วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 18:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2021, 15:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์

วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือ วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นอยู่เป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง โดยเฉพาะก็มุ่งที่ประดาสัตว์และสิ่งที่คนทั่วไปจะรู้เข้าใจถึงได้ ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ธรรมดาที่ว่านั้น ได้แก่ อาการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไป เรียกว่าเป็นอนิจจัง

ธรรมดานั้นเช่นกัน คือ อาการที่ปัจจัยทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกทุกอย่าง ต่างก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเสมอเหมือนกัน เมื่อเข้ามาสัมพันธ์กัน จึงเกิดความขัดแย้ง ทำให้สิ่งเหล่านั้นมีสภาวะถูกบีบคั้นกดดัน ไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้ จะต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนสลาย เรียกว่าเป็น ทุกข์

ธรรมดานั้นเองมีพร้อมอยู่ด้วยว่า ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นสภาวะ คือมีภาวะของมันเอง ดังเช่นเป็นสังขารที่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็ไม่อาจเป็นของของใคร ไม่อาจเป็นไปตามความปรารถนาของใคร ไม่มีใครเอาความคิดอยากบังคับมันได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองมันได้จริง เช่นเดียวกับที่ไม่อาจมีตัวตนขึ้นมาไม่ว่าข้างนอกหรือข้างในมัน ที่จะสั่งการบัญชาบังคับอะไรๆ ได้จริง เพราะมันเป็นอยู่ของมันตามธรรมดา โดยเป็นสังขารที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามใจอยากของใคร เรียกว่าเป็น อนัตตา

รวมความคือ รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งหลายที่รู้จักเข้าใจไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น เป็นธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะความเป็นไปโดยทั่วไปเสมอเหมือนกันตามธรรมดาของมัน ในฐานะที่เป็นของปรุงแต่ง เกิดจากเหตุปัจจัย และขึ้นต่อเหตุปัจจัยทั้งหลายเช่นเดียวกัน

วิธีคิดแบบสามัญลักษณะนี้แบ่งได้เป็น ๒ ขั้นตอน

ขั้นที่หนึ่ง คือ รู้เท่าทัน และยอมรับความจริง เป็นขั้นวางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญา ท่าทีแห่งความเป็นอิสระ ไม่ถูกมัดตัว

แม้เมื่อประสบสถานการณ์ที่ไม่ปรารถนา หรือมีเรื่องราวไม่น่าพึงใจเกิดขึ้นแล้ว คิดขึ้นได้ ว่าสิ่งนั้นๆ เหตุการณ์นั้นๆ เป็นไปตามคติธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คิดได้อย่างนี้ ก็เป็นท่าทีแห่งการปลงตก ถอนตัวขึ้นได้ หายจากความทุกข์ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ทุกข์นั้นบรรเทาลง

ไวขึ้นไปอีก เมื่อประสบสถานการณ์มีเรื่องราวเช่นนั้นเกิดขึ้น เพียงตั้งจิตสำนึกขึ้นได้ในเวลานั้นว่า เราจะมองตามความเป็นจริง ไม่มองตามอยากให้เป็นหรืออยากไม่ให้เป็น การที่จะเป็นทุกข์ ก็ผ่อนคลายลงทันที เพราะเปลื้องตัวเป็นอิสระได้ ไม่เอาตัวเข้าไปให้ถูกกดถูกบีบ (ความจริงคือไม่สร้างตัวตนขึ้นให้ถูกกดถูกบีบ)

ขั้นที่สอง คือ แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย เป็นขั้นปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา ด้วยความรู้เท่าทัน เป็นอิสระ ไม่ถูกมัดตัว

ความหมายในข้อนี้คือ เมื่อรู้อยู่แล้วว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย เราต้องการให้มันเป็นอย่างไร ก็ศึกษาให้รู้เข้าใจเหตุปัจจัยทั้งหลาย ที่จะทำให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วแก้ไข ทำการ จัดการที่ตัวเหตุปัจจัยเหล่านั้น เมื่อทำเหตุปัจจัยพร้อมบริบูรณ์ที่จะให้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว ถึงเราจะอยากหรือไม่อยาก มันก็จะต้องเป็นไปอย่างนั้น เมื่อเหตุปัจจัยไม่พร้อมที่จะให้เป็น ถึงเราจะอยากหรือไม่อยาก มันก็จะไม่เป็นอย่างนั้น กล่าวสั้น คือ แก้ไขด้วยความรู้ และแก้ที่ตัวเหตุปัจจัย ไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2021, 16:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ในทางปฏิบัติ ก็เพียงแต่กำหนดรู้ความอยากของตน และกำหนดรู้เหตุปัจจัย แล้วแก้ไข กระทำการที่เหตุปัจจัย เมื่อปฏิบัติได้อย่างนี้ ก็ถอนตัวเป็นอิสระได้ ไม่ถูกความอยากพาตัว (ความจริงคือสร้างตัว) เข้าไปให้ถูกกดถูกบีบ เป็นการปฏิบัติอย่างไม่ถูกมัดตัว เป็นอันว่า ทั้งทำการตรงตามเหตุปัจจัย และทั้งปล่อยให้สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย เป็นวิธีปฏิบัติที่ทั้งได้ผลดีที่สุด และตนเองก็ไม่เป็นทุกข์

การปฏิบัติตามวิธีคิดแบบที่ ๓ ในขั้นที่สองนี้ สัมพันธ์กับวิธีคิดแบบที่ ๔ ซึ่งจะกล่าวข้างหน้า กล่าวคือ ใช้วิธีคิดแบบที่ ๔ มารับช่วงต่อไป

ในการเจริญวิปัสสนา ตามประเพณีปฏิบัติซึ่งได้วางกันไว้เป็นแบบแผนดังบรรยายไว้ในชั้นอรรถกถา ท่านถือหมวดธรรมคือ วิสุทธิ ๗ เป็นแม่บท เอาลำดับญาณที่แสดงไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ เป็นมาตรฐาน และยึดวิธีจำแนกปรากฏการณ์โดยนามรูปเป็นข้อพิจารณาขั้นพื้นฐาน

ตามหลักการนี้ ท่านได้จัดวางข้อปฏิบัติคือการเจริญวิปัสสนานั้น เป็นระบบที่มีขั้นตอนแน่นอนต่อเนื่องเป็นลำดับ และวิธีคิด ๓ แบบที่กล่าวมาแล้วนี้ ท่านก็นำไปจัดเข้าเป็นขั้นตอนอยู่ในลำดับด้วย โดยจัดให้เป็นวิธีคิดวิธีพิจารณาที่ต่อเนื่องเป็นชุดเดียวกัน แต่ลำดับของท่านนั้น ไม่ตรงกับลำดับข้อในที่นี้ทีเดียวนัก กล่าวคือ

ลำดับที่ ๑ ใช้วิธีคิดแบบแยกแยะ หรือวิเคราะห์องค์ประกอบ (วิธีที่ ๒) กำหนดแยกปรากฏการณ์ต่างๆ เป็นนามธรรมกับรูปธรรม ว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม จำพวกรูปมีอะไรบ้าง จำพวกนามมีอะไรบ้าง มีลักษณะ มีคุณสมบัติเป็นอย่างไรๆ เรียกว่าขั้น นามรูปปริเคราะห์ บ้าง นามรูปววัตถาน บ้าง นามรูปปริเฉท หรือ สังขารปริจเฉท บ้าง และจัดเป็น ทิฏฐิวิสุทธิ (วิสุทธิที่ ๓)

อย่างไรก็ตาม ความประสงค์ของท่าน มุ่งเน้นให้กำหนดจับและรู้จักสภาวะหรือองค์ประกอบตามที่พบเห็น ตามที่เป็นอยู่ ว่าอย่างไหนเป็นนาม อย่างไหนเป็นรูป มากกว่าจะมุ่งเน้นในแง่ของการพยายามแจกแจง


ลำดับที่ ๒ ใช้วิธีคิดแบบสืบสาวเหตุปัจจัย (วิธีที่ ๑) พิจารณาค้นหาเหตุปัจจัยของนามและรูปนั้น ในแง่ต่างๆ เช่น พิจารณาตามแนวปฏิจจสมุปบาท พิจารณาตามแนวอวิชชาตัณหาอุปาทานกรรมและอาหาร พิจารณาตามแนวกระบวนการรับรู้ (เช่นจักขุวิญญาณ อาศัยจักขุ กับรูปารมณ์ เป็นต้น) พิจารณาตามแนวกรรมวัฏฏ์วิปาก- วัฏฏ์ เป็นต้น แต่รวมความแล้วก็อยู่ในขอบเขตของปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง เป็นแต่แยกบางแง่ออกไปเน้นพิเศษ

ขั้นนี้เรียกว่า นามรูปปัจจัยปริคคหะ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ปัจจัยปริคคหะ (ปัจจัยปริเคราะห์) เมื่อทำสำเร็จ เกิดความรู้เข้าใจ ก็เป็น ธรรมฐิติญาณ หรือยถาภูตญาณ หรือสัมมาทัสสนะ จัดเป็นกังขาวิตรณวิสุทธิ (วิสุทธิที่ ๔)


ลำดับที่ ๓ ใช้วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา หรือวิธีคิดโดยสามัญลักษณ์ (วิธีที่ ๓) นำเอานามรูป หรือสังขารนั้นมาพิจารณา ตามหลักแห่งคติธรรมดาของ ให้เห็นภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง ไม่คงที่ เป็น ถูกปัจจัยขัดแย้งบีบคั้น เป็นทุกข์ ไม่มีไม่เป็นโดยตัวของมันเอง ใครๆ เข้ายึดถือเป็นเจ้าของครอบครองบังคับด้วยความอยากไม่ได้ เป็นอนัตตา

ขั้นนี้เรียกว่า สัมมสนญาณ เป็นตอนเบื้องต้นของ มัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธิ (วิสุทธิข้อที่ ๕)

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มิ.ย. 2021, 19:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ข้อความอ้างจากบาลี ซึ่งใช้วิธีคิดแบบที่ ๒ และแบบที่ ๓ พิจารณาไปพร้อมๆ กัน ขอยกมาให้ดูเพียงเล็กน้อย พอเป็นตัวอย่าง

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมนสิการดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ซึ่ง และจง
พิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งรูปตามความเป็นจริง...จงมนสิการโดยแยบคายซึ่งเวทนา และจง
พิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งเวทนาตามความเป็นจริง...จงมนสิการโดยแยบคายซึ่งสัญญา และจง
พิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งสัญญาตามความเป็นจริง...จงมนสิการโดยแยบคายซึ่งสังขาร และจง
พิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งสังขารตามความเป็นจริง...จงมนสิการโดยแยบคายซึ่งวิญญาณและ
จงพิจารณาเห็นอนิจจตาแห่งวิญญาณตามความเป็นจริง...”

“ภิกษุผู้มีสุตะ พึงมนสิการโดยแยบคาย ซึ่งอุปาทานขันธ์ ๕ โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นของถูกปัจจัยบีบคั้น...โดยความเป็นของมิใช่อัตตา...”

พุทธพจน์ต่อไปนี้ แสดงการคิดแบบสืบสาวหาเหตุ ต่อด้วยการคิดแบบสามัญลักษณ์ เพื่อวัตถุประสงค์แห่งการรู้เท่าทันตามความเป็นจริง ให้ใจเป็นอิสระ มิให้เกิดทุกข์

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง มีตนเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ จงมีธรรมเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ อยู่เถิด;

“เมื่อเธอทั้งหลายจะเป็นผู้มีตนเป็นที่พึ่ง...มีธรรมเป็นสรณะ ไม่มีสิ่งอื่นเป็นสรณะ เป็นอยู่ ก็พึงพิจารณาโดยแยบคายว่า โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลาย เกิดจากอะไร มีอะไรเป็นแดนเกิด

“ภิกษุทั้งหลาย โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลายเกิดจากอะไร มีอะไรเป็นแดนเกิด? ปุถุชนในโลกนี้ ผู้ขาดสุตะ (ไม่ได้เรียนรู้) มิได้พบเห็นอริยชน ไม่ฉลาดในอริยธรรม ไม่ได้ศึกษาในอริยธรรม มิได้พบเห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในสัปปุริสธรรม ไม่ได้ศึกษาในสัปปุริสธรรม ย่อมมองเห็นรูปเป็นตน มองเห็นตนมีรูป มองเห็นรูปในตน หรือมองเห็นตนในรูป, รูปของเขานั้นผันแปรไป กลายเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะการที่รูปผันแปรไปกลายเป็นอื่น;

“เขามองเห็นเวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ (เป็นอัตตา เป็นต้น อย่างที่กล่าวแล้ว) ...โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา เพราะการที่เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ผันแปรไป กลายเป็นอื่น

“ส่วนภิกษุรู้ชัดว่า รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ เป็นสิ่งไม่เที่ยง แปรปรวนได้ จางหายดับสิ้นได้ มองเห็นตามเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาอย่างนี้ว่า รูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ทั้งปวง ล้วนไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ทั้งในกาลก่อน ทั้งในบัดนี้ ก็เช่นเดียวกัน เธอย่อมละโสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และความผิดหวังคับแค้นใจทั้งหลายได้ เพราะละโสกะเป็นต้นนั้นได้ เธอย่อมไม่ต้องหวั่นหวาดเสียวใจ เมื่อไม่หวั่นหวาดเสียวใจ ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้อยู่เป็นสุข เรียกได้ว่า ตทังคนิพพานแล้ว”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร