วันเวลาปัจจุบัน 20 ก.ค. 2025, 02:13  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.ย. 2009, 15:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ก.ค. 2009, 22:19
โพสต์: 271

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อ่านแล้วจะเข้าใจบุญและบาปได้ดียิ่งขึ้น บางคนคิดว่าตัวเองได้บุญ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้เข้าใจก่อนจึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์อันสูงสุด....

@ธรรมะเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก เพราะเกิดดับเร็ว อย่างจิตเจตสิกเกิดพร้อมกัน และดับพร้อมกัน บางครั้งเป็นกุศล บางครั้งเป็นอกุศล เช่น ที่จิตเป็นโลภะ เราคิดว่าดี เป็นความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เวลาที่ได้มาแล้ว ดีใจมาก เพลิดเพลินเป็นสุข สนุกสนาน คิดว่าขณะนั้นก็ดี เพราะฉะนั้นดีของเรา กับดีของธรรมะ เป็นคนละอย่าง ดีของเราคือความรู้สึกเป็นสุข แต่จริงๆ แล้วคืออกุศล ถ้าไม่ศึกษาธรรมะ เราเข้าใจธรรมะผิด อย่างเวลาที่เราสบายใจ ไปนั่งสมาธิ เราก็คิดว่าขณะนั้นเป็นกุศลแล้ว โดยที่ไม่รู้ว่าขณะนั้นมีโลภะ แล้วก็มีโมหะ คือมีความไม่รู้และมีความติดข้องเกิดขึ้นในความรู้สึกสบายนั้น
ถ้าศึกษาธรรมะแล้ว จะทำให้เข้าใจว่า ขณะที่เป็นกุศลต้องไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ จิตในชีวิตประจำวันเกิดขึ้นรับผลของกรรม ขณะที่เห็นเป็นวิบากเป็นผลของกรรม แม้ว่าไม่ได้ประสบอุบัติเหตุหรือได้ลาภยศ อื่นใดก็ตาม ขณะได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น เป็นผลของอดีตกรรมที่ได้กระทำแล้วทั้งสิ้น
กรรมที่ได้กระทำแล้วเป็นเหตุในอดีต ซึ่งแม้จะได้กระทำมานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ ก็ยังเป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตได้ ฉะนั้น ถ้าใครคิดเดาว่าเห็นสิ่งนั้นเป็นผลของกรรมอะไร ได้ยินเสียงนั้นเป็นผลของกรรมอะไร ก็จะไม่พ้นจากความไม่รู้และวุ่นวายใจ เพราะคิดเดาในสิ่งซึ่งไม่อาจมีปัญญาขั้นที่จะรู้จริงได้ แต่วิบากซึ่งเป็นผลของกรรมก็กำลังมีปรากฏให้รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย
ชื่อว่า บุญ เพราะมีความหมายว่า “ชำระ” ชำระ ก็คือทำให้หมดจด คือทำสันดานของตนให้หมดจดจากมลทิน เครื่องเศร้าหมอง อันได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ มลทิน ก็คือ สนิม เครื่องเศร้าหมอง หรือเครื่องแปดเปื้อนสันดานในที่นี้ คือ จิตสันดาน
ชื่อว่า “บุญ” โดยความหมายว่า “เป็นของที่ควรทำให้เต็ม” ก็ได้ คือ ถ้ายังไม่มีก็ทำให้มีขึ้นมา มีแล้วนิดหน่อยยังไม่เต็ม ก็ต้องทำให้เต็มให้บริบูรณ์ เรียกว่า “บุญ”

หลักพิจารณาว่าเป็นบุญหรือไม่
เราจะทำความดีอะไร จะเป็นทานก็ตาม เป็นศีลก็ตาม การกระทำนั้นมีลักษณะเป็นการชำระสันดานให้หมดจดหรือไม่ ถ้าใช่...ก็ชื่อว่าเป็นบุญ ถ้าไม่ใช่...ก็ไม่ชื่อว่าบุญ ถ้าหากว่าประกอบด้วยความต้องการแล้วจึงให้ทาน ประสงค์ผลเฉพาะหน้า ที่จะได้ในเวลานั้น เช่น ชื่อเสียงเกียรติยศ คำสรรเสริญเป็นต้น ก็ย่อมไม่เกิดการชำระจิตสันดานให้หมดจดได้

ความอยากได้เป็นราคะหรือโลภะอยู่แล้ว แม้ทำแก่พระสงฆ์ หรือบริจาคให้แก่วัด .. ถ้าทำด้วยความต้องการ ในสิ่งที่แลกเปลี่ยนแล้ว ก็ไม่เห็นว่าจะเป็นได้อย่างไร จิตใจเสียสละไม่เกิดขึ้นเลยตั้งแต่ต้น เพราะพอมีเครื่องล่อใจจึงได้ทำ

บุญอยู่ที่ไหน
บุญอยู่ที่จิตที่ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ เช่นถ้าขณะใดที่ประสบพบผู้ที่กำลังทุกข์ยากเดือดร้อน แล้วมีจิตใจอ่อนโยน มีความเป็นมิตร ถ้าต้องการที่จะเกื้อกูล ขณะนั้นจิตไม่มีโทสะปราศจากโลภะ ไม่ตระหนี่แล้วสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของคนอื่น ..ขณะนั้นเป็นบุญ นี่คือธรรมปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ที่ว่าจะได้บุญ แต่ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขณะนั้นเป็นบุญโดยไม่ใช่หวังว่า ทำไปเพื่อจะได้บุญมากๆ เพราะขณะที่กำลังหวัง หรือต้องการบุญขณะนั้นไม่ใช่บุญ แต่เป็นโลภะเป็นบาป

บุญมี 10 อย่าง คือ กุศลกรรมบถ 10
-การงดเว้นจากการฆ่าสัตว์
-การงดเว้นจากการถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้
-งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
-งดเว้นจากการพูดเท็จ
-งดเว้นจากการพูดส่อเสียด
-งดเว้นจากการพูดคำหยาบ
-งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ
-ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น
-ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น
-มีความเห็นถูก คือเห็นว่าการทำบุญมีผล

เรื่องของการทำบุญนั้น ความสำคัญอยู่ที่ ทิฏฐุชุกัมม์ คือการทำความเห็นให้ตรง เช่น เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น การที่จะดำเนินชีวิตอยู่ด้วยดี ก็คือ การที่มีปัญญาเป็นคุณสมบัติ หมายถึง สามารถเท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นทุกๆทวารได้นั่นเอง

หลักการศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญาว่า มี 3 อย่าง คือ
-สุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการฟัง
-จินตามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการคิด
-ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติ

ปัญญาจำแนกโดยประเภทมี 2 คือ
1. โลกิยปัญญา = ปัญญาของโลกิยชน
2. โลกุตตรปัญญา = ปัญญาของอริยบุคคล
อีกอย่างหนึ่งคือ
1. สหชาติกปัญญา = ปัญญาติดตัวมาตั้งแต่เกิด
2. ภาวนามยปัญญา =ปัญญาเก็บ ประสบการณ์ได้ทีหลัง..
ปัญญาทั้ง 3 ต้องมีคุณธรรมประกอบด้วย จึงจะบรรลุจุดหมายที่แท้จริงของชีวิตที่ปรากฏในโอวาท 3 คือ
1. สพฺพปาปสฺส อกรณํ ไม่ทำความชั่วทั้งปวง เว้นจากทุจริต คือประพฤติชั่วด้วยกาย วาจา ใจ
2. กุสลสฺสูปสมฺปทา ทำแต่ความดี ประกอบสุจริต คือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ
3. สจิตฺตปริโยทปนํ ทำใจของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ ทำใจของตนให้หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองใจ มีโลภ โกรธ หลง
บุญไม่ขึ้นกับจำนวนเงินหรือปริมาณสิ่งของที่ให้ บุญที่เกี่ยวกับทานนี้จะนับว่ามากน้อย ไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินหรือปริมาณสิ่งของที่สละให้แก่คนอื่นเลย ให้มากได้บุญน้อยก็มี ให้น้อยได้บุญมากก็มี ดังเรื่องในธรรมบทว่า
มีเศรษฐีผู้หนึ่งมีทรัพย์หลายสิบโกฏิ ปรารถนาจะทำบุญถวายภัตตาหารพระภิกษุสงฆ์แต่ทว่า ถ้าจะทำด้วยตนเองก็ต้องขวนขวายมาก ต้องตื่นแต่เช้ามาจัดแจงสำรับข้าวปลาอาหารเป็นต้น จึงมอบให้บ่าว (คนรับใช้) ทำแทนทุกอย่าง รวมทั้งอาหารหวานคาว สำหรับถวายพระภิกษุสงฆ์ ต่อมาทั้งสองคนได้ละโลกนี้ไปแล้ว นายได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นต่ำ แต่บ่าวได้เข้าถึงสวรรค์ชั้นสูง ทั้ง ๆ ที่บ่าวไม่ต้องจ่ายเงินในการนี้เลย
นี้เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า จิตใจในการให้นั้นสำคัญกว่าวัตถุ เนื่องจากบ่าวกระตือรือร้นและมีความเลื่อมใสเต็มเปี่ยม ส่วนนายนั้นแม้มีจิตทำบุญ แต่กลัวลำบากถ้าหากต้องลงมือทำเอง แสดงว่าศรัทธา ความขวนขวายในการบุญมีกำลังน้อยนิด บุญของสองคนนี้จึงส่งผลให้ไปสวรรค์ชั้นที่ต่างกัน
"บุคคลไม่ควรดูหมิ่นบุญว่าบุญมีประมาณน้อย ม้หม้อน้ำยังเต็มได้ด้วยหยาดน้ำที่ตกลงมาทีละหยาดๆ ฉันใด นักปราชญ์สั่งสมบุญแม้ทีละน้อยๆ ย่อมเต็มด้วยบุญ ฉันนั้น" ในทางตรงกันข้าม เราก็ไม่ควรดูหมิ่นบาปเล็กน้อย ว่าจะไม่เพิ่มมากขึ้น ในเมื่อเราทำบาปนั้นบ่อยๆ และเมื่อทำบ่อยๆ จิตใจก็คุ้นกับบาป เป็นเหตุให้บาปเกิดได้ง่ายและบ่อยขึ้น


แก้ไขล่าสุดโดย ศิริพงศ์ เมื่อ 02 ก.ย. 2009, 16:29, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร