วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 06:52  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2021, 04:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ สัมโมหวิโนทนี และสัทธัมมปกาสินี ได้ชี้แจงเหตุผลไว้อย่างน่าฟังว่า เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ไว้ โดยเรียงลำดับข้ออย่างที่เรียนรู้กันอยู่นี้ ข้อความที่ท่านกล่าวไว้ แม้จะสั้น แต่มีสาระหนักแน่น จึงขอนำมาเป็นเค้าความสำหรับกล่าวถึงอริยสัจ ๔ โดยสังเขป ต่อไปนี้

ก) ยกทุกข์ขึ้นพูดก่อน เป็นการสอนเริ่มจากปัญหา เพื่อใช้วิธีการแห่งปัญญา

๑. ทุกข์ คือปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ เป็นเรื่องบีบคั้นชีวิตจิตใจ มีอยู่ทั่วไปแก่ทุกคน เกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใด ก็เป็นจุดสนใจ เป็นของเด่นชัดแก่ผู้นั้นเมื่อนั้น แต่ว่าที่จริง ถึงจะไม่มองเฉพาะครั้งเฉพาะคน แม้มองกว้างออกไปในหมู่ชนน้อยใหญ่ จนถึงทั้งโลก ก็เห็นชัดถึงปัญหาชีวิตของมนุษย์ และทุกข์ภัยใหญ่น้อย ที่ปรากฏขึ้นมาและเป็นไปอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา เป็นธรรมดา พูดขึ้นมา ก็ชัดเจน เห็นง่าย เป็นจุดสนใจอย่างยั่งยืน ยกขึ้นเป็นข้อปรารภได้เรื่อยไป โดยเฉพาะเหมาะที่จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงธรรม

ยิ่งกว่านั้น ทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว และน่าตกใจสำหรับคนจำนวนมาก ทั้งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ก็ไม่อยากได้ยิน ดังจะเห็นคนที่กำลังเพลิดเพลินลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังมีปัญหา และกำลังก่อปัญหา เมื่อมีผู้มาชี้ปัญหาให้ ก็จะกระทบใจ ทำให้สะดุ้งสะเทือน และเกิดความไหวหวั่น สำหรับคนที่อยู่ในภาวะเช่นนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนปรารภเรื่องทุกข์เพื่อกระตุ้นเตือนให้เขาฉุกใจได้คิด เป็นทางที่จะเริ่มต้นพิจารณาแก้ปัญหาดับความทุกข์กันได้ต่อไป

เมื่อแสดงอริยสัจโดยตั้งต้นที่ทุกข์ ก็เป็นการสอนที่เริ่มจากปัญหา เริ่มจากสิ่งที่มองเห็นกันอยู่ เข้าใจง่าย เริ่มจากเรื่องที่น่าสนใจ และโดยเฉพาะเป็นการสอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย ไม่ใช่เรื่องคิดเพ้อฝัน หรือสักว่าพูดตีฝีปาก เมื่อพูดกับใครก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคนนั้น เมื่อพูดเป็นกลางๆ ก็เกี่ยวข้องกับทุกคน

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทุกข์ มิใช่เพื่อให้เป็นทุกข์ แต่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะดับทุกข์ เพราะทรงรู้ว่าทุกข์หรือปัญหานั้น เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ดับได้ มิใช่เป็นของเที่ยงแท้แน่นอนที่จะต้องคงอยู่ตลอดไป ชีวิตนี้ ที่ยังคับข้อง ก็เพราะมีทุกข์มีปัญหาคอยรบกวนอยู่ ถ้าดับทุกข์แก้ปัญหาแล้ว หรือได้สร้างความสามารถในการดับทุกข์แก้ปัญหาไว้พร้อมแล้ว ชีวิตก็ปลอดโปร่งโล่งเบา พบสุขแท้จริง

แต่การดับทุกข์ หรือแก้ไขปัญหานั้น มิใช่ทำได้ด้วยการหลบเลี่ยงปัญหา หรือปิดตาไม่มองทุกข์ ตรงข้าม ต้องใช้วิธีรับรู้สู้หน้าเผชิญดูมัน การรับรู้สู้หน้า มิใช่หมายความว่าจะเข้าไปแบกทุกข์ไว้ หรือจะให้ตนเป็นทุกข์ แต่เพื่อรู้เท่าทัน จะได้แก้ไขกำจัดมันได้ พูดง่ายๆ ว่า ไม่ใช่ไปเอาทุกข์มาใส่ในใจ แต่เอาปัญญาไปแก้ไขจัดการ

การรู้เท่าทันนี้ คือการทำหน้าที่ต่อทุกข์ให้ถูกต้อง ได้แก่ทำปริญญา คือ ใช้ปัญญาดูทั่วรอบ ทำความเข้าใจสภาวะของทุกข์ หรือปัญหานั้น ให้รู้ว่าทุกข์หรือปัญหาของเรานั้น คืออะไรกันแน่ อยู่ที่ไหน (บางทีคนชอบหลบเลี่ยงทุกข์หนีปัญหา และทั้งที่รู้ว่ามีปัญหา แต่จะจับให้ชัด ก็ไม่รู้ว่าปัญหาของตนนั้นคืออะไร ได้แต่เห็นคลุมๆ เครือๆ หรือพร่าสับสน) มีขอบเขตแค่ใด เมื่อกำหนดจับทุกข์ได้อย่างนี้ ก็เป็นอันเสร็จหน้าที่ต่อทุกข์ เหมือนแพทย์ตรวจอาการจนรู้โรค รู้จุดที่เป็นโรคแล้ว ก็หมดภาระไปขั้นหนึ่ง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2021, 04:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


เราไม่มีหน้าที่กำจัดทุกข์ เพราะทุกข์จะดับที่ตัวมันเองไม่ได้ ต้องแก้ที่เหตุของมัน ถ้าจะละทุกข์ที่ตัวทุกข์ ก็เหมือนรักษาโรคที่อาการ เช่น ให้ยาระงับอาการไว้ ก็ไม่ใช่แก้โรคได้จริง ต้องค้นหาสาเหตุต่อไป

แพทย์เรียนรู้โรค ต้องเรียนรู้เรื่องร่างกายอันเป็นที่ตั้งของโรคด้วย ฉันใด ผู้จะดับทุกข์ เมื่อเรียนรู้ทุกข์ ก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตอันเป็นที่ตั้งของทุกข์ ซึ่งรวมถึงสภาวะของสังขารโลกที่เกี่ยวข้องด้วย ฉันนั้น

สาระสำคัญของอริยสัจข้อที่ ๑ คือ รับรู้ความจริงเกี่ยวกับทุกข์ตามที่มันเป็นอยู่ และมองดูรู้จักชีวิต รู้จักโลกตามที่มันเป็นจริง

ข) ค้นเหตุปัจจัยให้พบด้วยปัญญา ไม่มัวหาที่ซัดทอด

๒. สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์ หรือสาเหตุของปัญหา เข้ามาตอนนี้ เพราะเป็นเรื่องที่ถึงลำดับ คือ เมื่อต้องการดับทุกข์ ก็ต้องกำจัดสาเหตุของมัน เมื่อกำหนดหรือจับได้แล้วว่าทุกข์หรือปัญหาของตนคืออะไร เป็นอย่างไร อยู่ที่ไหนแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะสืบสาวหาสาเหตุต่อไป เพื่อจะได้ทำกิจแห่งปหานะ คือละหรือกำจัดมันเสีย

อย่างไรก็ตาม แม้เมื่อค้นหาสาเหตุ คนก็มักเลี่ยงหนีความจริง ชอบมองออกไปข้างนอก หรือมองให้ไกลตัวจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยมักมองหาตัวการข้างนอกที่จะซัดทอดได้ หรือถ้าจะเกี่ยวกับตัวเอง ก็ให้เป็นเรื่องห่างไกลออกไป จนรู้สึกว่าพ้นจากความรับผิดชอบของตน

สิ่งที่มักถูกซัดทอดให้เป็นสาเหตุนั้น ปรากฏออกมาเป็นลัทธิที่ผิด ๓ ประเภท คือ

๑) ปุพเพกตวาท ลัทธิกรรมเก่า ถือว่า สุขทุกข์ทั้งปวงที่ประสบในบัดนี้เป็นเพราะกรรมที่ทําไว้ปางก่อน ไม่ว่าจะพบทุกข์เจอสุขอะไร ก็ยกให้เป็นเรื่องกรรมเก่า

๒) อิศวรนิรมิตวาท ลัทธิพระเป็นเจ้า ถือว่า สุขทุกข์ทั้งปวงที่ประสบในบัดนี้เป็นเพราะการบันดาล ของเทพผู้เป็นใหญ่ ไม่ว่าจะหนีเรื่องร้ายหรืออยากได้เรื่องดีก็หวังบารมีเทพเจ้า

๓) อเหตุวาท ลัทธิคอยโชค ถือว่า สุขทุกข์ทั้งปวงที่ประสบในบัดนี้เป็นไปเอง แล้วแต่โชคชะตาที่ เลื่อนลอย ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย อะไรๆ จะดีหรือร้าย ทําอะไรไม่ได้ว่ารอให้ถึงคราว ก็จะเป็นไปเอง

ทางธรรมปฏิเสธลัทธิเหล่านี้ เพราะขัดต่อกฎธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย แต่ให้มองหาสาเหตุของทุกข์ตามกฎธรรมดาที่ว่านั้น โดยมองเหตุปัจจัย เริ่มที่ตัวคน และในตนเอง ได้แก่ กรรม คือการกระทำ การพูด การคิด ที่ดีหรือชั่ว ซึ่งได้ประกอบแล้ว และกำลังประกอบอยู่ และที่ได้สั่งสมไว้เป็นลักษณะนิสัย ตลอดจนการตั้งจิตวางใจต่อสิ่งทั้งหลาย และการมีความสัมพันธ์อย่างถูกต้อง หรือผิดพลาด กับเหตุปัจจัยในบรรดาสภาพแวดล้อม

ในขั้นพื้นฐาน ท่านกล่าวลึกลงไปอีกว่า ตัณหา ความทะยานอยาก ที่ทำให้วางใจ วางตัว ปฏิบัติตน แสดงออก สัมพันธ์ และกระทำต่อชีวิตและโลกอย่างไม่ถูกต้อง อย่างไม่เป็นไปด้วยความรู้ตามเป็นจริง แต่เป็นไปด้วยความยินดียินร้าย ชอบชัง เป็นต้น ตลอดจนกิเลสปกป้องตัวตนทั้งหลาย เช่น ความกลัว ความถือตัว ความริษยา ความหวาดระแวง ฯลฯ ที่สืบเนื่องมาจากตัณหานั่นแหละ คือที่มาแห่งปัญหาความทุกข์ของมนุษย์

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2021, 04:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


ตัณหามี ๓ อย่าง คือ กามตัณหา อยากกาม ได้แก่ อยากได้อยากเอาอยากเสพ อย่างหนึ่ง ภวตัณหา อยากภพ ได้แก่ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ อยากคงสถานะอยู่ตลอดไป อยากมีชีวิตนิรันดร อย่างหนึ่ง วิภวตัณหา อยากสิ้นภพ ได้แก่ ปรารถนาภาวะมลายสิ้นสูญ อย่างหนึ่ง และลึกลงไปให้ชัดกว่านั้น ก็ดูที่กระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ก็จะเห็นตั้งแต่อวิชชา ซึ่งเป็นมูลของตัณหา ว่าเป็นที่ไหลเนืองมาแห่งปัญหาประดาทุกข์นั้น

เมื่อใด กำจัดอวิชชาตัณหา ที่เป็นต้นตอของปัญหา และซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ได้แล้ว มนุษย์ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลสปกป้องเบ่งขยายตัวตนทั้งหลาย เมื่อนั้น เขาก็จะสามารถปฏิบัติต่อชีวิตและสัมพันธ์กับโลก ทั้งส่วนมนุษย์ สัตว์อื่น และธรรมชาติ ด้วยปัญญาที่เข้าใจสภาวะ และรู้เหตุปัจจัยของสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง ซึ่งทำให้แก้ปัญหาได้จริง อย่างเต็มความสามารถและสติปัญญาของมนุษย์

แม้ความทุกข์จะมีเหลืออยู่ ก็เป็นเพียงทุกข์ตามสภาวะของธรรมดา และทุกข์ที่เหลืออยู่น้อยแล้วนั้น ก็ไม่มีอิทธิพลครอบงำจิตใจของเขาได้ ในเมื่อไม่มีอิทธิพลของตัณหาครอบงำอยู่ภายใน ภารกิจของเขาจะมีเหลืออยู่เพียงการคอยใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาสถานการณ์และเรื่องราวทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ให้รู้เข้าใจสภาวะและเหตุปัจจัยตามเป็นจริง แล้วจัดการด้วยปัญญานั้น ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข

แต่ตราบใด กิเลสที่บิดเบือน ครอบงำ และที่ทำให้เอนเอียงทั้งหลาย ยังบีบคั้นบังคับมนุษย์ให้เป็นทาสของมันได้ ตราบนั้น มนุษย์จะไม่สามารถแก้ปัญหาขจัดทุกข์ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภายนอก หรือทุกข์ภายใน แต่ตรงข้าม เมื่อจะแก้ปัญหา เขามักกลับทำปัญหาให้นุงนังซับซ้อนและขยายตัวมากขึ้น ในรูปเดิมบ้าง ในรูปของปัญหาใหม่ๆ อื่นๆ บ้าง เมื่อถูกทุกข์บีบคั้นภายใน แทนที่จะดับหรือสามารถลดทอนปริมาณแห่งทุกข์ให้เบาบางลงได้ด้วยปัญญา ก็กลับถูกตัณหาบีบกดให้ชดเชยออกไปด้วยการเติมทุกข์ที่ใหญ่กว่าเข้ามา หรือระบายทุกข์นั้นออกไปให้เป็นโทษภัยแก่คนอื่นและแก่สังคม

ความทุกข์และปัญหาของมนุษย์ได้เป็นมา และเป็นอยู่อย่างนี้ ตามอำนาจบงการของตัณหา ที่มีอวิชชาคอยหนุนอยู่ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ค) ชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา มีความสุขอย่างอิสระ และทำกิจด้วยกรุณา

๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือภาวะหมดปัญหา: เมื่อได้กล่าวถึงทุกข์ หรือปัญหา พร้อมทั้งสาเหตุ ที่เป็นเรื่องร้ายไม่น่าพึงใจแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงชโลมดวงใจของเวไนยชน ให้เกิดความเบาใจ และให้มีความหวังขึ้น ด้วยการตรัสอริยสัจข้อที่ ๓ คือ นิโรธ บอกให้รู้ว่า ทุกข์ที่บีบคั้นนั้นดับได้ ปัญหาที่กดดันนั้นแก้ไขได้ ทางออกที่น่าพึงใจมีอยู่ ทั้งนี้ เพราะสาเหตุแห่งปัญหาหรือบรรดาทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่แก้ไขกำจัดหรือทำให้หมดสิ้นไปได้

ทุกข์หรือปัญหา ตั้งอยู่ได้ด้วยอาศัยเหตุ เมื่อกำจัดเหตุแล้ว ทุกข์ที่เป็นผล ก็พลอยดับสิ้นไปด้วย เมื่อทุกข์ดับไป ปัญหาหมดไป ก็ถึงภาวะหมดปัญหา มีภาวะไร้ทุกข์ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นไปเอง วุ่นหายกลายเป็นว่าง หลุดโล่ง โปร่งเบา ปลอดพ้นไปได้ เป็นอิสระ หมดจด สดใส โดยนัยนี้ นิโรธอริยสัจ จึงตามเข้ามาเป็นลำดับที่ ๓ ทั้งโดยความเป็นไปตามธรรมดาของกระบวนธรรมเอง และทั้งโดยความเหมาะสมแห่งกระบวนวิธีการสอน ที่ชวนสนใจ ช่วยให้เข้าใจ สอนได้ผล และชวนให้ก้าวสู่การปฏิบัติเพื่อประจักษ์ผลที่เป็นจริง

เมื่อกำจัดตัณหา พร้อมทั้งกิเลสว่านเครือที่บีบคั้นครอบงำและหลอนล่อจิตลงได้ จิตก็ไม่ต้องถูกทรมานด้วยความเร่าร้อน ร่านรน กระวนกระวาย ความหวาดหวั่น ความกระทบกระทั่ง ความหงอยเหงา และความเบื่อหน่าย ไม่ต้องหวังความสุขแบบขอไปทีเพียงด้วยการหนีหลบออกไปจากอาการเหล่านี้ หรือแก้ไขทุกข์ด้วยการหาอะไรมากลบปิดไว้ หรือมาทดแทน หรือหาทางไประบายออกข้างนอก พอผ่านหรือพ้นไปคราวหนึ่งๆ

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2021, 05:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


ด้วยการแก้ไขที่เหตุปัจจัยนี้ จิตหลุดพ้นเป็นอิสระ ปลอดโปร่งโล่งเบา มีความสุขที่ไร้ไฝฝ้า ด้วยไม่ต้องสะดุดพะพานสิ่งกังวลคั่งค้างใจ สงบ สดชื่น เบิกบาน ผ่องใสได้ตลอดทุกเวลา อย่างเป็นปกติของใจ บรรลุภาวะสมบูรณ์ของชีวิตด้านใน เป็นอันสำเร็จกิจแห่ง สัจฉิกิริยา คือการประจักษ์แจ้งจุดหมาย

ส่วนอีกด้านหนึ่ง เมื่อจิตหลุดพ้นจากกิเลสที่บีบคั้นครอบงำหลอนล่อ และเงื่อนปมที่ติดข้องภายใน เป็นอิสระ ผ่องใส โดยไม่มีอวิชชาที่จะมาแสดงอิทธิพลหนุนนำชักใยอีกต่อไปแล้ว ก็ย่อมมีความหมายว่า ปัญญาได้หลุดพ้นจากกิเลสที่บดบัง เคลือบคลุม บิดเบือน หรือย้อมสี บริสุทธิ์เป็นอิสระ จึงทำให้สามารถคิดพิจารณาสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง มองสิ่งทั้งหลายตามสภาวะ และตามเหตุปัจจัย

เมื่อไม่มีอวิชชาตัณหาคอยชักพาให้เขว ปัญญาก็เป็นเจ้าการในการชี้นำพฤติกรรม ทำให้วางใจ ปฏิบัติตน แสดงออก สัมพันธ์กับโลกและชีวิตด้วยความรู้เท่าทันความเป็นจริง นอกจากปัญญานั้นจะเป็นรากฐานแห่งความบริสุทธิ์เป็นอิสระของจิตในส่วนชีวิตด้านในแล้ว ในส่วนชีวิตด้านนอก ก็ช่วยให้ใช้ความรู้ความสามารถของตนไปในทางที่เป็นไปเพื่อการแก้ปัญหา เสริมสร้างประโยชน์สุขได้อย่างแท้จริง สติปัญญาความสามารถของเขาถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ได้เต็มที่ของมัน ไม่มีอะไรหน่วงเหนี่ยวบิดเบน เป็นไปเพื่อความดีงามอย่างเดียว จึงเรียกว่าเป็นการดำเนินชีวิตด้วยปัญญา หรือชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญา

ยิ่งกว่านั้น ในเมื่อจิตใจเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง เป็นสุขอยู่เป็นปกติเอง ไม่ห่วงไม่กังวลเกี่ยวกับตัวตน ไม่ต้องคอยแสวงหาสิ่งเสพ ไม่ต้องคอยปกป้องเสริมความมั่นคงยิ่งใหญ่ของตัวตนที่แบกถือเอาไว้แล้ว จิตใจก็เปิดกว้าง แผ่ความรู้สึกอิสระออกไป พร้อมที่จะรับรู้สุขทุกข์ของเพื่อนสัตว์โลก และคิดเกื้อกูลช่วยเหลือ โดยนัยนี้ ปัญญา จึงได้ กรุณา มาเป็นแรงชักนำพฤติกรรมต่อไป ทำให้ดำเนินชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นได้เต็มที่

ในเมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไรๆ ในแง่ของกิเลสที่ห่วงหาผูกพันจะเอาจะได้เพื่อตัวตนแล้ว ก็สามารถทำการต่างๆ ที่ดีงาม บำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่นได้อย่างมุ่งแน่วจริงจัง

สำหรับชีวิตด้านใน มีจิตใจอิสระ เป็นสุข ผ่องใส เบิกบาน เป็นความบริบูรณ์แห่งประโยชน์ตน เรียกว่าอัคคหิตสมบัติ ส่วนชีวิตด้านนอก ก็ดำเนินไปเพื่อเกื้อกูลแก่ผู้อื่น เรียกว่าปรหิตปฏิบัติ เข้าคู่กัน เป็นอันครบลักษณะของผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้งความหมายสูงสุดของนิโรธ

อย่างไรก็ตาม ผู้ดำเนินมรรคาแห่งอารยชน ไม่จำเป็นต้องรอผลจนกว่าจะบรรลุนิพพานที่เป็นความหมายสูงสุดของนิโรธ เมื่อเดินตามมรรคถูกต้องแล้ว แม้ในระหว่างทาง ก็สามารถประสบผลแห่งการปฏิบัติประจักษ์แก่ตนได้เรื่อยไป โดยควรแก่การปฏิบัติ ทั้งได้ประโยชน์เอง และทำประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย ดังที่ว่าแล้วนั้น มากและสูงขึ้นไปตามขั้น ด้วยว่านิโรธนั้น มีลดหลั่นลงมารวมด้วยกันถึง ๕ ระดับ คือ

๑) วิกขัมภนนิโรธ ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยข่มไว้ โดยทำจิตใจให้สงบ เยือกเย็นผ่อนคลายหายเครียด ปราศจากความขุ่นมัวเศร้าหมอง หายเร่าร้อนกระวนกระวาย ด้วยวิธีการฝ่ายสมาธิ เฉพาะอย่างยิ่งหมายเอาสมาธิในระดับฌาน ซึ่งกิเลสถูกทำให้สงบไว้ ได้เสวยนิรามิสสุขตลอดเวลาที่อยู่ในฌานนั้น

๒) ตทังคนิโรธ ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยองค์ธรรมคู่ปรับ หรือธรรมที่ตรงข้าม เฉพาะอย่างยิ่ง การรู้จักคิดรู้จักพิจารณา มีปัญญารู้เท่าทันความจริงที่เป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย และจะพึงแก้ไขที่เหตุปัจจัย ไม่ขึ้นต่อความอยากความปรารถนาและความหมายมั่นยึดถือของมนุษย์ แล้ววางใจได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2021, 05:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


ถูกต้อง และปฏิบัติต่อทุกสิ่งด้วยท่าทีแห่งความรู้ความเข้าใจ ทั้งมีจิตใจเป็นอิสระและหวังดีมีน้ำใจ เมื่อปัญญานี้เห็นแจ่มแจ้งชัดเจนตรงตามสภาวะ ก็เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา ทำให้กิเลสและความทุกข์ดับหายไปได้ตลอดชั่วเวลานั้น มีจิตใจสงบ บริสุทธิ์ เป็นสุข ผ่องใส เบิกบานใจ กับทั้งทำให้จิตประณีตและปัญญางอกงามยิ่งขึ้น

๓) สมุจเฉทนิโรธ ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยตัดขาด คือ บรรลุโลกุตรมรรค ตั้งแต่โสดาปัตติมรรคขึ้นไป ดับกิเลสดับทุกข์ได้เสร็จสิ้นเด็ดขาด ตามระดับของมรรคนั้นๆ

๔) ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับกิเลสดับทุกข์ด้วยสงบระงับไป คือ บรรลุโลกุตรผล เป็นอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป กิเลสดับสิ้นไปแล้ว มีความบริสุทธิ์ปลอดโปร่งเป็นอิสระ ตามระดับของอริยบุคคลขั้นนั้นๆ

๕) นิสสรณนิโรธ ดับกิเลสด้วยสลัดออกได้ หมายถึงภาวะที่เป็นอิสระปลอดโปร่งอย่างแท้จริง และโดยสมบูรณ์ คือ ภาวะแห่งนิพพาน

ง) ถ้าถึงพระรัตนตรัย ก็ไม่รอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เลิกฝากตัวกับโชคชะตา

๔. มรรค คือ ทางดับทุกข์ หรือวิธีปฏิบัติเพื่อกำจัดสาเหตุแห่งปัญหา: เมื่อรู้ทั้งปัญหา ทั้งสาเหตุแห่งปัญหา ทั้งจุดหมายที่เป็นภาวะหมดสิ้นปัญหา ทุกอย่างครบถ้วนแล้ว ก็พร้อม และเป็นอันถึงเวลาที่จะลงมือปฏิบัติ

โดยเฉพาะ แง่ที่สัมพันธ์ใกล้ชิดโดยตรง ก็คือ เมื่อรู้จุดหมายที่จะต้องไปให้ถึง ว่าเป็นไปได้ และคืออะไรแล้ว การปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมายนั้น จึงจะพลอยเป็นไปได้ด้วย ถ้าไม่รู้ว่าจุดหมายคืออะไร จะไปไหน ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติหรือเดินทางได้อย่างไร ดังนั้น ว่าโดยความสัมพันธ์ระหว่างข้อธรรมด้วยกัน มรรคย่อมสมควรเข้าลำดับเป็นข้อสุดท้าย

อีกอย่างหนึ่ง ว่าโดยวิธีสอน ตามธรรมดานั้น การปฏิบัติเป็นกิจที่ต้องอาศัยเรี่ยวแรงกำลัง ถ้าผู้ปฏิบัติไม่เห็นคุณค่า หรือประโยชน์ ของสิ่งที่เป็นจุดหมาย ก็ย่อมไม่มีกำลังใจจะปฏิบัติ ยิ่งถ้ารู้สึกว่าการปฏิบัตินั้นยาก ก็อาจเกิดความระย่อท้อถอย หรือถึงกับไม่ยอมปฏิบัติ แม้หากปฏิบัติ ก็อาจทำอย่างถูกบังคับ จำใจ ฝืนใจ สักว่าทำ ไม่อาจดำเนินไปด้วยดี

ในทางตรงข้าม ถ้าเห็นคุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งที่เป็นจุดหมายแล้ว เขาย่อมยินดีปฏิบัติ ยิ่งจุดหมายนั้นดีงาม เขาอยากได้มากเท่าใด เขาก็จะยิ่งมีกำลังใจปฏิบัติด้วยความเข้มแข็งมากเท่านั้น เมื่อเขามีฉันทะจริงจังแล้ว แม้ว่าการปฏิบัติจะยากลำบากเท่าใดก็ตาม เขาก็จะพยายามสู้ทำให้สำเร็จ

การที่พระพุทธเจ้าตรัสนิโรธไว้ก่อนหน้ามรรค ก็เพราะเหตุผลข้อนี้ด้วย คือ ให้ผู้ฟังมีความหวัง และเห็นคุณค่าของนิโรธที่เป็นจุดหมายนั้นก่อน จนเกิดความสนใจกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้วิธีปฏิบัติ และพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติต่อไป เมื่อพระองค์ตรัสแสดงนิโรธ ให้เห็นว่าเป็นภาวะควรบรรลุถึงอย่างแท้จริงแล้ว ผู้ฟังก็ตั้งใจที่จะรับฟังมรรค ด้วยใจมุ่งมั่นที่จะเอาไปใช้เป็นข้อปฏิบัติ และทั้งมีกำลังใจเข้มแข็ง พร้อมที่จะลงมือปฏิบัติตามมรรค และยินดีที่จะเผชิญกับความยากลำบากในการปฏิบัติตามมรรคนั้นต่อไป

เมื่อมองหาเหตุแห่งทุกข์ มนุษย์ชอบมองออกไปหาที่ซัดทอดภายนอก หรือมองให้ไกลจากความรับผิดชอบของตนเท่าที่จะเป็นไปได้ ฉันใด เมื่อจะแก้ไขทุกข์ มนุษย์ก็ชอบมองออกไปข้างนอก หาที่ปกป้องคุ้มครองให้ตนพ้นภาระ หรือให้มาช่วยทำการแก้ไขทุกข์แทนให้ ฉันนั้น

ว่าโดยลักษณะ การกระทำทั้งสองนั้นก็คล้ายคลึงกัน คือ เป็นการหลบหน้าความจริง ไม่กล้ามองทุกข์ และเลี่ยงหนีการเผชิญความรับผิดชอบ เหมือนคนหนีภัยด้วยความขลาดกลัว หาที่พอปิดตาซุกหน้าไม่ให้เห็นภัยนั้น นึกเอาเหมือนว่าได้พ้นภัย ทั้งที่ทั้งร่างทั้งตัวถูกปล่อยทิ้งไว้ในภยันตราย

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2021, 05:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


ท่าทีเช่นนี้ ทำให้เกิดนิสัยหวังพึ่งปัจจัยภายนอก เช่น การอ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบนบานเซ่นสรวงสังเวย การรอคอยการดลบันดาลของเทพเจ้า หรือนอนคอยโชคชะตา พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งที่หวังพึ่งเช่นนั้น หรือการปล่อยตัวตามโชคชะตาเช่นนั้น ไม่เป็นทางแห่งความมั่นคงปลอดภัย ไม่นำไปสู่ความพ้นทุกข์แท้จริง

วิธีแก้ไขทุกข์ที่ถูกต้อง คือ มีความมั่นใจในคุณพระรัตนตรัย ทำใจให้สงบและเข้มแข็ง แล้วใช้ปัญญา มองดูปัญหาอย่างมีใจเป็นกลาง ให้เห็นตามสภาวะของมัน และพิจารณาแก้ไขปัญหานั้นที่เหตุปัจจัย

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อมีศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็คิดที่จะดำเนินวิธีแก้ไขปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ ประการ คือ กำหนดทุกข์ สืบสาวหาสาเหตุแห่งทุกข์ เล็งรู้ภาวะดับทุกข์ที่จะพึงบรรลุ แล้วปฏิบัติตามวิธีแก้ไขที่ตรงเหตุ ซึ่งพอดีที่จะให้บรรลุจุดหมาย เรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ การปฏิบัติเช่นนี้ จึงจะเป็นทางพ้นทุกข์ที่แท้จริง

ทั้งนี้ สมดังพุทธพจน์ว่า

“มนุษย์มากหลาย ถูกภัยคุกคามแล้ว พากันหาสิ่งต่างๆ มากมาย เป็นที่พึ่ง ยึดเอาภูเขาบ้าง ป่าบ้าง สวนและต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์บ้าง เป็นสรณะ แต่สิ่งเหล่านั้น ไม่เป็นที่พึ่งอันเกษม นั่นไม่ใช่สรณะอันอุดม คนยึดเอาสรณะอย่างนั้น จะพ้นไปจากสรรพทุกข์หาได้ไม่

“ส่วนผู้ใด ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ มองเห็นด้วยปัญญาโดยถ่องแท้ ซึ่งอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิดขึ้น ความก้าวล่วงทุกข์ และอริยมรรคามีองค์ ๘ อันให้ถึงความสงบระงับทุกข์ นี่แหละ คือสรณะอันเกษม นี้คือสรณะอันอุดม คนถึงสรณะอย่างนี้แล้ว ย่อมปลอดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง”

พระพุทธเจ้า เป็นที่ระลึกให้มั่นใจว่า มนุษย์ คือเราทุกคนนี้ มีสติปัญญาความสามารถที่อาจฝึกปรือหรือพัฒนาให้บริบูรณ์ได้ สามารถหยั่งรู้สัจธรรม บรรลุความหลุดพ้นเป็นอิสระไร้ทุกข์ ลอยเหนือโลกธรรม และมีความดีสูงเลิศ ที่แม้แต่เทพเจ้าและพรหมก็เคารพบูชา ดังมีพระบรมศาสดาเป็นองค์นำ

มนุษย์ทั้งหลาย ที่หวังพึ่งเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้น ถ้ารู้จักฝึกอบรมตนให้ดีแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่เทวะและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นจะทำให้ได้ เหมือนดังที่กรรมดีและจิตปัญญาที่พัฒนาดีแล้วของมนุษย์เองจะสามารถทำ

พระธรรม เป็นที่ระลึกให้มั่นใจว่า ความจริง หรือสัจธรรม เป็นภาวะที่ดำรงอยู่โดยธรรมดา สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามเหตุปัจจัย ถ้ารู้จักมองดูรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะที่มันเป็นจริง นำความรู้ธรรม คือความจริงนั้นมาใช้ประโยชน์ ปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายด้วยความรู้เท่าทันสภาวะ และกระทำการที่เหตุปัจจัย ก็จะแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุด เข้าถึงธรรม และมีชีวิตที่ดีที่สุด

พระสงฆ์ เป็นที่ระลึกให้มั่นใจว่า สังคมดีงาม มีธรรมเป็นฐาน ประกอบด้วยสมาชิกผู้มีจิตใจไร้หรือห่างทุกข์ เป็นอิสระเสรี แม้มีพัฒนาการแห่งจิตปัญญาในระดับแตกต่างกัน แต่ก็อยู่ร่วมกันด้วยดี มีความสมเสมอกันโดยธรรม มีความสามัคคี รวมกัน ร่วมกัน และเกื้อกูลหนุนเสริมกันและกัน ให้ก้าวไปในมรรคาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณนั้น มนุษย์ทุกคนมีส่วนร่วมอยู่ร่วมสร้างสังคมเช่นนี้ได้ ด้วยการรู้ธรรมและปฏิบัติตามธรรม

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ค. 2021, 05:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าไม่มีความมั่นใจในพระรัตนตรัย ก็ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก เช่น เซ่นสรวงอ้อนวอนสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนบานเทพเจ้า เป็นต้นต่อไป แต่ถ้ามั่นใจในพระรัตนตรัยแล้ว ก็เรียนรู้หลักการดับทุกข์แก้ปัญหาด้วยปัญญารู้เหตุปัจจัยตามหลักอริยสัจ และปฏิบัติตามวิธีการพัฒนาตัวคนของมรรคในพระพุทธศาสนา

จ) ทางของอารยชนกว้างและสว่าง ทั้งพึ่งตนได้ และคนทั้งหลายก็ช่วยหนุนกัน

บุคคลที่มีศรัทธาแน่วแน่ มั่นใจในพระรัตนตรัยโดยสมบูรณ์ เสียงชักจูงภายนอก หรือแม้แต่ความผันผวนปรวนแปรในชีวิต ที่เรียกว่าโลกขธรรม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าโชคเคราะห์ทั้งหลาย ไม่อาจทำให้หวั่นไหวคลอนแคลนได้

จิตใจของเขาเป็นเหมือนคนมีสุขภาพดี แข็งแรง ช่วยตัวเองได้ตลอดเวลา ไม่ต้องหวังพึ่งอำนาจดลบันดาลจากภายนอก เขาหวังผลจากกรรม คือการกระทำด้วยความเพียรพยายามตามเหตุปัจจัย ทั้งมีปัญญาเจริญถึงขั้นรู้เข้าใจหลักการแก้ไขปัญหาดับทุกข์ตามแนวทางแห่งสัจธรรมที่เรียกว่า ๔ ประการอย่างชัดเจน และดำเนินวิธีแก้ไขปัญหาดับทุกข์นั้น ตามมรรคาที่เรียกว่าอารยอัษฎางคิกมรรคเดินหน้าแน่วไป

บุคคลเช่นนี้ ท่านเรียกว่า เป็นผู้เข้าสู่กระแสแห่งทางดับทุกข์ ไปสู่ความเป็นอิสระเสรีที่แท้จริง เริ่มเข้าสังกัดในสังคมแห่งอารยชน เป็นคนมีการศึกษา เรียกว่า อริยบุคคลขั้นที่หนึ่ง มีชื่อเฉพาะว่า โสดาบัน

ส่วนคนทั้งหลายนอกจากนั้น ผู้ยังว่ายวน หมุนเวียนอยู่ใต้กระแสครอบงำของโลกธรรม หวั่นไหวไปตามโชคเคราะห์ มีศรัทธาที่ยังง่อนแง่น ไม่มั่นใจตนเองบนฐานแห่งคุณพระรัตนตรัย จิตใจเหมือนคนที่มักเจ็บไข้ออดแอด ช่วยตัวเองไม่ค่อยได้ ต้องคอยอาศัยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา

คนเช่นนี้ อย่างเก่ง ยามดี ก็เข้มแข็ง แต่พอถูกมรสุมชีวิตอย่างแรง ก็ทรงตัวอยู่ไม่ไหว ต้องเลือกระหว่างการทนทุกข์ทรมานแสนสาหัส หรือหันไปหากามสุขที่แรงขึ้น มีสิ่งมึนเมาเสพติด เป็นต้น หรือยอมพึ่งพาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขออำนาจดลบันดาลบ้าง หวังผลจากมงคลบ้าง จากโชคชะตาบ้าง พอกลบเกลื่อนชดเชยปลุกปลอบกันไป ด้วยไม่รู้ทางออกที่ถูกต้อง ยังไม่มองดูรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันตามสภาวะและตามเหตุปัจจัย ทำใจให้ลอยพ้นกระแสโลกไม่ได้

ในการดำเนินชีวิต คนในระดับการพัฒนาขั้นนี้ ก็จะเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง ถ้าไม่อยู่ข้างมัวเมากามสุข เห็นแก่จะเสพบำรุงบำเรอตน ก็เฉียดไปข้างเข้มงวดบีบรัดตนเองด้วยระบบหรือแบบแผนวิธีที่ถือมั่นเอาไว้โดยงมงาย ไม่ดำเนินตรงไปในมัชฌิมาปฏิปทา

คนเหล่านี้มีชื่อเรียกว่าเป็นปุถุชน ถ้าเป็นคนห่างไกลอารยธรรม มืดบอดเสียทีเดียว ไม่รู้จักดีชั่ว ดำเนินชีวิตโดยสักว่าตัณหาพาไป ไม่ใช้ความคิดไม่ใช้ปัญญา พร้อมที่จะเบียดเบียนไม่ว่าใครๆ เพื่อเห็นแก่ตน ก็เรียกว่า อันธพาลปุถุชน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2021, 04:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


แต่ถ้าเป็นผู้รู้จักอารยธรรม ได้แว่วเสียงกู่เรียกของอริยชนแล้ว เริ่มดำเนินชีวิตดีงาม มีศีลธรรม ประกอบด้วยกรรมบถ ๑๐ หรืออย่างน้อยดำรงอยู่ในสาระแห่งศีล ๕ ก็ได้ชื่อว่าเป็น กัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนที่ดีงาม หรือเป็น สุตวันต์อริยสาวก คือผู้สดับศาสน์แห่งอารยชน ตั้งต้นที่จะเดินเข้ามาใกล้อริยมรรคา

ข้อปฏิบัติเพื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์ หรือวิธีแก้ไขปัญหานี้ เรียกชื่อว่า มรรค เพราะเป็นเหมือนหนทางที่นำไปสู่จุดหมาย ชื่อว่า มีองค์ ๘ เพราะเป็นทางสายเดียว แต่มีส่วนประกอบ ๘ อย่าง

การเดินทางสู่จุดหมายจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยองค์ประกอบทั้ง ๘ อย่างนั้น ทำหน้าที่คอยเสริมกัน และประสานสอดคล้องพอเหมาะพอดี

ความพอเหมาะพอดี และตรงสู่เป้าหมายนี้ อาศัยปัญญาที่เห็นชอบ หรือรู้เข้าใจถูกต้อง ช่วยส่องช่วยชี้นำให้ มรรคนั้นจึงมี สัมมาทิฏฐิ เป็นองค์ประกอบข้อแรก

ในฐานะเป็นข้อปฏิบัติพอเหมาะพอดีที่จะให้แล่นตรงสู่เป้าหมาย มรรคนี้จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง ซึ่งสังเกตง่ายๆ ด้วยลักษณะที่ไม่เอียงเข้าหาที่สุดทั้งสอง คือ มิใช่เห็นแก่จะแสวงหาสิ่งเสพมาบำรุงบำเรอปรนเปรอตน มัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกามสุข โดยไม่คำนึงถึงใครอื่น และมิใช่หันเหไปสุดทางตรงข้าม มุ่งหน้าทำการบีบรัดเข้มงวดเอากับตนเอง หาทุกข์มาทับถมตัว เหมือนดังว่าเบื่อหน่ายเกลียดชังตัวตน

การปฏิบัติตามมรรคนั้น จะเริ่มต้นได้ และจะดำเนินต่อไปด้วยดี ต้องอาศัยปัจจัย ๒ อย่างเป็นเชื้อชนวน และเป็นเครื่องหล่อสนับสนุน เรียกว่า ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ ๒ ประการ

อย่างแรก เป็นปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยทางสังคม ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดี คือ เสียง หรือการชักนำ แรงกระตุ้นเร้า และอิทธิพลจากผู้อื่น โดยเฉพาะที่เรียกว่า กัลยาณมิตร เช่น พ่อแม่ ครู อาจารย์ พระภิกษุสงฆ์ คนมีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จด้วยความดี และบุคคลอื่นๆ ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นแบบอย่างที่ดีงาม น่าเลื่อมใส ทั้งที่ใกล้และไกล ซึ่งจะช่วยอบรมสั่งสอน และแนะนำ ให้คำปรึกษาหารือ หรือเร้าจิตจูงใจให้ใฝ่นิยมในสิ่งดีงาม และให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ด้วยอาศัยศรัทธา คือความเชื่อ ความเชิดชูนิยมนับถือ เป็นสื่อชักนำ ตลอดจนช่วยกระตุ้นชี้แนะ ให้รู้จักคิดรู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริงด้วยตนเอง

อย่างที่สอง เป็นปัจจัยภายใน หรือองค์ประกอบในตัวบุคคล ได้แก่ โยนิโสมนสิการ คือ การทำในใจโดยแยบคาย หรือความฉลาดคิด คิดเป็น คิดถูกวิธี รู้จักคิด รู้จักพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้ตรงตามสภาวะและตามเหตุปัจจัยของมัน

เมื่อมีปัจจัย ๒ อย่างนี้ช่วยปลุกเร้าและส่งเสริมสัมมาทิฏฐิ ก็มั่นใจได้มากว่า การปฏิบัติธรรม หรือการดำเนินชีวิต จะอยู่ในแนวทางที่ถูกต้อง กุศลธรรมทั้งหลาย ที่เป็นองค์มรรคข้ออื่นๆ ก็จะเจริญงอกงามไปกับปัญญาด้วย เป็นไปเพื่อประโยชน์สุข ทั้งแก่ตนเอง และผู้อื่น พร้อมทั้งเดินหน้าไปสู่จุดหมายของพุทธศาสนา

โดยนัยนี้ ศรัทธาที่มั่นคงในพระรัตนตรัย ความรู้ในอริยสัจ และการปฏิบัติตามมัชฌิมาปฏิปทา คือ มรรคามีองค์ ๘ นี้ จึงเป็นเครื่องป้องกัน หรืออย่างน้อยก็บรรเทาการดำเนินชีวิต การปฏิบัติต่อความทุกข์ และการแก้ไขปัญหาในทางที่ผิดทุกอย่างทุกด้าน

ทั้งนี้ ไม่ว่าทางผิดนั้นจะมีมาในรูปแบบใดๆ เช่น ในรูปของการลืมสติหลงฟั่นเฟือนปล่อยตัวปล่อยใจให้เลื่อนลอยไหลไปตามอำนาจของความทุกข์ความคับแค้นโศกเศร้าบ้าง การหลอกตัวเองให้ลืมทุกข์ด้วยการกดตัวให้จมลึกลงไปในกามสุขมากยิ่งขึ้นบ้าง การหันไปหวังพึ่งอำนาจเร้นลับภายนอก อ้อนวอนสิ่งดลบันดาล หรือรอคอยโชคชะตาบ้าง การประกอบทุจริตต่างๆ บ้าง การหันออกไปรุกรานระบายทุกข์แก่ผู้อื่น เที่ยวเบียดเบียนก่อความเดือดร้อนแก่คนทั้งหลายบ้าง การเคียดแค้นชิงชังเบื่อตัว หันกลับเข้ามาบีบคั้นทรมานลงโทษตนเองบ้าง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2021, 04:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


มรรค ซึ่งหนุนด้วยศรัทธาที่ถูกต้องนี้ ทำให้ดำรงอยู่ในสุจริต ประพฤติการที่เกื้อกูล เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ทำให้เผชิญสถานการณ์ต่างๆ ด้วยความเข้มแข็งมั่นคง มีใจสงบ ดำเนินชีวิต แก้ไขปัญหา ดับทุกข์ได้ ด้วยความมีสติ ใช้ปัญญา และเพียรพยายามจัดการไปตามวิถีทางแห่งเหตุปัจจัย

แม้อย่างอ่อนแอที่สุด เมื่อไม่อาจช่วยตนเองได้ลำพัง ก็รู้จักเลือกหากัลยาณมิตร ที่จะช่วยปลุกเร้าใจให้กล้าหาญในกุศลธรรม และที่จะช่วยชี้แนะให้เกิดปัญญามองเห็นเหตุปัจจัย เพื่อแก้ไขได้โดยถูกทาง

กิจหรือหน้าที่ต่อมรรค ได้แก่ ภาวนา คือ การพัฒนา ฝึกปรือ ทำให้เป็นให้มี ปฏิบัติ หรือลงมือทำ แต่การเรียกมรรค ว่าเป็นข้อปฏิบัติ หรือเป็นการปฏิบัติธรรม บางครั้ง ก็ทำให้เข้าใจความหมายของมรรคแคบเกินไป ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นความเข้าใจผิดอย่างหนึ่ง

ความจริงนั้น มรรคมีความหมายครอบคลุมธรรมภาคปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ครอบคลุมคำว่าจริยธรรม หรือเป็นระบบจริยธรรมทั้งหมด ครอบคลุมการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องดีงามทั้งหมด ดังชื่อที่ใช้เรียกมรรคอย่างหนึ่งว่า พรหมจริยะ หรือ พรหมจรรย์ ซึ่งแปลได้ว่า การครองชีวิตประเสริฐ หรือชีวิตประเสริฐนั่นเอง

องค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรค สามารถนำไปแยกแยะกระจายเนื้อหาออกและจัดรูปร่างระบบใหม่ โดยมีจุดเน้นจุดย้ำต่างแห่งต่างที่กัน ให้สอดคล้องเหมาะสมกับการดำเนินชีวิต และการปฏิบัติธรรมระดับนั้นๆ ดังตัวอย่างที่เห็นง่ายๆ เช่นว่า

- จัดให้เหมาะสำหรับประชาชนทั่วไป โดยเน้นความประพฤติที่แสดงออกภายนอกมากกว่าเรื่องทางจิตใจ ชุดหนึ่งเรียกว่า กุศลกรรมบถ ๑๐

- จัดแสดงตามแนวการปฏิบัติชนิดที่มุ่งตรงเข้าสู่จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา โดยเน้นหลักธรรมระดับวิปัสสนาปัญญา ชุดหนึ่งเรียกว่า วิสุทธิ ๗ อย่างนี้เป็นต้น

ฉ) เมื่อพระรัตนตรัย พาเข้าและคืบไปในไตรสิกขา มรรคก็พัฒนาสู่จุดหมาย

ในบรรดาหมวดธรรม ชุดธรรม หรือระบบการปฏิบัติที่จัดรูปออกมาจากองค์มรรคทั้งหมดนั้น หมวดธรรม หรือระบบปฏิบัติที่ถือได้ว่าเป็นระบบกลาง หรือเป็นพื้นฐาน กว้างขวางครอบคลุม และใช้เป็นมาตรฐานของการปฏิบัติมากที่สุด ก็คือ ระบบที่เรียกว่า สิกขา ๓ หรือ ไตรสิกขา ซึ่งแปลง่ายๆ ก็คือ การศึกษา ๓ ส่วน

แม้ว่าไตรสิกขาจะจัดรูปออกมาจากมรรค แต่ความสำคัญของไตรสิกขานั้น เข้าคู่เทียบเท่ากับมรรคเลยทีเดียว ดังจะเห็นว่า มรรค เป็นทางดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือระบบการดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือจะให้ตรงกว่านั้นว่า เป็นเนื้อหาของการดำเนินชีวิตที่ดีงาม ส่วนไตรสิกขา เป็นระบบการศึกษา หรือระบบการฝึกฝนอบรมพัฒนาคนให้มีชีวิตที่ดีงาม หรือให้มีการดำเนินชีวิตที่ดีงามนั้น

หลักทั้ง ๒ นี้ เนื่องอยู่ด้วยกัน เพราะเมื่อมีการศึกษา มีการฝึกฝนอบรมพัฒนา ก็เกิดเป็นการดำเนินชีวิตที่ดี หรือการดำเนินชีวิตที่ดีก็เกิดมีขึ้น ดังนั้น เมื่อฝึกด้วยไตรสิกขา มรรคก็เกิดมีขึ้น หรือว่า เมื่อคนฝึกตนด้วยไตรสิกขา ชีวิตของเขาก็พัฒนาไปในมรรค เท่ากับพูดว่า การฝึกไตรสิกขา ก็เพื่อให้มรรคเกิดขึ้น

แท้จริงนั้น เนื้อหาสาระของมรรคและไตรสิกขา ก็อันเดียวกันนั่นเอง ฝึกอันใด ก็ได้อันนั้น หรือฝึกสิ่งใด สิ่งนั้นก็เจริญงอกงามขึ้น และการฝึกหรือการศึกษานั้น ก็ไม่แยกจากการดำเนินชีวิต แต่เนื่องอยู่ด้วยกันกับการดำเนินชีวิต การศึกษาเป็นการพัฒนาชีวิต หรือที่แท้ ชีวิตที่ดี ก็คือชีวิตที่ศึกษานั่นเอง

เมื่อมั่นใจในพระรัตนตรัย ไม่มัวลังเลพะวักพะวนอยู่กับการหวังพึ่งปัจจัยภายนอกทั้งหลายแล้ว ด้วยศรัทธาที่เข้าทาง เป็นสัมมาทิฏฐินี้ ใจก็มุ่งมาอยู่กับการเรียนรู้หลักการดับทุกข์แก้ปัญหาด้วยปัญญารู้เหตุปัจจัยตามหลักอริยสัจ แล้วก็ปฏิบัติตามวิธีพัฒนาตัวคนที่เป็นมรรค นี่ก็คือเข้าสู่ไตรสิกขา

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2021, 04:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


พอเริ่มต้น ตั้งตัวได้แล้ว ศรัทธาในพระรัตนตรัยนี้ ก็หนุนนำให้เดินหน้าก้าวไปในไตรลักษณ์ พัฒนาองค์มรรคให้เจริญงอกงามขึ้นไปๆ จนลุถึงจุดหมาย

สิกขา ๓ หรือที่นิยมเรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่ และ ซึ่งมักเรียกกันให้ง่ายๆ สะดวกๆ ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

๑. อธิศีลสิกขา คือ การฝึกความประพฤติสุจริตทางกาย วาจา และอาชีวะ ได้แก่ รวมองค์มรรคข้อ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอชีวะ ว่าโดยสาระ ก็คือ การดำรงตนด้วยดีในสังคม รักษาระเบียบวินัย ปฏิบัติหน้าที่และความรับผิดชอบทางสังคมให้ถูกต้อง รู้จักปฏิบัติต่อสิ่งแวดล้อม หรือต่อโลก ในทางที่เกื้อกูล มีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีงามเป็นคุณเป็นประโยชน์ มีวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะทางสังคม ให้อยู่ในภาวะเอื้ออำนวยแก่การที่ทุกๆ คนจะสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม หรือปฏิบัติตามมรรคกันได้ด้วยดี

ศีลเป็นสิกขาขั้นต้นที่สุด จึงมีขอบเขตกว้างขวางมาก แบ่งได้เป็นหลายระดับ ครอบคลุมถึงการแสดงออก และการบังคับควบคุมตนด้านภายนอกทั้งหมด ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทั้งทางสังคมและธรรมชาติ เกณฑ์อย่างต่ำสุดของศีล คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น (เช่นเดียวกับไม่เบียดเบียนตนเองด้วย) ไม่ทำลายสภาพแวดล้อมทางสังคม ที่เกื้อกูลแก่ชีวิตที่ดีงาม หรือเกื้อกูลแก่มรรคนั้น

ต่อจากนั้น ได้แก่การฝึกฝนทางวินัยเพื่อความดีงามยิ่งขึ้นไป ถ้าสามารถกว่านั้น ก็ก้าวไปถึงการทำการต่างๆ ที่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ช่วยสร้างเสริมจัดสรรสภาพแวดล้อม ในทางที่จะปิดกั้นโอกาสแห่งความชั่วร้าย เพิ่มพูนโอกาสแห่งการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติกิจเพื่อความดีงามหรือคุณค่าที่ยิ่งๆ ขึ้นไป

๒. อธิจิตตสิกขา คือ การฝึกปรือในด้านคุณภาพและสมรรถภาพของจิต ได้แก่ รวมเอาองค์มรรคข้อ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ เข้ามา ว่าโดยสาระ ก็คือ การฝึกให้มีจิตใจเข้มแข็ง มั่นคง แน่วแน่ ควบคุมตนได้ดี มีสมาธิ มีกำลังใจสูง ให้เป็นจิตที่สงบ ผ่องใส เป็นสุข บริสุทธิ์ ปราศจากสิ่งรบกวนหรือทำให้เศร้าหมอง อยู่ในสภาพเหมาะแก่การใช้งานมากที่สุด โดยเฉพาะการใช้ปัญญาอย่างลึกซึ้ง และตรงตามเป็นจริง

๓. อธิปัญญาสิกขา คือ การฝึกปรือพัฒนาปัญญา ให้เกิดความรู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จนถึงความหลุดพ้น มีจิตใจเป็นอิสระ ผ่องใส เบิกบานโดยสมบูรณ์ ได้แก่ รวมองค์มรรค ๒ ข้อแรก คือสัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ โดยสาระ ก็คือ การฝึกอบรมพัฒนาให้เกิดปัญญาบริสุทธิ์ ที่รู้แจ้งชัดตรงตามสภาวะ ไม่เป็นความรู้ความคิดความเข้าใจที่ถูกบิดเบือน เคลือบคลุม ย้อมสี อำพราง หรือพร่ามัว เป็นต้น ด้วยอิทธิพลของกิเลส มีอวิชชาและตัณหาเป็นผู้นำ ที่ครอบงำจิตอยู่

การฝึกปัญญาเช่นนี้ ต้องอาศัยการฝึกจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นพื้นฐาน แต่ในเวลาเดียวกัน เมื่อปัญญาที่บริสุทธิ์รู้เห็นตามเป็นจริงนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็กลับช่วยให้จิตนั้นสงบ มั่นคง บริสุทธิ์ ผ่องใสอย่างแน่นอนยิ่งขึ้น เฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้จิตใจเป็นอิสระ และส่งผลออกไปในการดำเนินชีวิต ทำให้วางใจ วางท่าที มีความสัมพันธ์กับสิ่งทั้งหลายอย่างถูกต้อง และใช้ปัญญาที่บริสุทธิ์ ไม่เอนเอียง ไม่มีกิเลสแอบแฝงนั้น คิดพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำกิจทั้งหลายอย่างถูกตรง ในทางที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขอย่างแท้จริง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2021, 04:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8580


 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าพูดตามภาษาของวิชาการสมัยใหม่ ตามหลักวิชาการศึกษาสายตะวันตก อธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และ อธิปัญญา ก็ครอบคลุมการทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคม ทางอารมณ์ และทางปัญญา ตามลำดับ เป็นแต่จะแตกต่างกันโดยขอบเขตของความหมาย และสิกขา ๓ มีจุดหมายที่ชัดเจนจำเพาะตามแนวของพุทธธรรม

อย่างไรก็ตาม อย่างน้อยในขั้นเบื้องต้น จะเห็นชัดว่า ความหมายไปกันได้ดี คือ พูดได้ตรงกันในขั้นพื้นฐานว่า จะต้องฝึกคนให้มีวินัย (รวมถึงความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคม) ให้งอกงามทางอารมณ์ (ทางพระว่าให้จิตใจเข้มแข็งประณีต มีคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพดี) และให้งอกงามทางพุทธิปัญญา

สิกขา ๓ นี้ เนื่องกัน และช่วยเสริมกัน ซึ่งตามหลักพัฒนาการอย่างสมัยใหม่ ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ เช่น ความรู้เหตุผล ย่อมช่วยความเจริญทางอารมณ์ และช่วยเสริมการปฏิบัติตามวินัย ตลอดถึงความรับผิดชอบ และความสัมพันธ์ในทางสังคม ดังนั้น การฝึกฝนอบรมในสิกขา ๓ หรือการให้เกิดพัฒนาการทั้งสามอย่าง จึงต้องดำเนินคู่เคียงกันไป

มิใช่แค่นั้น ถ้าดูให้ชัด ในพุทธศาสนา มีพัฒนาการทางกาย เรียกว่า “กายภาวนา” อยู่ในหลัก ภาวนา ๔ (เป็นบุคคลเรียก ภาวิต ๔) คือการพัฒนา ๔ ด้าน แต่ความหมายต่างกัน โดยในพุทธศาสนา หมายถึงการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ให้เกิดผลในทางที่เกื้อกูล ไม่ใช่หมายถึงพัฒนาตัวร่างกาย และกายภาวนานี้ใช้ในการวัดผล ส่วนในภาคปฏิบัติการของการฝึก การพัฒนากายนั้น จัดรวมไว้ในอธิศีลสิกขานั่นเอง

รวมความว่า ไตรสิกขาเป็นระบบการฝึกอบรมตามขั้นตอน จากภายนอก เข้าไปหาภายใน จากส่วนที่หยาบ เข้าไปหาส่วนที่ละเอียด และจากส่วนที่ง่ายกว่า เข้าไปหาส่วนที่ยากและลึกซึ้งกว่า

เมื่อแรกเริ่ม การฝึกอาศัยความเห็นชอบ หรือความรู้ความเข้าใจถูกต้อง ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เป็นเชื้อหรือเป็นเค้าให้เพียงเล็กน้อย พอให้รู้ว่าตัวจะไปไหน ทางอยู่ที่ไหน จะตั้งต้นที่ไหนเท่านั้น

การเข้าใจปัญหาและการมองโลกและชีวิตตามความเป็นจริงนั่นแหละ คือจุดเริ่มต้นที่ถูกต้อง และคือความหมายพื้นฐานของสัมมาทิฏฐิ

ส่วนในระหว่างการฝึก การฝึกส่วนหยาบภายนอกในขั้นศีล ช่วยเป็นฐานให้แก่การฝึกส่วนละเอียดภายใน ทำให้พร้อมและสะดวกที่จะฝึกในขั้นจิตและปัญญาให้ได้ผลดียิ่งขึ้น

เมื่อฝึกขั้นละเอียดภายใน คือ ขั้นจิตและปัญญา ผลก็ส่งกลับออกมาช่วยการดำเนินชีวิตด้านนอก เช่น ทำให้มีความประพฤติสุจริตมั่นคง มีศีลที่เป็นไปโดยปกติธรรมดาของตนเอง ไม่ต้องฝืนใจหรือตั้งใจคอยควบคุมรักษา คิดแก้ปัญหาและทำกิจต่างๆ ด้วยปัญญาบริสุทธิ์ เป็นต้น โดยนัยที่กล่าวแล้ว

เมื่อฝึกตลอดระบบของสิกขาแล้ว ระบบการดำเนินชีวิตทั้งหมด ก็กลายเป็นระบบของมรรค สอดคล้องกันหมดทั้งภายนอกและภายใน

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร