วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 11:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ค. 2021, 14:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


คณะทำงานของปัญญา
คำว่าสนามปฏิบัติการของปัญญาในที่นี้ หมายถึงหลักธรรมชุดที่เรียกว่า โพชฌงค์

โพชฌงค์เป็นทั้งธรรมเกื้อหนุนในการเจริญสมาธิ และเป็นที่ใช้สมาธิเพื่อประโยชน์ที่สูงขึ้นไปจน
บรรลุจุดหมายสูงสุด คือ วิชชาและวิมุตติ

โพชฌงค์มี ๗ ข้อ คือ สติ ธรรมวิจัย (ธัมมวิจยะ ก็เขียน) วิริยะ ปีติ ปัสสัทธิ (ความผ่อนคลาย
สงบเย็นกายเย็นใจ) สมาธิ และอุเบกขา

มีพุทธพจน์จำกัดความหมายของโพชฌงค์ไว้สั้นๆ ว่า

“เพราะเป็นไปเพื่อโพธิ (ความตรัสรู้) ฉะนั้น จึงเรียกว่า โพชฌงค์”

อรรถกถา แปลตามรูปศัพท์ว่า องค์คุณของผู้ตรัสรู้หรือผู้จะตรัสรู้บ้าง องค์ประกอบของ
การตรัสรู้บ้าง

ว่าโดยหลักการ โพชฌงค์เป็นธรรมฝ่ายตรงข้ามกับ นิวรณ์ ๕ จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสเรื่อง
โพชฌงค์ไว้ควบคู่ไปด้วยกันกับนิวรณ์เป็นส่วนมาก โดยฐานทำหน้าที่ตรงข้ามกัน แม้คำบรรยาย
คุณลักษณะต่างๆ ของโพชฌงค์ ก็เป็นข้อความตรงข้ามกับคำบรรยายลักษณะของนิวรณ์นั่นเอง
ดังเช่น

“ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ นี้ ไม่เป็นเครื่องปิดกั้น ไม่เป็นนิวรณ์ ไม่เป็นอุปกิเลสแห่งจิต เมื่อเจริญแล้ว
ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้ง ซึ่งผลคือวิชชาและวิมุตติ”

“ภิกษุทั้งหลาย โพชฌงค์ ๗ นี้ เป็นธรรมให้มีจักษุ ทำให้มีญาณ ส่งเสริมความเจริญแห่งปัญญา ไม่
เป็นข้างความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน”

ความที่เคยกล่าวมาข้างต้น แสดงชัดอยู่แล้วว่า นิวรณ์เป็นสิ่งที่ทำลายคุณภาพจิต หรือทำให้จิต
เสียคุณภาพ ลักษณะนี้น่าจะใช้เป็นเครื่องวัดความเสื่อมเสียสุขภาพจิตได้ด้วย ส่วนโพชฌงค์
ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม ก็เป็นธรรมที่ส่งเสริมคุณภาพจิต และช่วยให้มีสุขภาพจิตดี เป็นเครื่องบำรุง
และวัดสุขภาพจิต

โพชฌงค์ ๗ นั้น มีความหมายรายข้อ ดังนี้

๑. สติ ความระลึกได้ หมายถึง ความสามารถทวนระลึกนึกถึง หรือกุมจิตไว้กับสิ่งที่จะพึงเกี่ยวข้อง
หรือต้องใช้ต้องทำในเวลานั้น ในโพชฌงค์นี้ สติมีความหมายคลุมตั้งแต่การมีสติกำกับตัว ใจอยู่
กับสิ่งที่กำลังมองดูพิจารณาเฉพาะหน้า จนถึงการหวนระลึกรวบรวมเอาธรรมที่ได้สดับเล่าเรียน
แล้ว หรือสิ่งที่จะพึงเกี่ยวข้องต้องใช้ต้องทำ มานำเสนอต่อปัญญาที่ตรวจตรองพิจารณา

๒. ธรรมวิจัย ความเฟ้นธรรม หมายถึง การใช้ปัญญาวิจัยสิ่งที่สติกำหนดจับไว้ หรือธรรมที่สติระลึก
รวมมานำเสนอนั้น ตามสภาวะ เช่น ไตร่ตรองให้เข้าใจความหมาย จับสาระของสิ่งที่พิจารณานั้น
ได้ ตรวจตราเลือกเฟ้นเอาธรรมหรือสิ่งที่เกื้อกูลแก่ชีวิตจิตใจ หรือสิ่งที่ใช้ได้เหมาะดีที่สุดในกรณี
นั้นๆ หรือมองเห็นอาการที่สิ่งที่พิจารณานั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เข้าใจตามสภาวะที่เป็นไตรลักษณ์
ตลอดจนปัญญาที่มองเห็นอริยสัจ

๓. วิริยะ ความเพียร หมายถึง ความแกล้วกล้า เข้มแข็ง กระตือรือร้นในธรรมหรือสิ่งที่ปัญญา
เฟ้นได้ อาจหาญในความดี มีกำลังใจ สู้กิจ บากบั่น รุดไปข้างหน้า ยกจิตไว้ได้ ไม่ให้หดหู่ถดถอย
หรือท้อแท้

๔. ปีติ ความอิ่มใจ หมายถึง ความเอิบอิ่ม ปลาบปลื้ม ปรีดิ์เปรม ดื่มด่ำ ซาบซึ้ง แช่มชื่น ซาบซ่าน ฟูใจ

๕. ปัสสัทธิ ความสงบเย็นกายใจ หมายถึง ความผ่อนคลายกายใจ สงบระงับ เรียบรื่น ไม่เครียด
ไม่กระสับกระส่าย เบาสบาย

๖. สมาธิ ความมีใจตั้งมั่น หมายถึง ความมีอารมณ์หนึ่งเดียว จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กำหนด ทรงตัว สม่ำ
เสมอ เดินเรียบ อยู่กับกิจ ไม่วอกแวก ไม่ส่าย ไม่ฟุ้งซ่าน

๗. อุเบกขา ความเฉยดูอยู่ หมายถึง ความมีใจเป็นกลาง วางทีเฉย ใจเรียบสงบ นิ่งดูไป ในเมื่อจิต
แน่วอยู่กับงานแล้ว ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง หรือดำเนินไปด้วยดีตามแนวทางที่จัดวางไว้หรือที่มัน
ควรจะเป็น หรือยังไม่ควรขวนขวาย ไม่วุ่นวาย ไม่สอดแส่ ไม่แทรกแซง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ค. 2021, 14:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ทั้งนิวรณ์และ โพชฌงค์ แบ่งแต่ละข้อออกเป็น ๒ ข้อย่อย รวมเป็นนิวรณ์ ๑๐ โพชฌงค์ ๑๔ คือ

ก. นิวรณ์ ๕ ย่อยเป็น ๑๐ ได้แก่

๑. = ๑.กามฉันท์ ภายใน (ปรารภขันธ์ของตน) ๒. กามฉันท์ภายนอก (ปรารภขันธ์ผู้อื่น)

๒. = ๓. พยาบาทภายใน ๔. พยาบาทภายนอก

๓. = ๕. ถีนะ ๖. มิทธะ

๔. = ๗. อุทธัจจะ ๘. กุกกุจจะ

๕. = ๙. ในธรรมทั้งหลายภายใน ๑๐. วิจิกิจฉาในธรรมทั้งหลายภายนอก

ข. โพชฌงค์ ๗ ย่อยเป็น ๑๔ ได้แก่

๑. = ๑. สติในธรรมทั้งหลายภายใน ๒. สติในธรรมทั้งหลายภายนอก

๒. = ๓. วิจัยในธรรมทั้งหลายภายใน ๔. วิจัยในธรรมทั้งหลายภายนอก

๓. = ๕. วิริยะทางกาย ๖. วิริยะทางใจ

๔. = ๗. ปีติมีวิตกมีวิจาร ๘. ปีติไม่มีวิตกไม่มีวิจาร

๕. = ๙. กายปัสสัทธิ ๑๐. จิตตปัสสัทธิ

๖. = ๑๑. สมาธิมีวิตกมีวิจาร ๑๒. สมาธิไม่มีวิตกไม่มีวิจาร

๗. = ๑๓. อุเบกขาในธรรมทั้งหลายภายใน ๑๔. อุเบกขาในธรรมทั้งหลายภายนอก

ท่านกล่าวถึงอาหารและอนาหารของนิวรณ์และโพชฌงค์ อาหาร คือเครื่องหล่อเลี้ยงกระตุ้น
เสริม ซึ่งทำให้นิวรณ์หรือโพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เจริญไพบูลย์ อนาหาร
ได้แก่สิ่งที่ไม่หล่อเลี้ยง ไม่กระตุ้นเสริม อาหารของนิวรณ์ ได้แก่อโยนิโสมนสิการ อนาหาร ได้
แก่โยนิโสมนสิการ ส่วนอาหารของโพชฌงค์ได้แก่ โยนิโสมนสิการ อนาหาร ได้แก่การขาด
มนสิการ

ก. อาหารและอนาหารของนิวรณ์ ๕ มีดังนี้

๑. กามฉันท์ มีอาหารคือ อโยนิโสมนสิการ ในสุภนิมิต
อนาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในอสุภนิมิต

๒. พยาบาท มีอาหารคือ อโยนิโสมนสิการ ในปฏิฆนิมิต
อนาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในเจโตวิมุตติ

๓. ถีนมิทธะ มีอาหารคือ อโยนิโสมนสิการ ในความเบื่อ ซึมเซา เมาอาหาร ใจหดหู่
อนาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในความริเริ่ม ก้าวหน้า บากบั่น

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ มีอาหารคือ อโยนิโสมนสิการ ในภาวะหรือเรื่องที่ใจไม่สงบ
อนาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในภาวะเรื่องราวที่ใจสงบ

๕. วิจิกิจฉา มีอาหารคือ อโยนิโสมนสิการ ในธรรมคือเรื่องราวซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งวิจิกิจฉา
อนาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในธรรมที่เป็นกุศลอกุศล มีโทษไม่มีโทษ ฯลฯ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ค. 2021, 15:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ข. อาหารและอนาหารของโพชฌงค์ ๗ มีดังนี้

๑. สติ มีอาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในธรรมคือเรื่องซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งสติ

๒. ธรรมวิจัย มีอาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในธรรมที่เป็นกุศลอกุศล มีโทษไม่มีโทษ ฯลฯ

๓. วิริยะ มีอาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในความริเริ่ม ความก้าวหน้า บากบั่น

๔. ปีติ มีอาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในธรรมคือเรื่องซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งปีติ

๕. ปัสสัทธิ มีอาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในกายปัสสัทธิและจิตตปัสสัทธิ

๖. สมาธิ มีอาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในสมาธินิมิต ในสิ่งที่ไม่ทำให้ใจพร่าสับสน

๗. อุเบกขา มีอาหารคือ โยนิโสมนสิการ ในธรรมคือเรื่องซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา

อนาหารของโพชฌงค์ ก็คือ การขาดมนสิการในสิ่งที่จะทำให้เกิดโพชฌงค์ข้อนั้นๆ

ธรรมเป็นที่ตั้งแห่งสติ ก็คือ ธรรมที่เป็นอารมณ์ของสติ อรรถกถาแห่งหนึ่งว่า ได้แก่ โพธิปักขิยธรรม
๓๗ ประการ และโลกุตรธรรม ๙ แต่ถ้ามองกว้างๆ ก็คือ การปฏิบัติตามหลัก สติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง
คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ และสัมโมหวิโนทนี แสดงธรรมที่ช่วยให้เกิดสติอีก ๔ อย่าง คือ สติสัมปชัญญะ
การหลีกเว้นคนสติเลอะเลือน คบหาคนที่มีสติกำกับตัวดี และทำใจให้น้อมไปในสติสัมโพชฌงค์

ธรรมที่ช่วยให้เกิดธรรมวิจัย ท่านแสดงไว้อีก ๗ อย่าง คือ ความเป็นนักไต่ถามสอบค้น การทำสิ่งต่างๆ
ให้หมดจดสดใส การปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน การหลีกเว้นคนปัญญาทราม การเสวนาคนมีปัญญา
การพิจารณาเรื่องที่ต้องใช้ปรีชาลึกซึ้ง ความน้อมจิตไปในการวิจัยธรรม

ธรรมที่ช่วยให้เกิดวิริยะ ท่านแสดงไว้ ๑๑ อย่าง คือ การพิจารณาเห็นภัยต่างๆ เช่น ภัยอบาย
(คอยปลุกใจตัวเองว่า ถ้าไม่พยายาม จะประสบอันตรายอย่างนั้นอย่างนี้) การมองเห็นอานิสงส์ว่า
เพียรพยายามไปแล้ว จะได้ประสบผลวิเศษ ที่เป็นโลกิยะ และโลกุตระอย่างนั้นๆ การพิจารณาวิถี
แห่งการปฏิบัติว่า เป็นทางดำเนินของบุคคลยิ่งใหญ่อย่างพระพุทธเจ้าและ มหาสาวก เป็นต้น
เมื่อเราจะดำเนินทางนั้น มัวเกียจคร้านอยู่ ไปไม่สำเร็จแน่

บอกอีก ๘ อย่างที่เหลือ ให้ครบ ๑๑ ตามที่ท่านแนะนำไว้ คือ ความเคารพในอาหารบิณฑบาตว่า
เราจะทำให้เกิดผลมากแก่ทายกทั้งหลาย การพิจารณาความยิ่งใหญ่ของพระศาสดาว่า พระองค์
สรรเสริญความเพียร เราควรบูชาอุปการะของพระองค์ด้วยปฏิบัติบูชา การพิจารณาภาวะที่
ตนควรทำตัวให้สมกับการที่จะได้รับมรดก คือสัทธรรมอันยิ่งใหญ่ การบรรเทาถีนมิทธะ ด้วย
วิธีต่างๆ เช่น เปลี่ยนอิริยาบถ และทำอโลกสัญญา เป็นต้น หลีกเว้นคนเกียจคร้าน คบหาคนขยัน
พิจารณา สัมมัปปทาน และทำใจให้น้อมไปในวิริยะ

ธรรมที่ช่วยให้เกิดปีติ ท่านแสดงไว้อีก ๑๑ อย่าง คือ ระลึกถึง พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ระลึก
ถึงศีลคือความประพฤติดีงามของตน ระลึกถึงการบริจาคการให้การเสียสละที่ตนได้ทำ ระลึกถึง
เทวดาและเทวธรรมที่มีในตน ระลึกถึงภาวะสงบคือนิพพาน หลีกเว้นคนมัวซัวหมองเศร้า เสวนาคนแจ่ม
ใส พิจารณาพระสูตรที่ชวนเลื่อมใส และทำใจให้น้อมไปในปีติ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ค. 2021, 15:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมที่ช่วยให้เกิดปัสสัทธิ ท่านแสดงไว้อีก ๗ อย่าง คือ เสพโภชนะอันประณีต เสพบรรยา
กาศที่สุขสบาย เสพอิริยาบถที่สุขสบาย ประกอบความเพียรพอปานกลาง หลีกเว้นคนมีลักษณะ
เครียดกระสับกระส่าย เสวนาคนที่มีลักษณะผ่อนคลายสงบ ทำใจให้น้อมไปในปัสสัทธิ

ธรรมที่ช่วยให้เกิดสมาธิ ท่านแสดงไว้อีก ๑๑ อย่าง คือ ทำสิ่งต่างๆ ให้หมดจดสดใส ฉลาดใน
นิมิต ปรับอินทรีย์ให้เสมอกัน ข่มจิตในเวลาที่ควรข่ม ยกจิตในเวลาที่ควรยก เมื่อใจไม่สุขสดชื่น
ก็ทำให้ร่าเริงด้วยศรัทธาและสังเวช เมื่อจิตดำเนินไปถูกต้องดีแล้ว ก็วางทีเฉยดู (อุเบกขา)
หลีกเว้นคนใจไม่เป็นสมาธิ เสวนาคนมีใจเป็นสมาธิ พิจารณาฌานวิโมกข์ ทำใจให้น้อมไป
ในสมาธิ

ธรรมที่ช่วยให้เกิดอุเบกขา ท่านแสดงไว้อีก ๕ อย่าง คือ วางใจเป็นกลางในสัตว์ (ทั้งพระ ทั้งชาว
บ้าน) วางใจเป็นกลางใน สังขาร (ทั้งอวัยวะในตัว และข้าวของ) หลีกเว้นบุคคลที่ห่วงหวงสัตว์และ
สังขาร คบหาคนที่มีใจเป็นกลางในสัตว์และสังขาร ทำใจให้น้อมไปในอุเบกขา

โพชฌงค์ ๗ ข้อนั้น ส่งผลต่อเนื่อง ดังตัวอย่างการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ สรุปเป็น
แนวความได้ว่า ภิกษุได้เล่าเรียนสดับธรรม หรือคำสอนของท่านผู้รู้ผู้ทรงคุณแล้ว ปลีกกาย ปลีกใจ
ได้โอกาสเหมาะ

๑. ยกเอาธรรมที่ได้สดับหรือสิ่งที่ได้เล่าเรียนนั้น ขึ้นมานึกทบทวน หวนระลึก จับเอามานึกสำ
รวจตรวจทาน เป็นอันได้เจริญสติสัมโพชฌงค์

๒. เมื่อมีสติระลึกนึกถึงอยู่อย่างนั้น ก็ใช้ปัญญาเฟ้น เลือกคัด คิดค้น ไตร่ตรอง สอบสวน พิจารณา
จัด จำแนก แยกแยะ สืบสาว ไปด้วย เป็นอันได้เจริญธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์

๓. เมื่อใช้ปัญญาเลือกเฟ้น ไตร่ตรอง สอบสวนพิจารณา ก็เป็นอันได้ใช้ความเพียร ยิ่งเลือกเฟ้นมอง
เห็นความ เข้าใจชัดขึ้นหรือลึกลงไป ได้สาระคืบหน้า ก็ยิ่งคึกคัก มีกำลังใจ อยากเดินหน้าต่อไป กระตือ
รือร้น แข็งขัน เพียรพยายาม ไม่ย่นย่อ เป็นอันได้เจริญวิริยสัมโพชฌงค์

๔. พร้อมกับที่ระดมความเพียร เอาจริงเอาจัง มีกำลังใจเข้มแข็งรุดหน้า ก็เกิดปีติที่เป็นนิรามิส เป็นอัน
ได้เจริญปีติสัมโพชฌงค์

๕. เมื่อใจปีติ ทั้งกายทั้งใจก็ผ่อนคลายสงบ เกิดกายปัสสัทธิ และจิตตปัสสัทธิ เป็นอันได้เจริญปัสสัทธิ
สัมโพชฌงค์

๖. เมื่อกายผ่อนคลายสงบ มีความสุข จิตก็ตั้งมั่น (เป็นสมาธิ) เป็นอันได้เจริญสมาธิสัมโพชฌงค์

๗. เมื่อจิตตั้งมั่นแน่วอยู่กับงานของมัน หรือทำกิจของมันได้ดีแล้ว ใจก็เรียบเข้าที่ เพียงแต่วางที
เฉยดูไป หรือนิ่งดูไปสบายพอดี เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ก็เป็นอันได้เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์

พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักไว้ ดังที่เคยยกมาให้ดูแล้วว่า สติปัฏฐาน ๔ เป็นอาหารหล่อเลี้ยงโพชฌงค์ ๗
และสติปัฏฐาน ๔ นั้น เมื่อได้เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗
เมื่อเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์

นี่ก็คือว่า การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการสร้างฐานปฏิบัติการ ให้คณะของโพชฌงค์มาลงสนามทำงาน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ค. 2021, 15:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


วิธีเจริญสติปัฏฐาน ๔ ที่จะยัง โพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ ก็คือ เมื่อมี กายานุปัสสนา เวทยานุ
ปัสสนา จิตตานุปัสสนาหรือธรรมานุปัสสนาอยู่ ในเวลานั้น บุคคลผู้นั้นจะมีสติกำกับอยู่
ไม่เลือนหลง เมื่อมีสติอยู่อย่างนั้น ก็ใช้ปัญญาสอบสวน สืบค้นเลือกเฟ้นธรรม ตามหลักของ
ธรรมวิจัย ต่อจากนั้น การปฏิบัติตามโพชฌงค์ข้ออื่นๆ ก็จะดำเนินไปตามลำดับ อย่างที่
กล่าวแล้วข้างต้น ช่วยนำไปสู่วิชชาและวิมุตติในที่สุด

แม้แต่ในเวลาฟังธรรม ถ้าตั้งจิตมนสิการ ทุ่มเทให้อย่างหมดใจ เงี่ยโสตลงสดับ ในเวลานั้น
นิวรณ์ ๕ ก็ไม่มี และโพชฌงค์ ๗ ก็เจริญเต็มบริบูรณ์ได้

โพชฌงค์ ๗ นี้ จะเจริญโดยปฏิบัติพร้อมไปกับข้อปฏิบัติอื่นๆ ทั้งหลายก็ได้ เช่น ปฏิบัติพร้อม
ไปกับอานาปานสติ พร้อมไปกับ อัปปมัญญา หรือ พรหมวิหาร ๔ และสัญญาต่างๆ เช่น
อนิจจสัญญา อสุภสัญญา วิราคสัญญา และ นิโรธสัญญา เป็นต้น และจะช่วยให้ข้อปฏิบัติ
เหล่านั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ยิ่งใหญ่ เพื่อความโปร่งปลอดรอดภัยอย่างมาก เพื่อความสังเวช
คือปลุกเร้าใจให้กระตือรือร้นในกุศลธรรมเป็นอย่างมาก เพื่อผาสุวิหารคือความอยู่ผาสุกเป็น
อย่างมาก

ในการปฏิบัติต่อจิตของตนที่เป็นไปต่างๆ ท่านก็ให้นำโพชฌงค์มาใช้ด้วย และหลักการ
ในเรื่องนี้ สามารถนำมาใช้ในการประคับประคองจิตที่ยังใหม่ต่อสมาธิให้มีสมาธิกล้าแข็งยิ่งขึ้น
ขอยกพุทธพจน์มาให้ดูดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น มิใช่กาลสำหรับเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์...สมาธิ
สัมโพชฌงค์...อุเบกขาสัมโพชฌงค์, ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่า จิตที่หดหู่นั้น ยากที่จะ
ให้ฟื้นขึ้นได้ ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนว่า บุรุษต้องการจะโหมไฟกองเล็กให้ลุกโพลง เขา
ใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้สดลงไป สาดน้ำเข้าไป และโรยฝุ่นลงไปในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถ
โหมไฟกองเล็กให้ลุกโพลงขึ้นได้หรือไม่? (ตอบ: ไม่ได้เลย) สมัยที่จิตหดหู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน...

“สมัยใด จิตหดหู่ สมัยนั้น เป็นกาลสำหรับเจริญธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์...วิริยสัมโพชฌงค์...ปีติ
สัมโพชฌงค์, ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่าจิตที่หดหู่นั้น ปลุกให้ฟื้นขึ้นได้ง่าย ด้วยธรรมเหล่านั้น
เปรียบเหมือนว่า บุรุษต้องการจะโหมไฟกองเล็กให้ลุกโพลง เขาใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง ไม้แห้ง
ลงไป เป่าลมเข้า และไม่โรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถโหมไฟกองเล็กให้ลุกโพลง
ขึ้นได้หรือไม่ (ตอบ: ได้อย่างนั้น) สมัยที่จิตหดหู่ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน...

“ภิกษุทั้งหลาย สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น มิใช่กาลสำหรับเจริญธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์... วิริย
สัมโพชฌงค์...ปีติสัมโพชฌงค์, ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะว่า จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ยากที่จะให้สงบได้
ด้วยธรรมเหล่านั้น เปรียบเหมือนว่า บุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาใส่หญ้าแห้ง โคมัยแห้ง
ไม้แห้งลงไป เป่าลมเข้า และไม่โรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับไฟกองใหญ่ได้หรือไม่?
(ตอบ: ไม่ได้เลย) สมัยที่จิตฟุ้งซ่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน...

“สมัยใด จิตฟุ้งซ่าน สมัยนั้น เป็นกาลสำหรับเจริญปัสสัทธิสัมโพธิฌงค์...สมาธิสัมโพชฌงค์...
อุเบกขาสัมโพชฌงค์, ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะเหตุว่า จิตที่ฟุ้งซ่านนั้น ให้สงบได้โดยง่ายด้วย
ธรรมเหล่านั้น, เปรียบเหมือนว่า บุรุษต้องการจะดับไฟกองใหญ่ เขาใส่หญ้าสด โคมัยสด ไม้
สดลงไป สาดน้ำเข้าไป และโรยฝุ่นลงในไฟนั้น บุรุษนั้นจะสามารถดับไฟกองใหญ่ลงได้หรือ
ไม่? (ตอบ: ได้อย่างนั้น) สมัยที่จิตฟุ้งซ่าน ก็ฉันนั้นเหมือนกัน...

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ค. 2021, 17:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


“ส่วนสติ เรากล่าวว่า มีประโยชน์ในทุกกรณี”

โพชฌงค์ ๗ นี้ ในบาลีท่านแสดงเป็นความหมายของ ภาวนาปธาน คือความเพียรในการทำ
ให้เกิดกุศลธรรม และเป็นยอดของปธาน ทั้งหลาย เป็นภาวนาพละ เป็นวิธีกำจัดอาสวะ
ด้วยภาวนา เป็นกรรมชนิดไม่ดำไม่ขาว ซึ่งเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม เป็นอปริหานิยธรรม
คือธรรมที่เป็นไปเพื่อความเจริญถ่ายเดียว ไม่มีเสื่อมเลย และเป็นมรรคาให้ถึง อสังขตธรรม
คือนิพพาน เช่นเดียวกับโพธิปักขิยธรรมอย่างอื่นๆ

(๕) องค์มรรคสามัคคีพร้อมได้ที่

ดังได้กล่าวแล้วว่า ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธิ ก็เพื่อให้เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา หรือ
พูดให้กว้างว่า เพื่อทำให้จิตเป็นสถานที่เหมาะสมดีที่สุด ที่องค์ธรรมทั้งหลายจะมาทำงานร่วมกัน
ให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือการรู้แจ้งสัจธรรม กำจัดกิเลส ถึงภาวะดับปัญหาไร้ทุกข์ และก็ได้
กล่าวแล้วเช่นเดียวกันว่าองค์มรรคทั้ง ๘ ประการทำงานประสานสอดคล้องส่งเสริมกัน
โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้านำทางไป

จึงเป็นอันได้ความในตอนนี้ว่า องค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้กำลังแก่สมาธิ
ช่วยให้สมาธิเกิดขึ้นได้ ดำรงอยู่ได้ดี เป็นสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ถูกต้อง ซึ่งจะใช้งานได้
ผลตามต้องการ ส่งผลคืบหน้าต่อไปอีกจนถึงจุดหมาย โดยช่วยให้เกิดองค์ธรรมเพิ่มขึ้นอีก
๒ อย่างในขั้นสุดท้าย เรียกว่า สัมมาญาณ(หยั่งรู้ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)

เมื่อมองในแง่นี้ ท่านเรียกองค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ ว่าเป็น “สมาธิบริขาร” แปลว่า บริขารของ
สมาธิ หมายความว่า เป็นเครื่องประกอบ เครื่องแวดล้อม เครื่องหนุนเสริม หรือเครื่อง
ปรุงของสมาธิ

สมาธิที่ประกอบด้วยบริขารนี้แล้ว เรียกว่า เป็นอริยสัมมาสมาธิ นำไปสู่จุดหมายได้
ดังบาลีว่า

“สมาธิบริขาร ๗ ประการเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ
ทรงจัดวางไว้เป็นอย่างดีแล้ว เพื่ออบรมบ่มสัมมาสมาธิ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสัมมาสมาธิ,
เจ็ดประการไหน? ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอา
ชีวะสัมมาวายามะ สัมมาสติ ;

“เอกัคคตาแห่งจิต ที่แวดล้อมด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิที่เป็นอริยะ ซึ่งมีอุป
นิสัย (มีที่อิงที่ยันที่รองรับ) บ้าง มีบริขาร (มีเครื่องประกอบหรือเครื่องช่วยหนุน) บ้าง”

“เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอแก่การ,
เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอแก่การ,
เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอแก่การ,

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ค. 2021, 19:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


สัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาญาณ
สัมมาวิมุตติจึงพอแก่การ”

มรรคมีองค์ ๘ หรืออัฏฐังคิกมรรคนี้ เมื่อเจริญพรั่งพร้อมถึงที่ ก็จะถึงขีด และถึงขณะหนึ่ง ซึ่ง
องค์มรรคทั้งหมดร่วมกันทำหน้าที่ ให้เกิดญาณอันแรงกล้าสว่างขึ้นมา หยั่งเห็นสัจธรรม
และกำจัดกวาดล้างกิเลสที่หุ้มห่อบีบคั้นจิตออกไป การที่องค์มรรคทั้งหมดทำหน้าที่พร้อม
กันเช่นนี้ เรียกว่าเป็น “มรรค” เพราะเป็นขณะซึ่งมีองค์ประกอบทั้งหมดครบเป็นมรรคจริงๆ

เมื่อมรรคทำหน้าที่แล้ว ก็มีภาวะที่เป็นผลตามมา คือความรู้ความเข้าใจในสัจธรรม และความ
หลุดพ้นจากกิเลส ไร้สิ่งบีบคั้น เป็นอิสระ เรียกสั้นๆ ว่า “ผล”

ถ้าทุกอย่างค่อยดำเนินไปตามลำดับ จะมีการทำหน้าที่ของมรรคเช่นนี้ ที่แรงหรือเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น
จนเสร็จสิ้นรวมทั้งหมด ๔ คราว หรือ ๔ ขั้น จึงเรียกว่ามรรค ๔ และภาวะที่เป็นผลก็จึงมี ๔ เช่นเดียว
กัน รวมเรียกว่า มรรค ๔ ผล ๔ หรือ อริยมรรค ๔ อริยผล ๔ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหันตมรรค และอรหัตผล

จะเห็นว่า มรรคนี้ ว่าโดยองค์ประกอบมี ๘ จึงเรียกว่า อัฏฐังคิกมรรค แปลว่า มรรคมีองค์ ๘

แต่ว่าโดยปฏิบัติการ หรือการทำกิจ มี ๔ ลำดับขั้น เรียกกันว่า จตุมรรค แปลว่า มรรค ๔ (คู่กับ
จตุผล คือผล ๔ )

อาการที่องค์ธรรมทั้งหลายทำหน้าที่พร้อมกัน ในขณะจิตเดียว ยังผลที่ต้องการให้สำเร็จ
นี้ ท่านเรียกว่า ธรรมสามัคคี และธรรมสามัคคี ก็คือ โพธิ อันได้แก่ ความตรัสรู้

ในขณะแห่งมรรคนี้ มิใช่เฉพาะองค์มรรคเพียง ๘ เท่านั้น แม้โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ
ก็เกิดขึ้น ทำหน้าที่พร้อมหมดในขณะจิตเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม โพธิปักขิยธรรม ทั้งหมดนั้น ก็สรุปลงได้ในองค์มรรคทั้ง ๘ นั่นเอง ดังนั้น เมื่อพูด
ถึงมรรค ก็จึงเป็นอันครอบคลุมถึงธรรมอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

อาจมีผู้สงสัยว่า องค์มรรคหลายอย่าง จะทำหน้าที่ในขณะหนึ่งขณะเดียวกันได้อย่างไร โดย
เฉพาะองค์ฝ่ายศีล เช่น สัมมาวาจาและ สัมมากัมมันตะ ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องในกรณีอย่างนี้เลย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร