วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ย. 2024, 22:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 26 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภาพจิตรกรรมพุทธศิลป์ “พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์ภายหลังแสดง
พระอภิธรรมโปรดพุทธมารดา” : สร้างสรรค์โดย อ.จักรพันธ์ โปษยกฤต]


ประวัติความเป็นมาของพระอภิธรรม
อาจารย์ทวี สุขสมโภชน์

ใน คัมภีร์อัฏฐสาลินี ซึ่งเป็นอรรถกถาอธิบายความใน ธัมมสังคณี
(คัมภีร์แรกพระอภิธรรมปิฎก) และ คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา
ซึ่งเป็นอรรถกถาธรรมบทในพระสุตตันตปิฎก
(ตอนพุทธวรรคเรื่องยมกปาฏิหาริย์)

พระอรรถกถาจารย์ได้เล่าประวัติการตรัสพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ใจความสรุปว่า

ในคราวที่พระพุทธองค์ประทับที่เมืองสาวัตถี แคว้นโกศล
และได้ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระสาวกแสดงฤทธิ์นั้น
พวกเดียรถีย์นักบวชนอกพระพุทธศาสนา
มี ศาสดาปูรณกัสสปะ และ นิครนถ์นาฏบุตร เป็นต้น
ก็ฉวยโอกาสมาท้าประลองฤทธิ์ เพื่อเรียกศรัทธาประชาชน
ทั้งที่พวกตนไม่ได้มีฤทธิ์อันใด
โดยคิดว่า พระองค์จะไม่ทรงแสดงฤทธิ์แข่งแน่ๆ
เพราะเป็นผู้บัญญัติสิกขาบทเอง

แต่แล้วพระองค์กลับตรัสรับคำท้าที่จะแสดงฤทธิ์ด้วยเหตุผลว่า

การบัญญัติห้ามแสดงฤทธิ์นั้น ห้ามเฉพาะพระสาวก
เปรียบเหมือนกับการที่พระเจ้าแผ่นดิน
ทรงห้ามบุคคลทั่วไปสอยมะม่วงในพระอุทยานมากิน
แต่นั่นหาได้ห้ามสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน
ผู้ต้องการจะเสวยผลมะม่วงนั้นไม่


พวกเดียรถีย์คาดไม่ถึงว่า
พระพุทธองค์จะทรงมีอุบายอันแยบคายเช่นนั้น
ในที่สุด เมื่อถึงวันแสดงอิทธิปาฏิหาริย์
จึงต้องอับอายประชาชนและสานุศิษย์เท่ากันมาเฝ้าดู
จนต้องเผ่นหนีกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง

ในคัมภีร์กล่าวว่า ศาสดาปูรณกัสสปะ นั้น
ถึงขั้นเอาเชือกผูกคอถ่วงน้ำตายไปเกิดในอเวจีนรก

พุทธานุภาพอันเป็นอิทธิปาฏิหาริย์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง
ปราบพวกเดียรถีย์ในครั้งนั้นเรียกว่า “ยมกปาฏิหาริย์”
หมายถึง ปาฏิหาริย์ที่ทรงบันดาลให้ท่อไฟ
และสายน้ำเป็นคู่สลับปรากฏพร้อมกันที่พระวรกาย


รูปภาพ
[ทรงสำแดงยมกปาฏิหาริย์
ข่มพวกเดียรถีย์ที่ต้นมะม่วงคัณฑามพฤกษ์]



เช่น เมื่อท่อไฟปรากฏจากพระวรกายส่วนบน
สายน้ำก็ปรากฏจากพระวรกายส่วนล่าง
แล้วสลับเป็นท่อไฟอยู่ส่วนกลางสายน้ำอยู่ส่วนบน เป็นต้น
สลับหมุนเวียนเป็นคู่ๆ ไป จนครบทุกส่วนแห่งพระวรกายเช่นนี้
เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่ทวยเทพ และมวลมนุษย์ที่พากันมาเฝ้าดูยิ่งนัก


ขณะที่ทรงแสดงอยู่นั้นมีพระดำริว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต
หลังจากแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้ว เสด็จจำพรรษา ณ ที่ใด

ทรงทราบด้วยญาณว่า เสด็จจำพรรษา ณ สวรรรค์ชั้นดาวดึงส์
เพื่อแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาตลอดไตรมาส
ซึ่งเป็นพุทธประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต

เมื่อทรงทราบเช่นนั้น จึงทรงพระดำริไปอีกว่า
พระชนนีของตถาตถนี้มีคุณูปการรักใคร่ในตถาคตมาก
ทรงตั้งความปรารถนาไว้แต่ครั้ง พระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประมาณแสนกัปล่วงมาแล้วว่า

ขอให้ได้เป็นพระมารดาของพระตถาคต
บัดนี้ ควรที่เราตถาคตจะเสด็จไปภพดาวดึงส์
เพื่อแสดงพระอภิธรรมสนองพระคุณ
จากนั้นจึงเสด็จลงจากพุทธอาสน์

เมื่อเหล่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ถวายอภิวาทโดยเคารพแล้ว
พระองค์ทรงยกพระบาทเบื้องขวาเหยียดเหนือยอดเขายุคันธร
และทรงยกพระบาทเบื้องซ้ายเหยียบเหนือยอดเขาสิเนรุ
ก็เสด็จถึงเทวโลกชั้นดาวดึงส์
อันเป็นที่สถิตของท้าวสักกะเทวราช
ประทับเหนือบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ต้นปาริฉัตร

ท้าวสักกะเทวราชและเทพบุตรเทพธิดาต่างออกจากทิพยวิมาน
ถือผอบทองเต็มไปด้วยบุพชาติของหอมอันเป็นทิพย์พันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า
ต่างกระทำการสักการะบูชา แล้วนั่ง ณ ที่สมควร

แม้เทวดาเหล่าอื่นในหมื่นจักรวาล
ต่างก็ถือสักการะบูชามายังมงคลจักรวาลนี้
ถวายนมัสการแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
กล่าวกันว่าเทวดาทั้งหลายต่างเนรมิตกายเท่าอณูปรมาณู
(คือ ทำกายให้เล็กที่สุดเท่าที่จะเล็กได้ เพื่อไม่ให้กินเนื้อที่)
แม้พื้นที่เท่าขนทรายจามรีก็อยู่ได้สิบองค์บ้าง ยี่สิบองค์บ้าง ถึงแสนองค์ก็มี

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ครั้นทวยเทพมาประชุมพร้อมเพรียงกันแล้ว
พระพุทธองค์ทรงทอดพระเนตรเหล่าทวยเทพนั้น
เมื่อมิได้ทรงเห็นสันดุสิตเทพบุตรผู้เคยเป็นพระมารดา
มาเฝ้าในท่ามกลางเทวสมาคมนั้น
จึงตรัสถามหากับท้าวสักกะเทวราช

ท้าวสักกเทวราชทราบโดยพลันว่า
พระพุทธองค์เสด็จมาสวรรค์ครั้งนี้
ทรงมีพุทธประสงค์จะตรัสพระธรรมเทศนา
โปรดเทพบุตรพุทธมารดาให้บรรลุมรรคผลนิพพาน


จึงรีบเสด็จไปยังชั้นดุสิต
อันเป็นที่สถิตของสันดุสิตเทพบุตรผู้เคยเป็นพระมารดานั้น

ครั้นเสด็จถึงก็อภิวาทโดยเคารพ
แล้วตรัสบอกว่า ขณะนี้พระพุทธองค์เสด็จมายังภพดาวดึงส์
ประทับ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ภายใต้ควงไม้ปาริฉัตร
ทรงรอคอยท่าน เพื่อจะตรัสพระธรรมเทศนา
ขอเชิญท่านไปเฝ้าโดยเร็วเถิด

สันดุสิตเทพบุตรผู้เคยเป็นพระมารดาได้สดับดังนั้น
ก็มีความโสมนัส รีบลงจากชั้นดุสิตไปยังชั้นดาวดึงส์
พร้อมด้วยอัปสรผู้เป็นบริวาร
ถวายนมัสการแล้วนั่งอยู่เบื้องขวาพระพุทธองค์ พลางดำริว่า

“การที่เราได้พระโอรสผู้ประเสริฐ เห็นปานนี้
นับว่ามีบุญยิ่งนัก มิเสียทีที่เราอุ้มท้องมา”


ลำดับนั้น พระพุทธองค์มีพระทัยปรารถนา
จะสนองคุณพระมารดา จึงทรงพระดำริว่า

“พระคุณแก่มารดาที่ทำไว้แก่ตถาคตยิ่งใหญ่นัก
สุดที่จะคณานับได้ว่ากว้างหนาและลึกปานใด
ธรรมอันใดจึงจะสมควรที่จะทดแทนพระคุณได้
หมวดธรรมฝ่ายพระวินัยและพระสูตรก็ยังน้อยนัก
เห็นควรแต่พระอภิธรรมเท่านั้นที่จะพอยกขึ้นชั่งพอเท่ากันได้”


รูปภาพ

ครั้นทรงดำริดังนี้แล้ว จึงทรงกวักพระหัตถ์เรียกพระพุทธมารดาว่า

“ดูกรชนนี ตถาคตจะใช้ค่าน้ำนมป้อนข้าวของมารดา
อันเลี้ยงตถาคตนี้มาอเนกชาติในอดีตภพ”


แล้วทรงกระทำพระพุทธมารดาให้เป็นประธานในเทวสมาคมนั้น
ตรัส พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ อันมีชื่อว่า

ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน

ให้สมควรแก่ปัญญาบารมีของ
พระพุทธมารดาและหมู่ทวยเทพ

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดง “สัตตปกรณาภิธรรม” (พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์) นั้น
สันดุสิตเทพบุตรพุทธมารดาก็บรรลุโสดาปัตติผล
สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นแรกในพระพุทธศาสนา

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

กล่าวกันว่า พระพุทธองค์ทรงแสดง พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
ณ เทวโลก ชั้นดาวดึงส์ ทั้งกลางคืนและกลางวัน
มิมีระหว่างว่างเว้น เป็นเวลาถึง ๓ เดือนเต็มตามเวลาโลกมนุษย์

ในระหว่างที่ทรงแสดง เมื่อถึงเวลาเสด็จบิณฑบาตเพื่อเสวยพระภัตตาหาร
และเวลาทรงพักผ่อนกลางวัน
พระองค์ก็เสด็จไปทรงกระทำพุทธกิจนั้น
โดยทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าจำลองไว้ให้แสดงพระอภิธรรมแทน


กล่าวถึงโลกมนุษย์ ในช่วงเวลาที่พระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์
แล้วเสด็จขึ้นสู่ดาวดึงส์เทวโลกนั้น
มหาชนทั้งหลายที่มาประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้น
ได้เห็นพระพุทธองค์เสด็จหายไปจากโลกมนุษย์
ก็สุดเศร้าปริเวทนาการไปต่างๆ ว่า

“พระบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปสู่ภูเขาจิตรกุฏ ไกรลาส หรือยุคนธรเสียแล้ว
พระองค์ทรงปลีกวิเวก จะไม่เสด็จกลับมาสู่โลกนี้อีกแล้ว
เราทั้งหลายจะมิได้เห็นพระองค์ในกาลบัดนี้”


แล้วพากันเข้าไปถามพระมหาโมคคัลลานะเถระว่า

“ข้าแต่พระคุณเจ้า พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายเสด็จไปสถิตอยู่ ณ ที่แห่งใด”

พระมหาเถระจึงกล่าวว่า

“พวกท่านจงถามท่านพระอนุรุทธะก็จะทราบ”

มหาชนเหล่านั้นก็จะไปถามพระอนุรุทธเถระ และได้คำตอบว่า

“พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ในดาวดึงส์เทวโลก
เพื่อจะตรัสพระธรรมเทศนาอภิธรรม ๗ คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา”


ครั้นถึงวันมหาปวารณาออกพรรษา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑
อันเป็นวันครบกำหนด ๓ เดือนที่เสด็จจำพรรษา ณ เทวโลก
พระพุทธองค์จึงเสด็จลงจากเทวโลก ณ เมืองสังกัสสนคร

ซึ่งต่อมาชาวพุทธได้ปรารถเหตุการณ์นี้
จัดประเพณีทำบุญ วันเทโวโรหนะ หรือ ตักบาตรเทโว
ซึ่งหมายถึงวันทำบุญนโอกาสที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากเทวโลก
ภายหลังจากที่เสด็จจากมนุษยโลกไปเป็นเวลา ๓ เดือน
(บางแห่งเลื่อนทำในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑)

จากหลักฐานแสดงประวัติความเป็นมา
ของการแสดงพระอภิธรรมดังกล่าวมานี้
เป็นเหตุให้ชาวพุทธถือว่า

“พระอภิธรรม เป็นพุทธวจนะ”

คือตรัสออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า
ในคราวที่ทรงแสดงโปรดพวกเทวดา
โดยมีสันดุสิตเทพบุตรพุทธมารดาเป็นประธาน
อันเป็นพุทธจริยา แสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรม


ส่วนในโลกมนุษย์นี้
พระพุทธองค์ทรงแสดงพระอภิธรรมโดยย่อแก่พระสารีบุตร
ผู้เป็นอัครสาวกเบื้องขาวเป็นครั้งแรก ณ ริมสระอโนดาต

และพระสารีบุตรเถระได้นำพระอภิธรรมนั้นมาแสดงแก่พระภิกษุที่เป็นศิษย์
โดยไม่ย่อและไม่พิสดารเกินไป
ส่งผลให้พระอภิธรรมได้รับการศึกษาเผยแผ่นำสืบกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

(มีต่อ : พระอภิธรรม ๓ ฉบับ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~พ ร ะ อ ภิ ธ ร ร ม ๓ ฉ บั บ~

จากประวัติความเป็นมาของพระอภิธรรมดังกล่าว
เราอาจแบ่งพระอภิธรรมตามลักษณะโวหารที่แสดงได้ ฉบับ คือ

๑. อติวิตถารอภิธรรม พระอภิธรรมฉบับพิสดารที่สุด
๒. อติสังเขปอภิธรรม พระอภิธรรมฉบับย่อที่สุด
๓. นาติสังเขปนาติวิตถารอภิธรรม พระอภิธรรมฉบับกลางๆ
ไม่ย่อ ไม่พิสดารนัก


:b42: พ ร ะ อ ภิ ธ ร ร ม ฉ บั บ ที่ พิ ส ด า ร ที่สุ ด :b42:

หมายถึง พระอภิธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพวกเทวดา
มีสันดุสิต เทพบุตรพุทธมารดาเป็นประธาน
ณ เทวโลกชั้นดาวดึงส์ ในพรรษาที่ ๗ แห่งการตรัสรู้


ทรงแสดงนานถึง ๓ เดือน (ตามเวลาในโลกมนุษย์)
ติดต่อกันทั้งกลางวันกลางคืน ดังที่ คัมภีร์อัฏฐสาลินี กล่าวไว้ว่า

“อภิธรรมที่พระพุทธเจ้าได้แสดงติตด่อกัน ๓ เดือนนั้น
เป็นอนันต์ (ไม่รู้จักจบสิ้น) ไม่อาจคำนวณได้
จะเรียนสักร้อยปีพันปี ก็เรียนไม่จบ”


พระอภิธรรมฉบับพิสดารที่สุดนั้น
พระพุทธองค์ทรงแสดงโปรดพวกเทวดาโดยเฉพาะ
เพราะเทวดาสามารถฟังด้วยอริยาบถเดียวถึง ๓ เดือน
โดยไม่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ และไม่ง่วงนอน

สำหรับมนุษย์เรานั้น ไม่อาจฟังพระอภิธรรมพิสดารนานถึง ๓ เดือน
ด้วยอิริยาบถเดียว คือ จะนั่งฟังติตด่อกันทั้งกลางวันและกลางคืน
นานถึง ๓ เดือน ไม่ได้โดยเด็ดขาด


อนึ่ง ใน พระบาลีธัมมหทนวิภังค์ แห่ง คัมภีร์วิภังค์ อภิธรรมปิฎก
(พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๕ ข้อ ๑๐๒๓)
ได้ระบุถึงอายุของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ไว้ว่า

“....๑๐๐ ปีของมนุษย์ นับเป็นวันหนึ่งและคืนหนึ่งของเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์
โดย ๓๐ ราตรี เป็น ๑ เดือน ๑๒ เดือน เป็น ๑ ปี
เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอายุ ๑๐๐๐ ปีทิพย์
นับอย่างมนุษย์มีประมาณเท่ากับ ๓๖ ล้านปี....”


จะเห็นว่า ระยะเวลา ๓ เดือนในโลกมนุษย์ไม่นานเลย
เมื่อเทียบกับเวลาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

รูปภาพ

:b42: พ ร ะ อ ภิ ธ ร ร ม ฉ บั บ ย่ อ ที่ สุ ด :b42:

หมายถึง พระอภิธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่
พระสารีบุตรในป่าหิมพานต์ ใกล้ฝั่งอโนดาต
กล่าวคือ

แม้พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
และทวยเทพในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ติดต่อกันเป็นเวลา ๓ เดือน
แต่ก็มีช่วงที่ทรงพัก โดยพระองค์ทรงเนรมิตพระพุทธเจ้าจำลองที่เรียกว่า
นิรมิตพุทธะ หรือ พระพุทธเนรมิต

แล้วทรงอธิษฐานให้ทำหน้าที่แสดงพระอภิธรรมแทนพระองค์ชั่วครู่
หลังจากนั้น พระองค์ก็เสด็จไปยังป่าหิมพานต์
ทรงเคี้ยวไม้ชำระพระทนต์บ้วนพระโอษฐ์ ล้างพระพักตร์ที่สระอโนดาต

แล้วเสด็จไปบิณฑบาตรที่อุตตรกุรุทวีป
ทรงนำภัตตาหารมาประทับฉัน ณ ฝั่งสระอโนดาต
ระหว่างนั้นพระสารีบุตรได้มาเฝ้าปฏิบัติพระองค์อยู่
หลังจากทรงฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว
พระองค์ได้ตรัสบอกพระสารีบุตรว่า

“สารีบุตร วันนี้เราจะแสดงธรรมประมาณเท่านี้
เธอจงไปบอกสอนพวกภิกษุ ๕๐๐ รูป ที่เป็นศิษย์ของเธอ”


เมื่อตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จหายไปพระองค์ไปแสดงพระอภิธรรม
โปรดพวกเทวดาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ต่อจากที่พระพุทธเนรมิตแสดงพระอภิธรรม
ที่พระองค์ตรัสบอกพระสารีบุตรแต่ละวันในโลกมนุษย์นี้แหละ
เรียกว่า พระอภิธรรมฉบับย่อที่สุด

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b42: พ ร ะ อ ภิ ธ ร ร ม ฉ บั บ ก ล า ง ๆ ไ ม่ ย่ อ ไ ม่ พิ ส ด า ร นั ก :b42:

หมายถึง พระอภิธรรมที่พระสารีบุตรทรงจำนัยที่พระพุทธองค์ทรงแสดง
แล้วนำมาบอกกล่าวสั่งสอนพระภิกษุ ๕๐๐ รูป
ที่บวชเพราะเลื่อมใสในยมกปาฏิหาริย์
ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงก่อนเสด็จไปยังเทวโลก


พระภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ เป็นชาวเมืองสาวัตถี
เป็นสัทธิวิหาริก (ศิษย์) ของ พระสารีบุตรเถระ
โดยเหตุที่ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้

เมื่อได้ฟังพระอภิธรรมที่พระสารีบุตรเถระนำมาแสดง
ด้วยอุบายวิธีที่ไม่ย่อเกินไป ไม่พิสดารเกินไป
ไม่ช้าไม่นานก็เป็นผู้ฉลาดเชี่ยวชาญในพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์

เหตุที่แตกฉานในพระอภิธรรมได้เร็วปานนั้น
เป็นเพราะอำนาจวาสนาบารมีที่คุ้นเคย
กับการได้ฟังพระอภิธรรมนี้มาในอดีตชาตินั้นเอง

คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท
กล่าวถึงประวัติในอดีตชาติของพระภิกษุ ๕๐๐ รูปเหล่านี้ไว้ว่า


ในกาลแห่งพระศาสนาของพระพุทธเจ้านามว่า พระกัสสปะ
ท่านเหล่านี้เกิดเป็นค้างคาวอาศัยอยู่ที่เงื้อมเขาแห่งหนึ่ง
เมื่อมีพระภิกษุเถระ ๒ รูปมาเดินจงกรม
สาธยายพระอภิธรรมอยู่ใกล้ๆ ก็ฟังจนจับนิมิตในเสียงสาธยายได้ (จำติดหู)
แต่ไม่รู้ความหมายแห่งคำสาธยาย

คือไม่รู้ว่าสภาวธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ขันธ์
สภาวะธรรมเหล่านี้ชื่อว่า ธาตุ เป็นต้น

อาศัยเพียงจำได้ติดหูเท่านั้น
ครั้นตายจากอัตภาพที่เป็นค้างคาวแล้ว ก็ได้ไปเกิดในเทวโลก

จนกาลเวลาผ่านไปหนึ่งพุทธันดร
(สิ้นอายุกาลแห่งพระศาสนาของพระกัสสปพระพุทธเจ้า
มาถึงกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเรา)

ก็จุติจากเทวโลก มาบังเกิดใน นครสาวัตถี

เมื่อได้เห็นพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์
ก็เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา
ขอบวชเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของ พระสารีบุตรเถระ
และได้ฟังพระอภิธรรมจากพระอุปัชฌาย์ของตน
จนเกิดความเชี่ยวชาญแตกฉานใน พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์
ก่อนภิกษุอื่นๆ ทั้งหมดในพระพุทธศาสนา

พระอภิธรรม ฉบับนี้ อาจเรียกชื่อใหม่
ตามสถานที่เพื่อกำหนดจดจำความเป็นมาได้ง่ายดังนี้


พระอภิธรรมฉบับดาวดึงส์
พระอภิธรรมฉบับสระอโนดาต และ
พระอภิธรรมฉบับพระนครสาวัตถี หรือฉบับมิชฌิมประเทศ


พระอภิธรรมปิฎกที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ศึกษากันอยู่ในปัจจุบันนี้
นักปราชญ์หลายท่านสันนิษฐานว่า

วิวัฒนาการสืบเนื่องมาจากพระอภิธรรมฉบับกลางๆ
ที่ไม่ย่อไม่พิสดารนัก หรือ ฉบับพระนครสาวัตถีนั่นเอง


(มีต่อ : หลักฐานเรื่องพระอภิธรรม)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b42: ห ลั ก ฐ า น เ รื่ อ ง พ ร ะ อ ภิ ธ ร ร ม :b42:

เพื่อให้ผู้สนใจศึกษาพระอภิธรรม
ได้ทราบประวัติความเป็นมาของพระอภิธรรมโดยชัดเจนขึ้น
จึงขออัญเชิญพระนิพนธ์หลักฐานเรื่อง พระอภิธรรม
ของ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ซึ่งทรงพระนิพนธ์ไว้ใน ความเข้าใจเรื่องพระอภิธรรม มานำเสนอดังนี้

“ในพระวินัยปิฎกเอง ที่เล่าเรื่องสังคายนาครั้งที่สอง
ที่ทำเมื่อหลังจากพุทธปรินิพพานประมาณ ๑๐๐ ปี
ก็เล่าแต่เพียงว่า ได้ทำสังคายนาพระวินัยและพระธรรม
ไม่ได้กล่าวถึงอภิธรรมปิฎก เมื่อพระพุทธเจ้าจะนิพพาน
ก็ทรงแสดงเพียงว่า ธรรมะที่ทรงแสดงแล้ว วินัยที่ทรงบัญญัติแล้ว
เป็นศาสดาแทนพระองค์
ก็กล่าวถึงแต่ธรรมะและวินัยเท่านั้น ไม่ได้พูดถึงอภิธรรม


ฉะนั้น นักศึกษาพระพุทธศาสนาที่วิจารณ์ทั้งประวัติ
และเนื้อความของปิฎกทั้งสาม
จึงมีมากที่ท่านลงความเห็นว่าอภิธรรมปิฎกนั้นมีในภายหลัง


แต่ว่าเมื่อพระพุทธศานาล่วงมาหลายร้อยปีเข้า
จนถึงสมัยแต่งอรรถกถาประมาณว่า
พระพุทธศาสนาล่วงมาขนาดพันปี
จึงได้ปรากฏหลักฐานในคัมภีร์อรรถกถาที่แต่งในสมัยนั้น
ถึงเรื่องประวัติของอภิธรรมว่า


พระพุทธเจ้าไปเทศน์อภิธรรมแด่พระพุทธมารดาที่ดาวดึงส์พิภพ
และถ้อยคำในอรรถกถาแสดงว่ามีการนับถือคัมภีร์อภิธรรมนี้เป็นอันมาก
ใครจะคัดค้านว่าอภิธรรมมิใช่พระพุทธะวจนะเป็นไปไม่ได้


ในอรรถกถาเองได้ประณามคนที่คัดค้าน
อย่างเป็นคนนอกศาสนาเลยทีเดียว
แต่เพราะได้กล่าวไว้เช่นนั้น
ก็บ่งว่าคงจะได้มีผู้คัดค้านมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว
จึงได้เขียนไว้อย่างนั้น


ท่าน (อรรถกถา)แสดงหลักฐานว่า

พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้อภิธรรม
ได้ทรงแสดงอภิธรรมแทรกเข้าไว้อย่างมากมาย
คือ ในหลักฐานขั้นบาลีที่มีในวินัยปิฎกว่า
เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ได้ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข
(ความสุขที่เกิดจาดวิมุตติ ความหลุดพ้น)
ที่ควงไม้ต่างๆ ๕ สัปดาห์

สัปดาห์ที่ ๑ ประทับนั่ง ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์ คือที่ได้ตรัสรู้
สัปดาห์ที่ ๒ ประทับนั่ง ที่ ควงไม้นิโครธ คือควงไม้ไทร
สัปดาห์ที่ ๓ ประทับนั่ง ที่ ควงไม้มุจลินทะ คือ ควงไม้จิก
สัปดาห์ที่ ๔ ประทับนั่ง ที่ ควงไม้ราชายตนะ คือควงไม้เกด
สัปดาห์ที่ ๕ ประทับนั่ง ที่ ควงไม้ไทรอีก


พระอรรถกถาจารย์ผู้เขียนตำนานพระอภิธรรม
ได้แสดงแทรกไว้ในคัมภีร์อรรถกถาอีก ๓ สัปดาห์
จากสัปดาห์ที่ ๑ ในบาลี คือ


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[พระพุทธรูปปางถวายเนตร
: พระประจำวันของผู้เกิดวันอาทิตย์]



สัปดาห์ที่ ๒

เสด็จจากไม้มหาโพธิ์ ไปทางทิศอิสาน
ทรงยืนถวายเนตร คือว่าจ้องดูพระมหาโพธิ์ในที่นั้น
จึงเรียกว่า อนิมิตตเจดีย์ แปลว่า เจดีย์ทรงจ้องดู
โดยมิได้กระพริบพระเนตร
ที่เป็นมูลให้สร้าง พระถวายเนตร สำหรับวันอาทิตย์

สัปดาห์ที่ ๓

เสด็จจากที่นั้น มาหยุดอยู่ระหว่างมหาโพธิ์
กับอนิตตเจดีย์นั้นรทรงนิรมิตที่จงกรมขึ้น
เสด็จจงกรม ณ ที่นั้น ที่นั้นจึงเรียกว่า
รัตนจงกรมเจดีย์ แปลว่า ที่จงกรมแก้ว
คำว่าที่จงกรมแก้วนี้ อาจารย์ท่านหนึ่งว่า เป็นเรือนเก้วที่เทพนิมิต
อีกอาจารย์หนึ่งก็ว่า มิใช่เป็นเรือนแก้ว
แต่ว่าหมายถึง ที่เป็นที่ทรงพิจารณาอภิธรรม

สัปดาห์ที่ ๔

ประทับนั่งขัดขัดบัลลงก์
ในทิศปัจจิม หรือทิศพายัพแห่งมหาโพธิ
ทรงพิจารณาอภิธรรม
จึงเรียกว่า รัตนฆรเจดีย์ แปลว่า เรือนแก้ว
คำว่าเรือนแก้วนี้ อาจารย์หนึ่งก็ว่า เป็นเรือนแก้วที่เป็นเทพนิมิต
อีกอาจารย์หนึ่งก็ว่ามิใช่เป็นเรือนแก้วเช่นนั้น


รูปภาพ
[พระพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก]


แต่หมายถึง ที่ที่เป็นที่พิจารณาทรงพิจารณาอภิธรรม
รัตนฆรเจดีย์ คือเรือนแก้วนี้ ก็เป็นมูลเหตุให้สร้างพระพุทธรูปมีเรือนแก้ว
เหมือนอย่าง พระพุทธชินราช ที่จังหวัดพิษณุโลก มีเรือนแก้ว

เมื่อท่านแทรกเข้ามาอีก ๓ สัปดาห์ดังนี้
สัปดาห์ที่ ๒ ตามที่แสดงในบาลีก็ต้องเลื่อนไปเป็นที่ ๕
และก็เลื่อนไปโดยลำดับ

ท่านก็ได้อธิบายไว้ด้วยว่า
การที่แทรกนอกจากพระบาลีออกไปนั้น
ไม่ผิดไปจากความเป็นจริง

เพราะในบาลีแสดงแต่โดยย่อ
เหมือนอย่างที่พูดว่ากินข้าวแล้วนอน
ความจริงกินข้าวแล้ว
ก่อนจะนอนก็ได้มีกิจอื่นหลายอย่าง
แต่ว่าเว้นไว้ไม่กล่าว
ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวถึงกิจที่เว้นไว้นั้นให้บริบูรณ์


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ตำนานพระอภิธรรมดังกล่าวมานี้ ได้มีกล่าวไว้ในหนังสืออรรถกถา
ที่เขียนขึ้นเมื่อพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วนาน

และท่านก็ยังได้เล่าอีกว่า คัมภีร์อภิธรรมนั้นมี คัมภีร์ เรียกว่า สัตตปกรณ์
ปกรณ์ แปลว่า คัมภีร์ สัตต แปลว่า เจ็ด
สัตตปกรณ์ ก็แปลว่า เจ็ดคัมภีร์

คำนี้ได้นำมาใช้เมื่อบังสุกุลพระศพเจ้านาย
ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไป ใช้คำว่า สดับปกรณ์
ก็มาจากคำว่า สัตตปกรณ์ คือ เจ็ดคัมภีร์ นี้เอง

แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้แสดงทั้ง ๗ คัมภีร์ เว้น คัมภีร์กถาวัตถุ
ทรงแสดงแค่ ๖ คัมภีร์ ส่วนคัมภีร์กถาวัตถุนั้น
พระโมคคัลลีบุตรติสเถระ เป็นผู้แสดงในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
แต่ว่าพระเถระก็ได้แสดงตามนัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
ฉะนั้นจึงได้ครบ ๗ ปกรณ์ในสมัยสังคายนาครั้งที่ ๓ นั้น
และก็ถือว่าเป็นพระพุทธภาษิตทั้งหมด เพราะพุทธเจ้าได้ประทานนัยไว้

ในตำนานนี้ได้กล่าวว่า
พระพุทธเจ้าได้เทศน์พระอภิธรรมตลอดไตรมาส
คือสามเดือน โดยไม่มีเวลาหยุดยั้ง
ฉะนั้นจึงได้เกิดปัญหาขึ้น ๒ ข้อ คือ


๑. ว่าพระพุทธเจ้าไม่ทรงบำรุงพระสรีระ เช่น เสวย
หรือทรงปฏิบัติสรีระกิจอย่างอื่นตลอดไตรมาสหรือ

๒. พระอภิธรรมมาทราบในเมืองมนุษย์ได้อย่างไร


ปัญหาเหล่านี้ ท่านผู้เหล่าตำนานพระอภิธรรมได้กล่าวแก้ไว้ด้วยว่า

เวลา ภิกษาจาร คือ เวลาที่ทรงบิณฑบาต
ก็ได้ทรงนิรมิตร พระพุทธนิมิตไว้
ทรงอธิษฐานให้ทรงแสดงธรรมให้ตามเวลาที่ทรงกำหนด ไว้แทนพระองค์
แล้วเสด็จลงมาปฏิบัติพระสรีระกิจที่สระอโนดาต
แล้วเสด็จไปเที่ยวบิณฑบาตรที่อุตรกุรุทวีป
เสด็จลงมาเสวยที่สระนั้น เสวยแล้วเสด็จไปประทับกลางวันที่นันทวัน
ต่อจากนั้นจึงเสด็จขึ้นไปแสดงธรรมต่อจากพุทธนิมิต

และที่นันทวันนั้นเอง ท่านพระสารีบุตรได้ไปเฝ้าทำวัตรปฏิบัติ
พระองค์จึงได้ประทานนัยพระอภิธรรมที่ทรงแสดงแล้วแก่ทานพระสารีบุตร
ท่านพระสารีบุตรก็ได้มาแสดงพระอภิธรรม
แก่หมู่พระภิกษุที่เป็นสัทธิวิหาริกของท่านต่อไป


ท่านแก้ไว้อย่างนี้ ก็เป็นแก้ปัญหาทั้งสองข้อนั้น ตามคำแก้ของท่านนี้เอง
แสดงว่าพระอภิธรรมมาปรากฏขึ้นในหมู่มนุษย์
ก็โดยพระสารบุตรเป็นผู้แสดง
เพราะฉะนั้นเมื่อพูดกันอย่างในเมืองมนุษย์
ท่านพระสารีบุตรจึงเป็นผู้แสดงพระอภิธรรมนั้นเอง

แต่ว่าท่านสารีบุตรไม่ใช่นักพระอภิธรรมองค์แรก
พระพุทธเจ้าเป็นนักพระอภิธรรมองค์แรก
เพราะได้ตรัสรู้พระอภิธรรมตั้งแต่ราตรีที่ได้ตรัสรู้
ได้ทรงพิจารณาพระอภิธรรมที่ รัตนฆรเจดีย์ ดังที่กล่าวมาแล้ว
และได้ทรงนัยแห่งพระอภิธรรมแก่ท่านพระสารีบุตร
ท่านพระสารีบุตรจึงได้มาแสดงต่อไป


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ในปัจจุบันนี้ได้มีท่านผู้หนึ่งเขียนหนังสือค้านว่า
อภิธรรมปิฎกนั้นพิมพ์เป็นหนังสือได้เพียง ๑๒ เล่ม
ตามประวัติพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอยู่ตลอดสามเดือน ไม่มีเวลาหยุด

และยังได้กล่าวอีกว่า ได้มีรับสั่งเร็ว
คือว่าพระพุทธเจ้าพูดเร็วกว่ามนุษย์สามัญหลายเท่า
เมื่อเป็นเช่นนี้ ถ้าจะมารวมพิมพ์ขึ้นก็จะต้องกว่า ๑๒ เล่มเป็นไหนๆ

เมื่อหนังสือนี้ออกมา ได้มีผู้นับถือพระอภิธรรมไม่พอใจกันมาก
เพราะเหตุดังที่ได้กล่าวแล้ว ในหลักฐานตั้งแต่ชั้นอรรถกถานั้น
ได้มีผู้นับถือพระอภิธรรมมาก
จนบัดนี้ก็ยังทีผู้นับถือพระอภิธรรมกันอยู่มาก
ยิ่งในพม่ายิ่งนับถือมากกันเป็นพิเศษ

จนถึงกับมีนิทานเล่ากันเป็นประวัติว่า

มีเรือเชิญพระไตรปิฎกจากลังกามา ๓ ลำ
ระหว่างทางเกิดพายุ พัดเอาเรือทั้ง ๓ ลำไปคนละทาง
เรือที่ทรงพระอภิธรรมปิฎกไปประเทศพม่า
เรือที่ทรงพระวินัยปิฎกไปประเทศรามัญ
เรือที่ทรงพระสุตตันตปิฎกมาประเทศไทย


นี่เป็นเรื่องที่ผูกขึ้นมานานแล้ว พิจาณาดูก็มีเค้าอยู่บ้าง

เพราะว่าพม่านั้นนับถือพระอภิธรรมมาก
รามัญก็เคร่งครัดในวินัย
ส่วนฝ่ายไทยอยู่ระหว่างกลาง
ไม่ใคร่เคร่งวินัยนัก และก็ไม่ย่อหย่อนอย่างพม่า
พอใจจะถือเอาเหตุผลซึ่งก็สงเคราะห์ว่าเป็นฝ่ายสุตตันตปิฎก

จะอย่างไรก็ตาม สารัตถะในพระอภิธรรมนั้นมีมาก
ถึงท่านจะไม่แสดงประวัติไว้พิสดารอย่างไร
สารัตถะในพระอภิธรรมนั้นเองก็เป็นสิ่งที่ควรศึกษา
ซึ่งเมื่อศึกษาแล้ว ก็จะให้ได้ความรู้ในพระพุทธศาสนา
พิสดารขึ้นอีกเป็นอีกอย่างมาก.....”


:b8: :b8: :b8:

(ที่มา : “ประวัติความเป็นมาของพระอภิธรรม” ในธรรมะเพื่อชีวิต ฉบับวันขึ้นปีใหม่ ๒๕๕๑,
จัดทำโดย มูลนิธิพุทธศาสนศึกษา วัดบูรณศิริมาตยาราม, หน้า ๑-๑๖)


:b8: :b8: :b8:

(มีต่อ : สาระรวบยอดของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b42: สาระรวบยอดของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ :b42:
อ.วินัย อัศว์ศิวะกุล

๑. พระคัมภีร์ธัมมสังคณี

มีแม่บทธรรมที่บริบูรณ์พลัง

๒. พระคัมภีร์วิภังค์

จำแนกแยกแยะปรมัตถธรรมอย่างจริงจัง

๓. พระคัมภีร์ธาตุกถา

อาสาแยกธาตุแท้ธรรมชาติชีวิตจิตใจ

๔. พระคัมภีร์ปุคคลบัญญัติ

ให้หลักดูมนุษย์ และสมมติสัจจะ

๕. พระคัมภีร์กถาวัตถุ

บรรจุวิธีชี้ผิด รู้ถูก หยุดมิจฉาทิฏฐิ

๖. พระคัมภีร์ยมก

ยกคู่ปุจฉา พ้นข้อกังขา

๗. พระคัมภีร์มหาปัฏฐาน

ประสานเหตุและผลของชีวิต เพื่อปลอดพิษพ้นภัยวัฏฏสงสาร

รูปภาพ

~ความหมายและความประเสริฐของพระอภิธรรม~

~พระอภิธรรมคืออะไร~

พระอภิธรรม คือ คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งกล่าวถึงความจริงแท้ของธรรมชาติ
ตลอดจนความจริงเทียม เพื่อให้ผู้ศึกษารู้แจ้ง
และรู้เท่าทันความจริงเหล่านี้
อันเป็นประโยชน์ต่อการลดทุกข์ พ้นทุกข์ เพิ่มสุข สู่สุขสูงสุด


~ ความประเสริฐของพระอภิธรรม~

พระอภิธรรมเป็นวิทยาการอันประเสริฐ เหนือกว่าวิทยาการใดใดในโลก
เพราะว่า

๑. พระอภิธรรมเป็นวิทยาการที่ยืนยงต่อการพิสูจน์
ไม่วิปริตแปรปรวนไปอย่างอื่น

๒. พระอภิธรรมเป็นวิทยาการที่ทรงค้นพบ
โดยพระสัพพัญุตญาณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๓. พระอภิธรรมเป็นที่ดำเนินของพระบรมญาณอันบริสุทธิ์สูงสุด
ของพระพุทธองค์

๔. พระอภิธรรมเป็นประธานของบัญญัติวิทยาการอื่นๆ และสิ่งอื่นๆ ในโลก

๕. พระอภิธรรมเป็นสัจธรรมที่แยกแยะสภาวะธรรมของความจริงทุกระดับ

๖. พระอภิธรรมเป็นวิทยาการที่ว่าด้วยชีวิตที่ลึกซึ้ง

๗. พระอภิธรรมเป็นสัจธรรมของการปฏิบัติ เพื่อขจัดความมืดบอดของชีวิต

๘. พระอภิธรรมเป็นสัจธรรมของการปฏิบัติ เพื่อให้เกิดอริยปัญญาอย่างแท้จริง

๙. พระอภิธรรมเป็นสัจธรรมของการปฏิบัติ เพื่อพ้นทุกข์ทั้งปวงและสู่อมตสุข


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภาพจิตรกรรม “Buddha” :
สร้างสรรค์โดยศิลปินชาวเม็กซิกัน Octavio Ocampo]



:b42: ภาพรวมของพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ :b42:

ในพระไตรปิฎก ๑๗ คัมภีร์ เป็นพระอภิธรรม คัมภีร์
พระสูตร ๕ คัมภีร์ พระวินัย ๕ คัมภีร์
หรือในพระไตรปิฎก ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
เป็น พระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
พระสุตตันปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

จะเห็นว่า จำนวนพระธรรมขันธ์ของพระอภิธรรมปิฎก
เท่ากับจำนวนพระธรรมขันธ์ของพระสุตตันปิฎกรวมกับพระวินัยปิฎก

ซึ่งแสดงว่าพระอภิธรรมเป็นพระคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
เป็นพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดงด้วย วิธีปรมัตถเทศนา
คือ ทรงสั่งสอนความจริงที่ข้าถึงแก่นแท้ของความจริงสูงสุด
โดยไม่ต้องมีการยกเหตุการณ์ ยกตัวอย่าง
แสดงถึงเนื้อสัจธรรมล้วนๆ


ส่วนพระสุตตันตปิฎกเป็นคำสอนที่พระพุทธองค์
ทรงแสดงด้วยวิธี โวหารเทศนา
คือ ทรงสั่งสอนตามความเหมาะสมของพื้นฐานของผู้ฟัง
มีการยกตัวอย่าง อุปมาอุปมัย เหตุการณ์ ฯลฯ

ส่วนพระวินัยปิฎกเป็นคำสอนที่พระพุทธองค์
ทรงแสดงด้วยวิธีอาณาเทศนา
คือ ทรงสั่งสอนตามความผิดที่เกิดขึ้น ซึ่งควรละเว้น
หมายความว่า เป็นคำสอนที่เกี่ยวกับข้อละเว้น หรือ “ศีล”
เพื่อให้มีวจีกรรมและกายกรรมที่เหมาะสมน่าเลื่อมสใส
อันง่ายต่อการชักชวนให้บุคคลต่างๆ มาเจริญกุศลธรรม

พระอภิธรรมมีอยู่ในพระสูตรและพระวินัย
เพราะมีธรรมจากพระสูตรและพระวินัยที่ทรงแสดงในแง่ปรมัตถสัจธรรม
ซึ่งเป็นธรรมที่เข้าถึงความจริงสูงสุดและประเสริฐที่สุด
เมื่อพระพุทธองค์ทรงนำหลักพระอภิธรรมปรับให้เหมาะสมกับจริตของผู้ศึกษา
ทำให้มีหลักธรรมแง่พระวินัย


พระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นปิฏกไหน
ย่อมมีความสัมพันธ์กันไม่แยกออกจากกัน


มีข้ออุปมาว่า พระไตรปิฏกเหมือนคน
พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์เหมือนโครงกระดูก
พระสูตรหรือพระสุตตันปิฎกหมือนอวัยวะในร่างกาย
ส่วนพระวินัยปิฎกเหมือนผิวพรรณเส้นผม
ทั้งสามส่วนไม่แยกจากกัน
ถ้าไม่มีพระอภิธรรม พระสูตรและพระวินัยก็อยู่ไม่ได้


ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงกล่าวว่า
ถ้าพระพุทธศาสนาจะเสื่อม พระอภิธรรมจะเสื่อมก่อน
แต่ถ้ามีการศึกษาพระอภิธรรมอยู่
ก็เท่ากับรักษาพระพุทธศาสนาไม้ให้เสื่อมสูญไป
พระอภิธรรม คัมภีร์ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ต่อการช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา

ในพระอภิธรรม คัมภีร์นี้ ประกอบด้วย

พระธัมมสังคณี พระวิภังค์ พระธาตุกถา พระปุคคลบัญญัติ
พระกถาวัตถุ พระยมก และพระมหาปัฏฐาน


ซึ่งมีคำกุญแจให้จำดังนี้

“สํ วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ”


เนื้อหาย่อๆ ของแต่ละคัมภีร์ ซึ่งทำให้เกิดคำสวดมนต์มีดังนี้

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b42: พระธัมมสังคณี :b42:

พระอภิธรรมปิฎก พระคัมภีร์ที่ ๑
ว่าด้วยการรวบรวมธรรมอย่างครบถ้วนบริบูรณ์
โดยแสดงเป็นแม่บทธรรม ๓๕๐ บท
ทั้งนัยพระอภิธรรมและนัยพระสูตร
เช่น กุสลา ธัมมาอกุสลา ธัมมา อัพยากตา ธัมมา

ในเรื่องกุศลธรรม พระพุทธองค์ทรงแสดงกุศลจิต ๒๑ ชนิด
แต่ในคำสวดมนต์พระธรรมสังคณี เป็นเพียงตัวอย่างของกุศลจิตชนิดหนึ่ง
โดยนำลักษณะบางประการของกุศลจิตชนิดนี้ มาสวดมนต์กันเท่านั้น

ยังมีคำสวดมนต์ ติกมาติกา
ซึ่งก็เป็นแม่บทธรรมของพระธัมมสังคณี และพระอภิธรรมปิฎก

จุดเด่นของพระธรรมสังคณี

คือ ถ้าศึกษาเข้าใจแล้ว ทำให้รู้พระธรรมของพระพุทธองค์อย่างถูกต้อง
ไม่สับสน และรู้ว่าใครพูดธรรมผิดจากคำสอนของพระพุทธองค์ด้วย


(คำสวดมนต์พระธรรมสังคณีนำมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๔ ข้อที่ ๑, ๑๖)

:b42: พระวิภังค์ :b42:

พระอภิธรรมปิฎกพระคัมภีร์ที่ ๒ ว่าด้วยการแยกแยะธรรม ๑๘ เรื่อง
ซึ่งส่วนใหญ่แยกแยะในแง่พระอภิธรรม และในแง่พระสูตร
โดยผูกสัมพันธ์กับแม่บทธรรมในพระธัมมสังคณี
เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง
พ้นจากความเห็นผิดวิปริตที่เป็นเหตุของทุจริตทั้งปวง

ในคำสวดมนต์พระวิภังค์นี้ ได้นำธรรมหมวดแรก คือ ขันธ์ ๕ มาสวดมนต์เท่านั้น

~ จุดเด่นของพระวิภังค์ ~

คือ การวิเคราะห์หลักธรรม
ทั้งแนวพระสูตรเชิงวิชาการและแนวพระอภิธรรม
จะเห็นว่าการศึกษาพระอภิธรรม
ทำให้ได้เครื่องมือตรวจสอบความถูกต้องของธรรมว่า
ตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์หรือไม่

(คำสวดมนต์พระวิภังค์นำมาจากพระไตรปิฎกเล่ม ๓๕ ข้อที่ ๑-๒)

:b42: พระธาตุกถา :b42:

พระอภิธรรมปิฎก พระคัมภีร์ที่ ๓
ว่าด้วยเครื่องทรงพลังของพระธาตุกถา ๑๔ เครื่อง
เพื่อนำไปวิเคราะห์หลักธรรม ๒๒ หมวด หรือ ๑๒๕ บท
ให้รู้เท่าทันธาตุแท้ของชีวิต (ธาตุ)
องค์ประกอบแก่นแท้ของชีวิต (ขันธ์ ๕)
และตัวเชื่อมให้เกิดกระบวนการชีวิตจิตใจ (อายาตนะ)

และยังนำแม่บทในพระธัมมสังคณีผ่านเครื่องส่องสัจธรรมพระธาตุกถา
เพื่อให้เกิดความแจ่มชัดในแม่บทธรรมยิ่งๆ ขึ้น

ในคำสวดมนต์พระธาตุกถา
ได้นำเครื่องทรงพลังของพระธาตุกถา ๘ เครื่อง
และชิ้นส่วนของเครื่องที่ ๑๔ มาสวดมนต์
โดยเครื่องที่ ๑๔ นั้น คือ วิปฺปยุตฺเตน สงฺคหิตํ อสงฺหคิตํ
(ธรรมที่สงเคราะห์ได้ ธรรมที่สงเคราะห์ไม่ได้ด้วยธรรมที่ประกอบไม่ได้)

แต่ในคำสวดมนต์นำเพียงส่วนท้ายคือ “อสงฺหคิตํ” มาสวดมนต์กัน

(คำสวดมนต์พระธาตุกถานำมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ ข้อที่ ๑)

รูปภาพ
[ภาพจิตรกรรมพุทธศิลป์ “จิตพระอรหันต์”
: สร้างสรรค์โดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์]



:b42: พระปุคคลบัญญัติ :b42:

พระอภิธรรมปิฎก พระคัมภีร์ที่ ๔
ว่าด้วยการจำแนกบุคคลประเภทต่างๆ อย่างละเอียด

ใครที่ศึกษาแล้วทำให้รู้เท่าทันคน รู้หลักดูคน
เพราะรู้เรื่องบุคคลประเภทต่างๆ ในสากลจักรวาล


ก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงบุคคลประเภทต่างๆ
พระองค์ทรงแสดงการบัญญัติธรรมย่อๆ ๖ ประเภท

ได้แก่ ขันธบัญญัติ (การบัญญัติองค์ประกอบแก่นแท้ของชีวิต คือ รูปขันธ์และนามขันธ์)
อายตนบัญญัติ (การบัญญัติตัวเชื่อมให้เกิดการรับรู้)
ธาตุบัญญัติ (การบัญญัติธรรมชาติที่ทรงไว้ซึ่งสภาวะนั้นๆ)
สัจจบัญญัติ (การบัญญัติอริยสัจ ๔)
อินทริยบัญญัติ (การบัญญัติบุคคลประเภทต่างๆ)

ในคำสวดมนต์ได้นำบัญญัติ ๖ มาสวดมนต์กัน
โดยสวดปุคลลบัญญัติเพียงจำนวน ๒๐ บุคคล จากจำนวน ๕๔ บุคคล
ในกลุ่มจำแนกหนึ่งประเภทเท่านั้น คือ
ตั้งแต่ สมยวิมุตฺโต (บุคคลผู้หลุดพ้นแบบมีสมัย)
จนถึง อรหตฺตาย ปฏิปนฺโน (บุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์)

(คำสวดมนต์พระปุคลลบัญญัตินำมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๖ ข้อที่ ๑, ๗)

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

การที่พระพุทธองค์ทรงนำบุคคลมาจำแนกในพระอภิธรรม
แม้จะเป็น ความจริงเทียม (สมมุติสัจจะ)
แต่เป็นเครื่องมือช่วยให้เข้าใจความจริงแท้ไม่ผิดพลาด
เช่น ทรงบัญญัติบุคคลชื่อว่าปุถุชนคือบุคคลที่หนาด้วยกิเลส

จริงอยู่ บุคคลเป็นแค่ความจริงสมมุติหรือความจริงเทียม
แต่ทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจได้ดีว่า ขันธ์ ๕ ชุดนั้น
ซึ่งสมมติว่าเป็นบุคคลนั้นยังหนาด้วยกิเลส ยังละไม่ได้


ทั้งนี้ เป็นการยืมบุคคลมาทำความเข้าใจความจริงแท้ให้ถูกต้อง
และยังป้องกันการเข้าใจผิดในเรื่องการสูญเปล่าของการให้ผลของกรรม
เพราะเมื่อศึกษาว่า ไม่มีตัวตน
อาจเข้าใจผิดไปว่า ไม่มีใครเสวยผลของกรรรม


จริงอยู่ ผลกรรมที่เสวยไม่มีตัวตน
แต่ก็มี ขันธ์ ๕ นั้นๆ เสวยผลของกรรม
และ ขันธ์ ๕ นั้น ก็เกิดจากการสืบต่อของ ขันธ์ ๕ ในอดีตที่ทำกรรมนั้นมา


พระพุทธองค์ทรงบัญญัติบุคคลขึ้นมา
เพื่อเข้าใจประเด็นสำคัญว่า

ใครทำกรรมใด ผู้นั้นจะต้องเสวยผลกรรมนั้น
จะสับเปลี่ยนให้บุคคลที่ไม่ได้ทำมาเสวยผลกรรมแทนไม่ได้

และให้เห็นว่า ขันธ์ ๕ ชุดนั้นๆ
เมื่อทำชั่ว ย่อมเสวยผลชั่ว
ทำดีย่อมเสวยผลดี สับกันไม่ได้


ด้วยเหตุนี้ การบัญญัติบุคคลจึงเป็นประโยชน์
ต่อการทำความเข้าใจในความเป็นไปของ ขันธ์ ๕ แต่ละชุด
ที่ทำกรรมไว้ว่าทำกรรมอย่างใดก็ต้องเสวยผลกรรมอย่างนั้น

:b42: พระกถาวัตถุ :b42:

พระอภิธรรมปิฎก พระคัมภีร์ที่ ๕
ว่าด้วยวิธีถามตอบแบบกถาวัตถุ ๒๑๙ ข้อ
โดยซักไซร้ไล่เลียงให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ขจัดความเห็นผิดออกไป

วิธีถามตอบแบบกถาวัตถุนี้
เป็นการถามตอบระหว่างฝ่ายเห็นผิดแสดงความเห็นผิดนั้นออกมา

จากนั้นฝ่ายเห็นถูกก็จะถามแบบมีหลักสัจธรรมนำหน้าคำถาม
เหมือนชี้ช่องให้เห็นคำตอบที่ถูกต้อง
แล้วจึงถามในแบบที่ทำให้ฝ่ายเห็นผิดตอบถูกขึ้นมา
แต่ก็ยังขัดกับคำตอบแรก

จากนั้นฝ่ายเห็นถูกจึงชี้ให้ฝ่ายเห็นผิดทราบว่า
คำตอบตอนแรกกับตอนหลังไม่รับกัน
และชี้ผิด ให้รู้ถูก ให้เหตุผลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง

วิธีถามตอบแบบกถาวัตถุ ๒๑๙ ข้อนี้
มีเรื่องเกี่ยวกับ บุคคล การละกิเลส การตั้งอยู่ของจิต
จิตมีอดีตเป็นอารมณ์ จิตมีอนาคตเป็นอารมณ์ การได้กุศลจิต
เป็นต้น


ในคำสวดมนต์พระกถาวัตถุ
ได้นำบทแรกเกี่ยวกับการทำให้เกิดความเห็นถูกในประเด็นที่ว่า
บุคคลเป็นความจริงสมมุติ ไม่ใช่ความจริงแท้ มาโต้ตอบกัน

โดยชี้ผิดให้รู้ถูกเกี่ยวกับบุคคลว่า
เป็นความจริงเทียม
โดยความจริงแท้เป็นเพียงรูปนาม เท่านั้น


(คำสวดมนต์ของกถาวัตถุ นำมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๗ ข้อที่ ๑)

รูปภาพ
[ภาพจิตรกรรมพุทธศิลป์ “ฉัพพรรณรังสี”
: สร้างสรรค์โดย อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์]



:b42: พระยมก :b42:

พระอภิธรรมปิฏก พระคัมภีร์ที่ ๖
ว่าด้วยธรรมคู่อยู่ ๑๐ เรื่อง
ได้แก่ มูลยมก ขนธยมก อายตนยมก ธาตุยมก สัจจยมก
สังขารยมก (ว่าด้วยการปรุงแต่งกาย วาจา และใจ)
อนุสสยยมก (ว่าด้วยกิเลสที่นอนเนื่องในขันธสันดาน)
จิตตยมก (ว่าด้วยเรื่องจิต)
ธัมมยมก (ว่าด้วยกุศล อกุศล และอัพยากต) และ อินทริยยมก

คำว่า ยมก แปลว่า คู่ ซึ่งมี ๓ คู่

คู่แรกคือ คำถามกับคำตอบหนึ่งคู่
คู่สองคือ บทตั้งกับบทถามหนึ่งคู่
คู่สามคือ ถามตามกับถามย้อนหนึ่งคู่


พระพุทธองค์ทรงอาศัยวิธีการของยมก
เพื่อให้เข้าใจในหลักธรรมที่เข้าถึงแก่นแท้ความเป็นจริงของชีวิต
ทำให้พ้นข้อสงสัยในเรื่องการแก้ไขปัญหาชีวิต และการพัฒนาชีวิต
เพื่อบรรลุความสุขสูงสุดคือ พระนิพพาน
โดยสวดมนต์ตอนต้นของพระคัมภีร์


(คำสวดมนต์พระยมก นำมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๘ ข้อที่ ๑)

:b42: พระมหาปัฏฐาน :b42:

พระอภิธรรมปิฎก พระคัมภร์ที่ ๗
ว่าด้วยการแสดงปัจจัยต่างๆของชีวิต ๒๔ ปัจจัย
โดยนำแม่บทธรรมจากพระธัมมสังคณี
มาแสดงปัจจัยที่ทำให้เกิดผลต่างๆ

โดยแสดงกลับไปกลับมาด้วยอำนาจของปัจจัยจ่างๆ
โดยพิจารณาจากปัจจัยนั้นโดยตรง และไม่ใช่ปัจจัยนั้น
ทำให้ทราบถึง เหตุของความทุกข์
เหตุของความสุข
เหตุที่ทำให้เกิดความเป็นมา ความเป็นอยู่
และความเป็นไปของชีวิตต่างๆ

ไม่ว่าเหตุในอดีตชาติ ในปัจจุบันชาติ และในอนาคตชาติ
ตลอดจนถึงเหตุที่ทำให้พ้นจากวัฏฏสงสารอย่างละเอียดพิสดาร


ในคำสวดมนต์ได้นำปัจจัย ๒๔ มาสวด
เริ่มตั้งแต่ เหตุปจฺจโย จนถึง อควิคตปจฺจโย

(คำสวดมนต์พระมหาปัฏฐานนำมาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔๐ ข้อที่ ๑)

(มีต่อ : การแก้ไขปัญหาของการฟังสวดมนต์พระอภิธรรม)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 21:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

~ การแก้ไขปัญหาของการฟังสวดมนต์พระอภิธรรม ~

ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน การสวดพระอภิธรรมหน้าศพ
อันเป็นประเพณีสืบต่อกันมา การนำธรรมชั้นสูง
ซึ่งเป็นที่ดำเนินของพระบรมญาณ
ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบูชาเคารพศพผู้ตายนั้น
ถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาอย่างสูง

เมื่อเจ้าภาพได้จัดงานสวดพระอภิธรรมหน้าศพขึ้น
ได้เชิญญาติมิตร สหาย ผู้รู้จักมาร่วมงาน
หรือคนที่รู้จักผู้ตายมาร่วมบำเพ็ญกุศลสวดศพ

ดังนั้น สังคมการสวดมนต์พระอภิธรรมหน้าศพ
จึงเป็นสังคมของมหากุศลจิตทั้งของฝ่ายเจ้าภาพ
และฝ่ายผู้มาร่วมงาน
เพราะมีเจตนาที่เสียสละ


อย่างไรก็ตาม แม้หลักการมาฟังสวดพระอภิธรรมหน้าศพ
เป็นการเจริญกุศลธรรม แต่ก็มีปัญหาหลายประการ

ในที่นี้จะหยิบยกปัญหาการฟังสวดมนต์พระอภิธรรมหน้าศพบางประการ
มาพิจารณา เพื่อจะได้ค้นหาสาเหตุ
และหาแนวทางแก้ไขปัญหาการฟังสวดพระอภิธรรมหน้าศพต่อไป

~ ปัญหาการฟังสวดมนต์พระอภิธรรมหน้าศพ ~

ปัญหาสำคัญของการฟังสวดมนต์พระอภิธรรมหน้าศพที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
อาจสรุปเป็น ๓ ข้อ คือ


๑. การไม่รู้วิธีฟังสวดพระอภิธรรม

คือ ไม่รู้วิธีวางใจ

๒. อกุศลประท้วงเงียบ

คือ เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่สนใจ ง่วง หลับ
รำคาญ อึดอัด หงุดหงิด และ

๓. อกุศลประท้วงดัง

คือ ส่งเสียงแข่งกับการสวดพระอภิธรรม

(มีต่อ)


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 18 ม.ค. 2010, 21:59, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ม.ค. 2010, 22:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ซึ่งจะอธิบายขยายความในแต่ละปัญหา ดังนี้

๑) ปัญหาการไม่รู้วิธีฟังสวดพระอภิธรรม

คือ การไม่รู้วิธีวางใจให้แยบคาย (โยนิโสมนสิการ)
ในการฟังคำสวดพระอภิธรรม กล่าวคือ
เมื่อมานั่งฟังสวด ก็พนมมือ สายตาก็มองไปตามความอยาก
จิตใจก็คิดฟุ้งเรื่องนั้นเรื่องนี้
โดยไม่มีการวางใจให้แยบคายในขณะฟังสวด

แม้ตนจะฟังไม่รู้เรื่อง
แต่ถ้ารู้จักวางใจอย่างแยบคาย ก็จะเกิดมหากุศลจิต
แทนที่จะปล่อยให้เกิดอกุศลจิตไปตามกิเลสของตน

๒) ปัญหาอกุศลประท้วงเงียบ

คือเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับการมาฟังสวด
บางรายนั่งฟังด้วยความอึดอัด
เพราะอาจตัวใหญ่ ต้องนั่งสำรวม
จะกระดุกกระดิกตามความต้องการก็ไม่ได้
บางรายนั่งสัปหงกหรือหลับ

หลายคนมาโดยมารยาท ก่อนที่จะมารถก็ติดเสียเวลา
แต่ไม่มาก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะขัดใจกัน
บางคนจำต้องมา มิฉะนั้นอาจจะเสียสังคม
หรืออาจเสียหายต่อธูรกิจสัมพันธ์
หรือเสียหายต่อการงานที่ต้องติดต่อสัมพันธ์กัน

๓) ปัญหาอกุศลประท้วงดัง

คือการส่งเสียง (คุยกัน) แข่งกับการสวดมนต์พระอภิธรรม
หากจะมองในมุมของการสังสรรค์ญาติมิตร
งานสวดศพเป็นการเปิดโอกาสให้ได้พบปะญาติมิตร
ทำให้เกิดการดระชับมิตรไมตรีจิต
นี่ก็เป็นผลพลอยได้ไม่น่าจะเป็นปัญหา

แต่ก็เกิดปัญหาขึ้น คือ
การพูดคุยจนเกินเลยกว่าที่ควรจะเป็น
บางคนคุยส่งสียงดัง
บางคนถือโอกาสนำสุรามาดื่มในงานศพก็มี
แทนที่จะเป็นการชุมนุมทำบุญกุศล
กลับมาร่วมกันสร้างอกุศลจิต
และรบกวนแขกผู้อื่นที่มาร่วมงานสวดศพอย่างบริสุทธิ์ใจด้วย

(มีต่อ)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 26 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร