วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 20:33  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 05:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


เรียนรู้ให้ชัด วิธีปฏิบัติต่อความสุข

ความเท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น สอดคล้องกับหลักการทั่วไปเกี่ยวกับความสุข ตามคำสอนของพระพุทธศาสนา หลักการทั่วไป หรือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาสำหรับปฏิบัติต่อความสุข มี ๓ หัวข้อ ดังพุทธพจน์ว่า

ภิกษุทั้งหลาย ความพยายามจะมีผล ความเพียรจะมีผลได้อย่างไร? ภิกษุในธรรมวินัยนี้

(๑) ไม่เอาทุกข์ทับถมตน ที่ไม่มีทุกข์ทับถม
(๒) ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม
(๓) ไม่หมกมุ่นสยบในความสุข (แม้ที่ชอบธรรม) นั้น”

แต่หลักการใหญ่นั้น ไม่ได้จบแค่ ๓ ข้อนี้ พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปถึงตอนสำคัญ ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้เป็นข้อที่ ๔ ว่า พึงเพียรพยายามกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป ข้อนี้เป็นเกณฑ์ตัดสินสุดท้าย ที่จะให้ถึงจุดหมาย เพราะจะบรรลุธรรมสูงสุด สิ้นทุกข์สุขสมบูรณ์ ก็ต้องกำจัดเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้น

พร้อมกันนั้น การทำความเพียรเพื่อกำจัดเหตุแห่งทุกข์นี้ เมื่อว่าตามหลักของการปฏิบัติตามลำดับ ก็พูดได้อีกสำนวนหนึ่งว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงความสุขที่สูงขึ้นไป จนถึงสุขสูงสุดที่เป็นภาวะอันไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง

ดังนั้น จึงสรุปหลักที่ตรัสซึ่งจัดได้เป็น วิธีปฏิบัติต่อความสุข ๔ ข้อ ดังนี้

๑. ไม่เอาทุกข์ทับถมตนที่ไม่เป็นทุกข์
๒. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม
๓. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้น ก็ไม่หมกมุ่นสยบ
๔. เพียรทำเหตุแห่งทุกข์ให้หมดสิ้นไป
(โดยนัยว่า เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่สูงขึ้นไปจนสูงสุด)
นี้เป็นหลักเกณฑ์มาตรฐาน ที่ชาวพุทธจะพึงใช้ปฏิบัติ ในการเกี่ยวข้องกับความสุข

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 05:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


อย่างไรก็ตาม แม้จะมีหลักการที่เป็นแกนกลางให้อย่างนี้ แต่ความละเอียดอ่อน ความกว้างขวางลึกซึ้งแห่งความเข้าใจเกี่ยวกับความสุข ก็ยังแตกต่างกันไป และเป็นข้อที่พึงนำมาพิจารณาประกอบด้วย เช่น ผู้ที่เห็นโทษของกามสุข เบื่อหน่ายกามสุขแล้ว และด้วยมุ่งหวังความสุขที่ประณีตขึ้นไป จึงบำเพ็ญข้อปฏิบัติบางอย่าง ซึ่งบางตอนมีลักษณะยากลำบาก ผู้ยังข้องอยู่ในกามสุขอาจจะมองการกระทำของเขาว่าเป็นการหาทุกข์มาใส่ตัวก็ได้

ในกรณีเช่นนี้ เมื่อผู้ปฏิบัตินั้นมีความพร้อมอยู่แล้ว เบื่อหน่ายกามสุขอยู่แล้ว ซึ่งการอยู่ในกามสุขกลับกลายเป็นความทุกข์สำหรับเขาก็ดี หรือแม้ยังไม่พร้อมดีนัก แต่มองเห็นโทษของกาม เห็นคุณของความสุขที่ประณีตกว่า ซึ่งเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาการเสพ ไม่ต้องขึ้นต่อวัตถุเป็นต้นภายนอก และมีความหวังว่าจะได้สุขที่ประณีตนั้นก็ดี ข้อปฏิบัติที่ยากลำบากนั้น ก็กลายเป็นแบบฝึกหัดสำหรับฝึกตน

ถ้าหากบุคคลนั้นสมัครใจจะฝึก และข้อปฏิบัตินั้นก็ไม่เลยเถิดไปจนกลายเป็นการทรมานตัวเอง ท่านก็ยอมให้ในความหมายที่ว่าเป็นการฝึกนั้นแล

นอกจากนั้น ความเป็นอยู่บางด้านของผู้ประสบสุขอันประณีตแล้ว บางครั้ง เมื่อมองดูในสายตาของคนที่ข้องในกามสุข อาจเห็นเป็นความทุกข์ไปก็ได้ เช่นเดียวกับคนที่อยู่ในความสุขอันประณีต มองเห็นความเป็นอยู่ของคนที่ข้องในกามสุขว่าเป็นความทุกข์ แต่ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในภาวะนั้นเอง ย่อมรู้ตัวว่าตนมีความสุขหรือไม่

เป็นอันว่า ปัญหาที่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นคำสอนที่นิยมสุข หรือนิยมทุกข์ (เป็นสุขนิยม หรือทุกขนิยม) ใฝ่สุขหรือใฝ่ทุกข์ เป็นอันตัดทิ้งไปได้แล้ว เพราะไม่ใช่ทั้งนั้น

ยังเหลือปัญหาแต่เพียงในแง่ความเข้าใจ เกี่ยวกับความหมาย หรือขอบเขตความลึกซึ้งของความสุข ซึ่งก็สรุปลงได้อีก คือ เหลือเพียงการเลือกระหว่าง กามสุข (ความสุขที่พึ่งพาสิ่งเสพข้างนอก) กับสุขที่ประณีตกว่ากามสุข (ความสุขข้างในที่สร้างขึ้นเองได้อย่างเป็นไทแก่ตน) ในแง่นี้ ข้อยุติก็คือ ท่านถือว่า ความสุขประณีตสำคัญกว่า

จึงตกลงว่า ควรมีความสุขประณีต อย่างน้อยก็มีทั้งกามสุขและสุขประณีตด้วย คืออย่างน้อยก็ให้ได้อย่างบุคคลโสดาบัน และสกทาคามี ที่ว่า กามสุขก็ยังเสพไม่ทิ้งไป สุขอิสระข้างในก็ถึงด้วย

หลักการทั่วไปสำหรับการก้าว จากระดับกามสุข ไปสู่สุขที่ประณีตกว่า หรือจากสุขด้วยเสพ ไปสู่สุขอิสระ ก็คือ ความพร้อม และการฝึก และก็มีหลักทั่วไปตามมาอีกข้อหนึ่งว่า บุคคลทุกคนควรมีความสุขอันชอบธรรม ที่เหมาะสมกับระดับชีวิตของตน หรือที่เป็นผลแห่งความเพียรพยายามฝึกฝนตนเอง อย่างน้อยหนึ่งขั้น

หากผู้ใดขาดความสุขที่พึงได้พึงถึง ทั้งสองด้าน เช่น กามสุขก็สูญเสียไปแล้ว ความสุขประณีตก็มิได้ปฏิบัติตัวเพื่อให้ได้ คนนั้นท่านถือว่าเป็นผู้มีชีวิตพลาดที่สุด

โดยนัยนี้ พระภิกษุผู้สละกามสุขไปแล้ว และมิได้ตั้งใจฝึกฝนตนเพื่อความสุขที่ประณีต หรือฝึกไม่สำเร็จ จึงอยู่ในฐานะตกต่ำ เป็นผู้พลาดจากประโยชน์ ยิ่งกว่าชาวบ้านที่เสพกามสุข พูดง่ายๆ ในแง่นี้ ว่า พระไม่ดี เต็มทีกว่าคฤหัสถ์ หรือน่าสงสารกว่าคฤหัสถ์ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรผู้บวชแล้วอย่างนี้ แต่เป็นผู้มีความละโมบ มีราคะแรงกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจที่แรงร้าย มีสติเลอะเลือน ไร้ สัมปชัญญะ ใจไม่มีสมาธิ จิตพล่าน ปล่อย ไม่สำรวม, บุคคลผู้นี้ เรากล่าวว่า มีเหมือนดุ้นฟืนเผาผี ที่ไฟไหม้ปลายเสียแล้วทั้งสองข้าง อีกตรงกลางก็เปื้อนคูถ จะใช้ประโยชน์เป็นเครื่องไม้ในบ้าน ก็ไม่ได้ผล เป็นเครื่องไม้ในป่า ก็ไม่ได้ผล โภคะของคฤหัสถ์ เขาก็เสื่อมไปเสียแล้ว ประโยชน์ที่มุ่งหมายของความเป็นสมณะ เขาก็ทำให้บริบูรณ์ไม่ได้”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มิ.ย. 2021, 05:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


มองความสุขเชิงปฏิบัติ วัดจากการพัฒนาของชาวบ้านขึ้นไป
เมื่อพิจารณาโดยถือกามสุขเป็นหลัก พอจะสรุปแนวทัศนะของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับความสุข ได้ดังนี้

๑. กรณีที่เสวยกามสุข
ก. ขั้นดีเลิศ คือ การเสวยกามสุข พร้อมทั้งรู้จักความสุขอย่างประณีตด้วย ความสุขอย่างประณีตนั้นจะเป็นเครื่องคุ้มครองรักษา และค้ำประกัน ให้การเสวยกามสุขอยู่ในขอบเขตแห่งความดีงาม ให้เสวยกามอย่างมีศีลธรรม ไม่ก่อปัญหาทั้งแก่ตนและคนอื่น แต่สามารถเป็นอยู่อย่างเกื้อกูล ทำให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและสังคม โดยมีลักษณะทั่วไป คือ รู้เท่าทันเห็นโทษ อันได้แก่ช่องเสีย หรือแง่ที่บกพร่องของกามสุขนั้น รู้จักประมาณในการเสพ ไม่หลงใหลมัวเมา เช่น ในทางเพศ ผู้มีครอบครัวก็มีสทารสันโดษ คือความพอใจอิ่มอยู่แค่คู่ครองของตน อยู่ร่วมกันด้วยธรรม เช่น ซื่อตรงจงรักต่อกัน และชักจูงกันให้เจริญก้าวหน้าในความดีงาม และในความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป เช่น คู่อริยสาวกบิดามารดาของนายนกุล เป็นต้น

ข. ขั้นดี คือ การเสวยกามสุขที่มีศีลธรรม แต่ยังห่างเหินจากความสุขอย่างประณีต มีลักษณะคล้ายกับการเสวยกามสุขขั้นดีเลิศนั่นเอง คือ เสวยกามสุขไปตามปกติธรรมดา โดยยอมรับ และรู้เท่าทันความจริงว่า เมื่อมีกาม ก็ต้องมีทุกข์บ้างเป็นคู่กัน มองเห็นแง่เสีย หรือโทษของกามนั้น แล้วดำเนินชีวิตอย่างให้มีทุกข์น้อยที่สุด ให้กามเกิดโทษก่อปัญหาน้อยที่สุด ไม่หมกมุ่น รู้จักประมาณ และพยายามปฏิบัติตนให้เป็นที่เกิดของประโยชน์สุขให้มาก ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น แต่เพราะยังขาดความสุขอย่างประณีตไว้เป็นทางออกและเป็นหลักประกัน จึงยังเสี่ยงต่อการที่จะถูกล่อเร้าให้ถลำลึกลงไปในกามสุข อาจกลับหมกมุ่นสยบได้อีก ไม่มั่นคงปลอดภัยแท้จริง

ค. ขั้นทราม คือ การเสวยกามสุขอย่างหมกมุ่นมัวเมา จิตใจฝักใฝ่หลงใหลครุ่นคิดอยู่แต่ในเรื่องการแสวงหา และปรนเปรอตนด้วยสิ่งเสพต่างๆ มีลักษณะเด่น เช่น ในเรื่องอาหาร และเรื่องทางเพศ ก็มีการกระตุ้นปลุกเร้า ให้มีความตื่นเต้นความเครียดความกระสับกระส่ายร่านรนกระวนกระวาย อย่างเกินเลยกว่าระดับที่เรียกกันว่าเป็นความต้องการตามธรรมชาติ ของการกินอาหาร และการสืบพันธุ์ อาจปรุงแต่งวิธีการและอุปกรณ์ต่างๆ ขึ้นมา เพื่อปลุกเร้าความเครียดกระวนกระวายเช่นนี้ โดยอาศัยความต้องการที่เรียกกันว่าตามธรรมชาตินั้นเป็นเพียงเชื้อสำหรับจุดไฟ แล้วโหมความอยากเร้ารุนหรือร่านรนให้รุนแรงมากกว่าปกติ และให้เป็นไปอยู่บ่อยๆ หรือเนืองนิตย์ แม้กระทั่งถึงขั้นที่เรียกได้ว่าวิปริต

ในสภาพเช่นนั้น การกินอาหารที่มิใช่เพื่อหล่อเลี้ยงกาย และเพศสัมพันธ์ที่มิใช่เพื่อการสืบพันธุ์ จะเป็นไปอย่างโดดเด่น จนถึงขั้นหมดสำนึกต่อจุดหมายเดิม กลายเป็นกิจกรรมเสพเพื่อสนองตัณหาอย่างเดียวล้วน หรือกามเพื่อกามโดยสิ้นเชิง และตามมาด้วยภาวะที่เรียกได้ว่า อยู่เพื่อกาม หรือมีชีวิตอยู่เพื่อกินเสพเท่านั้น

ในระดับสังคม เมื่อสภาพที่เลยจากขั้นปลดปล่อยระบายตามธรรมชาติ กลายเป็นขั้นความเครียดกระวนกระวายที่ปรุงแต่งโดยจงใจเช่นนี้ จนเป็นไปอย่างแพร่หลายเกร่อแล้ว สังคมนั้นจะเป็นเหมือนอยู่ในภาวะสงครามตลอดกาลชนิดหนึ่ง

ตามปกติ ในภาวะสงคราม ย่อมจะมีการปลุกเร้าใจคนให้เกิดความโกรธแค้นเกลียดชัง เกินกว่าระดับความรู้สึกที่จะเป็นไปเองตามธรรมดา จนคนอยาก และพร้อมเต็มที่ ที่จะทำการล้างผลาญเข่นฆ่าทำลายกัน และมีความชื่นชมสมใจในการที่ได้กระทำเช่นนั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร