วันเวลาปัจจุบัน 16 มิ.ย. 2024, 06:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ ๙ - คำถามที่น่ากลัวที่สุดในชีวิต


บางคนรู้สึกว่าความตายเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิต

บางคนเจาะจงลงไปกว่านั้น คือรู้สึกว่าความเจ็บปวดขณะกำลังจะตายน่ากลัวที่สุด

แต่บางคนฟังเรื่องเกี่ยวกับนรก ก็รู้สึกว่าไม่มีสิ่งใดในสากลจักรวาลน่าสะพรึงกลัวยิ่งไปกว่านรกอีกแล้ว



แต่ความจริงก็คือยังมีสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น!



ความมืดอันใดน่ากลัวที่สุด?
ครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ตรัสกะพระสาวกของพระองค์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย โลกันตนรกมีแต่ความทุกข์ มืดคลุ้มเป็นหมอกมัว สัตว์ในโลกันตนรกนั้นไม่ได้รับรัศมีพระจันทร์และพระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากถึงขนาดนี้

เมื่อพระองค์ท่านตรัสแล้วก็ทรงเงียบอยู่ กระทั่งมีภิกษุรูปหนึ่งทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฟังแล้วโลกันตนรกช่างมืดมากเหลือเกิน แต่จะยังมีความมืดอย่างอื่นที่ยิ่งไปกว่านั้น น่าสะพรึงกลัวยิ่งไปกว่าความมืดแห่งโลกันตนรกหรือไม่พระเจ้าข้า?

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ดูกรภิกษุ ความมืดอย่างอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความมืดแห่งโลกันตนรกนั้นมีอยู่ แล้วท่านก็สาธยายมีใจความโดยสรุปคือ ความไม่รู้ตามจริงนั่นเองที่มืดยิ่งกว่าโลกันตนรก

พวกเราไม่รู้อะไรตามจริงบ้าง? คือ…

๑) ไม่รู้ว่ากายใจอันเป็นที่ตั้งของอุปาทานทั้งปวงนี้ เป็นทุกข์ (นึกว่าเป็นสุข เป็นของดีที่น่ามีน่าเป็น)

๒) ไม่รู้ว่าความอาลัยยึดติดในกายใจนี้ เป็นเหตุแห่งทุกข์ (นึกว่าจำเป็นต้องหลงอยู่เช่นนี้อย่างไม่มีทางเลือก)

๓) ไม่รู้ว่าความพ้นขาดจากการหลงยึดผิดๆ เป็นความดับทุกข์ (นึกว่าการดับทุกข์เด็ดขาดถาวรชนิดไม่กลับกำเริบใหม่เป็นไปไม่ได้)

๔) ไม่รู้ว่าการตั้งมุมมองไว้ตรงตามจริง แล้วเพียรตั้งสติดูอยู่จนจิตตั้งมั่นรู้แจ้ง เป็นวิธีดับทุกข์ (นึกว่าคลายความกระวนกระวายได้เพียงด้วยการเสพกาม หรืออย่างดีที่สุดคือการเข้าฌานไปเป็นพรหมเพื่อมีชีวิตอมตะชั่วนิรันดร์)



แค่ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นทางดับทุกข์เท่านี้ เหตุใดจึงได้ชื่อว่าเป็นความมืดที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าโลกันตนรก? ขอให้พิจารณาว่าความมืดของโลกันตนรกนั้น ยังมีวันสว่าง ยังมีทางเปิดให้สัตว์ไปอุบัติในภพอื่นหลังจากใช้กรรมหมดสิ้นแล้ว แต่ความไม่รู้ว่าอะไรเป็นเหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญเป็นบาปนั้น ส่งสัตว์ให้ตกต่ำลงไปยิ่งกว่าโลกันตนรก เช่นถ้าพลาดทำอนันตริยกรรมก็มีหวังถึงอเวจีมหานรกได้

โลกันตนรกเป็นแค่ภพแห่งความทุกข์ภพหนึ่ง แต่ความไม่รู้ หรือความมีอวิชชานั่นแหละ นำไปสู่ภพแห่งความทุกข์ต่างๆ ทั้งที่มืดมนกว่าโลกันตนรก และทั้งที่แผดเผาเท่าอเวจีมหานรก และสำคัญกว่าอะไรคือโลกันตนรกนั้นวันหนึ่งจะสิ้นสุดสภาพเองเมื่อแรงส่งของวิบากกรรมหมดลง แต่อวิชชาจะไม่มีวันสิ้นสุดสภาพด้วยตนเองเลย หากปราศจากเหตุคือปัญญารู้ทางดับทุกข์



เรากำลังเป็นหนึ่งในผู้ติดกับดักแห่งความมืดอยู่หรือไม่?
กับดักมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่ไม่มีกับดักใดน่าพรั่นพรึงยิ่งไปกว่ากับดักที่เหนี่ยวเราไว้ให้ติดอยู่กับความเสี่ยงต่อนรกอย่างไร้วันจบวันสิ้น ระหว่างการเดินทางไกลอันไม่เป็นที่รู้ เรามีโอกาสพลาดได้ทุกขณะ ขอเพียงคบคนพาลเป็นมิตร หรือเพียงมีคนคิดชั่วอยู่ในเรือน

กับดักอันนำไปสู่ภพที่มืดอย่างยืดเยื้อไร้วันจบสิ้นก็คือความไม่รู้ตามจริง

พอไม่รู้ก็เข้าข้างตัวเองว่านี่ของเรา นั่นของเรา นั่นเนื่องด้วยเรา

พอไม่รู้ก็เข้าข้างกิเลสว่าเราควรได้สิ่งนี้ เราไม่ควรได้สิ่งนั้น

พอไม่รู้ก็สำคัญมั่นหมายว่ามีเราเป็นอมตะ น่าจะเคยเกิดในภพดีๆ และจะไปเกิดในภพสูงๆ



ลองถามตัวเองว่ารู้สึกถึงความมีอัตตาอยู่ไหม? ถ้าต้องตอบตามจริงว่ามี ลองถามตัวเองอีกว่าอัตตานี้จะมีอยู่ตลอดไปไหม? ถ้าต้องตอบตามจริงคือรู้สึกว่ามันจะคงอยู่ตลอดไป ขอให้บอกตัวเองเถิดว่าเราติดกับแล้ว เป็นผู้หนึ่งที่ต้องเวียนว่ายตายเกิดเสี่ยงผิดเสี่ยงถูกอยู่ในสังสารวัฏนี้แล้ว!

สิ่งใดที่ไม่เที่ยง เรากลับรู้สึกว่ามันเที่ยง ย่อมชื่อว่าเรากำลังอุปาทานไป

สิ่งใดเป็นทุกข์ แต่เรากลับรู้สึกว่ามันเป็นสุข ก็ย่อมชื่อว่าเรากำลังอุปาทานไป

สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีอันต้องดับไปเป็นธรรมดา ย่อมไม่ใช่ตัวตน ย่อมไม่อยู่ในครอบครองของใคร แต่เรากลับรู้สึกว่าเป็นอัตตา เป็นตัวเราที่ไม่ควรตาย เช่นนี้ก็ย่อมชื่อว่าเรากำลังอุปาทานไป

อุปาทานเป็นชื่อของความหลงผิด เป็นชื่อของความมืดบอดทางใจ ที่น่าสลดใจคือไม่มีใครรู้เลยว่าขอเพียงฝึกที่จะรู้ตามจริงเป็นขั้นๆ พวกเราไม่ต้องมีอุปาทานก็ได้ แต่เมื่อไม่ฝึกรู้ตามจริง ก็ต้องหลงวนอยู่ในโลกของอุปาทานกันต่อไปอย่างไร้ที่จบสิ้น



อุปาทานทำให้เรานึกว่ากามเป็นของดีที่สุด อาจถึงขั้นหลงคิดว่าเป็นความชอบธรรมที่จะฉุดคร่าลูกเมียผู้อื่นมาสำเร็จความใคร่ นี่คือบาปโทษอันอาจเกิดขึ้นเมื่อยังมีอุปาทานในกาม

อุปาทานทำให้เรานึกว่าสิ่งที่เราปักใจเชื่อนั้นถูกที่สุด อาจถึงขั้นหลงคิดว่าเมื่อเราไม่เชื่อว่านรกสวรรค์มี ก็ไม่เป็นผู้ที่ต้องตกตายแล้วไหลลงอบายแน่ๆ แม้จะทำชั่วเพียงใดก็ตาม นี่คือบาปโทษที่เห็นได้ชัดขณะยังมีอุปาทานในทิฏฐิ

อุปาทานทำให้เรานึกว่าธรรมเนียมการปฏิบัติหรือเคล็ดลางที่เราถือมั่นนั้นมีผลสูงที่สุด อาจถึงขั้นหลงคิดว่าฆ่าแพะบูชาเทพเจ้าคือการปลดปล่อยพวกมันไปสู่สุคติ นี่คือบาปโทษที่เห็นได้ชัดขณะยังมีอุปาทานในวัตรปฏิบัติที่สืบต่อกันมาอย่างงมงายไร้เหตุผล

และสุดท้าย อุปาทานทำให้เราหลงยึดว่าต้องมีตัวตนของเราอยู่แน่ๆ ไม่สภาพนี้ก็อีกสภาพหนึ่ง ไม่อยู่ในโลกนี้ก็ต้องอยู่ในโลกหน้า การหลงยึด การหลงอาลัย หรือหลงทะยานอยากเป็นนั่นเป็นนี่นั่นเองคือการสืบเชื้อแห่งการเกิดไม่รู้จบ นี่คือโทษที่เห็นได้ชัด และเป็นโทษอันร้ายแรงที่สุดเมื่อยังมีอุปาทานในตัวตน หรืออุปาทานในวาทะแบบใดแบบหนึ่งว่าตัวตนเป็นอย่างนั้นอย่างนี้



เวลาที่อุปาทานหนาทึบ เราจะไม่รู้สึกเลยว่ามีสิ่งอื่นยิ่งไปกว่าสิ่งที่กำลังยึด เหมือนเอาเกราะมาครอบ หรือเหมือนเอากำแพงมาล้อม คล้ายคนหลงติดคุกอยู่ด้วยความเต็มใจยิ่ง ลองเถอะ ถ้าถามตัวเองเดี๋ยวนี้ว่ากำลังมีอุปาทานอันใดบ้าง แทบทุกคนจะตอบว่าไม่มีเลย เพราะเห็นทุกอย่างตามปกติอยู่ ใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นปกติอยู่

ยิ่งถ้าพยายามบอกว่า สังคมโลกทั้งหมดนั่นแหละ กำลังลุ่มหลงมัวเมาอยู่ในอุปาทานทุกชนิดกัน คนบอกอาจเจอข้อกล่าวหาว่าเป็นจอมอุปาทานไปเสียเองก็ได้



เรามีความละอายในการกระทำอันเป็นบาปบ้างหรือไม่?
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าใครสามารถกล่าวมุสาได้โดยปราศจากความละอาย ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่เรื่องจริง ก็ไม่มีบาปกรรมใดแม้แต่หนึ่งเดียวที่เขาจะทำไม่ลง

ความละอายจึงเป็นตัวแปรสำคัญที่สุด เป็นองค์ประกอบสำคัญสูงสุดในการถือกำเนิดเกิดเป็นมนุษย์ ตราบใดยังมีความละอาย ไม่อยากทำบาป ไม่นึกสนุกติดใจในกรรมชั่ว ก็เรียกว่าเขายังพอมีพื้นของความเป็นมนุษย์อยู่ แต่หากทำบาปได้แบบไม่ต้องกะพริบตา เช่นพูดโกหกมดเท็จปั้นน้ำเป็นตัวได้คล่องแคล่วเป็นธรรมชาติ นั่นแหละคือเขาขาดองค์ประกอบพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ไปแล้ว

คนส่วนใหญ่มองว่าการโกหกเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะเป็นเรื่องสามัญที่ทุกคนต้องทำ อาจจะโกหกนิดๆ หรืออาจจะโกหกมากๆ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์บีบคั้น ไม่ตระหนักกันเลยว่าถ้าทำเป็นประจำจนชิน ในที่สุดก็จะหมดความละอาย และเมื่อใดหมดความละอายในการโป้ปดมดเท็จ เมื่อนั้นจิตวิญญาณจะด้านชาต่อบาป เหมือนมีอะไรมาบังตาไม่ให้เห็นตามจริงไปเสียหมด ที่ตามมาก็คือการทำบาปได้ไม่เลือก เพราะตัวมุสามันบอกตัวเองว่าไม่เป็นไร ขอให้เอาดีเข้าตัวได้เป็นพอ

หากถามตัวเองแล้วได้คำตอบว่าเราสามารถโกหกโดยไม่ละอาย ก็นับว่าคำถามคำตอบนี้น่ากลัวยิ่ง เพราะเราไม่อาจคาดคะเนได้เลยว่าตัวเองเผลอก่อบาปก่อกรรมหนักๆโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์มานานแค่ไหน เมื่อไม่มีความละอายบาปอันเป็นคุณสมบัติขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ก็แทบทำนายได้ว่าต้องหลุดร่วงจากสุคติภูมิแน่อยู่แล้ว แต่นี่ไปก่อบาปก่อกรรมโดยไม่รู้ว่าเป็นบาปกรรมเข้าให้อีก มิแปลว่ามีสิทธิ์ถูกเหวี่ยงลงต่ำไปถึงพื้นนรกกันหรอกหรือ?

สรุปคือการขาดความละอายต่อบาปคือการไม่อาจทำนายว่าจะต้องระหกระเหเร่ร่อนไปสถิตอยู่ในภพไหนภูมิใดอันเป็นเบื้องล่าง หากปราศจากความสะทกสะท้าน หากยังทะนงหลงนึกว่าไม่เป็นไร นั่นก็อาจเป็นการทำงานชิ้นใหญ่อีกครั้งของอุปาทานก็ได้!



ใจจริงของเราอยู่ตรงไหน?
บางคนหาตัวเองยังไม่เจอ ก็เท่ากับยังไม่เจอใจจริง เพราะใจที่ยังไม่รู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้อาจแกว่งไปทางไหนก็ได้ เปลี่ยนทิศทางเป็นตรงข้ามกับเมื่อวานก็ยังได้

และบางทีเราก็ต้องทรมานกับความคิดที่ขัดแย้งกับใจตัวเอง เหมือนมีสองคนคอยทุ่มเถียง คอยเตะสกัด คอยชักเย่อดึงกันไปดันกันมาจนเกิดความวุ่นวายสับสนว่าเราอยากเอาอย่างไรแน่

ที่แท้แล้ว ใจจริงอาจไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิด แต่ใจจริงก็เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆตามความคิดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ



แม้ยังไม่ทราบว่าใจจริงของตัวเองอยู่ที่ไหน แต่ทุกคนต้อง ‘มีใจ’ ให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเฉพาะหน้าเสมอ และนั่นก็เป็นคำตอบว่าทำไมพวกเราถึงเลือกเรียนสาขาอาชีพแตกต่างกัน เป็นคำตอบว่าทำไมพวกเราถึงเลือกผู้แทนราษฎรต่างคนกัน เป็นคำตอบว่าทำไมพวกเราถึงเลือกนับถือศาสดาองค์ใดองค์หนึ่งผิดแผกไปจากกัน

คำถามคือ เรากำลังมีใจให้กับอะไรล่ะ? ถ้าได้แนวคำถาม ก็จะได้แนวคำตอบ และเมื่อได้แนวคำตอบ ก็จะเริ่มมองเห็นทิศทางเส้นทางกรรมของตนเองได้เช่นกัน



๑) ทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่เพื่อใคร?

คำว่า ‘อยู่เพื่อใคร’ นั้นมีความหมายว่าเราคิดว่าชีวิตตัวเองมีค่า มีความหมาย หรือกระทั่งมีความสำคัญขนาดขาดไม่ได้สำหรับใครบ้าง หากคิดออกในทันทีทันใดถือว่าเข้าข่าย แต่ถ้าต้องค่อยๆนึกทบทวนเป็นเวลานาน อย่างนั้นให้เอาชื่อนั้นออกไปจากบัญชีก่อน และขอให้ระลึกว่าเราอาศัยอยู่กับใครกี่ร้อยกี่พันคนไม่สำคัญ สำคัญคือใจเรารู้สึกว่าตัวเองอยู่เพื่อใครบ้างที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ จะอาศัยพำนักอยู่กับเราหรือไม่ก็ตาม

หากคำตอบตามซื่อคือ ‘อยู่เพื่อตัวฉันคนเดียว’ ก็อย่าเพิ่งต่อว่าตัวเอง เพราะอย่างน้อยที่สุดเราก็ซื่อพอจะยอมรับอยู่เงียบๆในใจ ไม่บิดเบือนหรือหลอกตัวเอง เพื่อได้รับทราบว่ามีโอกาสสูงที่เราจะทำบาปทำกรรมโดยไม่คิดคำนึงถึงความเดือดร้อนของใครๆทั้งสิ้น เราย่อมไม่มีข้อจำกัดว่าควรทำประมาณนี้ ไม่ควรทำประมาณนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์และโอกาสเฉพาะหน้าอย่างเดียว

หากคำตอบคือ ‘อยู่เพื่อตัวฉันและใครอีกคน’ พูดง่ายๆว่าชีวิตนี้มีความหมายสำหรับสองคน เรามีความไยดีคิดเกื้อกูลใครอีกคนหนึ่ง อย่างน้อยเราก็คิดถึงคนอื่นเป็น และอาจเริ่มทำหลายสิ่งหลายอย่างด้วยความชั่งอกชั่งใจมากขึ้นกว่าคำตอบข้อแรกนิดหนึ่ง เพราะถ้าทำบาปโดยไม่ยั้งคิด อย่างน้อยใครอีกคนอาจเสียใจ หรือพลอยได้รับผลกระทบในทางร้ายไปด้วย ใจที่พะวงห่วงใยใครอีกคนจะช่วยเตือนสติบ้างแล้วเล็กๆน้อยๆ คำตอบนี้อาจจะยังชี้ว่าเราเป็นคนครึ่งดีครึ่งร้ายได้ ตามแต่สถานการณ์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับเราและใครอีกคน

หากคำตอบคือ ‘อยู่เพื่อตัวฉันและคนอีกกลุ่มหนึ่งที่คุ้นเคยกัน’ คือถ้าคิดว่าต้องมีคนอื่นต้องพึ่งพาเรา หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับเราตั้งแต่สองคนขึ้นไป และเรามีความไยดีกับกลุ่มคนเหล่านั้นอย่างแท้จริง ทุกการกระทำของเราจะเต็มไปด้วยการระมัดระวังมากขึ้น การตัดสินใจตามอัธยาศัย หรือการทำอะไรตามอำเภอใจจะน้อยลง แม้เบื่องานก็จะไม่ลาออก แม้อยากประชดใครก็จะไม่ประชด แม้อยากไปเที่ยวก็จะไม่ไปเที่ยว คำตอบนี้อาจจะยังชี้ว่าเราเป็นคนครึ่งดีครึ่งร้ายได้ ตามแต่สถานการณ์ที่เอื้อประโยชน์ให้กับเราและคนอีกกลุ่มหนึ่ง

หากคำตอบคือ ‘อยู่เพื่อตัวฉันและคนกลุ่มใหญ่ที่อาจจะไม่เคยรู้จักมักคุ้นเลย’ อย่างเช่นเป็นนักการเมืองที่มีอุดมคติแรงกล้า หรือเป็นพวกที่พยายามปลดแอกจากทรราชผู้นิยมการกดขี่ หรือเป็นพวกที่พยายามเพียรเผยแพร่แนวความเชื่อซึ่งเห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง อย่างนี้เราจะเริ่มรู้จักคำว่า ‘อยู่เพื่อคนอื่น’ บ้างแล้ว คำตอบนี้สามารถชี้ว่าเราสามารถเป็นคนดีได้มากกว่าคนร้ายโดยไม่จำกัดสถานการณ์

หากคำตอบคือ ‘อยู่เพื่อคนอื่นถ่ายเดียวโดยไม่เลือกหน้า’ อันนี้ออกจะฟังดูเป็นบุคคลในอุดมคติเกินมนุษย์ธรรมดาไปหน่อย แต่ก็มีอยู่จริงๆ โลกนี้มีบุคคลไว้เป็นตัวอย่างทุกประเภท พวกที่มีแต่ใจคิดสละออกอย่างแท้จริงได้แก่พระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกผู้หมดความรู้สึกเกี่ยวกับตัวตนแล้ว พวกท่านอยู่เหนือการตัดสินใจอันเป็นกุศลและอกุศลแล้ว ทำอะไรไปไม่ต้องรับผลจากกรรมนั้นๆแล้ว มีความสุขสงบเป็นนิรันดร์แล้ว นอกจากนี้ยังมีมนุษย์อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งทำดีเพื่อคนอื่นจนติดใจในรสความสุขยิ่งใหญ่ จึงอุทิศชีวิตทั้งหมดให้กับสังคม หากบั้นปลายของการอุทิศตัวไม่หลงเหลิงไปกับอำนาจวาสนาอันเป็นวิบากเห็นทันตาในชาติปัจจุบัน เขาก็จะมีชีวิตบนเส้นทางแห่งความดีอันยากนักที่ปุถุชนด้วยกันจะดำเนินได้ กุศลกรรมของเขาจะสุกสว่างบริสุทธิ์ มองด้วยตาเปล่าของปุถุชนแล้วอาจนึกว่าเป็นพระอรหันต์เลยทีเดียว



๒) ทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่เพื่อรับใช้ความเชื่อแบบใด?

คนเราใช้ชีวิตตามสถานการณ์เป็นอันดับแรก สิ่งใดเข้ามากระทบก็ต้องมีปฏิกิริยาโต้ตอบสิ่งกระทบนั้น แต่เมื่อใช้ชีวิตไปถึงจุดหนึ่ง เราจะพบว่าชีวิตของเรากำลังยืนอยู่บนความเชื่ออะไรสักอย่าง

หากคำตอบคือ ‘เราเชื่อว่าอยู่ไปเรื่อยๆเหมือนคนอื่นโดยไม่ต้องคิดอะไรมากก็ได้’ อันนี้เป็นมุมมองที่ไม่เสี่ยงดี ถ้ามีมุมมองนี้และไม่เปลี่ยนแปลงไปจนตาย เราก็ไม่ต้องขวนขวายอะไรเพิ่มเติม นอกจากใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุข ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ้า ไม่ต้องแสวงหาสัจจะที่ไม่รู้อยู่ตรงไหน และที่สำคัญคือไม่ต้องเสียใจในภายหลังว่าเชื่ออะไรผิดๆ แต่ข้อเสียของการมีมุมมองแบบนี้คือถ้าโลกกำลังถูกห่อหุ้มด้วยความเห็นผิด และด้วยบาปอกุศลที่แพร่ระบาดยิ่งกว่าไวรัส ก็แปลว่าการอยู่ไปเรื่อยๆเหมือนคนอื่นอาจหมายถึงการยอมร่วมเห็นผิด และทำบาปอกุศล สร้างทางเลวร้ายให้ตัวเองอย่างน่าใจหาย

หากคำตอบคือ ‘เราเชื่อว่าเป็นคนดีไม่เบียดเบียนใครก็พอ’ อันนี้ก็เป็นมุมมองที่ปลอดภัยกับคนอื่นดี และดูเหมือนจะเพียงพอแล้วกับชีวิตหนึ่ง จะเอาอะไรมากไปกว่าการไม่เป็นที่เดือดร้อนของสังคม แต่การมีมุมมองว่าแค่ไม่เบียดเบียนใครก็พอนั้น อาจจะพอจริงเฉพาะที่ชาติปัจจุบัน ถ้าไม่มีชาติหน้าคงไม่ต้องคำนึงอะไรอีก แต่ถ้าเผื่อชาติหน้ามันมีขึ้นมา เราก็อาจได้ชื่อว่าไม่ยอมเตรียมเสบียงไว้เผื่อขาดเผื่อเหลือ ไม่เตรียมการป้องกันไว้ให้รัดกุมแน่นหนา

หากคำตอบคือ ‘เราเชื่อว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน’ อันนี้เป็นมุมมองที่ทำให้โลกหมุนไปไม่ขัดข้อง เพราะการมีคนทุ่มชีวิตให้กับงานนั้น ทำให้เกิดวิวัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ การตลาด ตลอดจนกระทั่งการศาสนา แต่การมีมุมมองว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงานนั้น บางทีทำให้เรามองข้ามไปว่างานของเราส่งผลสะเทือนด้านดีหรือด้านร้ายต่อผู้คนในวงกว้าง ความจริงก็คือหลายครั้งโลกนี้พลิกโฉมไปโดยน้ำมือของคนเพียงไม่กี่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวงการบันเทิงที่ออกคอนเสิร์ต สร้างภาพยนตร์ อัดฉีดความคิดมักง่ายประการต่างๆเข้าสู่สมองของเด็กและวัยรุ่นทั่วโลก

หากคำตอบคือ ‘เราเชื่อว่าจุดหมายสูงสุดของชีวิตมีอยู่ และเราก็ควรวิ่งเข้าไปหามัน’ อันนี้เป็นมุมมองที่เริ่มทำให้จิตวิญญาณมีความผิดแผกแตกต่างจากคนธรรมดาสามัญทั่วไป เพราะคนส่วนใหญ่เขาไม่ได้คิดกันอย่างนี้ แต่การมีมุมมองว่าเราควรแสวงหาจุดหมายสูงสุดของชีวิตด้วยตนเองนั้น ถ้าบารมีเก่าไม่แก่กล้าพอ ก็คงต้องเสียเวลาในชีวิตไปชาติหนึ่งเพื่อคว้าน้ำเหลว หรืออย่างเก่งก็ไปติดอยู่ในภูมิใดภูมิหนึ่งระหว่างเทวดากับพรหม ทั้งนี้เพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘ความจริงสุดท้าย’ หรือ ‘ยอดสุดแห่งความจริง’ ในธรรมชาตินั้น ไม่ใช่วิสัยที่ใครจะตั้งโจทย์ให้เกิดมุมมองที่ถูกต้องจนไปถึงเป้าหมายปลายทางได้ง่ายๆ คนส่วนใหญ่จะวนเวียนตั้งคำถามที่ทำให้เกิดความคิดห่างไกลความจริงไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ประพฤติปฏิบัติตนฉีกแนวจากผู้บริโภคกาม แล้วนั่งนิ่งสงบทื่อ หลีกหนีความวุ่นวายโดยไม่รู้อะไรมากไปกว่าความสงบนิ่งเป็นบรมสุข

หากคำตอบคือ ‘เราเชื่อว่ากายใจอันเป็นที่ตั้งของอุปาทานนี้เป็นทุกข์ และมีหนทางที่ดับอุปาทานในกายใจได้จริง’ อันนี้เป็นมุมมองตามพระพุทธองค์ ที่ทรงตั้งโจทย์ไว้ชัดเจนแล้ว กระชับแล้ว รู้ตามได้ง่ายแล้ว ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิดคำถามสร้างมุมมอง และไม่จำเป็นต้องเสียเวลาดุ่มเดินหาคำตอบจากที่ไหนอีก การมีมุมมองอย่างชัดเจนว่าทุกข์เกิดจากอะไร เราจะดับทุกข์ได้อย่างไร จะไม่ทำให้เราเสียเวลาในชีวิตไปเปล่าๆ เพราะเพียงด้วยเวลาอันไม่นานเกินรอ เราก็สามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ในพระพุทธศาสนานั้น เป็นเรื่องจริงหรือของหลอก มีการยืนยันไว้ชัดเจนว่าถ้าใครศึกษาและปฏิบัติตามวิชา ‘รู้ตามจริง’ ของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มความสามารถ เขาจะถึงที่สุดทุกข์ภายใน ๗ ปีเป็นอย่างช้า แต่ถ้าบารมีแก่กล้ากว่านั้นก็อาจทำลายทุกข์ลงได้สิ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง ๗ วัน!



หากสำรวจ หากช่างสังเกต หากถามใจตัวเองหลายๆรอบ ว่าทุกวันนี้เราอยู่เพื่อใคร หรือเพื่อรับใช้ความเชื่อแบบไหน ในที่สุดเราจะรู้จักใจจริงของตัวเอง หาใจจริงของตัวเองเจอ โดยไม่จำเป็นต้องค้นตัวเองให้พบจากการประสบความสำเร็จทางวิชาชีพใดๆเสียก่อน

และเมื่อใดที่หาใจจริงของตัวเองเจอ ก็จะรู้ว่าเราทำอะไรทั้งหลายไปเพื่ออะไร

หากรู้จักใจจริงของตนเองอย่างถ่องแท้ เราจะไม่กังวลเลยว่ามีความคิดที่บาดจิตบาดใจแปลกปลอมเข้ามาในหัวมากมายขนาดไหน เพราะใจจริงของเราจะปัดพวกมันทิ้งไปอย่างไม่ไยดี และไม่คำนึงแม้แต่นิดเดียวว่าความคิดจรเหล่านั้นจะมามีอิทธิพลใดๆกับตัวเราเลย



บทสำรวจตนเอง
๑) เรารู้จักตัวเองดีแค่ไหน?

๒) มีสิ่งใดที่เราอยากรู้หรืออยากได้คำตอบมากที่สุด?

๓) เราจะแน่ใจได้อย่างไร ใช้เกณฑ์แบบไหนมาวัดว่าสิ่งที่เราอยากรู้หรืออยากได้คำตอบนั้นมีค่าคุ้มเพียงพอ?



สรุป

ปัจจุบันมีอยู่หลายเรื่องที่ควรเห็นกันง่ายๆว่าไม่น่าทำ แต่ก็ทำกันเป็นปกติ ทั้งลับหลังการเฝ้ามองของสังคม และทั้งที่เปิดเผยต่อหน้าธารกำนัล เหมือนโลกเรากำลังเปลี่ยนไปเป็นแหล่งผลิตมนุษย์พันธุ์ไร้ยางอายอย่างเป็นทางการ

แต่ละคนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไปทีละน้อย หรือกระทั่ง
เกิดมาไม่เคยมีจุดยืนของตัวเองอยู่เลย นั่นเป็นเพราะอะไรถ้าไม่ใช่เพราะพวกเราขาดเป้าหมายที่ชัดเจนพอ

ความไม่รู้ตามจริง ความไม่มีชัยภูมิให้จิตวิญญาณตั้งมั่นอย่างชัดเจน ความหลงคลำทางกันเอาเองจนท้อแท้โรยแรง ล้วนเป็นเหตุให้คนเราถูกสิ่งแวดล้อมอันเลวร้ายกลืนกินอย่างง่ายดาย

แต่เพราะเริ่มศึกษาตนเอง เสาะหาใจจริงของตัวเองให้พบ และรู้ให้ทันก่อนตายว่าเรากำลังมีอุปาทานอันใดห่อหุ้มอยู่บ้าง ก็จะเริ่มเห็นความจำเป็นว่าเราต้องเรียนวิชา ‘รู้ตามจริง’ ของพระพุทธเจ้าเสียก่อนจะสาย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ ๑๐ - วิชารู้ตามจริง


ที่กล่าวมาทั้งหมดในหนังสือเล่มนี้ ความจริงแล้วเป็นเพียงแผนที่ภพภูมิอย่างคร่าวๆเท่านั้น คงเปรียบได้กับแผนที่ประเทศอันตรายประเทศหนึ่ง ซึ่งบอกตำแหน่งจังหวัดสำคัญของประเทศได้ไม่ครบ ยังขาดจังหวัดอื่นๆอีกมาก รวมทั้งไม่สามารถแสดงตำบล อำเภอ สถานที่ท่องเที่ยว เขตหวงห้าม หรือกระทั่งเส้นแบ่งเขตประเภทและภาคต่างๆออกจากกันได้หมด

นอกจากนั้น แผนที่ยังแสดงเพียงเส้นทางหลักไปสู่จังหวัดใหญ่ๆที่บอกไว้ไม่กี่สาย พอให้ทราบเป็นเค้าเป็นเลาว่าถ้าอยากขึ้นเหนือต้องจับทางสายนั้นไว้ให้มั่น แต่ถ้าอยากลงใต้ก็เชิญจับทางอีกสายที่เป็นตรงข้ามก็แล้วกัน เมื่อแล่นตามทางหลวงสายหลักไปเรื่อยๆแล้ว ก็จะพบด้วยตาตนเองว่าบรรดาจังหวัดในทิศเหนือมีอยู่จริง และบรรดาจังหวัดในทิศใต้ก็มีอยู่จริงด้วย ไม่ใช่แค่การร่ำลือโดยปราศจากสัจจะรองรับ

รายละเอียดวิธีเดินทางเป็นศิลปะที่แต่ละคนต้องเรียนรู้เอาเอง แต่ผู้สร้างแผนที่คือพระพุทธเจ้านั้น ท่านก็บอกไว้เพียงพอต่อการทำความเข้าใจง่ายๆ กล่าวคือท่านให้ทั้งมุมมองที่ถูกต้องว่าจังหวัดในทิศเหนือและทิศใต้แตกต่างกันเพียงใด จะดูเข็มทิศกันอย่างไร ควรใช้พาหนะแบบไหน

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคิดสมัครใจออกจากประเทศ พระองค์ก็ตรัสไว้ชัดว่าต้องอาศัย ‘วิธีพิเศษ’ คือต้องขึ้นอากาศยาน ลอยไปเหนือพื้นดินและเส้นทางขึ้นเหนือลงใต้ทั้งปวง เพราะเส้นทางภายในประเทศนั้นเปรียบเหมือนเขาวงกตที่ปราศจากด่านปล่อยตัวให้รอดพ้น แม้เส้นทางที่ขึ้นเหนือก็ยังมีจุดเชื่อมต่อให้กลับวกลงใต้ได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว หรือแม้ระวังก็ยากหากจะแล่นลิ่วไปเรื่อยๆอย่างไร้จุดหมายปลายทาง

การเดินทางโดยอากาศยานเป็นวิธีที่ต้องลงทุน และต้องจับทิศขึ้นเหนือไปให้ถึงสนามบินเสียก่อน เพราะสนามบินมีอยู่แต่ทางเหนือ ไม่มีอยู่ทางใต้เลย ยิ่งเหนือมากขึ้นเท่าไหร่ สนามบินก็จะยิ่งดีขึ้น อากาศยานมีความแข็งแรงน่าอุ่นใจยิ่งๆขึ้นเท่านั้น แต่สาระคือเพียงขึ้นเหนือให้เจอสนามบินแรกก็พอใช้ได้ แม้บริการยังไม่อบอุ่นน่าประทับใจ อากาศยานของเขาก็พาเราขึ้นบินได้เหมือนๆกัน

เมื่อขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้าแล้ว มุมมองทั้งหมดของเราจะแตกต่างออกไปจากที่เป็นอยู่อย่างสิ้นเชิง ที่เคยนึกๆมาตลอดชีวิตว่าโลกมีแต่มุมมองทางพื้นราบ ก็เข้าใจเสียใหม่ เห็นตามจริงว่ายังมีมุมมองจากสายตาแบบนกที่งดงามกว่ากันมาก ไปไหนต่อไหนได้อย่างรวดเร็วเป็นอิสระกว่ากันมาก การรุดไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างขวา ข้างซ้าย เหมือนไม่มีขีดจำกัดใดๆอยู่เลย ทุกอย่างเป็นไปตามปรารถนาทั้งสิ้น

ที่บนนั้นเราจะเห็นภูมิประเทศทั้งหมดอย่างแจ่มชัด เห็นตามจริงว่าเส้นทางไหนพาไปสู่จังหวัดใด ทิศใต้หรือทิศเหนือ เห็นตามจริงว่าอยู่บนฟ้าสามารถเลือกได้มากกว่า คล่องแคล่วว่องไวกว่า เห็นตามจริงว่าทั้งประเทศมีแต่ความวุ่นวาย เส้นทางเชื่อมกันวนเวียนเป็นเขาวงกต หลงงมกันในเขตที่ปราศจากทางออกย่อมเหนื่อยเปล่าไร้วันจบสิ้น สู้ลัดฟ้าหาทางออก หาเขตข้ามให้พ้นจากประเทศนี้ไปไม่ได้ ถึงแม้จะยังไม่ทราบว่าพ้นประเทศอุบาทว์นี้ไปแล้วจะเป็นเช่นใด อย่างน้อยก็เคยได้ยินผู้รู้ท่านยืนยันไว้ว่าดีกว่า เจริญกว่า สุดสุขกว่าอย่างไม่อาจเทียบเท่ากันได้



อุปมาอุปไมยมาทั้งหมดก็เพื่อจะกล่าวว่าถ้าสามารถรู้ได้ตามจริง สิ่งแรกสุดที่เราจะได้มาคือ ‘ความเห็นแจ้ง’ ตลอดทั่ว เรื่องอจินไตยที่พ้นความคิด พ้นจินตนาการ พ้นการถกเถียง จะไม่เกินวิสัยที่เราจะรู้อีกต่อไป เพราะเมื่อฝึกรู้ตามจริง ความจริงย่อมแบออกมา แล้วเราจะเห็นว่าทุกสิ่งปรากฏเปิดเผยตัวอยู่แล้วตลอดเวลา กิเลสอันหนาแน่นเท่านั้นที่ปิดบังจิตพวกเราไว้จากความเห็นทั้งหลาย



พื้นฐานของวิชารู้ตามจริง
การ ‘รู้ตามจริง’ คือการขึ้นไปมีมุมมองอยู่เหนือเส้นทางทั้งสายบุญและสายบาป แต่ก่อนจะรู้ตามจริงได้นั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องมีจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่น ไม่เอียงไปในทางใดทางหนึ่งเสียก่อน

และตามธรรมชาติของจิตที่จะเป็นสมาธิ ก็ต้องการน้ำใจสละออก คือไม่ตระหนี่ถี่เหนียว คิดเจือจานสมบัติส่วนเกินของตนให้คนอื่นบ้าง หากใครยังมีความตระหนี่ถี่เหนียว จิตใจจะคับแคบ เวลาระลึกถึงวัตถุอันเป็นเป้าแห่งสมาธิอันใด ก็จะเพ่งคับแคบด้วยความโลภเอาความสงบ ไม่ใช่ระลึกรู้อย่างมีสติพอดีๆในแบบที่ทำให้เกิดสมาธิขึ้นได้ และหากเป็นผู้ผูกพยาบาทแน่นหนา ไม่มีน้ำใจให้อภัยใครเสียบ้าง พอมาฝึกสมาธิแล้วไม่สงบรวดเร็วดังใจ ก็จะเกิดความขัดเคืองรุนแรงตามนิสัยเจ้าคิดเจ้าแค้น ยังผลให้อึดอัดคับข้องเสมอๆ

แต่หากเป็นผู้ทำทานมาดี จิตจะเปิดกว้าง ไม่เพ่งคับแคบด้วยแรงบีบของนิสัยตระหนี่ และหากคิดให้อภัยใครต่อใครอย่างสม่ำเสมอ จิตจะเยือกเย็น ไม่กระสับกระส่ายเร่าร้อนง่ายๆ แม้ทำสมาธิล้มเหลวก็ไม่ขุ่นใจ ไม่โกรธตัวเอง ไม่แค้นเคืองวาสนาเหมือนอย่างหลายต่อหลายคน



นอกจากต้องการความเปิดกว้างแบบทานแล้ว สมาธิยังต้องการความสะอาดของจิตประกอบพร้อมอยู่ด้วย ถ้ายังสกปรกมอมแมมไปด้วยกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตล่ะก็ จะเหมือนมีหมอกมัวมุงบังไม่ให้ระลึกรู้วัตถุอันเป็นเป้าล่อสมาธิได้นานเลย อันนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าให้ถือศีล รักษาศีลจนสะอาด แล้วจะทราบด้วยตนเองว่าผลที่ตามมาคือความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เมื่อมีความไม่เดือดเนื้อร้อนใจ จิตก็ย่อมมีความสว่างสบาย ง่ายต่อการทำให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิรู้ตามจริงได้



ความจริงอันปรากฏง่ายดาย
ธรรมดาเราจะเห็นลมหายใจเป็นสมบัติอันไม่น่าสนใจอย่างที่สุด แต่ก็ลมหายใจนี่แหละคือบันไดขั้นแรกที่น่าสนใจที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสว่าให้ใส่ใจมากที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด

เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร? เพราะเพียงเริ่มต้นก็ทราบตามจริงได้ ว่าเรากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก ความจริงมีเพียงสองด้าน ไม่มีทางผิดไปจากนี้ ดังนั้นถ้าเราสามารถรู้ได้ทันลมเข้าหรือลมออกในแต่ละขณะ ก็แปลว่าเรากำลังฝึกรู้ตามจริงขั้นต้นแล้ว ไม่มีจิตที่แปรปรวนกลับไปกลับมาตามการครอบงำของอุปาทานบ้างแล้ว

เมื่อมีสติดีเยี่ยงผู้ทำทานรักษาศีลจนจิตใจปลอดโปร่งดีแล้ว จะหลับตาหรือลืมตาก็ตาม ให้มีสติรู้ว่าขณะหนึ่งๆนั้น เรากำลังหายใจออก หรือว่าเรากำลังหายใจเข้า อย่าพยายามให้เกิดความผิดปกติใดๆในการรู้ คือไม่ต้องใช้กำลังเพ่งให้เกินกว่าการบอกตัวเองได้ว่านี่หายใจออก นี่หายใจเข้า อย่าหวังความสงบ เพราะการรู้ตามจริงกับการข่มใจให้สงบนั้นเป็นคนละเรื่องกัน

พอจิตจะเคลื่อนจากลมหายใจไปผสมกับความฟุ้งซ่านปั่นป่วน ก็ค่อยๆดึงสติด้วยท่าทีที่นุ่มนวลไม่ฝืนใจ กลับมารู้อยู่กับลมหายใจต่อ พอจิตจะแปรจากอาการรู้เบาสบาย ก็ดึงสติกลับมารู้ในลักษณะที่เบาสบาย สลับยื้อกันไปยื้อกันมาอยู่ด้วยอาการง่ายๆเพียงเท่านี้ ในที่สุดจิตก็จะเกิดภาวะเงียบจากความคิดขึ้นมา และเหมือนสายลมปรากฏเด่นต่อใจเราทุกครั้งที่มีการหายใจออก และทุกครั้งที่มีการหายใจเข้า ไม่ต้องพะวงอะไรทั้งสิ้น ถึงมันจะยาวเราก็รู้ ถึงมันจะสั้นเราก็รู้ ไม่มีท่าทียินดียินร้ายกับความสั้นหรือความยาวที่เราเห็นตามจริงเป็นขณะๆ

เมื่อสามารถรู้ลมหายใจสั้นได้เป็นปกติเท่าๆกับรู้ลมหายใจยาว ก็แปลว่าขณะนั้นเรามีสติที่เกินธรรมดาที่ผ่านมามากแล้ว เนื่องจากสติของคนปกติจะดีได้ต่อเมื่อลมหายใจยาวเท่านั้น ตรงจุดนี้เราจะเริ่มเห็นสายลมหายใจเป็นสิ่งน่าสนใจ และพบความจริงอันไม่เคยทราบมาก่อน คือถ้าขนทุกสิ่งออกไปจากใจเราให้หมดแล้วเหลือเพียงการรับรู้ลมหายใจผ่านเข้าผ่านออกอย่างเดียว จิตจะสงบสุขอย่างประหลาดล้ำ ไม่ว่าจะหลับตาเพื่อทำสมาธิโดยเฉพาะ หรือเปิดตาดูโลกเพื่อทำกิจวัตรตามปกติก็ตาม เป็นความสุขง่ายๆที่เอ่อขึ้นจากภายใน ไม่ต้องแสวงหาจากภายนอกโดยแท้

และที่จุดนั้นเช่นกัน เราจะเห็นตามจริงว่าสุขอันเกิดจากการมีใจนิ่งนี้ ดีกว่าสุขอันเกิดจากใจกระเพื่อมตามแรงพัดพาของกิเลส บางทีจะนึกเสียดายที่น่าจะรู้อย่างนี้เสียตั้งนานแล้ว ไม่ควรปล่อยเวลาในชีวิตให้สูญเปล่าอยู่กับความเชื่อว่ากามเป็นของดีที่สุดเลย



ความจริงเบื้องต้นทางกาย
เริ่มต้นจากจุดเล็กๆจุดเดียวคือลมหายใจนี้ ที่เคยยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา พอรู้ตามจริงว่าเดี๋ยวเข้า เดี๋ยวออก เดี๋ยวยาว เดี๋ยวสั้น กับทั้งมีช่วงหยุดพักเป็นระยะ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกอื่นเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากความสงบ นั่นคือเห็นตามจริงว่าลมหายใจไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา

พระพุทธเจ้าให้ถามตัวเองเสมอๆ ว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข? แน่นอนว่าเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ควรตามเห็นหรือไม่ว่านั่นเป็นตัวตน? แน่นอนว่าควรตอบตามซื่อว่าไม่ใช่ตัวตนเลย

เมื่อถอดถอนความหลงเห็นว่าลมหายใจเป็นเราเสียได้ ก็สามารถขยับไปถอดถอนความเห็นอื่นๆต่อได้เช่นกัน คือเริ่มตระหนักหลายสิ่งที่ไม่เคยตระหนัก เช่นกายนี้ต้องการลมเข้าลมออกหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา กายนี้มีหัว มีสองแขน มีสองขาไว้ตั้งหยัดยืน มีหนึ่งตัวที่ยืดขึ้นได้ด้วยกระดูกสันหลัง ด้วยอวัยวะต่างๆทำให้เกิดอิริยาบถหลักๆได้ ๔ แบบ คือยืน เดิน นั่ง นอน ไม่รวมอิริยาบถย่อยอีกมากมายสารพัน ทั้งหมุนคอ ทั้งกลอกตา ทั้งยืดหดแขนขา ทั้งเอี้ยวตัว ฯลฯ เริ่มแรกๆเพียงรู้เฉพาะขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ มีความเคลื่อนไหวบางอย่างเกิดขึ้นก็พอ ไม่ต้องพยายามติดตามให้ต่อเนื่องตลอดเวลาก็ได้ ไม่ช้าไม่นานสติก็จะอยู่ติดตัว ติดกายไปเอง ดูไปธรรมดาๆ อย่าคาดคั้นให้เห็นมากกว่าที่จะสามารถเห็น มิฉะนั้นแทนที่จะเกิดสติกลับจะกลายเป็นสั่งสมความเครียดเสียแทน

หากตามดูอาการขยับไหวทางกายอย่างถูกต้องเป็นธรรมชาติ ยิ่งดูจะยิ่งเพลิน และเห็นว่าถ้ารู้ลมหายใจ รู้ความเคลื่อนไหวทั้งหลายของกายเสมอๆ จิตจะสงบลง เมื่อจิตสงบกายก็จะไม่กวัดแกว่ง แม้นั่งเฉยๆก็รู้หัว รู้ตัว รับรู้ถึงสองแขนที่ตกลงแนบลำตัวสบายๆได้ง่ายนัก

ถึงจุดนั้นเราจะเริ่มสนใจรายละเอียดอื่นมากยิ่งขึ้น เพราะกายในอิริยาบถต่างๆปรากฏโดยความเป็นสิ่งถูกรู้ได้ชัดเจน สติยิ่งคมขึ้นเท่าไหร่ กายยิ่งปรากฏเป็นขณะๆต่อเนื่องมากขึ้นไปอีก โดยไม่ต้องใช้ความพยายามที่เกินกำลังใดๆเลย

ในแต่ละขณะแห่งความเห็นชัดนั่นเอง เราจะรู้สึกถึงความสกปรกทางกายได้โดยไม่ต้องให้ใครบอก กายนี้ต้องรับซากพืชซากสัตว์เข้าไปทางช่องรับด้านบน แล้วพ่นออกมาเป็นน้ำสกปรกและสิ่งโสโครกเน่าเหม็นทางรูทวารด้านล่าง นี่เป็นกลไกที่เราไม่เคยมีส่วนออกแบบไว้ แต่เราก็ยึดว่าเป็นของเรามานาน บังคับบัญชาขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้เป็นอื่นไม่ได้ ขอให้มันไม่หิว มันก็หิวเมื่อถึงเวลา ขอให้มันไม่ปวดปัสสาวะ มันก็ปวดปัสสาวะเมื่อถึงเวลา ขอให้มันไม่ปวดอุจจาระ มันก็ปวดอุจจาระเมื่อถึงเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้านั่นเป็นความปวดชนิดปวดร้าวในสถานที่ที่ไม่เหมาะสม โลกที่เคยสว่างสวยก็จะมืดมนอนธการ ไม่น่าอยู่อีกต่อไป

กายนี้มีปฏิกูลและกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาตามหน่อตามแนวต่างๆ บางจุดเป็นที่รวมของความเหม็น บางจุดแค่ส่งกลิ่นจางๆ ทำให้เราไม่ได้กลิ่นถนัดนัก โดยเฉพาะถ้าชำระล้างขัดถูเช้าเย็นเป็นประจำ แต่ถ้าเมื่อใดปล่อยไว้หลายๆวันนั่นแหละถึงจะแผลงฤทธิ์ ตั้งแต่หนังหัวจดเล็บเท้าจะไม่มีส่วนใดไม่คายกลิ่นเหม็นแหลมคมร้ายกาจราวกับกองขยะอันน่าคลื่นเหียน มันน่าให้พะอืดพะอมสิ้นดี ที่เราต้องถูกขังอยู่กับซากอสุภะอันน่ารังเกียจนี้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

องค์ประกอบสำคัญของภพมนุษย์เป็นเสียอย่างนี้ ยิ่งตามดูเราก็จะยิ่งตาสว่าง เห็นความจริงว่าเราถูกลวงให้เสน่หาอยู่กับท่อโสโครกขนาดใหญ่ มันจะไม่ส่งกลิ่นตราบใดที่ยังอยู่ในวิสัยที่เอื้อให้เช็ดถูชำระล้างกันอย่างสม่ำเสมอ แต่หากสามารถถอดจิตไปมีชีวิตข้างนอกกายได้สักเดือนหนึ่ง ย้อนกลับมามองชีวิตที่มีกายเนื้อกายหนังห่อหุ้มอยู่นี้ จะเห็นถนัดว่าพวกเราต้องเช็ดถูทำความสะอาดกายกันให้จ้าละหวั่นไม่เว้นแต่ละเช้าแต่ละค่ำ ห้ามอู้ ห้ามขี้เกียจ ห้ามบิดพลิ้วผัดวันประกันพรุ่ง มิฉะนั้นเป็นเจอดีด้วยจมูกตนเอง ช่างเป็นงานที่น่าเหนื่อยหนักเสียเหลือประมาณ

การเห็นตามจริงว่ากายเป็นของสกปรก น่ารังเกียจ ไม่ควรพิสมัยนั้น จะทำให้จิตใจเราผ่องแผ้ว โน้มน้อมที่จะตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย และยิ่งตั้งมั่นเป็นสมาธิได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความสามารถในการเห็นตามจริงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย เพราะไม่ถูกกามส่งคลื่นรบกวน ทั้งคลื่นในย่านของการตรึกนึก และทั้งคลื่นในย่านของการหลั่งสารกระตุ้นต่างๆจากภายใน



ความจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขทุกข์
เมื่อตามรู้ไปเรื่อยๆถึงจุดหนึ่ง จะเกิดความยอมรับออกมาจากจิตที่เป็นกลาง ว่างจากความยึดมั่นถือมั่น เห็นว่าความสุขทางใจนั้นมีอายุยืนนานกว่าความสุขอันเกิดจากผัสสะที่น่าชอบใจ

ปกติการใช้ชีวิตของคนในโลกที่ตะกลามหาเครื่องกระทบน่าต้องใจ ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆนั้น เขามีความสุขกันแบบวูบๆวาบๆไม่ต่างอะไรจากไฟไหม้ฟาง คนเราเห็นอะไรเดี๋ยวเดียวก็ต้องเปลี่ยนสายตาไปทางอื่น ฟังอะไรเดี๋ยวเดียวประสาทหูก็เหมือนจะหยุดทำงานลงเฉยๆ ทุกประสาทสัมผัสมีความสามารถรับรู้สิ่งกระทบที่เข้าคู่กับตนได้เพียงประเดี๋ยวประด๋าว

เราจะเห็นตามจริงว่าความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้นในคนธรรมดานั้น มักจะมาจากผัสสะที่พิเศษ ส่วนใหญ่ในเวลาปกติคนเราจะรู้สึกเฉยๆ และเหมือนมีจิตคิดจ้องรอเสพผัสสะที่กระตุ้นให้เกิดความสุขแรงๆกว่าปกติเสมอ

ความสุขที่พุ่งระดับขึ้นแรงนั้นน่าติดใจ เพราะรสชาติของผัสสะมีความแหลมคมถึงอารมณ์เป็นยิ่งนัก ดูๆแล้วเหมือนพวกเราเป็นโรคอะไรบางอย่างทางกาย ที่ต้องเกา ต้องคัน หรือกระทั่งต้องผิงไฟเพื่อความเผ็ดแสบ ยิ่งเผ็ดแสบยิ่งมัน ยิ่งอยากเกาให้มาก พอเกาเดี๋ยวเดียวก็ยั้งมือไว้ด้วยความเบื่อหน่ายหรือเจ็บปวด แล้วก็ต้องลงมือแกะเกาเอามันกันใหม่ รอบแล้วรอบเล่าไร้ที่สิ้นสุด

แต่เมื่อเริ่มรู้จักรสสุขอันเกิดจากความมีจิตสงบนิ่ง เราจะเห็นความต่างราวกับเปรียบเทียบน้ำแก้วเดียวกับน้ำในบ่อใหญ่ มันไม่โลดโผนโจนขึ้นสู่ระดับของความสะใจสุดขีดก็จริง แต่ทว่าก็มีความเรียบนิ่งสม่ำเสมอที่เต็มตื้นเป็นล้นพ้นได้เช่นกัน

เมื่อลองใช้ชีวิตอีกแบบที่เลิกตรึกนึกถึงกาม เลิกเฝ้ารอกาม และเฝ้าดูลมหายใจกับการเคลื่อนไหวทางกาย เป็นอยู่ด้วยสติรู้เห็นลมหายใจและอิริยาบถโดยมาก เราจะเริ่มคุ้นกับความสุขแบบใหม่ เป็นสุขนิ่ง สุขเย็น สุขนาน ไม่กระสับกระส่าย

ในความรู้ชัดเห็นชัดว่าสุขทางใจนั้นนิ่งเย็นเนิ่นนาน เพียงกำหนดดูโดยปราศจากความลำเอียงใดๆ ปราศจากความอยากเหนี่ยวรั้งให้รสสุขชนิดนั้นอยู่กับเรานานๆ เราจะพบว่าความสุขก็ไม่เที่ยง ทนตั้งอยู่ในรสวิเวกลึกซึ้งเช่นนั้นไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง ในที่สุดก็ต้องแปรปรวนไป ดังนี้เป็นสภาพที่เราเคยเห็นมาก่อนแล้วในลมหายใจ ที่มีเข้าก็ต้องมีออก มีออกก็ต้องมีเข้า รวมทั้งมีการพักลม หยุดลมชั่วคราวด้วย

ถัดจากนั้นเราจะเริ่มเปรียบเทียบได้ออก ว่าหากปราศจากเครื่องหล่อเลี้ยงสุข จิตจะคืนสู่สภาพเฉยชิน และเราอาจสังเกตเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือเมื่อเผลอฟุ้งซ่านหน่อยเดียว ใจจะเป็นทุกข์ มีความอัดอั้นแทรกความว่างสบายขึ้นมาทันที ถ้ามาถึงตรงนี้ได้แสดงว่าจุดที่เรายืนเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแล้ว มุมมองเริ่มพลิกไปแล้ว มีการเปรียบเทียบใหม่ๆเกิดขึ้นแล้ว เพราะเราได้ไปเห็น ไปรับรู้ ไปเสพรสสุขอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างนั่นเอง

จะสุขมากหรือสุขน้อย จะสุขนานหรือสุขเดี๋ยวเดียว พระพุทธเจ้าให้กำหนดดูตามจริงว่า พวกมันต่างก็มีความไม่เที่ยง มีอันต้องแปรปรวนและดับสลายลงเป็นธรรมดาทั้งหมดทั้งสิ้น เบื้องแรกคือให้เปรียบเทียบก่อน ว่าสุขมากเป็นอย่างหนึ่ง ในเวลาต่อมาสุขน้อยลงก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือเมื่อทุกข์มากก็เป็นอย่างหนึ่ง ในเวลาต่อมาทุกข์น้อยลงก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง

พอทำความสังเกตเข้าไปบ่อยเข้า ในที่สุดก็ถึงจุดหนึ่งที่จิตมีความชินจะเห็นสุขเห็นทุกข์ได้เท่าทันในขณะแห่งการเกิด และขณะแห่งการดับ เมื่อนั้นเราจะคลายจากอุปาทานว่าสุขเป็นของเที่ยง สุขเป็นของน่าเอา สุขเป็นของน่าหน่วงเหนี่ยวไว้นานๆ ขณะเดียวกันก็จะคลายจากอุปาทานว่าทุกข์เป็นสิ่งยืดเยื้อทรมาน ทุกข์เป็นของไม่น่าเกิดขึ้น ทุกข์เป็นสิ่งที่ต้องรีบผลักไสให้พ้นเราเดี๋ยวนี้ เราจะมีปัญญาเห็นตามจริงว่าสุขและทุกข์เกิดจากเหตุ เกิดจากผัสสะกระทบ เมื่อเหตุดับ เดี๋ยวสุขทุกข์ก็ต้องดับตามไปเอง ไม่เห็นต้องน่าเดือดเนื้อร้อนใจหรือกระวนกระวายใฝ่หา แล้วเราก็จะพบว่าการมีจิตใจสงบ ไม่ดิ้นรนจัดการกับสุขทุกข์ให้เหนื่อยเปล่านั่นแหละ เป็นสุขอีกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดาด้วยปัญญาจากวิชา ‘รู้ตามจริง’ ของพระพุทธเจ้า



ความจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาพจิต
ตั้งแต่เริ่มสงบลงได้ด้วยการเฝ้าตามดูลมหายใจเล่นไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มเห็นความต่างระหว่างจิตที่เงียบเชียบกับจิตที่ฟุ้งกระจายได้อย่างชัดเจนแล้ว เราจะเป็นผู้เข้าใจได้มากขึ้นว่าสภาพจิตนี้แตกต่างไปในแต่ละห้วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่าขณะหนึ่งๆมีเหตุปัจจัยอันใดมาปรุงให้จิตมีสภาพเช่นนั้น

จากสภาพสงบอยู่ดีๆ ถ้ามีรูป เสียง หรือแม้แต่ความตรึกนึกถึงเพศตรงข้าม ลักษณะจิตจะแปรจากสงบเป็นเพ่งเล็งด้วยความโลภในกามรส หากเราปล่อยใจให้หลงไปในอารมณ์แห่งกาม จิตก็จะเสียความสงบเงียบเป็นปั่นป่วนรัญจวนใจในทันที แต่หากเรามีสติกำหนดรู้ตามจริง ว่าขณะนี้ราคะมีอยู่ในจิต ไม่ตรึกนึกเพิ่มเติมไปในทางกาม ราคะในจิตจะค่อยๆซาลง หรี่โรยลงจนกระทั่งเหือดหาย อาการทางกายจะระงับลงตามมาเป็นลำดับ สำคัญคือถ้าเราไม่เห็นความสำคัญว่าจะกำหนดจิตให้เท่าทันราคะในจิตไปทำไม ใจก็จะเตลิดหลงไปในกามตามความเคยชิน กับทั้งรู้สึกยาก รู้สึกว่าไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปห้ามมัน

จากสภาพสงบอยู่ดีๆ ถ้ามีรูป เสียง หรือแม้แต่ความตรึกนึกถึงบุคคลที่น่าขัดเคือง ลักษณะจิตจะแปรจากสงบเป็นเพ่งเล็งด้วยความโกรธแค้น หากเราปล่อยให้เกิดการผูกใจเจ็บ จิตก็จะเสียความสงบเงียบเป็นเร่าร้อนอยากล้างผลาญทันที แต่หากเรามีสติกำหนดรู้ตามจริง ว่าขณะนี้โทสะมีอยู่ในจิต ไม่ตรึกนึกเพิ่มเติมไปในทางพยาบาท โทสะในจิตจะค่อยๆซาลง หรี่โรยลงจนกระทั่งเหือดหาย ความรุ่มร้อนทางกายจะระงับลงตามมาเป็นลำดับ สำคัญคือถ้าเราไม่เห็นความสำคัญว่าจะกำหนดจิตให้เท่าทันโทสะในจิตไปทำไม ใจก็จะเตลิดหลงไปในอาการพยาบาทคิดอยากจองเวรตามความเคยชิน กับทั้งรู้สึกยาก รู้สึกว่าไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปห้ามมัน

และถ้าหากเรามีความเห็นตามจริง ว่าสิ่งใดเกิดจากเหตุ ถ้าไม่เพิ่มเหตุนั้นแล้ว สิ่งนั้นย่อมดับลงเป็นธรรมดา จิตจะมีความโปร่งใส เบาสบาย แต่ความโปร่งเบาดังกล่าวนั้นอาจแปรกลับเป็นทึบทึม หลงรู้สึกว่ามีตัวมีตน มีก้อนอัตตาแห่งความเป็นเรา สิ่งต่างๆมีความคงที่ ตั้งอยู่ลอยๆโดยปราศจากเหตุ ถ้าดีก็ขอให้เป็นของเรา ถ้าไม่ดีก็ขอให้ไปพ้นจากเรา นี่แหละคือลักษณะของโมหะ ลักษณะของความยึดมั่นผิดๆด้วยความไม่มีสติรู้ทันตามจริง



เมื่อขึ้นที่สูงแล้วย้อนกลับลงล่าง ย่อมเห็นสภาพด้านล่างแจ่มแจ้งขึ้นฉันใด พอเราฝึกสติจนรู้ภาวะของจิตได้ตามจริงจนไม่ถูกครอบงำง่ายๆแล้ว ก็ย่อมเห็นว่าธรรมดาของจิตย่อมไหลลงต่ำอยู่เนืองๆ

และหนึ่งในอาการไหลลงต่ำเอง ชนิดที่ทำให้พร้อมจะกระทำกรรมในทางไม่ดีได้มากสุด ก็คงจะเป็นสภาพหดหู่ของจิตนี่แหละ ความหดหู่ ความซึมเศร้าเหงาหงอยนั้น ฟ้องอาการสติหลุด เป็นอาการของผู้แพ้ ไม่จำเป็นต้องแพ้กีฬา แต่แค่แพ้ความคิด แค่ขาดสติไปหน่อยเดียวก็มีจิตหดหู่กันได้

เมื่อได้ลองกำหนดรู้ตามจริงว่าเรากำลังหดหู่ จะพบผลคือถ้าเลิกหดหู่ได้ ก็อาจกลายเป็นฟุ้งซ่านเสียแทน อาการฟุ้งซ่านจับจดฟ้องถึงภาวะที่เราไม่มีงานให้จิต หรือมีงานให้จิตแต่ก็รับผิดชอบกับงานนั้นไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เราควรบอกตัวเองเนืองๆว่าการฝึกรู้ตามจริงก็เป็นงานอย่างหนึ่ง และเป็นงานใหญ่เพื่อตัวเอง หากเหมือนไม่มีอะไรให้รู้ ก็รู้ลมหายใจเข้าออกไปเล่นๆเรื่อยๆ ความฟุ้งจะน้อยลงหรือเพิ่มขึ้นก็ช่าง แต่เมื่อถึงเวลาต้องหายใจเข้าออก ขอเพียงเราตามรู้ตามดูราวกับเป็นงานอดิเรกสุดโปรดก็แล้วกัน

เราจะเห็นตามจริงว่าทั้งความหดหู่และความฟุ้งซ่านนั้น ลดลงได้ฮวบฮาบเมื่อจิตมีงาน จิตผูกอยู่กับเรื่องที่ไม่เป็นโทษ ไม่ชวนให้ท้อถอยซึมเศร้า กับทั้งไม่ชวนให้ความคิดแตกแขนงกระจัดกระจาย ลมหายใจมีแต่เข้าและออก มีแต่ยาวกับสั้น ดูซ้ำไปซ้ำมากี่รอบก็แค่นี้ ไม่อาจดึงเราลงไปสู่หนองน้ำแห่งความหดหู่ และจะไม่ตีจิตเรากระเจิงฟุ้ง

เมื่อตัดเหตุของความหดหู่ เมื่อตัดเหตุของความฟุ้งซ่าน นานเข้าๆ สิ่งที่เหลือคือจิตอันผ่องใสในภายใน เราจะรู้จักจิตที่สงบประณีตและนิ่งนาน อาศัยเครื่องหล่อเลี้ยงเช่นการประคองนึกถึงลมหายใจบ้าง แต่บางทีก็แนบนิ่งสงบพักเสมือนแผ่นน้ำที่เรียบใสเป็นกระจกอยู่ในตัวเองบ้าง

เมื่อเป็นผู้เฝ้ารู้ เฝ้าดูสภาพจิตต่างๆ ทั้งที่ดีและไม่ดี ทั้งขณะที่สว่างไสวและมืดมน เราจะเกิดความเห็นแจ้งตามจริงว่าสภาพจิตนั้นถูกปรุงแต่งขึ้นด้วยเหตุปัจจัยนานา ไม่มีสภาพใดของจิตอยู่ยั้งยืนยง เมื่อมีเหตุหนึ่งๆย่อมมีสภาพจิตหนึ่งๆเป็นผล แต่เมื่อหมดเหตุนั้นๆ สภาพจิตนั้นๆก็ย่อมสลายตัวลงตามไปด้วย ดังนั้นความอยากมีจิต หรือความกลัวจะไม่มีจิต ไม่มีตัวตน ก็จะค่อยๆถูกกะเทาะล่อนออกไปเรื่อยๆ กระทั่งกลายเป็นความรู้สึกว่าให้มีจิตใดๆก็ไม่กลัว เพราะเห็นจนชินแล้วว่าเดี๋ยวก็ต้องสลายไป หรือแม้จะไม่มีจิตเลยก็ไม่กลัว เพราะเห็นแจ้งตามจริงแล้วว่าถึงมีจิตแบบใดๆก็ใช่จะอยู่ยั้งค้ำฟ้า เดี๋ยวก็ต้องเปลี่ยนสภาพเป็นอื่นอยู่ดี



ความจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสภาวธรรม
จากการรู้ความจริงง่ายๆขั้นพื้นฐาน ทำไปๆจะพัฒนาขึ้นเป็นความรู้ชัดที่กว้างขวางขึ้นทุกที อย่างเช่นเราจะเริ่มช่างสังเกตช่างสังกามากขึ้น ว่าโลกนี้เล่นงานเราได้มากที่สุดก็คือผัสสะกระทบภายนอก ทำให้เราทุกข์ทางกายประการต่างๆ แต่ที่เหลือหลังจากผ่านผัสสะกระทบภายนอกมาแล้ว มีแต่จิตเราเท่านั้นที่เลือกว่าจะเล่นงานตัวเองต่อหรือว่าปล่อยทุกสิ่งให้ผ่านล่วงไป โดยไม่ยึดไว้ ไม่ถือไว้ให้หนักเปล่า

คนทั้งหลายเป็นโรคหวงทุกข์ ชอบกักขังหน่วงเหนี่ยวทุกข์ไว้กับใจด้วยวิธีคิด พูดง่ายๆเป็นโรคคิดมากกัน วิธีหายจากโรคนี้ก็คือฉีดยาแห่งความจริงเข้าสู่ทุกอณูของจิตวิญญาณ ให้มีปัญญาประจักษ์แจ้งเต็มรอบ ว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับลงเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะของใหญ่หรือของย่อย ถึงหวงไว้มันก็จะดับ ถึงไม่หวงไว้มันก็ต้องดับอยู่วันยังค่ำ



ด้วยความเห็นตามจริงของจิตที่เป็นกลาง ไม่เข้าข้างตัวเอง ไม่หลงผิดไปทางใด เราจะเห็นว่าเมื่ออยู่กับผู้คน เราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นใคร เป็นอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง เช่นมีคนอื่นเป็นพี่ เราก็ต้องมีฐานะเป็นน้อง มีคนอื่นเป็นครู เราก็ต้องมีฐานะเป็นศิษย์

แต่พอกำหนดดูอาการทางกายเมื่ออยู่ต่อหน้าเขา หรือกำหนดดูความรู้สึกอึดอัดหรือสบายเมื่ออยู่ต่อหน้าเขา แล้วเห็นตามจริงว่าอาการทางกายหรือสุขทุกข์เป็นเพียงสภาพธรรม สภาพธรรมไม่มีฐานะเป็นน้อง ไม่มีฐานะเป็นพี่ ไม่มีฐานะเป็นศิษย์ ไม่มีฐานะเป็นครู มีแต่สภาพที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมลงให้ดู ไม่แตกต่างจากเมื่อเราเห็นตอนอยู่คนเดียวตามลำพังแต่ประการใดเลย



และเช่นกัน เมื่อเผลอตัวขณะนั่งอยู่ตามลำพังเงียบๆ ก็มีความจำเกี่ยวกับเรื่องที่ล่วงผ่านหูล่วงผ่านตาไปแล้ว ผุดขึ้นในหัวเป็นระยะๆ หากเราให้ความสำคัญกับความจำเหล่านั้น ความรู้สึกนึกคิดว่าเราเป็นใคร มีฐานะอะไร ก็จะเกิดขึ้นตามมาในทันที

ในแวบแรกที่อยู่ๆรู้สึกว่า ‘นึกอะไรขึ้นได้’ นั้น คือการที่ความจำบางอย่างผุดขึ้นกระทบใจ และใจตอบสนองเป็นการหมายรู้ถึงเรื่องนั้นๆ ถัดมาคือการรับช่วงปรุงแต่งต่อ ให้ใจหลงรู้สึกไปว่านั่นเป็นเรื่องของฉัน นั่นเป็นอดีตของฉัน นั่นเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับฉัน ฯลฯ แล้วก็เกิดวิตก เกิดความพะวงห่วง เกิดความสำคัญมั่นหมายไปต่างๆนานา

คนเป็นบ้าต่างจากคนปกติเพียงนิดเดียว คือเขานั่งนึกนั่งฝันอะไรคนเดียว เกิดความทรงจำแต่หนหลังแล่นมากระทบใจแล้ว ไม่ลังเลที่จะแหกปากหัวเราะหรือร้องไห้คร่ำครวญทันที ขณะที่คนปกติก็ทุกข์บ้างสุขบ้างจากความทรงจำแต่หนหลังเช่นเดียวกับคนบ้า ต่างแต่ว่าพวกเขายังลังเลอยู่ว่าจะหัวเราะหรือร้องไห้ออกมาดังๆดีไหม

คนมีพุทธิปัญญาก็เกิดความทรงจำกระทบใจเหมือนกัน เพียงแต่ว่าเขามีสติสัมปชัญญะที่เฉียบคม เมื่อความทรงจำอันใดกระทบใจก็รู้ตามจริง ว่าขณะนั้นเป็นการปรากฏขึ้นของความทรงจำ รวมทั้งรู้ตามจริงว่าความทรงจำนั้นเหมือนพยับแดด เหมือนมายาที่ผุดขึ้นเหมือนมี แต่แท้จริงก็สลายตัวลงเป็นความไม่มี ขอเพียงเราไม่เก็บมาคิดปรุงแต่งต่อเท่านั้น

ผู้มีพุทธิปัญญาและสติสัมปชัญญะพรักพร้อม จะเห็นตามจริงว่าคนเรากำลังอยู่ในระหว่างแห่งปฏิกิริยาลูกโซ่ ที่มีเหตุแล้วต้องเกิดผล พอเกิดผลแล้วก็ย้อนกลายเป็นเหตุใหม่ ให้เกิดผลระลอกต่อไป โดยสรุปย่นย่อคือเพราะมีเหตุคือความอยาก จึงต้องมีทุกข์ในทางใดทางหนึ่งเป็นผลลัพธ์ เมื่อมีทุกข์ในทางใดทางหนึ่งเป็นผลลัพธ์ ก็ย่อมกลายเป็นต้นเหตุของทุกข์ใหม่ๆขึ้นมาอีก



พวกบ่นว่าทำดีไม่ได้ดี หาใช่เพราะส่วนดีที่เขาทำนั้นมันไม่ดีจริง แต่เป็นเพราะเขาไม่รู้กลไกของจิตในอันที่จะทำให้เกิดสุขหรือเกิดทุกข์ต่างหาก หลักง่ายๆคือคิดมากทุกข์มาก คิดน้อยทุกข์น้อย แต่ไม่คิดเลยนั้นเป็นไปไม่ได้

ทำดีให้ได้ดีแบบพุทธนั้น ต้องทำดีมาถึงขั้นพัฒนาต่อได้เป็น ‘คิดอย่างแยบคาย’ เราจะเห็นตามจริงว่าเมื่อคิดอย่างแยบคาย โดยเอาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏเด่นตรงหน้ามาเป็นเครื่องระลึก ว่าทุกสิ่งเกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา คิดด้วยอาการเช่นนี้ ในที่สุดจะแปรจากคิดมาเป็น ‘รู้ทัน’ คือเห็นโต้งๆในขณะของความเกิดขึ้น และในขณะของความดับไป หรือแม้สิ่งนั้นมีอายุยืนเกินกว่าที่เราจะมีชีวิตอยู่รอดูวันดับสลาย ใจอันสว่างด้วยพุทธิปัญญาก็จะตระหนักอยู่ในภายในว่ามันไม่เที่ยงหรอก แม้พระอาทิตย์ที่มีอายุเป็นหมื่นล้านปี เราเกิดตายอีกหลายแสนชาติมันก็ยังส่องสว่างไม่หายไปไหน แต่สาระสุดท้ายนั้น อย่างไรก็คือพระอาทิตย์จะต้องดับไปในที่สุดอยู่ดี



การพยากรณ์อดีตชาติและอนาคตชาติ
เมื่อมองเข้ามาในกายใจจนเกิดสติเท่าทันเป็นขณะๆ ว่าจะเป็นการขยับกายท่าไหน จะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จะเป็นสภาพสงบหรือฟุ้งซ่านของจิต ทั้งหมดต่างก็มีเหตุเสมอ เช่นเราอยากเปลี่ยนจากท่าเดินเป็นท่านั่งก็เพราะเดินจนเมื่อย แสดงให้เห็นว่าอิริยาบถเดินไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดินตลอดไปไม่ได้ เพราะสภาพเดินไม่ใช่ตัวตน

เพียงอะไรปรากฏเด่น จิตจับสิ่งนั้นแล้วก็ล่วงรู้แทงทะลุไปถึงสิ่งอื่นๆ เช่นเมื่อเห็นอิริยาบถเดินไม่เที่ยง ก็เห็นตลอดสายไปถึงความจริงเช่นยิ่งเดินก็ยิ่งสะสมความทุกข์ทางกายมากขึ้นทุกที ความทุกข์นั้นทำให้จิตกระสับกระส่ายไม่อาจสงบลงได้

เราจะเริ่มเห็นเค้าความจริงว่าเพราะมีสุขมีทุกข์ จึงก่อพลังขับดันทางใจให้เกิดความทะยานอยากขึ้นมาอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจเป็นเพียงความอยากขั้นพื้นฐานเช่นเปลี่ยนอิริยาบถจากปัจจุบันให้เป็นอื่น ไปจนถึงความอยากขั้นที่ทำให้ตั้งใจดีหรือร้าย ก่อกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ทำจิตให้สว่างหรือมืดขึ้นมา ที่ตรงนั้นเราได้ชื่อว่าเป็นผู้แจ่มแจ้งเรื่องเหตุเกิดแห่งกรรม สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเหตุเกิดกรรมคือผัสสะและกิเลสทั้งหลาย

และเมื่อฝึกรู้ฝึกเห็นกายใจให้รอบด้านจนกระทั่งจิตมีความตั้งมั่นเป็นสมาธิผ่องแผ้ว ก็จะเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าถึงในเรื่องของวิบากอันเป็นอจินไตยอีกด้วย

ไม่ใช่ว่าเราฝึกเห็นกายหรือเห็นใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดญาณรู้เห็นเฉพาะทางขึ้นมา แต่ต้องฝึกรู้ฝึกดูกายใจนี้ทั่วๆต่อเนื่องกันหลายวัน หลายเดือน หรือหลายปี ถึงจุดหนึ่งจะเกิดความรอบรู้ ทำนองเดียวกับการเกิดของสัญชาตญาณในสาขาอาชีพต่างๆ เช่นคนมีหน้าที่ตรวจของเถื่อนมากๆหลายปีเข้า แค่มองกล่องพัสดุปราดเดียวก็สัมผัสขึ้นมาเองเฉยๆว่ากล่องนี้มีปัญหา เป็นต้น

ผู้ฝึกรู้ตามจริงจะเห็นกายใจโดยความเป็นกรรมเก่ากรรมใหม่อย่างไร ขอให้ดูจากที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้คือ…



ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมเก่าเป็นไฉน ผู้มีปัญญาย่อมเห็นว่าตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นกรรมเก่า อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา (ในอดีตชาติ) เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์อันเนื่องด้วยกายในปัจจุบันชาติ) ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘กรรมเก่า’

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมใหม่เป็นไฉน กรรมที่บุคคลทำด้วย กาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘กรรมใหม่’



เราจะทราบว่าอัตภาพของมนุษย์นี้ โดยรวมแล้วเป็นของสูง จะยากดีมีจนแค่ไหน ก็ต้องเคยทำดีอะไรบางอย่างไว้ถึงจะได้มาเป็นมนุษย์ นอกจากนั้นเรายังทราบว่าเดรัจฉานต่างๆก็มีเหตุของการกำเนิดเหมือนกัน แต่ต้องเป็นอกุศลบางอย่าง เป็นต้น

ความรู้เรื่องกรรมอาจจุดชนวนขึ้นมาจากความเห็นชัดตรงส่วนไหนก็ได้ อย่างเช่นเดรัจฉานบางตัวมีทุกข์แบบหนึ่งๆที่เราสัมผัสได้ด้วยใจว่าเกิดขึ้นเสมอๆ พอเราเห็นลักษณะทุกข์เช่นนั้นแจ่มชัด ก็อาจเกิดความรู้แจ้งขึ้นเองว่าที่ต้องทุกข์เยี่ยงนี้ ก็เพราะเคยก่อทุกข์ทำนองเดียวกันให้กับสัตว์อื่นมาก่อน

หรือเมื่อเราเห็นคนพิการ มีสภาพการเคลื่อนไหวไม่ปกติ เมื่อเห็นอาการทางกายชัด ก็อาจเกิดญาณรู้แหลมคมขึ้นมาว่าภาพโดยรวมเช่นนั้นปรากฏขึ้นได้เพราะเคยมีกรรมใดในอดีตเป็นเหตุสร้างขึ้น อันนี้อยู่นอกเหนือขอบเขตที่จะอธิบายได้ด้วยภาษาว่าอาการหยั่งรู้เช่นนั้นเป็นอย่างไร ทำไมก่อกรรมแบบโน้นถึงมารับผลแบบนี้ ทั้งที่คิดๆแล้วไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกัน

หรือเมื่อปรารถนา เพียงส่องดูความติดใจของคนๆหนึ่ง ว่ามีน้ำหนักดึงดูดให้แปะติดกับความมืดหรือความสว่างประมาณใด ก็สามารถเห็นเป็นนิมิตได้ว่าถ้าตายขณะนั้นเขาจะไปเกิดในภพใด ถ้าเปลี่ยนความติดใจในเส้นทางกรรมเดิมจะเปลี่ยนภพได้แค่ไหน

แต่ทั้งหลายทั้งปวง จะหยั่งรู้ได้ลึกซึ้งปานใด หากไม่สามารถหยั่งรู้เรื่องเดียว คือทำอย่างไรจะหมดกิเลส หมดความยึดมั่นถือมั่นในกายใจนี้ ก็ไม่ชื่อว่าบรรลุประโยชน์สูงสุดของวิชารู้ตามจริงเลย



สติปัฏฐาน ๔
ขอสรุปอย่างมีบัญญัติในตอนท้ายนี้อีกครั้ง เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้นกันต่อไป วิชารู้ตามจริงของพระพุทธเจ้านั้น โดยสรุปย่นย่อก็คือการมีสติระลึกรู้ความเป็นไปในกายใจตามจริง ขอบเขตกายใจนี้ซอยย่อยออกได้เป็นที่ตั้งของสติ ๔ ชนิด จึงเรียกว่า ‘สติปัฏฐาน ๔’ เรียงตามลำดับดังนี้

๑) กาย ได้แก่ลมหายใจ อิริยาบถใหญ่และอิริยาบถย่อย ความสกปรกของร่างกาย ความเป็นการประชุมกันของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และความแน่นอนที่จะต้องเป็นซากศพในกาลต่อไป

๒) เวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย ทั้งที่เนื่องด้วยเหยื่อล่อทางโลกเช่นกามคุณ ๕ และทั้งที่ไม่เนื่องด้วยเหยื่อล่อทางโลกเช่นการเกิดสติอย่างต่อเนื่องจนเป็นสุข หรือการอยากได้ความสงบแต่ไม่ได้ดังใจเลยเป็นทุกข์

๓) จิต ได้แก่ความมีสภาพจิตเป็นต่างๆ ทั้งที่มีราคะ โทสะ โมหะ และไม่มีกิเลสทั้งสาม ตลอดจนสภาพจิตหดหู่ สภาพจิตฟุ้งซ่าน สภาพจิตสงบอย่างใหญ่ สภาพจิตที่ปล่อยวางอุปาทานเสียได้

๔) ธรรม ได้แก่สภาพธรรมต่างๆที่ปรากฏแสดงว่าขณะนี้เกิดขึ้น ขณะนี้ตั้งอยู่ ขณะนี้ดับไป รวมทั้งสภาพธรรมที่แสดงความไม่ใช่ตัวตนออกมาอย่างโจ่งแจ้ง คือมีการประชุมกันของเหตุปัจจัยต่างๆ ปรากฏผลลัพธ์อยู่ชั่วคราว เมื่อเหตุปัจจัยต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปแล้ว ก็ไม่เหลือผลใดๆปรากฏต่ออีก

การฝึกรู้ตามจริงไปเรื่อยๆนั้น ในที่สุดจะเกิดไฟล้างกิเลสออกจากจิตครั้งใหญ่ เรียกว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘บรรลุธรรม’ ซึ่งขั้นต้นเรียกว่าเป็นการได้ดวงตาเห็นธรรม หรืออีกนัยหนึ่งรู้จักพระนิพพานอันเป็นธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งใดตั้งอยู่ในที่นั้นได้ กล่าวให้เข้าใจง่าย การรู้จักนิพพานคือการเห็นสภาพอันเป็นความจริงสูงสุด ความจริงสูงสุดคือความว่างจากตัวตน ดังนั้นจึงไม่มี ‘ตัว’ ใดๆตั้งอยู่ได้ในสภาพอันเป็นยอดสุดแห่งความเป็นจริงนั้น แม้กระทั่งอากาศธาตุก็ไม่อาจถูกต้องนิพพานได้

ขณะของการเห็นนิพพานนั้น จิตจะเป็นหนึ่ง มีความตั้งมั่นระดับฌาน และสิ่งที่ถูกรู้ก็ไม่ใช่รูปนิมิตหรือเสียงบอกอะไรทั้งสิ้น แต่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ปรากฏเปิดเผยอยู่แล้วตลอดมา โดยไม่เคยมีภาวะเกิดขึ้นหรือดับไป ไม่ว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้นดับไปแค่ไหนก็ตาม ที่สัตว์ทั้งหลายไม่เคยเห็นนิพพานก็เพราะไม่เคยได้ฝึกรู้ตามจริง เมื่อไม่ฝึกรู้ตามจริงย่อมไม่อาจเข้าถึงความจริงขั้นสูงสุดได้เลย

ผู้ที่อยู่ในขั้นของการได้ดวงตาเห็นธรรมนั้น เรียกกันเป็นที่รู้ เรียกกันเพื่อสื่อความเข้าถึงแล้ว ว่าเป็น ‘โสดาบันบุคคล’ เป็นผู้ไม่ตกต่ำ และจะไม่บ่ายหน้าไปอบายภูมิอีกเลย เพราะกิเลสไม่มีอำนาจพอจะครอบงำจิตให้เกิดความเห็นผิดในเรื่องของกรรมขั้นศีลพื้นฐานได้อีก อย่างไรก็ตาม โสดาบันบุคคลยังมีราคะ โทสะ โมหะเหมือนคนธรรมดาทั่วไป จึงมีภรรยาและบุตรได้ ยังแสดงอาการขึ้งเคียดได้ ยังมีมานะอยู่ รู้ทั้งรู้ว่าตัวตนไม่มี เลิกเชื่ออย่างเด็ดขาดแล้วว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวเป็นตน ไม่เป็นผู้ที่พูดอีกแล้วว่ามีอัตตาอันแท้จริงอยู่ในที่ใดๆ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า

เมื่อโสดาบันบุคคลเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนรู้แจ้งตามจริงถึงขั้นบังเกิดไฟล้างกิเลสอีกครั้ง ท่านจะยกระดับขึ้นเป็น ‘สกิทาคามีบุคคล’ เป็นผู้ทำราคะ โทสะ โมหะให้เบาบางลง กล่าวคือเครื่องขัดขวางจิตใจไม่ให้เห็นสภาพธรรมทั้งหลายตามจริงนั้น ลดกระแสคลื่นรบกวนลงมาก

เมื่อสกิทาคามีบุคคลเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนรู้แจ้งตามจริงถึงขั้นบังเกิดไฟล้างกิเลสอีกครั้ง ท่านจะยกระดับขึ้นเป็น ‘อนาคามีบุคคล’ เป็นผู้ทำลายราคะและโทสะได้อย่างเด็ดขาด กล่าวคือคลื่นรบกวนไม่ให้จิตเห็นตามจริงจะดับไปถึงสองกระแสใหญ่ๆ เหลือเพียงคลื่นรบกวนในย่านของความมีมานะ ความมีใจถือว่าเป็นตัวเป็นตน

เมื่ออนาคามีบุคคลเจริญสติปัฏฐาน ๔ จนรู้แจ้งตามจริงถึงขั้นบังเกิดไฟล้างกิเลสอีกครั้ง ท่านจะยกระดับขึ้นเป็น ‘อรหันตบุคคล’ เป็นผู้ที่ไม่เหลือแม้ความรู้สึกในตัวตนอยู่อีก เรียกว่าคลื่นรบกวนสุดท้ายถูกกำจัดทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง ท่านจึงเห็นตามจริงอย่างชัดเจนที่สุด ว่าทั้งหลายทั้งปวงนั้นว่างจากตัวตน นี่แหละคือขั้นของการ ‘ทำนิพพานให้แจ้ง’ อย่างแท้จริง



บทสำรวจตนเอง
๑) ขณะนี้เรารู้อะไรตามจริงอยู่บ้าง?

๒) สิ่งที่เรารู้ตามจริงเป็นเรื่องภายนอกหรือเรื่องภายใน?

๓) มีความถี่ห่างแค่ไหนที่เราสามารถรู้ได้ตามจริงว่ากำลังหายใจเข้าหรือหายใจออก?

๔) เราเคยมีความรู้สึกเห็นตามจริงบ้างหรือไม่ว่าชีวิตไม่เที่ยง?

๕) เราเคยมีความรู้สึกเห็นตามจริงบ้างหรือไม่ว่าสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตน?



สรุป
ความจริงถ้าคิดๆเอาเฉยๆ ดูเนื้อหาวิชารู้ตามจริงหรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘สติปัฏฐาน ๔’ นี้แล้ว เหมือนพระพุทธเจ้ามิได้ทรงให้กระทำกิจอย่างใดเป็นพิเศษเลย ก็แค่ให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในขอบเขตของกายใจเราตามจริงเท่านั้น เกิดอะไรขึ้นก็รู้ อะไรที่ว่านั้นดับไปก็รู้ มีอยู่เท่านี้ แต่ที่เรานึกไม่ถึงก็คือเมื่อใช้ชีวิตโดยอาการรู้เห็นตามจริงง่ายๆ ก็จะบังเกิดผลอันน่าพิศวงอย่างใหญ่หลวง

กล่าวคือเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปจนถึงระดับของความมีสมาธิจิตตั้งมั่นผ่องแผ้ว แม้ยังไม่บรรลุธรรม ก็อาจได้อานิสงส์ต่างๆมากมายเหลือคณานับ ยิ่งเสียกว่าฝึกศาสตร์ทางจิตทีละศาสตร์ในโลกรวมกันเป็นร้อยเป็นพันศาสตร์ เพราะไม่มีศาสตร์ใดเข้าถึงรหัสลับในธรรมชาติได้มากไปกว่าวิธีทำลายอคติที่ห่อหุ้มจิตไม่ให้เห็นตามจริงอีกแล้ว

พระเถระในสมัยพุทธกาลต่างกล่าวยืนยันถึงผลข้างเคียงที่ไม่ตั้งใจจะได้แต่ก็ได้มา เป็นอภิญญาหรือความรู้เห็นอันยิ่งประการต่างๆ มีที่สุดที่เป็นสาระสำคัญคือเรื่องเกี่ยวกับกรรมวิบาก ดังเช่นที่พระอนุรุทธะเคยกล่าวไว้ว่า ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย เราย่อมรู้วิบากของการกระทำกรรมทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน โดยฐานะ โดยเหตุ ตามความเป็นจริง เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔

คนเราสร้างกรงขังให้ตัวเองด้วยความไม่รู้ เมื่อรู้ว่าสร้างกรงขังแล้วจะต้องไปทุกข์ทรมานอึดอัดคับแคบอยู่ในกรงขังก็ย่อมเลิกสร้างกรงขัง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเป็นผู้รู้เรื่องกรรมวิบากอย่างแจ่มแจ้ง บุคคลย่อมไม่ทำกรรมอันเป็นไปเพื่อความเดือดร้อนของตนเองในภายภาคหน้า มีแต่จะเร่งรุดทำกรรมอันเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดทั้งต่อตนเองและคนที่รักรอบข้างแต่ถ่ายเดียว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ย. 2008, 14:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


สรุปตติยบรรพ


การรู้ตามจริงมีหลายแบบ หลายระดับ คนยุคปัจจุบันมักมองว่าการรู้ตามจริงคือการพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ว่า ‘ความจริง’ เกี่ยวกับเรื่องที่คาใจบางอย่างนั้นเป็นอย่างไร

แต่สิ่งที่เราจำต้องยอมรับก็คือวิทยาศาสตร์ให้ความจริงอันเป็นที่สุดไม่ได้ถนัดถนี่นัก ไม่ว่าจะเรื่องเล็กสุดในระดับอะตอม ตลอดไปจนถึงเรื่องใหญ่สุดระดับเอกภพ ทุกทฤษฎี ทุกการกะเก็งสันนิษฐาน อาจถูกหักล้างด้วยการค้นพบใหม่ๆเสมอ

ทว่าการรู้ตามจริงบางอย่างไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ต่อ เพราะเป็นสัจจะความจริงที่ไม่อาจถูกหักล้างด้วยการค้นพบครั้งใหม่ใดๆ ไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคต ยกตัวอย่างเช่นลมหายใจมีแค่เข้ากับออกสองอย่าง ถ้าเรารู้ได้ถูกต้องในขณะที่มันปรากฏเป็นเข้าหรือปรากฏเป็นออก ก็แปลว่าเรากำลังรู้ตามจริงอยู่ในขณะนั้นๆ

ด้วยวิชา ‘รู้ตามจริง’ ของพระพุทธเจ้า เริ่มต้นอาจง่ายๆแบบที่ทุกคนรู้ได้อย่างเช่นลมหายใจเข้าออกอีก แต่สิ้นสุดอาจเป็นเรื่องอจินไตย เกินการคาดคิด เกินจินตนาการของมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย เช่นที่เกี่ยวกับกรรมวิบากและวิธีดับทุกข์ดับโศกทั้งปวง แม้เป็นเรื่องอจินไตยเช่นนั้น เราก็สามารถรู้แจ่มแจ้งเฉพาะตน ว่านั่นเป็นของจริง เป็นของแท้ เป็นของที่ทนต่อการพิสูจน์ในทุกกาล เช่นเดียวกับสามารถรู้ว่าลมหายใจเข้าออกเป็นเรื่องจริงนั่นเอง



คนเราชอบคิดว่าหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเป็นเรื่องเล็ก ต่อเมื่อฝึกรู้ตามจริงมากเข้า เราจะเห็นว่าโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องเล็ก ไม่มีการกระทำอันใดที่ควรประมาท เพราะแม้เพียงการยอมปล่อยให้ความคิดอกุศลนิดๆหน่อยๆผุดขึ้นในหัวเราด้วยความเต็มใจยินดี ปล่อยให้ความคิดอกุศลนิดๆหน่อยๆนั้นแปรเป็นคำพูดหรือการกระทำปรากฏต่อโลกภายนอก มันจะเกิดขึ้นอีกและอีก แล้วในที่สุดมันจะสะสมเป็นอกุศลกรรมที่มีน้ำหนักใหญ่ คือเป็นนิสัยเสีย เป็นอาจิณณกรรมที่เราเสพติดมันจนได้

เมื่อเห็นความจริงในระดับของกรรมทางความคิดมากเข้า เราก็จะยิ่งเชื่อที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าการเดินทางไปเรื่อยๆในสังสารวัฏนั้น ไม่มีทางหนีพ้นนรกไปได้ เพราะจิตคนพร้อมจะไหลลงต่ำ ความคิดอันเป็นอกุศลพร้อมจะปรากฏขึ้นชักจูงเราไปสู่อบายเสมอ ไม่มีอะไรที่น่ารักจริง มีแต่สิ่งลวงล่อให้หลงทำบาปทำกรรม ขอแค่พลาด หรือเพียงการ์ดตกหนสองหน ก็เพียงพอแล้วต่อการได้นั่งกระดานลื่นไหลลงนรกโดยไม่ต้องใช้ความพยายามใดๆ

ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏย่อมเร่งขวนขวายทำบุญทำกุศลคุ้มตัว และกระตือรือร้นพอที่จะทำทางนิพพานให้ตัวเองเอาไว้ แม้แค่เพียงต้นทางก็ยังดี

ความรู้ทางโลกนั้นไม่มีที่สิ้นสุด ยิ่งค้นพบก็ยิ่งแตกแขนงล่อใจให้ค้นคว้าต่อมากขึ้นทุกที แต่ความรู้ทางธรรมนั้นมีที่สุด เพียงเลิกส่งใจออกไปใส่เรื่องข้างนอก แต่ค้นหาที่มาที่ไปของประสบการณ์ทั้งมวล ตั้งคำถามไว้ถูกเป้าใหญ่สุด ประพฤติปฏิบัติตรงทางอันจะนำไปสู่คำตอบอันจริงแท้ที่สุด นั่นแหละคือที่สุดทุกข์ นั่นแหละคือการไม่ต้องทำกิจอันใดเพิ่มเติมเพื่อความดับทุกข์อีก



บทส่งท้าย


หากเราอยู่ในวันสุดท้ายของชีวิต และจิตกำลังทำงานทบทวนทุกสิ่งที่มีมาทั้งหมดในชีวิต หากยังนึกคิดทบทวนได้ หลายคนคงถามตัวเองว่าได้ปล่อยโอกาสให้ตัวเองพลาดสิ่งดีๆในชีวิตอันใดไปบ้าง

ส่วนใหญ่คงนึกเสียดายว่าทำไมไม่จีบแม่คนนั้น ทำไมไม่รับรักพ่อคนนี้ ทำไมก่อนสอบมหาวิทยาลัยไม่ขยันเสียหน่อย ทำไมถึงทนทู่ซี้ทำงานในบริษัทที่ไม่ทำให้เราเจริญก้าวหน้าตั้งนานนม ทำไมไม่รออีกสักนิดแทนที่จะคิดสั้นแต่งงานกับเจ้านี่ ทำไมถึงไม่กล้าขอหย่าเสียตั้งแต่อายุยังน้อย ทำไม ฯลฯ

คนเราจะนึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์ที่มีอิทธิพลสำคัญกับชีวิต คือนึกๆแล้วพบความเป็นไปได้ว่าสามารถพลิกผันชีวิตเราให้ดีขึ้น หรือทำให้เราใช้ชีวิตได้ราบรื่นขึ้นกว่าที่ผ่านมา เราปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป ปล่อยให้บางสิ่งหลุดมือไป ปล่อยให้บางอย่างอยู่กับเรานานเกินไป สารพัดสารเพที่ยิ่งคิดยิ่งน่าเสียดาย

แต่คงไม่มีใครบ่นรำพึงกับตัวเอง ว่าทำไมไม่ศึกษาพุทธศาสนาเสียให้ถึงแก่นก่อนมาถึงวันสุดท้ายของชีวิต เพราะถ้าใครคิดเสียดายเช่นนั้นได้ ก็แปลว่าเขาต้องตระหนักมาก่อนว่าความรู้ในพุทธศาสนามีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดๆทั้งหมดที่ผ่านพบมาตั้งแต่เกิดจนตาย

เมื่อไม่รู้ว่าสิ่งใดน่าเสียดายที่สุด คนเราย่อมไม่รู้สึกเสียดายสิ่งนั้น เขาจะตายไปโดยไม่ทราบด้วยซ้ำว่าสิ่งนั้นมีอยู่ในโลก และครั้งหนึ่งเขาเคยเกิดมาทันพบสิ่งนั้น

หลายคนเหมือนรู้แบบฟังๆผ่านหูมาว่าเพชรพลอยในพุทธศาสนากองไว้ให้กอบโกย จงอย่าช้า อย่าปล่อยเวลาให้ผ่านไป ขอให้เอาติดตัวไปด้วยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ในเมื่อไม่เคยปีนป่ายขึ้นมาถึงเขตที่เขากองทองไว้รอท่าให้เห็นกับตา ส่วนใหญ่ก็แค่ฟังหูไว้หูแบบเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ และน่าเห็นใจว่าทำไมคนจึงมาถึงฝั่งแห่งความปลอดภัยกันน้อยนัก



ขอฝากเรื่องน่าเสียดายในชีวิตไว้ในปัจฉิมลิขิตหน้านี้

เรื่องแรก น่าเสียดายถ้าก่อนตายไม่ได้ศึกษาพุทธพจน์

เรื่องที่สอง น่าเสียดายถ้าศึกษาพุทธพจน์แล้วไม่เลื่อมใส

เรื่องที่สาม น่าเสียดายถ้าเลื่อมใสพุทธพจน์แล้วไม่ปฏิบัติตาม

เรื่องสุดท้าย น่าเสียดายถ้าปฏิบัติตามพุทธพจน์แต่ไม่ต่อเนื่องจนถึงฝั่ง…




คำขอบคุณ
ขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำช่วยเหลือจาก
๑) คุณอนัญญา เรืองมา

๒) คุณปิยมงคล โชติกเสถียร

๓) คุณชนินทร์ อารีหนู

๔) คุณกนิษฐา อุ่ยถาวร

๕) คุณพีรยสถ์ อุบลวัตร

๕) คุณเอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล

๗) คุณนฤพล ฉัตรภิบาล

๘) คุณวิญญู พิชญ์พงศ์ศา

ที่ช่วยปรับแต่งหนังสือให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น



โปรยปกหน้า


ก่อนคุณจะเหลือเพียงวิญญาณ

ที่ถามหาสุคติภูมิด้วยความสิ้นหวัง...



โปรยปกหลัง


(ตอนกลางปก)

เกิดมาเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร?

ตายแล้วไปไหนได้บ้าง?

ยังอยู่แล้วควรทำอะไรดี?



(ตอนล่างของปก)

พร้อมวิธีปลอบคนใกล้ตายให้ได้ไปดี

ตามวิธีของพระพุทธเจ้าที่ได้ผลแน่นอน!



หน้านำด้านใน


เราต่างเป็นวิญญาณซึ่งยังแสวงที่เกิด

ถือกำเนิดด้วยกรรมดีกรรมชั่วที่ก่อไว้

เหมือนคนเดินทางไกลไม่รู้จุดหมาย

น่าเสียดายหากมีผู้รู้จุดหมายทิ้งรอยเท้านำทาง

กระจ่างแจ้งดุจพลิกของคว่ำให้กลับหงาย

แต่หลายคนตายเสียก่อนจะทันรู้...



วิธีเชื่อเรื่องกรรมวิบากและความเป็นไปในโลกหน้า

โดยไม่ต้องกลัวถูกกล่าวหาว่างมงายในภายหลัง

คือฟังว่าพระพุทธองค์ทรงตรัสเป็นเหตุเป็นผลไว้อย่างไร



หน้าปิดท้าย


งานของดังตฤณเรียงตามลำดับจากง่ายไปหายาก

ที่ได้รับการตีพิมพ์แล้วก่อนเดือนตุลาคม ๒๕๔๗



๑) กรรมพยากรณ์ ตอน ชนะกรรม สำนักพิมพ์ บางกอกการพิมพ์

๒) ทางนฤพาน สำนักพิมพ์ ธรรมดา

๓) เสียดาย... คนตายไม่ได้อ่าน สำนักพิมพ์ DMG

๔) วิปัสสนานุบาล สำนักพิมพ์ ธรรมดา

๕) ๗ เดือนบรรลุธรรม สำนักพิมพ์ ธรรมดา

๖) มหาสติปัฏฐานสูตร เล่ม ๑ สำนักพิมพ์ ธรรมดา


ที่มา http://dungtrin.com/whatapity/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร