วันเวลาปัจจุบัน 16 มิ.ย. 2024, 06:47  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 25 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม: อยากให้หลวงพ่อช่วยบอกคีย์เวิร์ดสำหรับการปฏิบัติธรรมค่ะ

ถ้ารู้สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน
เรียนให้แม่น รู้กายรู้ใจจนเห็นมันเป็นไตรลักษณ์
คีย์เวิร์ดอยู่ตรงนี้ รู้ทุกอย่างคือรู้กายรู้ใจตามที่เขาเป็น
รู้แล้วไม่เติมแต่งอะไรลงไป ใจไม่ปรุงต่อ ไม่ดิ้น

เราเห็นขันธ์ ๕ นี้ปรุงแต่งทั้งวันทั้งคืน แต่เราไม่ปรุงแต่งขันธ์ ๕
นี่ถึงจุดสุดท้ายของการปฏิบัติมันจะเป็นอย่างนี้นะ
ขันธ์ ๕ เขาก็ปรุงแต่งตามหน้าที่ของเขาเอง
ร่างกายเขาก็ต้องเคลื่อนไหว

เช่น หายใจเข้าหายใจออก มีธาตุไหลเข้าไหลออก
ร่างกายก็ทำหน้าที่ของกาย

เวทนาก็ทำหน้าที่ของเวทนา เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์เดี๋ยวเฉยๆ
สังขารก็ทำหน้าที่ของสังขาร เดี๋ยวเป็นกุศลบ้างเดี๋ยวเป็นอกุศลบ้าง
จิตก็ทำหน้าที่ของจิต

วิญญาณทำหน้าที่ของวิญญาณ เดี๋ยวก็รู้อารมณ์ที่ตา เดี๋ยวก็รู้ที่หู เดี๋ยวมารู้ที่ใจ
เขาทำหน้าที่ของเขา ไม่ก้าวก่ายไม่แทรกแซงเขานะ

รู้ขันธ์ รู้การทำงานของขันธ์ไปเรื่อยๆ ตามที่เขาทำ โดยที่เราไม่เติมแต่งอะไรลงไป

ฉะนั้นจิตใจมันปรุงแต่งไม่ใช่ปัญหา
จิตใจมีธรรมชาติที่ต้องคิดนึกปรุงแต่ง
เขาก็ปรุงแต่งไปตามธรรมชาติของเขา เราไม่แทรกแซงเขา
เพราะฉะนั้นจิตปรุงแต่งไม่มีปัญหา ปัญหาอยู่ที่เราไปปรุงแต่งจิต

เช่น จิตไม่สงบนี่ จิตเขาปรุงความฟุ้งซ่านของเขาขึ้นมา
เราก็พยายามปรุงแต่งความสงบขึ้นมา เพราะเราชอบสงบ เราไม่ชอบฟุ้งซ่าน
จริงๆ แล้วก็คือเราไม่ยอมรับความจริง

ไม่ยอมรับว่าขันธ์ ๕ โดยเฉพาะจิตน่ะเขาเป็นเอกเทศของเขาอยู่ ไม่ใช่ตัวเราหรอก
เราพยายามจะแทรกแซงพยายามบังคับตลอดเวลา
ตรงนี้แหละทำให้เราเนิ่นช้า ใจของเราเองปฏิเสธธรรมะ

ถ้าเราเห็นขันธ์เขาทำงานของเขาไป เขาไม่ใช่ตัวเรา
เขาทำงานได้เอง จิตเขาคิดนึกปรุงแต่งของเขาทั้งวันทั้งคืน
เขาทำของเขาเอง นี่ไม่ใช่ปัญหาเลย ไม่ต้องไปพยายามแก้ไข

ฉะนั้นจิตจะปรุงสุขปรุงทุกข์ปรุงกุศลอกุศลไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลสนใจ
สิ่งที่ควรจะตามรู้ตามดูไป เพียงแค่ตามรู้ตามดูมันไป

เห็นมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ มันทำงานของมันได้เอง มันไม่ใช่ตัวเราหรอก
เห็นอย่างนี้ อย่าไปช่วยมันทำงาน เช่น จิตเกิดราคะขึ้นมาก็ไปทำงานไปช่วยมัน
ราคะไม่ดี นี่เริ่มให้ค่า ราคะไม่ดี หาทางแก้ไขไม่ให้ราคะเกิด

พิจารณาอสุภะอะไรอย่างนี้ นี่ได้สมถะนะ ก็ดีเหมือนกันแต่ดีแบบสมถะ
ถ้าดีแบบวิปัสสนาก็คือเห็นจิตมันปรุงราคะ มันปรุงของมันเอง เราไม่ได้ช่วยมันปรุง
บทราคะจะมาราคะก็มา บทราคะจะไปราคะก็ไป

จิตปรุงโทสะขึ้นมา พวกเราไม่ชอบมัน ก็หาทางแก้ไข
เช่น พุทโธ พุทโธ โกรธหนอ โกรธหนออะไรขึ้นมา หรือเจริญเมตตาแก้มัน
แก้เป็นคราวๆ เพราะเราไม่ชอบโทสะ เราให้ค่านั่นเอง

สภาวธรรมเกิดขึ้นมาแล้ว เราชอบให้ค่าว่าอันนี้ดีอันนี้ไม่ดี อันนี้ถูกอันนี้ไม่ถูก
เมื่อให้ค่าแล้วก็แทรกแซง ดัดแปลงแก้ไข แทรกแซงไปเรื่อยๆ

หวังว่าวันหนึ่งขจัดความชั่วร้ายออกไปได้ถาวร จิตใจของเราจะได้มีความสุข
ได้มรรคผลนิพพาน ไม่ได้หรอก เกี่ยวอะไรกับมรรคผลนิพพาน

อยากได้มรรคผลนิพพานให้รู้ลงมาที่กาย รู้ลงมาที่ใจ จะเห็นเลยว่ามันไม่ใช่เราหรอก มันทำงานได้เอง เมื่อไรเห็นว่า

ขันธ์ ๕ กายใจไม่ใช่เรานั่นแหละพระโสดาบันล่ะ

ได้โสดาแล้วยังไง ก็ต้องไปถึงพระอรหันต์เข้าสักวันหนึ่ง
ฉะนั้นจุดแรกเลยนะ สำคัญมากเลย ต้องเป็นพระโสดาบันให้ได้
ชีวิตนี้อย่างต่ำต้องเป็นพระโสดาบันให้ได้ เพราะเราได้เจอศาสนาพุทธแล้ว
ถ้าตั้งเป้าน้อยกว่านี้ จะเอาแค่ความสุขความสงบนะ เรียกมักน้อยเกินไป
จะเป็นโสดาบันต้องรู้ว่าพระโสดาบันละความเห็นผิดว่ากายกับใจเป็นตัวเรา
ละความเห็นผิดได้เพราะเห็นความจริงว่ากายกับใจไม่ใช่ตัวเรา
เห็นความจริงได้เมื่อคอยรู้กายเมื่อคอยรู้ใจโดยไม่เข้าไปแทรกแซงเขา
ตัวที่แทรกแซงนะตัวสำคัญ


(จากเทศน์ที่สวนสันติธรรม วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ รอบแรก)


สันตินันท์
(พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช ในปัจจุบัน)







ถาม: เป็นน้องใหม่ด้านธรรมะ ขอความรู้ในด้านการดูจิตว่าทำอย่างไร


คำว่าดูจิตนั้น จริงๆ ไม่ใช่การดูจิตตรงๆ หรอกครับเพราะจิตนั้นเป็นผู้รู้อารมณ์ เราจะเอาจิตไปแสวงหาจิตไม่ได้หรอกคำว่าดูจิตที่พวกเรากล่าวกันนั้น ในความเป็นจริงคือการเจริญสติปัฏฐานในหมวดที่เรียกว่า เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานวิธีการก็คือ เมื่อเราเกิดความทุกข์ หรือความสุข หรือความรู้สึกเฉยๆ ก็ให้รู้ว่ากำลังเกิดอารมณ์อันใดเมื่อเกิดกิเลส เช่น ราคะ โทสะ ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ ความลังเลสงสัยความหงุดหงิดขัดใจ ความเบื่อหน่ายเกียจคร้าน ความอิจฉาริษยาความเมตตากรุณา ความสงบของจิตใจ ฯลฯ ก็ให้รู้สิ่งที่กำลังปรากฏนั้นเมื่อรู้แล้วอย่าไปเพ่งสิ่งที่เราไปรู้เข้า ให้รู้ไปอย่างสบายๆไม่ต้องอยากไปละมัน หรืออยากให้มันอยู่นานๆรู้มันไปธรรมดา เรื่อยๆ สบายๆก็จะเห็นว่ามันไม่คงที่ มันทนอยู่ได้ไม่นาน มันไม่ใช่เรา เพียงแต่เราไปรู้มันเข้าเท่านั้นฝึกมากเข้าก็จะรู้ชัดมากขึ้นว่า บางคราวจิตก็รู้อารมณ์เฉยๆบางคราวจิตก็ส่งกระแสออกไปยึดอารมณ์ ตามแรงผลักดันในจิตใจเราเองเมื่อยึดแล้ว ความอึดอัดเป็นทุกข์ก็จะตามมา ถ้ารู้เฉยๆ โดยไม่อยาก ก็ไม่ทุกข์หัดอย่างนี้ให้มากเข้านะครับแล้วเราจะค่อยๆ รู้ว่า ทุกข์เกิดได้อย่างไร พ้นไปได้อย่างไรและรู้ว่า จิตที่ไม่ทุกข์เป็นอย่างไร



๑๙ กันยายน ๒๕๔๒



ตอนที่ 52

รูปนามที่จำเป็นต้องรู้จัก

10. รูปนามที่จำเป็นต้องรู้จัก
การทำความรู้จักและทำความเข้าใจสภาวะของรูปนาม เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ปรารถนาจะเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนา เพราะถ้าไม่รู้จักรูปนามก็เท่ากับไม่มีแบบฝึกหัดในการทำวิปัสสนา ประเด็นที่เพื่อนนักปฏิบัติควรทราบมีดังนี้คือ

1. แม้ในภาคปริยัติจะกล่าวถึงรูปนามจำนวนมาก คือถ้าจำแนก ตามสภาวธรรมก็มีรูปนามถึง 71 อย่าง (คือจิต 1+เจตสิก 52+รูปแท้ 18) ถ้าจำแนกตามอุปาทานขันธ์ซึ่งเป็นกองทุกข์ก็มีรูปนามถึง 160 อย่าง (คือจิต 81+เจตสิก 51+รูป 28) แต่ถ้าจะจำแนกเพื่อการปฏิบัติ แค่เรียนรู้เพียง 12 อย่าง (หรือ 6 คู่) และแถมอีก 1 อย่าง รวมเป็น 13 อย่างก็พอแล้ว

2. สภาวธรรม 6 คู่ ได้แก่
คู่ที่ 1 คือตา กับรูป ตาได้แก่ประสาทตาซึ่งรู้ได้ด้วยใจว่ามีอยู่ (ไม่ต้องผ่าตัดนำประสาทตาออกมาดู) ส่วนรูปที่ตาเห็นนั้นเอาเข้าจริงก็คือสีเท่านั้นเอง แต่ที่เห็นเป็นรูปคน รูปสัตว์นั้น เป็นสมมุติบัญญัติหรือคำเรียกขาน อันเกิดจากความจำได้ว่าสีที่ตัดกันเป็นทรวดทรงอย่างนี้ชาวโลกเขาเรียกกันว่ารูปอะไร ดังนั้นเมื่อตาเห็นรูป ให้รู้ว่าเป็นรูปก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ารูปอะไร เพราะ "รูปอะไร" เป็นสมมุติบัญญัติ

คู่ที่ 2 คือหู กับเสียง หูได้แก่ประสาทหูซึ่งรู้ได้ด้วยใจว่ามีอยู่ ส่วนเสียงที่หูได้ยินเป็นคลื่นเสียงในความถี่สูงๆ ต่ำๆ นั่นคือเสียงจริงๆ แต่ที่ฟังว่าเป็นเสียงคน เสียงสัตว์นั้น เป็นสมมุติบัญญัติหรือคำเรียกขาน อันเกิดจากความจำได้ว่าเสียงที่ได้ยินนั้นชาวโลกเขาเรียกกันว่าเสียงอะไร ดังนั้นเมื่อหูได้ยินเสียง ให้รู้ว่าเป็น (รูป) เสียงก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าเสียงอะไร เพราะ "เสียงอะไร" เป็นสมมุติบัญญัติ

คู่ที่ 3 คือจมูก กับกลิ่น จมูกได้แก่ประสาทจมูกซึ่งรู้ได้ด้วยใจว่ามีอยู่ กลิ่นที่ประสาทจมูกรับรู้นั้นเป็นเพียงสักว่ากลิ่น แต่ที่ว่ากลิ่นหอม กลิ่นเหม็น กลิ่นดอกกุหลาบ กลิ่นศพนั้น เป็นสมมุติบัญญัติหรือคำเรียกขาน อันเกิดจากความจำได้ว่ากลิ่นอย่างนี้ชาวโลกเขาเรียกกันว่ากลิ่นอะไร ดังนั้นเมื่อจมูกได้กลิ่น ให้รู้ว่าเป็น (รูป) กลิ่นก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ากลิ่นอะไร เพราะ "กลิ่นอะไร" เป็นสมมุติบัญญัติ

คู่ที่ 4 คือลิ้น กับรส ลิ้นได้แก่ประสาทลิ้นซึ่งรู้ได้ด้วยใจว่ามีอยู่ รสที่ลิ้นรู้เป็นสักว่ารส แต่ที่ว่ารสเปรี้ยว รสหวาน รสมะม่วง รสมะนาวนั้น เป็นสมมุติบัญญัติหรือคำเรียกขาน อันเกิดจากความจำได้ว่ารสอย่างนี้ชาวโลกเขาเรียกกันว่ารสอะไร ดังนั้นเมื่อลิ้นรับรส ให้รู้ว่าเป็น (รูป) รสก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ารสอะไร เพราะ "รสอะไร" เป็นสมมุติบัญญัติ

คู่ที่ 5 คือกาย กับโผฏฐัพพะ (สิ่งที่มากระทบกาย) โผฏฐัพพะมีหลายอย่างคือ ธาตุไฟหรือความเย็น/ร้อน ธาตุดินหรือความอ่อน/แข็ง และธาตุลมหรือความตึง/ไหว แต่ที่ว่ากายถูกแดด ถูกฝน ถูกยุงกัด ถูกคนต่อย ถูกลมพัดนั้น เป็นสมมุติบัญญัติหรือคำเรียกขาน อันเกิดจากความจำได้ว่าสิ่งสัมผัสกายอย่างนี้ชาวโลกเขาเรียกกันว่าอะไร ดังนั้นเมื่อกายกระทบโผฏฐัพพะ ให้รู้ว่าเป็น (รูป) เย็นร้อน (รูป) อ่อนแข็ง (รูป) ตึงไหวก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องรู้ว่าสิ่งใดมากระทบเพราะ "สิ่งใดๆ" นั้นเป็นสมมุติบัญญัติ

คู่ที่ 6 คือใจ กับธัมมารมณ์ (สิ่งที่มากระทบใจ) ธัมมารมณ์มีหลากหลายที่สุด ได้แก่ (1) รูปบางอย่าง (เช่นรูปยืนเดินนั่งนอนคู้เหยียด) (2) จิตทั้งหมด (3) เจตสิกทั้งหมด (๔) บัญญัติ และ (5) นิพพาน ส่วนใจก็คือจิตชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่รู้ธัมมารมณ์นั่นเอง ในเวลาทำวิปัสสนาสิ่งที่ผู้ปฏิบัติควรรู้เบื้องต้น ได้แก่รูปยืน เดิน นั่ง นอน คู้ เหยียด ตลอดจนความรู้สึกทางใจทั้งหลายอันเป็นอารมณ์ ปรมัตถ์ เช่นความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกโลภ ความรู้สึกหลง ความรู้สึกฟุ้งซ่าน ความรู้สึกหดหู่ เป็นต้น

นอกจากนี้ควรจำแนกให้ออก ถึงความคิดหรือสมมุติบัญญัติที่เกิดตามหลังการรู้รูปและตามหลังการรู้ความรู้สึก เช่นพอรู้รูปอย่างหนึ่งก็เกิดความคิดบรรยายว่า "นี่คือรูปนั่งไม่ใช่เรานั่ง" เป็นต้น หรือพอรู้สึกโกรธก็อาจจะเกิดความคิดว่า "นี่คือความโกรธไม่ใช่เราโกรธ" หรือเกิดการคิดนึกไปตามอำนาจของความโกรธเช่น "คิดถึงคนที่ทำให้โกรธ" เป็นต้น สมมุติบัญญัติเหล่านี้ไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อการทำวิปัสสนา แต่ก็ควรปล่อยมันไป อย่าพยายามห้ามไม่ให้มันเกิดขึ้นหรือพยายามละมัน เพราะสมมุติบัญญัติก็เป็นอนัตตาคือห้ามไม่ได้บังคับไม่ได้ เอาแค่รู้ทันแล้วไม่หลงจนมันปิดบังอารมณ์ปรมัตถ์ก็พอแล้ว ถึงจุดหนึ่งมันจะดับไปเองถ้าเราไม่ไปช่วยมันปรุงแต่ง
(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/จิต)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 53

จิต

3. จิต สิ่งสำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งที่ต้องรู้ก็คือจิต เพราะลำพังรูปนามทั้ง 6 คู่กระทบกันยังไม่มีความหมายอะไร แต่สิ่งที่ไปรู้การกระทบ แล้วปรุงแต่งเป็นกุศลและอกุศลคือจิต ดังนั้นไม่ว่าจะเจริญสติปัฏฐาน 4 อย่างใดก็ต้องรู้จักจิตทั้งสิ้น จะปฏิเสธความสำคัญของจิตไม่ได้เลย

จิตมีลักษณะอย่างเดียวคือเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ แต่ในภาคปริยัติจำแนกจิตออกไปถึง 89/121 ดวง และกล่าวถึงการทำหน้าที่ของจิตไว้กว้างขวางมากถึง 14 ประการคือ ปฏิสนธิ (เกิด) ภวังค์ จุติ(ตาย) รำพึงถึงอารมณ์ทางกายทวารทั้ง 5 รู้รูป รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัสทางกาย รับอารมณ์ พิจารณาอารมณ์ ตัดสินอารมณ์ เสวยอารมณ์ทางใจ และหน่วงอารมณ์ สำหรับผู้ปฏิบัติไม่ต้องเรียนมากมายถึงขนาดนั้นก็ได้ เบื้องต้นให้รู้จักจิตเพียง 2 กลุ่มก็พอ คือ (1) จิตที่ทำหน้าที่รู้อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ หรือที่เรียกว่าวิญญาณจิต และ (2) จิตที่ทำหน้าที่เสวยอารมณ์หรือที่เรียกว่าชวนจิต (อ่านว่า ชะวะนะ จิต) ซึ่งเป็นกุศลจิตและอกุศลจิตต่างๆ

คือเมื่อจิตรู้อารมณ์ทางตาทางหูเป็นต้นแล้ว จิตมักจะเกิดกุศลบ้างอกุศลบ้าง เช่นเมื่อตาเห็นรูปที่สวยงาม จิตรู้รูปด้วยตาแล้ว จิตก็เกิดความยินดีพอใจ เมื่อได้ยินเสียงที่ไม่น่าฟัง จิตรู้เสียงด้วยหูแล้ว จิตก็เกิดความยินร้ายเป็นต้น พูดอย่างง่ายๆ ก็คือเมื่อตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสิ่งสัมผัสทางกาย และใจกระทบธัมมารมณ์แล้ว หากจิตเกิดปฏิกิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดเช่นความยินดียินร้าย ก็ให้รู้เท่าทันความยินดียินร้ายนั้นอีกชั้นหนึ่ง เพราะการที่จิตไปหลงยินดียินร้ายในอารมณ์ ทำให้จิตเป็นทุกข์ หากจิตพ้นความยินดียินร้าย คือเป็นกลางต่ออารมณ์ จิตก็ใกล้ต่อความพ้นจากทุกข์

เพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากมักคิดว่าจิตเที่ยง หรือคิดว่าจิตมีอยู่ดวงเดียว เดี๋ยวก็วิ่งไปรู้อารมณ์ทางตา เดี๋ยวก็วิ่งไปรู้อารมณ์ทางหู เดี๋ยวก็วิ่งมารู้อารมณ์ทางใจ คล้ายกับจิตเป็นแมงมุมที่เฝ้ารอเหยื่ออยู่กลางใย พอมีแมลง (อารมณ์) มากระทบใย (ทวาร) ทางใด ก็วิ่งไปเสพย์แมลง (อารมณ์) ทางนั้น เสพย์แล้วก็กลับมานอนรอเหยื่อครั้งต่อไปอีก เพราะการคิดว่าจิตมีดวงเดียวนี้เอง พอเพื่อนนักปฏิบัติพบว่าจิตหลงไปรู้อารมณ์ทางตา ทางหู .. ทางใจ ก็มักจะพยายามดึงจิตคืนกลับเข้าฐาน ผลก็คือเกิดความอึดอัดทางจิตใจ แต่ถ้าผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกว่าจิตเป็นของที่เกิดดับๆ ก็จะไม่หลงผิดว่าจิตเที่ยง และไม่คิดหวงแหนจิตด้วย เช่น ทราบว่าจิตที่รู้รูปทางตาก็ดวงหนึ่ง จิตที่หลงเพลินไปกับรูปก็ดวงหนึ่ง จิตที่รู้ว่ากำลังหลงรูปก็ดวงหนึ่ง จิตที่อยากจะรู้ตัวและไม่หลงรูปก็ดวงหนึ่ง จิตที่ทำกรรมคือจงใจดึงความรู้สึกกลับมาที่ตนเองก็ดวงหนึ่ง เป็นต้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้การปฏิบัติจะราบรื่นขึ้นอีกมากทีเดียว พ่อแม่ครูอาจารย์รูปหนึ่งคือหลวงปู่หล้าเขมปัตโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร ท่านเคยสอนไว้ว่า "ผู้ที่เห็นว่าจิต (ผู้รู้) เที่ยงยังเป็นมิจฉาทิฏฐิอยู่ แท้จริงแล้วจิตเกิดดับรวดเร็วมาก"

4. วิธีทำความรู้จักรูปนามมี 2 วิธีคือ

4.1 การศึกษาเรื่องสภาวธรรม 72 ในภาคปริยัติ ประกอบด้วยจิต 1 เจตสิก 52 รูปแท้ 18 และนิพพาน 1 เรื่องนี้ท่านใดสนใจขอให้ศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง แต่ศึกษาแล้วต้องนำความรู้มาเทียบเคียงให้เห็นสภาวะจริงๆ ของรูปนามจึงจะลงมือปฏิบัติได้

4.2 การใช้สติปัญญาสังเกตรูปนามในภาคปฏิบัติ เรื่องนี้ผู้เขียนจะได้กล่าวไว้ในหัวข้อการเจริญวิปัสสนาตามความเข้าใจของผู้เขียนต่อไป

เมื่อรู้จักวิธีการปฏิบัติตามกิจในอริยสัจจ์และสติปัฏฐาน และรู้จักสภาวะของรูปนามอันเป็นภาคปริยัติแล้ว คราวนี้ก็ถึงขั้นการลงมือปฏิบัติจริงได้แล้ว

ตอนที่ 54

การเจริญวิปัสสนาตามความเข้าใจของผู้เขียน

11. การเจริญวิปัสสนาตามความเข้าใจของผู้เขียน
1. การทบทวนความเข้าใจเกี่ยวกับหลักของการเจริญวิปัสสนา

ผู้ปฏิบัติธรรมพึงปฏิบัติเพื่อให้เห็นธรรม ผู้เห็นธรรมคือพระโสดาบัน และพระโสดาบันคือผู้ที่ทำลายสักกายทิฏฐิหรือความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 หรือรูปนาม หรือกายใจ เป็นตัวตนของตนลงได้

จะทำลายความเห็นผิดเกี่ยวกับรูปนามก็ต้องมีความเห็นถูก จะมีความเห็นถูกก็ต้องตามรู้ตามเห็นรูปนามไปตามความเป็นจริงของรูปนาม (โดยไม่มีการดัดแปลงการรับรู้ และไม่แทรกแซงหรือดัดแปลงรูปนามด้วย) จึงจะเห็นความเป็นจริงได้ว่ารูปนามไม่ใช่ตัวตนของตน กระบวนการตามรู้รูปนามตามความเป็นจริงนี้เองคือสิ่งที่เรียกว่า การเจริญวิปัสสนา

แท้จริงการเจริญวิปัสสนาไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรนัก ไม่จำเป็นต้องไปสรรค์สร้างอุบายวิธีอะไรให้ยุ่งยาก เพียง (1) รู้จักรูปนาม และ (2) มีเครื่องมือสำคัญ 2 ประการคือ ต้องมีสติระลึกรู้รูปหรือนามที่กำลังปรากฏ และต้องมีสัมปชัญญะหรือปัญญาเข้าใจความเป็นจริงของรูปหรือนามนั้นได้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้

จะรู้จักรูปนามก็ต้องศึกษาพระปริยัติสัทธรรม หรือฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ที่สอนได้ตรงตามพระปริยัติสัทธรรม โดยต้องศึกษาหรือฟังด้วยความใส่ใจใคร่ครวญซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนสามารถจำแนกได้ว่าสิ่งที่ประกอบขึ้นเป็น "ตัวเรา" ได้แก่รูปธรรมกับนามธรรมชนิดใดบ้าง และที่สำคัญมากภายหลังการศึกษาภาคปริยัติก็คือ ต้องหัดสังเกตสภาวะจริงของรูปนามที่กำลังปรากฏให้ได้ด้วย จึงจะสามารถเจริญวิปัสสนาได้จริง

สำหรับสติจะเกิดขึ้นได้เองหากรู้จักหรือจดจำสภาวะของรูปนามได้แม่นยำ ไม่ใช่จงใจหรือพยายามตั้งสติขึ้นด้วยอำนาจของตัณหา

ส่วน (ภาวนามย) ปัญญาจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัย (1) สัมมาสมาธิ (ธรรมเอก/เอโกทิภาวะ) คือความตั้งมั่นของจิต (อันเป็นสภาวะที่จิตไม่หลงไปตามอารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6 และมีลักษณะเป็นความรู้สึกตัว) เป็นเครื่องสนับสนุน (จะกล่าวถึงวิธีการสร้างความรู้สึกตัวในหัวข้อถัดไป) และมี (2) โยนิโสมนสิการ คือการมองรูปนามได้ตรงมุมที่พระ พุทธเจ้าทรงสอนไว้ ไม่ใช่คิดฟุ้งซ่านในธรรมเอาเองตามอำนาจของทิฏฐิ

จากนั้นจึงลงมือปฏิบัติโดย (1) มีสติตามระลึกรู้รูปหรือนามที่กำลังปรากฏ (จัดเป็นการรู้ทุกข์) ซึ่งการรู้รูปนามนั้นให้รู้ด้วยเครื่องมือคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ธรรมดาๆ ซึ่งมีกันอยู่แล้ว (2) ต้องรู้ด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิ อันได้แก่จิตที่มีความตั้งมั่น รู้สึกตัว สงบระงับ เบา อ่อน ควรแก่การงาน ว่องไว และซื่อตรงปราศจากการครอบงำของตัณหา (คือเป็นจิตที่มีสติรู้อารมณ์อย่างเที่ยงธรรม ไม่ใช่รู้เพราะอยากจะรู้หรือ รู้โดยมีการดัดแปลงจิตหรืออารมณ์ให้มีอาการผิดแปลกไปจากธรรมดา) และปราศจากการครอบงำของทิฏฐิ (คือต้องเจริญปัญญาโดยมีสภาวธรรมคือรูปนาม/กายใจเป็นเครื่องรองรับ ไม่ใช่เที่ยวคิดนึกพิจารณาธรรมเอาเองเหมือนฝันกลางอากาศ และจะต้องไม่เอาความคิดความเห็นสอดแทรกเข้าไปในการรู้นั้นด้วย) และ (3) ต้องมีโยนิโสมนสิการเป็นเครื่องกำกับเส้น คือรู้รูปนามได้ตรงมุมที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เช่นรู้ว่ากิจต่อรูปนามคือการรู้ ไม่ใช่การละหรือการทำอย่างอื่น (เมื่อใดไม่ยอมรู้รูปนาม หรือรู้แล้วพยายามละรูปนามที่ไม่ดี หรือแม้กระทั่งพยายามรักษารูปนามที่ดี ก็ต้องเฉลียวใจว่าปฏิบัติผิดไปแล้ว) และต้องมองให้ตรงมุมเพื่อให้เห็นว่าเราไม่มี มีแต่รูปนาม และรูปนามไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา และมีความเกิดดับ แล้วตามรู้รูปนามไปจนกว่าจะเกิดปัญญารู้ลักษณะของรูปนามนั้นได้ตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นไตรลักษณ์ แล้วปล่อยวางความถือมั่นในรูปนามเสียได้

จะเห็นได้ว่าการเจริญวิปัสสนาไม่ใช่เรื่องที่ลึกลับซับซ้อนอะไรนัก หากผู้ปฏิบัติมีสัมมาทิฏฐิคือเข้าใจหลักของการเจริญวิปัสสนา และสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงเพราะมีสติ สัมมาสมาธิ และโยนิโสมนสิการ แล้ว แม้เดินอยู่ตามถนน หรือนั่งอยู่บนรถประจำทาง ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้แล้ว (หากขาดสติเสียอย่างเดียวก็คือขาดการปฏิบัติ ไม่มีทั้งสมถะและวิปัสสนา แม้จะเดินจงกรมหรือนั่งสมาธิอยู่ตลอดทั้งคืน ก็กล่าวไม่ได้ว่ากำลังปฏิบัติธรรมอยู่ หากมีสติแต่ขาดสัมมาสมาธิ จิตก็จะน้อมไปสู่การเพ่งจ้องและไม่เกิดปัญญา และหากขาดโยนิโสมนสิการ การปฏิบัติก็จะผิดพลาดได้ง่ายและเสียเวลามาก)

เมื่อจับหลักของการปฏิบัติได้แม่นยำแล้ว คราวนี้ก็ถึงขั้นการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งมีอยู่ 2 ขั้นตอนคือ (1) ขั้นเตรียมความพร้อมของจิต และ 2) ขั้นรู้รูปนามด้วยจิตที่พร้อมแล้ว

ตอนที่ 55

การสร้าง "ความรู้สึกตัว"

2. การเตรียมความพร้อมของจิตด้วยการสร้าง "ความรู้สึกตัว"

ก่อนการเจริญวิปัสสนาหรือปัญญาสิกขา ผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องมีสัมมาสมาธิอันเกิดจากจิตสิกขา หากศึกษาพระสูตรจำนวนมาก จะพบคำสอนเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของจิตหรือจิตสิกขาก่อนการเจริญ วิปัสสนา ด้วยการเจริญสัมมาสมาธิจนถึงระดับจตุตถฌาน (รูปฌานที่ 4) จนกระทั่ง "ภิกษุนั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่อญาณทัสนะ" นี้คือสภาวะของจิตที่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมนั่นเอง สภาวะเช่นนี้จำเป็นมากสำหรับการเจริญวิปัสสนา แต่ผู้ปฏิบัติรุ่นหลังๆ มักละเลยที่จะเรียนรู้เรื่องจิตสิกขา แล้วใช้จิตที่ไม่มีสัมมาสมาธิ (คือไม่ผ่องแผ้ว เจือด้วยตัณหาและทิฏฐิ แข็งกระด้าง ไม่ควรแก่การงาน ไม่ตั้งมั่นสักว่ารู้อารมณ์) ไปเจริญวิปัสสนา ผลก็คือไม่สามารถระลึกรู้รูปนามได้ตรงตามความเป็นจริง กลายเป็นหลงเพ่งจ้องหรือควบคุมบังคับจิตและอารมณ์ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

อย่างไรก็ตาม ยังมีวิธีการอีกอย่างหนึ่งในการสร้างความพร้อมของ จิต สำหรับผู้ที่ไม่สามารถทำฌานได้ ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า การสร้างความรู้สึกตัว สภาวะของความรู้สึกตัวนั้น เป็นอันเดียวกับสภาวะจิตของผู้ที่เพิ่งผ่านการเจริญจตุตถฌานมาแล้ว คือจิตเป็นสมาธิ ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว

อาจกล่าวได้ว่า การทำจตุตถฌาน เป็นวิธีสร้างความพร้อมในการเจริญวิปัสสนาของสมถยานิก ส่วนการสร้างความรู้สึกตัว ก็เป็นวิธีสร้างความพร้อมในการเจริญวิปัสสนาของวิปัสสนายานิก

ผู้ปฏิบัติธรรมจะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานไม่ได้ ถ้าขาดความรู้สึกตัว

เมื่อพูดถึงความรู้สึกตัวผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยากมาก เพราะทุกคนมักคิดว่าตนเองรู้สึกตัวอยู่แล้ว ทั้งที่ในโลกนี้จะหาคนที่รู้สึกตัวจริงๆ ได้ยากเต็มที มีแต่คนที่กำลังฝันทั้งที่ตื่นเป็นส่วนมาก หากถูกสะกิดเตือนว่ากำลังฝันอยู่ก็มักงง หรือโกรธไปเลย

ความรู้สึกตัวเป็นสิ่งตรงข้ามกับความหลงหรือความไม่รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนั้นสร้างขึ้นมาโดยตรงไม่ได้ ต้องรู้ทันความหลงหรือความไม่รู้สึกตัว จึงจะเกิดความรู้สึกตัวขึ้นได้โดยง่าย

ถ้าจะพูดถึงสภาวะทางจิตใจของความไม่รู้สึกตัวก็กล่าวได้ว่า คือสภาวะที่ (1) เมื่อตาเห็นรูป-จิตก็หลงไปกับรูป (2) เมื่อหูได้ยินเสียง-จิตก็หลงไปกับเสียง (3) เมื่อจมูกได้กลิ่น-จิตก็หลงไปกับกลิ่น (4) เมื่อลิ้นรู้รส-จิตก็หลงไปกับรส (5) เมื่อกายสัมผัสความเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหว-จิตก็หลงไปกับสิ่งสัมผัสทางกาย และ (6) เมื่อใจคิดนึกปรุงแต่ง-จิตก็หลงไปกับความคิดนึกปรุงแต่ง

ลองหัดสังเกตจิตใจของตนเองดูก็ได้ ว่ามันหลง/ไหลไปอย่างไร เช่นเมื่อมองเห็นคนคนหนึ่งเดินมา เราเกิดความสนใจคนคนนั้น เราเอาแต่จ้องมองคนๆนั้นอย่างลืมตัว จิตของเราก็จะเลื่อนไหลไปเกาะเกี่ยวจมแช่อยู่กับคนคนนั้น เห็นแต่คนคนนั้น แต่ลืมรู้ทันกาย ลืมรู้ทันใจของตนเอง

เมื่อได้ยินเสียงคนนินทากัน จิตของเราก็หลง/ไหลไปจดจ้องคอย ตั้งใจฟังเสียงนั้นเพื่อฟังให้รู้ความ เราได้ยินเสียงนั้น และรู้ความหมายของสิ่งที่เขาพูด แต่ลืมรู้ทันกาย ลืมรู้ทันใจของตนเอง

เมื่อจิตใจทำงานต่างๆ เช่นคิด เพ่งอารมณ์ หรือใจลอย เรารู้เรื่องที่คิดโดยไม่รู้ว่ากำลังคิดอยู่ เรารู้สิ่งที่จิตเพ่ง (เช่นลมหายใจ มือเท้า ท้อง) โดยไม่รู้ว่ากำลังเพ่งอยู่ เราใจลอยคือจับอารมณ์ได้ไม่ชัดเจน โดยไม่รู้ว่ากำลังใจลอยอยู่ หรือเมื่อจิตเกิดความรู้สึกสุข ทุกข์ โลภ โกรธ หลง เราเพลินกับความสุขโดยไม่รู้ว่ากำลังสุขอยู่ เราเกลียดชัง ความทุกข์หรือพยายามละทุกข์โดยไม่รู้ว่ากำลังปฏิเสธทุกข์อยู่ เราคิดถึงคนที่เรารักโดยไม่รู้ว่ากำลังมีความรู้สึกรักอยู่ เราคิดถึงคนที่เราเกลียดโดยไม่รู้ว่ากำลังมีความรู้สึกเกลียดอยู่ เป็นต้น

แต่เมื่อใดเกิดสติรู้ทันว่าจิตกำลังหลงไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์ เมื่อนั้นความรู้สึกตัวทั่วพร้อมจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ (อ่านเพิ่มเติมในหนังสือวิถีแห่งความรู้แจ้ง ข้อ 6.2)

ตอนที่ 56

จิตที่รู้สึกตัวทั่วพร้อม

จิตที่รู้สึกตัวทั่วพร้อม มีลักษณะดังนี้คือ (1) เป็นจิตที่ตั้งมั่นเป็นตัวของตัวเอง มีความสงบระงับอยู่ตามธรรมดา (มีสัมมาสมาธิ) โดยไม่หลงเพลินไปกับอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 และไม่หลงเพ่งตรึงความรู้สึกให้แนบแน่นอยู่กับกายหรือใจ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (2) เป็นสภาวะรู้ที่ปลอดโปร่ง เบา รู้สบายๆ รู้กว้างครอบคลุม คือถ้ารู้กายก็รู้สบายๆ ทั้งกาย เหมือนที่รู้สึกถึงความสบายทั่วกายหลังจากเพิ่งอาบน้ำมาใหม่ๆ ถ้ารู้จิตก็รู้อย่างปลอดโปร่งโล่งเบาเหมือนคนไม่มีภาระใดๆ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่สภาวะรู้ที่เบาหวิวหรือเคลิบเคลิ้มเลื่อนลอย และไม่ถึงขั้นรู้ตัวชัดกริบด้วยสติที่แข็งเกินควร (3) เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้จงใจทำให้เกิดขึ้น เพียงมีสติรู้ทันความหลงก็เกิดจิตที่รู้สึกตัวขึ้นได้แล้ว แต่หากจงใจรู้สึกตัว จะเป็นความรู้สึกตัวอย่างแข็งๆ หนักๆ นำไปใช้ประโยชน์ ในการเจริญวิปัสสนาไม่ได้จริง

จิตที่รู้สึกตัวทั่วพร้อมสามารถมีสติอัตโนมัติขึ้นมารับรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏอย่างสักว่ารู้ (มีสัมมาสติ) คือรู้โดยไม่ต้องตั้งใจจะรู้ และเมื่อรู้แล้วก็ไม่ถูกอารมณ์ชักพาให้หลงลืมตัว หรือไม่หลงปรุงแต่งความคิดขึ้นมา หรือแม้ความคิดเกิดขึ้น ก็สามารถทรงความรู้ตัวอยู่ได้โดยไม่หลงตามความคิดไป ทำให้สมมุติบัญญัติไม่สามารถปิดบังอารมณ์ปรมัตถ์ (รูปนาม) ได้ จิตที่รู้สึกตัวจึงสามารถรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้ ในขณะที่จิตหลงไม่สามารถรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้ จะรู้ได้เพียงอารมณ์บัญญัติเท่านั้น และเมื่อจิตรู้อารมณ์ปรมัตถ์ได้แล้ว ก็ย่อมสามารถรู้รูปนามทั้งหลายได้ตรงตามความเป็นจริง จนเกิดภาวนามยปัญญาอันเป็นสัมมาทิฏฐิได้ในที่สุด

สรุปแล้ว ถ้าจะให้จิตเกิดความรู้สึกตัว ก็ให้ใช้สติรู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่น หรือจิตที่หลง/ไหลไปตามอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 (หลวงปู่ดูลย์ ท่านเรียกว่า จิตส่งออกนอก ซึ่งก็คือจิตที่หลงทะยานไปยึดอารมณ์ด้วยอำนาจของตัณหา 6 นั่นเอง) เมื่อรู้ทันแล้ว จิตจะเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อมและตั้งมั่นอย่างเป็นธรรมชาติธรรมดาที่สุดโดยอัตโนมัติ (ไม่เหมือนความรู้สึกตัวที่แกล้งทำขึ้นด้วยอำนาจของตัณหา ซึ่งจะมีอาการแข็งๆ ทื่อๆ ผิดธรรมดาอย่างยิ่ง) เป็นสภาพรู้ ตื่น เบิกบาน เบา สบาย ประกอบด้วยโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนา และเป็นตัวของตัวเองอย่างยิ่ง แต่สภาวะอันนี้ก็ทรงอยู่ได้เพียงชั่วขณะ เพราะเป็นความตั้งมั่นด้วยขณิกสมาธิ แล้วจิตก็จะหลงอารมณ์อีก ก็ให้รู้ทันอีก

หัดตามรู้ทันบ่อยๆ เข้า จิตจะจดจำสภาวธรรมต่างๆ ได้มากขึ้นๆ เช่นรู้ว่า หลงดูเป็นอย่างนี้ หลงฟังเป็นอย่างนี้ หลงเหม่อเป็นอย่างนี้ หลงคิดเป็นอย่างนี้ หลงตั้งท่าปฏิบัติเป็นอย่างนี้ หลงหาว่าจะดูอารมณ์ (ทางใจ) อะไรดีเป็นอย่างนี้ หลงเพ่งเป็นอย่างนี้ หลงแทรกแซงจิตและอารมณ์เป็นอย่างนี้ ฯลฯ ทั้งยังจะรู้จักอารมณ์ในฝ่ายรูปธรรมนามธรรมอื่นๆได้ด้วย เช่นรูปยืนเป็นอย่างนี้ อาการหลงว่าเรายืนเป็นอย่างนี้ รูปนั่งเป็นอย่างนี้ อาการหลงว่าเรานั่งเป็นอย่างนี้ ความสุขเป็นอย่างนี้ อาการหลงว่าเราสุขเป็นอย่างนี้ ความทุกข์เป็นอย่างนี้ อาการหลงว่าเราทุกข์เป็นอย่างนี้ ความโกรธเป็นอย่างนี้ อาการที่จิตหลง/ไหลไปตามความโกรธจนกลายเป็นเราโกรธเป็นอย่างนี้ เป็นต้น

ยิ่งจิตรู้จักและจดจำสภาวธรรมได้มากและแม่นยำ สติจะยิ่งเกิดได้เร็วขึ้นๆ และปัญญาจะรู้ทันสภาวธรรมเหล่านั้นเนืองๆ จนเกิดความรู้จริง และรู้ปล่อยวางได้ในที่สุด ดังนั้นผู้ที่หัดสร้างความรู้สึกตัว ด้วยวิธีการมีสติรู้ทันความหลงของจิตที่หลง/ไหลไปทางทวารทั้ง 6 จึงสามารถ เจริญวิปัสสนาต่อไปได้เลย (ไม่เหมือนการทำฌาน ที่ต้องทำฌานก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาด้วยจิตที่ตั้งมั่นในภายหลัง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 57
จิตที่รู้สึกตัวพร้อม

แบบฝึกหัดให้จิตเกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม
ลองฝึกบ่อยๆ ไม่นานก็จะเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนกล่าว

1. ลองสังเกตจิตใจตนเองในเวลาที่มองเห็นอะไรบางอย่างที่น่าสนใจ จะพบว่าจิต (ของเรา) ทะยานหลงไปเกาะกับภาพนั้น จนลืมความรู้สึกตัว หรือจะลองเพ่งนิ้วหัวแม่มือตนเองสักครู่หนึ่ง แล้วค่อยสังเกตรู้ทันจิตที่ไหลไปเกาะอยู่ที่นิ้วหัวแม่มือก็ได้

2. ลองสังเกตจิตใจตนเองในเวลาคิด จะพบว่าเรารู้เรื่องที่คิด แต่ไม่รู้ทันว่าจิตกำลังคิดอยู่ เป็นการหลงไปในโลกของความคิด จนลืมความรู้สึกตัว

3. ลองกำหนดลมหายใจ หรือกำหนดท้องพองยุบ หรือกำหนดการยกเท้าย่างเท้า ไปสักช่วงหนึ่ง แล้วสังเกตดูจิตใจที่หลง/ไหลไปจมแช่อยู่กับลมหายใจ หรืออาการพองยุบ หรืออาการยกย่าง จนลืมความรู้สึกตัว

(แบบฝึกหัดข้อ 1-3 เป็นการฝึกให้รู้ทันความไม่ตั้งมั่นของจิต เมื่อรู้ทันแล้ว จิตจะเกิดความตั้งมั่น (ขณิกสมาธิ) ได้เอง)

4. ลองสุ่มสังเกตความรู้สึกของตนเองเป็นระยะๆ (แต่ห้ามจ้องดู ตลอดเวลาเพราะจะกลายเป็นการเพ่งจ้องที่ผิดธรรมชาติไป) แล้วรู้ว่า เมื่อกี้นี้เผลอ เมื่อกี้นี้คิด เมื่อกี้นี้เพ่ง เมื่อกี้นี้โกรธ เมื่อกี้นี้โลภ เมื่อกี้นี้หดหู่ ฯลฯ ขณะนี้ยืน ขณะนี้เดิน ขณะนี้นั่ง ขณะนี้นอน ให้หัดตามรู้รูปนามอย่างนี้อยู่เนืองๆ

(แบบฝึกหัดข้อ 4 เป็นการฝึกตามรู้สภาวะของรูปนาม จนกระทั่งเกิดสติขึ้นเอง โดยไม่ได้จงใจจะทำให้สติเกิดขึ้น สติชนิดนี้จะว่องไวโปร่งโล่งเบาสบาย ไม่ใช่สติแข็งกระด้าง อันเกิดจากความอยากมีสติหรือความอยากปฏิบัติธรรม (มีนักปฏิบัติจำนวนมากทีเดียวที่เอาสติตรึงความรู้สึกไว้ที่กาย จนรู้สึกว่าสามารถรู้สึกตัวอยู่ได้ตลอดเวลา การทำอย่างนั้นไม่ถูกต้องเลย เพราะเป็นการปฏิบัติด้วยตัณหา ผลก็คือจิตจะแข็งกระด้างและกายจะแข็งทื่อๆ ไม่ใช่การตามรู้อารมณ์ แต่เป็นการดักรู้หรือรอรู้) อนึ่งการตามรู้จิตจะมีลักษณะการรู้ถึงจิตที่เพิ่งดับไป แต่การตามรู้กายสามารถรู้ได้ในปัจจุบันเพราะกายเป็นรูปซึ่งมีอายุยืนยาว กว่าจิตมาก)

นอกเหนือจากการมีสติรู้ทันความไหว/นิ่งของจิตจนเกิดความรู้สึกตัวแล้ว ยังมีอุบายวิธีของสำนักปฏิบัติอีกหลายแห่งที่ใช้สร้างความรู้สึกตัวได้เช่นกัน เช่นการทำจังหวะการเคลื่อนไหวมือของนักปฏิบัติสายหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ และการรู้รูปนามในอิริยาบถ 4 เป็นต้น หากปฏิบัติแล้วไม่หลงเพ่งมือ เพ่งท้อง เพ่งเท้า เพ่งกายทั้งกาย หรือเพ่งความรู้สึกนึกคิด แต่มีสติรู้ทันสภาวะความไหว/นิ่งของกายหรือจิต ก็สามารถสร้างความรู้สึกตัวทั่วพร้อมขึ้นได้เช่นกัน ด้วยความจริงข้อนี้เอง ทำให้ผู้เขียนไม่ปฏิเสธวิธีการปฏิบัติธรรมของเพื่อนนักปฏิบัติในสาย/สำนักปฏิบัติอื่นๆ ที่เน้นการเจริญสติหรือการมีความรู้สึกตัว เพราะแม้เบื้องต้นจะเดินมาจากประตูคนละด้าน แต่เมื่อเข้าประตูได้แล้ว ก็เข้าถึงสภาวะอันเดียวกันได้เอง

มีจุดที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ ผู้ที่ไม่เคยศึกษาปฏิบัติธรรมมาก่อน เมื่อฟังธรรมแล้วมักจะเกิดความรู้สึกตัวได้ง่าย แต่ผู้ที่เคยฝึกหัดมาในทางมิจฉาสมาธิ คือบรรดานักเพ่งและนักดัดแปลงจิตและอารมณ์ทั้งหลาย จะเกิดความรู้สึกตัวได้ยาก ทั้งนี้อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการคือ (1) จิตมีความคุ้นเคยที่จะเพ่งอารมณ์ จนไม่ สามารถจะรู้อารมณ์ได้โดยไม่เพ่ง (2) จิตมีความอยาก (ตัณหา) ปฏิบัติ ธรรมที่รุนแรง บงการให้เกิดการกระทำทางกายและทางใจตั้งมากมาย แทนที่จะตามรู้กายตามรู้ใจไปตามธรรมดาที่กำลังเป็นอยู่ (3) การมีความคิดความเห็นเดิมๆ (ทิฏฐิ) อยู่มาก เมื่อได้ฟังธรรมเรื่องการเจริญสติก็มักจะพยายามศึกษาเปรียบเทียบ จนความคิดปิดกั้นการรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏจนหมดสิ้น และ (4) การมีความถือตัว (มานะ) ว่า เป็นนักปฏิบัติ ยิ่งคนที่ทำมานานจนชำนาญในกีฬาทางจิต หรือคนที่เป็นผู้นำกลุ่ม จะเรียนรู้สิ่งใหม่ได้ยากมาก บุคคลเหล่านี้หากต้องการเรียนรู้เรื่องความรู้สึกตัว จะต้องกล้าหาญพอที่จะสลัดความคิด ความเชื่อ ความเคยชินเก่าๆ ความพยายามดิ้นรนค้นคว้า และความถือตัวทิ้งเสียก่อน หากทำจิตให้เหมือนถ้วยชาที่ว่างเปล่าได้ ก็จะเรียนรู้เรื่องความรู้สึกตัวได้ไม่ยากนัก

ตอนที่ 58
จิตที่รู้สึกตัวทั่วพร้อม

3. ลงมือเจริญวิปัสสนา
เมื่อมีความรู้สึกตัว ซึ่งหมายถึงว่าผู้ปฏิบัติมีสติ และสัมมา
สมาธิพร้อมแล้ว ต่อไปนี้เป็นเวลาของการเจริญวิปัสสนาจริงๆ กันเสียที

ถ้าถามว่า การทำวิปัสสนา ต้องทำกันที่ไหน เช่น ในป่า ที่บ้าน ที่วัด หรือที่สำนักกรรมฐาน ฯลฯ
ตอบ ทำที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถาม ทำอย่างไร
ตอบ การปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นนั้นเรามุ่งถึงโสดาปัตติมรรค ซึ่งต้องทำลายสักกายทิฏฐิคือความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวเรา ฉะนั้นในเวลาที่ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายรับสัมผัส และใจรู้ธัมมารมณ์ หากความรู้สึกเป็น "เรา" เด่นชัดในที่ใด ก็ควรมีสติระลึกรู้ในที่นั้นจนเกิดปัญญาเห็นความจริงว่า "เรา" ไม่มี

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติจริงเราบังคับสติไม่ได้ เพราะสติก็เป็นอนัตตา ดังนั้นหากอารมณ์รูปนามใดปรากฏชัด สติก็ย่อมระลึกรู้อารมณ์นั้นเอง แม้ความเป็นเราจะไม่เด่นชัดที่อารมณ์นั้นก็ตาม ในกรณีเช่นนี้หากจิตมีสัมมาสมาธิคือความตั้งมั่นไม่หลงตามอารมณ์ และมีโยนิโสมนสิการว่าอารมณ์นั้นเป็นเพียงรูปนาม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราหรือของเรา จนถอดถอนความยึดถือในอารมณ์นั้นได้ อย่างนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน เพราะเมื่อปฏิบัตินานไปก็จะเห็นว่า ธรรมทั้งปวงไม่ใช่เราสักอย่างเดียว

ต่อจากนี้ไป จะกล่าวถึงวิธีการเจริญวิปัสสนาเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายรับสัมผัส และใจรู้ธัมมารมณ์ (สาระสำคัญตามข้อ 4-10) หากผู้ใดเข้าใจวิธีการปฏิบัติที่จะกล่าวนี้ได้แล้ว ก็ย่อมสามารถเจริญวิปัสสนาได้ด้วยอารมณ์รูปนามทุกอย่างตั้งแต่กายานุปัสสนาสติปัฏฐานจนถึงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะ การเจริญวิปัสสนาไม่ว่าจะใช้อารมณ์รูปนามในปัฏฐานใด ก็ย่อมต้องรู้อารมณ์เหล่านั้นด้วยอายตนะ 6 นี้เอง

อนึ่งเมื่อเข้าใจวิธีการปฏิบัติในภาพรวมดังที่จะกล่าวนี้แล้ว ผู้ปฏิบัติก็สามารถเลือกอารมณ์เบื้องต้นของการเจริญวิปัสสนาได้ตามจริตนิสัย เช่นอาจจะเริ่มปฏิบัติด้วยการรู้ธัมมารมณ์ที่เป็นรูป คือการรู้อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อยอันเป็นการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ หรือจะรู้ธัมมารมณ์ที่เป็นนาม อันเป็นการเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานและจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้ ทั้งนี้ผู้ใดรู้รูปแล้วสติเกิดบ่อยก็รู้รูปไป ผู้ใดรู้นามแล้วสติเกิดบ่อยก็รู้นามไป และเมื่อฝึกหัดมากขึ้นแล้ว จิตจะก้าวไปเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานซึ่งครอบคลุมทั้งการรู้รูปและนามได้เอง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 59
จิตที่รู้สึกตัวทั่วพร้อม

4. การเจริญวิปัสสนาเมื่อตาเห็นรูป
4.1 การที่ตาจะเห็นรูปได้นั้นต้องมีองค์ประกอบหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่หลายอย่างคือ (1) อายตนะภายใน (ตา) (2) อายตนะภายนอก (รูป) และ (3) จักขุวิญญาณจิต/นามเห็น (ความรับรู้อารมณ์ทางตา) หากขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งใน 3 สิ่งนี้ รูปจะปรากฏทางตาไม่ได้ปัญหาที่น่าคิดก็คือ จิตย่อมรู้อารมณ์ได้ทีละอย่าง ดังนั้นเมื่อตาเห็นรูป ผู้ปฏิบัติควรมีสติระลึกรู้สิ่งใด ระหว่างตา รูป และความรับรู้อารมณ์ทางตา

4.2 ตาได้แก่ ประสาทตาเป็นสิ่งที่ละเอียด และถ้าระลึกถึงแล้ว ก็ง่ายที่จะหลงเพ่งตาจนเกิดความปวดตา และเราไม่คุ้นเคยที่จะรู้สึกถึงความมีอยู่ของประสาทตาด้วย จึงไม่ค่อยรู้สึกว่าตาคือตัวเรา ส่วนรูปก็เป็นเพียงสีหรือแสงสะท้อนของวัตถุซึ่งอยู่ห่างออกไปที่มากระทบตาเท่านั้น สีเป็นสิ่งที่ปราศจากน้ำหนักและจับต้องไม่ได้ จึงง่ายที่จะรู้ว่า สีหรือรูปเป็นสิ่งภายนอก/ไม่ใช่ตัวเรา แต่ความรู้สึกเป็นเราจะเด่นชัดอยู่ที่จิตซึ่งเป็นผู้เห็นรูป

ในกรณีนี้ผู้ปฏิบัติซึ่งรู้สึกตัวเป็นแล้ว คือสามารถรู้รูปได้โดยไม่หลงดู จึงควรมีสติระลึกรู้อยู่ที่จิตซึ่งเกิดทางตาซึ่งเป็นผู้เห็นรูป จนพบและเข้าใจความเป็นจริงว่า จิตเห็น ไม่ใช่เราเห็น เพราะสิ่งที่รู้สึกว่าเป็นเรานั้น เอาเข้าจริงก็คือจักขุวิญญาณจิตหรือนามเห็น ซึ่งเกิดแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วเท่านั้นเอง หาความเป็นตัวตนใดๆ ไม่ได้เลย

4.3 ผู้ปฏิบัติอาจจะลองมองภาพอะไรสักอย่างหนึ่งที่อยู่ไกลๆ และไม่ยั่วกิเลส เช่นภาพภูเขาหรือต้นไม้ที่อยู่ห่างออกไป มองอย่างสบายๆ อย่าตั้งใจ อย่าเคร่งเครียด แล้วค่อยสังเกตดูความรู้สึกหรือความรับรู้รูปทางตาในขณะที่มองนั้น จะพบว่าความรู้สึกนั้นว่างเปล่าจากตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ไร้น้ำหนัก ไร้กิเลส เป็นกลางไร้ความทุกข์และความสุข นี้แหละคือสภาวะจริงของจักขุวิญญาณจิตหรือนามเห็น ซึ่งถ้าเราขาดความรู้สึกตัว เราจะไม่สามารถรับรู้ถึงจิตชนิดนี้ได้เลย แล้วจะหลงคิดอยู่ร่ำไปว่า "เราเห็น" สำหรับตัวรูปเองก็ว่างเปล่าจากตัวตนและไร้น้ำหนัก เช่นเดียวกับจักขุวิญญาณจิตนั่นเอง

4.4 การจะเห็นความจริงดังกล่าวนี้ได้ ต้องเห็นจริงๆ ด้วยปัญญา จะคิดเอาหรือน้อมใจเชื่อเอาไม่ได้ แต่ให้เฝ้ารู้จนเห็นว่าจิตที่รู้อารมณ์ ทางตาไม่ใช่เราจริงๆ จึงจะใช้ได้ ที่จริงจิตก็ไม่ใช่เราอยู่แล้ว แต่ที่รู้สึกว่าจิตเป็นเราก็เพราะความคิดนึกปรุงแต่งเข้าไปปรุงแต่งจิต เมื่อใดรู้สึกตัวอยู่ ความปรุงแต่งครอบงำจิตไม่ได้ เมื่อนั้นจะเห็นความจริงว่า จิตไม่ใช่เรา
อนึ่งจิตเป็นธัมมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยใจ จะใช้ตาดูจิตไม่ได้ ขืนพยายามใช้ตาดูจิต ก็จะเกิดอาการปวดตาโดยไร้ประโยชน์เปล่าๆ

4.5 ในกรณีที่เห็นรูปบางอย่างซึ่งมีความหมายมาก คือมีน้ำหนักหรือมีคุณค่าทางใจมาก เช่นรูปของคนที่เรารักและกำลังอยากพบ หรือรูปที่สวยงาม หรือรูปที่น่าเกลียด (เช่นภาพคนถูกรถทับ) จนจิตเกิดอยากดู (มีรูปตัณหา) พอเห็นรูปนั้นจิตก็ทะยานเข้าไปยึดเกาะที่รูปนั้น เรียกว่า "หลงดู" กรณีนี้ก็ให้รู้ทันว่าจิตหลงไปทางตาแล้ว พอรู้ทัน จิตจะตั้งมั่นขึ้นเองโดยไม่ต้องบังคับ แล้วจะรู้ได้ว่า จิตเป็นผู้เห็นรูป ไม่ใช่ เราเห็น แต่ถ้าเห็นแล้วเผลอก็หลงรูป เกิดเป็นเราเห็น

ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจง่ายๆ ก็กล่าวได้ว่า เมื่อใดรู้รูปด้วยจิตที่ตั้งมั่น เมื่อนั้นก็เป็นสักว่ารู้ ไม่ใช่เรารู้ คือเราไม่มี (ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนท่านพระพาหิยะว่า "เมื่อใดเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อนั้นท่านย่อมไม่มี" พาหิยสูตร ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎกเล่ม 1๗ พระไตรปิฎกเล่ม 25) เมื่อใดรู้รูปด้วยจิตที่ไม่ตั้งมั่น เมื่อนั้นก็เป็นหลงดู และมีเราเป็นผู้ดู

ในกรณีที่รูปมีความหมายมากจนจิตหลงเข้าไปยึดรูป ถึงขนาดเห็นว่ารูปนั้นเป็นของเรา เช่นเป็นบุตรภรรยาสามีของเรา หรือทรัพย์สินเงินทองของเรา ในกรณีนี้จะมีสติรู้ที่จักขุวิญญาณจิตหรือนามเห็นไม่ไหว แล้ว ก็ให้มีสติรู้รูปนั้น หากเห็นรูปปรมัตถ์ว่าเป็นเพียงสี ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน เรา เขา ก็อาจถอดถอนหรือลดทอนความยึดถือใน สิ่งเหล่านั้นได้ ดังนั้นแม้ผู้เขียนจะแนะนำให้มีสติรู้อยู่ที่นามเห็น แต่ถ้าจำเป็นจริงๆ จะรู้ที่รูปก็ได้ แต่จะส่งผลเพียงแค่การลดความเห็นผิดว่าสิ่งทั้งหลายนั้นเป็นของเรา ไม่เหมือนการรู้ที่นามเห็นที่จะทำลายความเห็นผิดว่าเราเห็นได้

แต่ถ้าจิตยังหลงรูปรุนแรง เช่นเห็นสาวงามแล้วเกิดกามราคะรุนแรงจนเจริญสติไม่ไหว ก็ต้องใช้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งคือการพิจารณาสาวนั้น หรือพิจารณาตนเอง ให้เห็นเป็นปฏิกูลหรืออสุภกรรมฐาน อันเป็นการทำสมถกรรมฐาน เพื่อให้จิตสงบพอเอาตัวรอดไปได้คราวหนึ่ง แต่ต้องทราบว่ากำลังทำสมถกรรมฐานอยู่ อย่าหลงผิดว่าการคิดพิจารณา ดังกล่าวเป็นการเจริญวิปัสสนา เพราะอาจจะเกิดความหลงผิดอย่างร้ายแรงทีเดียว


ตอนที่ 61

จิตที่รู้สึกตัวทั่วพร้อม

6.การเจริญวิปัสสนาเมื่อจมูกได้กลิ่น
มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับข้อ 4 แต่มีจุดที่ต่างกันบ้างเล็กน้อยคือ เมื่อกลิ่นกระทบจมูกนั้น ความรู้สึกที่ว่า "เรา" มักเด่นชัดขึ้นที่รูปคือ จมูก คือรู้สึกว่า "(จมูกของ) เราได้กลิ่น" เพราะกลิ่นเป็นสัมผัสที่รุนแรงและใกล้ชิดกว่ารูปและเสียง (ซึ่งเป็นเพียงสีและความสั่นสะเทือนของอากาศอันมีต้นตออยู่ไกล) ดังนั้นหากสติปัญญาสามารถระลึกรู้ว่า "จมูกได้กลิ่น ไม่ใช่เราได้กลิ่น และกลิ่นก็ไม่ใช่เรา จมูกก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นเพียงรูปเท่านั้น" เห็นได้อย่างนี้ก็จะเพิกถอนความเห็นผิดว่ารูปเป็น เราได้

และเมื่อเจริญสติมากเข้าก็จะพัฒนาการเห็นความจริงไปอีกขั้นหนึ่ง คือเห็นว่าอันที่จริงจมูกก็ไม่รู้กลิ่น เพราะจมูกเป็นรูปซึ่งเป็นธรรมชาติที่รู้อารมณ์ไม่ได้ สิ่งที่รู้กลิ่นจริงๆ คือฆานวิญญาณจิต หรือนามได้กลิ่น หรือความรู้อารมณ์ (กลิ่น) ซึ่งรู้ผ่านทางประสาทจมูกเท่านั้น ทั้งกลิ่น ทั้งจมูก และฆานวิญญาณจิตล้วนแต่ไม่ใช่ตัวเรา แต่อย่างใด เป็นเพียงรูปนามเท่านั้นเอง

อนึ่งมีบางท่านเน้นการกำหนดรูปกลิ่น ซึ่งผู้เขียนไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะกลิ่นเป็นรูปภายนอก เป็นอายตนะภายนอก มันเห็นได้ง่ายอยู่แล้วว่าไม่ใช่เรา สิ่งที่จะถูกยึดว่าเป็นตัวเราน่าจะได้แก่กายนี้ใจนี้ ซึ่งเป็นอายตนะภายใน เพราะคงไม่มีใครรู้สึกหรอกว่า กลิ่นหอมของดอกไม้นั้นเป็นตัวเรา หรือกลิ่นเหม็นของกองขยะนั้นเป็นตัวเรา แต่ถ้าเห็นว่าจมูกเป็นตัวเรา อย่างนี้ก็มีทางเป็นไปได้มาก ดังนั้นถ้ามีสติปัญญารู้ความจริงว่า จมูกรับกลิ่น เราไม่ได้รับกลิ่นด้วย และจมูกเป็นรูป ไม่ใช่ตัวเรา ดังนั้น แม้จมูกจะรับกลิ่นหอมหรือกลิ่นเหม็น อภิชฌา คือความเพ่งเล็งพอใจในกลิ่น และโทมนัสคือความไม่พอใจในกลิ่น ก็ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ นอกจากนี้การที่เห็นความจริงว่า "จมูกเป็นแค่รูป ไม่ใช่เรา" น่าจะทำลายความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 หรือกายใจนี้เป็นเรา ได้มากกว่าการเห็นว่า "กลิ่นไม่ใช่เรา"

7. การเจริญวิปัสสนาเมื่อลิ้นได้รส
มีสาระสำคัญเช่นเดียวกับข้อ 6
(อ่านต่อวันจันทร์หน้า/การเจริญวิปัสสนาเมื่อกายได้สัมผัส)

10. การเจริญวิปัสสนาเมื่อใจรู้ธัมมารมณ์ที่เป็นนาม
10.1 การรู้ธัมมารมณ์ที่เป็นนาม ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการทำนองเดียวกับการรู้อารมณ์อื่นๆ คือต้องมี (1) อายตนะภายนอก (นาม ได้แก่จิตและเจตสิก) (2) อายตนะภายใน (ใจ/มนายตนะ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการรู้นาม) และ (3) มโนวิญญาณจิต/นามเห็น (ความรับรู้อารมณ์ทางใจ)

เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับความหมายของจิต มโน/ใจและวิญญาณ ผู้เขียนขอกล่าวโดยรวบย่อว่า การเจริญวิปัสสนาเมื่อใจกระทบธัมมารมณ์ที่เป็นนามธรรมนั้น มีองค์ประกอบที่เป็นนามล้วนๆ กล่าวคืออารมณ์ที่ถูกรู้ก็เป็นนาม (จิตและเจตสิก) ส่วนธรรมชาติที่รู้อารมณ์ก็เป็นนาม (จิต) และในเวลาปฏิบัตินั้น หาก (1) มี "เรา" อยู่ที่ไหน ก็ให้รู้ที่นั้น หรือ (2) ถ้าสติระลึกรู้อะไร ก็ให้รู้สิ่งนั้น

10.2 ตัวอย่างเช่นขณะที่มีความโกรธเกิดขึ้น ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติจะรู้สึกว่า "เราโกรธ" ส่วนผู้ปฏิบัติให้รู้ที่ "ความรู้สึกโกรธ" จะพบว่าความโกรธเป็นเพียง "นาม/เจตสิกโกรธ ไม่ใช่เราโกรธ" และเมื่อสติปัญญาแก่กล้าขึ้นก็จะเห็นต่อไปว่า ความโกรธเป็นนามเจตสิกคือเป็นสิ่งที่เข้ามาประกอบจิต ส่วนจิตเป็นธรรมชาติที่ไปรู้ความโกรธเข้าเท่านั้น (ดังที่พระสูตรมักกล่าวว่า เดิมจิตประภัสสร แต่เศร้าหมองเพราะกิเลสที่จรมา) ถึงจุดนี้ก็จะเห็นชัดว่า สิ่งที่ไปรู้ความโกรธเข้านั้นเป็น "นาม/จิตรู้ ไม่ใช่เรารู้" เป็นการรู้เท่าทันเจตสิกบ้าง รู้เท่าทันจิตบ้าง ว่าไม่ใช่ตัวเรา เป็นต้น

10.3 กล่าวโดยสรุป เมื่อมีความรู้สึกตัวอยู่นั้น ย่อมรู้นามคือจิตได้ คือ (1) จิตรับรู้อารมณ์ทางตาก็รู้ (2) จิตรับรู้อารมณ์ทางหูก็รู้ (3) จิตรับรู้อารมณ์ทางจมูกก็รู้ (4) จิตรับรู้อารมณ์ทางลิ้นก็รู้ (5) จิต รับรู้อารมณ์ทางกายก็รู้ (6) จิตรับรู้อารมณ์ทางใจก็รู้ ทั้ง 6 ข้อนี้คือการรู้ตัวสภาวะของจิต

และรู้ด้วยว่า (7) จิตจะเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น หรือกายก็เลือกไม่ได้ เพราะมันเกิดไปตามเหตุตามปัจจัย เกิดแล้วก็ดับสลายไปใน ฉับพลันนั้นเอง จะรักษาให้คงอยู่นานๆ ก็ไม่ได้ (8) จิตที่เกิดทางใจนั้น จะเกิดเป็นกุศลหรืออกุศลก็เลือกไม่ได้ เพราะมันเกิดไปตามเหตุตามปัจจัย เช่นจิตจะเผลอเขาก็เผลอ ห้ามเขาไม่ได้และจะสั่งให้เขาดับก็ไม่ได้ จิตจะมีสติเขาก็มีสติ สั่งเขาไม่ได้และจะรักษาเขาไว้ก็ไม่ได้ แต่จิตที่ทำงานทางใจจะเกิดต่อเนื่องได้ยาวนานกว่าจิตที่เกิดทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย ทั้ง 2 ข้อนี้คือการรู้ความจริงเกี่ยวกับจิต

และรู้ด้วยว่า (9) บางคราวจิตก็ยึดเกาะอยู่กับอารมณ์ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธัมมารมณ์) บางคราวจิตก็แยกอยู่ต่างหากจากอารมณ์ เมื่อใดยึดอารมณ์ (ด้วยอำนาจของตัณหาในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธัมมารมณ์) เมื่อนั้นจะเกิดความทุกข์ทางใจ เมื่อใดไม่ยึดอารมณ์ เมื่อนั้นไม่ทุกข์ทางใจ ข้อนี้คือการรู้อริยสัจจ์แห่งจิต

เมื่อมีความรู้สึกตัวอยู่นั้น ย่อมรู้นามคือเจตสิกได้ คือ (1) สุข/โสมนัสมีอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ (2) ทุกข์/โทมนัสมีอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ (3) ความไม่ทุกข์ไม่สุขมีอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ (4) ราคะมีอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ (เป็นการรู้ตามหลัง ว่าราคะในจิตดวงก่อนมีอยู่ แต่ราคะในจิตดวงซึ่งมีสติอยู่นี้ไม่มี และเห็นว่าราคะไม่ใช่จิต ราคะไม่ใช่เรา และจิตก็ไม่ใช่เราด้วย) (5) โทสะมีอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ (เช่นเดียวกับข้อ 4) (6) ความหลงมีอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ (เช่นเดียวกับข้อ 4) (7) ความฟุ้งซ่านมีอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ (เป็นการรู้ตามหลังเช่นกัน) (8) ความหดหู่มีอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ (เป็นการรู้ตามหลังเช่นกัน) เมื่อตามรู้บ่อยเข้าก็จะเห็นว่าสภาวะทั้งหลายเหล่านี้เป็นสิ่งที่เลือกไม่ได้ บังคับไม่ได้ ทั้ง 8 ข้อนี้เป็นการรู้ตัวสภาวะ และความจริงของเจตสิก

เมื่อปฏิบัติมากเข้าในที่สุดก็จะพบว่า นามจิตก็ไม่ใช่เรา นามเจตสิกก็ไม่ใช่เรา จะหาเราที่ไหนไม่ได้เลย อนึ่งผู้เขียนเคยเขียนเรื่องเกี่ยวกับการดูจิตไว้มากมายแล้ว สามารถหาอ่านได้จากหนังสือวิมุตติปฏิปทา และวิถีแห่งความรู้แจ้ง


ตอนที่ 66

11. ข้อสรุปเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนา
11.1 ก่อนจะเจริญวิปัสสนาต้องเตรียมความพร้อมของจิต ให้จิตมีความรู้สึกตัวเสียก่อน จิตจึงจะสามารถรู้อารมณ์รูปนามได้โดย (1) ไม่หลงเพ่งอารมณ์ คือส่งจิตเข้าไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ด้วยความเกียจคร้านรักสงบรักสบาย (2) ไม่หลงคิด จนความคิด (สมมุติบัญญัติ) ปิดบังความจริง (อารมณ์รูปนาม/อารมณ์ปรมัตถ์) และ (3) ไม่หลงปรุงแต่งจิตและไม่หลงปรุงแต่งอารมณ์ คือไม่เข้าไปแทรกแซงจิตและอารมณ์ เช่นไม่หลงแก้ไขจิตที่ไม่ดีให้ดี ไม่หลงแก้ไขจิตที่ไม่สงบให้สงบ ไม่หลงกดข่มการทำงานของจิตให้ช้าลง และไม่หลงบังคับการเคลื่อนไหวของกายให้ช้าลง เป็นต้น

11.2 วิธีการสร้างความรู้สึกตัวทำได้ 2 ทางคือ (1) สำหรับสมถยานิกก็ให้ทำสมถะจนถึงจตุตถฌาน เมื่อจิตถอนจากจตุตถฌานก็ให้สังเกตให้รู้จักความรู้สึกตัวไว้ (พระป่าท่านมักเรียกจิตที่มีความตั้งมั่นและรู้สึกตัว ว่าจิตผู้รู้ ซึ่งในที่สุดก็จะต้องปล่อยวางจิตผู้รู้อีกชั้นหนึ่ง) และ (2) สำหรับวิปัสสนายานิกก็ให้มีสติระลึกรู้ความไม่ตั้งมั่นของจิตซึ่งหลงไปทางทวารทั้ง 6 เมื่อใดรู้สภาวธรรมตรงตามความเป็นจริงโดยไม่มีเจตนาจะรู้แล้ว จะเกิดความรู้สึกตัวขึ้นได้เช่นกัน (วิธีนี้ไม่ต้อง ใส่ใจเรื่องจิตผู้รู้ เพราะจิตจะรู้ตัวอยู่ได้เพียงขณะสั้นๆ เท่านั้น แต่ก็พอแล้วสำหรับการเจริญวิปัสสนา)

11.3 ถัดจากนั้นเมื่ออารมณ์ปรากฏชัดทางทวารใด ก็มีสติรู้เท่าทันอารมณ์นั้น ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง แล้วจะมีสัมปชัญญะหรือปัญญาเห็นความจริงว่า อารมณ์ทั้งหลายที่เป็นรูปบ้าง เป็นนามบ้าง เป็นสิ่งที่มีเหตุก็เกิดขึ้น หมดเหตุก็ดับไป ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาคือบังคับไม่ได้ และที่สำคัญก็คือ ไม่มีความเป็นเราอยู่ในที่ใดเลย คือ (1) เมื่อตาเห็นรูป ก็รู้ว่าตาและรูปไม่ใช่เรา และสิ่งที่เห็นรูปก็เป็นเพียงจิต (นาม) เห็น ไม่ใช่เราเห็น (2) เมื่อหูได้ยินเสียง ก็รู้ว่าหูและเสียงไม่ใช่เรา และสิ่งที่ได้ยินเสียงก็เป็นเพียงจิต (นาม) ได้ยิน ไม่ใช่ เราได้ยิน (3) เมื่อจมูกได้กลิ่น ก็รู้ว่าจมูกและกลิ่นไม่ใช่เรา และสิ่งที่ได้กลิ่นก็คือจมูก (รูป) ได้กลิ่น ไม่ใช่เราได้กลิ่น (4) เมื่อลิ้นได้รส ก็รู้ว่า ลิ้นและรสไม่ใช่เรา และสิ่งที่รับรสก็คือลิ้น (รูป) ได้รส ไม่ใช่เราได้รส (5) เมื่อกายกระทบความเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหว ก็รู้ว่ากายและสิ่งที่มากระทบเป็นเพียงธาตุ ไม่ใช่เรา และสิ่งที่กระทบกับธาตุเหล่านั้นก็คือกาย (รูป) กระทบ ไม่ใช่เรากระทบ และ (6) เมื่อใจรู้ธัมมารมณ์ที่เป็นรูป ก็รู้ว่ารูปไม่ใช่เรา และเมื่อใจรู้ธัมมารมณ์ที่เป็นนาม ก็รู้ว่านามไม่ใช่เรา และรู้ว่าผู้ที่รู้รูปนามนั้นคือ จิต (นาม) รู้ ไม่ใช่เรารู้ และ จิตก็ไม่ใช่เราด้วย

11.4 เมื่อเจริญวิปัสสนามากเข้า ก็จะถอดถอนความเห็นผิดว่า รูปนามเป็นเราลงเสียได้ เพราะแท้จริงรูปนามไม่ใช่เรามาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่เพราะหลงในความคิดนึกปรุงแต่งอันเป็นสมมุติบัญญัติหรือภาพลวงตา จึงเกิดความสำคัญผิดว่ารูปนามเป็นเรา และเมื่อเจริญ วิปัสสนาต่อไปอีกจนรู้ทุกข์หรือรูปนามแจ่มแจ้งแล้ว ตัณหาหรือความทะยานอยากของจิตย่อมถูกละไปโดยอัตโนมัติ ปัญญาสามารถถอดถอนความยึดถือในรูปนามลงเสียได้ ความทุกข์เพราะตัณหาอุปาทานก็เป็นอันยุติลง เหลือเพียงความทุกข์ตามธรรมดาของขันธ์ เมื่อสิ้นขันธ์วันใด ก็เป็นอันสิ้นทุกข์โดยสิ้นเชิงแต่เพียงนั้น

สภาวะที่ดับตัณหาและสิ้นขันธ์นั่นแหละคือนิพพาน

11.5 การเจริญสติที่กล่าวมานี้ครอบคลุมการเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนาทั้งปวง คือ

11.5.1 การมีสติเมื่อ ตากระทบรูป หูกระทบเสียง จมูกกระทบกลิ่น และลิ้นกระทบรส ใช้เจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบางอย่าง

11.5.2 การมีสติเมื่อกายกระทบโผฏฐัพพะ ใช้เจริญกายา นุปัสสนาสติปัฏฐานในอานาปานบรรพ และธาตุมนสิการบรรพ (ธาตุดิน ไฟ ลม) และใช้เจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบางอย่าง

11.5.3 การมีสติเมื่อใจกระทบธัมมารมณ์ที่เป็นรูป ใช้เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในอิริยาปถบรรพ สัมปชัญญบรรพและธาตุมนสิการบรรพ (ธาตุน้ำ) และใช้เจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานบางอย่าง

11.5.4 การมีสติเมื่อใจกระทบธัมมารมณ์ที่เป็นนาม ใช้เจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในส่วนที่เป็นนาม

ดังนั้นถ้าสามารถเจริญสติได้เมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ก็จะสามารถเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนาได้ทุกอย่าง แม้เบื้องต้นจะเจริญสติปัฏฐานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เบื้องปลายก็จะสามารถเที่ยวไปในปัฏฐานทั้ง 4 ได้เช่นเดียวกัน

ตอนที่ 67
12. ธรรมเสวนาในสวนโพธิ์
คำปรารภ
บันทึกฉบับนี้รวบรวมจากคำสนทนาธรรมระหว่างเพื่อนนักปฏิบัติ กับผู้เขียน หลายเรื่องพูดถึงการปฏิบัติในแง่มุมต่างๆ บางเรื่องแม้จะปลีกย่อย แต่ก็มีผู้ถามบ่อย ถ้ารวบรวมพิมพ์แจกกันอ่าน ก็อาจจะมีประโยชน์แก่ผู้สนใจบ้าง

อนึ่งถ้าคำตอบในบันทึกนี้ จะไปกระทบความรู้สึกของท่านผู้หนึ่ง ผู้ใดโดยไม่เจตนาแล้ว ผู้เขียนต้องขออภัยในความเขลาและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้เขียนด้วย

1. ความหมายของการปฏิบัติธรรม
ถาม ได้ทราบว่าหลวงพ่อไม่ชอบสนทนาเรื่องอื่นยกเว้นเรื่องการปฏิบัติธรรม และได้เห็นคนบางคนเรียกตนเองว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม จึงอยากทราบว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร

ตอบ ถ้าถามว่าการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนาคืออะไร อาตมาก็มักจะตอบว่า การปฏิบัติธรรมคือ (1) กระบวนการเรียน (2) เพื่อให้รู้ความจริงของชีวิต และ (3) ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ขอขยายความสักเล็กน้อยดังนี้

ประการแรก กระบวนการเรียนทางพระพุทธศาสนานั้นมีบทเรียนอยู่ 3 บทคือ (1) ศีลสิกขา (2) จิตสิกขา และ (3) ปัญญาสิกขา ศีลสิกขาเป็นการศึกษาเรื่องการรักษาจิตใจให้เป็นปกติ โดยการตัดเครื่องรบกวนอันเกิดจากการกระทำผิดทางกายและวาจาออก จิตสิกขาเป็นการศึกษาว่า ทำอย่างไรจิตจะตั้งมั่นและเป็นกลางต่ออารมณ์ สามารถรู้อารมณ์รูปนามที่กำลังปรากฏได้โดยไม่คลาดเคลื่อนไปหลงรู้อารมณ์บัญญัติแทน และไม่หลงส่งนอกส่งในไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้า เพราะจิตของคนและสัตว์ทั่วไปมักหลง/ไหลหรือส่งออกไปจม แช่อยู่กับอารมณ์อันเป็นกองทุกข์มาแต่ไหนแต่ไร ทำให้เคยชินหรือด้านชากับทุกข์จนมองทุกข์ไม่ออก เมื่อมีจิตสิกขาก็จะช่วยให้จิตถอดถอนตนเองออกจากทุกข์ได้เป็นการชั่วคราว เมื่อจิตหลง/ไหลหรือส่งออกไปจมแช่คลุกเคล้ากับอารมณ์อีก คราวนี้จะเห็นทุกข์ได้ชัดเจนซาบซึ้งถึงใจยิ่งกว่าที่เคยเห็นมาก่อน สำหรับปัญญาสิกขาเป็นการเรียนรู้เรื่องทุกข์ (รูปนาม) ด้วยจิตที่ตั้งมั่นแล้ว จนเห็นแจ้งรูปนามตามความเป็นจริงว่าไม่ควรยึดถือเอามาเป็นตัวเราของเรา และทราบชัดว่าเมื่อใดจิตหลง/ไหลหรือส่งออกไปยึดอารมณ์ เมื่อนั้นความทุกข์จะเกิดขึ้น เมื่อรู้แจ้งอย่างนี้ จิตก็จะไม่หลง/ไหลหรือส่งออกไปเกาะเกี่ยวยึดถืออารมณ์อีก โดยไม่ต้องพยายามควบคุมบังคับจิตแต่อย่างใด

ประการที่ 2 วัตถุประสงค์ของการเรียนคือการทำให้เกิดความรู้ถูก เข้าใจถูก หรือมีสัมมาทิฏฐิ จนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต และสามารถ มีชีวิตอยู่ได้แบบมีทุกข์น้อยๆ หรือไม่มีความทุกข์เลย นี่คือประโยชน์ที่สำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพื่อสิ่งอื่น เช่น เพื่อแสวงหาโชคลาภ เพื่อแก้กรรม หรือเพื่อให้เกิดตาทิพย์หูทิพย์และอำนาจวิเศษใดๆ ทั้งสิ้น สิ่งที่เราเรียกว่าพระพุทธศาสนานั้น เอาเข้าจริงก็คือสัมมาทิฏฐินี่เอง

เรื่องที่เราจะเรียนคือเรื่องของชีวิตตนเอง อันได้เรื่องกายและ จิตใจ หรือเรื่องรูปกับนาม ไม่ใช่เรื่องที่พาให้ฟุ้งซ่านอื่นๆ แต่ทั้งนี้เราควรทำความเข้าใจว่า การศึกษาศาสตร์อื่นๆ ก็มีความจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ดังนั้นไม่ใช่ว่าเมื่อศึกษาธรรมแล้วก็ละเลยที่จะเรียนรู้เรื่องอื่นๆ จนขาดความเข้าใจโลก เราต้องรู้ทันโลกจึงจะไม่หลงโลกและช่วยโลกได้

ประการสุดท้าย การเรียนรู้ดังกล่าวต้องเป็นไปตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ไม่ใช่ตามอุบายการปฏิบัติที่ท่านผู้อื่นสอน เพราะพวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จะเชื่ออาจารย์มากกว่าเชื่อพระพุทธเจ้าไม่ได้ และแนวทางปฏิบัติที่จะเชื่อได้ว่าเป็นของพระ พุทธเจ้าจริงนั้น จะต้องอยู่ในกรอบของหลักธรรมเรื่องกิจในอริยสัจจ์ที่ว่า "ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ" จะออกนอกกรอบนี้ไม่ได้เด็ดขาด เช่น (1) จะปฏิบัติโดยมุ่งรู้นิพพานโดยตรงไม่ได้ (2) จะปฏิบัติโดยไม่รู้ทุกข์ (รูปนาม) ไม่ได้ (3) จะปฏิบัติโดยมุ่งละทุกข์ไม่ได้ และ (4) จะปฏิบัติ ตามคำบงการของตัณหาก็ไม่ได้ เป็นต้น

สำหรับประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมนั้นมีมากทีเดียว เช่น
1. ทันทีที่รู้สึกตัว อกุศลจะไม่มี ทำให้ไม่มีความทุกข์ใจในขณะนั้น เพราะโทมนัสเวทนาหรือความทุกข์ใจเกิดร่วมได้กับอกุศลจิตเท่านั้น จิตที่รู้สึกตัวจะรู้ ตื่น และเบิกบาน มีความสุขอยู่ในปัจจุบัน และเป็นความสุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งภายนอกหรือคนอื่น

2. เมื่อเกิดความรู้ถูกเข้าใจถูกเกี่ยวกับตนเอง ว่าตนเองไม่มีมีแต่ รูปนาม หรืออีกนัยหนึ่งเมื่อละความเห็นผิดว่ารูปนามเป็นตัวเราหรือตัวเราเป็นรูปนามได้แล้ว จิตใจจะเกิดความสงบสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น มีความอบอุ่นใจอย่างประหลาดเพราะมีธรรมเป็นที่พึ่งได้แล้ว

ขอตอบเท่านี้ก่อนก็แล้วกัน


ตอนที่ 68
2. บุญกับกุศล
ถาม อยากทราบว่าบุญกับกุศลต่างกันอย่างไร และเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะทำบุญโดยไม่ต้องจ่ายทรัพย์ เนื่องจากฐานะทางการเงินในขณะนี้ไม่ค่อยดีนัก

ตอบ ความจริงแล้วเนื้อหาของบุญกับกุศลไม่ต่างกัน คือเป็นเรื่องของคุณงามความดีและเรื่องของประโยชน์สุข เพียงแต่มีมุมมองต่างกันเท่านั้น คือบุญเน้นที่ตัวกิจกรรมที่ว่าทำอะไรแล้วดี เรียกเต็มๆ ว่าบุญกิริยาวัตถุ มี 10 ประการ คือการทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การประพฤติอ่อนน้อม การช่วยเหลือในกิจการที่เป็นบุญ การแผ่ส่วนบุญ การอนุโมทนาบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม และการทำความเห็นให้ถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ส่วนกุศลเน้นที่จิตใจอันเป็นต้นเหตุให้เกิดการกระทำความดีงามหรือละเว้นความชั่ว เรียกว่ากุศลกรรมบถ มี 10 ประการเช่นกัน คือการเว้นจากกายทุจริต 3 ประการคือการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม การเว้นจากวจีทุจริต 4 ประการคือ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ และการเว้นจากมโนทุจริต 3 ประการคือ การเพ่งเล็งอยากได้ของผู้อื่น การคิดร้ายต่อผู้อื่น และการมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ)

ถ้าพิจารณาถึงบุญกิริยาวัตถุจะเห็นได้ว่าการทำบุญส่วนใหญ่ไม่ต้องเสียทรัพย์ มีเพียงการทำวัตถุทานเท่านั้นที่ต้องเสียทรัพย์ ส่วนกุศลนั้นไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องเสียทรัพย์เลย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของศีลนั่นเอง ดังนั้นถ้าเรามีศีล 5 ก็เท่ากับว่าได้ทำกุศลเกินกว่าครึ่งหนึ่งแล้ว

อีกอย่างหนึ่งที่ญาติโยมควรจะทราบไว้ก็คือ การทำบุญจะให้ได้ ผลบุญสมบูรณ์นั้น ผู้ทำต้องมีจิตที่ดีงามทั้งก่อนทำ ระหว่างทำและหลังจากทำแล้ว หากก่อนทำมีศรัทธา ระหว่างทำแช่มชื่นใจ แต่หลังทำเกิดความเสียดายหรือกลุ้มใจเพราะทำทานเกินตัวไป อย่างนี้ผลบุญไม่สมบูรณ์ บุญชนิดที่กะพร่องกะแพร่งนี้หากส่งผลให้ไปเกิด จะไม่ได้ เกิดด้วยมหาวิบากจิต แต่จะเกิดด้วย "อุเบกขาสันตีรณกุสลวิบากจิต" ซึ่งพาไปเกิดในสุคติภูมิก็จริง แต่จะได้เป็นเทวดาหรือมนุษย์ที่ไม่ สมประกอบ ดังนั้นอย่าได้เชื่อคำสอนที่ว่าให้ทุ่มทำบุญทำทานจนสุดตัว หรือให้ขายบ้านหรือไปกู้เงินมาทำบุญ เพราะโอกาสพลาดจะมีสูงกว่า คนที่ทำพอประมาณ หรือแม้กระทั่งคนที่ไม่จ่ายเงินทำบุญเลย แต่อนุโมทนาบุญของคนอื่น คนเหล่านี้ยังจะได้รับผลบุญสมบูรณ์กว่าเสียอีก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 13:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 69

3. เรื่องของศีล
ถาม เห็นชาวพุทธชอบขอศีล จะทำพิธีอะไรก็ต้องขอศีล ขอแล้วขออีก อยากทราบว่าศีลคืออะไร และสำคัญอย่างไร
ตอบ เรื่องนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจคือ

1. ประเภทของศีล ศีลคือตัวเจตนาที่จะงดเว้นการกระทำบาปอกุศลทั้งปวงทางกายและวาจา มีหลายประเภทได้แก่ ปาฏิโมกขสังวรศีล คือการระวังรักษากายวาจา มีเจตนางดเว้นการกระทำผิดตามศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 ศีล 227 ตามควรแก่สถานะ อินทรียสังวรศีล คือการสำรวมระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้บาปอกุศลเกิดขึ้น ด้วยการมีสติปัญญาคอยระวังรักษาจิตเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง และเมื่อใจคิดนึก เป็นต้น อาชีวปาริสุทธิศีล คือการรักษากายวาจาโดยเว้นการเลี้ยงชีวิตด้วยมิจฉาชีพ และมีความเป็นอยู่ที่บริสุทธิ์ และปัจจัยนิสสิตศีล คือเว้นจากการอาศัยปัจจัยที่ผิดโดยเว้นการบริโภคปัจจัย 4 ด้วยตัณหาต้องพิจารณาก่อนจึงบริโภค

2. ความสำคัญของศีล พวกเรานักปฏิบัติอย่ามองข้ามว่าศีลเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะการรักษาศีลคือการทำบุญที่ประณีตยิ่งกว่าการทำทานเสียอีก ทั้งยังสามารถสมาทานและรักษาได้เอง และไม่เสียทรัพย์ด้วย อานิสงส์ของศีลมีอยู่มาก คือเป็นปัจจัยให้ได้ไปบังเกิดในสุคติภูมิ เป็นทางให้เกิดโภคทรัพย์ และเป็นพื้นฐานส่งให้ถึงนิพพานได้ด้วย เนื่องจากผู้มีศีลจะทำความสงบจิตและเจริญสติปัญญาได้สะดวกกว่าผู้ไม่มีศีล เช่นเพียงแค่หมั่นคิดถึงศีลของตนเนืองๆ ก็สามารถทำจิตให้สงบได้แล้วเรียกว่ามีสีลานุสติ นอกจากนี้อาตมาเห็นตัวอย่างมาหลายรายแล้ว เคยปฏิบัติอยู่ดีๆ พอศีลด่างพร้อย การปฏิบัติสมาธิและการเจริญปัญญาก็รวนเรไปหมด เพราะศีลคือพื้นฐานของจิตใจที่ ดีงาม จิตที่ใช้เจริญสติเจริญปัญญาเป็นมหากุศลจิต จะขาดศีลไม่ได้เลย

3. ศีลที่จำเป็นจริงๆ และขาดไม่ได้ก็คือศีล 5 ส่วนผู้ใดจะถือศีลให้สูงกว่านั้นก็พิจารณาดูตามความเหมาะสมแห่งสถานภาพและความพร้อมของตน เช่นเป็นฆราวาสย่อมถือศีล 10 ได้ยากเพราะต้องทำมาหากินยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเงินทอง แต่ถ้าเป็นพระแล้วไม่ระวังรักษาศีล 227 เป็นอย่างน้อยก็ไม่งาม เป็นต้น การทำผิดศีลบางข้อเป็นบาปอกุศลเช่นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการพูดเท็จ บางข้อไม่เป็นบาปแต่ทำไปเพื่อประโยชน์อื่นๆ เช่นการงดเว้นอาหารในยามวิกาลเป็นต้น

4. ศีลที่สำคัญยิ่งสำหรับนักปฏิบัติ ได้แก่ อินทรียสังวรศีล ซึ่งเกิดจากการมีสติเมื่อมีการกระทบอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สติจะเป็นเสมือนเครื่องคุ้มครองจิตไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ จิตจะเกิดความเป็นปกติ (ศีล) เป็นตัวของตัวเอง ตั้งมั่น ไม่หลง/ไหลไปตามอารมณ์ (สัมมาสมาธิ) และเข้าใจความจริงทั้งของจิตและอารมณ์ (ปัญญา) จนจิตเป็นอิสระคือพ้นจากความยึดมั่นทั้งในจิตและอารมณ์ได้ (วิมุตติ)

ตอนที่ 70
4. จริตกับการปฏิบัติธรรม
ถาม ที่หลวงพ่อกล่าวว่าการปฏิบัติธรรมมี 2 แนวทาง คือ แนวทางของผู้เป็นสมถยานิกกับวิปัสสนายานิกนั้น อยากทราบว่า เราจะทราบได้อย่างไรว่าเราควรเลือกเดินในแนวทางไหนครับ

ตอบ หากอาตมาจะตอบเองก็อาจมีข้อถกเถียงกันยืดยาว จึงขอยกอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรมาอ่านให้ฟัง พระอรรถกถาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า "อนึ่ง (1) กายานุปัสสนาสติปัฏฐานที่มีนิมิตอันจะพึงบรรลุได้โดยไม่ยาก เป็นทางหมดจดสำหรับเวไนยสัตว์ผู้เป็นสมถยานิก มีปัญญาอ่อน (2) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะไม่ตั้งอยู่ในอารมณ์ อย่างหยาบ จึงเป็นทางหมดจดสำหรับเวไนยสัตว์ผู้เป็นสมถยานิก มีปัญญากล้า (3) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์ที่แยกออกไม่มาก นัก เป็นทางหมดจดสำหรับเวไนยสัตว์ผู้เป็นวิปัสสนายานิก มีปัญญาอ่อน (4) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานมีอารมณ์ที่แยกออกมาก เป็นทางหมดจดสำหรับเวไนยสัตว์ผู้เป็นวิปัสสนายานิก มีปัญญากล้า"

ถาม ถ้าเป็นพวกโทสจริตหรือราคจริต ควรใช้แนวทางของผู้เป็นสมถยานิกหรือวิปัสสนายานิกครับ

ตอบ เรื่องจริต 6 คือราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต วิตกจริต และพุทธิจริต เป็นจริตที่ใช้พิจารณาเลือกอารมณ์เพื่อการทำสมถกรรมฐาน เช่นโทสจริตเหมาะที่จะเจริญเมตตา เป็นต้น สำหรับจริตที่ใช้พิจารณาเลือกอารมณ์เพื่อการทำวิปัสสนากรรมฐานมีเพียง 2 จริต คือตัณหาจริตกับทิฏฐิจริต และเท่าที่อาตมาสังเกตมา พวกปัญญาชนที่ชอบคิดมาก หรือมีความสุขกับการคิดวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์ เป็นพวกทิฏฐิจริต ก็ควรจะเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานไปเลย โดยไม่ต้องไปทำสมถะก่อน เพราะถึงคิดจะทำจิตให้สงบจนถึงฌานก่อนก็คงทำได้ยาก เนื่องจากชอบคิดสงสัยหรือคาดคะเนมาก หากมุ่งจะทำความสงบให้ได้ก่อน ก็อาจไม่มีโอกาสได้เจริญวิปัสสนาจนตลอดชีวิต

ถาม ผมเคยได้ยินว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นอารมณ์หยาบ ทำได้ง่าย และเหมาะกับวิปัสสนายานิก

ตอบ อาตมาก็ได้ยินคำกล่าวอย่างนี้บ่อยเหมือนกัน และท่านผู้กล่าวสอนก็มีแหล่งที่มาของคำสอนที่น่าเชื่อถือเช่นกัน แต่ที่อาตมายกมาอ้างอิงเป็นคำสอนของพระอรรถกถาจารย์ ไม่ใช่คำสอนของอาตมา ประเด็นนี้ถ้าคุณยังไม่เชื่ออย่างสนิทใจก็ไม่เป็นไร เอาแค่รับทราบ ไว้ทั้งสองอย่าง แล้วค่อยสังเกตพิจารณาเอาว่า เราเหมาะที่จะปฏิบัติอย่างไร คือใช้อารมณ์ใดแล้วสติเกิดบ่อยก็ควรใช้อารมณ์นั้นต่อไป

ส่วนที่ว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายนั้น อาตมาคิดว่าแต่ละฐานก็น่าจะทำได้ง่ายทั้งนั้น หากท่านผู้ปฏิบัติเคยฝึกฝนอบรมมาทางด้านนั้นๆ ในกาลก่อน แต่ความยากง่ายของแต่ละบุคคลอาจจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าทำฐานใดแล้วสติเกิดได้บ่อยก็น่าจะทำฐานนั้น อีกประการหนึ่งอาตมาเติบโตมาจากสายวัดป่า ครูบาอาจารย์ส่วนมากท่านทำสมถะกันก่อนแล้วจึงพิจารณากาย ก็ดูสมกับคำของพระอรรถกถาจารย์ ส่วนอาตมาไม่ค่อยได้ทำสมถะ พ่อแม่ครูอาจารย์คือหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ท่านสอนอาตมาให้ดูจิตเอาเลย อันนี้เป็นประสบการณ์ ซึ่งเห็นว่าสอดคล้องกับคำของพระอรรถกถาจารย์เช่นกัน ส่วนท่านผู้อื่นจะเริ่มจากฐานใดก่อนก็สุดแต่ท่านจะเห็นสมควร

................

ถาม- เคยฝึกกรรมฐานแบบอานาปานสติมาก่อนไม่ทราบว่าจะต่อวิปัสสนาได้อย่างไรคะ

อานาปานสติเป็นกรรมฐานที่ทำยากมาก เวลาทำแล้วมักจะหลงไปเป็นสมถะง่าย
เพราะอานาปานสติเป็นกรรมฐานที่ละเอียด
เวลาเราไปรู้ลมหายใจ ใจมักจะไหลเข้าไปเกาะนิ่งๆ อยู่กับลมหายใจ
เพราะฉะนั้นเวลาเราทำอานาปานสติ จิตใจพลิกแพลงได้หลายแบบ
เช่น เรารู้ลมหายใจเข้า หายใจออกแล้วก็ใจลอยไปอย่างนี้ขาดสติไปแล้ว
ไม่มีสติเลย ไม่มีทั้งสมถะทั้งวิปัสสนา

อีกอย่างหนึ่งเรารู้อยู่ที่ลมหายใจ จิตเราแนบไปไว้ที่ลมหายใจ
ลมเคลื่อนไป มันตามรู้ตามเห็นไปได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่ได้บังคับ อันนี้จะได้สมถะ

อีกอันหนึ่งมันเห็นว่ารูปนี้กำลังหายใจอยู่ ใจเป็นแค่คนดู
เห็นว่าร่างกายนี้หายใจ เห็นว่ารูปนี้เคลื่อนไหว
ไอ้ตัวนี้ก็เป็นรูปเป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ
หายใจเข้าหายใจออกก็เป็นธาตุที่ไหลเข้าไหลออกเห็นจิตใจเป็นแค่คนดูเห็นร่างกายนี้หายใจไป
นี่ไปขึ้นวิปัสสนาในการรู้กาย ไม่เหมือนกับการเข้าไปเกาะที่ลม
เกาะที่ลมเป็นสมถะ ถ้าเห็นร่างกายหายใจแล้วใจเป็นแค่คนดูอยู่อันนี้จะทำวิปัสสนารู้กาย

อีกอันหนึ่งหายใจไปแล้วจิตใจก็ฟุ้งซ่านไป รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตสงบรู้ว่าสงบ
จิตเป็นสุขรู้ว่าสุข จิตเป็นทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ นี่คือหายใจแล้วมาดูจิต

เพราะฉะนั้นอานาปานสติพลิกแพลงได้เยอะแยะเลย
ในแต่ละขณะๆ บางทีก็เป็นสมถะ บางทีก็เป็นวิปัสสนา บางทีหลงไปไม่มีสมถะ ไม่มีวิปัสสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ถาม – การปฏิบัติเพื่อให้ได้ผลใช้เวลานานไหมคะ แล้วทำไมการรู้กายรู้ใจถึงทำให้พ้นทุกข์ได้คะ

ธรรมะของพระพุทธเจ้านี้อัศจรรย์จริงๆ นะ ถ้าทำถูกต้อง ใช้เวลาไม่นาน
แต่ถ้าทำไม่ถูกต้อง ใช้เวลานาน ที่ไม่ถูกต้องก็คือ ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
คำสอนของพระพุทธเจ้าจริงๆ ท่านไม่ได้สอนให้พวกเราหนี
ชาวพุทธจริงๆ ต้องเป็นนักต่อสู้ ไม่ใช่คนขี้แพ้ ความทุกข์อยู่ที่ไหน ท่านสอนให้เราไปเรียนรู้ที่นั่น

ความทุกข์อยู่ที่กายของเรานี้ เข้ามาเรียนรู้ที่กาย
ความทุกข์อยู่ที่จิตใจ เข้ามาเรียนรู้ที่จิตใจของเรา

ที่จริงแล้วคนก็แสวงหาทางพ้นทุกข์มาตลอด ใครๆ ก็อยากพ้นทุกข์ทั้งนั้น
ก่อนพระพุทธเจ้าเขาก็แสวงหาทางพ้นทุกข์แล้ว
กระทั่งหมูเห็ดเป็ดไก่อะไร มันก็แสวงหาทางพ้นทุกข์ของมัน
ทีนี้การแสวงหาทางพ้นทุกข์ที่มีมาตลอดนี้ มันก็แสวงหาตามชั้นตามภูมิ
ตามความเข้าใจ ตามสติปัญญาของแต่ละคนแต่ละท่านไม่เหมือนกัน

บางคนหาทางพ้นทุกข์โดยการเสพสุข
แสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เช่น กลุ้มใจขึ้นมา ไปดูหนัง ไปฟังเพลง ไปหาอะไรสวยๆ ดู
ไปทัศนาจร ไปหาของอร่อยๆ กินแก้กลุ้ม
หรือไปคิดอะไรให้เผลอๆ เพลินๆ
นี่ก็เป็นวิธีหาความสุขอย่างหนึ่ง หาความสุขอย่างโลกๆ
หาความสุขโดยอาศัยการกระทบทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
วิธีหาความสุขอย่างนี้ พวกสัตว์เดรัจฉานก็ทำเป็น
เช่น มันหิวขึ้นมาก็ไปหาอะไรกิน กินอิ่มแล้วมีความสุข

ทีนี้ต่อมาคนมีสติปัญญามากขึ้น
เห็นว่าลำพังวิ่งหาความสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ยังไม่สุขจริงหรอก
ต้องเที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจไปเรื่อยๆ มันพึ่งพิงสิ่งภายนอกมากไป
หลายคนก็เลยมาหาความสุขทางจิตใจของตัวเอง

โดยเฉพาะพวกเข้าวัดทั้งหลาย มีความรู้สึกขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ เลยว่า
ถ้าเราสามารถควบคุมจิตใจของเราให้อยู่ในอำนาจของเราได้ เราจะมีความสุข
ก็เลยเกิดการแสวงหาความสุขวิธีที่สอง ก็คือการรักษาใจของเราให้ดี
คนด่าใจเราก็เฉย คนชมใจเราก็เฉย
วิธีหาความสุขอย่างนี้ เพื่อตัวเราจะได้มีความสุข
นี้ก็ยังไม่ใช่ทางของพระพุทธเจ้า เป็นการปรุงแต่งฝ่ายกุศล ปรุงแต่งความดีขึ้นมา
แล้วชีวิตจะได้มีความสุขอย่างคนดีๆ สุขอย่างคนดีได้ ก็ทุกข์อย่างคนดีได้

ทีนี้บางคนฉลาดกว่านี้อีก
เห็นว่าถ้าตราบใดที่ยังต้องคอยรักษาจิตใจเอาไว้
มีการกระทบมันคอยกระเทือนก็คอยรักษาอยู่เรื่อยๆ ยังไม่สุขจริง
อีกพวกหนึ่งก็เลยคิดพัฒนาขึ้นไป
ถ้าเราไม่ต้องกระทบอารมณ์เสียเลย มันจะมีความสุข
พวกนี้ก็ฝึกเข้าฌานกันนะ ฝึกเข้าอรูปฌาณ หรือฝึกเข้าอสัญญี พรหมลูกฟัก
ไม่รับรู้โลกภายนอก ไม่สนใจโลกภายนอก ไม่มีอะไรมากระเทือน
ไม่มีสิ่งใดมากระทบ พอไม่มีอะไรมากระทบ ใจก็ไม่ต้องกระเทือน

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา วิธีหาความสุขมีสามแบบ
อันแรก เที่ยวหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ
ตอบสนองกิเลสไปเรื่อยๆ แล้วก็มีความสุข
การหาความสุขแบบนี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายอกุศล เรียกว่า อปุญญาภิสังขาร
หรือเป็นความสุดโต่งในข้างที่เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ตามใจกิเลสแล้วมีความสุข

อย่างที่สอง มีการควบคุม คอยบังคับตัวเอง
อันนี้เป็นความปรุงแต่งฝ่ายกุศล เรียก ปุญญาภิสังขาร
หรือเรียก อัตตกิลมถานุโยค การบังคับควบคุมตัวเอง

ความปรุงแต่งอย่างที่สาม หลีกเลี่ยงการกระทบอารมณ์ เรียก อเนญชาภิสังขาร

ในโลกมีความปรุงแต่งทั้งสามอย่างนี้
ความปรุงแต่งทั้งสามอย่างนี้ กระทำไปเพื่อตอบสนองอัตตาตัวตนทั้งสิ้น

เพราะเราไม่รู้ความจริงว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา
เราคิดว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา อยากให้ตัวเรามีความสุข
อยากให้ตัวเราพ้นทุกข์ ก็เลยต้องดิ้นรนปรุงแต่งสามแบบ

ทีนี้พระพุทธเจ้าท่านฉลาดแหลมคม
ท่านบอกว่าตราบใดที่ยังปรุงแต่งอยู่ มันไม่ได้แก้ปัญหาตรงจุด
มันแก้ที่ปลายทางเท่านั้นเอง
ตรงจุดจริงๆ ก็คือ ตัวตนมีมั้ย ถ้ามาศึกษา ศึกษากาย ศึกษาใจของเราเอง
จนวันหนึ่งปัญญามันแจ้ง ละอวิชชาได้
รู้แจ้งว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา
ก็ปล่อยวางความยึดถือกาย ปล่อยวางความยึดถือใจได้

อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจจ์
ความไม่รู้อริยสัจจ์ข้อที่หนึ่ง ได้แก่ ความไม่รู้ทุกข์
คือเราไม่รู้ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวทุกข์
เราคิดว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา เป็นตัวดี ตัววิเศษ
เราก็ต้องดิ้นรน อยากให้มันดีไปเรื่อยๆ อยากให้มันเป็นสุขไปเรื่อยๆ
อยากให้มันพ้นทุกข์ไปเรื่อยๆ ให้เราเรียนรู้ รู้เข้ามาที่กาย รู้ลงเข้ามาที่ใจ
นี่วิธีการของพระพุทธเจ้า เรียนรู้ลงมาที่กายที่ใจของเราเอง
จนเห็นความจริงเลย กายนี้ไม่ใช่ตัวเราหรอก กายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ
ความดิ้นรนหวงแหนร่างกายนี้จะสลายไป
หรือเรียนรู้ลงไปที่จิตใจจะเห็นเลยจิตใจเป็นของไม่เที่ยง
เดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย สุขก็ชั่วคราวนะ ทุกข์ก็ชั่วคราว
ดีก็ชั่วคราว ชั่วก็ชั่วคราว ทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาถึงจิตถึงใจเราล้วนแต่ของชั่วคราวทั้งนั้น
กระทั่งตัวจิตตัวใจเองก็ของชั่วคราว จิตเดี๋ยวก็เกิดทางตาแล้วก็ดับไป
เกิดทางหูแล้วก็ดับไป เกิดทางใจแล้วก็ดับไป มีแต่ของชั่วคราวทั้งหมด

พอเห็นอย่างนี้เห็นความจริงแล้ว จิตนี้ไม่ใช่ตัวเราที่เที่ยงแท้ถาวรอะไร
ความดิ้นรนที่จะให้จิตมีความสุข ความดิ้นรนที่จะให้จิตพ้นทุกข์มันก็จะสลายไป
ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงเกิดจากการที่จิตของเราฉลาด
รู้ความจริงของจิตของใจจนมันหมดความดิ้นรน การที่เรารู้กายรู้ใจนั้นเรียกว่า รู้ทุกข์


ถาม – วิธีที่จะเห็นกายเป็นทุกข์เห็นใจเป็นทุกข์ทำยังไงคะ

หลวงพ่อจะบอกวิธีเห็นกายเป็นทุกข์ กับวิธีเห็นจิตเป็นทุกข์
วิธีเห็นกายเป็นทุกข์ไม่ยากนะ อย่างเรานั่งอยู่นี่ คอยรู้สึกไว้
อย่าใจลอยอย่าเผลอไปคิดอะไรเรื่อยเปื่อยนะ คอยรู้สึกตัวเองเป็นระยะๆ
เราจะเห็นเลยว่า เรานั่งอย่างสบายๆ ประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อยแล้ว
นั่งประเดี๋ยวเดียวก็เมื่อย พอเมื่อยแล้วเราทำยังไง
เราก็ขยับตัว เราเปลี่ยนอิริยาบถ พอเมื่อยปุ๊บเราก็ขยับอัตโนมัติเลย
เพราะเราหนีความเมื่อยด้วยวิธีนี้มาตลอดชีวิต เราไม่เคยรู้สึกเลย
พอเมื่อยขึ้นมาเราก็ขยับตัวปั๊บ ความเมื่อยหายไปนะ
เรารู้สึกไม่เห็นจะทุกข์ตรงไหนเลย ประเดี๋ยวความเมื่อยก็ตามมาทันอีก เราก็ขยับอีกนะ
นั่งอยู่ก็นั่งขยับไปเรื่อยๆ ยืนอยู่ก็ยืนขยับไปเรื่อยๆ
เดินมันก็ขยับอยู่แล้วล่ะ เราเดินมากๆ ก็เมื่อยนะ นอนอยู่ยังเมื่อยเลย
คนปกติ สมมตินอนแปดชั่วโมง จะนอนพลิกซ้ายพลิกขวา พลิกซ้ายพลิกขวา ไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าสิบครั้ง
ทำไมต้องนอนพลิก ก็เพราะมันเป็นทุกข์นั่นเอง ความทุกข์มันบีบคั้นร่างกาย มันทำให้ต้องขยับหนีไปเรื่อยๆ

อิริยาบถหรือการเคลื่อนไหวร่างกายนี้ มันปิดบังทำให้เรามองเห็นความทุกข์ของกายไม่ได้
เพราะฉะนั้น อย่างเรานั่งอยู่นี่ นั่งให้สบายๆ นะ
มีสตางค์มากๆ ไปซื้อเก้าอี้ตัวละแสนมานั่งก็ได้ ดูซิ มันจะมีความสุขจริงมั้ย
ถ้าไม่ขาดสตินั่งประเดี๋ยวเดียวก็จะเห็นแล้วว่ามันทุกข์นะ มันทุกข์จริงๆ มันทุกข์ล้วนๆ
นั่งไม่ขยับนี่ทุกข์ตายเลย ถ้าเป็นอัมพาตเป็นอะไรยิ่งกระดุกกระดิกไม่ได้นะ ทุกข์มากเลย
เราก็ดิ้นหนีความทุกข์ไปทั้งวันตั้งแต่ตื่นจนหลับ หลับแล้วก็ยังดิ้นไปดิ้นมา

คราวนี้มาดูจิตใจบ้าง
ธรรมะก็มีแต่กายกับใจนี่แหละ รู้กายแล้วว่ากายเป็นทุกข์ก็มาดูใจของเรา
จะเห็นว่าใจเรามันไม่เที่ยง ความสุขก็อยู่ชั่วคราวนะ
ความทุกข์ก็อยู่ชั่วคราว กุศลเกิดขึ้นก็ชั่วคราว
เช่น เราเกิดความรู้สึกตัวขึ้น เราจะรู้สึกตัวได้แวบเดียว เดี๋ยวก็จะเผลอเดี๋ยวก็จะลืมตัวครั้งใหม่
เพราะฉะนั้น ตัวกุศล ตัวรู้สึกตัว หรือตัวสติเองก็เกิดชั่วคราวเหมือนกัน
ไม่มีใครรักษาความรู้สึกตัวให้ต่อเนื่องยาวนานได้
สิ่งที่ทำให้จิตตั้งมั่นต่อเนื่องยาวนานได้มีอย่างเดียว คือ สมาธิ ไม่ใช่ตัวสตินะ
สติไม่ต่อเนื่องยาวนาน เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับเป็นขณะๆ ไป
อกุศลอย่างความโลภ ความโกรธ ความหลงก็เกิดเป็นขณะๆ เหมือนกัน
เช่น ที่หลวงพ่อบอกให้หัดตะกี๊นะ นั่งอยู่นี่ เดี๋ยวก็ดู ใจมันไปดูนะ
อาศัยตา เป็นทางผ่านไปดูรูป อาศัยหูเป็นทางผ่านไปฟังเสียง อาศัยใจเป็นทางผ่านให้คิด
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ทำงานหมุนจี๋ๆ อยู่ทั้งวัน
เดี๋ยวก็ดู เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด สังเกตใจของเรา หาความเที่ยงแท้อะไรไม่ได้

ใจเรานี่พล่านๆ ตลอดเวลา ใจเราถูกความอยากบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา
เดี๋ยวก็อยากดู เดี๋ยวก็อยากฟัง เดี๋ยวก็อยากคิด เดี๋ยวอยากโน่นอยากนี่
รวมทั้งอยากปฏิบัติ อยากฟังธรรม อยากไปวัดนะ อยากมาศาลาลุงชินนะ
ความอยากมันบงการเราตลอดเวลา ถ้าเราคอยรู้อยู่ที่ใจเรา เราจะเห็นเลยจิตใจเราไม่เคยเป็นอิสระเลย
จิตใจเราเป็นขี้ข้าของความอยากตลอดเวลานะ
ถ้าพูดหยาบๆ นะ เหมือนเป็นขี้ข้าเป็นทาสเขาตลอดเวลา
มันสั่งเราทั้งวันนะ สั่งอย่างโน้นสั่งอย่างนี้เราก็ต้องทำตามมัน
เช่น มันสั่งให้ไปเที่ยว ตัณหามันสั่งให้ไปเที่ยว เราไม่รู้ทันนะ เราก็ไปเที่ยว สบายใจ
ตัณหา เป็นเจ้านายที่ฉลาดที่สุด รู้จักให้คุณให้โทษ
มันสั่งให้เราไปเที่ยว ถ้าเราได้ไปเที่ยว มันจะให้รางวัลเรานิดนึง จะสบายใจ จะสบายใจแวบเดียวนะ
มันจะสั่งงานชิ้นใหม่อีกละ ถ้ามันสั่งให้ไปเที่ยวแล้วเราไม่ไปเที่ยว มันจะลงโทษเรา
เราจะรู้สึกกลุ้มใจ อึดอัด มันสั่งให้ไปจีบสาวสักคนนะ ได้ไปจีบสาวหนึ่งคนมีความสุขละ
พอได้หนึ่งคน มันสั่งอีกให้จีบสองคน ถ้าไม่จีบจะทุกข์ใจอีกละ นี่มันจะสั่งเราทั้งวันเลย

ดูคนที่ตกเป็นทาส มันจะมีความสุขที่ตรงไหน คอยดูอยู่ที่ใจนี่จะเห็นเลย
ใจเรานี้ถูกโขกถูกสับอยู่ทั้งวัน หาความสุขที่แท้จริงไม่ได้เลย
มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยนะ ร่างกายของเรายังได้นอนพัก แต่จิตใจนี่แทบไม่ได้พักผ่อนเลย
กลางคืนก็ฝันต่ออีกนะ ทรมานมากมีความทุกข์มาก
คอยรู้อยู่ที่จิตใจเรานี่จะเห็นเลยว่าจิตใจเรานี่ทุกข์มาก
จิตใจต้องทำงานทั้งวันทั้งคืนไม่ได้พักผ่อน ถูกโขกสับตลอดเวลา
เจ้านายมันโขกมันสับตลอดเวลา ทีนี้เราก็ไม่รู้ เราก็ไม่เคยเห็น

เราเป็นทาสที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นทาส
เมื่อเราเป็นทาสที่ไม่รู้ตัวว่าเป็นทาส เราก็ไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระได้
เพราะเราไม่รู้ว่าเราเป็นทาสอยู่ เพราะฉะนั้น คอยดูใจเราไว้นะ
ใจเราเดี๋ยวก็อยากไปโน่น เดี๋ยวก็อยากไปนี่ เดี๋ยวอยากคุยกับคนนี้
เดี๋ยวอยากรู้อยากมี คิดว่าอยากได้อย่างนี้นะ ได้มาแล้วจะมีความสุข กิเลสมันหลอกเรานะ
ให้มันวิ่งหาความสุข วิ่งทั้งชาติก็ไม่ได้นะ
ความสุขน่ะ อย่างตอนเราเด็กๆ เราจะรู้สึกเลย ถ้าเรียนหนังสือจบจะมีความสุข
พอเรียนจบปริญญาตรีมันบอกต่อนะต้องจบโทถึงจะมีความสุข
ถ้าได้ด๊อกเตอร์ก็ยิ่งมีความสุขใหญ่ พอเรียนหนังสือจบแล้วก็อย่างนั้นๆ แหละนะ
ไม่เห็นมันจะมีความสุขตรงไหนเลย ด๊อกเตอร์ก็มีหลายคนนะ ไม่เห็นจะมีความสุขเท่าไหร่
มันสอนเราต่ออีกนะ ถ้าได้งานดีๆ จะมีความสุข ถ้าได้เงินเดือนเยอะๆ จะมีความสุข
มีแต่คำว่า "ถ้า" ตลอดเลยนะ ถ้าได้ตำแหน่งใหญ่ๆ จะมีความสุข
มีแต่คำว่า "ถ้า" เพราะฉะนั้น ชีวิตวิ่งหาความสุขทั้งชาติเลยนะ
ต่อไปถ้าได้มีครอบครัวที่ดีๆ จะมีความสุข ถ้ามีลูกฉลาดๆ จะมีความสุข
ต่อไปพอแก่ๆ นะ ถ้าวันไหนไม่เจ็บไม่ไข้จะมีความสุข
พอแก่มากใกล้จะตาย เจ็บปวดทรมานมากแล้ว จะรู้สึกขึ้นมาอีกละ
ถ้าตายซะได้จะมีความสุข คือจนตายยังคิดอีกนะ ถ้าตายได้จะมีความสุข
วิ่งหาความสุขไปเรื่อยๆ นะ วิ่งพล่านๆ พล่าน ยิ่งกว่าหมาถูกน้ำร้อนนะ
พูดแบบง่ายๆ มันพล่านตลอดเวลา แล้วมันจะมีความสุขที่ไหน มันไม่ได้มีความสุข

ความสุขมันรออยู่ข้างหน้าตลอดเวลา วิ่งหาตลอดชีวิตก็ไม่ได้มันมา
วิ่งเหมือนจะหยิบได้แล้ว เหมือนจะคว้าเอามาได้แล้วก็เลื่อนหายไป
หลุดมือไปลอยอยู่ข้างหน้าอีกแล้ว วิ่งไปเรื่อยๆ นี่ถ้าเรามาคอยรู้อยู่ที่ใจเราจะเห็นเลย
โอ้ย น่าอเนจอนาถน้ำตาแทบร่วงเลยนะ มีแต่ทุกข์ล้วนๆ เลย ดีตรงไหน
เฝ้ารู้ไปเรื่อยๆ นะ รู้กายไป ดูกายนี้เป็นวัตถุเป็นก้อนธาตุ มีความทุกข์บีบคั้นตลอดเวลา
จิตใจมีแต่ความไม่เที่ยง มีความไม่เป็นอิสระ ถูกกดขี่ ถูกบังคับอยู่ตลอดเวลา
ไม่ใช่เจ้านายของตัวเองนะ ไม่ได้เป็นอัตตาได้หรอก ไม่ใช่เจ้าข้าวเจ้าของของมันได้
ต้องดูเรื่อยๆ นะ พอดูไปเรื่อยๆ ต่อไปเราก็จะเริ่มเห็นความจริง
ความจริงเป็นตัวปัญญาเห็นเป็นลำดับๆ ไป
จนเห็นว่า ร่างกายนี้จิตใจนี้ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง ก็ได้ธรรมชั้นต้น
หัดแรกๆ จะเห็นว่าร่างกายไม่ใช่ตัวเราก่อน
ร่างกายดูง่ายว่าไม่ใช่ตัวเรา แต่จิตใจดูยากว่าไม่ใช่ตัวเรา ต้องดูกันนานๆ

พระพุทธเจ้าท่านถึงสอนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย
ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ คนศาสนาอื่นก็ได้ ปุถุชนที่ไม่ได้สดับ สามารถเห็นว่ากายนี้ไม่ใช่ตัวเรา
เพราะว่าเห็นน่ะ คนโน้นก็ตายคนนี้ก็ตายนะ
หน้าตาของเราวันนี้กับหน้าตาของเราตอนเด็กๆ ก็ไม่เหมือนกัน เห็นละ
แต่ท่านบอกว่าปุถุชนที่ไม่ได้สดับไม่ได้ฟังธรรมของท่าน ไม่สามารถเห็นได้ว่าจิตไม่ใช่ตัวเรานะ
พวกเรารู้สึกมั้ย ในกายนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง เราตอนนี้กับเราตอนเด็กๆ ก็เป็นเราคนเดิม
รู้สึกมั้ย ในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง เราเดี๋ยวนี้กับเราตอนเด็กๆ ก็ยังเป็นเราคนเดิม
นี่เพราะอะไร เพราะเราไม่เห็นความเกิดดับของจิตนั่นเอง เราเลยคิดว่าจิตเที่ยง
จิตของเราตอนเด็กกับตอนนี้คนเดียวกัน จิตของเราวันนี้กับจิตของเราเย็นนี้ก็คนเดียวกัน
เรายังเป็นคนเดิมอยู่นะ จิตของเราเดี๋ยวนี้กับจิตของเราปีหน้านะ ก็ยังเป็นคนเดิมอีก
ตายไปแล้วเราก็ยังว่าอยู่ว่าจิตชาติหน้ากับจิตเดี๋ยวนี้ยังเป็นคนเดิมอีกนะ
เป็นเพราะเราไม่เห็นความจริง เราไม่เห็นความจริงว่าจิตนั้นเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
พระพุทธเจ้าท่านสอน จิตอาศัยอยู่ในกาย ดวงหนึ่งเกิดขึ้นดวงหนึ่งดับไปทั้งวันทั้งคืน
และก็วิ่งไปอย่างรวดเร็ว เราไม่เคยเห็น
ถ้าเรามาคอยรู้มาคอยดูนะ ดูใจของเรา ดูไปเรื่อยๆ สักวันก็จะเห็นความจริงได้

ตอนที่ 71

5. ความเชื่อบางอย่างของ "ชาวพุทธ"
ถาม หลวงพ่อกล่าวถึงการเคยฝึกฝนอบรมในกาลก่อน หมายความว่าหลวงพ่อเชื่อเรื่องชาติก่อนและชาติหน้าใช่หรือไม่ครับ แล้วมีข้อพิสูจน์บ้างไหมที่ทำให้เชื่อเรื่องนี้

ตอบ อาตมาไม่อยากให้พวกเราสนใจเรื่องที่กว้างเกินกว่าเรื่องการเจริญสติรู้รูปนามในปัจจุบัน แต่เมื่อถามถึงความเชื่อก็ขอยืนยันว่า อาตมาเชื่อว่าชาติก่อนและชาติหน้ามีจริง เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนไว้อย่างนั้น เราเป็นสาวกจะเชื่อความเห็นของตนเองมากกว่าเชื่อพระองค์ท่านไม่ได้ ส่วนเรื่องข้อพิสูจน์นั้นอาตมาขอสงวนคำตอบ เพราะถึงตอบไปก็มีแต่จะพาให้เกิดข้อสงสัยต่อไปอีกไม่รู้จักจบสิ้น อย่างไรก็ตามเรื่องชาติก่อนชาติหน้าตามที่อาตมาเข้าใจ ก็ไม่เหมือนกับที่ญาติโยมส่วนมากเข้าใจ คือส่วนมากญาติโยมจะเชื่อว่า ในตัวเรามีอะไรบางอย่างที่ไม่ตาย อาจจะเรียกว่าจิตหรือวิญญาณ เมื่อร่างกายตายลงสิ่งนี้เองก็ออกไปหาร่างเกิดใหม่ ที่เชื่อกันอย่างนี้เป็นความเชื่อนอกพระพุทธศาสนา คือเชื่อว่าสิ่งบางสิ่งเป็นอัตตาตัวตนถาวร ส่วนที่อาตมาเชื่อก็คือขันธ์ในอดีตมีอยู่เพราะมีเหตุมีปัจจัย ขันธ์ในปัจจุบันก็มีอยู่เพราะยังมีเหตุมีปัจจัยสืบต่อมาจากอดีต และในอนาคตถ้ายังมีเหตุมีปัจจัยสืบต่อ ขันธ์ก็จะยังมีอยู่อีก เรื่องนี้ขอตอบเพียงเท่านี้

ถาม ถ้าเช่นนั้นหลวงพ่อก็คงเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ด้วย แต่ผมได้ยินว่าเรื่องนรกสวรรค์เป็นเพียงอุบายหลอกให้คนทำดีเพื่อสังคมจะได้เกิดความสงบสุขเท่านั้น ความจริงแล้ว สวรรค์อยู่ในอกนรกอยู่ในใจ คือพอมีความสุขก็เหมือนขึ้นสวรรค์ พอมีความทุกข์ก็เหมือนตกนรกทั้งเป็นจริงไหมครับ

ตอบ จริงของคุณ แต่ไม่จริงของชาวพุทธ เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนอย่างนั้น ถ้าเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เราก็ควรเชื่อพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เชื่อคำบอกเล่าของผู้อื่นหรือเชื่อความคิดเห็นของตนเอง

ถาม การเจริญสติปัฏฐานจะทำได้ดีถ้าเราไม่มีเจ้ากรรมนายเวรคอยขัดขวางใช่ไหมคะ มีทางใดที่เราจะแก้กรรมของเรา ให้เจ้ากรรมนายเวรยอมอโหสิกรรมได้บ้าง

ตอบ สิ่งที่ขัดขวางการทำความดีในทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่ามาร มี 5 อย่างคือ (1) กิเลสมาร (2) ขันธมาร (3) อภิสังขารมาร (4) เทวปุตตมาร และ (5) มัจจุมาร เรื่องเจ้ากรรมนายเวรนั้นพระ พุทธเจ้าไม่ได้ทรงสอนไว้ อาตมาจึงไม่มีความรู้ความเข้าใจ ส่วนเรื่องกรรมนั้น กรรมก็คือการกระทำ เมื่อทำไปแล้วก็ต้องมีผลของการ กระทำ เราจะย้อนไปแก้การกระทำในอดีตไม่ได้ และถ้าเราเคยทำกรรมไม่ดีในอดีต ก็อย่าย้อนคิดถึงกรรมอันนั้น ให้ตั้งหน้าทำกรรมใหม่ที่ดีจึงจะเกิดประโยชน์

ตัวอย่างเช่นเรามีชนกกรรมทำให้เกิดมายากจน เราก็ไม่ต้องคอยคิดน้อยใจว่า เราทำอะไรกับใครไว้ในชาติปางก่อนจึงต้องเกิดมาจน หรือทำไมชาติก่อนเราไม่รู้จักทำทานชาตินี้จะได้ไม่ยากจน การคิดอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะเราย้อนไปเปลี่ยนแปลงการกระทำในอดีตไม่ได้ แต่เราควรจะทำกรรมใหม่ที่เป็นเหตุให้พ้นจากความ ยากจนตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ คือ (1) การรู้จักทำมาหากิน (2) การรู้จักบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้มา (3) การคบกับคนที่ดีและคอยแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์ และ (4) การรู้จักเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่อัตตภาพ กรรมใหม่ที่ดีเหล่านี้จะส่งผลบั่นทอนอิทธิพลของกรรมเก่าที่ทำให้เกิดมายากจนได้

ดังนั้นถ้าจะหาเจ้ากรรมนายเวรให้ได้จริงๆ อาตมาก็เห็นว่าชนก กรรมหรือกรรมที่แต่งให้เกิดผลนี้แหละคือเจ้ากรรมตัวจริง ส่วนนายเวรก็คือตัวเราเอง ถ้าไม่จองเวรคืออย่าไปคิดถึงอดีตเสียอย่างเดียวก็หมดเวรเท่านั้นเอง

ถาม ผมเคยได้ยินว่าถ้าเราฟังเทศน์มหาชาติจบได้ในวันเดียวจะได้พบพระศรีอาริย์จริงไหมครับ

ตอบ อาตมาไม่ทราบและไม่กล้ายืนยันด้วย เพราะความเชื่อเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่เกิดขึ้นในชั้นหลังพุทธกาล เข้าใจว่าสืบเนื่องมาจากเรื่องพระมาลัย ซึ่งอาตมาคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเพื่อสอนศีลธรรมในชั้นหลัง ความจริงเรื่องพระภิกษุที่เที่ยวไปในนรกและสวรรค์ แล้วกลับมาเล่าเรื่องราวให้มนุษย์ฟังก็มีปรากฏในพระไตรปิฎก เป็นเรื่องของพระมหาโมคคัลลานะ ดังนั้นเรื่องพระมาลัยอาจจะได้แนวคิดในการประพันธ์มาจากเรื่องของพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ อีกอย่างหนึ่ง ถ้ายืนยันว่าใครได้ฟังเทศน์มหาชาติจบในวันเดียวแล้วจะได้พบพระศรีอาริย์พุทธเจ้าแน่นอน ก็ดูจะขัดกับหลักธรรมข้ออื่นๆด้วยซ้ำไป เช่นถ้าคนนั้นเคยฟัง แต่ต่อมาได้เจริญปัญจมฌานแล้วพลิกไปเกิดในอสัญญสัตตาภูมิหรือพรหมลูกฟัก หรือเจริญอรูปฌานแล้วไปเกิดในอรูปภูมิ หรือฟังแล้วไปทำอนันตริยกรรมต้องไปเกิดในอเวจีมหานรกนานๆ หรือฟังแล้วภายหลังได้เจริญวิปัสสนาจนบรรลุพระอรหัตต์และนิพพานไปก่อน อย่างนี้ก็คงไม่ได้พบพระศรีอาริย์ อีกประการหนึ่งเราไม่ควรฝากความหวังว่า จะได้พบพระศรีอาริย์แล้วได้บรรลุธรรมอย่างง่ายดาย ด้วยการฟังเทศน์มหาชาติซึ่งเป็นการลงทุนน้อยแต่หวังผลมาก ที่ถูกควรตั้งใจศึกษาและปฏิบัติธรรมให้เต็มที่ ถ้าไม่นิพพานในพระศาสนานี้ก็พอมีหวังได้พบพระศรีอาริย์พุทธเจ้าต่อไปเพราะมีอุปนิสัยอยู่แล้ว แต่ถ้าฟังเทศน์มหาชาติเพื่อเพิ่มบารมีละก็ ได้บารมีหลายอย่างแน่ๆ หวังเพียงเท่านี้ดูจะสมจริงกว่า

นอกจากเรื่องการฟังเทศน์มหาชาติแล้ว บางคนก็เชื่อแปลกๆ เช่นเชื่อว่าถ้าได้ทอดกฐิน 7 วัดแล้วปิดอบายได้ หรือฝังลูกนิมิต 9 วัดในวันตรุษจีนแล้วจะไม่ตกนรก เรื่องเหล่านี้เป็นแค่การเชื่อตามๆ กัน ความจริงถ้าอยากปิดอบายให้ได้เด็ดขาด ก็ต้องเจริญวิปัสสนาจนบรรลุโสดาปัตติมรรค จึงจะเชื่อแน่ว่าปิดอบายได้จริง

เรื่องเชื่อตามๆ กันยังมีอีกมาก เช่นเคยมีนายทหารคนหนึ่งสลบไป พอฟื้นขึ้นมาก็เที่ยวประกาศว่าเวลาตักบาตรต้องเอาน้ำใส่บาตรด้วย จะได้มีน้ำดื่มในสวรรค์ ที่จริงถ้าอยู่สวรรค์แล้วยังกระหายน้ำจนเป็นทุกข์ละก็ นั่นคงไม่ใช่สวรรค์ซึ่งเป็นแดนของอิฏฐารมณ์แน่ๆ เรื่องเอาน้ำใส่บาตรทำให้พระสงฆ์องค์เจ้าเดือดร้อนกันมาก เพราะบางคนใส่กันทีละลิตรก็มี เจอเข้าวันละ 2-3 รายพระก็แทบเดินบิณฑบาตไม่ไหวแล้ว ซ้ำยังได้ข้าวไม่พอฉันเสียอีก

เรื่องสังฆทานก็น่าจะทำความเข้าใจกันบ้าง เวลานี้เราเชื่อกันว่า ถ้าซื้อถังเหลืองไปถวายหลวงปู่หลวงพ่อองค์นั้นองค์นี้ก็จัดว่าเป็นการทำสังฆทานแล้ว เพราะถังเหลืองคือสังฆทาน นั่นไม่ใช่สังฆทานเลย ยิ่งไปเที่ยวดักถวายถังในขณะที่พระบิณฑบาต นอกจากไม่ใช่สังฆทานแล้วยังเป็นเรื่องที่ไม่ถูกกาลเทศะเสียอีก ที่จริงสังฆทานคือการถวายทานแก่สงฆ์คือหมู่แห่งพระภิกษุ แม้มีข้าวเพียงทัพพีเดียวถ้าถวายแก่สงฆ์ ก็จัดว่าเป็นสังฆทานแล้ว

พวกเราชาวพุทธอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ คืออย่าเชื่อมงคลตื่นข่าวทั้งหลาย ควรหมั่นศึกษาและปฏิบัติธรรมให้ตรงตามที่พระพุทธเจ้าสอนจะดีกว่า ทั้งนี้การเชื่อมงคลตื่นข่าวเป็นเรื่องที่ตอบสนองความอ่อนแอทางจิตใจเท่านั้นเอง ในขณะที่คำสอนในทางพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุผล ซึ่งคนที่มีความเข้มแข็งทางจิตใจเท่านั้นจึงจะเข้าถึงความจริงแท้ได้

ตอนที่ 73
6.ขณิกสมาธิ : สมาธิเพื่อการเจริญวิปัสสนา

ถาม ขอให้หลวงพ่อช่วยอธิบายเกี่ยวกับเรื่องสมาธิหรือเรื่องจิตสิกขาที่ต้องใช้เพื่อการปฏิบัติธรรมด้วยครับ

ตอบ เรื่องจิตสิกขานั้นเป็นเรื่องของสมถภาวนา และเป็นเรื่องที่ต้องพูดกันมากสักหน่อย แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า อาตมาจะบรรยายเรื่องวิธีการนั่งสมาธิ การเข้าฌานสมาบัติ ตลอดจนเรื่องอภิญญาใดๆ อันเป็นเรื่องยากที่พวกเราชาวเมืองจะทำได้จริงในสถานภาพปัจจุบัน สิ่งที่อาตมาจะกล่าวมีดังนี้คือ

ประการแรก ในทางปริยัติธรรมถือว่าจิตสิกขาเป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตวิสุทธิ และมีความหมายถึงอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้เป็นสมถยานิกจะต้องกระทำกัน สำหรับผู้ที่เป็นวิปัสสนายานิก และไม่สามารถทำอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิได้ก็ไม่ต้องตกใจ เพียงมีขณิกสมาธิ คือความตั้งมั่นของจิตอยู่ในอารมณ์รูปนาม อันเดียวที่กำลังปรากฏอย่างสบายๆ ไม่ซัดส่ายหลงไปหาอารมณ์อื่น ท่านก็ถือว่าเป็นจิตวิสุทธิโดยอนุโลมด้วย สำหรับญาติโยมทั้งหลาย เป็นชาวเมือง อาตมาจึงจะพูดเฉพาะเรื่องขณิกสมาธิเพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการเจริญวิปัสสนาต่อไป ส่วนผู้ใดสนใจจะศึกษาแนวสมถยานิกก็ขอให้ไปศึกษาเอาเองตามวัดป่า เพราะการทำสมาธิที่ละเอียดกว่าระดับขณิกสมาธิ จำเป็นต้องใช้เวลาและสิ่งแวดล้อมที่สงบวิเวกพอสมควร คนที่อยู่ในเมือง วุ่นวายอยู่กับการทำงานที่ต้องคิดมากทั้งวัน ยากมากที่จะทำได้ ส่วนมากจะทำได้เพียง "ค่ำนี้สงบ - พรุ่งนี้เช้าฟุ้งซ่านใหม่" เท่านั้น

ประการที่ 2 อาตมาเห็นว่า พวกเรานักปฏิบัติที่เป็นวิปัสสนายานิกมักมองข้ามขณิกสมาธิมากเกินไป เพราะไปคิดว่า แค่การจดจ่อรู้อารมณ์อันเดียวก็เท่ากับได้ขณิกสมาธิแล้ว นี้เป็นข้อผิดพลาดอย่างสำคัญทีเดียว

ในความเห็นของอาตมา การจงใจจดจ่อหรือเพ่งจ้องอยู่ในอารมณ์ อันเดียวด้วยอำนาจของตัณหาคือความอยากจะปฏิบัติธรรม น่าจะจัดว่าเป็นมิจฉาสมาธิมากกว่าสัมมาสมาธิ เช่นการเอาความรู้สึกไปเพ่งจ้องแนบแน่นจมแช่อยู่กับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง มีเท้า ท้อง มือ และลมหายใจ เป็นต้น หรือแม้แต่การเพ่งเวทนา และเพ่งจิต ทำให้จิตในขณะนั้นมีอาการหนักๆ แน่นๆ อึดอัด ประกอบด้วยโทมนัสเวทนา ไม่เบา ไม่นุ่มนวล ไม่อ่อนโยน ไม่ควรแก่งาน ไม่ตั้งมั่นด้วยสติปัญญา แต่ตั้งอยู่ด้วยการกดข่มบังคับด้วยอำนาจของตัณหาคือความอยากจะปฏิบัติธรรม และไม่รู้อารมณ์อย่างซื่อตรงแต่รู้ไปตามความอยากรู้ จิตที่มีสมาธิแบบนี้เอาไปทำวิปัสสนาไม่ได้จริง เพราะเป็นอกุศลจิต แต่นักปฏิบัติส่วนมากชอบเอาจิตชนิดนี้ไปทำวิปัสสนากัน เพราะไม่รู้จักจิตที่มีสมาธิอีกแบบหนึ่ง (ทั้งนี้ไม่ต้องกล่าวถึงสมาธิประเภทลืมตัว เคลิบเคลิ้มด้วยอำนาจของโมหะและโลภะ หรือฟุ้งซ่านออกรู้เห็นสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ซึ่งเอาไปทำวิปัสสนาไม่ได้เช่นกัน)

สัมมาสมาธิไม่ใช่มีแค่เอกัคคตาเจตสิก แต่องค์ธรรมของสัมมาสมาธิคือ "เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดร่วมกับกุศลจิตเท่านั้น" ซึ่งสมาธิประเภทที่ลืมเนื้อลืมตัวหรือเพลิดเพลินในความสงบสบายหรือออกรู้เห็นสิ่งต่างๆ เป็นสมาธิที่ประกอบด้วยโมหะกับโลภะ ส่วนสมาธิที่เป็นการเพ่งจ้องหรือกดข่มจิต จนรู้สึกหนักๆ แน่นๆ แข็งทื่อ เป็นสมาธิ ที่ประกอบด้วยโมหะกับโทสะ จิตในขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ดังนั้นสมาธิที่เกิดในขณะนั้นจึงไม่ใช่สัมมาสมาธิ

ถ้าเมื่อใด ผู้ปฏิบัติมีสติระลึกรู้สภาวธรรม หรือรูปนามที่กำลังปรากฏ ตรงตามความเป็นจริง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารู้ทันสภาวะความหลงของจิตที่หลงไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ) โดยไม่ได้ตั้งใจหรือมีตัณหาที่จะรู้สภาวธรรมนั้นๆ เมื่อนั้นขณิกสมาธิจะเกิดขึ้นเอง คือจิตจะเกิดความตื่นตัวหลุดออกมาจากโลกของความคิดความฝัน หรือโลกสมมุติบัญญัติ แล้วรู้ตัวอยู่อย่างสบายๆ รู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏ โดยไม่หลง ไม่ไหลไปจมแช่อยู่กับอารมณ์ เป็นความตั้งมั่นอย่างเป็นธรรมชาติธรรมดา ไม่ใช่ตั้งมั่นขึ้นด้วยอำนาจของตัณหา ความตั้งมั่นชนิดนี้แหละที่อาตมาเห็นว่าเป็นขณิกสมาธิตัวจริง

ประการที่ 3 การทำสมถภาวนาเป็นสิ่งที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้า แต่การเจริญสติปัฏฐานที่เป็นวิปัสสนาด้วยความมีสติสัมปชัญญะ เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งรูปนามที่ประกอบกันเป็น "ตัวเรา" ตามความเป็นจริง จนจิตหมดความอยากและความยึดถือในรูปนาม อันเป็น ทางแห่งความพ้นทุกข์นั้น เป็นคำสอนที่มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ดังนั้นถ้าชาวพุทธไม่สนใจเรื่องการเจริญปัญญาหรือการทำวิปัสสนาภาวนา แต่สนใจอยู่แค่เรื่องสมาธิ ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า


การทำสมถะมีประโยชน์กับนักปฏิบัติทุกคน แต่จำเป็นสำหรับนักปฏิบัติบางคน

ตอนที่ 74

7. สมถะกับสัมมาสมาธิ
ถาม การที่หลวงพ่อกล่าวว่าสมถะมีมาก่อนพระพุทธเจ้า แสดงว่าการทำสมถะไม่สำคัญใช่ไหมครับ แล้วที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเจริญศีล สมาธิ ปัญญา จะไม่ขัดกับคำกล่าวที่ว่าสมถะไม่สำคัญหรือครับ

ตอบ การที่กล่าวว่าการทำสมถะมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ทำให้บางท่านเกิดความสงสัยว่า สมถะเป็นสิ่งที่ควรทำหรือไม่เรื่องนี้พระ พุทธเจ้าทรงแสดงธรรมไว้อย่างชัดเจนว่า (294) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรให้เจริญด้วยปัญญาอันยิ่งเป็นไฉน? คือ สมถะและวิปัสสนา (อาคันตุกาคารสูตร สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค พระสุตตันตปิฎกเล่ม 11 พระไตรปิฎกเล่ม 19)

การทำสมถะมีประโยชน์กับนักปฏิบัติทุกคน แต่จำเป็นสำหรับนักปฏิบัติบางคน
ทั้งนี้เพราะ
1. การทำสมถะมีประโยชน์กับนักปฏิบัติทุกคนในแง่ที่ว่า
(1) สมถะเป็นเครื่องข่มนิวรณ์ จิตที่ปราศจากนิวรณ์เท่านั้นจึงควรแก่งานวิปัสสนา และ
(2) เป็นที่พักผ่อนอันสบายของจิตยามเกิดความอ่อนล้าของจิตในระหว่างการเจริญวิปัสสนา ครูบาอาจารย์วัดป่าท่านมักเปรียบการทำสมถะว่าเหมือนกับการลับมีด ถ้าเราใช้มีดแล้วไม่เคยลับมีด การตัดสิ่งที่ต้องการย่อมยากลำบากเพราะตัดไม่ค่อยจะขาด หรือขาดก็ต้องใช้แรงมาก บางคราวท่านก็เปรียบเทียบว่าเหมือนคน ทำงานย่อมต้องการการพักผ่อน จิตก็ต้องการการพักหลังจากการเจริญปัญญาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และการทำสมถะเป็นการหาที่พัก ที่ดีให้กับจิต
2. การทำสมถะจำเป็นและขาดไม่ได้ สำหรับสมถยานิกหรือผู้ปฏิบัติที่ใช้สมาธินำปัญญา คือต้องทำสมถะจนเกิดฌานเสียก่อน แล้วค่อยพิจารณาองค์ธรรมให้เกิดปัญญาในภายหลัง แต่การทำสมถะไม่ใช่เรื่องจำเป็นที่ขาดเสียไม่ได้ สำหรับวิปัสสนายานิกหรือผู้ปฏิบัติที่ใช้ปัญญานำสมาธิ คือผู้เจริญสติสัมปชัญญะระลึกรู้รูปนามไปเลย แล้วจิตจึงค่อยรวมเข้าอัปปนาสมาธิเองในภายหลัง
เป็นความจริงที่ว่า ผู้บรรลุธรรมจะต้องบรรลุด้วยปัญญาวิมุตติและเจโตวิมุตติทุกคน หมายความว่า เราต้องมีทั้งปัญญาและสมาธิจึงจะบรรลุธรรมได้ แต่ก็ขอให้เราแยกกันให้ออก ระหว่างการทำสมถะกับสมาธิ คือการทำสมถะมีผลให้เกิดสมาธิจริง แต่การมีสมาธิไม่จำเป็นต้องเกิดจากการทำสมถะเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีขณิกสมาธิ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ของการทำวิปัสสนา อาจไม่ต้องเริ่มมาจากการทำสมถะก็ได้ อย่างไรก็ตามผู้ใดทำสมถะได้ก็มีประโยชน์ เหมือนกับคนสองคนเดินทางไกล คนหนึ่งต้องนอนกลางดินกินกลางทรายไปตลอดทาง อีกคนหนึ่งเดินทางไกลพอเหนื่อยก็มีที่พักแรมอันสะดวกสบาย สองคนนี้ใครสบายกว่ากันก็คงพอนึกได้

ถาม หมายความว่าการทำสมถะเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นหรือไม่ควรทำ ดังนั้นเราไม่ต้องนั่งสมาธิเลยก็ได้ ใช่ไหมครับ

ตอบ พวกเราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านสอนว่าธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่งมี 2 อย่างคือสมถะกับวิปัสสนา เราชาวพุทธก็ต้องเชื่อฟังท่าน จะพูดเอาตามใจชอบว่าไม่ควรทำสมถะย่อมเป็นการไม่สมควร เพราะสมถะจำเป็นสำหรับผู้ปฏิบัติบางคน แต่มีประโยชน์กับผู้ปฏิบัติทุกคน
แต่ขอให้สังเกตถ้อยคำของพระพุทธเจ้าให้ดี ท่านเน้นว่าควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่เจริญแบบไร้สติ ไร้ปัญญา หมายความว่าเราจะทำสมถะหรือวิปัสสนาก็ตาม เราต้องรู้ว่า
(1) เราจะทำอะไร (สมถะ/วิปัสสนา)
(2) จะทำเพื่ออะไร (สงบ/พ้นทุกข์)
(3) จะทำอย่างไร (มีสติรู้อารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง/มีสติสัมปชัญญะรู้รูปนามตามความเป็นจริง) และ
(4) ระหว่างทำก็ต้องมีสติปัญญารู้ชัดว่าทำอะไรอยู่ด้วย หากในเวลาที่ควรทำสมถะก็ฝืนจะเจริญปัญญา ในเวลาที่ควรเจริญปัญญากลับไปทำให้จิตหยุดนิ่งอยู่กับสมถะ อย่างนี้ก็นับว่าปฏิบัติไม่ถูก และในเวลาทำสมถะและวิปัสสนา เราจะทิ้งสติไม่ได้ ไม่ใช่นั่งเคลิ้มครึ่งหลับครึ่งตื่น หรือนั่งเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ แล้วบอกว่าเป็นการทำสมถะตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอน อันนั้นเป็นความเข้าใจผิดเสียแล้ว เรื่องนี้หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านสอนไว้ชัดเจนน่าฟังมาก ว่า "ทำสมาธิมากก็เนิ่นช้า คิดพิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน หัวใจสำคัญของการปฏิบัติคือการมีสติในชีวิตประจำวัน จะเดิน (รวมทั้งเดินจงกรม) ก็ต้องเดินด้วยความมีสติจะนั่ง (รวมทั้งนั่งสมาธิ) ก็ต้องนั่งด้วยความมีสติ เพราะมีสติก็คือมีความเพียร ขาดสติก็คือขาดความเพียร"
ประเด็นที่คุณถามจึงตอบได้ว่า สัมมาสมาธิเป็นสิ่งที่จำเป็นและ ขาดไม่ได้สำหรับทุกคนที่ปรารถนามรรคผลนิพพาน ส่วนการทำสมถะมีประโยชน์กับทุกคน แต่จำเป็นสำหรับสมถยานิก สำหรับเรื่องการนั่งสมาธินั้น ขอตอบว่า เรามีสมาธิได้ในทุกอิริยาบถ ไม่เฉพาะในอิริยาบถนั่งเท่านั้น แต่ถ้าจะนั่งทำสมถะแบบขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย อย่างที่นิยมกันนั้น หากเป็นการทำด้วยปัญญาอันยิ่งก็ควรทำ แต่ หากทำเพราะคิดว่านั่นคือทั้งหมดของการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา หรือทำเพื่อสนองความอยากรู้อยากเห็นตามอำนาจของกิเลสตัณหา หรือทำเอาความเคลิบเคลิ้มขาดสติ อย่างนั้นก็ไม่ถูกต้อง
อาตมามีข้อสังเกตว่าสมถะเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะผู้ปฏิบัติต้องคอยแก้จิตที่ไม่ดีให้ดี ต้องคอยแก้จิตที่ไม่สงบให้สงบ เมื่อจิตดีและสงบแล้วก็ต้องคอยรักษาไว้ สมถะทำยากแต่พวกเราชอบทำ เพราะเชื่อว่าจำเป็นเหลือเกินสำหรับการเจริญวิปัสสนา พอพูดถึงการปฏิบัติธรรมพวกเราก็จะเริ่มคิดถึงการหลับตานั่งสมาธิกันก่อนอย่างอื่น

ถาม ขออนุญาตถาม ตามความเข้าใจของดิฉัน สมถะเป็นของที่ทำได้ง่ายเพราะมีมาก่อนพระพุทธเจ้า ส่วนวิปัสสนาน่าจะทำได้ยาก เพราะหลวงพ่อก็กล่าวเองว่าวิปัสสนามีขึ้นเฉพาะเมื่อมีพระพุทธเจ้าเท่านั้น

ตอบ สมถะทำยากเพราะมีกิจที่ต้องทำมาก เช่นคุณจะทำกสิณให้ได้ฌาน คุณต้องเริ่มหาตั้งแต่วัตถุที่จะใช้เพ่ง เช่นถ้าจะทำปฐวีกสิณหรือการเพ่งดิน คุณก็ต้องเตรียมดิน คัดเลือกดินนำมาทำเป็นดวงกสิณ จากนั้นคุณต้องหัดดูดวงกสิณนั้นด้วยตาของคุณ ดวงกสิณนั้นจัดเป็นบริกรรมนิมิต จนภาพของดวงกสิณติดใจ คือหลับตาก็เห็นภาพเหมือนเมื่อลืมตา ภาพนั้นจัดเป็นอุคคหนิมิต เท่านี้ยังไม่พอ คุณต้องรู้ภาพดวงกสิณในใจไปจนเกิดสิ่งที่เรียกว่าปฏิภาคนิมิต คือดวงกสิณในใจผ่องใสหมดจดปราศจากริ้วรอยราวกับแก้วผลึก และจะน้อมจิตให้ดวงกสิณเล็กใหญ่ก็ได้ตามปรารถนา เพียงแค่เริ่มต้นเท่านี้ยังไม่ทันถึงฌานก็ยากมากแล้ว ส่วนการนั่งสมาธิที่นั่งเคลิ้มๆ ลืมเนื้อลืมตัวไม่มีสตินั้น ไม่ใช่การทำสมถะแต่อย่างใด เอาล่ะสมมุติว่าคุณเพ่งกสิณจนได้ฌานแล้ว การจะรักษาฌานเอาไว้ก็เป็นงานยากอีก
ในขณะที่วิปัสสนานั้นยากก็ตรงที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไร เราจึงต้องฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราศึกษาคำสอนของท่านจนเข้าใจแล้ว จะทราบว่าวิปัสสนาทำง่ายที่สุด ตัวอย่างเช่นเมื่อความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น ถ้าคุณทำสมถะคุณจะต้องหาทางทำให้ความฟุ้งซ่านดับไปเพื่อให้จิตสงบ แล้วหาทางรักษาความสงบนั้นไว้ แต่ถ้าคุณจะทำวิปัสสนา คุณเพียงแต่รู้ว่าความฟุ้งซ่านกำลังปรากฏอยู่ในฐานะที่เป็นเพียงนามธรรมอันหนึ่งเท่านั้น โดยที่คุณไม่ต้องไปแก้ไขอะไรเลย

ถาม รูปแบบของการทำสมถะจะต้องยึดตามคำสอนเรื่องกรรมฐาน 40 เท่านั้น หรือจะใช้อารมณ์กรรมฐานอย่างอื่นก็ได้ครับ

ตอบ อารมณ์ของสมถกรรมฐานมีมากไม่มีประมาณ เพราะหาง่ายเนื่องจากใช้บัญญัติเป็นอารมณ์ ที่พระเถระชั้นหลังท่านจัดเป็น 40 อย่างก็เพียงทำเป็นตัวอย่างไว้เท่านั้น ในพระไตรปิฎกและอรรถกถายังมีการกล่าวถึงอารมณ์กรรมฐานอื่นๆ ไว้อีกมากมาย เช่นพระพุทธเจ้าทรงสอนท่านพระจุลปัณถกะให้ลูบคลำผ้าขาวและบริกรรมว่า "ผ้าเช็ด ฝุ่น ย่อมเช็ดฝุ่น" พระเถระบางรูปพิจารณาดอกบัวแดงที่ปักไว้บนพื้นทราย บางรูปพิจารณาการละลายของน้ำแข็งที่ชายคาพระคันธกุฎี พระเถรีบางรูปพิจารณาน้ำที่หกและซึมลงบนแผ่นดิน บางรูปพิจารณาโคมไฟที่ดับไป สามเณรบางรูปพิจารณาสอนตนเองโดยปรารภถึงการไขน้ำเข้านาและการดัดลูกศร เป็นต้น สำหรับพระเถระร่วมสมัยของพวกเรานี้ท่านเคยสอนสมถกรรมฐานแบบพิเศษไว้สำหรับบางคนก็มี เช่น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล สอนให้ศิษย์บางรูปคิดพิจารณาผมเพียงเส้นเดียว และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย สอนให้พระรูปหนึ่งบริกรรมชื่อผู้หญิงแทนคำว่าพุทโธ เพราะท่านบริกรรมพุทโธแล้วพุทโธหายกลายเป็นชื่อผู้หญิงทุกที ท่านก็บริกรรมชื่อผู้หญิงจนจิตรวมได้เหมือนกัน อย่างนี้ก็มีมาแล้ว

ตอนที่ 75
8. หลักและอุบายของการปฏิบัติธรรม

ถาม หลวงพ่อมักกล่าวถึงคำว่าสติปัฏฐานบ้าง วิปัสสนาบ้าง อยากทราบว่าทั้งสองอย่างนี้เป็นอันเดียวกันใช่หรือไม่ครับ

ตอบ ไม่ใช่อันเดียวกันแต่ก็เกี่ยวเนื่องกัน คืออารมณ์ของสติปัฏฐานมีทั้งส่วนที่ใช้ทำสมถะและส่วนที่ใช้ทำวิปัสสนา หากอารมณ์ใดเป็นบัญญัติก็ใช้ทำสมถะ หากอารมณ์ใดเป็นปรมัตถ์คือเป็นรูปนามก็ใช้ทำวิปัสสนา
ในเบื้องต้นที่เราเจริญสติปัฏฐานโดยใช้อารมณ์รูปนามนั้น ก็ยังไม่ถึงขั้นเป็นการเจริญวิปัสสนาแท้ๆ แต่เป็นเพียงการตามรู้รูปนามหรือ อนุปัสสนา เช่นกายานุปัสสนาคือการตามรู้กาย เวทนานุปัสสนาคือการตามรู้เวทนา เป็นต้น
ให้ตามรู้ด้วยสติเนืองๆ เพื่อรู้ชัดว่าสภาวธรรมคือรูปนามอันใดกำลังปรากฏ จนเกิดความเข้าใจด้วยปัญญาว่าสภาวธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นเพียงรูปธรรมหรือนามธรรมที่เกิดดับไปตามเหตุตามปัจจัยที่ สืบเนื่องกันไปเท่านั้น ถัดจากนั้นเมื่อตามรู้สภาวะของรูปนามมากเข้าๆ จนเห็นความสืบเนื่อง (สันตติ) ของรูปนามขาด คือเห็นรูปเก่าดับไปแล้ว รูปใหม่เกิดขึ้น หรือเห็นนามเก่าดับไปแล้วนามใหม่เกิดขึ้น จึงจะจัดว่าเป็นภาวนามยปัญญา และเป็นวิปัสสนาญาณเบื้องต้นที่เรียกว่า อุทยัพพยญาณ เรื่องเหล่านี้มีรายละเอียดต้องศึกษากันมากเหมือนกัน เอาไว้ปฏิบัติไปศึกษาไปก็ได้ ในชั้นนี้จำไว้แต่เพียงแค่ว่า การเจริญวิปัสสนานั้น ต้องมีสติรู้รูปนาม และมีปัญญาหรือสัมปชัญญะรู้ความเป็นจริงของรูปนามนั้นๆ ตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ด้วย
วิปัสสนานั้นทำไปเพื่อทำลายความรู้ผิดเข้าใจผิดที่ว่า สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีอยู่จริง ถ้าพูดด้วยภาษาของท่านอาจารย์พุทธทาสอาจจะฟังง่ายยิ่งขึ้น คือพูดได้ว่าวิปัสสนานั้น ทำไปเพื่อละความเห็นผิดว่ามีตัวตนของตน หรือมีตัวกูของกู แต่ถ้าจะพูดให้ครบถ้วนก็ต้องกล่าวว่าปฏิบัติไปเพื่อทำลายวิปัลลาส 4 ประการคือทำลายความเห็นผิดที่ว่า รูปนามเป็นสุภะไม่ใช่อสุภะ เป็นนิจจังไม่ใช่อนิจจัง เป็นสุข ไม่ใช่ทุกข์ และเป็นอัตตาไม่ใช่อนัตตา

ถาม ขออนุญาตเรียนถามว่า เราทำวิปัสสนาเพื่อละความเป็นตัวตนหรือตัวกูของกูไม่ใช่หรือ ทำไมหลวงพ่อจึงกล่าวว่า ทำไปเพื่อละความเห็นผิดว่ามีตัวกูของกู

ตอบ ถ้าเราศึกษาพระพุทธศาสนาให้มากขึ้นทั้งโดยภาคปริยัติหรือภาคปฏิบัติ ถึงจุดหนึ่งจะเข้าใจความจริงว่า สิ่งที่เรียกว่าตัวตนของตน หรือตัวกูของกูนั้น ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเพียงภาพลวงตาเท่านั้น สิ่งที่มีอยู่คือรูปธรรมและนามธรรมที่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้นชั่วขณะเท่านั้น แต่เพราะเราไม่เข้าใจจึงไปหลงสำคัญมั่นหมายผิดๆ ว่า รูปนามเหล่านั้นเป็นตัวตน การเจริญวิปัสสนาจึงทำไปเพื่อละความรู้ผิดเข้าใจผิดเท่านั้น ไม่ใช่ทำไปเพื่อละความเป็นตัวตน เพราะไม่มีตัวตนใดๆ จะให้ละสักอย่างเดียว

ถาม การหัดแยกรูปนามจัดเป็นวิปัสสนาญาณไหมคะ
ตอบ เป็นการฝึกเจริญวิปัสสนา ยังไม่ใช่วิปัสสนาญาณ แต่เป็นญาณหรือปัญญาเบื้องต้นที่ยังเจือด้วยจินตามยปัญญาซึ่งจะช่วยแก้ความเห็นผิดว่าสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ถ้ากล่าวโดยองค์ธรรมในเรื่องวิสุทธิ 7 ก็จัดเป็นวิสุทธิที่ 3 คือทิฏฐิวิสุทธิ ถ้ากล่าวโดยญาณในเรื่องโสฬสญาณก็จัดเป็นญาณที่ 1 ชื่อนามรูปปริจเฉทญาณ ถ้ากล่าวโดยองค์ธรรมในเรื่องปริญญาก็เป็นปริญญาแรกเรียกว่าญาตปริญญา แต่วันนี้เราจะพูดกันในเชิงการปฏิบัติ คุณเพียงทราบวิธีการหัดแยกรูปนามก็พอแล้ว ยังไม่ต้องจำชื่อก็ได้เดี๋ยวจะกลุ้มใจเสียก่อน
วิธีการง่ายๆ ที่จะใช้หัดแยกรูปนามมีหลายอย่าง เช่นให้คุณตาม รู้ว่ารูป ยืน เดิน นั่ง นอน เหล่านี้เป็นรูป จิตที่ไปรู้รูป ยืน เดิน นั่ง นอนเป็นนาม หรือสิ่งที่ตามองเห็น (สี) เป็นรูป อาการเห็นเป็นนาม เป็นต้น
หรืออยากหัดให้ละเอียดก็รู้รูปนั่งเสียก่อนก็ได้ รอดูไปเรื่อยๆ จน เกิดความเมื่อย จะเห็นว่าความเมื่อยเป็นอีกสิ่งหนึ่งเรียกว่าเวทนา ไมใช่รูป และไม่ใช่จิต (วิญญาณ) ที่เป็นผู้ไปรู้รูปนั่งและรู้ความเมื่อย สังเกตต่อไปก็จะเห็นว่าเวลาที่เมื่อยนั้นจิตใจมักกระสับกระส่ายอยากจะเปลี่ยน อิริยาบถ ความกระสับกระส่ายอยากเปลี่ยนอิริยาบถก็เป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าสังขาร ฝึกรู้ไปเรื่อยๆ ก็จะพบว่ายังมีธรรมชาติอีก 2 อย่าง อย่างหนึ่งคือความจำได้หมายรู้ อันนี้คือสัญญา อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องราวที่คิดนึกไป อันนี้เป็นสมมุติบัญญัติ ในเวลาปฏิบัติให้รู้รูปนาม อย่าหลงให้ความคิดหรือสมมุติบัญญัติเข้ามาปิดบังความจริงได้

ถาม วิธีการหัดสังเกตและทำความรู้จักขันธ์ 5 โดยตรงนี้ เป็นวิธีที่ไม่ต้องอาศัยการทำสมถะเช่นการบริกรรมพุทโธก่อนใช่ไหมครับ คือ เป็นการรู้สภาวะของขันธ์ที่กำลังปรากฏเข้าไปตรงๆ เลย
ตอบ ใช่แล้ว

ถาม หลวงพ่อมักกล่าวถึงการเจริญสติในทุกๆ อิริยาบถ ขอ เรียนถามว่าหากจะรู้รูปพองยุบ รู้การกำหนดจังหวะเคลื่อนไหวเท้าระหว่างการเดินจงกรม หรือฝึกจังหวะการเคลื่อนไหวมือ จะใช้แทนการรู้รูปยืนเดินนั่งนอนได้ไหมครับ

ตอบ พวกเราชาวพุทธมีแนวปฏิบัติต่างๆ กันเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้เป็นไปตามอุบายวิธีการปฏิบัติของครูบาอาจารย์แต่ละสำนัก ซึ่งท่านได้อาศัยประสบการณ์เฉพาะตัวทดลองปฏิบัติแล้วท่านรู้สึกว่าได้ผลดี จึงนำมาถ่ายทอดให้เป็นวิทยาทานด้วยความเมตตากรุณาของท่าน หากผู้ใดพอใจแนวทางใดก็เลือกทำเอาตามอัธยาศัยก็แล้วกัน ส่วนสิ่งที่อาตมามักนำมากล่าว ไม่ได้เน้นที่อุบายวิธีการปฏิบัติ แต่ต้องการกล่าวถึงหลักการปฏิบัติตามหลักกิจในอริยสัจจ์และสติปัฏฐาน ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงประทานเป็นมรดกไว้ให้พวกเราศึกษาปฏิบัติกัน ขอให้แต่ละท่านลองศึกษาดูก็แล้วกัน เมื่อศึกษาแล้วท่านจะปฏิบัติในแนวทางใดด้วยอุบายวิธีใดก็แล้วแต่ความถนัดเถิด

ถาม การหัดแยกรูปนามนั้น จะหัดแยกโดยรู้รูปพองยุบได้หรือไม่ครับ เพราะผมเคยฝึกมาแนวนี้

ตอบ ได้ คือเห็นรูปพองยุบยกย่างเหยียบ เป็นรูปที่ถูกรู้ จิตที่รู้รูปเป็นอีกส่วนหนึ่งคือเป็นคนละขันธ์กัน เมื่อรู้มากเข้าก็จะรู้เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณได้เหมือนกันถ้าไม่เอาแต่หลงเพ่งจ้องบัญญัติพองยุบจนละเลยการสังเกตสภาวะรูปนาม
ไม่เพียงแต่แนวพองยุบเท่านั้น ในบ้านเมืองเรายังมีแนวทางปฏิบัติที่ดีๆ ในการเจริญสติอีกมาก เช่น การเจริญสติโดยเริ่มต้นจากการบริกรรมพุทโธตามแนวของครูอาจารย์พระป่า การเจริญอานาปานสติตามแนวของท่านอาจารย์พุทธทาส การทำจังหวะการเคลื่อนไหวมือตามแนวของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ การเจริญสติตามแนวของท่าน ก.เขาสวนหลวง และการกำหนดรู้รูปนามตามแนวของท่านอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เป็นต้น การปฏิบัติของผู้ใดถ้าเน้นที่แก่นคือการเจริญสติแล้วก็ใช้ได้ทั้งนั้น ถ้าไปติดกันอยู่ที่เปลือกคือเน้นแต่รูปแบบไม่เน้นการเจริญสติตามรู้กายตามรู้ใจให้ถูกต้องก็ใช้ไม่ได้ จุดเริ่มต้นอาจจะต่างกันบ้างก็ไม่เป็นไรหรอก ขอให้ศึกษาปฏิบัติให้ถึงแก่นแท้ของการเจริญสติก็แล้วกัน

ตอนที่ 76

ถาม ผมเห็นว่าการกำหนดอิริยาบถโดยจงใจนั่งหรือเดินจงกรม เป็นการกระทำที่ยังมีตัณหาและทิฏฐิแฝงอยู่ เราน่าจะรู้อิริยาบถที่กำลังปรากฏไปเลย ให้อิริยาบถแต่ละอย่างเกิดจากความจำเป็น ไม่ใช่เกิดจากความอยากให้เป็น

ตอบ ถ้าใครถนัดที่จะจงใจทำอิริยาบถก่อนก็ทำไป ใครถนัดที่จะรู้อิริยาบถที่กำลังปรากฏไปเลยก็ทำไป ใครถนัดจะรู้รูปก็รู้ไป ใครถนัดจะรู้นามก็รู้ไป จุดหมายปลายทางของการรู้หรือการเจริญสติสัมปชัญญะที่ถูกต้องเป็นอันเดียวกันทั้งสิ้น คือการจำแนกให้ออกว่า นี่เป็นรูป นี่เป็นนามจิต นี่เป็นนามเจตสิก แล้วเกิดความรู้ความเข้าใจเพราะการเห็นสภาวะรูปนามชัดเจน (ไม่ใช่คิดๆ เอา) ว่ารูปนามไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เมื่อมีเหตุมันก็เกิด เมื่อหมดเหตุมันก็ดับ และถ้าหลงเข้าไปอยาก หลงเข้าไปยึด ก็จะเกิดทุกข์ พอจิตเกิดปัญญาเข้าใจรูปนามแจ่มแจ้งอย่างนี้จิตก็หายหลง เมื่อหายหลงแล้วตัณหาจะเกิดไม่ได้ เพราะตัณหามีรากฐานมาจากความหลง (โมหะ) เมื่อตัณหาไม่เกิด ทุกข์ก็ไม่เกิด นิพพานจึงปรากฏขึ้น เพราะนิพพานก็คือความดับสนิทแห่งตัณหา

ถาม เคยอ่านข้อเขียนของหลวงพ่อ พบว่าหลวงพ่อยกย่องหลวงพ่อเทียนบ่อยๆ เพราะท่านสอนเน้นในเรื่องความรู้สึกตัว สิ่งที่ไม่เข้าใจก็คือในสายหลวงพ่อเทียนมีคำสอนเรื่องให้ดูความคิด ซึ่งความคิดเป็นบัญญัติ ให้ดูความคิดจะไม่ผิดทางหรือครับ

ตอบ อาตมาไม่ได้ศึกษาคำสอนของท่านเท่าไรหรอก เพียงแต่เคยพบองค์ท่าน จึงเข้าใจได้ว่าท่านเป็นพระดีจริงๆองค์หนึ่ง เป็นผู้มีความรู้สึกตัวเป็นปกติ อาตมาเชื่อว่า ถ้าท่านสอนให้ดูความคิดก็น่าจะหมายความว่า ให้รู้ทันอาการของจิตว่ากำลังคิดอยู่ ไม่หลงคิด และไม่ใช่ให้รู้ "เรื่องที่คิด"

ทันทีที่รู้ว่ากำลังคิด หรือกำลังหลงคิด ความรู้สึกตัวก็จะเกิดขึ้น เนื่องจากจิตไม่หลงไปกับธัมมารมณ์ ความรู้สึกตัวนั้นแท้จริงก็คือสภาวะที่จิตมีสัมมาสมาธิ เมื่อจิตมีสัมมาสมาธิแล้วหากมีสิ่งใดแปลกปลอมเข้ามาทางกายหรือทางใจ ก็จะเกิดสติระลึกรู้สภาวธรรมได้ตรงตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องจงใจรู้ เป็นการเปิดทางให้เกิดปัญญาและพ้นทุกข์ได้ในที่สุด

หรืออย่างที่ท่านสอนให้รู้ความเคลื่อนไหวของมือ ถ้ารู้อย่างสบายๆ โดยไม่เพ่งจ้องหรือคิดเรื่องมือ เมื่อใดสติเกิดระลึกรู้สภาวะความไหวของรูปได้ จิตก็จะถอดถอนตัวออกจากความหลง และเกิดความรู้สึกตัวได้ องค์ท่านเองเคลื่อนไหวมือแล้วจิตของท่านตื่นขึ้นมาได้ เพราะท่านรู้ ท่านไม่ได้เพ่งและไม่ได้คิดๆ เอา อาตมาจึงนับถือว่า ท่านเป็นพระดีจริงองค์หนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้รู้จักคุ้นเคยกับท่านเป็นส่วนตัว หนังสือของท่านก็มีผู้ให้มาหลายเล่มเหมือนกัน อย่างคุณหมอกำพลก็ให้มาหลายเล่ม แต่อ่านไม่จบสักเล่ม เพราะไม่ชอบอ่านหนังสือธรรมะร่วมสมัย จึงอาจจะตีความถ้อยคำอันเป็นสมมุติบัญญัติของท่านผิด แต่ไม่คิดว่าจะอธิบายสภาวธรรมที่ท่านมุ่งหมายผิด เพราะธรรมย่อมลงเป็นเนื้อเดียวกันได้เสมอ

ถาม อยากทราบแนวทางปฏิบัติที่หลวงพ่อแนะนำอย่างสั้นๆ อีกสักครั้งครับ

ตอบ อาตมานิยมการเจริญสติในชีวิตประจำวัน ไม่เลือกอิริยาบถ และไม่นิยมการกำหนด โดยมักเสนอแนะให้พวกเรา (1) หมั่นสังเกตหรือเรียนจนรู้จักสภาวะของรูปนาม (2) เมื่อเข้าใจสภาวะของรูปนามถูกต้องและทันท่วงทีแล้ว ความรู้สึกตัว จะเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องกำหนดหรือจงใจสร้าง คือพอกระทบอารมณ์ปั๊บ จิตจะเกิดสติรู้ทันอารมณ์ ด้วย ความตั้งมั่นและเป็นกลางขึ้นเอง และ (3) เมื่อสติรู้อารมณ์รูปนาม (จิต เจตสิก รูป) ที่กำลังปรากฏโดยไม่เข้าไปแทรกแซงและไม่เติมความคิดลงไป ก็จะเกิดปัญญาเข้าใจความจริงของอารมณ์รูปนามได้ถูกต้องไปตามลำดับ จนจิตปล่อยวางความยึดถือรูปนามและสิ่งทั้งปวง เสียได้ ทั้งนี้อาตมาไม่ชอบกำหนดให้เป็นภาระของจิตโดยไม่จำเป็น แต่ใครจะจงใจสร้างอิริยาบถและกำหนดก่อนก็ไม่คัดค้าน

ถาม ถ้าจะฝึกปฏิบัติกับหลวงพ่อ ควรเรียนรู้หรือฝึกหัดอะไรบ้างครับ

ตอบ สิ่งแรกที่จำเป็นคือ ต้องรักษาศีล 5 เป็นอย่างน้อย
สิ่งที่ 2 ต้องเรียนเรื่องทุกข์ คือหัดรู้จักสภาวะรูปนามหรือกายใจ ด้วยการตามรู้ของจริงเรื่อยไปว่า ขณะนี้กายมีอาการอย่างไร ใจมีอาการอย่างไร ทีแรกจะเป็นเพียงการตามรู้ ต่อไปสติพัฒนาขึ้นจะเป็น การรู้ทัน แล้วปัญญาพัฒนาไปสู่ความรู้ถูก (เข้าใจถูก) นี้เป็นส่วนของการรู้ทุกข์

สิ่งที่ 3 ต้องเรียนคือเรื่องสมุทัย ก็คือหัดรู้จักสภาวะของตัณหา หรือความทะยานอยากของจิต 6 ทาง ได้แก่ ความทะยานอยากออกไปรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หลวงปู่ดูลย์ ท่านย้ำบ่อยๆ เรื่องอย่าส่งจิตออกนอก หมายความว่าในเวลาที่รู้อารมณ์นั้น ให้สักว่ารู้ อย่าให้จิตหลงกระโจนเข้าไปรู้แล้วหลงจมแช่ยึดถือหรือหมุนเหวี่ยงไปตามอารมณ์ จุดนี้จะทำให้การปฏิบัติปลอดจากตัณหา (และต่อไปเมื่อจิตรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้ว จะทำให้ความหลง (โมหะ) หมดไป แล้วตัณหาจะไม่เกิดขึ้นอีกโดยไม่ต้องคอยระวังสังเกต) เหล่านี้เป็นส่วน ของการละสมุทัย

สิ่งที่ 4 ที่ต้องเรียนคือเรื่องมรรค ก็คือต้องหัดรู้ปัจจุบันอารมณ์ ได้แก่ ตัวทุกข์หรือรูปนามหรือกายใจนั่นเอง โดยต้องหัดสังเกตว่ารู้แบบไหนถูก รู้แบบไหนผิด ถ้ารู้อย่างสักว่ารู้ รู้อย่างรู้สึกตัว จิตเป็นตัวของตัวเองไม่หลงทะยานเข้าไปยึดหรือแทรกแซงอารมณ์ อย่างนี้ก็ถือว่ารู้ถูก จิตในขณะนั้นจะรู้อารมณ์ด้วยความโปร่งเบา ไม่หนัก ไม่แข็ง ไม่เครียด รู้สบายๆ รู้โดยไม่จงใจจะรู้ แต่ถ้ารู้เพราะหลงก็ถือว่ารู้ผิด เช่น รู้เพราะหลงอยากจะรู้ รู้แบบหลงเพ่ง รู้แบบหลงคิด หรือหลงเตลิดคือเที่ยวปล่อยใจเลื่อนลอยไปไม่รู้เนื้อรู้ตัว เหล่านี้เป็นการรู้ผิดทั้งสิ้น นี้เป็นส่วนของมรรคคือการรู้ทุกข์และละสมุทัย

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า อาตมาจะเน้นเรื่องการมีความรู้สึกตัวอยู่เสมอ เพราะถ้ารู้สึกตัวไม่ได้ก็ไม่สามารถจะรู้ทุกข์หรือรู้รูปนามได้ นั่นหมายถึงการเจริญมรรคไม่ได้ แต่ถ้ารู้สึกตัวได้ คือมีจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ก็สามารถรู้เนื้อรู้ตัว รู้กายรู้ใจได้ ดังนั้นขอให้พวกเราสนใจในเรื่องความรู้สึกตัวให้มากสักหน่อย เพราะเป็นสิ่งสำคัญกว่าเรื่องที่ว่า จะหายใจอย่างไร จะนั่งท่าไหน หรือจะเดินท่าไหนเสียด้วยซ้ำไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 77

ถาม ผมขอแนวทางปฏิบัติที่ลัดสั้นที่สุดด้วยครับ
ตอบ พ่อแม่ครูอาจารย์ของอาตมาคือหลวงปู่ดูลย์ ท่านสอนไว้แล้วว่า "อย่าส่งจิตออกนอก" อาตมาไม่เห็นคำสอนใดจะลัดสั้นเท่านี้อีก คือถ้าคุณมีสติรู้ทันพฤติของจิตที่ส่งนอกส่งใน (หลวงปู่ท่านเรียกรวมว่าจิตส่งออกนอก) จิตจะหลุดออกจากกองทุกข์แล้วมีความรู้สึกตัวขึ้นมาในฉับพลัน บรรดากิเลสก็ดี ความทุกข์ทางใจก็ดี ภาระทางใจทั้งปวงก็ดี ล้วนแต่เป็นความปรุงแต่งที่เกิดขึ้นเมื่อจิตส่งในทั้งสิ้น ก็จะดับสลายไปทันที เมื่อคุณมีความรู้สึกตัวถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดคุณจะรู้จักสภาวธรรมที่พ้นจากความปรุงแต่งได้

ถาม ในทัศนะของหลวงพ่อ การเดินจงกรมหรือการนั่งสมาธิตามรูปแบบไม่จำเป็นเลยใช่ไหมคะ
ตอบ ไม่ใช่ อาตมาไม่ได้มีความเห็นสุดโต่งอย่างนั้น เพราะการปฏิบัติตามรูปแบบมีประโยชน์อยู่มาก แทบจะกล่าวได้ว่าถึงขั้นจำเป็นทีเดียวสำหรับผู้เริ่มต้น เว้นแต่ผู้ที่ศึกษาจนเข้าใจสภาวะของรูปนาม จนกระทั่งเกิดสติขึ้นได้ ก็อาจจะไม่ต้องเน้นการปฏิบัติตามรูปแบบมากนัก นอกจากนี้แม้แต่ผู้ที่ปฏิบัติชำนาญแล้ว ก็อาจใช้การปฏิบัติตามรูปแบบเป็นเครื่องส่งเสริมกำลังสมถะได้ คือหากมีการทำตามรูปแบบไว้บ้าง เช่นก่อนนอนมีการสวดมนต์ไหว้พระนั่งสมาธิเดินจงกรมบ้าง ก็จะไม่รู้สึกว้าเหว่ว่าเราย่อหย่อนในการปฏิบัติจนเกินไป ครูบาอาจารย์ที่อาตมาเคารพนับถือมากองค์หนึ่งท่านสอนศิษย์ของท่านให้เดินจงกรม แทบทั้งวันทั้งคืน แต่ท่านก็กล่าวว่า การปฏิบัติตามรูปแบบก็เหมือนกับราวสะพานเอาไว้เกาะกันตกสะพาน เมื่อข้ามสะพานคล่องแล้วก็ปล่อยราวสะพานได้ คือผู้ที่เจริญสติจนเป็นอัตโนมัติแล้ว แค่ตาเห็นรูปก็สามารถเจริญสติได้แล้ว โดยไม่เลือกด้วยซ้ำไปว่ารูปที่เห็นนั้นเป็นอะไร
เหตุผลที่อาตมาเน้นการปฏิบัติในชีวิตประจำวันมากกว่าการทำตามรูปแบบ ก็เพราะชีวิตจริงของเราส่วนใหญ่อยู่ตอนที่ใช้ชีวิตตามปกตินี่เอง เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเจริญสติในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น อย่าไปติดอยู่แค่ว่าเราจะปฏิบัติเฉพาะเมื่อไปเข้ากรรมฐานหรือเมื่อทำตามรูปแบบเท่านั้น แท้จริงเราปฏิบัติเมื่อตาเห็นรูป เมื่อหูกระทบเสียง .. เมื่อใจกระทบความคิดนึกปรุงแต่ง ไม่เลือกเวลาและไม่เลือกอิริยาบถ

ถาม หลวงพ่อไม่เห็นด้วยกับการทำจังหวะในการเดินจงกรมใช่ไหมคะ
ตอบ ไม่ใช่ อาตมาบอกแล้วว่าบางคนถนัดที่จะทำจังหวะหรือกำหนด ก็ทำไปตามความจำเป็นเถิด แต่ต้องรู้ทันว่าได้มีการดัดแปลงอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว จุดสำคัญของการปฏิบัติอยู่ที่การรู้สภาวธรรมให้ตรงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่เราสร้างขึ้นมา การสร้างจังหวะก็ดี การกำหนดซ้ำก็ดี มีเบื้องหลังก็คือตัณหา มีผลก็คือทุกข์ ลองสังเกตดูก็ได้ว่า ก่อนลงมือปฏิบัติจิตใจก็เป็นปกติธรรมดาอยู่ แต่พอเริ่มทำจังหวะหรือเริ่มกำหนด จิตก็เริ่มหนักๆ แน่นๆ เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที
การไม่ดัดแปลงอารมณ์นั้น หมายรวมถึงการไม่ดัดแปลงอารมณ์ที่เป็นนามธรรมด้วย เช่นจิตมีความสุขหรือมีความทุกข์หรือเฉยๆ ก็รู้ไปตามนั้น จิตมีความโลภ ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ ความอิจฉา ความพยาบาท ความกลัว ความกังวล ความลังเลสงสัย ก็รู้ไปตามนั้น จิตมีศรัทธา มีศีล มีความสงบตั้งมั่น มีสติ มีสติและปัญญา ก็รู้ไปตามนั้น เป็นต้น ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรักษาความสุขหรือหาทางดับทุกข์ และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรักษากุศลธรรมหรือหาทางดับอกุศลธรรมเหล่านั้น

ถาม สิ่งที่หลวงพ่อกล่าวนี้จะขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ เพราะเคยศึกษามาว่าสัมมาวายามะอันเป็นองค์มรรคนั้น ท่านให้เพียรละอกุศลที่เกิดแล้ว ให้ปิดกั้นอกุศลที่ยังไม่เกิด ให้ทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น และให้รักษากุศลที่เกิดมีขึ้นแล้วไว้
ตอบ ไม่ขัดกัน เพราะในเวลาที่เราเจริญวิปัสสนานั้น เราต้องมีสติตามรู้รูปนามไปตามหลักกิจในอริยสัจจ์ ที่ท่านสอนว่าทุกข์ให้รู้สมุทัยให้ละ บรรดากุศลธรรมและอกุศลธรรมทั้งหลาย (เว้นแต่ตัณหา) ล้วนแต่เป็นนามธรรมจัดอยู่ในกองทุกข์ จึงเป็นสิ่งที่เรามีหน้าที่ต้องระลึกรู้ทั้งสิ้น ผู้ปฏิบัติไม่ต้องพยายามละชั่วและทำดีแต่อย่างใด เพราะเมื่อเราเจริญสติอยู่นั้น อกุศลธรรมเป็นอันถูกละไปแล้วโดยอัตโนมัติ และอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ในขณะที่ยังมีสติอยู่ ส่วนกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด เช่นหิริโอตตัปปะ ศีล สัมมาสมาธิ และปัญญาย่อมเกิดขึ้นได้เพราะล้วนเป็นผลพวงของการเจริญสติทั้งสิ้น และเมื่อเจริญสติอยู่ตราบใดก็เท่ากับได้รักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วอยู่ตราบนั้น ดังนั้นการเจริญสติรู้ทุกข์คือรูปนามนี้แหละ คือการเจริญสัมมาวายามะโดยตรงทีเดียว
การทำสมถะต่างจากการทำวิปัสสนา ตรงที่สมถะมุ่งดัดแปลงจิตที่ไม่ดีให้ดี หรือมุ่งดัดแปลงจิตที่ไม่สงบให้สงบ เมื่อจิตดีและสงบแล้วก็ต้องเฝ้ารักษาความดีและความสงบนั้นไว้ ส่วนวิปัสสนานั้น จิตไม่ดีก็รู้ว่าจิตไม่ดี จิตไม่สงบก็รู้ว่าจิตไม่สงบ ไม่แก้ไขและไม่ต้องรักษาสภาวธรรมใดๆ เลย เพราะเราทำวิปัสสนาเพื่อให้รู้ความจริงว่า ธรรมทั้งปวงไม่ เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่ใช่ตัวตน

ถาม ขอเรียนถามว่า การเจริญสติอย่างที่หลวงพ่อกล่าวนี้จะละกิเลสได้อย่างไร ในเมื่อให้รู้กิเลส ไม่ให้ละกิเลส
ตอบ เมื่อใดคุณมีสติ เมื่อนั้นไม่มีกิเลสจะให้ละเช่นในขณะใด เกิดความโกรธ ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล ในขณะใดเกิดรู้ทันสภาวะของความโกรธ ขณะนั้นจิตเป็นกุศล ความโกรธจะดับไปแล้ว

ถาม บางคราวทั้งที่รู้ว่าโกรธก็ยังไม่หายโกรธค่ะ
ตอบ ถ้าเมื่อใดสติของคุณเกิดขึ้น เพราะรู้ทันสภาวะของความโกรธ จิตจะเป็นมหากุศลจิตทันที มีอาการรู้ตื่น และเบิกบานโดยอัตโนมัติ ขณะนั้นความโกรธจะตั้งอยู่ไม่ได้เลย แต่ถ้าเมื่อใดคุณจงใจสร้างสติขึ้นมา จิตใจของคุณจะมีลักษณะหนักๆ แน่นๆ นั่นไม่ใช่สติ ตัวจริง คุณจะเฝ้าเพ่งจ้องใส่ความโกรธด้วยความเกลียดชังและคาดหวังที่จะให้มันดับไป เป็นการสร้างโทสะตัวใหม่ซ้อนเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง จึงดูอย่างไรความโกรธก็ไม่ดับสักที เพราะไม่ได้มีสติจริงๆ


ตอนที่ 78

ถาม ถ้าเจริญสติแล้วละกิเลสไม่ได้ จะมีประโยชน์อะไรครับ
ตอบ มีประโยชน์มากทีเดียว เพราะเมื่อมีสติอยู่นั้นกิเลสจะเกิดขึ้นไม่ได้ ทำให้อนุสัยคือความเคยใจที่จะทำตามอำนาจของกิเลสอ่อนกำลังลง เมื่ออนุสัยอ่อนกำลังลง อกุศลจิตก็จะมีโอกาสเกิดได้น้อยลง เพราะจิตมีธรรมชาติมักเกิดไปตามความเคยชิน เช่นคนเคยโกรธก็มักโกรธง่าย คนเคยโลภก็มักโลภง่าย คนเคยหลงก็มักหลงง่ายเป็นต้น และเมื่อจิตคุ้นเคยกับความมีสติ ก็จะเกิดสติได้บ่อยขึ้น แล้วธรรมฝ่ายดีทั้งหลายก็จะเกิดตามมาได้

ถาม ขอให้หลวงพ่อช่วยอธิบายเรื่องการทำวิปัสสนาเพิ่มเติมอีกสักหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับเรื่องอารมณ์ปรมัตถ์ซึ่งเข้าใจยากเหลือเกิน
ตอบ การปฏิบัติวิปัสสนาจะต้องใช้สภาวะของจิตที่ธรรมดาๆ ไปรู้อารมณ์ที่ธรรมดาๆ ดังนี้คือ
จิตที่เป็นปกติธรรมดาคือจิตที่ปลอดจากตัณหาและทิฏฐิ คืออย่าอยากปฏิบัติแล้วลงมือปฏิบัติไปตามความอยากนั้น เช่นพอจะลงมือปฏิบัติก็เที่ยวแสวงหาว่าจะรู้อารมณ์อะไรดี หรือลงมือเพ่งจ้องใส่อารมณ์ อันใดอันหนึ่ง หรือทำจิตให้นิ่งให้ซึม ให้ทื่อๆ แข็งๆ พอพบเห็นอารมณ์ ก็พยายามบังคับให้จิตเป็นกลางวางเฉยต่ออารมณ์ หรือพยายามไม่ให้จิตรู้อารมณ์ เป็นต้น
อารมณ์ที่ธรรมดาคืออารมณ์ปรมัตถ์ที่ปรากฏทางอายตนะทั้ง 6 นั่นเอง ไม่ใช่อารมณ์พิเศษพิสดารอะไรหรอก ส่วนอารมณ์ที่ไม่ธรรมดาคืออารมณ์ที่เราคิดนึกปรุงแต่งขึ้นมาเอง
แท้จริงแล้วรูปที่ (วิญญาณทาง) ตาเห็นเสียงที่ (วิญญาณทาง) หูได้ยินกลิ่นที่ (วิญญาณทาง) จมูกได้ดมรสที่ (วิญญาณทาง) ลิ้นรู้ความเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหวที่ (วิญญาณทาง) กายรู้ ล้วนเป็นอารมณ์ปรมัตถ์อยู่แล้ว และรูปบางอย่างเช่นรูปยืนเดินนั่งนอนกับความรู้สึกทางใจ เช่นความสุข ความทุกข์ กุศลและอกุศลต่างๆ ก็เป็นอารมณ์ปรมัตถ์ ที่ (วิญญาณทาง) ใจรู้
ยกตัวอย่างเช่น "เมื่อถูกยุงกัดแขน เรารู้สึกคัน ก็เกิดความโกรธ อยากตบยุง แล้วตบยุง" ในข้อความที่ยกมานี้มีทั้งสิ่งที่เป็นอารมณ์ ปรมัตถ์และอารมณ์บัญญัติปนกันอยู่ คือ (1) รูปภายนอก (ร่างกายของยุง) เป็นธาตุเป็นปรมัตถ์ (2) คำว่ายุงเป็นบัญญัติ (3) อาการคันเป็นปรมัตถ์ (4) คำว่าคันเป็นบัญญัติ (5) รูปภายใน (กายที่ถูกยุงกัด) เป็นปรมัตถ์ (6) คำว่าแขน/เราเป็นบัญญัติ (7) ความโกรธเป็นปรมัตถ์ (8) คำว่าโกรธเป็นบัญญัติ (9) ความอยากเป็นปรมัตถ์ (10) คำว่าอยากเป็นบัญญัติ (11) อาการตบเป็นปรมัตถ์ (12) คำว่า ตบเป็นบัญญัติ
ในเวลาที่เจริญวิปัสสนานั้น ให้รู้อารมณ์ปรมัตถ์ที่เป็นปัจจุบัน คือ พออาการคันปรากฏก็รู้อาการนั้น เห็นเพียงอาการคันของรูป ไม่ใช่คิดว่าเราคัน เพราะเราคันเป็นบัญญัติ
เมื่อความโกรธปรากฏ ความโกรธเป็นอารมณ์ปัจจุบันแทนอาการคันที่เป็นอารมณ์ในอดีตไปแล้ว ก็ให้รู้ที่ความโกรธ แต่ไม่ต้องช่วยคิดช่วยพากย์ว่าโกรธ เพราะสิ่งที่คิดเป็นบัญญัติ
ถ้ารู้ไม่ทันจะเกิดความอยากตบยุงก็ให้รู้ความอยาก ความอยากจะเป็นอารมณ์ปัจจุบันแทนความโกรธ ถัดจากนั้นพอคิดตกลงใจจะตบยุง จิตสั่ง มือก็เริ่มเคลื่อนไหวในอาการที่เรียกว่าตบ ก็รู้อาการเคลื่อนไหวของรูป (มือ) ซึ่งก็คือการรู้ อิริยาบถย่อย อาการไหวของรูปนั้นเป็นปรมัตถ์ ส่วนคำว่ามือตบยุงเป็นบัญญัติ
จากตัวอย่างดังกล่าวนี้จะเห็นได้ว่า เราสัมผัสกับอารมณ์ปรมัตถ์อยู่แล้วทั้งวัน แต่ความคิดของเราเองปิดกั้นไว้ไม่ให้เรารู้จักอารมณ์ปรมัตถ์นั้น คือแทนที่จะรู้อาการคัน รู้อาการโกรธ รู้อาการอยากตบ รู้อาการที่รูปเคลื่อนไหว เรากลับไปคิดว่า "ยุงมันกัดต้องตบมันให้ตายเป็นการสั่งสอนพอให้เข็ดหลาบไปชาติหนึ่ง" นี่แหละเรียกว่าบัญญัติปิดบังปรมัตถ์เอาไว้หมด
ผู้ปฏิบัติและผู้ไม่ปฏิบัติ ล้วนได้สัมผัสกับอารมณ์ปรมัตถ์และอารมณ์บัญญัติอยู่เหมือนๆ กัน แต่ผู้ปฏิบัติมีโยนิโสมนสิการ หรือการมองได้ตรงมุมที่พระพุทธเจ้าทรงสอน จึงสามารถแหวกสมมุติบัญญัติอันเป็นความคิดเข้ามารู้ชัดถึงสภาวะของรูปนามอันเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ได้ คือมีปัญญาจำแนกได้ว่า นี่คืออารมณ์ปรมัตถ์ที่รู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นี่คือสมมุติบัญญัติที่จิตคิดนึกปรุงแต่งไปเอง ถ้ารู้ได้อย่างนี้ การปฏิบัติวิปัสสนาก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป
อนึ่งการรู้รูปนามนั้น สิ่งใดปรากฏเด่นชัดก็รู้อันนั้น จะรู้ได้อย่างไรว่าอันใดเด่นชัด อันนี้ผู้ปฏิบัติจะรู้ได้เองเหมือนเด็กที่ดูละครตลก เขาสามารถรู้ได้ว่า ตอนนี้ควรจะดูตัวละครตัวใด
การรู้รูปนามต้องรู้ในปัจจุบัน เพราะรูปนามในอดีตเป็นแค่ความจำ และรูปนามในอนาคตเป็นแค่ความคิด ส่วนรูปนามในปัจจุบันคือความจริง และเมื่อรู้แล้วก็อย่าหลงเติมสมมุติบัญญัติลงไปในการรับรู้นั้น

ตอนที่ 79
จุดอ่่อนนักปฏิบัติธรรมรุ่นใหม่

ถาม ในทัศนะของหลวงพ่อเห็นว่านักปฏิบัติธรรมในรุ่นปัจจุบันมีจุดอ่อนตรงไหนบ้างครับ
ตอบ นี่เป็นคำถามที่ไม่อยากจะตอบเลย ดังนั้นอย่าถือว่าเป็นคำตอบ เอาแค่ว่าเป็นข้อสังเกตของอาตมาซึ่งอาจจะผิดก็แล้วกัน คืออาตมาเห็นว่าเราควรให้ความสนใจกับคำว่า "สติ สมาธิ และวิปัสสนา" เพิ่มขึ้นอีกสักหน่อยจึงจะไม่เกิดจุดอ่อนขึ้น
คือคำว่า สติ นี้ ในสมัยที่อาตมายังเป็นเด็ก ได้ทราบคำแปลว่า "การระลึกได้/การระลึกรู้" แต่สมัยนี้กลายเป็น "การกำหนดรู้" กันไปแล้ว การระลึกรู้เป็นแค่การรู้สึกถึงอาการทางกายและอาการทางใจ แต่คำว่า กำหนดมีความหมายไปในทางที่ต้องมีการกระทำบางอย่าง และสิ่งที่กระทำกันมากก็คือการเพ่งจ้องเอาเป็นเอาตายกับการรู้ จนเกิดความทุกข์หรือความเครียดกันมากทีเดียว
อีกคำหนึ่งคือคำว่าสมาธิ ในสมัยที่อาตมายังเป็นเด็ก ได้ทราบคำแปลว่า "ความตั้งมั่น" แต่สมัยนี้กลายเป็น "ความสงบ" กันไปแล้ว คำว่าความตั้งมั่นน่าจะตรงกับสภาวะของสัมมาสมาธิ เพราะในขณะที่จิตฟุ้งซ่านหรือไม่สงบนั้น จิตยังสามารถตั้งมั่นรู้ความฟุ้งซ่านได้อย่างเป็นกลาง เมื่อเราไปเน้นสมาธิในความหมายของความสงบ เราก็มุ่งทำความสงบกันยกใหญ่ โดยหวังว่าถ้าสงบแล้วจะเกิดปัญญา นักปฏิบัติจึงพากันติดความสงบ ติดปีติ และติดนิมิตแทบจะทั่วหน้ากัน
อีกคำหนึ่งคือคำว่าวิปัสสนา คำนี้มีปัญหามานานแล้ว คือพวกเราบางท่านชอบแปลคำว่าวิปัสสนาว่า "คิด" ที่จริงความคิดให้เราได้แค่จินตามยปัญญา ส่วนวิปัสสนาให้ภาวนามยปัญญา หรือปัญญาอันเกิดจากการเจริญสติตามรู้รูปนามได้ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งเป็นเรื่องของการ "รู้" ไม่ใช่คิด
ขอฝากให้พวกเราพิจารณาความหมายของคำทั้งสามนี้ ว่าพวกเราเข้าใจกันอย่างไรบ้าง

ตอนที่ 80
จุดอ่่อนนักปฏิบัติธรรมรุ่นใหม่

9. การปฏิบัติธรรมแนวพุทโธ
ถาม การปฏิบัติของพระป่าที่ท่านใช้การบริกรรมพุทโธนั้นมีอารมณ์บัญญัติ เป็นเพียงการทำสมถะเท่านั้นใช่หรือไม่ครับ
ตอบ ครูบาอาจารย์ในสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตฺตเถระ หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่าสายพระป่า ท่านนิยมสอนให้ศิษย์บริกรรมพุทโธ เมื่อได้ยินคำว่าบริกรรมพุทโธ หลายท่านจะสรุปทันทีว่าเป็นการทำสมถะไม่มีทางที่จะทำวิปัสสนาได้เลย เพราะพระอภิธรรมสอนไว้ว่า บัญญัติอารมณ์ใช้ในการทำสมถะ ส่วนปรมัตถ์อารมณ์ใช้ในการทำวิปัสสนา ดังนั้นการบริกรรมคำว่าพุทโธซึ่งเป็นความคิด เป็นบัญญัติ หรือเป็นการทำพุทธานุสติ จึงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ นอกจากเป็นการทำสมถะ

แท้จริงคำบริกรรมพุทโธเป็นเพียงเหยื่อล่อเพื่อให้เราเกิดสติรู้ทันจิต ครูบาอาจารย์พระป่าบางองค์ท่านเปรียบเทียบว่า คำบริกรรมพุทโธเป็นแค่เหยื่อตกปลา จิตคือปลา เราปฏิบัติไม่ใช่เพื่อเอาคำว่า พุทโธ แต่ปฏิบัติเพื่อจะรู้ทันจิต พุทโธเป็นบัญญัติก็จริง แต่จิตที่รู้พุทโธเป็นปรมัตถ์ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ ครูบาอาจารย์บางรูปเช่น ท่านอาจารย์บุญจันทร์ จันทวโร แห่งวัดถ้ำผาผึ้ง จังหวัดเชียงใหม่ สอน ถึงขนาดให้บริกรรมว่า "พุทโธใจรู้ พุทโธรู้ใจ" คือบริกรรมแล้วให้หัดสังเกตว่า คำว่าพุทโธเป็นสิ่งที่ใจไปรู้เข้า และบริกรรมพุทโธแล้ว ก็ให้คอยชำเลืองสังเกตจิตใจตนเอง จะพบว่าระหว่างที่บริกรรมพุทโธอยู่นั้น บางขณะจิตเกิดความสุข บางขณะจิตเกิดความทุกข์ บางขณะจิตก็ สงบ บางขณะจิตก็ฟุ้งซ่าน เป็นต้น เมื่ออ่านจิตใจตนเองออกแล้วก็วางคำว่าพุทโธเสีย แล้วเฝ้ารู้จิตต่อไป พ่อแม่ครูอาจารย์บางองค์เช่น หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ก็สอนศิษย์บางคนให้บริกรรมพุทโธ แล้วรู้ทันจิต ผู้บริกรรมพุทโธ รู้ไปจนหมดคำพูด คือหมดการบริกรรม เหลือแต่การรู้สภาวะของจิตปรมัตถ์และเจตสิกปรมัตถ์ต่อไป

การที่รู้ว่าบางขณะจิตมีความสุข ทุกข์ สงบ ฟุ้งซ่าน หรือมีกุศลและอกุศลต่างๆนั้น จะทำให้ผู้ปฏิบัติสังเกตได้ชัดเจนว่า ความสุขก็ถูกรู้ ความทุกข์ก็ถูกรู้ กุศลก็ถูกรู้ อกุศลก็ถูกรู้ สิ่งเหล่านี้ปรากฏเกิดร่วมกับจิตเป็นคราวๆ เท่านั้น ส่วนจิตเป็นเพียงธรรมชาติที่รู้อารมณ์ นี้คือการหัดทำความเข้าใจนามเจตสิกอันได้แก่ เวทนาและสังขาร กับนามจิต นั่นเอง นอกจากนี้ยังเห็นอีกว่า ทั้งจิตผู้รู้อารมณ์กับเจตสิกที่ถูกจิตรู้นั้น ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา เป็นเพียงนามธรรมที่เมื่อมีเหตุ ก็เกิดขึ้นเป็นคราวๆ แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง นี้ก็คือการก้าวจากขั้นการรู้จักแยกสภาวะของขันธ์ ไปสู่ขั้นการทำวิปัสสนานั่นเอง

การบริกรรมพุทโธยังมีประโยชน์อย่างอื่นอีก คือครูอาจารย์พระป่าบางองค์ท่านสอนให้ศิษย์บริกรรมพุทโธซึ่งเป็นความคิด เพื่อเป็นอุบายตัดกระแสความคิดของจิตที่จะส่งส่ายออกไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่ควรคิด ทำให้จิตรวมสงบเข้ามาที่จิต แล้วมีสติสัมปชัญญะตามรู้จิตปรมัตถ์ต่อไป จนสามารถถอดถอนความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา และถอดถอนความยึดถือจิตได้ในที่สุดด้วย

นอกจากนี้ครูบาอาจารย์พระป่าท่านยังหัดให้ศิษย์พิจารณากาย ซึ่งการคิดพิจารณากายว่าเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นธาตุ เป็นขันธ์ ก็เป็นการทำสมถะอีกอย่างหนึ่ง ท่านทราบ ไม่ใช่ไม่ทราบ ดังเช่นหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ก็เคยสอนเรื่องนี้ไว้ตรงๆ ว่า "การคิดพิจารณากายว่าเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นสิ่งที่ต้องตาย เป็นธาตุขันธ์ เหล่านี้เป็นไปเพื่อการแก้อาการของจิต (เป็นสมถะ)" หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ก็สอนอยู่เสมอๆ ว่า "สมถะเริ่มเมื่อหมดความตั้งใจ วิปัสสนาเริ่มเมื่อหมดความคิด (คือให้รู้หรือรู้สึกเอา)" แต่ครูบาอาจารย์ท่านก็ให้ทำ เพราะศิษย์ส่วนมากของท่านเป็นพระหนุ่มเณรน้อย การพิจารณากายเช่นพิจารณา ผมขนเล็บฟันหนังเป็นเครื่องข่มราคะ ทำให้อยู่รอดในสมณเพศได้ง่ายขึ้น และถ้าเรื่องนี้ไม่จำเป็นจริงๆ พระพุทธเจ้าคงไม่ทรงบัญญัติให้พระอุปัชฌาย์ต้องสอนผู้บวชให้รู้จักตจปัญจกกรรมฐาน คือสอนให้พิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ถ้าพระอุปัชฌาย์ไม่สอน ท่านถึงกับปรับอาบัติพระอุปัชฌาย์ทีเดียว เพราะถือว่าเป็นการทำลายอุปนิสัยพระอรหันต์ของศิษย์

เมื่อคิดพิจารณากายอยู่นั้น บางท่านจำแนกได้ว่า กายนี้เป็นเพียงสมมุติบัญญัติ แท้จริงคือรูปเย็นร้อนอ่อนแข็งตึงไหว หรือเมื่อยามเดินบิณฑบาต เดินจงกรม นั่งสมาธิ นั่งฉันอาหาร กวาดวัด ซักจีวร ทำข้อวัตรเช่นนวดครูบาอาจารย์ ฯลฯ ท่านก็มีสติรู้รูปยืนเดินนั่งนอน คู้เหยียด เพราะพระป่าท่านเน้นการเจริญสติในทุกอิริยาบถ และไม่ใช่ เพียงเห็นรูปปรมัตถ์ ท่านยังเห็นอีกว่า จิตเป็นธรรมชาติที่รู้รูปเป็นอีกสิ่งหนึ่งต่างหากจากรูป ท่านจึงเห็นรูปไหวและเห็นนามรู้ได้ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขัดแย้งกับภาคปริยัติเลย เพียงแต่ส่วนมากนักปฏิบัติไม่ได้ศึกษาปริยัติ จึงไม่สามารถพูดสื่อความเข้าใจกับนักปริยัติได้เท่านั้นเอง

บางท่านคิดพิจารณากายสลับกับการเพ่งนิ่งอยู่กับกาย ในลักษณะของการเพ่งกสิณ คือเอารูปกายที่ยืนเดินนั่งนอนนั้นแหละเป็นบริกรรมนิมิตบ้าง หรือพิจารณากายสลับกับการกำหนดลมหายใจบ้าง แล้วจิตรวมลงเกิดอุคคหนิมิต (จำภาพกายได้ด้วยใจชัดเจนเหมือนตาเห็น เป็นบัญญัติอารมณ์) แล้วเกิดปฏิภาคนิมิตของกาย (เป็นบัญญัติอารมณ์) แล้วเกิดปีติ สุข เอกัคคตา หลังจากนั้นจิตจึงเอาองค์ฌานซึ่งเป็นปรมัตถ์อารมณ์มาใช้เจริญวิปัสสนา ท่านที่เดินในแนวอย่างนี้ก็มีมาก แต่ไม่ว่าท่านจะพิจารณากายอย่างไร พอเลิกพิจารณาแล้ว ท่านจะเน้นเรื่องการเจริญสติในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่

บางท่านทำความสงบจนจิตแนบแน่นอยู่กับความสงบในจุดเดียว ไม่คิดไม่นึกปรุงแต่งอะไร เมื่อจิตถอนออกจากสมาธิท่านก็น้อมจิตออกพิจารณาร่างกายให้เห็นเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ เป็นธาตุ แล้วทำความสงบกลับเข้าไปอีก เมื่อจิตรวมลงก็เกิดนิมิตเห็นกายสลายตัวไปเพราะเคยพิจารณานำร่องให้จิตเห็นอย่างนั้นไว้ก่อนแล้ว ถึงจุดนี้อาศัยที่ท่านเคยรวมจิตเข้าจนถึงฐานด้วยการทำสมาธิมาจนชำนาญ เมื่อไร้กายแทนที่จิตจะเพ่นพ่านปรุงแต่งไปที่อื่น จิตกลับรวมลงมารู้อยู่ที่จิต แล้วเห็นอารมณ์ปรมัตถ์ภายในจิตเกิดดับ เช่นเห็นความไหวยิบยับเกิดดับไปโดยไม่มีสมมุติบัญญัติว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นการเจริญ วิปัสสนาได้ในอีกลักษณะหนึ่งจนเกิดตัดกระแสโลกเข้าถึงธรรมได้วิธีการเช่นนี้น่าจะสอดคล้องกับเรื่องที่ตำราเรียนพระอภิธรรมในเรื่องภูมิจตุกะ และปฏิสนธิจตุกะอธิบายไว้ ว่าพระอริยบุคคลผู้ไปกำเนิดในอรูปภูมิ แม้กระทั่งในเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ สามารถไปปฏิบัติธรรมต่อได้จนถึงนิพพานในอรูปภูมินั้นๆ

และตรงจุดนี้เองที่ทำให้อาตมานึกถึงคำสอนในอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรที่ท่านสอนว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะกับผู้เป็นสมถยานิก เพราะหากพระป่าคิดพิจารณากายโดยไม่มีกำลังของสมาธิเป็นเครื่องสนับสนุน เมื่อจิตพิจารณาจนหมดกายแล้ว จิตก็ย่อมฟุ้งซ่านไปหาอารมณ์ภายนอกเช่นไปหาอารมณ์ที่เป็นอรูป แทนที่จะย้อนเข้ามารู้จิตใจตนเองเพื่อเห็นความเกิดดับของจิตและเจตสิกจนตัดเข้าถึงกระแสธรรมได้ ดังนั้นพระป่าจึงทิ้งสมาธิไม่ได้ เว้นแต่จะหันมาเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานหรือธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นทางดำเนินของผู้เป็นวิปัสสนายานิก

ถ้าศึกษาสังเกตคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์วัดป่าให้ดีจะพบว่า หลายองค์ทีเดียวที่คำสอนในยุคต้นของท่านจะเน้นที่การบริกรรมพุทโธ และพิจารณากาย แต่เมื่อท่านล่วงกาลผ่านวัยมีประสบการณ์มากขึ้น ท่านกลับเน้นเรื่องการเจริญสติรู้อยู่ที่จิตใจของตนเองมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็เช่น หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ หลวงปู่ทา จารุธัมโม หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย เป็นต้น ส่วนหลวงปู่ดูลย์ อตุโลนั้น ท่านสอนเน้นเรื่องจิตมานานแล้ว

สรุปแล้วพระป่าท่านเริ่มการปฏิบัติจากการบริกรรมพุทโธซึ่งเป็นบัญญัติอารมณ์ แล้วก้าวเข้ามารู้นามจิต นามเจตสิก และรูป ซึ่งเป็นปรมัตถ์อารมณ์ การบริกรรมพุทโธจึงเป็นเพียงอุบายอย่างหนึ่งเพื่อการจำแนกและทำความรู้จักรูปนามนั่นเอง อย่างไรก็ตามเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะมากเข้า บางคราวเกิดอาการเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า ท่านก็บริกรรมพุทโธเป็นที่พักซึ่งก็คือการทำสมถะ และบางทีท่านก็ใช้การบริกรรมพุทโธให้จิตรวมลงในจุดเดียว เพื่อรู้จิตให้ชัดเจนจนเห็นว่าจิตไม่ใช่ตนแล้วปล่อยวางจิตอย่างนี้ก็มีเหมือนกัน

ตอนที่ 81 คำสอนของหลวงปู่ดูลย์

10. คำสอนของหลวงปู่ดูลย์
ถาม ผมเคยอ่านธรรมเทศนา วิธีการปฏิบัติธรรม รวมทั้งปริศนาธรรมของหลวงปู่ดูลย์ รู้สึกว่าเป็นข้อธรรมที่ลึกซึ้งมากเกินกว่าสติปัญญาของปุถุชนจะเข้าใจได้ จึงอยากจะขอความกรุณาให้หลวงพ่อช่วยอธิบายคำสอนของท่านด้วยครับ
ตอบ เมื่อกล่าวถึงคำสอนของหลวงปู่ดูลย์แล้ว อาตมามีข้อสังเกตว่ายิ่งนานวัน ยิ่งมีผู้แต่งคำสอนเกี่ยวกับการปฏิบัติ โดยอ้างว่าเป็นคำสอนของหลวงปู่ดูลย์ออกมาเผยแพร่มากขึ้นๆ บางเรื่องขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยซ้ำไป เช่นสอนว่า (1) "ถ้าจิตฟุ้งซ่านก็อย่าปฏิบัติ" จุดนี้ขัดกับมหาสติปัฏฐานสูตรที่ว่า "จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน" หรือแต่งว่า (2) "เหตุต้องละ ผลต้องละใช้หนี้ก็หมดพ้นเหตุเกิด" นี่ก็ขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนว่า "ทุกข์ (อันเป็นตัวผล) ให้รู้สมุทัย (อันเป็นตัวเหตุ) ให้ละ" ขอยืนยันว่าหลวงปู่ไม่เคยสอนอย่างนี้ ลองฟังเทปคำสอนที่เป็นเสียงเดิมของท่านดูได้เลย ที่ว่า "เหตุต้องละ" นั้นถูกแล้ว แต่ผลละไม่ได้ หลวงปู่จึงสอนว่า "ผลต้องละใช้" หมายความว่า "อย่าปฏิเสธวิบาก ต้องยอมรับผลจากการกระทำของตนโดยไม่ไปทำเหตุที่ไม่ดีขึ้นอีก"
นอกจากนี้ก็มีการแต่งปริศนาธรรมแปลกๆ แล้วอ้างว่าเป็นคำสอนของหลวงปู่ก็มี อาตมาเคยถามศิษย์ของหลวงปู่หลายท่านแล้ว ไม่มีใครเคยได้ยินหลวงปู่สอนไว้อย่างนั้นเลย
อาตมากล้ายืนยันว่า หลวงปู่ไม่เคยสอนปริศนาธรรม มีแต่บอกธรรมะอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และลัดสั้นที่สุด เพื่อไม่ให้พวกเราหลงเพลินไปในโลกของความคิดจนลืมระลึกรู้สภาวธรรม แต่พวกเราเองมีนิสัยชอบคิด เมื่อได้ฟังธรรมที่ตรงไปตรงมาแล้ว ก็ยังนำมาคิดต่ออีก แต่เมื่อคิดไม่ออกเพราะธรรมเป็นสิ่งที่คิดๆ เอาไม่ได้ ก็เลยเหมาเอาว่าท่านแสดงปริศนาธรรม
เรามาพูดกันถึงคำสอนดั้งเดิมของท่านกันดีกว่า ตัวอย่างเช่น เมื่ออาตมาไปศึกษาธรรมกับท่านนั้น ท่านสอนการปฏิบัติให้เพียงสั้นๆ ว่า "ให้ดูจิต" บ้าง "อย่าส่งจิตออกนอก" บ้าง เมื่อถามท่านว่าจิตอยู่ที่ไหน ท่านกลับตอบว่า "จิตไม่มีที่ตั้ง" เมื่อถามท่านว่าจะหาจิตได้อย่างไร ท่านกลับตอบว่า "อย่าใช้จิตแสวงหาจิต" เมื่อกราบเรียนท่านว่าเห็นจิตวิ่งไปมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจท่านกลับตอบว่า "จิตจริงแท้ไม่มีการไป ไม่มีการมา" เมื่อกราบเรียนท่านว่าสามารถรู้อยู่กับจิตผู้รู้ได้อย่างมั่นคงแล้ว ท่านกลับสอนว่า "พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้" เมื่อถามท่านว่าผู้รู้เป็นจิต จะทำลายจิตได้อย่างไร ท่านกลับตอบว่า "จิตไม่ใช่จิต แต่ก็มิใช่ไม่ใช่จิต" เมื่อกราบเรียนท่านว่าเห็นจิตผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้เป็นคนละอันกัน ท่านกลับตอบว่า "จิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน" เป็นต้น
คำสอนของท่านล้วนเป็นหลักปฏิบัติสำคัญในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานและธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือคำว่า "ดูจิต" หมายถึงให้ ตามรู้ตามเห็นไปอย่างที่จิตเขาเป็น ไม่เผลอ ไม่คิด และไม่เพ่งเอา นี่เป็นวิธีเจริญวิปัสสนานั่นเอง
ที่ท่านสอนว่า "อย่าส่งจิตออกนอก" คือสอนว่าเมื่อจะปฏิบัติธรรมต้องมีสติสัมปชัญญะ ไม่หลงอารมณ์ ไม่ถูกตัณหา 6 ครอบงำ และต้องสักว่ารู้อารมณ์
ที่ท่านสอนว่า "จิตไม่มีที่ตั้ง" ก็เป็นการทำลายความเห็นผิดว่าจิตมีที่ตั้งประจำเป็นการถาวร เพราะถ้าเชื่อเช่นนั้นจะมีโอกาสผิดพลาดหลายอย่างเช่น (1) คิดว่าจิตเที่ยง คือจิตมีดวงเดียวแล้วเที่ยววิ่งไปทางทวารทั้ง 6 และ (2) จะเกิดความพยายามเอาจิตไปตั้งไว้ที่จุดนั้นจุดนี้ ซึ่งเป็นวิธีของการทำสมถะ
ความจริงจิตเกิดดับอยู่ทางทวารทั้ง 6 ตลอดเวลา จะพยายามเอามันไปตั้งไว้ที่ไหนเป็นการถาวรได้ แต่ถ้าจะถามหาที่ตั้งกันจริงๆ ก็ควรกล่าวว่า จิตเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปทางอายตนะภายในทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ที่ท่านสอนว่า "อย่าใช้จิตแสวงหาจิต" ก็เป็นการบอกตรงๆ ว่า (รูป) นามปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตาแล้ว เพียงมีสติและมีโยนิโสมนสิการเข้าใจถึงสภาวะของรูปนาม ก็พบ (รูป) นามแล้ว จะเที่ยวไปหามันทำไม เพราะการหานั้นเกิดจากอำนาจของตัณหา จิตที่กำลังถูกกิเลสตัณหาครอบงำย่อมไม่มีสติ เมื่อไม่มีสติก็ไม่มีทางรู้สภาวะของรูปนามได้เลย ดังนั้นไม่ว่าจะพยายามหาจิตสักเท่าไรก็ไม่มีวันพบ แต่ถ้ามีสติรู้ทันว่ากำลังมีตัณหา หรือรู้ทันว่ากำลังพยายามหา เท่านี้ก็เจอจิตแล้ว
ที่ท่านสอนว่า "จิตจริงแท้ไม่มีการไป ไม่มีการมา" ก็เป็นการบอกตรงๆ ว่าจิตมันเกิดดับอยู่ตลอดเวลา แต่เพราะเราไม่รู้ เราหลงผิดว่าจิตเที่ยง หรือจิตเป็นตัวตนถาวร จึงเห็นว่าจิตดวงนี้แหละเที่ยวไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ทั้งที่ความจริงนั่นคือวิญญาณที่เกิดดับทางทวารทั้ง 6 และสิ่งที่เห็นว่าวิ่งไปมาก็เป็นแค่อาการของจิตใจหรือเป็นความปรุงแต่งฝ่ายนามธรรม โดยจิตเป็นผู้รู้อาการนั้นอีกทีหนึ่ง แต่เราไปหลงอาการจึงไม่รู้จักจิต
ที่ท่านสอนว่า "พบผู้รู้ให้ทำลายผู้รู้" ก็คือไม่ให้ยึดจิตผู้รู้ ถ้ายังยึดอยู่ก็หลุดพ้นไม่ได้
ที่ท่านสอนว่า "จิตไม่ใช่จิต" ก็คือการชี้ให้เห็นว่า ตัวสภาวะหรือจิตปรมัตถ์เป็นอย่างหนึ่ง บัญญัติว่าจิตเป็นอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเข้าถึงตัวจิตปรมัตถ์ก็จะรู้ว่า สภาวะอันนั้นมีอยู่แต่ไม่เรียกว่าเป็นอะไรเลยถ้าไม่เข้าไปคิดนึกปรุงแต่ง แล้วจะรู้สภาวะนั้นโดยไม่เอาความคิดเข้าไปปนเปื้อนการรู้อีกต่อไป จนเห็นความจริงของจิตปรมัตถ์ว่าเป็นไตรลักษณ์ และปล่อยวางจิตได้
ที่ท่านสอนว่า "จิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน" ก็คือการชี้ให้เห็นสภาวะแห่งความเป็นอนัตตาของรูปนามทั้งภายในและภายนอก
จะเห็นได้ว่า หลวงปู่ดูลย์ไม่เคยสอนปริศนาธรรม แต่สอนธรรมอย่างตรงไปตรงมาที่สุดตามสภาวะที่ปรากฏ และมุ่งกระตุ้นให้เราก้าวต่อไปในทางธรรม โดยไม่หลงติดอยู่กับสภาวะอันใดอันหนึ่งที่พบเห็นในระหว่างทาง และท่านไม่เคยสอนเพื่อเอาใจเรา จนบางคนก็รับไม่ได้เพราะคำสอนของท่านไม่ตอบสนองกับกิเลสของตน เช่นบางคนพอใจกับนิมิตต่างๆ ท่านกลับบอกว่านิมิตทั้งหลายนั้นยังเอาเป็นที่พึ่งอะไรไม่ได้ หรือบางคนภูมิใจที่สามารถรู้อยู่กับจิตผู้รู้ได้ ท่านกลับบอกให้ทิ้งเสีย เป็นต้น (ก็คงคล้ายกับธรรมนิยายที่ว่า กามนิตเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้ เพราะพระองค์ท่านสอนว่าสวรรค์ไม่เที่ยง และไม่มีอาตมันคือไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเราเขาที่แท้จริง มีแต่รูปกับนาม ซึ่ง ขัดแย้งกับกิเลสของกามนิตอย่างรุนแรง)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 82
คำสอนของหลวงปู่ดูลย์

ถาม อยากให้หลวงพ่อช่วยอธิบายเรื่องอริยสัจจ์แห่งจิต ที่หลวงปู่ดูลย์สอนว่า "จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย มีผลเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค มีผลเป็นนิโรธ" ไม่ทราบว่าแตกต่างหรือสอดคล้องกับคำสอนเรื่องอริยสัจจ์ของพระพุทธเจ้าหรือเปล่าครับ
ตอบ ต้องสอดคล้องสิเพราะหลวงปู่ดูลย์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า จะแสดงธรรมขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ได้หรอก อาตมาจะขอกล่าวไปทีละสัจจะก็แล้วกัน
ที่ท่านสอนว่า "จิตส่งออกนอกเป็นสมุทัย" นั้น เพราะท่านพบสภาวะจริงๆ ว่า ถ้าจิตทะยานอยากออกไปยึดอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ความทุกข์ย่อมจะเกิดขึ้นทันที ถ้าจิตไม่ทะยานออกไปยึดอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 จิตจะไม่ทุกข์ ส่วนพระพุทธเจ้าท่านทรงชี้เข้ามาที่ตัวตัณหา ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้จิตทะยานออกไปยึดอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 ถ้าทำลายตัณหาทั้ง 6 ได้ จิตก็จะไม่ทะยานออกยึดอารมณ์ ความทุกข์ก็จะไม่เกิดขึ้น เป็นการมองเรื่องเดียวกัน แต่มองจากคนละมุม คือหลวงปู่ดูลย์ท่านมองจากปรากฏการณ์ ส่วนพระพุทธเจ้าทรงชี้เข้าไปถึงเบื้องหลังของปรากฏการณ์ด้วย
หลวงปู่ดูลย์สอนว่า "ผลอันเกิดจากจิตส่งออกนอกเป็นทุกข์" ทุกข์ตัวนี้ก็คือทุกข์ทางใจที่นักปฏิบัติมุ่งจะพ้นให้ได้นั่นเอง ส่วนทุกข์ตามคำสอนของพระพุทธเจ้ามีความหมายกว้างกว่านั้น คือกายและจิตเองนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ จิตจะส่งออกหรือไม่ส่งออก ตัวจิตก็เป็นตัวทุกข์อยู่แล้ว ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ท่านก็เห็นตามพระพุทธเจ้าเช่นกัน ท่านจึง สอนให้ทำลายความยึดถือจิตให้ได้ จึงจะถึงความบริสุทธิ์หลุดพ้นอย่างแท้จริง
หลวงปู่ดูลย์สอนว่า "จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค" ซึ่งก็ถูกต้องของท่าน เพราะการตามรู้ตามดูจิตก็คือการเจริญวิปัสสนาที่เอานามเป็นอารมณ์ จัดเป็นการเจริญ (ปุพพภาค) มรรคตามคำสอนของพระพุทธเจ้านั่นเอง แต่หลวงปู่ท่านชี้เข้ามาที่ตัวจิตอย่างเดียว ก็เพราะจิตใจเป็นใหญ่เป็นหัวหน้าในธรรมทั้งปวง ถ้ารู้ทันจิตก็เหมือนจับประมุขได้ ลูกน้องก็หมดความหมายไปเอง
ส่วนนิโรธนั้นหลวงปู่ท่านใช้ในความหมายเดียวกับที่พระพุทธเจ้า ทรงใช้นั่นเอง
สรุปแล้ว หลวงปู่ดูลย์ท่านอธิบายอริยสัจจ์แบบเจาะจงเพื่อการปฏิบัติของศิษย์ ซึ่งถ้าศึกษาและปฏิบัติเท่าที่ท่านเลือกเฟ้นธรรมของพระพุทธเจ้ามาสอนก็พอจะพ้นทุกข์ได้ ในขณะที่คำสอนเรื่องอริยสัจจ์ของพระพุทธเจ้านั้น กว้างขวางครอบคลุมธรรมฝ่ายกุศลทั้งปวง เพราะทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งปวงซึ่งมีวาสนาบารมีและอินทรีย์ แก่อ่อนแตกต่างกันมากมาย

ตอนที่ 83
คำสอนของหลวงปู่ดูลย์กับฮวงโป

ถาม ผมสงสัยว่าทำไมคำสอนของหลวงปู่ดูลย์จึงเหมือนกับคำสอนของฮวงโป
ตอบ เพราะหลวงปู่ยืมถ้อยคำของท่านฮวงโปมาใช้ เรื่องนี้สืบเนื่อง จากท่านเจ้าคุณพระโพธินันทมุนีเป็นผู้นำหนังสือ "คำสอนฮวงโป" ที่ท่านอาจารย์พุทธทาสแปลไว้ไปถวายให้หลวงปู่พิจารณา หลวงปู่เห็นว่าท่านฮวงโปบัญญัติถ้อยคำไว้ตรงกับสภาวะดีแล้ว และท่านอาจารย์พุทธทาสก็แปลไว้ดีแล้ว จึงนำคำสอนมากล่าวสอนเพียงบางส่วนเท่าที่เห็นว่าผู้ปฏิบัติควรทราบ มาในชั้นหลังนี้ได้ทราบว่ามีผู้ตำหนิท่านว่าละเมิดลิขสิทธิ์ คือนำหนังสือของท่านอาจารย์พุทธทาสไปพิมพ์แจกเป็นหนังสือ "จิตคือพุทธะ" ความจริงหลวงปู่ไม่เคยเขียนหนังสือธรรมะ และไม่เคยพิมพ์หนังสือธรรมะแจก มีแต่กล่าวธรรมให้ผู้สนใจฟังอย่างไม่มีรูปแบบและครั้งละไม่กี่คนเท่านั้น และท่านก็ไม่ได้ต้องการชื่อเสียง เกียรติยศหรือได้รับผลประโยชน์อะไร เพียงต้องการให้ผู้ฟังได้รับประโยชน์เท่านั้น ส่วนการพิมพ์หนังสือ "จิตคือพุทธะ" ก็เป็นเรื่องที่ลูกศิษย์ลูกหาทำกันเองในชั้นหลัง ถ้าจะว่ามีความบกพร่องที่ไม่มีเชิงอรรถหรือบรรณานุกรมอ้างอิงถึงหนังสือแปลของท่านอาจารย์พุทธทาส ก็ขอให้ว่าลูกศิษย์เถอะ ผู้เฒ่าอายุร่วมร้อยปีท่านไม่เข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์อะไรหรอก เหมือนท่านอ่านหนังสือแล้วเห็นว่าถูกต้องดี และสอดคล้องกับธรรมที่ท่านรู้เห็นมาด้วยการปฏิบัติ ท่านก็นำมาเล่าให้ลูกศิษย์ฟังเท่านั้นเอง

ถาม คำสอนของเว่ยหล่างฮวงโปไม่ใช่คำสอนในฝ่ายเถรวาทของเรา จะใช้ได้หรือครับ โดยเฉพาะบางอย่างฟังแล้วพิกลมาก เช่น เรื่องจิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน พอจะมีคำสอนในฝ่ายเถรวาทของเราเทียบเคียงได้บ้างไหมครับ
ตอบ คำสอนทั้งหลายนั้นจะใช้ได้หรือไม่ได้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครเป็นผู้สอน แต่อยู่ที่ตัวเนื้อหาของคำสอนเองต่างหาก โดยเฉพาะคำสอนในเรื่องแนวทางการปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นั้น หากสอดคล้องกับคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ต้องถือว่าใช้ได้ แต่หากขัดกับคำสอนของพระพุทธเจ้า แม้ผู้สอนจะเป็นฝ่ายเถรวาทเอง ก็ต้องถือว่าใช้ไม่ได้ ดังนั้นเราไม่ควรยอมรับหรือปฏิเสธคำสอนของผู้ใดด้วยเหตุผลที่ว่า เขาเป็นเถรวาทหรือมหายาน แต่ควรดูที่เนื้อหาของคำสอนนั้นเป็นสำคัญ
สำหรับคำสอนที่ว่า "จิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นสิ่งเดียวกัน" นั้น โดยถ้อยคำหรือพยัญชนะแล้ว ไม่มีปรากฏในคำสอนของฝ่ายเถรวาทแน่นอน และโดยเนื้อหาหรืออรรถะถ้าเราตีความตรงตามตัวอักษร ก็ไม่ถูกต้องตามคำสอนของฝ่ายเถรวาทด้วย เพราะจิต (จิตในจิตอันเป็นภายใน) ก็เป็นสภาวธรรมอันหนึ่ง สภาวะที่แวดล้อมอยู่ได้แก่ จิตในจิตอันเป็นภายนอก เจตสิก รูป (ทั้งที่มีวิญญาณครองและไม่มีวิญญาณครอง) และนิพพาน ต่างก็เป็นสภาวธรรมต่างหากออกไปจากกัน จะเป็นสิ่งเดียวกับจิต (จิตในจิตอันเป็นภายใน) ไม่ได้เลย
แต่ถ้าพิจารณาถึงสิ่งที่ท่านฮวงโปต้องการสื่อแล้ว คำสอนดังกล่าว ก็น่าฟังมาก คือท่านไม่ได้สอนว่าจิต เจตสิก รูป นิพพานและบัญญัติเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ท่านกล่าวถึงความรู้สึกของผู้ที่สามารถปล่อยวาง ความยึดถือจิตได้แล้ว ซึ่งจะรู้สึกว่าธรรมทั้งปวง ทั้งภายในและภายนอก เป็นสิ่งเดียวรวดคือเป็นอนัตตา ทั้งนี้จิตกับสิ่งแวดล้อมเป็นคนละสิ่งโดยสภาวะ แต่มีลักษณะอันเดียวกันคืออนัตตลักษณะ
หากพิจารณาถึงคำสอนในฝ่ายเถรวาทเอง ที่พอจะเทียบเคียงกับสภาวธรรมตามความมุ่งหมายของท่านฮวงโปได้บ้าง ก็มีปรากฏในอรรถกถาว่าด้วยพาหิยสูตร คือพระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า "จักขุวิญญาณ ย่อมไม่กำหนัด ขัดเคือง หลงในรูปที่มาปรากฏฉันใด เราจักตั้งชวนจิตไว้โดยประมาณแห่งจักขุวิญญาณอย่างนี้ว่า ชวนจิตของเราจักเป็นเพียงจักขุวิญญาณเท่านั้น เพราะเว้นจากราคะเป็นต้น"
จุดนี้พระอรรถกถาจารย์กล่าวถึงจักขุวิญญาณจิตว่าปราศจากกิเลส และสิ่งที่จักขุวิญญาณจิตเห็นนั้น นักปฏิบัติจะพบว่า มันคือรูปที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนและปราศจากน้ำหนัก แต่เมื่อเห็นรูปแล้ว ชวนจิตที่เกิดตามมากลับเป็นมหากุศลจิตบ้าง หรือเป็นอกุศลจิตบ้าง และจิตเกิดความยึดถือรูปนั้น จึงเกิดน้ำหนักแห่งความเป็นตัวตนขึ้น ในจิตใจ ดังนั้นรูปภายนอกจึงว่างไร้น้ำหนัก แต่จิตภายในกลับหนัก นับว่าจิตกับสภาวะที่แวดล้อมอยู่เป็นคนละอย่างกัน
แต่ถ้าชวนจิตที่เกิดตามมาเป็นเหมือนจักขุวิญญาณจิตเมื่อใด คือ ทำหน้าที่รู้อย่างเดียว ไม่ปรุงแต่งกุศลหรืออกุศล (แต่จิตอย่างนี้แหละเป็นมหากุศลจิตชั้นยอดทีเดียว) ชวนจิตจะไม่มีน้ำหนักแห่งความเป็นตัวตน หรือน้ำหนักแห่งความยึดถือขันธ์ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกได้ทันทีว่า รูปอันเป็นสิ่งแวดล้อมภายนอกก็ว่าง และจิตเองก็ว่างเสมอกัน อาตมาคิด ว่าท่านฮวงโปต้องการเล่าถึงสภาวะตรงนี้ ในขณะที่คัมภีร์ฝ่ายเถรวาทของเราไม่ได้เล่าถึงสภาวะที่เป็นผล แต่เล่าถึงส่วนที่เป็นการทำเหตุ คือการฝึกเจริญสติไปจนกระทั่งชวนจิตว่างเปล่าจากกิเลส เช่นเดียวกับจักขุวิญญาณจิต อันจะทำให้ได้เห็นธรรมภายในและธรรมภายนอกว่างจากความเป็นตัวตนเสมอกันหมด


ตอนที่ 84
ปฏิบัติธรรมที่บ้านได้ไหม

11. เรื่องอื่นๆ
ถาม ถ้าจะปฏิบัติธรรม จะต้องไปอยู่วัดหรือเข้าสำนักปฏิบัติหรือเปล่า หรือทำที่บ้านก็ได้ครับ
ตอบ ถ้าจะทำสมถะก็ควรหาสถานที่อันสงบสงัด แต่ถ้าจะเจริญวิปัสสนาก็ไม่เลือกเวลาและสถานที่แต่อย่างใด เพราะเราเจริญวิปัสสนา เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง .. ใจคิดนึก ไม่เกี่ยวกับเรื่องบ้านเรื่องวัดเลย แต่สำหรับผู้หัดใหม่ เบื้องต้นจะฝึกเป็นกลุ่มในวัดหรือในสำนักก่อนก็ไม่เป็นไร แต่เมื่อเข้าใจหลักปฏิบัติแล้ว ก็ควรหลีกเร้นไปทำความเพียรเอาเอง ดีกว่าจะคลุกคลีอยู่กับหมู่คณะเรื่อยไปอันเป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ

ถาม เป็นเกย์/เลสเบียน ปฏิบัติได้ไหมครับ/คะ (มีผู้กระซิบถามบ่อย เป็นคำถามยอดนิยมข้อหนึ่ง)
ตอบ ได้ ไม่มีปัญหาอะไรหรอก ขอให้พากเพียรจริงๆ เถอะ ในอรรถกถาธรรมบทก็พอมีร่องรอยของผู้เป็นเกย์แล้วได้ปฏิบัติธรรมจนถึงที่สุดแห่งทุกข์มาแล้ว

ถาม การใช้ชีวิตฆราวาสบางครั้งจำเป็นต้องทำผิดศีล เช่นปลวกขึ้นบ้านต้องหาทางกำจัด สุนัขมีหมัดมีเห็บก็ต้องฆ่าหมัดและเห็บ ค้าขายต้องโกหกเช่นต้องบอกต้นทุนเกินจริงบ้าง โฆษณาคุณภาพสินค้าเกินจริงบ้าง เวลาอยู่ที่ทำงานบางทีเจ้านายก็ใช้ให้โกหก เช่นคนมาขอพบเจ้านาย ก็ต้องโกหกว่าเจ้านายไม่อยู่หรือกำลังประชุมบ้าง
ตอบ ที่คุณกล่าวมานี้เหมือนคำบ่นมากกว่าคำถาม เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน คุณต้องการรักษาศีลหรือเปล่า ถ้าต้องการรักษาเพื่อสร้างสมบารมีก็ต้องยอมสูญเสียบางอย่าง แต่ถ้าพลาดไปทำผิดศีลเข้าจริงๆ ก็ต้องหัดวางใจให้ถูกเพื่อให้เกิดโทษน้อยลง เช่นปลวกขึ้นบ้านก็อย่าคิดฆ่าปลวก ให้คิดรักษาบ้าน ทำนองเดียวกันอย่าคิดฆ่าหมัดแต่ให้คิดอนุเคราะห์ให้สุนัขอยู่สุขสบาย ถ้าเจ้านายใช้ให้โกหกก็อย่าคิดว่าเราจะโกหก ให้คิดว่าเราจะทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ส่วนการค้าขายนั้นถ้าคุณซื่อสัตย์ต่อลูกค้าคุณน่าจะได้ประโยชน์ในระยะยาวมากกว่าการโกหกลูกค้า

ถาม นั่งแล้วเห็นแสง ได้ยินเสียง เห็นเทวดา เห็นผี จะทำอย่างไรดี
ตอบ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อจะเห็นอะไรแปลกๆ แต่ปฏิบัติเพื่อจะรู้รูปนามตามความเป็นจริง ดังนั้นถ้าเห็นอะไรก็อย่าไปสนใจ ให้สนใจจิตตนเอง เช่นเห็นผีแล้วกลัวก็ให้รู้ว่ากลัว เห็นเทวดาแล้วดีใจก็ให้รู้ว่า ดีใจ เป็นต้น สิ่งที่จิตไปเห็นนั้นเท็จหรือจริงก็มีค่าเท่ากัน ถ้าเห็นแล้วรู้ทันจิตก็ใช้ได้ ถ้าเห็นแล้วหลงยินดียินร้ายก็ใช้ไม่ได้

ถาม เวลาปฏิบัติจิตมันชอบพากย์หรือชอบร้องเพลงออกมาซ้ำๆ จะทำอย่างไรคะ
ตอบ รู้ไปเรื่อยๆ ถ้ารำคาญที่มันพากย์หรือร้องเพลง ก็ให้รู้ว่ารำคาญ แต่ถ้าทนไม่ไหวจริงๆ ก็ทำสมถะช่วยให้จิตสงบลงบ้าง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 85
จิตเสื่อม จิตตกจะทำอย่างไรดี

ถาม จิตเสื่อม จิตตกจะทำอย่างไรดี
ตอบ จิตมันไม่เสื่อมและไม่ตกหรอก แต่มันเกิดดับเป็นขณะๆ ไป บางคราวเกิดพร้อมกับโสมนัสเวทนา บางคราวเกิดพร้อมกับโทมนัส เวทนา บางคราวมีกิเลส บางคราวไม่มีกิเลส ทั้งนี้เพราะมันยังมีเหตุมีปัจจัยให้ต้องเป็นอย่างนั้น ผู้ปฏิบัติไม่ควรคาดหวังว่าจิตจะต้องสงบ ต้องสุข ต้องไม่มีกิเลสตลอดกาล ถ้าเข้าใจได้ว่าจิตมีความผันแปรไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจิตจะเป็นอย่างไรก็ไม่ต้องตกใจ คิดว่าจิตแสดงธรรมให้ดูว่าจิตไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาก็แล้วกัน

ถาม นั่งสมาธิแล้วจิตชอบตกภวังค์จะแก้อย่างไร
ตอบ จิตชอบตกภวังค์หรือ? ความจริงภวังค์ไม่ได้มีเอาไว้ให้ตกเหมือนตกหลุมตกบ่อ แต่ภวังค์เป็นชื่อของจิตอย่างหนึ่งที่ยังไม่ขึ้นสู่วิถีมาทำงานรับรู้อารมณ์ใหม่ ส่วนที่นั่งสมาธิแล้วเคลิ้มลืมตัวซึ่งนักปฏิบัติบางคนชอบเรียกว่าจิตตกภวังค์นั้น ความจริงจิตในขณะนั้นประกอบด้วย โมหะ ถ้านั่งแล้วเคลิ้มบ่อยก็ให้ลุกขึ้นเดิน ถ้าจำเป็นต้องนั่งก็ลืมตาเข้าไว้ แล้วคอยรู้ทันเวลาโมหะและราคะปรากฏขึ้น เช่นเกิดความเฉื่อยชาหรือ คิดอาวรณ์ถึงความสุขสงบ จิตก็จะไม่ตกภวงค์อย่างที่ว่านั่นหรอก

ถาม จิตไปแช่ในอารมณ์จะให้แก้อย่างไรครับ
ตอบ ให้รู้ว่าจิตไปแช่อยู่กับอารมณ์ แต่ต้องรู้ด้วยความเป็นกลางอย่าอยากเลิกแช่ จิตที่ไปจมแช่กับอารมณ์เกิดจากจิตขี้เกียจเจริญสติ จึงจับอารมณ์อันเดียวนิ่งๆ อยู่ เพราะรู้สึกว่าสบายดี หรือบางทีก็เพราะ สำคัญผิดว่าการทำอย่างนั้นคือการเจริญสติ ถ้ารู้ไม่ทันก็ติดอยู่ตรงนี้หลายๆ ปี หรือติดตลอดชีวิตทีเดียว
การไปแช่กับอารมณ์นั้นมีหลากหลายมาก บางคนกำหนดลมหายใจแล้วจิตก็เคลื่อนไปเกาะนิ่งอยู่กับลมหายใจ บางคนกำหนดเท้า/ท้อง จิตก็ไหลไปเกาะที่เท้า/ท้อง บางคนตรึงความรู้สึกไว้ที่กายตลอดเวลาเพราะกลัวจะเผลอ จนจิตแข็งทื่อๆ และร่างกายเจ็บปวดไปเลยก็มีสิ่งเหล่านี้ต้องรู้ให้ทัน เพราะเราปฏิบัติธรรมด้วยตัณหาและเคยชินที่จะเข้าไปนอนแช่แน่นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว พอลงมือปฏิบัติ ก็ส่งจิตไหลเข้าช่องเดิมทุกทีไป

ถาม ผมเห็นอารมณ์กับจิตรวมกันบ้าง แยกกันบ้าง จะต้องพยายามทำให้แยกตลอดเวลาไหมครับ
ตอบ ไม่ต้อง ให้เรารู้สภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง อย่าอยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อให้กายและจิตเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ แต่ปฏิบัติจนเข้าใจว่ากายและจิตไม่ใช่ตัวเราของเราต่างหาก

ถาม อยากทำวิปัสสนาแต่จะขอเริ่มจากสมถะก่อนได้ไหม

ตอบ คำถามนี้ก็คล้ายๆ กับพูดว่าอยากร่ำรวย แต่จะเริ่มจากการนอนพักผ่อนก่อนได้ไหม แท้จริง เราจะทำสมถะหรือจะทำวิปัสสนาเราต้องมีสติปัญญากำกับอยู่เสมอ ต้องรู้ว่าจะทำอะไร เพื่ออะไร และทำอย่างไรจึงจะถูกตรงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เช่นถ้าจิตฟุ้งซ่าน มากหรือมีนิวรณ์มากจนเจริญสติไม่ถูก อย่างนี้ก็ควรทำสมถะเสียหน่อย แต่ถ้าจิตไม่มีนิวรณ์ก็ควรเจริญสติไปได้เลย ขอให้เข้าใจว่า การทำสมถะมากๆ ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา แต่ปัญญาเกิดจากการเฝ้ารู้เฝ้าสังเกตกายนี้ใจนี้อยู่เสมอๆ ไม่ได้เกิดจากการนอนเพลินอยู่กับสมาธิ

ถาม ผมหัดทำสมถะมาหลายปีแล้ว มีแต่สงบแล้วก็ฟุ้งซ่านสลับกันอยู่เสมอ อยากทราบว่าควรจะเริ่มทำวิปัสสนาตอนไหน

ตอบ นักปฏิบัติที่มุ่งทำสมถะนั้นมักพบว่าจิตสงบแล้วก็ฟุ้งซ่าน นั่นเป็นธรรมชาติของจิต เพราะความ สงบก็เป็นของไม่เที่ยง หากคิดจะทำความสงบให้ถาวรเสียก่อนจึงจะเริ่มทำวิปัสสนา เราก็อาจไม่มีโอกาสเจริญวิปัสสนาเลยจนตลอดชีวิต ดังนั้นควรจะเริ่มทำวิปัสสนาได้แล้ว วิปัสสนานั้น เราทำเมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง..ใจคิดนึกปรุงแต่ง อย่างคุณนั้นชอบทำสมถะ คุณก็สามารถเริ่มทำวิปัสสนาได้ โดยเมื่อจิตเริ่มถอนออกจากสมาธิ ก็ให้คุณมีสติระลึกรู้ถึงความสงบสุขที่เพิ่งดับไปสดๆ ร้อนๆ ถัดจากนั้นก็รู้ทันความเปลี่ยนแปลงของจิตใจไปตาม ลำดับ แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้หัดทำฌาน ก็ให้มีสติเจริญวิปัสสนาไปเลย คือจิตสงบก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จนเห็นว่าทั้งจิต ทั้งความสงบและความฟุ้งซ่านล้วนแต่เป็นนามธรรมที่เกิดดับๆ ไปตามปัจจัยปรุงแต่งเท่านั้น ไม่ใช่ตัวตนที่จะบังคับเอาได้ตามใจชอบ

ถาม ผม/ดิฉัน เรียน/ทำงานทั้งวันไม่มีเวลาเจริญสติ

ตอบ ถ้าคุณรู้จักการเจริญสติ คุณจะไม่บ่นว่าไม่มี เวลาเจริญสติ เพราะเราสามารถเจริญสติได้ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเวลาหลับ ยกเว้นในเวลาทำงานที่ต้อง ใช้ความคิดเท่านั้น ลองสังเกตดูแล้วจะพบว่ามีเวลา ให้ปฏิบัติได้อีกตั้งมากมาย ผู้ที่บ่นว่าไม่มีเวลาปฏิบัติมักจะคิดว่า การปฏิบัติคือการที่ต้องทำอะไรบางอย่างตามรูปแบบ ซึ่งเป็นเรื่องที่กินเวลามาก


ตอนที่ 88
จะทำสติให้เกิดได้อย่างไร

ถาม จะทำสติให้เกิดได้อย่างไรครับ
ตอบ ทำไม่ได้ เพราะสติจะเกิดหรือไม่เกิดเป็นไปตามที่มโนทวาราวัชชนะจิต/โวฏฐัพพนจิตสั่ง ไม่ใช่ตามที่เราอยากให้เป็น หน้าที่ของผู้ปฏิบัติมีอันเดียวคือหมั่นสังเกตสภาวะรูปนามเข้าไว้ เช่น จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตเผลอก็รู้ จิตเพ่งก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตรักก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ จิตแสวงหาก็รู้ รูปยืนก็รู้ รูปเดินก็รู้ รูปนั่งก็รู้ รูปนอนก็รู้ หรือกายมีอาการเคลื่อนไหวก็รู้ จิตมีอาการเคลื่อนไหวก็คอยรู้เรื่อยไป หากจิตมีความเข้าใจสภาวธรรมใดชัดเจนแล้ว เมื่อสภาวธรรมนั้นปรากฏ โวฏฐัพพนจิตก็จะเป็นปัจจัยให้สติเกิดโดยไม่ต้องจงใจทำขึ้นมา สติที่เกิดเองนี่แหละเป็นสัมมาสติจริงๆ จิตในขณะนั้นจะโปร่ง เบา เบิกบาน ไร้น้ำหนัก ส่วน "สติ" ที่จงใจสร้างขึ้นมาด้วยอำนาจของตัณหา ไม่ใช่สติจริง จะมีลักษณะแข็งกระด้าง หนักแน่น ใช้ทำวิปัสสนาไม่ได้จริงหรอก

ถาม จะทำให้สติต่อเนื่องได้อย่างไรครับ
ตอบ ใครก็ทำสติให้ต่อเนื่องไม่ได้ แค่ทำสติขณะจิตเดียวยังทำไม่ได้เลย เพราะจิตจะมีสติหรือมีกิเลสก็ด้วยอำนาจของมโนทวาราวัชชน จิต/โวฏฐัพพนจิตเป็นผู้กำหนด และเมื่อสติเกิดแล้ว ถึงอย่างไรก็เกิดได้ในช่วงสั้นๆ ตำราบอกว่าเกิดได้ทีละ 7 ขณะจิตเท่านั้น จะทำให้ ต่อเนื่องยาวนานกว่านั้นไม่ได้เว้นแต่ทำฌานจิต แต่ถ้าคุณฝึกเจริญสติปัฏฐาน จนจิตคุ้นเคยที่จะมีสติแล้ว สติจะเกิดบ่อยๆ ได้ ถ้าสติเกิดได้บ่อยมาก เราจะรู้สึกเหมือนกับว่ามีสติต่อเนื่องได้เหมือนกัน

ถาม ถ้าเช่นนั้นจะพัฒนาจิตได้อย่างไรคะ
ตอบ ไม่ต้องไปคิดพัฒนาจิตหรอก เพราะจิตเป็นของเกิดดับ และไม่ใช่ตัวตนอะไรของเรา สิ่งที่ควรจะทำก็คือ การฝึกใจให้วนเวียนอยู่ในอารมณ์ที่เป็นกุศลเสมอๆ ด้วยการคิดในสิ่งที่ดีเช่นอนุสติ 10 ด้วยการพูดในสิ่งที่ดีเช่นกถาวัตถุ 10 ด้วยการทำในสิ่งที่ดีอื่นๆ เช่นการคบกัลยาณมิตร และสิ่งสำคัญที่นักปฏิบัติจะขาดไม่ได้ก็คือ การหมั่นสังเกตและเรียนรู้สภาวธรรมทั้งรูปและนามอยู่เนืองๆ แต่ต้องระวังอย่าเร่งร้อนสังเกตแบบจ้องตาไม่กะพริบ เพราะจะเผลอไปเพ่งแทนการรู้ได้ง่ายๆ
การที่เราน้อมให้จิตไหลอยู่ในกระแสกุศลเนืองๆ จะทำให้โวฏฐัพพนจิตตัดสินให้มหากุศลจิตเกิดบ่อยๆ (ทำนองเดียวกับการที่ปล่อยใจไปในทางที่ชั่วเสมอๆ จนความชั่วกลายเป็นอนุสัยหรือความเคยใจในทางที่ชั่ว ก็จะทำให้โวฏฐัพพนจิตตัดสินให้อกุศลจิตเกิดขึ้นเสมอๆ) ยิ่งถ้าเคยเรียนรู้ เคยสังเกตสภาวธรรมบ่อยๆ มหากุศลจิตที่เกิดก็จะประกอบด้วยปัญญาสามารถรู้รูปนามตรงตามความเป็นจริงได้บ่อยๆ จนเกิดความรู้จริง รู้แจ้ง และรู้ปล่อยวางรูปนามในที่สุด

ถาม ฟังหลวงพ่อพูดแล้วผมชักงงๆ เพราะทำอันนั้นก็ผิด ทำอันนี้ก็ผิด แล้วที่ถูกจะทำได้อย่างไรกัน
ตอบ ที่ถูกทำเอาไม่ได้ เพราะถ้าเมื่อใดคุณพยายามทำ (ปฏิบัติ) ด้วยตัณหา/อุปาทาน คุณก็ก้าวไปสู่ความผิดพลาดเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นไม่ต้องสนใจว่าทำอย่างไรจึงจะถูก ให้รู้ทันอาการปรากฏทางกาย หรือตามรู้อาการปรากฏทางใจที่มันเที่ยวทำโน่นทำนี่ไว้เถิด แล้วการปฏิบัติจะถูกเองโดยอัตโนมัติ

ถาม ดิฉันฝึกเจริญสติแล้วตัวแข็ง หลังแข็ง คอแข็ง ใจว่างๆ เบลอๆ จนต้องรับประทานยาแก้โรคประสาท รับประทานยาอย่างไรก็ไม่หาย ขอให้หลวงพ่อช่วยแนะนำวิธีแก้ไขให้ด้วยค่ะ
ตอบ อาการที่คุณกล่าวมานั้นเกิดจากการที่คุณฝึกเพ่ง ฝึกตรึงความรู้สึกไว้ที่กายตลอดเวลาเพราะกลัวจะขาดสติ นั่นไม่ใช่การเจริญสติหรอก เพราะเป็นการทำตามคำสั่งของตัณหาคือความอยากจะปฏิบัติธรรม ตราบใดที่ยังไม่เลิกตรึงความรู้สึกไว้กับกาย อาการของคุณจะไม่หายไป ให้คุณรู้ทันการตรึงความรู้สึกไว้ พอเลิกตรึง อาการทางกายเหล่านั้นก็จะทุเลาไปเอง

ถาม ดิฉันสังเกตเห็นว่า ในเวลาปกติจิตใจก็สบายดี แต่พอเริ่มกำหนดรูปนาม จิตจะหนักแน่นแข็งๆ หาความสบายไม่ได้เลย
ตอบ ต้องเป็นอย่างนั้นแน่ เพราะเป็นการปฏิบัติด้วยตัณหา ตัณหาเป็นเหตุแห่งทุกข์ มีตัณหาก็ต้องมีทุกข์เป็นธรรมดา แต่ถ้าเมื่อใดสภาวะรูปนามอันใดปรากฏ คุณรู้ไปตามนั้น จิตของคุณจะไม่แน่น ไม่หนักเลย แต่จะกลับรู้ตื่น และเบิกบานในทันทีนั้น เพราะจิต ปราศจากตัณหา


ตอนที่ 89
ควรจะเริ่มต้นการปฏิบัติด้วยการรู้กายหรือรู้จิต

ถาม ควรจะเริ่มต้นการปฏิบัติด้วยการรู้กายหรือรู้จิต
ตอบ ถ้ารู้กายแล้วสติเกิดบ่อยก็ให้รู้กาย ถ้ารู้จิตแล้วสติเกิดบ่อยก็ให้รู้จิต อย่าถือว่ากายหรือจิตอันใดสำคัญกว่ากัน ที่สำคัญคือความมีสติหรือความรู้สึกตัวต่างหาก

ถาม ผมเคยได้ยินพระอาจารย์รูปหนึ่งสอนว่า เบื้องต้นต้องพิจารณากายเสียก่อน จะไปรู้จิตเลยทีเดียวไม่ได้เพราะเป็นการข้ามขั้นตอนเหมือนกับการขึ้นต้นไม้ทางยอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเริ่มปฏิบัติด้วยการดูจิตนั้น เหมาะกับคนที่เคยเป็นฤาษีได้ฌานมาก่อนแล้วเท่านั้น
ตอบ อาตมาก็เคยได้ยินคำกล่าวอย่างนั้นเหมือนกัน แต่คัมภีร์ทั้งหลายนับแต่พระไตรปิฎกลงมาไม่ได้สอนไว้อย่างนั้น โดยเฉพาะอรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตรเปรียบสติปัฏฐาน 4 ว่าเหมือนประตูเมือง 4 ทิศ เข้าประตูเดียว คือตามรู้กาย เวทนา จิต หรือธรรมเพียงอันใดอันหนึ่ง ก็เข้าเมืองคือถึงนิพพานได้เหมือนกัน และท่านสอนด้วยว่าจิตตา นุปัสสนาเหมาะกับวิปัสสนายานิก นับว่าตรงข้ามกับคำสอนที่ว่าต้องทำฌานก่อนจึงจะดูจิตได้

ถาม ผู้ปฏิบัติจะทำปัฏฐานเดียวหรือต้องทำทุกปัฏฐาน ถ้าต้องทำทุกปัฏฐานต้องทำไปตามลำดับคือกาย เวทนา จิต และธรรมหรือไม่ครับ
ตอบ อาตมาเพิ่งตอบไปเดี๋ยวนี้เองว่าทำอันเดียวก็ได้ เพราะเราเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้สติเกิดเนืองๆ แล้วธรรมฝ่ายกุศลก็จะเกิดตามมา จะทำปัฏฐานใดก็เกิดสติได้ทั้งนั้น อย่างไรก็ตามเมื่อสติมีความคล่องตัวแล้ว ถ้าจิตจะท่องเที่ยวไปในปัฏฐานทั้ง 4 ก็เป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่เรื่องของเรา สำหรับการทำไปตามลำดับกาย เวทนา จิต ธรรมนั้น อาตมาก็เคยแนะนำบางคนเหมือนกัน แต่ถ้าทำคล่องแล้วจิตจะพลิกแพลงข้ามไปฐานนั้นฐานนี้ได้โดยไม่เรียงลำดับหรอก อารมณ์ใดรู้ชัดก็รู้อารมณ์นั้นด้วยความมีสตินั่นแหละ

ถาม ขอถามความเห็นของหลวงพ่ออีกสักครั้งว่า การปฏิบัติในสายไหนดีกว่าสายไหน
ตอบ อาตมาตอบให้ไม่ได้หรอก คุณลองศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ชัดๆ ในเรื่องกิจในอริยสัจจ์ สติปัฏฐาน สมถะและวิปัสสนา แล้วคุณจะตอบได้เอง คือแยกได้ว่าอันใดเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อันใดเป็นอุบายของอาจารย์ แล้วก็ลองพิจารณาดูว่าอุบายที่อาจารย์สอนนั้น ปลายทางจะส่งผลตรงกับคำสอนของพระพุทธเจ้าหรือไม่ ถ้าอุบายของอาจารย์ส่งให้เกิดผลถูกต้องก็ใช้ได้เหมือนกัน เพราะอุบายบางอย่างก็จำเป็นสำหรับบางคน แต่ไม่มีหรอกนะที่อุบายอันเดียวกันจะใช้ได้กับคนทุกคนซึ่งจริตนิสัยและวาสนาบารมีต่างกัน ถ้ามีอุบายดีวิเศษอย่างนั้นจริง พระพุทธเจ้าท่านคงสอนเอาไว้แล้วล่ะ

ถาม ดิฉันหัดเจริญสติในชีวิตประจำวัน บางทีก็เกิดสับสนว่า ที่กำลังทำอยู่นี้เรารู้ตัวหรือว่าเผลอกันแน่ ถ้าเกิดอาการอย่างนี้ ดิฉันควรจะทำอย่างไรดี
ตอบ ให้คุณรู้ว่ากำลังสงสัยอยู่ เพราะความสงสัยนั่นแหละเป็นปัจจุบันอารมณ์

ถาม หลวงพ่อมักสั่งให้รู้ความสงสัยโดยไม่ให้คิดหาคำตอบ แล้วจะเกิดความรู้ได้อย่างไรคะ
ตอบ เกิดได้สิ คือจะเห็นว่าความสงสัยเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความรู้ตรงนี้สำคัญกว่าการที่จะเที่ยวคิดแสวงหาคำตอบเสียอีก คุณเคยได้ยินไหมว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา" เราต้องการรู้ความจริงเพียงเท่านี้เอง ความรู้อื่นๆ ไม่สำคัญหรอก


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ย. 2008, 14:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ตอนที่ 90
จะรู้ได้อย่างไรว่ารู้ได้ถูกต้องแล้ว

ถาม จะรู้ได้อย่างไรว่ารู้ได้ถูกต้องแล้ว
ตอบ ต้องเคยรู้จักสภาวะรู้ที่ถูกต้อง พอสภาวะรู้เกิดขึ้นก็จะรู้ได้ เลยว่ารู้ถูกแล้วหรือไม่ อาตมามีข้อเสนอแนะให้คุณลองสังเกตสภาวะบางอย่างดู คือ (1) ถ้าคุณรู้โดยจงใจที่จะรู้ อันนั้นก็ผิดแล้ว แต่ถ้าสติเกิดขึ้นเอง เช่นโกรธอยู่แล้วเกิดรู้ว่าโกรธ เผลออยู่แล้วเกิดรู้ว่าเผลอ อย่างนี้จึงใช้ได้ (2) ถ้ารู้แล้วคุณจงใจเข้าไปดัดแปลงหรือแทรกแซงจิตหรืออารมณ์ อันนั้นก็ผิดแล้ว แต่ถ้าคุณรู้อย่างสักว่ารู้ ด้วยจิตที่เป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายอย่างนี้จึงใช้ได้ และ (3) ถ้ารู้แล้วจิตเกิดโทมนัสเวทนา คือมีความอึดอัดหรือทุกข์ใจ อันนั้นก็ผิดแล้ว เพราะรู้ที่ถูกนั้นจิตจะเป็นมหากุศลจิต ซึ่งมีได้เฉพาะโสมนัสเวทนาหรืออุเบกขาเวทนาเท่านั้น ส่วนโทมนัสเวทนาย่อมเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น

ถาม ผมดูอารมณ์อกุศลอย่างไรก็ไม่ดับ เช่นพอโทสะเกิดขึ้น ดูอย่างไรก็ดับโทสะไม่ได้
ตอบ ถ้ามีสติถูกต้องเป็นสัมมาสติเมื่อใด จิตในขณะนั้นจะมีโทสะหรืออกุศลใดๆไม่ได้เลย เพราะอกุศลกับสติเกิดพร้อมกันไม่ได้ แต่ที่คุณเห็นว่าโทสะมีอยู่และไม่ดับไปเสียที ก็เพราะในขณะนั้นคุณไม่ได้ มีสติ แต่มีโทสะที่จะละโทสะ อีกอย่างหนึ่งเราปฏิบัติธรรมไม่ใช่เพื่อละโทสะ เพราะโทสะมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ เราปฏิบัติธรรมเพื่อให้เห็นความจริงว่า โทสะและรูปนามทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาต่างหาก

ถาม ทำอย่างไรจึงจะเห็นไตรลักษณ์ได้คะ
ตอบ คุณต้องรู้รูปนามจึงจะเห็นไตรลักษณ์ได้ คือเมื่อใดมีสติสัมปชัญญะรู้รูปนามตรงตามความเป็นจริง ถึงไม่อยากเห็นไตรลักษณ์ก็ต้องเห็น เพราะรูปนามมีไตรลักษณ์แนบอยู่แล้วเป็นนิจ เปรียบเหมือนคุณมีผ้าที่มีตำหนิอยู่ผืนหนึ่ง หากคลี่ผ้าออกดูเสมอๆ ก็ย่อมพบตำหนินั้นจนได้ แต่ถ้าไม่ดูผ้าผืนนั้น (คือไม่ดูรูปนาม) หรือเอาแต่คิดคาดคะเน ว่าผ้าน่าจะมีรอยตำหนิ (คือหลงอยู่กับความคิด/สมมุติบัญญัติ) คุณก็เห็นตำหนิของจริง (คือไตรลักษณ์) ไม่ได้

ถาม แล้วต้องช่วยจิตคิดพิจารณาหรือเปล่าคะ
ตอบ ไม่ต้อง แต่ถ้าจะช่วยก็ช่วยให้น้อยที่สุด เราต้องการเห็นความจริง จึงไม่ควรเอาความคิดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ แต่ถ้าจิตฟุ้งซ่านมากจะคิดพิจารณาบ้างก็ได้ เป็นการทำสมถะ พอคิดๆ แล้วจิตก็สงบได้จึงค่อยเจริญสติต่อไป

ถาม ถ้าอย่างนั้นจะดับความคิดได้อย่างไรคะ
ตอบ ดับไม่ได้หรอก จิตเป็นอนัตตา สมมุติบัญญัติก็เป็นอนัตตา จิตมันปรุงความคิดจะไปห้ามมันไม่ได้ แต่ถ้ารู้ทันว่าจิตคิดและไม่ไปช่วยมันคิด ความคิดมันจะขาดไปเอง หรือถึงมีอยู่ก็มีอย่างเบาๆ ไม่หนัก และไม่เป็นตัวเป็นตนอะไรเลย

ตอนที่ 91
ถ้าเราไม่คิด เราจะเกิดปัญญาได้อย่างไรครับ

ถาม ถ้าเราไม่คิด เราจะเกิดปัญญาได้อย่างไรครับ
ตอบ เราเกิดปัญญาเพราะเห็นความเป็นจริงของรูปนาม ไม่ใช่เพราะคิดถึงรูปนาม พวกเราควรจับหลักการปฏิบัติไว้ให้ดีว่า ถ้าจะเจริญวิปัสสนาต้อง รู้อารมณ์ปรมัตถ์คือรูปนาม ส่วนเรื่องบัญญัตินั้น ไม่สำคัญหรอก อาตมาจะบอกให้ว่า ดูสิ่งใดไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าดู ฟังสิ่งใดไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าฟัง คิดเรื่องอะไรไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าจิตมีอาการคิด แสวงหาอะไรไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าจิตมีอาการแสวงหา เพ่งอะไรไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าจิต มีอาการเพ่ง สุข/ทุกข์เรื่องอะไรไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าสุข/ทุกข์ รักอะไรไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าจิตมีอาการรัก โกรธอะไรไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าจิตมี อาการโกรธ ฟุ้งซ่านเรื่องอะไรไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าจิตมีอาการฟุ้งซ่าน และหดหู่ด้วยเรื่องอะไรไม่สำคัญ-สำคัญที่รู้ว่าจิตมีอาการหดหู่ เป็นต้น

ถาม ผมปฏิบัติตามที่หลวงพ่อแนะนำมาช่วงหนึ่งแล้ว ได้พบว่าจิตมีอาการแปลกๆ คือเวลาที่เห็นรูป อยู่นั้นจะไม่มีสุขทุกข์ดีชั่วอะไร แต่การดูมันเกิดเพียงวันเดียว แล้วมันก็ส่งสัญญาณเข้ามาที่ใจ ใจจะจำได้ว่าอารมณ์นั้นคืออะไร ดีหรือไม่ดี ถ้าคิดได้ว่าเป็นอารมณ์ที่ดี ราคะก็จะเกิดขึ้น ถ้าคิดได้ว่า เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี โทสะก็จะเกิดขึ้น ถัดจากนั้นจิต จะเบลอๆ ลงนิดหนึ่งแล้วอารมณ์ก็ดับหายไปหมด ชั่วระยะสั้นๆ ถัดจากนั้นความรับรู้อารมณ์จึงเกิดขึ้นใหม่ อาจจะรับรู้ทางตา ทางหู หรือทางใจก็ได้ ผมเชื่อแล้วว่ารูปนามมันเกิดดับได้ และรูปใหม่ก็ไม่ใช่รูปเดิม นามใหม่ก็ไม่ใช่นามเดิม
หลวงพ่อถามบ้าง คุณสังเกตได้อีกไหมว่า เรา เลือกไม่ได้ที่จะรู้อารมณ์ทางทวารใดๆทั้งสิ้น จิตเขา ทำงานของเขาไปได้เอง และจิตจะเกิดกุศลหรืออกุศลก็เป็นสิ่งที่เราทำขึ้นไม่ได้ จิตเขาทำของเขาเอง
โยมตอบ ใช่ครับ
หลวงพ่อ ถ้าเราเจริญสติได้ถูกต้องแล้ว เราจะเห็นความจริงไม่ยากเลย การที่เห็นอารมณ์เก่าดับไปแล้วมีอารมณ์ใหม่เกิดขึ้น นั่นเป็นการเจริญวิปัสสนาจริงๆ แล้ว ให้ทำต่อไปเถอะ

ถาม ดูแล้วไม่รู้ว่ารู้อะไร รู้แต่ว่าจิตมีการกระทำบางอย่าง
ตอบ ดีแล้วที่รู้ ไม่จำเป็นต้องรู้ว่ารู้อะไรหรอก เพราะ "อะไร" ที่ถูกรู้นั้น มันมักจะเป็นแค่ สมมติบัญญัติเท่านั้น

ถาม เราจะปฏิบัติเพื่อมุ่งสู่มรรคผลนิพพาน ทำไม เราไม่กำหนดรู้ความว่างหรือมหาสุญญตาโดยตรง ล่ะครับ ทำไมจึงต้องอ้อมไปหานิพพานโดยผ่านทาง การรู้ทุกข์หรือรูปนาม
ตอบ นิพพานไม่ใช่โลกอีกอันหนึ่งที่ว่างๆ และไม่มี อะไรเลย แต่นิพพานคือความดับตัณหาหรือวิราคะ และคือความดับของความปรุงแต่ง (รูปนาม) หรือ วิสังขาร ดังนั้นถ้าจู่ๆ เราดูเข้าไปที่ความว่าง เราจะหลงเพ่งช่องว่าง หรือเพ่งความไม่มีอะไรเลย นิพพานชนิดนั้นเรียกได้ว่านิพพานพรหม ไม่ใช่นิพพานพุทธ หนทางปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าพาดำเนินจึงต้องรู้ทุกข์ คือรู้ความปรุงแต่งหรือรูปนาม จนเข้าใจรูปนามตามความเป็นจริงจึงหมดตัณหา เมื่อใดหมดตัณหา เมื่อนั้นธรรมที่ปราศจากตัณหาและปราศจากความปรุงแต่งก็จะปรากฏออก มาให้รู้ได้ด้วยใจ สภาวะใดยังมีตัณหา และสภาวะใดยังมีรูปนาม สภาวะนั้นไม่ใช่นิพพาน
ตัวตนและสมมติบัญญัติทั้งหลายคือภาพลวงตาที่ตั้งซ้อนอยู่กับรูปนาม เมื่อเข้าใจรูปนาม ตามความเป็นจริงภาพลวงตาก็หายไป เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้ความยึดถือรูปนามก็ดับไป เมื่อจิตปล่อย วางรูปนามหมดความดิ้นรนแส่ส่ายเพราะความหิว ในอารมณ์ นิพพานคือความดับ แห่งตัณหาก็ปรากฏ ขึ้น เรียกว่ากิเลสนิพพานหรือสอุปาทิเสสนิพพาน
เมื่อรูปนามนี้ดำรงสืบต่อจนหมดวิบากที่ส่งผลให้เกิดขึ้นและตั้งอยู่แล้ว รูปนามนั้นก็ดับไปเหมือนไฟหมดเชื้อ เรียกว่าขันธนิพพาน หรือ อนุปาทิเสสนิพพาน
จะเห็นได้ว่านิพพานไม่ได้ปรากฏออกมาเพราะการแสวงหานิพพาน แต่ปรากฏเพราะการปล่อยวางความยึดถือในรูปนามเสียได้

ถาม เมื่อเราปฏิบัติมากเข้า สภาวะของสติปัญญา และจิตใจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหมครับ
ตอบ เปลี่ยน แต่เขาเปลี่ยนของเขาเอง ไม่ใช่เราไป บังคับให้เขาเปลี่ยนได้ อาตมาจะยกตัวอย่างให้ฟัง
สติเบื้องต้นจะเกิดน้อย นานๆจะเกิดครั้งหนึ่ง แต่เมื่อหมั่นตามรู้กายตามรู้ใจเนืองๆ จนจิตรู้จักสภาวธรรมได้มากและแม่นยำแล้ว สติก็จะเกิดเร็วขึ้น ความเผลอก็จะสั้นลงเรื่อยๆ และสตินั้นเบื้องต้นรู้ได้แต่อารมณ์หยาบๆ เบื้องกลางรู้อารมณ์ ได้ละเอียดขึ้น เบื้องปลายรู้ได้ทุกอย่าง
ปัญญาเบื้องต้นรู้สภาวะหรือรูปนามเบื้องกลาง รู้ลักษณะหรือไตรลักษณ์ เบื้องสูงรู้อริยสัจจ์ สูงสุดรู้นิพพาน
จิตเบื้องต้นคลุกรวมอยู่กับอารมณ์ (จมอยู่กับรูปนาม รู้รูปนามอย่างมีส่วนได้เสีย) เบื้องกลางถอดถอนตนเองขึ้นเอง เริ่มจากการถอดถอน บ้างรวมบ้าง จนไม่รวมเข้ากับรูปนามเลย และเหมือนลอยอยู่กลางความว่าง ถึงจุดนี้ผู้ปฏิบัติอาจจะสงสัยว่าแล้วควรจะให้รู้ที่ใด ระหว่างจิต อารมณ์ และความว่าง จึงเที่ยวค้นคว้าหาทางเดินต่อไป เพราะพอรู้รูปนามก็ทุกข์ พอรู้จิตก็ว่างไม่มีอะไรเหมือนโง่อยู่เฉยๆ (การเพียรรู้รูปนามหรือจิต ก็ยังมีการกระทำหรือกรรมที่เรียกว่าปุญญาภิ-สังขาร) พอจะรู้ความว่างก็ยังต้องส่งใจออกไปรู้ (ว่างชนิดนี้จึงเป็นว่างที่รู้ด้วยอำนาจบงการของตัณหา ยังมีอาเนญชาภิสังขาร ผู้ปฏิบัติอย่างไม่รอบคอบและมีปัญญาไม่พอ จิตจะแล่นไปยึดเอาความว่างคือ "ความไม่มีอะไร" มาแทนขันธ์ เพราะคิดว่าความว่างคือนิพพาน ที่จริงนั่นเป็นอารมณ์อรูปไม่ใช่นิพพาน)
เมื่อเจริญสติมากเข้าจนจิตเข้าใจอริยสัจจ์แจ่มแจ้ง คือรู้ว่า "รูปนามหรือขันธ์นั่นแหละคือทุกข์ แต่ถ้าสิ้นตัณหาคือหมดอยากหมดยึดขันธ์ จิตก็หลุดพ้นจากกองขันธ์ ก็คือพ้นทุกข์" เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจ์อย่างนี้แล้ว จิตก็ถอดถอนหลุดพ้นออกจากกองทุกข์คือขันธ์ และพ้นจากการกระทบกระทั่งของกิเลส ทุกข์หรือขันธ์ก็ยังคงมีอยู่เพราะวิบากยังให้ผลอยู่ แต่ใจพ้นทุกข์ลอยอยู่เหนือกองทุกข์เพราะสิ้นตัณหาอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตไว้กับขันธ์ ความสิ้นตัณหานี่แหละคือนิพพานเป็นสภาพที่พ้นทุกข์ (ขันธ์) พ้นกิเลส โดยไม่ต้องส่งจิตเข้าไปหานิพพานในความว่างที่ไหนเลย
ถึงจุดนั้นจะเห็นชัดว่าสภาวธรรมทั้งปวงคือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นเพียงอารมณ์ที่ปรากฏเท่านั้น ไม่มีเจ้าของผู้ครอบครองแต่อย่างใดเลย


ที่มา http://board.agalico.com


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 25 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร