วันเวลาปัจจุบัน 04 พ.ค. 2025, 18:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ต.ค. 2008, 18:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 มิ.ย. 2008, 17:20
โพสต์: 1854

แนวปฏิบัติ: อานาปานสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: THAILAND

 ข้อมูลส่วนตัว


อาหารของดวงใจ (1)


ความอิ่มเอิบ ด้วยอารมณ์ ทางรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั้น เป็นอาหารของฝ่ายโลก
ความอิ่มเอิบด้วยปีติและปราโมชอันเกิดจากความที่ใจสงบจากอารมณ์เป็นอาหารของฝ่ายธรรม.
อุดมคติของชีวิต คือ ความถึงที่สุด แห่งอารยธรรมทั้งฝ่ายโลก และฝ่ายธรรม
เพราะฉะนั้น ชีวิตย่อมต้องการอาหารทั้งฝ่ายโลกและฝ่ายธรรม
ถ้ามีเพียงอย่างเดียว ชีวิตนั้น ก็มีความเป็นมนุษย์ เพียงครึ่งเดียว หรือ ซีกเดียว.


เราหาความสำราญให้แก่กายของเราได้ไม่สู้ยากนัก แต่การหาความสำราญ
ให้แก่ใจนั้นยากเหลือเกิน ความสำราญกายเห็นได้ง่ายรู้จักง่าย ตรงกันข้ามกับ
ความสำราญทางใจ แต่ไม่มีใครเชื่อเช่นนี้ กี่คนนัก เพราะเขาเชื่อว่าไม่มีความ
สำราญอย่างอื่นที่ไหนอีก นอกจากความสำราญทางกายและเมื่อกายสำราญแล้ว
ใจก็สำราญเอง คนพวกนี้ ไม่ฟังธรรม หรือ ศึกษาธรรม และ ไม่ไหว้พระสงฆ์
ซึ่งเป็น นิมิต อันหนึ่งของธรรม.

ความสำราญทางกาย หรือฝ่ายโลกนั้น ต้อง"ดื่ม" หรือ ต้อง"กิน" อยู่เสมอ
จึงจะสำราญ แต่ที่แท้ มันเป็นเพียง การระงับ หรือ กลบเกลื่อนความหิวไว้
ทุกชั่วคราวที่หิวเท่านั้น ส่วนความสำราญฝ่ายใจหรือฝ่ายธรรมนั้น ไม่ต้องดื่ม
ไม่ต้องกิน ก็สำราญอยู่เอง เพราะมันไม่มีความหิว ไม่ต้องดื่มกิน เพื่อแก้หิว
ที่กล่าวนี้ ผู้ที่นิยม ความสำราญทางกาย อย่างเดียว อาจฟังไม่เข้าใจก็ได้
แต่อย่าเพ่อ เบื่อหน่าย ขอให้ทนอ่าน สืบไปอีกหน่อย


พวกที่นิยม ความสำราญกาย ในทางโลก กล่าวว่า "ใจอยู่ในกาย"
แต่พวกนิยม ความสำราญใจ ในทางธรรม กล่าวว่า "กายอยู่ในใจ"
พวกแรก รู้จักโลกเพียงซีกเดียว พวกหลัง อยู่ในโลกนานพอจนรู้จักโลกดี
ทั้งสองซีกแล้ว ขณะเมื่อ พวกที่ชอบสำราญกาย กำลังปรนเปรอให้เหยื่อ
แก่ความหิวของเขาอย่างเต็มที่นั้น พวกที่ชอบสำราญใจ กำลังเอาชนะ
ความหิวของเขาได้ ด้วยการบังคับอินทรีย์จนมันดับสนิท สงบอยู่ภายใต้
อำนาจของเขาเอง

พวกแรก เข้าใจเอาคุณภาพของการให้ "สิ่งสนองความอยาก"
แก่ความหิวของเขาว่า เป็นความสำราญ
พวกหลัง เอาคุณภาพของการที่ยิ่งไม่ต้องให้สิ่งสนองความอยาก
เท่าใดยิ่งดี ว่าเป็นความสำราญ
พวกหนึ่ง ยิ่งแพ้ตัณหา มากเท่าใดยิ่งดี อีกพวกหนึ่ง ยิ่งชนะมาก เท่าใด ยิ่งดี !
พวกที่ชอบสำราญกาย ย่อมจะแพ้ตัณหาอยู่เองแล้ว โดยไม่รู้สึกตัว ทำเอง และ
ชักชวนลูกหลาน ให้หาความสำราญกายอย่างเดียว เพราะไม่รู้จักสิ่งอื่น
นอกจากนั้น ครั้นได้ เครื่องสำราญกายมา ใจก็ไม่สงบสุข เพราะ มันยังอยาก
ของแปลก ของใหม่ อยู่เสมอไป (ได้เพียงความสำราญ ชั่วแล่น เหมือนกินข้าว
มื้อหนึ่ง ก็สงบหิว ไปได้ชั่วมื้อหนึ่ง) เมื่อความหม่นหมองใจ เกิดขึ้น ก็คิดเอาว่า


ตนเป็นคนมีกรรมหรือโชคร้ายไม่เหมือนคนอื่นเขา เมื่อต้องเจ็บป่วยตามธรรมดา
ของสังขาร ก็น้อยใจโชคของตัว อย่างหาที่เปรียบมิได้ ยิ่งเมื่อแสวงหาโชค โดย
ทางใด ก็ไม่ได้เสียเลยแล้ว ก็เลยเห็นไปว่า ในโลกนี้ ไม่มีความยุติธรรม มีแต่ความ
ดุร้าย คนชนิดนี้ ในที่สุด ก็มอบตัวให้แก่ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ประกอบกรรมชนิดที่
โลกไม่พึงปรารถนา ต่อสู้สิ่งที่เรียกว่า โชคชะตาไป แม้อย่างดีที่สุด คนพวกนี้ จะ
ทำได้ ก็เพียง แต่ เป็นผู้ทน ระทมทุกข์ อยู่ด้วย การแช่งด่า โชคชะตาของตัวเอง
เท่านั้น ในสโมสร หรือสมาคม ของพวกที่แสวง ความสำราญทางกาย ซึ่งกำลัง
ร่าเริงกันอยู่นั้น พวกเทพยดา ย่อมรู้ดีว่า เป็นการเล่นละครย้อมสีหน้าก็มี หลงทำไป
ทั้งที่ตัวเองหลอกตัวเอง ให้เห็นว่า เก๋ ว่าสุข ก็มาก บางคนต้องร้องไห้ และหัวเราะ
สลับกันทุกๆ วัน วันละ หลายครั้ง จิตใจฟูขึ้น แล้วเหี่ยวห่อลง, ขึ้นๆ ลงๆ ตามที่
กระเป๋าพองขึ้นหรือยุบลง หรือตามแต่จะได้เหยื่อที่ถูกปากและไม่ถูกปาก ใจของ
พวกนี้ยังเหลืออยู่นิดเดียวเสมอเท่าที่เขารู้สึก จึงทำให้เขาเข้าใจว่า ใจอยู่ในกาย
คือแล้วแต่กาย หรือสำคัญอยู่ที่กาย เพราะต้องต่อเมื่อ เขาได้รับความสำราญกาย
เต็มที่แล้ว ต่างหาก ใจของพวกเขา จึงเป็น อย่างที่เขา เรียกว่า "สุข" แม้คนพวกนี้

จะพูดว่า ความสำราญใจ ! ความสำราญใจ !!" อยู่บ้าง ก็เป็นเพียง การหลงเอา
ความสำราญฝ่ายกาย ขึ้นมาแทน เท่านั้น จะสำราญใจ ได้อย่างไร ในเมื่อใจ ถูกทำ
ให้พองขึ้น ยุบลง เสมอ ความพองขึ้น หรือยุบลง ก็ตาม ย่อมเป็นสิ่งทรมานใจ ให้
เหน็ดเหนื่อย เท่ากัน เพียงแต่เป็น รุปร่างที่ต่างกัน เท่านั้น ลาภ ยศ สรรเสริญ และ
ความเพลิดเพลิน ทำให้พองเบ่ง เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกสบประมาท และหาความ
เพลิดเพลิน มิได้ ทำให้ยุบเหี่ยว แต่ทั้งสองอย่าง ทำความหวั่นไหว โยกโคลง ให้
เท่ากัน อย่างเด็ดขาด เมื่อเขาได้ สมใจอยาก เขาก็ได้ ความหวั่นไหว เมื่อไม่ได้ ก็
ได้ความหวั่นไหว เมื่อมืดมน หนักเข้า ก็แน่ใจลงเสียว่า ความอร่อย หรือ ขณะที่
อร่อย นั่นแหละเป็น "พระนิพพาน" ของชีวิต แต่เมื่อคิดดู เราพอจะเห็นได้ว่า นั่น
ยังไม่ได้ ถอยห่าง ออกมาจาก กองทุกข์ แม้แต่นิดเดียว, มันเป็นเพียง ความสำคัญ
ผิด เท่านั้น และ เป็นความสำคัญผิด ที่จะมัดตรึง ตัวเอง ให้ติดจม อยู่กับบ่อโคลน
นั่นตลอดเวลา


เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะเห็นได้สืบไปว่า การสำราญทางฝ่ายโลก หรือจะเรียก อีกอย่าง
หนึ่งว่า ฝ่ายกาย หรือวัตถุ นั้น คืออะไร และเมื่อได้ หมกมุ่นมัว แต่แสวงอาหาร
ให้กาย ท่าเดียว แล้วจะเป็นอย่างไร หรือ อีกอย่างหนึ่งว่า ถ้ารู้จักความสุข เฉพาะ
ในด้านนี้ ด้านเดียว แล้ว ก็จะรู้จักโลกเพียงซีกเดียว อย่างไร และยิ่งกว่านั้น คนที่
รู้จักโลก เพียงซีกหนึ่งเช่นนี้ หาอาจทำ อารมณ์เหล่านี้ ให้เป็น เครื่องอำนวยความ
สะดวก หรือ ความเพลิน แก่เขาได้ เช่นเดียวกับ ผู้ที่เข้าใจโลกดี ทั้งสองซีกไม่;
เพราะ ต้องตกเป็นทาส ของความมัวเมา รื้อไม่สร่าง บูชามันให้เป็น สิ่งสูงสุด
กว่าสิ่งใดอยู่เสมอ

ส่วนผู้ที่รู้จักโลก ดีแล้วนั้น ย่อมบูชา ความสำราญทางธรรม หรือ ฝ่ายใจอันแท้จริง
เป็นส่วนสำคัญ และถือเอาส่วนกาย หรือวัตถุ เป็นเพียง เครื่องอำนวยความสะดวก
ในฐานเป็นคนใช้ สำหรับรับใช้ ในการแสวงหา ความสำราญ ทางฝ่ายจิต เท่านั้น
พวกนี้จึงมีอุดมคติว่า"กายอยู่ในใจ" คือแล้วแต่ใจ กายเป็นของนิดเดียว, และอาศัย
ใจ ซึ่งมีอำนาจเด็ดขาด และคุณภาพสูงสุด อยู่ทุกๆ ประการ และทุกๆเวลา "แสวง
หาอาหาร ให้ดวงใจดีกว่า ! "

ความเจริญงอกงามของดวงใจ นั้น ยังไปได้ไกลอีกมากมายนัก คือกว่าจะถึง
พระนิพพาน เมื่อไร นั่นแหละ จึงจะหมด ขีดของทางไป แล้วมีอุดมสันติสุข
อยู่ตลอด อนันตกาล ส่วนความเจริญทางกายนั้น ไม่มีทางไปอีกต่อไป สูงสุด
อยู่ได้เพียงแค่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ อารมณ์ทางใจ บางอย่าง เช่น
ยศศักดิ์ เท่านั้น แต่ไม่มีใคร เคยทำให้เกิด ความอิ่ม ความพอใจ ในเรื่องนี้เลย
แม้ในอดีต, ในปัจจุบัน และ อนาคต. เพราะว่า การแสวงหาทางฝ่ายนี้ ต้องการ
"ความไม่รู้จักพอ" นั่นเอง เป็นเชื้อเพลิงอันสำคัญแห่งความสำราญ ถ้าพอเสีย
เมื่อใด ก็หมดสนุก ! ใครจะขวนขวายอย่างไร ก็ไม่อาจได้ผลสูงไปกว่า "การ
สยบซบซึมอยู่ ท่ามกลางกองเพลิง แห่งความถูกปลุกเร้าของตัณหา" ซึ่งเมื่อใด
ม่อยหรี่ลง ก็จะต้องหาเชื้อเพลิงเพิ่มให้ใหม่อีก และไม่มีเวลาพอ เช่นเดียวกับ
ไฟธรรมดา กับ เชื้อเพลิงธรรมดา เหมือนกัน เพราะฉะนั้น การแสวงหาอาหาร
ทางฝ่ายใจ เพื่อดวงใจ จึงเป็นสิ่งที่มีค่า น่าทำกว่า, เป็นศิลปะกว่า เป็นอุดมคติ
ที่สูงกว่า, ทำยาก หรือ น่าสรรเสริญกว่า, หอมหวนกว่า เยือกเย็นกว่า ฯลฯ กว่า
โดยทุกๆ ปริยาย.


การแสวงความสำราญทางฝ่ายกาย เป็นต้นเหตุแห่งสงคราม,
การแสดงความสำราญฝ่ายจิต เป็นต้นเหตุแห่งสันติภาพ.
ถ้าชาวโลก ยังบูชาลัทธิวัตถุนิยม มัวแสวงแต่ ความสำราญทางกาย อย่างเดียว
อยู่เพียงใด ก็ไม่มีหวังในสันติภาพ แม้จะเปิด สภาสันนิบาตชาติ ขึ้นอีกสัก ๑๐
สันนิบาต ก็ตาม นักวัตถุนิยม เห็นกายเป็นใหญ่ ย่อมเสียสละ ได้ทุกอย่าง เพื่อ
ให้กาย หรือโลกของตน อิ่มหมีพีมัน ส่วนนักจิตนิยม เห็นแก่จิตเป็นใหญ่ ย่อม
เสียสละได้ ทุกอย่างเหมือนกัน เพื่อแลกเอา ความสงบ เยือกเย็น ของจิต. ผู้แสวง
ความสำราญ ทางกาย นั้น การแสวง ของเขา จำเป็นอยู่เอง ที่จะต้องกระทบ กับ
ผู้อื่น เพราะความสำราญกาย นี้ เป็นของเนื่องด้วยผู้อื่น หรือสิ่งอื่น ที่แวดล้อมอยู่
โดยรอบ เมื่อความเห็นแก่ตัวมีอยู่ ก็ต้องมีการกระทบกันเป็นธรรมดา การสงคราม
ก็คือ การปะทะของคนหลายคน ที่ต่างฝ่ายต่างมีความเห็นแก่ตัวเพื่อความสำราญ
ทางกายนั่นเอง สงครามโลกซึ่งเป็นเพียงความเห็นแก่ตัวของคนหลายชาติรวมกัน
ก็ไม่ต่างอะไรกันอีก ส่วนการแสวงหาความสุขทางฝ่ายจิตนั้น จะไม่กระทบกระทั่ง
ใครเลย แม้แต่น้อย, เพราะเหตุว่า มีอะไรๆ ให้แสวง อยู่ในตน ผู้เดียวเสร็จ ไม่ต้อง
เนื่องด้วยผู้อื่น การสงคราม ไม่สามารถ เกิดจาก ผู้แสวงสุขทางจิต! เช่นเดียวกับที่
ไฟไม่สามารถ เกิดจากความเย็น.

การแสวงหาอาหาร ทางฝ่ายกาย ง่ายหรือตื้น และ เป็น ต้นเหตุ แห่งสงคราม
การแสวงหาอาหารของดวงใจ ยากและลึก และเป็นต้นเหตุของสันติภาพ ดัง
กล่าวมาแล้ว. แต่มนุษย์ในโลกนี้ ส่วนมาก ปล่อยตนไปตามสัญชาตญาณ หรือ
ธรรมดาฝ่ายต่ำมากเกินไป จึงเท่าที่เราเห็นกัน จึงมีแต่ ผู้ถือลัทธิวัตถุนิยม ยิ่ง
นานเข้าเท่าใด วิธีการแสวงหา อาหารของดวงใจ ก็ยิ่งลบเลือน หายไปจาก
ความทรงจำ และ ความเอาใจใส่ ของมนุษย์ มากขึ้น เพียงนั้น ในที่สุด ก็ไม่มี
อะไรเหลือ อยู่ในมันสมองของมนุษย์ นอกจากความเห็นแก่ตัว และนั่นคือ
สมัยที่ไฟประลัยกัลป์จะล้างโลก


ข้าพเจ้าอยากจะกล่าวว่า ผู้แสวงหาสุขทางใจ มีอยู่เพียงกี่คน ก็ตาม ก็เป็นเหมือน
ลูกตุ้ม ที่ถ่วงโลกไว้ มิให้หมุนไป ถึงยุคไฟประลัยกัลป์ เร็วเกินไปเพียงนั้น
"เรายอมรับว่า เป็นลูกตุ้มจริง แต่ว่า เป็นลูกตุ้ม ที่ถ่วง ไม่ให้ พวกท่านวิ่งเข้าไป
สู่กองไฟ เร็วเกินไป ถ้าพวกข้าพเจ้า จะพลอยเป็น อย่างท่าน ไปด้วย เชื่อแน่ว่า
โลกคงจะแตกดับ เร็วกว่า ที่พวกข้าพเจ้า จะแยกเป็นอยู่ เช่นนี้" นี่เป็นคำ ซึ่ง
พวกแสวงสุขทางฝ่ายจิต ควรจะพูดได้โดยชอบธรรม !
พระพุทธองค์ ทรงเป็นนายกแห่งสมาคมผู้แสวงสุขทางใจ เพียงพระองค์เดียว
และสมัยเดียว ก็ชื่อว่าเป็น โลกนาถ ที่พึ่งของโลก หลายสมัย เพราะว่า อิทธพล
แห่งธรรม ที่พระองค์ ทรงเปิดเผยขึ้นนั้น ได้ถ่วงให้โลก ที่กำลังหมุนไปหา
ความแตกดับ หมุนไปช้าเข้า มากกว่ามากนัก เมื่อหมุนไปช้า เช่นนี้ คนทั้งโลก
แม้ที่สุด แต่ คนที่ไม่เคย ได้ยินชื่อ ของพระองค์ ก็พลอยมีส่วน ได้รับความสุข
ด้วย แต่เมื่อโลก ละทิ้ง การแสวงหา อาหารทางใจ มารับเอา อาหารทางกาย
มากขึ้นเช่นนี้ พระพุทธองค์ก็ช่วยไม่ได้ เพราะโลกเป็นฝ่ายที่ทิ้งพระพุทธองค์
พุทธบริษัททุกคน ยังภักดีต่อ การแสวงหาความสุขทางใจ กันอยู่ นับว่า ตระกูล
ของพระองค์ ยังไม่ขาดทายาท เสียทีเดียว และจะยังเป็น เหมือน ลูกตุ้มน้อยๆ
ที่เหลืออยู่เพื่อตัวเองและโลกด้วย, ทั้งขณะที่พวกอื่นเขาอาจกำลังเกลียดพวกนี้อยู่.
พุทธบริษัท คงต้องถือว่า กายอยู่ในใจ, อาหารทางใจ สำคัญกว่า อาหารทางกาย
และยังคงต้องภักดี ต่อลัทธิ แสวงสุขทางใจ อยู่เสมอ.
การเป็นพุทธบริษัทแต่ปาก นั้น ไม่ทำให้เป็น พุทธบริษัท ได้เลย
พุทธบริษัทที่แท้ เป็นนักนิยมวัตถุ หรือ ถือลัทธิหลงชาติ ไปไม่ได้
พุทธบริษัทที่ขวางๆ รีๆ นั่นยิ่งจะร้ายไปกว่า ผู้ที่มิได้เป็นพุทธบริษัท
เมื่อเกิด "มิคสัญญี" พุทธบริษัท ที่แท้จริง เท่านั้น ที่จะเป็นผู้เหลืออยู่
แม้นี้ก็เป็น อานิสงฆ์ แห่งการนิยม อาหารของดวงใจ
เมื่อได้พร่ำ กล่าวถึงความดีของอาหารทางดวงใจมามากแล้ว
กระทั่งในแง่การเมืองเป็นที่สุด จึงต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึง
ลักษณะของอาหารทางใจโดยตรงบ้าง,ให้ควรกัน.
คำสองคำซึ่งใครๆ ก็เคยได้ยินมีอยู่ว่า โลก กะ ธรรม
โลก กับธรรม จะเป็น อันเดียวกัน ไม่ได้.
โดยที่โลกเป็นฝ่ายนิยมวัตถุ,


ธรรมเป็นฝ่ายนิยม "ความเป็นอิสระ เหนือวัตถุ" และ
"ความเป็นอิสระเหนือวัตถุ นี่เอง คือ อาหารของดวงใจ"


{ มีต่อ อาหารของดวงใจ(2) }

พุทธทาสภิกขุ
๑๙ กันย์ ๒๔๘๐


คัดจาก หนังสือ ชุมนุมเรื่องสั้น พุทธทาสภิกขุ พิมพ์ ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๓๘
โดย สำนักพิมพ์สุขภาพใจ

.....................................................
[สวดมนต์วันละนิด-นั่งสมาธิวันละหน่อย]
[ปล่อยจิตให้ว่าง-ชีวิตที่เหลือเพื่อธรรมะ]


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2009, 13:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 ม.ค. 2009, 20:45
โพสต์: 1094

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2009, 13:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุกับท่านบัวด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร