วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 00:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 มิ.ย. 2021, 17:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


บทสรุป

หลักการพื้นฐานแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่า ความสุขลุถึงได้ด้วยความสุข

เพื่อให้เห็นทัศนคติของพระพุทธศาสนาต่อความสุขชัดเจนยิ่งขึ้น ขอย้อนกลับไปขยายข้อความที่อ้างไว้ตอนต้นบทความนี้ว่า จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุข หรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์

ครั้งหนึ่ง โพธิราชกุมาร กราบทูลแสดงทัศนะแด่พระพุทธเจ้า และมีพุทธดำรัสดังความต่อไปนี้:

โพธิราชกุมาร: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความสุขจะพึงบรรลุด้วยความสุข หาได้ไม่ ความสุขจะพึงบรรลุได้ ก็ด้วยความทุกข์

พระพุทธเจ้า: ดูกรราชกุมาร ก่อนแต่สัมโพธิ เมื่อเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ แม้เราก็ได้มีความ คิดดังนี้ว่า ความสุขจะพึงบรรลุด้วยความสุข หาได้ไม่ ความสุขจะพึงบรรลุได้ ก็ด้วยความทุกข์

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าต่อไปว่า ด้วยพระดำริดังกล่าวนี้ ต่อมาพระองค์ก็ได้เสด็จออกบรรพชา ทรงศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร และ อุททกดาบส รามบุตร จนจบความรู้ของสำนักทั้งสองแล้ว เสด็จต่อไปจนถึง อุรุเวลาเสนานิคม แล้วทรงบำเพ็ญทุกรกินิยา ทรมานพระองค์ด้วยวิธีการต่างๆ จนในที่สุดทรงอดอาหาร จนพระวรกายซูบผอมอย่างยิ่ง ดังที่บาลีตรัสเล่าไว้ว่า

“เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นแล อวัยวะน้อยใหญ่ของเรา จึงกลายเป็นเหมือนเถาวัลย์แปดสิบข้อ หรือเหมือนเถาวัลย์ข้อดำ ตะโพกของเรา เป็นเสมือนเท้าอูฐ กระดูกสันหลังผุดระกะ เหมือนเถาวัฏฏนาวฬี ซี่โครงขึ้นนูนเป็นร่องๆ ดังกลอนศาลาเก่าที่เครื่องมุงหล่นโทรมอยู่ ดวงตาบุ๋มลึกเข้าไปในเบ้าตา ประหนึ่งดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำลึก ผิวศีรษะที่รับสัมผัสอยู่ก็เหี่ยวแห้ง ดุจดังผลน้ำเต้าสดที่ตัดมาทั้งสดๆ ถูกลมและแดดกระทบเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น เราคิดว่าจะลูบผิวหนังท้อง ก็จับถูกกระดูกสันหลัง คิดว่าจะลูบสันหลัง ก็จับถูกหนังท้อง หนังท้องกับกระดูกสันหลังติดถึงกัน เมื่อคิดว่าจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้นเอง เมื่อจะให้กายนี้มีความสบาย เอามือลูบตัว ขนทั้งหลายมีรากเน่า ก็หลุดร่วงจากกาย”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 04:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ในที่สุดทรงพระดำริว่า

“สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลาย เหล่าหนึ่งเหล่าใด ในอดีตกาล...ในอนาคต...ในปัจจุบัน ได้เสวยทุกขเวทนาอันเผ็ดร้อนแรงกล้า ที่เกิดเพราะความเพียร อย่างยิ่งก็เพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้ และด้วยทุกรกิริยาอันเผ็ดร้อนนี้ เราก็หาบรรลุญาณทัศนะวิเศษที่สามารถทำคนให้เป็นอริยะ ซึ่งเหนือกว่าธรรมของมนุษย์สามัญได้ไม่ มรรคาเพื่อความตรัสรู้ คงจะมีเป็นอย่างอื่นกระมังหนอ

“ดูกรราชกุมาร เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า เรายังรู้ประจักษ์ใจอยู่ ในคราวงานวัปปมงคลของท้าวศักกายะผู้พระบิดา เรานั่งอยู่ในร่มไม้หว้าเย็นสบาย สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปิติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ นี่กระมังหนอจะพึงเป็นมรรคาเพื่อความตรัสรู้; เรานั้นได้มีความรู้สึกชัดแล่นตามสติว่า นี่แหละคือมรรคาเพื่อความตรัสรู้; เรานั้นได้มีความคิดว่า เรากลัวไหม ต่อความสุข โดยไม่ต้องมีกาม ไม่ต้องมีอกุศลกรรมทั้งหลาย และได้มีความคิดต่อไปว่า เราไม่กลัว ต่อความสุข โดยไม่ต้องมีกาม ไม่ต้องมีอกุศลธรรมทั้งหลาย

“เรานั้นได้มีความคิดดังนี้ว่า การที่บุคคลผู้มีร่างกายผ่ายผอมเหลือเกินอย่างนี้จะบรรลุความสุขอย่างนั้น มิใช่จะทำได้ง่ายเลย ถ้ากระไรเราพึงบริโภคอาหารหยาบ คือข้าวสุกและขนมสดเถิด”

ต่อจากนั้น พระโพธิสัตว์ก็ได้ทรงเสวยอาหารหยาบ จนมีกำลังขึ้นแล้ว ทรงบำเพ็ญฌาน จนบรรลุจตุตถฌาน และได้ตรัสรู้

ปฏิปทาเพื่อบรรลุจุดหมายของพระพุทธศาสนา เป็นข้อปฏิบัติที่มีความสุขดังที่กล่าวมานี้ แต่ก็มีข้อต้องระวัง คือ ผู้ปฏิบัติจะต้องไม่ติดใจหลงใหลในความสุขที่เกิดขึ้นแก่ตน ไม่ปล่อยให้ความสุขที่เกิดขึ้นนั้นครอบงำจิตใจของตน ยังมีจิตใจเป็นอิสระ สามารถก้าวหน้าไปในธรรมเบื้องสูงต่อๆ ไป จนบรรลุความเป็นอิสระหลุดพ้นโดยสมบูรณ์ ซึ่งเมื่อบรรลุจุดหมายนั้นแล้ว ก็สามารถเสวยความสุขที่เคยเสวยมาแล้ว โดยที่ความสุขนั้นไม่มีโอกาสครอบงำจิตใจ ที่จะทำให้ติดพันหลงใหลและก่อปัญหาอย่างอื่นขึ้นได้เลย

ในบางกรณีที่เป็นการแสดงความหมายเชิงเปรียบเทียบ หรือยักเยื้องความเชิงภาษา พระพุทธเจ้าถึงกับทรงเรียกการหมั่นบำเพ็ญฌาน ๔ ว่าเป็นสุขัลลิกานุโยค คือความหมกมุ่นในความสุขชนิดหนึ่ง แต่เป็น การหมกมุ่นความสุขชนิดที่ดีงามเป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความตรัสรู้

เหตุที่ตรัสดังนั้น เพราะตามปกติ นักบวชในสมัยพุทธกาล นิยมบำเพ็ญตบะและข้อปฏิบัติต่างๆ ที่บีบรัดเข้มงวดทรมานตน ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้ว ทำให้รู้สึกว่า การบำเพ็ญสมณธรรมในพุทธศาสนาผ่อนเบาสบายเป็นอย่างมาก นักบวชในลัทธิศาสนาอื่นจึงมักยกเป็นข้อตำหนิติเตียนว่า พระสงฆ์ในพุทธศาสนาเป็นอยู่ย่อหย่อนสุขสบาย ดังตัวอย่างพุทธพจน์ที่ตรัสในคราวหนึ่งว่า

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 05:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


“ดูกรจุนทะ ข้อนี้เป็นฐานะซึ่งเป็นไปได้ คือ การที่อัญเดียรถีย์ปริพาชกจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พวกพระสมฌะศากยบุตรทั้งหลาย เป็นผู้ฝักใฝ่ประกอบตนหมกมุ่นอยู่ในความสุข; เธอพึงพูดกะอัญ-เดียรถีย์ปริพาชกที่กล่าวอย่างนั้น ดังนี้ว่า สุขัลลิกานุโยค (การประกอบตัวให้พัวพันหรือหมกมุ่นในความสุข) ชนิดไหนล่ะท่าน? เพราะว่าสุขัลลิกานุโยค มีมากมายหลายอย่างหลายประการ?

“ดูกรจุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ อย่างต่อไปนี้ เป็นของทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน เป็นอนารยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่ออภิญญา เพื่อความ ตรัสรู้ เพื่อนิพพาน; ๔ อย่างไหน? กล่าวคือ คนพาลบางคนในโลกนี้ ฆ่าสัตว์แล้ว ทำตนให้เป็นสุขเอิบอิ่ม...บางคนถือเอาของที่เขามิได้ให้แล้ว ทำตนให้เป็นสุขเอิบอิ่ม...บางคนพูดเท็จแล้ว ทำตนให้เป็นสุขเอิบอิ่ม...บางคนพรั่งพร้อมเต็มที่ บำรุงบำเรอตนด้วยกามคุณทั้ง ๕...

“ดูกรจุนทะ สุขัลลิกานุโยค ๔ อย่างต่อไปนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่ออภิญญา เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน โดยส่วนเดียว; ๔ อย่างไหน? กล่าวคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน...ทุติยฌาน...ตติยฌาน...จตุตถฌาน...”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร