วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 15:08  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มิ.ย. 2021, 05:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


บริโภคกามสุขอย่างอิสรชน รู้จักจัดรู้จักใช้ขยายประโยชน์สุข ก็เป็นผู้ประเสริฐ เป็นอริยสาวก
ดังที่กล่าวแล้วว่า ถ้าเป็นคนมีนิสสรณปัญญา บริโภคกามสุขหรืออามิสสุขนี้ ด้วยปัญญารู้เท่าทัน
รักษาจิตใจให้เป็นอิสระได้ ไม่ตกเป็นทาสของวัตถุ และกินใช้กามวัตถุด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันนั้น
โดยเข้าใจความเป็นไปได้ในทางที่จะทำให้ดี และมองเห็นช่องที่จะเสียหายเกิดโทษ รู้จักจัดการ
วัตถุและกิจการให้เกื้อกูลเป็นคุณก่อเกิดประโยชน์สุข ทั้งแก่ตนเอง และแก่ผู้อื่น ทั้งแก่ตน แก่
ครอบครัว แก่คนใกล้ชิดข้างเคียง แก่บรรดาหมู่ชนในความดูแลรับผิดชอบ แก่คนร่วมงานร่วมกิจ
การ คนในวงการ ตลอดจนคนในสังคมทั้งหมด พร้อมทั้งตระหนักในการที่จะนำทั้งตนและ
ผู้อื่น ให้พัฒนาสูงขึ้นไปในอริยมรรคา ถ้าอย่างนี้ ก็เป็นบุคคลที่ท่านถือว่าเป็นอริยสาวก

สำหรับพระสงฆ์หรือชาววัด ผู้พึงหมายความสุขอิสระภายในที่สูงขึ้นไป จะได้ยินท่านสอนให้ละ
สละกาม ให้ปลดเปลื้องตัวพ้นไปจากวัตถุทั้งหลาย แต่สำหรับคฤหัสถ์ชนหรือบรรดาชาวบ้าน
ท่านไม่ได้มาสอนเน้นให้เว้นกามอย่างนั้น แต่ท่านมุ่งสอนให้ปฏิบัติจัดการกับการเสพบริโภค
วัตถุ และการอยู่กับกามสุข ให้เป็นไปด้วยดี อย่างที่ว่าให้ห่างโทษภัย และให้เกื้อกูลเป็นคุณ
เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางมากมายและสูงที่สุด

แน่นอนว่า ปัญญารู้ทางรอด ที่เรียกว่า “นิสสรณปัญญา” นั้น ย่อมเป็นแกนนำสำหรับชีวิตของ
คฤหัสถ์หรือสาคารชน ทั้งในการที่จะบริหารกามโภคะ ให้ปลอดภัยไร้โทษ ห่างการเบียด
เบียน แต่ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลดังว่าแล้ว และในการที่จะชี้นำให้ก้าวต่อไปในการพัฒนาชีวิต
ขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไปๆ ท่านจึงเน้นย้ำการใช้ปัญญานี้อยู่เสมอ ในการเกี่ยวข้องและปฏิบัติ
ต่อทุกสิ่งทุกอย่าง ให้รู้ทั่วทันใน ๓ จุดหลัก คือ คุณ-โทษ-ทางออก หรือ จุดเด่น ข้อดี ส่วน
เสีย ข้อด้อย และจุดหลุดรอดออกไปเป็นอิสระ ซึ่งเป็นภาวะที่เต็มสมบูรณ์ พ้นจากข้อดีข้อด้อย
ที่ยังสัมพัทธ์กันนั้น ในทุกขั้นทุกตอนที่ไปถึง

ตามปกติ สำหรับชาวบ้านทั่วๆ ไป ซึ่งพื้นความรู้ความเข้าใจยังไม่มีหรือไม่มาก และยังไม่ได้คิด
มุ่งที่จะสละละบ้านเรือนออกมา พระพุทธเจ้าทรงสอนด้วยการแสดงธรรมตั้งแต่พื้นฐานขึ้นไป
ตามลำดับ ดังที่เรียกว่า อนุปุพพิกถา คือเทศนาหรือคำบรรยายธรรม ที่แสดงสูงขึ้นไปเป็นขั้นๆ
โดยลำดับ

อนุปุพพิกถานั้น ประกอบด้วยคำบรรยายย่อย ๕ ตอน (๓ กถา กับ ๒ ความสืบเนื่อง) คือ ทานกถา
คำบรรยายเรื่องการให้ การสละ การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันเกื้อกูลกัน สีลกถา คำบรรยายเรื่อง
ความประพฤติดีงาม ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ก่อความเดือดร้อนเวรภัยในสังคม ต่อด้วย สัคคกถา คำ
บรรยายว่าด้วยสวรรค์ คือชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งมีความสุขด้วยกามวัตถุทั้งหลาย ให้เห็นถึงชุม
ชนจนถึงหมู่เทพไท้เทวา ที่อยู่กันดีมีความสุขในระดับของกามสุขนั้น นี่ก็คือผลจากทาน และศีลนั่น
เอง เห็นได้ชัดว่า ทั้งหมดในตอนนี้ เป็นหลักคำสอนให้คนรับผิดชอบสร้างสรรค์ชีวิตและสังคมให้
อยู่ดี มีความสุขสมบูรณ์ในระดับของกามสุข

กถา คือคำบรรยายธรรมแท้ๆ มี ๓ เรื่องนี้ และนี่ก็คือการนำชาวบ้านหรือเหล่าคหัฏฐชนผู้ฟังเหล่า
นั้น มาถึงจุดหมายสูงสุดที่พวกเขาดิ้นรนเพียรพยายามแสวงหา ให้เห็นว่า เมื่อดำเนินชีวิตประพฤติ
ปฏิบัติตาม ๒ กถาแรกแล้ว ก็จะมีความสุขสมบูรณ์ เสวยกามโภคะอย่างพรั่งพร้อมด้วยดี อย่างที่ทรง
บรรยายในกถาที่ ๓ เป็นอันบรรลุความมุ่งหวังสมดังที่หมาย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มิ.ย. 2021, 06:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงหยุดแค่นี้ ต่อจากนั้น พอพร้อมได้ที่ พระองค์ก็ตรัสต่อไปถึงกามาทีนพ
ให้เห็นว่ากามสุข ที่พึ่งพาอาศัยวัตถุสิ่งเสพบริโภคทั้งหลายนั้น ถึงจะดีเลิศดังที่ว่า ก็ยังมีจุดอ่อน
มีข้อเสียข้อบกพร่อง ที่เปิดช่องและเป็นปัจจัยให้เกิดโทษทุกข์ความเสียหายต่างๆ เมื่อผู้ฟัง
มองเห็นและเข้าใจดีแล้ว อยากหาทางออก ก็ทรงแสดงต่อไปถึงเนกขัมมานิสงส์ คือการมีชีวิต
ที่ปลอดโปร่ง ไม่ต้องพึ่งพาขึ้นต่อวัตถุสิ่งเสพเหล่านั้น และมีความสุขอย่างอิสระ ที่เป็นคุณสม
บัติประจำอยู่ในตัวเอง ทำให้จิตใจของผู้ฟังเปิดโล่งรับ และใฝ่ที่จะเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ถึงความ
สุขที่เป็นนิรามิส ที่ว่าสุขได้อย่างดี โดยไม่ต้องมีไม่ต้องอาศัยกามนั้น

นี่ก็คือการที่พระพุทธเจ้าทรงสร้างความพร้อมให้แก่ผู้ฟัง เป็นการเตรียมจิตของเขาให้พัฒนา
ขึ้นมาทีละขั้น อย่างที่พูดกันมาในภาษาเก่าว่าฟอกอัธยาศัยให้หมดจดเป็นชั้นๆ

ดังที่พระไตรปิฎกบรรยายความตอนนี้ว่า ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบว่า เหล่าผู้
ฟังนั้น มีจิตพร้อม นุ่มนวล ไร้ความขุ่นข้อง คล่องโปร่ง ร่าเริง ผ่องใสดี เหมือนดังผ้าที่สะอาด
หมดจด พร้อมที่จะรับน้ำย้อม ก็ทรงแสดง อริยสัจ ๔ ประการ นี่คือเมื่อใจเขาเปิดแล้ว ก็ใส่ปัญญา
ให้เขาเข้าถึง สัจธรรมมองเห็นความจริงของชีวิตด้วยตัวเอง จนเกิดดวงตาปัญญาเห็นธรรม ที่
เรียกว่าธรรมจักษุ กลายเป็นอริยชน ตั้งแต่บุคคลโสดาบันขึ้นไป

คนที่มีธรรมจักษุ เป็นอริยชนอย่างนี้แล้ว ส่วนมากก็อยู่เป็นคฤหัสถ์ครองบ้านครองเรือน ปก
ครองหมู่คนหรือชุมชนต่อไป ยังบริโภคกามโภคะ เสพกามสุข แต่เป็นกามสุขที่มีนิรามิสสุขประ
สานพร้อมกันไปด้วย อันเป็นหลักประกันที่จะไม่ให้กามสุขก่อโทษความเดือดร้อนเสียหาย มีแต่
เสริมสร้างประโยชน์สุขและความดีงาม ทำให้อริยชนนั้นดำเนินชีวิตเป็นหลัก และเป็นแบบ
อย่างให้แก่ชุมชนและสังคม และแน่นอนว่าจะก้าวหน้าสูงขึ้นไปในอริยมรรคา ไม่มีการถอยหลัง
ตกต่ำลงมา

เป็นอันว่า กามสุข หรือสามิสสุข ที่เอร็ดอร่อย ซู่ซ่า ซาบซ่าน หวานชื่นนี้ แม้จะเป็นความสุขที่
ปรากฏโดดเด่น เป็นที่ปรารถนากันยิ่งนัก แต่เป็นความสุขที่พึ่งพาสิ่งเสพ ขึ้นต่อวัตถุหรือของ
นอกตัว ไม่เป็นอิสระ ไม่เป็นไทแก่ตน ต้องยึดถือครอบครองเอาเป็นของตัว

พร้อมกันนั้นเอง ในขณะที่การเสพกามสุขนั้น ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ พร่องอยู่ตลอดเวลา ต้องหา
ต้องเอา และแต่ละคนมุ่งมั่นทะยานหาให้ยิ่งขึ้นไป แต่สิ่งเสพที่ดีเยี่ยม ยอดปรารถนานั้น มีไม่เพียง
พอ พาให้เหล่าผู้เสพคอยเพ่งเล็งจ้องกัน เป็นไปกับด้วยความหวาดระแวง มีการขัดแย้งแก่งแย่ง
ช่วงชิง ต้องคอยหวงแหนปกป้อง เป็นเหตุนำมาซึ่งการเบียดเบียน ถ้าไม่รู้จักควบคุมยับยั้ง
ก็จะขยายการเบียดเบียนให้กว้างขวางรุนแรงยิ่งขึ้นๆ เกิดความเดือดร้อนทุกข์ภัยขยายระดับ
และขอบเขตออกไป จนกระทั่งเกิดความพินาศย่อยยับไม่จบสิ้น

ยิ่งกว่านั้น ถึงแม้ได้ครอบครองและมีไว้ให้ได้เสพสมใจที่มั่นหมาย แต่สิ่งเหล่านั้น ซึ่งเป็นของนอก
ตัว อาจหลุดลอยสูญหายไปได้ แม้ไม่สูญหาย ก็ไม่ได้อย่างใจ ไม่เป็นไปตามใจของตัว กลับกลาย
ไปเสียบ้าง มันเองเป็นไปอย่างที่มันก็ไม่ปรารถนาบ้าง และไม่ว่าจะอย่างไร ก็มีอันจะต้องปรวนแปร
เสื่อมสลาย ไม่อาจคงอยู่อย่างนั้นได้ยั่งยืนตลอดไป และก็จะต้องพลัดพรากจากกันไปในที่สุด
อย่างแน่นอน

พร้อมกับความสุขที่มี ก็จึงพ่วงมาด้วยความห่วงกังวลหวั่นใจ แม้เมื่อเสพอยู่มีความสุขสมหมาย
นอกจากไม่รู้จักเต็มอิ่มจริงแล้ว ในความสุขนั้นเอง ที่ไม่เต็มอิ่มนั้น ก็ไม่ปลอดโปร่งโล่งล้วน
เหมือนมีกากมีเสี้ยนมีเศษมีหนามมีความแปดเปื้อนมีที่ปูดที่โป่งระเกะระกะ คอยรบกวนรวน
เร้าให้เกิดความเคืองระคาย เป็นสุขระคนทุกข์ ข้างหน้าก็หวาดพร้อมไปกับที่หวัง ข้างหลัง
ก็หวนหาอาลัย เหลือทิ้งไว้แต่ความเสียดาย ไม่เป็นความสุขที่ผ่องใสเบิกบานหมดจดโล่งล้วน
ทั่วตลอดอย่างแท้จริง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มิ.ย. 2021, 08:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ส่วนความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป เป็นความสุขอิสระ อยู่ภายใน ไม่ขึ้นต่ออะไรอื่น เป็น
ไทแก่ตัว หมดจดผ่องใส ไม่เป็นพิษภัยแก่ใครๆ แต่เมื่อตัวคนที่มีที่เสวยสุขนั้นเอง ยังมีกิเลส
ก็ยังอาจสยบติดเพลินในความสุขนั้น เป็นเหตุให้เกิดความประมาท ปล่อยปละละเลยกิจ
หน้าที่ สิ่งที่ควรทำก็ไม่ทำ เรื่องราวที่พึงเอาใจใส่รับผิดชอบ และประโยชน์ของส่วนรวม ก็
เสียหาย และอาจจะเวียนกลับมาหาสามิสสุขอีกก็ได้ อีกทั้งมัวเพลิน ก็ลืมไม่เพียรพยายาม
ปฏิบัติต่อไป เพื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์ คือกิเลสอันเป็นเชื้อที่ยังเหลืออยู่ จึงยังบกพร่อง ไม่ดี
งามสมบูรณ์

ดังนั้น ทั้งกามสุข หรือสามิสสุข ก็ตาม นิรามิสสุข ก็ตาม ของผู้ยังมีกิเลส ก็ยังไม่เป็นอิสระแท้
จริง ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังมีตัวตนที่ติดพัน ยังไม่สิ้นเชื้อทุกข์ ไม่หมดมูลของปัญหา ต้อง
พัฒนาจิตปัญญาต่อไป จนกว่าจะถึงอาสวักขัย ให้สิ้นกิเลส ไร้ทุกข์ ไม่ติดในอะไรๆ และอะไรๆ
ก็ฉาบทาไม่ติด เหมือนน้ำไม่เปียกใบบัว ตัวอยู่ในโลก แต่ใจอยู่เหนือโลก อยู่เหนือทุกข์ เหนือ
สุขที่ต้องเสวยเวทนาแม้แต่เวทนาภายในที่ละเอียด เป็นความสุขที่ไม่ต้องเสพไม่ต้องเสวย แต่
เสวยสุขได้เต็มอิ่มตามปรารถนา เปรียบเหมือนทางร่างกาย เป็นคนที่แข็งแรงสมบูรณ์ไร้โรค
ไม่มีอะไรรบกวนระคายเคือง ปลอดโปร่ง โล่งเบา สงบ สว่าง เบิกบาน สะอาด ผ่องใส ไร้ทุกข์
เป็นความสุขที่เปี่ยมสมบูรณ์ในตัวของมันเอง

เมื่อไม่มีตัวตนที่จะติดในอะไรๆ เป็นอิสระสิ้นเชิงแล้ว อยู่ไหน ที่ใด ไม่ต้องมีอะไร ก็เป็นสุขอยู่
แล้ว เรียกว่าไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตัวเองอีกต่อไป แม้แต่จะหาความสุข ก็ได้แต่ทำเพื่อโลก
เพื่อความสุขของมวลชนทั่วทั้งปวง ตลอดไป นี่คือมาถึงความสุขสุดท้ายแห่งภาวะจบสิ้นไปแห่ง
ทุกข์ เลยเขตแดนที่ทุกข์จะเอื้อม
มาถึงได้ เป็นจุดหมายสำหรับทุกคน

อย่างไรก็ตาม กามสุขนั้น ถึงแม้จะมีส่วนเสีย มีจุดอ่อน มีข้อด้อยข้อบกพร่องอย่างไร มันก็เป็น
ความสุขอย่างหนึ่ง และเป็นความสุขที่เกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ ยิ่งในเมื่อมันมีศักยภาพที่
จะก่อทุกข์ภัยขยายโทษผลร้ายออกไป ทั้งแก่ชีวิตและสังคม ก็ยิ่งต้องเอาใจใส่ที่จะป้องกัน
และแก้ปัญหา รวมแล้วก็คือเป็นเรื่องที่จะต้องบริหารจัดการให้ดี พร้อมกับการที่จะต้องคอย
ปลุกคอยเตือนให้คนไม่ลืมที่จะพัฒนาตนให้ก้าวหน้าสู่ความสุขที่สูงขึ้นไป

กามสุขนั้น เมื่อบริหารจัดการให้ดี ก็เป็นประโยชน์สุขสำคัญ ที่จำเป็นในขั้นพื้นฐาน ทั้งที่ยัง
เป็นของขาดพร่องแหว่งเว้านี้แหละ ก็ยังเป็นคุณที่ดีแก่ชีวิต และขยายออกไปให้เกื้อกูลเป็น
ประโยชน์แก่สังคม ให้อยู่กันร่มเย็นสุข ยิ่งกว่านั้น ก็จะเป็นฐานที่ค้ำจุนสนับสนุนในการพัฒ
นาตนให้ก้าวขึ้นสู่ประโยชน์สุขที่สูงขึ้นไปๆ

ด้วยเหตุนี้ พอจัดเป็นระบบ จึงปรากฏว่า ท่านจัดให้กามสุขที่บริหารจัดการได้ดีนั้น เป็นคุณ
ค่าเป็นประโยชน์ที่เป็นจุดหมายแห่งชีวิตของมนุษย์อย่างหนึ่ง คือเป็น “อัตถะ” อย่างหนึ่ง โดย
เป็นอัตถะ คือประโยชน์ที่พึงมุ่งหมาย หรือที่พึงลุถึงให้ได้ เป็นขั้นพื้นฐาน เรียกว่า “ทิฏฐธัมมิ
กัตถะ” แปลกันว่า ประโยชน์ปัจจุบัน คือ ประโยชน์ขั้นตาเห็น ที่ปรากฏอยู่ต่อหน้า มองเห็น
ประจักษ์ได้ ก็คือ กามสุข หรือสุขทางวัตถุ ที่พึ่งพาอามิสนี่เอง

ประโยชน์ขั้นตาเห็น เป็นปัจจุบัน หรือทิฏฐธัมมิกัตถะนี้ ซึ่งเป็นความสุขในระดับรูปธรรม เกี่ยว
ข้องกับวัตถุ สิ่งเสพ ของบริโภค และการอยู่ร่วมกัน การจัดสรรความสัมพันธ์ให้ดีงาม
เกื้อกูล ว่าโดยสรุป ก็ได้แก่

- การขยันหมั่นเพียรประกอบกิจการงาน ทำมาหาเลี้ยงชีพ ให้มีทรัพย์สินเงินทองเลี้ยงตัวเลี้ยง
ครอบครัวและคนในความดูแลรับผิดชอบเป็นอย่างน้อย ให้ทุกคนเอิบอิ่มเป็นสุข

- การมีความสัมพันธ์ที่ดีงามในสังคม อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดี มีสถานะเป็นที่ยอมรับนับถือ ตลอด
จนพรั่งพร้อมด้วยเกียรติยศ อิสริยยศ และบริวารยศ

- การมีครอบครัวที่ผาสุก ดำรงรักษาตระกูลวงศ์ให้เป็นแบบอย่าง เป็นที่นับถือ เอื้อประโยชน์
สุขแก่สังคม และ

- การดูแลร่างกาย บริหารสุขภาพ เช่น รู้จักประมาณในการบริโภค กินพอดี ให้อยู่สบายไร้โรค
แข็งแรงสมบูรณ์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร