วันเวลาปัจจุบัน 16 มิ.ย. 2024, 06:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


"การรู้ขันธ์" กับ "การรู้อริยสัจจ์" เป็นปัญญาคนละขั้นกัน คือ การรู้ขันธ์เป็นวิปัสสนาปัญญา อันเป็นวิถีการที่จะให้จิตปล่อยวางขันธ์ที่จิตเคยยึดถืออยู่ เมื่อปล่อยวางขันธ์แล้ว จิตก็จะรวมเข้ามาที่จิต เพื่อเริ่มกระบวนการที่เรียกว่า จิตเห็นจิต ก็จะได้เห็นอริยสัจจ์ อันจัดเป็นโลกุตรปัญญา

หากไม่ผ่านวิปัสสนาปัญญา จู่ๆ จะพยายามย้อนรู้เข้ามาที่จิต สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ "การเพ่งจิต" จึงจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์ปรมัตถ์ของจริง จนสามารถวางความยึดมั่นในอารมณ์ได้ แล้วจิตก็จะสงบรวมเข้ามาที่จิต เพื่อเรียนรู้ "อริยสัจจ์แห่งจิต"

แต่บางคน แม้จะมีกำลังพอที่จะรู้ถึงจิตได้แล้ว ก็ยังรัก ยังหวงที่จะกลับไปรู้ความเกิดดับของอารมณ์ อันเป็นเหตุให้ จิตเกิดปฏิกิริยาหมุนวนเป็นวัฏฏะต่อไปไม่สิ้นสุดเช่น แทนที่จะระลึกรู้อยู่ที่จิต กลับหันไปรู้ลมหายใจอีก จิตก็ต้องทำงานหมุนวนออกไปอีก แทนที่จะหยุด-รู้-อยู่ที่จิต ซึ่งเหนือความคิดนึกปรุงแต่ง เป็นการถ่วงตนเองให้เนิ่นช้าในการประจักษ์ถึงอริยสัจจ์แห่งจิต

การปฏิบัติทุกขั้นตอน คือการส่งทอดสติปัญญาเข้ามาเรียนรู้จิตเท่านั้นเอง เพราะจิตนั่นแหละคือประธานแห่งธรรมทั้งปวง เช่น ทำสมถะ ก็เพื่อระงับความฟุ้งซ่านของจิตไว้ชั่วขณะ เพื่อให้จิตมีคุณภาพที่จะเจริญวิปัสสนา คือการเรียนรู้ความจริงของสิ่งที่จิตไปติดยึดอยู่ เมื่อรู้จริงแล้ว จิตก็วาง รวมเข้ามาที่จิต ก็จะได้เรียนรู้อริยสัจจ์แห่งจิตคือเห็นว่า ความทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะจิตออกไปอยากไปยึดอารมณ์เท่านั้นเอง

เมื่อจิตฉลาดขึ้น จิตก็หน่ายที่จะเที่ยวแสวงหาทุกข์มาใส่ตัวเอง จิตก็หยุดความปรุงแต่งลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อปราศจากความปรุงแต่ง จิตก็พ้นจากการห่อหุ้มของสิ่งปรุงแต่ง เข้าถึงธรรมชาติแห่งความเป็นตัวของตัวเองล้วนๆ หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ และรู้ถึงนิพพานอันเป็นสันติธรรม ที่แท้จริงเหนือกาลเวลา

สภาวะตรงที่จิตเข้ามารู้นิพพานนั้น จิตจะรวมเข้าภวังค์นิดหนึ่งโดยไม่มีความจงใจ และเมื่อจิตทำงานขึ้นมารับรู้อารมณ์ใหม่นั้น จิตจะประกอบด้วยฌานอันใดอันหนึ่งโดยอัตโนมัติ และปัญญาที่ประณีตถึงที่สุด จะตัดความปรุงแต่งขาดลง จิตก็เข้าถึงความเป็นอิสระครั้งแรกต่อเนื่องกันอย่างอัตโนมัติ

ตรงจุดนี้มีจิต ไม่ใช่ไม่มีจิต จัดเป็นมรรคจิต ผลจิต เมื่อเป็นจิตก็ต้องรู้อารมณ์ ถ้าไม่รู้อารมณ์ก็ย่อมไม่ใช่จิต อารมณ์ที่จิตรู้ ก็คือนิพพานอันเป็นสันติธรรมที่แท้จริง แต่บางแห่งสอนกันว่า ขณะที่เกิดมรรคผลนั้น จิตดับแบบพรหมลูกฟัก คือวูบแล้วหมดความรู้สึกไปเลย อันนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง ที่ไปเอาสภาวะจิตดับขณะถึงนิพพานขันธ์มาเปรียบกับมรรคจิต ผลจิต เพราะถ้าขณะที่เกิดมรรคผลไม่มีจิต ตำราอภิธรรมท่านคงไม่บัญญัติมรรคจิตผลจิตไว้ถึง 40 ดวงเป็นแน่

จิตที่หลุดพ้นยังไม่ใช่นิพพาน นิพพานเป็นสิ่งที่จิตที่หลุดพ้นไปรู้เข้าเท่านั้น เมื่อรู้แล้ว ก็ไม่อาจจับจองเป็นเจ้าของนิพพานได้ และเมื่อถึงวันดับขันธ์ จิตก็สลายไป เหมือนไฟที่ดับไป ส่วนนิพพาน ก็คงเป็นธรรมที่ทรงธรรมอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาของมหาสุญญตานั่นเอง ไม่มีเกิดดับ และไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองได้

ผู้ปฏิบัติที่จิตแหวกตนเองออกจากสิ่งห่อหุ้มแล้ว ไม่นานสิ่งห่อหุ้มก็เข้ามาปกปิดจิตไว้อีก การปฏิบัติในขั้นถัดจากนี้ ก็คือการเรียนรู้อริยสัจจ์แห่งจิตต่อไปนั่นเอง

วิธีรู้จิตในขั้นนี้ จะต้องรู้ให้เป็นรู้แท้ๆ คือไม่เจือด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจงใจที่จะรู้ สภาพรู้นั้น จะไม่มีน้ำหนักแม้แต่น้อย ถ้าเติมความจงใจลงไปในรู้ จะเกิดน้ำหนักในการเพ่งจิตขึ้นนิดหนึ่ง การดูจิตในขั้นนี้ คล้ายกับเรามีกระดาษที่บางกริบ 2 แผ่นซ้อนกัน ปัญญาอัตโนมัติจะต้องตัดแผ่นหน้าให้ขาด คือรู้และตัดความปรุงแต่งขาด โดยที่ไม่เกิดรอยในแผ่นหลัง คือไม่ให้กระเทือนถึงจิต ถ้าจงใจขึ้นสักนิดหนึ่งแรงกดจะเกิดขึ้นทันที แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่จงใจดูให้เบา หรือจงใจประคองให้เบาด้วย เพราะนั่นคือการเสแสร้งปฏิบัติ การรู้ ที่เป็นรู้อย่างแท้จริงนั้น ทำให้โดยอาศัยทักษะอย่างเดียวเท่านั้น

วิปัสสนาที่แท้จริงนั้น มีแต่รู้ ไม่ต้องจงใจเติมสิ่งใดลงไปในรู้ ไม่ว่าจะเป็นศีล สมาธิ หรือปัญญา ไม่ต้องเอาสมมุติบัญญัติ หรือความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ มาช่วยทำวิปัสสนา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาโดยสิ้นเชิง เพราะความจงใจเคลื่อนไหวใดๆ จะทำให้จิตก่อภพก่อชาติก่อวัฏฏะหมุนวนขึ้นมาอีก

เมื่อจิตจะแหวกสิ่งห่อหุ้มออกเป็นครั้งที่ 4 นั้น ไม่มีสิ่งใด แม้กระทั่งอวิชชาที่จะต้องพยายามละ มีแต่รู้ (ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เมื่อรู้พอแล้ว จิตพลิกนิดเดียวก็พ้นแล้ว) จิตกับสิ่งห่อหุ้ม หรืออุปาทานขันธ์ ก็เป็นอันหมดความผูกพันต่อกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ไปตามธรรมชาติธรรมดา เป็นจิตที่เป็นอิสระ ทำทุกอย่างเป็นกิริยาล้วนๆ เพราะไม่มีความกระเทือนเข้าถึงกันระหว่างจิตกับอารมณ์ และไม่ต้องเอาความดีคือสติปัญญาใดๆ มาบำรุงรักษาจิตอีกต่อไป

จิตจะมีเพียงความรู้สึกที่เป็นกลางอย่างหนึ่ง กับความสุขโสมนัสอีกอย่างหนึ่ง จนถึงวันที่จะดับการสืบต่อของจิต เหมือนไฟที่ดับลงเพราะหมดเชื้อเท่านั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


หลายวันก่อน มีเมล์ถามปัญหาเกี่ยวกับกามราคะ โดยผู้ถามอยากจะถามในกระทู้ เพื่อให้ผู้ที่มีปัญหาแต่ไม่กล้าถาม ได้อ่านด้วย ผมจึงรับอาสามาตั้งกระทู้ตอบให้เสียเอง เพราะผู้ถามเป็นผู้หญิง

ประเด็นของเธอก็คือ เธอสังเกตเห็นว่า เมื่อมีโทสะแล้ว มักจะพบกามราคะตามมาเสมอ โทสะนั้นเธอคิดว่าพอสู้ได้ แต่กามราคะ ยังเป็นสิ่งที่เธอพ่ายแพ้ จึงอยากทราบวิธีการในการต่อสู้กับกามราคะ

ความจริงแล้ว กามราคะและโทสะนั้น เหมือนคนละด้านของเหรียญอันเดียวกัน เช่น ในเวลาที่เกิดความต้องการทางเพศ แต่ไม่รู้ว่ามีกามราคะแล้ว และกดข่มไว้ โดยไม่รู้ทันว่าได้กดข่มไว้ จิตก็จะพลิกไปเป็นโทสะจิต เหมือนเด็กโยเยเพราะไม่ได้ของเล่นที่ชอบใจ ครั้นโทสะจิตผ่านไปแล้ว กามราคะก็แสดงตัวชัดขึ้นมาอีกสลับกันไป หรือแม้ว่ากามราคะได้รับการตอบสนองแล้วก็ตาม จะพบว่าจิตมีโทสะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ หลังจากที่เสพกามไปแล้ว เพราะการเสพกามนั้น ทำให้จิตกระเพื่อมหวั่นไหวได้มาก ยิ่งไปยุ่งกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสของตน ยิ่งหวั่นไหวมาก

ท่านจึงสอนให้สันโดษในคู่ของตน เพราะแม้จิตจะเศร้าหมองบ้างก็ไม่มากนัก ไม่เหมือนกับไปยุ่งกับคนอื่นๆ ดังนั้น ถ้าประพฤติพรหมจรรย์ไม่ได้ ก็อย่าประพฤติผิดในกาม เพราะกิเลสทั้งราคะและโทสะจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ปฏิบัติที่มองกามราคะซึ่งเกิดขึ้นแต่แรกไม่ออก แล้วกดข่มไว้จึงคิดว่าตนเองเกิดโทสะขึ้นมาก่อน แต่สู้โทสะได้ แล้วจึงเกิดราคะตามมาทีหลัง ความจริงแลัว โทสะก็อาศัยกามราคะที่ไม่ได้รับการตอบสนองเกิดขึ้นนั่นเอง ถ้าปราศจากกามราคะ โทสะก็พลอยไม่เกิดไปด้วย

ก่อนจะต่อสู้กับกามราคะ ควรทราบเสียก่อนว่า กามราคะเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง ที่จิตพึงพอใจในกาม ได้แก่ ความพึงพอใจ ติดตรึงใจในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย เป็นคำที่กว้างกว่าความต้องการทางเพศ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่า รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของสตรีเป็นที่พึงใจของบุรุษ และรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสของบุรุษเป็นที่พึงใจของสตรี ดังนั้น เรื่องของเพศตรงข้ามจึงจัดเป็นกามราคะที่ร้ายแรงมาก มากกว่ารูปวาดสวยๆ เสียงเพลงเพราะๆ ดอกไม้

กามราคะเกิดขึ้นเพราะจิตไม่รู้เท่าทันความไม่มีสาระของกาย จิต จึงเพลิดเพลินพึงใจที่จะหาความสุขทางกาย ด้วยการมองหารูปสวย/หล่อ เสียงเพราะ กลิ่นหอม สัมผัสที่พอใจ ฯลฯ หากเมื่อใดจิตเห็นจริงว่า กายเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หรือเป็นอสุภะ กิเลสกามก็จะอ่อนกำลังลงทันที

อุบายภาวนาในการสู้รบกับกาม ก็มีเป็นขั้นๆ ไป อย่างอ่อนๆ ก็เช่น การหลีกเลี่ยงผัสสะ เช่น ครูบาอาจารย์บางองค์ ท่านแบกกลดหนีสาวที่ท่านไปหลงรักเข้า เพราะถ้าสู้ไม่ไหว ก็ต้องหนีเอาไว้ก่อน

อุบายที่เข้มข้นขึ้นไปอีก ได้แก่ การพิจารณาเพศตรงข้าม เช่น การพิจารณาคนที่เราพอใจลงเป็นอสุภะ หรือไตรลักษณ์ ถ้าจิตเห็นจริงแล้ว จะลดความผูกพันกันทางกามลงได้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย เคยเล่าให้ผมฟังว่า มีพระรูปหนึ่งบริกรรมพุทโธได้ไม่นาน จิตกลับไปบริกรรมชื่อแฟน หลวงพ่อจึงให้บริกรรมชื่อแฟนต่อไป จนเกิดนิมิตรูปแฟนขึ้นมา พระท่านก็ดูรูปแล้วบริกรรมต่อไป รูปก็เริ่มเหี่ยวโทรมลง หมดสวยหมดงาม จิตของท่านก็ถอดถอนจากความผูกพันในกามกับแฟน

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ สมัยเป็นฆราวาส ท่านแก้ความรักสาวโดยการไปพิจารณาอุจจาระของสาว สมัยนั้นพิจารณาได้ เพราะชาวบ้านถ่ายกันตามทุ่งนา เดี๋ยวนี้จะเอาแบบวิธีนี้คงไม่ได้แล้ว เพราะสาวเขาปกปิดร่องรอยมิดชิด

อุบายถัดมา เป็นการทรมานตนเอง เช่น พระบางรูปไปหลงรักผู้หญิง ท่านยอมอดข้าวจนกว่าจะตัดรักได้ วันแรกยังตัดไม่ได้ พอหลายวันเข้าก็ตัดได้ เพราะจิตกลัวว่ากายจะตายจึงเลิกรักสาว เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เรารักที่สุดก็คือตัวเราเอง

อุบายถัดมา เป็นการใช้ปัญญาพิจารณาตนเอง ซึ่งพระส่วนมากท่านพิจารณาร่างกายของท่านลงเป็นอสุภะบ้าง พิจารณาความตายบ้าง พิจารณาความเป็นทุกข์ของกายบ้าง วิธีนี้เป็นวิธีที่ประณีตยิ่งขึ้น เพราะเป็นการพิจารณาตนเอง ไม่ใช่วิธีพิจารณาเพศตรงข้าม หรือหนีเพศตรงข้าม

อุบายทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงการเอาตัวรอดเป็นครั้งคราวเท่านั้น ต่อเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากเข้า จนจิตเกิดปัญญาวิปัสสนาอย่างแท้จริงแล้ว นั่นแหละจึงจะเอาชนะกามได้อย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งปฏิฆะด้วยที่ผมเคยใช้แล้วได้ผลในการต่อสู้กับกามโดยไม่ได้เจตนาก็คือ การเดินจงกรมแล้วเอาสติระลึกรู้ลงในกาย เห็นกายเดินไปตามสภาพของกาย จิตเป็นคนดูอยู่ ถึงจุดหนึ่งจิตเกิดปัญญาขึ้นว่า กายนี้มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย แต่ถึงกระนั้นมันก็ไม่เป็นทุกข์อะไร เพราะมันเป็นเพียงธาตุเท่านั้น ความทุกข์มันเกิดจากจิตเข้าไปยึดกายแล้วอยากอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ยอมรับความจริงว่า กายมันต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไปตามเหตุปัจจัย จิตจึงเป็นทุกข์เพราะความอยากของจิตเอง เมื่อจิตเดินปัญญามาถึงจุดนี้ จิตก็เห็นกายเป็นของธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่งซึ่งว่างเปล่าจากตัวตน พอจิตไม่ยึดกายแล้ว กามก็หาที่ตั้งไม่ได้เอง ไม่จำเป็นต้องไปต่อสู้เพื่อละกามโดยตรงแต่อย่างใด

ปกติกามราคะและปฏิฆะจะขาดไปพร้อมๆ กัน เพราะเหตุที่ว่ากามและปฏิฆะมันเกิดจากรากเหง้าอันเดียวกัน คือเกิดจากความโง่ของจิตที่เข้าไปยึดกาย และมันรักความสุขทางกาย มัน (จิต) อยากให้ตาเห็นแต่รูปที่ดี ไม่อยากให้ตาเห็นรูปที่ไม่ดี มันอยากให้หูได้ยินเสียงที่ดี ไม่ได้ยินเสียงที่ไม่ดี มันอยากให้จมูกได้กลิ่นหอม ไม่อยากได้กลิ่นเหม็น มันอยากให้ลิ้นรู้รสอร่อย ไม่อยากรู้รสที่ไม่อร่อย มันอยากให้กายสัมผัสความเย็นร้อนอ่อนแข็งที่พอเหมาะ ไม่อยากสัมผัสสิ่งที่รุนแรงเกินไป เมื่อมันได้สิ่งที่ชอบใจ มันก็เกิดกามราคะ คือรักใคร่ผูกพันในอารมณ์ที่ดี เมื่อมันได้สิ่งที่ไม่ชอบใจ มันก็เกิดปฏิฆะ คือความขัดใจ

ความยึดในกายนี้แหละเป็นที่ตั้งของกามราคะและปฏิฆะ เหมือนที่ความยึดในจิตเป็นที่ตั้งของสังโยชน์เบื้องสูง คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา

อันที่จริง เมื่อเรายังละกามไม่ได้ ก็ควรควบคุมให้มันอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ คืออย่าทำผิดศีล 5 แล้วเจริญสติสัมปชัญญะเรียนรู้คุณและโทษของมันไป ความทุกข์ทรมานเพราะกามก็จะค่อยลดน้อยลงเป็นลำดับ


กามนั้นไม่ใช่จะเป็นโทษอย่างเดียว คุณของมันก็มีเรียกว่ากามคุณ ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากมันเสียบ้าง ก็จะดีไม่น้อย แม้พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้คนทำทานและถือศีล แล้วได้เสวยกามสุขในสวรรค์ ถัดจากนั้นจึงสอนให้เห็นโทษของกามเป็นลำดับต่อไป ท่านไม่หักหาญ ห้ามเรื่องกามกับคนที่ยังไม่พร้อม แต่ใช้กามเป็นเหยื่อล่อจิตที่อินทรีย์ยังอ่อนให้ยอมรับธรรม แล้วค่อยแนะนำทางเจริญปัญญาในภายหลัง

เหมือนกับครูบาอาจารย์ที่ท่านฉลาด เอากิเลสมาแก้กิเลส เอาหนามบ่งหนาม คือผมรู้จักพระชาวออสเตรเลียรูปหนึ่ง ท่านเครียดและหงุดหงิดใจอยู่เสมอ เนื่องจากต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยมากมาย ครูบาอาจารย์จึงออกอุบายอนุญาตให้ท่านเลี้ยงไก่สวยงามนานาชนิด (เลี้ยงแบบไก่ป่า คือทำที่อยู่ให้ตามต้นไม้ ไม่ได้กักขัง ไก่มีความสุขกันมากทีเดียว) เนื่องจากท่านชอบไก่มาก (คลับคล้ายว่าจะเป็นดอกเตอร์เกี่ยวกับไก่ด้วย) พอเห็นไก่แล้ว ท่านจะอารมณ์ดีหายหงุดหงิดได้

ครูบาอาจารย์ท่านฉลาดมาก คือท่านแก้ปฏิฆะด้วยกามราคะ เนื่องจากปฏิฆะที่ต่อเนื่องรุนแรงนั้น แทบจะทำให้พระรูปนี้ทิ้งวัดไป จึงต้องล่อด้วยของที่ชอบใจคือไก่ที่สวยงาม เมื่อพระท่านดูแลไก่นานเข้า ไม่ไปสนใจกับผู้อื่น จิตใจของท่านก็ผ่อนคลาย เกิดความนุ่มนวลอ่อนโยน แล้วจิตใจก็เปลี่ยนจากกาม ไปเป็นความเมตตาต่อไก่อันเป็นกุศลจิต และทำให้ง่ายที่จะปฏิบัติธรรมต่อไป

ถ้ารู้จักใช้ประโยชน์จากกามราคะเสียบ้าง ก็เข้าทีเหมือนกัน แต่วิธีนี้ ไม่แนะนำให้พระหนุ่มเณรน้อยนำไปใช้โดยพลการนะครับ


การทำงานศิลปะ การปลูกต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง การเล่นพระเครื่อง การเล่นแสตมป์ การยิงธนู ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ยังแฝงด้วยราคะ หรือมีโลภมูลจิตอยู่ครับ เพราะทำไปด้วยความชอบใจ แต่โทษของมันเบาบางกว่าโทสะ เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า โทสะมีโทษมาก แต่แก้ง่าย ราคะมีโทษน้อย แต่แก้ยาก ส่วนโมหะมีโทษมาก และแก้ยาก

บางคราว การใช้กิเลสก็เป็นอุบายสู้กิเลส โดยเปลี่ยนจากกิเลสที่มีโทษมาก ให้เป็นกิเลสที่มีโทษน้อยลง (แต่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของครูบาอาจารย์) เช่น แทนที่จะหมกมุ่นกับความน้อยเนื้อต่ำใจเสียใจ คับแค้นใจ กลุ้มใจ อันเป็นโทสะซึ่งมีโทษมาก ก็หันมาทำงานอดิเรกที่ชอบใจ จิตใจก็จะสงบลง หายเร่าร้อน แล้วกลับมาปฏิบัติธรรมก็ทำได้ง่ายขึ้น

หรือบางคราวโมหะครอบจิตจนมืดตื้อแกะไม่ออก ยิ่งนั่งดู ก็ยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ ซ้ำโทสะก็จะเริ่มเข้าผสมโรง คือหงุดหงิดใจขึ้นมา โมหะมีโทษมาก โทสะก็มีโทษมาก ผมจึงเคยแนะพวกเราบางคนว่า ให้หยุดการปฏิบัติไว้ก่อนชั่วคราว ไปเปลี่ยนอารมณ์เดินดูสิ่งที่สวยๆ งามๆ ให้สบายใจ แล้วถ้าจิตเกิดราคะ ก็ให้รู้ราคะไป อันนี้ก็เป็นอุบายเอาตัวรอดจากกิเลสที่มีโทษมาก ไปเป็นกิเลสที่โทษน้อย แล้วค่อยพลิกกลับมาเป็นกุศลจิตทีหลัง

อันตรายมันอยู่ตรงที่ พลิกกลับไปเป็นกุศลจิตไม่ได้ นี่แหละครับเรื่องอย่างนี้จึงควรอยู่ในสายตาของครูบาอาจารย์ไว้ สำหรับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ก็ปลูกไปเถอะครับ จิตใจที่สบายๆ ร่วมกับการที่เราทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนาเป็นนิจ เกิดพลาดพลั้งเป็นอะไรไป ถึงชาตินี้อาจจะไม่รู้ธรรม แต่สุคติก็เป็นที่หวังได้ด้วย

อันที่จริงการหาอุบายแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง มีได้หลายแบบครับ เช่น การเข้าไปอยู่ในป่าคนเดียว จิตใจเกิดกิเลสคือความกลัว ตอนนั้นกามราคะจะกระโจนหนีแบบไม่รู้ทางไปทีเดียว

ครูบาอาจารย์บางองค์ นั่งสมาธิแล้วชอบหลับ ท่านก็ไปนั่งริมเหว จิตใจกลัวร่างกายจะตาย ก็เลยไม่ยอมหลับใน ดังนั้น ถ้าจะปฏิบัติด้วยอุบายดูสาว ก็ควรรู้บทเรียนต่อไปที่จะแก้กามราคะด้วยนะครับ

การที่เรามีฐานที่ตั้งของสติยืนพื้นไว้มีประโยชน์มาก เพราะถ้าจิตคลาดไปจากฐานนิดเดียวก็จะรู้ทันเร็ว สิ่งที่ต้องระวังคือ อย่าให้ฐานนั้นกลายเป็นเครื่องจองจำจิตนะครับ คือไม่ได้ทำเพื่อให้จิตหลงจ่อลงที่จุดนั้น จะกลายเป็นสมถะไปทันที แต่ทำเพื่อให้สิ่งนั้นเป็นวิหารธรรม คือเป็นเครื่องรู้ เครื่องอยู่ที่สบายของจิต แล้วเวลากิเลสตัณหาผ่านมา จิตจะรู้ทันได้ไวมากขึ้น

อีกอย่างหนึ่ง การที่เดินรู้เท้าที่กระทบพื้นนั้น ถ้าเห็นว่าจิตมันเบาลง ทุกข์มันน้อยลงไป แล้ว รู้ เท่านั้น ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะอยู่แล้ว เพราะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของจิต

แต่ถ้าจิตจดจ่อจมลงในเท้า อันนั้นเป็นสมถะเฉยๆ นะครับ ให้พยายามรู้เท่าทันจิตใจตนเองไปด้วยจะดีกว่า เพราะการเจริญสติสัมปชัญญะนั้น ทำได้ในชีวิตประจำวันครับ ไม่ใช่ว่าในชีวิตประจำวันจะเจริญสติได้อย่างเดียวหรอกครับ

ครูบาอาจารย์ระดับหลวงปู่เทสก์ เวลาญาติโยมเข้าไปกราบท่านคราวละเป็นร้อยเป็นพัน ท่านยังเคยขยับนิ้วไปเรื่อยๆ เป็นเครื่องอยู่เลยครับ ทั้งที่สติสัมปชัญญะของท่านบริบูรณ์แล้ว เราจึงควรมีเครื่องอยู่ เครื่องกระตุ้นสติสัมปชัญญะประจำตัวไว้บ้าง จะช่วยให้จิตใจไม่ห่างไกลธรรม คลุกคลีอยู่กับธรรม และเจริญในธรรมโดยง่าย

ขอเพิ่มเติมเรื่องการถือศีลสักหน่อยครับ คือความรู้สึก หรือทัศนะต่อศีลของชาวบ้านกับผู้ปฏิบัติจะต่างกัน

ชาวบ้านเขาถือว่าศีลคือข้อห้าม ถ้าฝ่าฝืนจะบาป นักปฏิบัติเห็นว่าศีลเป็นเครื่องสบายกายสบายใจ ทำแล้วจิตสงบสบาย

ชาวบ้านจะถือศีล ก็ต้องสมาทานเป็นข้อๆ นักปฏิบัติตั้งใจละอกุศล เจริญกุศลในจิต แล้วเกิดศีลขึ้นมาเอง

ชาวบ้านเห็นว่าศีลทำให้กายและวาจาเรียบร้อย นักปฏิบัติเห็นว่า ใจที่เป็นปกติเรียบร้อย ไม่หลงตามกิเลสคือศีล เมื่อใจเรียบร้อยแล้ว กายวาจาก็เรียบร้อยไปด้วยโดยไม่ต้องควบคุม

ศีลของชาวบ้านจะขาดหรือไม่ ต้องอาศัยการตีความ เช่น จะปาราชิกเพราะเสพเมถุนนั้น อวัยวะต้องล่วงเข้าไปชั่วเมล็ดงาขึ้นไป ฯลฯ ศีลที่ต้องตีความเป็นศีลโลกๆ เหมือนรัฐธรรมนูญที่ต้องตีความกันเรื่องๆ ส่วนศีลเหนือโลกไม่ต้องตีความ เพราะผู้ปฏิบัติที่มีสติสัมปชัญญะย่อมไม่นำตนเข้าสู่ภาวะล่อแหลมต่อการเสียศีล

ความแตกต่างกันนี้เอง ทำให้ชาวบ้านเขาถือศีลได้อย่างกะพร่องกะแพร่ง ส่วนผู้ปฏิบัติที่แท้จริงจะมีศีลโดยไม่ต้องสมาทานและรักษา เพราะสติสัมปชัญญะที่รักษาจิตตนเองนั้นแหละ คือเครื่องทำศีลให้สะอาดบริสุทธิ์ไปในตัว

จิตที่มีสติสัมปชัญญะอยู่อย่างสมบูรณ์ จนเห็นความปรุงแต่งของจิตเกิดขึ้นจัดเป็นมหากุศลจิตครับ มันจะไม่มีความรู้สึกทางเพศหรอกครับ เรื่องนี้เมื่อนานแล้ว มีพระสอนว่าขณะเสพกามก็ให้ดูจิตไปด้วย แล้วผมแสดงความเห็นว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำอย่างนั้น จำได้ว่ามีท่านผู้หนึ่งซึ่งถอนตัวไปจากลานธรรมแล้ว แย้งว่า เป็นไปได้ แต่จนป่านนี้ ผมก็ยังเห็นว่าเป็นไปไม่ได้อยู่ดี เว้นแต่ผู้ชายคนนั้น สามารถเสพกามได้ทั้งที่จิตปราศจากการย้อมของกามราคะ เพราะมหากุศลจิตจากการเจริญสติสัมปชัญญะ กับอกุศลจิตเช่นจิตที่มีกามราคะ มันเกิดพร้อมกันไม่ได้หรอกครับ

จิตที่เป็นกุศลกับอกุศลจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ ตัวอย่างเช่น จิตมีอกุศลอยู่ เช่น กำลังหลงเหม่อด้วยอำนาจของโมหะ หรือเผลอเพลินด้วยอำนาจของราคะ แล้วต่อมาเกิดมีสติสัมปชัญญะขึ้นมา จิตที่เป็นอกุศลจะดับทันที เกิดเป็นกุศลจิตในฉับพลัน

ดังนั้น พอรู้ตัวแล้ว ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปพยายามละกิเลส เพราะกิเลสจริงๆ ดับไปแล้ว เหลือแต่ความจำกิเลสได้เท่านั้นเอง ตรงจุดนี้ผู้ปฏิบัติมักจะหลงผิดไปพยายาม "ละ" กิเลส แล้ว "ต่อสู้" กับกิเลสอย่างเอาเป็นเอาตายทีเดียว

ดังนั้น ถ้าเรามีกิเลสอยู่ แล้วเกิดสติสัมปชัญญะรู้ทันว่ามีกิเลส ก็ให้รู้แล้วปล่อยวางเสีย อย่าไปยินร้ายกับกิเลสในอดีตที่ดับไปแล้วนั้น หรือถ้าจิตเกิดความอึดอัดกลัดกลุ้มมากๆ หรือแน่นขึ้นมาเต็มอก ถ้ารู้ด้วยความเป็นกลางไม่ได้ ก็เปลี่ยนอารมณ์เสีย ความรู้สึกอึดอัดเหล่านั้นจะดับไปทันที

เช่น เผลออยู่ (เป็นอกุศลจิต) แล้วเกิดรู้ตัว (เป็นมหากุศลจิต) ว่าเผลอ แล้วเกิดความพยายามดึงความรู้สึกกลับมา ด้วยความหลงผิด (เป็นอกุศลอีกรอบหนึ่ง) ว่าจิตหนีไป ต้องดึงคืนมา หรือพอรู้ตัวว่าเผลอไปแล้ว แทนที่จะยุติอยู่แค่ปัจจุบัน กลับไปห่วงว่า "ทำอย่างไรหนอ เราจะไม่เผลออีกในอนาคต" แล้วก็พยายามควบคุมบังคับจิตตนเอง จนเกิดความรู้สึกแน่นหน้าอก (เป็นวิบากของอกุศลรอบหลัง) ตรงนี้ถ้ารู้ทันด้วยจิตที่เป็นกลาง ความอึดอัดก็จะดับไป แต่ถ้าทำไม่ได้ แค่เปลี่ยนอารมณ์เสียใหม่เช่น หันไปชมนกชมไม้ จิตก็จะโปร่งเบาทันทีเพราะได้ผัสสะที่ชอบใจ ถัดจากนั้นจึงค่อยมาเจริญสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันความสุขหรือความพอใจต่อไป

หรืออย่างนักปฏิบัติส่วนมากจะติดสมถะ จิตหลงไปเกาะอารมณ์อันเดียวนิ่งอยู่ พอรู้ตัวว่าหลงไปแล้ว ก็ควรพอใจแค่นั้น เพราะนั่นเป็นการรู้เท่าทันแล้วในปัจจุบัน ไม่ต้องกังวลไปถึงอนาคตว่า "ทำอย่างไรหนอ เราจะไม่หลงเพ่งอีกในอนาคต" ถ้ากังวลและพยายามบังคับจิตไม่ให้หลงใหลไปเกาะอารมณ์นิ่งๆ นั้น จะเกิดอึดอัดทันที ตรงนี้แก้ง่ายมาก แค่หยุดเพ่งเสีย จิตก็หลุดออกมาแล้ว (ความจริงไม่ใช่จิตหลุดออกมา แต่จิตที่เพ่งมันดับไป เกิดจิตที่ไม่เพ่งแทน)

การที่เรารู้เท่าทันกลไกการทำงานของจิตมากๆ นั้น จะช่วยให้การปฏิบัติราบรื่นเข้าทุกที ซึ่งการจะรู้ทันก็อาจทำได้ด้วยการศึกษาปริยัติธรรมบ้าง ด้วยการศึกษาจากครูบาอาจารย์บ้าง แต่ถึงจะรู้ปริยัติหรือฟังครูบาอาจารย์มามากเพียงใด เวลาลงมือปฏิบัติจริงก็มักจะพลิกตำราไม่ทัน จะไม่เหมือนกับความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ของตนเอง ที่ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งชัดเจนและเรียบง่ายเข้าทุกทีๆ

ความจริงเมื่อจิตเกิดสติสัมปชัญญะนั้น จะเกิดมหากุศลจิตขึ้นมาทันที อำนาจของการเจริญสติสัมปชัญญะจะทำให้กิเลสทำงานไม่ได้ เมื่อนานเข้า อนุสัย ซึ่งเป็นกิเลสละเอียดที่ซ่อนตัวอยู่ในจิตใต้สำนึกจะอ่อนกำลังลง เพราะมันไม่สามารถเจริญงอกงามเป็นกิเลสหยาบๆ ขึ้นมาได้ (เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีหัวอยู่ใต้ดิน) ถ้าเราคอยตัดยอดทิ้งไปเรื่อยๆ ไม่ให้ปรุงอาหารได้ หัวของมันก็จะค่อยๆ ฝ่อไปเพราะขาดอาหาร)

เมื่อกำลังของสติ สมาธิ และปัญญาแก่รอบจริงๆ แล้ว สติสมาธิและปัญญาจะรวมกำลังกันเข้าเป็นหนึ่ง แล้วขุดคุ้ยเข้าไปทำลายกิเลสละเอียดที่ฝังซ่อนอยู่ในกมลสันดานเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ความในใจ
เพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากให้ความรักความเมตตาแวะเวียนไปสนทนาธรรมกับผู้เขียนเสมอ ส่วนมากมักถามถึงแนวทางปฏิบัติที่ผู้เขียนดำเนินมา เป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องพูดคุยในเรื่องเดิมๆ อยู่แทบทุกวัน ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อทุ่นแรงตนเอง หากเพื่อนนักปฏิบัติท่านใดต้องการทราบแนวทางปฏิบัติของผู้เขียน อ่านแล้วคงพอทราบได้ จะช่วยให้การสนทนาสั้นลง เป็นการประหยัดเวลาได้ทั้งสองฝ่าย

30 กรกฎาคม 2545

ใจความ
1. สิ่งใดคือจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง

2. ความทุกข์คืออะไร ความไม่สบายกาย และความไม่สบายใจ หรือทุกข์ที่เนื่องด้วยกายและทุกข์ที่เกิดจากจิต เช่น ความแก่ เจ็บ ตาย การเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ การพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์ (ภพ) คือทุกข์

3. ความทุกข์เกิดจากอะไร ตัณหา ซึ่งมีที่มาจากความไม่เข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ (อวิชชา)

4. ทางแห่งความดับทุกข์ มรรคมีองค์ 8 หรือศีล สมาธิ ปัญญา ย่อลงเป็นการเจริญสติ ซึ่งเป็นเครื่องมือเฝ้าสังเกตการณ์จนเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ เมื่อเห็นตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่วย คลายกำหนัดแล้วหลุดพ้น และย่อมรู้ว่าหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์แล้ว

5. การเจริญสติคืออะไร คือการระลึกรู้ (ข้อ 6) ถึงสภาวธรรม (ข้อ 7) ที่กำลังปรากฏ (ข้อ 8) ตามความเป็นจริง (ข้อ 9)

6. การระลึกรู้ทำอย่างไร แทบทุกคนระลึกรู้ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ แค่รู้ไปตามธรรมชาติโดยไม่เติมแต่งสิ่งใดลงไปในการรู้นั้น ก็จะรู้สภาวธรรมได้/สภาวธรรมรู้ง่ายกว่าที่คิดไว้มากนัก

7. สภาวธรรมคืออะไร คือรูปธรรมและนามธรรมอันเป็นปรมัตถธรรมที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายจิตใจ อันเป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความคิดฝันหรือจินตนาการเอาเอง

8. ที่กำลังปรากฏหมายถึงอะไร หมายถึงสภาวธรรมที่ปรากฏเป็นอารมณ์ปัจจุบันในขณะจิตต่อหน้านี้ ผู้ปฏิบัติต้องไม่หน่วงอาลัยถึงสภาวธรรมในอดีต และไม่กังวลถึงสภาวธรรมในอนาคต

9. ตามความเป็นจริงหมายถึงอะไร หมายถึงรู้สภาวะตรงตามที่มันเป็น และไม่เข้าไปแทรกแซงสภาวะเหล่านั้นด้วยความอยาก (ตัณหา) และความเห็นผิด (ทิฏฐิ)

10. ระลึกรู้แล้วได้อะไร
1. ได้ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
2. ได้ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
3. ได้ความสมบูรณ์แห่งศีล
4. ได้ความตั้งมั่นของจิตหรือสัมมาสมาธิ
5. ได้สัมมาทิฏฐิ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจธรรมชาติ
6. ได้ความเบาบางจางคลายจากความยึดถือทั้งหลาย และ
7. ได้ความหลุดพ้นและความรู้เกี่ยวกับความหลุดพ้น

1. จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา
1.1 พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มุ่งตอบปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรเราจะเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้

1.2 คนทั้งหลายมักมองข้ามเรื่องความพ้นทุกข์ เพราะไม่เห็นความจริงของชีวิตว่า ที่เราต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อหนีทุกข์ทุกข์กันทั้งนั้น แม้แต่การศึกษาศาสตร์สาขาอื่นๆ ก็ด้วยความหวังว่า จะได้ใช้เป็นวิชาชีพ หรือสร้างความบันเทิงใจ หรือเป็นประโยชน์อย่างอื่ม อันเป็นการผ่อนคลายความทุกข์ของชีวิตนั่นเอง ซึ่งศาสตร์เหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นควรแก่การศึกษา แต่หากเข้าใจพุทธศาสตร์ซึ่งมุ่งแก้ทุกข์โดยตรงด้วย ก็ย่อมช่วยให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

1.3 บางคนอาจมองเลยไปอีกว่า พระพุทธศาสนามองโลกแง่ร้ายเกินไป คือมองว่าชีวิตมีแต่ความทุกข์ ประเด็นนี้ต้องขอแขวนไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพราะถ้าอธิบายกันในขณะนี้ก็จะกลายเป็นข้อถกเถียงทางปรัชญาไป

2. ความทุกข์คืออะไร
2.1 พระพุทธศาสนามองความทุกข์ไว้อย่างลึกซึ้งและหลายแง่มุม มากกว่าความทุกข์ที่พวกเรารู้จักกันทั่วๆ ไป กล่าวคือ

2.1.1 ทุกขเวทนา คือความทุกข์ทั่วไปที่พวกเรารู้จักกันอยู่แล้ว ได้แก่ความทุกข์กายทุกข์ใจนั่นเอง สำหรับผู้ที่ไม่เคยเจริญสติอาจรู้สึกว่า นานๆ ทุกขเวทนาจึงเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง แต่ผู้ที่เจริญสติอยู่จะพบว่า ทุกขเวทนาเกิดขึ้นบ่อยมาก เช่น ถ้าเรามีสติรู้กายอยู่ จะพบว่าความทุกข์เหมือนสัตว์ร้ายที่วิ่งตามทำร้ายเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องคอยเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องกิน ต้องดื่ม ต้องขับถ่าย ต้องเช็ดล้าง ต้องเกา ฯลฯ แทบไม่ได้หยุดพักเลย บางคราวมีความป่วยไข้อันเป็นความบีบคั้นที่รุงแรง และท้ายที่สุดเมื่อหมดกำลังวิ่งหนีทุกข์ เราก็จะถูกความทุกข์ทำร้ายเอาจนตาย

ยามใดที่ทุกขเวทนาบรรเทาลง เราจะรู้สึกว่าเป็นสุข แต่ไม่นานเลย ความทุกข์ก็ตามมาทันอีกคราวหนึ่ง

หากมีสติรู้อยู่ที่จิตใจก็จะพบว่า จิตของเราเกิดความเครียดขึ้นแทบตลอดเวลา ยามใดมีความเครียดน้อยลงก็รู้สึกเป็นสุข ยามใดมีความเครียดมากขึ้นก็รู้สึกเป็นทุกข์

2.1.2 ทุกขลักษณะ ทุกข์ชนิดนี้ไม่ใช่ความทุกข์ในความหมายทั่วไปที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่มันเป็นลักษณะทั่วไปของสิ่งที่เป็นสังขาร (คือร่างกายจิตใจและสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย) ที่ว่า สังขารทั้งหลายไม่อาจคงทนอยู่ได้ตลอดไป ดังนั้น ตามความหมายนี้ กระทั่งความสุขก็มีลักษณะเป็นความทุกข์เช่นกัน คือมีความทนอยู่ไม่ได้ เรื่องทุกขลักษณะนี้จะเห็นชัดขึ้น เมื่อได้ลงมือเจริญสติแล้ว ในชั้นนี้จึงควรทราบไว้เพียงนี้ก่อน

2.1.3 ทุกขสัจจ์ ทุกข์ชนิดนี้เป็นทุกข์ที่ลึกซึ้งกว่าทุกข์อย่างอื่น เพราะเป็นการมองความทุกข์อย่างพระอริยบุคคล หากเราฟังธรรมอย่างผิวเผินอาจรู้สึกว่าทุกขสัจจ์ไม่ใช่เรื่องที่ลึกซึ้งอะไรนัก เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และความไม่สมปรารถนา เป็นทุกข์ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ใครๆ ก็ทราบว่าเป็นความทุกข์เช่นกัน

ความลึกซึ้งของทุกขสัจจ์อยู่ตรงที่ว่า

2.1.3.1 มีสภาวะที่เป็นทุกข์ แต่ไม่มีผู้เป็นทุกข์ เพราะพระอริยบุคคล ย่อมเห็นความจริงว่า ในโลกนี้ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่ธรรมชาติบางอย่างที่มารวมตัวกันเข้าชั่วคราว แล้วโลกสมมติเรียกว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เท่านั้นเอง ซึ่งธรรมชาติที่ว่านั้นก็คือรูป (ธรรม) และนาม (ธรรม) ทั้งหลายนั่นเอง

2.1.3.2 ลำพังมีรูปและนามมาประกอบกันแล้ว ก็ยังไม่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น ต่อเมื่อมีความอยากและความยึดมั่นเกิดขึ้นแล้วนั่นแหละ ทุกข์จึงเกิดขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อเกิดความอยาก/ความยึดถือก็เกิดภพหรือความมี/ความเป็นขึ้นมา แล้วก็ต้องทุกข์เพราะความมี/ความเป็นนั้น เช่นเมื่อยึดรูปนามกลุ่มหนึ่งว่าเป็นตัวเรา และยึดรูปนามกลุ่มอื่นว่าเป็นสามี/ภรรยาของเรา ก็จะต้องทุกข์เพราะความเป็นภรรยา/สามี ถ้าเป็นนักศึกษาก็ทุกข์อย่างนักศึกษา เป็นอาจารย์ก็ทุกข์อย่างอาจารย์ เป็นพ่อแม่ก็ทุกข์อย่างพ่อแม่ เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ทุกข์อย่างนักปฏิบัติธรรม เป็นต้น พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนว่า ภพ (อุปาทานขันธ์) ทั้งปวง ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น

การเจริญสติเป็นทางสายเดียวที่จะทำให้เรารู้แจ้งถึงสัจธรรมเหล่านี้ได้

2.2 ความทุกข์ที่พระพุทธศาสนาสอนให้มุ่งปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปในเบื้องต้นได้แก่ความทุกข์ทางใจที่เกิดจากความถือมั่นในรูปธรรมและนามธรรมทั้งปวง หรือทุกขสัจจ์นี่เอง ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นเกิดจากความไม่เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของรูปและนามที่ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ (ลักษณะ) และเป็นอนัตตา ส่วนทุกขเวทนาทางกายในชาติปัจจุบันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องแก้ไขตามสถานการณ์เป็นคราวๆ ไป โดยอยู่ในสภาพที่ว่า แม้กายทุกข์ แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย

3. ความทุกข์เกิดจากอะไร
3.1 ทุกขสัจจ์เกิดจากสมุทัย ซึ่งได้แก่ตัณหาหรือความทะยานอยากของจิตที่รักสุขและเกลียดทุกข์ จึงเข้าไปยึดถือรูปและนามทั้งปวง เพราะอยากให้มีหรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อให้มีสุข หรือไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อหนีทุกข์

3.2 ความอยากเกิดขึ้นก็เพราะความไม่รู้จักธรรมชาติตามความเป็นจริงว่า (1) ในธรรมชาติไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่รูปและนามเท่านั้น กระทั่งตัวเราก็ไม่มีอยู่จริง (2) รูปและนามมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ ไม่อยู่ในบังคับของใคร (3) รูปและนามมีเหตุปัจจัยให้เกิด ต้องแปรปรวนไปตามเหตุ และถ้าเหตุดับมันก็ดับ (4) ความยึดถือในรูปและนามจะนำทุกข์มาให้ (5) ความไม่ยึดถือรูปและนามว่าเป็นตัวตนของตนจะทำให้ความทุกข์ไม่เกิดขึ้น เพราะปราศจากตัวตนที่จะเข้าไปรองรับความทุกข์ทั้งหลาย

3.3 สรุปแล้ว ความทุกข์เกิดจากจิตเข้าไปหลงอยากหลงยึดในรูปและนาม ที่จิตหลงอยากหลงยึด ก็เพราะจิตไม่รู้ความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลายนั่นเอง

4. ทางแห่งความดับทุกข์
4.1 เมื่อทราบแล้วว่าความทุกข์เกิดจากอะไร ย่อมไม่เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจว่า ความดับทุกข์เกิดจากอะไร ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการดับความอยาก (ตัณหา) โดยแก้ที่ความหลงผิดหรือความไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงนั่นเอง สมดังพระพุทธวัจนะที่ว่า เมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด (โลภะ/ตัณหา) เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น (เมื่อหลุดพ้นย่อมรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติ (ความเกิด) สิ้นแล้วพรหมจรรย์ (การศึกษาปฏิบัติธรรม) อยู่จบแล้ว

4.2 การจะให้จิตรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ การมีสติ (ในบทความนี้ สติหมายถึงสติและสัมปชัญญะ แต่ที่ไม่ได้แยกแยะรายละเอียดของสติกับสัมปชัญญะในชั้นนี้ ก็เพราะต้องการให้ผู้แรกสนใจพระพุทธศาสนา ศึกษาได้โดยไม่ซับซ้อนนัก) เฝ้าระลึกรู้ สภาวธรรม ที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง นี่เป็นเหตุผลที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ทำนองเดียวกับเมื่อเราอยากเห็นรูปภาพตรงหน้า เราก็ลืมตาขึ้นดูตรงๆ เลยทีเดียว ทั้งนี้ พระศาสดาทรงยืนยันว่า การเจริญสตินี้แหละคือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์ เพราะการถอดถอนตัณหาและทิฏฐิ (ความเห็นผิดจากความจริง) ในโลกคือรูปนามเสียได้

4.3 พวกเราบางคนได้ยินคำสอนที่ว่า ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้แก่การเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 รวบย่อลงมาก็คือการศึกษาปฏิบัติในเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา สิ่งที่ได้ยินมานี้ถูกต้องเช่นกัน แต่ควรทำความเข้าใจให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า การเจริญอริยมรรคหรือการรักษาศีล การทำสมาธิ และการเจริญปัญญา ชนิดไหนที่เกื้อกูลต่อความรู้แจ้ง และชนิดไหนไม่เกื้อกูลต่อความรู้แจ้ง

4.4 แท้จริงการบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลาย เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง พระองค์เองก็ทรงบำเพ็ญบารมีมามากมายก่อนที่จะตรัสรู้ (เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงด้วยพระองค์เอง) เช่นทรงบำเพ็ญทานอย่างยิ่งยวดเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร บางชาติทรงถือศีลแบบยอมสละชีวิต บางชาติทรงทำสมาธิจนได้อภิญญา 5 เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก บางชาติเช่นพระชาติที่เป็นมโหสถบัณฑิตก็ทรงสะสมปัญญาบารมีอย่างยิ่งยวด แต่เหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในพระชาติเหล่านั้น กลับมาทรงตรัสรู้เอาในพระชาติสุดท้าย และทรงตรัสรู้ด้วยการเจริญอานาปานสติ จริงอยู่ถ้าพระองค์ไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีให้เต็มเปี่ยม พระองค์ย่อมไม่สามารถตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง แต่ถ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีโดยไม่ทรงเจริญสติ พระองค์ก็ทรงตรัสรู้ไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะการบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย เป็นการปรับพื้นฐานทางจิตใจของพระองค์ให้พร้อมสำหรับการแสวงหาหนทางเจริญสตินั่นเอง ตัวอย่างเช่น เพราะพระองค์เคยฝึกสละพระโอรสธิดาและพระชายาเพื่อพระโพธิญาณในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรมาแล้ว จึงทรงเข้มแข็งพอที่จะสละพระนางพิมพาและพระราหุล ซึ่งเป็นที่รักยิ่ง เพื่อไปแสวงหาพระโพธิญาณ เป็นต้น

4.5 การทำความดีทั้งหลาย ทั้งทาน ศีล สมาธิ และการเจริญปัญญาบางระดับ ไม่ได้เกื้อกูลต่อการรู้ธรรม เพียงแต่นำความสุขมาให้ด้วยกุศลวิบากหรือผลแห่งความดีเท่านั้น และบางกรณีเมื่อทำความดีอยู่ จิตกลับพลิกไปเป็นอกุศลก็ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น

4.5.1 การทำทาน หากทำโดยไม่ประกอบด้วยสติปัญญาก็อาจเป็นการพอกพูนกิเลสให้หนาหนักยิ่งขึ้น เช่นทำไปด้วยมิจฉาทิฏฐิว่า "เรา" ทำทานแล้ว เมื่อ "เรา" เกิดในชาติต่อไป "เรา" จะได้เสวยผลทานนี้ หรือเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเพราะการทำทานนี้ หรือทำไปด้วยความโลภว่า เราทำทานนี้ ขอให้ได้รับดอกผลมากมายอย่างนี้ๆ เป็นต้น

4.5.2 การถือศีล หากไม่มีสติปัญญากำกับย่อมเป็นการง่ายที่ผู้ถือศีลจะกลายเป็นการถือศีลในลักษณะสีลัพพตปรามาส (ถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย) เช่น หลงผิดว่า การบำเพ็ญข้อวัตรที่กดข่มจิตใจมากๆ จะทำให้กิเลสเบาบางลง หรือยิ่งถือศีลก็ยิ่งพอกพูนกิเลสเช่น เกิดมานะมากขึ้น คือเกิดความสำคัญมั่นหมายว่า เราดีกว่าคนอื่นเพราะเราถือศีล ส่วนคนอื่นเลวกว่าเราเพราะไม่มีศีล เป็นต้น

4.5.3 การทำสมาธิ หากไม่ประกอบด้วยสติปัญญา ยิ่งทำสมาธิจิตยิ่งน้อมเข้าหาความสงบหรือความสุขสบาย หรือเกิดมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดมากขึ้นๆ ด้วยอำนาจของโมหะและราคะ เช่น ทำสมาธิแล้วเกิดความเคลิบเคลิ้มขาดสติ หรือเกิดนิมิตต่างๆ มากมาย บางคนถึงขนาดเห็น "นิพพาน" เป็นบ้านเมืองหรือเป็นดวงแก้ว บางคนเกิดความรู้ความเห็นต่างๆ แล้วหลงภูมิใจอยู่กับความรู้เหล่านั้น เป็นต้น

4.5.4 การเจริญปัญญา หากไม่ประกอบด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ จำแนกไม่ออกระหว่างสมถะกับวิปัสสนา ก็เป็นการง่ายที่จะหลงทำสมาธิแล้วคิดว่ากำลังเจริญปัญญาอยู่ เช่น บางท่านมุ่งใช้ความคิดพิจารณาสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา วัตถุสิ่งของ ผู้คน ฯลฯ ให้เป็นไตรลักษณ์ การกระทำเหล่านั้นเป็นเพียงการทำสมถกรรมฐาน เป็นไปเพื่อความสงบของจิต บางครั้งแทนที่จะเกิดความสงบ อาจเกิดความฟุ้งซ่านแทนก็ได้ บางคนยิ่งคิดพิจารณาไตรลักษณ์ มานะอัตตากลับยิ่งพอกพูนขึ้นก็มี ทั้งนี้เพราะไตรลักษณ์นั้น คิดเอาไม่ได้ แต่ต้องประจักษ์ชัดถึงสภาวะที่แท้ของรูปธรรมและนามธรรม ด้วยความมีสติ และด้วยจิตที่มีความตั้งมั่น (สัมมาสมาธิ) จึงจะเห็นไตรลักษณ์ด้วยปัญญาได้จริง

4.6 การทำความดีที่เกื้อกูลต่อการรู้ธรรม ต้องเป็นการทำดีที่เกื้อกูลต่อการเจริญสติที่ถูกต้อง หรือเจืออยู่ด้วยสติปัญญาในขณะที่ทำความดีนั้น เช่น

4.6.1 การทำทาน ควรมีสติปัญญากำกับจิตใจของตนไว้ ทั้งก่อนทำ ระหว่างทำและหลังทำ หากเป็นการกระทำด้วยศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ทำแล้วตนเองหรือผู้อื่นไม่เดือดร้อนก็ควรทำตามความเหมาะสม หรือทำแล้วจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน ก็มีสติระลึกรู้ความสุข ความเบิกบานนั้นไป การทำทานจึงเป็นเครื่องมือฝึกการเจริญสติได้เหมือนกัน แต่ถ้าทำด้วยความเมาบุญด้วยอำนาจโลภะและโมหะ ทานนั้นก็ไม่เกื้อกูลใดๆ ต่อการเจริญสติ

4.6.2 การรักษาศีล ศีลบริสุทธิ์ได้ยาก หากไม่มีสติกำกับอยู่ที่จิต แต่หากมีสติกำกับรู้อยู่ที่จิตใจตนเอง ศีลชนิดที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล ย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ กล่าวคือ เมื่อโทสะเกิดขึ้นก็มีสติรู้ว่าโทสะเกิดขึ้น โทสะย่อมครอบงำจิตไม่ได้ ศีลข้อ 1 ก็เกิดขึ้นเต็มบริบูรณ์เพราะจิตไม่คิดฆ่าหรือทำร้ายใคร ถ้าโลภะเกิดขึ้นแล้วมีสติรู้ทัน ย่อมไม่ทำผิดศีลข้อ 2 และข้อ 3 โดยอัตโนมัติ เป็นต้น

4.6.3 การทำสมาธิ สัมมาสมาธิหรือความตั้งมั่นของจิตเป็นองค์ประกอบหนึ่งของอริยมรรคมีองค์ 8 ดังนั้น สมาธิในพระพุทธศาสนาจึงต้องประกอบด้วยองค์มรรคอื่นๆ ด้วยเช่น ต้องมีสติและปัญญากำกับอยู่เสมอ สมาธิที่ขาดสติปัญญา เป็นสมาธิที่ให้ความสุขหรือของเล่นอื่นๆ ได้ก็จริง แต่ไม่มีประโยชน์ต่อการเจริญสติ เพราะจิตไม่ตั้งมั่นจริง และเมื่อจิตไม่ตั้งมั่นศีลและปัญญาก็ไม่อาจเกิดให้บริบูรณ์ได้

4.6.4 การเจริญปัญญา การเจริญปัญญาที่ถูกถ้วนสมบูรณ์ที่สุดจะกล่าวในหัวข้อเกี่ยวกับการเจริญสติต่อไป ส่วนในหัวข้อนี้จะกล่าวเฉพาะการเจริญปัญญาในขั้นต้น ได้แก่ การศึกษาปริยัติสัทธรรม ซึ่งชาวพุทธแม้จะเป็นนักปฏิบัติก็ไม่ควรทอดทิ้ง อย่างน้อยควรเรียนให้รู้หลักการขั้นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาไว้บ้าง มิฉะนั้นอาจกลายเป็นผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่นๆ ทั้งที่คิดว่าตนเป็นชาวพุทธก็ได้

4.7 การเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งดูว่ามีหลายอย่างนั้น ถ้าเจริญสติได้ถูกต้อง ศีลสมาธิและปัญญาจะเกิดขึ้นเอง เช่น ในหนังสืออรรถกถาธรรมบท กล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งไปทูลลาสิกขาจากพระพุทธเจ้าเพราะรักษาศีลจำนวนมากไม่ไหว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ท่านเจริญสติแทนการตามรักษาศีลจำนวนมาก ท่านทำแล้วสามารถทำศีลของท่านให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ทั้งยังบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วย หรือหากเรามีสติจนสามารถระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ ในขณะนั้น เราจะเกิดสัมมาสมาธิโดยอัตโนมัติ คือจิตจะเกิดความตั้งมั่นแล้วมีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่เข้าไปหลงแทรกแซง สิ่งที่ตามมาก็คือปัญญาที่รู้จักสภาวะของรูปและนาม รู้ถึงความเป็นไตรลักษณ์ของรูปและนาม และรู้ได้แม้กระทั่งอริยสัจจ์ 4 ปัญญาเหล่านี้เกิดจากการเจริญสติด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิทั้งสิ้น ดังนั้นจะกล่าวว่า การปฏิบัติตามทางแห่งความพ้นทุกข์ จะต้องเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ก็ได้ ย่อลงมาเป็นการเจริญไตรสิกขาคือศีลสมาธิและปัญญาก็ได้ หรือถ้าย่อลงให้ถึงที่สุด การเจริญสตินั้นแหละคือการเจริญไตรสิกขาและมรรคมีองค์ 8


5. การเจริญสติคืออะไร

5.1 ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า พระพุทธศาสนาอธิบายว่า ความทุกข์เกิดจากความอยากและความยึดถือในรูปและนาม ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้สภาวธรรม (รูปนาม) ทั้งหลายตามความเป็นจริง ดังนั้นการที่จะทำลายความอยากและความยึดถือในรูปนามทั้งหลาย จึงต้อขจัดความไม่รู้ ด้วยการมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปนามนั้น

5.2 การทำปัญญาหรือความรู้ให้เกิดขึ้นนั้น พวกเราเคยชินที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการเก่าๆ ได้แก่ (1) การรับถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์ของผู้อื่นด้วยการอ่านและการฟัง และ (2) การขบคิดใคร่ครวญในเรื่องนั้นๆ ซึ่งวิธีการทั้ง 2 นี้ใช้ได้สำหรับการเรียนรู้วิชาการอื่นๆ แต่การทำความเข้าใจพระพุทธศาสนา จำเป็นต้องอาศัยการหาความรู้โดยอีกวิธีหนึ่ง เพิ่มเติมจาก 2 วิธีแรกคือ (3) การเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของรูปและนามตามความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะการรับฟังความรู้ของท่านผู้อื่นให้เราได้เพียงความจำ ส่วนการคิดให้เราได้เพียงความคิด ทั้งความจำและความคิดอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ แต่ทั้งนี้ในเบื้องต้น เราต้องศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการอ่านและการฟัง แล้วนำมาคิดใคร่ครวญเพื่อให้รู้ถึงแนวทางของการเฝ้าสังเกตการณ์ของรูปและนามได้อย่างถูกต้องต่อไป

5.3 การแสวงหาความรู้ด้วยการอ่าน การฟัง และการคิด เป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่พวกเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ในที่นี้จึงจะข้ามไปกล่าวถึงการแสวงหาความจริงด้วยการเจริญสติ อันได้แก่ การเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของรูปและนาม โดย การระลึกรู้ (ข้อ 6) ถึงสภาวธรรม (ข้อ 7) ที่กำลังปรากฏ (ข้อ 8) ตามความเป็นจริง (ข้อ 9)


6. การระลึกรู้ทำอย่างไร
6.1 มนุษย์โดยทั่วไปสามารถระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น ในขณะนี้ยืนหรือเดิน หรือนั่ง หรือนอนก็ทราบได้ ในขณะนี้มีความสุข หรือความทุกข์ หรือเฉยๆ ก็ทราบได้ ในขณะนี้มีความรัก โลภ โกรธ หลง สงสัย ฟุ้งซ่าน หดหู่ เกียจคร้าน ศรัทธา วิริยะ หรือมีความสงบ ฯลฯ ก็ทราบได้ แต่มนุษย์ละเลยที่จะเฝ้ารู้อารมณ์เหล่านั้น รวมทั้งนึกไม่ถึงด้วยว่า การเจริญสติที่แท้จริง ก็คือการใช้จิตใจที่เป็นธรรมชาติธรรมดานี้เองไปรู้อารมณ์ แต่มักเกิดความเข้าใจผิดว่า การเจริญสติหรือการระลึกรู้นั้น เป็นสภาพอะไรอย่างหนึ่งที่พิเศษเหนือธรรมดา ดังนั้นแทนที่จะใช้จิตใจธรรมดาไปรู้อารมณ์ พวกเรากลับพยายามสร้าง "รู้" แบบผิดธรรมดาขึ้นมาแทน

6.2 การบ่งชี้สภาวะว่า การมีสติ หรือการมีรู้ ที่ถูกต้องเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะเพียงแต่เราเติมความคิดเห็นของเราลงไปว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะเริ่มเข้าใจผิดทันที แต่หากเรามาพูดกันถึงสภาวะของการรู้ที่ไม่ถูกต้องเสียก่อน (ซึ่งล้วนแต่เกิดจากตัณหาหรือความอยาก และทิฏฐิหรือความเห็นผิดทั้งหลาย) เราก็จะเข้าใจถึงสภาวะรู้ที่ถูกต้องได้ไม่ยากนัก สภาวะผิดพลาดที่สำคัญได้แก่

6.2.1 รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ (เผลอ/ลืมตัว)
6.2.1.1 สภาวะรู้ เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสภาวะไม่รู้ อันได้แก่ความเหม่อ ความเผลอ ความลืมตัว ความใจลอย หรือความฝันกลางวัน นั่นเอง เป็นสภาวะของการปล่อยจิตใจให้หลงเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย แม้กระทั่งเพลินไปในโลกของความคิดฝันและจินตนาการของตนเอง ตัวอย่างเช่นเมื่อตามองเห็นรูปบางอย่างแล้วเกิดจำได้ว่านั่นเป็นรูปผู้หญิงสวย/ผู้ชายหล่อ ก็มัวหลงเพลินมองตามอย่างลืมเนื้อลืมตัว หรือเมื่อนั่งอยู่คนเดียว ก็ใจลอยคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ชัดว่าคิดอะไร เป็นต้น

6.2.1.2 สภาวะที่เรียกว่าเผลอหรือลืมตัวนี้ เป็นสภาวะที่เราลืมร่างกายของตนเองเหมือนกับว่ามันหายไปจากโลก รวมทั้งลืมจิตใจของตนเอง คือในขณะนั้นจิตใจจะมีสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่วอย่างไรก็ไม่สามารถจะรู้ได้ กล่าวได้ว่า ในเวลาที่เราเผลอหรือขาดสตินั้น เราไม่สามารถรู้กาย เวทนา จิต และธรรมได้นั่นเอง

6.2.1.3 ขณะใดที่เราเผลอ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังเผลออยู่ ขณะนั้นความเผลอจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนี้เพียงแค่รู้ว่ากำลังเผลอก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.2 รู้ ไม่ใช่คิด
6.2.2.1 สภาวะรู้ ไม่เหมือนกับสภาวะคิด ในขณะที่คิดนั้น เรารู้เรื่องที่กำลังคิดเป็นอย่างดี แต่เราลืมตัวเองคล้ายกับเวลาที่เผลอนั่นเอง การรู้เป็นการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ตามที่มันเป็นจริง ในขณะที่การคิด เป็นการคาดว่าความจริงมันน่าจะเป็นอย่างไร (แต่ทั้งนี้หากมีกิจจำเป็นต้องคิด เช่นต้องคิดเพื่อการเรียนหรือการทำงาน เราก็ต้องคิดไปตามหน้าที่ของตน)

6.2.2.2 นักปฏิบัติจำนวนมากไม่เข้าใจการเจริญสติ โดยไปสำคัญผิดว่าการคิดหรือการตรึกตรองเรื่องกายและใจตนเองว่า "เป็นอสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" เป็นการทำวิปัสสนา แท้จริงการเจริญสติหรือการเจริญวิปัสสนาจะต้องรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดถึงสภาวธรรมนั้นๆ เพราะความคิดของปุถุชนย่อมปนเปื้อนด้วยอคติเสมอๆ หรือคิดอยู่ในจุดยืนของความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิชนิดต่างๆ เช่น คิดว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงแต่จิตนี้เที่ยง พอร่างกายนี้ตายลงจิตก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ หรือคิดว่าตัวเรามีอยู่ แต่พอตายลงก็สูญไปเลย เป็นต้น

การคิดพิจารณาไม่ใช่วิปัสสนา ดังที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หนึ่งของผู้เขียน (ท่านเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูมิทัตโต) สอนไว้ว่า "การคิดพิจารณากายว่าเป็นอสุภะก็เพื่อแก้นิวรณ์ (เป็นสมถะ) การคิดพิจารณาความตาย (มรณสติ) และการคิดพิจารณากายว่าเป็นธาตุเป็นขันธ์ ก็เพื่อแก้อาการของจิตบางอย่าง (เป็นสมถะ) เช่นกัน ต่อเมื่อใดปฏิบัติจนถึงจิตถึงใจตนเอง จึงได้แก่นสารของการปฏิบัติธรรม"

6.2.2.3 ขณะใดที่เราคิด แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังตั้งอกตั้งใจคิดอยู่ ขณะนั้นความคิดจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้น เพียงแค่รู้ว่ากำลังคิด ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว


6.2.3 รู้ไม่ใช่การตั้งท่าปฏิบัติ

6.2.3.1 รู้ไม่มีการตั้งท่าก่อนจะรู้ แต่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย เมื่อคิดจะปฏิบัติธรรมก็ต้องรีบตั้งท่าปฏิบัติเพราะไปแปลความหมายของ "การปฏิบัติ" ว่าเป็น"การกระทำ" ทั้งที่การรู้นั้น ไม่ต้องทำอะไรมากกว่าการรู้เข้าไปตรงๆ ตามธรรมชาติธรรมดา เช่นเดียวกับเมื่อเราต้องการดูภาพตรงหน้า เราก็ทำแค่ลืมตาขึ้นดูเท่านั้น หรือเมื่อถูกยุงกัด เราก็แค่รู้ว่าคันเท่านั้น สภาวะรู้ที่เป็นธรรมชาตินั้นเรามีอยู่แล้ว แต่เพราะไม่เข้าใจหลักการเจริญสติ เราจึงตั้งท่าปฏิบัติ เหมือนนักวิ่ง 100 เมตร ที่กำลังเข้าเส้นสตาร์ท คือเกร็งทั้งกายและจิตใจ แทนที่จะรู้อารมณ์ไปอย่างสบายๆ ตามธรรมชาติธรรมดา

6.2.3.2 เมื่อคิดปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติมักบังคับใจตนเอง และเริ่มสร้างพฤติกรรมของจิตบางอย่าง เช่นการใช้สติจ้องมองดูจอภาพในใจของตน แล้วเที่ยวควานหา (scan) อยู่ในจอภาพนั้น เพื่อหาอะไรสักอย่างเอามาดู หรือการส่งจิตออกไปนิ่งอยู่ข้างหน้า แล้วคอยดูสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปฏิบัติไปด้วยตัณหาคือความอยากจะปฏิบัติธรรม และทิฏฐิคือความเห็นผิดว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้ "เรา" รู้ธรรม

6.2.3.3 เมื่อคิดปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติบางท่านที่นิยมใช้รูปหรือกายเป็นอารมณ์กรรมฐาน มักเริ่มด้วยการแทรกแซงพฤติกรรมตามธรรมชาติของกาย เช่นเมื่อคิดจะรู้ลมหายใจก็เข้าไปควบคุมจังหวะการหายใจ เมื่อคิดจะรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกายก็ไปกำหนดจังหวะการเคลื่อนไหวของมือ เท้า และท้องบ้าง การกระทำเหล่านี้ไม่ผิด ถ้าเป็นการทำสมถะหรือต้องการใช้กายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติก่อนพัฒนาไปสู่การรู้ที่แท้จริง แต่ถ้าจงใจก่อพฤติกรรมทางกายโดยคิดว่านั่นคือการเจริญสติ และรู้ไม่ทันตัณหาและทิฏฐิที่กำลังครอบงำจิตจนก่อพฤติกรรมดังกล่าวขึ้นมา นั่นก็เป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงมากอีกประการหนึ่ง

6.2.3.4 ความจริงแล้วถ้าเราจะเจริญสติหรือรู้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด เราไม่จำเป็นต้องตั้งท่าอะไรเลย ไม่ว่าทางจิตหรือทางกาย เช่นเมื่อตาเห็นรูปก็รู้รูป (สี) นั้น หากจิตเกิดปฏิกิริยายินดียินร้ายต่อรูปก็รู้ทันอีก หรือขณะนี้อยู่ในอิริยาบถใดก็รู้ไปเลยเช่น เมื่อยืนอยู่ก็รู้ว่ายืนอยู่ ยืนแล้วเมื่อยอยากเปลี่ยนอิริยาบถก็รู้ทันความอยากของตนเอง รู้ทันแล้วจะเปลี่ยนอิริยาบถเพราะมันจำเป็นก็ได้ หรือจะไม่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อดูความจริงของทุกขเวทนาไปก่อนก็ได้ หรือนั่งอยู่เฉยๆ เกิดความคิดแล้วจิตเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างใดก็รู้ไปเลยก็ได้ เป็นต้น

6.2.3.5 อย่างไรก็ตามหากนักปฏิบัติคนใดไม่สามารถรู้ปัจจุบันอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดาก็ไม่ต้องตกใจ ในเบื้องต้นจะตั้งท่าปฏิบัติเสียก่อนก็ได้ เช่น ถ้าจิตฟุ้งซ่านนักก็ทำความสงบเข้ามาก่อน แต่ต้องระวังอย่าให้เคลิ้มลืมตัว และอย่าให้เครียดขึ้นได้ ให้รู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งไปอย่างสบายๆ จะเป็นอารมณ์อะไรก็ได้ แม้กระทั่งการรู้คำบริกรรมก็ได้ เมื่อจิตใจสงบสบายแล้วจึงค่อยระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจไปตามธรรมชาติธรรมดาอีกชั้นหนึ่ง หรืออาจจะเริ่มจากการรู้ท้องพองยุบ รู้การเดินจงกรม รู้การเคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะ ฯลฯ รวมความแล้วในเบื้องต้นจะทำกรรมฐานใดก็ได้ แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่การรู้แบบไม่ตั้งท่าหรือไม่จงใจต่อไป

6.2.3.6 ขณะใดที่เราตั้งท่าปฏิบัติ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังตั้งท่า ขณะนั้นการตั้งท่าจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้น เพียงแค่รู้ว่ากำลังตั้งท่าก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.4 รู้ ไม่ใช่กำหนดรู้
6.2.4.1 รู้ไม่ใช่การกำหนดรู้ หรือการตรึกพิจารณาถึงอารมณ์ว่าเป็นรูปนาม แต่เป็นการระลึกรู้ (มนสิการ) ปัจจุบันอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดา นักปฏิบัติจำนวนมากคิดว่า รู้คือการกำหนดรู้ เพราะมักได้ยินคำพูดเกี่ยวกับการกำหนดรู้รูปนาม หรือการกำหนดรู้ปัจจุบันอารมณ์ จึงคิดว่า การรู้ต้องมีการกระทำ คือการกำหนด หรือการพิจารณาด้วย ดังนั้นพอรู้อารมณ์แล้วจึงรีบบริกรรมต่อท้ายการรู้ทันที เช่น ยกหนอ ย่างหนอ โกรธหนอ เสียงหนอ ฯลฯ นี่คือการบริกรรมไม่ใช่การรู้ (เบื้องต้นอาจจำเป็นสำหรับบางท่านที่ต้องบริกรรมก่อน แต่พึงทราบว่าจะหยุดการปฏิบัติอยู่เพียงขั้นการตามบริกรรมไม่ได้ เพราะยังไม่ใช่วิปัสสนา) หรือบางท่านนิยมการพิจารณากำกับซ้ำลงไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่การรู้เช่นกัน เช่นเมื่อตาเห็นรูปตามธรรมชาติแล้ว ก็จงใจพิจารณารูปซ้ำลงไปอีกว่า "รูปนี้เป็นเพียงสี ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ฯลฯ" หรือพิจารณาว่า "สีเป็นรูป รู้เป็นนาม" อันเป็นหารกระทำด้วยความจงใจกำหนด และเป็นการกระทำตามหลังการรู้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน จึงยังไม่ใช่การรู้ที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติธรรมดา

6.2.4.2 ขณะใดที่เรากำหนดรู้ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังจงใจกำหนดรู้ ขณะนั้นการกำหนดรู้จะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังกำหนดรู้ ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.5 รู้ ไม่ใช่เพ่ง
6.2.5.1 รู้ไม่ใช่การเพ่ง แต่นักปฏิบัติจำนวนมากชอบเพ่ง แม้แต่คนที่ไม่ชอบทำสมถะเพราะอยากเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ก็มักเพ่งโดยไม่รู้ทันจิตใจของตนเอง แท้จริงการเพ่งเป็นสภาวะที่สืบเนื่องมาจากการจงใจและการตั้งท่าปฏิบัติ คือพอคิดถึงการปฏิบัติก็จงใจปฏิบัติ แล้วเกิดการตั้งท่าปฏิบัติ มีอาการสำรวมกายใจเข้ามาให้มั่นคง ถัดจากนั้นจึงเพ่งหรือจดจ้องอย่างเอาเป็นเอาตายต่ออารมณ์ทั้งหลาย เป็นผลให้ลืมตัว และบางคนจิตใจด้านชาไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์ตามที่ควรจะเป็น หรือบางคนพอรู้กิเลสใดก็เพ่งใส่พอกิเลสนั้นดับไป (เพราะเหตุของมันดับ) ก็เกิดความสำคัญผิดว่า เราสามารถดับกิเลสได้ทุกครั้ง หรือบางคนพอรู้อารมณ์แล้ว ก็หลงเพ่งจ้องเอาสติตามจี้อารมณ์ที่เคลื่อนหนีลึกเข้าไปภายใน นี่ก็เป็นการเพ่งเหมือนกัน แต่เป็นการตามเพ่งความปรุงแต่งที่เคลื่อนไหวได้ในจิตใจตนเอง อนึ่งการเพ่งนี้ถ้าไม่จงใจรุนแรงเกินไป ก็ทำให้จิตสงบเป็นการทำสมถะหรือสมาธิได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิซึ่งจำเป็นสำหรับการทำวิปัสสนา

6.2.5.2 วิธีทำความรู้จักกับการเพ่งไม่ยากเลย ลองยกนิ้วหัวแม่มือของตนเองขึ้นมา แล้วเพ่งจ้องให้จิตใจจดจ่ออยู่ที่นิ้วนั้นอย่างเดียว เพียงไม่นานจะรู้สึกว่า เราเห็นแต่นิ้วหัวแม่มือเท่านั้น เพราะจิตจดจ่ออยู่ที่จุดเดียวนั้นด้วยความจงใจอันเกิดจากโลภะ ในขณะนั้นเห็นแต่นิ้ว กายจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เวทนาคือความรู้สึกจะสุขหรือทุกข์ก็ไม่ทราบ จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ไม่ทราบ จิตเคลื่อนไปอยู่ที่หัวแม่มือก็ไม่ทราบ รวมความแล้วจะทราบได้เฉพาะหัวแม่มือ แต่ไม่ทราบ กาย เวทนา จิต ธรรม ขอให้ผู้ปฏิบัติจำสภาวะของการเพ่งไว้ให้ดี เวลาที่เจริญสติรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็ให้สังเกตรู้ทันใจตนเอง อย่าให้หลงไปเพ่งจ้องรูปหรือนามนั้นเหมือนที่จ้องหัวแม่มือตนเอง มิฉะนั้นจะเป็นการหลงทำสมถะ ทั้งที่คิดว่ากำลังทำวิปัสสนาคือรู้รูปนามอยู่

6.2.5.3 ขณะใดที่เราเพ่ง แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังเพ่งอยู่ ขณะนั้นการเพ่งจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังเพ่ง ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.6 รู้ ไม่ใช่น้อม
6.2.6.1 รู้ไม่ใช้การน้อม เพราะอาการน้อมก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่นักปฏิบัติจำนวนมากชอบทำกัน มันเป็นการเสแสร้งแกล้งทำขึ้นมาเมื่อคิดว่าจะปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับการเพ่ง เพียงแต่การเพ่งมุ่งจะรู้อารมณ์อันเดียวให้ชัดและพยายามตรึงอารมณ์นั้นไว้ ส่วนการน้อมเป็นการหลีกหรือหนีอารมณ์เข้าหาความสงบสุขเคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว เพราะต้องการให้จิตสงบ กลายเป็นการปฏิบัติด้วยโลภะ จนจิตเกิดราคะเพลิดเพลินในความสงบสุข หรือเกิดความซึมเศร้าคือถีนมิทธะขึ้น วันใดซึมได้ที่หรือเคลิ้มได้ที่ก็สำคัญผิดว่าวันนั้นปฏิบัติดี วันใดปฏิบัติแล้วไม่ซึมหรือเคลิ้มก็เสียใจว่าวันนั้นปฏิบัติได้ไม่ดี การน้อมจิตนี้นักปฏิบัติบางท่านจะมีอุปกรณ์ช่วยคือการเปิดเทปธรรมะคลอไปด้วยระหว่างนั่งสมาธิ จะช่วยน้อมจิตให้ซึมได้ที่คือครึ่งหลับครึ่งตื่นได้โดยเร็ว

6.2.6.2 ขณะใดที่เราน้อมจิตเข้าหาความสงบ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังน้อมจิตอยู่ ขณะนั้นการน้อมจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังน้อม ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.7 รู้ ไม่ใช่จงใจรู้อะไร

6.2.7.1 รู้ไม่ใช่จงใจจะรู้อะไร ดังนั้นถ้านักปฏิบัติคนใดถามว่า ที่สอนให้รู้นั้น ควรจะรู้อะไร หรือควรจะรู้ตัวทั่วพร้อมคือรู้ทั้งตัวตั้งแต่ปลายผมถึงพื้นเท้า ผู้ที่ยังสงสัยเช่นนี้แสดงว่ายังไม่รู้จักการรู้ที่แท้จริง เพราะการรู้แท้จริงนั้น ไม่มีความจงใจว่าจะเลือกรู้สิ่งหนึ่งแล้ว ไม่รับรู้สิ่งอื่นๆ เนื่องจากความจงใจเหล่านั้นเป็นไปเพราะตัณหาและทิฏฐิล้วนๆ

6.2.7.2 การรู้คือสภาพที่จิตตื่นขึ้นจากโลกของความคิดความฝัน ทั้งนี้คนส่วนใหญ่จะตื่นเฉพาะร่างกายแต่ใจยังหลับฝันอย่างที่เรียกว่า ฝันกลางวัน ภาวะรู้คือภาวะที่จิตตื่นจากความฝัน จิตมีความตื่นตัวพร้อมที่จะรับรู้อารมณ์ทั้งปวงที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ เมื่อรู้อารมณ์แล้ว ก็พร้อมที่จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์นั้นตามธรรมชาติ และยิ่งกว่านั้นก็คือ สามารถรู้เท่าทันปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีด้วย รู้ชนิดนี้ไม่มีความจงใจว่าจะต้องรู้อารมณ์ใด แต่อารมณ์ใดปรากฏทางทวารใดก็รู้อารมณ์นั้นอย่างถูกต้อง เป็นปัจจุบัน โดยไม่หลงไปกับอารมณ์นั้น นี่แหละคือความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่รู้ตัวทั้งตัวเพราะนั่นเป็นความจงใจเพ่งความรู้สึกไปจับที่กายทั้งกาย

6.2.7.3 ขณะใดที่เราจงใจ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังจงใจอยู่ ขณะนั้นความจงใจจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังจงใจ ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.3 สรุปแล้ว ขณะใดพยายามจะรู้ หรือแสวงหาการรู้ที่ถูกต้อง (แม้กระทั่งการพยายามรักษารู้ให้ต่อเนื่อง ดูข้อ 6.6) ขณะนั้นเราจะพลาดไปสู่ความหลงผิดทันที เพราะการกระทำใดๆ ที่เกินจากการรู้ตามปกติ อันเป็นการกระทำด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐินั่นแหละ เป็นเครื่องปิดกั้นความสามารถในการระลึกรู้อารมณ์ซึ่งมีอยู่แล้วเอาไว้อย่างสนิทที่สุด ดังนั้น ไม่ควรพยายามทำให้ถูก ขณะใดรู้ว่ารู้ผิด ขณะนั้นจะเกิดการรู้ที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่มีนักปฏิบัติจำนวนมากทีเดียวที่แม้จะได้ฟังคำสอนเกี่ยวกับการเจริญสติหรือการระลึกรู้ แต่ก็ยังปฏิเสธที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปตามธรรมชาติ เพราะมีความคิดเอาเองว่า ตนเองยังมีบุญวาสนาน้อยขอทำบุญทำทานไปก่อน หรืออินทรีย์ตัวนั้นตัวนี้ยังอ่อนเกินไป หรือยังไม่สมดุลกันจะต้องพัฒนาอินทรีย์ก่อนเช่น จะต้องเพิ่มปัญญาให้สมดุลกับศรัทธา เพิ่มสมาธิให้สมดุลกับวิริยะ ทั้งนี้เพราะไม่ทราบว่า หากเจริญสติหรือรู้ได้แล้ว นั่นแหละจะทำให้อินทรีย์ทั้งหลายแก่กล้ายิ่งขึ้นและสมดุลกันด้วย

6.4 สภาวะรู้ที่ถูกต้องจะเกิดได้ง่าย ด้วยการเกื้อกูลของสติและสัมมาสมาธิ กล่าวคือ

6.4.1 หากจิตสามารถจดจำสภาวธรรมต่างๆ ได้แม่นยำ เช่น จำสภาวะของความรัก โลภ โกรธ หลง ปีติ สุข ฯลฯ ได้แม่นยำ เมื่อสภาวะเหล่านั้นปรากฏขึ้นก็จะเกิดสติรู้เท่าทันอย่างรวดเร็ว เพราะเคยรู้เคยประจักษ์ชัดอยู่ก่อนแล้ว ส่วนสภาวธรรมใดไม่รู้จักคุ้นเคย ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ไปช่วงหนึ่งก่อน จนจดจำสภาวะนั้นได้แม่นยำแล้ว จึงเกิดสติรู้ได้ง่าย

6.4.2 หากจิตมีสัมมาสมาธิ จะช่วยให้สภาวะรู้ถูกต้องง่ายขึ้น จิตที่มีสัมมาสมาธิคือจิตมีลักษณะตั้งมั่นทรงตัวไม่หวั่นไหวเลื่อนไหลไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) มีความสงบระงับคือไม่ฟูหรือแฟบไปตามอารมณ์ มีความเบาสบายแต่ไม่ใช่เบาหวิวเหมือนจะลอยไปในอากาศ มีความอ่อนโยนนุ่มนวลไม่แข็งกระด้างแกร่งเกร็ง มีความพร้อมและความว่องไวที่จะรับรู้อารมณ์ไม่ถูกกดข่มให้นิ่งเฉยซึมทื่อหรือเคลิบเคลิ้มติดสุขเหมือนคนติดยาเสพติด และมีความซื่อตรงต่อหน้าที่การรู้อารมณ์ไม่เข้าไปแทรกแซงอารมณ์เหมือนผู้พิพากษาที่ทำงานโดยไม่ลำเอียงเข้าข้างโจทก์หรือจำเลย

จิตที่มีสัมมาสมาธิสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากเข้าใจธรรมชาติที่ว่า จิตปกติธรรมดาที่ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ หรือนัยหนึ่งจิตที่มีศีลนั่นแหละคือจิตที่มีสัมมาสมาธิอยู่ในตัวเอง อย่างไรก็ตาม หากจิตของผู้ใดยังไม่มีสัมมาสมาธิจริงๆ ก็สามารถฝึกฝนอบรมได้ โดยในเบื้องต้นให้ตั้งใจรักษาศีลภายนอกเสียก่อน คือรักษาศีล 5 และศีล 8 เป็นต้น จากนั้นจึงฝึกฝนจิตให้มีศีลภายในด้วยการฝึกสมาธิ อันได้แก่ การมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง อารมณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ยั่วกิเลส เช่นการกำหนดลมหายใจ การกำหนดจังหวะเดินจงกรม การกำหนดจังหวะเคลื่อนไหวมือ การกำหนดความเคลื่อนไหวของท้อง และการกำหนดคำบริกรรม เป็นต้น ให้จงใจกำหนดรู้อารมณ์นั้นอย่างสบายๆ อย่าเคร่งเครียดหรือตั้งใจมากนัก ถึงตรงนี้จิตมีทางแยกที่จะดำเนินไปได้ 2 ทาง คือ

6.4.2.1 หากโมหะหรือโลภะเข้าแทรก จิตจะเกิดความอ่อนแอน้อมเข้าหาความสงบสบาย เกิดความเคลิบเคลิ้มบ้าง เกิดนิมิตต่างๆ บ้าง นี้เป็นทางของมิจฉาสมาธิ

6.4.2.2 หากในขณะที่กำหนดรู้อารมณ์อยู่นั้น ผู้ปฏิบัติมีสติตื่นตัวอยู่เสมอๆ ถ้าจิตขาดสติทิ้งอารมณ์กรรมฐานเผลอไปคิดเรื่องอื่นก็รู้ทัน หากจิตเกิดการเพ่งอารมณ์ก็รู้ทัน หากจิตสักว่ารู้อารมณ์ก็รู้ทัน ทั้งนี้ ธรรมชาติจิตของบุคคลทั่วไปมักฟุ้งซ่านหลงไปตามอารมณ์นั้นบ้าง อารมณ์นี้บ้าง โดยไม่รู้เท่าทัน จึงต้องหัดรู้อารมณ์อันเดียวก่อน พอจิตเคลื่อนจากอารมณ์นั้นก็ให้คอยรู้ทัน ด้วยวิธีนี้เอง ในเวลาไม่นานผู้ปฏิบัติก็จะเริ่มรู้ทันจิตใจที่ส่งส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ พอรู้ทัน จิตก็หยุดการส่งส่ายแล้วตั้งมั่นอยู่โดยไม่ได้บังคับ ถัดจากนั้นเมื่อมีอารมณ์ใดปรากฏ จิตก็จะรู้ทันโดยสักว่ารู้ คือไม่เข้าไปแทรกแซงหรือหลงและไหลตามอารมณ์นั้นไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


หากจะกล่าวว่าอาการกำหนดรู้ (ด้วยตัณหาและทิฏฐิ) เป็นเครื่องมือของการทำสมถะ ส่วนอาการระลึกรู้หรือรู้ทัน (อย่างสักว่ารู้) เป็นเครื่องมือของการทำวิปัสสนา ก็กล่าวได้

6.5 หากจะจำแนกสภาวะรู้ออให้แจ่มชัดก็สามารถกล่าวได้ว่า รู้ คือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง กล่าวคือ

6.5.1 จิตรู้เป็นจิตที่ตั้งมั่น เป็นตัวของตัวเองไม่ถูกความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ใดๆ ครอบงำ นั่นคือจิตที่มีสัมมาสมาธิ

6.5.2 จิตรู้เป็นจิตที่ว่องไวควรแก่การงาน คือเมื่ออารมณ์กระทบทางทวารใด สัมมาสติจะระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงทันที

6.5.3 จิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิจะเป็นจิตที่รู้ตัว ซึ่งความรู้ตัวนั้นเป็นตัวสัมมาทิฏฐิหรือสัมปชัญญะ (ชนิดที่เรียกว่า อสัมโมหสัมปชัญญะ) แต่ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จิตจะเลื่อนไหลตามอารมณ์ ถูกอารมณ์ครอบงำและไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่สามารถรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงได้แจ่มชัด ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม และไม่เห็นอริยสัจจ์ ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

6.5.4 จิตที่มีสติ สมาธิ ปัญญาอบรมอยู่ ย่อมมีความคิดที่ถูกต้องหรือสัมมาสังกัปปะ และส่งผลให้สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะบริบูรณ์ด้วย

6.5.5. การพากเพียรเจริญสติอยู่นั้น ย่อมเป็นการคุ้มครองอินทรีย์อันเป็นการปิดกั้นบาปอกุศลทั้งปวง และเป็นการทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น นี้คือสัมมาวายามะ

6.6 ในเมื่อการรู้คือการเจริญอริยมรรค ดังนั้นเราควรทราบว่า กิจต่อการรู้หรือการเจริญอริยมรรคได้แก่การทำให้เจริญ หรือทำให้เกิดบ่อยๆ คือให้มีสติบ่อยที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าให้มีสติยาวนานที่สุดเป็นนาที เป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน เพราะสติเองเป็นเจตสิกธรรมที่เกิดดับไปทีละขณะพร้อมกับจิต ดังนั้นเราจะทำสิ่งที่ไม่เที่ยงให้เที่ยงอยู่นานๆ ไม่ได้ แต่ทำให้เกิดบ่อยๆ ได้ เหตุใกล้ที่ทำให้สติเกิดบ่อยก็คือการสามารถจดจำสภาวะของธรรมะต่างๆ ได้มากและแม่นยำ (ต้องจำตัวสภาวะได้ ไม่ใช่จำชื่อและลักษณะตามตำราได้เท่านั้น) เมื่อสภาวธรรมอันใดเกิดขึ้น (ต้องจำตัวสภาวะได้ ไม่ใช่จำชื่อและลักษณะตามตำราได้เท่านั้น) เมื่อสภาวธรรมอันใดเกิดขึ้น สติจึงสามารถระลึกรู้เท่าทันได้อย่างรวดเร็ว จนรู้ได้บ่อยแบบถี่ยิบ แล้วอกุศลก็จะมีโอกาสเกิดน้อยลงตามลำดับ จนหมดโอกาสเกิดในที่สุด

6.7 ในข้อ 6.2 ได้กล่าวถึงสภาวะที่ไม่ใช่รู้ไปแล้ว ในข้อนี้จะได้กล่าวถึง องค์ธรรมของจิตที่เป็นจิตรู้ อันเป็นเครื่องช่วยตรวจสอบได้อีกชั้นหนึ่งว่า การรู้ในขณะนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่ องค์ธรรมดังกล่าวเช่น

6.7.1 จิตรู้ได้แก่จิตที่เป็น มหากุศลจิต ชนิดที่ประกอบด้วยปัญญา (ญาณสัมปยุตต์) และเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องชักชวนหรือหาทางทำให้เกิดขึ้น (อสังขาริก) ดังนั้น

6.7.1.1 ขณะใดจิตมีอกุศล ขณะนั้นยังไม่มีจิตรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์

6.7.1.2 ขณะใดจิตมุ่งใช้กำลังมากกว่าปัญญา เช่น ออกแรงดิ้นรนหาทางละทุกข์หรืออกุศล หรืออยากรักษาสุขหรือกุศล ขณะนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.1.3 ขณะใดมีความพยายามอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะทำให้จิตรู้เกิดขึ้น ขณะนั้นพลาดจากรู้เสียแล้ว เพราะจิตรู้นั้น ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้ ยิ่งแสวงหายิ่งไม่เจอ

6.7.2 จิตรู้เป็นเพียงจิตที่มนสิการคือกระทำอารมณ์ไว้ในใจ หรือทำใจให้รู้อารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่เผลอ คิด ตั้งท่า กำหนด เพ่ง ฯลฯ (ดูข้อ 6.2) สภาวะของมนสิการนั้น เป็นการรู้ที่ไร้น้ำหนัก บางเฉียบและเงียบกริบ ไม่มีความจงใจหรือเจตนาจะรู้ด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐิใดๆ ทั้งสิ้น

6.7.3 จิตรู้ต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิก หรือสภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม องค์ธรรมที่นำมาสังเกตจิตได้ง่ายได้แก่

6.7.3.1 อโลภะ คือจิตในขณะนั้นไม่มีความอยาก ความโลภ หรือความกระหาย แม้แต่ในการแสวงหาธรรม ถ้าขณะใดจิตเกิดความอยากปฏิบัติ จงใจปฏิบัติ หรือพอใจในความสุขและกุศล ขณะนั้นมีโลภะ จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.2 อโทสะ คือจิตในขณะนั้นไม่มีความขุ่นข้องขัดใจในอารมณ์ใดๆ ถ้าขณะใดจิตเกลียดทุกข์หรืออกุศล พยายามละทุกข์หรืออกุศล ขณะนั้นมีโมหะ จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.3 ความเป็นกลางในอารมณ์ (ตัตรมัชฌัตตตา) คือจิตปราศจากความยินดียินร้าย ไม่มีอคติต่ออารมณ์คือไม่พยายามรักษาอารมณ์บางอย่าง หรือพยายามละอารมณ์บางอย่าง ถ้าขณะใดจิตหลงยินดียินร้าย หรือกวัดแกว่งไปตามความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ ขณะนั้นจิตไม่เป็นกลาง จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.4 ความสงบระงับ (ปัสสัทธิ) คือเมื่อจิตรู้อารมณ์ใดก็รู้ด้วยความสงบระงับ ไม่แส่ส่ายดิ้นรนไปตามอารมณ์นั้นๆ แม้ตัวอารมณ์ที่เป็นความรู้สึกต่างๆ เมื่อถูกรู้แล้วก็สงบระงับเพราะไม่ถูกเติมเชื้อให้ฟุ้งซ่านหรือดิ้นรนมากขึ้น หากจิตรู้อารมณ์แล้วเกิดความแส่ส่ายต่างๆ จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.4 ความเบา (ลหุตา) คือจิตรู้จะเบาสบาย ไม่มีน้ำหนักใดๆ เกิดขึ้น เพราะการรู้อารมณ์แม้แต่น้อย ขณะใดปฏิบัติแล้วเกิดความหนักหรือมีน้ำหนักขึ้นในใจแม้แต่เพียงนิดเดียว (ทั้งนี้รวมถึงน้ำหนักที่ติดลบคือความรู้สึกเบาหวิวผิดธรรมชาติทั้งหลายด้วย) แสดงว่าพลาดจากรู้เสียแล้ว จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.5 ความอ่อนโยนนุ่มนวล (มุทุตา) คือจิตรู้จะเป็นจิตที่อ่อนโยนนุ่มนวล ไม่แข็ง ไม่กระด้าง ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดความรู้สึกแข็งกระด้าง แสดงว่าพลาดจากรู้เสียแล้ว จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.6 ความควรแก่การงาน (กัมมัญญตา) คือจิตรู้เป็นจิตที่พร้อมสำหรับการเจริญวิปัสสนา ไม่ถูกเจือปนครอบงำด้วยนิวรณ์ใดๆ (แต่ถ้านิวรณ์เกิดขึ้นก็สามารถรู้ชัดและเอานิวรณ์นั่นแหละมาเป็นทุกขสัจจ์ที่ถูกรู้ คือมีนิวรณ์ รู้นิวรณ์ แต่นิวรณ์ไม่ครอบงำจิตแบบนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน) แต่หากจิตถูกครอบงำด้วยนิวรณ์ จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.7 ความคล่องแคล่ว (ปาคุญญตา) คือจิตรู้จะมีสติปราดเปรียว คล่องแคล่ว ขณะใดรู้สึกเฉื่อยเนือย ซึมเซา เกียจคร้าน แสดงว่าพลาดจากรู้เสียแล้ว จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.8 ความซื่อตรง (อุชุกตา) คือจิตจะทำหน้าที่รู้อารมณ์อย่างซื่อๆ ตรงๆ ไม่ทำหน้าที่เกินกว่าการรู้อารมณ์ หากจิตไม่ทำหน้าที่รู้ไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ แต่พยามเสพหรือแทรกแซงอารมณ์ด้วยอำนาจของกิเลส จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.4 จิตรู้เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา/ปัญญินทรีย์/สัมปชัญญะ/อโมหะ คือสามารถเจริญวิปัสสนาอยู่โดยรู้ชัดว่า จะทำอะไร (จะเจริญสติ) เพื่ออะไร (เพื่อความเข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริง) จะทำอย่างไร (จะเฝ้ารู้ปัจจุบันอารมณ์ตามความเป็นจริง) และจะเจริญสติอยู่ด้วยความรู้สึกตัว ไม่หลงไม่เผลอตามอารมณ์ใดๆ ไปด้วยอำนาจของโมหะ

7. สภาวธรรมคืออะไร
7.1 การเจริญสติที่ถูกต้องจะต้องระลึกรู้ถึงอารมณ์ปรมัตถ์ หรือเอาปรมัตถธรรมมาเป็นอารมณ์เครื่องรู้ของจิตเครื่องระลึกของสติ ปรมัตถธรรมนี้บางท่านเรียกว่าสภาวธรรม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ 4 ประการคือ รูป (ธรรมชาติที่แตกสลายได้เมื่อถูกกระทบด้วยความร้อนความเย็น เป็นต้น) จิต (ธรรมชาติที่รู้อารมณ์) เจตสิก (ธรรมชาติอันเป็นส่วนประกอบจิต) และนิพพาน (ธรรมชาติที่พ้นความปรุงแต่ง พ้นทุกข์ พ้นกิเลสสิ้นเชิง) จะเจริญสติโดยไประลึกรู้สิ่งที่เป็นความคิดความฝัน (สมมติบัญญัติ) ไม่ได้ เพราะความคิดความฝันทั้งหลายเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไม่ได้มีอยู่จริง

7.2 เราสามารถระลึกรู้ธรรมชาติทั้ง 4 ประการได้ด้วยทวารทั้ง 6 ทั้ง ตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ คือตัวรูปธรรมนั้นรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ส่วนนามธรรมรู้ได้ด้วยใจ

7.3 การรู้รูปทำได้ทุกๆ ทวารดังนี้คือ
7.3.1 รูปที่เรารู้ได้ด้วยตานั้น มีมากมายนับไม่ถ้วนว่ากี่แสนกี่ล้านรูปเช่น ผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนแก่ เสือ ลิง ปลา นก ทะเล แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ อัญมณี ฯลฯ แต่ในจำนวนรูปที่นับจำนวนไม่ถ้วนนั้น เอาเข้าจริงสิ่งที่ตามองเห็นก็คือสีเท่านั้นเอง แล้วอาศัยสัญญาคือความจำได้หมายรู้เข้ามาปรุงแต่งจิต จึงเกิดการจำแนกว่า กลุ่มสีอย่างนี้เรียกว่าผู้หญิง ผู้ชาย...อัญมณี สีจึงเป็นรูปตัวจริงที่เรารู้ได้ด้วยตา

7.3.2 รูปที่เรารู้ได้ด้วยหูก็คือเสียง รูปที่รู้ได้ด้วยจมูกคือกลิ่น รูปที่รู้ได้ด้วยลิ้นคือรส รูปที่รู้ได้ด้วยกายมี 3 ชนิดคือ ธาตุไฟหรือความเย็น-ร้อน ธาตุดินหรือความอ่อน-แข็ง และธาตุลมหรือความตึง-ไหว

7.3.3 รูปที่รู้ได้ด้วยใจมีจำนวนมากกว่ารูปที่รู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น และกาย ได้แก่ปสาทรูป 5 หรือประสาทสำหรับรับสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย กับรูปละเอียดหรือสุขุมรูป 16 เช่นรูปคือสารอาหาร รูปที่กำหนดเพศ รูปคือการเคลื่อนไหวกายและวาจาเพื่อสื่อความหมาย เป็นต้น (มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องที่ 1 ท้ายบทความนี้)

7.4 สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจนอกจาก รูปจำนวนมาก (21 รูป) ตามข้อ 7.3.3 แล้ว ยังมีอีกหลายอย่างคือ (1) เจตสิก 52 ชนิด เช่น สุข ทุกข์ อุเบกขา ความจำได้หมายรู้ โลภะ โทสะ โมหะ ปีติ ศรัทธา วิริยะ ปัญญา ฯลฯ (2) จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ 89 หรือ 121 ดวง (3) นิพพาน และ (4) บัญญัติธรรม หรือสิ่งที่เป็นความคิดความฝัน ซึ่งไม่มีตัวจริง (อ้างอิงอภิธัมมัตถวิภาวินี) ใจ จึงเป็นอายตนะที่รู้อารมณ์ได้กว้างขวางหลากหลายที่สุด

7.5 ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ การเจริญสติจะต้องระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ ซึ่งเป็นตัวแท้หรือตัวจริงของธรรมชาติ ไม่ใช่ไปรู้สิ่งที่คิดนึกเอาเอง (บัญญัติธรรม) เช่นเมื่อเราเข้าใกล้กองไฟ ความร้อนที่รู้ได้ทางกายนั่นแหละคืออารมณ์ปรมัตถ์ ส่วนคำพูดว่าร้อนๆ เป็นสมมติบัญญัติ ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่รู้ถึงความร้อนที่มากระทบกาย ไม่ใช่ไปใช้ความคิดว่าไฟเป็นของร้อนเหมือนไฟกิเลสหรือไฟนรก เป็นต้น นอกจากนี้ จำเป็นต้องทราบด้วยว่าอารมณ์ชนิดใดรู้ได้ทางทวารใด เช่น ถ้าจะกำหนดอิริยาบถคือรู้รูปยืน เดิน นั่ง นอน จะต้องรู้ด้วยใจ ไม่ใช่รู้ด้วยตาหรือด้วยกาย เป็นต้น

7.6 ในทางปฏิบัติจริงมีประเด็นเกี่ยวกับสภาวธรรมที่ควรทราบอีกบางอย่างคือ

7.6.1 จิตย่อมรู้อารมณ์ทั้งที่เป็นปรมัตถ์และบัญญัติ จะเจาะจงเลือกรู้อย่างหนึ่งอย่างใดตามความอยากไม่ได้ ดังนั้นขณะใดจิตระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ก็รู้ทัน ขณะใดจิตรู้อารมณ์บัญญัติก็รู้ทัน เพราะแม้แต่พระอรหันต์ท่านก็ย่อมรู้อารมณ์ทั้ง 2 ชนิด ไม่ใช่รู้เฉพาะอารมณ์ปรมัตถ์อย่างเดียว

7.6.2 ในการเจริญวิปัสสนานั้น ผู้ปฏิบัติจะเริ่มต้นด้วยการมีสติระลึกรู้รูปหรือนามอย่างใดก่อนก็ได้แล้วแต่ความถนัด คือจะเลือกเจริญสติปัฏฐานหมวดใดก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องรู้รูปนามหรือเจริญสติปัฎฐานให้ครบทุกชนิด แค่รู้เพียงรูปหรือนามอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รู้ธาตุดิน (สิ่งที่แข็ง-อ่อน) จนเห็นธาตุดินทั้งในกายและนอกกายเป็นอนัตตา หรือรู้กุศลและอกุศลที่กำลังปรากฏ เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว หากพยายามทำสติปัฏฐานทุกหมวด/ทุกบรรพ นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังจะเกิดความฟุ้งซ่านเพราะความจับจดในการปฏิบัติได้ด้วย

7.6.3 แม้ในเบื้องต้น ผู้ปฏิบัติอาจต้องจงใจระลึกรู้สภาวธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่ของจิต (วิหารธรรม) ไปก่อนก็จริง แต่ในขั้นที่สติพัฒนามากขึ้นจนเป็นมหาสติคือสติอัตโนมัติแล้ว ผู้ปฏิบัติจะเลือกรู้อารมณ์ไม่ได้ หากมีอารมณ์ปรากฏทางทวารใดสติก็รู้ชัดทางทวารนั้น โดยจิตจะระลึกรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือธัมมารมณ์หรือรู้ กาย เวทนา จิตหรือธรรม ไปตามธรรมชาติทีละขณะ มิหนำซ้ำผู้ปฏิบัติยังจะได้พบความจริงด้วยว่า จะบังคับให้จิตรู้เฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่ได้ เพราะจิตเองก็เป็นอนัตตาคือเป็นของที่บังคับเอาตามใจอยากไม่ได้

8. ที่กำลังปรากฏหมายถึงอะไร

8.1 การมีสติระลึกรู้สภาวธรรมทั้งหลายนั้น มีหลักสำคัญว่า ต้องรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่ตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว หรือคิดล้ำไปถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ทั้งนี้พระพุทธศาสนาเน้นการทำประโยชน์ในปัจจุบันเป็นสำคัญ ดังที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ในภัทเทกรัตตสูตร (พระไตรปิฎก 14/527) ความว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง
สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว
และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง
ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้
บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด
พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ
ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง
เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย
พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปกติอยู่อย่างนี้
มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญฯ

8.2 ตัวอย่างเช่น ถ้าในขณะนี้มีความโกรธ ก็รู้ถึงสภาวะของความโกรธที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่โกรธเพื่อนเมื่อวานนี้แล้วมาวันนี้เพิ่งนึกได้ว่าโกรธ จากนั้นก็นั่งเสียใจว่าไม่น่าโกรธเพื่อนเลย อาการเช่นนี้ล้วนแต่ไม่เป็นปัจจุบัน คือขณะที่โกรธเมื่อวานนี้ก็ไม่รู้ ขณะนี้กำลังเสียใจที่โกรธ เพื่อนก็ไม่รู้อีกเพราะมัวคิดถึงเรื่องเมื่อวาน หรือพอนึกได้ว่าโกรธเพื่อนไปเมื่อวาน ก็คิดว่าจะต้องไปง้อเพื่อนสักหน่อย จากนั้นก็กังวลว่าเราไปง้อแล้วเขาจะคืนดีไหมหนอ นี่ก็เป็นความกังวลในปัจจุบันที่เราไม่รู้ทัน เพราะมัวคิดถึงอนาคตเสีย

8.3 ธรรมชาติของจิตย่อมรู้อารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น และหน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือการระลึกรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏในปัจจุบันจริงๆ อย่าพยายามหน่วงอารมณ์ที่เป็นอดีตไว้ดูนานๆ เพราะกลัวไม่เห็นไตรลักษณ์ ตัวอย่างเช่น เมื่อตาเห็นสีกลุ่มหนึ่งก็ให้รู้สีนั้นตามที่มันเป็นจริง เพราะสีนั้นเป็นปัจจุบันอารมณ์ที่เรียกว่ารูปารมณ์ ต่อมาสัญญาเกิดจำรูปได้ว่านั่นเป็นรูปคนรักของเรา จิตเกิดความชอบใจอันเป็นราคะขึ้น ความชอบใจนั้นเป็นอารมณ์ใหม่ที่รู้ด้วยใจ (ธัมมารมณ์) หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือรู้เข้าไปที่สภาวะของความชอบใจที่กำลังปรากฏนั้น ไม่ใช่ย้อนกลับไปคิดพิจารณารูปคนรัก ว่าเป็นปฏิกูลอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อละราคะ ปรากฏนั้น ไม่ใช่ย้อนกลับไปคิดพิจารณารูปคนรัก ว่าเป็นปฏิกูลอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อละราคะ เพราะรูปคนรักกลายเป็นอดีตไปแล้ว ส่วนราคะเป็นอารมณ์ปัจจุบันที่กำลังแสดงความตั้งอยู่และดับไปให้เรารู้ได้ เป็นต้น

8.4 เมื่อกล่าวว่าให้เรารู้อารมณ์ปัจจุบัน บางคนอาจเกิดความสับสนว่า ถ้าเช่นนั้นชาวพุทธคงไม่สามารถวางแผนในอนาคตได้ การคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง ในยามใดเรามีหน้าที่ต้องวางแผนงานก็ต้องวางแผนงาน แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงพิจารณาล่วงหน้าทุกเช้าว่า วันนี้ท่านควรแสดงธรรมโปรดใคร ด้วยเรื่องอะไร โปรดแล้วจะเกิดผลอย่างไร นับว่าท่านเป็นนักวางแผนชั้นเลิศ คือ (1) ทรงกำหนดบุคคลเป้าหมาย (2) กำหนดวิธีการ (3) กำหนดเนื้อหาธรรมที่จะสื่อสารกับผู้นั้น และ (4) พิจารณาถึงผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับด้วย ผู้ปฏิบัติต้องรู้จักเลือกใช้ธรรมให้ถูกกาละเทศะ ยามใดมีหน้าที่วางแผนก็ต้องวางแผน มีหน้าที่เรียนก็ต้องเรียน มีหน้าที่ทำงานก็ต้องทำงาน จุดใดควรเจริญสติก็เจริญสติ จุดใดต้องใช้สมาธิในการทำงานก็ใช้สมาธิ จุดใดควรใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองก็ต้องใช้ความคิด ไม่ใช่เจริญสติรวดเดียวโดยไม่รู้จักทำความสงบใจหรือใช้ความคิดพิจารณาตามหน้าที่ของตน

8.5 มีข้อควรสังเกตประการหนึ่งก็คือ คำว่าปัจจุบันนั้นไม่ได้หมายถึงวันนี้ ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือแม้กระทั่งวินาทีนี้ แต่หมายถึง การระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตาเราในขณะจิตนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นที่สุดจนทำอะไรมากเกินกว่ารู้ไม่ได้

9. ตามความเป็นจริงหมายถึงอะไร
9.1 เรื่องในข้อ 6 มุ่งทำความเข้าใจว่า จิตที่รู้ได้ถูกต้องนั้นมีสภาพอย่างไร ข้อ 7 เป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ข้อ 8 เป็นการชี้ว่าการรู้ต้องรู้สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบัน ส่วนหัวข้อนี้ เป็นเรื่องที่ว่า เมื่อรู้สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบันได้แล้ว ต้องระลึกรู้สภาวธรรมนั้น ตามความเป็นจริงเท่านั้น คือรู้สภาวะตรงตามที่มันกำลังเป็นอยู่ และไม่เข้าไปแทรกแซงสภาวะเหล่านั้นด้วยตัณหาและทิฏฐิใดๆ ทั้งสิ้น

9.2 นักปฏิบัติจำนวนมากพอพบเห็นสภาวธรรมใดๆ เข้า ก็มักไม่ระลึกรู้สภาวธรรมนั้นตามความเป็นจริง เนื่องจากถูกครอบงำด้วย ตัณหาและทิฏฐิ ทำให้การรับรู้ไม่บริสุทธิ์ ตัวอย่างเช่น

9.2.1 เมื่อรู้อกุศลธรรมก็พยายามละ เช่นเมื่อพบว่าจิตฟุ้งซ่าน ก็พยายามบริกรรมพุทโธบ้าง บริกรรมฟุ้งซ่านหนอบ้าง เพื่อให้หายฟุ้งซ่าน เมื่อพบว่าจิตมีกามราคะก็พยายามพิจารณาอสุภะ เมื่อพบว่าจิตมีโทสะก็พยายามแผ่เมตตา หรือเมื่อพบว่าจิตเป็นทุกข์ก็พยายามละทุกข์นั้นด้วยวิธีการต่างๆ ฯลฯ การกระทำเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น

9.2.1.1 เพราะเกิดความเห็นผิด เนื่องจากเคยได้ยินคำสอนว่า ให้ละความชั่วบาปทั้งปวง พอพบเห็นอกุศลธรรมจึงพยายามละ หารู้ไม่ว่าการเจริญสตินั้นเลยขั้นการละบาปและการเจริญกุศลให้ถึงพร้อมมาแล้ว แต่เป็นขั้นการทำจิตให้ผ่องแผ้วเหนือดีเหนือชั่ว หรือบางท่านตีความคำสอนของพระศาสดาคลาดเคลื่อน เช่น อ่าน มหาสติปัฏฐานสูตร ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นีวรณบรรพ แล้วเข้าใจว่าพระศาสดาทรงสอนให้รู้และละนิวรณ์ด้วย จึงเข้าใจผิดว่าการเจริญสติที่แท้จริงมีทั้งการรู้และการละสภาวธรรม จะรู้อย่างเดียวไม่ได้ (มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องที่ 2 ท้ายบทความนี้)


9.2.1.2 เพราะไม่ทราบว่า กิจต่อทุกขสัจจ์ได้แก่ การรู้ ไม่ใช่การละ เมื่อพบทุกข์จึงพยายามละทุกข์ อันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับจิตใจที่รักสุขเกลียดทุกข์

9.2.1.3 เพราะไม่เข้าใจหลักการเจริญวิปัสสนาที่ให้รู้สภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง จนรู้ว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา และบังคับเอาตามใจอยากไม่ได้ เมื่อรู้ความจริงแล้วจิตจึงปล่อยวาง แล้วพ้นทุกข์ได้ด้วยการปล่อยวาง

9.2.1.4 เพราะคุ้นเคยกับการทำสมถะ หรือคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการทำความสงบเท่านั้น สมถะให้ความสุขได้ประณีตยิ่งกว่ากามสุข ผู้ทำสมถะมีความสงบในจิตใจบ้าง เกิดความรู้ความเห็นต่างๆ เป็นเรื่องสนุกและน่าภูมิใจบ้าง จึงเป็นที่นิยมยกย่องกันมากในหมู่นักปฏิบัติ ดังนั้น พอพบธรรมอันใดเป็นข้าศึกต่อความสงบ จึงพยายามละธรรมอันนั้น

9.2.2 เมื่อรู้กุศลธรรมก็พยายามรักษาหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยหวังว่าเมื่อพัฒนาให้ดีได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จิตจะหลุดพ้นในสักวันหนึ่งข้างหน้า เพราะพระอรหันต์คือ "คนที่จิตใจดีเลิศนิรันดร" ทัศนะเช่นนี้ผิดพลาดมาก เพราะจิตก็ดี กุศลเจตสิกก็ดี เป็นสังขารทั้งสิ้น ย่อมมีความแปรปรวนและบังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้วต่างหาก จิตจึงปล่อยวางความยึดมั่นจิต แล้วหลุดพ้นเพราะความไม่ถือมั่น ไม่ใช่หลุดพ้นเพราะทำจิต ซึ่งเป็นสิ่งไม่เที่ยง ให้เที่ยงได้

9.2.3 เกิดความไม่มั่นใจว่า การเฝ้ารู้เพียงเท่านี้จะได้ผลเพียงพอแก่การรู้ธรรม จึงต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของการรับรู้นั้น ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

9.2.3.1 การช่วยคิดพิจารณาสภาวธรรมที่กำลังถูกรู้นั้น เช่น เมื่อรู้โทสะก็พยายามคิดว่าโทสะไม่ดี นำความทุกข์มาให้ โทสะมีโทษมากอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น

9.2.3.2 การเพ่งจ้องอย่างเอาเป็นเอาตายต่อสภาวธรรมนั้น เพื่อจะรู้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเพื่อเพ่งให้ดับ หรือบางทีถึงกับตามจ้องจนลืมตัวถลำเข้าไปในจิตส่วนลึก ซึ่งในขณะนั้นยังรู้อารมณ์อันนั้นได้อยู่ แต่เป็นการรู้แบบคนที่ชะโงกดูสิ่งของในน้ำจนตนเองตกน้ำแล้วยังไม่รู้ตัวว่าตกน้ำ ก็มี

9.2.3.3 การลดปมด้อย ซึ่งเกิดจากการคิดเอาเองว่า เรายังขาดคุณธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นขาด ทาน สัจจะ ขันติ จาคะ เนกขัมมะ ศรัทธา วิริยะ สติ หิริโอตตัปปะ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ จะต้องเพิ่มคุณธรรมเหล่านั้นให้เพียงพอและสมดุลกับคุณความดีอื่นๆ เสียก่อนจึงจะเจริญสติได้ แท้จริงถ้ามีความรู้ความเข้าใจ (มีสัมมาทิฏฐิ) จนรู้จักเจริญสติได้แล้ว คุณธรรมฝ่ายดีทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย หากมุ่งเพิ่มบารมีต่างๆ โดยละเลยการเจริญสติ ก็เหมือนคนที่เตรียมเสบียงเพื่อเดินทางไกล แต่ไม่ยอมก้าวเท้าออกจากบ้านสักที อีกกี่ปีก็ไปไม่ถึงจุดหมายที่หวังไว้

9.3 เหตุผลที่ต้องรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงก็เพราะว่า เราจำเป็นต้องรู้ความเป็นจริงของสภาวธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ต้องการดัดแปลงหรือควบคุมสภาวธรรมเหล่านั้น ทั้งนี้ตามหัวข้อที่ 3 และ 4 ของบทความนี้ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า ความไม่รู้จักสภาวธรรมตามความเป็นจริงทำให้เกิดตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ หากทำลายความไม่รู้เสียได้ ตัณหาจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก

9.4 การพยายามเข้าไปแทรกแซงการรู้สภาวธรรมจะก่อให้เกิดความหลงผิดหนักยิ่งขึ้นเช่น เมื่อกิเลสคือความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น แล้วผู้ปฏิบัติพยายามละกิเลสนั้น ด้วยการบริกรรมว่า "ฟุ้งซ่านหนอๆ" ไม่นานความฟุ้งซ่านก็จะดับไปได้ (เพราะการบริกรรมไปยับยั้งความคิดอันเป็นต้นตอของความฟุ้งซ่าน) ผู้ปฏิบัติก็จะเกิดความสำคัญผิดว่า กิเลสเป็นสิ่งที่บังคับควบคุมได้ (เป็นอัตตา) หรือจิตนี้เป็นตัวตนของเราที่สั่งได้ตามใจชอบ (เป็นอัตตา) ยิ่งปฏิบัติยิ่งชำนาญในการเพ่งจ้องหรือบริกรรมแก้กิเลส ความหลงผิดก็ยิ่งพอกพูนก่อให้เกิดมานะอัตตามากกว่าเก่าเสียอีก รวมทั้งไม่มีโอกาสรู้ข้อเท็จจริงว่า ธรรมใดเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับธรรมนั้นก็ดับ กลายเป็นว่า เราดับธรรมนั้นได้ตามใจชอบเพราะเราฝึก "วิปัสสนา" จนเก่งแล้ว

9.5 โดยธรรมชาติของปุถุชนแล้ว อกุศลจิตเกิดอยู่แทบตลอดเวลา ส่วนกุศลจิตเกิดขึ้นน้อยมาก เช่น เรามักนั่งใจลอยทีละนานๆ อาจจะเป็นชั่วโมงๆ (ด้วยอำนาจของโมหะ) จึงเกิดระลึกรู้ทันว่ากำลังใจลอยอยู่ ขณะใจลอยนั้นจิตเป็นอกุศล แต่ขณะที่มีสติรู้ทันและความใจลอยดับไปโดยอัตโนมัตินั้น จิตเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว (ทันทีที่เกิดสติ/รู้ อกุศลจะดับไปเอง เมื่อมีสติ/รู้ จึงไม่มีอกุศลจะให้ละ แต่สิ่งที่ถูกละไปได้แก่อนุสัยหรือกิเลสที่ซ่อนลึกอยู่ในจิตใจ ด้วยเหตุนี้แหละ หน้าที่ของเราจึงมีเพียงการรู้ ไม่ต้องละกิเลสเพราะในขณะที่มีสติบริบูรณ์นั้น ไม่มีกิเลสจะให้ละ แม้แต่คามทุกข์ก็ไม่ต้องไปคิดละมัน หากมันมีเหตุมันก็เกิด หากหมดเหตุมันก็ดับ หน้าที่ของเราคือรู้ทุกข์เท่านั้นก็พอแล้ว) จุดอ่อนของผู้เจริญสติก็คือจับหลักการเจริญสติได้ไม่แม่นยำ จิตจึงพลิกไปเป็นอกุศลอีกได้ในพริบตาเดียว คือพอเกิดความรู้ตัวเพียงวับเดียว แล้วก็อาจหลงคร่ำครวญถึงอดีตว่า "ตายละ เราหลงมาตั้งชั่วโมงหนึ่งแล้ว อย่างนี้จะเอาดีในทางธรรมได้อย่างไร" หรือเกิดห่วงกังวลถึงอนาคตว่า "ทำอย่างไรเราจะไม่หลงไปเหมือนที่เคยหลงมาแล้ว" การพยายามทำอะไรมากกว่ารู้ไปตามธรรมดาทีละขณะ นี้แหละ เป็นความผิดพลาดอย่างสำคัญทีเดียว

9.6 การรู้นั้น หากบริสุทธิ์ถึงขีดสุดจะมีสภาพที่เรียกว่า "สักว่ารู้" เป็นสภาวะรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงอย่างแท้จริง โดยไม่เติมแต่งสิ่งใดลงในการรับรู้นั้นแม้แต่น้อย เช่น (1) ไม่เติมความจงใจที่จะคิดคำนึงถึงสภาวธรรม (อารมณ์) นั้นๆ ว่า "นี้คือรูป นี้คือนาม ชื่อนี้ๆ ทำกิจอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ มีเหตุใกล้อย่างนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่งาม และที่กำลังรู้อยู่นี้ก็เป็นสักว่ารู้" และ (2) ไม่เติมความจงใจที่จะหมายรู้จิตแม้แต่น้อย

เจตจำนงหรือความจงใจที่จะหมายรู้ (อารมณ์) ของใจ ซึ่งครอบคลุมทั้งการหมายรู้อารมณ์และการหมายรู้จิตนี้เอง เป็นอาหารหรือเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำกรรมหรือก่อพฤติกรรมทางใจ (และพฤติกรรมทางกายในขั้นต่อมา) ที่เรียกว่า "การปฏิบัติธรรม" หรือ "การทำกรรมฐาน" ขึ้น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการเกิดความจงใจก็คือความไม่รู้ (อวิชชา) ว่าการกระทำเช่นนั้นจะก่อภพก่อชาติและก่อทุกข์ขึ้นมา และเพราะยางใยแห่งความยึดจิต จึงอยากให้จิตหลุดพ้น จึงต้องเที่ยวแสวงหาธรรม ความปรุงแต่งเหล่านี้ได้ปิดบังธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากตัวตน (นิพพาน) ไว้ ทั้งที่นิพพานนั้นไม่เกิดไม่ตายมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ความปรุงแต่งได้ปิดกั้นญาณทัสสนะของเราไว้ไม่ให้ประจักษ์ถึงนิพพานอันเป็นอมตธาตุได้

อาการ สักว่ารู้ นั้นเกิดเพราะจิตมีปัญญารู้แจ่มแจ้งแล้วว่า ความทะยานอยากการแสวงหา การปรุงแต่งใดๆ แม้กระทั่งความจงใจที่จะหมายรู้อารมณ์เพื่อทำกรรมฐาน ล้วนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จิตจึงหยุดความคิดนึกปรุงแต่ง (แต่ความคิดอาจจะหยุดหรือไม่ก็ได้ จิตจะไม่สนใจบังคับให้หมดความคิด) หยุดการแสวงหา และหมดพฤติกรรมอาการของจิตอย่างสิ้นเชิง จิตเข้าถึงสภาพรู้ที่เป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายอย่างแท้จริง นี้คือจุดที่มหากุศลเต็มบริบูรณ์แล้ว

9.7 เมื่อปราศจากความจงใจที่จะหมายรู้อารมณ์แต่รู้อารมณ์ (ปรมัตถ์) และปราศจากความจงใจที่จะหมายรู้จิตแต่รู้จิต การปรุงแต่งภพชาติหรือความเป็นตัวตนของจิตก็มีขึ้นไม่ได้ ผู้ปฏิบัติที่อินทรีย์แก่รอบแล้วก็จะพบเห็นว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่งมีอยู่เป็นความว่างจากตัวตนและความปรุงแต่งอย่างแท้จริง ที่สุดแห่งทุกข์คือนิโรธหรือนิพพานปรากฏเฉพาะหน้าอยู่ตรงนี้เอง

อนึ่งจิตที่บริสุทธิ์กับนิพพานเป็นธรรมคนละอย่างกัน คือจิตที่บริสุทธิ์เป็นธรรมชาติรู้ที่ปราศจากตัวตน ไร้รูปลักษณ์ ขนาด ขอบเขตและที่ตั้ง แต่ก็ยังเป็นของที่ตกอยู่ในกลุ่มธรรมที่ต้องเกิดดับ ส่วนนิพพานซึ่งเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ปราศจากตัวตน ไร้รูปลักษณ์ ขนาดขอบเขตและที่ตั้งเช่นกัน แต่นิพพานเป็นอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้าโดยไม่มีผู้ครอบครองเป็นเจ้าของนิพพาน และพ้นจากความเกิดดับ

สภาวะ สักว่ารู้ ส่งผลให้ไม่มีตัวตนและถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้จริง สมดังคำสอนของพระบรมศาสดาที่ประทานแก่ท่านพระพาหิยะว่า

ดูกร พาหิยะ ในกาลใดแล
เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง
เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง
ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี
ในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้
ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง
นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ฯ
(พาหิยสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 25/49)


10. ระลึกรู้แล้วได้อะไร
10.1 ผู้ปฏิบัติจำนวนมากเมื่อได้ยินคำสอนว่า "ให้มีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง" แล้วอาจเกิดความสงสัยว่า การปฏิบัติเพียงเท่านี้จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อการปฏิบัติที่ยากลำบากกว่านี้ ยังไม่ช่วยให้รู้ธรรมได้ แท้จริงของการเจริญสติเป็นสิ่งวิเศษอัศจรรย์ที่สุด วิเศษถึงขนาดที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า นี้เป็นทางสายเดียวที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์ได้และได้ผลเร็วด้วย บางคนภายใน 7 วัน บางคนภายใน 7 เดือน และบางคนภายใน 7 ปี ก็มี

10.2 พวกเราไม่จำเป็นต้องจินตนาการว่าการเจริญสติมีประโยชน์อย่างใดบ้าง เพราะพระศาสดาทรงประทานคำชี้แนะไว้แล้วดังต่อไปนี้คือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เมื่อ (1) สติสัมปชัญญะมีอยู่ (2) หิริและโอตตัปปะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ

เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ (3) อินทรียสังวร ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ

เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ (4) ศีล ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรีย์สังวร

เมื่อศีลมีอยู่ (5) สัมมาสมาธิ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ (6) ยถาภูตญาณทัสนะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิ

เมื่อยถาภูตญาณทัสนะ มีอยู่ (7) นิพพิทาวิราคะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสนะ

เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ (8) วิมุตติญาณทัสนะ ชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาวิราคะ

(สติสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 23/187)

10.3 จากพระพุทธวัจนะดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บรรดาคุณความดีชั้นเลิศทั้งหลายจะสมบูรณ์ได้ ก็เพราะความมีสติสัมปชัญญะเป็นต้นเหตุ กล่าวคือ

10.3.1 หิริและโอตตัปปะ (ได้แก่ ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป) เมื่อได้มีสติสัมปชัญญะ ย่อมรู้เท่าทันการเกิดขึ้นของกิเลสทั้งหลาย และรู้ถึงพิษภัยของกิเลสได้ด้วยว่า กิเลสนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาสู่จิตใจอย่างไร จิตใจย่อมละอายและเกรงกลัวต่อบาป โอกาสที่จะทำอกุศลกรรมหนักๆ จึงไม่มี อนึ่งหิริและโอตตัปปะนี้เป็นเทวธรรม คือเป็นธรรมที่ทำคนให้เป็นเทวดาได้

10.3.2 อินทรียสังวร (ได้แก่ ความสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ที่เมื่อกระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธัมมารมณ์แล้ว หากไม่สำรวมระวัง บาปอกุศลก็จะครอบงำจิตได้) ผู้ใดมีสติสัมปชัญญะ มีความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปแล้ว ย่อมเกิดความสำรวมระวังอินทรีย์โดยอัตโนมัติทีเดียว อนึ่งการมีสติระลึกรู้สภาวธรรมเมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจกระทบอารมณ์นี้เอง ก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว

10.3.3 ศีล (ได้แก่ ความเป็นปกติของจิต) เมื่อมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 อยู่ จิตย่อมไม่ถูกอกุศลครอบงำ พ้นจากความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ จิตก็เข้าถึงความเป็นปกติธรรมดาหรือศีล ซึ่งจิตที่เป็นปกตินี้เองมีคุณสมบัติคือความผ่องใส (ประภัสสร) จิตจะมีลักษณะรู้ ตื่น และเบิกบานโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากเคยพบจิตอย่างนี้จะทราบดีว่า สามารถอยู่เป็นสุขในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อนึ่งศีลสามารถส่งผลให้มีความสุข มีโภคทรัพย์ และถึงนิพพานได้ เพราะจิตยิ่งเป็นปกติเท่าใด ความปรุงแต่งยิ่งน้อยลงเท่านั้น หากจิตพ้นความปรุงแต่ง จิตย่อมสามารถรู้อารมณ์นิพพานซึ่งอยู่เหนือความปรุงแต่งได้

10.3.4 สัมมาสมาธิ (ได้แก่ ความตั้งมั่นของจิต ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 6.4 ของบทความนี้) โดยธรรมชาติแล้ว จิตที่มีศีลนั่นแหละเป็นจิตที่มีสัมมาสมาธิ และจิตที่มีสัมมาสมาธิก็คือจิตที่มีศีล เพราะศีลกับสัมมาสมาธิเป็นเครื่องขัดเกลาส่งเสริมซึ่งกันและกันเหมือนเราล้างมือขวาด้วยมือซ้าย และล้างมือซ้ายด้วยมือขวา อนึ่งการเจริญสัมมาสมาธินี้ย่อมส่งผลให้ผู้ปฏิบัติบางท่านเข้าถึงความสงบในระดับฌานได้ ซึ่งให้ความสุขในปัจจุบัน และส่งผลให้ผู้นั้นเข้าถึงกำเนิดให้พรหมโลกได้ด้วย หากยังไม่เข้าถึงนิพพานในชีวิตนี้

10.3.5 ยถาภูตญาณทัสนะ (ได้แก่ การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปนามถูกต้องตามความเป็นจริง ภูตในที่นี้หมายถึงรูปนาม/ขันธ์ 5 ไม่ใช่ผีตามความหมายในภาษาไทย) การรู้เห็นความจริงเป็นส่วนของปัญญา ซึ่งปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด คือเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นกลางและมีสติระลึกรู้อารมณ์ (รูปนาม) ก็จะเห็นรูปนามตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่อยากจะให้เป็น (ด้วยตัณหา) หรือตามที่คิดว่าน่าจะเป็น (ด้วยทิฏฐิ)

10.3.6 นิพพิทาวิราคะ (ได้แก่ ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด) เมื่อรู้จักรูปนามตามความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเกิดความเบื่อหน่ายเอือมระอา (นิพพิทา) ต่อรูปนามทั้งหลาย เพราะเห็นความไม่มีสาระแก่นสาร สภาวะของนิพพิทาไม่ใช่ความเบื่ออย่างโลกๆ ที่เป็นการเบื่อทุกข์แต่อยากได้สุข นิพพิทานั้นเห็นทั้งทุกข์และสุข ทั้งดีและชั่ว น่าเอือมระอาเสมอกัน เมื่อเกิดนิพพิทาแล้วจิตย่อมเกิดวิราคะอันเป็นสิ่งตรงข้ามกับตัณหา ได้แก่ การหมดความดิ้นรสทะยานอยากที่จะปฏิเสธทุกข์หรือแสวงหาสุข จิตจะเข้าถึงความเป็นกลางต่อสังขารอย่างแท้จริง เพราะรู้ชัดแล้วว่า (1) ในธรรมชาติไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่รูปธรรมและนามธรรม (2) รูปธรรมและนามธรรมมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตาหรือไม่อยู่ในบังคับของใคร (3) รูปธรรมและนามธรรมมีเหตุปัจจัยให้เกิดแปรปรวนไปตามเหตุ และถ้าเหตุดับมันก็ดับ และ (4) รู้ว่าความยึดถือในรูปธรรมและนามธรรมจะนำทุกข์มาให้ นี้คือการรู้อริยสัจจ์ในสายเกิด

10.3.7 วิมุตติญาณทัสนะ (ได้แก่ ความรู้แจ้งเกี่ยวกับสภาวธรรมแห่งความหลุดพ้นจากเพลิงทุกข์และเพลิงกิเลส) เมื่อจิตเป็นกลางต่อสังขาร จนรู้แจ้งอริยสัจจ์แล้ว จิตจะก้าวกระโดดอย่างฉับพลันไปสู่ความหลุดพ้น โดยผู้ปฏิบัติไม่ได้จงใจจะให้เป็นไปเช่นนั้น เป็นการประจักษ์ต่อนิโรธสัจจ์ หรือนิพพาน อันเป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา

ผู้ปฏิบัติที่ได้พบอารมณ์นิพพานด้วยการบรรลุมรรคผลถึง 4 ครั้งแล้ว ย่อมพ้นทุกข์พ้นกิเลสสิ้นเชิง ได้รับบรมสุขอันเนื่องจากจิตพ้นจากความเสียดแทงทั้งปวง อนึ่งผู้ที่เคยพบนิพพานแล้วในขณะที่เกิดมรรคผล อาจพบนิพพานได้อีกเพื่อเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ด้วย 2 วิธีการคือ (1) การไม่มนสิการ (ใส่ใจ) ถึงสังขารทั้งหลาย พอจิตวางอารมณ์ที่เป็นสังขารก็จะไปรู้อารมณ์นิพพาน หรือ (2) การมนสิการถึงอารมณ์นิพพานโดยตรง ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นประโยชน์สุขในปัจจุบันที่ได้มาด้วยการเจริญสติเท่านั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


10.4 สรุปแล้ว สตินี้แหละยิ่งเกิดบ่อยยิ่งดี นอกจากการเจริญสติแล้วไม่ใช่ทางหรืออริยมรรคที่แท้จริง คำสอนใดที่มุ่งปรุงแต่ง (กุศล) เพื่อแก้ความปรุงแต่ง (อกุศล) คำสอนนั้นเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า (แต่อาจจำเป็นในเบื้องต้นสำหรับบางคน) คำสอนใดให้เจริญสติรู้ทันคามปรุงแต่ง (ทั้งกุศลและอกุศล) จนพ้นจากความปรุงแต่ง (ทั้งกุศลและอกุศล) คำสอนนั้นเป็นทาง (มรรค) ตัดตรงเข้าถึงความพ้นทุกข์สิ้นเชิง (นิโรธ/นิพพาน)

ครูบาอาจารย์พระป่าทั้งหลาย ซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของผู้เขียน เช่น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นต้น ท่านก็เน้นนักหนาให้ผู้เขียนเจริญสติคือรู้ไว้ บางท่านยกหัวใจคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูมิทัตตเถระ มาสอนผู้เขียนว่า หลวงปู่มั่นท่านสอนว่า "ทำสมาธิ (ความสงบ) มากก็เนิ่นช้า คิดพิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน สิ่งสำคัญที่สุดของการปฏิบัติคือการเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ จะเดินจงกรมก็ต้องเดินด้วยความมีสติ นั่งสมาธิก็ต้องนั่งด้วยความมีสติทำสิ่งใดก็ต้องทำด้วยความมีสติ เพราะเมื่อใดมีสติเมื่อนั้นมีความเพียร เมื่อใดขาดสติ เมื่อนั้นขาดความเพียร" ผู้เขียนก็ได้อาศัยคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ดังกล่าวนี้เป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา

ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

เรื่องที่ 1 ข้อสังเกตเกี่ยวกับการอ้างอิงพระพุทธวัจนะ
1. การจำแนกรูปตามที่กล่าวในข้อ 7.3 เป็นการกล่าวตามคัมภีร์อภิธรรมชั้นหลังพระไตรปิฎก ผู้อ่านควรตระหนักว่า เป็นคำสอนที่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าเป็นพระพุทธวัจนะ

2. ผู้เขียนมีความเห็นส่วนตัวว่า การอ้างอิงคัมภีร์ให้ชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการศึกษาในยุคนี้ซึ่งมุ่งข้อเท็จจริงกว่าความเชื่อถือศรัทธา เพราะขณะนี้วิทยาการเริ่มก้าวทันเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุ เรื่องบางเรื่องและรูปบางชนิดในคัมภีร์ชั้นหลังเริ่มถูกท้าทายว่ามีจริงหรือไม่ตัวอย่างเช่น

2.1 อาหารรูปที่ว่าเป็นอุปาทานรูปนั้น เวลานี้มีการสกัดสารอาหารออกมาได้ และปรากฏออกมาในลักษณะของมหาภูตรูป

2.2 หทยรูป ซึ่งเคยเชื่อว่าหมายถึงเนื้อและน้ำเลี้ยงหัวใจสีต่างๆ และเป็นที่เกิดของนามธรรมจำนวนมาก เมื่อมีการผ่าตัดหัวใจกลับไม่พบน้ำเลี้ยงหัวใจเหล่านั้น และแม้จะใช้หัวใจเทียม นามธรรมก็ยังเกิดได้โดยที่คนนั้นไม่มีหทยรูปที่อยู่กับหัวใจของตน

2.3 บางเรื่องวิทยาการสมัยใหม่พบว่าไม่เป็นความจริง เช่น เรื่องโครงสร้างของโลก ที่ประกอบด้วยชั้นดิน ชั้นหิน ชั้นน้ำแข็งและชั้นลม สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่แต่งเติมในชั้นหลังทั้งสิ้น

2.4 นอกจากเรื่องที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีเรื่องราวในคัมภีร์ชั้นหลังบางเรื่องที่ขัดแย้งกันเองหรือขัดกับข้อเท็จจริงเช่น ระบุว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงคัมภีร์กถาวัตถุบนดาวดึงส์ ทั้งที่คัมภีร์ดังกล่าวเขียนขึ้นโดยท่านพระโมคคัลลีบุตรติสสะหลังพุทธกาลกว่า 200 ปี เมื่อมีผู้แย้งว่าเป็นคัมภีร์ชั้นหลัง ก็มีการอธิบายต่อไปว่าพระศาสดาทรงแสดงบทตั้งไว้ แล้วพระโมคคัลลีบุตรติสสะมาเขียนขยายความในภายหลัง ประเด็นนี้ก็ไม่น่าเชื่ออีก เพราะคัมภีร์กถาวัตถุเขียนขึ้นเพื่อโต้แย้งทัศนะที่ผิดของพระที่แตกตัวเป็นนิกายต่างๆ ภายหลังพุทธกาล พระศาสดาคงไม่ทรงแสดงธรรมแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ไว้ล่วงหน้า เพราะแม้แต่พระวินัยท่านยังไม่ทรงบัญญัติล่วงหน้าเลย (ความจริงถึงเป็นคัมภีร์ชั้นหลัง แต่มีประโยชน์ก็ควรยอมรับนับถือ เพราะประโยชน์ของธรรมอยู่ที่ความเป็นจริง ไม่ใช่อยู่ที่ว่าท่านใดเป็นผู้แสดง ในพระไตรปิฎกเองก็มีธรรมที่พระสาวกแสดงไว้เป็นจำนวนมาก)

3. ผู้เขียนไม่ได้ต้องการโต้แย้งว่าเรื่องที่ยกเป็นตัวอย่างมานี้ถูกผิดประการใด เพียงแค่ยกมาประกอบการพิจารณาเท่านั้น จุดสำคัญที่ต้องการสื่อก็คือ ถ้าจะอ้างคัมภีร์ก็ควรระบุให้ชัดว่าเรื่องนั้นเป็นคำสอนชั้นใดกันแน่ เพราะผู้เขียนเห็นว่าพระพุทธวัจนะที่แท้ (เช่นอริยสัจจ์) เป็นความจริงตลอดกาลที่ไม่มีใครต่อต้านได ส่วนความคิดเห็นของพระสาวกรุ่นหลังอาจจะผิดพลาดได้ (โดยเฉพาะความคิดเห็นของผู้เขียน มีโอกาสผิดพลาดสูง เพราะด้อยความรู้ความสามารถ โปรดอ่านด้วยวิจารณญาณ) แต่ความผิดพลาดเหล่านั้นจะไม่ทำให้พระพุทธศาสนาที่แท้ต้องเสื่อมค่าลง หากชาวพุทธไม่ไปยืนยันเอาเองว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า


เรื่องที่ 2 ความเข้าใจผิดว่า การเจริญสติมีทั้งการรู้และการละอารมณ์
1. ความเข้าใจผิดที่ว่า การเจริญสติปัฏฐานมีทั้งธรรมที่ต้องรู้ และที่ต้องรู้ด้วยละด้วย (จะรู้อย่างเดียวไม่ได้) เกิดจากการตีความข้อธรรมในมหาสติปัฏฐานสูตร ธัมมานุปัสสนา นีวรรณบรรพ คลาดเคลื่อนทั้งด้านอรรถะ (เนื้อหา) และพยัญชนะ (ถ้อยคำ) ซึ่งเนื้อความของพระสูตรดังกล่าวมีตัวอย่างดังนี้

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิตย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์มีอยู่ ณ ภายในจิตของเราหรือเมื่อกามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิต
ย่อมรู้ชัดว่า กามฉันท์ไม่มีอยู่ ณ ภายในจิตของเรา อนึ่ง กามฉันท์ที่ยังไม่เกิดจะเกิดขึ้นด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยกามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วยกามฉันท์ที่ละได้แล้วจะไม่เกิดขึ้นต่อไปด้วยประการใด ย่อมรู้ชัดประการนั้นด้วย

2. เพื่อให้เข้าใจง่าย จะเริ่มอธิบายจากด้านพยัญชนะก่อน คือข้อธรรมในที่นี้ท่านกล่าวเพียงว่า "กามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ก็ให้รู้ชัดประการนั้นด้วย" จุดที่ควรพิจารณาคือ

2.1 รูปประโยคมีความรัดกุมอยู่แล้วว่า สิ่งที่ท่านให้ทำคือการรู้ชัด ส่วนการที่ละกามฉันทะได้ด้วยเหตุใด เป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ชัดเท่านั้นเอง

2.2 ท่านไม่ได้บอกว่าเมื่อรู้ชัดแล้วให้ละเสียด้วย การตีความว่าท่านให้ละเสียนั้น เป็นการกล่าวเกินกว่าที่พระศาสดาตรัสไว้

3. สำหรับความคลาดเคลื่อนในด้านอรรถะหรือเนื้อหา พิจารณาได้ดังนี้คือ

3.1 การอ่านพระสูตรจะอ่านเพียงย่อหน้าเดียว โดยไม่ดูองค์รวมของธรรมทั้งพระสูตรและข้อธรรมอื่นๆ ประกอบด้วยก็อาจเกิดความเข้าใจผิดง่าย เช่น อ่านพบว่าท่านให้รู้ว่า กามฉันท์ที่เกิดขึ้นแล้วจะละเสียได้ด้วยประการใด ก็ไปตีความว่าท่านให้เจริญสติด้วยการละกามฉันท์ แต่ถ้าอ่านข้อความต่อไปก็จะพบว่า ท่านขมวดท้ายคำสอนให้นีวรณบรรพดังนี้

ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้างย่อมอยู่ อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่าธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้นเธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้วและไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมคือนิวรณ์ 5 อยู่ฯ

ธรรมที่ท่านแสดงปิดท้ายนีวรณบรรพมีใจความเดียวกับที่ท่านทรงแสดงปิดท้ายการเจริญสติปัฏฐานอย่างอื่นๆ นั่นเอง คือท่านให้เห็นถึงความเกิดขึ้นและความเสื่อมหรือดับไปของธรรมแต่ละอย่างนั้น และระบุชัดอีกว่า สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า (อัตถิ ธัมมาติ วา ปนัสสสติปัจจุปัฏฐิตา โหติ) ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ (ยาวเทว ฌาณมัตตาย) เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น (ปติสสติมัตตาย) คือท่านให้มีสติระลึกรู้สภาพธรรมนั้นในลักษณะสักว่ารู้และสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ไม่มีคำใดเลยที่ทรงสอนให้ละธรรมนั้น คือไม่มีคำว่า ละ หรือ ปหาน แม้แต่คำเดียว

นอกจากนี้ท่านยังสอนต่อไปอีกว่า เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว (อนิสสิโต จ วิหรติ) ซึ่งหากยังอยากละนิวรณ์ก็คือตัณหา ยังเห็นว่านิวรณ์ไม่ดีและเราสามารถฝึกหัดเพื่อละได้ ทัศนะเช่นนี้จะพอกพูนความเห็นผิด (ทิฏฐิ) ว่านิวรณ์และจิตเป็นอัตตาตัวตน

3.2 พิจารณาคำอธิบายมหาสติปัฏฐานจากอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร พบว่า

3.2.1 พระอรรถกถาจารย์ท่านระบุไว้ชัดเจนว่า "สติที่เข้าไปตั้งอยู่นั้น หาใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ ที่แท้ก็เพียงเพื่อประโยชน์สักว่า ความรู้ คือ ประมาณแห่งความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป และประมาณแห่งสติเท่านั้น อธิบายว่า เพื่อความเจริญแห่งสติสัมปชัญญะ"

จะเห็นได้ว่า อรรถกถาจารย์ท่านระบุชัดว่า การเจริญสติระลึกรู้นิวรณ์นั้นไม่ใช่เพื่อละนิวรณ์ แต่เพื่อญาณคือความรู้ และเพื่อความมีสติเท่านั้น

3.2.2. พระอรรถกถาจารย์ท่านระบุไว้ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีกว่า "นีวรณ์เป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจ" ตัณหาที่มีในก่อน อันยังสติกำหนดนีวรณ์เป็นอารมณ์นั้นให้ตั้งขึ้น เป็นสมุทัยสัจ การหยุดทุกขสัจ และสมุทัยสัจทั้งสอง เป็นนิโรจสัจ อริยมรรคอันกำหนดทุกข์ ละสมุทัย มีนิโรธเป็นอารมณ์เป็นมรรคสัจ ภิกษุโยคาวจร ขวนขวายโดยทางสัจจะ 4 อย่างนี้ ย่อมบรรลุนิพพานดับทุกข์ได้แล นี้เป็นทางปฏิบัตินำทุกข์ออกจนถึงพระอรหัต ของภิกษุผู้กำหนดสติ กำหนดนีวรณ์เป็นอารมณ์ อย่างนี้แล"

จะเห็นได้ว่า อรรถกถาจารย์ท่านระบุชัดว่า นิวรณ์เป็นอารมณ์ และเป็นทุกขสัจจ์นี้เป็นการระบุชัดเจนทีเดียวว่า หน้าที่ของเราต่อนิวรณ์คือการรู้ไม่ใช่การละเพราะกิจต่อทุกขสัจจ์คือการรู้


4.การศึกษาสติปัฏฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นแก่นสารการปฏิบัติหลักทางพระพุทธศาสนาทีเดียว หากไม่มีการเจริญสติก็เท่ากับไม่มีพระพุทธศาสนา เพราะการทำความดีอื่นๆ เช่น การทำทาน การถือศีล และการทำสมาธิเพื่อแก้อาการให้จิตเข้าถึงความสงบนั้น มีมาก่อนพระพุทธศาสนาและเป็นสาธารณะในคำสอนของปราชญ์ทั้งหลาย ดังนั้น หากมหาสติปัฏฐานสูตรถูกบิดเบือนก็คือพระพุทธศาสนาถูกบิดเบือน พวกเราชาวพุทธจึงควรศึกษามหาสติปัฏฐานด้วยความเคารพและรอบคอบ และเพื่อให้เข้าใจได้ถูกถ้วนยิ่งขึ้น ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับธรรมต่อไปนี้คือ (1) หลักการทำสมถะ (การทำความสงบจิต) และหลักการเจริญวิปัสสนา (การมีสติระลึกรู้รูปนามที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง) (2) วิปัสสนาญาณ และ (3) วิสุทธิ เมื่อศึกษาแล้วก็จะเข้าใจชัดเจนขึ้นว่า

4.1 ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐานในลักษณะเป็นวิปัสสนานั้น เราต้องมี

4.1.1 ความบริสุทธิ์แห่งศีล (ศีลวิสุทธิ) และ

4.1.2 ความบริสุทธิ์แห่งจิต (จิตวิสุทธิ) หรือการทำจิตให้สงบด้วยการทำสมถกรรมฐาน มีอยู่ 2 ลักษณะคือ (1) การข่มนิวรณ์ด้วยการเพ่ง (วิกขัมภนวิมุตติ) และ (2) การแก้อาการต่างๆ ของจิตด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ (ตทังควิมุตติ) คือจิตเกิดอกุศลก็ปรุงแต่งกุศลขึ้นมากดข่มอกุศล เช่น จิตเกิดกามราคะก็พิจารณาอสุภะ จิตเกิดโทสะก็เจริญเมตตา เป็นต้น จะเห็นได้ว่า คำสอนใดตีความการเจริญสติปัฏฐานให้อยู่ในระดับการเพ่งและการสร้างธรรมคู่ปรับมาแก้อาการของจิต คำสอนนั้นลดคุณค่าของมหาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนาปัญญาลงมาเป็นแค่การทำสมภกรรมฐาน

4.2 พ้นจากเรื่องศีลและสมาธิอันเป็นการปรับพื้นฐานทางจิตใจแล้ว ก็ถึงเรื่องของการเจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งมีแต่การรู้แจ้งรูปนามที่เป็นปัจจุบันอารมณ์ตามความเป็นจริง ไม่มีการแก้อาการอีกต่อไป (แต่ในเวลาปฏิบัติจริง จิตก็ต้องกลับเข้าพักในสมาธิเป็นครั้งคราวเพื่อเอากำลัง ซึ่งขณะนั้นไม่ใช่การเจริญสติ ผู้ปฏิบัติควรสามารถจำแนกได้ชัดว่า ขณะใดจิตของตนทำสมถะ และขณะใดกำลังเจริญสติเพื่อให้เกิดปัญญา) ขั้นการเจริญปัญญาได้แก่

4.2.1 ความบริสุทธิ์แห่งความเห็น (ทิฏฐิวิสุทธิ) ก็คือปัญญาที่สามารถรู้รูปนามตามความเป็นจริง

4.2.2 ความบริสุทธิ์คือญาณที่ข้ามพ้นความสงสัย (กังขาวิตรณวิสุทธิ) เพราะรู้เหตุเกิดของรูปนาม เช่น รู้ว่ารูปเกิดจาก กรรม จิต อุณหภูมิ และอาหาร ไม่ใช่สิ่งที่อำนาจวิเศษใดๆ เสกสรรค์ขึ้น หรือไม่มีเหตุก็เกิดขึ้นได้เอง เป็นต้น

4.2.3 ความบริสุทธิ์คือความรู้ในหนทางที่ถูกและที่ผิด (มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ) คือรู้ว่าการศึกษารูปนาม และเห็นความเกิดดับของรูปนาม เป็นทางไปสู่ความบริสุทธิ์

4.2.4 ความบริสุทธิ์คือความรู้ในข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง (ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ) เป็นขั้นการเจริญวิปัสสนาที่แท้จริง ซึ่งตำราชั้นหลังท่านจัดเอาวิปัสสนาญาณ 9 นับแต่อุทยัพพยญาณอย่างแก่ จนถึงอนุโลมญาณไว้ในวิสุทธินี้ (ข้อสังเกตเรื่องโสฬสญาณหรือญาณ 16 ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่มีปรากฏในคัมภีร์วิสุทธิมรรค)

4.2.5 ความบริสุทธิ์คือความรู้แจ้งในอริยสัจจ์ (ญาณทัสสนวิสุทธิ) ได้แก่ มรรคญาณทั้ง 4

5. สรุปแล้ว หากรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่นานก็จะทราบว่า สภาวธรรมแต่ละชนิดทั้งรูปและนามมีลักษณะอย่างใด มีหน้าที่หรือบทบาทอย่างไร เมื่อมันแสดงบทบาทแล้วส่งผลอย่างไรบ้าง และได้ทราบด้วยว่าสิ่งใดเป็นเหตุใกล้ให้สภาวธรรมนั้นๆ เกิดขึ้น นอกจากนี้จะทราบชัดว่า ความทุกข์ (ทางใจ) เกิดเพราะความอยากและความยึดถือ และหากสามารถระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์ โดยไม่ปรุงแต่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดเพิ่มเติม แม้กระทั่งการพยายามละความชั่วและรักษาความดี เป็นสภาวะของการสักว่าเห็น สักว่าฟัง สักว่าทราบ และสักว่ารู้แจ้ง อย่างแท้จริง ในไม่ช้าเลยอาจได้พบสภาวธรรมที่ปราศจากตัวตน แทนที่ความเป็นตัวตนของจิตที่มีอยู่เดิม (ด้วยความหลงผิด) แล้วเกิดความรู้แจ้งแทงตลอดในฉับพลันได้ว่า นิโรธหรือนิพพานคือความสิ้นตัณหามีอยู่จริง รู้ได้จริง สมดังธรรมที่พระศาสดาทรงสอนพระพาหิยะนั่นเอง

ในทางกลับกัน การพยายามแก้อารมณ์หรือดัดแปลงการรับรู้ อาจทำให้จิตได้รับความสงบสุขระดับหนึ่งก็จริง แต่ระยะยาวอาจก่อภัยร้ายแรงคือก่อความวิปัลลาส (เพี้ยน) ให้เกิดมากยิ่งขึ้น คือเห็นว่าจิตและสภาวธรรมทั้งหลายเป็นสิ่งที่สามารถควบคุมให้เป็นไปตามความอยากได้ ซึ่งก็คือเห็นธรรมเป็นอัตตาตัวตนนั่นเอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


1. ที่มาของเรื่อง

ผมทราบว่ามีหลายท่านต้องการอ่านประสบการณ์การปฏิบัติธรรมจากผม
โดยได้พยายามรื้อฟื้นความทรงจำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยหวังว่า อย่างน้อยก็คงจะสร้างกำลังใจให้ผู้ที่ได้อ่าน เพื่อมุ่งสู่ความดับทุกข์ต่อไป ถึงแม้ในวันวานที่ผ่านมาจะล้มลุกคลุกคลานและเหนื่อยยากสักเท่าไรก็ตาม ถึงแม้ในวันนี้จะยังถึงความดับทุกข์ไม่ได้ แต่วันข้างหน้าไม่วันใดก็วันหนึ่ง ก็ยังมัหวังที่จะดับทุกข์ลงได้อย่างหมดจด ด้วยการเจริญสติปัฏฐานตามที่พระพุทธองค์ทรงประกาศไว้ และผ่านการสืบทอดจากจิตสู่จิตของพุทธบริษัทรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาจนถึงวันนี้ วันที่ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้ "การเจริญสติปัฏฐาน" จากพระอาจารย์ปราโมทย์ ปาโมชโช (อุบาสกนิรนาม) ครูผู้จุดประกายแห่งความดับทุกข์ให้สว่างไสวในจิตอยู่จนทุกวันนี้

2. เริ่มแรกแห่งความสนใจในพระพุทธศาสนา
ได้เริ่มขึ้นเมื่อปลายปี พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมใกล้จะจบการเรียนระดับปริญญาตรี ในช่วงนั้นผมเกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความทุกข์ใจในครั้งนั้นมิมากถึงขั้น "น้ำตาตกใน" สามารถเห็นน้ำตาที่ไหลอยู่ข้างในอก และเห็นความเศร้าหมองของจิตอย่างชัดเจน จนอดที่จะพูดกับตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมเราต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากสภาพอย่างนี้ได้ ในความทุกข์ใจอันแสนสาหัสนี้ ผมไม่อาจทำอะไรได้มากไปกว่าการปล่อยให้วันเวลาผ่านไป ด้วยความหวังว่า วันเวลาที่ผ่านไปนั้น จะช่วยให้เราหายจากความทุกข์ใจได้บ้าง

จนวันหนึ่งผมได้ไปเดินเล่นในร้านหนังสือ ทำให้ได้เจอหนังสือเล่มเล็กๆ บนหน้าปกเขียนด้วยถ้อยคำว่า "เกิดมาทำไม" ถ้อยคำๆ นี้รู้สึกสะดุดใจผมมาก จึงได้หยิบขึ้นมาดูและทราบว่าเป็นหนังสือธรรมะของหลวงพ่อพุทธทาส จึงเปิดอ่านเพียงครู่เดียวก็พอจับใจความได้ว่า คนเราจะเกิดมาเพื่อกิน เพื่อกาม และเพื่อเกียรติเท่านั้นหรือ ทั้งที่จริงแล้วผู้ที่ได้เกิดมาในโลกนี้ ยังมีสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รู้ สิ่งนั้นก็คือการมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์ เมื่อได้อ่านแล้วก็เกิดความสนใจทันที และเป็นความสนใจในแรกเริ่มที่จะศึกษาว่า การมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์นั้น เขาทำกันอย่างไร ต่อมาจึงได้ศึกษาธรรมะจากหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาสเรื่อยมา และพอจะจำได้ว่าเล่มที่อ่านเป็นเรื่องเป็นราวเล่มแรกก็คือ "คู่มือมนุษย์"

3. ผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น
แม้จะได้อ่านหนังสือธรรมะบ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาของผมเอง จึงทำให้ผมเข้าใจได้เพียงว่า การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นขั้นๆ ไป ก็เลยเริ่มต้นด้วยการรักษาศีล 5 พร้อมๆ ไปกับการฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบนิ่ง ส่วนเรื่องปัญญานั้น ยังเข้าใจผิดไปว่า ต้องมีสมาธิแบบสงบนิ่งเสียก่อนจึงจะเจริญปัญญาได้ จึงเอาแต่รักษาศีลกับพยายามทำจิตให้สงบนิ่ง ซึ่งทำเท่าไรจิตที่ต้องการความสงบนิ่งก็ไม่อาจสงบนิ่งได้ มีแต่ฟุ้งซ่านและง่วงนอนอยู่ทุกวัน

แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ จึงได้พยายามฝึกทุกๆ วัน และเที่ยวหาหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติมาศึกษาด้วยตัวเอง ยิ่งศึกษาไปก็ยิ่งเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงตั้งใจว่าต้องทำสมาธิให้ได้อย่างน้อยก็อัปปนาสมาธิ เพราะเข้าใจผิดไปว่า หากไม่ได้อัปปนาสมาธิก็เจริญวิปัสสนาไม่ได้ จึงกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความอยากไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อปฏิบัติด้วยความอยาก ก็ยิ่งถอยห่างจากมรรคผล และแม้จะฝึกเท่าไรก็ไม่สามารถบังคับจิตให้เกิดความสงบนิ่งได้ตามที่อยาก

ความที่เข้าใจผิดๆ ในตอนนั้น ได้ทำให้การปฏิบัติผิดซ้ำผิดซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะยิ่งทำให้จิตสงบไม่ได้ก็ยิ่งต้องค้นต้องศึกษา ทีนี้เลยเกิดไปสนใจเรื่องอภิญญาต่างๆ ตามที่นิตยสารฉบับหนึ่งชอบนำเรื่องอภิญญาของพระกรรมฐานมาลง ก็ยิ่งทำให้ผมเข้าใจผิดไปว่า การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั้นจะต้องได้อภิญญาก่อน ก็เลยเพิ่มความอยากขึ้นอีกหนึ่งอย่าง คืออยากทั้งให้จิตสงบกับอยากได้อภิญญา แม้ว่าจะเข้าใจผิดต่อหลักวิธีการปฏิบัติอย่างไรก็ตาม แต่การปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ ก็ยังคงเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ในใจตลอดเวลา


4. ได้ศึกษาจากพระปฏิบัติครั้งแรก

เมื่อฝึกแบบผิดๆ ทำให้ฝึกอย่างไรก็ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ แต่ผมก็ไม่ย่อท้อ จึงตั้งใจว่าจะหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระปฏิบัติ ให้ท่านสอนการปฏิบัติให้ ครั้นจะไปหาพระปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น ก็ไม่รู้จะไปอย่างไร แต่ละองค์ก็อยู่ไกลเหลือเกิน จะไปก็ไปไม่ถูก จนวันหนึ่งราวๆ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ได้สนทนากับผู้ที่สนใจเรื่องธรรมะเหมือนกัน จึงได้รู้จักชื่อหลวงปู่วัย จตฺตาลโย (หลวงปู่มรณภาพเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2541) จากคำบอกเล่าทราบว่า หลวงปู่เป็นพระปฏิบัติที่มีอภิญญาสูง มีความสามารถหลายๆ ด้านมากเช่น การรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยการแพทย์แผนโบราณ และยังเก่งในด้านการปฏิบัติกรรมฐาน ตอนนั้นผมรู้สึกมีความต้องการจะไปกราบหลวงปู่เป็นอย่างมาก และทราบต่อมาว่าหลวงปู่ได้มาสอนกรรมฐานที่กรุงเทพฯ เป็นประจำทุกวันศุกร์ตอนเย็น สถานที่สอนก็อยู่ใกล้บ้านผมเสียด้วย จึงได้มีโอกาสไปกราบท่านตามความต้องการ

วันแรกที่ได้พบกับหลวงปู่วัย ผมไม่รีรอและขอเรียนกรรมฐานทันที จึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า ผมมาขอเรียนกรรมฐานจากหลวงปู่ หลวงปู่ได้หยิบหนังสือธรรมปฏิบัติที่ท่านเขียนแจกในวันครบรอบวันเกิดปีนั้นให้ และสอนผมให้ตามดูลมหายใจ หลวงปู่บอกว่า ธรรมของพระพุทธองค์ต้องมีเหตุมีผลและพิสูจน์ได้ อย่างเช่นลมหายใจ เราต้องรู้ว่าเมื่อหายใจเข้าเป็นอย่างไร หายใจออกเป็นอย่างไร คือเมื่อหายใจเข้าต้องรู้ว่าลมหายใจเข้านั้นเป็นลมที่เย็น และเมื่อหายใจออกต้องรู้ว่าลมหายใจออกนั้นเป็นลมที่ร้อน หากไม่เชื่อก็ให้ลองหายใจรดหลังมือดูว่าลมที่ออกนั้นร้อนจริงหรือไม่

แล้วหลวงปู่ก็อธิบายต่อไปว่า ที่ลมหายใจออกมีความร้อนกว่าลมหายใจเข้านั้น เป็นเพราะในตัวเรามีธาตุไฟอยู่ และลมหายใจที่เข้าไปนั้น จะไปหล่อเลี้ยงธาตุไฟให้คงอยู่ได้ หลวงปู่ยังบอกต่อไปอีกว่า ถ้าจะเรียนกับหลวงปู่ก็ต้องเรียนให้รู้จริงอย่างนี้ เหมือนการขึ้นต้นไม้ก็ต้องขึ้นทางโคนต้น จะไปขึ้นทางยอดไม่ได้ วันนั้นฟังหลวงปู่สอนแล้วจิตใจฮึกเหิมมาก กลับมาบ้านก็ตามดูลมหายใจอย่างที่หลวงปู่สอนให้อย่างตั้งใจ

5. ฝึกอย่างไรก็มีแต่ฟุ้งซ่าน
ในช่วงนั้นพยายามตามดูลมหายใจ เพื่อจะได้รู้แจ้งแทงตลอดในกองลมทั้งปวงอย่างกับหลวงปู่วัย ดูแล้วดูอีกก็ไม่เห็นว่าจะรู้เรื่องลมเลย เห็นแต่ความคิดที่ฟุ้งซ่านไปอย่างมาก กำหนดดูลมหายใจทีไร ก็รู้ลมหายใจเข้าออกได้เพียงสองสามรอบ ต่อไปก็ฟุ้งซ่านอย่างเดียว นั่งทำ 10 นาทีก็ฟุ้งซ่านทั้ง 10 นาที นั่งทำครึ่งค่อนชั่วโมงก็ฟุ้งซ่านทั้งครึ่งค่อนชั่วโมง เป็นอย่างนี้อยู่หลายเดือน

เมื่อทำไปมีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็เลยคิดหาอุบายใหม่ตามที่เคยได้ยินหลวงปู่พูดถึงการนับลมหายใจว่า หลวงปู่สามารถนับลมหายใจได้ทั้งวัน โดยไม่หลงลืมเลย ก็เลยลองนับบ้างเผื่อว่าจะทำได้ ในใจคิดว่า ไม่ต้องนับได้ทั้งวันเหมือนหลวงปู่หรอก เอาสักครึ่งชั่วโมงก็เก่งแล้ว ลองทำอยู่นานแต่ผมที่ได้คือ นับได้ยังไม่ทันถึง 10 ครั้ง ต่อไปก็ฟุ้งซ่านเหมือนเดิม

ผมจึงต้องเที่ยวหาอุบายทดลองอยู่อีกหลายอย่าง ทั้งเพ่งกสิณ ดูอสุภะที่พิพิธภัณฑ์คองคอน โรงพยาบาลศิริราช เรียกว่าเกือบจะครบทั้ง 40 กรรมฐานของสมถะ และตอนหลังหันมาเดินจงกรม ซึ่งผลก็ยังเหมือนเดิมคือ จิตสงบนิ่งไม่ได้เลย มีแต่ความฟุ้งซ่านอย่างเดียว แต่การเดินจงกรมนั้นดูจะเข้าท่าที่สุด

พอเริ่มเดินจงกรมได้ระยะหนึ่งแล้ว วันหนึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ได้ไปกราบหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่า เดินได้แล้วก็เดินไป จะเอาให้ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนาอย่างหลวงปู่นั้นยาก คนส่วนมากจะทำได้อย่างเดียวเท่านั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้น ความคิดที่จะมุ่งฝึกแต่สมถะกรรมฐานก็ลดลงไปอย่างมาก เกิดเป็นความอยากที่จะฝึกวิปัสสนาแทน แต่ด้วยเพราะความเป็นคนที่ไม่ถามอะไรง่ายๆ ก็เลยได้แต่ถามในใจว่าแล้ววิปัสสนาเขาทำกันอย่างไร หลวงปู่ก็เลยชวนคุยเรื่องหนังสือที่จะทำแจกวันเกิดปีนั้นว่า จะเอาเล่มเก่าๆ มาพิมพ์ใหม่ โดยจะพิมพ์เรื่องพุทธศาสนาในทัศนะของข้าพเจ้า เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนาและวิปัสสนาญาณ 16 ตามที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติมา ปลายปีนั้นเองผมจึงได้ศึกษาการฝึกวิปัสสนาจากหนังสือเล่มนั้น

6. ฝึกแบบคิดไปเรื่อยๆ (วิปัสสนึก)

เมื่อเริ่มศึกษาการเจริญวิปัสสนานั้น ก็ยังมีความเข้าใจผิดไปอีกว่า การเจริญวิปัสสนาจะต้องเกิดเป็นความรู้ในเรื่องของขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 ฯลฯ ทีนี้ก็เลยอ่านหนังสือธรรมะเป็นหลัก อ่านแล้วก็นำมาครุ่นคิดเอาว่า ธาตุเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขันธ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ธรรมข้อนี้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น ไม่เคยเฉลียวใจเลยว่านั่นมันวิปัสสนึก จึงเอาแต่คิดนึกเอาเองอยู่หลายปี ก็ไม่เห็นจะเกิดปัญญาที่จะจัดการกับกิเลสได้เลย ถึงแม้จะเห็นว่าการคิดเอาไม่เกิดปัญญา แต่ก็ยังไม่รู้ว่าทำผิดๆ อยู่

7. เห็นความโกรธ
ในช่วงที่ปฏิบัติด้วยการคิดเอาเป็นหลักนั้น บังเอิญได้เห็นความโกรธโดยไม่ตั้งใจ แต่ตอนนั้นไม่รู้เลยว่า การเห็นความโกรธนั่นแหละคือการเจริญวิปัสสนาที่เห็นความโกรธตอนนั้นคือ เห็นการเกิดขึ้นและดับไปของความโกรธ ซึ่งการเกิดขึ้นของความโกรธจะเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ตอนจะหายโกรธกลับค่อยๆ เบาลงๆ แล้วหายไปอย่างช้าๆ เปรียบได้เหมือนกับการจุดไม้ขีดไฟที่เริ่มจุดเปลวไฟจะลุกสว่างเร็วมากแล้ว จึงค่อยๆ มอดดับลงไป

ผลของการเห็นความโกรธนี้เอง ที่ทำให้ผมกลายเป็นคนที่มีความโกรธน้อยลง จนการแสดงความโกรธออกทางกายมีน้อยมาก เห็นแต่ความโกรธที่เกิดอยู่ในจิตเท่านั้น เมื่อนึกถึงตอนนั้นแล้วยังรู้สึกเสียดายที่ไม่อาจเข้าใจการปฏิบัติที่ถูกได้ เพราะแม้จะเห็นความโกรธและเห็นผลของการเห็นความโกรธได้บ้างแล้ว แต่กลับไม่มั่นคงในวิธีการปฏิบัติ จึงต้องหันกลับไปทำวิปัสสนึกเอาอีกจนได้ ทั้งๆ ที่เคยถามหลวงปู่วัยแล้วว่า ผมต้องฝึกอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ และหลวงปู่ก็ตอบชัดเจนแล้วว่า ไม่ต้องแล้ว ให้ดูรูปดูนามไปอย่างนี้แหละ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


8. สิ้นหลวงปู่วัย เกือบเอาตัวไม่รอด

ผมปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่วัยมาจนปี 2541 หลวงปู่ก็มรณภาพลงในเดือนเมษายน ก่อนหลวงปู่จะมรณภาพนั้น ผมก็ยังปฏิบัติแบบคนหลงป่า เอาแต่เดินทางที่ผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่หลวงปู่ไม่เคยที่จะเบื่อหน่ายกับการสอนศิษย์โง่คนนี้เลย อีกทั้งบางครั้งก็ยังเมตตาเล่าเรื่องที่หลายคนอยากรู้ให้ฟังอีกหลายเรื่องโดยไม่ต้องถามเช่น เรื่องที่หลวงปู่ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่พระครูโลกอุดร หรือจะเป็นเรื่องนรกสวรรค์ก็ตาม หลวงปู่ก็จะเล่าให้ฟัง ทั้งที่เรื่องพวกนี้หากใครที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติจริงไปถามเข้า ก็จะโดนตะเพิดออกไปทุกราย เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง

ตลอดเวลาที่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่ แม้ว่าจะยังไม่อาจจับหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องได้ แต่เมื่อย้อนไปพิจารณาดูแล้วพบว่า หลวงปู่ได้สอนให้ผมมีความคิดเห็นที่ถูกต้องมากมาย ทั้งทางโลกและทางธรรม จนผมสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ หลวงปู่วัยจึงเป็นผู้ให้การเลี้ยงดูเด็กน้อยในร่มเงาของพุทธศาสนาอย่างผมในตอนนั้น

เมื่อสิ้นหลวงปู่วัย ผมก็เลยเคว้งขว้างหาครูบาอาจารย์ไม่ได้ จนมีศิษย์หลวงปู่คนหนึ่ง ที่หลวงปู่มักกล่าวถึงเสมอๆ ว่าเข้าใจการปฏิบัติได้ดี ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นอาจารย์สอนธรรมะ ผมจึงไปร่วมศึกษาด้วย ในช่วงแรกก็เรียนการเพ่งกสิณ คนที่ไปเรียนเกือบทั้งหมดทำได้อย่างง่ายดาย แต่ผมกลับทำไม่ได้เลย แต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาดูพบว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่ากลัวมากของการปฏิบัติ เพราะอาจารย์คนนี้ยิ่งสอนก็ยิ่งออกจากกรอบของพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งหากผมทำได้อย่างที่อาจารย์ท่านนี้สอน ป่านนี้ผมก็คงเป็นผู้ปฏิบัติด้วยความเห็นผิด ด้วยวิธีการที่นอกออกไปจากกรอบพระพุทธศาสนา ซึ่งนับว่าผมยังโชคดีที่ทำไม่ได้และถอนตัวออกมาได้ทัน ทำให้นึกถึงคำหลวงปู่วัยที่กล่าวไว้กับศิษย์ท่านหนึ่งว่า ไม่รู้เป็นอย่างไร พวกที่เรียนกับหลวงปู่ พออยู่ห่างจากหลวงปู่ก็มักเพี้ยนกันไปหมด ผมเลยคิดเอาเองว่า คนส่วนมากที่ไปเรียนกับหลวงปู่ มักเป็นพวกที่ชอบเรื่องอภิญญาเป็นทุนเดิม หาได้น้อยคนนักที่จะต้องการเรียนเพื่อการพ้นทุกข์ ตอนอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่ หลวงปู่ก็ยังควบคุมอบรมให้อยู่ในร่องในรอยได้ แต่พอห่างหลวงปู่และไม่มีใครคอบคอยคุมก็เลยเพี้ยนได้ง่าย

9. พบครูปราโมทย์ ผู้จุดประกายเจริญสติสัมปชัญญะ
แม้จะสิ้นหลวงปู่วัยไปแล้ว ผมก็ยังคงพากเพียรหาทางพ้นทุกข์อยู่ทุกวัน แม้จะปฏิบัติแบบผิดๆ ก็ยังรู้สึกว่าวันใดไม่ได้ปฏิบัติวันนั้นเหมือนกับไม่ได้กินยาแก้โรคประจำตัว แล้วก็จะคอยสอดส่องหาครูบาอาจารย์ที่จะศึกษาการปฏิบัติต่อ โดยมีความหวังว่าสักวันต้องได้พบครูบาอาจารย์ที่จะสอนปฏิบัติต่อไปได้ด้วยจดจดคำของหลวงปู่วัยที่เคยพูดไว้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมเขาไม่ทอดทิ้งกันหรอก

จนวันหนึ่งราวๆ เดือนสิงหาคม-กันยายน 2542 บังเอิญเล่น Internet แล้วเจอกระดานสนทนา "ลานธรรม" รู้สึกตื่นเต้นมากที่มีผู้คนมากมายมาร่วมสนทนาธรรม ก็เลยเข้าไปขอร่วมสนทนาด้วย ใหม่ๆ ก็คุยไปตามความรู้เพียงน้อยนิด แต่ก็ได้เห็นอะไรมากมายจากทั้งนักปริยัติ นักอภิธรรม และนักปฏิบัติ แต่ที่สะดุดใจมากที่สุดก็คือ กระทู้และความเห็นของคุณสันตินันท์ หรือครูปราโมทย์ เพราะอ่านแล้วถึงใจดีทีเดียว คงด้วยเพราะในระยะหลัง ผมจะสนใจการปฏิบัติมากกว่าความรู้ต่างๆ ทำให้ยิ่งอ่านก็ยิ่งมั่นใจว่า ครูนี่แหละเป็นผู้ให้คำแนะนำได้ดีที่สุด จึงได้พยายามที่จะสอบถามการปฏิบัติกับครู ซึ่งตอนนั้นครูเริ่มที่จะไม่ค่อยเข้ามาที่ลานธรรมแล้ว แต่ด้วยความเมตตาของสมาชิกลานธรรม ทำให้ผมได้ทราบวิธีติดต่อกันกับครูจนได้

เมื่อทราบวิธีติดต่อครูแล้ว ผมจึงได้แนะนำตัวทางจดหมาย (e-mail) และขอคำแหนะนำในวิธีปฏิบัติที่ผมทำอยู่ในขณะนั้นคือ ผมจะหยิบยกเอาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งขึ้นมาพิจารณาเพื่อจะแก้อารมณ์นั้นให้ได้ คำตอบที่ได้จากครูทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะครูตอบว่าที่ทำอยู่นั้นผิด ที่ถูกคือให้รู้อารมณ์ไม่ใช่ให้แก้อารมณ์ เพราะความอยากที่จะแก้อารมณ์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะเอาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มาดับทุกข์ไม่ได้เท่านั้นเองครับทำให้จิตผมตื่นทันที พร้อมกับเริ่มที่จะรู้อารมณ์ไม่แก้อารมณ์ ความหนักอึ้งอยู่ในหัวมานานก็เบาลง เพราะได้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และในระยะเวลาใกล้ๆ กันนั้นเอง ก็ได้รู้จักกระดานสนทนาชื่อ "วิมุตติ"

10. ได้รับการฝึกให้รู้ตัวจากครูครั้งแรก
แม้จะทราบถึงวิธีการปฏิบัติจากครูทางจดหมายแล้ว แต่ด้วยความที่จิตยังไม่มีความรู้ตัว ทำให้ต้องกลับไปปฏิบัติแบบผิดๆ อีกคือ ปฏิบัติแบบเพ่งและคิดเอาอีกจนได้ เป็นอย่างนี้อยู่อีก 3-4 เดือน เห็นว่าไม่ได้ผลแน่ จึงได้ไปพบครูด้วยตัวเองที่ศาลาลุงชิน ไปครั้งแรกไม่ได้พบจึงได้ไปอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2543

เมื่อได้โอกาสจึงเข้าไปแนะนำตัวเองกับครู ครูก็ไม่รอช้าสอนผมทันทีว่า ยังรู้ตัวไม่เป็น ต้องฝึกรู้ตัวให้เป็น ทันทีที่ครูบอกผมก็พอรู้ได้ว่าจิตตื่นขึ้นมาเล็กน้อย แล้วก็เผลอบ้าง เพ่งบ้างไปตามแบบฉบับของเด็กเพิ่งหัดที่เอาแต่หลับทั้งที่ตื่นอยู่

แต่ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติจึงได้พยายามทำไปตามที่เข้าใจ เมื่อเผลอไปครูก็ทักว่าเผลอไปแล้ว เมื่อเพ่งเอาครูก็ทักว่าอย่างนั้นเพ่งเอา เมื่อครูทักถึงการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ผมก็จะจดจำเอาไว้ว่า ถ้าทำแล้วมีอาการอย่างนั้นแสดงว่าทำผิดแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่าแล้วต้องทำอย่างไรจึงจะถูก จึงต้องนั่งทำไปเรื่อยๆ ในที่สุดครูก็ทักว่า ดีแล้วให้ทำไปอย่างนั้น ก็จดจำเอาไว้

เมื่อทราบว่าปฏิบัติอย่างไรผิดปฏิบัติอย่างไรถูก ก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ (ปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ไม่เคร่งเครียด) หากทำผิดก็ไม่รู้ว่าทำผิดไปแล้ว หากทำถูกก็ให้รู้ว่าทำถูกแล้ว ผมมีความเห็นว่า ตรงจุดนี้มีความสำคัญมากๆ สำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติก็ไม่อาจก้าวหน้าได้ อย่างเช่นที่ผมเป็นมาก่อนหน้านี้คือ ทำผิดก็ไม่รู้ว่าผิดแถมยังคิดว่าทำถูกอีก ก็เลยเที่ยวทำผิดๆ อยู่เป็นนานสองนาน แต่พอทำถูกเข้าก็กลับไม่รู้ว่าทำถูก จึงทำให้เที่ยวหาอุบายต่างๆ นานามาทำไปแบบผิดๆ อีก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าต้องไปเกิดอีกสักกี่ร้อยกี่พันชาติ จึงจะเข้าถึงธรรมได้

หลังจากพอจะรู้ด้วยตัวเองได้ว่า การปฏิบัติที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร จิตก็เริ่มมีการพัฒนาไปตามลำดับ โดยในช่วง 3 เดือนหลังจากได้ไปพบครู ก็เริ่มรู้ตัวได้บ้างแล้ว แต่ด้วยความไม่ประสีประสาจึงต้องคอยให้ครูบอกว่า เราพอจะรู้ตัวได้แล้ว ต่อไปก็ให้เจริญสติปัฏฐาน แต่ครูบอกให้หาเอาเองว่าจะเจริญสติปัฏฐานในแบบใด

วันที่ครูบอกว่าผมรู้ตัวได้แล้วนั้น ผมยังงงๆ อยู่ว่า เราทำมาก็ไม่เห็นจะดูจิตได้ชัดเจนเลย ทำไมครูบอกว่าเรารู้ตัวได้แล้ว จนอีกหนึ่งเดือนต่อมาจึงพอจะเข้าใจว่า ความรู้ตัวได้นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเกิดสงสัยในขณะไม่สบายว่า เราก็รู้ตัวได้แล้วแต่ทำไมความทุกข์จึงไม่เห็นจะเบาบางลง เมื่อคอยดูต่อไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่า เราพอรู้ตัวอยู่ได้แม้ร่างกายเป็นทุกข์อยู่ แต่กลับไม่เห็นว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าเราเพิ่งจะรู้ตัวได้แต่ยังรู้ไม่เป็น ถ้ารู้เป็นจะต้องเห็นว่ามีสิ่งที่ถูกรู้กับมีผู้รู้ หรือรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง พอนึกได้อย่างนี้จิตก็เริ่มเห็นว่า ความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ จึงทำให้เห็นได้ว่า เมื่อความทุกข์ทางกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ความทุกข์ทางใจก็เบาบางลงไป

ต่อมาจึงได้ถือหลักปฏิบัติว่า ให้รู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง แต่ก็กลัวว่าจะหลงลืมหลักนี้ไปอีก จึงได้เขียนใส่กระดาษติดไว้หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับว่าได้ผลดีทีเดียว เพราะในบางวันที่เราเกิดไขว้เขวออกนอกลู่นอกทางที่ถูกต้อง เมื่อเห็นกระดาษที่เขียนติดไว้ ก็ทำให้กลับเข้าแนวทางที่ถูกได้เร็ว หากไม่เขียนติดไว้ก็อาจจะออกนอกลู่ไปอีกหลายวันหรืออีกเป็นเดือนก็ได้

11. ความรู้ไม่อาจช่วยให้พ้นทุกข์ได้
ในระยะสามสี่เดือนแรกที่ได้พบครู วันหนึ่งขณะที่สนทนากับญาติมิตรท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติแล้วจิตจะแสดงความรู้ออกมามาก วันนั้นจู่ๆ ผมก็เกิดอาการจิตปลดปล่อยความเห็นผิดในเรื่องความรู้ออกไปได้ จึงได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า ความรู้ทั้งหลายที่เกิดจากการเรียนและผ่านกระบวนการคิดเอาด้วยเหตุด้วยผลนั้น ไม่อาจนำมาใช้ในการดับทุกข์ได้เลย เพราะความรู้ก็คือความรู้ ไม่ใช่ปัญญาที่จะประหารกิเลสลงได้ ความรู้จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ นับแต่นั้นผมก็เลยไม่สนใจที่จะค้นคว้าหาความรู้ที่เกินจำเป็นอีก โดยเฉพาะในคำสมมติบัญญัติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเลิกอ่านเลิกฟังธรรมะ หากแต่การอ่านการฟังธรรมะนั้น ก็อ่านก็ฟังไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าจะรู้เรื่องหรือไม่ ฟังแล้วอ่านแล้วก็แล้วไปไม่เก็บเอามาครุ่นคิดให้เสียเวลา สู้เอาเวลานั้นไปใช้ในการเจริญสติสัมปชัญญะไม่ได้

12. กรอบการปฏิบัติเหลือเพียงอริยสัจจ์ 4
วันหนึ่งผมได้เปิดอ่านพระไตรปิฎกเล่มที่ 4 เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนหลังจากตรัสรู้ไม่นาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับอริยสัจจ์ที่พอสรุปความได้ว่า

พระพุทธองค์ทรงรู้อริยสัจจ์ใน 3 ลักษณะคือ รู้ว่า อะไรคือทุกข์ (ทุกข์) รู้ว่าอะไรคือเหตุให้ทุกข์ (สมุทัย) รู้ว่า อะไรคือการพ้นจากทุกข์ (นิโรธ) รู้ว่า อะไรคือทางให้พ้นจากทุกข์ (มรรค) (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปริยัติ)

รู้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ รู้ว่า อะไรคือทุกข์ รู้ว่า สมุทัยควรละ ละ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ รู้ว่า นิโรธควรทำให้แจ้ง แจ้ง ในการพ้นจากทุกข์ รู้ว่า มรรคควรเจริญให้มาก เจริญ ในทางให้พ้นจากทุกข์ (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปฏิบัติ)

รู้ว่า ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว รู้ว่า สมุทัยได้ละแล้ว รู้ว่า นิโรธได้ทำให้แจ้งแล้ว รู้ว่า มรรคได้เจริญให้มากแล้ว (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปฏิเวธ)

เมื่อเกิดความเห็นต่ออริยสัจจ์ดังนี้แล้ว การปฏิบัติก็อยู่ในกรอบของอริยสัจจ์ ทั้งในด้านปริยัติและโดยเฉพาะด้านการปฏิบัติ หากสิ่งใดอยู่นอกกรอบอริยสัจจ์ ผมก็จะไม่สนใจ สำหรับด้านปฏิเวธนั้น ผมเข้าใจแล้วว่า การศึกษาและปฏิบัติตามหลักของพุทธศาสนานั้น เราทำเพียงสองด้านเท่านั้นคือ ด้านปริยัติกับด้านปฏิบัติ โดยเน้นด้านปฏิบัติเป็นหลัก ส่วนของด้านปฏิเวธเราไม่ต้องทำเพราะปฏิเวธนั้น จะเป็นผลที่จะเกิดจากการปฏิบัตินั่นเอง

13. ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน
ในการปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน หรือเจริญสติสัมปชัญญะนั้น ผมใช้วิธีการปฏิบัติไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะอาบน้ำ ทานอาหาร ทำงาน ยืน เดิน นั่ง พูด คิด ขับถ่าย ฯลฯ ซึ่งสาเหตุที่ผมเจริญสติปัฏฐานในลักษณะนี้ก็เพราะว่า ผมเป็นคนที่มีจิตไม่ยอมอ่อนลงให้กับการปฏิบัติที่เป็นรูปแบบตายตัว เช่นนั่งทำจังหวะแบบหลวงพ่อเทียนก็ไม่ได้ นั่งเคาะนิ้วก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ตามรู้ลมหายใจก็ไม่ได้ ทำทีไรจิตเป็นอันต้องหนักตึง มีโมหะครอบงำ ฟุ้งซ่านและง่วงนอนเสียทุกที และที่แย่ที่สุดก็คือการปฏิบัติแบบหลับตา เพราะจะโดนโมหะและความฟุ้งซ่านเล่นงานเอาอย่างรุนแรง (ฝืนทำมาร่วม10 ปีก็ไม่ก้าวหน้าเลย) แต่พอฝึกรู้ตัวและเจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน จิตกลับอ่อนลงได้โดยง่าย

นอกจากนี้ ผมยังปฏิบัติด้วยความพยายามทำอย่างเต็มกำลังเท่าที่จะทำได้ หากทำเต็มกำลังแล้ว ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ผมจะไม่พยายามทำให้เหมือนครูบาอาจารย์ทุกอย่าง ผมจะให้จิตเขาเป็นไปตามที่ควรเป็น แล้วคอยรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางไปเรื่อยๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


13. ตัวเราก็ถูกรู้เช่นกัน
เมื่อผ่านการเจริญสติสัมปชัญญะ ด้วยการรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางได้ประมาณเกือบ 8 เดือน ความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จึงได้ปรากฏชัดขึ้น ในตอนนั้นจิตก็ยังเห็นผิดไปว่าตัวเรามีอยู่ แต่ด้วยการยึดในหลักการปฏิบัติว่า ให้รู้สิ่งปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง จึงได้เฝ้ารู้อยู่ทุกครั้งที่มีตัวเราเกิดขึ้น ได้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของตัวเรานั้นเอง เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของตัวเราหลายครั้งเข้า ก็ได้เห็นถึงสภาวะที่จิตคลายจากการยึดอยู่ในตัวเราแล้วไปยึดอารมณ์อื่นแทน จึงทำให้เห็นว่าความรู้สึกว่าตัวเราก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ และเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าแท้ที่จริงแล้ว ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรานั้น เป็นเพียงสิ่งๆ หนึ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ แต่อย่างใด

14. จิตเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
หลังจากเห็นว่าตัวเรากลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ไม่นาน ในตอนเย็นของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2543 หลังจากเลิกงานแล้ว ได้ไปรอรับภรรยากลับบ้าน ขณะที่นั่งรออยู่นั้นรู้สึกเหนื่อยเพราะทำงานมาทั้งวัน จึงได้หลับตาพักด้วยความรู้ตัวอยู่ ในขณะนั้นได้นึกขึ้นมาว่า เพียงแค่ละความเห็นผิดไปได้เท่านั้นก็เป็นพระโสดาบันได้ แล้วจิตก็เกิดการรวมลงไปเองอย่างรวดเร็ว และรู้ถึงสภาวะที่จิตหลุดพ้นได้แวบหนึ่ง แล้วก็กลับถูกห่อหุ้มเช่นเดิมอีก จึงได้เข้าใจชัดเจนถึงสภาวะของจิตที่หลุดพ้นว่า นิพพานนั้นที่จริงก็คือ จิตที่ไปรู้อยู่แต่อารมณ์นิพพาน ไม่เที่ยวไปรู้อารมณ์อื่นๆ ที่เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ความสงสัยในมรรคนิพพานว่าเป็นอย่างไรกันแน่จึงเป็นอันสิ้นสุดลง ความเห็นว่ากายและจิตเป็นตัวเราก็หมดไป มีแต่ความเห็นว่าทั้งกายและจิตนั้นไม่ใช่ตัวเรา และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตนี้ยังมีกิเลสอยู่อีกมากมาย ยังมีกิจที่ต้องทำอีกมากกว่าจะพ้นไปเสียจากทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง และไม่มีทางอื่นใดที่จะนำไปให้พ้นจากทุกข์ได้ นอกจากทางเจริญสติปัฏฐานของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น

นับแต่วันนั้นก็รู้ได้ถึงสภาวะจิตที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้เริ่มประจักษ์ถึงการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์ที่น้อยลงไปกว่าเดิม มีความเห็นชัดเจนอยู่ว่า ทั้งกายและจิตนี้ไม่ใช่เรา แม้สามารถรู้ได้ถึงความเบาสบายของจิต ที่เหมือนกับได้ปลดปล่อยของที่หนักลงไปได้บางส่วน แต่จิตก็ยังยึดอยู่กับรูปและนามอย่างเหนียวแน่น จึงมีความมุ่งมั่นที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป ตามรอยพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา และได้เรียนรู้ธรรมะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมาจนตราบเท่าทุกวันนี้

ความเห็นที่ 21 โดยคุณปราโมทย์ วันจันทร์ที่ 18 ธันวาคม 2543
การรู้ขันธ์กับการรู้อริยสัจจ์ เป็นปัญญาคนละขั้นกัน คือการรู้ขันธ์เป็นวิปัสสนาปัญญา อันเป็นวิธีการที่จะให้จิตปล่อยวางขันธ์ที่จิตเคยยึดถืออยู่ เมื่อปล่อยวางขันธ์แล้ว จิตก็จะรวมเข้ามาที่จิต เพื่อเริ่มกระบวนการที่เรียกว่า จิตเห็นจิต ก็จะได้เห็นอริยสัจจ์ อันจัดเป็นโลกุตรปัญญา

หากไม่ผ่านวิปัสสนาปัญญา จู่ๆ จะพยายามย้อนรู้เข้ามาที่จิต สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การเพ่งจิต จึงจำเป็นที่ผู้ปฏิบัติจะต้องเฝ้ารู้ความเกิดดับของอารมณ์ปรมัตถ์ของจริง จนสามารถวางความยึดมั่นในอารมณ์ได้ แล้วจิตก็จะสงบรวมเข้ามาที่จิตเพื่อเรียนรู้ อริยสัจจ์แห่งจิต

แต่บางคน แม้จะมีกำลังพอที่จะรู้ถึงจิตได้แล้วก็ยังรัก ยังหวงที่จะกลับไปรู้ความเกิดดับของอารมณ์ อันเป็นเหตุให้จิตเกิดปฏิกิริยาหมุนวนเป็นวัฏฏะต่อไปไม่สิ้นสุด เช่นแทนที่จะระลึกรู้อยู่ที่จิต กลับหันไปรู้ลมหายใจอีก จิตก็ต้องทำงานหมุนวนออกไปอีก แทนที่จะ-หยุด-รู้-อยู่ที่จิต-ซึ่งเหนือความคิดนึกปรุงแต่ง เป็นการถ่วงตนเองให้เนิ่นช้าในการประจักษ์ถึงอริยสัจจ์แห่งจิต

การปฏิบัติทุกขั้นตอนคือการส่งทอดสติปัญญาเข้ามาเรียนรู้จิตเท่านั้นเอง
เพราะจิตนั่นแหละคือประธานแห่งธรรมทั้งปวง เช่นทำสมถะ ก็เพื่อที่ระงับความฟุ้งซ่านของจิตไว้ชั่วขณะ เพื่อให้จิตมีคุณภาพที่จะเจริญวิปัสสนา คือการเรียนรู้ความจริงของสิ่งที่จิตไปติดยึดอยู่ เมื่อรู้จริงแล้ว จิตก็วาง รวมเข้ามาที่จิต ก็จะได้เรียนรู้อริยสัจจ์แห่งจิต คือเห็นว่า ความทุกข์เกิดขึ้นก็เพราะจิตออกไปอยากไปยึดอารมณ์เท่านั้นเอง

เมื่อจิตฉลาดขึ้น จิตก็หน่ายที่จะเที่ยวแสวงหาทุกข์มาใส่ตัวเอง จิตก็หยุดความปรุงแต่งลงอย่างสิ้นเชิง เมื่อปราศจากความปรุงแต่ง จิตก็พ้นจากการห่อหุ้มของสิ่งปรุงแต่ง เข้าถึงธรรมชาติแห่งความเป็นตัวของตัวเองล้วนๆ หลุดพ้นจากอุปาทานขันธ์ และรู้ถึงนิพพานอันเป็นสันติธรรม ที่แท้จริงเหนือกาลเวลา

สภาวะตรงที่จิตเข้ามารู้นิพพานนั้น จิตจะรวมเข้าภวังค์นิดหนึ่ง โดยไม่มีความจงใจ และเมื่อจิตทำงานขึ้นมารับรู้อารมณ์ใหม่นั้น จิตจะประกอบด้วยฌานอันใดอันหนึ่งโดยอัตโนมัติ และปัญญาที่ประณีตถึงที่สุด จะตัดความปรุงแต่งขาดลง จิตก็เข้าถึงความเป็นอิสระครั้งแรกต่อเนื่องกันอย่างอัตโนมัติ

ตรงจุดนี้มีจิต ไม่ใช่ไม่มีจิต จัดเป็นมรรคจิต ผลจิต เมื่อเป็นจิตก็ต้องรู้อารมณ์ ถ้าไม่รู้อารมณ์ก็ย่อมไม่ใช่จิต อารมณ์ที่จิตรู้ ก็คือนิพพาน อันเป็นสันติธรรมที่แท้จริง แต่บางแห่งสอนกันว่า ขณะที่เกิดมรรคผลนั้น จิตดับแบบพรหมลูกฟัก คือวูบแล้วหมดความรู้สึกไปเลย อันนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง ที่ไปเอาสภาวะจิตดับขณะถึงนิพพานขันธ์มาเปรียบกับมรรคจิต ผลจิต เพราะถ้าขณะที่เกิดมรรคผลไม่มีจิต ตำราอภิธรรมท่านคงไม่บัญญัติมรรคจิตผลจิตไว้ถึง 40 ดวงเป็นแน่

จิตที่หลุดพ้นยังไม่ใช่นิพพาน นิพพานเป็นสิ่งที่จิตที่หลุดพ้นไปรู้เข้าเท่านั้น เมื่อรู้แล้ว ก็ไม่อาจจับจองเป็นเจ้าของนิพพานได้ และเมื่อถึงวันดับขันธ์ จิตก็สลายไป เหมือนไฟที่ดับไป ส่วนนิพพาน ก็คงเป็นธรรมที่ทรงธรรมอยู่ตามธรรมชาติธรรมดาของมหาสุญญตานั่นเอง ไม่มีเกิดดับ และไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองได้

ผู้ปฏิบัติที่จิตแหวกตนเองออกจากสิ่งห่อหุ้มแล้ว ไม่นานสิ่งห่อหุ้มก็เข้ามาปกปิดจิตไว้อีก การปฏิบัติในขั้นถัดจากนี้ ก็คือการเรียนรู้อริยสัจจ์แห่งจิตต่อไปนั่นเอง

วิธีรู้จิตในขั้นนี้ จะต้องรู้ให้เป็นรู้แท้ๆ คือไม่เจือด้วยความปรุงแต่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความจงใจที่จะรู้สภาพรู้นั้น จะไม่มีน้ำหนักแม้แต่น้อย ถ้าเติมความจงใจลงไปในรู้ จะเกิดน้ำหนักในการเพ่งจิตขึ้นนิดหนึ่ง การดูจิตในขั้นนี้ คล้ายกับเรามีกระดาษที่บางกริบ 2 แผ่นซ้อนกัน ปัญญาอัตโนมัติจะต้องตัดแผ่นหน้าให้ขาด คือรู้และตัดความปรุงแต่งขาด โดยที่ไม่เกิดรอยในแผ่นหลัง คือไม่ให้กระเทือนถึงจิต ถ้าจงใจขึ้นสักนิดหนึ่ง แรงกดจะเกิดขึ้นทันที

แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ใช่จงใจดูให้เบา หรือจงใจประคองให้เบาด้วย เพราะนั่นคือการเสแสร้างปฏิบัติ การรู้ที่เป็นรู้ อย่างแท้จริงนั้น ทำได้โดยอาศัยทักษะอย่างเดียวเท่านั้น

วิปัสสนาที่แท้จริงนั้น มีแต่รู้ ไม่ต้องจงใจเติมสิ่งใดลงไปในรู้ ไม่ว่าจะเป็นศีล สมาธิ หรือปัญญา ไม่ต้องเอาสมมติบัญญัติ หรือความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ มาช่วยทำวิปัสสนา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาโดยสิ้นเชิง เพราะความจงใจเคลื่อนไหวใดๆ จะทำให้จิตก่อภพก่อชาติ ก่อวัฏฏะหมุนวนขึ้นมาอีก

เมื่อจิตจะแหวกสิ่งห่อหุ้มออกเป็นครั้งที่ 4 นั้น ไม่มีสิ่งใด แม้กระทั่งอวิชชาที่จะต้องละ มีแต่รู้ (ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า เมื่อรู้พอแล้ว จิตพลิกนิดเดียวก็พ้นแล้ว) จิตกับสิ่งห่อหุ้ม หรืออุปาทานขันธ์ ก็เป็นอันหมดความผูกพันต่อกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่ไปตามธรรมชาติธรรมดา เป็นจิตที่เป็นอิสระ ทำทุกอย่างเป็นกิริยาล้วนๆ เพราะไม่มีความกระเทือนเข้าถึงกันระหว่างจิตกับอารมณ์ และไม่ตอ้งเอาความดีคือสติปัญญาใดๆ มาบำรุงรักษาจิตอีกต่อไป

จิตจะมีเพียงความรู้สึกที่เป็นกลางอย่างหนึ่ง กับความสุขโสมนัสอีกอย่างหนึ่ง จนถึงวันที่จะดับการสืบต่อของจิตเหมือนไฟที่ดับลงเพราะหมดเชื้อเท่านั้น

ฝากไว้ให้คุณสุรวัฒน์กับหมู่เพื่อนครับ


ความเห็นที่ 34 โดยคุณปราโมทย์ วันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2543
คุณหมอ Lee ถามคำถามอีกข้อหนึ่งว่า

"ถามต่อเลยครับ จะให้สติแมวอ้วนตื่นไวๆ ทรงนาน ควรได้สมาธิลึกๆ มาช่วยประคองไหมครับ หรือไม่เกี่ยวกันครับ"

ขอเรียนว่า สัมมาสมาธิ เป็นเพียงเครื่องช่วยให้สติบริสุทธิ์ เพราะอุเบกขาหมายถึง สัมมาสมาธิทำให้จิตพ้นจากอำนาจของนิวรณ์ และเป็นกลางต่ออารมณ์ หากถูกนิวรณ์ครอบงำ จิตจะมีอคติและไม่เป็นกลางในการรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง สรุปว่า สัมมาสมาธิ ทำให้จิตมีคุณภาพที่จะรู้ได้ถูกต้อง และว่องไวด้วย เพราะสิ่งใดแปลกปลอมเข้ามาในจิตนิดเดียว สติก็จะรู้ทันอย่างรวดเร็ว

แต่การทรงนามนั้น ผมไม่แนะนำให้พยายามทรงความรู้ตัวให้นานๆ เพราะความพยายามนั้นเอง จะทำให้เกิดการจงใจ เสแสร้ง ดัดจริตรู้

นักปฏิบัตินั้น อย่าไปนึกถึงเรื่องที่จะให้จิตรู้ตัวต่อเนื่องได้เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เลยครับ เพราะการปฏิบัติ เราจะดูกันเป็นขณะๆ ไปเท่านั้นเอง ว่าขณะนี้รู้ตัวหรือเผลอ ขณะนี้มีสติ หรือขาดสติ ขณะใดมีสติ ขณะนั้นกำลังปฏิบัติอยู่ ขณะใดขาดสติ ขณะนั้นไม่ได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติผิด ไม่ใช่พูดว่า ชั่วโมงนี้รู้ตัว หรือวันนี้รู้ตัว ชั่วโมงต่อมา หรือวันต่อมา ไม่รู้ตัว

ดังนั้นเมื่อเผลอไปแล้วเกิดรู้ตัวว่าเผลอ ขณะนั้นจิตรู้ถูกต้องแล้ว เมื่อเพ่ง แล้วเกิดรู้ตัวว่าเพ่ง ขณะนั้น จิตรู้ถูกต้องแล้ว เมื่อมีราคะ แล้วเกิดรู้ตัวว่ามีราคะ ขณะนั้นจิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อโทสะ แล้วเกิดรู้ตัวว่ามีโทสะ ขณะนั้น จิตรู้ถูกต้องแล้ว เมื่อมีโมะหะ แล้วเกิดรู้ตัวว่าโมหะ ขณะนั้น จิตรู้ ถูกต้องแล้ว

ทีนี้นักปฏิบัติที่รู้ตัวได้เกือบทั้งหมดพากันมาตายตรงนี้ครับ คือพอรู้ว่าเผลอ เพ่ง หรือมีกิเลสตัณหาแล้ว แทนที่จะรู้แล้วหยุดอยู่เพียงนั้น กลับเกิดความอยากตามมาทันที คืออยากให้ความรู้ตัวนั้นต่อเนื่องยาวนานแล้ว ไม่รู้ทันว่า ความอยากเกิดขึ้นแล้ว ผลก็คือ รู้ตัวได้วับเดียว ตอนที่รู้ทันจิตว่าเผลอ เพ่ง ฯลฯ ถัดจากนั้นก็หลงอีก คือถูกตัณหาครอบงำเอาโดยไม่รู้ตัว

การมีสติแต่ละครั้ง ก็เหมือนเราเอาปลายดินสอกดจุดๆ หนึ่งลงบนกระดาษ ถ้านานๆ จะมีสติสักที จุดก็อยู่ห่างๆ กัน แต่ถ้ามีสติบ่อยๆ จุดก็ต่อกันกลายเป็นเส้น ความจริงเส้นไม่มีอยู่ฉันใด สติที่ต่อเนื่องก็ไม่มีอยู่จริงฉันนั้น คือสติมันเกิดดับพร้อมกับจิตเป็นขณะๆ ไปเท่านั้น แต่ถ้าจิตเกิดมาแล้ว มีสติกำกับอยู่บ่อยๆ เข้า ผู้ปฏิบัติก็จะรู้สึว่าตนมีสติอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว

ผมจึงกล่าวกับพวกเราบ่อยๆ ว่า เผลอบ่อยๆ ดีกว่าเผลอวันละครั้ง คือเผลอตั้งแต่ตื่นจนหลับ เพราะพอรู้ว่าเผลอคราวหนึ่ง ก็คือมีสติคราวหนึ่ง ถ้ารู้ตัวว่าเผลอถี่ยิบ ก็คือมีสติถี่ยิบ

ถ้าจิตมีฉันทะ (ไม่ใช่เรามีฉันทะ) ที่จะคอยรู้ สติก็จะเกิดบ่อยๆ เป็นขณะๆ ไป แต่ถ้าจิตไม่มีฉันทะคือไม่พอใจที่จะปฏิบัติ มีแต่ เรา พยายามเคี่ยวเข็นจะให้จิตเขาตั้งใจปฏิบัติแบบนั้นการปฏิบัติก็กระโดกกระเดกไปเรื่อยๆ

ผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า จะปลูกฉันทะให้จิตได้อย่างไร เพราะผมเกิดมาชาตินี้ จิตเขามีฉันทะที่จะปฏิบัติของเขาเองอยู่แล้ว เคยได้ยินว่า ผู้ใดมีปัญญา เห็นโลกมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน ก็จะมีฉันทะที่จะออกจากกองทุกข์ แต่ถ้าจิตได้รับการอบรมจนเป็นนิสัยแล้ว จิตเขาจะขยันปฏิบัติ โดยไม่ต้องรอให้ถูกความทุกข์อันสาหัสเล่นงานเสียก่อน

แต่ถ้าผู้ใดรู้ตัวได้ชำนิชำนาญขึ้นแล้ว มีเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้การปฏิบัติต่อเนื่องได้แก่ การเจริญสติปัฏฐานนั่นเอง โดยการหาปรมัตธรรมมาเป็นวิหารธรรม หรือเครื่องอยู่ที่ถนัดอันหนึ่ง เพื่อให้จิตมีสติคอยเฝ้าระลึกรู้ไว้ให้ต่อเนื่อง พอเผลอออกจากสิ่งนั้นปุ๊บ ก็รู้ปั๊บโดยอัตโนมัติ แต่ผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานได้ จะต้องเตรียมจิตให้มีคุณภาพเสียก่อน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือรู้ตัวไม่เป็น จะรู้ปรมัตธรรมไม่ได้ ไปลงมือทำสติปัฏฐานเข้า ก็จะกลายเป็นการทำสมถะทุกคราวไป

ความเห็นที่ 37 โดยคุณปราโมทย์ วันอังคารที่ 19 ธันวามคม 2543
ประสบการณ์ของคุณสุรวัฒน์ มีจุดหนึ่งที่น่าสนใจมากครับ คือเรื่องที่คุณสุรวัฒน์ ไปเห็นความโกรธเข้า ก่อนที่จะเจริญสติเป็นแล้ว คุณสุรวัฒน์ ก็บ่นว่า ตอนนั้นถ้ารู้ว่าทางอยู่ที่ตรงนี้ คงไม่ต้องเสียเวลาไปแสวงหาทางอีกนาน ปรากฏการณ์เช่นนี้ เกิดกับนักปฏิบัติหลายคนเชียวครับ

ท่านแรกสุดก็คือพระศาสดาของพวกเรานี้เอง เมื่อวัยเด็ก ท่านถูกอุ้มไปนอนใต้ต้นไม้ ในขณะที่พระราชบิดาไปประกอบพิธีแรกนาขวัญ แล้วท่านก็เจริญอานาปานสติของท่านเอง หลังจากนั้นท่านก็ลืมเรื่องนี้ แล้วเที่ยวแสวงหาแนวทางปฏิบัติไปอย่างยากเย็น จนในที่สุดท่านก็กลับมานึกถึงเรื่องนี้ แล้วเจริญอานาปานสติ จนสำเร็จเป็นพระศาสดาองค์เอกของโลก

มาถึงนักปฏิบัติร่วมสมัย ก็มีหลายท่านที่มีประสบการณ์ชนิดนี้ ผมเองเมื่ออายุ 10 ขวบ ก็เคยดูจิตเมื่อเกิดความตกใจที่ไฟไหม้ใกล้บ้าน หลังจากนั้นก็ลืมแบบเดียวกันกับคุณสุรวัฒน์ จนมาปฏิบัติแล้ว จึงนึกขึ้นได้ว่านี่ของเคยทำมาแล้ว ล่าสุด คุณเก๋ ก็เพิ่งมาเล่าให้ผมฟังว่า เพิ่งจำได้ว่า เคยเจริญสติมาแล้วตั้งแต่ตอนเป็นเด็กอยู่

สรุปแล้ว สิ่งที่พวกเราฝึกหัดกันอยู่นี้ ไม่หายไปไหนหรอกครับ หากชาตินี้บางคนยังไม่เห็นผล ก็จะฝังเป็นนิสัยต่อไปชาติหน้า คือจิตพร้อมที่จะตื่น พร้อมที่จะเจริญสติสัมปชัญญะต่อไปตามทางที่ถนัด เมื่อถึงเวลา และโอกาสที่เหมาะสมของตน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 15:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


1. เริ่มต้นอิริยาบถที่สบาย
ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก ทำความรู้ตัวเต็มที่ และรู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร หรือ รู้ "ตัว" อย่างเดียว รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ โดยไม่มีทางรู้ทันก่อน เป็นตามธรรมดาสำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบสภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่ และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอ รักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต" โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร

ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป

ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้นจะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึกชัดเจนดีก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้ ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นสู่อารมณ์ทันที เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเองก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ เจตจำนงนี้ คือ ตัว "ศีล"

การบริกรรม "พุทโธ" เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียรทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่องถึงความชัดเจน และความไม่ขาดสายของ พุทโธ จะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคยเปรียบไว้ว่า มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าฟฟศึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลาและบั่นทอนความศรัทธา ตนเองเลย เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อยๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ภายนอก ก็ค่อยๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าวก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเองเพราะคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้นๆ

"บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง สังเกตดูว่า ใครบริกรรมพุทโธ"

2. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว
ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่ออารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไปมาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้นเพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต)

"ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ"

3. อย่าส่งจิตออกนอก
กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก เมื่อจิตเผลอคิดไปก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ส่วนนามนิมิตทั้งหลายอย่าได้ใส่ใจกับมัน)

"ระวัง จิตไม่ให้คิดเรื่องภายนอก สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์ที่รับมาทางอายตนะ 6"

4. จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป
เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อยๆ จนเข้าถึงปัจจัยของอารมณ์ ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อยๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไป เรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

"คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยการคิด"

5. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต
เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่ายังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (จิต) อีกหรือไม่ พยายามใช้สติสังเกตดูที่จิต ทำความสงบอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจพฤติของจิตได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอนเข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่า เกิดจากความคิดนั่นเอง และความคิดมันออกไปจากจิตนั่นเอง ไปหาปรุง หาแต่ง หาก่อ หาเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้

"คำว่า แยกถอดรูป นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง"

6. เหตุต้องละ ผลต้องละ
เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใดๆ ทั้งสิ้น จิตก็อยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น

"สมุจเฉทธรรมทั้งปวง"

7. ใช้หนี้--ก็หมด พ้นเหตุเกิด
เมื่อเพิกรูปปรมาณูที่เล็กที่สุดเสียได้ กรรมชั่วที่ประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับรูปปรมาณูนั้น ก็หมดโอกาสที่จะให้ผลต่อไปในเบื้องหน้า การเพิ่มหนี้ก็เป็นอันสะดุดหยุดลง เหตุปัจจัยภายนอกภายในที่มากระทบ ก็เป็นสักแต่ว่ามากระทบ ไม่มีผลสืบเนื่องต่อไป หนี้กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ตั้งแต่ชาติแรก ก็เป็นอันได้รับการชดใช้หมดสิ้น หมดเรื่องหมดราวหมดพันธะผูกพันที่จะต้องเกิดมาใช้หนี้กรรมกันอีก เพราะกรรมชั่วอันเป็นเหตุให้ต้องเกิดอีก ไม่อาจให้ผลต่อไปได้ เรียกว่า "พ้นเหตุเกิด"

8. ผู้ที่ตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดหรอกว่า เขารู้อะไร
เมื่อธรรมทั้งหลายได้ถูกถ่ายทอดไปแล้ว สิ่งที่เรียกว่าธรรม จะเป็นธรรมไปได้อย่างไร สิ่งที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละมันเป็นธรรมของมันในตัว (ผู้รู้น่ะจริง แต่สิ่งที่รู้ทั้งหลายนั้นไม่จริง)


บทความนี้ คัดลอกมาเพื่อให้พิจารณา ศึกษาดูเพิ่มเติมได้จากhttp://www.geocities.com/pudule/dharma2.htm

อเหตุกจิต 3 ประการ
1. ปัญจ ทวารวัชนจิต คือกิริยาจิตที่แฝงอยู่ตามอายตนะ หรือทวารทั้ง 5 มีดังนี้ ตา ไปกระทบกับรูป เกิด จักษุวิญญาณ คือการเห็น จะห้ามไม่ให้ ตา เห็นรูปไม่ได้หู ไปกระทบเสียง เกิด โสตวิญญาณ คือการได้ยิน จะห้ามไม่ให้ หู ได้ยินเสียงไม่ได้จมูก ไปกระทบกับกลิ่น เกิด ฆานะวิญญาณ คือการได้กลิ่น จะห้ามไม่ให้ จมูก รับกลิ่นไม่ได้ลิ้น ไปกระทบกับรส เกิด ชิวหาวิญญาณ คือการได้รส จะห้ามไม่ให้ ลิ้น รับรู้รสไม่ได้กาย ไปกระทบกับโผฏฐัพพะ เกิด กายวิญญาณ คือการสัมผัส จะห้ามไม่ให้ กาย รับสัมผัสไม่ได้

วิญญาณทั้ง 5 อย่างนี้ เป็นกิริยาที่แฝงอยู่ในกายตามทวาร ทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆ ที่มากระทบ เป็นสภาวะแห่งธรรมชาติของมันเป็นอยู่เช่นนั้น ก็แต่ว่า เมื่อจิตอาศัยทวารทั้ง 5 เพื่อเชื่อมต่อรับรู้เหตุการณ์ภายนอกที่เข้ามากระทบ แล้วส่งไปยังสำนักงานจิตกลางเพื่อรับรู้ เราจะห้ามมิให้เกิด มี เป็นเช่นนั้น ย่อมกระทำไม่ได้

การป้องกันทุกข์ที่จะเกิดจากทวารทั้ง 5 นั้น เราจะต้องสำรวมอินทรีย์ทั้ง 5 ไม่เพลิดเพลินในอายตนะเหล่านั้น หากจำเป็นต้องอาศัยอายตนะทั้ง 5 นั้น ประกอบการงานทางกาย ก็ควรจะกำหนดจิตให้ตั้งอยู่ในจิต เช่น เมื่อเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ไม่คิดปรุง ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดปรุง ดังนี้ เป็นต้น (ไม่คิดปรุงหมายความว่า ไม่ให้จิตเอนเอียงไปในความเห็นดีชั่ว)

2. มโนทวารวัชนจิต คือ กิริยาจิตที่แฝงอยู่ที่มโนทวาร มีหน้าที่ผลิตความคิดนึกต่างๆ นานา คอยรับเหตุการณ์ภายในภายนอกมากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเอาไว้ จะห้ามจิตไม่ให้คิดในทุกๆ กรณีย่อมไม่ได้

ก็แต่ว่าเมื่อจิตคิดปรุงไปในเรื่องราวใดๆ ถึงวัตถุ สิ่งของ บุคคลอย่างไร ก็ให้กำหนดรู้ว่าจิตคิดถึงเรื่องเหล่านั้น ก็สักแต่ว่าความคิด ไม่ใช่สัตว์บุคคล เราเขา ไม่ยึดถือวิจารณ์ความคิดเหล่านั้น

ทำความเห็นให้เป็นปกติ ไม่ยึดถือความเห็นใดๆ ทั้งสิ้น จิตย่อมไม่ไหลตามกระแสอารมณ์เหล่านั้น ไม่เป็นทุกข์

3. หสิตุปบาท คือ กิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม หมายความว่าไม่อยากยิ้มมันก็ยิ้มของมันเอง กิริยาจิตอันนี้มีเฉพาะเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี

สำหรับ อเหตุกจิต ข้อ 1 และ 2 มีเท่ากันในพระอริยเจ้า และในสามัญชน นักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เมื่อตั้งใจปฏิบัติตนออกจากกองทุกข์ควรพิจารณา อเหตุกจิต นี้ให้เข้าใจด้วย เพื่อความไม่ผิดพลาดในการบำเพ็ญปฏิบัติธรรม

อเหตุกจิต นี้ นักปฏิบัติทั้งหลายควรทำความเข้าใจให้ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะพยายามบังคับสังขารไปหมด ซึ่งเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติธรรมมาก เพราะความไม่เข้าใจใน อเหตุกจิต ข้อ 1 และ 2 นี้เอง

อเหตุกจิต ข้อ 3 เป็นกิริยาจิตที่ยิ้มเองโดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้น ในสามัญชนไม่มี เพราะกิริยาจิตนี้เป็นผลของการเจริญจิตจนอยู่เหนือมายาสังขารได้แล้ว จิตไม่ต้องติดข้องในโลกมายา เพราะความรู้เท่าทันเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งได้แล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง


การที่ผมอยู่ในแวดวงของผู้ปฏิบัติมานาน
ได้พบเห็น รู้จัก และคุ้นเคย กับผู้ปฏิบัติเป็นจำนวนมาก
ทำให้ผมได้พบว่า ผู้ปฏิบัติมักเกิดความสงสัยในเรื่องต่างๆ มากมาย
และคำถามของผู้ปฏิบัติส่วนมาก จะวนเวียนอยู่ในเรื่องดังนี้
กลุ่มปัญหาที่ชวนให้ฟุ้งซ่าน
เช่น นิพพาน สวรรค์ นรก ชาติก่อน ชาติหน้า กรรมเก่า กรรมใหม่
เทพ พรหม เปรต อสุรกาย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีหรือไม่มี
หรือความสงสัยหยุมหยิมเช่น เชื้อโรคมีจิตหรือไม่
และนั่งสมาธิแล้ว จะรู้เห็นสิ่งแปลกๆ ได้หรือไม่
ถ้ารู้เห็นแล้ว จะทำอย่างไรดี เป็นต้น
กลุ่มปัญหาที่เกี่ยวกับเงื่อนไขของการปฏิบัติ
เช่น ก่อนจะปฏิบัติควรเตรียมตัวอย่างไร
ต้องถือศีลกินเพล หรือควรจะกินอาหารมังสวิรัติหรือไม่
ควรนอนมากน้อยเพียงใดเวลาใด
จะต้องนุ่งขาวห่มขาวหรือไม่
จะต้องสวดมนต์ก่อนนั่งสมาธิหรือไม่
ถ้าสวด ควรสวดบทใดบ้าง
ควรตักบาตรอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรก่อนหรือไม่
เด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย ผู้ครองเรือนกับนักบวช ใครปฏิบัติง่ายกว่ากัน
การปฏิบัติจำเป็นต้องไปวัดหรือไม่
จะต้องเรียนปริยัติเพียงใด
ต้องให้จบอภิธัมม์ปริจเฉทที่ 9 มหาปัฏฐานก่อนหรือไม่
กลุ่มปัญหากับสภาพแวดล้อม
เช่นมีครอบครัวที่สับสนวุ่นวาย
ลูกยุ่ง สามีกวน ภรรยาไม่สนใจธรรมะ
หรือมีภาระเรื่องการเรียนหรือการงาน ทำให้ปฏิบัติไม่ได้
กลุ่มปัญหาเกี่ยวกับวิธีเริ่มต้นของการปฏิบัติ
เช่น จะต้องนั่งสมาธิก่อนเจริญวิปัสสนาหรือไม่
ถ้าจะทำสมาธิ ควรทำอานาปานสติดี
หรือจะบริกรรม พุทโธ ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง นะมะพะธะ
หรือควรเพ่งกสิณอะไรบ้าง
ทั้งนี้ เพราะไม่ทราบว่าวิธีใดจะถูกจริต
บ้างก็ลองวิธีนั้น วิธีนี้เรื่อยๆ ไป ย้ายวัดเปลี่ยนอาจารย์ไปเรื่อยๆ
หรือสงสัยว่า จำเป็นต้องเดินจงกรมหรือไม่ หรือจะนั่งอย่างเดียวดี
ถ้าจะนั่ง ควรนั่งเวลาไหน ท่าไหน วันละกี่ชั่วโมง
นั่งเมื่อยแล้ว ควรทนต่อไป หรือควรเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นต้น
กลุ่มปัญหาเกี่ยวกับอาการของจิตในขั้นการทำสมถะ
ขั้นเริ่มต้นก็จะมีปัญหาเช่น
ทำอย่างไรจิตก็ไม่สงบเลย มีแต่ความฟุ้งซ่านสับสน
หรือนั่งแล้วเคลิ้มๆ หลับใน เงียบไปทุกครั้ง
บางคนปฏิบัติไปสามวัน ก็เริ่มบ่นว่าเบื่อ
เพราะไม่เห็นความก้าวหน้าอะไรเลย
พอทำความสงบได้แล้ว ก็ถึงกลุ่มปัญหานิมิตและโลกียญาณ
มีทั้งที่น่ากลัว หรือที่น่าภูมิใจ
เช่น นั่งสมาธิแล้วรู้สึกเหมือนมีมดหรือแมลงมาไต่ตอมร่างกาย
หรือสามารถรู้เห็นออกไปภายนอกได้
มองเห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นเทวดาและภูติผี
บ้างก็เห็นพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์
บ้างเห็นเมืองแก้วพระนิพพาน ถอดจิตไปเฝ้าพระพุทธเจ้าได้
เห็นตนเองเป็นโครงกระดูกเดินไปมาได้ โครงเดียวบ้าง หลายโครงบ้าง
เห็นกลางคืนสว่างเหมือนกลางวันบ้าง
บ้างก็มีโลกียญาณ เช่นรู้วาระจิตผู้อื่นได้
ระลึกชาติได้ แล้วเที่ยวรู้และยึดว่าคนนั้นคนนี้เคยพบกันมาในอดีตชาติ
รักษาโรคได้ รู้การจุติอุบัติของสัตว์ แสดงฤทธิ์ได้
บางคนนั่งไปนิดหน่อยก็เกิดความกลัว
เช่นกลัวจะเห็นภูติผีปีศาจ กลัวจิตจะออกจากร่างแล้วไม่กลับเข้าร่างอีก
บางคนได้ยินเสียงคนเดินไปมา เห็นคนมานั่งใกล้ๆ
รวมแล้วสารพัดรูปแบบที่จะเป็นไป
กลุ่มปัญหาเกี่ยวกับวิธีเจริญวิปัสสนา
เช่น เมื่อทำสมถะไปแล้ว จะเริ่มทำวิปัสสนาตรงไหน
ในขณะที่บางคนบอกว่าไม่ต้องการทำสมถะ จะขอทำวิปัสสนาเลย
ถัดจากนั้น ก็เกิดปัญหาว่า ควรจะทำวิปัสสนาอย่างไร
จะเข้าสำนักไหนจึงจะดี เพราะแทบทุกสำนักล้วนแต่ประกาศว่า
สำนักของตนเป็นทางตรงที่สุด สำนักอื่นผิด
และต่างก็บอกว่าตนเจริญสติปัฏฐาน
กำหนดรู้รูปนามขันธ์ 5 ปัจจุบันอารมณ์กันทั้งนั้น
บ้างก็มีปัญหาว่า ควรเจริญสติปัฏฐานหมวดใดดี
จะต้องเริ่มตามลำดับคือ กาย เวทนา จิต ธรรม หรือไม่
บางคนกลัวจะติดวิปัสสนูปกิเลส
บ้างก็สนใจไถ่ถามกับเรื่องญาณ ว่าตนทำได้ถึงญาณชั้นใด
บางคนตั้งเป้าหมายจะทำให้ถึงญาณนั้นญาณนี้ ในเวลาเท่านั้นเท่านี้
สำหรับผู้ที่ลงมือทำจริงๆ ก็ยังมีเรื่องให้ต้องถามครูบาอาจารย์อยู่เสมอ
เช่นควรวางจิตอย่างไร ควรกำหนดอย่างไร
อาการของจิตอย่างนี้ จะแก้อย่างไร
อาการของจิตอย่างนั้น จะแก้อย่างไร
เช่นหัดรู้ตัวแล้วเกิดอึดอัดขึ้นกลางอก
เกิดปวดระหว่างหัวคิ้วหรือปวดตา
เห็นกิเลสเกิดขึ้นในจิตแล้วจะทำอย่างไรดี
ควรจะปล่อยมันเอาไว้รู้ หรือควรพยายามละมัน
จิตใจมันตื้อๆ ไม่ผ่องใส จะแก้ไขอย่างไร
ควรนำธรรมะบทนั้นบทนี้มานึกคิดพิจารณาด้วยหรือไม่
เช่นควรเจริญอสุภกรรมฐานเพื่อข่มราคะหรือไม่
หรือจะให้รู้ราคะไปเรื่อยๆ ไม่ต้องไปแก้ไขมัน เป็นต้น
ใครที่อยากจะทำ FAQ เกี่ยวกับปัญหาธรรมะ
ลองใช้ตัวอย่างคำถามที่ผมยกมานี้ เป็นตัวตั้งก็ได้
คำถามส่วนมาก มักวนเวียนอยู่ในเรื่องเหล่านี้นั่นเอง
จะนอกเหนือไปกว่านี้ก็ไม่มากนักหรอกครับ
******************************************************
คำถามเหล่านี้ ผมเคยได้ยินผู้สงสัยเรียนถามครูบาอาจารย์บ้าง
ผมสงสัยเองบ้าง ซึ่งส่วนมากจะพยายามพิจารณาแก้ไขเอาเอง
ยกเว้นที่ยากลำบากหรือละเอียดอ่อนมากๆ หรือต้องการความมั่นใจเป็นพิเศษ
จึงจะเรียนถามจากครูบาอาจารย์
ซึ่งท่านจะเมตตาตอบคำถามให้เสมอ
เมื่อหายสงสัยในเรื่องนั้นแล้ว จึงเกิดนึกขึ้นได้ว่า
ที่จริงคำตอบในการแก้ปัญหาที่ครูบาอาจารย์ให้มาแต่ละครั้งนั้น
แทบจะเป็นคำตอบเดียวกัน ทั้งที่คำถามนั้นหลากหลายมาก
คำตอบที่ได้ยินได้ฟังเป็นประจำก็คือ



อย่าเที่ยวรู้ออกไปนอก ให้รู้ปัจจุบันธรรมในกายและจิตของตน ด้วยจิตที่เป็นกลาง
คำตอบเพียงเท่านี้ สามารถแก้ปัญหาการปฏิบัติได้เกือบทั้งหมดแล้ว
กล่าวคือ กลุ่มปัญหาที่ชวนให้ฟุ้งซ่าน
ล้วนเป็นผลพวงของความคิดเท่านั้น
ยิ่งคิดมากก็ยิ่งสงสัยมาก และยิ่งสงสัยมากก็ยิ่งคิดมาก
และยิ่งคิดมาก ก็ยิ่งห่างไกลจากการเจริญสติสัมปชัญญะ ออกไปทุกที
ถ้าหันมารู้ปัจจุบันธรรมอยู่ภายในกายและจิตของตน
จะต้องสงสัยทำไมว่า นรก สวรรค์ ชาติก่อน ชาติหน้า ผีสางเทวดา มี หรือไม่มี
เพราะพอจิตสงสัย ก็รู้เท่าทันความสงสัยใคร่รู้นั้น ความสงสัยก็ดับไปเอง
เมื่อความสงสัยดับไปแล้ว จำเป็นอะไรที่จะต้องหาคำตอบต่อไปอีก
เมื่อรู้ปัจจุบันธรรมอยู่ในกายและจิตของตนแล้ว
กลุ่มปัญหาที่เกี่ยวกับเงื่อนไขของการปฏิบัติ
และปัญหาสภาพแวดล้อม ก็หมดความหมาย
เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ได้เบียดบังเวลาทำมาหากิน
ไม่เกี่ยวกับอาหาร เครื่องนุ่งห่ม เวลา หรือพิธีกรรมต่างๆ
เมื่อรู้ปัจจุบันธรรมอยู่ในกายและจิตของตนแล้ว
กลุ่มปัญหาเกี่ยวกับวิธีเริ่มต้นของการปฏิบัติ ก็หมดความหมาย
คำบริกรรม กิริยาท่าทาง อะไรต่างๆ เหล่านี้ ล้วนไม่ใช่สาระสำคัญ
แต่เป็นเพียงอุบายเบื้องต้น
เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถเข้ามารู้ปัจจุบันธรรมในกายในจิตของตนเท่านั้น
เมื่อรู้ปัจจุบันธรรมอยู่ในกายและจิตของตนแล้ว
กลุ่มปัญหาเกี่ยวกับอาการของจิตในขั้นการทำสมถะ ก็หมดความหมาย
เพราะอาการทั้งหมด เป็นเพียงสภาพธรรมที่ถูกรู้เท่านั้น
พอรู้แล้ว หากย้อนมาอ่านจิตใจตนเองให้แจ่มแจ้ง
อาการของจิตก็หมดความหมายไปในทันที
เช่นเมื่อปฏิบัติอยู่ แล้วเห็นภาพผีปรากฏขึ้นมา
ผู้ปฏิบัติไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์วิจัยว่าผีจริง หรือผีปลอม
เพราะจริงก็เหมือนเท็จ เท็จก็เหมือนจริง
คือมันเป็นสิ่งที่ถูกรู้เหมือนๆ กัน
ที่สำคัญคือ ให้ย้อนเข้ามาอ่านจิตตนเองให้ดี
มันกลัว มันอยากหนี มันสงสัย หรือมันอยากรู้
ให้รู้เท่าทันจิตตนเองไว้ สิ่งที่ปรากฏนั้น
ก็ไม่มีความหมายมากกว่าไปการเห็นรูปธรรมดาๆ รูปหนึ่ง
หรือเกิดรู้เห็นพระจุฬามณี หรือพระพุทธเจ้า
ก็ให้ย้อนมาอ่านจิตของตนเองเช่นกัน
เพราะรูปนิมิตภายนอกทั้งปวงนั้น
ไม่ใช่สาระแก่นสารเพื่อการยึดถือแต่อย่างใด
เมื่อรู้ปัจจุบันธรรมอยู่ในกายและจิตของตนแล้ว
กลุ่มปัญหาเกี่ยวกับวิธีเจริญวิปัสสนา ก็หมดความหมาย
จะต้องคิดทำไมว่าจะต้องรู้อะไร ในเมื่อทุกสิ่งที่ถูกรู้ก็มีค่าเท่ากันทั้งนั้น
หากจิตเขาจะรู้สิ่งใดชัด ก็เอาสิ่งที่กำลังรู้ชัดนั่นแหละมาเป็นอารมณ์
หรือเรื่องญาณนั้นญาณนี้ก็เป็นของสมมุติ
เราไม่ได้ปฏิบัติเพราะอยากได้ญาณ
มรรคผลนิพพานก็ไม่เห็นจะต้องอยากได้
เพราะหากจิตจะได้ เขาก็ได้ของเขาเอง
แต่ยิ่งเราอยาก ก็ยิ่งไม่ได้
ส่วนวิปัสสนูปกิเลสก็เกิดไม่ได้ ถ้าไม่หลงลืมตัวขาดสติสัมปชัญญะ
นักปฏิบัติที่คิดมาก มีปัญหามาก ก็เพราะไม่พยายามรู้ตัว
ไม่มีสติพิจารณาอยู่ในกายในจิตของตนเอง
เอาแต่หลงไปกับสิ่งที่ถูกรู้ เอาแต่พยายามแก้อาการของจิต
ปฏิบัติไปด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากได้
หากผู้ปฏิบัติพยายามรู้ตัวอย่างต่อเนื่องเข้าไว้



และมีสติสอดส่องอยู่ในกายในจิต



หรือในวงขันธ์ 5 ของตนอย่างเป็นปัจจุบัน



ก็แทบไม่มีปัญหาจะต้องถามใครอีกต่อไปแล้ว



ที่มา http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000444.htm


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 15:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ความหมายของการดูจิต

คำว่า การดูจิต เป็นคำที่นักปฏิบัติกลุ่มหนึ่ง
บัญญัติขึ้นเพื่อใช้สื่อความหมายกันเองภายในกลุ่ม
หมายถึงการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทุกบรรพ)
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน(ทุกบรรพ)
รวมถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน(บางอย่างที่เป็นฝ่ายนามธรรม)
กล่าวอย่างย่อ ก็คือการเจริญวิปัสสนาด้วยอารมณ์ฝ่ายนามธรรม
ได้แก่การรู้จิตและเจตสิกนั่นเอง


วิธีการเจริญวิปัสสนา(ดูจิต)

การเจริญวิปัสสนาทุกประเภท รวมทั้งการดูจิต ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่ให้ผู้ปฏิบัติ
"รู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่เป็นกลางเท่านั้น"
แต่จะรู้ได้ถูกต้อง ก็ต้อง(1) มีจิตที่มีคุณภาพ
และ (2) มีอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง เท่านั้น

ซึ่งจิตที่มีคุณภาพสำหรับการทำสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา
ได้แก่จิตที่มีสติ(สัมมาสติ) สัมปชัญญะ(สัมมาทิฏฐิ) และสัมมาสมาธิ
ส่วนอารมณ์กรรมฐานที่ถูกต้อง คืออารมณ์ที่มีตัวจริงที่สามารถแสดงไตรลักษณ์ได้
หรือที่นักปฏิบัติมักจะเรียกว่าสภาวะ และนักปริยัติเรียกว่าอารมณ์ปรมัตถ์

เมื่อจะลงมือปฏิบัติ ก็ให้ (1) มีสติเฝ้ารู้ให้ทัน (มีสัมมาสติ)

(2) ถึงอารมณ์หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ (มีอารมณ์ปรมัตถ์)

(3) ด้วยจิตที่ตั้งมั่น ไม่เผลอส่งส่ายไปที่อื่น และไม่เพ่งจ้องบังคับจิต (มีสัมมาสมาธิ)

แล้ว (4) จิตจะรู้สภาวธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง (มีสัมปชัญญะ/สัมมาทิฏฐิ)

การมีสติเฝ้ารู้ให้ทัน หมายถึงสิ่งใดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป ก็ให้รู้เท่าทัน
เช่นขณะนั้นรู้สึกมีความสุข ก็ให้รู้ว่ามีความสุข
เมื่อความสุขดับไป ก็ให้รู้ว่าความสุขดับไป
มีความโกรธก็รู้ว่ามีความโกรธ
เมื่อความโกรธดับไปก็รู้ว่าความโกรธดับไป
เมื่อจิตมีความทะยานอยากอันเป็นแรงผลักดัน
ให้ออกยึดอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ก็ให้รู้ว่ามีแรงทะยานอยาก เป็นต้น

อารมณ์หรือสภาวธรรมที่กำลังปรากฏ
ต้องเป็นอารมณ์ของจริง ไม่ใช่ของสมมุติ
โดยผู้ปฏิบัติจะต้องจำแนกให้ออกว่า
อันใดเป็นของจริง หรือปรมัตถธรรม
อันใดเป็นของสมมุติ หรือบัญญัติธรรม

เช่นเมื่อจิตมีความสุข ก็ต้องมีสติรู้ตรงเข้าไปที่ความรู้สึกสุขจริงๆ
เมื่อจิตมีความโกรธ ก็ต้องรู้ตรงเข้าไปที่สภาวะของความโกรธจริงๆ
เมื่อมีความลังเลสงสัย ก็ต้องรู้ตรงเข้าไปที่สภาวะของความลังเลสงสัยจริงๆ ฯลฯ
และเมื่อหัดรู้มากเข้าจะพบว่า นามธรรมจำนวนมากผุดขึ้นที่อก หรือหทยรูป
แต่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องเที่ยวควานหาหทยรูป
หากกิเลสเกิดที่ไหน และดับลงที่ไหน ก็รู้ที่นั้นก็แล้วกันครับ
ถ้าเอาสติไปตั้งจ่อดูผิดที่เกิด ก็จะไม่เห็นของจริง
เช่นเอาสติไปจ่ออยู่เหนือสะดือสองนิ้ว
จะไม่เห็นกิเลสอะไร นอกจากเห็นนิมิต เป็นต้น

และการมีสติรู้ของจริง ก็ไม่ใช่การคิดถามตนเอง หรือคะเนเอาว่า
ตอนนี้สุขหรือทุกข์ โกรธหรือไม่โกรธ สงสัยหรือไม่สงสัย อยากหรือไม่อยาก
ตรงจุดนี้สำคัญมากนะครับ ที่จะต้องรู้สภาวธรรม หรือปรมัตถธรรมให้ได้
เพราะมันคือ พยานหรือแบบเรียนที่จิตจะได้เรียนรู้
ถึงความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของมันจริงๆ
ไม่ใช่แค่คิดๆ เอาว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

เมื่อมีสติรู้สภาวธรรมหรือปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว
ผู้ปฏิบัติจะต้องมีจิตที่รู้ตัว ตั้งมั่น
ไม่เผลอไปตามความคิดซึ่งจะเกิดตามหลังการรู้สภาวธรรม
เช่นเมื่อเกิดสภาวะบางอย่างขึ้นในจิต อันนี้เป็นปรมัตถธรรม
ถัดจากนั้นก็จะเกิดสมมุติบัญญัติว่า นี้เรียกว่าราคะ
สมมุติตรงนี้ห้ามไม่ได้ เพราะจิตเขามีธรรมชาติเป็นนักจำและนักคิด
ผู้ปฏิบัติจึงไม่ต้องไปห้ามหรือปฏิเสธสมมุติบัญญัติ
เพียงรู้ให้ทัน อย่าได้เผลอหรือหลงเพลินไปตามความคิดนึกปรุงแต่งนั้น
หรือแม้แต่การหลงไปคิดนึกเรื่องอื่นๆ ด้วย
แล้วให้เฝ้ารู้สภาวะ(ที่สมมุติเรียกว่าราคะนั้น)ต่อไป ในฐานะผู้สังเกตการณ์
จึงจะเห็นไตรลักษณ์ของสภาวะอันนั้นได้

ในทางกลับกัน ผู้ปฏิบัติที่ไปรู้สภาวะที่กำลังปรากฏ
จะต้องไม่เพ่งใส่สภาวะนั้นด้วย
เพราะถ้าเพ่ง จิตจะกระด้างและเจริญปัญญาไม่ได้
แต่จิตจะ "จำ และจับ" สภาวะอันนั้นมาเป็นอารมณ์นิ่งๆ แทนการรู้สภาวะจริงๆ
พึงให้จิตเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เหมือนคนดูละคร ที่ไม่โดดเข้าไปเล่นละครเสียเอง

จิตที่ทรงตัวตั้งมั่น นุ่มนวล อ่อนโยน ควรแก่การงาน
โดยไม่เผลอและไม่เพ่งนี้แหละ คือสัมมาสมาธิ
เป็นจิตที่พร้อมที่จะเปิดทางให้แก่การเจริญปัญญาอย่างแท้จริง

คือเมื่อจิตมีสติ รู้ปรมัตถธรรม ด้วยความตั้งมั่น ไม่เผลอและไม่เพ่ง
จิตจะได้เรียนรู้ความจริงของปรมัตถธรรมอันนั้นๆ 4 ประการ

คือ (1) รู้สภาวะของมันที่ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป (รู้ตัวสภาวะ)

(2) รู้ว่าเมื่อสภาวะอันนั้นเกิดขึ้นแล้วมันมีบทบาทและหน้าที่อย่างไร (รู้บทบาทของสภาวะ)

(3) รู้ว่าถ้ามันแสดงบทบาทของมันแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น (รู้ผลของสภาวะ)
และเมื่อชำนาญมากเข้า เห็นสภาวะอันนั้นบ่อยครั้งเข้า

ก็จะ (4) รู้ว่า เพราะสิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว
จึงกระตุ้นให้สภาวะอันนั้นเกิดตามมา (รู้เหตุใกล้ของสภาวะ)
การที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์และเรียนรู้ หรือวิจัยธรรม (ธรรมวิจัย)
อันนี้เองคือการเจริญปัญญาของจิต หรือสัมปชัญญะ หรือสัมมาทิฏฐิ

ตัวอย่างเช่นในขณะที่มองไปเห็นภาพๆ หนึ่งปรากฏตรงหน้า
จิตเกิดจำได้หมายรู้ว่า นั่นเป็นภาพสาวงาม
แล้วสภาวธรรมบางอย่างก็เกิดขึ้นในจิต (ซึ่งเมื่อบัญญัติทีหลังก็เรียกว่า ราคะ)
การรู้สภาวะที่แปลกปลอมขึ้นในจิตนั่นแหละคือการรู้ตัวสภาวะของมัน
แล้วก็รู้ว่ามันมีบทบาทหรืออิทธิพลดึงดูด
ให้จิตหลงเพลินพอใจไปกับภาพที่เห็นนั้น
ผลก็คือ จิตถูกราคะครอบงำ
ให้คิด ให้ทำ ให้อยาก ไปตามอำนาจบงการของราคะ
และเมื่อรู้ทันราคะมากเข้า ก็จะรู้ว่า
การเห็นภาพที่สวยงาม เป็นเหตุใกล้ให้เกิดราคะ
จึงจำเป็นจะต้องคอยเฝ้าระวังสังเกต ขณะที่ตากระทบรูปให้มากขึ้น เป็นต้น

ในส่วนตัวสภาวะของราคะเอง เมื่อผู้ปฏิบัติมีสติรู้อยู่นั้น
มันจะแสดงความไม่เที่ยงให้เห็นทันที คือระดับความเข้มของราคะจะไม่คงที่
มันตั้งอยู่ไม่นาน เมื่อหมดกำลังเพราะเราไม่ได้หาเหตุใหม่มาเพิ่มให้มัน (ย้อนไปมองสาว)

มันก็ดับไป แสดงถึงความเป็นทุกข์ของมัน
และมันจะเกิดขึ้นก็ตาม ตั้งอยู่ก็ตาม ดับไปก็ตาม
ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยกำหนด ไม่ใช่ตามที่เราอยากจะให้เป็น
นอกจากนี้ มันยังเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ ไม่ใช่ตัวเรา
เหล่านี้ล้วนแสดงความเป็นอนัตตาของสภาวะราคะทั้งสิ้น


ผลของการดูจิต และข้อสรุป

จิตที่อบรมปัญญามากเข้าๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะรู้แจ้งเห็นจริงว่า
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจิต เจตสิก กระทั่งรูป ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น
ถ้าจิตเข้าไปอยาก เข้าไปยึด จิตจะต้องเป็นทุกข์
ปัญญาเช่นนี้แหละ จะทำให้จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นในตัวกูของกูลง
ความทุกข์ก็จะเบาบางลงจากจิต เพราะจิตฉลาด
ไม่ไปส่ายแส่หาความทุกข์มาใส่ตัวเอง
(แต่ลำพังคิดๆ เอา ในเรื่องความไม่มีตัวกูของกู
ย่อมไม่สามารถดับ ความเห็นและความยึด ว่าจิตเป็นตัวกูของกูได้
จะทำได้ก็แค่ "กู ไม่ใช่ตัวกูของกู" คือจิตยังยึดอยู่
ส่วนการที่จะลดละได้จริง ต้องเจริญสติปัฏฐานจริงๆ เท่านั้นครับ)

สรุปแล้ว การดูจิตที่ชาวลานธรรมพูดถึงกันนั้น ไม่ใช่การดูจิตจริงๆ
เพราะจิตนั้นแหละ คือผู้รู้ ผู้ดู ผู้ยึดถือ อารมณ์
แต่การดูจิต หมายถึงการเจริญวิปัสสนา โดยเริ่มต้นจากการรู้นามธรรม
ซึ่งเมื่อชำนิชำนาญแล้ว ก็จะรู้ครบสติปัฏฐานทั้งสี่นั่นเอง
ดังนั้น ถ้าไม่ชอบคำว่า ดูจิต ซึ่งนักปฏิบัติส่วนหนึ่งชอบใช้คำนี้เพราะรู้เรื่องกันเอง
จะใช้คำว่าการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
+ การเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
+ การเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็ได้ครับ

แต่การที่นักปฏิบัติบางส่วนชอบพูดถึงคำว่า "การดูจิต" ก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน
คือเป็นการเน้นให้ทราบว่า จิตใจนั้นเป็นใหญ่ เป็นประธานในธรรมทั้งปวง
และเป็นการกระตุ้นเตือนให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมของจิตเมื่อมันไปรู้อารมณ์เข้า
เพราะถ้ารู้จิตชัด ก็จะรู้รูปชัด รู้เวทนาชัด รู้กิเลสตัณหาชัดไปด้วย
เนื่องจากจิตจะตั้งมั่น และเป็นกลางต่ออารมณ์ทั้งปวง
ในทางกลับกัน ถ้าจิตไม่มีคุณภาพ คือไม่มีสัมมาสมาธิ สัมมาสติ และสัมมาทิฏฐิ
แม้จะพยายามไปรู้ปรมัตถ์ ก็ไม่สามารถจะรู้ปรมัตถ์ตัวจริงได้
นอกจากจะเป็นเพียงการคิดถึงปรมัตถ์เท่านั้น

ถ้าเข้าใจจิตใจตนเองให้กระจ่างชัดแล้ว การเจริญสติปัฏฐานก็จะทำได้ง่าย
ถ้าไม่เข้าใจจิตใจตนเอง ก็อาจจะเกิดความหลงผิดได้หลายอย่างในระหว่างการปฏิบัติเช่นหลงเพ่ง โดยไม่รู้ว่าเพ่ง อันเป็นการหลงทำสมถะ แล้วคิดว่ากำลังทำวิปัสสนาอยู่พอเกิดนิมิตต่างๆ ก็เลยหลงว่าเกิดวิปัสสนาญาณ
หรือหลงเผลอ ไปตามอารมณ์ โดยไม่รู้ว่ากำลังเผลอ
หรือหลงยินดียินร้ายไปตามอารมณ์
หรือหลงคิดนึกปรุงแต่ง อันเป็นเรื่องสมมุติบัญญัติ
แล้วคิดว่ากำลังรู้ปรมัตถ์หรือสภาวะที่กำลังปรากฏ เป็นต้น
ถ้าเข้าใจจิตตนเองได้ดีพอประมาณ ก็จะไม่เกิดความหลงผิดเหล่านี้ขึ้น

ข้อดีที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการดูจิตก็คือ
การดูจิตเป็นวิปัสสนาชนิดเดียวที่ทำได้ทั้ง 3 โลก
คือในกาม(สุคติ)ภูมิ รูปภูมิ(ส่วนมาก) และอรูปภูมิ
แม้แต่ในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ อันเป็นภวัคคภูมิหรือสุดยอดภูมิของอรูปภูมิ
ก็ต้องอาศัยการดูจิตนี้เอง เป็นเครื่องเจริญวิปัสสนาต่อไปได้จนถึงนิพพาน

อันที่จริงสิ่งที่เรียกว่าการดูจิตนั้น แม้จะเริ่มจากการรู้นามธรรมก็จริง
แต่เมื่อลงมือทำไปสักระยะหนึ่ง ก็จะสามารถเจริญสติปัฏฐานได้ทั้ง 4 อย่าง
โดยจิตจะมีสติสัมปชัญญะต่อเนื่องอยู่ในชีวิตประจำวันนี่เอง
เพียงก้าวเดินก้าวเดียว ก็เกิดการเจริญสติปัฏฐานได้ตั้งหลายอย่างแล้ว

คือเมื่อเท้ากระทบพื้น ก็จะรู้รูป ได้แก่ธาตุดินคือความแข็งภายในกาย (รูปภายใน)
และธาตุดินคือความแข็งของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป (รูปภายนอก)
อันนี้ก็คือการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว
และรู้ถึงความเย็น ความร้อนคือธาตุไฟของพื้นที่เท้าเหยียบลงไป เป็นต้น

ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าสติรู้เข้าไปที่ความรู้สึกอันเกิดจากการที่เท้ากระทบพื้น
เช่นความเจ็บเท้า ความสบายเท้า
ก็คือการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว

ขณะที่เหยียบพื้นนั้น ถ้าพื้นขรุขระ เจ็บเท้า ก็สังเกตเห็นความขัดใจ ไม่ชอบใจ
หรือถ้าเหยียบไปบนพรมนุ่มๆ สบายๆ เท้า ก็สังเกตเห็นความพอใจ
อันนี้ก็เป็นการเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้ว

ขณะที่เหยียบนั้น ถ้ารู้ตัวทั่วพร้อมอยู่ ก็จะเห็นกายเป็นส่วนหนึ่ง
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นแต่ละส่วนๆ
หรือรู้ถึงความทะยานอยากของจิตที่ส่งหลงเข้าไปที่เท้า
หรือรู้อาการส่งส่ายของจิต ตามแรงผลักของตัณหาคือความอยาก
แล้วหนีไปเที่ยวทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
หรือรู้ถึงความเป็นตัวกูของกูที่เกิดขึ้นในจิต
หรือรู้ถึงนิวรณ์ที่กำลังปรากฏขึ้น แต่ยังไม่พัฒนาไปเป็นกิเลสเข้ามาครอบงำจิต
หรือรู้ชัดถึงความมีสติ มีสัมปชัญญะ มีความเพียร มีปีติ มีความสงบระงับฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งสิ้น

ที่เล่ามายืดยาวนี้ เพื่อนใหม่ที่ไม่เคยลงมือเจริญสติสัมปชัญญะจริงๆ มาก่อน
อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยครับ
ดังนั้น ถ้าอ่านแล้วเกิดความสงสัยมากขึ้น
ก็ลองย้อนมารู้เข้าไปที่ ความรู้สึกสงสัยในจิต เลยทีเดียว
ก็จะทราบได้ว่า ความสงสัยมันมีสภาวะของมันอยู่
(ไม่ใช่ไปรู้เรื่องที่สงสัยนะครับ แต่ให้รู้สภาวะหรือปรมัตถธรรมของความสงสัย)
เมื่อรู้แล้วก็จะเห็นว่า เมื่อความสงสัยเกิดขึ้น มันจะยั่วจิตให้คิดหาคำตอบ
แล้วลืมที่จะรู้เข้าไปที่สภาวะความสงสัยนั้น
เอาแต่หลงคิดหาเหตุหาผลฟุ้งซ่านไปเลย
พอรู้ทันมากเข้าๆ ก็จะเข้าใจได้ว่า ความสงสัยนั้นมันตามหลังความคิดมา
เป็นการรู้เท่าทันถึงเหตุใกล้ หรือสาเหตุที่ยั่วยุให้เกิดความสงสัยนั่นเอง

เมื่อรู้ที่ สภาวะของความสงสัย ก็จะเห็นสภาวะนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
มันเกิดขึ้นเพราะความคิด พอรู้โดยไม่คิด มันก็ดับไปเอง

หัดรู้อยู่ในจิตใจตนเองอย่างนี้ก็ได้ครับ แล้วต่อไปก็จะทำสติปัฏฐาน 4 ได้ในที่สุด
เพราะจะสามารถจำแนกได้ชัดว่า อะไรเป็นจิต อะไรเป็นอารมณ์
อะไรเป็นอารมณ์ของจริง
และอะไรเป็นเพียงความคิดนึกปรุงแต่งหรือสมมุติบัญญัติที่แปลกปลอมเข้ามา
รวมทั้งจำแนกได้ด้วยว่า อันใดเป็นรูป อันใดเป็นจิต อันใดเป็นเจตสิก

ขอย้ำแถมท้ายอีกนิดหนึ่งนะครับว่า
การดูจิต ไม่ใช่วิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดเสมอไป
เพราะในความเป็นจริง ไม่มีวิธีการปฏิบัติธรรมที่ดีที่สุดในโลก
มีแต่ "วิธีปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด" เฉพาะของแต่ละบุคคลเท่านั้น
ดังนั้น ถ้าถนัดจะเจริญสติปัฏฐาน อย่างใดก่อน ก็ทำไปเถิดครับ
ถ้าทำถูกแล้ว ในที่สุดก็จะทำสติปัฏฐานหมวดอื่นๆ ได้ด้วย

********************************************
จากคุณ : สันตินันท์ [ 19 ต.ค. 2543 / 11:13:47 น. ]
http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/001773.htm


ผมได้ฟังผู้ปฏิบัติธรรมหลายท่าน
ปรารภกันถึงเรื่อง "ความคิดกับการปฏิบัติธรรม"
บ้างก็สนใจในจุดที่ว่า ทำอย่างไรจึงจะดับความคิดเสียได้
เพราะความคิดเป็นสิ่งตรงข้ามกับ "รู้" เมื่อหมดความคิดจะได้เหลือแต่ "รู้"
บางท่านถึงกับตราหน้าความคิด ว่าเป็นตัววิปัสสนึก ไม่ใช่วิปัสสนา
เมื่ออยากจะทำวิปัสสนา จึงต้องดับความคิดเสียให้ได้
อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติอีกกลุ่มหนึ่งกลับกลัวว่า
ปฏิบัติแล้ว จะเหลือแต่ "รู้" ไม่มีความคิด
แล้วจะทำให้กลายเป็นคนโง่เขลา หรือสมองฝ่อในภายหลัง

ถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่า สิ่งที่ปรารภกันส่วนมากนั้น
เป็นความเข้าใจเกี่ยวกับความคิด ที่สุดโต่งกันอยู่ 2 ด้าน
ระหว่าง "กลุ่มที่ปฏิเสธความคิด" คือไม่อยากให้มีความคิด
กับ "กลุ่มที่กลัวว่าจะหมดความคิด"

ผมขอไม่กล่าวถึงเรื่องที่ว่า หมดความคิดไปชั่วขณะแล้วจะทำให้โง่
เพราะในความเป็นจริงแล้ว คนเราแทบไม่เคยหยุดคิดเลย แม้กระทั่งในเวลาหลับ
ยิ่งคนที่พยายามจะไม่คิดนั้น ก็มักจะยิ่งคิดมากขึ้น คือคิดที่จะไม่คิด
ประเด็นที่จะขอกล่าวในที่นี้ จึงตีกรอบไว้เพียงประเด็นเดียว
คือจะกล่าวถึงการปฏิเสธความคิดของนักปฏิบัติ

ที่นักปฏิบัติธรรมจำนวนมาก ปฏิเสธความคิด
ก็เพราะเคยได้ยินคำสอนที่หลากหลายเกี่ยวกับการไม่คิด
เช่น ในอรรถกถาพระธรรมบท
เล่าถึงพระรูปหนึ่งที่ท่านปรารภว่า
"สังขารทั้งหลายสงบเสียได้ เป็นสุข"
ก็เลยคิดว่าสังขาร รวมทั้งสังขารขันธ์หรือความคิดนึกปรุงแต่ง
เป็นตัวทุกข์ ดับมันเสียได้แล้ว จึงจะพ้นทุกข์

หลวงพ่อเทียน แห่งวัดสนามใน ท่านสอนว่า "คิดเป็นหนู รู้เป็นแมว"
ความคิด พอกระทบ "รู้" ก็ดับวับไป เหลือแต่ "รู้"

นายแพทย์ประเวศ วะสี ท่านกล่าวว่า คิดกับรู้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกัน
เมื่อ "รู้" ต่อเนื่อง จิตจะดำเนินอยู่ในปัจจุบัน
ในขณะที่การคิดนั้น มักจะเป็นเรื่องของอดีตและอนาคต ไม่เป็นปัจจุบัน

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม สุรินทร์ ท่านสอนว่า
"คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิดจึงรู้ แต่ก็ต้องอาศัยคิด"

คำสอนในฝ่ายเซ็น มีเรื่องเกี่ยวกับมหาสุญญตา
อันเป็นเรื่องเหนือความคิดและคำพูด
เช่นเมื่อท่านวิมลเกียรติจะแสดงธรรมสูงสุด
ท่านแสดงด้วยการไม่กล่าวคำพูดใดๆ เลย
ทำให้พระโพธิสัตว์มัญชุศรี กล่าวสรรเสริญว่าท่านแสดงธรรมได้สุดยอดที่สุด
คือ ธรรมที่เหนือความคิดและคำพูด

อีกประการหนึ่ง เรามักได้ยินคำว่า
"วิปัสสนึก" อันหมายถึงการใช้ความคิด ไม่ใช่วิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติบางท่านศึกษามากเกินไป จนเกิดสับสนขึ้นเอง
ในเรื่อง ความคิดกับการปฏิบัติธรรม

*****************************************************

ในเวลาที่มีท่านหนึ่งท่านใดถามผมว่า
"ทำอย่างไรจึงจะดับหรือหยุดความคิดได้"
ผมมักจะถามกลับว่า
"คิดจะหยุดความคิดแล้ว
คิดจะหยุดลมหายใจเข้าออกด้วยหรือเปล่า"
ที่ถามเช่นนี้ ไม่ได้ถามด้วยความยียวน
แต่ถามเพื่ออรรถเพื่อธรรมจริงๆ
เพราะตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมีลมหายใจอยู่
และตราบใดที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องมีความคิดนึกปรุงแต่งอยู่

ความคิดเป็นสังขารขันธ์
พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้สอนว่า "ขันธ์" เป็นทุกข์
เพราะขันธ์ เป็นเพียงขันธ์ เป็นกลุ่ม เป็นกอง
เป็นธรรมชาติธรรมดาของสิ่งที่ประกอบกันเป็นชีวิต
ตัวมันเองไม่มีความทุกข์ความสุขใดๆ หรอก
แต่เมื่อใด จิตเข้าไปยึดมั่นในขันธ์
ขันธ์อันถูกยึดมั่น หรือ "อุปาทานขันธ์" ต่างหากที่คือทุกข์

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เรา "รู้ทุกข์" ท่านไม่ได้สอนให้เรา "ละทุกข์"
สิ่งที่ท่านสอนให้ละคือสมุทัย หรือตัณหา หรือความทะยานอยากของจิต
แต่ผู้ปฏิบัติจำนวนมากกลับ "อยากจะละขันธ์" เพราะเห็นว่ามันเป็นทุกข์

การที่เห็นขันธ์อันเป็นธรรมชาติธรรมดาเป็น ทุกข์
คือความเห็นผิดในเบื้องต้น เนื่องจากไม่ทราบว่า
ทุกข์คืออะไร และเกิดจากอะไร
ส่วนการปฏิเสธทุกข์ หรืออยากละทุกข์ คือความผิดพลาดในขั้นต่อมา

ถ้าเราเชื่อพระพุทธเจ้า เข้าใจสิ่งที่พระองค์สอน
ก็จะรู้ว่า เราไม่ต้องคิดไปดับความคิด
เหมือนที่เราไม่ควรคิดจะเลิกหายใจ

*************************************************

คราวนี้มาถึงปัญหาที่ว่า เราจะจัดการกับความคิดอย่างไร

ผู้ปฏิบัติจำนวนมากแยกไม่ออกระหว่างความคิด กับความฟุ้งซ่าน
ความคิดนั้น อาจจะคิดดีก็ได้ คิดชั่วก็ได้
แต่ความฟุ้งซ่านเป็นธรรมฝ่ายชั่ว มันเป็นความหย่อนสมรรถภาพของจิต
จิตถูกผลักดันให้โลดเร่าไปตามกระแสอารมณ์
หากเราจะปฏิบัติธรรม เราจะต้องจัดการขั้นเด็ดขาดกับความฟุ้งซ่าน
เพราะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้จิตมีคุณภาพพอที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้
เครื่องมือที่จะใช้จัดการกับความฟุ้งซ่าน คือการทำสมถะ

สมถะ เป็นเครื่องมือจัดระเบียบจิตใจไม่ให้โลดเร่าเกินไป
คือแทนที่ผู้ปฏิบัติจะปล่อยให้จิตโลดเร่าไปเรื่อยๆ
ก็รวมจิตให้ลงมารู้อารมณ์อันเดียว
เมื่อจิตสามารถรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่องแล้ว
คราวนี้จิตก็พร้อมที่จะเจริญวิปัสสนา
คือรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละอย่าง
ด้วยจิตที่เป็นกลาง พ้นจากความยินดียินร้ายต่อสิ่งที่จิตไปรู้เข้า
ก็จะเห็นธรรมทั้งปวง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป

ความคิดก็เป็นธรรมอันหนึ่ง
เป็นกระแสความปรุงแต่งของจิตที่เกิดขึ้นเป็นคราวๆ ไม่คงที่ มีแล้วก็ดับไป
ไม่มีใครเลยที่จะดับความคิดได้ เว้นแต่การตกภวังค์
การเข้านิโรธสมาบัติ และการเข้าอยู่ในภพของพรหมลูกฟัก
ตัวความคิดเอง ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม
แต่การจัดการอย่างไม่ถูกต้องกับความคิดต่างหาก
ที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม

เมื่อจิตจะคิด ก็ควรปล่อยให้มันคิดไป
อย่าไปคิดที่จะดับความคิด เพราะจิตจะฟุ้งซ่านเสียเปล่าๆ
แม้แต่มันจะคิดชั่ว คิดจนเกิดกิเลส ก็ไม่ต้องไปห้ามมัน
ให้ทำสติรู้เท่าทันปฏิกิริยาของจิตที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะกระแสความคิดนั้น
จิตมีอกุศล เช่นมีราคะ หรือมีโทสะ ก็รู้
จิตมีกุศล เช่นไม่มีราคะ หรือไม่มีโทสะ ก็รู้

ถ้าจะเจริญวิปัสสนา ก็อย่าห้ามความคิด
ความคิดจะผันแปรอย่างไรก็ช่างมัน
ขอให้มีจิตที่ตั้งมั่นไม่หลงตามความคิด หรือเสียความเป็นกลางไปก็พอแล้ว
เพราะถ้าจิตซัดส่ายเลื่อนไหลไปตามความคิดและอารมณ์ที่มากระทบ
อันนั้นคือความฟุ้งซ่าน
เป็นภาวะที่ไม่มีทั้งสมถะ และไม่มีทั้งวิปัสสนา

**************************************************

คราวนี้ก็มาถึงปัญหาที่ว่า สิ่งที่ผมกล่าวมานี้
ขัดกับคำกล่าวของพระเถระทั้งในตำราฝ่ายเถรวาท
ตำราฝ่ายมหายาน และผู้ปฏิบัติร่วมสมัยของเราเช่นหลวงพ่อเทียน หรือไม่

ขอเรียนว่า ไม่ได้ขัดแย้งกันเลย
ที่พระเถระครั้งพุทธกาลท่านปรารภถึงความดับสนิทแห่งสังขารนั้น
เป็นภาวะที่เป็น ผล ของการปฏิบัติ
ซึ่งจิตของท่านเข้าถึงความดับสนิทแห่งขันธ์
ส่วนพวกเรากำลังอยู่ระหว่างการปฏิบัติอันเป็นการทำ เหตุ
จะนำธรรมที่เป็นเหตุ กับเป็นผล มาอธิบายปนกันไม่ได้

ธรรมที่เหนือความคิดและคำพูด ที่เซ็น กล่าวโดยไม่มีการกล่าว นั้น
ก็เป็นการอธิบายถึงสิ่งที่เป็น ผล แล้วเช่นกัน

ส่วนสิ่งที่หลวงพ่อเทียน หลวงปู่ดูลย์ และคุณหมอประเวศกล่าวนั้น
ท่านกล่าวเพื่อเตือนสตินักปฏิบัติ ให้รู้จัก "รู้"
โดยสามารถแยก "รู้" กับ "คิด" ออกจากกันได้

"รู้" คือสภาวะจิตที่มีสัมมาสมาธิ มีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์ด้วยอุเบกขา
ซึ่งเป็นจิตที่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้
หรือจะกล่าวว่า จิตสามารถทำตนเป็นผู้สังเกตการณ์
โดยปราศจากความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ได้
ความรู้แท้ทางพระพุทธศาสนานั้น ต้องเกิดจากการที่จิตเป็นผู้สังเกตการณ์
จนเข้าใจความจริงของสังขารธรรมทั้งปวงว่าเป็นไตรลักษณ์
และเข้าใจอริยสัจจ์ซึ่งประจักษ์อยู่กับจิตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติ จะคิดเอาง่ายๆ ว่า
จิตของตนเป็นกลาง และมีขณิกสมาธิแล้ว
เพราะสามารถขับรถได้ อ่านหนังสือได้ ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้
ทั้งที่ความจริงในขณะนั้น จิตกำลังหลงอยู่กับอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า
เพียงแต่ไม่รู้ว่า จิตกำลังหลงอยู่

ท่านที่ปฏิบัติมาแล้วอย่างโชกโชน จึงย้ำนักหนา ให้รู้จัก "รู้"
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ท่านจะสั่งให้พวกเราต้องหัดเข้าฌานก่อน
เพราะทั้งหลวงพ่อเทียน หรือหลวงปู่ดูลย์
ไม่เคยสอนเรื่องการเข้าฌานเลย
(ทั้งที่หลวงปู่ดูลย์ เป็นพระที่ชำนาญในสมาบัติต่างๆ สูงมาก)
มีแต่สอน ให้เจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตจริงๆ ของเรานี่แหละ
แต่ภาวะที่จิตมีสติสัมปชัญญะจริงๆ หรือจิตรู้นั้น
ไม่เหมือนกันเลยกับจิตที่กำลังหลงไปตามความคิด

ตัวอย่างเช่น ผู้ปฏิบัติบางท่านเดินจงกรมอยู่
จิตเคลื่อนออกไปเกาะอยู่ที่เท้าบ้าง
ไหลไปในความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวเท้าบ้าง

หรือบางท่านนั่งอยู่ พอเมื่อยอยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ
ก็คิดบรรยายอาการจิตตนเองว่า "อยากเปลี่ยนอิริยาบถ"
แล้วตั้งคำถามตนเองว่า "ทำไมจึงอยากเปลี่ยนอิริยาบถ"
แล้วก็ตอบตนเองว่า "เพราะจำเป็นต้องเปลี่ยนอิริยาบถ"
พอคิดตามสูตรเสร็จแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนอิริยาบถ
เหล่านี้ เป็นการปฏิบัติที่ยังเจือด้วยความคิดทั้งสิ้น
เป็นการสร้างภาระให้จิตต้องคิด ต้องทำงาน
แทนที่จิตจะเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขึ้น

เรื่อง "รู้" เป็นเรื่องที่อธิบายด้วยตัวหนังสือยากที่สุด
แต่ถ้าสามารถ "รู้" ได้แล้ว การปฏิบัติจะเป็นเรื่องง่ายไปหมด
เพราะสามารถกระทำต่อเนื่องได้ตลอดเวลาที่ยังตื่นอยู่

หลวงปู่ดูลย์ ท่านจึงสอนว่า "คิดเท่าไรก็ไม่รู้"
เพราะถ้าหลงอยู่ในโลกของความคิด
ก็ไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
ท่านสอนอีกว่า "ต้องหยุดจึงจะรู้"
ตรงนี้ท่านไม่ได้สอนให้เรา "คิดที่จะหยุดคิด"
แต่เมื่อเจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้องไปถึงจุดๆ หนึ่ง ขันธ์จะดับลงชั่วขณะ
ตรงนั้นแหละเมื่อผ่านแล้วจิตจึงย้อนทวนพิจารณา
ก็จะเข้าใจธรรมทั้งฝ่ายที่เกิดดับ และฝ่ายที่ไม่เกิดไม่ดับ

ที่สำคัญ หลวงปู่ดูลย์ ยังสอนประโยคสุดท้ายที่เราชอบลืมกันว่า
"แต่ก็ต้องอาศัยคิด"
คือเราต้องปล่อยให้จิตคิดไป จิตรู้ไป
จิตก็จะเห็นปฏิกิริยาของจิต เป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นกลางบ้าง
เกิดความยินดียินร้ายขึ้นบ้าง
เห็นมากเข้า ก็จะเห็นความไม่มีสาระแก่นสารของธรรมที่เกิดดับเหล่านั้น
แล้วจิตก็จะปล่อยวางธรรมเหล่านั้น
เข้าถึงธรรมที่เหนือความคิดนึกปรุงแต่ง

*************************************************************

สรุปแล้ว ผู้ปฏิบัติไม่ควรรังเกียจความคิด คิดไปเถอะครับ
(แต่ไม่ใช่คิดจนฟุ้งซ่าน คือจิตวิ่งหลงตามความคิดไป)
และที่สำคัญก็คือ ต้องรู้จัก "รู้" ให้ดี
เพราะถ้าไม่มี "รู้" จิตจะหลงไปตามความคิดทันที
และไม่สามารถรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏด้วยความเป็นกลางได้เลย




ที่มา http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000323.htm


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 15:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


พวกเรานักปฏิบัติธรรมเคยรู้สึกกันบ้างไหมว่า
บางครั้งเราอยากหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมที่กำลังประสบอยู่
จากมหาวิทยาลัย จากงาน จากครอบครัว จากบ้าน จากถนนหนทางที่ต้องผ่านจำเจอยู่ทุกวัน

ไม่ว่าผู้คน หรือสภาพแวดล้อม ล้วนแต่น่าเบื่อหน่าย
ล้วนแต่ไม่ดี ไม่เหมาะ กับเราผู้ปฏิบัติธรรมสักอย่างเดียว
จิตใจก็น้อมไปในทางที่อยากจะหามุมสงบสักแห่งหนึ่ง อยู่กับตัวเองเงียบๆ
บางคนถึงกับอยากทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างไปบวช เพื่อปฏิบัติธรรม

ความรู้สึกอย่างนี้ถ้านานๆ เกิดขึ้นสักครั้งก็ไม่เท่าไหร่
แต่ถ้าเกิดเป็นประจำ ความเบื่อหน่ายนั้นแหละจะกัดกร่อนจิตใจของเรา
เกิดความเซ็ง ความหดหู่ท้อแท้ มีโทสะติดอยู่ที่ปลายจมูก
สิ่งเหล่านี้คือการจมทุกข์อยู่ในปัจจุบัน โดยฝันหวานไปถึงอนาคต
นี้เป็นโรคทางใจที่จำเป็นต้องรีบเยียวยาแก้ไข

แท้จริงการปฏิบัติธรรมนั้น ไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกบุคคล และเวลา
นักปฏิบัติไม่ควรเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม
แต่ควรฝึกฝนตนเอง ให้สามารถปฏิบัติธรรมได้ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ
กิเลสเกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ ก็ต้องรู้เดี๋ยวนี้ ต้องพัฒนาจิตใจของตนเองเดี๋ยวนี้
ไม่ใช่สงวนกิเลสเอาไว้ก่อน แล้วพยายามแก้ไขที่คนอื่น สิ่งอื่น
หรือผลัดไปต่อสู้กับกิเลสในเวลาอื่น

ถ้าเราเป็นทุกข์เดี๋ยวนี้ ก็ต้องลงมือหาทางออกจากทุกข์เดี๋ยวนี้
ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะกล่าวโทษว่า ความทุกข์มาจากคนนั้น สิ่งนั้น
เพราะแท้ที่จริงแล้ว ถ้าจิตของเรานี้ไม่ว่ิงออกไปหาทุกข์มาใส่ตัว
ความทุกข์จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย

แทนที่จะเป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม
แทนที่จะเพ่งโทษผู้อื่น หรือสิ่งอื่น
มาพากเพียรศึกษากิเลสในจิตใจของเราเองดีกว่า
เพื่อเราจะพ้นทุกข์ได้ตั้งแต่เดี๋ยวนี้
แม้สิ่งแวดล้อมจะเลวร้ายประการใดก็ตาม

ไม่มีใครทำให้เราเป็นทุกข์ได้หรอก
นอกจากเราทำของเราเอง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แล้วก็รับผลอันแสบร้อนนั้นด้วยตนเอง
อย่างยุติธรรมที่สุดแล้ว


ที่มา http://larndham.net/cgi-bin/kratoo.pl/000112.htm


บทความนี้ เผยแผ่เพื่อเกื้อกูลต่อผู้ปฏิบัติธรรม โดยคัดลอกมาจาก http://www.geocities.com/pudule/dharma3.htm


พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้นไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งแล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายได้เลย

มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียว หรือสีเหลือง และ ไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่มีการตั้งอยู่ และไม่มีการตั้งอยู่ ไม่อาจจะลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือเก่า ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก

ทั้งนี้ เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้ และ เหนือการเปรียบเทียบทั้งหมด

จิตหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่เราเห็นตำตาเราอยู่แท้ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไร เป็นต้น) กับมันเข้าดูซิ เราจะหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้ เป็นเหมือนกับความว่าง อันปราศจากขอบทุกๆ ด้าน ซึ่งไม่อาจจะหยั่ง หรือวัดได้

จิตหนึ่ง นี้เท่านั้นเป็น พุทธะ ไม่มีความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่ว่าสัตว์โลกทั้งหลายไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่างๆ เสีย และเพราะเหตุนั้น เขาจึงแสวงหาพุทธะภาวะจากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง ทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ การทำเช่นนั้น เท่ากับ การใช้สิ่งที่เป็นพุทธะ ให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ และการใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้ว่าเขาเหล่านั้นจะได้พยายามจนสุดความสามารถของเขา อยู่ตั้งกัปป์หนึ่งเต็มๆ เขาก็จะไม่สามารถลุถึงพุทธภาวะได้เลย

เขาไม่รู้ว่า ถ้าเขาเอง เพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหา เสียเท่านั้น พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขา เพราะว่า จิต นี้คือ พุทธะ นั่นเอง และ พุทธะ คือ สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง สิ่งๆ นี้ เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์ จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่ และเมื่อปรากฏอยู่ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่

สำหรับการบำเพ็ญปารมิตาทั้ง 6 ก็ดี การบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติที่คล้ายๆ กันอีกเป็นจำนวนมากก็ดี หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วน เหมือนจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาก็ดี เหล่านี้นั้นจงคิดดูเถิด เมื่อเราเป็นผู้สมบูรณ์โดยสัจจะพื้นฐานในทุกกรณีอยู่แล้ว คือเป็น จิตหนึ่ง หรือ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายอยู่แล้ว เราก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งที่สมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่างๆ ซึ่งไร้ความหมายเหล่านั้นไม่ใช่หรือ เมื่อไหร่โอกาสอำนวยให้ทำก็ทำมันไป และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้ว อยู่เฉยๆ ก็แล้วกัน

ถ้าเราไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่า จิต นั้นคือ พุทธะ ก็ดี และถ้าเรายัง ยึดมั่นถือมั่น ต่อรูปธรรมต่างๆ อยู่ก็ดี ต่อวัตรปฏิบัติต่างๆ อยู่ก็ดี และต่อวิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่างๆ ก็ดี แนวความคิดของเราก็ยังคงผิดพลาดอยู่ และไม่เข้าร่องเข้ารอยกันกับ ทาง ทางโน้นเสียแล้ว

จิตหนึ่ง นั่นแหละคือ พุทธะ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิเช่นเดียวกับความว่าง คือ มันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใดๆ เลย ถ้าเราใช้จิตของเราให้ปรุงแต่งความคิดฝันต่างๆ นั้น เท่ากับเราทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกพันตัวเองอยู่กับรูปธรรม ซึ่งเป็นเหมือนกับเปลือก พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลนั้น ไม่ใช่พุทธะของความยึดมั่นถือมั่น

การปฏิบัติปารมิตาทั้ง 6 และการบำเพ็ญข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่คล้ายคลึงกันอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ด้วยเจตนาที่จะเป็นพุทธะสักองค์หนึ่งนั้น เป็นการปฏิบัติชนิดที่คืบหน้าทีละขั้นๆ แต่พุทธะซึ่งมีอยู่ตลอดกาลดังที่กล่าวแล้วนั้น หาใช่พุทธะที่ลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้นๆ เช่นนั้นไม่ เรื่องมันเป็นเพียงแต่ ตื่น และ ลืมตา ต่อจิตหนึ่งนั้นเท่านั้น และ ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร นี่แหละคือพุทธะที่แท้จริง พุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย คือ จิตหนึ่งนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้อีกเลย

จิตเป็นเหมือนกับความว่าง ซึ่งภายในนั้นย่อมไม่มีความสับสน และความไม่ดีต่างๆ ดังจะเห็นได้ ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไปในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น ย่อมให้ความสว่างทั่วพื้นโลก ความว่างที่แท้จริงนั้น มันก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อดวงอาทิตย์ตก ความว่างก็ไม่ได้มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่าง และความมืดย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของความว่างนั้น ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง จิตของพุทธะและของสัตว์โลกทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น

ถ้าเรามองดูพุทธะ ว่าเป็นผู้แสดงออก ซึ่งความปรากฏของสิ่งที่บริสุทธิ์ผ่องใส และรู้แจ้งก็ดี หรือมองสัตว์โลกทั้งหลายว่า เป็นผู้แสดงออกซึ่งความปรากฏของสิ่งที่โง่เง่า มืดมน และมีอาการสลบไสลก็ดี ความรู้สึกนึกคิดเหล่านี้ อันเป็นผลที่เกิดมาจากความคิดยึดมั่นต่อรูปธรรมนั้น จะกันเราไว้เสียจากความรู้อันสูงสุด ถึงแม้ว่าเราจะได้ปฏิบัติมาตลอดกี่กัปป์นับไม่ถ้วน ประดุจเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาแล้วก็ตาม มีแต่จิตหนึ่งเท่านั้น และไม่มีสิ่งใดแม้แต่อนุภาคเดียวที่จะอิงอาศัยได้ เพราะ จิตนั้นเอง คือ พุทธะ


เมื่อพวกเราที่เป็นนักศึกษาเรื่องทาง ทางโน้นไม่ลืมตาต่อสิ่งซึ่งเป็นสาระ กล่าวคือ จิตนี้ พวกเราจะปิดบัง จิต นั้นเสีย ด้วยความคิดปรุงแต่งของเราเอง พวกเราจะเที่ยวแสวงหา พุทธะ นอกตัวเราเอง พวกเรายังคงยึดมั่นต่อรูปธรรมทั้งหลาย ต่อการปฏิบัติเมาบุญต่างๆ ทำนองนั้น ทั้งหมดนี้เป็นอันตราย และไม่ใช่หนทางอันนำไปสู่ความรู้อันสูงสุดที่กล่าวนั้นแต่อย่างใด

เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น โดยภายในแล้วย่อมเหมือนกับไม้หรือก้อนหิน คือภายในนั้นปราศจาก การเคลื่อนไหว และโดยภายนอกแล้วย่อมเหมือนกับความว่าง กล่าวคือ ปราศจากขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางใดๆ สิ่งนี้ไม่ใช่เป็นฝ่ายนามธรรม หรือฝ่ายรูปธรรม มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะ ไม่มีรูปร่าง และไม่อาจจะหายไปได้เลย

จิตนี้ไม่ใช่จิตซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่ง มันเป็นสิ่งซึ่งอยู่ต่างหาก ปราศจากการเกี่ยวข้องกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง ฉะนั้น พระพุทธเจ้าทั้งหลาย และสัตว์โลกทั้งปวงก็เป็นเช่นนั้น พวกเราเพียงแต่สามารถปลดเปลื้องตนเองออกจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น พวกเราจะประสบความสำเร็จทุกอย่าง

หลักธรรมที่แท้จริงก็คือ จิต นั่นเอง ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ จิตนั่นแหละคือหลักธรรม ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้วมันก็ไม่ใช่จิต จิตนั้น โดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ใช่ มิใช่จิต การที่จะกล่าวว่าจิตนั้นมิใช่จิต ดังนี้นั่นแหละ ย่อมหมายถึง สิ่งบางสิ่งซึ่งมีอยู่จริง สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด ขอจงเลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดก็ได้ถูกตัดขาดไปแล้ว และ พฤติของจิต ก็ถูกเพิกถอนขึ้นสิ้นเชิงแล้ว

จิตนี้คือ พุทธโยนิ อันบริสุทธิ์ ซึ่งมีประจำอยู่แล้วในคนทุกคน สัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิด กระดุกกระดิกได้ทั้งหมดก็ดี พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงก็ดี ล้วนแต่เป็นของแห่งธรรมชาติอันหนึ่งนี้เท่านั้น และไม่แตกต่างกันเลย ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากเราคิดผิดๆ เท่านั้น ย่อมนำเราไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่มีหยุด

ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะดั้งเดิมของเรานั้น โดยความจริงอันสูงสุดแล้ว เป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนแม้แต่สักปรมาณูเดียว สิ่งนั้นคือ ความว่าง เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกแห่งสงบเงียบ และไม่มีอะไรเจือปน มันเป็นสันติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับ และก็หมดกันเพียงเท่านั้นเอง

จงเข้าไปสู่สิ่งสิ่งนี้ได้ลึกซึ้ง โดยการลืมตาต่อสิ่งนี้ด้วยตัวเราเอง สิ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรานี้แหละ คือสิ่ง สิ่งนั้น ในอัตราที่เต็มที่ทั้งหมดทั้งสิ้น และสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรนอกไปจากนี้อีก

จิตคือพุทธะ (สิ่งสูงสุด) มันย่อมรวมสิ่งทุกสิ่งเข้าไว้ในตัวมันทั้งหมด นับแต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้แล้วทั้งหลายเป็นสิ่งที่สุดในเบื้องสูง ลงไปจนกระทั่งถึงสัตว์ประเภทที่ต่ำต้อยที่สุด ซึ่งเป็นสัตว์เลื้อยคลานและแมลงต่างๆ เป็นที่สุดในเบื้องต่ำ สิ่งเหล่านี้ทุกสิ่ง มันย่อมมีส่วนแห่งความเป็นพุทธะเท่ากันหมด และทุกๆ สิ่งมีเนื้อหาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ พุทธะ อยู่ตลอดเวลา

ถ้าพวกเราเพียงแต่สามารถทำความเข้าใจในจิตของเราเองได้สำเร็จ แล้วค้นพบธรรมชาติอันแท้จริงของเราเองได้ ด้วยความเข้าใจอันนี้เท่านั้น ก็จะเป็นที่แน่นอนว่า ไม่มีอะไรที่พวกเราจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแม้แต่อย่างใดเลย

จิตของเรานั้น ถ้าเราทำความสงบเงียบอยู่จริงๆ เว้นขาดจากการคิดนึก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิต แม้แต่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริงๆ ตัวแท้ของมันก็จะปรากฏออกมาเป็นความว่าง แล้วเราก็จะพบว่ามันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป มันไม่ได้กินเนื้อที่อะไรๆ ที่ไหน แม้แต่จุดเดียว มันไม่ได้ตกลงสู่การบัญญัติว่าเป็นพวกที่มีความเป็นอยู่ หรือไม่มีความเป็นอยู่ แม้แต่ประการใดเลย เพราะเหตุที่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ เพราะจิตซึ่งเป็นธรรมชาติที่แท้ของคนเรานั้น มันเป็นครรภ์หรือกำเนิด ไม่มีใครทำให้เกิดขึ้นและไม่อาจถูกทำลายได้เลย

ในการทำปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ นั้น มันเปลี่ยนรูปของมันเองออกมาเป็นปรากฏการณ์ต่างๆ เพื่อสะดวกในการพูด เราพูดถึงจิตในฐานะที่เป็นตัวสติปัญญา แต่ในขณะที่มันไม่ได้ทำการตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อม คือไม่ได้เป็นตัวสติปัญญาที่นึกคิด หรือสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมานั้น มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกกล่าวถึงในการที่จะบัญญัติว่ามันเป็นความมีอยู่ หรือไม่ใช่ความมีอยู่

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ในขณะที่มันทำหน้าที่สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมา ในฐานะที่ตอบสนองต่อกฎแห่งความเป็นเหตุและผลของกันและกันนั้น มันก็ยังเป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวาร อยู่นั่นเอง ถ้าเราทราบความเป็นจริงข้อนี้ เราทำความสงบเงียบสนิทอยู่ในภาวะแห่งความไม่มีอะไร ในขณะนั้น พวกเรากำลังเดินอยู่แล้วในทางแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายโดยแท้จริง ดังนั้น เราควรเจริญจิตให้หยุดอยู่บนความไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น

มูลธาตุทั้ง 5 ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวิญญาณนั้น เป็นของว่างเปล่า และมูลธาตุทั้ง 4 ของรูปกายนั้น ไม่ใช่เป็นสิ่งซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นตัวของเรา จิตจริงแท้นั้น ไม่มีรูปร่าง และไม่มีอาการมาหรืออาการไป ธรรมชาติเดิมแท้ของเรานั้นเป็นสิ่งๆ หนึ่ง ซึ่งไม่มีการตั้งต้นที่การเกิด และไม่มีการสิ้นสุดลงที่การตาย แต่เป็นของสิ่งเดียวกันรวด และปราศจากการเคลื่อนไหวใดๆ ในส่วนลึกจริงๆ ของมันทั้งหมด


จิตของเรากับสิ่งต่างๆ ซึ่งแวดล้อมเราอยู่นั้นเป็นสิ่งๆ เดียวกัน ถ้าเราทำความเข้าใจได้ตามนี้จริงๆ เราจะได้ลุถึงความรู้แจ้งเห็นแจ้งได้โดยแวบเดียวในขณะนั้น และเราเป็นผู้ที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องในโลกทั้งสามอีกต่อไป เราจะเป็นผู้อยู่เหนือโลก เราไม่มีการโน้มเอียงไปสู่การเกิดใหม่อีกแม้แต่นิดเดียว เราจะเป็นแต่ตัวเราเองเท่านั้น ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเขิง และเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งสูงสุดสิ่งนั้น เราจะได้ลุถึงภาวะแห่งความที่ไม่มีอะไรปรุงแต่งได้อีกต่อไป ฉะนั้น นี่แหละคือหลักธรรมที่เป็นหลักมูลฐานอยู่ในที่นี้

สัมมาสัมโพธิ เป็นชื่อของการเห็นแจ้งชัดว่าไม่มีธรรมใดเลยที่ไม่เป็นโมฆะ ถ้าเราเข้าใจความจริงข้อนี้แล้ว ของหลอกลวงทั้งหลายจะมีประโยชน์อะไรแก่เรา

ปรัชญา คือความรู้แจ้ง ความรู้แจ้ง คือจิตต้นกำเนิดดั้งเดิม ซึ่งปราศจากรูป ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจได้ว่า ผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำ คือจิตและวัตถุเป็นสิ่งๆ เดียวกัน นั่นแหละ จะนำเราไปสู่ความเข้าใจอันลึกซึ้ง และลึกลับเหนือคำพูด และโดยความเข้าใจอันนี้เอง พวกเราจะได้ลืมตาต่อสัจธรรมที่แท้จริงด้วยตัวเราเอง

สัจธรรมที่แท้จริงของเรานั้น ไม่ได้หายไปจากเรา แม้ในขณะที่เรากำลังหลงผิดอยู่ด้วยอวิชชา และไม่ได้รับกลับมา ในขณะที่เรามีการตรัสรู้ มันเป็นธรรมชาติแห่งภูตัตถตา ในธรรมชาตินี้ไม่มีทั้งอวิชชา ไม่มีทั้งสัมมาทิฐิ มันเต็มอยู่ในความว่าง เป็นเนื้อหาอันแท้จริงของจิตหนึ่งนั้น เมื่อเป็นดังนี้แล้ว อารมณ์ต่างๆ ที่จิตของเราได้สร้างขึ้น ทั้งฝ่ายนามธรรมและฝ่ายรูปธรรม จะเป็นสิ่งซึ่งอยู่ภายนอกความว่างนั้นได้อย่างไร

โดยหลักมูลฐานแล้ว ความว่างนั้นเป็นสิ่งซึ่งปราศจากมิติต่างๆ แห่งการกินเนื้อที่ คือปราศจากกิเลส ปราศจากกรรม ปราศจากอวิชชา และปราศจากสัมมาทิฏฐิ พวกเราต้องทำความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งว่า โดยแท้จริงแล้ว ไม่มีอะไรเลย ไม่มีมนุษย์สามัญ ไม่มีพุทธทั้งหลาย เพราะว่าในความว่างนั้น ไม่มีอะไรบรรจุอยู่แม้เท่าเส้นขนที่เล็กที่สุด อันเป็นสิ่งซึ่งสามารถจะมองเห็นได้โดยทางมิติ หรือกฎแห่งการกินเนื้อที่เลย มันไม่ต้องอาศัยอะไร และไม่ติดเนื่องอยู่กับสิ่งใด มันเป็นความงามที่ไร้ตำหนิ เป็นสิ่งซึ่งอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง และเป็นสิ่งสูงสุดที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้น มันเป็นเพชรพลอยที่อยู่เหนือการตีค่าทั้งปวงเสียจริงๆ เราต้อง แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต เหตุต้องละ ผลต้องละ ใช้หนี้ก็หมด พ้นเหตุเกิด

สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตในจักรวาล มีนับไม่ถ้วนรวมแล้วมี รูปกับนาม สองอย่างเท่านั้น นามเดิม ก็คือ ความว่างของจักรวาล เข้าคู่กันเป็น เหตุเกิด ตัวอวิชชา เกิดเหตุก่อ ที่ใดมีรูป ที่นั้นต้องมีนาม ที่ใดมีนาม ที่นั้นต้องมีรูป รูปนามรวมกัน เป็นเหตุเกิดปฏิกิริยา ให้เปลี่ยนแปลงตลอดกาล และ เกิดกาลเวลาขึ้น คือรูปย่อมมีความดึงดูดซึ่งกันและกัน จึงเป็นเหตุให้รูปเคลื่อนไหว และหมุนรอบตัวเองตามปัจจัย รูปเคลื่อนไหวได้ ต้องมีนาม ความว่างคั่นระหว่างรูป รูปจึงเคลื่อนไหวได้

เมื่อสภาวธรรมเป็นอย่างนี้ สรรพสิ่งของวัตถุ สสารมีชีวิต และไม่มีชีวิตจึงต้องเปลี่ยนแปลง เป็นไตรลักษณ์ เกิด ดับ สืบต่อทุกขณะจิตไม่มีวันหยุดนิ่งให้คงทนเป็นปัจจุบันได้

จิต วิญญาณ ก็เกิดมาจาก รูปนามของจักรวาล มันเป็นมายาหลอกลวงแล้วเปลี่ยนแปลงให้คนหลง จากรูปนามไม่มีชีวิต เปลี่ยนมาเป็นรูปนามที่มีชีวิต จากรูปนามที่มีชีวิต มาเป็นรูปนามมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณ แล้วจิตวิญญาณก็เปลี่ยนแปลงแยกออกจากกัน คงเหลือแต่ นามว่างที่ปราศจากรูป นี้ เป็นจุดสุดยอดของการหลอกลวงของรูปนาม


ต้นเหตุเกิดรูปนามของจักรวาลนั้น เป็นเหตุเกิด รูปนามพิภพ ต่างๆ ตลอดจนดวงดาวนับไม่ถ้วน เพราะไม่มีที่สิ้นสุด รูปนามพิภพต่างๆ เป็นเหตุให้เกิด รูปนามพืช รูปนามพืชเป็นเหตุให้เกิด รูปนามสัตว์ เคลื่อนไหวได้ จึงเรียกกันว่า เป็นสิ่งมีชีวิต

ความจริง รูปนามจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตมันก็เคลื่อนไหวได้ เพราะมันมีรูปกับนาม เป็นเหตุเป็นผลให้เกิดปฏิกิริยาอยู่ในตัว ให้เคลื่อนไหวตลอดกาล และ(เกิด) การเปลี่ยนแปลง บางอย่างเรามองด้วยตาเนื้อไม่เห็น จึงเรียกกันว่าเป็นสิ่งไม่มีชีวิต

เมื่อรูปนามของพืชเปลี่ยนมาเป็นรูปนามของสัตว์ เป็นจุดตั้งต้นชีวิตของสัตว์ และเป็น เหตุให้เกิด จิต วิญญาณ การแสดง การเคลื่อนไหว เป็นเหตุให้เกิดกรรม

สัตว์ชาติแรกมีแต่สร้างกรรมชั่ว สัตว์กินสัตว์ และ(มี)ความโกรธ โลภ หลง ตามเหตุ ปัจจัย ภายนอกภายในที่มากระทบ กรรมที่สัตว์แสดง มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ๕ อย่าง ไปกระทบกับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส 5 อย่าง แล้วมาประทับ บรรจุ บันทึก ถ่ายภาพ ติดอยู่กับ รูปปรมาณู ซึ่งเป็น สุขุมรูป แฝงอยู่ในความว่าง เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาได้ ที่แฝงอยู่ในความว่างระวางคั่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้นไว้ได้หมดสิ้น

เมื่อสัตว์ชาติแรกเกิดนี้ ได้ตายลงมี กรรมชั่ว อย่างเดียว เป็น เหตุให้สัตว์ต้องเกิดอีก เพื่อให้สัตว์ต้อง ใช้หนี้ กรรมชั่วที่ได้ทำไว้ แต่สัตว์เกิดขึ้นมาแล้วหายอม ใช้หนี้เกิด กันไม่ มันกลับ เพิ่มหนี้ ให้เป็น เหตุเกิด ทวีคูณ ด้วยเพศผู้เพศเมียเกิดเป็น สุขุมรูป ติดอยู่ใน 5 กองนี้ เป็นทวีคูณจนปัจจุบันชาติ

ดังนั้น ด้วยอำนาจกรรมชั่วในสุขุมรูป 5 กอง ก็เกิดหมุนรวมกันเข้าเป็น รูปปรมาณูกลม คงรูปอยู่ได้ด้วยการหมุนรอบตัวเอง มิหยุดนิ่ง เป็นคูหาให้จิตใจได้อาศัยอยู่ข้างใน เรียกว่า รูปวิญญาณ หรือจะเรียกว่า รูปถอด ก็ได้ เพราะถอดมาจากนามระวางคั่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง ซึ่งเป็นสุขุมรูปแฝงอยู่ในความว่าง รูปวิญญาณ จึงมีชีวิตอยู่คงทนอยู่ ยืนนานกว่า รูปหยาบ มีกรรมชั่วคอยรักษาให้หมุนคงรูปอยู่ ไม่มีเทพเจ้าองค์ใดฆ่าให้ตายได้ นอกจาก นิพพาน เท่านั้น รูปวิญญาณจึงจะสลาย

ส่วนการแสดงกรรมของสัตว์ที่ประทับอยู่ในสุขุมรูป มีรูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย 5 กองนั้นรวมกันเข้าเรียกว่า จิต จึงมี สำนักงานจิต ติดอยู่ในวิญญาณ 5 กอง รวมกันเป็นที่ทำงานของ จิตกลาง แล้วไปติดต่อกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ภายนอก ซึ่งเป็นสื่อติดต่อของจิต ดังนั้น จิต กับ วิญญาณ จึงไม่เหมือนกัน จิตเป็นผู้รู้สึกนึกคิด ส่วนวิญญาณเป็นคูหาให้จิตได้อาศัยอยู่ และเป็นยานพาหนะพาจิตไปเกิด หรือจะไปไหนๆ ก็ได้ เป็นผู้รักษา สุขุมรูป รูปที่ถอดจากรูปหยาบ มีรูปเพศผู้ เพศเมีย รูป ตา หู จมูก ลิ้น กาย อยู่ในวิญญาณไว้ได้เป็นเหตุเกิดสืบภพต่อชาติ

เมื่อสัตว์ตาย ชีวิตร่างกายหยาบของภพภูมิชาตินั้นๆ ก็หมดไปตามอายุขัย (ของ) ชีวิตร่างกายหยาบของภูมิชาตินั้นๆ ส่วนชีวิตแท้ รูป ปรมาณู วิญญาณ จะไม่ตายสลายตาม จะต้องไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ ตามเหตุปัจจัยของวัฏฏะหมุนเวียนเปลี่ยนไปด้วย


ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณหมุนรอบตัวเอง นี้เอง เป็นเหตุให้จิตเกิดดับ สืบต่อ คอยรับเหตุการณ์ภายนอกภายในที่มากระทบ จะดีหรือชั่วก็สะสมเข้าไว้ เป็นทุน เหตุเกิด เหตุดับ หรือปรุงแต่งต่อไป จนกว่า กรรมชั่ว-เหตุเกิด จะหมดไป ชีวิตแท้-รูปถอดหรือวิญญาณ ก็จะหยุดการหมุน รูปสุขุม-รูปวิญญาณ ซึ่งเกิดมาจากกรรมชั่ว สืบต่อมาแต่ชาติแรกเกิด ก็จะสลายแยกออกจากกันไป คงรูปอยู่ไม่ได้ มันก็กระจายไป ส่วนกิจกรรมดี ธรรมะที่ติดอยู่กับวิญญาณ มันก็จะกระจายไปกับรูปปรมาณู คงเหลือแต่ความว่างที่คั่นช่องว่างของรูปปรมาณูทุกๆ ช่อง ฉะนั้น โดยปราศจากรูปปรมาณู ความว่างนั้น จึงบริสุทธิ์และสว่าง รวมเข้ากับความว่าง บริสุทธิ์ สว่าง ของจักรวาลเดิม เข้าเป็นหนึ่งเรียกว่า นิพพาน

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงสร้างชีวิตพระพุทธศาสนา ให้ก่อเกิดอย่างบริบูรณ์ดังพระประสงค์แล้ว พระพุทธองค์จึงได้ทรงเสด็จสู่อนุปาทิเสสนิพพาน (นิพพานไม่มีอุปาทิเหลือ, ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ คือสิ้นทั้งกิเลสและชีวิต) เป็นผู้หมดสิ้นทุกตัณหา เป็นผู้ดับรอบโดยลักษณาการแห่งอนุปาทิเสสนิพพานของพระพุทธองค์ก็คือ ลำดับแรก ก็เจริญฌานดิ่งสนิทเข้าไปจนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ หมายความว่า เข้าไปดับลึกสุดอยู่เหนือ อรูปฌาน

ในวาระแรกนั้น พระองค์ยังไม่ได้ดับขันธ์ต่างๆ ให้สิ้นสนิทเป็นเด็ดขาดแต่อย่างใด ยังเพียงเข้าไปเพื่อทรงกระบวนการแห่งการสู่นิพพาน หรือนิโรธ เป็นครั้งสุดท้ายแห่งชีวิต พูดง่ายๆ ก็คือสู่สิ่งที่พระองค์ได้ทรงสร้าง ได้ทรงพากเพียรก่อเป็นทาง เป็นแบบอย่างไว้ เป็นครั้งสุดท้ายเสียหน่อย ซึ่งเรียกได้ว่าสิ่งอันเกิดจากที่พระองค์ได้ยอมอยู่กับธุลีทุกข์ อันเป็นธุลีทุกข์ที่มนุษย์ธรรมดา (เป็น) ผู้ที่มีจิตหยาบเกินกว่าจะสัมผัสว่า มันเป็นทุกข์

นี่แหละ กระบวนการกระทำจิตตน ให้ถึงซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น เป็นกระบวนการที่พระอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า พระผู้เป็นยอดแห่งศาสดาในโลกเท่านั้นที่ทรงค้นพบ ทรงนำมาตีแผ่เผย แจ้งออกสู่สัตว์โลกให้พึงปฏิบัติตาม เมื่อทรงสิ่งซึ่งสุดท้ายนี้แล้ว จึงได้ถอยกลับมาสู่สภาวะต้น คือ ปฐมฌาน แล้วจึงได้ตัดสินพระทัยสุดท้าย เสด็จดับขันธ์ต่างๆ ไปทีละขันธ์ วิญญาณขันธ์แห่งชีวิต และร่างกายนั้น เพราะต้องดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรมชั้นแรกเสียก่อน วิญญาณขันธ์จึงได้ดับ ดังนั้น จึงไม่มีเชื้อใดเหลืออยู่แห่งวิญญาณขันธ์ที่หยาบนั้น

พระองค์เริ่มดับ สังขารขันธ์ หรือ สังขารธรรม ชั้นในสุดอีกที อันจะส่งผลให้ก่อ วิภวตัณหา ได้ชั้นหนึ่งเสียก่อน แล้วจึงได้เลื่อนเข้าสู่ ทุติยฌาน แล้วจึงดับ สัญญาขันธ์ เลื่อนเข้าสู่ ตติยฌาน เมื่อ พระองค์ดับสังขารขันธ์ หรือสังขารธรรม ชั้นในสุดอีกที ก็เป็นอันเลื่อนเข้าสู่ จตุตถฌาน คงมีแต่ เวทนาขันธ์ สุดท้ายแห่งชีวิต นั้นแล คือลักษณาการแห่งขั้นสุดท้ายของการจะดับสิ้นไม่เหลือ

เมื่อพระองค์ดับ สังขารขันธ์ หรือ สังขารธรรม ใหญ่สุดท้ายที่มีทั้งสิ้นแล้ว แล้วก็มาดับ เวทนาขันธ์ อันเป็น จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ ที่ในจิตส่วนในคือ ภวังคจิต เสียก่อน แล้วจึงได้ออกจาก จตุตถฌาน พร้อมกับมาดับ จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ สุดท้ายจริงๆ ของพระองค์เสียลงเพียงนั้น

นี่ พระองค์เข้าสู่นิพพานอย่างจริงๆ อยู่ตรงนี้ พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนดอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ นั่นคือ พระองค์ ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตปกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้งสติและสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดที่มาครอบงำอำพราง ให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์

เมื่อ เวทนาขันธ์ สุดท้ายแท้ๆ จริงๆ ได้ถูกทำลายลงอย่างสนิท จึงเป็นผู้บริสุทธิ์ หมดสิ้นแล้วซึ่งสังขารธรรม และหมดเชื้อ จิตขันธ์ หรือ นามขันธ์ ทั้งปวงใดๆ ในพระองค์ท่าน ไม่มีเหลือ คงทิ้งแต่ รูปขันธ์ อันจะมีชีวิตนั้นไม่ได้แน่ เพราะรูปไม่ใช่ชีวิตหากสิ้นนามเสียแล้ว ก็คือแท่ง คือก้อนวัตถุหนึ่ง เท่านั้นเอง

นั่นแล คือ ลำดับฌาน ที่พระอนุรุทธเถระเจ้าได้นำฌานจิตเข้าไปดู เป็นวิธีการดับโดยแท้ ดับโดยจริงโดยพระองค์เป็นผู้ดับเองเสียด้วย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 15:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ที่มา http://board.agalico.com


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 12 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร