วันเวลาปัจจุบัน 04 พ.ค. 2025, 14:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2009, 16:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.ค. 2009, 22:19
โพสต์: 271

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พระนิพพานเป็นปรมัตถ์อย่างหนึ่งในปรมัตถธรรมทั้ง 4 ประการมี จิต เจตสิก รูป นิพพาน นิพพานก็คือนิโรธสัจจะ นิพพานเป็นจุดสุดยอดซึ่งเป็นหลักแท้ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เพื่อให้ทุกคนประจักษ์แล้วเดินทางที่จะทำให้แจ้งด้วยตัวของตัวเอง คือพ้นจากตัณหานั่นเอง ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายย่อมจะมีการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฎอันไม่รู่จักจบ
ดังนั้น คำว่า “พระนิพพาน” ไม่มีแดน ไม่มีที่ไปถึงไม่มีใครพาใครไปได้ พระนิพพานเป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรมนามธรรมต่างกับรูปธรรมคือ รูปธรรมเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ทางตา สามารถจับต้องได้ และลักษณะรูปต้องย่อยยับเสื่อมไปด้วยความเย็นร้อยอ่อนแข็งหย่อนตึงอยู่ตลอดเวลา รูปธรรมจึงเป็นสิ่งที่มิได้รับรู้อะไรทั้งสิ้น มีการเสื่อมไปด้วยการเสื่อมของธาตุต่าง ๆ เท่านั้นเอง ส่วนนามธรรมเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปปรากฏแต่เป็นของที่มีอยู่จริง เช่น ความรู้สึกต่าง ๆ ฉะนั้น คำว่ารู้สึกหิว รู้สึกเมื่อย รู้สึกเบื่อ ถูกปรุงแต่งแล้วเรียกว่าสังขารขันธ์ปรุงแต่งด้วยกิเลสต่าง ๆ กิเลสมีมากมายหลายชนิด เมื่อสงเคราะห์แล้วมี 3 ต้นตระกูลใหญ่ ๆ คือ โลภะ โทสะ และโมหะ

ความหมายของพระนิพพานมี 5 ประการคือ
1. เป็นพระปรมัตถ์เข้าถึงได้ และมีอยู่โดยเฉพาะ
2. เป็นธรรมที่ไม่ตาย คือ ไม่มีทั้งความเกิดและความตาย
3. เป็นธรรมที่เที่ยง พ้นจากความเป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต
4. เป็นธรรมที่ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยปัจจัยใด ๆ ทั้งสิ้น
5. เป็นธรรมที่ประเสริฐยิ่ง หาธรรมอื่นประเสริฐกว่าไม่มี
คุณลักษณะของพระนิพพานมี 3 ประการ คือ
1. มีความสงบจากกิเลสและขันธ์ เป็นลักษณะ
2. ไม่มีความแตกดับ คือ มีความเที่ยง เป็นกิจ
3. ไม่มีนิมิตเครื่องหมายใด ๆ เป็นผลปรากฏ
พระนิพพานเป็นสันติสุข คือ สุขอันเกิดขึ้นจากความสงบ จากกิเลส สงบจากขันธ์ ความสุขของพระนิพพานเป็น “สันติสุข” เพราะเป็นความสุขที่เกิดจากการพ้นจากกิเลสและพ้นจากขันธ์ 5 ไม่มีสักกายทิฎฐิ ไม่มีความเข้าใจผิดว่าเป็น “ฉัน” เป็น “ของฉัน” ไม่มีความลังเลสงสัย ไม่มีความประมาท ไม่มีการยินดีติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่มีการกระทบกระทั่งของจิต ไม่มีการติดอยู่ในรูป ไม่มีการติดอยู่ในนาม ไม่มีมานะ ไม่มีอุทธัจจะ ไม่มีอวิชชา นั่นคืออรหัตตมรรค อรหัตตผล คือสิ้นสุดการเกิด
พระอริยบุคคลมีถึง 4 ขั้น ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
คำว่า “โสดา” แปลว่า กระแสเป็นเครื่องถึงพระนิพพาน คำว่า “พระนิพพาน” หมายถึง อารมณ์อันบริสุทธิ์หมดจดจากกิเลสโดยสิ้นเชิง หมดจดจากกิเลสโดยที่กิเลสไม่สามารถผ่านเข้ามาในอารมณ์ กระแสอันเป็นเครื่องถึงพระนิพพานจึงหมายถึง อำนาจชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากอำนาจ ของญาณ ปัญญาทำให้มีความรู้เท่าทันอารมณ์นั่นเอง เมื่อรู้เท่าทันอารมณ์แล้ว อารมณ์ที่เกิดขึ้นก็มีสติและสัมปชัญญะอยู่กับอารมณ์นั้น
กระแสพระนิพพานก็ได้แก่มรรคอันมีองค์ 8 ประกอบด้วย
1. สัมมาทิฎฐิ 2. สัมมาสังกัปปะ
3. สัมมาวาจา 4. สัมมากัมมันตะ
5. สัมมาอาชีวะ 6. สัมมาวายามะ
7. สัมมาสติ 8. สัมมาสมาธิ
ผู้ถึงกระแสพระนิพพานก็คือผู้ปฏิบัติตามมรรค 8 จนกระทั่งมรรค 8 มาประชุมกันเป็นมรรคสามัคคี ฉะนั้น การนั่งสมาธิ หลักตาภาวนา ไม่มีการกระทำอันดำเนินไปด้วยมรรคอันมีองค์ 8 ก็ไม่สามารถถึงซึ่งพระนิพพานได้
พระโสดาบันเป็นเพียงนักปฏิบัติขั้นแรกที่สามารถจะยืนยันอย่างมั่นคงได้ว่าพระนิพพานมีจริง
บุคคลที่จะบรรลุโสดาบันได้มี 2 ประเภท คือ
1. สัทธานุสารี เป็นผู้ที่มีความเชื่อด้วยความจริงใจว่าสังขารทั้งหมดไม่เที่ยง สังขารทั้งหมดเป็นทุกข์ ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา แต่เป็นความเชื่อโดยปริยัติ สัทธานุสารีนี้เป็นผู้แก่กล้าด้วยกำลังจิต
2. ธัมมานุสารี เป็นผู้มีความเชื่อด้วยกำลังปัญญาพิจารณาเห็นความเป็นจริงของการเชื่อ เป็นการเชื่อโดยการปฏิบัติ ธัมมานุสารีนี้เป็นผู้แก่กล้าด้วยกำลังของปัญญา ในเรื่องของโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ
พระโสดาบัน สามารถทำให้ลุล่วงสังสารวัฎได้ มี 10 ประการ คือ
1. สักกายทิฏฐิ ความเข้าใจผิดในกายตน
2. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย
3. สีลัพพตปรามาส ความประมาทในศีลในพรต
4. กามราคะ ความกำหนัดในกามารมณ์
5. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งแห่งจิต
6. รูปราคะ ความพอใจในการเพ่งรูป
7. อรูปราคะ ความพอใจในการเพ่งอรูป
8. มานะ ความถือตัวด้วยอำนาจยศศักดิ์
9. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน
10. อวิชชา ความไม่รู้แจ้ง
ข้อ 1– 5 เรียกว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์ แปลว่าสังโยชน์ที่มีผลในเบื้องต่ำ ให้ผลในการเวียนว่ายตายเกิดสู่ภูมิที่ต่ำ คือไม่สามารถหลุดรอดไปจากปุถุชนภูมิได้
ข้อ 6 – 10 เรียกว่า อุทธัมภาคิยสังโยชน์ แปลว่า สังโยชน์ที่มีผลในเบื้องสูง เป็นอย่างละเอียด แต่ก็ยังให้ผลในการเวียนว่ายตายเกิดมิรู้จักจบ อาจเป็นมนุษย์หรือเทวดา เพราะยังไม่สิ้นกิเลสตัณหานั่นเอง
ทั้ง 10 ตัวนี้ จึงเป็นเครื่องร้อยรัดทำให้ชีวิตยังมีการเกิดอยู่ เมื่อมีการเกิด เราก็ต้องใช้กาย วาจา ใจ กระทำกรรมอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีกาย วาจา ใจ ในปัจจุบันชาติแล้ว ผลที่ได้มาก็คือ วิบากในอดีตชาติส่งผลมาทางกายบ้าง วาจาบ้าง ใจบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง วนเวียนอยู่กับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ พอวิบากเข้าออก กิเลสก็เข้าออกเช่นกัน มีการสนองตอบ พันธนาการความมีอวิชชา อวิชชาตัวนี้ก็ไปส่งผลให้แก่ความหลงผิดในตนเองอีก หลงผิดตนเองก็ประมาทต่อ ๆ มา เก็บเข้าในอนุสัย พอเห็นอีกอวิชชาก็มาป้อนอีก ดึงกลับเข้าอนุสัยเป็นวัฎจักร หลักที่จะแก้ก็คือทำแล้วหวังผลตอบแทน ผลักออกไปเลย ทำแล้วอย่ารอผลว่าจะดีหรือจะชั่ว จะชอบหรือจะชัง ใครจะทำให้เรา เราต้องทำออกไป
อนุสัยกิเลส คือ กิเลสที่นองเนืองอยู่ในขันธสันดานอันฝังแน่นอยู่กับการเกิดมาแล้วโดยนับภพนับชาติไม่ถ้วน กิเลสกับอนุสัยกิเลสต่างกันอย่างไร กิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิต อนุสัยกิเลสคือเครื่องเศร้าหมองของจิตที่ฝังแน่นอยู่กับการมีชีวิต
สังโยชน์ทั้ง 10 นี้เป็นเครื่องร้อยรัดทำให้คนและสัตว์ไม่สามารถแจ้งและรู้จริงในภัยของสังสารวัฏ และไม่สามารถทำให้หลุดรอดไปจากสังสารวัฏได้ ไม่ใช่ว่าใครมีตัวใดตัวหนึ่งแต่มีทุกตัว ยกเว้นพระอรหันต์

คุณลักษณะของพระโสดาบัน4 ประการ คือ
1. มีความศรัทธาเชื่อมันในพระพุทธเจ้า ศรัทธาในพระปัญญาว่า เมื่อมีปัญญาเท่านั้นจะพาพ้นทุกข์ได้
2. มีความศรัทธาเชื่อมันในพระธรรมเจ้า ศรัทธาที่พิสูจน์แล้วว่าที่เห็น เราไม่ได้เป็นผู้เห็น แต่นามเห็น นี่คือรูป นี่คือนาม
3. มีความศรัทธาเชื่อมั่นในพระสังฆเจ้า เชื่อมั่นว่าปฏิบัติดี ปฏิบัติตรงเท่านั้นจึงจะสิ้นทุกข์
4. มีศีล 5 เป็นข้อปฏิบัติประจำชีวิตจิตใจของตัวเองโดยไม่มีการมัวหมองด่างพร้อยเลยทุกขณะจิต
นอกจากนี้แล้ว พระโสดาบันยังมีคุณลักษณะพิเศษอีก 2 ประการคือ
- มีจิตประกอบด้วยกุศล
- มีปัญญาแก่กล้าเป็นสัมมาทิฏฐิ
ประพฤติอย่างไรจึงจะบรรลุโสดาบันได้
1. หมั่นสมาคมกับผู้ฉลาด ผู้ฉลาดในที่นี้หมายถึงผู้ที่มีความสงบกาย สงบวาจา สงบใจ 2. หมั่นฟังธรรม
3. หมั่นมีใจดำริตริตรองให้ถี่ถ้วน
4. พยายามปฏิบัติตามแนวทางพ้นทุกข์สุดความสามารถ
ทั้ง 4 ข้อนี้เป็นหลักสำคัญมาก ถ้าเรามีความเพียรประพฤติอย่างนี้เต็มความสามารถ ความเจริญนับตั้งแต่ปุถุชนก็จะหมุนสู่ความเป็นกัลยาณชน จากกัลยาณชนก็จะสู่ความเป็นอริยชน จากอริยชนก็จะสู่ความเป็นสกทาคามี จากสกทาคามีก็จะสู่อนาคามี และจากอนาคามีก็จะสู่อรหันต์ แล้วก็จะได้ไม่ต้องเกิดอีก
เมื่อได้รู้คุณลักษณะของพระโสดาบันแล้วก็คงจะจินตนาการได้ว่า ท่านคงจะหมดจดจากกิเลส ชีวิตคงราบรื่นไม่มีความทุกข์ เพราะปุถุชนเป็นผู้มีทุกข์ประจำคือขันธ์ ๕ แล้วก็แส่หาทุกข์ ส่วนพระโสดาบันเป็นผู้เอาคำว่า “แส่หาทุกข์” ออกไปแล้ว ชีวิตจึงมีแต่การแก้ไขทุกข์ที่เป็นทุกข์ประจำซึ่งก็ยังแก้ได้ไม่หมดเลย นี่คือหน้าที่และเป็นคุณสมบัติพิเศษ ขันธ์ 5 เกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้อย่างไร เพราะมีวิบาก จึงพยายามดูแลสอนตนเองว่านี่วิบากนะ แล้วตั้งใจทำกรรมใหม่ พอกระทบก็รู้เท่าทันไม่แส่หากรรมใหม่และทุกข์ใหม่


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2009, 18:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 ก.ค. 2009, 09:26
โพสต์: 1517

แนวปฏิบัติ: วิปัสสนาภาวนา
อายุ: 39
ที่อยู่: ลำพูน

 ข้อมูลส่วนตัว


ต้องขอแก้ไขเพิ่มเติมเล็กน้อย บทความนี้นับเป็นบทความที่สมบูรณ์ครบถ้วนทีเดียวสำหรับการเริ่มศึกษาเข้าใจการปฏิบัติธรรม

อ้างคำพูด:
ผู้ถึงกระแสพระนิพพานก็คือผู้ปฏิบัติตามมรรค 8

มรรค ๘ เป็นผลจากการวิปัสสนา มีสัมมาทิฎฐิเป็นประธาน มีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ (ศีล) และมีสัมมาสมาธิ เป็นผลได้

ศีลอันเกิดจากปัญญินทรีย์(สัมมาทิฏฐิ) เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอริยศีล (โสดาบันมีศีลไม่ได้ถือสีล)
สมาธิที่เกิดจากอริยศีล เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อริยสมาธิ (โสดาบันไม่ต้องไปฝึกสมาธิแต่สมาธิเกิดเองตามธรรมชาติ)

รวมกันเรียกว่าเป็นอริยทรัพย์

เรียงการเกิดขององค์ธรรมดังนี้

ปัญญา (สัมมาทิฏฐิ) -> ศีล -> วิปปฏิสาร -> ปราโมทย์ -> ปีติ -> ปัสสัทธิ -> สุข -> สมาธิ -> ยถาภูตญาณทัสสนะ -> นิพพิทาวิราคะ -> วิมุตติญาณทัสสนะ

ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ อวิปปฏิสารมีปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ความปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาวิราคะเป็นอานิสงส์ นิพพิทาวิราคะมีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ด้วยประการดังนี้ ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศลย่อมถึงอรหัตโดยลำดับด้วยประการดังนี้แล ฯ

เพราะฉะนั้น มรรค ๘ จึงไม่ใช่การปฏิบัติ นำมาปฏิบัติโดยตรงไม่ได้ ต้องปฏิบัติที่ต้นตอการเกิดปัญญา พระพุทธองค์เปรียบการปฏิบัติธรรมเหมือนชาวนาปลูกข้าว ชาวนาไม่สามารถบังคับให้ข้าวออกรวงได้ฉันใด ผู้ปฏิบัติธรรมก็บังคับมรรคให้เกิดไม่ได้ฉันนัน ชาวนาต้องดูแลปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ข้าวเจริญงอกงามจนออกรวง ผู้ปฏิบัติธรรมก็ต้องไปที่ต้นตอของการเกิดปัญญา คือ การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ฉันนั้น :b8:

.....................................................
"ธรรมและวินัยอันใด เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ธรรมและวินัยอันนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอ โดยกาลล่วงไปแห่งเรา..."
"... ไม่เที่ยง เกิดดับ ..."


แก้ไขล่าสุดโดย Supareak Mulpong เมื่อ 02 ก.ย. 2009, 20:46, แก้ไขแล้ว 4 ครั้ง.

แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร