วันเวลาปัจจุบัน 04 พ.ค. 2025, 22:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2009, 10:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 20:45
โพสต์: 1094

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิถีแห่งปราชญ์

ริชาร์ด ดอว์กินส์ นักชีววิทยาชื่อดังชาวอังกฤษ ได้เล่าถึงศาสตราจารย์ผู้หนึ่งซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ด้านสัตววิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ศาสตราจารย์คนนี้มีความเชื่ออย่างมั่นอกมั่นใจมากว่า ในเซลไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Golgi Apparatus เขาทั้งเชื่อและสอนปีแล้วปีเล่าว่า มันไม่มีจริง เป็นความเข้าใจผิด

มาวันหนึ่งมีนักชีววิทยาชาวอเมริกันมาบรรยายที่คณะ เขานำหลักฐานต่าง ๆ มายืนยันอย่างหนักแน่นว่า Golgi Apparatus มีอยู่จริง พอจบการบรรยาย ศาสตราจารย์ผู้เฒ่าคนนี้เดินตรงไปยังหน้าเวที ใคร ๆ ก็นึกว่าเขาคงจะไปโต้แย้งนักวิชาการคนนั้น แต่ตรงกันข้าม เขาเข้าไปกุมมือนักวิชาการหนุ่มผู้นั้น พร้อมกับพูดว่า “เพื่อนรัก ผมอยากจะขอบคุณคุณ ผมผิดพลาดมาถึง ๑๕ ปี”

เป็นเรื่องยากมากที่ศาสตราจารย์ชื่อดังซึ่งมีคนนับถือทั้งประเทศ จะกล้ายอมรับต่อหน้าสาธารณชนว่า สิ่งที่เขาสอนนั้นผิดพลาดมานานขนาดนั้น เป็นใครก็คงไม่ทำก็เพราะกลัวอับอายขายหน้า แต่อะไรทำให้เรารู้สึกอย่างนั้นหากไม่ใช่อัตตา ศาสตราจารย์ผู้นี้ใช่ว่าไม่มีอัตตา แต่ที่แกทำเช่นนั้นได้ก็เพราะเป็นผู้รักความจริงและใฝ่วิชาความรู้

เมื่อใดที่เราเอาความจริงเป็นใหญ่ อัตตาเป็นรอง เราจะกล้ายอมรับผิดเพื่อให้ความจริงได้ปรากฏและเผยแพร่ มองให้ดีความจริงที่เรายอมรับนี้แหละจะเป็นฐานให้เกิดการพัฒนาความรู้ให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

ยิ่งรักความจริงมากเท่าไร ก็ยิ่งถ่อมตนมากเท่านั้น เพราะตระหนักดีว่าสิ่งที่เราไม่รู้ยังมีอีกมาก และสิ่งที่เรารู้หรือเชื่อก็มีสิทธิผิดพลาดได้ ขณะเดียวกันเมื่อรักความจริง ใฝ่รู้อยู่เสมอ ก็พร้อมเปิดใจรับฟังทุกคน แม้จะอ่อนวัยหรือมีคุณวุฒิต่ำกว่า การรักความจริงและใฝ่รู้ทำให้บุคคลกลายเป็นปราชญ์ก็จริง แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้ปราชญ์เงี่ยหูฟังชาวบ้าน ไม่ดูถูกดูแคลน

ไม่ผิดหากจะกล่าวว่าใครเป็นผู้ใฝ่รู้หรือไม่ ย่อมดูจากความสามารถในการรับฟังคำวิจารณ์ และพร้อมยอมรับว่าผิดพลาดเมื่อคนอื่นมีหลักฐานหรือเหตุผลที่ดีกว่า

โรเบิร์ต ฟรอสต์ กวีชาวอเมริกันให้นิยามคำว่าการศึกษาไว้น่าสนใจมาก เขานิยามว่า “การศึกษาคือความสามารถในการฟังสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่เสียความรู้สึกหรือเสียความมั่นใจในตนเอง” สิ่งต่าง ๆ ในที่นี้รวมถึงคำวิจารณ์และความเห็นที่ต่างจากตน คนที่มีการศึกษาหรือผู้ใฝ่รู้เมื่อได้ฟังคำเหล่านี้ ย่อมไม่โมโหโกรธา กราดเกรี้ยวผู้พูด ขณะเดียวกันก็ไม่รู้สึกแย่กับตัวเอง เพราะถ้าเป็นผู้ใฝ่รู้และรักความจริง ก็ควรเอาคำเหล่านี้มาพิจารณาว่าความจริงเป็นอย่างไร มีเหตุผลหรือไม่ ไม่มัวหัวเสียใส่คนอื่น หรือรู้สึกเสียหน้าขาดความมั่นใจ อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นก็เฉพาะกับคนที่มีอัตตาใหญ่ อีโก้สูง ผิดไม่ได้ ใครเก่งกว่าตนก็ไม่ได้

การศึกษาที่แท้ย่อมทำให้เรามีอัตตาเล็กลง ถือเอาความรู้และความจริงเป็นใหญ่ ดังนั้นใครที่ฉุนเฉียวเป็นประจำเมื่อถูกวิจารณ์หรือหวั่นไหวเมื่อได้ฟังความคิดความเห็นที่ต่างจากตน น่าจะใคร่ครวญให้จงหนักว่า
เขาเป็นผู้มีการศึกษาแน่หรือ


:b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร