วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 11:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2021, 12:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


เพื่อความเข้าใจลึกลงไปจำเพาะเรื่อง

บันทึกที่ ๑: ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับอนัตตา และนิพพาน
มีความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับอนัตตา
และนิพพาน เกี่ยวพันเข้ามาในตอนนี้ ซึ่งควรกล่าวถึงไว้เล็กน้อย กล่าวคือ ปัจจุบันในวงการชาวพุทธ
บางส่วน มีการใช้ถ้อยคำสำนวนพูดพาดพิงถึงอัตตาและอนัตตาในแง่จริยธรรมกันบ่อยๆ เช่นว่า คน
นี้มีอัตตาแรง ลดหรือทำลายอัตตาลงเสียบ้าง เขาทำการต่างๆ ก็เพื่อเสริมความมั่นคงยิ่งใหญ่ของ
อัตตา ดังนี้เป็นต้น ซึ่งในหนังสือนี้ก็ใช้คำพูดอย่างนี้บ้างหลายแห่ง

ความจริง คำว่า “อัตตา” ในกรณีเช่นนี้ เป็นสำนวนพูดอย่างคนรู้กัน หมายถึงความยึดมั่นในอัตตา
หรือภาพอัตตาที่ยึดถือไว้ด้วยอุปาทาย เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาอะไรอยู่จริงจังเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดสั้นๆ แบบรู้กันอย่างนี้บ่อยๆ และแพร่หลายออกไป ก็มีผู้ไม่เข้าใจความหมาย
โดยนัยแบบรู้กันเช่นนั้น แล้วนำไปใช้สับสน จนอนัตตาที่พูดถึงเป็นคนละเรื่องคนละราว ห่างไกล
จากความหมายของอนัตตาในพุทธศาสนาอย่างไม่เกี่ยวข้องกันเลย เช่น เอาไปใช้เปรียบเทียบ
กับหลักในศาสนาอื่นว่า

- ภาวะเข้ารวมกับบรมสภาวะ หรือบรมสัตว์ เช่น พระพรหม ปรมาตมัน หรือพระผู้เป็นเจ้า กล่าว
คือ การที่บุคคลเข้าถึงบรมสภาวะหรือบรมสัตว์ โดยตัวตนหรืออัตตาของบุคคลเข้ากลมกลืน
เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรมสภาวะนั้น หรือว่าอัตตาคือตัวตนหายไปรวมอยู่ในสภาวะนั้น จนไม่
มีการแบ่งแยกเป็นตัวตนของฉันหรือตัวตนของบุคคลเป็นต้นอีกต่อไป คงจะภาวะอย่างนี้แหละ
เรียกว่าเป็นอนัตตา

- คนที่ทำการต่างๆ ด้วยความรู้สึกหรือตั้งใจเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ว่า ทำเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ไม่คำนึงถึง
ประโยชน์ของตนเอง มิได้ทำเพื่อตนเอง ไม่นึกถึงตัวเองหรือมีความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนเลย
กรณีนี้คงถือได้ว่าคนผู้นั้นไม่มีอัตตา และภาวะเช่นนี้คงจะตรงกับหลักอนัตตาในพระพุทธ
ศาสนา

ตัวอย่างทั้งสองนี้ มีผู้เคยยกขึ้นพูด แต่ความจริงไม่เกี่ยวข้องกับหลักอนัตตาแต่อย่างใดเลย
เป็นคนละเรื่องละราวกันทีเดียว ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเทียบกันได้ เหมือนจะเทียบการไต่เขา
กับแม่น้ำ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเทียบกันแต่ประการใด

อนัตตาเป็นลักษณะของสิ่งทั้งหลาย เป็นเรื่องของสภาพที่เป็นจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย
เป็นเรื่องสำหรับรู้ สำหรับเข้าใจ คือใช้ปัญญาพิจารณาให้เข้าใจความเป็นจริงที่มีอยู่เป็นอยู่
ตามธรรมดาว่า สิ่งทั้งหลายไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นแต่สภาวะที่มีอยู่เป็นอยู่ตามธรรมดาของมัน
ไม่มีตัวแกน ตัวแฝง ตัวซ้อน ตัวผู้ครอบครองบังคับควบคุม ที่จะยึดถือเอาได้ว่าเป็นตัวตน เมื่อ
รู้เห็นเข้าใจถูกต้องแจ่มแจ้ง ก็เรียกว่าเป็นญาณ หรือวิชชา ทำให้จิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระ ไม่ติด
ข้อง ไม่เป็นทาสของสิ่งทั้งหลาย เรียกว่าปัญญาวิมุตติ คือความหลุดพ้นด้วยปัญญา

โดยนัยนี้ อนัตตาจึงไม่ใช่เรื่องของการ (รู้สึกว่า) มีตัวตนอยู่ แล้วตัวตนนั้นมาหายไป หมดไป
หรือเข้ารวมกับอะไรๆ อัตตาถูกกลืนหาย กลายไปเป็นภาวะอย่างนั้น แต่ประการใดเลย

ส่วนตัวอย่างที่สอง เป็นการพูดถึงความไม่เห็นแก่ตัว การหมดความเห็นแก่ตัว หรือการหมด
ความยึดมั่นในตัวตน ซึ่งก็หาใช่อนัตตาไม่ แต่มีส่วนสัมพันธ์กับหลักอนัตตาอยู่ในแง่ที่ว่า การ
มองเห็นความเป็นอนัตตา เป็นเหตุให้หมดความเห็นแก่ตัวหรือถอนความยึดมั่นในตัวตนลง
ได้ และจะต้องสำทับว่า คนจะหมดความเห็นแก่ตัวได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อเกิดปัญญามอง
เห็นภาวะที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา

สำหรับตัวอย่างที่สองนี้ ควรพูดเสียใหม่ว่า “การมองเห็นความเป็นอนัตตา ก็ดี ความมีใจน้อมดิ่ง
ไปในองค์พระเป็นเจ้า ตั้งใจเด็ดเดี่ยวว่าจะทำการเพื่อพระองค์ ก็ดี ต่างก็ทำให้คนไม่นึกถึงตน
ไม่เห็นแก่ตน หมดหรือลดความเห็นแก่ตัวได้” แง่ที่เหมือนกันหรือเทียบกันได้ อยู่ที่ตรงนี้

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2021, 13:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8583


 ข้อมูลส่วนตัว


ต่อจากนี้ ถ้าใครยังอยากเรียนรู้ต่อไปอีก ก็อาจพิจารณารายละเอียดที่ยิ่งขึ้นไป เช่น อาจมอง
ว่า อย่างหนึ่งเป็นวิธีใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นความจริงแล้ว หมดความยึดติด เป็นอิสระจากสิ่ง
นั้น อีกอย่างหนึ่งเป็นวิธีที่ใช้ศรัทธา ทำให้เกิดพลังจิตน้อมดิ่งไปในวัตถุแห่งความเคารพบูชา ทำ
ให้จิตไม่คำนึงนึกถึงตนเอง

เมื่อแยกได้อย่างนี้แล้ว ก็อาจก้าวสู่การพิจารณาขั้นต่อไปอีก เช่นว่า อย่างไหนจะเป็นการลืมนึก
ถึงตน หมดความเห็นแก่ตัวไปชั่วคราว อย่างไหนจะเป็นการถอนความนึกถึงตัวตนทิ้งได้โดยสิ้น
เชิงตลอดไป ดังนี้เป็นต้น

บางท่านเอาคำอธิบายทำนองนี้ไปใช้กับนิพพานอีก โดยบอกว่า ภาวะที่เข้ารวมเป็นหนึ่งเดียวกับ
บรมสภาวะ หรือบรมสัตว์ เช่น พระพรหม ปรมาตมัน หรือ พระผู้เป็นเจ้า เป็นต้น นี่แหละ คงเทียบ
กันได้กับนิพพาน

ในเรื่องนี้ พึงระลึกไว้ว่า แม้แต่สำนวนพูดที่มีอยู่แล้วในวงการของชาวพุทธเอง เช่นว่า เข้าสู่ปริ
นิพพาน บรรลุอมตมหานครนฤพาน เป็นต้น ก็เป็นปัญหาให้ต้องคอยแก้ไขทำความเข้าใจป้อง
กันความนึกคิดผิดพลาดกันมากพออยู่แล้ว ไม่ควรนำเอาข้อความสำนวนเร้นลับ ที่ยังคลุมเครือ
มองได้หลายแง่ เข้ามาเพิ่มความสับสนวุ่นวายในการชี้แจงทำความเข้าใจให้มากขึ้นอีก

ตามปกตินั้น พระพุทธศาสนาชอบพูดอย่างง่ายๆ ตรงๆ เมื่อกล่าวถึงนิพพานก็ว่า เป็นภาวะดับ
กิเลสได้ หายร้อน จิตใจหลุดพ้น เป็นอิสระ ไร้ทุกข์ ผ่องใส เบิกบาน ไม่ติดข้อง ไม่ถูกครอบงำ
รัดรึง พูดทำนองนี้จบแล้ว ก็พอกัน ไม่ต้องไปรวมไปกลืนหายเข้าในอะไรๆ อีก

พระอรหันต์ท่านหลุดโล่งโปร่งสบาย จิตใจไร้เขตแดน เป็นอิสระเสรีโดยสมบูรณ์แล้ว ไม่ปรา
กฏว่าท่านเคยคิดจะรวมเข้ากับอะไรๆ อีก หรือว่าได้เข้ารวมกลมกลืนไปในอะไรๆ แล้ว มีแต่
ปุถุชนพยายามจะคิดให้ท่าน ซึ่งน่าจะเป็นเพียงเครื่องแสดงถึงเยื่อใยความอยากมีอยู่คงอยู่
และความกลัวสิ้นสูญ ตลอดจนความขัดแย้งในจิตใจที่ดิ้นรนแสดงตัวออกมาเท่านั้นเอง

โดยเฉพาะที่ต้องรีบปฏิเสธเสียแต่ต้น ไม่ให้เอามาปนกับนิพพาน ก็คือ ภาวะน้อมดิ่งดื่ม
ด่ำเข้าไปรวมหรือกลมกลืนเข้ากับบรมสภาวะอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น ชนิดที่กลายเป็นว่าจิต
เลิกกำหนดอารมณ์ ปล่อยความรู้ให้หลุดหายไป เกิดเป็นประสบการณ์แห่งความเคลิบ
เคลิ้มเลือนลืมตัวตน กลืนหายเข้าไปในภาวะเคลิบเคลิ้มดื่มด่ำนั้น ทั้งนี้เพราะว่า แม้เพียงใน
ภาวะแห่งฌานที่ปฏิบัติถูกต้อง เมื่อจิตเป็นสมาธิแน่วแน่แล้ว จิตแนบสนิทกับอารมณ์หนึ่ง
เดียว สติยิ่งจับอารมณ์ชัดเจน ทำให้จิตเหมาะที่จะใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ไม่ใช่เป็นจิตที่เคลิบ
เคลิ้มเลือนหายหมดความรู้สึก ไม่ใช่อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Trance

เฉพาะอย่างยิ่ง ฌานที่ ๔ มีคำแสดงลักษณะที่มีสติชัดเจนว่า “อุเปกฺขาสติปาริสุทฺธิ° จตุตฺถํ
ฌานํ” แปลว่า จตุตถฌานอันมีอุเบกขา เป็นเครื่องให้สติบริสุทธิ์ และคำสรุปท้าย ฌาน ๔
เมื่อใช้เพื่อบรรลุวิชชา จะมีว่า “เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องใส ไร้มลทิน ปราศจากสิ่ง
มัวหมอง นุ่มนวล ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว จึงน้อมจิตนั้นไป (นำเอา
จิตไปใช้) เพื่อ...” (เช่น ที.สี. ๙/๑๓๒/๑๐๒ และดาษดื่นในพระไตรปิฎกเกือบทุกเล่ม,
คำอธิบาย ดู อภิ.วิ. ๓๕/๖๘๓/๓๕๒; วิสุทฺธิ.๑/๒๑๔)

อย่างไรก็ตาม มีหลักกลางๆ ที่สามารถใช้วินิจฉัยได้อย่างกว้างๆ ทั่วๆ ไปสำหรับคำถามประ
เภทที่กล่าวข้างต้นนั้นว่า ไม่ว่าจะเป็นภาวะจิตที่ดื่มด่ำลึกซึ้งเข้าถึงสิ่งสูงเลิศเพียงใดก็ตาม
หรือจะเป็นการกลมกลืนรวมเข้ากับอะไรหรือไม่ก็ตาม ความสำคัญอยู่ที่ว่า ตราบใดยังมิได้
ทำลายอาสวะ คือเชื้อกิเลสภายใน ให้หมดสิ้นไปด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจสังขารคือโลกและชีวิต
ที่เป็นอยู่อย่างปกติธรรมดานี้ ตามความเป็นจริง คือยังไม่บรรลุปัญญาวิมุตติ ตราบนั้นก็ยัง
ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการบรรลุนิพพาน การเข้าถึงภาวะดื่มด่ำลึกซึ้งนั้น ก็จะยังวนเวียนอยู่เพียง
ในขอบเขตของผลสำเร็จทางด้านพลังจิต หรือทางด้านสมาธิ และความหลุดพ้นจากอำนาจครอบ
งำของกิเลส ก็จะยังคงเป็นเพียงภาวะที่กิเลสถูกข่มหรือถูกทับไว้ ให้สงบราบคาบไปชั่วคราว
ซึ่งจะยาวนานเพียงใด ก็แล้วแต่ความแรงและความมั่นคงของพลังจิตที่น้อมดิ่งไปนั้น

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร