ ถึงฝนจะตกลงมาเท่าไหร่ก็ไม่มีทางที่หม้อน้ำจะเต็มได้ ส่วนผู้ที่ตั้งอกตั้งใจฟังเปรียบเทียบหม้อน้ำที่หงายไว้ย่อมเต็มด้วยน้ำที่หยดไหลลงมาแน่นอน

ในยุคสมัยที่โสเภณีเธอขยายกิจการหากินอย่างกว้างขวางนั้น พุทธศาสนาก็ได้แพร่หลายเป็นที่นับถือของคนทั่วไปเช่นกัน จำนวนพระสงฆ์มีมากขึ้น คุณเธอหลายคนหันมานับถือพุทธศาสนา ทำบุญตักบาตรและฟังธรรมจากพระสงฆ์เป็นประจำนอกเหนือจากขายเนื้อสดหาเลี้ยงชีพ

แรกๆ พระพุทธองค์ก็ไม่ได้ว่าอะไร ทรงถือว่าพุทธธรรมทุกคนมีสิทธิเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านธรรมดาหรือโสเภณี เวลาโสเภณีนิมนต์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้าน จึงมิได้ทรงรังเกียจเดียดฉันท์ ทั้งไม่ห้ามสาวกของพระองค์ด้วย แต่ต่อมามักเกิดเรื่องเกิดราวขึ้นบ่อย โสเภณีที่มิได้เลื่อมใสศาสนาที่แท้จริง เห็นพระรูปหล่อบางองค์ ชักเลื่อมใสไปในทางอื่น ไม่ใช่เลื่อมใสในทางธรรม ก็ได้ช่องนิมนต์พระคุณเจ้าไปฉันที่บ้าน

แรกๆ ก็ฉันข้างล่าง ไปๆ ก็นิมนต์ไปฉันข้างบน ท้ายที่สุดมิได้ฉันแต่ข้าวได้ฉันอย่างอื่นด้วย ถึงศีลวิบัติฉิบหายจากสมณเพศก็มีมาก

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติไว้ว่า สำนักโสเภณีเป็นอโคจร คือเป็นสถานที่ที่พระไม่ควรไป ถ้าจะไปจริงๆ ต้องไปเป็นงานเป็นการ มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันไปเป็นเพื่อน และไปในเรื่องบุญเรื่องกุศลจริงๆ

เรื่องหญิงแพศยาตกหลุมรักภิกษุรูปหล่อ แล้วใช้อุบายสึกเธอนี้ มีพูดถึงอยู่บ่อยๆ ในตำราทางศาสนาอย่างเช่นในหนังสืออรรถกถาธรรมบทที่พระพุทธโฆษาจารย์ชาวอินเดียแต่งไว้เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐ มีพูดถึงพระรูปงามองค์หนึ่งชื่อ สุนทรสมุทร มีชีวิตอยู่สมัยพระพุทธเจ้า ถูกโสเภณีนางหนึ่งนิมนต์ให้ไปฉันข้าวที่บ้าน วันแรกฉันข้างล่าง วันที่สองก่อนพระมาเธอสั่งให้เด็กทำเสียงอึกทึกครึกโครม พอพระมาถึงก็นิมนต์ท่านขึ้นข้างบนอ้างว่าหนวกหูเด็กเหลือเกิน ขึ้นไปฉันข้างบนเถอะ พอขึ้นข้างบนเธอก็ปิดประตูลั่นดาลจะปล้ำเอาดื้อๆ

สุนทรสมุทรกำลังจะเสียท่าอยู่พอดี พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยญาณวิถี ทรงแผ่รังสีวาบเข้าไปยังห้อง ปรากฏพระองค์ดังหนึ่งอยู่ต่อหน้าสาวกผู้เคราะห์ร้าย ตรัสสอนธรรมสั้นๆ หนึ่งบท สาวกเธอได้ฟังพระดำรัส ก็พิจารณาตามจนเห็นแจ้งสว่างโพลงขึ้นมาทันที คือได้บรรลุอรหันต์ในทันใด

เสร็จแล้วก็กระโดดผลุงเหาะหนีเอาตัวรอดไปอย่างหวุดหวิด

เรื่องนี้จะฟังเอาเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ก็ได้ ผู้เป็นอรหันต์บางท่านมีฤทธิ์เหาะได้ เป็นสิ่งเป็นไปได้ ไม่ใช่เรื่องเหลวไหล แต่ถ้าจะฟังเป็นเรื่องธรรมดา ก็อาจตีความได้ว่า การที่พระพุทธเจ้าทรงมาปรากฏองค์ต่อหน้าเธอในทันใด ก็เท่ากับตอนที่กำลังจะเข้าตาจนนั้น สุนทรสมุทรเธอนึกถึงพระพุทธเจ้าขึ้นมาทันที ในทำนองเดียวกันกับนึกถึงคุณพ่อคุณแม่ในขณะที่เรากำลังตกอยู่ในภาวะคับขัน นั่นแหละเป็นของธรรมดา และที่เหาะเอาตัวรอดไปได้ ก็อาจตีความว่า เธอได้รวบรวมกำลังครั้งสุดท้ายกระโดดลงจากบ้านวิ่งหนีจีวรปลิวไปเลยก็ได้ แล้วแต่ใครถนัดจะตีความอย่างไร

สมัยผมบวชเณรอายุประมาณ ๑๔ ปี ผมเข้าสอบแปลบาลีประโยค ๓ ที่ต่างจังหวัดแห่งหนึ่ง ข้อสอบให้แปลบาลีเป็นไทย ออกเรื่องพระสุนทรสมุทรนี้พอดี ปีนั้นอาจารย์มิได้สอนเรื่องนี้ พอข้อสอบออกมา กลัวลูกศิษย์จะแปลไม่ได้ ท่านเดินเวียนไปเวียนมา พอผ่านโต๊ะผม ท่านก็กระซิบว่า “มะนัง เกือบ” แล้วก็ผ่านเลยไป ผมเองไม่ทราบว่าท่านพูดอะไร ก็ไม่ได้สนใจเขียนข้อสอบจนจบแล้วส่งกรรมการ

เรื่องของเรื่องมันมีข้อความภาษาบาลีอยู่ประโยคหนึ่งว่า “มนํ นฏฺโฐ สุนฺทรสมุทฺโท” แปลเป็นไทยว่า “พระสุนทรสมุทรเกือบฉิบหาย” ท่านอาจารย์กลัวผมจะแปลคำว่า มนํ ว่าใจ (เพราะ มนํ แปลว่าใจก็ได้ แต่ในที่นี้แปลอย่างนั้นไม่ได้) จึงอุตส่าห์หลบกรรมการคุมสอบมากระซิบบอก

สอบเสร็จเจอหน้าท่าน ท่านซักว่าที่บอกว่า “มะนัง เกือบ” นั้นเอาตามรึเปล่า

“เปล่า” ผมตอบ

“แล้วเธอแปลยังไง” อาจารย์เป็นห่วง

“แปลว่า ฉิบหายแหงๆ” ผมบอก “ผมมั่นใจ ว่าแปลถูก”

“ทำไมถึงมั่นใจยังงั้น”

“ก็อาจารย์คิดดูสิครับ ขนาดถูกกะหรี่ปิดประตูปล้ำ ยังจะให้แปลว่าเกือบฉิบหายหรือ หยั่งงี้ต้องฉิบหายแหงๆ ซิ”

อาจารย์สั่นศีรษะ

และแล้วปีนั้นผมก็สอบได้เป็นมหา นับว่าสอบได้เพราะโสเภณีแท้ๆ


:b8: :b8: :b8: หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน
คอลัมน์ พุทธศาสนา ทรรศนะและวิจารณ์
โดย ศ. (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต


:b44: รวมคำสอน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38913

:b44: ประวัติและผลงาน “อาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44336

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2011, 09:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุขอบพระคุณในธรรมทานค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ส.ค. 2016, 19:06 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ย. 2017, 17:07 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2017, 15:57 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 718

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 พ.ย. 2021, 20:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก (นางอัมพปาลี)

โสเภณี มีคำเต็มว่า “นครโสเภณี” แปลว่าหญิงผู้ยังพระนครให้งาม แปลเป็นไทยแท้ๆ ว่า “หญิงงามเมือง”

สมัยก่อนโน้น โสเภณีเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติระดับที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมือง พระราชามหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยคัดเลือกเอาสตรีเลอโฉมที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างดี ว่าอย่างนั้นเถอะ

สวยอย่างเดียวไม่มีกึ๋น ไม่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นโสเภณี

ต่อมาในยุคหลังๆ นี้เท่านั้น ที่โสเภณีตกต่ำลง ถึงขั้นเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนทั่วไป

นางโสเภณีดังๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศานาหลายคน

คนหนึ่งชื่อ
อัมพปาลี อยู่ที่เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี นางได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ถวายสวนมะม่วงของเธอให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์

การถวายสวนมะม่วงนี้ หลักฐานบางแห่งก็ว่าเพิ่งมาถวายในช่วงท้ายพุทธกาลก่อนพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นาน บางแห่งพูดทำนองว่าถวายไว้นานแล้ว ก็ว่ากันไป เราเกิดไม่ทันก็ฟังๆ ไว้แล้วกัน

นางอัมพปาลี นับเป็นโสเภณีคนแรกที่สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา

นางเป็นคนมั่นคงในพระรัตนตรัย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินาราเพื่อปรินิพพาน เสด็จถึงโกฏิคามใกล้เมืองไพศาลี นางได้เข้าเฝ้า กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

ขณะนั่งรถกลับ ก็สวนทางกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี บรรดาชายหนุ่มเจ้าสำราญ เห็นนางผู้ซึ่งคุ้นเคยกันเพราะเป็น “แขก” คนสำคัญของเธอทั้งนั้น เรียกให้ทันสมัยก็คือ “ขาประจำ” จึงแกล้งขับรถเข้าไปกระแทกกับรถนางเป็นที่สนุกสนาน

“นางผู้เลอโฉม ไปไหนมา”

“เพิ่งกลับจากเฝ้าพระพุทธองค์มา แล้วพวกท่านจะไปไหน” นางถาม

“พวกเราก็จะไปเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน”

“ไปด้วยวัตถุประสงค์ใด”

“ไปทูลอาราธนาเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่วังของพวกเรา”

นางจึงบอกว่า ถ้าไปด้วยเหตุนั้น ก็จงกลับเถอะเพราะพระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาของนางแล้ว

พวกกษัตริย์ลิจฉวี จึงอ้อนวอนนางขอแลกกับรถม้าและเครื่องประดับล้ำค่าทั้งหมด นางก็ปฏิเสธ

แม้เสนอจะให้ทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใดนางก็ยืนกรานปฏิเสธ


นางบอกว่าที่มีโอกาสถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้านั้นมีค่ามากกว่าสิ่งใด

ในที่สุดพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ต้องยอมแพ้

นางอัมพปาลี มีบุตรชายชื่อ
วิมลโกณฑัญญะ ซึ่งต่อมาได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระวิมลได้แสดงธรรมให้แก่โยมมารดาฟัง นางรู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม ตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุณี ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่ ก็มองเห็นความเป็นอนิจจังของสังขารร่างกายของตนยกขึ้นสู่วิปัสสนา ในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากบรรลุธรรม พระเถรีได้กล่าว “คาถา” (โศลก - อ่านว่า สะ-โหฺลก) อันแสดงถึงสัจจะแห่งชีวิต เป็นคติสอนใจสตรี (บุรุษด้วยแหละ) ทั้งหลายได้อย่างดีทีเดียว จึงขออนุญาตคัดข้อความบางตอนมาลงไว้ดังนี้

“เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ” คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอ เพราะชรา

เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยมะลิ เดี๋ยวนี้มีกลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา

เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา

เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณีรุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้ว ไม่งามเลย

เมื่อก่อนจมูกของเรางดงาม เหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในกะโหลกศีรษะ เพราะชรา

เมื่อก่อนฟันของเราขาวงดงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้หัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา

เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัด เพราะชรา


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ช่างเป็นจริงทุกประการ”

นางได้พรรณนาความงดงามของสรรพางค์กายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าว่า ล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อยามชรา) อวัยวะที่ว่างดงามนั้น ทรุดโทรมเพราะชราไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความอนิจจัง

ยืนยันพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความไม่เที่ยงแท้ “ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่เป็นตัว”

ฝากไว้ให้ช่วยพิจารณา เผื่อจะมีใครบรรลุธรรมเหมือนนางอัมพปาลีบ้าง


ที่มา...หนังสือ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
ศ. (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต :b8: :b8: :b8:

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=20382

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 9 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร