วันเวลาปัจจุบัน 08 ก.ย. 2024, 20:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2014, 05:16 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

หนังสือลบไม่ศูนย์
บทนิพนธ์
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)

๑. โง่ไม่เป็น เป็นใหญ่ยาก

๒. โง่น่ารัก ฉลาดนักน่านับถือเป็น “เสน่ห์” แต่โง่น่าเกลียด ฉลาดน่าชังเป็น “ยาพิษ”

๓. แข็งแรงและอ่อนน้อมเป็น “มิ่งขวัญ” แต่แข็งกระด้างและอ่อนแอเป็น “เสนียด”

๔. อวดดีก็ยังดีกว่าอวดชั่ว อวดฉลาดก็ยังดีกว่าอวดโง่

๕. การหามเข็ม การไสช้างเข้ารูเข็ม และการคายน้ำผึ้งเข้าปากหมี ผู้หวังความก้าวหน้าควรหลีกเลี่ยง

๖. ผู้สั่งสอนมีจิตเมตตาการุณย์ได้ผลล้ำค่า เหมือนรดน้ำผักด้วยน้ำเย็น ถ้าตรงกันข้ามก็เท่ากับเอาน้ำร้อนรดผัก

๗. ความสงบเท่านั้นเป็นความชนะหมดทั้งโลก เมื่อยังไม่สงบก็ยังไม่ชนะ ผู้มุ่งชนะก็ควรหาความสงบ

๘. การเรียนกับด้วยครู จดจำด้วยดีเป็น “นักเรียน” การเรียนด้วยตนเอง คือ วิจารณ์เหตุผลทุกสิ่งเห็นแจ่มแจ้งเป็น “นักรู้” นักเรียนและนักรู้พร้อมด้วยความประพฤติดีงามรวมอยู่ในผู้ใด ผู้นั้นเป็น “ปรัชญาเมธี”

๙. รักใคร่กันดีกว่าเกลียดชังกัน พร้อมเพรียงกันดีกว่าแตกต่างกัน ทำความดีใส่ตัว ดีกว่าทำความชั่วใส่ตัว

๑๐. ความยากแสนยาก ย่อมอยู่ใต้อำนาจของความสำเร็จ เหมือนภูเขาสูงแสนสูง ก็ย่อมอยู่ต่ำกว่าฝ่าตีนของผู้ที่ขึ้นไปเหยียบอยู่บนยอดฉะนั้น

๑๑. ผู้หาบโลกอยู่ใน “ระดับต่ำ” ผู้หิวโลกอยู่ใน “ระดับกลาง” ผู้ขวางโลกอยู่ใน “ระดับสูง”

๑๒. ผู้วิจารณ์เห็นเหตุผลความเป็นอยู่ในภพนี้ จนเป็นพยานแห่งความมาจากภพเก่า และความจะไปสู่ภพใหม่ ชื่อว่าภูมิแห่งความเป็น “บุคคลชั้นเยี่ยม”

๑๓. ผู้ที่มาดี อยู่ดี และไปดี ดีตลอด ๓ กาล ทุกคนลองนึกจะจัดได้ไหมว่าเปี่ยมด้วยคุณควรเป็น “เยี่ยง”

๑๔. ยุติธรรมคือจริง มีมากอยู่แห่งหน เป็นของกลางใครถือสิทธิ์ก็ได้ แต่ชอบผู้มีเหตุผล มีญาณเห็นการณ์ไกล ชังผู้ไร้เหตุผลมีญาณแค่หางอึ่ง

๑๕. ทุกคนเกี่ยวชั่วทั้งหมดไว้เสีย นำดีทุกอย่างออกใช้นี้เป็น “บทฐานที่ตั้งแห่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ไว้เป็นอย่างดี”

๑๖. ต่างด้าวเก็บฉลาดไว้ใน ชาวไทยเก็บฉลาดไว้นอก นี้เองเศรษฐกิจของเขาจึงก้าวหน้า ของเราจึงก้าวไม่ออก

๑๗. ผู้หวังความสุขหาง่าย แต่ผู้ที่ประกอบเหตุที่จะให้ได้สุขนั้นแลหายากนัก

๑๘. ความเมาของเขาอื่นเห็นไม่ชอบ แต่ของเราเองไม่เป็นไร เหมือนผ้านุ่งห่มของเขาอื่นเหม็นไม่ชอบ ของเราเองไม่เป็นไร

๑๙. ชอบหมั่นของเขาอื่น แต่ไม่ชอบของเราเอง ชอบขี้เกียจของเราเอง แต่ไม่ชอบของเขาอื่น นี้เป็น “สันดานผู้เตี่ยต่ำ”

๒๐. คำโบราณมีว่า “สวรรค์ในอก นรกในใจ” หมายความว่าผู้ประพฤติดี สวรรค์ก็ฉายแสงเข้ามาในโสรจสรงจิตให้ชุ่มชื่นเบิกบานสบายเอง ผู้ประพฤติชั่วนรกก็ฉายแสงเข้ามาจี้จิตให้เร่าร้อนลำบากยากเข็ญเอง เป็นอันว่าคนดีคนชั่วย่อมประสบ “สวรรค์ นรก” ก่อนตายทั้งนั้น

๒๑. จิตเป็นผู้นำ ทุกคนจะดีชั่ว สุขทุกข์ ก็อยู่ที่จิตเป็นผู้บงการ ดังนั้น จึงควรสำเหนียกให้รู้จักจิต เมื่ออยากรู้จักจิตให้ค้นหาที่ “อยาก”

๒๒. ทุกคนยังแคลงอยู่ในข้อที่ว่า “ตายแล้วยังเกิดอีกไหม” ดังนี้ ข้อนี้ควรแท้ที่จะค้นหาข้อเท็จจริง หาไม่จะงมงายตลอดชีพ

๒๓. ท่านที่ซาบซึ้งในทางพระพุทธศาสนา ย่อมกำหนดได้ว่า นี้เป็นส่วนเกิดและตาย นี้เป็นส่วนบันดาลให้เกิดและตาย นี้เป็นส่วนไม่เกิดไม่ตาย นี้เป็นส่วนอบรมไม่ให้เกิดและไม่ให้ตาย ดังนั้น พระพุทธศาสนาจึงควร “สำเนียกแท้”

๒๔. คนที่อยากดีหาง่าย แต่คนที่ทำดีหายาก

๒๕. บัณฑิตเห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว

๒๖. พาลเห็นดีเป็นชั่ว เห็นชั่วเป็นดี

๒๗. นักธรรมเห็นทุกสิ่งเป็นธรรม เหมือนหมอเห็นต้นไม้ทุกอย่างเป็นยา

๒๘. สุขที่ได้จากทำชั่วเหมือน “กินขนมเจือยาพิษ”

๒๙. สุขที่ได้จากทำดีเหมือน “กินยาทิพยโอสถ”

๓๐. เอื้อเฟื้อผู้อื่นเหมือน “อุ้มชูตัวเอง”

๓๑. เบียดเบียนผู้อื่นเหมือน “เอาหอกเสียบอกตัวเอง”

๓๒. อบรมตัวให้สงบสุขคนเดียวเท่ากับ “ให้สงบสุขแก่โลก”

๓๓. ประพฤติชั่วคนเดียวเท่ากับ “ก่อฉิบหายแก่โลก”

๓๔. ประพฤติดีคนเดียวเท่ากับ “ก่อเจริญแก่โลก”

๓๕. คนใจกว้างมีทรัพย์เหมือน “ร่มไม้ใกล้ทาง”

๓๖. คนใจแคบมีทรัพย์เหมือน “ร่มไม้ในป่าลึก”

๓๗. ศิลปวิทยาและศีลธรรม ทำผู้ประพฤติปฏิบัติชอบให้หนุ่มทันสมัยทุกเมื่อ

๓๘. ผู้ล้าสมัยเป็น “ขอนสำหรับงอย (เหยียบ) ของผู้อื่น”

๓๙. ผู้เลยสมัยเป็น “ผู้เหยียบแผ่นดินผิด”

๔๐. ผู้ทันสมัยเป็น “ผู้เจริญรุ่งเรืองทุกเมื่อ”

๔๑. สามัคคีเป็นไปในแนวทางที่ชอบนำมาซึ่ง “ความสุข ความสำราญ”

๔๒. สามัคคีเป็นไปในแนวทางที่ผิดนำมาซึ่ง “ความพินาศ ฉิบหาย”

๔๓. เปิดประตูรักเป็น ปิดประตูชังได้ เป็นอุบายมีค่าสูง

๔๔. ผู้ด่าและผู้ถูกด่ามีเจตนาต่างกัน คือ ฝ่ายด่าเป็นบาป ฝ่ายถูกด่าไม่เป็นบาป ถ้าโกรธตอบก็จัดว่าเป็นบาปไปตามกัน ถ้ายึดขันติเมตตาเป็นหลัก ก็ชื่อว่าเป็น “ผู้ชนะเลิศ”

๔๕. การอบรมพรหมวิหารให้เปี่ยมอยู่ในสันดานทุกเมื่อ จนเห็นผู้ติและผู้ชมตนเป็นกัลยาณมิตรของตนด้วยกันทั้งสอง จัดว่าเป็น “ผู้ตั้งอยู่ในระดับสูง ควรยำเกรง”

๔๖. ท่านที่เปลื้องปลดไม่จดจำอารมณ์อะไรๆ ในโลกทั้งสิ้นจะจัดว่าตั้งอยู่ในภูมิเหนือโลกได้หรือไม่ ? ควรวิจารณ์ด้วยปัญญาอันแหลมลึก

๔๗. ความมีน้ำใจกว้างขวางเห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นเยี่ยม ความมีอัธยาศัยเป็นกันเองในที่ทั้งปวง แต่ไม่เสียระเบียบ และความมีนิสัยไม่เกี่ยงงอน ยิ่งได้ทำกิจการมากก็ยิ่งเห็นเป็นเกียรติ นี่คือ “ประตูชัยของเจ้าหน้าที่ทั่วไป”

๔๘. เรื่องที่จิตคิด กิจที่กายทำ คำที่ปากพูด ที่จะดีเลิศต้องอาศัย มีมั่นคง มีสัจจริง มีอดทน มีกล้าหาญ มีตระหนักในเหตุผล รู้จักเลือกทาง เลือกโอกาส ทั้งฉลาดเชี่ยวชาญ วิจารณ์เห็นการณ์ไกลจึงเป็น “วิสัยผู้บัณฑิตพิชิตมาร”

๔๙. คนพูดมากไม่สำรวมปากของตน เป็นผลร้ายถ่ายกรรม สร้างเข็ญก่อเวรใส่ตนเอง คนพูดน้อยระวังตนย่อมปลอดภัย ทำอะไรไม่ผิดพลาด ทำน้อยได้ผลมาก ควรนับถือว่าเป็น “คนดี”

๕๐. กลองดังเสียงไกล คนไม่ตีดังเอง เขาถือว่าเป็นกลอง “จัญไร” คนที่ยกย่องตนเองแต่ไม่มีความดี เหมือนกลองดังที่ไม่มีตนตีฉันนั้น

๕๑. ผู้ที่อบรมดีไว้ในตน ชื่อว่า “สร้างสวรรค์ไว้ในอก”

๕๒. ผู้ที่สะสมชั่วไว้ในตน ชื่อว่า “สร้างนรกไว้ในใจ”

๕๓. ผู้ที่เห็นของจริงอันประเสริฐ ๔ อย่างด้วยปัญญาอันชอบย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

๕๔. คำสั่งสอนของสมเด็จพระพุทธเจ้าเหมือนกันทุกพระองค์ จะแถลงบางประการให้แลเห็นดังนี้

(๑) ปิดประตูบาปทั้งปวงเสีย
(๒) เปิดประตูบุญทั้งปวงไว้
(๓) ชำระจิตของตนให้ผ่องใส เป็นจิตเด่นอยู่ดวงเดียว ไม่เกี่ยวเกาะอะไรๆ ในโลก เป็นแก้วอันล้ำค่า ใครอบรมบารมีเต็มหาได้ในตัวเองแล

๕๕. เคยคำนึงไหมว่า ตัวเราคืออะไร ? ลองแยกดูจะมีกี่ส่วน ทุกส่วนที่เป็นตัวเรามาจากไหน ? แล้วแหละจะไปไหน ? บัดนี้ ตัวเราประพฤติอะไรอยู่ ส่วนที่ประพฤตินั้นเป็นคุณมากหรือเป็นโทษมาก ?

๕๖. สุขหรือทุกข์ที่เราได้รับอยู่ในบัดนี้ กับที่มีมาแล้วโดยลำดับตลอดถึงภพก่อน และที่จะมาโดยลำดับตลอดถึงภพหน้า อันเดียวกันหรือต่างกัน ? เมื่อวิจารณ์เหตุผลเห็นแจ่มแจ้ง จะรู้จักที่มาและที่ไปของตัวเราเป็น “ตัวกัมมัสสกตาญาณ”

๕๗. ผู้ก้าวหน้าย่อมเปี่ยมด้วยคุณธรรมประจำตัว มีหูกว้างตายาว เล็งญาณเห็นการณ์ไกล หยั่งรู้หยั่งเห็นเหตุผลทั่วไปในกาลทั้ง ๓

๕๘. ยังหลับหรือตื่นแล้วไม่ลุกเดิน ยังดีไม่เหยียบโน่นเหยียบนี่

๕๙. ตื่นแล้วยังไม่ลืมตาแต่ลุกเดิน นี่ซิเป็น “ตัวเสนียด” เหยียบเด็กเหยียบผู้ใหญ่ เหยียบอะไรๆ ทั่วไป

๖๐. ตื่นลืมตาแล้ว แลเห็นทิศทางแจ่มแจ้งทุกแห่งหน เดินไหนก็ไปเถิดเป็น “สิริมงคลทุกฝีก้าว”

๖๑. ผู้ก้าวหน้าย่อมเปี่ยมไปด้วยคุณธรรม มีหูกว้างตายาว กล่าวคือ ได้ยินได้ฟังถ้อยคำของบัณฑิตมาก และมีญาณเห็นการณ์ไกล หยั่งรู้หยั่งเห็นเหตุผล ทั้งอดีต ทั้งอนาคต ทั้งปัจจุบัน

๖๒. ดีทั้งหมดย่อมเป็นคุณชาติ แสดงตนให้ปรากฏเปิดเผยอยู่ทุกเมื่อ ส่วนชั่วทั้งหมดเป็นโทษชาติ ที่ซ่อนตัวปกปิดอยู่ทุกเมื่อ

๖๓. ผู้มีปัญญาไม่ควรเขียนวงตั้งยุ้งฉางไว้สำหรับใส่ข้าวที่นำมาด้วยความคิด ไม่สำเร็จดอก ถึงสร้างตู้กำปั่นไว้เก็บทรัพย์ ที่ค้าขายด้วยความคิดก็ดุจกัน ท่านว่าเป็น “สมบัติบ้า”

๖๔. ความบ่ห่อนหนีความจริง ธรรมดาต้นไม้ที่จะสูงทั้งหมดไม่ได้ ควรสูงก็สูงขึ้น ความต่ำก็ต่ำลง

๖๕. ธรรมดาสอนคนโง่ต้องสอนของเก่าบ่อยๆ อย่าเข้าใจไปว่า คำนี้ เรื่องนี้เราได้สอนเขาแล้วเขาคง จำได้ ทำได้ ถ้าเข้าใจเช่นนั้นเป็นการเข้าใจ “ผิด” แท้

๖๖. ถ้ายังโง่ ชอบผลมากกว่าเหตุ

๖๗. การสอนผู้อื่น ถ้ายกส่วนโทษขึ้นแสดงผู้นั้นไม่ชอบ ถ้าสอนคุณชอบ แต่ยกส่วนโทษได้ประโยชน์มากกว่า

๖๘. ความดีความชั่ว ความไม่ดีไม่ชั่ว เป็นสมบัติกลาง ใครทำก็ได้

๖๙. ความไม่ไว้ใจตัวเองเป็นโทษมาก ชาติที่ก้าวหน้าไม่ทันเขาก็เพราะไม่ไว้ใจตัวเอง

๗๐. คนที่ฉลาดน้อมอัธยาศัยของตนให้เหมาะกับการงานได้ ทุกอย่างไม่ว่าสูงหรือต่ำ ที่เป็นส่วนสุจริต ย่อมเป็นที่ไว้ใจของผู้ใหญ่ การที่ทำตนให้เป็นที่พอใจของผู้ใหญ่นี้เป็น “ตัวของมรดก”

๗๑. โลกมีเหตุกับผล ผู้ที่รู้เท่า ไม่เข้าไปหาบหามเพียงแค่หิ้วก็ “เบา” ผู้ที่ไม่รู้เท่าเข้าหาบหามหรือแบกก็ “หนัก”

๗๒. ผู้เพียรตั้งตัวได้เอง กับผู้รักษามรดกให้คงอยู่นับว่าดีทั้ง ๒ แต่ใครจะเยี่ยมกว่า

๗๓. ผู้ไม่คิดตั้งตัวให้มีทรัพย์ กับผู้จ่ายเสียซึ่งทรัพย์ให้ย่อยยับ นับว่าเลวทั้ง ๒ แต่ใครจะเลวกว่า

๗๔. พระพุทธศาสนาเป็นคุณอันวิเศษ ถ้าจะเทียบกับทางคมก็เท่ากับคมดาบที่ทำด้วยเหล็กกล้า ของที่คมคนโง่ถือเข้าก็ประหารตัวเอง พระพุทธศาสนาผู้ที่ถือไม่เป็น คือ ปฏิบัติไม่ถูก ตัวได้รับทุกข์เอง

๗๕. แข็งดีที่ไม่หัก อ่อนดีที่ไม่ขาด

๗๖. ความรู้ความฉลาดมีครูพอสอนกันได้ แต่ความองอาจสามารถไม่มีใครที่จะสอน เพราะเป็นคุณเกิดเฉพาะตัวของผู้นั้นๆ

๗๗. อริยมรรค ทางไม่มีข้าศึก พระอริยเจ้าเดินแล้ว แต่ปุถุชนที่เป็นคนดีกำลังเดินอยู่ ส่วนคนชั่วไม่เดิน

๗๘. มักมีผู้สำคัญว่า ทางนี้เป็นของพระอริยเจ้าเพียงส่วนเดียว ปุถุชนไม่มีส่วน ที่จริงพระอริยเจ้าท่านเดินตลอดแล้ว ท่านไม่กลับมาเดินอีกดอก ท่านก็ทิ้งไว้ให้ปุถุชนเป็นผู้เดินต่อไปจนได้บรรลุพระอริยเจ้า แล้วก็ทิ้งทางนั้นอีก ปุถุชนก็เดินไปอีกจนสิ้นเรื่องอีก

๗๙. ในโลกนี้ หมู่จะรวมกันได้มี ๓ กัน คือ

(๑) ดีทันกัน
(๒) ชั่วทันกัน
(๓) ตกลงกัน

สามกันนี้ควรวิจารณ์ด้วยปัญญาอันแหลมลึก

๘๐. เกราะเพชร คือความรอบคอบระมัดระวังตัวรอบด้าน ผู้ที่ประกอบด้วยคุณเช่นนั้น ชื่อว่า “สวมเกราะเพชร”

๘๑. คนที่น่านับถือ คือคนมีดีในตัวจนผู้อื่นเขาเห็นว่าเป็นดี

๘๒. ผู้ที่นับถือธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ทรงบัญญัติไว้ชื่อว่า “นับถือพุทธศาสนา” นับถือนอกจากนี้ไม่ใช่นับถือพระพุทธศาสนา

๘๓. คนปูนเก่าก็ดี คนปูนใหม่ก็ดี ที่นับถือพระพุทธศาสนา ถ้าไร้เหตุผลก็ชื่อว่า “พลาดผิด” ถ้ามีเหตุผลก็ชื่อว่า “ถูกต้อง”

๘๔. บัณฑิตต้องการสบาย “ภายหลังงาน” พาลหวังสบาย “ก่อนงาน”

๘๕. ของจริงเป็นธรรมดาแสดงตัวให้ปรากฏอยู่ทุกเมื่อ ผู้บอดย่อมแลไม่เห็น ผู้มีดวงตาคือปัญญาย่อมแลเห็น

๘๖. คนดีทำอะไรทุกสิ่งทุกอย่างให้ผลถูกใจตัวเองทั้งนั้น คนชั่วทำอะไรๆ ให้ผลผิดใจตัวเองทั้งสิ้น

๘๗. ถ้อยคำที่แสดงเป็นสิ่งให้ส่องถึงน้ำใจว่า “ฉลาดหรือโง่”

๘๘. ถ้อยคำที่พูดยอตัวเองพันหนึ่ง ค่าไม่สูงเท่าถ้อยคำที่ผู้อื่นพูดยอให้แม้เพียงคำเดียว เพราะว่าการที่พูดยอตัวเองเท่ากับเอาสาแหรกหาบตัวเอง ผลจะเป็นอย่างไร

๘๙. เมื่อมุ่งสุขจงระวังสังวรเรื่องที่จิตคิด กิจที่กายทำ คำที่ปากพูด อย่าให้เบียดเบียนตนและผู้อื่น และให้ความรู้เท่าต่อเหตุผลบรรดามีในโลกแล้ว อย่ายึดมั่นถือมั่น เท่านี้ก็ได้รับสันติสุขโดยควรแก่ภาวะ

๙๐. ความรู้ความเห็นฝืนต่อคติธรรมดาเป็น “เหตุแห่งทุกข์” ส่วนที่ตรงกันข้ามเป็น “เหตุแห่งสุข”

๙๑. ต้นอ้อต้นแขมเมื่อพายุพัดมาก็โอนอ่อนไปตาม ครั้นพายุพัดเลยไปแล้ว ก็กลับตัวตั้งขึ้นดังเดิม แต่ต้นพยุงพะยอมถือตัวว่ามีแก่นแม้ถึงพายุพัดมาก็เฉยอยู่ มิได้โอนอ่อนไปตาม ก็ย่อมต้องพายุพัดหักโค่นลงระเนระนาด ความแข็งกระด้างกับอ่อนโยนย่อมให้ผลตรงกันข้าม ผู้ยังท่องเที่ยวอยู่ในสงสารควรวิจารณ์ให้มาก

๙๒. คำโบราณว่า “งามอยู่ที่พี งามอยู่ที่ละ พระอยู่ที่จริง” อีกบรรยายหนึ่งว่า “พระอยู่ที่ใจ”

๙๓. ผู้หาทรัพย์ด้วยการพนัน ด้วยทุจริตอื่นใดก็ดี ได้เร็วแต่ก็ฉิบหายเร็ว เหมือนปลูกชนิดไม้ล้มลุกได้ผลเร็ว แต่ต้นมันก็ตายเร็ว ฉะนั้น ส่วนการแสวงหาทรัพย์ด้วยการบากบั่นโดยทางสุจริต ค่อยทำค่อยไปค่อยได้ค่อยมี ทรัพย์ที่ได้นั้นจักมั่นคงถาวร สามารถเป็นมรดกแก่ลูกเต้าเหล่าหลานเหมือนไม้มีแก่นหรือไม้ยืนต้น ค่อยเติบค่อยโตแล้วอายุก็ยืนฉะนั้น

๙๔. ผู้เดินทางไกลหรือผู้ประกอบกิจในหน้าที่ที่ใหญ่โต อย่าเร่งเวลาให้เสร็จ เพราะของ ๒ อย่างนี้ผลสำเร็จอยู่ที่ “ใจเย็น” มิได้อยู่ที่รีบเร่ง คือ “ใจร้อน”

๙๕. สมบัติที่ตามผู้ตายไป ๒ อย่าง คือกรรมดี กรรมชั่วที่ตัวทำในกรรม ๒ อย่างนี้ ใครต้องการส่วนไหน ก็ให้ตั้งใจทำส่วนนั้น คือกรรมดีก็นำผู้ตายไปสุข กรรมชั่วก็นำผู้ตายไปทุกข์

๙๖. ผลสำเร็จอยู่ที่ “ความจริง ความเด็ดเดี่ยว ความรู้จักกาลเทศะ” ประกอบด้วย “แข็งดีที่ไม่หัก อ่อนดีที่ไม่ขาด”

๙๗. บรรดาเรื่องมีในโลกเป็น “เรื่องดี เรื่องชั่ว เรื่องสุข เรื่องทุกข์” เท่านั้น ท่านที่พ้นโลกไปได้แล้วก็สิ้นเรื่องเทียว

๙๘. พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเหมาะกับคนผู้ฉลาด ไม่เหมาะกับผู้โง่ เพราะเป็นศาสนามีเหตุผลจึงเหมาะกับผู้ฉลาดที่หนักในเหตุผล

๙๙. พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงบัญญัติลัทธิ ทรงบัญญัติแต่พระวินัยกับทรงแสดงพระธรรม ผู้ที่นับถือธรรมและวินัยชื่อว่า “นับถือพุทธศาสนา” พระธรรมวินัย ๒ อย่างนี้เป็น “ตัวศาสนา”

๑๐๐. ความจริงอยู่ที่ผู้มีอำนาจ ยุติธรรมอยู่ที่สุดของความรู้ (ที่ว่านี้สำหรับโลกิยวิสัยโดยส่วนมาก)

๑๐๑. ศาสนาคือธรรมและวินัย ๒ อย่าง เมื่ออบรมกาย วาจา และใจให้เป็นธรรมให้เป็นวินัย การทำ การพูด การคิด ล้วนแต่เป็นธรรมเป็นวินัย เมื่อเป็นดังนี้การถือศาสนาก็ไม่ต้องไปนับถือที่อื่น ควรนับถือที่ตัวซึ่งอบรมให้เป็นธรรมให้เป็นวินัยนั้นเอง

๑๐๒. ผู้ปกครองมีลักษณะดังนี้ คือ

(๑) มีหวังดีใฝ่ใจในอันพร่ำสอนผู้อยู่ใต้ร่มเงา แต่ถ้าผู้ที่ยังขืนทำผิดก็ลงโทษโดยควรแก่ภาวะ ไม่ลุอำนาจแก่อคตินี้ “จัดเป็นดี”

(๒) มีหวังดีแต่ไม่สนใจในอันพร่ำสอน แต่เมื่อมีผู้ทำผิดขึ้นก็ลงโทษทีเดียวนี้ “ไม่จัดเป็นดี”

(๓) หวังดีหรือมิหวังดีก็ไม่ใช่ทั้ง ๒ สถาน ใครจะทำดีหรือทำชั่วช่างมัน ไม่เอาเป็นธุระทั้งนั้นนี้ “จัดเป็นเลวแท้”

๑๐๓. ดีกำจัดชั่วได้สะดวก แต่ดีจะกำจัดดีไม่ได้ ดังนั้น จะต่อกรกะใครให้ค้นดูดีในตัวเราในตัวเขา ข้างไหนจะมากกว่ากัน ใคร่ครวญให้รอบด้าน ธรรมดาดีมีมากอย่าง ดีวัว ดีงู ดีหมี ดีหมู เป็นยาทั้งนั้น

๑๐๔. บรรดาดีที่มีในโลก ๒ อย่าง คือ ดีที่ “มีนิยม” และดีที่ “ไม่มีนิยม” ก็ดีที่จะมีค่าสูง ต้องเป็นดีที่ “มีนิยม” ถ้าดีไม่มีนิยมแม้ถึงจะดีก็มีค่าเตี้ยต่ำ ดุจเพชรเม็ดโตเท่าลูกโลก ถ้าไม่นิยมราคาก็เตี้ยต่ำฉะนั้น

๑๐๕. ที่จะเป็นผู้ใหญ่คุ้มครองหมู่ พึงเว้นโทษเหล่านี้ คือ อย่าเป็นผู้เห็นแก่ได้ เห็นแก่ตัว และพวกพ้องตัว และมีอัธยาศัยคับแคบ ให้มีคุณส่วนที่ตรงกันข้าม

๑๐๖. เนื้อทองธรรมชาติเกิดขึ้นจากบ่อเดียวกัน อันทำเป็นเครื่องประดับ บางอันประณีต บางอันเลว ก็แหละที่ประณีตและเลวนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะทอง นี้เป็นเพราะฝีมือของช่างนาคต่างหาก ฉันใด การปฏิบัติธรรมวินัยที่ประณีตหรือเลวก็มิใช่เพราะธรรมวินัย เพราะบุคคลผู้ปฏิบัติต่างหาก ฉันนั้น ที่ประณีตเหมาะกับผู้สูง ที่เลวเหมาะกับผู้ต่ำ

๑๐๗. เพื่อน ๓ จำพวก คือ เพื่อนติ ๑ เพื่อนเตือน ๑ เพื่อนตาย ๑ ในเพื่อน ๓ จำพวกนั้น เพื่อนติก็หาแต่เรื่องติ เพื่อนเตือนก็มีแต่เตือน เพื่อนตายเป็นเพื่อนที่สำคัญมาก เมื่อมีเหตุการณ์อะไรทั้งหมดไม่ว่าหนักหรือเบา ตั้งใจเอาเป็นธุระจริงๆ ไม่ทิ้งไม่ขว้าง เป็นด้วยกัน ตายด้วยกัน นี้เรียกว่า “เพื่อนตาย”

๑๐๘. ผู้บำเพ็ญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน หรือบำเพ็ญสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ถ้าทำให้ผู้บำเพ็ญนั้น “โง่เป็นบ้า มัวเมา ดูหมิ่น ดูถูกผู้อื่น” ดังนี้ชื่อว่า “การบำเพ็ญผิดทาง” ถ้าทำให้ “หายโง่ หายบ้า หายมัวเมาประมาท หายดูหมิ่นดูถูกผู้อื่น” เป็นต้น เช่นนี้จึงชื่อว่า “บำเพ็ญชอบ บำเพ็ญถูกต้อง”

๑๐๙. ตัวกิเลสและตัวกรรมทั้งที่เป็นบุญ ทั้งที่เป็นบาป เป็นนามธรรม ไม่ปรากฏตัวตนพอจะแลเห็น แม้ถึงกล้องจุลทรรศน์ส่องดูก็ไม่เห็น ผู้ใดสะสมให้เกิดให้มีขึ้นที่สันดาน ก็เกิดก็มีอยู่ที่ผู้นั้น ไม่ระบาดไปติดผู้อื่น ไม่เหมือนตัวโรคตัวพยาธิ ซึ่งเป็นรูปธรรม อาจส่องเห็นด้วยกล้องจุลทรรศน์ได้ ตัวโรคตัวพยาธิ เมื่อเกิดแก่ผู้ใดผู้หนึ่งแล้ว อาจระบาดไปติดผู้อื่นได้ ดังนั้นจึงควรระวัง ถึงกระนั้น หมอก็ยังเอาใจใส่ในการรักษาพยาบาลให้หายได้ เหมือนพระพุทธเจ้าหรือสาวกผู้ขีณาสพ สิ้นกิเลสสิ้นกรรมแล้ว

๑๑๐. ปวงสมณศากยบุตร พากันอยู่โดยสันติสุขจึงสมควรเพราะความเป็นอยู่ทุกอย่างเนื่องอยู่กับชาวบ้าน จึงไม่ควรทะนง

๑๑๑. วิบากหรือผลย่อมเกิดแต่เหตุ ส่วนปัจจัยเป็นแต่อุดหนุนเหตุให้เกิดวิบาก คือผล

๑๑๒. พระบรมศาสดาทรงประกาศพระศาสนาเพียง ๔๕ ปี ก็เป็นหลักฐานมั่นคง ทั้งนี้ ก็เพราะธรรมและวินัยที่เรียกว่าพระศาสนานั้น เป็นส่วนที่ดีที่ถูกต้อง จึงประกาศได้ไว ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง ก็ประกาศไม่สะดวก ทั้งนี้ ผู้มีปัญญาพึงวิจารณ์ กิจทุกอย่างที่จะพึงทำ ถ้าเป็นส่วนชอบย่อมสะดวก

๑๑๓. ธรรมอะไรบ้างที่เคยเกิดกับจิตของเรามาแล้ว และธรรมอะไรบ้างที่ยังไม่เคยกับจิตเรา ผู้หวังรุ่งเรืองควรวิจารณ์ข้อนี้

๑๑๔. วิธีทำสงครามของนักรบ บางเหล่าใช้วิธีตรึงตาปู คือที่ใดเป็นจุดสำคัญทางยุทธ์ ยืดพร้อมกันหมด ไม่ให้ข้าศึกมีโอกาสช่วยกันได้ นักบวชผู้ทำสงครามกับกิเลสควรดูเป็นเยี่ยงแท้

๑๑๕. สัตว์ผู้ก่อกรรม กรรมผู้ก่อวิบาก ดุจแผ่นดินเป็นที่เกิดต้นไม้ ต้นไม้เป็นที่เกิดดอกผลฉะนั้น

๑๑๖. สพรหมจารีได้ลาภก็ยินดี แต่มีวิตกถึงคำว่า “สกฺกาโร กาปุริสํ หนฺติ เครื่องสักการะฆ่าคนชั่ว” แล้วก็เลยงด

๑๑๗. วัฒนธรรมที่จะรู้ว่า “เราได้” ต้องได้รับรางวัลของตัวเอง

๑๑๘. ทุกสิ่งทุกอย่างบรรดามี ย่อมเป็นของใหม่แก่ผู้ที่ยังไม่เคยแต่เป็นของเก่าแก่ผู้ที่เคยแล้ว

๑๑๙. ทำตนให้สมกับคำที่เขาชมว่าดี และทำตนไม่ให้ถูกกับคำที่เขาติว่าชั่ว เท่านี้ก็เป็น “ผู้มีค่าสูง”

๑๒๐. ทำตนให้ผู้อื่นเคารพ รักใคร่ ไว้เนื้อ เชื่อใจ หรือคุ้มครองป้องปกตน ให้พ้นจากปองร้ายของผู้อื่น เท่านี้ก็เป็น “ผู้ยอดเยี่ยม”

๑๒๑. ทุกคนทำตนเหมือนไม้แก่น ใบดก ดอกหอม ผลหวานเท่านั้น “รุ่งโรจน์”

๑๒๒. ปวงสัตว์โลกที่จะภูมิสูงหรือต่ำ และได้ความสุขหรือทุกข์ จิตเป็นผู้นำ กรรมเป็นผู้แต่งทั้งนั้น ไม่มีพระเจ้าองค์ใดเลย

๑๒๓. พึ่งตัวได้แล้ว ไปพึ่งผู้อื่น หรือผู้อื่นมาพึ่งก็ได้ ยังพึ่งตัวไม่ได้ไปพึ่งผู้อื่น หรือผู้อื่นมาพึ่งก็ไม่ได้

๑๒๔. ทุกสิ่งที่ปรากฏให้เรารู้ น้อมเข้ามาสอนเราได้ทั้งสิ้น คิดว่าส่วนดีเราทำตาม ส่วนชั่วเรางดเว้นเสีย

๑๒๕. คนโง่หาดีจนตายก็ไม่พบ มัวโยนดีไปข้างหน้าตามไม่ทันสักที ส่วนคนฉลาดไม่ต้องหาดี อยู่ที่ไหนทำแต่ดีก็พบแต่ดี ไม่อดไม่อยาก มีแต่ดีเต็มตัว

๑๒๖. ผู้ชนะชั่วของตัวเองยังไม่ได้ ย่อมยังเป็น “ทาสของโลก”

๑๒๗. นักบวชทุกคนถือว่าตนมีหน้าที่ทำกิจพระพุทธศาสนาแล้วก็ตั้งใจทำทุกคน ศาสนาก็ “รุ่งเรือง”

๑๒๘. ผู้เป็นหัวหน้าที่ดีคุ้มครองหมู่มีลักษณะ ๓ อย่าง คือ “รักผู้ที่รักดีทำดี, ชังผู้ที่รักชั่วทำชั่ว, เฉยๆ ผู้ที่ไม่รักดีไม่ทำดี ไม่รักชั่วไม่ทำชั่ว”

๑๒๙. ชาวนาทำนา เบื้องต้นย่อมบำรุงต้นข้าวให้งอกงาม เมื่อเป็นผลแล้วต้องทำลายต้น เก็บเกี่ยวเอาแต่ผลฉันใดแม้ผู้ปฏิบัติศาสนาเบื้องต้นก็พึงบำรุงการงาน เพื่อบำเพ็ญบารมี เมื่อแก่รอบแล้วต้องทำลายโลกเสีย เหลืออยู่แต่ผลพิเศษฉันนั้น

๑๓๐. สิ่งที่ตนชอบไม่ทำ มักไปทำแต่สิ่งที่ตนไม่ชอบ

๑๓๑. สัตว์ดิรัจฉานทุกหมู่เหล่า จะรู้สึกว่าตนเป็นอะไรหรือไม่ที่มนุษย์สมมติเรียกต่างๆ ตัวอย่างนกจำพวกหนึ่ง เช่น หงส์ มันจะรู้ว่ามันเป็นหงส์ ตามสมมติที่มนุษย์เรียกหรือไม่ ? หรือจะสำคัญว่า “มันเป็นอะไร”

๑๓๒. ตัวบทกฎหมายสำหรับปกครองสงฆ์ และสังฆาณัติทั้งปวงต้องสนับสนุนพระวินัยบัญญัติ จึงจะจัดว่าเป็น “กฎหรืออาณัติที่ดี”

๑๓๓. อดทนเป็นเค้าความสำเร็จ ปลวกตัวน้อยทำที่อยู่ได้ดีเพราะคุณข้อนี้


-----------------------

:b44: ประวัติและปฏิปทา “สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22704

:b44: “พระสัพพัญญูเจ้า” วัดสุปัฏนาราม จ.อุบลราชธานี
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นผู้นำพาในการหล่อ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=23321


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2018, 10:56 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 718

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มิ.ย. 2018, 16:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ก.ย. 2024, 09:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร