วันเวลาปัจจุบัน 05 พ.ค. 2025, 02:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2008, 20:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประเภทและระดับของผู้บรรลุนิพพาน

หัวข้อต่อไปนี้ น่าจะทำให้ชาวพุทธเข้าใจศาสนากว้างขึ้น รู้เข้าใจศัพท์ที่เคยเห็นได้ยินได้ฟังอย่างเลาๆ

คงเห็นหลักการหลักธรรมทางศาสนาใกล้ตัวมากขึ้น ฯลฯ

นำมาจากหนังสือพุทธธรรมหน้า 279 โดยท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 11 ธ.ค. 2008, 20:45, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2008, 20:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ประเภทและระดับของผู้บรรลุนิพพาน

ผู้ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงนิพพาน ที่ประสบผลสำเร็จบรรลุจุดหมายแล้วก็ดี ผู้ที่ดำเนินก้าวหน้ามาในทางที่ถูกต้อง
ถึงขั้นที่มองเห็นจุดหมายอยู่เบื้องหน้าแล้วและจะต้องบรรลุจุดหมายนั้นอย่างแน่นอนก็ดี ท่านจัดเข้าสังกัด
ในกลุ่มชนผู้เป็นสาวกที่แท้ของพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่าสาวกสงฆ์ ดังข้อความในบทสวดสังฆคุณว่า
“สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสงฺโฆ” ดังนี้เป็นต้น มีคำเฉพาะสำหรับเรียกเพื่อแสดงคุณสมบัติพิเศษของท่าน
ผู้เป็นสาวกที่แท้เหล่านี้อีกหลายคำ คำที่ใช้กันทั่วไปและรู้จักกันมากที่สุด คงจะได้แก่คำว่า “อริยบุคคล”
หรือ “พระอริยะ” ซึ่งแปลว่า ผู้เจริญบ้าง ท่านผู้ประเสริฐบ้าง ท่านผู้ไกลจากข้าศึกคือกิเลสบ้าง ฯลฯ
ความจริงคำว่า อริยบุคคล เป็นคำที่นิยมใช้สำหรับพูดถึงอย่างกว้างๆ หรือคลุมๆไป ไม่ระบุตัว หาใช่เป็นคำ
เฉพาะแต่เดิมไม่ คำเดิมที่ท่านใช้เป็นศัพท์สำหรับแยกประเภทหรือแสดงระดับขั้นในบาลีได้แก่คำว่า
ทักขิไณยะ หรือ ทักขิไณยบุคคล
อย่างไรก็ตาม คำว่า ทักขิไณยบุคคลก็ดี อริยบุคคลก็ดี ล้วนเป็นคำเลียนศัพท์ในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงเปลี่ยนแปรหรือปฏิวัติความหมายเสียใหม่ เช่นเดียวกับศัพท์อื่นๆอีกมากเช่น พรหม พราหมณ์ นหาตกะ เวทคู

คำว่า “อริยะ” ตรงกับสันสกฤตว่า “อารยะ” เป็นชื่อเรียกเผ่าชนที่อพยพเข้ามาทางตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป คือประเทศอินเดียเมื่อหลายพันปีมาแล้ว และรุกไล่ชนเจ้าถิ่นเดิมให้ถอยร่นลงไปทางใต้และป่าเขา พวกอริยะหรืออารยะนี้ (เวลาเรียกเป็นเผ่าชนนิยมใช้ว่าพวกอริยกะ หรืออารยัน)ถือตัวว่าเป็นพวกเจริญ และเหยียดชนเจ้าถิ่นเดิมลงว่าเป็นพวกมิลักขะ หรือมเลจฉะ คือพวกคนเถื่อน คนดง คนดอย เป็นพวกทาส หรือพวกทัสยุ ต่อมาเมื่อพวกอริยะเข้าครอบครองถิ่นฐานมั่นคงและจัดหมู่ชนเข้าในระบบวรรณะลงตัวโดยให้พวกเจ้าถิ่นเดิมหรือพวกทาสเป็นวรรณะศูทรแล้ว

คำว่าอริยะ หรืออารยะหรืออารยัน ก็หมายถึงชน ๓ วรรณะต้น คือ กษัตริย์ พราหมณ์ และแพศย์
ส่วนศูทรและคนทั้งหลายอื่น เป็นอนารยะทั้งหมด
การถืออย่างนี้เป็นเรื่องของชนชาติ เป็นไปตามกำเนิดจะเลือกหรือแก้ไขไม่ได้ เมื่อพระพุทธเจ้า
ออกประกาศพระศาสนา พระองค์ได้ทรงสอนใหม่ว่า ความเป็นอริยะหรืออารยะไม่ได้อยู่ชาติกำเนิด แต่อยู่ที่ธรรมซึ่งประพฤติปฏิบัติและฝึกฝนอบรมให้มีขึ้นในจิตใจของบุคคล ใครจะเกิดมาเป็นชนชาติใด
วรรณะไหนไม่สำคัญ ถ้าประอริยธรรมหรืออารยธรรม ก็เป็นอริยะคืออารยชนทั้งนั้น ใครไม่ประพฤติ
ก็เป็นอนาริยะทั้งสิ้น

สัจธรรมก็ไม่ต้องเป็นของที่พวกพราหมณ์ผูกขาดโดยจำกัดตามคำสอนในคัมภีร์พระเวท แต่เป็นความจริงที่
เป็นกลางมีอยู่โดยธรรมดาแห่งธรรมชาติ ผู้ใดรู้แจ้งเข้าใจสัจธรรมที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ผู้นั้นก็เป็นอริยะ
หรืออารยะ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษาพระเวทของพราหมณ์แต่ประการใด และเพราะการรู้สัจธรรมนี้ ทำให้
คนเป็นอริยะ สัจธรรมนั้นจึงเรียกว่า อริยสัจ
เมื่อว่าตามหลัก บุคคลที่จะเข้าใจอริยสัจ ก็คือท่านที่เป็นโสดาบันขึ้นไป ดังนั้นคำว่า “อริยะ” ที่ใช้
ในคัมภีร์โดยทั่วไป จึงมีความหมายเท่ากับทักขไณยบุคคล และอริยสัจ ๔ บางคราวท่านเรียกว่า
อริยธรรม หรือ อารยธรรม (ขุ.สุ.25/330/393ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม คำว่า อริยธรรม หรืออารยธรรมนี้ ท่านไม่ได้จำกัดความหมายตายตัว แต่ยักเยื้องใช้ได้
กับธรรมหลายหมวด (ดู ที.อ.2/323 ฯลฯ)บางทีผ่อนลงหมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ บ้าง
(องฺ.ทสก.24/168/296) ศีล ๕ บ้างก็มี (องฺ.จตุกฺก.21/61/90 ฯลฯ)ซึ่งโดยหลักการก็ไม่ขัด
กันแต่ประการใด เพราะผู้ที่จะรักษาศีล ๕ ได้อย่างถูกต้องตามความหมายอย่างแท้จริง (ไม่กลายเป็น
สีลัพพตปรามาสไป) และมั่นคงยั่งยืนไม่ด่างพร้อยตลอดชีวิตก็คือคฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดบันขึ้นไป

ในอรรถกถาทั้งหลายเมื่ออธิบายคำว่า “อริยะ” ที่ใช้กับบุคคล มักอธิบายลงเป็นอย่างเดียวกันหมดว่า
หมายถึงพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และสาวกของพระพุทธเจ้า (เช่น วินย. อ.1/185 ฯลฯ)
แต่บางแห่งก็สงวนสำหรับพระพุทธเจ้าอย่างเดียว (เช่น ม.อ.1/28/ฯลฯ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ธ.ค. 2008, 20:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนคำว่า “อริยะ” ที่ใช้เป็นคุณนามของข้อธรรมหรือการปฏิบัติ มักมีความหมายเท่ากับคำว่า โลกุตระ
(เช่น ม.อุ.14/258/181 ฯลฯ) แต่ไม่ถึงกับแน่นอนตายตัวทีเดียว (รวมทั้งโลกียะด้วย เช่น สํ.
อ.1/43; 3/415) เท่าที่กล่าวมาเกี่ยวกับคำว่า อริยะ พอสรุปได้ว่า แม้คำว่าอริยะนี้จะมีความหมายกว้าง
สักหน่อย แต่ในกรณีที่ใช้เรียกบุคคลแล้ว จะหมายถึงกลุ่มชนเดียวกับทักขิไณยบุคคลเป็นพื้น คือหมายถึงท่าน
ผู้พ้นจากภาวะปุถุชน และจัดเข้าในกลุ่มสาวกสงฆ์ (ที่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า อริยสงฆ์) * ยิ่งในคัมภีร์
รุ่นอรรถกถาลงมาด้วยแล้ว ใช้อริยะกันในความหมายนี้แทบจะตายตัวทีเดียว

อีกนัยหนึ่ง คำว่า อริยะนิยมใช้ในกรณีที่พูดถึงอย่างกว้างๆ คลุมๆ โดยไม่ระบุไม่จากแจงระดับขั้น
ส่วนทักขิไณยะ มักใช้ในกรณีแบบเป็นศัพท์เฉพาะในทางวิชาการ ดังนั้นที่ทั่วไปจึงพบคำว่าอริยะใช้ดาษไปมากกว่าคำว่า ทักขิไณย

ในที่สุดข้อที่ไม่ควรลืม ก็คือพระประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่ทรงมุ่งให้มองอริยะหรืออารยชนในความหมายใหม่ ซึ่งต่างจากพวกพราหมณ์บัญญัติไว้ เมื่อจับความหมายในแง่นี้ ก็ลงข้อสรุปได้อีกท่อนหนึ่งซึ่งเน้นความหมายในแง่สังคมว่า อริยะหรืออารยชนที่จะเป็นสมาชิกในสังคมใหม่คือชุมชนของชาวพุทธนั้น เป็นอารยชนโดยอารยธรรม คือ ด้วยการดำเนินชีวิตตามมรรคที่เรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา เป็นผู้มีศีลธรรมที่เป็นไปตามเหตุผลบริสุทธิ์ เพื่อไม่เบียดเบียนตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ให้มีชีวิตร่วมกันที่สงบสุข เอื้อแก่ความเจริญงอกงามแห่งประโยชน์ที่พึงได้พึงถึงตามลำดับทั้งแก่ตนและผู้อื่น ไม่ใช่ศีลธรรมที่ประพฤติตามคำบงการของ
เจ้าหน้าที่ผู้ผูกขาดศาสนาผู้ล่อและขู่ด้วยผลตอบแทนแก่ผู้หวังประโยชน์ส่วนตัวในรูปต่างๆ ซึ่งศีลธรรมจะ
บิดเบือนแปรรูปไปได้ต่างๆ ตามความพอใจของเจ้าหน้าที่ผูกขาดศาสนานั้นๆ ดังเช่นศีลธรรมแบบพิธีบูชายัญ
ของพวกพราหมณ์เป็นตัวอย่าง


* ตัวอย่างที่ใช้ในความหมายเช่นนี้ เช่น ขุ.ชา.27/171/171/55; 357/99; 593 ฯลฯ
ในกรณีเช่นนี้ อรรถกถาอธิบายว่า อริยะมี ๔ ประเภท คือ
๑. อาจารอริยะ - อารยชน โดยความประพฤติ คือ ผู้ดำรงอยู่ในหลักแห่งความดีงาม
๒. ทัสสนอริยะ -อารยชน โดยรูปร่างลักษณะอาการที่เห็นแล้วน่านิยมเลื่อมใส
๓. ลิงคอริยะ -อารยชน โดยเพศ คือนุ่งห่มครองเพศเป็นสมณะ
๔. ปฏิเวธอริยะ-อารยชน โดยการตรัสรู้ ได้แก่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพุทธสาวก
(ดู ชา.อ.3/55;4/12;5/167;6/269 ฯลฯ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2008, 14:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทักขิไณย - แปลว่า ผู้ควรแก่ทักขิณา มาจากคำว่า ทักขิณา ซึ่งตรงกับสันสกฤตว่า ทักษิณา
ตามความหมายเดิมในศาสนาพราหมณ์ หมายถึง ค่าตอบแทนการปะรกอบพิธี เฉพาะอย่างยิ่ง
พิธีบูชายัญ มีกำหนดไว้ในพระเวท ได้แก่ ทรัพย์สินเงินทอง ของใช้ เตียงตั่งเครื่องนั่งนอน ยวดยาน ธัญญาหาร สัตว์เลี้ยงทั้งหลาย เหล่าสาวสวยยุวนารี ตลอดจนที่ดินหรือดินแดนบางส่วนในราชอาณาจักร ยิ่งเป็นยัญพิธียิ่งใหญ่ขึ้นเท่าใด ทักษิณาก็มีมูลค่ามากมายมหาศาลขึ้นเพียงนั้น เช่น ในพิธีอัศวเมธ พระราชาจะจัดสรรพระราชทานทรัพย์สมบัติที่กวาดเก็บจากดินแดนที่ปราบลงได้ ตอดจนนางสนมกำนัลใน เป็นทักษิณาให้แก่ผู้ประกอบพิธี ทักขิไณย หรือ ผู้ควรแก่ทักษิณา ในที่นี้ก็ คือ พวกพราหมณ์ทั้งหลาย เพราะเป็นชนพวกเดียวที่ประกอบยัญพิธีได้ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกประกาศพระศาสนาแล้ว พระองค์ได้ทรงสอนให้ล้มเลิกพิธีบูชายัญ ทรงนำคำว่ายัญและทักขิณามาใช้ในความหมายใหม่ ยัญกลายเป็นวิธีบำเพ็ญทานโดยไม่มีการเบียดเบียนคนและสัตว์

ส่วนทักขิณา หมายถึงสิ่งของที่ควรให้หรือของที่ควรสละเป็นทาน หรือสิ่งที่บริจาคให้ด้วยศรัทธา * ไม่ใช่เป็นค่าตอบแทนหรือของตอบแทน หากจะรียกว่าเป็นการตอบแทนก็ต้องหมายถึงตอบแทนคุณความดี แต่ควรจะกล่าวว่า ของบูชาคุณความดีมากกว่า และทักขิณา ในกรณีนี้ ก็มิใช่ของเพริศพริ้งโอฬารเลยขอบเขต เป็นเพียงปัจจัย ๔ อย่างเรียบๆง่ายๆ พอเป็นเครื่องอาศัยที่จำเป็นของชีวิตเท่านั้น ทักขิไณยหรือผู้ควร
แก่ทักขิณาในกรณีนี้ ก็คือบุคคลที่ได้ฝึกอบรมตนในทางความประพฤติและคุณธรรมต่างๆอย่างเพียบพร้อม กลายเป็นตัวอย่าง แห่งชีวิตที่ดีงามและมีความสุข จนกระทั่งว่าแม้เพียงการมีบุคคลเช่นนี้อยู่ในโลกก็เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษย์คุ้มค่าอยู่แล้ว ยิ่งบุคคลเช่นนี้จารกเผยแผ่ธรรมด้วยการไปปรากฏตัวแสดงชีวิตแบบอย่างเช่นนั้นให้เห็นกว้างขวางออกไปหรือแสดงคำสอนแนะผู้อื่นเพื่อเข้าถึงชีวิตเช่นนั้นด้วยตนเองบ้าง ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ล้ำค่า เกินกว่าราคาของสิ่งตอบแทนใดๆ และบุคคลเช่นนี้ย่อมไม่เรียกร้องหรือหวังผลตอบแทนใดๆด้วย อาศัยปัจจัยเช่นนี้ย่อมทำให้ทักขิณานั้นมีผลมาก เพราะเป็นทักขิณาที่ช่วยให้คุณธรรมความดีงามและตัวอย่างที่เป็นอยู่มีอยู่จริงแห่งชีวิตที่มีความสุข ยังปรากฏอยู่ในโลกได้และเป็นประโยชน์กว้างขวางออกไป บุคคลเช่นนี้จึงชื่อว่าเป็นควรแก่ทักษิณาเพราะทำให้ทักษิณามีผลมาก และได้ชื่อต่อไปว่าเป็นนาบุญอันยอดเยี่ยมของโลก (อนุตฺรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส) เพราะเป็นที่งอกงามขึ้นและขจรขจายออกไปแห่งความดีงามต่างๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สุขนานัปการแก่ชาวโลกทั้งปวง แล้วไฉนจะมอบเครื่องอาศัยดำรงชีวิตเพียงเล็กน้อยให้แก่ผู้สอนความดีงามหรือธรรมแก่โลกไม่ได้

ยิ่งในสมัยปัจจุบัน ผู้ที่ทำงานผลิตเพื่อทำลาย หรืองานผลิตที่มีค่าเป็นการทำลาย พากันได้รับการ พะนอด้วยผลตอบแทนอย่างฟุ้งเฟ้อเหลือล้น ไฉนชาวโลกจะจุนเจือบุคคลผู้รักษาโลกและรักษาความดีงามของโลก
ด้วยการชะลอการผลิตและชะลอการบริโภคบ้างไม่ได้ และถ้าจะเปรียบเทียบกันแล้วทักขิไณยบุคคลเหลี้ ซึ่งเป็นผู้บริโภคเพียงเท่าที่จำเป็นย่อมทำให้เกิดความสิ้นเปลืองแก่โลกเพียงเล็กน้อย เรียกได้ว่าเป็นผู้เอาจากโลก
แต่น้อย และเป็นผู้ให้แก่โลกอย่างมากมาย

อนึ่ง ลักษณะการให้ทักขิณาก็ต่างจากการให้สิ่งตอบแทนหรือการให้ด้วยเสน่หากันของชาวโลก กล่าวคือ ไม่ได้ให้ด้วยความรู้สึกผูกพันหรือเกี่ยวข้องส่วนตัวว่า ท่านผู้นี้ได้ช่วยเหลือหรือได้ทำการนี้ให้แก่เรา หรือว่าเราให้แล้ว ท่านผู้นี้จะได้ทำสิ่งนี้ๆให้แก่เรา แต่ให้ด้วยศรัทธาในหลักหรือพลังแห่งความดีงาม ตั้งจิตสำนึกว่า เราให้แก่ท่านนี้ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในหมู่สงฆ์ หรือเราให้แก่ท่านผู้ธำรงความดีงามของโลกไว้ อย่างไรก็ดี
ทักขิไณยบุคคลนั้นจะต้องเป็นทักขิไณยที่แท้ คือทรงไว้ซึ่งคุณธรรมความดีงามที่ทำให้เป็นทักขิไณยบุคคลจริง

ผู้ใดไม่ได้เป็นทักขิไณยแท้จริง ท่านถือว่ายังไม่มีสิทธิสมบูรณ์ที่จะรับทักขิณาของชาวโลกมาบริโภค เช่น
ภิกษุสามเณรแม้จะมีความประพฤติดีงาม เป็นผู้มีศีล และตั้งใจปฏิบัติธรรม แต่ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่
การที่ภิกษุสามเณรนั้นรับอาหารบิณฑบาตของชาวบ้านมาฉัน ท่านถือว่าเป็นการบริโภคอย่างเป็นหนี้ คือเป็นหนี้
ต่อชาวโลก ควรจะเร่งปลดเปลื้องหนี้เสีย ด้วยการใส่ใจปฏิบัติธรรมให้บรรลุความเป็นทักขิไณยบุคคล ตัวอย่าง
เช่น พระมหากัสสปเถระกล่าวว่า ท่านบริโภคอาหารของชาวแว่นแคว้น อย่างเป็นหนี้ ๗ วัน จึงได้แจ้ง
ธรรม (สํ.นิ.16/514/260) หมายความว่า เมื่อท่านบวชแล้วก็ได้พยายามปฏิบัติธรรม แต่ก็ใช้
เวลาเป็นปุถุชนอยู่ ๗ วัน จึงบรรลุอรหัตผล กลายเป็นทักขิไณยบุคคล

ส่วนในชั้นอรรถกถา ท่านจำแนกการบริโภคของภิกษุสามเณรซึ่งเป็นรับทักขิณาของชาวบ้านมาฉันและใช้สอยว่ามี ๔ อย่าง

พวกที่ ๑ ได้แก่ ผู้ที่ทุกศีล ไม่มีคุณความดีสมควรแก่ภาวะของตน คงมีแต่การนุ่งห่ม เป็นต้น และอาการ
ภายนอกที่เป็นเครื่องหมายเพศ บุคคลเช่นนี้เป็นผู้ไม่มีสิทธิในทักขิณา การรับทักขิณามาฉันและใช้สอยของ
ผู้เช่นนี้เรียกว่าเป็น เถยยบริโภค คือบริโภคอย่างขโมย หรือแอบลักเขากิน

พวกที่ ๒ คือผู้ที่มีศีล แต่เมื่อบริโภคปัจจัย ๔ ไม่ได้พิจารณา เช่นฉันอาหารไม่พิจารณาว่า เราฉันเพียงเพื่อ
ให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ ยังชีวิตให้เป็นไป ให้มีสุขภาพเกื้อหนุนแก่การปฏิบัติธรรม มิใช่ฉันเพื่อโก้เก๋สนุกมัวเมาติดในรส เป็นต้น การบริโภคอย่างนี้เรียกว่าเป็น อิณบริโภค คือบริโภคอย่างเป็นหนี้ แต่ถ้าบริโภคโดยพิจารณาไม่ชื่อว่าเป็นหนี้ (เบากว่าในบาลีที่ว่าตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ย่อมชื่อว่าบริโภคอย่างเป็นหนี้)

พวกที่ ๓ คือพระเสขะหรือทักขิไณยบุคคล ๗ พวกแรก เมื่อรับทักขิณามาบริโภค การบริโภคของท่าน
เรียกว่า ทายัชชบริโภค แปลว่าบริโภคฐานทายาทหรือมีสิทธิโดยชอบธรรม ในฐานะที่เป็นทายาทของ
พระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นทักขิไณยบุคคลสูงสุด

พวกที่ ๔ ได้แก่ พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้พ้นจากความเป็นทาสแห่งตัณหาแล้ว เป็นผู้มีคุณความดี
สมควรแก่ของถวายอย่างแท้จริง มีสิทธิสมบูรณ์ในการรับและบริโภคทักขิณา การบริโภคของพระอรหันต์
ท่านเรียกว่า สามีบริโภค คือบริโภคฐานเป็นเจ้าของ (วินย.อ.2/229ฯลฯ)
ในที่นี้สามารถสรุปได้อย่างหนึ่งว่า การใช้คำว่าทักขิไณยเป็นการเน้นความหมายทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม


* อรรถกถาว่า ของที่เขาให้โดยเชื่อกรรมและวิบากแห่งกรรม มิได้คำนึงว่า ท่านผู้นี้จะได้ช่วยรักษาโรคให้แก่เรา หรือจะได้ช่วยรับใช้เดินเรื่องให้เรา เป็นต้น (ดู ขุทฺทก.อ.200)
บางแห่งว่า ของที่เขาเชื่อปรโลกแล้วพึงให้ (เช่น วิสุทธิ..1/282 ฯลฯ)

- ทักขิณา + เณยฺย ปัจจัยในตัทธิต = ทกฺขิเณยฺย แปลรูป เป็นไทย => ทักขิไณย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ธ.ค. 2008, 20:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คติเกี่ยวกับทักขิณาและทักขิไณยนี้ (รวมทั้งเรื่องทานบางแง่) รวมอยู่ในหลักการใหญ่ทางสังคมข้อหนึ่ง
ของพระพุทธศาสนา คือการให้ชุมชนอิสระอยู่ชุมชนหนึ่งในสังคมมนุษย์ ซึ่งไม่ขึ้นต่อระบบต่างๆในสังคม
ส่วนใหญ่ ชุมชนนี้แลกเอาความเป็นอิสระของตน ด้วยการไม่เข้ายุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่างๆในสังคม
และไม่วุ่นกับสภาบันต่างๆ ที่กำหนดกันไว้ของสังคมนั้นโดยตรง ชุมชนนี้มีระบบความเป็นอยู่ของตนเอง ที่อาศัย
ความมีจิตใจอิสระเป็นพื้นฐาน และเกื้อกูลแก่สังคมด้วยการดำรงสืบทอดธรรมให้แก่สังคม และด้วยระบบชีวิต
ที่เป็นอิสระนั้น สมาชิกของชุมชนนี้ ไม่รับเอาผลประโยชน์ตอบแทนการทำงานของตน เป็นอยู่เพียงด้วย
ทักขิณาอันเกิดจากการเจียดส่วนอุทิศบูชาธรรม (หมายถึงการฝึกหัดขัดเกลากิเลสเช่นความโลภเป็นต้น และ
ช่วยช่วยอุดหนุนการดำรงสืบทอดธรรม) ของคนในสังคมใหญ่ ในรูปที่เรียกบิณฑบาตเป็นต้น โดยไม่ทำให้
เกิดความกระทบกระเทือนแก่ความเป็นอยู่หรือชีวิตประจำวันของเขา เป็นเหมือนหมู่ผึ้งที่เที่ยวสัญจรไปเก็บ
รวบรวมเกษรและน้ำหวานจากนานาพรรณไม้มาทำน้ำผึ้งและสร้างรังของตน โดยไม่ทำดอกไม่ให้ชอกช้ำ
แม้แต่สีและกลิ่นก็ไม่ให้เสื่อมเสีย- (ขุ.ธ.25/14/21) พร้อมกันนั้น ก็ช่วยให้พืชพรรณต่างๆเจริญ
งอกงามขยายพันธ์แพร่หลายออกไป สมาชิกของชุมชน คือสงฆ์นี้ อาศัยผู้อื่นทั่วไปเป็นอยู่ จึงมีพันธะ
โดยธรรมและจึงเป็นอิสระที่จะประพฤติเพื่อประโยชน์สุขของตนทั่วๆไป ชีวิตของท่านขึ้นต่อทุกคน แต่ไม่ขึ้น
ต่อใครเลย ท่านอาศัยทุกคน จึงเป็นของทุกๆคน แต่ไม่เป็นคนของใครเลย ในสังคมที่จัดสรรความเป็นอยู่
โดยชอบแล้ว ไม่พึงมีคนยากไร้ (ดู จักกวัตติสูตร, ที.ปา.11/35/65)จึงไม่มีคนขอทาน ในสังคม
เช่นนั้น จะมีแต่สมาชิกของชุมชนอิสระนี้พวกเดียวที่ถือว่าตนเป็นอยู่โดยอาศัยผู้อื่นด้วยทักขิณาเช่นบิณฑบาต
โดยที่บิณฑบาตนั้นหาใช่เป็นการขอทานแต่อย่างใดไม่ หลักการทางสังคมในเรื่องชุมชนอิสระที่เป็นส่วน
ผนวกอันจำเป็นสำหรับสังคมที่ดีงามอย่างนี้ ยังไม่มีในลัทธินิยมทางสังคมเศรษฐกิจหรือการเมืองอื่นใด

เกณฑ์จำแนกประเภททักขิไณย หรือ อริยบุคคลนั้นว่าโดยหลักใหญ่ มี ๒ วิธี คือ แบ่งแบบ ๘ (แบ่งตาม
ขั้น หรือ ระดับที่กำจัดกิเลสได้ หรืออาจเรียกว่า แบ่งแบบลบ) และแบ่งแบบ ๗ (แบ่งตามคุณธรรม
หรือ ข้อปฏิบัติที่ให้เข้าถึงระดับ หรือ ขั้นนั้นๆ จะเรียกว่า แบ่งแบบบวกก็ได้)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ธ.ค. 2008, 18:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว



แบบที่ 1 ทักขิไณยบุคคล ๘ หรือ อริยะบุคคล ๘


เกณฑ์แบ่งแบบนี้ จัดตามกิเลสคือสังโยชน์ที่ละได้ในแต่ละขั้น พร้อมไปกับความก้าวหน้าในการบำเพ็ญไตรสิกขาคือศีล สมาธิ และปัญญา ดังนั้น จึงควรรู้จักสังโยชน์ไว้ก่อน สังโยชน์ แปลตามศัพท์ว่าเครื่องผูก หมายถึง กิเลสที่ผูกใจสัตว์ หรืออกุศลธรรมที่ผูกมัดสัตว์ไว้กับทุกข์ในสังสารวัฏเหมือนผูกเทียมสัตว์ไว้กับรถ มี ๑๐ อย่างคือ *

ก. โอรัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์ เบื้องต่ำ หรือขั้นหยาบ) ๕ อย่าง คือ


๑. สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวของตน ความเห็นที่ยังติดแน่นในสมมุติว่าเป็นตัวตน เราเขา เป็นนั่นเป็นนี่ มองไม่เห็นสภาพความเป็นจริงที่สัตว์บุคคลเป็นเพียงองค์ประกอบต่างๆมาประชุมกันเข้า ทำให้มีความเห็นแก่ตัวในขั้นหยาบ และความรู้สึกกระทบกระทั่งบีบคั้นเป็นทุกข์ได้รุนแรง **

๒. วิจิกิจฉา ความลังเล สงสัย เคลือบแคลงต่างๆ เช่น สงสัยในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์
ในสิกขา ในเรื่องที่มาที่ไปของชีวิต ในปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น ทำให้ไม่มั่นใจไม่เข้มแข็งแกล้วกล้า
ที่จะดำเนินชีวิตตามหลักธรรม ด้วยความเหตุผล และในการที่จะเดินหน้าแน่วดิ่งไปในอริยมรรค

๓.สีลัพพตปรามาส ความถือมั่นศีลพรต คือความยึดถือผิดพลาดไปว่า จะบริสุทธิ์ หลุดพ้นได้เพียงด้วยศีลและพรต ได้แก่การถือศีล ระเบียบ แบบแผน บทบัญญัติ และข้อปฏิบัติต่างๆ โดยสักว่าทำตามๆกันไปอย่าง
งมงาย เห็นเป็นขลังหรือศักดิ์สิทธิ์ ติดอยู่แค่รูปแบบหรือพิธีรีตองก็ดี ถือด้วยตัณหาและทิฏฐิ คือปฏิบัติ
เพราะอยากได้ผลประโยชน์ตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะเห็นว่าจะให้ได้เป็นนั่นเป็นนี่ก็ดี ไม่เป็นไปตามความหมายและความมุ่งหมายที่แท้จริงของศีลและวัตร ทำให้ปฏิบัติเขวออกนอกลู่นอกทาง หรือเลยเถิดไป ไม่เข้าสู่อริยมรรค

๔. กามราคะ ความกำหนัดในกาม ความติดใจในกามคุณ

๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งในใจ ความหงุดหงิดขัดเคือง หรืองุ่นง่านใจ

ข.อุทธัมภาคิยสังโยชน์ (สังโยชน์ เบื้องสูง หรือขั้นละเอียด) ๕ อย่าง คือ

๖. รูปราคะ การติดใจในรูปธรรมอันประณีต เช่น ติดใจในอารมณ์แห่งรูปฌาน พอใจในรสความสุข
ความสงบของสมาธิขั้นรูปฌาน ติดใจปรารถนาในรูปภพ เป็นต้น

๗. อรูปราคะ การติดใจในอรูปธรรม เช่น ติดใจในอารมณ์แห่งอรูปฌาน ติดใจปรารถนาในอรูปภพ
เป็นต้น

๘. มานะ ความถือตัว หรือสำคัญตนเป็นนั่นเป็นนี่ เช่นว่า สูงกว่าเขา เท่าเทียมเขา ต่ำกว่าเขา เป็นต้น

๙. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน จิตใจไม่สงบ ว้าวุ่น ซัดส่าย คิดพล่านไป

๑๐.อวิชชา ความไม่รู้จริง ไม่รู้เท่าทันสภาวะ ไม่เข้าใจกฎธรรมดาแห่งเหตุและผล
หรือไม่รู้อริยสัจ

....

* เช่น สํ.ม. 19/349/90 ฯลฯ (พึงสังเกตว่า ในบาลีทั่วไป สังโยชน์ข้อ ๔ และ ๕ เป็น กามฉันทะและพยาบาท เฉพาะที่ องฺ.ติก.20/534/312 เป็น อภิชฌาและ แต่ที่เรียนกันมาเป็น กามราคะและปฏิฆะนั้น ก็เพราะถือตามคัมภีร์ชั้นรองและคัมภีร์อรรถกถาฎีกา เช่น ขุ.ปฏิ. 31/535/436 ฯลฯ)

** คำจำกัดความตามแบบว่า มองเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณ เป็นตน
มองเห็นตนมีรูป มีเวทนา มีสัญญา มีสังขาร หรือมีวิญญาณ
มองเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร หรือวิญญาณ ในตน
หรือมองเห็นตนในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร หรือในวิญญาณ (ดู ม.มู.12/507/548 ฯลฯ)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ธ.ค. 2008, 08:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ทักขิไณยบุคคล หรือพระอริยบุคคล ๘ นั้น ว่าโดยระดับหรือขั้นตอนใหญ่แล้ว ก็มีเพียง ๔ และสัมพันธ์กับการละสังโยชน์ ดังนี้ *

ก. พระเสขะ (ผู้ยังต้องศึกษา) หรือสอุปาทิเสสบุคคล (ผู้ยังมีเชื้อคืออุปาทานเหลืออยู่) คือ


๑.พระโสดาบัน ผู้ถึงกระแสคือเข้าสู่มรรค เดินทางถูกต้องออย่างแท้จริง หรือผู้ปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคอย่างแท้จริงแล้ว (ดู สํ.ม.19/1430-2/434-5) เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และ ทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์ได้ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส

๒. พระสกทาคามี ผู้กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวก็จะกำจัดทุกข์ได้สิ้น เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และ ทำได้พอประมาณในปัญญา นอกจากละสังโยชน์ได้ ๓ ข้อต้นได้แล้ว ยังทำราคะ โทสะ และโมหะ ให้เบาบางลงด้วย **

๓. พระอนาคามี ผู้จะปรินิพพานในที่ผุดเกิดขึ้น ไม่เวียนกลับมาอีก เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้บริบูรณ์ในสมาธิ แต่ทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์ได้อีก ๒ ข้อ คือ กามราคะ และปฏิฆะ (รวมเป็นละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ครบ 5 ข้อ)

ข. พระอเสขะ (ผู้ไม่ต้องศึกษา) หรืออนุปาทิเสสบุคคล (ผู้ไม่มีเชื้อคืออุปาทานเหลืออยู่เลย) คือ


๔.พระอรหันต์ ผู้ควร (แก่ทักขิณาหรือการบูชาพิเศษ) หรือผู้หักกำแห่งสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในสิกขาทั้งสาม คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ละสังโยชน์เบื้องสูงได้อีก ๕ ข้อ (รวมเป็นละสังโยชน์หมดทั้ง ๑๐ )

.....

* ทักขิไณย ๒ คือ พระเสขะ คือพระอเสขะ มาใน องฺ. ทุก.20/280/80 ฯลฯ ทักขิไณยหรืออริยบุคคล ๔ เช่น ที.สี.9/250/199 ฯลฯ จำแนกพระโสดาบันออกอีกเป็น ๓ ประเภท และพระอนาคามี
เป็น ๕ ประเภท รวมกับพระสกทาคามีอีก ๑ เป็นสอปาทิเสสบุคคล ๙ ประเภท


** ขุ. ปฏิ.31/535/436 ว่าพระสกทาคามีละสังโยชน์ (อีก) ๒ คือ กามราคะ และปฏิฆะ
อย่างหยาบ (และว่า) พระอนาคามีละกามราคะ และปฏิฆะอย่างละเอียด ) วิสุทธิ. 3/326 ว่า
พระสกทามีทำกามราคะและพยาบาทให้เบาบาง แต่ทั้งหมดนี้ได้ความเท่ากัน

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2009, 13:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 16 พ.ย. 2009, 15:28
โพสต์: 307

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาครับ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร