วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 16:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2009, 22:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3836

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
[ท่านเจ้าพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)
วัดบรมนิวาส เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร]


พุทธคุณพรรณนา บทอรหํ
(แสดงเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2466)

...พระอุปาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)


วันนี้เป็นวันจาตุทสี ดิถีที่ 14 ค่ำ แห่งปักขคณนา

พุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตได้มาสันนิบาตกัน
เพื่อฟังธรรมเทศนาและรักษาซึ่งศีลอุโบสถและเบญจศีลวิรัติ
กระทำปฏิบัติบูชาในพระพุทธเจ้าทั้งพระธรรมและพระสงฆ์

เมื่อพร้อมด้วยสันนิบาตประชุมเช่นนี้แล้ว
ตอนนี้จะเริ่มแสดงซึ่งธรรมกถา เพื่อให้สำเร็จประโยชน์การฟังธรรม

ในเบื้องต้นท่านทั้งหลายได้สละกิจการบ้านเรือนมาเพื่อฟังธรรม
โดยความที่ตนนับถือพระพุทธศาสนาว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตนแม้โดยเอกเทศ
ด้วยเห็นว่า พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันอุดมอันประเสริฐสูงสุด

การที่ท่านทั้งหลายสละกิจการบ้านเรือนมาเพื่อฟังธรรม
ก็ด้วยความหวังที่จะหาที่พึ่งในพระพุทธศาสนาเป็นข้อสำคัญ
แต่ให้พึงเข้าใจว่า ที่พึ่งนั้นมีหลายประเภท เหมือนดังบ้านหนึ่งเรือนหนึ่งก็มีที่พึ่งอันหนึ่งๆ
เช่น บิดามารดา ญาติมิตรสหาย เป็นต้น
ประเทศหนึ่งก็มีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน นายอำเภอ ฯลฯ
พระมหากษัตริย์เป็นที่พึ่งอาศัย
ใครจะอยู่ลอยๆ โดยปราศจากที่พึ่งนั้นเป็นอันไม่ได้

แต่ที่พึ่งเหล่านี้เป็นเอกเทศไม่สู้สำคัญ
ที่พึ่งเบื้องหน้าแต่ตายแล้วไปเป็นของสำคัญอย่างยิ่ง
นักปราชญ์ค้นคว้าแสวงหากัน แต่ท่านเหล่านั้นมีความเห็นต่างๆ กัน

บางท่านได้ยินคนอื่นเขาพูดไปพูดมา เขาว่าอย่างไรก็เชื่อไปตามเขา
เกิดความเห็นขึ้นว่า เมื่อตายแล้วสูญไปไม่มีอะไรจะไปเกิด
ที่เป็นอยู่ได้นั้นอาศัยธาตุทั้ง 4 คุมกันเข้าเป็นอยู่ นี่จำพวกหนึ่ง

อีกจำพวกหนึ่งเห็นว่า ไม่มีอะไรสูญไปไม่มีอะไรหาย
ขาดแต่ไม่มีความรู้สึกเท่านั้น นี่จำพวกหนึ่ง

จึงเกิดพวกที่ถือว่าตายแล้วสูญ เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิจำพวกหนึ่ง
พวกที่ถือว่าตายแล้วเกิดอีก เรียกว่า สัสสตทิฏฐิจำพวกหนึ่ง

พวกที่ถือว่าสูญก็สูญกันไป
พวกที่ถือว่าเกิดก็เกิดกันไป
แต่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาอย่าวิวาทกับเขาเช่นนั้น

ที่ถือว่าตายแล้วสูญก็ดี ตายแล้วเกิดก็ดี เป็นเรื่องที่เราว่าเอาเอง
เหลวกันทั้งนั้นไม่มีหลักฐานอะไร
ผู้ที่ตายไปแล้วก็ไม่เห็นมีใครกลับมาบอกอีก
เมื่อขาดพยานหลักฐานเช่นนี้ เราจะควรเชื่อฟังได้ด้วยอาการอย่างไร เป็นแต่อนุมานเอาเท่านั้น

ในพระพุทธศาสนานี้ไม่ได้สอนเช่นนั้น
ท่านสอนให้ประพฤติธรรมที่เป็นประโยชน์ในปัจจุบันเท่านั้น
สิ่งใดที่มีสาระที่เป็นประโยชน์ให้รีบกระทำอย่าได้มีความประมาท
จะตายหรือสูญหรือตายแล้วเกิดอย่างไรก็ช่าง อย่ามัวไปยุ่งกับอดีตและอนาคต
ให้คิดแต่ประโยชน์ปัจจุบันเท่านั้น ดังพุทธภาษิตที่ว่า

“อตีตํ นานฺวาคเมยฺย นปฺปฏิกงฺเข อนาคตํ ฯลฯ ปจฺจุปนฺนญฺจ โย ธมฺมํ ตตฺถ ตตฺถ วิปสฺสติ.”
มีความว่า “อดีตกาลก็ล่วงไปแล้ว อนาคตกาลก็ยังไม่มาถึง ให้เห็นซึ่งปัจจุบันธรรมนั้นๆ”
ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ปัจจุบันธรรมนั้นเป็นยั่งยืนมั่นคงไม่คลอนแคลน ควรให้เกิดมีขึ้นในตน
นี่เป็นหลักอันสำคัญ
ควรพวกเราเหล่าพุทธบริษัทจะยึดไว้ให้มั่นเป็นหลัก
จะตายแล้วสูญหรือตายแล้วเกิดก็ดีทั้งนั้น

ตายแล้วเกิดดีอย่างไร? ตายแล้วเกิดอีกก็ดี เพราะจะได้กินข้าว
ตายแล้วสูญก็ดี เพราะจะได้ไม่กลับมาเกิดอีก

เรื่องเกิดๆ สูญๆ อย่าได้เอามาเป็นอารมณ์

อารมณ์ที่เราควรคิดควรนึกอยู่เสมอก็คือ
ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ

วิมุตติญาณทัสสนะ เป็นสารธรรมมีที่ตนหรือยัง
ให้ตรวจดูที่ตัวของเราให้รู้ว่าสิ่งใดมีอยู่สิ่งใดไม่มี
ถ้าสิ่งใดมีแล้วก็ให้รักษาไว้ สิ่งใดที่ยังไม่มีก็ให้รีบประพฤติปฏิบัติขวนขวายหา
เพราะหลักฐานในใจของตนมีอยู่อย่างไรเราอาจรู้ได้เอง
คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นของที่เรารู้ได้เอง ไม่ต้องให้ผู้อื่นบอก


ต่อไปจักบรรยายพระพุทธคุณโดยลำดับ
ในวันพระก่อนได้ยกพระพุทธคุณของพระพุทธเจ้า
คือ ปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ กรุณาคุณ มาแสดงโดยลำดับ
แต่การพรรณนาพระพุทธคุณนั้นเป็นของเหลือวิสัยของพระธรรมกถึกในปัจจุบันและอดีต
ที่จะกล่าวโดยพิสดารให้สิ้นสุดได้ เพราะฉะนั้น ในที่นี้จะกล่าวโดยเอกเทศ

พระคุณของพระพุทธเจ้านั้น ท่านเปรียบไว้เหมือนอย่างน้ำในมหาสมุทรสาครอันกว้างใหญ่
ยากที่ใครๆ จะตักให้หมดสิ้นได้ ฉันใด พระคุณของพระพุทธเจ้าก็ยากที่ใครจะพรรณนาให้สิ้นสุดได้ ฉันนั้น

ในที่นี้จะยกพระพุทธคุณที่สำคัญมาแสดง

พระปัญญาคุณเป็นหัวข้อใหญ่ ที่พระองค์ได้ประกาศเสมอๆ
ที่นักปราชญ์สนใจกันมาก เรียกว่า ทสพลญาณ 10 อย่าง

เป็นของสำคัญมาก หากพระพุทธเจ้าไม่มีกำลังใหญ่โตเช่นนี้
กิจการทั้งหลายที่พระองค์จะพึงกระทำก็ไม่สำเร็จ

เหมือนพวกเราที่ต้องการมรรคผลนิพพาน เช่น โสดาฯ สกิทาคาฯ เป็นต้น
ก็ต้องมีกำลัง 5 อย่าง ซึ่งเรียกว่า พละ 5 คือ ศรัทธาพละ วิริยพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ

การที่จะมีพละขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการอบรมอินทรีย์
เมื่ออินทรีย์แก่กล้าแล้วก็เกิดเป็นกำลังขึ้น
เมื่อกำลังมีมรรคผลจึงจะเกิดมีได้
ถ้าขาดกำลังนี้แล้ว ก็ไม่อาจยังกิจการงานและมรรคผลให้สำเร็จได้

การประกาศพระศาสนาเป็นกิจที่ใหญ่โตมาก พระองค์ก็ต้องมีกำลังมาก
ถ้าขาดกำลังแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง กิจใหญ่ก็ไม่สำเร็จได้
เมื่อเป็นเช่นนี้พวกเราก็จะขาดความรู้ความเห็นในเรื่องศาสนา

กำลังของพระพุทธเจ้าซึ่งเรียกว่าทสพลญาณ 10 อย่างนั้น
คือ

(1.) ฐานาฐานญาณ - รู้เหตุและสิ่งที่มิใช่เหตุ 1
(2.) วิปากญาณ รู้สัตว์ที่ประสพสุขทุกข์ เป็นผลของกรรมทำมาจากบุญบาป 1
(3.)สัพพัตถคามินี ปฏิปทาญาณ รู้จักข้อปฏิบัติที่ถึงให้เรื่องในธรรมทั้งหลาย
คือเราจะได้เป็นมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติก็รู้ 1
(4.) นานาธาตุญาณ คือรู้จักธาตุต่างๆ 1
(5.) นานาอธิมุตติกญาณ คือรู้จักอัธยาศัยของสัตว์ต่างๆ 1
(6.) อินทริยปโรปริยัตตญาณ คือรู้จักอินทรีย์ของสัตว์อื่นๆ 1
(7.)ญาณทิสังกิเลสาทิญาณ คือรู้สังกิเลสเป็นต้นแห่งธรรมมีฌานเป็นของสัตว์ต่างๆ 1
(8.) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือรู้จักคติภพของพระองค์และสัตว์อื่นที่อยู่อาศัยแล้วในภพก่อนๆ 1
(9.)จุตูปปาตญาณ คือรู้จักการจุติและปฏิสนธิของสัตว์ 1
(10.)อาสวักขยญาณ คือความรู้จักความสิ้นไปแห่งอาสวะของพระองค์และสัตว์อื่น 1

ญาณ 10 ประการนี้ เรียกว่า ทสพลญาณ
ย่อมมีครบบริบูรณ์ในองค์ของพระพุทธเจ้า

ถ้าพระองค์ขาดเสียแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง จะประกาศพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นการใหญ่โตไม่ได้
เช่นพระอัครสาวกและอัครสาวิกาก็ได้คนละอย่างสองอย่างไม่สมบูรณ์
จึงทำการใหญ่โตเหมือนพระองค์ไม่ได้

(1.) ฐานาฐานญาณ
เป็นต้นว่ากิจสิ่งใดที่เกิดปรากฏขึ้น ต้องตัดสินกิจสิ่งนั้นได้อย่างเด็ดขาด
โดยถูกต้องตามคลองธรรม จึงจะเป็นฐานาฐานญาณได้
ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างนี้ จะสั่งสอนและทรมานสัตว์ไม่ได้
เช่นพระองคุลิมาล เป็นต้น ก็นับว่าเป็นโจรที่ดุร้ายพระองค์รู้ความสำเร็จล่วงหน้าแล้วจึงทรมานได้ และเหตุที่ควรเป็นไปได้และไม่อาจเป็นไปได้พระองค์ก็รู้
เช่น เกิดแล้วต้องตาย เรียกว่าเหตุที่ควรเป็นไปได้
ถ้าเราจะพูดว่า เกิดแล้วไม่ตายเช่นนี้อฐานะ ใช้ไม่ได้

เมื่อความตายมาถึงตัวหรือบุตรภรรยาญาติพี่น้อง
เราก็ไม่อยากให้เขาตาย คิดกางกั้นไว้ก็เป็น อฐานะ
การกางกั้นสำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง

ถ้าเขาเป็นไข้เรารักษาไข้นั้นหายสมประสงค์เป็นฐานะ
ถ้าไข้ไม่หายสมประสงค์เป็นอฐานะ เช่นนี้เรียกว่า ฐานาฐานญาณ

2. วิบากญาณ
วิบากญาณนั้น หมายถึงวิบาก คือผลของกรรม
คนผู้ที่มั่งมีศรีสุขหรือยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์ประการไร ก็สำเร็จมาจากผลของกรรมทั้งนั้น
เรียกว่า วิปากญาณ ข้อนี้ก็เป็นกำลังใหญ่ของพระองค์อย่างหนึ่ง พระสาวกไม่อาจรู้ตามได้

3. สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ
สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณนั้น ก็เป็นญาณสำคัญของพระพุทธเจ้าอย่างหนึ่ง
การที่จะมั่งมีสมบูรณ์ได้ในปัจจุบันก็เพราะความไม่ประมาท
คือรักษาทรัพย์ที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อมสูญไปในทางที่ไม่ใช่เหตุ
รู้จักจับจ่ายแต่พอสมควร ทางเสียให้มีแต่น้อย ทางได้ให้มีมากๆ

ถ้าต้องการไปสวรรค์ก็ให้รักษาศีลและรักษาธรรมอันขาว
เว้นจากธรรมอันดำ คือ โลภะ โทสะ โมหะ
ถ้าต้องการไปพระนิพพาน ให้เจริญอริยมรรคทั้ง 8 ประการ
และให้รู้จักธรรมอย่างนี้มีกำลังอย่างนั้น ธรรมอย่างนั้นมีกำลังอย่างนี้ เรียกว่า สัพพัตถคามินีปฏิปทาญาณ

4. นานาธาตุญาณ
นานาธาตุญาณ คือรู้จักธาตุต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ไฟ ลม ที่เราเข้าใจว่าเป็นธาตุนั้นๆ
เช่น ต้นไม้ ภูเขา เป็นต้น ก็เป็นแต่สักว่าสมมติและบัญญัติเท่านั้น

คำว่าธาตุเป็นสัญญานามธรรม ไม่ใช่ของจริงจังอะไร
ถ้าดูให้ละเอียดเข้าไปอีกก็มีแต่ธรรมธาตุคือธรรมดานั่นเอง
เมื่อเรารู้เท่าทันแล้ว เขาจะพูดว่าอย่างไรเราก็รู้ เรียกว่า นานาธาตุญาณ

5. นานาอธิกมุตติกญาณ
นานาอธิกมุตติกญาณนั้น คือความรู้จักอัธยาศัยใจคอของมนุษย์และสัตว์ต่างๆ
ว่า ผู้นั้นหนักไปด้วยความโลภ หนักไปด้วยความโกรธ หนักไปด้วยความหลง
และสามารถรู้ได้ว่าผู้นั้นอาจสำเร็จได้ด้วยธรรมข้อนั้นๆ เรียกว่านานาอธิมุตติกญาณ

6. อินทริยปโรปริยัตตญาณ
อินทริยปโรปริยัตตญาณนั้น คือรู้จักอินทรีย์ของสัตว์ต่างๆ
อินทรีย์ 5 ประการ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ย่อมมีในตัวเราทุกคน

แต่บางอย่างก็มีมาก บางอย่างก็มีน้อย ไม่สม่ำเสมอกัน
เช่น มีศรัทธาแรงมีสติน้อย มีสติน้อยมีความเพียรแรง
สติสมาธิมีมาก แต่ปัญญาเครื่องสอดส่องไม่มีเป็นอญาณะ

เมื่ออินทรีย์ทั้ง 5 ยังมียิ่งและหย่อนกว่ากันเช่นนี้ ก็ไม่อาจสำเร็จได้
พระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์เห็นอินทรีย์ของสัตว์ยังอ่อนบ้างแก่บ้าง ไม่สม่ำเสมอกันเช่นนี้
พระองค์ก็ช่วยบำรุงอบรมให้เสมอกัน ให้เป็นผู้สมควรแก่ธรรม คืออบรมอินทรีย์ให้แก่กล้าแล้ว
ก็เกิดเป็นกำลังใหญ่ขึ้น จึงอาจยังกิจนั้นๆ ให้สำเร็จตามความประสงค์ เรียกว่า อินทริยปโรปริยัตตญาณ

7. ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณ
ฌานาทิสังกิเลสาทิญาณนั้น คือ ปรีชากำหนดรู้อาการความเศร้าหมองและความผ่องแผ้ว
และความออกแห่งฌานและวิโมกข์และสมาธิสมาบัติของสัตว์ทั้งหลาย
ว่า จักมีด้วยอาการอย่างไร เรียกว่า ฌานาทิสัง กิเลสาทิญาณ

8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น คือรู้จักคติภพของพระองค์และสัตว์อื่นซึ่งอาศัยอยู่แล้วในชาติก่อนๆ
ว่า ในชาตินั้นๆ เกิดในที่นั้นๆ มีรูปพรรณสัณฐานอย่างนั้นๆ เป็นคนมั่งมียากจนอย่างนั้นๆ
พระองค์รู้ได้โดยตลอดสิ้นเชิง เรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ

9. จุตูปปาตญาณ
จุตูปปาตญาณนั้น คือความรู้จักการจุติและปฏิสนธิของสัตว์ต่างๆ ว่า
สัตว์นั้นจุติจากที่นี่แล้วไปปฏิสนธิในที่นั้น สัตว์นี้จุติจากที่นั้นแล้วจักไปปฏิสนธิในที่โน้น
เรียกว่า จุตูปปาตญาณ


10.อาสวักขยญาณ
อาสวักขยญาณนั้น คือปัญญาเครื่องรู้จักความสิ้นไปแห่งอาสวะของพระองค์และสัตว์อื่นว่า
ผู้นั้นมีอาสวะสิ้นไปแล้ว ผู้นั้นยังมีอาสวะอยู่ เรียกว่า อาสวักขยญาณ

ญาณ 10 อย่างนี้เรียกว่า ทสพลญาณ
เป็นของมีอยู่ในพระพุทธเจ้า ทุกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
พระองค์จึงทรงพระนามว่า อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ
แปลว่า ผู้ไกลจากกิเลสและเป็นผู้ประกอบไปด้วยพระปัญญาคุณ เราควรเข้าใจอย่างนี้
แล้วเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระปัญญาคุณ วิสุทธิคุณ กรุณาคุณ ให้มีบริบูรณ์ในสันดาน
ดังจะได้พรรณนาต่อไป ณ เบื้องหน้า และให้น้อมพระคุณเหล่านั้นมาสู่ตนทุกอย่าง
อย่าฟังแต่ข้างนอก ถึงแม้เราจะมีเท่าเทียม ก็ให้ได้พอสมควร
ให้พระคุณเหล่านั้นเกิดมีขึ้นในตนอย่าทอดธุระ
ถ้าพระคุณเหล่านั้นมีในตนแล้ว เราจึงจักถึงพระ
การที่จะถึงพระก็เป็นของยากไม่ใช่ของง่าย และเป็นสิ่งที่สำคัญนัก

เหตุนั้น ควรแล้วที่พุทธบริษัทจะบำเพ็ญพระคุณนั้นๆ
ให้เกิดมีขึ้นในตนตามกำลังและความสามารถ ด้วยประการฉะนั้น

----- จบ พระธรรมเทศนา ---------
ที่มา http://www.lanna.mbu.ac.th/panya/no_61/arahong.asp

:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908


แก้ไขล่าสุดโดย ชาติสยาม เมื่อ 22 ก.ค. 2009, 05:54, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2009, 22:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3836

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ฐานะ = สิ่งที่เป็นไปได้ (Possible)
อฐานะ = สิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย (Impossible)
-- ผู้โพสต์--


Quote Tipitaka:
[๘๓๙] ในญาณวัตถุหมวดละ ๑๐ นั้น
ญาณรู้ธรรมที่เป็นฐานะโดยความเป็นฐานะ
และธรรมที่ไม่ใช่ฐานะโดยความไม่ใช่ฐานะตามความเป็นจริงของพระตถาคต เป็นไฉน

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ
จะพึงยึดถือสังขารอะไรๆโดยความเป็นของเที่ยงนั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชนพึงยึดถือสังขารอะไรๆ
โดยความเป็นของเที่ยงนั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้


พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ
จะพึงยึดถือสังขารอะไรๆ โดยความเป็นสุขนั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชนพึงยึดถือสังขารอะไรๆ โดยความเป็นสุขนั้นแล
เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ
จะพึงยึดถือธรรมอะไรๆ โดยความเป็นอัตตาตัวตนนั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชนพึงยึดถือธรรมอะไรๆ
โดยความเป็นอัตตาตัวตนนั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ
จะพึงฆ่ามารดานั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชนพึงฆ่ามารดานั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้โสดาบันถึงพร้อมด้วยมัคคทิฏฐิ
จะพึงฆ่าบิดา ฯลฯ จะพึงฆ่าพระอรหันต์ ฯลฯ
จะพึงมีจิตประทุษร้ายยังพระโลหิตของพระตถาคตให้ห้อขึ้น ฯลฯ
จะพึงยังสงฆ์ให้แตกจากกัน ฯลฯ
จะพึงนับถือศาสดาอื่น ฯลฯ
จะพึงเกิดในภพที่ ๘ นั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่ปุถุชนพึงเกิดในภพที่ ๘ นั้นแล
เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้


พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์จะพึงอุบัติขึ้นพร้อมกันในโลกธาตุอันเดียวกันนั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พึงอุบัติขึ้นแต่พระองค์เดียวในโลกธาตุอันหนึ่งนั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้


พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่พระเจ้าจักรพรรดิ ๒ องค์จะพึงอุบัติขึ้นพร้อมกันในโลกธาตุอันเดียวกันนั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่พระเจ้าจักรพรรดิพึงอุบัติขึ้นแต่องค์เดียวใน
โลกธาตุอันหนึ่งนั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้


พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่หญิงจะพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่บุรุษพึงเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้นแล
เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้


พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่หญิงจะพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้นั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่าข้อที่บุรุษพึงเป็นพระเจ้าจักรพรรดิได้นั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่หญิงจะพึงเกิดเป็นพระอินทร์ เป็นมาร เป็นมหาพรหมนั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่บุรุษพึงเกิดเป็นพระอินทร์ เป็นมาร เป็นมหาพรหม นั้นแล
เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่กายทุจริตจะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่กายทุจริตพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่
ไม่น่าพอใจนั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่วจีทุจริต และมโนทุจริต
จะพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจนั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่วจีทุจริตและมโนทุจริตพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่กายสุจริตจะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่กายสุจริตพึงเกิดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ นั้นแล
เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่วจีสุจริต และมโนสุจริต
จะพึงเกิดผลที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจ นั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่วจีสุจริตและมโนสุจริต พึงเกิดผลที่น่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ นั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจริต เบื้องหน้าแต่ความตายเพราะกายแตก
จะพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกายทุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายทุจริต
เบื้องหน้าแต่ความตายเพราะกายแตก พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เพราะกายทุจริตเป็นเหตุ
เป็นปัจจัย นั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวจีทุจริตและมโนทุจริต เบื้องหน้าแต่ความตายเพราะกายแตก
จะพึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะวจีทุจริตและมโนทุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัยนั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวจีทุจริตและมโนทุจริต
เบื้องหน้าแต่ความตายเพราะกายแตก พึงเข้าถึงอบาย ทุคติวินิบาต นรก
เพราะกายทุจริตและมโนทุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายสุจริต เบื้องหน้าแต่ความตายเพราะกายแตก
จะพึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก เพราะกายสุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั้น
ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยกายสุจริต เบื้องหน้าแต่ความตายเพราะกายแตก
พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะกายสุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั้นแล
เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคตในโลกนี้ ย่อมทรงทราบว่า
ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวจีสุจริตและมโนสุจริต
เบื้องหน้าแต่ความตายเพราะกายแตก จะพึงเข้าถึงอบายทุคติ วินิบาต นรก
เพราะวจีสุจริตและมโนสุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั้น ไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ปัจจัย ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้
ย่อมทรงทราบว่า ข้อที่บุคคลผู้พรั่งพร้อมด้วยวจีสุจริตและมโนสุจริต
เบื้องหน้าแต่ความตายเพราะกายแตก พึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
เพราะวจีสุจริตและมโนสุจริตเป็นเหตุเป็นปัจจัย นั้นแล เป็นฐานะที่หาได้ เป็นฐานะที่มีได้

พระตถาคต ย่อมทรงทราบว่า
ธรรมเหล่าใดๆ เป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ธรรมเหล่าใดๆ เกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นๆ เป็นฐานะ

ธรรมเหล่าใดๆ ไม่เป็นเหตุไม่เป็นปัจจัยให้ธรรมเหล่าใดๆ เกิดขึ้น ธรรมเหล่านั้นๆ ไม่ใช่ฐานะ

ปัญญากิริยาที่รู้ชัด ฯลฯ ความไม่หลง ความวิจัยธรรม สัมมาทิฏฐิในธรรมที่เป็นฐานะ
และธรรมที่ไม่ใช่ฐานะนั้น อันใด นี้ชื่อว่า ญาณรู้ธรรมที่เป็นฐานะโดยความเป็นฐานะ
และธรรมที่ไม่ใช่ฐานะโดยความไม่ใช่ฐานะ ตามความเป็นจริง ของพระตถาคต

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๕ พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๒ วิภังคปกรณ์
ทสกนิเทศ
http://www.84000.org/tipitaka/read/?35/839/454


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2009, 22:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3836

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


กระทู้นี้ก็ดีมากนะครับ
http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=19768


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2009, 23:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 พ.ค. 2008, 14:14
โพสต์: 3836

อายุ: 12
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอช่วยอธิบายความสักเล็กน้อยตามความเข้าใจของผม


พระอุปาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เขียน:

ญาณ 10 ประการนี้ เรียกว่า ทสพลญาณ
ย่อมมีครบบริบูรณ์ในองค์ของพระพุทธเจ้า

ถ้าพระองค์ขาดเสียแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง จะประกาศพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นการใหญ่โตไม่ได้
เช่นพระอัครสาวกและอัครสาวิกาก็ได้คนละอย่างสองอย่างไม่สมบูรณ์
จึงทำการใหญ่โตเหมือนพระองค์ไม่ได้


- ทศพลญานนี้ มีในพระสาวก "บ้าง"
แต่มีกันอย่างจำกัด และมีรัสมีทำการอย่างจำกัด

พระอุปาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เขียน:
2. วิบากญาณ
วิบากญาณนั้น หมายถึงวิบาก คือผลของกรรม
คนผู้ที่มั่งมีศรีสุขหรือยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์ประการไร ก็สำเร็จมาจากผลของกรรมทั้งนั้น
เรียกว่า วิปากญาณ ข้อนี้ก็เป็นกำลังใหญ่ของพระองค์อย่างหนึ่ง พระสาวกไม่อาจรู้ตามได้



หลวงปู่กล่าวไว้ชัดว่ากัมวิปากญานนี้ พระสาวกไม่อาจรู้ตามได้
หมายความว่าเป็นความสามารถเฉพาะพระพุทธเจ้าเท่านั้น

อจินไตย 4 ว่า "กัมวิบาก" หรือความสงสัยว่าวิบากที่เป็นอยู่นี้เกิดจากอะไร
ก็เป็นเรื่องอจินไตยที่ไม่ควรครุ่นคิด


ข้อนี้สำคัญมาก เพราะสมัยนี้มีคนเก่งกว่าพระพุทธเจ้าเยอะมาก
ไปแผงหนังสือเมื่อไหร่ก็จะเห็นการ"แก้กรรม/ตัดกรรม/ล้างกรรม" เต็มไปหมด
ชอบทำนายกรรมของคน รู้ไปหมดว่าวิบากที่เขาเป้นอยู่นี้ เกิดจากรรมอะไรเมื่อไหร่


รู้ไม่พอ สามารถจะแก้กรรมของเขาให้ตกไปได้ด้วย
เรียกว่าเก่งกว่าพระพทุธเจ้ามาก
เพราะพระพุทธเจ้าไม่สามารถแก้กรรมให้ใครได้
ถ้าใครเจอว่าพระไตรปิฏกข้อไหนบอกว่าพระพุทธเจ้าแก้กรรมของใครได้ ช่วยมาบอกกันด้วยนะครับ

คิดแบบง่ายๆเลย
ถ้ากรรมแก้ได้จริง แล้วพุทธธรรมทั้งหมดจะมีความหมายอะไร นิิพานจะมีไว้ทำไม
ก้ในเมื่อใจความสำคัญก้คือที่ต้องมาเวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร ก็มาเพราะแรงกรรมของตน
ถ้าแก้กรรมไำด้ ก็ไม่ต้องมาเวียนว่าย ไม่ต้องมีนิิพานกัน


อย่างไรก้ตาม พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงเอาไว้มากมายอยู่แล้วในพระไตรปิฏก
ว่าทำอย่างไรอย่างไร จะได้ผลอย่างไรอย่างไร
เช่นทำทานอย่างนี้ ได้ผลอย่างนั้น ทำบาปอย่างนี้ ต้องไปตกนรกอย่างนั้น
ทำอย่างนี้อย่างนี้ ก้จะได้มรรคได้ผลอย่างนั้นๆ
ซึ่งเป็นฐานาฐานญาณ เป็นความสามารถเฉพาะของพระองค์ที่จะระบุเหตุและผลของกรรมได้โดยไม่มีความคลาดเคลื่อน

ถ้าเพียงเทียบเคียงเหตุการณ์จากพระไตรปิฏกว่าทำอย่างนั้นได้อย่างนี้
แล้วน้อมนำมาสังวรณ์ไว้ เพื่อให้เราไม่ประมาทในการกระทำ ก็นับว่าเป็นเรื่องดี

แต่ถ้าจะมีใครมาพยากรณ์กรรมของท่าน
ก้พึงทราบว่า"พระสาวกไม่อาจรู้ตามได้"

พระอุปาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เขียน:

8. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ปุพเพนิวาสานุสสติญาณนั้น คือรู้จักคติภพของพระองค์และสัตว์อื่นซึ่งอาศัยอยู่แล้วในชาติก่อนๆ
ว่า ในชาตินั้นๆ เกิดในที่นั้นๆ มีรูปพรรณสัณฐานอย่างนั้นๆ เป็นคนมั่งมียากจนอย่างนั้นๆ
พระองค์รู้ได้โดยตลอดสิ้นเชิง เรียกว่า ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ


การระลึกชาติของพระพุทธเจ้านี้ต่างจากพระสาวกตรงที่
พระพุทธเจ้าสามารถหยั่งทราบได้มาก"เท่าที่ทรงหวัง"

ส่วนพระปัจเจกพระพุทธเจ้าก็ดี พระสาวกก็มีเหมือนกัน
แต่ว่ามีรัสมีทำการอย่างจำกัด

ดังปรากฏในพระไตรปิฏก อรรถกถาว่า
"ถามว่า ชื่อว่าบุพเพนิวาส ใครระลึกได้ ใครระลึกไม่ได้
ตอบ เดียรถีย์ระลึกได้ พระสาวก พระปัจเจกพุทธะระลึกได้.

เดียรถีย์พวกไหนระลึกได้. เดียรถีย์เหล่าใดถึงความเป็นผู้เลิศเป็นกรรมวาที
เดียรถีย์แม้เหล่านั้นก็ระลึกได้ตลอด ๔๐ กัปเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นไม่ได้.

พระสาวกระลึกได้แสนกัป.
พระอัครสาวกทั้งสองระลึกได้อสงไขยและแสนกัป.
พระปัจเจกพุทธะระลึกได้สองอสงไขยและแสนกัป.
แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่มีกำหนดเท่านั้นเท่านี้.
พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงระลึกเท่าที่ทรงหวัง
เดียรถีย์ทั้งหลายระลึกได้ตามลำดับขันธ์ พ้นลำดับแล้วไม่สามารถระลึกได้. "
จาก http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=1&p=1


พระอุปาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เขียน:

10.อาสวักขยญาณ
อาสวักขยญาณนั้น คือปัญญาเครื่องรู้จักความสิ้นไปแห่งอาสวะของพระองค์และสัตว์อื่นว่า
ผู้นั้นมีอาสวะสิ้นไปแล้ว ผู้นั้นยังมีอาสวะอยู่ เรียกว่า อาสวักขยญาณ


ญานนี้แหละ ที่ทำให้คนเป้นพระอรหันต์ขีนาสรพ ถึงวิมุตติ แจ้งนิิพพานได้
เพราะมีญานที่กำจัดกิเลสได้หมดจรด

พระอุปาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์) เขียน:

ญาณ 10 อย่างนี้เรียกว่า ทสพลญาณ
เป็นของมีอยู่ในพระพุทธเจ้า ทุกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง


ท่านย้ำให้ฟังอีกครั้งว่าพระญานพระพุทธเจ้านี้ "ไร้ขีดจำกัด"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2009, 10:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณชาติสยาม

ขอบคุณนะคะ...นำธรรมะดีดีมาฝากกันบ่อยๆ อีกนะคะ

ธรรมะสวัสดีวันพระค่ะ

รูปภาพ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 12 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร