วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ค. 2025, 05:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มิ.ย. 2021, 20:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


หลักการปฏิบัติตามนัยแห่งคัมภีร์วิสุทธิมัคค์
ต่อไปนี้ คือ สรุปสาระสำคัญของวิสุทธิมัคค์ทั้งหมด


ก. ระดับศีล (อธิศีลสิกขา)

๑. สีลวิสุทธิ ความหมดจดแห่งศีล คือ ประพฤติดี เลี้ยงชีวิตถูกต้อง มีศีลบริสุทธิ์ตามภูมิขั้นของตน
คัมภีร์วิสุทธิมัคค์กล่าวมุ่งเฉพาะการปฏิบัติของพระภิกษุ หมายเอา ปาริสุทธิศีล ๔ คือ

๑) ปาติโมกขสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมในพระปาติโมกข์ เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต รักษา
วินัย ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย)

๒) อินทรียสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ได้แก่ ระวังไม่ให้อกุศลธรรมความชั่วครอบงำจิตใจใน
เมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖)

๓) อาชีวปาริสุทธิศีล (ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ ได้แก่ เลี้ยงชีวิตโดยทางชอบธรรม)

๔) ปัจจัยสันนิสิตศีล (ศีลที่เกี่ยวข้องกับปัจจัย ๔ ได้แก่ การใช้สอยปัจจัย ๔ ด้วยปัญญาพิจารณา
ให้เป็นไปตามความหมายและประโยชน์ของสิ่งนั้นๆ ไม่บริโภคด้วยตัณหา, ปัจจยปฏิเสวนศีล ก็เรียก)

นอกจากศีล ท่านแนะนำให้เลือกสมาทานคือถือ ธุดงค์ ๑๓ บางข้อ ที่ทรงอนุญาตและเหมาะกับตน
เพื่อส่งเสริมความมักน้อยสันโดษ สงัด เพียร และเลี้ยงง่าย เป็นต้น เป็นการขัดเกลากิเลส อันจะ
ช่วยให้รักษาศีลได้บริสุทธิ์เป็นอย่างดี และช่วยให้บำเพ็ญข้อวัตรทั้งหลายได้สำเร็จพร้อม เป็นการ
เกื้อกูลแก่ภาวนาต่อไป

ข. ระดับสมาธิ (อธิจิตตสิกขา)

๒. จิตตวิสุทธิ ความหมดจดแห่งจิต คือ ฝึกอบรมจิต หรือพัฒนาคุณภาพและสมรรถภาพของจิต จน
เกิดสมาธิ พอเป็นบาทหรือปทัฏฐานแห่งวิปัสสนา คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ว่า ได้แก่ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนา
สมาธิในฌานสมาบัติทั้ง ๘ และแสดงวิธีเจริญสมาธิ จนถึงได้ผลพิเศษ คือโลกิยอภิญญา ทั้ง ๕

ค. ระดับปัญญา (อธิปัญญาสิกขา)
๑) ญาตปริญญา คือ รู้จักสภาวะ
- ขั้นทุกขววัฏฐาน คือ กำหนดทุกขสัจจ์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 มิ.ย. 2021, 21:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. ทิฏฐิวิสุทธิ ความหมดจดแห่งทิฏฐิ คือ ความรู้เข้าใจมองเห็นนามรูปตามสภาวะที่เป็นจริง
ทำให้ระงับความเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลเสียได้ เริ่มดำรงในภูมิแห่งความไม่หลงผิด บางที
เรียกเป็นญาณอย่างหนึ่ง มีชื่อว่า

๐)นามรูปปริเฉทญาณ (๑) หรือเรียกว่า สังขารปริจเฉท บ้าง นามรูปววัฏฐาน บ้าง หมายถึง
ความรู้จักรูปธรรม-นามธรรมว่า สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ พอนับได้ว่าเป็นของจริง ก็มีแต่รูปธรรมและ
นามธรรมเท่านั้น และกำหนดได้ว่า ในการรับรู้และเคลื่อนไหวต่างๆ ของตนนั้น อะไรเป็นรูป
ธรรม อะไรเป็นนามธรรม เช่น เมื่อเห็นรูป จักขุประสาท แสง และรูปหรือสี เป็นรูปธรรม
จักขุวิญญาณ หรือการเห็น เป็นนามธรรม ดังนี้เป็นต้น

- ขั้นสมุทัยววัฏฐาน คือ กำหนดสมุทัยสัจจ์

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณเป็นเหตุข้ามพ้นความสงสัย หรือความบริสุทธิ์ขั้น
ที่ทำให้กำจัดความสงสัยได้ คือ กำหนดรู้ปัจจัยแห่งนามรูป ตามแนวปฏิจสมุปบาท ก็ตาม
ตามแนวกฎแห่งกรรมก็ตาม ตามแนวกระบวนการรับรู้ก็ตาม ตามแนว วัฏฏะ ๓ ก็ตาม หรือ
ตามแนวอื่น ก็ตาม ว่านามธรรมและรูปธรรมล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย และเป็นปัจจัยแก่กัน
และกัน อาศัยกัน อันเป็นความรู้ที่ทำให้สิ้นความสงสัยเกี่ยวกับกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต
และปัจจุบัน ความรู้นี้กำหนดเป็นญาณขั้นหนึ่ง บางทีเรียกว่า

๐)นามรูปปัจจยปริคคหญาณ (๒) แปลว่า ญาณที่กำหนดปัจจัยของนามรูป ญาณขั้นนี้
เรียกได้หลายชื่อ ว่า ธัมมัฏฐิติญาณ บ้าง ยถาภูตญาณ บ้าง สัมมาทัสสนะ บ้าง

ผู้ประกอบด้วยญาณขั้นนี้ พระอรรถกถาจารย์เรียกว่าเป็น “จูฬโสดาบัน” คือ พระโสดาบัน
น้อย เป็นผู้มีคติ คือทางไปก้าวหน้า ที่แน่นอนในพระพุทธศาสนา.

๒) ตีรณปริญญา คือ รู้สามัญลักษณะ หรือหยั่งถึงไตรลักษณ์
- ขั้นมัคคววัฏฐาน คือ กำหนด
มรรคสัจจ์ (เฉพาะข้อ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ)

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณที่รู้เห็นว่าเป็นทางหรือมิใช่ทาง คือ
ยกเอารูปธรรมและนามธรรมทั้งหลายขึ้นมาพิจารณาเป็นหมวดๆ ตามแนวไตรลักษณ์ ที
ละอย่างๆ เช่น พิจารณารูปโดยอยิจจะลักษณะ โดย ทุกขลักษณะ โดย อนัตตลักษณะ
แล้วพิจารณา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามลำดับ และโดยลักษณะแต่ละลักษณะ
ไปทีละอย่าง แล้วพิจารณาข้อธรรมอื่นๆ เช่น ในหมวดอายตนะ ๑๒ ปฏิจสมุปบาท ๑๒
และอะไรก็ได้ทุกๆ อย่าง แม้แต่ ภพ ๓ ฌาน ๔ อัปปมัปมัญญา ๔ สมาบัติ ๔ ฯลฯ
ไปตามลำดับไตรลักษณ์แต่ละอย่าง ในทำนองเดียวกันนั้น (รวมความก็อยู่ในขันธ์ ๕ นั่นเอง)
จนเริ่มมองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งสังขารทั้งหลาย เรียกว่าเกิดเป็น ตรุณวิปัส
สนา คือ วิปัสสนาญาณอ่อนๆ

ในช่วงนี้ ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ ประการ ขึ้นมา ชวนให้หลงผิดว่าบรรลุมรรค
ผลแล้ว หรือหลงยึดเอานั้นว่าเป็นทางที่ถูก ถ้าหลงไปตามนั้น ก็เป็นอันพลาดจากทาง เป็นอัน
ปฏิบัติผิดไป แต่ถ้ามีสติสัมปชัญญะแก้ไขได้ ก็จะกำหนดแยกได้ว่า วิปัสสนูกิเลส ๑๐ นั้นไม่ใช่
ทาง แล้วกำหนดวิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทางพ้นจากอุปกิเลสแล้วว่า นั่นแหละเป็นทาง
หรือมรรคาแท้จริง ซึ่งจะพึงเดินต่อไป เมื่อความรู้นี้เกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่า เป็นมัคคามัคค
ญาณทัสสนวิสุทธิ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2021, 06:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ในวิสุทธิข้อนี้ มีเนื้อหาซับซ้อนที่พึงทำความเข้าใจ คือ

การเจริญวิปัสสนาในขั้นที่จะให้เกิดวิสุทธิข้อนี้ เรียกว่า นยวิปัสสนา (การเจริญวิปัสสนา
โดยนัย คือ พิจารณาโดยจับแง่ความหมายตามแนววิธีที่ท่านแสดงไว้ในพระบาลี เช่นว่า
รูปอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม จะเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ก็ตาม ภายในหรือภายนอก
ก็ตาม ฯลฯ ล้วนไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลาปสัมมสนะ (การพิ
จารณาเป็นหมวดๆ หรือรวบเป็นกลุ่มๆ อย่างที่อธิบายแล้วข้างบน) และความรู้ที่เกิดขึ้นใน
ขั้นนี้ บางทีจัดกันเป็นญาณขั้นหนึ่ง เรียกว่า

๐) สัมมสนญาณ (๓) แปลว่า ญาณที่พิจารณา หรือตรวจตรา (นามรูปตามแนวไตรลักษณ์)

เมื่อพิจารณาด้วยสัมมสนญาณไปจนญาณแก่กล้าขึ้น เริ่มมองเห็นความเกิดขึ้นและความ
เสื่อมสลายไปของสิ่งทั้งหลาย มองเห็นความแปรปรวนของปัจจุบันธรรมว่า ธรรมเหล่านี้
ไม่มีแล้วก็มีขึ้น มีขึ้นแล้วก็ดับล่วงไป มองเห็นการเกิดและดับสลาย ทั้งโดยปัจจัยและเป็น
ขณะๆ ไป ก็เริ่มเกิดญาณใหม่เรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสนา แต่ยังเป็นญาณใหม่ๆ อยู่และ
ญาณนี้ตอนนี้เอง ที่เรียกว่า ดรุณวิปัสสนา หรือ ตรุณวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนาญาณอ่อนๆ)

ผู้ได้ดรุณวิปัสสนานี้ เรียกว่า “อารัทธวิปัสสก” (ผู้เริ่มเห็นแจ้ง หรือผู้ได้เริ่มวิปัสสนาแล้ว)
และในตอนนี้เอง วิปัสสนู กิเลส เช่น โอภาส คือ แสงสว่างแสนงาม เป็นต้น จะเกิดขึ้น
ชวนให้หลงผิดและติดใจ ถ้ารู้เท่าทันผ่านพ้นไปได้ กำหนดแยกว่าอะไรเป็นทางอะไรไม่
ใช่ทางได้แล้ว ก็เป็นอันจบสิ้นวิสุทธิข้อนี้

๓) ปหานปริญญา คือ รู้ถึงขั้นละความหลงผิด ถอนตัวเป็นอิสระได้

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน โดยสาระแท้ๆ
หมายถึงวิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอดด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ ๘ กับวิปัสสนาญาณข้อที่ ๙ คือ
สัจจานุโลมิกญาณ แต่พูดอย่างกว้างๆ วิสุทธิข้อนี้ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ ๙ นั่นเอง คือ นับตั้ง
แต่อุทยัพพยญาณ ที่พ้นจากวิปัสสนูกิเลสแล้วเป็นต้นไป จนสุดทางแห่งความเป็นปุถุชน หรือ
สุดวิปัสสนา วิปัสสนาญาณ ๙ มีดังนี้

๑) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หรือเรียกสั้นๆ ว่า อุทยัพพญาณ (๔) ญาณอันตามเห็น
ความเกิดดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นปัจจุบันธรรม
ที่กำลังเกิดขึ้นและดับสลายไปๆ ชัดเจน เข้าใจภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพ
เดิมไม่ได้ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาตามความอยากของใคร หยั่งทราบว่า สิ่งทั้งหลาย เกิดขึ้น
ครั้นแล้ว ก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด เมื่อเกิดการรับรู้หรือเคลื่อนไหว
ใดๆ ในแต่ละขณะ ก็มองเห็นนามธรรม รูปธรรม และตัวรู้หรือผู้รู้ ที่เกิดขึ้น แล้วทั้งรูปธรรม
นามธรรมและตัวรู้นั้น ก็ดับไปพร้อมกันทั้งหมด เป็นความรู้เห็นชัดแก่กล้า (พลววิปัสสนา)
ทำให้ละนิจจสัญญา สุขสัญญา และอัตตสัญญาได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2021, 07:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๒) ภังคานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า ภังคญาณ (๕) ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความ
เกิดดับเช่นนั้นชัดเจนถี่เข้า ก็จะคำนึงเห็นเด่นชัดในส่วนความดับที่เป็นจุดจบสิ้น มองเห็นแต่อาการที่สิ่ง
ทั้งหลายดับไปๆ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ล้วนจะต้องดับสลายไปทั้งหมด

๓) ภยตูปัฏฐานฐาณ เรียกสั้นว่า ภยญาณ (๖) ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อ
พิจารณาเห็นแต่ความแตกสลาย อันมีแก่สิ่งทั้งปวงหมดทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็น
ไปในภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น

๔) อาทีนวานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า อาทีนวญาณ (๗) ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็น
สังขารทั้งปวงล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัว ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสัง
ขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์

๕) นิพพิทานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า นิพพิทาญาณ (๘) ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อ
พิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ

๖)มุญจิตุกัมยตาญาณ (๙) ญาณหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว
ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น

๗) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หรือ ปฏิสังขาญาณ (๑๐) ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทาง คือ
เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากำหนดด้วยไตรลักษณ์
เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป

๘) สังขารุเปกขาญาณ (๑๑) ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขาร
ทั้งหลายต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริงว่า มันก็เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่าง
นั้นเป็นธรรมดา หรือเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง จึงวางใจเป็นกลางเรียบเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย
ไม่ขัดใจติดใจ ในสังขารทั้งหลาย แต่นั้นก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่น
ไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย ญาณข้อนี้จัดเป็นสิขาปปัตตวิปัสสนา คือ
วิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอด และเป็นวุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่เชื่อมถึงมรรค อันเป็นที่ออก
จากสิ่งที่ยึด หรือออกจากสังขาร

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 มิ.ย. 2021, 07:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๙) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (๑๒) ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ
เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว ญาณ
อันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ

ต่อจากอนุโลมญาณ ก็จะเกิด โคตรภูญาณ (๑๓) (ญาณครอบโคตร คือ ญาณที่เป็นหัวต่อ ระหว่าง
ภาวะปุถุชน กับภาวะอริยบุคคล) มาคั่นกลาง แล้วจึงเกิดมรรคญาณ ให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป

โคตรภูญาณนี้ ท่านว่าอยู่ระหว่างกลาง ไม่จัดเข้าใน วิสุทธิ ไม่ว่าข้อ ๖ หรือข้อ ๗ แต่ให้นับเข้าเป็นวิปัส
สนาได้ เพราะอยู่ในกระแสของวิปัสสนา

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจดแห่งญาณทัศนะ คือความรู้ในอริยมรรค ๔ หรือมรรคญาณ (๑๔)
นั่นเอง ซึ่งเกิดถัดจากโคตรภูญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดแล้ว ผลญาณ (๑๕) ก็เกิดขึ้นในลำดับถัดไป
จากมรรคญาณนั้นๆ ตามลำดับของแต่ละขั้นของความเป็นอริยบุคคล ความเป็นอริยบุคคลย่อม
เกิดขึ้นโดยวิสุทธิข้อนี้ เป็นอันบรรลุที่หมายสูงสุดแห่งวิสุทธิ หรือไตรสิกขา หรือการปฏิบัติธรรมในพระ
พุทธศาสนาทั้งหมด

ถัดจากบรรลุมรรคผลด้วยมรรคญาณและผลญาณแล้ว ก็จะเกิดญาณอีกอย่างหนึ่งขึ้นพิจารณา
มรรค ผล พิจารณากิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน (เว้นพระอรหันต์
ซึ่งไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่) เรียกชื่อว่า ปัจจเวกขณญาณ(๑๖) เป็นอันจบกระบวน
การบรรลุมรรคผลนิพพานในขั้นหนึ่งๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร