วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 18:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2010, 23:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 01:02
โพสต์: 337


 ข้อมูลส่วนตัว




maple3.jpg
maple3.jpg [ 32.25 KiB | เปิดดู 1980 ครั้ง ]
:b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b42: :b42: :b42: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41:

จุนทสูตร
ว่าด้วยการปรินิพพานของพระสารีบุตร

[๗๓๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็ในสมัยนั้น ท่านพระสารีบุตร อยู่ ณ บ้านนาฬกคาม ในแคว้นมคธ อาพาธ เป็นไข้หนัก ได้รับทุกขเวทนา สามเณรจุนทะเป็นอุปัฏฐากของท่าน ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานด้วยอาพาธนั่นแหละ.

[๗๓๔] ครั้งนั้น สามเณรจุนทะถือเอาบาตรและจีวรของท่านพระสารีบุตร เข้าไปหาพระอานนท์ยังพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี นมัสการท่านพระอานนท์แล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ท่านพระอานนท์กล่าวว่า ดูกรอาวุโสจุนทะ นี้เป็นมูลเรื่องที่จะเฝ้าพระผู้มีพระภาค มีอยู่ มาไปกันเถิด เราจักเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระองค์ สามเณรจุนทะรับคำของท่านพระอานนท์แล้ว.

[๗๓๕] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์กับสามเณรจุนทะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สามเณรจุนทะรูปนี้ ได้บอกอย่างนี้ว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว นี้บาตรและจีวรของท่าน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กายของข้าพระองค์ประหนึ่งจะงอมระงมไป แม้ทิศทั้งหลายก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์ แม้ธรรมก็ไม่แจ่มแจ้งแก่ข้าพระองค์ เพราะได้ฟังว่า ท่านพระสารีบุตรปรินิพพานแล้ว.

[๗๓๖] พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า ดูกรอานนท์ สารีบุตรพาเอาศีลขันธ์ สมาธิขันธ์ ปัญญาขันธ์ วิมุตติขันธ์ หรือวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ ปรินิพพานไปด้วยหรือ?
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า หามิได้ พระเจ้าข้า ท่านพระสารีบุตรมิได้พาศีลขันธ์ ปรินิพพานไปด้วย ฯลฯ มิได้พาวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ปรินิพพานไปด้วย ก็แต่ว่าท่านพระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวแสดงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้านในการแสดงธรรม อนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายมาตามระลึกถึง โอชะแห่งธรรม ธรรมสมบัติ และการอนุเคราะห์ด้วยธรรมนั้น ของท่านพระสารีบุตร.

[๗๓๗] พ. ดูกรอานนท์ ข้อนั้น เราได้บอกเธอทั้งหลายไว้ก่อนแล้วไม่ใช่หรือว่าจักต้องมีความจาก ความพลัดพราก ความเป็นอย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในของรักของชอบใจนี้แต่ที่ไหน? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้

[๗๓๘] ดูกรอานนท์ เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น ตั้งอยู่ ลำต้นใดซึ่งใหญ่กว่าลำต้นนั้นพึงทำลายลง ฉันใด เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ซึ่งมีแก่น ดำรงอยู่ สารีบุตรปรินิพพานแล้ว ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะพึงได้ในข้อนี้แต่ที่ไหน? สิ่งใดเกิดแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา การปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าทำลายไปเลย ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่เถิด.

[๗๓๙] ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ... ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ดูกรอานนท์ ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง อยู่อย่างนี้แล.

[๗๔๐] ดูกรอานนท์ ก็ภิกษุพวกใดพวกหนึ่ง ในบัดนี้ก็ดี ในกาลที่เราล่วงไปก็ดีจักเป็นผู้มีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง คือ มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ พวกภิกษุเหล่านี้นั้นที่เป็นผู้ใคร่ต่อการศึกษา จักเป็นผู้เลิศ.

จบ สูตรที่ ๓
(จาก...พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)

:b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43:

พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์ ได้เขียนไว้ในบทความ
“มุ่งพัฒนาตน” ในหนังสือพระไตรปิฎก ร่วมสมัย ๓ ว่า

ความเศร้าโศกเสียใจจะเข้าไปแทรกอยู่ในความรู้สึก ให้เกิดอาดูรเทวษทันทีที่ได้รับข่าวคราวการเสียชีวิตของคนที่เราเคารพรัก เพราะความผูกพันจึงไม่ทันได้พิจารณาถึงความไม่เที่ยงของสังขาร บางคนถึงกับอ่อนเปลี้ยเพลียแรงทำอะไรไม่ถูก แต่สำหรับคนมีสติปัญญาพิจารณา หยั่งรู้ เข้าใจ สภาพความจริงของสรรพสิ่ง จะเกิดธรรมสังเวช แต่จะไม่เสียเวลาอยู่กับความเศร้าโศกเสียใจ ไม่ยอมให้มันมากัดกินความรู้สึก ตรงกันข้าม กลับมุ่งมั่น ฝึกฝน พัฒนาตนให้เข้มแข็งมากกว่าเดิม โลกนี้มีสิ่งดีดีอยู่มากมาย มีหนังสือดีดีที่ยังไม่ได้ดู มีบทกวีเพราะเพราะที่ยังไม่ได้อ่าน มีงานดีดีที่ยังไม่ได้ทำ มัวเศร้าเหงาหงอยอยู่ไย น้ำตาที่รินไหลได้อะไรกลับคืนมา ไฉนปล่อยเวลาให้ล่วงไปอย่างเปล่าประโยชน์ ชีวิตกว่าจะเจริญเติบใหญ่ก็ใช้เวลาไม่น้อย เรามาสร้างคุณค่าให้แก่ชีวิตไม่ดีกว่าหรือ...


(มีต่อ)

:b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b42: :b42: :b42: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41:

.....................................................
ราตรีของผู้ตื่นอยู่นาน...โยชน์ของผู้ล้าแล้วไกล
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ม.ค. 2010, 23:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.พ. 2009, 01:02
โพสต์: 337


 ข้อมูลส่วนตัว




20080916_114829.jpg
20080916_114829.jpg [ 30.36 KiB | เปิดดู 1977 ครั้ง ]
:b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b42: :b42: :b42: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41:

ในสังสารวัฏมีสรรพสัตว์หลงเที่ยวเวียนว่ายตายเกิด เปลี่ยนภพเปลี่ยนภูมิไปตามแรงเหวี่ยงของกรรมอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตายจากภพนี้ไปเกิดในภพนั้น ตายจากภพนั้นไปเกิดในภพโน้น หมุนเวียนเปลี่ยนไปเหมือนละครสลับฉาก ซ้ำแล้วซ้ำเล่า (ปุนปฺปุนัง) เพียงแต่เปลี่ยนช่วงเวลา กาละ เทสะ (Space and Time) และรูปพรรณสัณฐาน (Corporeality) ไปตามสภาพภูมินั้น ๆ การจากพลัดพรากกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่น่าอาลัยอาวรณ์ คนที่เสียชีวิตท่านอุปมาเหมือนงูลอกคราบ งูหลังจากลอกคราบเสร็จมันก็สลัดทิ้งเลื้อยไปสู่ที่ใหม่ทันที ไม่กลับมาเฝ้าหวงแหน คนที่เสียชีวิตก็ดุจเดียวกัน หลังจากเสียชีวิตแล้วก็ถือปฏิสนธิเกิดในภพภูมิใหม่ทันที ไม่กลับมาห่วงหาอาลัยซากศพที่นอนแน่นิ่งอยู่ ทว่าคนทั้งหลายกลับพากันเศร้าโศกเสียใจอาลัยอาวรณ์ ส่วนคนที่เสียชีวิตและซากศพไม่รู้เรื่องเลย ถ้าอยากให้รู้เรื่องก็น่าจะมาเศร้าโศก เสียใจ กับคนมีชีวิตที่กำลังจะตายมากกว่า แต่ก็คงไม่ไหว น้ำตาเป็นสายเลือดแน่ ๆ เพราะคนนั้นก็จะตาย คนนี้ก็จะตาย คนทุกคนล้วนแต่เดินเข้าไปหาความตายด้วยกันทั้งสิ้น ไม่มีใครหลุดรอดออกจากมรณภัยไปได้แม้สักคนเดียว

สำหรับพระอรหันต์ผู้หมดสิ้นกิเลสอาสวะทั้งหลาย เมื่อท่านดับสังขารก็หลุดรอดออกจากมรณภัยไปทันที ไม่หวนกลับมาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏนี้อีก ควรอนุโมทนาสาธุการมากกว่าห่วงหาอาลัย พระอรหันต์มิใช่บุคคลที่น่าเป็นห่วง บุคคลที่น่าเป็นห่วงคือปุถุชน ตายแล้วไม่รู้จะเป็นอย่างไร ไปสู่ภพภูมิไหน คติเป็นอย่างไร (คติของปุถุชนไม่แน่นอน) ไม่ว่าใครจะอยู่หรือไป จะเป็นอย่างไรในภพภูมินั้น ๆ มิใช่หน้าที่ของเราที่จะไปกำหนดกะเกณฑ์ (ที่จริงก็กำหนดกะเกณฑ์อะไรไม่ได้อยู่แล้ว) คนจะตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ก็เป็นเรื่องของคนคนนั้น แต่ที่แน่ ๆ คือเรายังเป็นเรา ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏไปอีกยาวนาน ถามว่า หน้าที่ของเราคืออะไร จะทำอะไรในความเป็นมนุษย์ปุถุชน คำตอบคือ พัฒนาฝึกฝนอบรมตนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จนบรรลุถึง มรรค ผล นิพพาน

“การพัฒนาฝึกฝนอบรมตน” ถือว่าเป็นมโนทัศน์ (Concept) ในเรื่องที่นำมาเสนอจากพระไตรปิฎกนี้ ซึ่งน่าจะอธิบายขยายความในเชิงประยุกต์ พระพุทธศาสนายอมรับศักยภาพของมนุษย์ว่าสามารถพัฒนาฝึกฝนอบรมได้ และฝึกได้อย่างไร้ข้อจำกัด ซึ่งต่างจากสัตว์เดรัจฉานที่ฝึกได้ในระดับหนึ่ง ในอัตภาพของสัตว์เดรัจฉานไม่มีโอกาสบรรลุธรรม แต่สัตว์เดรัจฉานก็มีข้อดีตรงที่สามารถอยู่ได้ด้วยอำนาจสัญชาตญาณ เกิดมาไม่นานก็ออกหากินพร้อมกับพ่อแม่ของมัน เป็ด ไก่ ภายในวันที่เกิดนั้นเอง ลูกเป็ดว่ายน้ำตามแม่เป็ด ลูกไก่เดินจิกกินอาหารตามแม่ไก่ เปรียบเทียบกันในเรื่องสัญชาตญาณถือว่าสัตว์เดรัจฉานเหนือกว่ามนุษย์ มนุษย์ผิวบอบบางอ่อนแอ เอาตัวไม่รอดเลี้ยงตัวไม่ได้อาจตายภายในวันนั้น หากไม่ได้รับการประคับประคองเลี้ยงดูจากพ่อ แม่ แม้แต่เรื่องกิน เรื่องดื่ม ก็ยังกินเองดื่มเองไม่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่เดือนสองเดือน ปีสองปีก็ออกห่างจากพ่อแม่ไม่ได้ ปล่อยทิ้งไว้มีหวังตายสถานเดียว

แม้มนุษย์จะด้อยกว่าสัตว์เดรัจฉานในเรื่องสัญชาตญาณ แต่ก็เหนือกว่าสัตว์เดรัจฉานในเรื่องการฝึก ฝึกให้ประเสริฐเลิศกว่าสัตว์ทั้งปวง ข้อสำคัญของมนุษย์จึงอยู่ที่การฝึกนี้เท่านั้น หากไม่ฝึกมนุษย์ไม่มีทางเอาดีได้ มีเรื่องที่มนุษย์จะต้องฝึกอยู่มากมาย ฝึกพากเพียรพยายาม ฝึกขยันขันแข็ง ฝึกอดทนอดกลั้น ฝึกความรู้ความสามารถ ฝึกความเฉลียวฉลาด ฝึกกิริยามารยาท สุภาพเรียบร้อย ฝึกพูดจาไพเราะ ฝึกประพฤติอ่อนน้อม ฝึกเมตตากรุณา ฝึกให้ทานบริจาค ฝึกสมาธิ ฝึกเจริญปัญญา เหล่านี้ล้วนต้องฝึก เกิดขึ้นเองไม่ได้ หากเราถือเอาการฝึกมาเป็นมโนทัศน์ของชีวิต จะสบายใจไม่รู้สึกอึดอัด ขัดเคือง ต่อเรื่องต่าง ๆ แม้ว่าเรื่องนั้น ๆ จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับเราอย่างไรก็ตาม ก็มองว่าเป็นเรื่องของการฝึก เป็นบททดสอบความหนักแน่น และเป็นบทเรียนลับชีวิตให้แหลมคม ทุกสิ่งทุกอย่างจะเข้ามาหาคุณในแง่บวก (Positive) เสมอ ไม่มีเลยที่จะบอกว่ามันเลวร้าย

ในวิถีของการฝึกนั้นจะหลีกเลี่ยงออกไปจากการกระทำออกเรี่ยวแรงกำลัง ย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องมีการกระทำ (Action) ไม่มากก็น้อย ความจริงธรรมชาติได้มอบอวัยวะทุกสัดส่วนมาให้ใช้งานโดยเฉพาะ มันมีความหมายอยู่ในตัว หากปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ ก็จะเฉื่อยชา อิดโรย ลีบเล็ก จนใช้การไม่ได้ ในที่สุดธรรมชาติก็เรียกคืน ขอให้ถือเป็นเรื่องดีที่จะได้ออกเรี่ยวแรงกำลัง ผสานไปพร้อมกับการฝึก แม้ดูเหมือนจะไม่ได้ผลตอบแทนอะไร แต่อย่างน้อยที่สุดก็ได้ชื่อว่าไม่อยู่เฉย ทำตามความมุ่งหมายของธรรมชาติ และที่สำคัญคือได้ฝึก การกระทำเป็นที่มาของผล คนโดยส่วนมากอยากได้ผลแต่ไม่อยากทำ หรือทำแล้วไม่ได้ผลตามความคาดหวังก็เสียใจบ่นว่า สวรรค์ลำเอียงบ้างล่ะ ฟ้าไม่โปรดบ้างล่ะ ไม่ยุติธรรมบ้างล่ะ แต่ถ้าสามารถวางจิตไว้ตั้งแต่ต้นไม่สนใจเรื่องผลใด ๆ ตระหนักถึงความเป็นปุถุชนที่ยังไม่สมบูรณ์ สนใจแต่เรื่องของการฝึก พอใจในการฝึก อยู่ในอาการฝึก ผลจะออกมาอย่างไร ดีหรือไม่ดี ได้หรือไม่ได้ ก็มิใช่เรื่องที่น่าเสียใจ ออกจะเป็นเรื่องสบายใจเสียด้วยซ้ำ ขอให้นึกถึงนักกีฬาที่อยู่ในระหว่างการฝึกซ้อม เราไม่จริงจังกับผลที่เกิดขึ้น แต่จะจริงจังกับการออกเรี่ยวแรงกำลังทุ่มลงไปเต็มที่ เพื่อความแข็งแกร่ง อึด อดทน หากวางจิตไว้ว่า “กำลังฝึก” ฝึกเพื่อพัฒนาศักยภาพชีวิต ฝึกเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่าง ๆ นั่นแหละจะเกิดผลดีติดตามมามากมาย อย่าให้เสียใจในภายหลังว่าตนฝึกมาน้อย

สำหรับคนที่ผ่านการฝึกซ้อมมาดี เมื่อถึงคราวเจอเหตุการณ์จริง เขาจะไม่ประหวั่นพรั่นพรึง พร้อมลงไปออกเรี่ยวแรงกำลัง ใช้ความสามารถของตนทันที ไม่รอให้ใครมาช่วย พึ่งตนเอง ไม่พึ่งคนอื่น ผลของการฝึกจึงงดงามอยู่ที่ได้พึ่งตนเอง พึงพอใจอยู่กับตัวเอง มีตนเป็นเกาะยึดเหนี่ยว และนี่ก็คือพุทธประสงค์โดยตรง จงน้อมรับเอา “การพัฒนาฝึกฝนอบรมตน” มาเป็นมโนทัศน์ของชีวิตและทำตามสิ จะรู้ว่าชีวิตนี้มีคุณค่าไม่ไร้สาระเลย...
:b6: :b6: :b6:

:b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43: :b43:

เจริญในธรรมครับ :b8: :b8: :b8: smiley


:b41: :b41: :b41: :b41: :b41: :b42: :b42: :b42: :b41: :b41: :b41: :b41: :b41:

.....................................................
ราตรีของผู้ตื่นอยู่นาน...โยชน์ของผู้ล้าแล้วไกล
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2010, 19:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 14:50
โพสต์: 69

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุครับ

ผลของการฝึก จึงงดงามอยู่ที่ได้พึ่งตนเอง พึงพอใจอยู่กับตัวเอง มีตนเป็นเกาะยึดเหนี่ยว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร