วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 19:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 260 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12 ... 18  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2010, 21:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


ความทุกข์,สุขและสภาวะ


สภาวะความทุกข์

ทุกขธรรม ธรรมที่เป็นทุกข์ ได้แก่ รูป,นาม ขันธ์ ๕ หรือ กาย,ใจ

ทุกขลักษณะ เครื่องหมายที่กำหนดว่าเป็นทุกข์

ทุกขานุปัสสนา ปัญญาที่มีการพิจรณาเห็นความทุกข์เนืองๆ ในรูป,นาม ขันธ์ ๕ หรือ กาย,ใจ
หรือขณะที่เห็นความเกิด ดับ ของรูป,นาม ขันธ์ ๕ อยู่นั้น

ความรู้สึกในขณะนั้นก็เกิดขึ้นว่า กาย,ใจ นี้เป็นของน่าเกลียด น่ากลัว ไม่ดี เป็นภัย จะหาความสุขสบายจากกาย,ใจ อย่างแท้จริงนั้นหาไม่ได้เลย ได้แก่ปัญญาที่ในมหากุศล,มหากิริยา ขณะกำหนดรู้รูป,นาม ขันธ์ ๕ หรือ กาย, ใจ

นำมาจากหนังสือ สติปัฏฐานา หลวงพ่อภัททันตระ อาสภะมหาเถระ


ความทุกข์ภายนอกที่มองเห็น ล้วนเกิดจากตัวตัณหาอุปทานที่เกิดขึ้นในจิต
เหตุที่ทำให้เกิดสภาวะนั้นๆ ล้วนเกิดจากเหตุที่กระทำมา ผลจึงเป็นเช่นนั้น

ความทุกข์ภายใน เกิดจากกิเลสตัณหาความทะยานอยากที่เกิดขึ้น
เมื่อประสพกับสภาวะต่างๆซึ่งทำให้เกิดความสงสัย เป็นเหตุให้เกิดความอยากรู้
เจอความทุกข์ยากในขณะปฏิบัติ เกิดความอยากไปให้พ้นสภาวะนั้นๆ

ทุกๆตัวสภาวะที่ก่อให้เกิดตัณหาความทะยานอยาก ล้วนก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งสิ้น
เมื่อเห็นได้ดังนั้นเนืองๆ จะเห็นตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเป็นขณะๆ คือ ความไม่เที่ยง

เมื่อเห็นความไม่เที่ยง จึงเกิดจากปล่อยวาง
เมื่อเกิดการปล่อยวาง จิตจะยึดติดกับสภาวะที่เกิดขึ้นนั้นๆน้อยลงไป
จิตจะรู้สึกเบาสบาย มีความสุขมากขึ้น

ความสุข เมื่อก้าวเข้าสู่สภาวะความสุข

สุขกับการรู้อยู่กับรูป,นาม รู้อยู่ภายในได้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ
เมื่อรู้รสชาติ " สุข " นี้ได้บ่อยๆ ย่อมทำให้เกิดความเบื่อหน่าย
สุขมันก็แค่นี้เองหรือ ไปยึดอะไรไม่ได้เลย มันก็แค่สุขที่เกิดจากสภาวะ
เดินๆไป นั่งๆไป ก็รู้อยู่กับสภาวะ สุขก็แค่รู้ ไม่ทำให้ติดสุขแต่อย่างใด

เมื่อเกิดความเบื่อหน่ายจากสภาวะสุขมากขึ้นเรื่อยๆ จิตย่อมปล่อยวาง
สุดท้ายเกิดสภาวะอุเบกขา เรียกว่า ไม่ว่าจะเกิดสภาวะอะไรมันก็แค่รู้
สุดท้าย ไม่มีทั้งสุขและทุกข์ เป็นเหตุให้มีสติ สัมปชัญญะรู้อยู่กับรูป,นามได้ชัดมากขึ้น

ความทุกข์,ความสุขทั้งหลายล้วนแต่เป็นแค่สิ่งสมมุติ ล้วนเกิดจากอุปทาน
แม้แต่ความสุขที่เกิดจากภายใน เกิดจากการรู้อยู่ในกายและจิต
ไม่ว่าจะสุขภายนอกหรือสุขภายใน ล้วนเป็นกิเลสทั้งสิ้น

ซึ่งก็ล้วนแต่นำมาซึ่งความเบื่อหน่ายทั้งสิ้น จิตจึงสิ้นซึ่งอาสวะเพราะเหตุนี้นี่เอง

มันจะเห็นรายละเอียดของสภาวะแต่ละสภาวะที่ละไปได้ เห็นได้ชัดเจน

ละทุกข์ ละอย่างไร ละสุขละอย่างไร สภาวะนี้จะตรงกับพระไตรปิฎกทุกอย่าง
ละเอียดแบบนั้นเลย ไม่ใช่แบบหยาบๆที่กดข่มเอาไว้

" ละสุข และทุกข์ ได้เพราะการพิจรณา " แล้วแต่เหตุที่ทำมา ผลที่เกิดขึ้นจึงแตกต่างกัน
หากการพิจรณานั้นๆ ยังคงมีเราเข้าไปเกี่ยวข้อง สภาวะนั้นๆย่อมยังมีอุปทาน ย่อมยังมีการให้ค่าอยู่
การพิจรณาที่แท้จริงนั้น ต้องเห็นโดยจิตเขาพิจรณาเอง มันไม่มีเราไปเกี่ยวข้อง

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2010, 21:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีฝึกจิตให้ตั้งมั่น


1. หาที่นั่งที่คิดว่า นั่งแล้วรู้สึกสบายที่สุด จะนั่งแบบไหนๆก็ได้ จะหลับตาหรือลืมตาก็ได้ ตามความสะดวกและตามความถนัดของแต่ละคน สำหรับตัวผู้เขียนเองชอบนั่งโซฟา ที่มีพนักพิงหลังสูงกว่าศรีษะของตัวเอง

แรกๆฝึก ทำตามความชอบจะได้ทำได้แบบสบายๆ แต่บางคนอาจจะทำแตกต่างกว่านี้ก็ได้ ไม่ได้ผิดแผกแตกต่างอะไร เพราะเหตุของแต่ละคนแตกต่างกันไป ตามเหตุที่ทำมา

2. เวลานั่ง ให้นำมือทั้งสองประสานกัน คือ สอดนิ้วเข้าหากันทั้งหมด นี่ลักษณะเหมือนนั่งกุมมือไว้ หรือทำแบบมือขวาทับมือซ้าย หรือมือซ้ายทับมือขวา หรือจะนั่งแบบปล่อยตัวตามสบาย หลังพิงโซฟาได้แบบเต็มที่ หรือถ้าอยากฝึกในท่านอนก็สามารถทำได้เช่นกัน

3. หายใจเข้าออก สบายๆ หายใจไปเรื่อยๆ จะกำหนดภาวนาหรือไม่ต้องภาวนาใดๆใดๆก็ได้ เอาจิตรู้ไปพร้อมกับลมที่หายใจเข้าออก กระทบตรงไหน ให้แค่รู้ไปตามลมหายใจ เห็นท้องพองยุบ เห็นส่วนใดของกายเคลื่อนไหว ให้รู้ไปตามนั้น ดูแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่เพ่ง ไม่เกร็ง ดูแบบสบายๆ

บางครั้ง อาจจะมีอาการตึงที่บริเวณทีโซนคือ แถวๆหน้าผาก ที่ดั้งจมูก ที่แก้มทั้งสองข้าง ก็ไม่ต้องตกใจว่ากำลังเพ่ง เพราะใหม่ๆอาจจะตามลมหายใจไม่เป็นเลย อาจจะกลายเป็นเพ่งไปได้ ไม่ได้ผิดปกติอะไร ให้รู้อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องไปเกร็งใดๆ ไม่ต้องไปคิดว่า นี่กำลังเพ่งแล้วนะ หายใจยาวๆสบายๆไปเรื่อยๆ แล้วอาการที่รู้สึกว่าเพ่งนั้นจะค่อยๆคลายตัวไป

4. บางครั้งอาจจะเกิดโอภาสร่วมด้วย ไม่ต้องไปชอบหรือชังใดๆ วางใจให้เป็นกลาง เอาจิตกลับมารู้ที่ลมหายใจ กลับมารู้ที่กายแทน ไม่ต้องไปใส่ใจในแสงสว่างที่มองเห็น

5. ทำแบบนี้ให้ได้ทุกวัน จนจิตเกิดความชำนาญมากขึ้น ตั้งมั่นได้ง่ายมากขึ้น เราจะรู้ตัวเองว่าจิตตั้งมั่น หรือเป็นสมาธินั่นเอง แรกๆอาจต้องอาศัยสถานที่เงียบๆไปก่อน พอทำได้ชำนาญแล้ว ค่อยฝึกกับเสียงในขั้นต่อๆไป

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ธ.ค. 2010, 20:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


การเจริญสติ

เราทุกคนทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรหรือใครก็แล้วแต่
ทุกสิ่งที่เป็นเหตุให้แต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ล้วนเกิดจากเหตุที่ทำมาทั้งสิ้น
เหตุของใครเป็นคนทำเอาไว้ ย่อมรับผลไปตามที่ตัวเองได้กระทำเอาไว้ เหตุในอดีตที่ทำไว้
ส่งกลับมาเป็นผลในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในชีวิตของแต่ละคนนั่นเอง

แม้กระทั่งอุบายในการเจริญสติของแต่ละคนล้วนแตกต่างไปตามเหตุปัจจัยที่แต่ละคนกระทำมา
ส่วนจะเป็นอะไรยังไงนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเหตุเก่าด้วย

ขอเพียงให้อดทน เพราะตอนนี้เมื่อได้มาเจริญสติ นับว่ากำลังสร้างเหตุดี ซึ่งเป็นเหตุใหม่ของชีวิต
เรากำลังกำหนดชะตาชีวิตด้วยตัวของเราเอง โดยไม่ต้องไปพึ่งพาอะไรแต่อย่างใด
ตัวเราของเรานี่แหละ

ส่วนภายนอกนั้น ล้วนเป็นข้อสอบที่เราจะถูกให้ทำข้อสอบแบบไม่ทันตั้งตัว นี่แหละคือตัววัดผล
ของการเรียนหรือการฝึกเจริญสติของแต่ละคนนั่นเอง ผ่านหรือไม่ผ่าน เราเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด

เฉกเช่นเดียวกับอาชีพ อาชีพของแต่ละคน เขาฉีกมุมมองอีกมุมมองให้เห็น
อาชีพที่ใครหลายๆคนอาจจะบอกว่ามันเป็นมิจฉาชีพ เช่น การเป็นโจรหรือขโมย

ในส่วนดีของอาชีพนี้ส่วนดีนั้นมี ไม่ใช่ไม่มี ทุกๆอาชีพ ไม่มีอาชีพไหนๆที่สะอาดบริสุทธิ์ร้อยเปอร์เซ็น
ล้วนมีส่วนดีและไม่ดีในอาชีพ

เพราะอะไรนั่นหรือ เพราะเหตุไงล่ะ เหตุของแต่ละคนที่ทำมา จึงทำให้อาชีพที่เรียกกันว่าอาชีพ
ให้กลับกลายเป็นไปเช่นนั้น ทั้งๆที่จริงแล้ว โดยตัวสภาวะของอาชีพนั้นไม่ได้มีอะไรเลย
แต่เพราะความไม่รู้ต่างหากจึงทำให้เป็นเช่นนั้น


ไม่ว่าใครจะประกอบอาชีพอะไรก็ตาม จะดีหรือไม่ดีตามความคิดและเหตุของแต่ละคน
ที่มีต่อสิ่งที่มากระทบขณะนั้นๆ เราควรมีเมตตาต่อกัน ให้อภัยซึ่งกันและกัน

ยิ่งเข้าใจในเรื่องของเหตุและผลได้อย่างชัดเจน จิตนี้จะมีแต่ความเมตตา มีแต่ให้กับให้
และยิ่งรู้อยู่กับรูป,นามได้มากเท่าไหร่ จะเห็นสภาวะของรูป,นามแบบละเอียดได้ชัดมากขึ้น
ย่อมเป็นเหตุให้การยึดติดในเปลือกนั้นๆลดน้อยลงไป

เพียงเราทำตามความเป็นจริง ยอมรับตามความเป็นจริงในสิ่งที่ยังเป็นและยังคงมีอยู่ในจิต
ยอมรับไปตามนั้น แล้วตัวสภาวะเขาจะดำเนินไปตามเหตุปัจจัยเอง

มาถึงจุดๆนี้ เรียกว่าธรรมจัดสรรหรือกรรมจัดสรรนั่นเอง เจริญสตินี่แหละ ทำให้ต่อเนื่อง
ไม่ต้องไปทำด้วยความอยากได้หรืออยากมีตลอดจนอยากเป็นอะไรในบัญญัติต่างๆเลย

ขนาดงานประจำ สำรับเลี้ยงชีพตัวเอง ยังทำได้เลย ถึงแม้จะไม่ชอบยังทำได้ แล้วนี่ชีวิตของเราแท้ๆ
ไม่คิดจะทำเพื่อชีวิตของตัวเองเลยหรือ?

ทำง่ายๆ ไม่ยุ่งยากอะไรเลย แค่เอาใจใส่ในสิ่งที่กำลังทำอยู่เท่านั้นเอง เริ่มต้นไปทีละเล็กละน้อย
สะสมไป เพราะมันมีแต่เหตุและก็เหตุ นอกนั้นไม่ได้มีอะไรเลย
มีแต่การปรุงแต่งของจิตที่เกิดจากอุปทานที่เรายังมีอยู่นั่นเอง

อุปทานมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับเหตุที่เรามีต่อสิ่งๆนั้น ที่เคยทำมาร่วมกันนั่นเอง
เราจึงต้องมาเจริญสติ เพื่อจะอยู่กับปัจจุบันได้ทัน เมื่ออยู่กับปัจจุบันได้
เหตุที่เกิดใหม่ย่อมลดน้อยลงไปเรื่อยๆ แล้วผลยิ่งไม่ต้องไปคาดเดาใดๆเลย
สุดท้ายไม่มีทั้งเหตุและผล มันมีแค่นี้เองแหละชีวิต

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ม.ค. 2011, 13:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


ทำเองก็ได้ ง่ายจัง


เหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป วิธีการที่จะรู้ตามความเป็นจริงได้ ของแต่ละคน จึงเริ่มต้นแตกต่างกันไป เรื่องการปฏิบัติหรือการเจริญสติ บางคนอาจจะคิดว่ายุ่งยาก

บางคนก็อาจจะว่าง่าย เพราะเหตุที่ทำมาของแต่ละคนแตกต่างกันไป จึงมีทั้งง่ายและยากแตกต่างกันไปตามความคิดของแต่ละคน

ที่ว่าทำเองก็ได้ ง่ายจัง คือให้ทำตามสภาวะของตัวเอง ถนัดแบบไหนก็ทำแบบนั้น จะใช้รูปแบบไหนๆก็ได้ ใช้เวลาตอนไหนก็ได้ จะมากหรือน้อยตามความคิดของแต่ละคน คือ ทำแค่ไหนก็ได้

เพราะเหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป จะสวดมนต์ก่อนปฏิบัติหรือหลังปฏิบัติหรือจะไม่สวดเลยก็ได้ เรียกว่าทำตามสภาวะของคนๆนั้นจริงๆ

รูปแบบหลักๆที่ต้องทำทุกวันไม่ควรทิ้งคือ เดินก่อนที่จะนั่ง เพื่อเป็นการปรับอินทรีย์ ส่วนการเดิน เดินเท่าที่เดินได้ ถนัดแบบไหนทำแบบนั้น เคยฝึกมาแบบไหน ให้ทำไปตามนั้น ทำเสร็จแล้วค่อยสวดก็ได้หรือไม่สวดเลยก็ได้ เหตุเพราะบางคนอาจจะไม่ชอบสวดมนต์ บางคนสวดแล้วก็หลับไปก่อนก็มี

เดินแล้วปวดขา ก็ให้นั่ง จะเดินแค่รอบเดียว หรือเดินแค่หนึ่งนาทีก็ได้ แล้วนั่งต่อหนึ่งนาทีก็ได้ ถ้าปวดขาก่อน ก็ให้แผ่เมตตากรวดน้ำได้เลย ไม่ต้องไปทนปวด

เราต้องดูว่า จุดประสงค์ที่แท้จริง เราทำไปเพื่ออะไร ถ้าทำเพื่ออยากที่จะเป็นอะไรตามบัญญัติ นั่นคือ กิเลส ต้องดูให้ทัน


เรามาปฏิบัติเพื่อดับเหตุทั้งปวง คือ ดับที่ตัวเราของเรานี่แหละ ไม่ใช่ทำเพื่อไปเป็นอะไร บางทีการรู้มากไปก็เหมือนดาบสองคม รู้แล้วรู้จักนำสภาวะมาใช้ก็มีประโยชน์ แต่ถ้ารู้แล้วไปยึด นั่นก็เท่ากับไปเพิ่มกิเลสในใจ ทำให้กิเลสบดบังสภาวะ

การแผ่เมตตา กรวดน้ำถ้ายังจำไม่ได้ ก็ลืมตาอ่านไปก่อน จนกว่าจะจำได้ จำได้เมื่อไหร่ค่อยหลับตาแผ่เมตตา กรวดน้ำ เพราะจำได้หมดแล้ว

ถ้าถามว่า ลืมตาให้แบบนี้ แล้วจะได้บุญไหม ทุกอย่างอยู่ที่จิต แค่คิดให้จากใจ การทำแบบนั้น ยังไงๆก็ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นการสร้างเหตุดี ผลที่ได้รับย่อมดีอย่างแน่นอน ส่วนจะได้ผลช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับเหตุที่เคยทำไว้กับเหตุที่กำลังทำให้เกิดขึ้นในปัจจุบันด้วย อาจจะได้ทันทีทันใดหรืออาจจะช้าล้วนขึ้นอยู่กับเหตุที่ทำ

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


แก้ไขล่าสุดโดย walaiporn เมื่อ 23 ม.ค. 2011, 13:13, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ม.ค. 2011, 13:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


เหตุของการเกิด



มองชีวิตของตัวเอง เออ … คนเราส่วนมากชอบสนใจเรื่องชาวบ้านนะ ใครจะเป็นอะไรยังไง
ต้องคอยตามเฝ้าดู ” ละครชีวิต “

แต่ผู้คนกลับลืมที่จะดูละครชีวิตของตัวเอง ทุกวันนี้ ในครอบครัวของตัวเองนั้น สุขสบายดีกันไหม อยู่ดีมีสุขไหม มีใครเจ็บป่วยกันบ้างไหม เงินทองที่หามาได้ล่ะ พอเลี้ยงคนในครอบครัวกันบ้างไหม วันนี้จะดูแลคนในครอบครัวให้เขาเหล่านั้นมีความสุขยังไงบ้าง ฯลฯ …..

เท่าที่เราฟังๆเขาคุยกันมา มีแต่คุยอวดความร่ำรวย อวดความยากจน อวดความพอมีพอกิน
ที่คิดว่าพอ

แต่แปลกนะ พอถามถึงคนในครอบครัวว่า รู้บ้างไหมว่าคนในครอบครัวนั้น เขาต้องการอะไรกันบ้าง เกือบจะเหมือนกันหมดนะ ตอบว่า ไม่เห็นมีอะไรนี่ ถ้ามีอะไร เขาก็จะพูดกันเอง เรานั่งนิ่งๆแล้วมองเขาเหล่านั้น

ก่อนที่เราจะเมตตาต่อคนอื่นๆได้ คนในบ้านน่ะ เมตตาทั่วถึงหรือยัง ไม่ใช่เมตตาแค่ตัวเองไปวันๆ หรือวิ่งไปทำบุญ ไปสร้างกุศลนอกบ้าน คนในบ้านน่ะเคยนึกเขากันบ้างไหม จะตักข้าวใส่ปาก เคยหันมองบ้างไหมว่า คนไหนตักกับข้าวถึงไหม …..

นี่แหละชีวิตคน คนจริงๆคนๆวนๆแต่เรื่องชาวบ้าน ส่งจิตออกนอก แต่ไม่เคยดูคนในบ้านให้ทั่วถึง เวลาไปทำบุญ โอ้โห!!!! …. ปราณีตสวยงาม อาหารต้องเลิศรส

คนในบ้านก็คนนะ เขาก็ต้องกินเหมือนๆกัน คุณค่าของความเป็นคนเท่าๆกัน ไม่แตกต่างกันเลย หมั่นทำบุญ เมตตาให้กับในบ้านให้ทั่วถึงก่อนนะ จึงค่อยไปเผื่อแผ่คนนอกบ้าน กิเลสชาวบ้านน่ะ อย่าไปใส่ใจกันนักเลย มันก็แค่ละครที่เขาเล่นไปตามวิบากกรรมของเขาแต่ละคน



การดูจิต



เมื่อก่อนเวลาเกิดการกระทบ อารมณ์หยาบๆจะเกิดขึ้นก่อน คือ โกรธ จากความโกรธ มันจะกลายเป็นเกลียดคนๆนั้น

พอโดนกระทบมากขึ้นเรื่อยๆ สภาวะจะเปลี่ยนไปตลอดเวลา จากความเกลียดหายไป เหลือแค่ความโกรธ จากความโกรธหายไป เหลือแค่ความไม่ชอบใจ

จากกความไม่ชอบใจ เหลือรู้ว่า มันเกิดการกระทบอีกแล้ว ความไม่ชอบใจผุดขึ้นมาแว๊บหนึ่ง แล้วสงบลงไป เหลือ แค่รู้ รู้ว่าอารมณ์ประมาณนี้มีอยู่ แต่ไม่มากเท่าเมื่อก่อน มันดับได้ไวขึ้น ปฏิกิริยาที่เกิดขณะที่กระทบ มันเลยไม่เกิดขึ้นมากมายเหมือนก่อนๆ ….

เราทุกรูปทุกนาม ย่อมก่อเหตุทุกๆการกระทำ เพราะ ความไม่รู้ เพราะเราถูกครอบงำด้วยกิเลส ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง

เราจึงต้องมาเจริญสติปัฏฐานกันเพราะเหตุนี้ เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ความเป็นจริงนั้นคืออะไร คือกิเลสในใจของเรานั่นเอง

เมื่อเรารู้จักกิเลสในใจของเรา เราย่อมมองเห็นกิเลสของชาวบ้านชัดเจนมากขึ้น แล้วเราอยากจะลงไปเล่นกับกิเลสชาวบ้านเขาไหม ไม่มีเลยนะ มันไม่ลงไปเล่น จากที่เคยลงไปเล่น มันจะลงไปเล่นน้อยลง จนกระทั่งมันเลิกลงไปเล่นในที่สุด ….

กิเลสชาวบ้านเขา สิ่งที่เขาแสดงออกมา นั่นคือกิเลสของเขาเหล่านั้น แต่เพราะความไม่รู้ของตัณหาความทะยานอยากทั้งหลาย ที่มันครอบงำเราไว้ เราเลยไปเก็บเกี่ยวกิเลสชาวบ้านเขามาเป็นกิเลสเรา เอามันมาปรุงแต่งตามจริตนิสัยหรือสันดานของตัวเราเอง สันดานดิบที่ยังมีอยู่ในใจของตัวเราเอง สันดานใครสันดานมัน กิเลสมันจะแสดงตามสันดานของเจ้าของ ความหยาบคายมากน้อยของจิตใจของแต่ละคน ….

เมื่อเรามาเจริญสติปัฏฐาน จิตเราจะเห็นตามความเป็นจริงมากขึ้น ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือทุกๆที่ก่อให้เกิดการกระทบมากขึ้น ยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

แรกๆยากนะ ยากมาก ยอมรับว่าทำใจได้ยากมากที่จะปล่อยให้คนอื่นๆมารังแกหรือทำร้ายเรา แม้จะเป็นทางด้านของจิตใจก็ตาม

จิตมันจะดิ้นรนขัดขืน ทุกข์ใจ ทรมาณใจ ขมขื่นใจมากๆนะกับสิ่งที่เราต้องเป็นฝ่ายปล่อยให้เขากระทำกับเราเพียงฝ่ายเดียว โดยที่เราต้องนิ่งไม่ตอบโต้ใดๆทั้งสิ้น สภาพเหมือนถูกมัดมือชก

ช่วงนั้นสภาพของจิตใจจะแย่มากๆ ทรมาณสุดๆเลย ทำไมต้องมาทำร้ายกันขนาดนี้ด้วย เราไปทำอะไรให้หรือ ทุกๆสภาวะที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆจะให้คำตอบแก่เรา ว่าทำไมเราต้องยอมเขา ทำไมเราต้องอดทน ถ้าไม่มาเจริญสติ ไม่มีทางรู้ได้หรอกนะ หรือถ้ารู้ก็อาจจะรู้ได้เพียงผิวเผิน แต่ไม่สามารถรู้ลึกลงไปถึงเหตุที่แท้จริง …..

ทุกๆสภาวะเปลี่ยนไป เราจะได้รับความรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆการกระทบนั่นคือการเรียนรู้ เหมือนเราเรียนหนังสือ การกระทบก็คือ ครู

แต่เรียนครั้งนี้ เราเรียนชีวิตของเรา เรียนโดยจิต ความรู้ที่ได้รับมันจะมีแต่เรื่องของเหตุที่กระทำ และเรื่องของผลที่มารองรับเหตุที่กระทำนั้นๆ มันจะเป็นข้อคิดเตือนใจให้กับเรา

เลือกเอานะ เลือกเอา ชีวิตนี้เป็นของทุกๆคน ทุกคนมีสิทธิที่จะเลือก เลือกเอานะ ก่อภพก่อชาติให้เกิดใหม่ไปเรื่อยๆ หรือ กระทำเพื่อให้ภพชาติสั้นลง จงตัดสินใจเอาเอง …


คนเราน่ะ ก่อนจะเอาดีได้ มันก็เลวมาก่อนกันทั้งนั้นแหละ สุดแต่ว่าจะเลวมากหรือน้อย ตามเหตุที่กระทำกันมา

อุปมาอุปมัย ดูเอาง่ายๆนะ ใครที่โดนคนอื่นๆกระทำให้เจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุด หรือ โดนผู้อื่นด่าว่ามากที่สุด จงรู้ไว้ นั่นแหละคือ ตัวคุณเองในอดีต หรือจะเถียงว่าไม่จริงล่ะ ทำไมสามีมีเมียน้อย ทำไมภรรยามีชู้ ฯลฯ ทำไม?????? …….

ทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนๆนั้น นั่นคือ เหตุที่เขาเคยกระทำกับคนอื่นๆมาก่อนทั้งนั้น ทำไว้ในอดีต ซึ่งเราอาจจะระลึกได้และระลึกไม่ได้ ผลที่ได้รับในปัจจุบันเลยเป็นเช่นนี้ ทำกับเขาไว้ เขาย่อมมาทวงถาม ทวงคืนเอามั่ง

เราจึงต้องมาเจริญสติ เพื่อให้มีสติรู้อยู่กับทุกๆสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ไม่ไปกล่าวโทษใครหรืออะไรทั้งสิ้น เราน่ะมันเคยโง่มาก่อน ทำกับเขาไปเพราะความโง่

เรามาเจริญสติ ทำให้เราฉลาดขึ้น ทำให้เรามีสติ ทำให้เรารู้ว่า ชดใช้เขาไปนะ อดทนไว้ อย่าไปตอบโต้เขา การตอบโต้คือการก่อภพก่อชาติใหม่ให้เกิดขึ้นอีก 1 คน ต่อ 1 ชาติ เอาไหม

คนมีสติดี เขาไม่เอาหรอกนะ มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะตอบว่าเอา เพราะการเกิดน่ะ มันมีแต่อะไร มีแต่การสร้างเหตุใหม่ไม่รู้จักจบสิ้น …..

ฤามีให้หนีกรรม กรรมก็คือการกระทำ ใครทำคนนั้นย่อมรับผล ตัวเองทำแล้วไปโยนให้คนอื่นรับงั้นหรือ ต้องโทษตัวเองนะ โทษความไม่รู้ของตัวเองที่ก่อเหตุใหม่ไม่รู้จักจบจักสิ้น

ให้หมั่นเจริญสติ จิตจะได้ฉลาดในการสร้างเหตุ จะสร้างแต่กุศลนะ อกุศลมันจะไม่แตะ มันเหมือนของร้อน แค่คิดก็ร้อนแล้ว ร้อนอกร้อนใจด้วยไฟพยาบาท เมื่อไม่ได้ดั่งใจที่ต้องการ นี่เห็นไหม อกุศล ยังไม่ทันลงมือกระทำ ผลแสดงทันที ….

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ม.ค. 2011, 13:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


ความแตกต่างของการปฏิบัติ



เหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป แนวทางการปฏิบัติของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไปตามเหตุของแต่ละคนที่ได้กระทำมาหรือสร้างกันขึ้นมาเอง

เนื่องจากความไม่รู้ยังมีอยู่ จึงมีการแบ่งแยกแนวทางปฏิบัติว่าอันนี้ดี อันนี้ไม่ดี แบบนี้ถูก แบบนี้ผิด

แต่โดยสภาวะตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรดีหรือไม่ดี ไม่มีอะไรถูกหรือผิด มีแต่การให้ค่าตามอุปทานที่ยังยึดมั่นถือมั่นในรู้ของแต่ละคนที่คิดว่าตัวเองที่มีอยู่นั่นเอง

นี่แหละเหตุ ตราบใดที่ยังมีเหตุ ผลก็ย่อมมีเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน

เหตุของการเจริญสติ ทำให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่อาจจะคาดเดาได้เลยว่า ผลของการเจริญสติของแต่ละคนนั้นได้ผลแค่ไหน ตัวเขาเท่านั้นที่จะรู้ได้ด้วยตัวเอง

ทุกๆคนจะสามารถรู้ผลของการเจริญสติได้ด้วยตัวเอง ว่าปฏิบัติแล้วได้ผลมากน้อยแค่ไหน อันดับแรก ต้องยอมรับตามความเป็นจริงในสิ่งที่ตัวเองนั้นเป็นอยู่และมีอยู่จริง คือ กิเลสในใจที่มีอยู่และที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ

ตัววัดผลหรือตัวสอบอารมณ์ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นหรือตัวมากระทบนั่นเอง

สภาวะนี้แหละคือคำตอบที่ถูกต้องและเป็นตัววัดผลของจิตแต่ละคน เหตุของใคร ผลของคนนั้น เพียงแต่จะยอมรับได้ไหมเท่านั้นเอง

หากยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นได้ สภาวะย่อมจบลงได้ไว เมื่อไม่มีการต่อยอด คือ ไม่มีการตอบโต้ใดๆ มีแต่การยอมรับ เหตุใหม่ย่อมไม่มีเกิดขึ้น เมื่อเหตุเก่าหมดลงไป เหตุใหม่ไม่สร้างขึ้นมาอีก ผลที่จะเกิดขึ้นใหม่ย่อมไม่มี เมื่อไม่มีผล เหตุที่จะเกิดขึ้นใหม่ย่อมไม่มี ภพชาติจึงสั้นลงไปเรื่อยๆเพราะเหตุดังนี้นี่เอง

เมื่อผู้ใดเข้าใจในเรื่องราวของสภาวะได้ ย่อมเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ เราจึงไม่มีมาว่ากัน มีแต่จะยอมรับซึ่งกันและกัน ใครจะเป็นอะไรยังไงนั่นคือเหตุของเขา

ผลที่ได้รับของเขานั้น จึงแสดงเหตุออกมาให้เห็นเป็นแบบนั้น เราจึงไม่ควรไปว่ากัน ว่ากันมากเท่าไหร่ ติติงผู้อื่นมากเท่าไหร่ ผลที่ได้รับยิ่งส่งให้กลายเป็นเหตุใหม่ให้เกิดมากขึ้นเรื่อยๆแก่คนๆนั้น

นี่แหละความไม่รู้ จึงก่อเหตุลงไปด้วยความไม่รู้ เมื่อรู้แล้ว จะไม่มีการมาว่ากันเลย มีแต่จะเป็นเพื่อนพึ่งพา เป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกัน เมื่อเข้าใจ เมื่อรู้ในตัวเองได้ ย่อมเข้าใจและรู้ในตัวผู้อื่นเช่นกัน เพราะเขา,เรานั้น ไม่มีความแตกต่างกันเลย แม้แต่สักนิดเดียว

เหตุที่ทำให้ทุกคนแตกต่างกันไป เพราะกิเลสในใจของแต่ละคนนั่นเองที่เป็นเหตุให้ทุกคนแตกต่างกันไป สภาวะของแทุกๆคนเหมือนกันหมด ไม่มีแตกต่างกันเลย มันมีแต่กิเลส

ไม่ว่าจะทำก่อนหรือทำที่หลังก็ตาม สภาวะของทุกๆคนเสมอกัน เพียงแต่ ใครจะมีสติ สัมปชัญญะ รู้อยู่กับปัจจุบันได้ทันเท่านั้นเอง เราจึงต้องมาฝึกเจริญสติเพราะเหตุนี้ เพื่อมีสติ สัมปชัญญะเป็นที่พึ่งพา เพื่อควบคุมจิตได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถไปบังคับจิตให้เป็นไปดั่งใจที่ต้องการได้

มีกำลังของสติ สัมปชัญญะมากแค่ไหน ย่อมมีขอบเขตการควบคุมได้แค่นั้นเอง แค่ตามกำลังที่มีอยู่ จึงจำเป็นต้องมีกำลังเสริมมาช่วย หรือตัวช่วยพิเศษ คือ สมาธิ หากกำลังของ สติ สัมปชัญญะอ่อนตัวลง กิเลสย่อมเกิดขึ้นในจิตได้อย่างง่ายดาย

แต่หากมีกำลังของสมาธิหล่อเลี้ยงอยู่ จะเปรียบเสมือนมีกำแพงแก้วอีกหนึ่งชั้น ที่คอยควบคุมจิตอีกชั้นหนึ่ง เป็นเหตุให้ กิเลสไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงในจิตได้ในระดับหนึ่ง

สภาวะของแต่ละคนจึงแปรเปลี่ยนตลอดเวลา เพราะกิเลสไร้รูปแบบตายตัวแน่นอน มีตั้งแต่หยาบๆ จนกระทั่งละเอียดสุดๆ ยากที่จะคาดเดาได้

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


แก้ไขล่าสุดโดย walaiporn เมื่อ 23 ม.ค. 2011, 14:03, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ม.ค. 2011, 13:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


สภาวะของนิวรณ์


ฟุ้งซ่าน อาการของมันคือ ความคิดที่เกิดขึ้นกระซ่านกระเซ็น มันจะคิดๆๆๆๆๆๆ คิดแบบไม่หยุดจนทำให้รู้สึกรำคาญมากๆ ทำให้เกิดความรำคาญสุดๆ เป็นเหตุให้ จิตรู้อยู่ในกายได้ยากมากๆ ความฟุ้งซ่านตัวนี้แหละ สภาวะนี้ที่เรียกว่า นิวรณ์


ถ้าแค่ขั้นฟุ้ง คือ มีความคิดแต่ไม่รำคาญ สภาวะแบบนั้น จิตมีโอกาสที่ยังรู้อยู่ในกายได้บ้าง แต่ถ้าถึงขั้นไม่ใช่แค่ความฟุ้งหรือแค่เกิดความคิดแต่ไม่ได้รำคาญอย่างใด สภาวะความคิดแบบนี้ ไม่จัดเป็นนิวรณ์


นี่นะ ผลของการเจริญสติ นอกจากได้ทั้ง สติ สัมปชัญญะและสมาธิได้ ยังทำให้เกิดปัญญาแยกแยะรายละเอียดสภาวะของความคิดที่เกิดขึ้นได้ว่า ตัวไหนเป็นสภาวะนิวรณ์ ตัวไหนเป็นตัวปัญญา

การที่มีความคิดแล้วสามารถรู้อยู่ในกายได้ นี่เป็นสภาวะสัมมาสมาธิเกิด คือ มีตัวสติ สัมปชัญญะและสมาธิทำงานร่วมกัน ถ้าทั้งสามตัวนี้ไม่ได้ทำงานร่วมกัน สภาวะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างเด็ดขาด

ส่วนจะรู้อยู่ในกายได้แค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับกำลังของสมาธิ บางครั้งอาจจะรู้สั้นๆหรือรู้ได้ยาวๆ ไม่แน่นอน เรียกว่า รู้ทั้งความคิดที่เกิดขึ้น และรู้การเคลื่อนไหวของกายไปด้วย คือรู้ทั้งรูป,นาม

เหตุที่สามารถแยกแยะสภาวะแบบนี้ได้ เกิดเนื่องจากช่วงที่เกิดสภาวะสูญเสียสมาธิ จนไม่มีกำลังของสมาธิเหลือแม้แต่สักนิดเดียว ช่วงนั้นเดินจงกรมเยอะมากๆ เดินครั้งละ ๔ ชั่วโมง จึงจะต่อด้วยการนั่ง

เนื่องจากไม่มีสมาธิเลยแม้แต่สักนิด เวลาเดินหรือนั่ง จิตจะเกิดอาการฟุ้งจนถึงขั้นฟุ้งซ่าน ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ยากมากๆ แค่ตั้งมั่นสั้นๆหรือรู้แค่กายในระยะสั้นๆยังทำไม่ได้เลย

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ก.พ. 2011, 18:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


อาตาปี สัมปชาโน สติมา


ชีวิตคืออะไรกันแน่ เราปล่อยชีวิตให้ดำเนินไปด้วยความเคยชินมานานเท่าไหร่แล้ว การเจริญสติ เป็นการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทาสของความเคยชิน

ในตัวเรานั้นมีของดีที่มีคุณค่า คือ สติ สัมปชัญญะ แต่เนื่องจากความไม่รู้ที่ยังมีอยู่
ทำให้ไม่รู้คุณค่าและไม่รู้จักวิธีการที่จะนำสติ สัมปชัญญะออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การเจริญสติ เป็นวิธีที่จะนำเอาทั้งสติ สัมปชัญญะที่มีอยู่ นำออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเจ้าของ
นำออกมาใช้ได้อย่างง่ายดาย โดยที่แม้แต่ตัวเราเองก็ยังคาดไม่ถึงว่าจะทำได้ด้วยตัวเราเอง

การเจริญสติ ในแง่ของการปฏิบัติ ถ้าเราจับหลักได้ถูกทาง สภาวะจะไปได้ต่อเนื่อง
เช่นเรื่องของสภาวะที่เกิดขึ้นภายใน( ขณะที่ปฏิบัติ ) กับสภาวะที่เกิดขึ้นภายนอก ( การใช้ชีวิต )

สภาวะที่เกิดขึ้นภายใน เช่น การเดิน เดินให้รู้ว่าเดิน รู้ลงไปที่เท้ากำลังเดิน
จะรู้ได้มากหรือน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ แค่ให้รู้ว่ากำลังเดิน เกิดความคิดให้รู้ว่าคิด

ถ้าเป็นความคิดอกุศลให้หยุดเดิน แล้วกำหนดรู้สำทับลงไป อันนี้แล้วแต่อุบายของแต่ละคน
บางคนใช้วิธีขยับกาย เพื่อให้กลับมารู้ที่กาย คือ ดึงเอาจิตให้กลับมารู้ที่กาย

ส่วนตัวเองใช้วิธีกำหนดรู้หนอ สำทับลงไป ทำทุกครั้ง จิตเขาจะบันทึกไว้
เมื่อกำลังของสติ สัมปชัญญะย่อมมีกำลังมากขึ้น ความคิดอกุศลจะดับได้ไวขึ้น
จนกระทั่งหายไปในที่สุด ส่วนคำกำหนดรู้หนอจะหายไปเอง มันจะเป็นแค่รู้
เมื่อจะมีความคิดอกุศล มันแค่รู้ว่ากำลังจะมี แต่ยังไม่ทันเกิดขึ้น จะดับไปได้ทันที

การเดิน จะเดินแบบมีรูปแบบหรือไม่มีรูปแบบก็ได้ เพราะเหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป
สภาวะของทุกคนจึงแตกต่างกันไป การที่เดินมากหรือน้อย ไม่ใช่ตัววัดผลแต่อย่างใด

แต่ให้รู้ว่า เดินแล้วรู้เท้าได้มั๊ย เดินแล้วรู้เท้าและรู้ชัดลงไปทุกย่างก้าวมั๊ย แต่ละสภาวะจะเปลี่ยนไป
ตามกำลังของสติ สัมปชัญญะและสมาธิที่เกิดขึ้น ยิ่งรู้ได้ชัดทุกย่างก้าว นั่นคือ
กำลังของสติ สัมปชัญญะและกำลังของสมาธิที่เกิดขึ้น

การเดินจะจับเวลาหรือไม่จับเวลาก็ได้ ให้ทำตามสภาวะ บางคนมีเวลาน้อย บางคนมีเวลามาก
ให้ทำตามความสะดวกไปก่อน บางคนเวลาน้อยมากๆ อาจจะเดินเพียงหนึ่งรอบ แล้วนั่งต่อได้เลย

การนั่ง ให้รู้อยู่กับลมหายใจเข้าออก รู้อยู่กับการทำงานของกาย การเคลื่อนไหวของกาย
จะใช้คำบริกรรมหรือไม่ใช้ก็ได้

จะนั่งบนพื้นหรือนั่งบนเก้าอี้หรือจะนั่งที่ไหนๆก็ได้
ถ้าคิดว่านั่งแล้วสบาย เหมาะสำหรับตัวเอง นั่งกี่นาทีก็ได้

แรกๆต้องค่อยๆตะล่อมจิตไปก่อนเป็นเรื่องธรรมดา จู่ๆจะไปบังคับจิตให้เข้ารูปเข้ารอยทันที
บางคนอาจจะทำได้ แต่บางคนก็อาจจะทำไม่ได้ วิธีการปฏิบัติจึงมีหลากหลาย
เนื่องจากเหตุของแต่ละคนสร้างมานั่นเอง

ทั้งการเดินและการนั่ง จะมีหลักเหมือนๆกันคือ ทำตามความสะดวก

การเจริญสติ สติจะควบคุมจิตมิให้แส่ออกไปหาอารมณ์ต่างๆภายนอก
สัมปชัญญะ การเอาจิตจดจ่อรู้อยู่กับรูปนาม คือ รู้อยู่ในกายและจิต

เมื่อทั้งสติและสัมปชัญญะทำงานร่วมกัน สมาธิย่อมเกิดขึ้น เมื่อสมาธิเกิด จิตจะตั้งมั่นมากขึ้น
การรู้ตามความเป็นจริงจะเป็นผลผลิตตามมา เมื่อนั้นแหละ เราก็จะรู้ว่า ความทุกข์มันมาจากไหน
เราจะสะกัดกั้นมันอย่างไร นั่นแหละคือผลงานของสติ สัมปชัญญะและสมาธิที่ทำงานร่วมกัน

เมื่อได้มาศึกษาเพิ่ม จะรู้จักคำว่า อายตนะ
อายตนะภายในมี ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
อายตนะภายนอกมี ๖ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ( กายถูกสัมผัส ) ธรรมารมณ์ ( อารมณ์ที่เกิดจากใจ )

รวม ๑๒ อย่างนี้ มีหน้าที่ต่อกันเป็นคู่ๆคือ
ตากับรูป
หูกับเสียง
จมูกกับกลิ่น
ลิ้นกับรส
กายกับการสัมผัสถูกต้อง
ใจกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นทางใจ

เมื่ออายตนะคู่ใดคู่หนึ่งต่อกันเข้า ( เกิดผัสสะ ) จิตก็เกิดขึ้นในขณะนั้นเอง
การที่จิตเกิดทางอายตนะต่างๆ เป็นการทำงานของขันธ์ ๕

เช่น ตากระทบรูป เจตสิกต่างๆก็เกิดทันที กิเลสต่างๆก็จะตามเข้ามาคือ ดี ชอบ เป็นโลภะ
ไม่ดี ไม่ชอบ เป็นโทสะ เฉยๆ ขาดสติ เป็นโมหะ นี่เองเป็นเหตุให้อกุศลกรรมต่างๆเกิดขึ้นตรงนี้นี่เอง

เมื่อมาเจริญสติ โดยมีสติ สัมปชัญญะรู้อยู่กับทุกๆสภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อมีกำลังของสติ สัมปชัญญะแก่กล้า
โดยมีกำลังของสมาธิเป็นกำลังหนุน เมื่อการกระทบใดๆเกิดขึ้น ย่อมทำให้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่ง
ที่ทำให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้นนั้นดับลง ไม่ไหลเข้าไปสู่จิตได้ อกุศลกรรมทั้งหลายก็จะไม่เกิดขึ้น

สติ ที่เกิดจากการเจริญสติ จะคอยสะกัดกั้นกิเลสไม่ให้เข้าหาอายตนะ มีสัมปชัญญะรู้อยู่กับรูปนาม
มีสมาธิเป็นกำลังหนุนส่งเสริม ทำให้ทั้งสติและสัมปชัญญะรู้อยู่กับรูปนามได้ตลอด
ยิ่งมีกำลังของสมาธิแนบแน่นมากเท่าไหร่ยิ่งดี ยิ่งทำให้มีสติ สัมปชัญญะรู้อยู่กับรูปนามได้มากขึ้น

เมื่อรู้ได้อย่างนี้แล้ว ย่อมนำไปสู่การเห็นพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตน
ของสังขารหรืออัตตาภาพอย่างแจ่มแจ้ง ก็มันไม่เที่ยงแล้วจะไปยึดอะไรได้

นี่แหละ อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
สัมปชาโน มีสัมปชัญญะรู้อยู่กับรูปนามได้ตลอด
สติมา มีสติเป็นเครื่องกั้นกิเลสทั้งหลาย

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2011, 21:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีสร้างมรรคแปดให้เกิดขึ้น


วิธีสร้างมรรคแปดให้เกิดขึ้น ทำได้ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด

เพียงสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น ( การเห็นตามความเป็นจริง )


วิธีสร้างสัมมาทิฏฐิให้เกิดขึ้น ทำได้ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

เพียงสร้างสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้เห็นตามความเป็นจริง


วิธีสร้างสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้น ทำได้ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

เพียงสร้างสัมมาสติให้เกิดขึ้น สัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้นเอง


วิธีสร้างสัมมาสติให้เกิดขึ้น ทำได้ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

เพียงสร้างสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น สัมมาสติก็จะเกิดขึ้นเอง


วิธีสร้างสัมปชัญญะให้เกิดขึ้น ทำได้ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

เพียงหมั่นรู้อยู่ในกายและจิตนี้ให้บ่อยๆ


วิธีสร้างการรู้อยู่ในกายและจิตนี้ให้บ่อยๆ ทำได้ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

เพียงเอาจิตจดจ่อรู้อยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่


วิธีการเอาจิตจดจ่อให้รู้อยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด

เพียงเจริญสติเท่านั้นเอง


ทั้งนี้ทั้งนั้น จะให้ค่าว่ายากหรือง่าย ยุ่งยากหรือไม่ยุ่งยาก ก็แล้วแต่เหตุที่แต่ละคนกระทำมา

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2011, 21:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาทิฏฐิ



สัมมาทิฏฐิ คืออะไร?

คือ ความเห็นชอบ



ความเห็นชอบ คืออะไร?

คือเห็นตามความเป็นจริง



การเห็นตามความเป็นจริง คืออะไร?

เห็นตามความเป็นจริงที่มีอยู่จริงของทุกๆสรรพสิ่ง โดยสภาวะที่มีอยู่จริง ไม่ใช่เกิดจากความคิดที่มีเราหรือตัวตนของเราเข้าไปเกี่ยวข้องในสภาวะนั้นๆแต่อย่างใด



การเห็นตามความเป็นจริงได้ เหตุเกิดจากอะไร?

เกิดจากสติ สัมปชัญญะและสมาธิทำงานร่วมกัน ( สัมมาสมาธิ )


จะเห็นเหตุของการเกิดสติ สัมปชัญญะและสมาธิทำงานร่วมกันได้นั้น ต้องทำอย่างไร?

ต้องเจริญสติ



เจริญสติแล้วได้อะไร?

ได้สัมมาสมติ



สัมมาสติเป็นเหตุของอะไร?

เป็นเหตุของการเกิดสัมมาสมาธิ

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2011, 21:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ


ลักษณะอาการหรือสภาวะที่เกิดขึ้น

ความเห็นชอบ คือ ความเห็นที่เห็นตามความเป็นจริง โดยไม่มีตัวเราเข้าไปในการตัดสินในสิ่งที่เห็นนั้นๆ
ซึ่งเป็นเหตุให้จะไม่มีคำว่าถูกหรือผิดในความเห็นนั้นๆ

การที่มีความเห็นว่า สิ่งนั้นถูกหรือผิด ล้วนเกิดจากความเห็นที่มีเราหรือตัวตนของเราเข้าไปตัดสินแทนสภาวะที่เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริงของสภาวะที่เกิดขึ้นณขณะนั้นๆแต่อย่างใด

นั่นหมายถึง ตราบใดที่ความเห็นนั้นๆมีคำว่าถูกหรือผิด ย่อมไม่ใช่สภาวะของสัมมาทิฏฐิแต่อย่างใดเลย



เหตุของการเกิดสัมมาทิฏฐิ

การเกิดสภาวะของสัมมาทิฏฐิ จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีการเห็นตามความเป็นจริงเท่านั้น


การเห็นตามความเป็นจริงนั้นมีลักษณะหรืออาการที่เกิดขึ้นอย่างไร?

การเห็นตามความเป็นจริง คือ การเห็นว่า ทุกสรรพสิ่งล้วนแปรปรวนตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน แล้วจะไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่มากระทบได้อย่างไร สภาวะเกิดแล้วก็ดับ ตามเหตุและผลของตัวสภาวะนั้นๆ

สิ่งต่างๆที่มีอยู่จริง เกิดขึ้นจริงๆ ถึงแม้ว่าจะไม่มีเรา สิ่งเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นอยู่แล้ว มันมีและมันเป็นของมันแบบนั้นอยู่แล้วชั่วนิรันดร์ ไม่ว่าจะมีเราหรือไม่มีก็ตาม

เมื่อเห็นได้ดังนี้แล้ว ย่อมไม่เอาตัวเราที่ยังมีอยู่ลงไปตัดสินแทนสภาวะที่เกิดขึ้นณขณะนั้นๆว่าสภาวะนั้นๆหรือสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นๆถูกหรือผิด

จะไปบอกว่าถูกหรือผิดได้อย่างไร ในเมื่อมันแปรปรวนตลอดเวลา ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน แล้วจะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร เพราะเหตุนี้จึงไม่มีการไปให้ค่ากับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าสิ่งนั้นถูก สิ่งนั้นผิด

มันจะเห็นแต่เหตุและผลว่า สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นเรื่องธรรมดา ตามเหตุปัจจัยที่มีต่อกัน

แต่เพราะความไม่รู้ จึงเอาตัวเรา ตัวตนของเราที่ยังมีอยู่ ลงไปตัดสิน
โดยให้ค่าต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตามกิเลสและเหตุที่มีกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ผลคือ เหตุยืดยาวออกไป ย่อมดับลงไปไม่ได้ ยืดยาวเพราะตัวตัณหาอุปทาน ความทะยานอยากที่มีอยู่ จึงทำให้เกิดการปรุงแต่งตลอดเวลา



เหตุของการเกิดการเห็นตามความเป็นจริง

สภาวะของการเห็นตามความเป็นจริง จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสัมมาสมาธิเท่านั้น

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2011, 01:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


นามรูปปริจเฉทญาณ ที่ ๑


มีปัญญารู้จักรูป รู้จักนาม แยกรูป แยกนามได้ดี ได้แก่วิสุทธิข้อที่ ๓ ทิฏฐิวิสุทธิ มีความรู้เห็นอันบริสุทธิ์ หรือความเห็นนามรูปตามความเป็นจริง

แบ่งออกเป็น

๑. โดยการอาศัยบัญญัติ คือ ยังมีการตรึก นึก คิด พิจรณา

๒. โดยการรู้ในสภาวะตามความเป็นจริงที่เป็นอยู่



กล่าวในแง่ของปริยัติ


การที่โยคาวจรบุคคลตั้งใจกำหนดรู้,นาม เป็นอารมณ์ จนสามารถแยกรูปแยกนามจนเห็นได้ชัดว่า มีแต่รูปกับนาม ๒ อย่างเท่านั้น นอกจากรูป,นามแล้วไม่มีอะไร ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ตั้งใจกำหนดได้ด้วยดีจึงเห็นได้ ถ้าไม่ตั้งใจกำหนด ไม่มีสมาธิ ก็ไม่สามารถรู้เห็นได้เลย

เพราะรูปนามนี้ ถ้าจิตสงบปราศจากนิวรณืย่อมปรากฏได้ และเมื่อปรากฏนั้น เมื่อรูปปรากฏดีแล้ว นามจึงปรากฏตามดังนี้

ดังที่ท่านพุทธโฆษาจารย์ แสดงไว้ในวิสุทธิมัคคอรรถกถาว่า

ยถา ยถา หิสฺส รูปํ สุวิกฺขาสิตํ โหติ นิชฺชฏํ สุปริสุทฺธํ ตถา ตถา ตทารมฺมณา อรูปธมฺมา สยเมว ปากฏา โหนฺติ

เมื่อรูปสะอาดสดใสบริสุทธิ์ดีแล้ว นามที่มีรูปเป็นอารณ์ก็ปรากฏขึ้นเอง ดังนี้




เมื่อสามารถเห็นนามรูปตามความเป็นจริงของสภาวะที่มีอยู่จริงได้ ผลที่ได้รับคือ ย่อมมีเราหรือตัวของเรา( การให้ค่า ) น้อยลงในทุกๆสภาวะที่เกิดขึ้น

การเห็นรูป,นามตามความเป็นจริงนี้ ต้องเห็นโดยการภาวนาของตนจริงๆ ไม่ใช่รู้จากการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่มีอธิบายไว้ แล้วใช้ปัญญาคิดไปตามที่กล่าวไว้ในตำรา

เสร็จแล้วก็คิดนึกไปในใจว่า รูปเป็นอย่างนี้เอง นามเป็นอย่างนี้เอง ตนเห็นทีจะได้บรรลุนาม-รูปปริเฉทญาณแล้ว เช่นนี้ เป็นการนึกคิดเอาเอง

การเรียนรู้และนึกคิดเอาเองอย่างนี้ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ คือ ญาณที่เกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะการนึกเอาเดาเอาเองอย่างนี้เป็นเพียงสุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากการศึกษาได้สดับรับฟังมา

และจินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดขึ้นจากจินตนาการแห่งตนเท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นภาวนามยปัญญา

ปัญญาที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา อันเป็นปัญญาที่ละเอียด เพราะเป็นปัญญที่สามารถตัดกิเลสตัณหาได้ตามที่มุ่งหมาย




กล่าวในแง่ของการปฏิบัติ



คือ มีสติ สัมปชัญญะ กำหนดรู้รูปและนาม โดยอาศัยการใช้การกำหนดรู้ หรือ การใช้คำบริกรรมภาวนา แล้วรู้อยู่ในกาย เช่น รู้ลมหายใจเข้าออก รู้ท้องพองยุบ ฯลฯ



กล่าวในแง่ของสภาวะหรือลักษณะอาการที่เกิดขึ้น


แยกรูป แยกนาม ออกจากกันได้


รูป คือ สิ่งที่ถูกรู้


จิต คือ รู้อารมณ์


รู้ว่าพองกับยุบ เป็นคนละอันกัน โดยอาการคือ อาการพองขึ้นมา ใจรู้อาการพอง ใจที่รู้อาการพองกับอาการพองนั้นแยกออกจากกัน คือ อาการพองอย่างหนึ่ง ใจที่รู้อย่างหนึ่ง แต่ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เช่น หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ อาการพองก็รู้ อาการยุบก็รู้

ลมหายใจเข้ากับออก เป็นคนละอันกัน

หูกับเสียง เป็นคนละอันกัน

จมูกกับกลิ่น เป็นคนละอันกัน เป็นต้น



กล่าวในแง่ของการเห็น


๑. อย่างหยาบ ได้แก่ โดยสุตตะ หรือ เกิดจากการฟัง การอ่าน แล้วนำมาเทียบเคียงกับสภาวะที่ตัวเองได้พบเจอมา เช่น ปฏิบัติแล้ว นำสิ่งที่พบในการปฏิบัติมาเทียบเคียง ไม่ว่าจะเกิดจากการเดินจงกรม หรือเกิดจากการนั่งก็ตาม


๒. อย่างกลาง ได้แก่ โดยจินตะ หรือ พัฒนามาจากการอ่าน การฟัง แล้วนำมาคิดพิจรณา รู้จากองค์ประกอบของสภาวะว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง


๓. อย่างละเอียด ได้แก่ โดยภาวนา เกิดจากสัมมาสติและสัมมาสมาธิทำงานร่วมกัน ทำให้เห็นเอง รู้เอง โดยไม่ได้รู้จักตำราแต่อย่างใด หรือรู้จากการจำของตัวสัญญาแต่อย่างใด



กล่าวโดยตัวสภาวะแท้ๆของตัวสภาวะคือ สภาวะ จะมีแค่ สิ่งที่ถูกรู้ ( สิ่งที่เกิดขึ้น ) กับ สิ่งที่รู้เท่านั้นเอง ( จิต )


แต่ที่นำมากล่าวหลักๆในขั้นต้นนั้น กล่าวในแง่ของการเรียกตามบัญญัติหรือปริยัติ ว่าสภาวะที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นๆเรียกว่าอะไร

และ ตามตัวสภาวะที่เกิดขึ้น บ่งบอกถึงกำลังของสติ สัมปชัญญะและสมาธิว่าตั้งมั่นได้มากน้อยแค่ไหน ตั้งมั่นได้มาก ย่อมรู้ชัดได้มาก ตั้งมั่นได้น้อย ย่อมรู้ชัดได้น้อย ต้องอาศัยการเทียบเคียงเอาจากตำรา

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


แก้ไขล่าสุดโดย walaiporn เมื่อ 14 พ.ค. 2011, 21:51, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.พ. 2011, 01:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


จิตตวิสุทธิ


การชำระจิตให้ปราศจากมลทินเครื่องเศร้าหมอง คือ นิวรณ์ ให้สงบลงได้นั้น เรียกว่า จิตตวิสุทธิ องค์ธรรมได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก


ในจิตวิสุทธินั้น บางท่านอาจจะบอกว่า ผู้บำเพ็ญจะต้องเข้าถึงฌานก่อน จึงจะบำเพ็ญวิปัสสนาภาวนาได้ ไม่งั้นจะไม่ได้ผล

คำกล่าวนี้ กล่าวตามสภาวะที่รู้ของแต่ละคน จริงๆแล้ว ใครจะปฏิบัติแบบไหนๆ แล้วแต่เหตุที่ทำมาของแต่ละคน สภาวะของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป จึงไม่จำเป็นต้องได้ฌานก่อนแต่อย่างใด

การเจริญสติ เมื่อมีตัวสัมปชัญญะเกิด ย่อมเป็นเหตุให้รู้ชัดอยู่ในกายได้ นั่นคือ สมาธิเกิด ส่วนกำลังของสมาธิที่เกิดขึ้น จะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับเหตุของแต่ละคนที่กระทำมา


สมาธิมี ๓ ประเภท


๑. ขณิกสมาธิ

๒. อุปจารสมาธิ

๓. อัปปนาสมาธิ


ท่านวิสุทธิมัคคอรรถกถาจารย์กล่าวว่า


สมาธิ จ วิปสฺสเนน จ ภาวยมาโน


สมาธิก็ดี วิปัสสนาก็ดี ควรเจริญ ( ทำให้มาก ) ยิ่งๆขึ้นดังนี้


อันนี้เรื่องจริง ไม่ว่าจะสมาธิก็ดี การเจริญสติก็ดี ควรเจริญหรือทำให้มากๆ แต่จะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น แล้วแต่สภาวะจะเอื้ออำนวยให้ เพราะเหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกัน สัปปายะของแต่ละคนจึงแตกต่างกันไป

เวลาจึงไม่ใช่ตัววัดผลแต่อย่างใด เหตุต่างหากที่เป็นตัววัดผล ทำแล้วดับที่เหตุได้ นั่นคือ มาถูกทาง


สมถสมาธิ ได้แก่ อุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิ เพ่งอยู่แต่อารณ์บัญญัติอย่างเดียว โดยไม่ให้ย้ายอารณ์ ถ้าย้ายไปก็เสียสมาธิ


การเจริญสติ เมื่อมีตัวสัมปชัญญะเกิด สมาธิย่อมเกิดขึ้นตาม ไม่ว่าจะย้ายอารมณ์ที่รู้อยู่ในกาย จะรู้อยู่ได้นานแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับกำลังสมาธิของแต่ละคน แล้วแต่เหตุที่ทำมา

บางคนอาจจะรู้ได้น้อย เพราะจิตตั้งมั่นได้แค่ระยะสั้นๆ แต่เมื่อมีความเพียร ทำอย่างต่อเนื่อง กำลังของสมาธิหรือจิตที่ตั้งมั่น ย่อมมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายถึง สามารถรู้ชัดอยู่ในกายได้มากขึ้นเรื่อยๆ


ฉะนั้น ญาณ ๑๖ ที่นำมากล่าวๆกันนั้น ล้วนเป็นเรื่องของจิตวิสุทธิเป็นพื้นฐาน เป็นเรื่องของ สติ สัมปชัญญะและสมาธิที่ทำงานร่วมกัน จึงจะเห็นสภาวะตามความเป็นจริงเหล่านั้นได้


หากแม้นเห็นโดยจากการฟัง การอ่าน หรือคิดพิจรณาเอาเอง ล้วนมีกิเลสเจือปนอยู่ทั้งสิ้น เมื่อเห็นโดยกิเลส ย่อมมีการให้ค่า ให้ความหมายตามบัญญัตินั้นๆ

ส่วนจะก่อให้เกิดเหตุขึ้นใหม่มากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับว่า สติจะรู้ทันการปรุงแต่งของจิตได้มากน้อยแค่ไหน


แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นชื่อว่าเห็น อย่างน้อย เห็น ย่อมดีกว่าไม่เห็น เพราะเหตุของแต่ละคนแตกต่างกันไป จึงไม่มีวิธีการไหนๆถูกหรือผิดแต่อย่างใดทั้งสิ้น

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.พ. 2011, 22:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


เดินจงกรม รู้ลมหายใจ




วันนี้มีผู้ปฏิบัติโทรฯมาถามว่า เวลาเดินจงกรม จะคอยรู้ที่ลมหายใจ ไม่ค่อยรู้เท้า ทำแบบนี้ได้หรือไม่?

คำตอบคือ รู้อะไรก็ได้ แค่รู้อยู่ในกาย ใช้ได้ทั้งนั้น เมื่อใดที่สติ สัมปชัญญะดี จะรู้ชัดไปทั้งตัวเอง เท้าก้รู้ ลมหายใจก็รู้ กายก็รู้ จะรู้เอง เหตุที่จิตคอยไปวิ่งจับที่ลมหายใจ เนื่องจากเคยฝึกภาวนาด้วยการดูลมหายใจมาก่อน

ขอถามต่อว่า เวลาจับลมหายใจ จะชอบง่วงนอน

คำตอบ ง่วงก็ให้รู้ว่าง่วง ถ้าอยากจะนอนจริงๆก็นอนไปเลย ส่วนจะฝืนหรือไม่ฝืน อันนี้แล้วแต่ผู้ปฏิบัติเอง ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว

ขอถามต่อ พอรู้ว่าง่วง เคยลองนอน พอนอนลงไป มันก็ไม่หลับ ตากลับสว่าง หายง่วง

คำตอบ มันไม่มีอะไรหรอก กิเลสทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องไปหาวิธีการอะไร หาวิธีการคนที่ทุกข์ก็คือตัวเราเอง พึงระวังความอยากที่แทรกอยู่ จริงๆแล้วสภาวะมันเปลี่ยนตลอดเวลา ง่วงมั่ง ไม่ง่วงมั่ง ช่างมัน

ขอถามต่อ อะไรเกิดขึ้น ให้แค่รู้ใช่ไหมคะ?

คำตอบ ค่ะ ถ้าทำได้ ถ้ายังทำไม่ได้ จิตมันคิดอะไรก็ให้รู้ไปตามนั้น ใหม่ๆจะเป็นแบบนี้แหละ

หมายเหตุ:-

สภาวะนี้เจอมากับตัวเอง เรียกว่าเดินย่ำจนจำสภาวะได้หมด อันนี้เล่าสู่กันฟัง อาจจะมีสภาวะที่เหมือนหรือไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ที่แน่นอนคือ ไม่มีอะไรเที่ยง สภาวะสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา

เมื่อก่อน เวลาเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิจะชอบง่วง ก็หาวิธีการน่ะสิ ทำยังไงถึงจะไม่ให้ง่วง ลองทุกรูปแบบ สุดท้ายคือ ง่วงมั่ง ไม่ง่วงมั่ง ล้วนคาดเดาเอาเอง ว่าต้องเกิดจากเพราะเหตุนั้น เหตุนี้ คาดเดาตลอด ตอนนั้นสติยังไม่มากพอที่จะมองเห็นกิเลสที่เข้ามาแทรก กิเลสที่เป็นกุศล อยากทำความเพียรจ่อเนื่อง พยายามไม่ให้ง่วง มองไม่เห็นจริงๆนะ ความอยาก

ก็ทำไมต้องไปหาวิธีการด้วยล่ะ ความอยากในใจที่เกิดขึ้นดูทันไหม? ส่วนมากคือไม่ทันกันซะมากกว่า เพราะกิเลสความอยากที่เป็นกุศลนี้จะมีสภาวะที่ละเอียดมากกว่ากิเลสที่เป็นอกุศล

บางคนอาจจะพูดว่า ก็พระพุทธเจ้ายังทรงให้ลองทุกวิธีเลย ถ้าไม่ไหวจริงๆให้นอนไปเลย

อ่ะ มาพิจรณากัน สภาวะนี้ทำให้เกิดตัวปัญญานะ ถ้ารู้จักคิดพิจรณาหรือเจอกับสภาวะนี้บ่อยๆ แล้วพยายามแก้ไขสภาวะ

ทำไมพระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ทำแบบนั้นล่ะ

เพราะพระองค์ทรงต้องการให้เรียนรู้สภาวะด้วยตัวเอง รู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้เชื่อในสิ่งที่พระองค์ทรงตรัสไปทุกอย่าง ควรคิดพิจรณาด้วยตนเองกันมั่ง

สภาวะไม่ว่าจะเดินแล้วง่วง หรือนั่งแล้วง่วงก็ตาม บางคนอาจจะมองว่า เพราะกินอิ่มไปไหม? เพราะเหนื่อยหรือเปล่า? เพราะดึกแล้วหรือเปล่า?ฯลฯ มีแต่คำว่าเพราะๆๆๆๆๆ อย่างนั้น อย่างนี้ จริงไหม? มีแต่การให้ค่า การคาดเดาสภาวะ

แท้จริงแล้ว ตัวสภาวะเขามาสอนตลอดเวลา มันเที่ยงไหม เวลานี้อาจจะง่วง ก็คาดเดาละว่า เพราะดึกไปไหม? วันต่อไปทำแต่วัน ยังง่วงอีก อ้าวหาเหตุอื่นๆต่อว่าอาจจะเพราะอย่างนั้น อย่างนี้

นี่นะ สภาวะเหล่านี้ เจอกับตัวเองมาหมดแล้ว ไม่งั้นจะพูดไม่ได้แบบเต็มปาก เดินจงกรมน่ะ เดินเป็นพันๆกิโลได้แล้วกระมัง ไม่รู้กี่พันกี่หมื่นกิโลละ ถ้าคนทำทุกวันจะเข้าใจนะ

ทำจนเรียกว่า จดจำทุกๆสภาวะได้หมด เลิกให้ค่าแล้ว เดินแล้วง่วงเหรอ ไม่ต้องหาคำตอบหรือหาเหตุอะไรเลย ไม่ต้องไปหาว่าง่วงเพราะอะไร เปลี่ยนอิริยาบททันที

ถ้าเดินไปสักพักต่อแล้วยังง่วงอีก จะเดินไปที่โซฟา นั่งต่อเลย ไม่ก็นั่งที่พื้นน่ะแหละ ที่ไหนได้ พอนั่งลงปั๊บ ก้นยังไม่ทันสัมผัสพื้น จิตเป็นสมาธิทันที นี่เห้นไหม ไปคาดเดาไม่ได้ บางทีเป็นสมาธิทีหลายชั่วโมง เราก็นั่งรู้ไปแบบนั้นแหละ

ประเภทเดินแล้วเกิดความคิดอีกอย่าง อันนี้แล้วแต่อุบายของแต่ละคนนะ เจอมาเยอะแล้ว เดินแล้วคิดๆๆๆๆ บางทีคิดจนเวียนหัว มันจะคิดอะไรนักหนา กำหนดคิดหนอๆๆๆ ก็แล้ว ยังไม่ยอมหยุดคิดสักที ตอนหลังเลิกกำหนด แต่ดู และรู้ว่าคิด แล้วมาสนใจในกายต่อ ดูลมมั่ง เท้ามั่ง มือขยับไปมามั่ง สุดท้ายความคิดหายไปเอง

ก็เราไปสนใจมันเอง ยิ่งสนใจ สภาวะความคิดยิ่งแผลงฤทธิ์ คิดก็ให้รู้ว่าคิด ไม่ต้องไปปฏิเสธ ยอมรับไป แล้วมารู้ที่เท้ากำลังเดิน หรือจะรู้ลมหายใจ หรือจะรู้กายส่วนอื่นๆ ให้รู้อยู่ในกายนี่แหละ พอมันเห็นเราไม่สนใจ ความคิดจะหายไปเอง รู้ไปแบบนี้แหละ สภาวะจะเกิดสลับไปสลับมา ก็ยังมีกิเลสนี่นะ ความคิดย่อมมีเป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าบางคนถนัดกำหนด ก็กำหนดไป ไม่มีอะไรถูกหรือผิดหรอก เหตุของแต่ละคนสร้างมาแตกต่างกันไป อุบายที่ใช้ในการรักษาจิต จึงแตกต่างกันไป

อ้อ … เวลาต้องการให้สภาวะไหนเกิดชัด เช่นเดินจงกรม ต้องการให้รู้เท้าชัด ควรถามตอบตัวเองด้วยว่า ที่ต้องการให้รู้ชัดน่ะ รู้ชัดไปเพื่ออะไร พึงระวังกิเลสให้ดีๆ มันเข้าแทรกได้ตลอดเวลา ทำเพราะความอยาก แต่ไม่รู้ว่าอยาก ยิ่งอยากยิ่งไม่รู้

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มี.ค. 2011, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 ก.ค. 2006, 22:20
โพสต์: 5976

โฮมเพจ: http://walaiblog.blogspot.com/
แนวปฏิบัติ: กายคตาสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: สมุทรปราการ

 ข้อมูลส่วนตัว


สภาวะที่เกิดขึ้น มีแต่มาตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่เที่ยง และผลของการคาดเดา ตอกย้ำยิ่งๆขึ้นไปว่า อย่าคาดเดา

การคาดเดา อาจจะใช้ได้กับบางสิ่ง แต่เรื่องที่เกี่ยวกับจิต เราไม่สามารถไปคาดเดาอะไรได้เลย จิตเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องของเหตุของแต่ละคน




การให้ค่า คือ กิเลส


การให้ค่าต่อผัสสะที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะคิดว่าถูก,ผิด ใช่,ไม่ใช่ ดี,ไม่ดี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากอุปทาน เกิดจากกิเลสของแต่ละคน เกิดจากเหตุของแต่ละคนที่กระทำมากับตัวผัสสะที่เกิดขึ้น

การให้ค่าจะมีมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกิเลสของแต่ละคน อันนี้พูดแบบสภาวะหยาบๆ

กิเลสมากย่อมเกิดการยึดติดมาก ปัญญาย่อมเกิดได้ยาก เพราะกิเลสหนาแน่นกว่า การยึดติกการเกาะเกี่ยวจึงมากตาม จึงยากที่จะเห็นตามความเป็นจริงที่สภาวะนั้นๆเป็นอยู่ได้ เหตุใหม่จึงเกิดขึ้นเพราะเหตุนี้

โดยตามสภาวะของตัวสภาวะที่แท้จริง ล้วนมีแต่เหตุและผลของสภาวะนั้นๆ จึงทำให้เป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เกิดจากใครหรือเพราะอะไรทำให้เป็นไป แต่มันเป็นไปตามเหตุของสภาวะนั้นๆ เมื่อมีเหตุ ย่อมมีผล ดับที่เหตุได้ ผลย่อมไม่มี

เมื่อไม่มีเราเข้าไปเกี่ยวข้องในสภาวะนั้นๆ สุดท้ายตัวสภาวะย่อมดับลงไปเพราะตัวของสภาวะนั้นๆเอง

ส่วนตามความเป็นจริงต่อผัสสะที่เราเห็นโดยตัวสภาวะ คือ ความไม่เที่ยง เมื่อเห็นได้ชัดบ่อยๆ ย่อมมีอุปทานลดน้อยลงไปเรื่อยๆ จิตย่อมปล่อยวางได้ไวมากขึ้น

เรามีหน้าที่ดับเหตุทั้งปวงคือ ที่ตัวเราเอง ไม่ใช่ไปดับภายนอก ดับต้องดับภายใน ภายนอกไปดับให้ใครๆไม่ได้ ทุกคนต้องทำด้วยตัวเอง ดับด้วยตัวเอง เหตุของใคร ผลของคนๆนั้น ต้องดับกันเอง

เหตุเกิดจากอุปทาน ( กิเลส ) ที่ยังมีอยู่

ผล เกิดจากเหตุที่ยังมีอยู่


เมื่อยังมีเหตุ ย่อมมีผลมาแสดงเนืองๆให้ได้รับผลนั้นๆ คือ เหตุที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ในชีวิตของแต่ละคนนั่นเอง

ความดับ ความดับแห่งเหตุทั้งปวง คือ ดับที่ตัวต้นเหตุ ที่ทำให้เกิดเหตุทั้งปวง ต้นเหตุคือ ตัวเราเอง ต้องดับที่ตัวเรา

ทางที่จะดับ หรือ วิธีการที่จะดับเหตุทั้งปวงได้ คือ การเจริญสติ

เราทำหรือปฏิบัติเพื่อดับเหตุทั้งปวง ไม่ใช่ทำเพื่ออยากมี อยากได้ อยากสอน หรือสารพัดอยาก หรือแม้กระทั่งคิดว่าเป็นตามบัญญัติ หรือเป็นอะไรๆ นั่นคือ กิเลส แต่ไม่รู้ว่าเป็นกิเลส เพราะเกิดจากการให้ค่าต่อสิ่งๆนั้น

ทั้งๆที่สิ่งๆนั้น โดยสภาวะของตัวสภาวะเองเป็นกุศล แต่โดยบัญญัติ คือ กิเลสที่เกิดจากการให้ค่า ตามเหตุปัจจัยที่ทำมาของแต่ละคน เรามุ่งทำเพื่อให้มีสติรู้เท่าทันต่อกิเลสที่เกิดขึ้นในจิต เป็นเหตุให้ถ่ายถอนอุปทานมีอยู่

ให้ค่ามาก การยึดติดย่อมมีมาก เหตุมี ผลย่อมมีอย่างแน่นอน

คิดว่าดี ติดดี คิดว่าเป็นนั่นเป็นกุศล นี่เป็นอกุศล นั่นคือ กิเลส เพราะเป็นเพียงความคิด แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริง

เพราะล้วนเกิดจากความคิด เกิดจากจินตามยปัญญา ไม่ใช่เกิดจากภาวนามยปัญญา

หากเกิดจากภาวนามยปัญญา เช่นมีสภาวะรูอยู่กับรูปนามหรือ รู้อยู่ในกายและจิตนี้ แม้เพียงเสี้ยววินาที นี่คือ กุศลที่แท้จริง เพราะปราศจากคลื่นแทรกของกิเลส ปราศจากอามิสบูชาทั้งปวง กุศลที่แท้จริงอยู่ตรงนี้

ส่วนกุศลที่ยังเจือด้วยกิเลส ล้วนเป็นกุศลที่ก่อให้เกิดเหตุใหม่ได้ เพราะสำเร็จด้วยความคิด หาใช่โดยตัวของสภาวะเอง เมื่อเกิดจากความคิด ย่อมคิดเข้าข้างตัวเองว่า ดี,ไม่ดี กุศล,อกุศล ถูก,ผิด ใช่,ไม่ใช่ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นกิเลส

ตัวกุศลจริงๆ ต้องไม่มีการเบียดเบียนใครๆ ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตาม คือ อุเบกขาโดยตัวของสภาวะเอง ปราศจากตัวเราที่ยังมีอยู่ ( กิเลส ) เข้าไปเกี่ยวข้องกับสภาวะนั้นๆ

มีแค่ดู แค่รู้ ส่วนจะสักแต่ว่าได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับกิเลสที่เกิดขึ้น แล้วสติรู้เท่าทันกิเลสที่เกิดขึ้นในจิตไหมเท่านั้นเอง

เมื่อใดมีสติรู้เท่าทันต่อการปรุงแต่งของจิต สภาวะนั้นๆย่อมดับลงไป รู้ทันมากแค่ไหนดับได้ไวมากขึ้น เราจึงมาเจริญสติเพราะเหตุนี้ ไม่ใช่ทำเพื่อสนองตัณหาความทะยานอยากทั้งหลายที่เกิดขึ้น

แม้แต่นิพพานก็เป็นกิเลส ทั้งๆที่โดยสภาวะไม่ได้เป้นกิเลส แต่ที่เป็นกิเลสไปได้ เกิดจากการให้ค่าตามบัญญัติ ตามอุปทานที่ยังมีอยู่


นิพพาน โดยสภาวะคือ ความดับ ดับอะไร ดับที่เหตุ มีแค่นั้นเอง

นิพพานที่แท้จริงคือ ไม่มี โดยสภาวะ คือ ไม่มีเหตุ ตราบใดที่ยังมี นั่นคือ กิเลส



ยถาภูทัสสนะ การเห็นตามความเป็นจริง



การยึดถือว่า สัตว์มีอยู่ ( บุคคลมีอยู่ ) โยคาวจรผู้นั้น ต้องยอมรับรู้ถึงความพินาศ หรือความไม่พินาศของสัตว์ ( บุคคล ) นั้นด้วย

เมื่อยอมรับรู้ความไม่พินาศย่อมตกไปอยู่ในฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ( คือเห็นว่ายั่งยืน )

เมื่อยอมรับรู้ความพินาศ ก็ตกไปอยู่ในฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ ( คือเห็นว่าขาดสูญ )

เพราะเหตุไร?

( ตอบว่า ) เพราะไม่มีอย่างอื่นที่ติดตามมาจากการยอมรับรู้นั้น เช่นเดียวกับนมส้ม เป็นผลติดตามจากน้ำนม


โยคาวจรผู้นั้น เมื่อยึดถือว่า ” สัตว์ยั่งยืน ” ก็เรียกได้ว่า ล้าหลัง อยู่

เมื่อยึดถือว่า ” สัตว์ขาดสูญ ” ก็เรียกได้ว่าล้ำหน้า ไป



เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสไว้ว่า

” ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ถูกครอบงำด้วยทิฏฐิ ๒ ประการ พวกหนึ่งล้าหลังอยู่ พวกหนึ่งล้ำหน้าไป แต่พวกที่มีจักษุ ( ปัญญา ) เห็นอยู่

ภิกษุทั้งหลาย อันเทวดาและมนุษย์ ( พวกหนึ่ง ) ยินดีในภพ พอใจในภพ เพลิดเพลินในภพ เมื่อตถาคตแสดงธรรมเพื่อดับภพ จิตของพวกเขาจึงไม่แล่นเข้าไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมใจเชื่อ

ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งล้าหลังอยู่ด้วยอาการอย่างนี้แล

อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายพวกหนึ่งล้ำหน้าไปอย่างไร?

อันเทวดาและมนุษย์พวกหนึ่ง เบื่อหน่าย ระอา เกลียดชังอยู่ด้วยภพนั่นเอง ชื่นชมยินดีความปราศจากภพอยู่ ด้วยการปรารภว่า

ท่านผู้เจริญ เขาว่าในกาลใด อัตตานี้ขาดสูญพินาศไป เพราะร่างกายแตกดับ ภายหลังมรณะ ไม่มีอยู่ภายหลังตายแล้ว นั่นคือ ความสงบ นั่นเป็นสิ่งปราณีต นั่นเป็นความจริงแท้

ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์พวกหนึ่งล้ำหน้าไปด้วยอาการอย่างนี้แล

อนึ่ง ภิกษุทั้งหลาย ท่านผู้มีจักษุ ( ปัญญา ) ทั้งหลายเห็นอยู่อย่างไร?

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ เห็นภูต ( คือเบญจขันธ์ ) อ้วยอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น โดยความเป็นภูต ( ตามความเป็นจริง )

ครั้นเห็นภูต ( เบญจขันธ์ ) โดยตามความเป็นจริงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อความดับของภูต ( นั้น )

ภิกษุทั้งหลาย ท่านผู้มีจักษุทั้งหลายเห็นอยู่ด้วยอาการอย่างนี้แล “

การเห็นนามและรูปตามความเป็นจริง ซึ่งครอบงำสัตตสัญญา ( คือ ความสำคัญหมายรู้ว่า มีสัตว์ ) เสียได้ แล้วตั้งอยู่ในภูมิที่ไม่ลุ่มหลงของโยคาวจรผู้กำหนดรู้นามและรูปโดยนัยต่างๆได้ พึงทราบว่า เป็น ทิฏฐิวิสุทธิ ( คือ ความเห็นบริสุทธิ์ )



แม้แต่คำว่า ” นามรูปววัฏฐาน การกำหนดรู้นามและรูป ” ก็ดี คำว่า ” สังขารปริจเฉท ” การกำหนดรู้สังขาร ” ก็ดี เป็นชื่อของนามและรูปตามความเป็นจริงนี้เหมือนกัน

นามรูปววัฏฐาน และ สังขารปริจเฉท นี้ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณอันดับแรก หรือ ญาณ ๑ ในญาณ ๑๖

ข้อมูลของปริยัตินี้ นำมาจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค รจนาโดยสมเด็จพระพุทธโฆสเถระ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( อาจ อาสภมหาเถระ ) แปลและเรียบเรียง

.....................................................
มิจฉาปณิหิตจิต จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมตามพิชิตตัวเอง

สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม ตามการกระทำของแต่ละคน (ตามความเป็นจริง)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 260 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1 ... 6, 7, 8, 9, 10, 11, 12 ... 18  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร