วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 14:41  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2021, 06:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


คุณค่าและลักษณะพิเศษที่พึงสังเกตเกี่ยวกับนิพพาน

๑. จุดหมายสูงสุดของชีวิต เป็นสิ่งที่อาจบรรลุได้ในชาตินี้

นิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา เป็นภาวะที่มนุษย์สามารถประจักษ์แจ้งได้ใน
ชีวิตปัจจุบันนี้เอง เมื่อเพียรพยายาม ทำตัวให้พร้อมพอ ก็ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า ดังมีคุณลักษณะ
อย่างหนึ่งของนิพพานว่าเป็น “สนฺทิฏฐิกํ” (เห็นชัดได้เอง, ประจักษ์ได้ในชีวิตนี้) และ “อกาลิกํ”
(ไม่จำกัดกาล, ไม่ขึ้นต่อเวลา) และท่านได้แสดงข้อปฏิบัติต่างๆ ไว้ เพื่อให้บรรลุนิพพานได้ใน
ทิฏฐธรรม คือ ในชาตินี้ ในปัจจุบัน ทันเห็น ทันตา จึงมีพุทธพจน์ตรัสยืนยันว่า

“เราย่อมกล่าวดังนี้ว่า: บุรุษผู้เป็น ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นคนตรง จงมาเถิด เราจะสั่งสอน เรา
จะแสดงธรรม เมื่อเขาปฏิบัติตามคำสั่งสอน ก็จักประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งประโยชน์
ยอดเยี่ยม ที่กุลบุตรทั้งหลายผู้ออกจากเรือนบวชเป็นอนาคาริกโดยชอบต้องการ อันเป็นจุดหมาย
ของพรหมจรรย์ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้ทีเดียว (โดยใช้เวลา) เจ็ดปี...หกปี...ห้าปี ฯลฯ หนึ่งเดือน...
กึ่งเดือน...เจ็ดวัน”

๒. นิพพานเป็นจุดหมายที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่จำกัดชาติชั้น หญิงชาย
บุคคลทุกคน เมื่อมีฉันทะ เพียรพยายาม มีความพร้อมแล้ว ก็สามารถบรรลุนิพพานได้ ไม่มีข้อ
จำกัดว่าจะต้องเป็นคนชาติชั้นวรรณะใด มีฐานะอย่างไร ยากจน มั่งมี เป็นหญิง หรือชาย เป็น คฤ
หัสถ์ หรือบรรพชิต มีพุทธภาษิตแห่งหนึ่งว่า

“ทางนั้น ชื่อว่าทางสายตรง ทิศนั้นชื่อว่าทิศไม่มีภัย รถชื่อว่ารถไร้เสียง ประกอบด้วยล้อคือธรรม
มีหิริเป็นฝา มีสติเป็นเกราะกั้น ธรรมรถนั้น เราบอกให้ มีนำหน้าเป็นสารถี บุคคลใดมียานเช่นนี้
จะเป็นสตรีหรือบุรุษก็ตาม เขาย่อมใช้ยานนั้น (ขับไป) ถึงในสำนักแห่งนิพพาน”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2021, 06:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าทรงยินยอมให้สตรีบวชเป็นภิกษุณี ทั้งที่สภาวะทางสังคมไม่อำนวย ก็ด้วยเหตุผลที่ว่า
หญิงบวชในธรรมวินัยแล้ว ก็สามารถประจักษ์แจ้งโลกุตรธรรม ตั้งแต่โสดาปัตติผลถึงอรหัตตผล
ได้เช่นเดียวกับชาย

ครั้งหนึ่ง พระโสมาภิกษุณี เข้าไปนั่งพักอยู่ ณ โคนไม้ต้นหนึ่งในป่า มารประสงค์จะแกล้งหลอก
จึงเข้ามากล่าวคาถาว่า

“สถานะที่ยากนักหนาจะฝ่าไปได้ อันท่านผู้แสวงทั้งหลายจะพึงเข้าถึง สตรีมีปัญญาแค่สองนิ้ว
ไม่ได้พานพบหรอก”

พระเถรีนั้นตอบว่า

“ความเป็นหญิงจะเกี่ยวอะไร ในเมื่อใจตั้งมั่นดี มีญาณเป็นไปอยู่ แก่ผู้เห็นแจ้งธรรมถูกต้อง, ผู้ใด
ยังมีความยึดถืออยู่ว่า เราเป็นหญิง หรือเราเป็นชาย หรือยังมีความรู้สึกค้างใจอยู่ว่าเรามีเรา
เป็น มารจึงควรจะพูดกับเขาผู้นั้น”

ในแง่ของความเป็นชาวบ้าน และชาววัด หรือคฤหัสถ์ กับบรรพชิต ก็มีพุทธพจน์ว่า

“เราไม่สรรเสริญการปฏิบัติผิด ไม่ว่าของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต, คฤหัสถ์ก็ดี บรรพชิตก็ดี ปฏิบัติ
ผิดแล้ว เพราะข้อที่ปฏิบัติผิดนั้นเป็นเหตุ ย่อมไม่เป็นผู้ยังกุศลธรรมที่เป็นทางรอดพ้น (ญายะ)
ให้สำเร็จได้;

“เราสรรเสริญการปฏิบัติชอบ (สัมมาปฏิบัติ) ไม่ว่าของคฤหัสถ์ หรือบรรพชิต, คฤหัสถ์ก็ดี บรรพ
ชิตก็ดี ปฏิบัติถูกแล้ว เพราะข้อที่ปฏิบัติถูกต้องนั้นเป็นเหตุ ย่อมเป็นผู้ยังกุศลธรรมที่เป็นทางรอด
พ้นให้สำเร็จได้”

และมีพุทธพจน์ตรัสถึงความหลุดพ้นของคฤหัสถ์กับบรรพชิตว่า

“เราไม่กล่าว (ว่ามี) ความแตกต่างอะไรเลย ระหว่างอุบาสกผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้ กับภิกษุผู้มี
จิตหลุดพ้นแล้วตลอดร้อยปี คือวิมุตติ กับ วิมุตติ เหมือนกัน”

เรื่องชาติชั้นวรรณะ นับว่าเป็นปัญหาใหญ่ในชมพูทวีป จึงมีพุทธพจน์ตรัสย้ำเรื่องนี้บ่อยๆ ดังตัวอย่าง
เรื่องหนึ่ง เป็นคำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้า กับพราหมณ์ชื่อเอสุการี คัดมาบางตอนดังนี้

พราหมณ์: ท่านพระโคดมผู้เจริญ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ อย่าง...(คือ) บัญญัติการ
ภิกขาจาร ให้เป็นทรัพย์ประจำตัวของพราหมณ์...บัญญัติธนูกับแล่ง ให้เป็นทรัพย์ประจำตัวของกษัตริย์
...บัญญัติกสิกรรมและการเลี้ยงโค ให้เป็นทรัพย์ประจำตัวของแพศย์...บัญญัติเคียวและไม้คาน ให้
เป็นทรัพย์ประจำตัวของศูทร..พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติทรัพย์ไว้ ๔ อย่างดังนี้ ท่านพระโคดมผู้เจริญ
จะตรัสว่ากระไรในเรื่องนี้?

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2021, 06:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้า: แน่ะพราหมณ์ ชาวโลกทั้งหมด พร้อมใจกันอนุญาตข้อตกลงนี้ไว้แก่พราหมณ์
ทั้งหลายว่า (ขอพราหมณ์ทั้งหลาย) จงบัญญัติทรัพย์ ๔ ประการเหล่านี้เถิด ดังนี้หรือ?

พราหมณ์: มิใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดม

พระพุทธเจ้า: แน่ะพราหมณ์ เปรียบเหมือนบุรุษยากไร้ ไม่มีอะไรเป็นของตน เป็นผู้ขัดสน, คน
(พวกหนึ่ง) เอาก้อนเนื้อขึ้นแขวนให้แก่เขา ผู้ไม่มีความปรารถนาเลย โดยบอกว่า นี่แน่ะพ่อ
มหาจำเริญ เธอกินเนื้อนี้เสีย และจ่ายเงินค่าเนื้อมา ดังนี้ฉันใด พวกพราหมณ์ก็ฉันนั้น ย่อมบัญญัติ
ทรัพย์ ๔ อย่างเหล่านี้ แก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น โดยไม่ได้รับความยินยอม

นี่แน่ะพราหมณ์ เราย่อมบัญญัติอริยโลกุตรธรรม ว่าเป็นทรัพย์ประจำตัวของคน (ทุกคน) ฯลฯ

แน่ะพราหมณ์ ท่านจะเห็นเป็นประการใด (สมมติว่า) ขัตติยราช ผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว รับสั่ง
ให้บุรุษชาติต่างๆ กัน ๑๐๐ คน มาประชุมกันว่า มาเถิดท่านทั้งหลาย ในบรรดาท่านทั้งหลายนั้น
ผู้ใดเกิดจากตระกูลกษัตริย์ จากตระกูลพราหมณ์ จากตระกูลเจ้า ผู้นั้นจงเอาไม้สัก ไม้สาระ ไม้สน
ไม้ จันทร์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟ จงก่อไฟ ให้ความร้อนปรากฏ; มาเถิดท่านทั้งหลาย
ในบรรดาท่านทั้งหลายนั้น ผู้ใดเกิดจากตระกูลจันฑาล จากตระกูลพราน จากตระกูลช่างสาน
จากตระกูลช่างรถ จากตระกูลคนเทขยะ ผู้นั้นจงเอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า หรือ
ไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟ จงก่อไฟ ให้ความร้อนปรากฏ;

นี่แน่ะพราหมณ์ ท่านเห็นเป็นประการใด ไฟที่คนผู้เกิดจากตระกูลกษัตริย์ จากตระกูลพราหมณ์
จากตระกูลเจ้า เอาไม้สัก ไม้สาละ ไม้สน ไม้จันทน์ หรือไม้ทับทิม มาทำเป็นไม้สีไฟก่อขึ้น ให้มี
ความร้อนปรากฏ ไฟนั้นเท่านั้นหรือ จึงจะมีเปลว มีสี มีแสง และสามารถใช้ทำกิจที่พึงทำด้วยไฟ
ได้, ส่วนไฟที่คนผู้เกิดจากตระกูลจัณฑาล จากตระกูลพราน จากตระกูลช่างสาน จากตระกูลช่าง
รถ จากตระกูลคนเทขยะ เอาไม้รางสุนัข ไม้รางสุกร ไม้รางย้อมผ้า ไม้ละหุ่ง มาทำเป็นไม้สีไฟก่อ
ขึ้น ให้มีความร้อนปรากฏ ไม่มีเปลว ไม่มีสี ไม่มีแสง ไม่สามารถใช้ทำกิจที่พึงทำด้วยไฟได้
อย่างนั้นหรือ?

พราหมณ์: มิใช่เช่นนั้น ท่านพระโคดมผู้เจริญ...ไฟทั้งหมดนั่นแหละ มีเปลว มีสี มีแสง และไฟทั้ง
หมด ใช้ทำกิจที่พึงทำด้วยไฟได้

พระพุทธเจ้า: ฉันนั้นเหมือนกันแล ท่านพราหมณ์ บุคคลแม้หากออกบวชเป็นอนาคาริก จากตระ
กูลกษัตริย์ และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้...มีสัมมาทิฏฐิ ก็ย่อมเป็นผู้ยัง
กุศลธรรมที่เป็นทางรอดพ้นให้สำเร็จได้, แม้หากออกบวชเป็นอนาคาริก จากตระกูลพราหมณ์...
จากตระกูลแพศย์...จากตระกูลศูทร และเขาอาศัยธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว เป็นผู้...มีสัม
มาทิฏฐิ ก็ย่อมเป็นผู้ยังกุศลธรรมที่เป็นทางรอดพ้นให้สำเร็จได้”

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2021, 07:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๓. นิพพานอำนวยผล ที่ยิ่งกว่าลำพังความสำเร็จทางจิตจะให้ได้
การบรรลุนิพพาน แม้จะอาศัยความ
สำเร็จทางจิต (เจโตวิมุตติ) คือ ฌานสมาบัติ เป็นพื้นฐานบ้างไม่มากก็น้อย และผู้บรรลุนิพพานก็มี
ความเกี่ยวข้องกับความสำเร็จทางจิตนั้นอยู่เรื่อยๆ ในการดำเนินชีวิต แต่นิพพานก็เป็นภาวะต่างหาก
จากความสำเร็จทางจิตเหล่านั้น เป็นความหลุดพ้นแม้จากความสำเร็จทางจิตเหล่านั้น เป็นสิ่งที่ประ
จักษ์แจ้งต่อเมื่อสามารถก้าวล่วงความสำเร็จทางจิตไปได้

มีข้อควรสังเกตเกี่ยวกับผลพิเศษของการบรรลุนิพพาน คือ

๑) ทำให้เกิดความหลุดพ้นขั้นสุดท้ายที่เด็ดขาด สิ้นเชิง ชนิดที่เป็นธรรมดาธรรมชาติ ไม่ถอยกลับ
เช่น ในทางจริยธรรม มีความไม่เห็นแก่ตัวที่แท้จริง ชนิดที่เป็นผลซึ่งเกิดขึ้นเอง เป็นอาการของ
การที่ได้ทำลายความยึดมั่นในตัวตนลงได้ ด้วยปัญญาที่มองเห็นสภาวะของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งไม่น่า
และไม่อาจจะเข้าไปยึดถือผูกพันเอาไว้กับตัวตนได้

ในเมื่อเป็นอาการที่เป็นไปเองตามธรรมชาติ ความไม่เห็นแก่ตัวนั้น จึงทำได้โดยไม่ต้องฝืน ไม่ต้อง
บังคับใจ ไม่ต้องอาศัยกำลังจิต ไม่ต้องอาศัยการยึดอันหนึ่งเพื่อปล่อยหรือให้หลุดออกจากอีกอย่าง
หนึ่ง เช่น ไม่ต้องอาศัยความยึดมั่นในอุดมคติ ความอุทิศตัวให้แก่สิ่งประเสริฐที่ศรัทธาอย่างสุดจิต
สุดใจ ความข่มหรือระงับกิเลสด้วยกำลังสมถะหรือวิปัสสนาระหว่างปฏิบัติธรรม และความน้อม
ดิ่งดื่มด่ำในภาวะแห่งฌานสมาบัติ เป็นต้น

๒) ในการที่จะประจักษ์แจ้งนิพพานนั้น ไม่ว่าผู้ปฏิบัติจะได้บรรลุความสำเร็จทางจิตไว้แล้วสูงเพียงใด
ก็ตาม เขาจะต้องหลุดพ้นจากความติดใจพอใจในผลสำเร็จทางจิตนั้น มองเห็นสภาวะของผลสำเร็จ
นั้นตามแนวทางของเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ก้าวล่วงความผูกพันกับผลสำเร็จเหล่านั้นไปได้ก่อน
จึงจะบรรลุนิพพานได้

อย่างไรก็ตาม การข้ามพ้นไปได้นั้นแหละ กลับเป็นส่วนเติมเต็มของความสำเร็จทางจิต หรือเป็นความ
พ้นไปได้ ชนิดที่ช่วยทำให้สมบูรณ์

- ผลสำเร็จทางจิต เท่าใดก็ตาม ที่ตนเคยได้ไว้แล้ว ผู้บรรลุนิพพานสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั้ง
หมด เช่น ใช้เป็นที่ให้ใจอยู่พักผ่อนอย่างมีความสุขยามว่าง ดังที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร เป็นการ
นำเอาฌานสมาบัติมารับใช้การดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นต้น

- ทำให้ผลสำเร็จทางจิตที่เคยได้ไว้แล้ว ซึ่งตามปกติยังอาจเสื่อมถอยได้ กลายเป็นภาวะไม่เสื่อมถอย

- เพิ่มความสามารถและขยายวิสัยแห่งการเสวยผลสำเร็จทางจิตให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น ถ้าเดิมเคย
ได้ถึงสมาบัติ ๘ เมื่อบรรลุอนาคามีหรือหรืออรหัตตผลแล้ว ก็สามารถก้าวต่อไปถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ

๓) ความสำเร็จทางจิต อาจระงับกิเลสและความทุกข์ไว้ได้เป็นเวลายาวนาน แต่ก็ยังไม่เด็ดขาด
กิเลสและความทุกข์กลับฟื้นขึ้นได้ นับว่าเป็นของชั่วคราว เพราะเป็นวิธีข่มหรือทับไว้ หรือฝากฝังใจ
ไว้กับสิ่งอื่น แต่การบรรลุนิพพาน ทำให้กิเลสและความทุกข์นั้นสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาด เพราะขุด
หรือถอนทิ้งด้วยปัญญา และสิ่งที่ดับไปในการประจักษ์แจ้งนิพพานนั้น ก็เป็นการดับเฉพาะสิ่ง
ที่ชั่วร้าย ได้แก่ตัววุ่นและเหตุให้วุ่นต่างๆ เช่น ดับโลภะ โทสะ โมหะ ดับตัณหา ดับภพ ดับทุกข์
ดับอวิชชา มิได้ดับอะไรที่เป็นสิ่งดีงามเลย

ยิ่งกว่านั้น เมื่อดับสิ่งชั่วร้ายแล้ว ก็กลับมีคุณลักษณะที่ดีเด่นขึ้นมาแทน อย่างชนิดเป็นไปเองตาม
ธรรมดา นอกเหนือจากความสุข คือ การดำเนินชีวิตด้วยปัญญา และการบำเพ็ญกิจด้วยกรุณา ซึ่ง
เป็นสิ่งที่ลำพังความสำเร็จทางจิตไม่อาจให้เกิดขึ้นได้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2021, 07:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ดังนั้น ผู้ประจักษ์แจ้งนิพพานอย่างเดียว แม้จะไม่ได้ความสำเร็จทางจิตที่สูงส่ง ก็ยังประเสริฐกว่าผู้ที่
ได้ฌานสมาบัติอย่างสูง แต่ไม่ประจักษ์แจ้งนิพพาน

๔) การบรรลุนิพพาน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวมนุษย์ถึงขั้นพื้นฐาน เปลี่ยนจิตใจ เปลี่ยน
ลักษณะความคิด เปลี่ยนบุคลิกภาพ มีโลกทัศน์และชีวทัศน์อย่างใหม่ มีระบบพฤติกรรมมั่น
คง ทั้งนี้เพราะมีความเปลี่ยนแปลงในทางจิตใจที่สำคัญ ๒ ด้าน คือ ความรู้ ความเข้าใจ ความคิด
เห็น และความเชื่อถือ อันเป็นเรื่องทางด้านอวิชชา กับปัญญา อย่างหนึ่ง และความรู้สึกเกี่ยว
กับคุณค่าหรือการสนองความต้องการ อันเป็นเรื่องทางด้านตัณหา กับฉันทะ อีกอย่างหนึ่ง
ทั้งสองด้านนี้สัมพันธ์กัน แต่อาจแยกพูดได้คนละระดับ

เมื่อเด็กชาย ก. ถูกเรียกตัวมาพบครู ข. ถ้าเขาเข้าใจว่า ครู ข. กำลังหาความผิดและคิดลงโทษ
เขา เด็กชาย ก. อาจกลัวตัวสั่น แต่ถ้ารู้ว่าครู ข. ใจดี เรียกมาแนะนำด้วยเมตตา เขาอาจมีอา
การสงบและอบอุ่นใจ คนที่มักมองเห็นคนอื่นเป็นศัตรู กับคนที่มักมองเห็นคนอื่นเป็นมิตร ก็ย่อม
มีความรู้สึก มีบุคลิกภาพ และพฤติกรรมต่างกัน

คนผู้หนึ่งเชื่อ และอยากได้เพชรสายฟ้า ที่เขาว่าซ่อนอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งในภูเขากลางป่า ตามลาย
แทง เขาอาจยอมลงทุนอย่างมากมาย ยอมเสี่ยงชีวิต ตลอดจนอาจถึงกับเข่นฆ่าคนอื่นๆ หลายคน
ยอมใช้เวลามากมายค้นหาเพชรนั้น แต่คนอีกผู้หนึ่ง ไม่อยากได้ ไม่สนใจแม้เพียงจะหันมาฟังเขา
เล่าเรื่องราวของเพชร

มนุษย์ปุถุชน ปรารถนารูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ที่พึงใจ เขาย่อมตื่นเต้น ฝันใฝ่ เอาใจจดจ่อ
และทำการต่างๆ เพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้มาเสพเสวย และเขาเข้าใจว่า เขาสามารถครอบครองเป็น
เจ้าของสิ่งเหล่านั้นได้จริง สุขทุกข์ของเขา ก็ขึ้นอยู่กับการได้หรือไม่ได้ และความผันผวน
ปรวนแปรของสิ่งเหล่านี้

ส่วนผู้บรรลุนิพพานแล้ว มองเห็นโลกและชีวิตตามสภาวะของธรรมดาแห่งธรรมชาติ ไม่เห็น
อะไรที่จะเอาตัวตนเข้าครอบครองซ้อนขึ้นไว้ได้ มองเห็นสิ่งทั้งหลายกว้างพ้นออกไปจาการเพ่ง
จ้องหาเวทนาที่จะเสพเสวย มองเห็นการที่จะต้องปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายไปตามความสอดคล้องกับ
สภาพที่เป็นจริง การที่จะตื่นเต้นฝันใฝ่ ใจจดจ่อ วิ่งวุ่นไปกับการแสวงหาสิ่งเสพเสวยเหล่านั้น จึง
ไม่มี ความเข้าใจความสัมพันธ์ของตนกับสิ่งทั้งหลายที่แวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ผู้คน ธรรม
ชาติ และชีวิตของตน เปลี่ยนไปเป็นอย่างใหม่ ความรู้สึกเกี่ยวกับคุณค่าของสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไป
เกี่ยวข้องด้วย ก็เปลี่ยนไป นำไปสู่บุคลิกภาพและระบบพฤติกรรมอย่างใหม่ ที่เรียกว่าลอย
พ้นจากโลกธรรม หรือถึงอยู่ในโลก แต่ไม่ติดโลก ไม่เปรอะเปื้อนโลก โลกฉาบทาไม่ได้

ภาวะหลุดพ้น และเกิดความเปลี่ยนแปลงในชีวิตเช่นนี้ ยากจะพรรณนา ท่านจึงมักบรรยายด้วย
คำอุปมา เช่นว่า เหมือนฟื้นไข้ หายป่วย สร่างเมา เย็นลงได้ หายร้อน ขับสิ่งหมักหมมออกหมดแล้ว
หลุดจากบ่วง พ้นจากเครื่องผูกมัด ขึ้นฝั่งได้ ข้ามถึงฝั่งที่ปลอดภัย น้ำใสสงบ เป็นต้น

อุปมาเหล่านี้ หลายข้อมีลักษณะร่วมในแง่ที่ว่า แสดงภาวะเดิมซึ่งติดขัดวุ่นวายไม่สะดวก ต้องมัวสาละ
วนกับการดิ้นรนปกป้องและทรงตัวเอง ได้รับความสุขจากการผ่อนบรรเทาทุกข์ภัยไปได้คราวหนึ่งๆ
จำกัดตัวและจำกัดความสนใจอยู่กับสถานการณ์แห่งการดิ้นรนของตนในขอบเขตอันคับแคบ นิพพาน
เป็นความเปลี่ยนหรือพ้นจากภาวะเช่นนั้น ไปสู่ความเป็นอิสระ เป็นไทแก่ตน สามารถขยับเขยื้อน
เคลื่อนไหวได้อย่างคล่องตัวตามปรารถนา ไม่ต้องมัวห่วงกังวลกับการปกป้องรักษาตัวตน อยู่ใน
ภาวะปลอดโปร่งโล่ง ไปได้ทั่ว และมองเห็นกว้างไกล ข้ออุปมาเหล่านั้น บางข้อใช้กับภาวะที่เป็น
ผลสำเร็จทางจิตได้ด้วย แต่กระนั้นก็ยังมีข้อแตกต่าง คือความสำเร็จทางจิต ให้เกิดผลอย่างนี้
ได้ เพียงชั่วคราว

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2021, 07:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


๕) เป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่ง ที่จะพยายามแสวงหาความหมายและจุดหมายของชีวิต
ที่สูงส่งยิ่งไปกว่าเพียงการเกิดมาหาอารมณ์เสพเสวย แล้วก็จากโลกไป บางครั้ง มนุษย์อาจถูก
ความจำเป็นทางวัตถุ หรือความดิ้นรนในการดำรงชีวิตบีบคั้น ให้ลืมหรืองดมองหาความหมายเช่น
นั้นไปชั่วคราว แต่พอมีโอกาสบ้าง มนุษย์อย่างน้อยบางกลุ่มบางพวก ก็จะต้องหันมาแสวงหา และ
ในเมื่อยังข้ามไม่พ้นความสงสัย มนุษย์ก็จะต้องหันมาพะวงเรื่องนี้กันเรื่อยไป

ดังนั้น ลัทธินิยม หรืออุดมการณ์ใดก็ตาม ซึ่งมุ่งแต่สนองความเป็นอยู่ดีทางวัตถุอย่างเดียว ไม่หา
ที่ให้ใจลง หรือหาที่ให้ใจลงไม่ได้ ลัทธินิยมหรืออุดมการณ์เช่นนั้น ชื่อว่ามีช่องว่างกว้างใหญ่อยู่
ในตัว ขาดความสมบูรณ์ ไม่อาจสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างเพียงพอ

พูดตามสำนวนพุทธศาสนาว่า การสนองความต้องการของมนุษย์เพียงแค่ขั้นทิฏฐธัมมิกัตถะ
อย่างเดียว หาพอไม่ จำจะต้องให้มีสัมปรามิกัตถะ และปรมัตถะด้วย

เมื่อพูดในแง่นี้ ทั้งนิพพานก็ดี ความสำเร็จทางจิตอย่างอื่นๆ ก็ดี คือส่วนเติมเต็ม ที่ช่วยแก้ปัญหานั้น
อย่างไรก็ดี ระหว่างความสำเร็จทางจิต กับนิพพาน ความสำเร็จทางจิตยังจัดอยู่ในระดับสัมปรายิ
กัตถะ คือประโยชน์หรือจุดหมายที่ล้ำลึกเลยหน้าออกไปจากทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นระดับถัดออก
ไป หรือขั้นรอง ยังจะต้องก้าวต่อไปอีกสู่ขั้นสุดท้าย คือนิพพาน ซึ่งเป็นปรมัตถะ หรือจุดหมายสูงสุด
อันเป็นความสมบูรณ์ที่แท้จริง

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร