วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 23:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 13:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัวอย่างคำอธิบายแบบช่วงกว้างที่สุด
เพื่อให้คำอธิบายสั้นและง่าย เห็นว่าควรใช้วิธียกตัวอย่าง ดังนี้

(อาสวะ →) อวิชชา เข้าใจว่าการเกิดในสวรรค์เป็นยอดแห่งความสุข เข้าใจว่าฆ่าคนนั้นคนนี้เสียได้เป็นความสุข เข้าใจว่าฆ่าตัวตายเสียได้จะเป็นสุข เข้าใจว่าเข้าถึงความเป็นพรหมแล้วจะไม่เกิดไม่ตาย เข้าใจว่าทำพิธีบวงสรวง เซ่น สังเวย แล้วจะไปสวรรค์ได้ เข้าใจว่าจะไปนิพพานได้ด้วยการบำเพ็ญตบะ เข้าใจว่าตัวตนอันนี้นั่นแหละจะได้ไปเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ด้วยการกระทำอย่างนี้ เข้าใจว่าตายแล้วสูญ ฯลฯ จึง

สังขาร นึกคิด ตั้งเจตจำนงไปตามแนวทางหรือโดยสอดคล้องกับความเข้าใจนั้นๆ คิดปรุงแต่งวิธีการและลงมือกระทำการ (กรรม) ต่างๆ ด้วยเจตนาเช่นนั้น เป็นกรรมดี (บุญ) บ้าง เป็นกรรมชั่ว (อบุญ หรือบาป) บ้าง เป็นอาเนญชาบ้าง จึง

วิญญาน เกิดความตระหนักรู้และรับรู้อารมณ์ต่างๆ เฉพาะที่เป็นไปตามหรือเข้ากันได้กับเจตนาอย่างนั้นเป็นสำคัญ พูดเพื่อเข้าใจกันง่ายๆ ก็ว่า จิตหรือวิญญาณถูกปรุงแต่งให้มีคุณสมบัติเฉพาะขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือแบบใดแบบหนึ่ง เมื่อตาย พลังแห่งสังขารคือกรรมที่ปรุงแต่งไว้จึงทำให้ปฏิสนธิวิญญาณที่มีคุณสมบัติเหมาะกับตัวมัน ปฏิสนธิขึ้นในภพ และระดับชีวิตที่เหมาะกัน คือถือกำเนิดขึ้นจากนั้น

นามรูป กระบวนการแห่งการเกิดก็ดำเนินการ ก่อรูปเป็นชีวิตที่พร้อมจะปรุงแต่งกระทำกรรมต่างๆ ต่อไปอีก จึงเกิดมีรูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ขึ้นโดยครบถ้วน ประกอบด้วยคุณสมบัติและข้อบกพร่องต่างๆ ตามพลังปรุงแต่งของสังขาร คือ กรรมที่ทำมา และภายในขอบเขตแห่งวิสัยของภพที่ไปเกิดนั้น สุดแต่จะไปเกิดเป็นมนุษย์ เดรัจฉาน เทวดา เป็นต้น

สฬายตนะ แต่ชีวิตที่จะสนองความต้องการของตัวตน และพร้อมที่จะกระทำการต่างๆ โต้ตอบต่อโลกภายนอก จะต้องมีทางติดต่อกับโลกภายนอก สำหรับให้กระบวนการรับรู้ดำเนินงานได้ ดังนั้น อาศัยนามรูปเป็นเครื่องสนับสนุน กระบวนการแห่งชีวิตจึงดำเนินต่อไปตามพลังแห่งกรรม ถึงขั้นเกิดอายตนะทั้ง ๖ คือ ประสาท ตา หู จมูก ลิ้น กาย และเครื่องรับรู้อารมณ์ภายใน คือ ใจ จากนั้น

ผัสสะ กระบวนการแห่งการรับรู้ก็ดำเนินงานได้ โดยการเข้ากระทบหรือประจวบกันระหว่างองค์ประกอบ ๓ ฝ่าย คือ อายตนะภายใน (ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) กับอารมณ์ หรืออายตนะภายนอก (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์) และวิญญาณ ( จักขุวิญญาน โสตวิญญาน ฆานะวิญญาน ชิวหาวิญญาน กายะวิญญาน และมโนวิญญาน) เมื่อการรับรู้เกิดขึ้นครั้งใด

เวทนา ความรู้สึกที่เรียกว่า การเสวยอารมณ์ ก็จะต้องเกิดขึ้นในรูปใดรูปหนึ่ง คือ สุขสบาย (สุขเวทนา) ไม่สบาย เจ็บปวด เป็นทุกข์ (ทุกขเวทนา) หรือไม่ก็เฉยๆ (อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา) และโดยวิสัยแห่งปุถุชน กระบวนการย่อมไม่หยุดอยู่เพียงนี้ จึง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 14:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัณหา ถ้าสุขสบาย ก็ชอบใจ ติดใจ อยากได้ หรืออยากได้ให้มากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เกิดการทะยานอยากและแส่หาต่างๆ ถ้าเป็นทุกข์ ไม่สบาย ก็ขัดใจ ขัดเคือง อยากให้สูญสิ้น ให้หมดไป หรือให้พ้นๆ ไปเสีย ด้วยการทำลายหรือหนีไปให้พ้นก็ตาม เกิดความกระวนกระวายดิ้นรนอยากให้พ้นจากอารมณ์ที่เป็นทุกข์ ขัดใจ หันไปหาไปเอาสิ่งอื่นอารมณ์อื่นที่จะให้ความสุขได้ หรือไม่ก็รู้สึกเฉยๆ คือ อุเบกขา ซึ่งเป็นความรู้สึกอย่างละเอียด จัดเข้าในฝ่ายสุข เพราะไม่ขัดใจ เป็นความสบายอย่างอ่อนๆ รู้สึกเรื่อยๆ เพลินๆ จากนั้น

อุปาทาน ความอยากเมื่อรุนแรงขึ้น ก็กลายเป็นยึด คือยึดมั่นถือมั่นติดสยบหมกมุ่นในสิ่งนั้น หรือ เมื่อยังไม่ได้ ก็อยากด้วยตัณหา เมื่อได้หรือถึงแล้ว ก็ยึดฉวยไว้ด้วยอุปาทาน และเมื่อยึดมั่น ก็มิใช่ยึดแต่อารมณ์ที่อยากได้ (กามุปาทาน) เท่านั้น แต่ยังพ่วงเอาความยึดมั่นในความเห็น ทฤษฎี ต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง (ทิฏฐุปาทาน) ความยึดมั่นในแบบแผนความประพฤติและข้อปฏิบัติที่จะให้ได้สิ่งที่ปรารถนา (สีลัพพตุปาทาส) และความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน (อัตตวาทุปาทาน) พัวพันเกี่ยวเนื่องกันไป ด้วยความยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงก่อให้เกิด

ภพ เจตนา เจตจำนงที่จะกระทำการ เพื่อให้ได้มาและให้เป็นไปตามความยึดมั่นถือมั่นนั้น และนำให้เกิดกระบวนพฤติกรรม (กรรมภพ) ทั้งหมดขึ้นอีก เป็นกรรมดี กรรมชั่ว หรืออาเนญชา สอดคล้องกับตัณหาอุปาทานนั้นๆ เช่น อยากไปสวรรค์ และมีความเชื่อที่ยึดไว้ว่าจะไปสวรรค์ได้ด้วยการกระทำเช่นนี้ ก็กระทำกรรมอย่างนั้นๆ ตามที่ต้องการ พร้อมกับการกระทำนั้น ก็เป็นการเตรียมภาวะแห่งชีวิต คือ ศีล ๕ ที่จะปรากฏในภพที่สมควรกับกรรมนั้นไว้พร้อมด้วย (อุปปัตติภพ)

เมื่อกระบวนการก่อกรรมดำเนินไปเช่นนี้แล้ว ครั้นชีวิตช่วงหนึ่งสิ้นสุดลง พลังแห่งกรรมที่สร้างสมไว้ (กรรมภพ) ก็ผลักดันให้เกิดการสืบต่อขั้นตอนต่อไปในวงจรอีก คือ

ชาติ เริ่มแต่ปฏิสนธิวิญญาณที่มีคุณสมบัติสอดคล้องกับพลังแห่งกรรมนั้น ปฏิสนธิขึ้นในภพที่สมควรกับกรรม บังเกิด ขันธ์ ๕ ขึ้นพร้อม เริ่มกระบวนการแห่งชีวิตให้ดำเนินต่อไป คือ เกิด นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ และเวทนา ขึ้นหมุนเวียนวงจรอีก และเมื่อการเกิดมีขึ้นแล้ว ย่อมเป็นการแน่นอนที่จะต้องมี

ชรามรณะ ความเสื่อมโทรม และแตกดับแห่งกระบวนการของชีวิตนั้น สำหรับปุถุชน ชรามรณะนี้ ย่อมคุกคามบีบคั้น ทั้งโดยชัดแจ้ง และแฝงซ่อน (อยู่ในจิตส่วนลึก) ตลอดเวลา ดังนั้น ในวงจรชีวิตของปุถุชน ชรามรณะจึงพ่วงมาพร้อมด้วย

.....โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ซึ่งเรียกรวมว่าความทุกข์นั่นเอง คำสรุปของปฏิจจสมุปบาทจึงมีว่า “กองทุกข์ทั้งปวง จึงเกิดมีด้วยอาการอย่างนี้”

อย่างไรก็ดี ในฐานะที่เป็นวัฏฏะ หรือวงจร ความสิ้นสุดจึงไม่มี ณ ที่นี้ แท้จริง องค์ประกอบช่วงนี้ กลับเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งอีกตอนหนึ่งที่จะทำให้วงจรหมุนเวียนต่อไป กล่าวคือ โสกะ (ความแห้งใจ) ปริเทวะ (ความร่ำไร) ทุกข์ โทมนัส (ความเสียใจ) อุปายาส (ความผิดหวังคับแค้นใจ) เป็นอาการสำแดงออกของการมีกิเลสที่เป็นเชื้อหมักดองอยู่ในจิตสันดาน ที่เรียกว่า อาสวะ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 14:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


อาสวะ นั้น ได้แก่ความใฝ่ใจในสิ่งสนองความอยากทางประสาททั้ง ๕ และทางใจ (กามาสวะ) ความเห็นความยึดถือต่างๆ เช่น ยึดถือว่า รูปเป็นเรา รูปเป็นของเรา เป็นต้น (ทิฏฐาสวะ) ความชื่นชอบอยู่ในใจว่าภาวะแห่งชีวิตอย่างนั้นอย่างนี้เป็นสิ่งดีเลิศ ประเสริฐ มีความสุข หวังใจใฝ่ฝันที่จะได้อยู่ครองภาวะชีวิตนั้นเสวยสุขให้นานแสนนาน หรือตลอดไป (ภวาสวะ) และความไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น (อวิชชาสวะ)

ชรามรณะเป็นเครื่องหมายแห่งความเสื่อมสิ้นสลาย ซึ่งขัดกับอาสวะเหล่านี้ เช่น ในด้าน กามาสวะ ชรามรณะทำให้ปุถุชนเกิดความรู้สึกว่า ตนกำลังพลัดพราก หรือหมดหวังจากสิ่งที่ชื่นชอบ ที่ปรารถนา ในด้านทิฏฐาสวะเมื่อยึดถืออยู่ว่าร่างกายเป็นตัวเราเป็นของเรา พอร่างกายแปรปรวนไป ก็ผิดหวังแห้งใจ ในด้านภวาสวะ ทำให้รู้สึกตัวว่า จะขาด พลาด พราก ผิดหวัง หรือหมดโอกาสที่จะครองภาวะแห่งชีวิตที่ตัวชื่นชอบอย่างนั้นๆ ในด้านอวิชชาสวั ก็คือขาดความรู้ความเข้าใจมูลฐานตั้งต้นแต่ว่าชีวิตคืออะไร ความแก่ชราคืออะไร ควรปฏิบัติอย่างไร ต่อความแก่ชรา เป็นต้น เมื่อขาดความรู้ความคิดในทางที่ถูกต้อง พอนึกถึงหรือเข้าเกี่ยวข้องกับชรามรณะก็บังเกิดความรู้สึกและแสดงอาการในทางหลงงมงาย ขลาดกลัว และเกิดความซึมเซาหดหู่ต่างๆ

ดังนั้น อาสวะ จึงเป็นเชื้อ เป็นปัจจัยที่จะให้ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส เกิดขึ้นได้ทันทีที่ชรามรณะเข้ามาเกี่ยวข้อง

อนึ่ง โสกะ เป็นต้นเหล่านี้ แสดงถึงอาการมืดมัวของจิตใจ เวลาใดความทุกข์เหล่านี้เกิดขึ้น จิตใจจะพร่ามัว ร้อนรน อับปัญญา เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ ก็เท่ากับพ่วงอวิชชาเกิดขึ้นมาด้วย

อย่างที่กล่าวในวิสุทธิมัคค์ว่า “โสกะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ไม่แยกไปจากอวิชชา และธรรมดาปริเทวะ ก็ย่อมมีแก่คนหลง เหตุนั้น เมื่อโสกะ เป็นต้น สำเร็จแล้ว อวิชชาก็ย่อมเป็นอันสำเร็จแล้ว” ว่า “ในเรื่องอวิชชา พึงทราบว่า ย่อมเป็นอันสำเร็จมาแล้วแต่ธรรมมีโสกะ เป็นต้น” และว่า “อวิชชาย่อมยังเป็นไปตลอดเวลาที่โสกะ เป็นต้น เหล่านั้น ยังเป็นไปอยู่”

โดยนัยนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “เพราะอาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด” และสรุปได้ว่า ชรามรณะของปุถุชน ซึ่งพ่วงด้วยโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดอวิชชา หมุนวงจรต่อไปอีก สัมพันธ์กันไม่ขาดสาย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 16:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


จากคำอธิบายตามแบบนี้ มีข้อสังเกตและสิ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นพิเศษ ดังนี้

๑. วงจรแห่งปฏิจจสมุปบาท ตามคำอธิบายแบบนี้ นิยมเรียกว่า “ภวจักร” ซึ่งแปลว่าวงล้อแห่งภพ หรือ “สังสารจักร” ซึ่งแปลว่า วงล้อแห่งสังสารวัฏ และจะเห็นได้ว่า คำอธิบายคาบเกี่ยวไปถึง ๓ ช่วงชีวิต คืออวิชชา กับสังขาร ช่วงหนึ่งวิญญาน ถึง ภพ ช่วงหนึ่ง และชาติ กับ ชรามรณะ (พ่วงด้วย โสกะ เป็นต้น) อีกช่วงหนึ่ง ถ้ากำหนดเอาช่วงกลาง คือ วิญญาณ ถึง ภพ เป็นชีวิตปัจจุบัน ช่วงชีวิตทั้ง ๓ ซึ่งประกอบด้วยองค์ (หัวข้อ) ๑๒ จึงแบ่งเป็น ๓ กาล ดังนี้

๑) อดีต = อวิชชา สังขาร
๒) ปัจจุบัน = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ
๓) อนาคต = ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)


๒. เมื่อแยกออกเป็น ๓ ช่วงเช่นนี้ ย่อมถือเอาช่วงกลาง คือ ชีวิตปัจจุบัน หรือชาตินี้ เป็นหลัก เมื่อถือเอาช่วงกลางเป็นหลัก ก็ย่อมแสดงความสัมพันธ์ในฝ่ายอดีตเฉพาะด้านเหตุ คือสืบสาวจากผลที่ปรากฏในปัจจุบันว่าเกิดมาจากเหตุอะไรในอดีต (= อดีตเหตุ → ปัจจุบันผล) และในฝ่ายอนาคตแสดงเฉพาะด้านผล คือชักโยงจากเหตุในปัจจุบันออกไปว่าจะให้เกิดผลอะไรในอนาคต (=ปัจจุบันเหตุ → อนาคตผล)

โดยนัยนี้ เฉพาะช่วงกลาง คือปัจจุบันช่วงเดียว จึงมีพร้อมทั้งฝ่ายผล และเหตุ และแสดงได้เป็น ๔ ช่วง (เรียกว่า สังคหะ หรือ สังเขป ๔) ดังนี้

๑) อดีตเหตุ = อวิชชา สังขาร
๒) ปัจจุบันผล = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
๓) ปัจจุบันเหตุ = ตัณหา อุปาทาน ภพ
๔) อนาคตผล = ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

๓. จากคำอธิบายขององค์ประกอบแต่ละข้อ จะเห็นความหมายที่คาบเกี่ยวเชื่อมโยงกันขององค์ประกอบบางข้อ ซึ่งจัดเป็นกลุ่มได้ดังนี้

๑) อวิชชา กับ ตัณหา อุปาทาน

- จากคำอธิบายของอวิชชา จะเห็นชัดว่า มีเรื่องของความอยาก (ตัณหา) และความยึดมั่น (อุปาทาน) โดยเฉพาะความยึดมั่นในเรื่องตัวตน เข้าแฝงอยู่ด้วยทุกตัวอย่าง เพราะเมื่อไม่รู้จักชีวิตตามความเป็นจริง หลงผิดว่ามีตัวตน ก็ย่อมมีความอยากเพื่อตัวตน และความยึดถือเพื่อตัวตนต่างๆ และในคำที่ว่า “อาสวะเกิด อวิชชาจึงเกิด” นั้น กามาสวะ ภวาสวะ และทิฏฐาสวะ ก็เป็นเรื่องของตัณหาอุปาทานนั่นเอง ดังนั้น เมื่อพูดถึงอวิชชา จึงมีความหมายพ่วงหรือเชื่อมโยงไปถึงตัณหาและอุปาทานด้วยเสมอ

- ในคำอธิบายตัณหาและอุปาทานก็เช่นเดียวกัน จะเห็นได้ว่า มีอวิชชาแฝงหรือพ่วงอยู่ด้วยเสมอ ในแง่ที่ว่า เพราะหลงผิดว่าเป็นตัวตน จึงอยากและยึดถือเพื่อตัวตนนั้น เพราะไม่รู้สิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น จึงเข้าไปอยากและยึดถือในสิ่งเหล่านั้นว่าเป็นเรา เป็นของเรา หรืออยากได้เพื่อเรา เป็นเรื่องของความเห็นแก่ตัวทั้งสิ้น และในเวลาที่อยากและยึดถือเช่นนั้น ยิ่งอยากและยึดแรงเท่าใด ก็ยิ่งมองข้ามเหตุผล มองไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามสภาพของมัน และละเลยการปฏิบัติต่อมันด้วยสติปัญญาตามเหตุตามผล มากขึ้นเพียงนั้น โดยเหตุนี้ เมื่อพูดถึง ตัณหา อุปาทาน จึงเป็นอันพ่วงเอาอวิชชาเข้าไว้ด้วย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 16:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


โดยนัยนี้อวิชชา ในอดีตเหตุ กับ ตัณหา อุปาทาน ในปัจจุบันเหตุ จึงให้ความหมายที่ต้องการได้เป็นอย่างเดียวกัน แต่การที่ยกอวิชชาขึ้นในฝ่ายอดีต และยกตัณหาอุปาทานขึ้นในฝ่ายปัจจุบัน ก็เพื่อแสดงตัวประกอบที่เด่นเป็นตัวนำ ในกรณีที่สัมพันธ์กับองค์ประกอบข้ออื่นๆ ในภวจักร

๒) สังขาร กับ ภพ

- สังขารกับภพ มีคำอธิบายในวงจรคล้ายกันมาก สังขารอยู่ในช่วงชีวิตฝ่ายอดีต และภพอยู่ในช่วงชีวิตฝ่ายปัจจุบัน ต่างก็เป็นตัวการสำคัญ ที่ปรุงแต่งชีวิตให้เกิดในภพต่างๆ ความหมายจึงใกล้เคียงกันมาก ซึ่งความจริงก็เกือบเป็นอันเดียวกัน ต่างที่ขอบเขตของการเน้น

สังขารมุ่งไปที่ตัวเจตนา หรือเจตจำนง ผู้ปรุงแต่งการกระทำ เป็นตัวนำในการทำกรรม ส่วนภพมีความหมายกว้างกว่า โดยแบ่งเป็นกรรมภพกับ อุปปัตติภพ กรรมภพแม้จะมีเจตนาเป็นตัวการสำคัญเหมือนสังขาร แต่ให้ความรู้สึกครอบคลุมมากกว่า โดยเพ่งเอากระบวนพฤติกรรมทั้งหมดทีเดียว ส่วนอุปปัตติภพ หมายถึงขันธ์ ๕ ที่เกิดเพราะกรรมภพนั้น โดยนัยนี้ สังขาร กับกรรมภพ จึงพูดพ่วงไปด้วยกันได้

๓) วิญญาน ถึง เวทนา กับ ชาติ ชรามรณะ (+ โสกะ ฯลฯ)

- วิญญาณ ถึง เวทนา เป็นตัวชีวิตปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากเหตุในอดีต การที่แสดงไว้เป็นอย่างๆ ตามลำดับอย่างนี้ เพราะมุ่งกระจายกระบวนธรรมออกให้เห็นอาการที่องค์ประกอบต่างๆ ของชีวิต ซึ่งเป็นฝ่ายผลในปัจจุบัน เข้าสัมพันธ์กันจนเกิดองค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นฝ่ายเหตุในปัจจุบัน อันจะนำมาซึ่งผลในอนาคตต่อไปอีก

- ส่วน ชาติ ชรามรณะ แสดงไว้เป็นผลในอนาคต ต้องการชี้ให้เห็นเพียงว่า เมื่อเหตุปัจจุบันยังมีอยู่ ผลในอนาคตก็จะยังมีต่อไป จึงพูดสั้นใช้เพียงคำว่า ชาติ และ ชรามรณะ ซึ่งก็หมายถึงการเกิดดับของวิญญาณ ถึง เวทนา นั่นเอง แต่เป็นคำพูดแบบสรุป และต้องการเน้นในแง่การเกิดขึ้นของทุกข์ ให้เห็นจุดที่จะเชื่อมโยงกลับเข้าสู่วงจรอย่างเดิมได้อีก

- ดังนั้น ตามหลักจึงกล่าวว่า วิญญาณถึงเวทนา กับ ชาติชรามรณะ เป็นอันเดียวกัน พูดแทนกันไปได้

เมื่อถือตามแนวนี้ เรื่องเหตุผล ๔ ช่วง ในข้อ ๒. จึงแยกองค์ประกอบเป็นช่วงละ ๕ ได้ทุกตอน คือ

๑) อดีตเหตุ ๕ = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
๒) ปัจจุบันผล ๕ = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา (= ชาติ ชรามรณะ)
๓) ปัจจุบันเหตุ ๕ = อวิชชา สังขาร ตัณหา อุปาทาน ภพ
๔) อนาคตผล ๕ = วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา (= ชาติ ชรามรณะ)

เมื่อนับหัวข้อดังนี้ จะได้ ๒๐ เรียกกันว่า อาการ ๒๐

๔. จากคำอธิบายในข้อ ๓. จึงแยกประเภทองค์ ๑๒ ของปฏิจจสมุปบาท ตามหน้าที่ของมันในวงจรเป็น ๓ พวก เรียกว่า วัฏฏะ ๓ หรือ ไตรวัฏฏ์ (วน ๓) คือ

๑) อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็น กิเลส คือ ตัวสาเหตุผลักดันให้คิดปรุงแต่งกระทำการต่างๆ เรียกว่า กิเลสวัฏฏ์

๒) สังขาร (กรรม)ภพ เป็น กรรม คือ กระบวนการกระทำ หรือกรรมทั้งหลาย ที่ปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไปต่างๆ เรียกว่า กรรมวัฏฏ์

๓) วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา เป็น คือ สภาพชีวิตที่เป็นผลแห่งการปรุงแต่งของกรรม และกลับเป็นปัจจัยเสริมสร้างกิเลสต่อไปได้อีก เรียกว่า วิปากวัฏฏ์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 16:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




images (2).jpeg
images (2).jpeg [ 14.08 KiB | เปิดดู 2478 ครั้ง ]
วัฏฏะทั้ง ๓ นี้ หมุนเวียนต่อเนื่องเป็นปัจจัยอุดหนุนแก่กัน ทำให้วงจรแห่งชีวิตดำเนินไปไม่ขาดสาย ซึ่งอาจเขียนเป็นภาพได้ดังนี้

๕. ในฐานะที่เป็นตัวมูลเหตุของการทำกรรมต่างๆ ที่จะปรุงแต่งชีวิตให้เป็นไป จึงกำหนดให้กิเลสเป็นจุดเริ่มต้นในวงจร เมื่อกำหนดเช่นนี้ก็จะได้จุดเริ่มต้น ๒ แห่งในวงจรนี้ เรียกว่า มูล ๒ ของ คือ

๑) อวิชชา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงอดีต ที่ส่งผลมายังปัจจุบัน ถึงเวทนาเป็นที่สุด

๒) ตัณหา เป็นจุดเริ่มต้นในช่วงปัจจุบันต่อจากเวทนา ส่งผลไปยังอนาคต ถึงชรามรณะเป็นที่สุด

เหตุผลที่แสดงอวิชชาในช่วงแรก และตัณหาในช่วงหลังนั้น เห็นได้ชัดอยู่แล้วอย่างที่กล่าวในข้อ ๓. คือ อวิชชา ต่อเนื่องกับ โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ ส่วนตัณหา ต่อเนื่องกับเวทนา ดังนั้น อวิชชา และ ตัณหา จึงเป็นกิเลสตัวเด่นตรงกับกรณีนั้นๆ

อนึ่ง ในแง่ของการเกิดในภพใหม่ คำอธิบายตามแบบก็ได้แสดงความแตกต่างระหว่างกรณีที่อวิชชาเป็นกิเลสตัวเด่น กับกรณีที่ตัณหาเป็นกิเลสตัวเด่นไว้ด้วย คือ

- อวิชชา เป็นตัวการพิเศษ ที่จะให้สัตว์ไปเกิดในทุคติ เพราะผู้ถูกอวิชชาครอบงำไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรถูก อะไรผิด อะไรเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดความเสื่อมพินาศ ย่อมทำการต่างๆ ด้วยความหลงมืดมัว ไม่มีหลัก จึงมีโอกาสทำกรรมที่ผิดพลาดได้มาก

- ภวตัณหา เป็นตัวการพิเศษที่จะให้สัตว์ไปเกิดในสุคติ ในกรณีที่ภวตัณหาเป็นตัวนำ บุคคลย่อมคำนึงถึงและใฝ่ใจในภาวะแห่งชีวิตที่ดีๆ ถ้าเป็นโลกหน้า ก็คิดอยากไปเกิดในสวรรค์ ในพรหมโลก เป็นต้น ถ้าเป็นภพปัจจุบัน ก็อยากเป็นเศรษฐี อยากเป็นคนมีเกียรติ ตลอดจนอยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 18:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อมีความอยากด้วยอำนาจภวตัณหาเช่นนี้ ก็จึงคิดการและลงมือกระทำกรรมต่างๆ ที่จะเป็นทางให้บรรลุจุดหมายนั้นๆ เช่น อยากไปเกิดเป็นพรหม ก็บำเพ็ญฌาน อยากไปสวรรค์ ก็ให้ทานรักษาศีล อยากเป็นเศรษฐี ก็ขยันหาทรัพย์ อยากเป็นคนมีเกียรติ ก็สร้างความดี ฯลฯ ทำให้รู้จักยั้งคิด และไม่ประมาท ขวนขวายในทางที่ดี มีโอกาสทำความดีได้มากกว่าผู้อยู่ด้วยอวิชชา

เรื่องที่ยกอวิชชา และภวตัณหา เป็นหัวข้อต้นของวัฏฏะ แต่ก็มิใช่เป็นมูลการณ์นั้น มีพุทธพจน์แสดงไว้อีก เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย ปลายแรกสุดของอวิชชาจะปรากฏก็หาไม่ว่า ‘ก่อนแต่นี้ อวิชชามิได้มี ครั้นมาภายหลังจึงมีขึ้น’ เรื่องนี้ เรากล่าวดังนี้ว่า ‘ก็แล เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย อวิชชาจึงปรากฏ’...”

ส่วนภวตัณหา ก็มีพุทธพจน์แสดงไว้ มีความอย่างเดียวกัน ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย ปลายแรกสุดของภวตัณหาจะปรากฏก็หาไม่ว่า ‘ก่อนแต่นี้ ภวตัณหามิได้มี ครั้นมาภายหลัง จึงมีขึ้น’ เรื่องนี้ เรากล่าวดังนี้ว่า ‘ก็แล เพราะสิ่งนี้เป็นปัจจัย ภวตัณหาจึงปรากฏ’...”

ข้อที่อวิชชาและตัณหาเป็นตัวมูลเหตุ และมาด้วยกัน ก็มีพุทธพจน์แสดงไว้ เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย กายนี้ เกิดขึ้นพร้อมแล้วอย่างนี้ แก่คนพาล...แก่บัณฑิต ผู้ถูกอวิชชาปิดกั้น ผู้ถูกตัณหาผูกรัด ก็แล กายนี้นั้นเอง กับนามรูปภายนอก จึงมีเป็น ๒ อย่าง อาศัย ๒ อย่างนั้น จึงมีผัสสะเพียง ๖ อายตนะเท่านั้น คนพาล...บัณฑิต ได้ผัสสะโดยทางอายตนะเหล่านี้ หรือเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงได้เสวยความสุขและความทุกข์”

๖. อาการที่องค์ประกอบต่างๆ ในปฏิจจสมุปบาท สัมพันธ์เป็นปัจจัยแก่กันนั้น ย่อมเป็นไปโดยแบบความสัมพันธ์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ในบรรดาแบบความสัมพันธ์ที่เรียกว่าปัจจัย ๒๔ อย่าง ตามคำอธิบายในแนวที่เรียกว่า ปัฏฐานนัย

อนึ่ง องค์ประกอบแต่ละข้อย่อมมีรายละเอียดและขอบเขตความหมายกว้างขวางอยู่ในตัว เช่น เรื่องวิญญาณ หรือจิต ก็แยกออกไปได้อีกว่า วิญญาณ หรือจิต ที่ดีหรือชั่ว มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง มีกี่ระดับ จิตอย่างใดจะเกิดได้ ณ ภพใด ดังนี้ เป็นต้น หรือในเรื่องรูป ก็มีรายละเอียดอีกเป็นอันมาก เช่น รูป มีกี่ประเภท แต่ละอย่างมีคุณสมบัติอย่างไร ในสภาวะเช่นใด จะมีรูปอะไรเกิดขึ้นบ้าง ดังนี้เป็นต้น

เรื่อง ปัจจัย ๒๔ นั้นก็ดี รายละเอียดโดยพิสดารขององค์ประกอบแต่ละข้อๆ ก็ดี เห็นว่ายังไม่จำเป็นจะต้องนำมาแสดงไว้ในที่นี้ทั้งหมด ผู้สนใจพิเศษพึงศึกษา โดยเฉพาะจากคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 18:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว




SmartSelectImage_2021-04-26-20-21-24.jpg
SmartSelectImage_2021-04-26-20-21-24.jpg [ 103.86 KiB | เปิดดู 2429 ครั้ง ]
หมายเหตุ:

- เทียบตามแนวอริยสัจเรียกช่วงเหตุว่า “สมุทัย” เพราะเป็นตัวการก่อทุกข์ เรียกช่วงผลว่า “ทุกข์” อีกอย่างหนึ่ง เรียกช่วงเหตุว่า “กรรมภพ” เพราะเป็นกระบวนการฝ่ายสร้างเหตุ เรียก ช่วงผลว่า “อุปปัตติ-ภพ” เพราะเป็นกระบวนการฝ่ายเกิดผล

- จุดเชื่อมต่อระหว่าง เหตุกับผล และ ผลกับเหตุ เรียกว่า “สนธิ” มี ๓ คือ

สนธิที่ ๑ = เหตุผลสนธิ สนธิที่ ๒ = ผลเหตุสนธิ สนธิที่ ๓ = เหตุผลสนธิ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 05:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๖. ความหมายในชีวิตประจำวัน

คำอธิบายที่ผ่านมาแล้วนั้น เรียกว่าคำอธิบายตามแบบ โดยความหมายว่า เป็นคำอธิบายที่มีในคัมภีร์ต่างๆ และนิยมยึดถือกันสืบมา จะเห็นได้ว่า คำอธิบายแบบนั้นมุ่งแสดงในแง่สังสารวัฏ คือ การเวียนว่ายตายเกิด ข้ามชาติข้ามภพ ให้เห็นความต่อเนื่องกันของชีวิตในชาติ ๓ ชาติ คือ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต และได้จัดวางรูปคำอธิบายจนดูเป็นระบบ มีแบบแผนแน่นอนตายตัว

ผู้ไม่เห็นด้วย หรือไม่พอใจกับคำอธิบายแบบนั้น และต้องการอธิบายตามความหมายที่เป็นไปอยู่ทุกขณะในชีวิตประจำวัน นอกจากจะสามารถอ้างคำอธิบายในคัมภีร์พระอภิธรรม ที่แสดงปฏิจสมุปบาทตลอดสายในขณะจิตเดียวแล้ว ยังสามารถตีความพุทธพจน์ข้อเดียวกันกับที่ฝ่ายอธิบายตามแบบได้ใช้อ้างอิงนั่นเอง ให้เป็นไปตามความเห็นฝ่ายตนได้ นอกจากนั้น ยังสามารถอ้างเหตุผลและหลักฐานในคัมภีร์อย่างอื่นๆ เป็นเครื่องยืนยันความเห็นฝ่ายตนให้หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีกได้ด้วย

คำอธิบายแบบนี้ มีความหมายที่น่าสนใจพิเศษเฉพาะตัว จึงแยกมาตั้งเป็นหัวข้ออันหนึ่งต่างหาก

เหตุผลที่อ้างได้ในการอธิบายแบบนี้มีหลายอย่าง เช่นว่า การดับทุกข์ และอยู่อย่างไม่มีทุกข์ของพระอรหันต์ เป็นเรื่องที่เป็นไปอยู่ตั้งแต่ชีวิตปัจจุบันนี้แล้ว ไม่ต้องรอให้สิ้นชีวิตเสียก่อน จึงจะไม่มีชาติใหม่ ไม่มีชรามรณะ แล้วจึงไม่มี โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ในอนาคตชาติ แต่โสกะ ปริเทวะ ฯลฯ ไม่มีตั้งแต่ชาติปัจจุบันนี้แล้ว วงจรของปฏิจจสมุปบาทในการเกิดทุกข์ หรือดับทุกข์ก็ดี จึงเป็นเรื่องของชีวิตที่เป็นไปอยู่ในปัจจุบันนี้เอง ครบถ้วนบริบูรณ์ ไม่ต้องไปค้นหาในชาติก่อน หรือรอไปดูชาติหน้า

นอกจากนั้น เมื่อเข้าใจวงจรที่เป็นไปอยู่ในชีวิตปัจจุบันดีแล้ว ก็ย่อมเข้าใจวงจรในอดีต และวงจรในอนาคตไปด้วย เพราะเป็นเรื่องอย่างเดียวกันนั่นเอง

ในด้านพุทธพจน์ ก็อาจอ้างพุทธดำรัสต่อไปนี้ เป็นตัวอย่าง

“ดูกรอุทายี ผู้ใดระลึกขันธ์ที่เคยอยู่มาก่อนได้ต่างๆ มากมาย...ผู้นั้นจึงควรถามปัญหากะเราในเรื่องหนหลัง (ชาติก่อน) หรือเราจึงควรถามปัญหาในเรื่องหนหลังกะผู้นั้น ผู้นั้นจึงจะทำให้เราถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหลัง หรือเราจึงจะทำให้ผู้นั้นถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหลัง ผู้ใดเห็นสัตว์ทั้งหลายทั้งที่จุติอยู่ ทั้งที่อุบัติอยู่ ด้วยทิพยจักขุ...ผู้นั้นจึงควรถามปัญหากะเราในเรื่องหนหน้า (ชาติหน้า) หรือว่าเราจึงควรถามปัญหาในเรื่องหนหน้ากะผู้นั้น ผู้นั้นจึงจะทำให้เราถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหน้าหรือเราจึงจะทำให้ผู้นั้นถูกใจได้ด้วยการแก้ปัญหาในเรื่องหนหน้า”

“ก็แล อุทายี เรื่องหนก่อน ก็งดไว้เถิด เรื่องหนหน้า ก็งดไว้เถิด เราจักแสดงธรรมแก่ท่าน:- ‘เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิด เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ’”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 05:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


“นายบ้าน ชื่อ คันธภัก นั่งลง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าได้โปรดแสดงความอุทัยและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด”

“พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า: แน่ะท่านนายบ้าน ถ้าเราแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน โดยอ้างกาลส่วนอดีตว่า ‘ในอดีตกาล ได้มีแล้วอย่างนี้’ ความสงสัยเคลือบแคลงในข้อนั้น ก็จะมีแก่ท่านได้ ถ้าเราแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน โดยอ้างกาลส่วนอนาคตว่า ‘ในอนาคตกาล จักเป็นอย่างนี้’ ความสงสัย ความเคลือบแคลง ก็จะมีแก่ท่านแม้ในข้อนั้นได้อีก ก็แล ท่านนายบ้าน เรานั่งอยู่ที่นี่แหละ จักแสดงความเกิดขึ้นและความอัสดงแห่งทุกข์แก่ท่าน ผู้นั่งอยู่ ณ ที่นี้เหมือนกัน”

“ดูกรสิวก เวทนาบางอย่างเกิดขึ้น มีดีเป็นเป็นสมุฏฐานก็มี...มีเสมหะเป็นสมุฏฐานก็มี...มีลมเป็นสมุฏฐานก็มี...มีการประชุมแห่งเหตุเป็นสมุฏฐานก็มี...เกิดจากความแปรปรวนแห่งอุตุก็มี...เกิดจากบริหารตนไม่สม่ำเสมอก็มี...เกิดจากถูกทำร้ายก็มี...เกิดจากผลกรรมก็มี ข้อที่เวทนา...เกิดขึ้นโดยมี (สิ่งที่กล่าวมาแล้ว) เป็นสมุฏฐาน เป็นเรื่องที่รู้ได้ด้วยตน ทั้งชาวโลกก็รู้กันทั่วว่าเป็นความจริงอย่างนั้น ในเรื่องนั้น สมณะพราหมณ์ เหล่าใด มีวาทะ มีความเห็นอย่างนี้ว่า “บุคคลได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม เวทนาทั้งหมดนั้น เป็นเพราะกรรมที่กระทำไว้ในปางก่อน” สมณพราหมณ์เหล่านั้น ชื่อว่าแล่นไปไกลเกินสิ่งที่รู้กันได้ด้วยตน แล่นไปไกลเกินสิ่งที่ชาวโลกเขารู้กันทั่วว่าเป็นความจริง ฉะนั้น เรากล่าวว่าเป็นความผิดของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเอง”

“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลจงใจ กำหนดจดจ่อ ครุ่นคิดถึงสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อให้วิญญาณดำรงอยู่ เมื่ออารมณ์มีอยู่ วิญญาณก็มีที่อาศัย เมื่อวิญญาณตั้งมั่นแล้ว เมื่อวิญญาณเจริญขึ้นแล้ว การบังเกิดในภพใหม่ต่อไปจึงมี เมื่อการบังเกิดในภพใหม่ต่อไปมีอยู่ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส จึงมีต่อไป ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีได้อย่างนี้”

ความหมายของปฏิจจสมุปบาทตามแนวนี้ แม้จะต้องทำความเข้าใจเป็นพิเศษ ก็ไม่ทิ้งความหมายเดิมที่อธิบายตามแบบ ดังนั้น ก่อนอ่านความหมายที่จะกล่าวต่อไป จึงควรทำความเข้าใจความหมายตามแบบที่กล่าวมาแล้วเสียก่อน เพื่อวางพื้นฐานความเข้าใจ และเพื่อประโยชน์ในการเปรียบเทียบต่อไป

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2021, 05:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ความหมายเชิงอธิบาย

๑. อวิชชา (ignorance, lack of knowledge) = ความไม่รู้ ไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ หลงไปตามสมมติบัญญัติ ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่างๆ ภาวะขาดปัญญา ความไม่เข้าใจเหตุผล การไม่ใช้ปัญญา หรือปัญญาไม่ทำงานในขณะนั้นๆ

๒. สังขาร (volitional activities) = ความคิดปรุงแต่ง ความจงใจ มุ่งหมาย ตัดสินใจ และการที่จะแสดงเจตนาออกเป็นการกระทำ; การจัดสรรกระบวนความคิด และมองหาอารมณ์มาสนองความคิด โดยสอดคล้องกับพื้นนิสัย ความถนัด ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ และทัศนคติ เป็นต้น ของตน ตามที่ได้สั่งสมไว้; การปรุงแต่งจิต ปรุงแต่งความคิด หรือปรุงแต่งกรรม ด้วยเครื่องปรุง คือ คุณสมบัติต่างๆ ที่เป็นความเคยชินหรือได้สั่งสมไว้

๓. วิญญาณ (consciousness) = ความรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้ต่ออารมณ์ที่มีในใจ ตลอดจนสภาพพื้นเพของจิตใจในขณะนั้นๆ

๔. นามรูป (animated organism) = ความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม ในความรับรู้ของบุคคล ภาวะที่ร่างกายและจิตใจทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สอดคล้องและปฏิบัติหน้าที่เพื่อตอบสนองในแนวทางของวิญญาณที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนต่างๆ ของร่างกายและจิตใจที่เจริญหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพจิต

๕. สฬายตนะ (the six sense-bases) = ภาวะที่อายตนะที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ

๖. ผัสสะ (contact) = การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก การรับรู้อารมณ์ต่างๆ

๗. เวทนา (feeling) = ความรู้สึกสุขสบาย ถูกใจ หรือทุกข์ ไม่สบาย หรือเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์

๘. ตัณหา (craving) = ความอยาก ทะยาน ร่านรนหาสิ่งอำนวยสุขเวทนา หลีกหนีสิ่งที่ก่อทุกขเวทนา, โดยอาการ ได้แก่ อยากได้ อยากเป็น อยากคงอยู่อย่างนั้นๆ ยั่งยืนตลอดไป อยากให้ดับสูญ ให้พินาศไปเสีย

๙. อุปาทาน (attachment, clinging) = ความยึดติดถือมั่นในเวทนาที่ชอบหรือชัง รวบรั้งเอาสิ่งต่างๆ และภาวะชีวิตที่อำนวยเวทนานั้นเข้ามาผูกพันกับตัว; ความยึดมั่นต่อสิ่งซึ่งทำให้เกิดเวทนาที่ชอบหรือไม่ชอบ จนเกิดท่าทีหรือตีราคาต่อสิ่งต่างๆ ในแนวทางที่เสริมหรือสนองตัณหาของตน

๑๐. ภพ (process of becoming) = กระบวนพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออก เพื่อสนองตัณหา อุปาทานนั้น (กรรมภพ – the active process); และ ภาวะชีวิตที่ปรากฏเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง (อุปปัตติภพ – the passive process) โดยสอดคล้องกับอุปาทานและกระบวนพฤติกรรมนั้น

๑๑. ชาติ (birth) = การเกิดความตระหนักในตัวตนว่าอยู่หรือไม่ได้อยู่ในภาวะชีวิตนั้นๆ หรือไม่ได้มี ไม่ได้เป็นอย่างนั้นๆ; การเข้าครอบครองภาวะชีวิตนั้น หรือเข้าสวมเอากระบวนพฤติกรรมนั้น โดยการยอมรับตระหนักชัดขึ้นมาว่าเป็นภาวะชีวิตของตน เป็นกระบวนพฤติกรรมของตน

๑๒. ชรามรณะ(decay and death) = ความสำนึกในความขาด พลาด หรือ พรากแห่งตัวตนจากภาวะชีวิตอันนั้น ความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้นสลาย หรือพลัดพรากจากภาวะชีวิตนั้นๆ หรือจากการได้มี ได้เป็นอย่างนั้นๆ จึงเกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส พ่วงมาด้วย คือ รู้สึกคับแค้น ขัดข้อง ขุ่นมัว แห้งใจ หดหู่ ซึมเซา ไม่สมหวัง กระวนกระวาย และทุกขเวทนาต่างๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร