วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 11:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2016, 07:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อพอเข้าใจบทความก่อนๆ เช่น ธรรม, วินัย บ้างแล้ว ตอนนี้ก็ความหมาย สภาวะ จริยะ บัญญัติ

ซ่อนใต้ระบบ ๒ ของธรรมวินัย มองไปเห็นระบบ ๓ แห่งสภาวะ จริยะ และบัญญัติ

ตอนที่พูดเรื่อง ธรรม กับ วินัย นั่นแหละ คือ ได้พูดเรื่องระบบของธรรมทั้งหมดแล้ว เพียงต่อตอนนั้น จับเอาเฉพาะต้น กับ ปลาย ที่เป็นจุดกำหนดใหญ่ คือ

- จุดเริ่ม หรือหลักต้นเดิน แบบแผนเดิม ด้านธรรมชาติ ได้แก่ ความจริงตามสภาวะของมัน ที่เรียกว่า ธรรม กับ

- จุดปลาย หรือหลักที่ตั้งขึ้น แบบแผนที่จัดวางขึ้นใหม่ ในด้านมนุษย์ ได้แก่ หลักการกฎกติกา ซึ่งบัญญัติขึ้น ที่เรียกว่า วินัย

ธรรม ในที่นี้ หมายถึง ความจริงตามสภาวะของธรรมชาติ ถ้าเรียกชื่อเต็ม ก็คือ สภาวธรรม (เรียกหลวมๆ แบบไทยเราว่า สัจธรรม)

ส่วนวินัย ก็อย่างที่กล่าวแล้ว ว่าเป็นเรื่องที่คนบัญญัติจัดตั้งวางขึ้น เมื่อวางเป็นหลักเป็นแบบแผนแล้ว ก็เรียกได้ว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ดังนั้น วินัยเมื่อจัดเข้าในชุดของธรรม (เป็นเรื่องสืบเนื่องจากธรรมนั่นแหละ) ก็เรียกว่าเป็น บัญญัติธรรม

เป็นอันว่า ถึงตอนนี้ มีธรรม ๒ อย่าง คือ สภาวธรรม ในข้างธรรมชาติ และ บัญญัติธรรม ในข้างคนหรือสังคมมนุษย์

ทั้งนี้ ได้บอกแล้วว่า อย่างหลัง คือ บัญญัติธรรม ตั้งอยู่บนฐานของอย่างแรก คือ สภาวธรรม

ทีนี้ ถ้าดูให้ดี ในคำอธิบายเรื่อง ธรรม -วินัย ข้างต้นนั้น จะเห็นว่าระหว่าง ๒ อย่างนั้น ก่อนจะตั้งอย่างหลังขึ้นได้ คือ จากธรรม จะมาตั้งวินัยขึ้นนั้น มีตัวเชื่อมโยง ซึ่งสำคัญมากเหมือนกัน แต่ที่นั่นไม่ได้เน้น ถ้าไม่สังเกต อาจจะมองข้ามหรือลืมไปเสีย ตัวเชื่อมโยงนั่นแหละ คือ ธรรมอีกอย่างหนึ่ง เรียกว่า จริยธรรม

คราวนี้ ก็ครบชุดตลอดทั้งระบบเป็น ๓ อย่าง เรียงตามลำดับเป็น

สภาวธรรม - หลัก หรือแบบแผนที่เป็นอยู่เป็นไปในธรรมชาติตามธรรมดาของมัน

จริยธรรม - ข้อที่เสมือนเป็นเงื่อนไขที่ธรรมชาติเรียกร้องต่อมนุษย์ว่า ถ้ามนุษย์ต้องการผลดี จะต้องปฏิบัติอย่างไร

บัญญัติธรรม - หลักหรือแบบแผนที่มนุษย์บัญญัติขึ้นเพื่อสนองตามเงื่อนไขของธรรมชาติ

ถ้าเรียกให้สั้น ก็คือ สภาวะ จริยะ และ บัญญัติ (ใช้คำว่า ธรรม ต่อท้าย เพื่อให้รู้ว่าอยู่ในระบบแห่งธรรม หรือเป็นส่วนของธรรมระบบแห่งธรรมนั้น)

ข้อสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องบอกแจ้งไว้ก่อน เพื่อป้องกันความสับสน คือ คำว่าจริยธรรมในที่นี้ จะต้องตระหนักว่า มิใช่มีความเหมาะอย่างคำว่า "จริยธรรม" ที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไปในบัดนี้

เมื่อเห็นคำว่า "จริยธรรม" ในที่นี้ ห้ามนึกถึงจริยธรรมที่ใช้ในปัจจุบันเลย ต้องลบออกไปเลย (เรื่องนี้จะอธิบายเหตุผลข้างหน้า)

ความสัมพันธ์ระหว่างธรรม ๓ อย่างนี้ ก็เหมือนกับที่ได้อธิบายแล้วในตอนว่าด้วย ธรรม กับ วินัย และในที่นี้จะพบทวนเล็กน้อย

ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมเป็นเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้เข้าใจง่าย

สภาวะ (ความจริงตามธรรมชาติ) ไฟเป็นของร้อน มีอำนาจเผาไหม้ ทำให้เกิดแสงสว่างและความเปลี่ยนแปลง ต่างๆ มากน้อย ตามระดับของอุณหภูมิ (มองในแง่ของมนุษย์ มีทั้งที่เป็นคุณ และเป็นโทษแก่ตน)

จริยะ (เงื่อนไขหรือข้อพึงประพฤติที่มนุษย์ต้องปฏิบัติเมื่อต้องการผลดีแก่ตน) พึงเข้าไปเกี่ยวข้องและปฏิบัติต่อไฟด้วยความระมัดระวัง สอดส่องป้องกันมิ ให้เกิดอุบัติภัย ไม่เอาไฟไปใช้ทำร้ายใคร หรือทำลายสิ่งใด รู้จักใช้ทำประโยชน์ต่างๆ นำมาใช้ประโยชน์ภายใต้การควบคุมฯลฯ

บัญญัติ (จัดตั้งวางระเบียบกฎกติกา และมาตรการที่ให้มั่นใจว่าจะเกิดผลดีตามจริยะ) วางกฎ มิให้ปล่อยเด็กเล็กอายุเท่านั้นๆ ไว้ในที่ใกล้ระยะเท่านั้นๆ จากวัตถุ ก่อไฟ วางข้อห้ามมิให้ผู้ใดนำไฟ หรือวัตถุสื่อไฟเข้าไปในเขตรัศมีเท่านั้นๆ จากโรงเก็บวัตถุระเบิด ตั้ง ข้อกำหนดมิให้ก่อกองไฟเผาหญ้าหรือผิงไฟเป็นต้น ใกล้สิ่งก่อสร้างในระยะ เท่านั้นๆ วางระเบียบในการสร้างครัวและโรงครัวว่าจะต้องใช้วัสดุอะไร สำหรับส่วนประกอบ ใด ต้องจัดวางส่วนประกอบภายในที่ตรงไหน อย่างไรได้ อย่างไรไม่ได้ ฯลฯ

ตัวอย่างทางนามธรรม ก็ เช่น

สภาวะ: ความโลภ คือสภาพจิตที่อยากได้อยากเอามาเพื่อตน อาจเป็นเหตุให้ทำ การแสวงหาต่างๆ อาจถึงกับทำให้ไปเอาทรัพย์สินของคนอื่น ทำการลัก ขโมย เป็นต้น โทสะ คือภาวะจิตที่เคืองแค้นมุ่งร้าย ทำให้ใจเร่า ร้อน หัวใจเต้นเร็ว ใจเครียด กล้ามเนื้อเขม็งเกร็ง เลือดลมติด ขัด กระบวนการเผาผลาญในร่างกายทำงานหนัก ทรุดโทรมแก่เร็วขึ้น ง่าย ที่จะก่อความขัดแย้งกับผู้อื่น รุนเร้าขับดันให้ไปรังควาญคนที่ตนเกลียด ชัง อาจถึงกับทำให้ไปทำร้ายทุบตี หรือฆ่าคนอื่น เมตตา คือ สภาพจิตที่รักปรารถนาดีอยากให้คนอื่นเป็นสุข ทำให้ จิตใจสงบเย็น ทำให้ระบบของร่างกายผ่อนคลาย หายใจสบาย เลือดลมเดินดี เผาผลาญน้อย ทรุดโทรมแก่ช้า ทำให้มีความเป็นมิตรและอยากช่วย เหลือผู้อื่น ไปบำเพ็ญประโยชน์ เกื้อกูลสังคม ฯลฯ

จริยะ: ควรควบคุมความโลภ ไม่ให้ทำการแสวงหาเกินขอบเขตที่ถึงกับไปเอาของของคนอื่น ถึงกับเบียด เบียน หรือก่อความเดือดร้อนแก่สังคม ควรจัดการให้โลภะระบายออกในระบบการ แสวงหาลาภด้วยการทำงาน ควรดับโทสะ เพื่อสุขภาพกายใจของตน ระงับยับยั้งโทสะไม่ให้ทำการประทุษร้ายผู้อื่น มิให้แสดงออกมาในการก่อความเดือดร้อนเบียดเบียนสังคม ควรเจริญเมตตาให้เอื้อต่อสุขภาพกายใจ ควรพัฒนาตนในทางมีน้ำใจช่วย เหลือเกื้อกูล ควรหาทางแสดงน้ำใจไมตรี ไปร่วมมือกัน ไปบำเพ็ญประโยชน์ต่างๆ ฯลฯ

บัญญัติ: ตรากฎหมายห้ามลักขโมย ตรากฎหมายวางบทบัญญัติเกี่ยวกับการทำร้ายร่าง กาย วางระเบียบการจัดอบรมผู้ต้องขัง อบรมเด็กมีปัญหา จัดตั้งค่าย คุณธรรมเพื่อพัฒนาเมตตาธรรม ให้ซื่อสัตย์ ให้กตัญญู จัดตั้งชมรมสุขภาพกายสุขภาพใจ ฯลฯ

ตามตัวอย่างเหล่านี้ จะ เห็นได้ไม่ยากว่า สภาวะ เป็นความจริงของ ธรรมชาติ และจริยะ ก็เป็นความจริงเกี่ยวกับความต้องการของชีวิตของ คน ไม่ว่าที่ไหน เมื่อใด ทุกกาลเทศะ ก็เป็นอย่างนั้น

ดังนั้น สภาวธรรม และจริยธรรม ซึ่งสืบเนื่องต่อกันมา จึงอยู่ในระดับที่เป็นสัจธรรมด้วยกัน

ส่วน บัญญัตินั้น กำหนดหรือจัดตั้งวางขึ้น เพื่อให้จริยะมีผลเป็นจริง หรือ ให้ได้ผลตามจริยะ เห็นได้ชัดว่าเป็นสมมติ หรือสมมติธรรม คือไม่มีอยู่ จริง แต่เป็นเรื่องของการตกลงหรือยอมรับร่วมกันของมนุษย์

ดังนั้น บัญญัติธรรม ซึ่งแต่ละสังคมก็พยายามจัดวางให้ได้ผลมาก ที่สุด แต่มีความรู้ความเห็นความต้องการความสามารถ มากน้อยไม่เท่า กัน ไม่ตรงกัน เช่น ประเทศนี้ มีกฎหมายว่าด้วยการเก็บ การ เคลื่อนย้าย การใช้ เชื่อเพลิงประเภทต่างๆ เช่น แก๊ส น้ำมัน ถ่านหิน ฯลฯ อย่างหนึ่ง แต่อีกประเทศหนึ่ง มี ข้อกำหนดอีกแบบหนึ่ง และสำหรับเชื่อเพลิงแต่ละประเภทนั้นๆ ก็มีข้อ บัญญัติที่เป็นรายละเอียดแตกต่างกันไปมากมาย หรือแม้ในประเทศเดียว กัน แต่ต่างยุคสมัย ก็มีเหตุให้บัญญัติแผกกันไป

บางทีบัญญัติธรรมก็ต่างกันมาก จนอาจจะตรงข้ามกันเลย คือ เรื่องที่ ในสังคมนี้บัญญัติให้เป็นการถูกต้อง แต่อีกสังคมหนึ่งบัญญัติให้เป็นการไม่ถูกต้อง หรือในสังคมเดียวกันต่างกาละ เรื่องที่เคยบัญญัติว่าผิด ก็บัญญัติใหม่เป็นถูก เรื่องที่เคยว่าถูก ก็เอาเป็นผิด

ข้อที่พึงทราบอีกอย่างหนึ่ง คือ จะเห็นชัดเช่นกันว่า สภาวะ หรือ สภาวธรรม เป็นเรื่องของปัญญา คือขึ้นต่อความรู้ ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ส่วนจริยะ เป็นเรื่องของเจตนา คือขึ้นต่อเจตจำนง ความตั้งใจ

ในการบัญญัติจัดตั้งบัญญัติธรรมจะทำได้ผลดีก็ต้องมีปัญญาที่รู้เข้าใจเข้าถึง สภาวะและมีเจตนาที่สะอาดประกอบด้วยเมตตาปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ต่อ สังคม เป็นต้นอย่างจริงจังและจริงใจ

ท้ายสุด ในขั้นปฏิบัติตามบัญญัติธรรม การที่จะปฏิบัติตามหรือไม่ และปฏิบัติได้ผลมากน้อยเพียงไร ก็ขึ้นอยู่กับปัญญา และเจตนาเช่นเดียว กัน

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีการพัฒนามนุษย์ ด้วยการศึกษา ที่จะให้มนุษย์นั้นมีปัญญารู้เข้าใจสภาวธรรมเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้เขาพัฒนาจิตใจ ให้มีเจตนาที่ประกอบด้วยคุณสมบัติดีงามทั้งหลาย เช่น เมตตา กรุณา สติ สมาธิ ฯลฯ เพื่อจะได้มีจริยธรรม ที่จะเอาเจตนานั้นไปนำพฤติกรรมทางกาย วาจา โดยอาศัยบัญญัติธรรมช่วย เกื้อหนุน ให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ดีงามเกื้อกูลเป็นคุณเป็น ประโยชน์ แก่ชีวิต แก่สังคม และแก่โลกที่แวดล้อมทั้งหมด ให้อยู่ดีมีสันติสุขแท้จริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2016, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ในระบบ ๓ แห่ง สภาวะ จริยะ และบัญญัติ ดูให้ชัดจะเห็นจริยะสำคัญเด่นขึ้นมา

มาถึงตอนนี้ ก็คงมองเห็นแล้วว่า "ธรรม" ในระบบ ๒ คือ ธรรม - วินัย กับในระบบ ๓ คือ สภาวะ จริยะ และบัญญัติ นั้น แท้จริงแล้วก็เป็นระบบเดียวกันนั่นเอง และมองเห็นด้วยว่า ส่วนใด ใน ระบบ ๒ มาเป็นส่วนใดในระบบ ๓ พร้อมทั้งรู้ด้วยว่ามาเป็นได้อย่างไร

พูดง่ายๆว่า ท่านใช้ระบบ ๒ เป็นหลักใหญ่ คือ แยกแดนกันออกไปเลย เป็นแดนของธรรมชาติ กับ แดนของมนุษย์

แดนของธรรมชาติ (ธรรม) ก็มีกฎเกณฑ์ระเบียบแบบแผนของมัน อย่างที่บอกแล้ว ว่า เป็นอยู่เป็นไปตามธรรมดาของมัน เช่น ตามเหตุปัจจัย ไม่ขึ้นต่อ ความอยากความปรารถนาความชอบใจหรือไม่ชอบใจของใครทั้งนั้น คือ ตามที่มัน เป็นของมัน หรือใช้คำศัพท์ว่า เป็นนิยามตามสภาวะ

ส่วนแดนของมนุษย์ (วินัย) ที่จะดำเนินชีวิตดำเนินกิจกรรมกิจการทั้งหลายให้ เป็นไปด้วยดี อยู่กันร่มเย็นเป็นสุข ก็ต้องรู้จักจัดตั้งวางตรากติกา เกณฑ์กำหนดกฎหมายระเบียบแบบแผนขึ้นมา เป็นข้อที่จะยึดถือปฏิบัติให้ลง กัน ตามที่ตกลงหรือยอมรับร่วมกัน ใช้คำศัพท์ว่า บัญญัติตามสมมติ

นี่คือระบบใหญ่ ๒ อย่าง คือ ธรรม กับ วินัย เรียกรวมเป็นระบบอันหนึ่งอันเดียวว่า "ธรรมวินัย" ก็มีแค่นี้

แต่ทีนี้ ก็อย่างที่บอกแล้วว่า แดนที่ ๒ คือ แดนมนุษย์ ที่จะจัด ตั้งวางตรากติกากฎหมายอะไรขึ้นมา ให้ได้ผลเป็นคุณประโยชน์แท้จริง ยั่งยืน จะต้องถูกต้องตรงตามความเป็นจริงแห่งสภาวะ หรือตั้งอยู่บนฐาน ของกฎ ธรรมชาติ มิฉะนั้น ก็จะเป็นเรื่องที่เลื่อนลอยไร้ความหมาย และไร้สาระ


ดังนั้น ก็จึงมีตัวเชื่อมหรือเครื่องโยงระหว่างแดนทั้งสอง หรือระหว่าง ธรรม กับ วินัย นั้น ที่พูดเป็นภาษาบุคลาธิษฐานว่า มีเสียงเรียกร้องต่อ มนุษย์ เป็นทำนองเงื่อนไขจากธรรมชาติว่า ถ้าเธอต้องการจะได้จะเป็น อย่างนั้นๆ เธอจะต้องทำให้สอดคล้องหรือถูกต้องตามกฎระเบียบของฉัน เช่น ทำเหตุปัจจัยให้ได้อย่างนั้นแค่นั้น อันนี้ คือ ที่เรียกว่า "จริยะ"

ตัวเชื่อมหรือเครื่องโยงระหว่างกลางนี้ ใน ระบบ ๒ ท่านละไว้ฐานเข้าใจ ไม่ต้องยกเด่นขึ้นมา หรือไม่ต้อง นับ แต่บางครั้ง เพื่อจะให้เห็นความสำคัญและให้เด่นขึ้นมาในการที่จะใช้ ประโยชน์ ท่านก็นับด้วย

เมื่อนับตัวเชื่อมหรือเครื่องโยงระหว่างสองแดน คือ จริยะ นี้ ด้วย ตัวเลขก็ย่อมเพิ่มขึ้นกลายเป็น ๓ และนี่ก็คือ เป็น ระบบ ๓ ของธรรม กล่าวคือ สภาวะ - จริยะ - บัญญัติ หรือให้ได้ถ้อยคำชัดออกมาว่าเป็นระบบของธรรมที่สืบกันออกมา ก็เรียกว่า สภาวธรรม จริยธรรม บัญญัติธรรม

เห็นได้ชัดว่า จริยะ นั้น อยู่ ในแดนหรือในฝ่ายของสภาวะ ดังที่บอกว่า เป็นคำเรียกร้องแจ้งเงื่อนไขของ ธรรมให้มนุษย์ต้องรู้ต้องทำให้ได้ หรือต้อง ดำเนินต้องปฏิบัติตาม


ยกตัวอย่าง เช่น บอกว่า ไฟร้อนนะ ถ้าอุณหภูมิสูงมาก จะเผากายให้ไหม้ จะทำน้ำให้เดือด ฯลฯ ถ้าเธอไม่ต้องการให้ร่างกายเสียหาย ก็อย่าเอาไฟมาลนตัว ถ้าเธออยากได้น้ำสุก ก็ต้องรู้จักก่อหาไฟมาต้มน้ำ ฯลฯ เมื่อรู้เข้าใจความจริงตามสภาวะ และรู้ข้อที่ตนจะต้องทำต้องปฏิบัติให้สอดคล้องแล้ว หากจะทำการใดให้เป็นงานเป็นการเป็นหลักเป็นฐาน เธอก็จัดตั้งวางกฎกติกาข้อปฏิบัติให้แน่นเข้าไป ก็เป็นบัญญัติของมนุษย์ขึ้นมา

ถึงตอนนี้ ก็ เห็นชัดว่า ที่จริง ระบบ ๒ กับระบบ ๓ ก็อันเดียวกัน และ ระบบ ๓ ก็ซ้อนอยู่ในระบบ ๒ นั่นเอง กล่าว คือ ธรรม ที่เป็นข้อแรกในระบบ ๒ นั้น แยกย่อย เป็น ๒ ตอน ดังนี้

๑. ธรรม ในแดนของธรรมชาติ แยกเป็น

๑) ความเป็นจริงตามธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นอยู่เป็นไปของมัน อย่างนั้นเช่นนั้น เป็นกฎธรรมชาติ เรียกว่า สภาวะ

๒) ข้อที่เสมือนเป็นเงื่อนไขข้อเรียกร้องให้มนุษย์ต้องรู้เข้าใจทำให้ได้ ทำให้ถูกตามความจริง หรือตามกฎของธรรมชาตินั้น เพื่อให้เกิดผลดีที่ตนต้องการ และการที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติดำเนินกิจดำเนินชีวิตไปตามนั้น เรียกว่า จริยะ

๒. = ๓) วินัย ในแดนของมนุษย์ ผู้ที่มีปัญญารู้เข้าใจธรรม ตลอดทั้งสองขั้นตอนนั้น มอง เห็นสิ่งที่จะพึงปฏิบัติจัดทำตามกฎแห่งธรรมดาเพื่อให้เกิดผลดีแล้ว เมื่อ มีเจตนาดีงามประกอบด้วยเมตตาการุณย์มุ่งจะให้เป็นประโยชน์แก่หมู่ชน หรือสังคม ก็จัดตั้งวางกฎเกณฑ์กติกากฎหมาย เป็นต้นขึ้น ให้ตกลงยอมรับ ถือปฏิบัติกันต่อไป เป็นกฎมนุษย์ เรียกว่า บัญญัติ

เป็นอันครบถ้วนแล้ว ทั้งระบบมีองค์ ๒ คือ ธรรมวินัย และระบบมี องค์ ๓ คือ สภาวะ - จริยะ - บัญญัติ (สภาวธรรม - จริยธรรม - บัญญัติธรรม)

มองเห็นเด่นขึ้นมาว่า

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงประดามี หรือโลกแห่งธรรมชาติ ก็ดำรงอยู่ดำเนินไป ด้วยกฎธรรมชาติ เป็นเรื่องของธรรม
ส่วนสังคมมนุษย์ หรือเรียกเทียบเคียงว่าเป็นโลกมนุษย์ ก็ดำรงอยู่ดำเนินไป ด้วยกฎมนุษย์ เป็นเรื่องของวินัย

ก็มี ๒ อย่างนี้แหละที่สำคัญเป็นหลักใหญ่ แต่ถ้าเห็นแค่นั้น ก็จะมองข้าม "จริยะ" ไป ดูคล้ายว่าจะไม่ค่อยสำคัญ

แต่แท้ที่จริง จริยะ/จริยธรรมนั้น สำคัญมากที่เดียว เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนสำแดงธรรมนั้น มิได้ทรงสอนเพียงธรรมที่เป็นสภาวะ หรือ ความจริงของธรรมดาเท่านั้น แต่ทรงสอนธรรมที่เป็นภาคจริยะควบคู่กันไปเลยทีเดียว

ทำไม จึงเป็นเช่นนั้น นั่นก็คือพิสัยอันพิเศษของมนุษย์อีกด้านหนึ่งที่ว่าใน ฐานะเป็นสัตว์ที่ ประเสริฐเลิศได้ด้วยการฝึก เขาสามารถเอาจริยะมาเป็นเครื่องช่วยในการที่จะ ศึกษาพัฒนาตัวเองขึ้นไป (แม้แต่ในการปฏิบัติตามบัญญัติ) ให้มีปัญญาแจ่ม แจ้ง และมีเจตนาที่ดีจริง จนเข้าถึงธรรม ทั้งรู้แจ้งสภาวะ และมีจริยะอย่างเป็นปกติของเขาเอง

สำหรับบุคคลผู้เช่นนี้ ชีวิตดีงามที่พึงประสงค์ ไม่ต้องพึงพาขึ้นต่อบัญญัติ โดยที่บัญญัตินั้นทั้งไม่ เป็นเครื่องบังคับให้เขาต้องปฏิบัติ และทั้งเขาปฏิบัติได้ตามเจตนารมณ์ของ บัญญัติโดยไม่ต้องมีบัญญัติ ถ้าบัญญัติที่เป็นกฎของมนุษย์จะมีความ สำคัญ ก็ในฐานะเป็นเครื่องหมายรู้ร่วมกันในการดำเนินชีวิตและทำกิจการของ สังคมให้ บรรลุผลตามความมุ่งหมาย

ระหว่างทางก่อนถึงจุดหมาย จริยะเป็นเครื่องคุ้มครองช่วยให้การรักษาปฏิบัติตามบัญญัติดำเนินไปได้อย่างมั่นคง และเป็นเครื่องช่วยให้บัญญัติมีความหมายที่แท้จริง และบรรลุจุดหมายได้จริง

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2016, 19:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ฟังท่านอธิบายความหมาย จริยะ/จริยธรรมเสริมความเข้าใจหน่อยก่อนไปต่อ

อ้างคำพูด:
จริยะ/จริยธรรม ถึง ศีล-สมาธิ-ปัญญา โดยพระพรหมคุณาภรณ์ ป.อ ปยุตฺโต

https://www.youtube.com/watch?v=OjVyjfhnNgs

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2016, 05:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เน้นย้ำความหมาย "จริยะ/จริยธรรม" ระหว่างของพุทธ กับ ที่พูดๆกันในปัจจุบัน

ถ้ายังมองความหมายของจริยธรรมกันไม่ชัด ระบบนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ จะรวนเร

งานของผู้พิพากษา ว่าโดยทั่วไป ก็คือตัดสินคดีเกี่ยวกับความประพฤติของมนุษย์ เรื่องที่คนทำและพูด เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะตัดสินได้ดี มีความมั่นใจที่สุด และทำประโยชน์ให้แก่มนุษยชาติได้สูงสุด ผู้พิพากษาก็น่าจะเป็นผู้มีเจนจบในเรื่องที่เรียกกันว่า จริยธรรม

ในตอนก่อน ได้บอกแจ้งขอให้ตระหนักไว้ เพื่อป้องกันความสับสนว่า จริยธรรม ในที่ นี้ มิใช่มีความหมายอย่างคำว่า "จริยธรรม" ที่ใช้และเข้าใจกันทั่วไป ในปัจจุบัน และบอกไว้ด้วยว่าจะอธิบายเหตุผลข้างหน้า ตอนนี้ก็ถึงเวลาที่ จะทำความเข้าใจในเรื่องนี้

ตัวจริยะ/จริยธรรมที่ แท้ ได้พูดไปข้างต้นในก่อนแล้ว ในตอนนี้ ต้องการแยกจริยะแท้นั้นออกไปจากความอย่างอื่นที่อาจจะทำให้เข้าใจสับสน แต่จะพยายามพูดให้น้อย

การที่แยกมาทำความเข้าใจต่างหาก ก็เพื่อให้เห็นความแตกต่างเด่นชัด และช่วยป้องกันความสับสนได้ดียิ่งขึ้น

"จริยธรรม" ที่พูดแล้วก่อนหน้า เป็น "จริยะ" ในระบบของธรรม ในสายความคิดของพระพุทธศาสนา ที่ถือได้ว่าเป็นเจ้าของศัพท์มาแต่เดิม

ส่วน "จริยธรรม" ที่พูดกันในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ใหม่ไม่นาน ในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมานี้ และถ้าดูจากที่มาที่ไปและความเป็นมาเป็นไปของคำว่า "จริยธรรม" นั้นเอง ก็จะ มองเห็นได้ว่าเป็นคำ ที่คลุมเครือ มีความหมายไม่ชัดเจนตลอดมา

แม้จนบัดนี้ ในเมืองไทยเรายังพยายามหาทางลงตัวกับการให้ความหมายแก่คำว่า "จริยธรรม" (พยายามจนกระทั่งไปๆมาๆ ความหมายอาจจะแปลกไปจากคำฝรั่งเดิม ซึ่งเป็นต้นศัพท์ที่เราเอามาบัญญัติเป็นจริยธรรมนี้)

ความรู้เข้าใจและความคิดของสังคมไทยที่คืบคลานมาในการให้ความหมายและการใช้ คำศัพท์ที่สำคัญอย่างคำว่า จริยธรรม นี้ เป็นเรื่องที่น่าศึกษา

ที่ว่า "จริยธรรม" เป็น คำเกิดใหม่เมื่อ ๔๐-๕๐ ปีมานี้ ก็คือ มันเกิดขึ้นมาในฐานะเป็นคำศัพท์บัญญัติ เพื่อใช้แสดง ความหมายของคำฝรั่งว่า "ethic" (ถ้าเป็น ethics ก็แปลเป็นศัพท์บัญญัติในวิชาปรัชญาว่า จริยศาสตร์ และในวิชา รัฐศาสตร์ว่า จริยธรรม จริยศาสตร์ หรือ บางทีก็ตรงกับคำว่า code of conduct ที่เราแปลว่า จรรยาบรรณ)

เมื่อเป็นศัพท์บัญญัติสำหรับคำฝรั่ง เราก็ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า จริยธรรมนั้น ตามความหมายของคำที่เป็นต้นบัญญัติของมัน คือ ต้องเข้า ใจความหมายของคำว่า "จริยธรรม" ตามความหมายของคำฝรั่งว่า "ethic" นั้น ตรงนี้สำคัญ เป็นเรื่องตรงไปตรงมา

เพราะฉะนั้น ถ้าต้องการทราบว่า จริยธรรม หรือ ethic คืออะไร ก็ไปเปิดดูใน dictionary หรือ ใน encyclopedia ของฝรั่ง

อย่างไรก็ตาม พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ในฐานะมีหน้าที่บอกความหมายของถ้อยคำ ที่ใช้กันอันเป็นที่ยอมรับใน ภาษาไทย ได้แสดงความหมายของ "จริยธรรม" ว่า "ธรรมที่เป็นข้อประพฤติ ปฏิบัติ, ศีลธรรม, กฎศีลธรรม

ตามความหมาย พจนานุกรม บอกไว้นี้ จริยธรรมก็มีความหมายเหมือน กับ "ศีลธรรม" ที่เราใช้กันมาในสังคมไทยนานแล้วก่อนจะมีคำบัญญัติว่า จริยธรรม นี้

ยิ่งเมื่อไปเทียบกับตำราฝรั่ง ก็ให้ความหมายของศีลธรรม และจริยธรรม moral และ ethic ปนเปกันไปจนแทบจะเป็นอย่างเดียวกัน

แต่ที่สำคัญก็คือ ที่พูดกันอยู่ทั่วไปนั้น ความหมายของคำเหล่านี้ ตัว ผู้พูดเองก็คลุมเครือ บางทีก็พูดไปอย่างนั้นเอง คล้ายเป็นคำ โก้หน่อยๆ ตัวคนพูดก็ไม่ชัด คนฟังก็พร่าๆ

พอมองเข้าไปในวงวิชาการ ก็เห็นชัดว่าความพร่ามัวคลุมเครือนั้นปรากฏออกมา ในการเถียงกันของนักวิชาการ เอง ที่ยุติไม่ได้ เช่น ว่า จริยธรรม (ethic) กับ ศีลธรรม ต่างกันหรือเหมือนกัน จะเอา อย่างไรกันแน่ และถ้าต่างกันแล้ว ต่างกันอย่างไร

แง่ที่ทำให้ปัญหาซับซ้อนหนักขึ้นไปอีก ก็ คือ เราจะบัญญัติศัพท์ขึ้นมา ใหม่สำหรับคำฝรั่งว่า "ethic" แต่เราพยายามไปหาคำเก่าในภาษาบาลีมา ใช้ และคำที่สำเร็จขึ้นมาคือ "จริยธรรม" นี้ ก็เป็นคำก้ำกึ่ง

ที่ว่าก้ำกึ่ง คือ เราไปเอาคำจากภาษาบาลี ๒ คำมาจับต่อกันเพื่อมา ใช้ใน ความหมายใหม่ที่เราต้องการ (ให้ตรงกับฝรั่ง) แต่ในคำที่จับเอามารวมกัน นั้น ศัพท์ที่เป็นตัวยืน (จริย) มีความหมายทางวิชาการของมันอยู่ แล้ว ซึ่งเทียบกับความหมายใหม่ที่ต้องการได้ในบางแง่ แต่ไม่ตรงกัน จริง ส่วนอีกคำหนึ่ง (ธรรม) ที่เอามารวมเข้า ก็เป็นคำกว้างๆที่ไม่ ช่วยแยกความหมายออกไป แล้วแทนที่จะบอกให้ชัดไปเลยว่า ที่เราเอามาใช้นี้ เป็นเรื่องต่างหาก และต่างออกไป แต่เรากลับใช้แบบปนเปกัน ก็จึงทำให้ เกิดความสับสนมากขึ้น

ถ้าจับหลักไม่ได้ แล้วไปค้นหาที่ไปที่มาในภาษาบาลี พอไปเจอคำ ว่า "จริยธรรม" ในคำว่า "ภิกขาจริยธรรม" (บาลีเป็น "ภิกฺขาจริยธมฺมํ" แปลว่า ธรรมคือภิกขาจริยา หรือ ภิกขาจาร ได้แก่ การเที่ยวไปเพื่ออาหาร คือการเที่ยวขอ อาหาร - เช่น ธ.อ.๖/๓๒) ก็คงยิ่งงงกันใหญ่

หันกลับไปดูความสับสนที่พูดถึงเมื่อกี้ (คำว่า บางท่าน ที่จะพูดต่อไป นี้ รวมทั้งบางสถาบัน หรือบางหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วย)

ในระยะไม่นานมานี้ จนถึงขณะนี้ มีบางท่านในวงวิชาการ บอกว่า "จริยธรรม" กับ "ศีลธรรม" มีความหมายไม่เหมือนกัน

ทีนี้ ท่านที่ว่า จริยธรรม กับ ศีลธรรม ต่างกันนั้น ก็ไม่ลงกัน อีก บางท่านว่า จริยธรรม มีความหมายกว้างกว่า ศีลธรรม หมายถึงกฎเกณฑ์สำหรับประพฤติปฏิบัติทั่วไป แต่ศีลธรรมหมาย ถึง หลักสำหรับประพฤติดีประพฤติชอบ หรือความประพฤติปฏิบัติที่ประกอบ ด้วยคุณความดี

ส่วนบางท่านก็ว่า ศีลธรรม มี ความ หมายกว้างกว่าจริยธรรม ดูง่ายๆ ในพจนานุกรม ฉบับราช บัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของคำว่า "ศีลธรรม" ว่า "ความประพฤติที่ดีที่ ชอบ, ศีลและธรรม, ธรรมในระดับศีล" เมื่อพูดว่า ศีลและธรรม ก็ย่อมคลุมหมด

ที่ชัดแน่ก็คือ เมื่อคน ไทยยังไม่มี (คำว่า) "จริยธรรม" ดังเช่นเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ คนไทยทั่วไปไม่รู้จัก (คำว่า) "จริยธรรม" (คำว่า) "จริยธรรม" ยังไม่เข้าไปใน โรงเรียน หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการมีวิชาศีลธรรม (แม้ถึง พ.ศ.๒๕๑๑ ก็ยังมีวิชาศีลธรรม) และ ศีลธรรมนั้นก็รวมทั้งคุณธรรม ด้วย ต่างจากเวลานี้ ที่จริยธรรมไม่รวมคุณธรรม ต้องพูดแยกกัน ว่า "คุณธรรม และจริยธรรม" ศีลธรรม จึงมีความหมายกว้างกว่าจริยธรรม

เวลานี้ เมื่อมีคำว่า "จริยธรรม" ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องพยายามแยกความ หมายออกไปทุกคำว่า "คุณธรรม" "จริยธรรม" และ "ศีลธรรม" ต่างกัน อย่างไร (ดูเหมือนว่า ขณะที่เรายังยุ่งอยู่กับการแยก ความหมายของถ้อย คำ คนและสังคมก็ทรุดลงไปในทุกธรรม อย่างน้อย ศีลธรรมก็ทำท่าจะหมดไป)

บาง ท่านว่า "จริยธรรม" หมายถึงหลักความประพฤติที่พึงทีพึงปฏิบัติทั่ว ไป ส่วน "ศีลธรรม" หมายถึงหลักความประพฤติที่เป็นคำสอนของ ศาสนา หรือจริยธรรมที่มาจากศาสนา

(แถมยังเอาคำฝรั่ง มาสนับสนุนด้วย ว่า จริยธรรม คือ ethic ส่วน ศีลธรรม คือ moral และ ว่า moral เป็นหลักความประพฤติตามคำสอนของศาสนา แต่ถ้าเราไปดูคำ อธิบายของฝรั่งเอง พอพูดถึง ethic ก็อธิบายด้วย moral พอพูด ถึง moral ก็ว่าคือ ethical มิฉะนั้น ก็ต้องออกไปที่คำพื้นๆ ว่า เป็นเรื่องของ right conduct ไม่ไปไหน)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2016, 08:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ข้ามมานี่เลย

ไปให้ถึงจริย (ธรรม) แท้ที่เป็นระบบชัดเจน จึงจะเห็นความเป็นจริงของชีวิตและสังคมที่ดีงาม

มาถึงตอนนี้ ความคลุมเครือสับสนเกี่ยวกับถ้อยคำสำคัญบางคำคงจะคลายลงไปแล้ว ถ้าไม่หมด ก็คงไม่น้อย คราวนี้ เราก็สามารถผ่านคำว่า "จริยธรรม" ไปได้ และลงลึกไปให้ถึงตัวจริง คือ "จริย" (เขียนอย่างไทยเป็น จริยะ)

จริยะในแง่ที่สำคัญคือ ในฐานะที่เป็นองค์หนึ่งใน ระบบ ๓ ของธรรม คือ สภาวะ-จริยะ-บัญญัติ (สภาวธรรม จริยธรรม บัญญัติธรรม) ในแง่นั้นพูดไปแล้ว

แต่ยังมีอีกแง่หนึ่งซึ่ง สำคัญไม่น้อยกว่านั้น คือแง่เฉพาะตัวของจริยะ ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในตัวของมันเอง จึงจะพูดเรื่องระบบของจริยะนี้ ต่อไป

จริยะ คือ อะไร ? จริยะมาจาก “จร” (อ่านอย่างภาษาบาลีว่า “จะระ” อ่านอย่างไทยว่า “จอน”)

จร ก็คือ เดิน เดินทาง หรือเที่ยวไป เช่น สัญจร คือเดินกันผ่านไปมา จราจร คือเดินไปเดินมา หรือเที่ยวไปเที่ยวมา พเนจร คือเดินป่าหรือเที่ยวไปในป่า (ในภาษาไทย กลายเป็นเที่ยวเรื่อยเปื่อยไปอย่างไร้จุดหมาย)

ทีนี้ “จร” หรือเดินทางนั้น เมื่อเอามาใช้ทางนามธรรม กลายเป็นเดินทางชีวิต อย่างที่นิยมพูดว่า “ดำเนินชีวิต”

คนแต่ละคนก็ดำเนินชีวิตของตนไป แล้วการดำเนินชีวิตของคนเหล่านั้น ก็ไปรวมกันเป็นสังคม เมื่อมองดูผิวเผินแค่ภายนอก ก็กลายเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต และระบบของการเป็นอยู่ ประพฤติปฏิบัติของหมู่มนุษย์ ที่เรียกว่า สังคม

แต่มองแค่นั้น ก็ผิวเผินเกินไป ไม่เพียงพอ ต้องดูให้ลึกลงไปอีก การดำเนินชีวิตของคนเรานี้ อยู่แค่ที่แสดงออกมาเห็นๆกันเท่านั้นหรือ ไม่ใช่แน่

การดำเนินชีวิตของคนหนึ่งๆ ที่เรามองเห็น และที่คนอื่นเกี่ยวข้องด้วย คือการแสดงออกทางกาย และวาจา ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามักเรียกว่าความประพฤติ อันเป็นด้านนอกแหงการดำเนินชีวิตของเขา เรามักมองคนแค่นี้ (และที่เรียก "จริยธรรม" ก็มักจับเอาความหมายแค่นี้)

ถ้าเรามองคนแค่นี้ เราจะไม่เห็นตัวจริงของคนนั้นเลย ความประพฤติ หรือการแสดงออกภายนอกทางกาย และวาจา ไม่ใช่ชีวิตทั้งหมดที่เขาดำเนินอยู่ ก็อย่างที่ว่าแล้ว มันเป็นเพียงด้านภายนอกของการดำเนินชีวิตของเขาเท่านั้น

ลึกลงไป เบื้องหลังการพูดและทำอะไรต่างๆ ที่เราประพฤติหรือแสดงออกมาข้างนอกนั้น มีตัวชี้นำที่กำหนดหรือสั่งการออกมาข้างในจิตใจ ตัวชี้นำกำหนดหรือสั่งการนี้ เราเรียกว่า “เจตนา”

ทางพระบอกว่า ถ้าไม่มีเจตนานี้ การแสดงออกของคน ก็ไม่มีความหมายอะไร จะมีค่าเพียงแค่เหมือนกิ่งไม้ผุหักหล่นลงมา หรือต้นไม้ต้องลมสั่นไหวแล้วใบไม้ร่วง เท่านั้นเอง ดังนั้น เจตนาจึงสำคัญอย่างยิ่ง

เจตนา จะตัดสินใจสั่งการอย่างไร ก็มีแรงจูงใจที่ร้ายหรือดีคอยกระซิบบอก อย่างง่ายๆ ก็คือสั่งการไปตามที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจ

แต่บางทีการตัดสินใจที่จะสั่งการนี้ ก็เป็นไปอย่างซับซ้อน เจตนาจึงมีกองบัญชาการทำงานให้มัน โดยมีตัวทำงานอยู่ในจิตใจมากมาย รวมแล้วก็คือ มีฝ่ายดี กับ ฝ่ายร้าย

ในฝ่ายร้าย มีตัวเด่นคือ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนในฝ่ายดีก็มีมาก เช่น ศรัทธา เมตตา หิริ โอตตัปปะ ซึ่งเรานิยมเรียกกว้างๆ ว่า คุณธรรม

ตัวทำงานเหล่านี้ ส่งข้อเสนอแนะในการสังการให้แก่เจตนานั้น ถ้าตัวใดมีกำลังมาก ก็จะมีอิทธิพลครอบงำการสั่งการของเจตนาเลยทีเดียว

ในกองบัญชาการของจิตใจนี้ ยังมีฝ่ายกำลังสนับสนุน เช่น ความขยัน ความเพียร ความอดทน ความกล้าหาญ ความเข้มแข็งมั่นคง คอยรับสนองงาน ที่จะขับเคลื่อนให้งานสำเร็จตามต้องการ เป็นสมมรรถภาพของจิตใจ

แล้วก็มีฝ่ายแสดงผล - วัดผล คอย ตามกำกับอยู่ตลอดเวลา ว่าอันไหน ทางไหน รับได้หรือไม่ได้ เช่น ความขุ่นมัว ความเครียด ความเศร้า ความหดหู่ ความหงอยเหงา ความว้าเหว่ หรือความสดชื่น ความร่าเริง ความเบิกบาน ความผ่องใส ความอิ่มใจ ความปลื้มใจ ความสุข เป็นต้น รวมแล้วก็เป็นฝ่ายสุข ที่ตามหา กับ ฝ่ายทุกข์ ที่จะให้ดับหาย

อย่างไรก็ตาม การ ตัดสินใจสั่งการ และการทำงานของกองบัญชาการในจิตใจทั้ง หมดนั้น ต้องพึ่งพาข้อมูลความรู้ อาศัยความเข้าใจ และการมองเห็น เหตุผล เท่าที่จะมีปัญญารู้ไปถึง

ปัญญารู้เข้าใจมองเห็นแค่ ไหน เจตนาก็สั่งการให้กายวาจามีพฤติกรรมคืบเคลื่อนไปได้ภายในขอบเขตแค่นั้น ถ้าปัญญารู้เข้าใจมองเห็นกว้างไกลออกไป ลึกลงไป มองเห็นช่องทางและโอกาสมากขึ้น เจตนาก็สั่งการให้กายวาจาปรับขยายรูปแบบของพฤติกรรมออกไปช่วยให้ทำการได้ซับ ซ้อนยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้ผล มีทางสำเร็จมากขึ้น

ถ้าขาดความรู้ อับไร้ปัญญาเสียแล้ว พฤติกรรมก็ติดตัน ขัดข้อง จิตใจก็อึดอัด อับจน เครียด เป็นทุกข์ ดังนั้น ปัญญาทีรู้เข้าใจนี้ จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการบอกทิศ ชี้ช่อง นำทาง ขยายโอกาส ตลอดจนปลดปล่อยให้อิสรภาพ แก่พฤติกรรม และแก่จิตใจที่มีเจตนาเป็นหัวหน้างานนั้น

ที่ว่ามานี้ ก็คือระบบการดำเนินชีวิตของคน ที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเป็นไปอยู่ตามที่เป็นอยู่จริง ซึ่งเห็นได้ชัดว่า สรุปแล้วมี ๓ แดน ทำงานประสานก้าวไปด้วยกัน ต้องครบทั้ง ๓ แดน จะขาดแดนหนึ่งแดนใดมิได้

สรุปว่า “จริยะ” คือการดำเนินชีวิตของคน เป็นระบบอันหนึ่ง ที่มีองค์ประกอบ ๓ แดน (จะเรียกว่าด้าน หรือส่วน ก็ได้) คือ

๑. แดนพฤติกรรม (กาย-วาจา) ที่แสดงออก ติดต่อสัมพันธ์ และกระทำต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

๒. แดนจิตใจ ที่เป็นเหมือนเจ้าของพฤติกรรมทั้งหมด ตั้งแต่เป็นผู้ต้องการ บงการหรือสั่งการ ขับเคลื่อน ตลอดจนเสวยผลของพฤติกรรมทั้งหมดนั้น โดยมีตัวประกอบที่ร่วมในการทำงานแต่ง สรรมากมาย ภายใต้การนำของเจตนา ที่เป็นทั้งหัวหน้า และเป็นตัวแทน ที่ทำงานเชื่อมต่อสั่งการออกมาให้มีผลเป็นพฤติกรรมออกไป ทั้งนี้ ตัวประกอบที่ทำงานนั้น แยกได้เป็น ๓ แดน คือ

- ตัวแต่งสรรฝ่ายดี กับฝ่ายร้าย ที่พึงคัดเอาไว้แต่ฝ่ายดี ซึ่งมักเรียกกันแบบรวมๆง่ายๆว่า “คุณธรรม” หรือ “คุณภาพจิต”

- ตัวทำงานที่ทำให้ก้าวไปอย่างแน่วแน่เข้มแข็งมั่นคง เรียกพอรู้กันว่า “สมรรถภาพจิต”

- ตัวแสดงผล ซึ่งเหมือนกับวัดผลไปในตัว เพราะ จะมีอิทธิพลในการที่จะเลือกพฤติกรรมว่าจะ ทำจะเอาหรือไม่ คือฝ่ายสุข กับ ฝ่ายทุกข์ โดยจะมุ่งไปหาไปพบฝ่ายสุข ที่เรียกพอรู้กันว่า “สุขภาพจิต”

๓. แดนปัญญา ที่เอื้ออำนวยข้อมูล ชี้ช่อง ส่องทาง บอกทิศขยายขอบเขตและโอกาส ปรับแก้ ตลอดจนปล่อยให้เกิดอิสรภาพ แก่พฤติกรรมและจิตใจ

นี่คือ “จริยะ” หรือระบบการดำเนินชีวิตของคน ซึ่งประกอบด้วยทั้งกาย-วาจา ทั้งใจ ทั้งปัญญา ถ้าไม่ครบ ๓ อย่างนี้ ชีวิตจะดำเนินไปไม่ได้ แต่ ที่จริงก็คือ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ แต่เรานี่แหละ ถ้ามองและปฏิบัติจัดการกับมันไม่ครบส่วน ไม่ครบด้าน เราก็ทำการที่มุ่งหมายไม่สำเร็จ และจะเกิดปัญหาแก่ตัวเอง

อนึ่ง จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตของคน ที่พูดไปแล้วนี้ ว่าไปตามธรรมชาติของมัน ตอนนี้ ยังไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี หรือควรและไม่ควรอย่างไร

ทีนี้มาถึงตอนที่ว่า เราต้องการมีจริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตที่ดี ในเมื่อ จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิต เป็นคำกลางๆ จะให้ดี หรือไม่ดี ก็เติมคุณศัพท์เข้าไปข้างหน้า

ถ้าเป็นจริยะคือการดำเนินชีวิตที่ดี ก็เป็นปุญญจริยะ หรือธรรมจริยะ หรือเศรษฐจริยะ ถ้าเป็นจริยะคือการดำเนินชีวิตที่ไม่ดี ก็เป็นปาปจริยะ หรืออธรรมจริยะ

ในที่นี้ เรามุ่งเอาจริยะคือการดำเนินชีวิตที่ดี ก็เป็นปุญญจริยะ หรือธรรมจริยะ หรือเศรษฐจริยะ ซึ่งในพระพุทธศาสนามีคำเฉพาะ เรียกไว้ว่า "พรหมจริยะ" ว่า แปลว่า จริยะอันประเสริฐ หรือจริยะที่แท้ ก็คือจริยะหรือการดำเนินชีวิต ซึ่งชีวิตทั้ง ๓ ด้านที่พูดไปแล้วนั้น ดี และประสานกันอย่างถูกต้อง

การที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงสั่งสอนธรรมตลอดเวลา ๔๕ ปี ที่เรียกว่าประกาศพระศาสนานั้น ก็คือทรงประกาศพรหมจริยะนี่แหละ (ประกาศพระศาสนา เป็นคำพูดของเรา แต่พระพุทธเจ้าเองตรัสว่า พระองค์ ประกาศพรหมจริยะ)

เอาเถิด เมื่อมีการบัญญัติศัพท์ใหม่ว่า "จริยธรรม" ขึ้นมาแล้ว แต่มีความหมายก้ำกึ่งกัน จะตรงกันก็ไม่ตรงจริง จะต่างกันก็ไม่ต่างให้ไกลไปเสียเลย เราก็มาตกลงหรือทำความเข้าใจกันให้ชัดเสียว่า

จริยธรรม ในความหมายที่เป็นศัพท์บัญญัติใหม่ ซึ่งถือตามความหมายของคำฝรั่ง คือ ethic

ส่วน จริยธรรม ในความหมายของพุทธธรรม ได้แก่ จริยะ คือธรรม การดำเนินชีวิตถูกต้องดีงาม ซึ่งมีองค์ประกอบประสานสัมพันธ์กันทั้ง ๓ ด้าน (ทั้งกาย วาจา จิตใจ และปัญญา) ที่มีชื่อเดิมว่า “พรหมจริยะ” นี้

เมื่อได้ทำความเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะเห็นชัดว่า สาระทั้งหมดในชีวิตของมนุษย์ ขยายไปถึงสังคม ที่จะเป็นอยู่กันอย่างถูกต้องดีงามเป็นสุข ก็คือ “จริยธรรม” ในความหมายที่เป็นพรหมจริยะนี่แหละ

พร้อมกันนั้น การจัดการกับชีวิตทั้ง ๓ ด้านดังว่านั่น โดย ฝึกหัดพัฒนาปรับแก้ให้คนดำเนินชีวิตได้ดียิ่งขึ้นไปๆ จนมีชีวิตที่ดี งาม เป็นประโยชน์มีความสุขอย่างสมบูรณ์ ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “การศึกษา” (คำพระเรียกการศึกษานี้ ในฐานะมีองค์ประกอบ ๓ ด้านว่า ไตรสิกขา)

ถ้าเราถือหลักตามความหมายของพระพุทธศาสนา ก็จะเห็นว่า สาระหรือแกนของอารยธรรมมนุษย์ ก็มีเพียงการดำเนินชีวิตและสังคมให้ดีด้วยจริยธรรม (พรหมจริยะ) และ พัฒนาคนให้ดำเนินชีวิต และสังคมให้ดีจนมีพรหมจริยะอย่างนั้นด้วยการศึกษา (ไตรสิกขา)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2016, 08:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอสรุปอีกทีว่า จริยะ คือระบบการดำเนินชีวิตของเรานี้ มีส่วนประกอบ อยู่ ๓ ด้าน ซึ่งประสานกลมกลืนไปด้วยกัน แยกจากกันไม่ได้ คือ

๑. แดนพฤติกรรม หรือแดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่ดำเนินไป ด้วย กายและวาจา (พร้อมทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท ที่รับรู้โลกภายนอก)

๒. แดนจิตใจ ที่ดำเนินไปด้วยเจตนา โดยมีคุณสมบัติมากมาย ใน จิต ใจหล่อเลี้ยง สนองงาน และเสวยผล มีทั้งด้านเครื่องปรุงแต่งให้ดีหรือ ชั่ว ด้านกำลังความสามารถ และด้านความสุขความทุกข์

๓. แดนปัญญา ที่ดำเนินไปด้วยความรู้ ซึ่งเอื้อให้เจตนาในแดนแห่งจิตใจสามารถคิดหมายทำการต่างๆ ได้สำเร็จผล ให้ชีวิตเข้าถึงอิสรภาพได้

ครบหมดทั้ง ๓ แดนนี้ ดำเนินหรือเป็นอยู่เป็นไปด้วยกัน เรียก ว่า จริยะ และทั้งนี้ก็ควรให้มันเป็น จริยะที่ดีประเสริฐ เต็ม ตัว เป็นของแท้ (พรหมจริยะ)

เพื่อให้เป็นจริยะที่ดีงามประเสริฐดัง ที่ว่ามานี้ เราจะต้องจัดการกับชีวิตทั้ง ๓ แดนนั้น โดยฝึกหัดพัฒนา แก้ไขปรับปรุงให้ชีวิตดำเนินไปได้ดียิ่งขึ้นไปๆ จนมีชีวิตที่ดีงามเป็น ประโยชน์มีความเป็นอิสระอย่างสมบูรณ์

การฝึกหัดพัฒนาชีวิตทั้ง ๓ แดนที่ว่า นั้น เรียกว่า การศึกษา ซึ่งมี ๓ ส่วน ตรงกับ ๓ แดนนั้น คือ

๑. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนพฤติกรรม หรือ แดนสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม โดยฝึกหัดกาย - วาจา (พร้อมทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กายประสาท ที่รับรู้โลกภาย นอก) เรียกว่า ศีล (ชื่อเต็มว่า อธิศีลสิกขา)

๒. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนจิตใจ โดย พัฒนาเจตนาให้เจริญในกุศลยิ่งๆขึ้นไป พร้อมทั้งมีคามเข้มแข็งสามารถ และ ศักยภาพที่จะมีความสุข จนไร้ทุกข์สิ้นเชิง เรียกว่า สมาธิ (ชื่อ เต็มว่า อธิจิตตสิกขา)

๓. ฝึกศึกษาพัฒนาแดนปัญญา โดย พัฒนาความรู้ความรู้เข้าใจจนเข้าถึงรู้ทันเห็นประจักษ์แจ้งความจริงของ สิ่งทั้งหลาย มีชีวิตที่เป็นอิสระและเป็นอยู่ด้วยปัญญา เรียก ว่า ปัญญา (ชื่อเต็มว่า อธิปัญญาสิกขา)

ในฐานะที่การศึกษานี้มีองค์ประกอบ ๓ อย่าง จึงเรียกว่า ไตรสิกขา

พระพุทธศาสนาถือเรื่องการศึกษาเป็นสำคัญ ถึงกับจัดระบบของพระพุทธศาสนาทั้งหมด ให้เป็นระบบการศึกษา ที่เรียกว่าไตรสิกขานี้

ทั้งนี้ สาระสำคัญในที่สุดก็คือ เพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงแล้ว ก็ ปฏิบัติตามหลักความจริง หรือตามกฎความจริงนั้น ให้ความจริงเป็นไปในทาง ที่เกิดผลดี แก่ชีวิตและสังคมของตน

เมื่อพัฒนาชีวิตด้วยไตรสิกขานี้แล้ว ก็จะมีจริยะ คือการดำเนินชีวิตเป็นอยู่ ทั้งส่วนตัว และขยายไปถึงสังคม ที่อยู่กันอย่างถูกต้องดีงาม มีสันติสุขที่ยั่งยืน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 เม.ย. 2016, 22:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าปัญญาสมบูรณ์จริง ก็ไม่ต้องห่วงเจตนา แต่ก่อนจะอยู่ได้ด้วยปัญญา เจตนาพามนุษย์ยุ่งนุงนังด้วยปัญหา

ย้อนกลับมาที่เรื่องปัญญา กับ เจตนา ที่ว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก แง่ที่สำคัญ ซึ่งเราพิจารณาในตอนนี้ คือการที่มันเป็นตัวเชื่อมคน กับ ธรรมชาติ


ด้านหนึ่ง คือ ความจริงที่เป็นอยู่ตามธรรมดาหรือเรื่องของธรรมชาติ ที่ท่านว่าเอาแค่รู้ตามที่มันเป็น ขั้นแรกนี้ จุดที่สำคัญมากอยู่ตรงที่ว่า ต้องรู้ตามที่มันเป็นให้ได้ก็แล้วกัน นี่คือเรื่องของปัญญาขั้นที่ ๑ ซึ่งรู้สภาวะตามที่มันเป็น หรือปัญญาที่รู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติ

จากนั้น ปัญญาขั้นต่อมา เป็นขั้นที่ ๒ คือความรู้ว่า ชีวิตที่จะดี สังคมที่จะดีนั้น มันควรจะเป็นอย่างไร และจะเป็นได้อย่างไร

เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจมองเห็นแล้ว เราก็จัดการตามที่รู้หรือตามความรู้นั้น นี่ก็คือถึงตอนที่จะตั้งเจตนา เราก็ตั้งเจตนาให้สอดคล้อง กับ ปัญญาที่รู้นั่นเอง นี่คือเราเอาความรู้ของปัญญาที่เข้าถึงความจริงของธรรมชาติมาใช้ โดยเราตั้งเจตนาที่จะสนองความต้องการของมนุษย์ให้สอดคล้องกับปัญญาที่รู้ ความจริงของธรรมชาติ

นี่แหละคือ ปัญญา กับ เจตนา ได้มาเป็นตัวเชื่อมคน กับ ธรรมชาติ

ข้อสำคัญในตอนนี้ก็คือ ต้องให้เป็นเจตนาที่ดีงามบริสุทธิ์ ตั้งให้ตรงตามที่ปัญญารู้ว่าเป็นความจริงความดีงามถูกต้อง จึงจะเรียกได้ว่ามีจุดหมายที่ดี แล้วก็อาศัยปัญญานั้น นำเอาความรู้ในความจริงมาใช้ในการจัดตั้งวางระเบียบแบบแผน กฎ กติกา ที่เป็นบัญญัติในสังคมมนุษย์อันจะให้เกิดผลดีขึ้นมา

นี่คือเรื่องของนิติบัญญัติ ซึ่งถ้าทำได้อย่างนี้ คือมีปัญญาที่ใสสว่าง และมีเจตนาที่ใสสะอาด ก็เรียกว่ามีฐานะที่ดีที่สุดแล้ว

ต่อจากนั้น ฝ่ายบริหาร จะเป็นคณะรัฐมนตรี หรืออะไรก็แล้วแต่ก็มาเอานิติบัญญัตินี้ไปออกสู่ปฏิบัติการ โดยบริหารดำเนินการให้เป็นไปตามนั้น

ฝ่ายบริหารนั้น ก็ต้องมีปัญญาที่ใสสว่าง และมีเจตนที่ใสสะอาดอีกเช่นกัน

ด้านแรกก็มีปัญญาที่รู้ความจริง มองเห็นความเป็นไปในสังคมว่ามันเสื่อม มันเจริญ หรือเป็นอย่างไร เข้าใจชีวิต เข้าใจสังคมมนุษย์ หยั่งถึงความจริงของธรรมชาติ รู้เท่าทันทั่วตลอดทั้งหมด

พร้อมกับที่รู้เข้าใจชัดเจนนั้น ก็มีเจตนาที่ดี ซึ่งมุ่งหวังประโยชน์แก่ประเทศชาติและสังคม เห็นแก่ประโยชน์สุขของประชาชน อย่างที่ได้รู้กันมาเป็นหลักของประเทศไทย ที่ว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแบบอย่าง พอเสด็จขึ้นครองราชย์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็ประกาศว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม นี้คือการประกาศเจตนาอย่างชัดเจน

การปกครองต้องเพื่อจุดนี้ ต้องเพื่อสนองเจตนานี้ นักปกครอง ผู้บริหารประเทศชาติ ครม. ฯลฯ ต้องมีเจตนานี้ว่า "เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนขาวสยาม" อะไรทำนองนี้ จะต้องมีวิธีการหรือมาตรการที่จะให้มีการประกาศหรือตั้งเจตนาที่แน่นอน ชัดเจน ให้เห็นถึงการที่จะต้องมุ่งมั่นไปตามเจตนานี้

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีเจตนาดีเยี่ยม แต่ถ้าขาดปัญญา ก็อาจจะผิดพลาดโดยรู้ไม่เท่าถึงการณ์ จึงต้องปฏิบัติตามหลักที่ว่า ไม่ประมาท ปัญญา คือ ใช้และพัฒนาปัญญาไม่ว่างเว้น

แต่ปัญญาที่พบกันมากมักอยู่แค่ในขั้นที่ว่า คนจำนวนมากที่มาเป็นผู้บริหารนั้น พอจัดได้ว่าเป็นคนมีปัญญา แต่ไปบกพร่องด้านเจตนา คือ มีเจตนาไม่สะอาด มีจุดหมายซ่อนเร้นแอบแฝง กลายเป็นว่าที่แท้นั้น เขามุ่งมาหาทางสนองโลภะ จะมาเอามากอบโกยประโยชน์ส่วนตัว และสนองโทสะ คิดจะกลั่นแกล้งเบียดเบียนผู้อื่น หรือไม่ก็ลุ่มหลงอยู่ในโมหะ

เมื่อไรได้ทั้งมีเจตนาดีที่ใสสะอาด และมีปัญญาดีที่ใสสว่าง ก็มั่นใจได้ว่าจะเป็นนักบริหารที่ดี

ทีนี้ มาถึงตุลาการ ก็หลักการเดียวกันนั่นแหละ คือ ด้านที่ ๑ มีปัญญาที่รู้อย่างใสสว่าง เริ่มตั้งแต่รู้ชัดแจ้งในวิชาการขอตนเอง รวมทั้งรู้กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์ กติกา ทุกเรื่องที่เนื่องกันกับนิติบัญญัติ

แต่แค่นั้นไม่พอ ถ้าจะให้ได้ผลจริง ก็ต้องรู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย ที่รวมอยู่ในความรู้ธรรมชาติและธรรมดา เช่น รู้ ธรรมชาติของมนุษย์ รู้ธรรมชาติของสังคม รู้สภาพและความเป็นไปของสังคม รู้สภาพการณ์ของโลก รู้เท่าทันต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องและที่ส่งผลมาถึงกิจการหน้าที่ของ ตน ที่จริง ทุกอย่างที่เป็นความนั้น ล้วนเป็นองค์ประกอบที่ต้องรู้ ซึ่งจะมาเป็นส่วนช่วยในการทำงานได้ทั้งสิ้น นี่คือความรู้ให้เขาถึงความจริง คือปัญญา ซึ่งเป็นด้านที่ ๑

แล้วก็โดยเฉพาะ ที่แน่นอนก็คือต้องรู้ในเรื่องคดีที่จะพิจารณาตัดสินอย่างชัดเจน ถ้าขาดปัญญา ไม่รู้เรื่องชัดเจนพอ ก็มีโอกาสจะพลาดได้ง่าย ฉะนั้น ก็จึงได้มีมาตรการมากมายที่จะทำให้มั่นใจว่าจะได้ความจริงของเรื่องราวของ คดีความนั้นๆ ทั้งทางฝ่ายโจทก์ และฝ่ายจำเลย ต้องหาความจริงให้ได้ ตลอดจนจะต้องวางระบบแบบแผนกระบวนการดำเนินการที่จะให้ได้ความจริง ที่จะมาตัดสินให้ถูกต้อง

แล้วต่อไปก็คือ ความจริงในส่วนที่กว้างออกไปทั้งหมด ยิ่งรู้เข้าใจเท่าไรยิ่งดี รวมทั้งความจริงเกี่ยวกับชีวิตจิตใจของมนุษย์ เพราะทั้งโจทก์และจำเลยก็เป็นมนุษย์ มีจิตมีใจ มีสุข มีทุกข์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา ควรรู้เข้าใจทั้งนั้น ความรู้เหล่านี้ ถ้าปัญญารู้แล้ว ก็เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น

ขอให้มองไปที่พระพุทธเจ้า การ ที่ตรัสรู้นั้นก็ด้วยปัญญารู้สัจธรรม พอปัญญานั้นรู้ความจริงถึงที่ สุด รู้ธรรมชาติจริงแท้แล้ว ก็รู้เข้าใจเห็นความจริงของชีวิต พอเห็น ความจริงของชีวิต ก็รู้เข้าใจมนุษย์ และสังคมของมนุษย์ ใจก็ลงตัวกับมนุษย์และสังคม

เมื่อปัญญาทำหน้าที่ของมันจบบริบูรณ์ กิเลสก็หมดไปเอง พอปัญญาสว่างแจ้งจริง เจตนาก็ใสสะอาดไปเอง คือ ปัญญาทำให้จิตบริสุทธิ เป็นอิสระ ก็เลยไม่ต้องมีการตั้งเจตนา ไม่ต้องบอกว่ามีเจตนาดี

ทำไมไม่ต้องตั้งเจตนา ? พอจิตเป็นอิสระ คือกิเลสทั้งหลายที่ครอบงำชักนำจูงใจหมดไปแล้ว ไม่มีกิเลสที่ห่วงหวงเรื่องของตัว ที่จะกั้นจะขวางจะดึงจะรั้งจะบังจะบิดเบน พอมองไปเห็นผู้คนในสังคมเห็นชีวิต และสุขทุกข์ของเขา ใจก็ไหวไปตามความทุกข์ความเดือดร้อนของเขา นี่คือกรรุณาโผล่ขึ้นมา เหมือนกับว่ามันเป็นไปเอง แล้วกรุณานั้นก็ประสานกับปัญญาที่จะหาทางไปแก้ปัญหาทำให้คนพ้นทุกข์พ้นภัย เจตนามันก็ไปเองตามนั้น ไม่ต้องตั้งมันขึ้นมาอีก


เป็นอันว่า เมื่อมีปัญญารู้เข้าใจมองเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และเป็นมาเป็นไปอย่างนี้ รู้เข้าใจหมดทุกอย่างว่าสภาวะของมันเป็นอย่างไร การที่มันเสื่อมมันเจริญนั้นมันเป็นไปอย่างไร เข้าใจหมดแล้ว เมื่อปัญญารู้เข้าใจมองเห็นว่าอะไรเป็นอะไร และมันควรจะเป็นอย่างไรแล้ว ความรู้นั้นมันก็บอกก็นำทางไปเองว่า จะต้องตัดสินอย่างนี้ ต้องพูดต้องแนะนำอย่างนี้ ต้องจัดการอย่างนี้ มันก็ไปเอง

แต่สำหรับมนุษย์ปุถุชน กิเลสที่เป็นทางเลือกสองข้างยังอยู่ บางทีเจตนาก็ไม่ค่อยยอมมาเข้าคู่ประสานรวมเป็นอันเดียวกับปัญญา ซ้ำร้าย เมื่อปัญญายังไม่สมบูรณ์ กิเลสก็จะคอยกินแรง ถือโอกาสเอาผลความรู้ความคิดของปัญญาไปใช้ประโยชน์เสียอีกด้วย ก็จึงก็ต้องตั้งเจตนาให้เข้าคู่ที่จะสนองปัญญาให้ดี

ด้านปัญญา ก็ต้องตรวจสอบว่าใสสว่างรู้เข้าใจชัดแจ้งแน่หรือเปล่า แล้วก็สอง ด้านเจตนา ก็ต้องตรวจสอบว่าบริสุทธิ์ใสสะอาดดีแน่ไหม ปัญญาที่ใสสว่าง กับ เจตนาที่ใสสะอาด สองอย่างนี้ ต้องให้คู่เคียงกันไปให้ได้



เวลานี้ ต้องยอมรับว่า สังคมของเรามีปัญหาหนักทั้ง ๒ ด้าน ทั้งปัญญา และเจตนา และโดยเฉพาะเมื่อเรามาเน้นกันในเรื่องจริยธรรม ก็ต้องจับให้ถึงเจตนา

ด้านเจตนา แน่นอนว่ามีปัญหาหาอย่างมาก เราพูดกันนักถึงนักการเมืองว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พูดกันไป ก็ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ประชาชนไม่สบายใจ และรวมแล้วก็อยู่ทีเรื่องเจตนานี้แหละ

นี่ถ้าประชาชนเกิดความแน่ใจในเจตนา ว่าท่านผู้นี้เข้ามาสู่วงการนิติบัญญัติ เข้ามาสู่วงการบริหาร ด้วยเจตนาที่ดี มุ่งเพื่อจุดหมายที่ตรงตามหลักการของงานนั้นจริงๆ แน่นอนว่าเขาจะอุ่นใจขึ้นมาทันที แล้วพอรู้ว่าท่านผู้นั้นมีปัญญา นอกจากรู้วิชาการในหน้าที่และสายงานแล้ว ท่านยังรู้เข้าใจความจริงถึงสภาวะด้วย เช่นว่า รู้จักสังคมไทย อย่างชัดเจน เป็นต้น ศรัทธาก็เกิดขึ้นมาหนักแน่น

ฉะนั้น องค์ธรรมสำคัญ ๒ ประการนี้ ยืนเป็นหลักเลย คือ ปัญญา กับ เจตนา

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2016, 09:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บทความข้างบน ขอแทรกการปฏิบัติทางจิตหรือการปฏิบัติกรรมฐาน, วิปัสสนากรรมฐาน,ฯลฯ ที่ว่า รู้ตามเป็นจริง หรือรู้ตามที่มันเป็น หรือกำหนดรู้ตามเป็นจริง


อ้างคำพูด:
ความจริงที่เป็นอยู่ตามธรรมดาหรือเรื่องของธรรมชาติ ที่ท่านว่าเอาแค่รู้ตามที่มันเป็น


รูปภาพ

เมื่อเข้าใจข้อความนั่นแล้ว เห็นคำปรึกษาภาคปฏิบัตินี่ จะเข้าใจว่า เขากำหนดรู้ตามที่มันเป็นหรือยัง

อ้างคำพูด:
วันนี้ นั่งสมาธิได้ประมาณ 40 นาทีค่ะ นั่งดูลมหายใจ และภาวนาพุท-โธๆ ไม่รู้คิดไปเองรึเปล่า ช่วง 20 นาที เหมือนรู้สึกว่าตัวงอๆ เล็กๆ หมุนไปทางซ้ายติ้วๆค่อนข้างแรงค่ะ ก็ภาวนา พุธโธๆๆไปเรื่อยๆ นั่งสักแปบก็หายไป อีกสักพัก แขนก็กระตุกๆๆ แล้วตัวก็เหมือนใหญ่ขึ้นหน่อยนึงค่ะ พอสักพักปวดขามากๆๆ จนทนไม่ไหวก็ออกจากสมาธิช่วง 40 นาทีค่ะ
อยากปรึกษาหน่อย การปฎิบัติถูกหรือผิดค่ะ ไม่มีครูบาอาจารย์ฝึกเอง serch ดูในกูเกิ้ลแล้วลองปฎิบัติเอง จะไปฝึกที่วัดก็หยุดศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ไม่ได้ ขอคำแนะนำหน่อย


คำตอบ "ยัง" คือโยคียังไม่กำหนดรู้ตามที่มันเป็น มิใช่ไปพุทโธๆๆๆ

ถ้าวิปัสสนา ต้องกำหนดรู้ตามที่มันเป็น ตัวงอ ก็ตัวงอ ตัวเล็ก ก็ตัวเล็ก มันหมุนไปทางซ้าย ก็หมุนไปทางซ้าย แขนกระตุก ก็กระตุก มันปวด ก็ปวด ฯลฯ ตย. ตัวงอหนอๆๆๆ ตัวเล็กหนอๆๆๆ หมุนหนอๆๆๆๆ ปวดหนอๆๆ ฯลฯ อย่างนี้ เรียกว่ารู้ตามที่มันเป็น ทุกขอริยสัจ พึงกำหนดรู้ตามที่มันเป็น ไม่เลี่ยงหนีมัน ไม่บิดเบือนสภาวะ ตรงไปตรงมา ยังไงก็ยังงั้น นี่คือภาคปฏิบัติทางจิต

คำบอกเล่าถึงสภาวธรรมตรงขีดเส้นใต้ท่อนหลัง รูปนามแสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ไม่คงที่ บีบคั้นความรู้สึกคน แปลว่า ลักษณะไตรลักษณ์แสดงตัวมัน ตามเรื่องของมัน ไม่ขึ้นกับใครๆ แต่ขัดกับคน คือ เรา ตรงนี้เรียกทุกขอริยสัจ ที่คนต้องรู้เท่ารู้ทันมัน กำหนดรู้ตามที่มันเป็น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2016, 09:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

ปัญญาส่องสว่างให้เห็นทั่วไป จะเอาอย่างไร ก็แล้วแต่เจตนา


ตอนนี้ เราก็เข้าสู่วงการตุลาการ แต่ที่จริงนั้น ต้องถึงกันหมด หลักการก็ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันนั่นแหละ คือเริ่มจากนิติบัญญัติ แล้วบริหาร และตุลาการ บริหารก็ดำเนินการให้เป็นไปตามนิติบัญญัตินั้น แล้วตุลาการก็เอานิติบัญญัตินั่นแหละมาเป็นเกณฑ์ที่จะตัดสิน

นี่ก็เหมือนพระวินัย และก็คือวินัยในความหมายที่แท้ของมันนั่นแหละ พระวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ก็แบบเดียวกัน

ย้ำอีกทีว่า วินัยนี้เป็นบัญญัติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ทรงแสดงธรรม บัญญัติวินัย ท่านใช้ศัพท์ต่างกัน เพราะว่าธรรมนั้นมีอยู่ของมันตามธรรมดา พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ก็ทรงแสดงไปตามที่มันเป็น แต่วินัยนี้ทรงบัญญัติ คือจัดตั้งวางขึ้นไว้ เป็นเรื่องของฝีมือมนุษย์


วินัยเกิดจากฝีมือของมนุษย์ ถ้ามนุษย์นั้นมีฝีกมือดี อย่างที่ว่าเป็นผู้รู้จริง มีปัญญาใสสว่างเข้าถึงความจริง แล้วก็มีเจตนาที่ใสสะอาด ก็มาใช้ปัญญาที่สามารถในการจัดตั้ง จัดการวางตราข้อกำหนดบทบัญญัติลงไปได้อย่างดี บัญญัตินั้น จะเรียกว่านิติบัญญัติ หรือวินัยบัญญัติ ก็แล้วแต่ ก็จะได้ผลดีจริง

ถ้านิติบัญญัติ จัดตั้งไว้ดีแล้ว มาถึงตุลาการ ก็คงไม่ต้องหนักใจ แต่ถ้านิติบัญญัติทำมาไม่ดี ตุลาการก็หนักใจ ถ้าทำมาไม่เรียบร้อย ในด้านตัวบทโครงสร้างรูปแบบ ก็คงหนักใจไปแบบหนึ่ง ถ้าทำมาไม่ถึงธรรมในด้านอรรถสาระ ถึงแม้ด้านตัวบทจะเรียบร้อย ถ้าตุลาการมีเจตนาดี มุ่งเพื่อความดีงามความเป็นธรรมความถูกต้องในสังคม ก็คงอึดอัด แต่ถ้าไม่มีเจตนามุ่งถึงธรรม ว่าไปแค่ให้ตรงตามตัวบท ก็แล้วไป

รวมความแล้ว ตุลาการก็ดำเนินการให้เกิดผลตามนิติบัญญัตินั้น และในการทั้งหมดนั้น ก้อย่างที่กล่าวแล้วว่ามีปัญญา กับ เจตนานี้แหละเป็นสำคัญ


ทีนี้ ปัญญา กับ เจตนานั้น เหมือนหัวหน้าใหญ่ แต่จากปัญญาและเจตนา ก็มีข้อธรรมปลีกย่อยมากมายหลายอย่าง เป็นตัวประกอบที่จำกำกับ พ่วงไป หรือช่วยรับใช้สนองงานออกสู่การปฏิบัติกระจายออกไปในขั้นตอนต่างๆ

เราต้องยอมรับว่า ผู้พิพากษานั้นแน่นอนว่าท่านก็เป็นมนุษย์ ท่านก็มีจิตใจ มีความรู้สึก มีความนึกคิด แล้วในด้านความรู้สึกนั้น ก็เป็นธรรมดาตามปกติที่เป็นปุถุชน ก็มีความรู้สึกสบายใจ ไม่สบายใจ บางทีก็มีความทุกข์ใจ แล้วก็หายโล่งไป มีความผ่องใสได้ มีความขุ่นมัวเศร้าหมองได้ บางทีมีความโกรธขัดใจ ต้องใช้ความเข้มแข็งมากที่จะข่มใจระงับ ก็จึงต้องมีหลักธรรม หรือข้อประพฤติปฏิบัติ ในระดับของจริยะ เพื่อช่วยในการที่จะดำรงตัวหรือวางตัวให้ได้ผลดี

พูดเข้าหลักก็คือ เพื่อให้ปัญญา กับ เจตนา ทำงานประสานออกสู่การปฏิบัติด้วยกัน ให้ออกผลอย่างที่มันควรจะเป็นอย่างแท้จริง ก็มีหลักธรรมข้ออื่นๆ มาประกอบ กำกับ รับใช้ สนองงาน เป็นบริวาร สนับสนุน เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้ ก็มาออกที่ตัวของผู้พิพากษา โดยมีผู้พิพากษาเป็นผู้แสดง

ก่อนจะพูดถึงธรรมข้อย่อยๆ ที่ออกสู่การปฏิบัติทั่วไป จะต้องทำความเข้าใจให้ชัดอีกหน่อยเกี่ยวกับบทบาทของปัญญา กับ เจตนา นั้น ในฐานะที่เป็นตัวยืน มีขอบเขตการทำงานทั่วรอบครอบคลุมและตลอดแต่ต้นจนจบ

การทำงานของปัญญา กับ เจตนา นั้นต่างกัน ปัญญาเป็น ของดีมีประโยชน์ ซึ่งทำหน้าที่หรือมีบทบาทเหมือนตะเกียง เหมือนไฟฉาย ดวงไฟ ดวงประทีป ตลอดจนเหมือนดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ คือ ให้ความสว่าง ส่องแสง ส่องทาง เมื่อคนและสัตว์ทั้งหลาย อาศัยแสงสว่างนั้น มองเห็นที่เห็นทาง เห็นสิ่งทั้งหลายแล้วจะทำอะไรอย่างไร ดีหรือร้าย เป็นคุณหรือโทษ ก็เป็นเรื่องของคนสัตว์เหล่านั้น

ตัวเจ้าการเจ้าบทบาทที่จะใช้ประโยชน์จากแสงสว่างของปัญญา คืออาศัยแสงสว่างนั้นแล้วทำอะไรๆ ก็คือเจตนานี่แหละ การดีการร้าย จึงเป็นเรื่องของเจตนา และเจตนาจึงเป็นหัวหน้านำปฏิบัติการในแดนของจริยะ และออกมาในแดนบัญญัติ

เพื่อให้มั่นใจว่าเจตนาจะนำทำงานอย่างถูกต้อง เป็นจริยะอย่าง ดีที่สุดสำหรับผู้พิพากษา ที่จะออกมาสู่การปฏิบัติในเรื่องของบัญญัติก็จึงหาข้อธรรมที่ตรงเรื่องที่ สุดมาไว้ประกอบกำกับเจตนาของผู้พิพากษานั้น

ตอนนี้ เราจะต้องพยายามให้เจตนานำไปสู่ความถูกต้องเป็นธรรมชอบธรรมให้ได้ เป็นเรื่องของเจตนาที่ว่าจะเอาธรรมหรือคุณสมบัติอะไรมาไว้กับตัว ที่จะไปด้วยกัน

ถึงตอนนี้ ก็มีหลักธรรมชุดย่อยๆ มากำกับสนองงานแก่เจตนานั้น เริ่มด้วยชุดที่ตรงเรื่องและใช้บ่อยที่สุด ก็คือ หลักธรรมชุด "พรหมวิหาร"

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 เม.ย. 2016, 19:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ถึงพรหมวิหาร ซึ่งเราชาวพุทธกล่าวถึงบ่อยๆ

พรหมวิหารคือจริยะพื้นฐานที่จะกำกับเจตนาของตุลาการ

พรหมวิหาร แปลกันว่า ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของท่านผู้ใหญ่ (หรือท่านผู้เป็นใหญ่) ท่านผู้ใหญ่ หรือท่านผู้เป็นใหญ่นี้คือพรหม

ปรากฏว่า ได้เกิดความเข้าใจเพี้ยนขึ้นในภาษาไทย เรามักเข้าใจว่า พรหมวิหาร เช่น เมตตา นี้ เป็นธรรมของผู้ใหญ่โดยวัย หรือโดยสถานะในสังคม ถ้าอย่างนั้น เด็กก็ ไม่ต้องมีเมตตา เป็นต้น ใช่ไหม เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่จะต้องเมตตาต่อเด็ก หรือต่อผู้น้อย อะไรทำนอง นี้

แต่ถ้าไปดูในหลักธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนทั่วไป แม้แต่ในหลักธรรมที่คฤหัสถ์พึงปฏิบัติ ก็มีวิธีปฏิบัติของคฤหัสถ์ต่อพระ ภิกษุ เริ่มต้นเลยว่า ๑-๒-๓ คฤหัสถ์พึงปฏิบัติต่อพระภิกษุด้วยกายกรรมมีเมตตา ด้วยวจีกรรมมีเมตตา ด้วยมโนกรรมมีเมตตา คือ ให้ญาติโยมมีเมตตาต่อพระ อ้าว ถ้าเมตตาเป็นธรรมของผู้ใหญ่ ก็น่าจะให้พระเมตตาโยม นี่ทำไมให้โยมเมตตา พระล่ะ

ตามคำอธิบายในคัมภีร์บาลี พระผู้น้อยก็ตาม ญาติโยมก็ตาม ตักน้ำล้างเท้า และพัดวีถวายแก่พระเถระ เรียกว่าเป็นการกระทำด้วยเมตตาจิต หรือ อย่างหมอชีวกผ่าฝีถวายการบำบัดแด่พระพุทธเจ้า ก็เป็นการกระทำด้วยเมตตาจิต นี่ก็เป็นตัวอย่างที่ว่าเราเข้าใจ และเอาธรรมะมาใช้คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความหมายที่ท่านว่าไว้ เพราะปัญหาทางภาษา

ผู้ใหญ่ หรือ ท่านผู้เป็นใหญ่นี้ คือ พรหม ในพระพุทธศาสนา หมายถึงผู้มีจิตใจยิ่งใหญ่ คือยิ่งใหญ่ด้วยความดีงาม หรือมีคุณธรรมยิ่งใหญ่ หรือไม่ก็แปลว่า ประเสริฐ ท่านสอนทุกคนให้ทำตัวเป็นพรหม

ควรรู้ภูมิหลังว่า ในศาสนาพราหมณ์เดิมถือว่า พระพรหมเป็นผู้สร้างโลก และสร้างสังคมมนุษย์ แล้วก็ทำให้โลกสังคมมนุษย์นี้ดำรงอยู่ได้

แต่พระพุทธศาสนาปฏิเสธลัทธินั้น ท่านไม่สอนให้นับถือเรื่องพระพรหมสร้างโลก แต่บอกว่ามนุษย์ทุกคนนี่แหละ มีหน้าที่สร้างโลก ช่วยกันผดุงโลก อภิบาลโลก

ถ้ามนุษย์ประพฤติปฏิบัติดี คือมีธรรมชุดนี้ ได้แก่มี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แล้ว เราก็เป็นพรหมกันทุกคน แล้วเราก็เป็นผู้สร้างสรรค์โลก บำรุงรักษาอภิบาลโลกให้อยู่ดีได้ โดยไม่ต้องไปรอพระพรหม

แต่ในทางตรงข้าม ถ้าเรามัวรอพระพรหมอยู่ และ ทำอะไรๆโดยไม่รับผิดชอบ เราก็ทำลายโลก และทำลายสังคมนี้ แล้วก็ได้แต่รอพระพรหมมาสร้างโลกให้ใหม่ ถ้าอย่างนั้น ก็ไม่ไหว โลกแย่แน่

พระพุทธเจ้าไม่ให้เรามัวรอพระพรหม แต่ในมนุษย์ทุกคนเป็นพรหมเอง ด้วยการมีพรหมวิหาร เพราะ ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องมีพรหมวิหาร คือ มีธรรมที่จะ ทำให้มีจิตใจของพระพรหม หรือมีใจกว้างขวาง มีคุณความดียิ่งใหญ่ดุจพระ พรหมนั่นเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่ในความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป

เอาละ ตกลงว่า เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็ต้องมีในทุกคนนั่นแหละ โดยเฉพาะแน่นอนว่า ผู้ที่เป็นใหญ่หรือเป็น ผู้ใหญ่ ก็เป็นธรรมดาว่าจะต้องต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติธรรมทุกข้อเป็น ตัวอย่างอยู่แล้ว ก็ต้องมี เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็น ตัวอย่างด้วย เท่ากับเป็นผู้นำหรือมีหน้าที่เป็นพิเศษในการที่จะสร้างสรรค์ บำรุงรักษาอภิบาลสังคมนี้ไว้ เพราะฉะนั้น จึงควรเอาใจใส่มากในการมีธรรม ชุดนี้

แต่โดยหลักการแล้วที่แท้แล้ว ทุกคนนั่นแหละต้องมีเมตตาต่อกัน เด็กก็ต้องมีมีเมตตาต่อผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็ต้องมีเมตตาต่อเด็ก

ที่จริงเมตตา ก็หมายถึงความเป็นมิตร หรือน้ำใจมิตรเท่านั้นเอง เมตตา กับ มิตตะ นี่มีรากศัพท์เดียวกัน อย่างที่ว่าแล้ว เมตตาก็คือ ธรรมของมิตร หรือน้ำใจของมิตร คือใจรัก หรือน้ำใจปรารถนาดี อยากให้เขามี ความสุข และแน่นอนว่า ความเป็นมิตรนี้ทุกคนควรมีต่อกัน ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ต่อลูกๆ ทั้งลูกต่อคุณพ่อคุณแม่และพี่น้อง แล้วก็ต่อเพื่อนักเรียน ต่อ เพื่อนบ้าน ต่อเพื่อนร่วมชาติ ต่อเพื่อนร่วมโลก มีเมตตาต่อกันไปจนทั่ว

เมตตาของคุณพ่อคุณแม่นั้น มีเป็นตัวอย่างให้แก่ลูก และลูกก็มีเมตตาตอบแทน ด้วยความรักต่อพ่อแม่ แล้วก็เมตตาต่อผู้อื่น แผ่ขยายออกไป และไม่เฉพาะเมตตา เท่านั้น ก็ต้องมีให้ครบหมดทั้ง 4 อย่าง ต่อด้วย กรุณา และเมตตา ลงท้ายด้วยอุเบกขา

ทีนี้ มาถึงท่านผู้พิพากษา ก็ชัดเจนเลยว่า มีหน้าที่โดยตรงในการที่จะผดุงไว้ซึ่งสังคม หรือธำรงรักษาสังคม ให้อยู่ดีมีความมั่นคงปลอดภัย ถึงกับเรียกว่าเป็นตุลาการ เป็นตราชู ผู้ดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม จึงต้องเอาพรหมวิหารนี้มาปฏิบัติให้มีอยู่ประจำตัว เป็นธรรมพื้นฐานในใจ ไว้กำกับเจตนาเป็นประจำ ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ได้ผลสมจริง และเป็นแบบอย่างของสังคม พร้อมไปด้วยกัน

รูปภาพ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 เม.ย. 2016, 20:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


พรหมวิหารต่อ

มองพรหมวิหาร คือ คำนึงทุกสถานการณ์มุ่งประสานทั้งสังคม ทั่วทั้งโลก เข้าสู่ดุล


แน่ใจและแน่นอนเลยว่า ถ้าทุกคน โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ในการผดุงสังคม มีความชัดเจนในหลักพรหมวิหาร แล้วปฏิบัติให้ตรงตามความหมาย จะธำรงรักษาสังคมไว้ได้อย่างแน่นอน พระพุทธเจ้าทรงสอนนักหนา ให้เจริญพรหมวิหาร มีเมตตา เป็นต้น กันทุกคน

การที่จะปฏิบัตินั้น (ปฏิบัติ มีความหมายตามศัพท์เดิมว่า เดิน ในที่นี้ ปฏิบัติก็เริ่มที่เดินจิตให้ถูก)

ย้ำอีกว่า ต้อง ชัดในความหมาย และความชัดนั้นจะเห็นได้จากความสามารถที่จะแยกให้เห็นความแตกต่างของธรรมแต่ ละข้อนั้นๆด้วย แต่เวลานี้สังคมไทย มีความไม่ชัดเจน และสับสนปนเปมากในเรื่องพรหมวิหาร ตั้งแต่เมตตา กรุณาไปเลย

นอกจากเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อนเพี้ยนไปแล้ว ความผิดพลาดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่คนไทยได้กระทำต่อหลักพรหมวิหาร คือ เอาสี่ข้อที่ท่านจัดเป็นชุดไว้ให้ ไปแยกใช้กระจัดกระจายกันหมด จนกระทั่งไปๆมาๆ บางข้อก็อ้างบ่อยนักหนาเหมือนพูดเล่นๆ แต่บางข้อไม่เอามาบอกมาเตือนกัน เหมือนไม่เห็นความสำคัญเสียเลย

ที่ถูกนั้น ต้องจับให้อยู่รวมกันเป็นชุด เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ครบทั้งชุดเป็นธรรมดา ครบทั้ง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าพูดตามภาษานิยมของคนยุคนี้ ก็คือ เป็นองค์รวม หรือเป็นระบบองค์รวม แต่ที่จริงก็คือเป็นเรื่องของความสมดุลและพอดี

ชุดองค์รวมสี่นี้ คนไทยไม่ใช้แต่ละข้ออย่างเป็นองค์ร่วม แต่ เอาไปแยกส่วนกระจายกันไปเสีย เน้นกันนักที่ข้อเมตตา และกรุณา แต่มุทิตาไปไม่ค่อยถึงสักที ยิ่งอุเบกขาแล้วแทบไม่รู้ เรื่องเลย

ที่ ว่านี้ ไม่ใช่แยกไม่ได้เลย ก็แยกได้ คือว่าไปตามสถานการณ์ที่ต้องใช้ข้อ นั้นๆ อย่างเมตตานั้นเป็นพื้นยามปกติ ก็ย่อมใช้เสมอ พูดบ่อยได้ แต่ ข้อสำคัญต้องมีความตระหนักรู้อยู่ มองไปให้ตลอดทั้งชุดให้ถึงอุเบกขา

โดยเฉพาะอุเบกขานั้น เป็นข้อที่โยงกับปัญญา จึงเป็นข้อที่ต้องเอาใจใส่ศึกษาให้จะแจ้ง แต่ คนไทยไม่ใส่ใจ และไม่พยายามศึกษาให้เข้าใจ เลยกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แล้วก็เข้า ใจผิด จึงต้องมาซักซ้อมทบทวนกันให้ชัด

ว่ากันให้ถึงหลักแท้ๆ คนที่มีพรหมวิหาร 4 นั้น ผดุง รักษาอภิบาลโลก โดยเฉพาะสังคมมนุษย์ไว้ได้ เพราะปฏิบัติต่อเพื่อนร่วมโลกได้ ทั่วถึง ครบถ้วน ทัน และถูกต้องตรงตามสถานการณ์ คือ

1. (ในสถานการณ์ที่เขาอยู่เป็นปกติ) เมตตา มีความเป็นมิตร คือ มีใจรัก ปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข เห็นใครเจอใคร ก็มองอย่างเป็นมิตร เมื่อเขาอยู่เป็นปกติ ก็มีน้ำใจปรารถนาดี อยากให้เขาเป็นสุข เป็นน้ำใจพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีต่อ กัน มนุษย์ต้องมีความเป็นมิตรกัน นี่คือเมตตา ซึ่งเป็นธรรมข้อพื้นฐานที่สุด

จากนั้น พระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไป ตามเรื่องของความเป็นจริงในสังคมของมนุษย์ คือ เมื่อ เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับมนุษย์ผู้อื่นนั้น เขาก็อยู่ในสถานการณ์ต่างๆกัน และแม้สำหรับแต่ละคน สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลง ไปเรื่อยๆ เพราะเป็นธรรมดาที่ว่า ชีวิตและสังคมตลอดจนทั้งโลกที่แวดล้อม ย่อมเปลี่ยนแปลงไป เป็นอนิจจัง เป็นไปตามกฎธรรมชาติ มีสุข แล้วก็มีทุกข์ มีขึ้น แล้วก็มีลง มีขึ้น สูง แล้วก็มีตกต่ำ แล้วแต่เหตุปัจจัย ทำให้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เมื่อกี้นี้บอกว่าสถานการณ์ ปกติ เรามีเมตตา ทีนี้ต่อไป

2. (ในสถานการณ์ที่เขาทรุดลงเดือดร้อน) กรุณา ใฝ่ ใจจะแก้ไข ขจัดทุกข์ของเขา คือ เมื่อผู้อื่นประสบเหตุร้าย เกิดปัญหา เกิดความเดือดร้อนขึ้นมา ก็เข้า สู่สถานการณ์ที่สอง เรียกว่า ตกต่ำลงไป เขาก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ ก็มาถึงวาระของพรหมวิหารข้อที่ 2 คือ กรุณา ได้แก่ความปรารถนาที่จะช่วยให้คนพ้นจากความทุกข์

ถ้าแปลตามศัพท์ก็ว่า กรุณา คือ ความพลอยดีใจหวั่นไหว เมื่อเห็นผู้อื่นประสบความทุกข์ หรือแผ่ขยายใจตามไป คำนึงถึงความทุกข์ของเขา เพื่อหาทางไปช่วยเหลือ เป็นเหตุให้ขวนขวาย เอาใจ ใส่ จนกระทั่งลงมือปฏิบัติเพื่อช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์นั้นขึ้นมา

เมตตา กับ กรุณา ต่างกันอย่างชัดเจนที่สุด แต่คนไทยมัก แยกไม่ออกเลย จึงบอกว่าเป็นปัญหามาก เพราะไม่รู้ไม่ชัดในหลักแม้แต่ที่ ง่ายๆแค่นี้ เป็นอันว่า ถ้าเกิดสถานการณ์ที่คนอื่นเดือดร้อนเป็นทุกข์ ขึ้นมา เราก็ต้องย้ายจากเมตตาไปกรุณา กรุณา ก็คือการที่ใจเรานี้ไวต่อการที่จะรับรู้ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ พอเห็น เขาเดือดร้อนมีทุกข์ ก็พลอยมีใจหวั่นไหวไปตามความทุกข์ของเขา

ถ้าเป็นคนธรรมดา ก็ คือ พอเห็นคนอื่นทุกข์ ก็พลอยไม่สบายใจด้วย แต่ท่านว่ายังไม่ถูก แท้ ที่ถูกคือ ใจหวั่นไหวไปตามความทุกข์ของเขา หรือไวต่อการรับรู้ความ ทุกข์ของผู้อื่น ด้วยความปรารถนาจะช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์ แต่ตัวเองไม่ต้องเป็นทุกข์ ไม่มัวไปเศร้า ไม่ปล่อยใจให้ระทมทุกข์ด้วย

เป็นอันว่า ต้องแยกกัน ให้ได้หลักการก่อนว่า สอง เมื่อเขาตกต่ำเดือดร้อน ก็มีกรุณา ปรารถนาจะช่วยให้เขาพ้นจากความทุกข์

3. (ในสถานการณ์ที่เขาดีขึ้น) มุทิตา พลอยยินดีที่เขางอกงามมีความสุขความสำเร็จ คือ เขาทำความดีงาม มีความสุข มีความเจริญ ก้าวหน้า หรือทำการสำเร็จ เช่น เด็ก สอบไล่ได้ คนเข้างานได้ ได้เลื่อนขั้น หรือละเลิกการร้าย หันย้ายเข้าสู่ทาง แห่งความดี เช่น เลิกยาเสพติด หันมาตั้งใจเรียน ก็เรียกว่าขึ้นสูง หรือดีขึ้น เราก็ใช้พรหมวิหารข้อ ที่ 3 คือ มุทิตา มีใจพลอยินดีด้วย อยากจะช่วยส่งเสริมสนับสนุน เพื่อให้เขามีความ สุข ทำความดีงามสำเร็จ หรือทำประโยชน์ให้ยิ่งขึ้นไป

ครบแล้วนะหมดแล้ว สถานการณ์ในชีวิตมนุษย์ก็มี 3 นี่แหละ หนึ่ง เขาอยู่เป็นปกติ เรามีเมตตา สอง เขาตกต่ำเดือดร้อน เรามีความกรุณา สาม เขาขึ้นสูง งอกงามสำเร็จดีขึ้นไป เรามีมุทิตา


ทีนี้ ยังมีอีกข้อ คือข้อ 4 ที่รอจะเอาเข้ามาคุม ข้อนี้แหละสำคัญยิ่งนัก เป็นหลักใหญ่ในการรักษาสังคมมนุษย์ ถ้าตัวนี้ไม่มา ถึงจะมี 3 ตัวแรก ก็รักษาไม่ไหว ไม่พอ

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2016, 08:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อพรหมวิหารข้อ อุเบกขา

สังคมดำรงอยู่ได้ด้วยธรรม ผู้พิพากษาเอาอุเบกขามาดำรงรักษาธรรม

ก็ครบทุกสถานการณ์แล้ว ยามปกติ ก็มีเมตตา ยามเดือดร้อน ก็กรุณาช่วยเขาไป ยามดีมีสุข ก็มุทิตาส่งเสริมสนับสนุน มันก็น่าจะครบแล้ว เรานึกว่าพอ แต่ท่านบอกว่าไม่ครบ ต้องมีตัวที่ 4 คุมท้าย เป็นตัวสำคัญที่สุด

อธิบายว่า พรหมวิหาร 3 ข้อแรกนั้น ยังหนักทางด้านความรู้สึก แม้จะเป็นความรู้สึกทีดีอย่างยิ่ง แต่ยังไม่เป็นหลักประกันว่ามีปัญญาหรือไม่ และในที่สุด ความรู้สึกนั้นๆ ถูกต้องดีจริงหรือไม่ จะต้องรู้โดยมีปัญญาที่จะบอกให้ตัดสินได้

เขาอยู่เป็นปกติ เราก็รู้สึกเป็นมิตรมีเมตตาปรารถนาดี นี่ก็เป็นความรู้สึกทีดี เขาตกต่ำเดือดร้อน เราก็รู้สึกสงสารอยากช่วยเหลือ นี่ก็เป็นความรู้สึกทีดี แล้วเขาได้ดีมีสุข เราก็มุทิตาพลอยรู้สึกยินดีด้วย ก็เป็นความรู้สึกทีดีทั้งนั้น

แต่ไม่ใช่แค่นั้น จะ ต้องมีปัญญารู้ความจริงด้วยว่า มันเป็นความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ในกรณี นั้นๆ ที่จะไปช่วยคนที่ว่าเดือดร้อน หรือจะไปยินดีส่งเสริมคนที่ว่ามีสุขสำเร็จ บางครั้งจะต้องรู้สึกซึ้งลงไป อีกว่าความจริงมันเป็นอย่างไรในเรื่องนั้นๆ

เจ้าหมอนั่น ไปทำอะไรมา อ๋อ....นี่ไปลักขโมยเงินของเขามา จึงถูกจับและกำลังเดือด ร้อนมีทุกข์ เราจะกรุณาสงสารช่วยปล่อยไป หรือว่าเขาทำการสำเร็จขโมย เงินได้มาก้อนใหญ่ เราจะมุทิตาพลอยยินดี สนับสนุนได้ไหม นี่ถ้าว่าตามหลักสามข้อแรก ก็ถูกใช่ไหม ตอนนี้แหละ คือ ถ้าไม่มีปัญญา ก็ได้แค่สงสารไปช่วยออกมา หรือดีใจตามไปสนับสนุน อย่างนี้ยังไม่พอที่จะให้สังคมอยู่ได้

จึงต้องมีปัญญารู้ลึกลงไปอีกว่า ที่เขาทำมาได้มาอย่างนี้ ความจริงของ เรื่องเป็นอย่างไร เป็นความถูกต้องหรือไม่ จะเกิดผลเสียอย่าไรหรือไม่แก่สังคม หรือ แม้แต่ชีวิตของเขาเอง การได้เงินมาในทางไม่ดีนี้ ก็อาจจะก่อผลเสีย เป็นเครื่องบั่นทอนชีวิตของเขาเอง กลายเป็นนิสัยเสีย ไม่ตั้งใจทำมาหา กิน ตกอยู่ในความประมาท สังคมก็เสีย ชีวิตก็เสีย เพราะฉะนั้น เราจะอยู่แค่กับความรู้สึกไม่ได้ จะต้องมีความรู้เข้าใจความจริง คือ มีปัญญากำกับด้วย

ตอนนี้แหละที่ว่า ต้องมีปัญญารู้ว่าการที่จะทำจะปฏิบัติการอะไรด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา ใน กรณีนั้นๆ มีความจริงเป็นอย่างไร เป็นการถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ เมื่อรู้ ความจริงแล้ว ก็จะได้ปฏิบัติจัดดำเนินการไปโดยให้เป็นไปตามความถูก ต้อง เพื่อรักษาธรรม เพื่อประโยชน์แก่สังคม และเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงแก่ ชีวิตของเขาเองในระยะยาว

เขาไปก่ออาชญากรรมมา ไม่ถูกต้อง เป็นผลเสียแก่ชีวิตของตัวเขาเองด้วย สังคมก็เดือดร้อนด้วย ต้องแก้ไข เขาถูกจับก็เดือดร้อนเป็นทุกข์ แต่ถ้าเราไปกรุณาสงสารแล้วปล่อยออกมาจากคุก ก็ไม่ถูกต้อง เขาถูกจับก็ต้องถูกจับ อันนี้เป็นไปตามหลักความจริงความถูกต้อง ปฏิบัติการด้วยกรุณาไม่ได้ ตอนนี้ท่านใช้คำว่า ต้องหยุดขวนขวาย ในการที่จะทำตามสามข้อต้น เพราะจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามปัญญาที่รู้ความจริง ความถูกต้องนั้น

การที่หยุดระงับความขวนขวาย ไม่ทำตามสามข้อต้น เพื่อจะปฏิบัติให้ถูกต้องตามปัญญาที่รู้ความจริงความถูกต้องนั้น ก็คือข้อ 4 ที่เรียกว่า อุเบกขา ซึ่งสำคัญมาก ตั้งอยู่บนฐานของปัญญา เป็นจุดประสานเข้าสู่ดุลยภาพ ระหว่างความรู้ กับ ความรู้สึก หรือ เอาความรู้ มาปรับดุลความรู้สึกให้ลงตัว พอดี

สามตัวแรก (เมตตา กรุณา มุทิตา) เป็นความรู้สึกที่ดี แต่ถึงจะเป็นความรู้สึกที่ดี ก็เลยเถิดได้

ส่วนอุเบกขา แม้จะเป็นความรู้สึก แต่เป็นความรู้สึกที่ตั้งอยู่บนฐานของ ปัญญา คือมีปัญญามาให้ความรู้ แล้วความรู้ก็มาปรับความรู้สึกให้เข้า ดุล ก็เป็นอุเบกขาขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะลงตัว พอดี เข้าที่ เรียบ สงบ เป็นกลาง

อาการที่วางตัวเป็นกลาง หรือมีความเป็นกลางนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นการ หยุด ไม่ขวนขวายตามกรุณา หรือมุทิตา ไม่ไปช่วยขัดขวางตำรวจที่จับมา ไม่ แสดงความยินดีชื่นชมที่เขาลักขโมยมาได้สำเร็จ

การไม่ขวนขวายนี้ บางทีก็เรียกให้สั้นว่า เฉย หรือ วางเฉย แต่ไม่ใช่เฉยเฉยๆ หรือเฉยเมย แต่เฉยเพราะจะรักษาธรรม คือ เปิด โอกาสแก่ธรรม ที่จะว่ากันไปหรือจัดการกันไปตามธรรม ตามระเบียบแบบ แผน กติกา กฎหมาย ฯลฯ นี่แหละคือข้ออุเบกขา

ต้องระวัง ที่คนไทยเราแปล อุเบกขา ว่าเฉย บอกแล้วว่า เฉยในที่นี้ คือ ไม่ขวนขวายตาม 3 อย่างแรก ในกรณีที่จะเสียธรรม หรือจะทำให้เกิดความไม่ถูกต้อง คือ ไม่ขวนขวาย เพราะถ้าขวนขวายไปแล้ว จะไม่ถูกต้อง ก็จึงหยุดขวนขวาย

แต่คนไทย แปลว่าเฉยนั้น มัก ว่ากันไปโดยไม่ค่อยรู้เข้าใจ หรือไม่ค่อยอธิบายกันให้ชัด ทำให้เข้าใจผิด เพี้ยน กลายเป็นเฉยเมย เฉยเมิน เฉยมึนงง เฉยเฉื่อยแฉะ จนถึงเฉยโง่ ก็ เลยเสียหาย

ตัวคำว่า อุเบกขาเอง ในภาษาพระท่านก็ให้ระวังอยู่แล้ว ท่านจำแนกแยกอุเบกขาไว้ถึง 10 อย่าง ว่าอย่างรวบรัด ก็แบ่งเป็นฝ่ายดี กับ ฝ่ายร้าย

พูดกันง่ายๆ ก็ถามว่า อุเบกขาที่ว่าเฉยนั้น เฉยเพราะอะไร ง่ายที่สุด คือ เพราะรู้ กับ เพราะไม่รู้

คนไม่รู้ก็เฉย เพราะ แกไม่รู้เรื่องไม่รู้ราว อะไรเกิดขึ้นก็ไม่รู้ ก็เลยเฉย เรียกว่าเฉยไม่ รู้เรื่อง แล้วก็ไม่เอาเรื่อง แล้วก็ไม่ได้เรื่อง เฉยอย่างนี้ พระท่าน เรียกว่า อัญญาณุเบกขา แปลว่า เฉยโง่ เป็นอกุศล เป็นบาป

ส่วนอีกเฉยหนึ่ง เป็นความเฉยด้วยปัญญา คือรู้เข้าใจ พอ รู้แล้วก็วางตัวได้พอดี หรือลงตัวเข้าที่ เพราะมองเห็นแล้วว่า เราจะปฏิบัติการอะไร อย่างไร เมื่อไร จึงจะไปสู่จุดหมายแห่งความลุรอด ปลอดภัย ให้เกิดความถูกต้อง ความดีงาม ฯลฯ ตอนนี้ก็เลยอยู่ในลักษณะ เฉย หรือวางตัวเรียบสงบไว้ หรือเป็นกลางไว้

บางทีการเฉยก็เป็นการเตรียมพร้อมอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างเกิดสถานการณ์ร้ายขึ้นมา คนไม่รู้เรื่องรู้ราว ก็เฉย คนที่รู้ครึ่งไม่รู้ครึ่งก็โวยวายโว๊กว้ากไป

แต่คนที่รู้เข้าใจสถานการณ์ชัดเจน และมองออกว่า เมื่ออะไรเกิดขึ้น เราจะ ดำเนินการอย่างไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร เขาอาจจะเตรียมการพร้อมอยู่ในใจ ว่า ถึงขั้นตอนนั้นๆ จะทำอย่างนั้นๆ คนนี้ก็ดูเฉยเหมือนกัน

ความเฉยด้วยปัญญานี้ เป็นอุเบกขา ในความหมาย ของพรหมวิหารข้อที่ 4 คือ เฉยด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความจริง และ จะรักษาธรรม ความถูกต้อง ในเมื่อการทำตามสามข้อแรกในกรณีนั้นๆ ปัญญา บอกว่าผิด เป็นความไม่ถูกต้อง เสียความเป็นธรรม เมื่อปัญญาบอกอย่าง นั้น เราก็หยุด ก็เลยทำให้เราเฉยด้วยอุเบกขานี้ ก็จึงบอกว่าอุเบกขา ตั้งอยู่บนฐานของปัญญา

(จะ เห็นว่า ผู้พิพากษาต้องมีอุเบกขานี้เป็นหลักดำรงตังที่สำคัญมาก เพราะเป็นตัวคุม ทั้งหมด ไม่ให้ความรู้สึกเข้ามาครอบงำจิตใจ ไม่ต้องพูดถึงความรู้สึกฝ่าย ร้าย เช่น ความรู้นึกเกลียดชัง โทสะ เท่านั้น ที่จะทำให้เสียความ เป็นธรรม แม้แต่ความรู้สึกที่ดี มีเมตตา กรุณา มุทิตา ก็ต้องไม่ ยอมให้มาเป็นตัวครอบงำ ไม่ให้มีอำนาจบังคับจิตใจจะต้องให้ปัญญาบอกไปตามที่ เป็นจริง อันนี้ เป็นหลักการที่สำคัญ

ในพระไตรปิฎก ตอนที่บรรยายอุเบกขาบารมีของพระโพธิสัตว์ ท่านก็อธิบายด้วยคำว่า “ตุลา” คือ บอกว่า พระโพธิสัตว์นั้น ไม่ว่าจะประสบอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) หรือ อนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) เขาจะทำร้าย หรือจะเอาใจ ก็ไม่หวั่นไหว ไม่เอนเอียง อยู่ในธรรม เที่ยงตรง คง ที่ สม่ำเสมอ (ดูความหมายตุลาการ)

เพราะฉะนั้น ผู้ พิพากษาจะต้องมีพรหมวิหารครองตนครบทั้งชุดในขณะนั้น มิใช่มี เมตตา กรุณา มุทิตา แต่มีทั้งหมด คือ มีความเป็นมิตร มีความ ปรารถนาดี ทั้งต่อคนร้าย ต่อจำเลย และต่อโจทก์ มีทั้งนั้น แต่ ความปรารถนาดีนั้น ถูกจำกัดควบคุมหรือถูกพักงานด้วยปัญญาที่รู้ความจริง ความถูกต้อง และตั้งท่าทีเป็นอุเบกขา ที่จะรักษาความเป็นธรรม

เรามิได้คิดร้ายต่อใครทั้งนั้น แม้ จะตัดสินลงโทษจำเลย ก็ไม่ได้ตัดสินลงโทษเพราะความเกลียดชัง เรายังมี ความเป็นมิตร มีเมตตาต่อเขาในความเป็นมนุษย์ อาจจะปรารถนาในระยะยาวด้วย ซ้ำว่า ถ้าเธอไม่ถูกลงโทษ จะไม่มีโอกาสแก้ไขความประพฤติ แล้วชีวิต ของเธอก็จะตกต่ำ จะเป็นชีวิตที่ไม่ดี ไม่มีการพัฒนา ทั้งเสียต่อตน เอง และเสียต่อผู้อื่น

เพราะฉะนั้น ก็มี เมตตาต่อสังคม ต่อมนุษย์อื่นๆ และเมตตาแม้ต่อจำเลย มีกรุณา มีมุทิตา พร้อมหมด แต่มีอุเบกขาเป็นตัวคุมให้อยู่ในธรรม ที่จะรักษา ธรรม อย่างน้อยรักษาบัญญัติธรรม แต่ก็ด้วยจริยธรรม โดยเข้าใจไปถึงสภาวธรรม

เป็นอันว่า ผู้พิพากษาต้องมีพรหมวิหาร 4 โดย มีอุเบกขาเป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุด ในฐานะเป็นผู้ที่จะดำรงรักษาสังคมให้ อยู่ได้ด้วยดีเพื่อให้อุเบกขานั้น เป็นตัวตรึง เป็นตัวรักษาดุล ที่จะ ให้ทุกอย่างดำรงอยู่และดำเนินไปในความถูกต้อง ประสานบรรจบเป็นอันเดียวกับธรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 เม.ย. 2016, 20:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หลักประกันสันติสุข อยู่ที่พรหมวิหาร ตั้งแต่เลี้ยงดูลูกในบ้าน จนถึงอภิบาลคนทั้งโลก

พรหมวิหาร ๓ ข้อแรก เป็นความดีที่ว่า ถ้าไม่คุมให้ดี อาจจะพาคลาดเคลื่อนจากความจริงและความถูกต้องไปได้ แม้แต่พ่อแม่ก็พลาดกันบ่อย เริ่มตั้งแต่ข้อแรก พ่อแม่มีเมตตามากจนเสียดุล ไม่รู้จักอุเบกขา เลยเลี้ยงลูกเสียคนไปก็มี

ท่านให้มีเมตตาไว้ เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีงาม เมตตาอันเป็นความรู้สึกที่ดีนี้แผ่กระจายออกไปยังลูกๆ เมื่อลูกได้รับความรู้สึกที่ดี ก็มีความประทับใจ และมีความรู้สึกที่ดีมีเมตตาเกิดขึ้นด้วย ใจก็โน้มไปในทางดีที่จะมีเมตตาต่อคนอื่นขยายออกไป ตั้งแต่รักพี่น้องและญาติทั้งหลาย เมตตาแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆ ความเป็นมิตรมีความปรารถนาดีต่อกันในสังคมมนุษย์ก็แผ่ขยายออกไปด้วยการเริ่มต้นที่พ่อแม่

แต่ทีนี้ พ่อแม่ปฏิบัติผิด มีแต่เมตตากรุณา จนกลายเป็นเอาใจลูกตามใจลูก เมตตากรุณามากไป เสร็จแล้ว แทนที่ลูกจะมีเมตตาต่อผู้อื่นขยายออกไป เรื่องตีกลับกลายเป็นว่า เขาเคยตัวกับการที่จะได้รับการเอาใจตามใจ คราวนี้เอาใจตามใจเท่าไรก็ไม่พอ เขาเดินหน้าไปสู่การเรียกร้อง แทนที่ว่าเราใส่ใจเขา แล้วเขาจะใส่ใจเราและใส่ใจคนอื่นต่อๆไป กลับกลายเป็นว่า เราเอาใจเขา แล้วเขาก็เอาแต่ใจเขา

พอเริ่มผิดทาง เขาเอาแต่ใจตัวเขาเองแล้ว เขาก็ก้าวต่อไปกลายเป็นนักเรียกร้อง ทีนี้ เขาก็ไม่เมตตาคนอื่นแล้ว แต่ตรงข้าม คราวนี้ เขามีโทสะง่าย ไม่ได้อะไร ใครไม่ตามใจนิดหน่อย ก็หงุดหงิด โกรธเคือง เป็นคนโทสะแรงไปเลย การปฏิบัติธรรมเสียหลัก ผิดวัตถุประสงค์ไปหมด

เพราะเหตุที่ว่านั้น ท่านจึงให้มีอุเบกขาไว้ดูและและคุมความพอดี พ่อแม่เลี้ยงลูก พอมีอุเบกขาคุม เมตตาก็จะไม่พาไปไถลเลยเถิด แต่อุเบกขาจะดูไปด้วยว่า เออที่เราทำนี่ถูกต้องแน่หรือ

ความถูกต้องจะอยู่ได้ด้วยมีอุเบกขาคุมไว้ โดยปัญญาจะบอกให้ว่า เออ ลูกนี่ ต้องมีความถูกต้อง ต้องอยู่ในความเป็นธรรมด้วย นอกจากนั้น เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไปนะ เราจะอยู่ทำให้เขาตลอดเวลาข้างหน้าไม่ได้ ต่อไป เขาจะต้องรับผิดชอบตัวเอง ต้องทำด้วยตัวเขาเอง เรื่องนี้ๆ ถ้าเขายังทำไม่ถูกต้องทำไม่เป็น แล้วต่อไป เมื่อถึงเวลาเขาจะต้องรับผิดชอบตัวเองแล้วทำไม่ถูกทำไม่เป็น เขาจะอยู่ได้อย่างไร ตอนนั้น เขาจะไม่มีเราอยู่ด้วยแล้ว เขาจะอยู่ได้อย่างไร

เมตตาพาคนดีมีน้ำใจให้มาเอื้อเฟื้อเกื้อหนุน ส่วนอุเบกขาก็พาเอาปัญญามานำไปหาธรรมที่จะรักษาความถูกต้องและพอดี

ถึงตอนนี้ อุเบกขาซึ่งประกอบด้วยปัญญา ก็จะบอกพ่อแม่ว่า เออ ถ้าอย่างนั้น เราต้องเตรียมเขาให้พร้อมไว้นะ จะทำอย่างไรล่ะ อ๋อ ตอนนี้ ก็คือโอกาสีที่เขาจะได้ฝึกตัวโดยมีพ่อแม่คอยช่วยเป็นที่ปรึกษาให้ นี่คือ โอกาสทอง อย่าให้พลาดไปเสีย เอาละ เริ่มฝึกกันเลย

นี่คือ ท่านให้อุเบกขาไว้เพื่อจะมารักษาดุลว่า ชะลอๆ หยุดบ้างนะ อย่าทำให้ลูกอย่างเดียว แต่ดูให้ลูกทำด้วย พอมีอุเบกขา ก็คือดูว่า เออ ต่อไปลูกเราจะต้องทำอะไรเป็นบ้าง ควรจะเก่งในเรื่องอะไร แล้วก็เตรียมเลย ให้เขาฝึกหัดทำ โดยเราเป็นที่ปรึกษา

อุเบกขา” แปลว่า ดูอยู่ใกล้ๆ (อุป+อิกข = อุเบกขา) หรือคอยมองดูอยู่ ตอนนี้ เราอยู่ด้วย ก็เป็นโอกาสดี เพราะต่อไป ถ้าเขาไปทำเองฝึกเอง ไม่มีผู้ที่จะเป็นที่ปรึกษา ไม่มีใครช่วยแนะนำ เขาก็ทำยากลำบาก และไม่สมบูรณ์ เราก็ให้เขาฝึกโดยเราคอยดูอยู่ เป็นที่ปรึกษาและช่วยแก้ช่วยเติม เขายังทำไม่เป็น ถ้าเขาทำไม่ถูก ทำไม่ได้ผลดี ทำติดขัด เราก็จะได้ช่วยแนะนำบอกให้ เมื่อลูกได้ฝึกได้หัดทำเอง ก็จะทำให้ลูกเก่งจริงๆ แล้วก็ฝึกกันในบรรยากาศแห่งความรักด้วย

ตอนนี้มีครบหมด ทั้งเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ใช้ครบในตอนที่ลูกฝึกตัวนี่แหละ เป็นการศึกษาอย่างแท้เลยทีเดียว แล้วลูกก็จะเก่ง จะดี มีความสุขความสามารถจนเป็นที่น่าพอใจ

จึงต้องบอกว่า ความเป็นพ่อแม่จะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีอุเบกขา ถ้ามีแต่เมตตา กรุณา มุทิตา ก็ได้ด้านความรู้สึกอย่างเดียว เสี่ยงต่อการที่ลูกจะอ่อนแอ ยิ่งสุดโต่งไปเอาใจกันนัก ก็ไม่ไปไหน ดีไม่ดีแม้แต่ด้านจิตใจก็จะพลอยเสียไปด้วย แทนที่ลูกจะมีเมตตา กรุณา มุทิตา ก็กลับกลายเป็นคนเอาแต่ใจ เอาใจยาก หรือเจ้าโทสะไปเลย

แต่ถ้ามีอุเบกขาด้วย ลูกก็ได้ทั้งจิตใจดีงาม ทั้งมีปัญญา ได้ฝึกตัวดีมีความสามารถ ครบเลย ทั้งเก่ง ทั้งดี แล้วก็มีความสุข

รวมแล้ว ตั้งแต่ในครอบครัวออกไปจนถึงสังคมใหญ่ ในหมู่คน ชุมชน องค์กร วงงาน กิจการทั้งหลาย จะร่วมอยู่ร่วมงานกันดี ก็ต้องมีพรหมวิหารครบทั้งสี่ประการ

ก็บรรดาสมาชิก คือผู้เป็นส่วนร่วม หรือเป็นองค์ประกอบของสังคม ทุกคนปฏิบัติต่อกันถูกต้องตามสถานการณ์ สังคมก็คงอยู่ได้ในดุล และสงบสุขมั่นคง

โดยเฉพาะผู้พิพากษานี้ เป็นผู้มีหน้าที่ผดุงสังคมในวงกว้างระดับประเทศชาติ เป็นผู้ทำให้กฎหมายมีผลชัดเจนเด็ดขาดขึ้นมา ก็จึงต้องใช้อุเบกขาเป็นตัวคุมสำคัญที่สุด เพื่อรักษาธรรมไว้ให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเรียกว่า ความเป็นธรรม ความยุติธรรม ความชอบธรรม หรืออะไรธรรม ก็คือธรรมนั่นแหละ ต้องมีอุเบกขาเป็นตัวยืนที่จะรักษา แต่ก็ไม่ปราศจากเมตตา กรุณา มุทิตา อย่างที่ว่าแล้ว

นี่แหละคือหลักธรรมสำคัญ สำหรับประจำจิตใจของผู้พิพากษา เป็นอันว่ามีพรหมวิหารครบ ๔ โดยมีอุเบกขาเป็นตัวคุม หรือตั้งไว้เป็นหลักเป็นแกนที่จะคุม

ตามที่ว่านี้ กลายเป็นว่า อุเบกขานี้ เหมือนจะสำคัญยิ่งกว่าเมตตา กรุณา มุทิตา แต่จะต้องเข้าใจความหมายให้ถูกต้อง

ในสังคมไทยเรานี้ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ที่คนทั่วไป หรือส่วนใหญ่ทีเดียว ไม่มีความเข้าใจ หรือมักเข้าใจผิดในเรื่องอุเบกขา แล้วก็ไม่เฉพาะอุเบกขาเท่านั้น แต่เข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนมากบ้างน้อยบ้างทั้ง ๔ ข้อเลย จึงน่าจะย้ำเตือนกันให้หนักว่า เมื่อเราพูดถึงอะไร จะต้องมีความรู้ความเข้าใจชัดเจนในเรื่องนั้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 เม.ย. 2016, 13:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมตตาที่แท้จริง จะเป็นไปในแบบที่ว่า

"พระผู้มีพระภาคนั้น ทรงมีจิตใจเสมอกัน ทั้งต่อนายขมังธนู ต่อพระเทวทัต ต่อโจรองคุลิมาล ต่อช้างธนบาล และต่อพระราหุล ทั่วทุกคน"

(ขุ.อป.32/8/68 ฯลฯ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 เม.ย. 2016, 13:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อ

เลิกหมักหมมความคลุมเครือพร่ามัวไว้ในสังคมไทย พัฒนาความเข้มแข็งทางปัญญาด้วยความรู้เข้าใจให้ชัดเจน


ขอแทรกเรื่องโยงออกไปข้างนอกนิดหน่อยว่า ในสังคมไทยนี้ เต็มไปด้วยสิ่งที่ไม่ชัดเจน ถ้าจะก้าวหน้าเจริญงอกงามได้จริง จะต้องก้าวไปกับความชัดเจน อะไรต่ออะไร เฉพาะอย่างยิ่งความเข้าใจในถ้อยคำที่สื่อไปถึงหลักการทั้งหลาย จะต้องชัดเจน แล้วความชัดเจนนี้ก็จะทำให้เกิดปัญญา ทำให้เจริญปัญญา คือความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนมองเห็นชัดแจ้งนั่นแหละ คือ ปัญญา ปัญญาจะเป็นปัญญาแท้ก็ต้องชัด ถ้าไม่ชัดก็ยังไม่เป็นปัญญา


ในสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน อะไรต่ออะไรคลุมเครือไปหมด รู้ก็รู้กันอย่างพร่าๆ มัวๆ แล้วก็เลยเว้าๆ แหว่งๆ ผิดๆ พลาดๆ เพี้ยนๆ จึงทำให้ปัญญาอ่อนแอ หรือเกิดความอ่อนแอทางปัญญา เป็นอันตราย เป็นตัวกีดกั้นขัดขวางความความเจริญก้าวหน้า

เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นี้เป็นตัวอย่างสำคัญของความไม่ชัดเจนในสังคมไทย มันเป็นคุณธรรม เป็นจริยะพื้นฐานของสังคมมนุษย์ แต่เราเข้าใจกันผิดเพี้ยนมาก จะต้องรีบแก้ไขปัญหาให้ได้

พูดได้เลยว่า ถ้าเอาพรหมวิหารเข้ามาอยู่ในหลักที่แท้ไม่ได้ สังคมจะเอาดีไม่ได้ แต่ถ้าทำได้ สังคมจะดีแน่นอน มีแค่ ๔ ตัวนี้ สังคมก็ได้หลักประกันแล้ว

ตอนนี้ เรามาถึงหลักธรรมชุดพรหมวิหาร ๔ ที่มีอุเบกขาเป็นหลักคุมท้าย แต่ไม่จบแค่นี้ ธรรมสำหรับสังคมยังมีต่อไปอี ว่าที่จริงพรหมวิหารนั้นเป็นธรรมประจำใจ เป็นจริยะด้านจิตใจ อย่างที่ได้บอกแล้วว่า พรหมวิหาร คือธรรมประจำใจของท่านผู้มีคุณความดีกว้างขวางยิ่งใหญ่อย่างพระพรหม ทีนี้ เมื่อมันอยู่ในจิตใจอย่างเดียว มันก็ไม่พอ จะต้องออกสู่การปฏิบัติจัดการในสังคม จึงจะเกิดเป็นผลจริงจัง

ในตอนที่ออกสู่ปฏิบัติการในสังคมนั้น จึงมีธรรมะที่จะมารองรับช่วงอีกชุดหนึ่ง ซึ่งก็มี ๔ ข้อเหมือนกัน ก็เลยถือโอกาสนำมากล่าวในที่นี้ด้วย หลักธรรมชุดที่ว่านี้ ไม่เฉพาะท่านผู้พิพากษาเท่านั้นที่จะใช้ แต่ทุกคนในสังคมนี้มีหน้าที่ที่จะปฏิบัติทั้งนั้น เราทุกคนในฐานะผู้อยู่ร่วมสังคม ต้องช่วยกันบำรุงรักษาสังคมด้วยการปฏิบัติให้ถูกต้อง

ถ้ามีเมตตาอยู่ในใจอย่างเดียว เราก็เลยเอาเมตตามานั่งแผ่อยู่นั่น ก็ไม่ต้องทำอะไร เคยมีฝรั่งคนหนึ่งเขียนหนังสือเรื่องเมืองไทย และเรื่องนั้นก็สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา เขาเขียนถึงเมืองไทยบอกว่า พุทธศาสนานี้สอนคนไทยให้เป็นคนดี ให้ทำความดี แล้วทำความดีแบบพุทธศาสนาทำอย่างไร เขาก็ยกตัวอย่างว่า พุทธศาสนาสอนให้ทำความดี ก็ให้นั่งแผ่เมตตา (ไม่ใช่นั่งแผ่เมตตาอย่างเดียว นอนแผ่ด้วยก็ได้ ทั้งนั่งแผ่และนอนแผ่) ตกลงว่า คนไทยเราชาวพุทธนี่เป็นคนดีได้ง่าย แต่ทำได้อย่างเดียว คือนั่งนอนแผ่เมตตา เท่านี้ก็พอ ฝรั่งคนนี้เป็นนักปราชญ์ใหญ่คนหนึ่งของตะวันตกในยุคสมัยใหม่ ชื่อว่า อัลเบิร์ด ชไวเซอร์ (Albert Schweitzer, 1875-1965)

จำได้ว่า ในตอนที่ตั้งคณะรัฐประศาสนศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นขั้นเตรียมการเพื่อจะมาเป็นนิด้า คือสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในระยะนั้น ก็มีคณะทำงานร่วมประสานกับต่างประเทศ คือฝ่ายไทยกับฝ่ายมหาวิทยาลัยอินเดียน่า ทำนอง consortium ก็มีอาจารย์อเมริกันท่านหนึ่ง ที่มีบทบาทสำคัญในงานนี้ คือ Professor Joseph L. Sutton ท่านผู้นี้ ก็เขียนหนังสือขึ้นมาเกี่ยวกับเรื่องรัฐประศาสนศาสตร์ในเมืองไทย มีชื่อทำนองว่า Problems of Politics and Administration in Thailand ท่านก็ยกคำของท่านอัลเบิร์ด ชไวเซอร์ นั้นมาอ้าง เพื่อย้ำว่า พุทธศาสนานี้แหละ เป็นตัวอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาสังคมไทย

ตอนนั้นก็มีครูอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่ผู้น้อยของไทย ออกมาว่ากล่าว บ้างก็ถึงขั้นที่เรียกว่าด่าศาสตราจารย์ผู้นี้กันพักหนึ่ง ก็ทำให้คิดว่าอย่าไปด่าเขาเลย คือควรวางใจเป็นกลาง นี่แหละอุเบกขา คือ เราวางใจเรียบสงบรับฟังก่อน เพราะว่า ด้านหนึ่ง เราอาจจะมีข้อบกพร่องให้เขาเห็น เป็นจุดปรารภ เราก็จะได้ตรวจสอบและมาปรับปรุงแก้ไขตัวเอง อีกด้านหนึ่ง เราก็ดูให้ชัด ถ้าเขาเข้าใจผิดในหลักธรรม เราก็ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจให้ถูกต้องต่อไป

พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระไว้ว่า ถ้าใครมาด่าพระพุทธเจ้า ด่าพระธรรม ด่าพระสงฆ์ ก็อย่าไปโกรธเขา ให้ฟังและพิจารณา ถ้าเขาพูดไม่ถูก ก็ค่อยๆ พูดชี้แจงแก้ไขด้วยปัญญา ว่าไปตามความเป็นจริง อันนี้ก็เหมือนกัน เราควรจะได้ประโยชน์จากดคนที่ด่าเรา ถ้าเราไม่ฟัง เราอาจจะเสียประโยชน์เปล่า เขาอุตส่าห์คิดตั้งนานกว่าจะมาด่าได้ บางคนคิดนานเป็นเดือนเป็นปีก็มี ท่านศาสตราจารย์ผู้นี้น่ะแน่นอน ต้องคิดต้องค้นอย่างน้อยก็เป็นเดือนเลยกว่าจะด่าหรือติเตียนออกมาได้ ท่านเสียพลังงานไปเยอะ เราควรจะได้ประโยชน์จากคำติคำด่าของท่าน

การที่เราจะได้ประโยชน์จากคำติคำคำด่าของเขา ก็โดยเอามาตรวจสอบมองดูตัวเอง โดยเฉพาะสังคมของเรา ว่าเป็นอย่างที่เขาว่าไหม แต่ต้องดูเป็นด้วยนะ ส่วนทางด้านฝรั่ง เราก็ต้องเข้าใจเขาด้วย

ฝรั่งมาเป็นนักวิชาการ พอจะดูพุทธศาสนา เขามักมีจุดอ่อนอย่างหนึ่ง คือ เขาคุ้นชินมากับศาสนาแบบบังคับความเชื่อในสังคมของเขา ซึ่งเมื่อเห็นคนที่เชื่อปฏิบัติอย่างไร ความเชื่อที่เป็นหลักของศาสนาก็มักจะอย่างนั้น แต่พุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาแบบนั้น (พวกที่ศึกษาเรื่องศาสนาอย่างจริงจัง จึงมักไม่ยอมเรียกพุทธศาสนาว่าเป็นศาสนาในความหมายของศัพท์ฝรั่งว่า religion) แต่พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้ศึกษาปฏิบัติ คนรู้เข้าใจแค่ไหนอย่างไร ก็เชื่อและปฏิบัติไปแค่นั้น

เพราะเหตุที่ไม่ได้บังคับความเชื่อที่จะไปปฏิบัติให้แม่นมั่นลงไป และคำสอนที่จะศึกษาก็กว้างขวางมากมาย คนก็ปฏิบัติไปแค่ที่ตัวรู้เข้าใจ เมื่อเป็นอย่างนี้ ถ้าการศึกษาอ่อน ได้แค่ถือตามฟังตามกันไป ไม่นานเลย ประชาชนก็เชื่อถือปฏิบัติพุทธศาสนาผิดเพี้ยนบ้าง ใช้ธรรมผิดทางผิดที่บ้าง ปฏิบัติไมครบชุดบ้าง ฝรั่งมาเห็น ก็จับเอาความเชื่อถือปฏิบัติผิดเพี้ยนพร่องแพร่งของชาวบ้าน มาบอกว่าเป็นพุทธศาสนา ไปอ่านคำสอนก็มากมายนักหนา ไม่สามารถศึกษาให้ทั่วถึง ก็จับเอาบางส่วนบางตอนที่เข้ากันมารับสมอ้าง เรื่องก็มาเป็นอย่างนี้

คำกล่าวว่าของฝรั่งหรือนักวิชาการแบบที่ว่านั้น จึงมักเป็นการสรุปข้ามขั้นตอน จะได้ประโยชน์ก็ตรงที่เอามาดูคนไทยและสังคมไทย และเราก็เอามาใช้ประกอบในการพัฒนาให้การศึกษาแก่คนไทยได้ด้วย

ทีนี้ เราก็มาดูคนไทยและสังคมไทย ซึ่งก็เป็นอย่างที่ว่านั่นแหละ เราก็จึงต้องใช้วิธีแยกว่า หนึ่ง ตัวหลักธรรมที่แท้สอนว่าอย่างไร สอง คนไทยที่ว่าเป็นชาวพุทธนี้ เข้าใจหลักธรรมนั้นอย่างไร คือธรรมที่แท้ไม่ค่อยจะเป็นอย่างที่คนไทยเข้าใจ แล้วในสังคมไทยก็เลยมีแต่ปัญหา เรื่องอย่างนี้อยู่เรื่อย

ขอแทรกอีกหน่อย วันหนึ่ง โดยบังเอิญได้ยินทางวิทยุ มีอาจารย์ท่านหนึ่ง ยกเอาธรรมะในพุทธศาสนาขึ้นมาอ้าง บอกว่า นี่นะ พุทธศาสนาสอน อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน ก็จึงทำให้คนไทยเอาแต่ตัว ไม่ช่วยกัน มีอะไรก็เป็นเรื่องของตัวเอง คุณก็ช่วยตัวเองไปสิ นี่รายหนึ่งละ

ต่อมาอีกไม่กี่วันไม่ทราบ ก็โดยบังเอิญได้ยินวิทยุอีกแหละ อีกอาจารย์หนึ่งมาพูดบอกว่า พุทธศาสนานี่ สอนให้คนมีเมตตา กรุณา ทำให้คนไทยช่วยเหลือกันมาก คนไทยก็เลยขี้เกียจ ไม่ทำงานทำการ เพราะมัวหวังพึงให้คนอื่นเมตตา คอยรอรับเมตตา

ที่ท่านพูดกันทางวิทยุนั้น ถูกไหม สองท่านั้นพูดตรงกันข้าม แต่ก็ถูกทั้งนั้นเลย คือคนที่ปฏิบัติผิดอย่างนั้นมีอยู่ แล้วคนที่เอามาพูด ก็ดูถูกตามที่เขาปฏิบัติผิด แต่แล้วทั้งหมดนั้น ทั้งคนปฏิบัติและคนดู ก็มาผิดด้วยกันอีกชั้นหนึ่ง คือมีการศึกษาที่กะพร่องกะแพร่ง รวมตลอดไปถึงคนที่สอนก็กะพร่องกะแพร่ง ไปๆ มาๆ ก็กะพร่องกะแพร่งกันหมดทั้งสังคม เป็นสัญญาณเตือนมานานแล้วว่า ควรจะชำระสะสางยกเครื่องสังคมชาวพุทธไทยทั้งหมด

นี้เป็นเรื่องของการขาดความรู้ความเข้าใจ แล้วปฏิบัติไขว้เขว และมองธรรมะไม่ถูกทิศถูกทาง ไม่ถูกจุดถูกแง่ เรื่องนี้ก็ทำนองเดียวกัน ปัญหาในชุด เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นแหละ ที่แยกเอามาพูดเป็นเสี่ยงๆ และไม่พูดให้ตลอด พูดได้แค่เมตตา กรุณา ไม่ถึงอุเบกขา แล้วอุเบกขาก็เข้าใจผิดอีก ก็ยุ่งนุงนัง และเป็นปมเสียหายไปหมด

ฉะนั้น การที่เขาว่าเขาด่า ถึงจะไม่ใช่หมายความว่าเขาพูดถูกแล้ว แต่ก็ต้องเอามาเป็นเครื่องเตือนตัวเอง ต้องถือว่ามันเป็นตัวกระตุ้นกระตุกเราให้ทำการตรวจสอบสืบค้นให้ชัดเจน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร