วันเวลาปัจจุบัน 04 พ.ค. 2025, 00:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=7



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2009, 07:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 เม.ย. 2009, 16:30
โพสต์: 133

อายุ: 0
ที่อยู่: Uttaradit

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ปริศนาธรรมจากพระพุทธรูป

พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าชาวพุทธให้ความเคารพศรัทธามาก
บางแห่งก็มีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น หลวงพ่อพุทธโสธร วัดโสธรวราราม จังหวัดฉะเชิงเทรา
หรือ พระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัด พิษณุโลก เป็นต้น
ความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปแต่ละองค์นั้น
มีตำนานเล่าขานกันมามากบ้างน้อยบ้างสุดแท้แต่ความศรัทธา ของชาวบ้าน
แต่สิ่งที่เหมือนกันของรูปเปรียบหรือตัวแทนของพระพุทธเจ้านี้
ที่สังเกตเห็นได้มีอยู่ด้วย กัน 3 ประการ คือ

1. พระเศียรแหลม
มีคำถามว่า
ทำไมพระพุทธรูปจึงมีพระเศียรแหลมในเมื่อพระพุทธเจ้าของเราก็เป็นมนุษย์
ที่เป็นเช่นนี้เพราะ เขาสร้างพระพุทธรูปเพื่อให้คิดเป็นปริศนาธรรม
พระเศียรที่แหลมนั้นหมายถึง สติปัญญาที่เฉียบแหลม
ในการดำเนินชีวิตสอนให้ชาวพุทธแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยสติปัญญาไม่ใช่ใช้อารมณ์
หากใช้ปัญญาคิดพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนแล้วจึงทำ ความผิดพลาด
ก็เกิดขึ้นน้อย หรือไม่เกิดขึ้นเลย


2. พระกรรณยาน หรือหูยาน

เป็นปริศนาธรรมให้ชาวพุทธเป็นคนหูหนัก คือมีจิตใจหนักแน่นมั่นคงนั่นเอง
ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ แต่คิดพิจารณาไตร่ตรองด้วยสติปัญญาอันแยบคายแล้วจึงเชื่อ
ในฐานที่เป็นชาวพุทธก็ ต้องเชื่อในกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้รับผลเช่นนั้น เชื่อว่าไม่
มีอะไรทำให้ใครเป็นอะไรๆ ทั้งนัน แต่ตัวเราเองนั่นแหละทำให้เราเป็นสุขเป็นทุกข์

คนเราจะดีจะชั่วจะเสื่อมจะเจริญไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจภายนอกหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์
แต่ขึ้นอยู่กับการทำ การพูดการคิดของตนเอง
นี้เป็นการเชื่อตามหลักของพระพุทธศาสนา


3. พระเนตรมองต่ำ
พระพุทธรูปที่สร้างโดยทั่วไปจะมีพระเนตรมองลงที่พระวรกายของพระองค์
อย่างในพระอุโบสถของวัดทั่วไปดพ จะนั่งมองดูพระวรกายไม่ได้มองดูหน้าต่าง
หรือมองดูประตูพระอุโบสถว่าจะมีใครเข้ามาไหว้บ้าง นี้เป็นปริศนาธรรม
สอนให้มองตนเองพิจารณาตนเอง ตักเตือนแก้ไขตนเอง ไม่ใช่คอยจับผิดผู้อื่น
ซึ่งตามปกติของคนแล้วมักจะมองเห็นความผิดพลาดของบุคคลอื่น
แต่ลืมมองของตนเองทำให้สูญเสียเวลาและโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาตนเอง
ใครเล่าจะตักเตือนตัวเราได้ดี กว่าตัวเราเอง จึงมีพุทธพจน์ตรัสให้เตือนตนเองว่า
"อตฺตนา โจทยตฺตาน" = จงเตือนตนด้วยตนเอง จงเตือนตนของตนให้พ้นผิด
ตนเตือนจิตตนได้ใครจะเหมือน
ตนเตือนตนเตือนไม่ได้ใครจะเตือน ตนแชเชือนรีบเตือนตนให้พ้นภัย
ที่กล่าวมาทั้ง 3 ประการนั้นเป็นการสอนโดยใช้ปริศนาธรรมจากพระพุทธรูป
เป็นสื่อการสอนใจตนเอง


ดังนั้น ชาวพุทธเมื่อมีปัญหาอะไรแก้ไขไม่ได้คิดไม่ตกก็เข้าวัดเสียบ้าง
นั่งประนมมือตรงหน้าพระพุทธรูป หรือถ้าที่บ้านมีพระพุทธรูป
ก็นั่งประนมมือต่อหน้าพระพุทธรูป ที่บ้านนั่นแหละ
ค่อยๆเพ่งพินิจที่พระพักตร์ของพระพุทธเจ้า
ก่อนที่จะกราบ จะมองเห็นพระเศียรแหลม สอนใจตนว่า
"อย่าแก้ปัญหาด้วยอารมณ์นะ ใจเย็นๆ ปัญหาต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ไม่มีอะไรแก้ไขไม่ได้ ค่อยๆ คิด
ค่อยๆแก้ด้วยสติปัญญาที่เฉียบแหลม
เหมือนพระพุทธเจ้าของเราที่พระองค์ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหา"
เห็นพระกรรณยานก็บอกตนเองว่า "สุขุมเยือกเย็นมีเหตุผลเข้าไว้
อย่าปล่อยใจตามอารมณ์หรือหุนหันพลันแล่น
เดี๋ยวจะผิดพลาดได้ ต้องมีจิตใจหนักแน่นมั่นคง เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผล"
เห็นสายพระเนตรที่มองต่ำก็บอกตนเองว่า "มองตนเองบ้างนะ
อย่าไปมองคนอื่นมากนักเลยเดี๋ยวจะไม่สบายใจ และอาจมีปัญหาได้ การมองตนเองบ่อยๆ
จะได้พิจารณาตนเองปรับปรุงตนเอง และแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น"
จากนั้นก็ค่อยกราบ พระพุทธรูปด้วยสติปัญญาและจิตใจที่ชื่นบาน นี้เรียกว่า
"ยิ่งกราบยิ่งฉลาด" สมกับเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ที่แท้จริง


ที่มา::www.84000.org

มีปัญหาธรรมะมาถามกับสนุกๆนะครับ
คลายเครียด หลายๆท่านคงจะรู้คำตอบแล้ว

ถามว่า

สี่คนหาม
สามคนแห่
หนึ่งคนนั่งแคร่
สองคนพาไป

หมายถึงอะไร ...

.....................................................
" สติปัญญา เราใช้ปัญญาอยู่เสมอก็จริง แต่สตินั้นแท้จริงแล้ว เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่สตินั้นมีคุณค่าแก่ชีวิต มีคุณค่าอย่างเหลือที่จะประมาณ "


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2009, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 เม.ย. 2009, 19:55
โพสต์: 548

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ยอมรับภูมิปัญญาของพุทธศาสนิกชนรุ่นก่อน ๆ จริง ๆ ครับ
ที่เพียรทิ้งมรดกไว้ให้ชนรุ่นหลัง ๆ
ทุกอย่างล้วนแฝงด้วยแง่คิดทางธรรม...ไว้อย่างละเอียดละออ...ละมุนละมัยงดงามยิ่งนัก...
ชอบครับ...
แล้วใยจะเอาไปฝังดิน...
ในความคิดผม...ไม่ว่าจะเป็นบัญญัติ
หรือวัตถุ สิ่งใด ๆ ทางธรรม
ทุกอย่างล้วนดำรงอยู่ตามความเหมาะสม...

:b8: :b8: :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2009, 09:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 มี.ค. 2009, 16:53
โพสต์: 113

ที่อยู่: กรุงเทพฯ

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
ขออนุโมทนาค่ะคุณลุงชู
ที่นำบทความดีๆมาโพสต์
ดิฉันเห็นด้วยค่ะที่บอกว่าเวลาทุกข์ก็ให้หันเข้าวัดบ้าง
แค่ได้ไปนั่งอย่างสงบพิจรณาพระพุทธรูปจิตใจก็จะสงบขึ้น
ยิ่งได้รู้ถึงความหมายที่ซ่อนไว้ในพระพุทธรูป คนโบราณช่างชาญฉลาดจิงค่ะ
ช่างฉลาดที่แฝงความหมายนี้ให้เราลูกหลานได้พิจรณาด้วยแล้ว
เป็นประโยชน์ต่อเรามากค่ะ
ดิฉันก็เคยเป็นนะคะ ครั้งนึงทุกข์ใจมาก
แต่มีโอกาสได้ไปไหว้พระกับครอบครัว
แค่ได้เดินเข้าไปในศาลามองหน้าพระพุทธรูปจิตใจก็รู้สึกเบิกบานขึ้นมา
แถมได้แง่คิดอีกว่า เออนะเราทำไมโง่จัง อะไรเข้ามาในชีวิตเราจะเศร้าไปทำไม
อะไรจะเข้ามาก็ยิ้มรับเหมือนองค์พระพุทธรูปสิ เพราะไม่มีสิ่งใดผ่านเข้ามาแล้ว
จะอยู่กับเราตลอดไป จะทุกข์ตรมไปทำไม

อีกครั้งก้มีโอกาสได้ไปวัดร่องขุ่น
พอได้เข้าไปกราบพระประธานในโบถส์จิตใจก้เกิดปิติขึ้นมาอย่างประหลาด
ยิ่งพิจรณาก็ยิ่งปิติ จิตใจตื่น สดชื่น เหมือนคนพึ่งตื่นนอนแบบอิ่มๆ อย่างไงอย่างงั้นเลยค่ะ

อานุภาพแห่งพระพุทธคุณมีจริงค่ะ :b8: :b8: :b8: :b4:
:b8:

.....................................................
คำของหลวงพ่อชา
“ทุกอย่างในโลกนี้มันถูกอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2009, 10:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สาธุ สาธุ สาธุค่ะ...คุณลุงชู

ขอบคุณนะคะที่นำธรรมะดีดีมาฝาก...
ช่วยนำมาลงบ่อยๆนะคะ...จะรออ่านค่ะ

และขอตอบปริศนาธรรมที่ถามนะคะ

อะไรเอ่ย สี่คนหาม สามคนแห่ หนึ่งคนนั่งแคร่ สองคนพาไป

คำเฉลยปริศนาธรรมนี้ อยู่ที่ตัวตนสมมุติของทุกคนนั่นเองคือ

๑. สี่คนหาม ได้แก่ ธาตุ ๔ ที่ประกอบเป็นร่างกาย

๒. สามคนแห่ ได้แก่ ไตรลักษณ์ที่มีอำนาจครอบงำร่างกาย
ให้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

๓. คนหนึ่งนั่งแคร่ หมายถึง จิตหรือวิญญาณในร่างกาย

๔. สองคนพาไป หมายถึง กุศลกรรม กรรมดี และ อกุศลกรรม
กรรมชั่ว หรือบุญกับบาป ที่คอยจัดสรรให้ทุกคนเป็นไปต่างๆ นานา
สุขบ้าง ทุกข์บ้าง


คำเฉลยปริศนาธรรมแต่ละข้อ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้


รูปร่าง กายของเราทั้งหลายที่หลงกันว่าสวยงาม น่ารัก น่าหวงแหน หรือมีเสน่ห์จนกระทั่งต้องแย่งชิงกัน หรือหลงละเมอฝันถึงกันในทุกวันนี้ ที่แท้เป็นเพียงธาตุ ๔ รวมตัวกันเป็นร่างกาย เป็นรูป เป็นตัว เป็นตน เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นของงดงาม ตามความสมมุติของชาวโลก พระพุทธเจ้าทรงสอนให้แยกแยะ วิเคาระห์ร่างกายออกมาดูโดยละเอียด แล้วให้พบความจริงว่า รูปร่างกายนี้ ไม่มีอะไรสวยงามเลย มีแต่ ๔ คนหาม คือ ธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุหมายถึง สิ่งที่ทรงสภาวะของมันอยู่เอง ตามธรรมดาของเหตุปัจจัย คือ ในร่างกายมีธาตุลักษณะสำคัญๆ ๔ ส่วน รวมตัวกันอยู่ เป็นชีวิตคน ชีวิตสัตว์ เป็นตัวตน

ธาตุลักษณะที่ ๑ เรียกว่า ปฐวีธาตุ ธาตุดิน เพราะมีลักษณะแข้นแข็งกินเนื้อที่

ธาตุลักษณะที่ ๒ เรียกว่า อาโปธาตุ ธาตุน้ำ เพราะมีลักษณะเอิบอาบ เหลว ไหล ซึม หล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย

ธาตุลักษณะที่ ๓ เรียกว่า วาโยธาตุ ธาตุลม เพราะมีลักษณะ เคลื่อนไหว พัดขึ้นลงในที่ว่างของร่างกาย

ธาตุลักษณะที่ ๔ เรียกว่า เตโชธาตุ ธาตุไฟ เพราะมีลักษณะร้อนหรืออบอุ่น

เพราะเหตุที่ธาตุทั้ง ๔ มารวมตัวกันตามเหตุปัจจัยจึงถูกบัญญัติ หรือสมมติขึ้นว่า สวยงาม น่าดู น่าชม น่าอภิรมย์รักใคร่ได้ชั่วระยะหนึ่ง ต่อไปธาตุทั้ง ๔ แยกตัวเองสลายไปคนละทิศละทาง คือ ส่วนที่เข้นแข็ง สลายไปเป็นธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหล สลายไปเป็นธาตุน้ำ ส่วนที่พัดเคลื่อนไหวในช่องว่างของร่างกายก็สลายไปเป็นธาตุลม ส่วนที่ร้อนและอบอุ่น ก็สลายไปเป็นธาตุไฟ เหมือนสภาวะเดิมของมันทุกอย่าง


เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญาจริงจึงไม่ลุ่มหลงมัวเมาในร่างกาย หรือสังขารนี้ เมื่อไม่ลุ่มหลงมัวเมาในร่างกายนี้ก็ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยอำนาจอุปทาน เมื่อไม่มีความยึดถือมั่นด้วยอำนาจอุปทานย่อมไม่สร้างภพ ไม่สร้างชาติ เมื่อไม่สร้างภพไม่สร้างชาติ ก็ย่อมไม่ต้องวนเวียนมาเกิด แก่ เจ็บ ตาย อีกต่อไป

สี่คนหาม จึงเป็นเครื่องเตือนใจทุกคนได้เป็นอย่างดีว่า แม้สี่คนจะหามเรา เราก็ต้องรู้จักรู้เท่าทัน รู้จักปล่อย รู้จักวาง อย่าหาบหามภาระหนักโดยไม่วาง ไม่ปล่อย เพราะปล่อย เพราะวาง จึงจะสุขสบายใจ หายเหนื่อย

คำเฉลยปริศนาธรรมข้อที่ ๒ ท่านว่า สามคนแห่ สามคนนั้นคือ ไตรลักษณ์ แปลว่า ลักษณะ ๓ หมายถึง อำนาจในธรรมชาติที่ครองงำบังคับให้สังขาร ร่างกาย ชีวิต และทุกสิ่ง ทุกอย่างต้องมีอันเป็นไป กล่าวคือ อนิจจตา ความเป็นของไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตตา ความมิใช่ตัวตนของเรา

ไม่มีใครและไม่มีอะไรในโลกนี้และโลกอื่นๆ ที่เที่ยงแท้ถาวรไม่เปลี่ยนแปลงคุณภาพ คือ สวยงาม ดี แข็งแรง อยู่เหมือนเดิมไม่ได้ ต้องแปรเปลี่ยนไปจากสวย กลายเป็นโทรม จากดีเป็นด้อย จากแข็งแรงเป็นอ่อนแอ จากของใช้เป็นประโยชน์ได้ เป็นของไร้ประโยชน์ใช้ไม่ได้ เพราะทุกอย่างตกอยู่ในอำนาจของ อนิจจตา ความไม่เที่ยง ทุกขตา ความเป็นทุกข์ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตตา ความมิใช่ตัวตนของเราจริงบังคับไม่ได้

เราทุกคนตกอยู่ในลักษณะ ๓ นี้ทั้งหมด วันนี้มาเผาศพเขา พรุ่งนี้เขามาเผาศพเรา วันนี้สุขสันต์ วันหน้าเศร้าโศก วันนี้ถึงคิวของเขา พรุ่งนี้ถึงคิวของเรา

จงจำไว้ว่า เกียรติชื่อเสียงเหมือนความฝัน รูปโฉมโนมพรรณเหมือนดอกไม้ หมายความว่า ชีวิตดำรงอยู่ชั่วระยะไม่นาน ที่ได้สุขสันต์ ทุกวันนี้ก็เหมือนนิมิตฝันไปเท่านั้น จะสุขสันต์มั่นคงเป็นไม่มีแน่ ความสวยหล่อของรูปร่างหน้าตาก็เหมือนบุปผาชาติงดงามด้วยดอกบาน ดอกบานแล้วก็มีแต่จะเหี่ยวเฉาร่างโรย หลุดพ้นจากขั้ว ตกลงเกลือกกลั้วแผ่นดิน สิ้นความหมายในที่สุด

เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรจะหยุดความยึดถือมั่น หยุดหลงเพลิดเพลินในสิ่งที่ไม่มีสาระจริงเสียบ้าง อย่าให้ตัณหาอุปาทานมีอำนาจบังคับให้ประพฤติผิดเสียหายทำลายคุณธรรม ทำลายวงศ์ตระกูล ทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

บางท่านแย้งว่าเป็นปุถุชน ต้องมีอุปทานความยึดถือบ้าง ข้อนี้ไม่ปฏิเสธเพราะการถือโดยสมมติสัจจะเป็นความจำเป็นต้องมี เมื่อโลกสมมุติให้เราเป็นอะไรในหน้าที่การงาน เช่น เป็นบิดามารดา เป็นบุตรธิดา เป็นครูอาจารย์ เป็นข้าราชการ เป็นพลเมืองไทย เป็นต้น เราจะต้องยอมรับรู้ ยอมทำตามหน้าที่การงานที่โลกสมมุตินั้น ผู้มีปัญญาจะต้องไม่ละทิ้งหน้าที่การงาน ไม่ละทิ้งความรับผิดชอบที่ตนมีหน้าที่การงานอยู่

โดยอ้างว่าพระพุทธเจ้าทรงสอน เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้จักหน้าที่ ยอมรับและปฏิบัติตามหน้าที่ที่โลกสมมุติ ในขณะเดียวกันก็ทรงสอนให้รู้เท่าทันสมมุติบัญญัติ หรือ สมมุติสัจจะที่โลกสมมุติกล่าวคือ

ให้มีอำนาจได้ แต่ไม่ให้หลงอำนาจ
ให้มีลาภได้ แต่ไม่ให้หลงลาภ
ให้มียศตำแหน่งได้ แต่ไม่ให้หลงยศตำแหน่าง
ให้เอ็นดูรักผู้อื่นได้ แต่ไม่ให้หลงความสุข
ให้รับคำสรรเสริญได้ แต่ไม่ให้หลงคำสรรเสริญ

เพราะอะไร เพราะตราบใดที่ยังมีความหลงรักหลงเยื่อใย หลงเพลิดเพลิน ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตราบนั้น ชื่อว่ามีอุปทาน ความยึดถือมั่น เมื่อมีอุปทาน ย่อมมีภพ เมื่อมีภพย่อมมีชาติความเกิด เมื่อมีความเกิด ก็ย่อมมีทุกข์มากมายตามมาเป็นทิวแถว คือต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด

โดยเฉพาะคำว่า อนัตตา มิใช่ตัวตนแท้จริงของเรา นั้นยังมีผู้ไม่เข้าใจอีกมาก กล่าวคือ ผู้ไม่ได้ศึกษาอบรมมาเพียงพอ เข้าใจว่า เรามีตัวตนหรืออัตตาเป็นของตน หรือ อัตตามีในตน ย่อมคัดค้านท่านผู้ที่เป็นสัมมาทิฐิว่า ถ้าไม่มีอัตตาตัวตนของเรา ทำไมจึงต้องรักษาตน ทำไมต้องรับประทานอาหาร ยารักษาโรคและน้ำ เวลาผู้น้อยกล่าวถ้อยคำหยาบดูหมิ่นทำไมจึงไม่พอใจ และถ้าว่าเบญจขันธ์เป็นอนัตตา ไม่ใช่อัตตา ตัวตนทำกรรมดี กรรมชั่ว ก็ไม่มีผู้รับกรรมดีหรือชั่ว

ข้อแย้งเหล่านี้ เป็นของบุคคลผู้ไม่เข้าใจหลักอนัตตาในพระพุทธศาสนา อนัตตา มีความหมายว่า

ขัดแย้งกับอัตตา ๑
ไม่อยู่ในอำนาจของเรา ๑
เป็นสภาพว่างเปล่า ๑
เป็นสภาพไม่มีเจ้าของ ๑

พระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นชัดๆ ว่า เบญจขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนเป็นสิ่งไม่เที่ยง ล้วนเป็นสิ่งมีทุกข์ ล้วนเป็นสิ่งมิใช่ตัวตนจริง สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็เป็นอนัตตา บังคับให้เป็นอย่างใจหวังไม่ได้

ส่วนกรรมดี กรรมชั่วที่ทำแล้วก็มีตัวตนสมมุติรับไป คือ วิญญาณรับรู้ รับกรรม บันทึกความดี ความชั่วไว้ แม้วิญญาณเป็นอนัตตาก็สามารถรับกรรมได้ เพราะวิญญาณมีลักษณะเกิด - ดับ เกิด - ดับ สืบเนื่องกันไป เรียกว่ามีสันตติ ไม่ใช่มีลักษณะเป็นเนื้อหนังเดียวกันเหมือนผืนผ้า

เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงควรคิดถึงไตรลักษณ์อยู่เสมอ วันหนึ่งๆ หลายๆ ครั้ง เพื่อยับยั้งไม่ให้จิตลุ่มหลงมัวเมา พึงจำไว้เสมอว่า

- การรู้เท่าทัน เป็นปัญญารักษาใจมิให้ทุกข์
- การรู้กันรู้แก้ เป็นแง่ของความฉลาดรักษาสิ่งที่มีคุณค่าไว้
-ส่วนการปล่อยให้สิ่งที่มีคุณค่าเสียหาย เป็นอุบายวิธีของคนโง่เขลา

คำเฉลยปริศนาธรรมข้อที่ ๓ หนึ่งคนนั่งแคร่ ซึ่งหมายถึง จิต หรือ วิญญาณ

จิต นั่งแคร่ คือ อัตภาพ สังขาร ร่างกาย เพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนืออัตภาพ ธรรมชาติที่รู้จักคิดเรียกว่า จิต จิตนี้อาศัยอัตภาพร่างกายอยู่ เพราะจิตเป็นนามธรรม ไม่กินเนื้อที่ เข้าไปอยู่ในส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ทุกส่วน ถ้าจิตไม่เข้าไปสอดแทรกในหน้าที่ต่างๆ ของ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะต้องมองรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ ก็จะเป็นผลร้ายคือ มองรูปไม่เห็น ฟังเสียงไม่ได้ยิน ดมกลิ่น ไม่รู้หอมเหม็น ลิ้นรสไม่รู้รสชาติ ถูกต้องอะไรก็เฉยๆ เหมือนศพที่ถูกมนุษย์มีชีวิตจับต้อง

แม้ว่าจิตจะเป็นผู้อาศัยร่างกายอยู่ แต่จิตก็อาศัยอยู่ในฐานะผู้เป็นเจ้านายของร่างกาย ร่างกายอยู่ในฐานะทาส หรือบ่าวไพร่คอยรับใช้ของจิต ถ้าจิตขาดการฝึกอบรมให้เหมาะสมก็จะกลายเป็นเจ้านายที่โง่เขลา มิจฉาทิฐิ เมื่อจิตเป็นมิจฉาทิฐิ คือเห็นผิดเสียแล้ว ก็จะทำให้เกิดผลร้ายมากมาย เป็นต้นว่า ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว เมื่อทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว ก็ต้องรับผลในทางเลวทราม ต่ำช้า ทำให้ตนเองและสังคมวุ่นวาย ประเทศชาติ ศาสนาก็เสื่อมเสีย ทั้งนี้เพราะจิตได้กลายเป็นศัตรูร้ายที่น่ากลัวยิ่งกว่าศัตรูภายนอกกายหลาย ร้อย หลายพันเท่า ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า

จิตที่ตั้งไว้ผิด พึงทำคนให้เสียหายยิ่งกว่า โจรกับโจร หรือศัตรูกับศัตรู พึงก่อความพินาศให้แก่กันเสียอีก (ขุ.ธ. ๒๕/๒๐)

ตามพระพุทธภาษิตนี้ คนมิจฉาทิฐิเห็นผิด เป็นคนที่มีจิตใจเป็นศัตรูร้าย คอยทำลายตัวเองให้สูญเสียคุณภาพ สูญเสียคุณธรรม สูญเสีย ความสุขสงบที่มีคุณค่ามาก และต้องได้รับผลทางเลวร้ายต่อไปอีกหลายชาติ คนมิจฉาทิฐิเป็นคนโง่ คนพาล คนร้าย ในชาตินี้กลายเป็นคนหลง คิดผิดๆ โดยไม่มีเหตุผล เท่ากันเป็นผู้สร้างไฟมาสุมอยู่ในอก ยกนรกมาฝังในใจ คนมิจฉาทิฐิแม้มีฐานะร่ำรวย ตำแหน่งสูงส่งและผิวพรรณสุดสวย ก็ไม่สามารถช่วยให้เขามีสุขใจได้ เพราะบุคคลเช่นนี้มีแต่จะคิดทำพูดชั่วร่ำไป ทำให้ไม่รู้จักพอ ใจโหยหิวละโมบมากอยากใหญ่ยิ่ง ไม่เลือกทางและสร้างความกลัวไว้ให้หัวใจหวั่นไหวระแวงภัย โดยไร้เหตุผลไม่ว่างเว้น

เพราะฉะนั้น ผู้มีปัญญาจึงจำต้องขวนขวายฝึกอบรมจิตให้เป็นสัมมาทิฐิ เห็นชอบตามทำนองคลองธรรม และมีคุณธรรมสำหรับคุ้มครองบำรุงจิต

คำเฉลยปริศนาธรรมข้อที่ ๔ "สองคนพาไป" หมายถึง กรรม ๒ ประเภท ได้แก่ กรรมดีอันเป็นกุศลหรือบุญ ๑ กรรมชั่วอันเป็นอกุศล หรือบาป ๑

กรรม ๒ ประเภทนี้ เรียกว่า สองคนพาไป เพราะบุคคลเกิดมาแล้วถึงจะมั่งมีศรีสุข มีทรัพย์สมบัติมากมายมหาศาล เขาก็เอาอะไรไปไม่ได้เลย สิ่งที่จะเอาไปได้ตอนตาย ก็คือบุญกับบาป เมื่อเราทำบาปบุญไว้ บาปบุญติดอยู่ที่จิตหรือวิญญาณ ไม่ใช่ติดอยู่ที่กายหยาบๆ ถึงกายจะสลายบาปบุญก็ไม่สูญสลายตามร่างกาย บาปย่อมนำสัตว์และคนผู้ทำให้ไปสู่อบายทุคตินรก ส่วนบุญก็ย่อมนำสัตว์และคนผู้ทำให้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์ นักกวีผู้หนึ่งได้เขียนคำกลอนไว้ว่า

ยศและลาภ หาบไป ไม่ได้แน่
เว้นเสียแต่ ต้นทุน บุญกุศล
ต้องละทิ้ง สิ่งที่หวง ให้ปวงชน
แม้ร่างตน เขายังเอา ไปเผาไฟ
ตอนเกิดมา เจ้ามี มือเปล่าเปล่า
เจ้าจะเอา แต่สุข สนุกไฉน
มามือเปล่า เจ้าจะ เอาอะไร
เจ้าก็ไป มือเปล่า เหมือนเจ้ามา

พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนว่า

คนบางพวกเข้าสู่ครรภ์เป็นมนุษย์ ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมเข้าถึงนรก
คนทำกรรมดีย่อมไปสู่สวรรค์ ส่วนท่านผู้หมดอาสวะ ย่อมปรินิพพาน (ขุ.ธ.๒๕/๓๑)


จากพระพุทธภาษตินี้ ผู้ที่เชื่อพระพุทธเจ้า ก็ไม่มีปัญหา เพราะได้เตรียมทำความดี มีทาน ศีล ภาวนา ไว้มากเพียงพอ ย่อมทำให้อุ่นใจได้ว่า คติในชาติหน้ามีแต่สูงส่ง แต่อย่าเสี่ยงทำบาปอกุศลในระหว่างที่ยังมีชีวิตนี้ก็แล้วกัน เพราะความชั่วแม้แต่เพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำให้คนตกสวรรค์ได้ ตัวอย่างเคยมีมาแล้วเช่น พระนางมัลลิกา ทรงบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนามาเป็นนิตย์ กิจกรรมการบุญการกุศล ได้ทำเป็นประจำ แต่ก็ยังพลัดพลั้ง เพราะถูกอกุศลจิตครอบงำเผลอทำชั่ว ละเมิดศีล ๕ ครั้นใกล้จะสิ้นพระชนม์ มีพระทัยกังวลถึงความชั่วนั้น พระทัยจึงเศร้าหมองไป ครั้นสิ้นพระชนม์ ก็ต้องถึงทุคติคือ ตกนรก ๗ วัน ทั้งนี้เป็นไปตามเหตุผลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า

จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา

เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันหวังได้ (ม.มู. ๑๒/๖๔)

เพราะฉะนั้นนักกวีจึงเขียนไว้ว่า

อย่าดูหมิ่น บาปกรรม ว่าทำน้อย
จะไม่ต้อย ตามต้อง สนองผล
แม้ทำชั่ว นิดหน่อย พลอยกังวล
ย่อมพาตน ตกไป ในอบาย

บรรดากรรม ๑๒ ประเภท อาสันนกรรม กรรมที่ทำหรือคิดเมื่อใกล้ตาย เป็นกรรมที่มีอานุภาพมาก การคิดถึงกรรมในอดีตในตอนใกล้จะตายนี้ เป็นตัวชี้อนาคตว่า คติภพของบุคคลที่ทำนั้นจะไปทางใด ผู้มีปัญญาจึงควรทำแต่กรรมที่ดีๆ และทำให้มีมากเป็นอาจิณณกรรม คือ กรรมที่เป็นอาจิณ หรือ พึงทำครุกรรมฝ่ายกุศล เพื่อจิตใจจะได้ไม่หมองหม่น คราวจะถึงมรณกรรมและสามารถไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้ ไม่พลาดพลั้ง โดยเฉพาะควรเจริญภาวนาให้จิตใจตั้งมั่นเป็นอัปปนาสมาธิให้ได้ เพื่อให้จิตใจไม่ตกต่ำไปคิดเรื่องที่เป็นอกุศล ซึ่งจะนำพาตนให้ไปอุบัติเป็นพรหมผู้ประเสริฐอย่างแน่นอน

คิดถึง สี่คนหาม สามคนแห่
จิตเป็นหนึ่ง นั่งแคร่ แย่หรือเปล่า
สองคนจะ พาไป ไหนหนอเรา
จงเลือกเอา กุศล คนพาไป
คือทำดี กรรมดี มีอำนาจ
พาสมมาด ปราถนา หน้าผ่องใส
ทั้งชาตินี้ มีสวรรค์ ไม่บรรลัย
ตายลงได้ สวรรค์ซ้ำ สุขล้ำเอย

----------------------------------------------------------

คัดลอกจาก: เสียงธรรมจากศาลาพระราชศรัทธา
รวมผลงานเผยแพร่ประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เล่ม ๑

คัดลอกจาก...คุณmayrin
http://www.larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/005857.htm

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2009, 15:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 เม.ย. 2009, 16:30
โพสต์: 133

อายุ: 0
ที่อยู่: Uttaradit

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: สาธุขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณครับ ที่นำรูปพระพุทธรูปมาเพิ่มเติมให้บทความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

.....................................................
" สติปัญญา เราใช้ปัญญาอยู่เสมอก็จริง แต่สตินั้นแท้จริงแล้ว เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่สตินั้นมีคุณค่าแก่ชีวิต มีคุณค่าอย่างเหลือที่จะประมาณ "


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2009, 15:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ลูกโป่งอยากให้บทความพร้อมรูปภาพประกอบที่สมบูรณ์
สวยงาม น่าอ่านยิ่งขึ้นค่ะ เลยขออนุญาตเพิ่มเติมรูปให้นะคะ...คุณลุงชู

ธรรมะสวัสดีค่ะ

รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มิ.ย. 2009, 10:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 10
สมาชิก ระดับ 10
ลงทะเบียนเมื่อ: 09 ก.พ. 2009, 02:06
โพสต์: 811

อายุ: 0
ที่อยู่: มหานคร

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาครับ

:b4: :b8: :b1:

.....................................................
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลก มันถูกต้องอยู่แล้ว มีแต่ความเห็นของเราเท่านั้นที่ผิด (หลวงพ่อชา สุภัทโท)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มิ.ย. 2009, 11:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ม.ค. 2009, 02:20
โพสต์: 1387

ที่อยู่: สัพพะโลก

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนา ด้วยครับทุกท่าน
สาธุ สาธุ :b8:

.....................................................
ผู้มีจิตเมตตาจะไม่มีศัตรู ผู้มีสติปัญญาจะไม่เกิดทุกข์.


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร