วันเวลาปัจจุบัน 23 พ.ค. 2025, 07:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2010, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 820


 ข้อมูลส่วนตัว


การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
(จากหนังสือชีวิตประโยชน์ ความดี คุณค่าของพระพุทธศาสนา
โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ เชวง เดชะโกศยะ
พิมพ์ลงในหนังสือมรรคาแห่งปัญญา ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๗)

ถ้าถามว่า “เพื่อความสิ้นทุกข์สิ้นกิเลสนั้น ควรเริ่มต้นปฏิบัติตรงไหนดี จึงจะได้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์เต็มที่ นอกเหนือจากการทำบุญและทำทาน”
ในขั้นแรก สิ่งที่ควรรู้ ควรเข้าใจในเบื้องต้น คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
ศีล เป็นการปฏิบัติเพื่อควบคุมความประพฤติทางกาย และ วาจาเป็นการขัดเกลากิเลสอย่างหยาบ
สมาธิ เป็นการปฏิบัติเพื่อควบคุมจิตใจให้สงบ ระงับและตั้งมั่นเป็นการควบคุมกิเลสอย่างกลาง
ปัญญา เป็นการปฏิบัติเพื่อควบคุมความเห็นให้ถูกตรงในเบื้องต้นและเจริญภาวนาปัญญา เพื่อละทำลายกิเลสอย่างละเอียดให้ค่อยๆ หมดไปเพื่อความสิ้นทุกข์ สิ้นกิเลสในที่สุด
ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก บางแห่งจะเริ่มต้นแสดงด้วยศีลก่อนบางแห่งก็เริ่มต้นด้วยสมาธิ บางแห่งก็เริ่มต้นด้วยปัญญา ถ้าจะถือเอาตามปฐมเทศนา พระพุทธองค์ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์ ๘ อันนำด้วย สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ คือ ความเห็นชอบ และดำริชอบ ซึ่งเป็นองค์ของปัญญาแล้วต่อไปเป็นเรื่องของศีล (วิรตี ๓ ) และจบลงด้วยสัมมาสมาธิเป็นองค์สุดท้าย
ที่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ ก็เพื่อแก้ความเห็นผิด คือมิจฉาทิฏฐิเป็นเบื้องต้นเสียก่อน เพราะมีมิจฉาทิฏฐิจึงเป็นเหตุให้ทุศีล และจะมีผลให้เกิดความทุกข์ในภายภาคหน้า คือ ตกลงสู่อบายได้ อันมีแต่ความทุกข์อย่างร้ายแรง
มิจฉาทิฏฐิ นี้จะเป็นเหตุให้เกิดความคิดผิด? ดำริผิด คือ มิจฉาสังกัปปะ คิดหมกมุ่นอยู่แต่ในความกำหนัด ขัดเคือง หรือลุ่มหลงในวัตถุกาม คอยคิดร้าย พยาบาทและเบียดเบียนผู้อื่นอยู่เสมอทั้งใจกาย และ วาจาโดยที่ไม่รู้เลยว่านั่นเป็นการทำร้ายตนเอง และคนอื่นด้วย เป็นการเสียประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายไปอย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น เมื่อสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับทั้งมิจฉาทิฏฐิและมิจฉาสังกัปปะลงเลียได้ จึงเป็นปัจจัยให้ความประพฤติทางกาย วาจา เป็นไปในทางที่ดีงาม ไม่ทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น และพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ ศีลจึงเกิดขึ้น
ศีลที่เกิดขึ้นนี้จะตั้งอยู่ และเจริญต่อไปได้ด้วยมีปัญญาเป็นปัจจัยและศีลนั้นย่อมเจริญเป็นศีลที่วิ สุทธิได้
ปัญญาที่เป็นปัจจัยนี้ก็คือสุตาและจินตาปัญญา อันเกิดจากการฟังการศึกษาให้เข้าใจแล้วนำมาพิจารณาได้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ควรเว้น และควรทำเมื่อใดบ้าง อะไรบ้างที่ทำไม่ได้ อะไรบ้างที่ไม่ทำไม่ได้ เป็นต้น
จากความรู้ในเรื่องของชีวิตที่เป็นไปด้วยทุกข์และสุข อันประกอบด้วยกาย และจิตวิญญาณ (ขันธ์ ๕ ) ที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน และจะต้องต่อเนื่องไปในอนาคตของขันธ์ ๕ นั้น เป็นไปอย่างไร ชีวิตภายหลังความตายมีหรือไม่ตลอดจนความทุกข์ทั้งหลายที่ทุกคนต้องประสบ ความพยาบาท ความกลุ้ม เบื่อ เศร้าหมอง ทุกขเวทนาทั้งหลายเหล่านี้ เกิดขึ้นและเป็นไปได้อย่างไร
มีพุทธวิธีอะไรบ้างที่จะแก้ทุกข์ คลาย ทุกข์ และดับทุกข์ให้สิ้นไปได้ในที่สุด จะต้องทำอะไร ด้วยวิธีการอะไรบ้าง จะนำหลักศีลธรรมและจิตวิทยานอกพุทธศาสนามาใช้ไม่ได้เลยต้องใช้วิธีการ ปฏิบัติ ทั้ง ศีล สมาธิ และปัญญา เข้าร่วมกัน ไปพร้อมกัน เพื่อละอนุสัยอาสวะกิเลสให้สิ้นไป
การศึกษาและเรียนรู้เพื่อให้เกิดการรู้ถูกว่าถูก รู้ผิดว่าผิด และรู้ว่าความไม่รู้ของเราช่างมีมากเหลือเกิน เช่น เราไม่รู้จักโทษของความโกรธว่า นอกจากมันจะทำร้ายตัวเราเองแล้ว ยังทำร้ายวัตถุและบุคคลอื่นให้วอดวายด้วยเป็นต้น หรือไม่รู้ในเรื่องของสัจจะทั้ง ๔ ว่ามีเหตุอยู่ ๒ อย่าง ผลอยู่ ๒ อย่าง ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งปวงนั้น เป็นไปได้อย่างไร และทำไม เป็นต้น
ความรู้ ความเข้าใจ อันเกิดจากการศึกษาและเรียนรู้สิ่งทั้งหลายดังกล่าวมาแล้วย่อมมีประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราสมบูรณ์ขึ้นเข้ากับโลกและบุคคลต่างๆ ได้ดีขึ้น ไม่ขวางโลก ยอมรับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมทั้งตัวเราเองสามารถปรับตัวเองให้ทันตนทันคน ทันเหตุการณ์ และทันสมัยอยู่เสมอ
โดยเฉพาะในขั้นการปฏิบัติเพื่อเจริญวิปัสสนาภาวนา เพื่อละอัตตาตัวตนให้เข้าถึงอนัตตธรรม เป็นการปล่อยวาง ละทำลายอุปาทาน ความยึดมั่น ถือมั่นในตัวตน หรือ รูป นามของเรา ย่อมทำให้ทุกข์คลายออก สิ้นสะดุ้ง สิ้นกลัว สิ้นหวั่นไหว สิ้นทุกข์ และสิ้นกิเลสได้ในที่สุด ด้วยการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ และมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน คือกาย เวทนา จิต และ ธรรม ในอรรถกถาของมหาสติปัฏฐาน ๔ (ปปัญจสูทนีย์) แก้ว่า กาย คือ รูปขันธ์ เวทนา เป็นเวทนาขันธ์ จิตเป็นวิญญาณขันธ์ สัญญาและสังขารขันธ์เป็นธรรมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ดังนั้น กาย เวทนา จิต ธรรม ทั้ง ๔ เป็นผู้ถูกกำหนด ผู้ถูกดูผู้ถูกรู้ โดยผู้รู้ คือ สติสัมปชัญญะ ที่มีความเพียรเข้าร่วมอยู่ด้วยเสมอในการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน หรือ ย่อลงมาแล้วก็คือ เอาขันธ์ ๕ หรือนามรูปนั่นแหละมาเป็นผู้ถูกดู ผู้ถูกรู้ ด้วยการทำความรู้ตัวรู้ว่ากำลังมีผู้ดูกับผู้ถูกดูเกิดร่วมกันอยู่ในปัจจุบันธรรมนั้น
การกำหนดรู้ ตัวผู้กำหนด คือ ตัวเจตสิกที่ทำงานอยู่ภายในจิตใจได้แก่ วิริยะ สติ ปัญญา ทำงานร่วมกัน เช่น กำหนดในรูปที่นั่ง
สติ ระลึกลงไปในรูปนั่ง (กำหนด)
ปัญญา รู้อยู่ในท่าที่นั่งว่าเป็นรูป
วิริยะ คือ ความเพียรคอยตามระลึก ตามรู้ ร่วมอยู่ด้วย
ตัว ในที่นี้ก็คือ รูป หรือ นามกำลังถูกกำหนดอยู่ กำลังเป็น ตัวถูกรู้ และมีผู้ดู ผู้ทำงานกำลังดูอยู่ กำลังกำหนดอยู่(ตัว = ตัวรู้ ตัวถูกรู้)
ขณะตากำลังเห็นรูป หูกำลังได้ยินเสียง รูปและเสียงเป็นตัวถูกรู้ โดยจักขุวิญญาณเป็นตัวเห็นรูป และโสตวิญญาณเป็นตัวรู้เสียง ทั้งคู่เป็นนาม คือนามเห็น และ นามได้ยิน แล้วลงมารู้ที่ใจ (มโนวิญญาณ) ถ้ารูปสวยเสียงไพเราะ หรือ รูปไม่สวย เสียงด่าทอ หรือ ว่าเรา ความชอบ ความขัดเคือง ยินดี ยินร้ายจึงเกิดขึ้น
เพราะเรารับรู้ทางตา รับเสียงทางหู ด้วยความไม่รู้จึงเป็นปัจจัยให้มโนวิญญาณของเราถูกย้อม ปรุงด้วยโลภะ และโทสะ แล้วความยินดี ยินร้ายจิตเกิดขึ้น
ความไม่รู้ คือ โมหะ ทำให้เราไม่รู้ว่า ในปัจจุบันขณะที่ตาเห็นรูปหูได้ยินเสียงนั้นมีผู้รู้กับผู้ถูกรู้ กำลังเกิดขึ้น หรือมี รูป-นาม กำลังประชุมกันอยู่
แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะไปกำหนดรู้ที่ตัวรู้เสียบ้าง ความกำหนัดขัดเคืองและลุ่มหลงก็เกิดขึ้นไม่ได้จะเป็นการทำลายอัตตาและฆนสัญญา คือความเป็นกลุ่มก้อนของรูปนามขันธ์ ๕ ให้ค่อยๆ หมดไปได้
หรือ ขณะที่เรากำหนดดูรูปนั่ง รูปนอน รูปยืน หรือ รูปเดินก็ดีอิริยาบถทั้ง ๔ เป็นผู้ถูกกำหนด ผู้ถูกรู้ ด้วยมโนวิญญาณที่มีสติสัมปชัญญะทำความรู้สึกตัวอยู่ในปัจจุบันขณะนั้นๆ สติก็ทำหน้าที่เป็นสมาธิดับนิวรณ์ และมีสัมปชัญญะ หรือ ปัญญาที่รู้ว่าเป็นรูป หรือ เป็นนามอยู่ คือรู้ว่าตัวรู้ เป็นนาม ตัวถูกรู้จะเป็นรูปหรือนามก็ได้
แต่ถ้าวิปัสสนายังไม่เกิดเพราะสติสัมปชัญญะยังไม่แหลมคมพอก็กำหนดตัวถูกรู้ (รูปนาม) ไปก่อน เมื่อวิปัสสนาเกิดขึ้นแล้ว (ทิฐิวิสุทธิ) ตัวกำหนดดูจึงเปลี่ยนไปเป็นผู้รู้ขึ้นมา คือ รู้ว่าเป็นรูปอะไร นามอะไร ชัดเจนมากขึ้น ตามทวารทั้ง ๖ ด้วยอารมณ์ทั้ง ๖ ที่มากระทบอารมณ์เป็นธรรมชาติที่ถูกรู้ เป็นได้ทั้งรูป และ นาม ส่วนวิญญาณทั้ง ๖ (จิต) ที่เกิดขึ้นขณะรับอารมณ์เป็นธรรมชาติรู้ (ตัวรู้) เป็นนามธรรม
ดังนั้นการปฏิบัติเจริญสติสัมปชัญญะเพื่อทำความรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน มิใช่การนึกคิดเอาจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติจะต้องทำความเข้าใจพื้นฐานให้ถูกต้องเสียก่อนว่า ธรรมชาติ อะไรเป็นตัวรู้ และตัวถูกรู้ และ เป็นรูปอะไร นามอะไร ให้ชำนาญจนขึ้นใจ แล้วการสำรวมอินทรีย์จะดีขึ้น จะทำความรู้สึกตัวได้ดีขึ้นแยกออกว่า ความรู้สึกตัวต่างกับความนึกคิดอย่างไรขณะสำรวมอยู่ในอิริยาบถใด ทั้งใหญ่และย่อยก็รู้ไปเอง ตลอดจนนามต่างๆ ที่เป็นตัวรู้ เกิดขึ้นทางทวารต่างๆ ก็จะรู้เท่าทันไปเอง
จากไม่รู้เลย มารู้ตาม จากรู้ตาม มารู้เท่าทันตัวรู้ ตัวถูกรู้ได้ดีขึ้นเพราะสติสัมปชัญญะแหลมคมขึ้น เมื่อญาณปัญญาที่เรียกว่า วิปัสสนาเกิดขึ้นก็จะแยกรูปแต่ละรูป นามแต่ละนามพร้อมทั้งปัจจัยที่เกิดขึ้นได้ไปตามลำดับ
บางท่านก็ทำความรู้สึกตัวไม่ได้เลยจริงๆ แม้ล่วงเลยไปเป็นปีๆก็ยังทำไม่ได้ เพราะไปยึดติดในปริยัติ (สัญญา) จึงเป็นนึกคิดไปหมด(บริกรรม) แล้วเอาปริยัติ และปฏิเวธไปทำการปฏิบัติ เพราะมีความเข้าใจในนามรูป และตัวรู้กับผู้ถูกรู้ยังไม่พอ แยกไม่ออกว่าระหว่างความรู้สึกตัวด้วยสติและสัมปชัญญะเป็นอย่างไร และขณะใดไม่มีสติสัมปชัญญะ จึงไม่สามารถทำลายฆนสัญญา (กลุ่มก้อน) และตัดสินสติให้ขาดลงได้ วิปัสสนาจึงไม่เกิดขึ้น
การรู้ด้วยการศึกษาก็อย่าง (ปริยัติ) รู้ขณะกำลังปฏิบัติ กำหนดตัวรู้ ตัวถูกรู้ก็อย่าง การรู้เมื่อญาณปัญญาเกิดก็อีกอย่างหนึ่ง (วิปัสสนา) ความเบาสบาย แช่มชื่น สิ้นกลัว สิ้นหวั่นไหว ในขณะกำลังรู้ ตัวรู้ หรือ ตัวถูกรู้ว่าเป็นธรรมชาติของรูปอะไร หรือนามอะไรจะเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด ซึ่งท่านย่อมรู้ได้เอง การเจริญวิปัสสนาเป็นการเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นไปพร้อมกัน ในอารมณ์เดียวกัน เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่ต้องเรียนรู้ธรรมเหล่านี้เสียก่อนลงมือปฏิบัติ ว่าอะไรเป็นอะไร เพื่ออะไร ที่ไหน เมื่อใดและ อย่างไร คือ
๑. นามธรรม-รูปธรรม (ขันธ์ ๕)
๒. โยนิโสมนสิการ การทำความแยบคายไว้ในใจ ให้ถูกตรงกับสภาพธรรมตามเป็นจริง
๓. ธรรมชาติของสิ่งที่รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้
๔. ปัจจุบัน ปัจจุบันธรรม ปัจจุบันอารมณ์
๕. สำรวมอินทรีย์
๖. ความรู้สึกตัว กับ ความนึกคิด
ด้วยความเข้าใจ ความขึ้นใจ ความชำนาญ จากการฟัง และการปฏิบัติซ้ำๆ บ่อยๆ จะค่อยแก้ความเห็นผิด การปฏิบัติผิดซึ่งมีด้วยกันทุกคน เมื่อเริ่มต้นปฏิบัติ ทั้งหมดจะเป็นปัจจัยให้เกิดความรู้ถูกตรง ปฏิบัติถูกตรงให้ค่อยๆ ดีขึ้นจนเมื่อญาณปัญญาเกิดขึ้น แหลมคมสมบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้วความทุกข์ทั้งหลายก็ค่อย ๆ หมดไป

ที่มาhttp://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1144.php


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร