วันเวลาปัจจุบัน 16 พ.ค. 2025, 14:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านนิทาน จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=5



กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2025, 20:53 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ชื่อหนังสือ : จิตแจ่มใส ใจสบาย ด้วยปลายจมูก
ชื่อผู้แต่ง : ตถตา
ISBN : 978 974 7255 91 1
พิมพ์ครั้งแรก : กุมภาพันธ์ 2550
ชื่อผู้จัดพิมพ์แจกเป็นธรรมะบรรณาการ : ทุน คี่เช็ง ตังบ้วย ไทพาณิชย์



คำอนุโมทนา

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้นั้นมีมากมาย แต่ก็ทรงเลือกเฟ้นเอามาแสดงเฉพาะส่วนที่เป็นประโยชน์ เป็นสัจจธรรม และเป็นกฎของธรรมชาติ นั่นคือทรงแสดงให้รู้จักทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับไปของทุกข์ การปฏิบัติเพื่อการดับไปของทุกข์ ท่านอาจารย์พุทธทาสแห่งสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฏร์ธานี ได้ให้คำจำกัดความของธรรมะว่า ธรรมะคือ หน้าที่ที่มนุษย์จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ในทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขาเพื่อที่จะได้ดำรงค์ชีวิตอยู่อย่างผาสุก ทั้งโดยส่วนตัวและโดยส่วนรวม หรือทั้งโลก

ชาวโลกขาดธรรมะ เพราะไม่รู้จักธรรมะอย่างถูกต้อง การรู้จักธรรมะอย่างถูกต้อง คือ รู้ว่าอะไรเป็นอะไรตามความเป็นจริง เช่นรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร รู้ว่าอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ รู้ว่าอะไรไม่เป็นทุกข์ อะไรเป็นทุกข์ เป็นต้น แล้วรู้จักใช้ปัญญาคัดเลือกเอามาเฉพาะแต่สิ่งที่ควร สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์ และสิ่งที่ไม่เป็นทุกข์

ธรรมะช่วยให้เรารู้จักชีวิต มีชีวิตอยู่อย่างถูกต้อง มีทรัพย์สมบัติถูกต้อง มีเกียรติยศชื่อเสียงถูกต้อง มีมิตรสหายถูกต้อง

เรามีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อให้รู้จักสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามความเป็นจริง ว่าอะไรเป็นจริงโดยสมมติ อะไรเป็นจริงโดยแท้ เพื่อไม่ให้ความจริงที่สมมติมาหลอกลวงเอา ไม่ใช่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไว้เป็นสื่อสำหรับเป็นทาสของกิเลส โลกจะสงบสุขอยู่ได้มีอยู่ทางเดียวเท่านั้น คือต้องเดินไปทางธรรม การช่วยให้คนอื่นเดินไปทางธรรมจึงเป็นกุศลอย่างยิ่ง

คุณตถตา เป็นบุคคลหนึ่งที่เห็นคุณค่าและประโยชน์ทางธรรมะจากการเรียนรู้และประสบการณ์ทางธรรมะ จึงใคร่อยากให้ญาติมิตรสหายทั้งหลายได้รับประโยชน์จากธรรมะบ้าง จึงได้เขียนและจัดพิมพ์หนังสือธรรมะเล่มนี้ขึ้นมาชื่อ จิตแจ่มใสใจสบายด้วยปลายจมูก เพื่อแจกเป็นธรรมทานแก่ญาติมิตรสหาย ตลอดจนถึงผู้ใคร่ธรรมทั้งหลายด้วย

ข้าพเจ้าขอแสดงความยินดี อนุโมทนาในความหวังดี ความปรารถนาดี ของคุณตถตามา ณ ที่นี้ด้วย ขอเจริญพร


พระสุชาติ ปัญฺญาทีโป
รองเจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม) อ.ไชยา จ.สุราษฏร์ธานี


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2025, 22:26 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำนำผู้พิมพ์แจก (1)

สรรพสิ่งทั้งมวลที่เกิดขึ้นในจักรวาล ซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นความจริงตามธรรมชาตินั้น เราอาจจะสามารถแยกย่อยออกได้เป็น 2 ระดับคือ ระดับความจริงตามแบบที่เราสมมติขึ้น และระดับความจริงตามแบบของปรมัตถ์

ระดับความจริงตามแบบที่เราสมมติขึ้น หรือสมมติสัจจะ ซึ่งอาจเรียกให้สั้นๆ ง่ายๆ ว่า ข้อเท็จจริง หรือ Fact ได้แก่ความจริงตามที่เรามองเห็น ที่ในบางครั้งเราอาจจะต้องไปสมมติมันขึ้นมา เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ดังตัวอย่างเช่น ชื่อของตัวละครในเรื่อง ที่ไปพ้องกันกับชื่อของธัญพืชชนิดหนึ่ง แล้วมีผลทำให้ตัวละครในเรื่องเกิดความสับสนจนเกิดทุกข์

ระดับความจริงตามแบบของปรมัตถ์ หรือปรมัตถสัจจะ ซึ่งอาจเรียกให้สั้นๆ ง่ายๆ ว่า ของจริง หรือ Truth ได้แก่ความจริงที่เกิดขึ้นในตัวสรรพสิ่งนั้นเอง ที่จะต้องมีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาไม่หยุดนิ่ง ดังเช่นการเกิด แก่ เจ็บ แล้วก็ตายไป เป็นต้น

ทุกท่านสามารถเข้าถึงความจริง ทั้งระดับข้อเท็จจริง และระดับของจริงได้เท่าๆ กัน สาเหตุเพราะทุกสิ่งเป็นความจริงตามธรรมชาติ แต่ความตื้นลึกหนาบางในการเข้าถึงเข้าถึง และการรับรู้เรื่องราวต่างๆ นั้น ก็สุดแล้วแต่เวลาที่ใช้ไปในทางปริยัติและปฏิบัติของแต่ละท่าน

หนังสือเล่มนี้ อ่านแล้วทำให้ทราบได้ว่า เป็นเพียงแนวปฏิบัติของสัตว์โลกตัวเล็กๆ ตัวหนึ่ง ที่อาศัยอยู่ในโลกอันลี้ลับใบนี้ และได้ใช้เวลาศึกษามาจนกระทั่งพบเห็นความน่าอัศจรรย์ของธรรมะเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่จะกระตุ้นให้ผู้อ่านทุกท่าน เข้ามาร่วมศึกษาถึงเรื่องราวความน่าอัศจรรย์ของธรรมะเหล่านี้ด้วย

ในเมื่อเป็นเรื่องของธรรมะ หนังสือเล่มนี้จึงมิได้เขียนขึ้นและจัดพิมพ์ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการซื้อขาย ทุกท่านสามารถเป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ได้ ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ในการอ่านและศึกษาปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมะ และเพื่อวัตถุประสงค์ในการแจกหนังสือเล่มนี้ให้เป็นธรรมบรรณาการแก่ผู้อื่น อันเป็นการสืบสานปณิธานโพธิสัตว์ของท่าน สืบต่อไป

รองศาสตราจารย์สยาม อรุณศรีมรกต
คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2025, 22:44 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำนำผู้ร่วมพิมพ์แจก (2)

“กัลยาณมิตร” เป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ไม่ว่าในการปฏิบัติธรรม หรือการประกอบการงานอื่นๆ

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้แสดงความเป็นกัลยาณมิตรต่อทุกคน ด้วยอุตสาหพยายามทั้งการค้นคว้าทฤษฎีแล้วนำมาทดลองปฏิบัติด้วยตนเอง พิสูจน์ด้วยตนเอง รู้ผลด้วยตนเอง แล้วเกิดศรัทธาอยากให้ผู้อื่นได้รับรสแห่งธรรมคือความสุขด้วยตัวของผู้อ่านเอง จึงได้ลงทุนลงแรงบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวจัดพิมพ์เพื่อมอบให้ทุกคนเพื่ออ่าน และปฏิบัติ

การเขียนหนังสือธรรมะให้สนุกสนาน แต่ประกอบด้วยอรรถสาระนั้นเป็นเรื่องยากยิ่ง แต่ท่านผู้นี้ก็ทำได้เป็นอย่างดี ด้วยเจตนารมณ์ที่มุ่งหวังให้ผู้อ่านได้รับอรรถรส แล้วแปลความสนใจสู่การปฏิบัติ นอกจากนี้ ในเรื่องทฤษฎีดังตัวอย่างเช่น ในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเป็นเรื่องยากที่คนจะเข้าใจ แต่ผู้เขียนก็ได้นำมาแยกย่อยเป็นลำดับ ให้ง่ายแก่การเข้าใจ เห็นขั้นตอนของการเกิด การต่อของวงโซ่ที่ทำให้เกิดทุกข์ และทางที่จะออกจากทุกข์ ซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดของพุทธศาสนา พร้อมนี้ผู้เขียนก็ได้แนะแนวทางปฏิบัติอย่างง่ายๆ ในหน้าว่าด้วยวิธีอานาปานสติ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ทุกผู้คน

ข้าพเจ้าโชคดีที่ได้เป็นเพื่อนกับท่านผู้นี้มานานปี ได้เห็นวัตรปฏิบัติ และได้รับความเมตตาจากท่าน ทั้งขอร้อง บังคับ ขู่เข็ญให้ปฏิบัติ แม้ว่าข้าพเจ้าจะทำด้วยความกระพร่องกระแพร่งเต็มที่ แต่ก็ยังได้รับผลในระดับหนึ่ง

จึงขอเชิญชวนให้ผู้อ่านที่ได้รับความเพลิดเพลินจากเรื่องราวของข้าวฟ่างแล้ว โปรดพิจารณาเนื้อหาสาระแห่งธรรมะที่แทรกไว้อย่างกลมกลืน แล้วลองนำไปปฏิบัติเพื่อพิสูจน์ผลของการปฏิบัติด้วยตนเอง ดังเช่น“ตถตา” ได้รับประสบการณ์แห่งความสุขด้วยตัวท่านเองมาแล้ว

ปิติยา นาวานุเคราะห์
นิสิตปริญญาโทพุทธศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ)
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2025, 23:20 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำนำผู้ร่วมพิมพ์แจก (3)

เว่ยหล่าง พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซ็น กล่าวกับสานุศิษย์ขณะพำนักอยู่ที่วัดเป่าหลิน เมืองเฉาซีว่า คนอาจมีเหนือใต้ มีสูงเตี้ย แต่ธรรมะย่อมมีเพียงหนึ่ง

นาย ก. ที่มีส่วนสูง 160 เซนติเมตร ยืนคุยกับนาย ข. ที่มีส่วนสูง 170 เซนติเมตร เราเห็น เราก็บอกว่านาย ข. สูง ครั้นนาย ก. เดินจากไป นาย ค. ที่มีส่วนสูง 180 เซนติเมตร เดินเข้ามาคุยกับนาย ข. ที่สูง 170 เซนติเมตรเท่าเดิมแทน เรากลับบอกว่า นาย ข. เตี้ย ดังนั้นสูงเตี้ยจึงเป็นสิ่งที่เราสมมติขึ้นมา เพื่อเทียบกับสิ่งของอีกสิ่งหนึ่ง มีสูงจึงมีเตี้ย มีเตี้ยจึงมีสูง

ความเข้าใจในเรื่องสิ่งสมมติ จึงเป็นรากฐานสำคัญในการศึกษาธรรมะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาในขั้นสูงขึ้น เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ผู้ศึกษาต้องการ และในเนื้อเรื่อง ผู้เขียน ก็ได้ยกตัวอย่างเรื่องสมมติให้เห็นอย่างชัดเจนในภาคหนึ่ง เรื่อง ภาพที่เห็นจนเจนตา ซึ่งเป็นภาคที่เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นฐานทางธรรมะอะไรเลย แต่ก็เป็นผู้ที่ใคร่ใฝ่รู้ที่จะอ่าน ผลก็เป็นจริงตามปรากฏ ผู้อ่าน อ่านแล้วเข้าใจ สามารถนำไปปรับใช้ได้ ภาคนี้จึงเป็นภาคที่เหมาะสำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาธรรมะ เพื่อกระตุ้นให้อ่านและปฏิบัติธรรมะในขั้นสูงขึ้นในภาคต่อไป

สำหรับผู้ที่มีพื้นฐานในเรื่องนี้มาแล้ว หรือผู้ที่ใคร่ใฝ่ธรรมะเพิ่มขึ้น ก็สามารถอ่านได้ในภาคสาม คือภาค ถ้าให้ดีต้องมีปฏิบัติ ที่ผู้อ่านสามารถปฏิบัติตามไปด้วยพร้อมกันกับการอ่าน

ส่วนในภาคสอง เรื่องมองทฤษฎีนั้น จะเหมาะสำหรับผู้ที่ปฏิบัติในภาคที่สามแล้ว แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ปฏิบัติแล้วยังติดขัดหรือขัดข้องเล็กน้อย จึงจำเป็นจะต้องย้อนกลับไปดูทฤษฎี เพื่อให้การปฏิบัติบรรลุผลเร็วขึ้น ดังนั้น หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสมกับทุกผู้คน ทั้งผู้ที่ต้องการสาระ และต้องการความบันเทิง

หวังว่าท่านผู้อ่านคงได้รับทั้งสาระและบันเทิง ตามควรแก่เวลาที่สูญเสียไป จากการอ่านและปฏิบัติตามไปด้วย ทุกท่านทุกคน

ทุน คี่เช็ง ตังบ้วย ไทพาณิชย์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ม.ค. 2025, 23:50 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำนำผู้ร่วมพิมพ์แจก (4)

การศึกษาถึงธรรมะ เพื่อให้มีธรรมะ และใช้ธรรมะอย่างถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดทุกข์ นับเป็นสิ่งสำคัญในโลกยุคโลกาภิวัตน์ เช่นปัจจุบัน ที่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในมุมโลกหนึ่งแล้ว คนในอีกมุมโลกหนึ่งสามารถรับรู้ข่าวสารได้ ในขณะเดียวกัน

สิ่งที่เกิดมาพร้อมกันกับกระแสการรับรู้ข่าวสารก็คือ กระแสของวัตถุนิยม ที่มีอิทธิพลทำให้เราต้องรับเอาวัตถุเป็นตัวกำหนดวิถีทางการดำเนินชีวิต ในกิจวัตรประจำวันของเราสถานการณ์เช่นนี้ นับเป็นภยันตรายอย่างใหญ่หลวง ถ้าเรารับเอากระแสของวัตถุนิยมมาใช้อย่างไม่มีความรู้

อันตรายของ “ความรู้” ก็คือ ไม่รู้ว่าตนเองไม่มีความรู้ นั่นคือ ไม่รู้ว่าอะไรชักจูงเราไปสู่ความทุกข์ อะไรชักจูงเราไปสู่ความดับทุกข์ อะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง แล้วคิดว่าสิ่งที่ตนเองยึดถือไว้นั้น เป็นสิ่งถูกต้อง จึงไม่ศึกษาต่อ ผลก็คือเกิดความทุกข์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า นี่คือความหมายของคำว่า อวิชชา ในพระพุทธศาสนา

อวิชชาในตัวของเรา สามารถขจัดให้หมดไปได้ทุกผู้คน ถ้าหากเราเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของมันในสายของปฏิจจสมุปบาท ที่วิเคราะห์เกี่ยวกับการเกิดขึ้น การตั้งอยู่ และการดับไป ซึ่งเป็นขั้นตอนของการปฏิบัติเพื่อการดับไปแห่งทุกข์

วิธีปฏิบัติให้เข้าถึงการดับทุกข์ได้ดีวิธีหนึ่งก็คือ วิธีที่เรียกว่าอานาปานสติ ซึ่งผู้เขียนได้เขียนถึงแนวปฏิบัติที่สามารถทำได้พร้อมกันกับการอ่านหนังสือ จึงนับว่าเป็นหนังสือแนวใหม่ ที่ผู้อ่านสามารถอ่านไปด้วย ปฏิบัติไปด้วย แล้วเห็นผลโดยวิธีการประเมินผลด้วยตนเองไปด้วยในขณะเดียวกัน

ขออนุโมทนาสาธุกับคุณตถตาและท่านผู้อ่าน ที่อ่านแล้วปฏิบัติตามไปด้วยทุกท่าน ขอให้ผลการปฏิบัติของทุกท่านสามารถรักษาโรคที่เกิดจากกาย และโรคที่เกิดจากจิต ที่คิดผิดเห็นผิดจนเกิดทุกข์ ด้วยกันทุกท่านทุกคน

นายดนัย ไทพาณิชย์
บ้านผู้สูงอายุบุศยานิเวศม์ ตำบลบ่อโพง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2025, 00:04 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คำนำผู้เขียน

เว่ยหล่าง พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซ็น หรือนิกายธฺยานะ (ฌาน, Ch’an) ของพุทธศาสนามหายาน ขึ้นธรรมมาสน์และกล่าวกับสานุศิษย์ผู้มาชุมนุมรับฟังการแสดงธรรมว่า

“ท่านผู้คงแก่เรียนทั้งหลาย, สมาธิและปัญญานั้น ควรจะเทียบกับอะไรเล่า? คำตอบก็คือ ธรรมะสองชื่อนี้ ควรเทียบกับตะเกียงและแสงสว่างของมันเอง นั่นหมายถึง สมาธิเทียบกับตะเกียง ปัญญาเทียบกับแสงของมัน ที่ส่องออกมาจากตะเกียง, ตะเกียงนั่นแหละ คือตัวการแท้ของแสงสว่าง ส่วนแสงสว่างนั้นเป็นแค่สิ่งที่แสดงออกของตะเกียง”

จากธรรมะสองชื่อนี้ จุดประกายความคิดให้ผู้คงแก่เรียนทุกท่านได้ทราบต่อไปว่า ตะเกียง ย่อมมีไส้ตะเกียง ไส้ตะเกียงเป็นแหล่งกำเนิดของแสงแห่งตะเกียง ถ้าไส้ตะเกียงดี แสงสว่างที่ส่องออกมาก็จะนวลสวยงาม แต่ถ้าไส้ตะเกียงไม่ดี แสงสว่างที่ส่องออกมาก็จะไม่นวล และจะกระพริบเป็นช่วงๆ

ดังนั้น การบำรุงรักษาไส้ตะเกียงให้ดี สมบูรณ์ เรียบร้อย เพื่อให้แสงสว่างที่ส่องออกมานวลตลอด จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะทำให้เราใช้ตะเกียงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อบรรลุผลสำเร็จในการส่องสว่างสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่ง ที่เราต้องการได้

ตะเกียงพร้อมใช้ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราจําเป็นจะต้องดูแลไส้ตะเกียงให้มีสภาพดีอยู่เสมอ

สมาธิพร้อมใช้ เพื่อให้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เราก็จำเป็นที่จะต้องดูแลไส้ของสมาธิ หรือแกนของสมาธิ หรือแก่นของสมาธิ หรือหัวใจของสมาธิให้ดีอยู่เสมอ เช่นกัน

ไส้ของสมาธิ หรือแกนของสมาธิ หรือแก่นของสมาธิ หรือ หรือหัวใจของสมาธิที่จะทำให้สมาธิ ดี นวล เรียบ ไม่กระพริบเป็นช่วงๆ ในบริบทของงานเขียนเล่มนี้ ก็คือจิต

ดังนั้น ท่านผู้คงแก่เรียนที่ศึกษาศาสตร์ในด้านนี้ จึงจำเป็นจะต้องฟูมฟักจิต ฝึกจิต ให้จิตสามารถเปล่งประกายของพลังออกมาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อที่จะได้ส่องทางไปสู่จุดหมายปลายทางของชีวิต คือการหลุดพ้นออกจากสังสารวัฏ ต่อไป

ในส่วนของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้เขียนขึ้นด้วยจิตอันเปี่ยมล้นของความต้องการที่จะเห็นผู้คนฝึกสมาธิกันเพิ่มมากขึ้น เพราะถ้าผู้ใดฝึกสมาธิจนสามารถได้สมาธิมาใช้งานแล้ว ตัวสมาธิอันทรงคุณค่านี้ ก็จะเป็นยาครอบจักรวาล ที่สามารถป้องกันรักษาสรรพโรค สรรพภัย ต่างๆ ทุกชนิดไม่ให้กล้ำกลายเข้ามาสู่ตัวผู้ฝึกได้ ในทุกๆ มิติ

นอกจากจะสามารถป้องกันรักษาสรรพโรค สรรพภัย ไม่ให้กล้ำกรายเข้าสู่ตัวผู้ฝึกในทุกมิติแล้ว สมาธิยังสามารถเปล่งรัศมีออกสู่ภายนอกร่างกายของผู้ฝึกได้ ในรูปของปัญญาที่สว่างไสว ดุจดังตะเกียงที่สาดส่องแสงลงสู่พื้นนำทางแก่ฝูงชนที่ติดอยู่ในความมืดมิด ให้หลุดพ้นออกมาได้

ในส่วนของผู้อ่านนั้น เมื่อท่านสามารถอ่านเรื่องราวต่างๆ จนผ่านจุดนี้ไปได้ ก็แสดงว่าท่านได้ประสบความสำเร็จแล้ว สาเหตุเพราะ ผู้ที่หยิบหนังสือประเภทนี้ขึ้นมาอ่าน ย่อมแสดงว่าท่านต้องเป็นผู้มีจิตโน้มไปสู่ความต้องการที่จะฝึกสมาธิ

ผู้ที่มีจิตโน้มไปในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็หมายความว่าเราได้เห็นคุณค่าของมัน และพร้อมที่จะพอใจในสิ่งนั้นแล้ว

การพอใจในสิ่งนั้น ก็เป็นคำจำกัดความของคำว่า ฉันทะในอิทธิบาท 4 นั่นเอง

เมื่อมีฉันทะ คือพอใจว่าสมาธิเป็นสิ่งที่ดีจริง มีประโยชน์จริงแล้ว การมีวิริยะ คือความเพียรก็จะมีเพิ่มตามมากขึ้น เมื่อมีความเพียรเพิ่มมากขึ้น ก็มีจิตตะ คือมีใจจดจ่อกับเรื่องการฝึกสมาธิ ต่อด้วยการมีวิมังสา คือการพิจารณาหาเหตุผลว่า ฝึกสมาธิอย่างไรจึงจะให้ผลดี แล้วท้ายที่สุด ผลดีย่อมจะเกิดขึ้นกับท่านอย่างแน่นอน ในไม่ช้านี้

นั่นหมายถึงว่า ท่านได้ประสบความสำเร็จแล้ว เป็นผู้คงแก่เรียนแล้ว นับตั้งแต่ที่ท่านหยิบงานเขียนเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน จนกระทั่งถึงจุดๆ นี้

หวังว่าผู้คงแก่เรียนที่อ่านงานเขียนเล่มนี้ จะได้รับทั้งสาระและบันเทิงตามควรแก่เวลาอันมีค่าของท่าน ที่ได้สูญเสียไปจากการอ่าน และปฏิบัติตามไปด้วยในช่วงขณะการอ่าน ทุกท่านทุกคนเทอญ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2025, 00:31 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สารบัญ

คำอนุโมทนา
คำนำผู้พิมพ์แจก
คำนำผู้เขียน

ภาค 1 ภาพที่เห็นจนเจนตา
เรื่องของข้าวฟ่าง
นานาจิตตัง

ภาค 2 มองทฤษฎี
สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตล้วนประกอบด้วยธาตุ
สลับฉาก
ธาตุสามารถโน้มไปน้อมมาได้
วิญญาณธาตุก่อให้เกิดอายตนะที่เป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราวของมนุษย์
ขันธ์ 5 เป็นกลไกของระบบการทำงานของมนุษย์

ภาค 3 แต่ถ้าให้ดีต้องมีปฏิบัติ
เรามารู้จักกับคำว่าอร่อยจากการปฏิบัติกันบ้าง
ทำไมข้าวฟ่างจึงอร่อย
อานาปานสติ
จิตเหมือนวัวป่า
เราพบแล้ว
เอกสารน่าอ่านต่อ
มาแอบดูปกิณกคดีเกี่ยวกับผู้เขียนกันมั่งดีกว่า


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2025, 17:03 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค 1 ภาพที่เห็นจนเจนตา

เรื่องของข้าวฟ่าง

“ข้าวฟ่างชอบกินข้าวฟ่าง กินแล้วรู้สึกอร่อยดี”

ถ้าเอาข้าวฟ่างไปต้มด้วยวิธีเทน้ำลงไปให้พอเหมาะ ใส่น้ำตาลให้พอดี เมื่อต้มสุกแล้วตักใส่ถ้วยราดด้วยกะทิสดที่ปรุงผสมเกลือเล็กน้อย ก็จะได้ข้าวฟ่างที่มีรสกลมกล่อม เป็นอาหารอันโอชะของข้าวฟ่างแล้ว

ความรู้สึกอร่อยนี้มีมานานแล้ว จำได้ว่าตอนเป็นเด็ก ข้าวฟ่างไปวิ่งเล่นกับเพื่อนแถวข้างบ้าน พอกลับถึงบ้าน ก็ได้ยินเสียงหม่าม้าเรียกทันทีเลยว่า

“ข้าวฟ่าง ไปกินหนม”

“หนม”

ตามสำเนียงแบบเด็กที่ข้าวฟ่างชอบเรียก แล้วหม่าม้าเรียกให้ข้าวฟ่างกินนี้ก็คือ
ข้าวฟ่างต้มราดด้วยน้ำกะทิสดนี่แหละ

ข้าวฟ่างกำลังหิว ก็เลยกินข้าวฟ่างอย่างเอร็ดอร่อย

แล้วเอาข้าวฟ่างไปกินข้าวฟ่างได้อย่างไร กินกันได้หรือ เอาข้าวไปกินข้าว เอาข้าวโพดไปกินข้าวโพด อย่างนี้ถ้าว่ากันตามตัวอักษรหรือตามหลักไวยากรณ์ ที่มี ประธาน กริยา กรรม หรือที่ภาษาฝรั่งบอกว่าประโยคจะต้องมี Subject Verb Object แล้ว ข้าวฟ่างก็ชักจะเริ่มสับสน

ความรู้สึกสับสนของข้าวฟ่างในเรื่องนี้ มีมาตั้งแต่สมัยที่ข้าวฟ่างยังเป็นเด็กตอนไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนแล้ว ในครั้งนั้นพอข้าวฟ่างเดินผ่านเพื่อนกลุ่มใหญ่ ได้ยินเพื่อนคนหนึ่งตะโกนขึ้นด้วยเสียงอันดังว่า

“ข้าวฟ่าง”

ตัวข้าวฟ่างเองก็นึกว่าเพื่อนเรียกจึงขานรับ เลยหน้าแตก ได้ยินเสียงเพื่อนกลุ่มนี้ โห่กันตรึม

พอข้าวฟ่างเดินเข้าไปหาเพื่อนกลุ่มนี้ จึงรู้ว่าเพื่อนๆ กำลังเล่นทายปัญหากันว่า

“ข้าวอะไรเอ่ยที่คนกินก็ได้ ใช้ทำไม้กวาดก็ได้ หรือปลูกเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ก็ได้”

เพื่อนคนนี้รู้จึงตะโกนขึ้นด้วยเสียงอันดังเพราะกลัวเพื่อนคนอื่นแย่งตอบว่า

“ข้าวฟ่าง”

“อ๋อ... เป็นอย่างนี้เอง” ข้าวฟ่างรู้แล้ว

ข้าวฟ่างก็นึกว่า “คำว่าข้าวฟ่างนี้หมายถึงตัวของข้าวฟ่างเองคนเดียว” เป็นตัวเราคนเดียว เป็นของเราคนเดียว หรือเป็นตัวกูของกูคนเดียว

ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่

“ข้าวฟ่าง เป็นนามสมมติ” ที่ใช้เรียกคนหรือสรรพสิ่งต่างๆ เพื่อความสะดวกในการอยู่ร่วมกันในโลกแห่งสมมติใบนี้ต่างหาก

สมมติ มีรากมาจากคำบาลี ที่เป็นคำผสมกันระหว่างตัว สํ (ส มีจุดแบบบาลี) กับคำว่า มติ

สํ แปลว่า ร่วมกัน มติ แปลว่า เห็นพ้อง

แค่เห็นพ้องกัน ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยทั้งหมดทุกคน ก็เป็นมติที่ใช้กันได้ในกลุ่มชนกลุ่มนั้นแล้ว

ตัวอย่างเช่น ในรัฐสภาอันเป็นสถานที่ใช้ออกกฎหมายบังคับคนภายในประเทศ เมื่อฝ่ายรัฐบาลยกมือหนึ่งร้อยเสียง ฝ่ายค้านยกมือห้าสิบเสียง เขาก็ประกาศว่ารัฐสภามีมติ 100:50 กฎหมายนั้นก็เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับคนในประเทศนั้นได้แล้ว ถือว่าทุกคนต้อง เห็นพ้อง กับเสียงที่ออกมานี้แล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงเป็นเรื่องของสมมติ ที่มีหมายความว่า เห็นพ้องร่วมกัน

เรื่องของสมมตินี้ท่านว่า ถ้าจะศึกษาเพื่อให้ได้จุดสูงสุด หรือไปให้ถึงจุดสูงสุด หรือเพื่อที่จะได้ความจริงสูงสุด ก็จะได้ความจริงเพียงในระดับ สมมติสัจจะ

สัจจะ แปลว่าความจริง สมมติสัจจะ ก็คือ ความจริงตามที่เห็นพ้องร่วมกันในหมู่ชนใดหมู่ชนหนึ่ง

เรื่องชื่อของข้าวฟ่างก็เหมือนกัน หม่าม้า เห็นเด็กตัวเล็กๆ คลานต้วมเตี้ยมไปมาอยู่ในบ้าน ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไรดี ก็เลยเรียกตัวที่คลานๆ นี้ว่า

“ข้าวฟ่าง”

พอข้าวฟ่างได้ยินเสียงเข้า ก็หันมายิ้มมม...

คนในบ้านเห็นยิ้ม ก็เลยเห็นพ้องร่วมกันเรียกตัวที่ยิ้มๆ นี้ว่า

“ข้าวฟ่าง”

ข้าวฟ่างจึงเป็นนามสมมติที่คนในบ้านตั้งให้ เพื่อเรียกเด็กตัวเล็กกระจิริดที่คลานต้วมเตี้ยมเตาะแตะไปมา อยู่ภายในบ้าน

พอไปโรงเรียนชื่อจริงของข้าวฟ่างมันยาวเรียกไม่ถนัด เพื่อนก็เลยเรียกว่า

“ข้าวฟ่าง”

ตามสมมติของคนที่บ้านตั้งให้

ซึ่งข้าวฟ่างก็ยอมตามเห็นพ้องด้วยกับสมมติที่เพื่อนให้

ส่วนคำว่า

“ข้าวฟ่าง”

ที่เพื่อนตะโกนขึ้นมาก็เป็นนามสมมติ ที่เราให้กับธัญพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งก็คือธัญพืชที่ข้าวฟ่างชอบกินนี่แหละ

ธัญพืชชนิดนี้ประเทศไทยเรียกกันว่า

“ข้าวฟ่าง”

เป็นนามสมมติที่คนในประเทศไทยตั้งให้ แต่พอไปประเทศอื่น เมืองอื่น คนเขาก็ไม่รู้จักแล้ว

ถ้าไปเมืองฝรั่ง คนเขาจะเรียกธัญพืชชนิดนี้ว่า “Sorghum” ถ้าไปเมืองจีน เขาก็จะเรียกว่า “Kouling” ถ้าเมืองอินเดียเขาจะเรียกกันหลายชื่อ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นท้องถิ่นไหน บางท้องถิ่นเขาเรียกว่า “Cholam”

ทั้งหมดนี้เป็นสมมติที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนต่างๆ ที่มองเห็นวัตถุภายนอกกายในสิ่งๆเดียวกัน แต่สื่อให้ผู้อื่นทราบด้วยการพูดหรือการเขียน ไม่เหมือนกัน

นี่เป็นการมองในภาพกว้าง ถ้ามองในภาพลึก หรือแยกแยะให้ละเอียดลงไปอีก ข้าวฟ่างยังอาจจะแบ่งได้เป็นหลายชนิดหรือหลายประเภท ข้าวฟ่างประเภทที่ข้าวฟ่างชอบกินนี้เรียกกันว่า “ข้าวฟ่างเมล็ด (Grain sorghum)” เป็นข้าวฟ่างที่นำเมล็ดไปเป็นอาหารคนและสัตว์ นอกจากนี้ยังมี “ข้าวฟ่างไม้กวาด (Broom corn)” ที่ใช้ทำไม้กวาด พืชชนิดนี้ ไทยกับฝรั่งก็ยังตั้งชื่อไม่เหมือนกัน ไทยเห็นเป็นข้าวฟ่างจึงสมมติให้เป็นข้าวฟ่าง ฝรั่งเห็นเป็นข้าวโพดยกให้เป็นตระกูลข้าวโพด แต่ถ้าให้ไปชี้แล้วก็จะชี้ต้นเดียวกันนี่แหละ

ส่วนอีกสองประเภทก็คือ “ข้าวฟ่างหญ้า (Grass sorghum)” ที่ใช้ปลูกในทุ่งหญ้าเพื่อเลี้ยงสัตว์ แล้วก็ “ข้าวฟ่างหวาน (Sweet sorghum)” ที่ใช้ลำต้นเลี้ยงสัตว์

แต่ทั้งสามชนิดหลังนี้ ข้าวฟ่างยังไม่เคยเห็นของจริงต้นจริงเลย เคยเห็นแต่ในตำรา

ความรู้ของข้าวฟ่างยังมีน้อยนัก เมื่อเทียบกับความรู้ตามสมมติอันมีมากมายในโลกใบนี้

ข้าวฟ่างยังจะต้องเรียนรู้อีกมาก หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือ “ข้าวฟ่างจะต้องเรียน เพื่อให้รู้อีกมาก” แล้วนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่ข้าวฟ่างพานพบ เพื่อทำความรู้จักกับโลกแห่งสมมติใบนี้ให้เพิ่มขึ้นให้ได้

แล้วข้าวฟ่างจะดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกนี้ อย่างไม่มีความทุกข์ และไม่ถูกเพื่อนโห่เอา อีกต่อไป


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2025, 17:21 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


นานาจิตตัง

“ข้าวฟ่างชอบกินข้าวฟ่าง”

“แล้วทำไมเธอจึงชอบ” พิสมัยถาม

ข้าวฟ่างก็เลยคิดตามใหญ่ แต่ก็ตอบไม่ได้ รู้แต่ว่ามันมีรสกลมกล่อม รู้สึกกินแล้วอร่อยดีก็แล้วกัน ยังเคยชวนพิสมัยให้กินเลย

พิสมัยผู้ไม่ชอบกินข้าวฟ่าง ตอบปฏิเสธคำชวนของข้าวฟ่างว่า

“กินแล้วไม่อร่อย”

กินแล้วรู้สึกว่ามันเละๆ อยู่ในปาก เคี้ยวก็ไม่ถนัด ไม่อร่อยเลย แถมไม่ได้บริหารฟันด้วย

“มีรายงานการทดลองของฝรั่งออกมาเมื่อปี 2548 นี่เองว่า การที่ฟันของคนได้เคี้ยวอาหาร ทำให้ไม่เป็นโรคอัลไซเม่อร์ คนแก่ไม่มีฟันไม่ค่อยได้เคี้ยวเลยเป็นโรคอัลไซร์เม่อร์กันมาก”

พิสมัยโฆษณา

ด้วยเหตุนี้กระมัง พิสมัยเลยชอบกินพิซซ่า กินแล้วได้เคี้ยวด้วย

พิสมัยเล่าต่อว่า

“จะรีบๆ เคี้ยวซะก่อนตั้งแต่ยังไม่แก่ จะได้ไม่เป็นโรคอัลไซร์เม่อร์ด้วย แถมอร่อยดีด้วยอีกต่างหาก”

ฟังดูแล้วน่าสุโขสโมสรในการกิน

ข้าวฟ่างไม่ชอบกินพิซซ่า จะว่าฟันของข้าวฟ่างไม่ดีเคี้ยวของแข็งไม่ได้ก็ไม่ใช่ ฟันของข้าวฟ่างยังดีอยู่ แต่มันไม่ถูกกับลิ้นของข้าวฟ่าง ข้าวฟ่างเลยไม่ชอบกิน เคยถามพิสมัยเหมือนกันว่า

“ทำไมเธอจึงชอบกินพิซซ่า”

พิสมัยครุ่นคิดอยู่สักพักก็หันมาตอบว่า

“ชอบมาตั้งแต่ช่วงดูทีวีตอนเป็นเด็กแล้ว”

พิสมัยเล่าต่อว่า

“เคยเห็นโฆษณาในทีวี ดูท่าพิซซ่ามันน่าจะอร่อยดี”

จึงรบเร้าแม่ให้พาไปกิน แม่ทนรบเร้าไม่ได้ก็เลยพาไปกิน

พิสมัยกินแล้วก็อร่อยดี เลยชอบตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ข้าวฟ่างก็เลยเออออห่อหมกตามไปด้วย พร้อมเดาชื่อของเพื่อนว่า

“นี่พิสมัยท่าจะรักใคร่หลงใหลในการกินพิซซ่ากระมัง เพราะพิสมัยถ้าเป็นคำกริยาแปลว่า รักใคร่หลงใหล หรือไม่ก็มีตัว พ พาน เหมือนกัน แม่เลยตั้งชื่อให้ว่า พิสมัย พิสมัย.. พิซซ่า.. มันคล้องจองกันดี”

พิสมัยรีบปฏิเสธว่า

“ไม่ใช่นะ ชื่อพิสมัยเนียะ มันมีมาตั้งแต่ก่อนที่เราจะชอบกินพิซซ่าแล้ว แม้จะเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ไม่พิสมัย แต่เราก็ยังพิสมัยที่จะกินพิซซ่าอยู่เหมือนเดิม”

พิสมัยชอบกินพิซซ่า ใครจะพูดว่าอย่างไรไม่สนใจ

ข้าวฟ่างก็เหมือนกัน ใครจะว่าอย่างไรก็ว่าไป ข้าวฟ่างก็ยังคงชอบกินข้าวฟ่างอยู่เหมือนเดิม

เหตุที่ทำให้ชอบในแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน ผลเลยชอบไม่เหมือนกัน มันจึงเป็นเรื่องของ

“นานาจิตตัง”

นานาจิตตัง เกิดจากการปรุงของจิตในภายหลัง กรณีชอบกินข้าวฟ่างของข้าวฟ่าง และกรณีชอบกินพิซซ่าของพิสมัยก็เหมือนกัน ไม่ใช่พอเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่แล้วจะชอบกินแบบนี้เลย มันต้องมีเหตุ มีปัจจัย แล้วก็เกิดการปรุงขึ้นมา

พิสมัยเลยสาธยายเรื่องการปรุงขึ้นมาว่า

“การปรุง มันจะต้องมีสถานที่ปรุง มีเครื่องปรุง แล้วก็มีสิ่งที่เข้าไปปรุง”

แล้วปรุงขึ้นมาอย่างไร พิสมัยผู้เชี่ยวชาญในการปรุงแกงไก่ก็บอกว่า

“มันต้องมีอุปกรณ์ภายในสถานที่ปรุงหรือที่เรียกง่ายๆ ว่าเป็นห้องครัวก็ได้ แล้วก็ต้องมีอุปกรณ์ภายนอกห้องครัว”

อุปกรณ์ภายในห้องครัวก็เป็นพวกถ้วย โถ โอ ชาม ทัพพี กระทะ อะไรต่างๆ พวกนี้ มันมีพร้อมอยู่แล้ว เราจึงเรียกมันว่าห้องครัว

อุปกรณ์ภายนอกห้องครัวเราก็ต้องหามันเข้ามาเอง พิสมัยจะแกงไก่ ก็เอา ไก่ น้ำพริกแกง แล้วพวกมะเขือ โหระพาเข้ามาเตรียมพร้อมไว้ ถ้าเราเอาน้ำพริกแกงเขียวหวานเข้ามาแกง เราก็จะได้แกงเขียวหวาน ถ้าเอาน้ำพริกแกงเผ็ดมาแกง เราก็จะได้แกงเผ็ด เอาน้ำพริกแกงอย่างไรมาแกง มันก็จะได้แกงอย่างนั้น

“นี่มันเป็นเรื่องของธรรมะนะ ธรรมะมันเป็นเรื่องของเหตุและผล มีอ้างไว้ในเรื่องของ ปฏิจจสมุปบาท”

ปฏิจจสมุปบาท แปลว่า อาศัยกันแล้วเกิดขึ้น ผลต้องอาศัยเหตุ ผลจึงจะเกิดขึ้น

ข้าวฟ่างชัก งง...งง

พิสมัยเลยบอกว่า

“ว่าง..ว่างเราจะเล่าให้เธอฟังต่อก็แล้วกัน แล้วจะเล่าให้ฟังเป็นฉากเลย”

“มาเรื่องการปรุงกันต่อดีกว่า” พิสมัยบอก

เมื่อเรามีอุปกรณ์ภายนอกห้องครัว มีอุปกรณ์ภายในห้องครัวในการปรุงแล้ว เราก็ต้องมีสิ่งที่เข้าไปปรุง หรือตัวที่เข้าไปปรุง หรือคนปรุงซึ่งก็คือ พิสมัยนั่นเอง

พิสมัยก็เป็นตัวสำคัญ ถ้าพิสมัยใส่น้ำปลามากมันก็เค็มมาก ใส่น้ำปลาน้อยมันก็เค็มน้อย หรือไม่ใส่น้ำปลาเลยมันก็ไม่เค็ม แล้วแต่พิสมัยจะไปกำหนดมัน

เรื่องความเผ็ดก็เหมือนกัน แกงเผ็ดไก่ที่มันจะเผ็ดหรือไม่เผ็ด มันก็อยู่ที่สิ่งที่เราเอาเข้ามาปรุง ซึ่งก็คือน้ำพริก

การใส่น้ำพริกมากน้ำพริกน้อย ก็อยู่ที่พิสมัยเป็นคนกำหนดขึ้น แต่พิสมัยก็ต้องดูว่าน้ำพริกที่เราเอามาแกงนี้เราตำมา หรือใช้เครื่องปั่นมาแบบใช้พริกมากพริกน้อยอย่างไร ต้องดูหลายอย่าง มันมีปัจจัยหลายปัจจัย ก่อนที่มันจะมีผลเกิดขึ้น

“จิตที่เกิดเป็นนานาจิตตังที่เกิดจากการปรุง หรือการปรุงแต่งจิต ที่เราเคยได้ยินอยู่บ่อยๆ นี่ก็เหมือนกัน มันเกิดจากการปรุงของสิ่งหลายสิ่ง มันมีหลายปัจจัย เหมือนกับการปรุงแกงนั่นแหละ”

พูดถึงการแกงไก่ จะพูดแค่มีเนื้อไก่ที่จะแกง มีน้ำพริก มีน้ำปลา มีกะทิ มีมะเขือที่เป็นอุปกรณ์ภายนอกห้องครัว แค่นี้ไม่ได้ ไม่สมบูรณ์ ต้องพูดถึงอุปกรณ์ภายในห้องครัวด้วย ต้องมีถ้วยโถโอชาม แล้วก็ต้องมีคนแกงที่แกงเป็น แล้วก็ต้องมีศิลป์ด้วย ถ้าแกงไม่เป็น เช่นแกงไก่ที่มีกระดูก ใส่กะทิ ใส่น้ำพริก ใส่ไก่ที่มีกระดูกคั่วแล้วเทน้ำใส่ต้มต่อยังไม่ทันเดือดเลย เอาทัพพีคนใหญ่เลย แกงก็เหม็นคาวตาย ดังนั้น มันต้องมีหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกัน มันต้องพูดพร้อมกันหลายอย่าง

จิตที่ถูกปรุงจนเป็นนานาจิตตังของข้าวฟ่างก็เหมือนกัน เราจะพูดแค่ “จิต” ตัวเดียวไม่ได้ มันก็จะเป็นการพูดแบบ “แยกส่วน” แยกส่วนแล้วเราก็ไม่รู้ว่ามันไปเชื่อมต่อกันอย่างไร เราจะต้องพูดกันทั้งระบบ หรือพูดกันเป็นแบบ “องค์รวม”

องค์รวม เป็นศัพท์สมัยใหม่ ที่นิยมพูดกันเมื่อซักยี่สิบกว่าปีมานี่เอง ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี 2542 เปิดดูยังหาไม่เจอเลย อาจจะเป็นศัพท์เฉพาะทางที่ใช้กันในวงจำกัด เขาแปลมาจากคำในภาษาฝรั่งว่าโฮลิสติก (Holistic)

องค์ประกอบที่มันประกอบมาเป็น Holistic หรือองค์รวมที่เราสามารถจะนำไปอธิบายว่าทำไม ข้าวฟ่างจึงชอบกินข้าวฟ่างก็คือ ธรรมชาติที่มันมารวมๆ กันเป็นตัวของข้าวฟ่างเอง ที่เรียกว่า “ธาตุ อายตนะ และขันธ์” นี่แหละ มันมี 3 สิ่ง แล้วก็ต้องมีระบบการเชื่อมต่อกันของมันในร่างกายของข้าวฟ่างนี่ด้วย เราไม่สามารถพูดแบบแยกส่วนได้ เราจะต้องพูดพร้อมๆ กัน จึงจะเข้าใจ

“เมื่อเข้าใจแล้วคราวนี้แหละ เราจะได้รู้กันว่าทำไมข้าวฟ่างจึงชอบกินข้าวฟ่าง เราจะเล่าให้ฟังเป็นฉากๆ ตามทฤษฎีเลย”

พิสมัยยืดอกพูดอย่างมั่นใจ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2025, 18:57 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค 2 มองทฤษฎี

สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตล้วนประกอบด้วยธาตุ

ข้าวฟ่างรู้จักคำว่าธาตุมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้ว ช่วงนั้นข้าวฟ่างเป็นนักเรียน เรียนวิชาเคมี พอถึงชั่วโมงเรียน ครูท่านก็ให้ท่องตารางแผ่นหนึ่ง ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อธาตุที่เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษ แล้วก็ตัวเลขฝรั่งอะไรก็ไม่รู้ ย่อเป็นตัวกระจิริดอยู่ในช่องเล็กๆ ประมาณ 100 กว่าช่อง รวมแล้วร้อยกว่าธาตุ แล้วครูท่านก็บอกว่า

“นี่คือตารางธาตุ ให้ท่องให้ได้”

ข้าวฟ่างเห็นแล้วก็ง่วงนอนขึ้นมาติดหมัด แต่จะทำไงได้ ไม่รู้จะไปร้องเรียนเอากับใคร อย่ากระนั้นเลยข้าวฟ่างก็เลยหลับหูหลับตาท่องเป็นการใหญ่ เพราะขืนท่องไม่ได้ ครูท่านให้สอบตกแน่ๆ ในวิชานี้ ไม่มีอุทธรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เข็ดแล้ว เข็ดจริงๆ เรื่อง ธ่ง เรื่อง ธาตุเนียะ

อ้าว ตอนมาเรียนวิชาชีววิทยา ครูท่านก็สอนอีกนั่นแหละว่า

“อ้ายธาตุที่มันมีเป็นร้อยเนียะ มีเพียง 20 กว่าธาตุเท่านั้น ที่พบในร่างกาย เพราะนักวิทยาศาสตร์เขาเอาร่างกายไปเผาจนเป็นขี้เถ้า แล้วเอาไปตรวจวิเคราะห์หาปริมาณธาตุดูเรียบร้อยแล้ว พบว่ามันมีอยู่แค่นี้เอง”

ข้าวฟ่างเลยใจชื้นขึ้นมาหน่อยว่า วิชานี้นี่ดี ไม่ต้องท่องชื่อธาตุกันตั้งมากมายก่ายกองให้มึนหัวอีกต่อไป

ยิ่งดีใหญ่ ตอนที่มาฟังวิชาชีวเคมี ที่ครูท่านบอกว่า

“เป็นวิชาที่ศึกษาเกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมีในสิ่งมีชีวิต หรือหนังสือบางเล่มเขาก็บอกว่า เป็นวิชาที่ศึกษาส่วนประกอบและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของสิ่งมีชีวิต หรืออีกเล่มหนึ่งเขาก็พูดไว้ว่า เป็นการศึกษาชีววิทยาในระดับเคมีหรือระดับโมเลกุล”

ข้าวฟ่างฟังแล้วก็เริ่มสงสัยขึ้นมานิดหน่อย

ครูเห็นข้าวฟ่างสงสัย คงกลัวว่าข้าวฟ่างจะเป็นโรคประสาทหวาดผวาเรื่องธาตุ ก็เลยสรุปให้เลยว่า

“ธาตุที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่มีชีวิตที่มีประมาณ 20 กว่าธาตุนั้น จะมีพวกออกซิเจน คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เท่านั้น ที่ถือว่าเป็นธาตุหลักที่สำคัญในสิ่งมีชีวิต เพราะมันมีปริมาณถึงร้อยละ 99 ของธาตุทั้งหมดที่มีอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต”

พอได้ยินอย่างนี้ ข้าวฟ่างออกจากโรงเรียนก็เลยเดินฮัมเพลงกลับบ้านด้วยความสบายใจ คราวนี้แหละ สบายเรา เราจะไม่ต้องยุ่งชุลมุนวุ่นวายไปกับเรื่องธาตุจำนวนมากมายก่ายกองอีกต่อไป

แต่เอ๊ะ เดี๋ยว ข้าวฟ่างชักเอะใจ คงไม่ง่ายแล้วกระมัง สงสัยคำว่า ธาตุทั้งหมดที่อยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต

ครูท่านบอกว่า “ธาตุอยู่ในเซลล์...ธาตุอยู่ในเซลล์...”

ตอนท่องตารางธาตุในวิชาเคมี เห็นมีแต่ธาตุ ไม่เห็นมีคำว่าเซลล์เลย ตอนนี้มีคำว่าเซลล์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแล้ว เซลล์คืออะไร

เซลล์เป็นหน่วยพื้นฐานที่เล็กที่สุดของชีวิต ในหนังสือชีววิทยาเขาว่าไว้อย่างนั้น ความหมายก็คงตรงตามตัวอักษร สมมติเช่นตัวข้าวฟ่างเป็นหน่วยใหญ่ที่สุด หน่วยพื้นฐานที่เล็กที่สุดของข้าวฟ่างก็คือ เซลล์

เซลล์ก็มีตั้งมากมายหลายชนิด มีทั้งเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว เซลล์ผิวหนัง เซลล์สมอง แล้วก็อื่นๆ อีกหลายชนิดหลายประเภท จำนวนเซลล์ในแต่ละชนิดแต่ละประเภทก็มหึมามหามากมาย จนข้าวฟ่างนับไม่ถูก เฉพาะเซลล์สมองอย่างเดียว ก็มีจำนวนปาเข้าไปตั้ง 100,000 ล้านเซลล์เข้าไปแล้ว (10 ยกกำลัง 11 หรือ 1 เติมศูนย์ 11 ตัว)

ในแต่ละเซลล์ ถ้าดูตามโครงสร้าง ก็จะมีพวกเยื่อหุ้มเซลล์ ไซโทพลาสซึม แล้วก็นิวเคลียส

นิวเคลียส ก็จะมีพวกเยื่อหุ้มนิวเคลียส แล้วมีนิวคลีโอพลาซึมที่มีนิวคลีโอลัสและพวกโครโมโซม เป็นโครงสร้างอยู่ภายใน

โครโมโซม อย่างเช่นของข้าวฟ่าง มันก็เป็นที่รวมกันของยีนหลายชนิดบนสาย ดี เอน เอ ที่เป็นยีนนี้ แล้วมันก็เป็นตัวที่ควบคุมลักษณะทางพันธุกรรม ที่ถ่ายทอดจากรุ่นพ่อ รุ่นแม่ สู่รุ่นลูกของสิ่งมีชีวิต ทั้งหมดนี้มันก็สามัคคีทำงานกันตามระบบ ตามขบวนการของมันเป็น “องค์รวม” จนทำให้ข้าวฟ่างมานั่งเขียนเรื่องธาตุอยู่นี่แหละ

ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติ เพราะคนเราเกิดมาหลายพันหลายหมื่นปีแล้ว แต่ละคนก็มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน แล้วก็แสดงในบทบาทหน้าที่ ที่ต่างกัน มันเป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือปฏิบัติตามธรรมะ ธรรมะก็คือหน้าที่นั่นเอง มันเป็นเรื่องปกติ

แต่ที่ไม่ปกติก็คือ ตอนนี้เขากำลังจะเล่นแร่แปรธาตุกับข้าวฟ่างแล้ว เขาจะพิมพ์ข้าวฟ่างขึ้นมาอีกคนหนึ่งก็ได้แล้ว (Cloning) เหมือนกันดิ๊กเลยเหมือนแฝดผู้ลูกเลย ถ้าเขาจะทำก็ทำได้ เพราะเขาทำกับสัตว์หลายชนิด เช่น แกะ วัวและสัตว์อื่นๆ แล้ว เขาทำได้ โดยวิธีตัดต่อ ดี เอน เอ แล้วฉีดเข้าในไข่สัตว์และส่งกลับให้ไปเจริญในมดลูก

สาเหตุที่เขาทำได้เพราะเขารู้แผนที่ ที่เป็นลำดับของกลุ่มเบสที่เรียงต่อกันอยู่ในแต่ละโมเลกุล ที่มีเบสหลัก 4 ตัว คือ เอ ที จี ซี [ A (Adenine), T (Thymine), G (Guanine) แล้วก็ C (Cytosine)]

สมัยก่อนเขาเล่นแร่แปรธาตุกันกับสิ่งไม่มีชีวิต แต่เดี๋ยวนี้เขาจะเล่นแร่แปรธาตุกับสิ่งมีชีวิตเลย แต่มันจะยุ่งวุ่นวายกันแค่ไหน แล้วในเรื่องธรรมะนี่จะเป็นอย่างไร มีผลกระทบอะไรหรือเปล่า เราอาจจะต้องถามพิสมัยดูในตอนต่อๆ ไป ว่าพิสมัยคิดอย่างไรในกรณีที่เขาจะถ่ายซีร๊อกข้าวฟ่างขึ้นมาอีกคนหนึ่ง

เมื่อกี๊นี้เขียนไปถึงไหนแล้วเนียะ อ๋อ...เรื่องเราดูเซลล์ตามโครงสร้างของเซลล์ มันก็จะมีพวก เยื่อหุ้มเซลล์ ไซโทพลาสซึม แล้วก็นิวเคลียส นี่เราดูตามโครงสร้างของมัน

คราวนี้เราจะดูตามองค์ประกอบทางชีวเคมีของเซลล์บ้าง มันก็มีพวก โปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดนิวคลีอิค และอื่นๆ โดยมีพวกน้ำทำหน้าที่เป็นตัวทำละลายในสิ่งมีชีวิต อย่างน้ำนี่ก็เป็นสารอนินทรีย์ พวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต กรดนิวคลีอิกทั้งหลายก็เป็นสารอินทรีย์

โปรตีนนั้น นักวิทยาศาสตร์เขาเคยเอาไปวิเคราะห์แล้ว พบว่าโปรตีนโดยทั่วไป จะมี คาร์บอนประมาณร้อยละ 44-55 มีออกซิเจน ประมาณร้อยละ 19-25 มีไนโตรเจนประมาณร้อยละ 12-14 และมีไฮโดรเจนประมาณร้อยละ 4-6

คาร์บอนนี่มันก็เหมือนกันกับถ่านที่เราหุงข้าว ถ้าเอาถ่านมาหุงข้าวมาก เราก็จุดไฟเผาถ่านได้นาน หุงข้าวได้หลายหม้อ มันเป็นการเผาถ่านเพื่อให้เกิดพลังงาน นี่เป็นตัวอย่างการใช้ถ่านภายนอกร่างกายของเรา

แล้วภายในร่างกายเราเล่า เราจะเดินไปโน่นมานี่มันก็ต้องใช้พลังงาน เราก็จะต้องเผาอะไรซักอย่างหนึ่งเพื่อให้เกิดพลังงาน เผาถ่านคงไม่ได้

“เผาโปรตีนนี่เหละ มันมีคาร์บอนมีถึงร้อยละ 44-55 มันน่าจะเป็นแหล่งพลังงานที่ดี แล้วก็เผาได้นาน” ข้าวฟ่างคิด

คิดไปคิดมาคิดซะมึน คิดเสร็จข้าวฟ่างเลยร้องอ๋อ...ซะยาวเลยว่า

“ธาตุมันไม่ได้อยู่ในวิชาเคมีอย่างเดียว ไม่ได้อยู่ในตารางธาตุอย่างเดียว มันอยู่ในร่างกายของข้าวฟ่างตอนข้าวฟ่างกินโปรตีนเข้าไปด้วย แล้วร่างกายก็ไปเผาคาร์บอนแล้วก็สร้างโปรตีนขึ้นมาใหม่ด้วย ตามระบบการเผาของมัน นั่นเอง (Metabolism)”

การเผามันก็ไม่ได้เผาโปรตีนอย่างเดียว พวกคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และอื่นๆ ที่อยู่ในร่างกายของข้าวฟ่างนี่ ก็อยู่ในกระบวนการเผาธาตุเพื่อให้เกิดพลังงานด้วยเหมือนกัน

ข้าวฟ่างได้คำตอบแล้วว่า...“ร่างกายของเราถ้าดูจากวิชาวิทยาศาสตร์ที่เรียนจากห้องเรียนมันก็เต็มไปด้วยธาตุ มันเหมือนกันกับที่ข้าวฟ่างเคยได้ยินจากพระเทศน์เลยว่า อะไร...อะไร...ก็สักแต่ว่าธาตุ (ธาตุมตฺตเมเวตํ เอวัง : มันเป็นสักแต่ว่าธาตุ เท่านั้นเอง)”

เรียนเรื่องธาตุในวิชาวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนที่โรงเรียน กับเรียนเรื่องธาตุจากพระเทศน์นี่ คล้ายกันเลย...

เฮ้ย...จบซะที

ข้าวฟ่างเขียนซะจนตาลายไปหมด ภาษาอะไรก็ไม่รู้ เขียนยากเขียนเย็น

แต่ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งตาลายก่อน เพราะอ่านยากอ่านเย็นตามข้าวฟ่างนะฮะ กลัวเดี๋ยวท่านผู้อ่านจะไม่มีแรงอ่านต่อ แล้วข้าวฟ่างเสียกำลังใจแย่เลย

ที่เรื่องมันชวนเวียนหัวก็เพราะคำว่า ธาตุ ที่ข้าวฟ่างเล่าผ่านมา ท่านแปลมาจากคำว่า เอลลิเม้นทึ (Element) ในภาษาฝรั่ง หรือของชาวตะวันตก แล้วข้าวฟ่างก็รู้จักกับมันตอนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในห้องเรียนที่โรงเรียน เลยทำให้ข้าวฟ่างติดมันมาจนถึงปัจจุบัน พอถึงตอนศึกษาธรรมะ ข้าวฟ่างเห็นคำว่า ธาตุ เมื่อไร ข้าวฟ่างก็จะแปลไว้ก่อนว่า Element ในทางกลับกัน ถ้าข้าวฟ่างเห็นคำว่า Element เมื่อไร ข้าวฟ่างก็จะแปลไว้ก่อนว่าเป็น ธาตุ

แต่ถ้าจะให้ดีแล้ว ข้าวฟ่างคิดว่า

“ทั้งคำว่า ธาตุ และคำว่า Element น่าจะแปลว่า ส่วนที่เป็นรากฐานจะดีกว่า”

เพราะมันจะได้เข้ากับเรื่องกับราวในตอนต่อๆ ไปของเรา
อย่างเช่น Elementary education ก็แปลว่า ประถมศึกษา
ประถมศึกษา มันก็เป็นส่วนที่เป็นรากฐานของการศึกษาทั้งปวง

ในตอนต่อไป จะเล่าถึงคำว่าธาตุตามทัศนะของชาวตะวันออก หรือชาวพุทธเรา ที่พอเขียนเป็นภาษาฝรั่งแล้วกลายเป็นคำว่า Element

เราจะมาดูซิว่ามันจะเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร

พอพูดถึงคำว่า Element ฝรั่งกับไทยจะชี้ไปที่วัตถุสิ่งเดียวกันหรือไม่

ติดตามอ่านต่อนะฮะ

“ข้าวฟ่างรับรองได้เลยว่า...สนุกแน่”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2025, 19:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


สลับฉาก

ฉากที่แล้ว ข้าวฟ่างก็โฆษณาซะใหญ่โตว่า ข้าวฟ่างจะคุยเรื่องธาตุในมุมมองของชาวตะวันออก หรือทางพุทธศาสนาต่อ แล้วก็ค้ำประกันไปเรียบร้อยว่า รับรองได้เลยว่าจะสนุกแน่ แต่พอเปิดฉากขึ้นมาข้าวฟ่างก็ชักกลุ้มใจ ไม่รู้ว่าจะคุยเรื่องอะไรดี แล้วมันจะสนุกตามแบบที่ได้โฆษณาไว้หรือไม่ เหลียวหน้าแลหลังดูพิสมัย ที่เคยแอบกระซิบกับข้าวฟ่างว่า จะเล่าเรื่องธาตุให้ข้าวฟ่างฟังเป็นฉากๆ ให้สนุกเลย ก็ยังไม่มา แล้วข้าวฟ่างจะทำอย่างไรต่อดี อย่ากระนั้นเลย ข้าวฟ่างขอขายผ้าเอาหน้ารอดเล่านิทานสลับฉากฆ่าเวลาก่อนจะดีกว่า

ตั้งชื่อเรื่องนี้ไว้ว่า ธรรมะจากป้า : รักใสใส หัวใจกระเตง

เป็นเรื่องที่ข้าวฟ่างได้พานพบตอนไปต่างจังหวัด ข้าวฟ่างดูแล้วมันเกิดความคิดขึ้นมาเลย จึงอยากนำมาเล่าให้ฟังเป็นการขัดตราทัพก่อนก็แล้วกัน ชื่อเรื่องนี่ก็นึกขึ้นมาเอง คิดว่ามันวัยสะรุ่นดี คำว่ารักใสใสนี่ก็เลียนแบบมาจากชื่อหนังของนักแสดงคณะหนึ่ง ที่ชื่อ เอฟโพร์ มันดูกระชุ่มกระชวยขึ้นมาหน่อย ส่วนหัวใจกระเตงก็ไม่ใช่กระเตงอะไรดีเด่หรอก แต่มันเป็นการกระเตงข้าวกระเตงของไปขาย น่ะ

แม้ภายนอกป้าจะเป็นคนค้าคนขายธรรมดาๆ แต่หัวใจของแกนี่ซิ สุดยอด ข้าวฟ่างเห็นแล้วยังอายเลย ลองมาฟังดูหน่อยนะฮะ

ช่วงนั้นข้าวฟ่างไปต่างจังหวัด คราวนี้ตอนกลับก็กลับโดยรถไฟ ที่สถานีรถไฟมันก็คงเหมือน...เหมือนกันทุกที่ทุกแห่งเลยว่า มันจะต้องมีซุ้มสี่เหลี่ยมที่ขายของกระจุกกระจิก หรือที่เราเรียกว่า โชวห่วย

ก่อนข้าวฟ่างขึ้นรถไฟข้าวฟ่างก็ไปซื้อมั่ง เจอดีเลย เจอป้าที่ขายของอยู่ที่ซุ้มเทศน์ให้ฟัง ข้าวฟ่างฟังเสร็จ ก็ต๊กกะใจ คิดว่าโอ้โฮ ป้านี่สุดยอดเลย ข้าวฟ่างก็เลยอยากจะนำมาเล่าให้ฟังต่อ

ช่วงนั้นข้าวฟ่างซื้อของเสร็จก็นั่งกินโอเลี้ยงที่แผงนี้ต่อ สักพักก็มีชายอายุซักประมาณยี่สิบกว่า..กว่า มาซื้อหนังสือพิมพ์ 1 ฉบับ ป้าอายุซักหกสิบกว่า...กว่า แกก็รีบกระวีกระวาดหยิบหนังสือพิมพ์ส่งให้ แล้วก็รับตังแบงก์ยี่สิบที่พับตามขวางเป็นสี่ส่วน ที่ชายหนุ่มผู้นี้ยื่นให้ เมื่อรับเสร็จ ป้าแกก็หยิบแบงก์ยี่สิบใบนั้นมาใส่ไว้ในลิ้นชัก

พอดีแกหันไปตอบคำถามลูกค้ารายอื่น พอตอบเสร็จแกก็ควานหาเหรียญ ทอนให้ชายผู้นี้ 2 บาท กล่าวคำขอบคุณ แล้วแกก็หันกลับไปหยิบโน่นฉวยนี่ของแกต่อ ด้วยความมั่นใจว่าได้ทอนถูกต้องแล้ว

ชายผู้นี้ก็ต๊กกะใจ ร้องถามไปว่า

“โห...ป้า หนังสือพิมพ์ฉบับละสิบแปดบาทเลยเหรอ”

ป้าแกก็งง ทำหน้าเหรอหรา ซักพักแกก็ควักตังอีกสิบบาทคืนชายผู้นี้ไปพร้อมทั้งกล่าวคำว่า

“ขอโทษนะลูก”

แกคงนึกออก ข้าวฟ่างคิด

ถ้าแกนึกไม่ออก ข้าวฟ่างก็จะบอกแก เพราะข้าวฟ่างอยู่ในเหตุการณ์ ข้าวฟ่างเห็นแบงก์ยี่สิบที่พับมาอย่างดีส่งให้ป้า

แต่นี่ไม่ใช่สาระสำคัญที่ข้าวฟ่างจะเล่า เพราะมันก็เป็นทุกคนแหละ ข้าวฟ่างเองก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ แล้วบางครั้งข้าวฟ่างอาจจะหลง...หลง ลืม...ลืมมากกว่าป้าเสียอีก พอชายผู้นั้นกลับไป ป้าแกก็หันมาคุยกับข้าวฟ่างว่า

“เนี่ยะ ดีขึ้นทุกวัน...ดีขึ้นทุกวัน...ดีขึ้นทุกวัน...”

แกพูดหยั่งเงี๊ยะกับข้าวฟ่าง แล้วแกก็หันหลังกลับไปหยิบโน่นคว้านี่ของแกต่อ ไม่สนใจข้าวฟ่าง

ตอนแรกข้าวฟ่างฟังแล้วก็งง ทอนผิดแล้วจะดีอย่างไร แต่ก็รู้ว่าแกคงไม่อยากทอนผิด...แน่...แน่ เพราะโดยปกติแล้ว พ่อค้าแม่ขายทุกคนแหละ เขาก็เคารพในวิชาชีพของเขา จะทอนถูกทอนผิดอย่างไรถ้าเขารู้ เขาก็ต้องแก้ไขให้มันถูกต้อง

สักพักแกก็หันมาพูดแนะนำข้าวฟ่างต่อว่า

“เราจะต้องพูดว่า ดี ดี ดี ไว้ก่อน อย่าไปกลุ้มกับมัน เดี๋ยวมันจะไปกันใหญ่ พูดว่า แย่ แย่ แย่ มันก็เลยแย่จริง...จริง”

“มันก็หยั่งงี้แหละ อายุมากแล้ว ลืมโน่นลืมนี่เป็นประจำ เดี๋ยวนี้ป้าไม่ไปไหนแล้ว ไกล..ไกลไม่ไป อยู่มันในนี้แหละ (คือในร้านสี่เหลี่ยม) เดินวนมันอยู่ในนี้แหละ วันเสาร์ก็ไปวัด ไม่ขายแล้ว...ให้ลูกมาอยู่แทน...”

แล้วแกก็เล่าของแกต่อว่า

“เดี๋ยวนี้นะ เรื่องสลับซับซ้อนอะไรป้าไม่คิดแล้ว ปวดหัว หนังสือพิมพ์ป้าก็ดูๆ แต่พาดหัวข่าว แล้วก็รายละเอียดเล็กน้อย อ่านลึกๆ ไม่ไหว มันกลุ้มใจ แล้วก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้”

“ยิ่งที่บ้านนะ ลูกหลานเขาจะทำอะไรอย่างไรป้าก็ปล่อยเขาทำกันไปเล๊ย ป้าแก่แล้ว คิดอะไรไม่ค่อยจะทันเขา ไปบอกเขาน่ะ มันไม่ดี ไปตัดสินใจให้เขา มันไม่ดี” ป้าบอก

“โลกเดี๋ยวนี้มันสลับซับซ้อน บางเรื่องนะ เราไม่รู้จริง ไปบอกเขามันอาจผิดก็ได้ เราไปบอกสิ่งที่ผิดๆ ให้เค้า...”

“คนที่ไม่เชื่อเราน่ะ ก็ไม่เป็นไรไม่มีผลเสียอะไร”

“แต่คนที่เคารพเราแล้วก็เชื่อเราซิ เขาจะเกิดความเสียหาย ก็มันผิดตั้งแต่ต้นแล้ว ผิดตั้งแต่ที่เราบอกเขาแล้ว...มันบาป...”

โอ้โฮ สุดยอดป้าเลย ข้าวฟ่างคิด ธรรมะไม่ต้องไปเรียนจากใครหรอก สำหรับข้าวฟ่างแล้ว ข้าวฟ่างเรียนจากป้านี่แหละ

รู้แล้วชี้...นี่ดีสุด...ยอดอยู่แล้ว

ไม่รู้ไม่ชี้...แม้จะคิดว่าไม่ดี...แต่ก็ยังดีกว่าการที่เรา

ไม่รู้แต่ชี้...ผลกระทบมันมีมากมาย

เค้าอุตส่าห์เคารพเรา มาเชื่อเรา แต่เรากลับไปทำลายเค้า โดยชี้ทางที่ผิดให้ อย่างงี้สู้ไม่รู้ไม่ชี้ยังจะดีกว่า

ขอบคุณป้า ป้าผู้มากด้วยธรรมะ สุดยอดป้า.......


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2025, 20:15 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ธาตุสามารถโน้มไปน้อมมาได้

“การที่เราจะรู้ว่าทำไมข้าวฟ่างจึงชอบกินข้าวฟ่าง เราต้องกลับมาพิจารณาดูที่ตัว ข้าวฟ่างเสียก่อนว่า ตัวข้าวฟ่างประกอบไปด้วยอะไรบ้าง หรือพูดให้ง่ายๆ ก็คือ หาสิ่งที่มาประกอบเป็นชีวิตของข้าวฟ่างนั่นเอง”

พิสมัยมาถึงก็บรรเลงฉากแรกซะยาวเลย สงสัยจะอายข้าวฟ่างกระมัง ที่หายไปเสียตั้งสองฉาก ปล่อยให้ข้าวฟ่างเงอะๆ งะๆ บรรเลงคนเดียว เลยขู่ข้าวฟ่างโดยการเอาเรื่องที่ชวนเวียนหัวสำหรับข้าวฟ่างมาพูดเลย

หาสิ่งที่มาประกอบเป็นชีวิตของข้าวฟ่าง ฟังดูแล้วมันก็คงยากที่จะเข้าใจ แต่ข้าวฟ่างก็คิดว่าถ้าฟังเรื่องนี้เข้าใจแล้ว เรื่องการนั่งสมาธิ หรือการทำจิตภาวนา ที่พิสมัยแอบกระซิบไว้ก่อนว่าจะเล่าให้ฟังในตอนต่อๆ ไป ก็จะง่ายขึ้น เพราะเราทราบทฤษฎี เมื่อทราบทฤษฎีแล้ว เราก็จะปฏิบัติได้เร็วขึ้น เพราะเราได้ทางลัดมาทำแล้ว

เรื่องทฤษฎีกับปฏิบัตินี้ ข้าวฟ่างปิ๊งเลยว่า ใช่เลย ทฤษฎีกับปฏิบัติมันจะต้องไปด้วยกันอยู่แล้ว เพราะถ้า “บ้าทฤษฎี ไม่มีทำ พร่ำแต่คิด สุดวิลิศมาหรา, มันจะยุ่ง มุ่งแต่ทำ มัวพร่ำบ่น คงพ่นพิษ เพราะมันผิดทฤษฎี”

ฟังดูแล้วมันก็คล้องจองกันดี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ข้าวฟ่างคิดว่าคำที่จะให้เข้ากับเรื่องนี้ดีที่สุด ก็คงเป็นคำในพุทธศาสนาที่ว่า ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ นั่นเอง ข้าวฟ่างอยากจะได้ ปริยัติด้วยแล้วก็ปฏิบัติด้วย เพื่อจะได้ปฏิเวธ ข้าวฟ่างก็เลยลองพยายามตั้งใจฟังดู ได้ยินเสียงพิสมัย เจื้อยแจ้วต่อไปว่า

“ข้าวฟ่างจะต้องยอมรับเสียก่อนว่า สิ่งต่างๆ จะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ล้วนประกอบไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า ธาตุ โดยให้คำว่าธาตุหรือ ธา-ตุ เป็นคำสุดท้ายของการที่จะแยกมันได้ก็แล้วกัน”

คือแยกออกไปเป็นส่วนๆ เล็ก เล็ก เล็ก ลงไป แล้วก็จะลงไปสิ้นสุดกันที่ธาตุก็พอ เพราะอุปกรณ์การแยกแยะในสมัยโบราณมันไม่ได้ละเอียดมากมายดังเช่นในปัจจุบัน

สรุปก็คือ ธาตุ คือทุกสิ่งที่กำลังเป็นตัวเรา อยู่ภายในกายของเรา หรือทุกสิ่งที่กำลังเป็นตัวข้าวฟ่าง อยู่ภายในกายข้าวฟ่าง ย้ำว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นตัวข้าวฟ่าง อยู่ภายในกายข้าวฟ่าง และทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ภายนอกกายข้าวฟ่าง ที่แวดล้อมตัวของข้าวฟ่างอยู่

“นี่คือธาตุ”

ข้าวฟ่างได้ยินเสียงพิสมัยเล่าแว่วๆ มา ข้าวฟ่างชักตาปรือแล้ว ง่วงแล้ว ฟังก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร จะถามพิสมัยก็เกรงใจตามแบบวัฒนธรรมไทยๆ เรา คิดว่าฟังๆ ไปสักพักก็คงจะเข้าใจเอง ถ้าตั้งใจฟัง

คำว่า ธาตุ มีรากมาจากคำว่า ธร ทอธงกับรอเรือ ที่ทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเป็นคำที่ตรงกัน แปลว่า ทรง คำว่าทรงนี้อาจจะมองได้สามมุมคือ ทรงตัวมันเอง ไปทรงสิ่งอื่น หรือถูกสิ่งอื่นทรงไว้อีกทีหนึ่ง เราเรียกว่าธาตุทั้งหมด

ฟังๆ ดูมันเป็นภาษาที่น่าเวียนหัวจริงๆ ข้าวฟ่างเองก็ชักมึนๆ แต่พอเข้าใจเอาในเบื้องต้นไว้ก่อนว่า ให้ถือเอาตามความหมายของมันว่า ถ้ามันมีสิ่งที่ทรงตัวเองได้ และสัมพันธ์กันอยู่ มันก็จะทรงหมู่หรือทรงกลุ่มนั้นไว้ได้ เราเรียกว่ามันไว้ก่อนว่า ธาตุ

“หรือถ้าเราดูอีกแบบหนึ่ง มันอาจจะชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ เราจะแบ่งธาตุออกเป็นสองประเภท หรือ สองแบบ” พิสมัยบอก

แบบแรกคือ ธาตุที่ทรงอยู่ได้ด้วยการไหลเวียนเปลี่ยนแปลง เพราะมีอะไรมาปรุงแต่ง (สังขตธาตุ) กับแบบที่สองคือ ธาตุที่ทรงอยู่ได้ ด้วยการไม่ไหลเวียนเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรปรุงแต่ง (อสังขตธาตุ)

พวกหลังนี้คือนิพพานธาตุ ธาตุแห่งความดับเย็น คือเป็นธาตุที่ดับแล้ว เลยเย็น หรือเป็นที่ดับเย็นของกิเลส ก็ได้ เมื่อเย็นแล้วเอาอะไรร้อนๆ หยอดตุ๋มลงไป เย็นหมด

เคยได้ยินท่านพระครูเกษมธรรมทัตเจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์จังหวัดอยุธยา เทศน์ไว้ว่า

“นิพพาน แปลว่า เย็น”

ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมง่ายๆ ว่าน้ำแข็งนี่มันเย็น แล้วเอาอะไรดี อ่ะ หยอดลงไป สมมติเอา น้ำหวานรึอะไรก็ได้ หยอดลงไป น้ำหวานมันก็เย็นตามน้ำแข็ง มันเลยเย็นด้วยกันทั้งคู่ คือน้ำมันหวานด้วย น้ำมันเย็นด้วย อย่างนี้เราเลยเรียกมันว่าน้ำหวานเย็น หรือเรียกว่าน้ำหวานนิพพานก็ได้ เพราะรากศัพท์ของคำว่านิพพานในภาษาบาลีแปลว่าเย็น แปลว่าสงบ แปลว่าดับ นิพพานัง ปรมัง สุขขัง ความดับเย็น เป็นความสุขอย่างยิ่ง

เราทำอย่างไรก็ได้ ปฏิบัติอย่างไรก็ได้ หรือนั่งสมาธิก็ได้ จนเราเย็นแล้ว หรือนิพพานแล้ว หรือ คเว็นล (Quench) แล้ว อารมณ์ร้อนอย่างไรเข้ามาหาเรา มันก็เย็นหมด ทั้งตัวเราแล้วก็คนที่แวดล้อมเรา

ลองดู ลองนั่งสมาธิดู แต่ต้องนั่งให้ผ่านจุดๆ หนึ่ง หรือ เบาน-ดรี (Boundary) ใด Boundary หนึ่งไปนะ กี่วัน กี่เดือน กี่ปีก็แล้วแต่แต่ละคน เรื่องอย่างนี้เราก็พิสูจน์เองได้ มันเป็นวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้

แต่ตอนแรกๆ เราก็ไม่ต้องนึกถึงนิพพงนิพพานอะไรหรอก เอาแค่ลูกหลานเหลนโหลน ของนิพพาน คือนิพพุติก่อนก็ได้ นิพพุติก็แปลว่าเย็นเหมือนกัน คล้ายๆ ลองนิพพานดูก่อน เป็นนิพพานชิมลองก็ได้ นั่งสมาธิไม่นานหรอกได้ทุกคน คือได้ชิมลอง ได้นิพพานชิมลองกันทุกคน คือได้นิพพานไปชิมไปลองกันหมดทุกคน โดยถ้วนหน้า

อ้าว เป็นอย่างนี้เองเหรอ ข้าวฟ่างไม่รู้เรื่องเลย ได้ยินแต่ว่าการศึกษาพุทธศาสนา เขามุ่งนิพพานกัน มุ่งหลุดพ้นกัน ข้าวฟ่างก็ศึกษาไปเรื่อยๆ ฟังไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่รู้หรอกว่า เขามุ่งไปสู่นิพพานกันอย่างไร ตอนแรกก็คิดว่าตายแล้วจึงไปนิพพาน ให้เย็นแบบนี้เองเหรอ ได้ยินเสียงพิสมัยเล่าแว่วๆ ต่อว่า

“ส่วนธาตุที่ทรงตัวอยู่ได้ด้วยการไหลเวียนเปลี่ยนแปลง เพราะมีอะไรมาปรุงแต่ง ที่พอมีอะไรมาปรุงมาแต่งแล้วมันก็เนื่อง..เนื่องกันไปเรื่อยๆ ก็ยกตัวอย่างข้าวฟ่างนี่แหละ”

ข้าวฟ่างอาศัยอยู่ในจักรวาล ที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง โลกก็หมุนรอบตัวเองด้วย หมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วย มันไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตัวข้าวฟ่างที่นั่งฟังพิสมัยเล่าเรื่องอยู่บนโลกก็ต้องหมุนรอบแกนของโลกด้วย แล้วก็หมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วย ตัวของข้าวฟ่างก็ต้องไหลเวียนเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ด้วย นี่เป็นการดูภายนอก

ถ้าดูภายใน ในขณะที่ข้าวฟ่างนั่งฟังพิสมัยเล่าเรื่องธาตุอยู่บนโลกที่หมุนรอบดวงอาทิตย์อยู่นี้ ในตัวของข้าวฟ่างก็ต้องมีการหายใจเอาออกซิเจนเข้าไปเป็นเชื้อ สำหรับเผาผลาญธาตุต่างๆ ในร่างกาย เพื่อให้เกิดพลังงาน ทำให้เลือดลมเดินไหลเวียนในร่างกาย นี่เป็นการไหลเวียนเปลี่ยนแปลงภายในร่างกาย เพราะมีอะไรมาปรุงแต่ง

ถ้าไม่มีออกซิเจนเข้าไปไหลเวียนเปลี่ยนแปลง แล้วเข้าไปปรุงแต่งให้กลายมาเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาแล้ว ข้าวฟ่างก็จอดป้าย เข้าโลงเรียบร้อยโรงเรียนจีนเหมือนกัน หรือถ้าโลกหยุดหมุน ข้าวฟ่างก็จอดป้ายเหมือนกัน

มันเป็นเรื่องธรรมดา ภาษาพระเขาบอกว่า ตถตา คือมันเป็นเช่นนั้นเอง ทุกสิ่งทุกอย่างมันต้องเนื่องกันไปอยู่ตลอดเวลา มันเป็นธรรมะ

“นี่ แถวๆ นี้ขีดเส้นสีแดง สีเขียว สีเหลือง หรือสีอะไรก็ได้ไว้เลยนะ มันจะสำคัญตอนที่เราจะฝึกสมาธิกันตอนหลัง” พิสมัยกำชับข้าวฟ่าง

สรุปก็คือ ในตัวของข้าวฟ่างนี้จะมีธาตุอยู่ตามที่เคยเล่ามาแล้ว ถ้าเรามองแบบวิชาชีวเคมี รึ ไบโอเคม (Biochemistry) ที่เคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเป็นหลัก ตัวข้าวฟ่างนี้ก็จะมีธาตุต่างๆ ที่สำคัญ จำนวน 6 ธาตุ คือ ออกซิเจน คาร์บอน ไฮโดรเจน ไนโตรเจน แคลเซี่ยม ฟอสฟอรัส อยู่ถึงร้อยละ 99

แต่ถ้าเรายึดเอาตามแนวธรรมะในพระพุทธศาสนาเป็นหลักแล้ว ตัวข้าวฟ่างก็จะประกอบไปด้วยธาตุต่างๆ 6 ธาตุ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสธาตุ แล้วก็วิญญาณธาตุ

โดยข้อเท็จจริงแล้ว ถ้าเรามองในภาพใหญ่ ทั้งสองแบบคือทั้งแนวไบโอเคมแล้วก็แนวของธรรมะในพระพุทธศาสนา ตัวของข้าวฟ่างก็จะประกอบด้วยธาตุเหมือนกัน แถมมี 6 ธาตุเหมือนกันซะอีก แต่ในรายละเอียดที่เกี่ยวกับธาตุ เราอาจสมมติชื่อธาตุต่างกัน เหมือนเราสมมติชื่อพืชชนิดหนึ่งว่า ข้าวฟ่างไม้กวาด แต่ฝรั่งกลับไปสมมติชื่อว่าเป็นข้าวโพดไม้กวาด อย่างนั้นแหละ

“แต่ความจริงแล้ว มันเป็นสิ่งๆ เดียวกัน มันเป็นเรื่องของการสมมติชื่อที่ทำให้ข้าวฟ่างเข้าใจสับสนแล้วก็งงไม่รู้เรื่อง ใครจะว่าอะไรก็จะเถียงสะบัด” พิสมัยได้ที เลยอธิบายใหญ่

เรื่องงงนี้ ข้าวฟ่างงงมาตั้งแต่ได้ยินคำว่าธาตุดินแล้ว ถ้าพูดถึงดิน ข้าวฟ่างเคยได้ยินนักการเมืองพูดตอนปราศรัยหาเสียงกับประชาชนว่า

“เราจะต้องรักษาผืนแผ่นดินของเราไว้” พูดพลางก็ชี้ไปที่พื้นดินที่ตนยืนอยู่ ข้าวฟ่างก็เลยจำไว้เลยว่า ดินก็หมายถึงพื้นดินที่ข้าวฟ่างยืนอยู่นี่แหละ

พอข้าวฟ่างมาเรียนในวิชาดิน หรือวิชาปฐพีวิทยา ครูท่านก็สอนอีกนั่นแหละว่า

“ถ้าข้าวฟ่างจะปลูกข้าวฟ่างไว้กินโดยใช้ที่ดินน้อยๆ แต่ให้ผลผลิตมากๆ แล้ว หลักๆ ก็จะต้องดูสองอย่างก็คือ”

ดูความอุดมสมบูรณ์ของดิน หมายถึงคุณสมบัติของดินในการที่จะให้ธาตุอาหารที่จำเป็น แก่การเจริญเติบโตของข้าวฟ่าง ในปริมาณและอัตราส่วนที่เหมาะสม ( Soil fertility)

อีกอย่างก็คือ ดูความสามารถในการให้ผลผลิตของดิน ที่หมายถึงความสามารถของดิน ในการให้ผลผลิตข้าวฟ่างได้ภายใต้การดูแลรักษาในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หรือพูดง่ายๆ ว่า เหมาะที่จะปลูกข้าวฟ่างดีหรือไม่ (Soil productivity)

ข้าวฟ่างก็รู้มาแบบเนี๊ยะ พอมาฟังเรื่องดินในการศึกษาธรรมะ เลยชักสับสน

พิสมัยกลัวว่าข้าวฟ่างจะสับสนจนกระทั่งเลิกกิจการศึกษาธรรมะไปเสียก่อน ก็เลยรีบอธิบายให้ข้าวฟ่างฟังว่า

“ดินที่ข้าวฟ่างเม้าไปเม้ามา ว่าเรียนมา ว่ารู้มาเนียะ มันเป็นการดูที่ตัวดิน ตัวเนื้อดิน ตัววัตถุดิน พูดง่ายๆ ก็คือ ดูตัวออบ-เจ็คท (Object) ของมัน แต่ในทางธรรมะเขาดูอีกแบบหนึ่งคือ ถ้าพูดถึงธาตุดิน เขาจะดูถึงคุณลักษณะของมัน (Characteristic)”

ถ้าพูดถึงธาตุดินในทางธรรมะ เราจะหมายถึงคุณลักษณะของมัน คุณลักษณะของมันก็คือมันเป็นของแข็ง มันจึงกินเนื้อที่ มันจะยึดกันเป็นโครงสร้างที่เป็นของแข็งขึ้นมา สังเกตได้จากพวก ผม เล็บ ฟัน หนัง อะไรพวกนี้ อย่างผมมันก็มีทั้งส่วนที่เป็นของแข็ง แล้วก็มีพวกน้ำ พวกไขมันและอื่นๆ ผสมปนเปกันรวมกันอยู่ ไปอธิบายว่าผมเป็นธาตุดินอย่างนี้ไม่ถูกต้อง มันถูกเถียงได้

พูดถึงตรงนี้ ข้าวฟ่างปิ๊งเลย เพราะตอนเรียนวิชาปฐพีวิทยา ครูท่านสอนว่า

“ถ้าเราดูดินตามส่วนประกอบของดิน (Soil component) ก็จะเห็นว่า ส่วนของดินที่มีความเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชมี 4 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนอนินทรียวัตถุ (Mineral matter) เช่นพวกชิ้นเล็กชิ้นน้อยของพวกแร่และหินต่างๆ ส่วนอินทรียวัตถุ (Organic matter) คือพวกเศษพืชและสัตว์ที่สลายตัวทับถมกันอยู่บนดิน ส่วนน้ำ (Water) ก็พบอยู่ระหว่างก้อนดิน และส่วนอากาศ ที่เป็นส่วนที่ว่างในดินและระหว่างก้อนดิน (Pore) โดยมีสัดส่วนรวมของส่วนที่หนึ่งกับส่วนที่สองประมาณร้อยละ 50 โดยปริมาตร ส่วนที่เหลือเป็นส่วนของช่องว่างคืออากาศ และส่วนของน้ำ”

นี่แสดงว่า ดินในวิชาปฐพีวิทยาที่ข้าวฟ่างเรียนมา ก็มีทั้งดิน หิน อากาศ น้ำ เวลาเขาจะใช้ประโยชน์ เอาไปปลูกพืช เขาก็ต้องดูคุณลักษณะของมันไม่ใช่ดูที่ตัวดินเหมือนที่นักการเมืองชี้ให้ดู นักการเมืองกับนักวิชาการบางครั้งก็อาจมองกันคนละมุม

ส่วนธาตุดินที่คนส่วนมากพูดถึง ว่ามีลักษณะแข็ง เช่น ผม อย่างนี้ก็ไม่ใช่ เพราะมันก็ไม่ได้มีส่วนที่แข็งอย่างเดียว อย่างเช่น เวลาข้าวฟ่างซื้อยาสระผม เขาก็โฆษณาว่า แบบนี้เหมาะสำหรับใช้กับผมแห้ง แบบโน้นเหมาะสำหรับใช้กับผมมัน แสดงว่าผมมันก็ต้องมีน้ำหรือน้ำมันผสมอยู่ด้วย ไม่ใช่มีธาตุดินธาตุเดียว มันมีหลายธาตุ

เพราะฉะนั้น เวลาเราจะใช้ประโยชน์ เช่นเวลาเราจะนั่งสมาธิให้ได้ผลสูงสุดเราก็ต้องดูที่คุณสมบัติของมัน ( Characteristic)

ได้ยินเสียงพิสมัยเล่าต่อว่า

“ถ้าเป็นธาตุน้ำ จะมีคุณสมบัติอ่อนตัว แต่ก็เกาะกุมกันอยู่ มันจึงเป็นของเหลว ไหลไปไหลมาได้ เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ สังเกตได้จากพวก เลือด หนอง และอื่นๆ แต่มันก็ไม่ใช่ตัวเลือดตัวหนอง เพราะมันก็จะมีพวกธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม รวมอยู่ด้วย”

ถ้าพูดถึงธาตุไฟ เราไม่ได้พูดถึงตัวเปลวไฟที่ถูกจุดขึ้นโดยตัวฟืน แต่พูดถึงคุณสมบัติที่ร้อนของมัน ที่มีอุณหภูมิ คุณสมบัติของมันนี่สามารถจะเผาสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ โดยไม่ต้องใช้เปลวไฟ อาจเผาจิตเผาใจของเราก็ได้ บางทีใจเราร้อนเป็นไฟเลย ไม่เห็นมีเปลวไฟมาเผาเลย หรือตอนเราปากเป็นแผล ไปหาหมอสมัยโบราณเขาก็บอกว่าร้อนใน ข้างในตัวเราไม่เห็นมีเปลวไฟเลย

ส่วนธาตุลม เราก็พูดถึงคุณสมบัติที่ระเหยได้ เคลื่อนไหวได้ ลอยไปลอยมาอยู่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายถึงตัวลม แต่หมายถึงคุณสมบัติอย่างนั้น ถ้าไปหาหมอไทยให้บีบนวด หมอจับเส้นโน้นไปจับเส้นนี้มา จับเสร็จหมอหันมาบอกว่า เลือดลมไม่ดี แสดงว่าลมมันเคลื่อนไหวพาเลือดไปไม่ดี ไม่ใช่ลมพัดไม่ดีในร่างกาย

ถ้าตัดเนื้อคนมาวางไว้ซักก้อนนึง มันก็จะมีส่วนที่เป็นของแข็งที่เป็นใยเนื้อเกาะกันอยู่ นี่ก็เป็นพวกลักษณะของธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลวก็เช่นเลือด เป็นต้น ก็เป็นลักษณะของธาตุน้ำ ที่มันมีคุณสมบัติที่ทำให้มันเกิดการยึดกัน ธาตุไฟ มันก็มีความอบอุ่น เป็นอุณหภูมิระดับหนึ่ง แล้วแต่มันจะเม็ตตาโบลิซี่มมากน้อยขนาดไหน ถ้าทิ้งไว้นานๆ มันก็เย็น คนตายตัวเย็นเลยเพราะธาตุไฟดับ ส่วนธาตุลมก็พวกกลิ่น พวกแก๊สที่ลอยอยู่ มันก็ผสมปนเปกันไป มันอยู่กันแบบองค์รวม

สี่ธาตุที่ว่ามานี้เป็นฝ่ายวัตถุ หรือฝ่ายรูปธรรม มันเป็นส่วนประกอบของชีวิตที่เป็นส่วนของรูปธรรมคือร่างกาย

ธาตุที่ 5 เรียกว่าอากาสธาตุ อากาสธาตุหรืออากาศธาตุก็ได้ แล้วแต่จะเขียนแบบบาลีหรือสันสกฤต เห็นหนังสือส่วนใหญ่ของท่านอาจารย์พุทธทาสแห่งสวนโมกขพลาราม จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขียนว่า อากาส

อากาสธาตุ แปลว่าที่ว่างสำหรับให้สิ่งต่างๆ อาศัยอยู่ อากาสธาตุนั้นมีคุณสมบัติว่าง ให้สิ่งอื่นเข้าไปอาศัยได้ ถ้ามันมีอะไรอยู่เต็มแล้วสิ่งอื่นก็เข้าไปอยู่ไม่ได้ โลกที่เราอยู่นี้ ก็ตั้งอยู่บนที่ว่างหรืออากาสเหมือนกัน

ธาตุสุดท้ายคือ วิญญาณธาตุ หรือธาตุจิตธาตุใจก็ได้ ธาตุนี้ไม่เหมือนสี่ธาตุข้างบน เพราะมันเป็นนามธาตุ ถ้ามันเป็นนามแล้วมันก็อยู่เองลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยรูปธาตุที่เล่ามาข้างบนเป็นที่ตั้ง หรือเป็นที่ทำงาน หรือเป็นออฟฟิศ ก็ได้

เพราะมันเป็นธาตุฝ่ายนามมันก็น้อมไปได้ มันรู้สึกนึกคิดไปได้ มันน้อมไปตามอารมณ์ที่มากระทบ เราก็เลยคิดแว็ปไปโน่น แว็ปมานี่อยู่เรื่อยไม่หยุดนิ่ง กำลังนั่งอ่านอยู่นี่ เดี๋ยวก็คิดแว็ปไปไหนแล้วไม่รู้ แต่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็น้อมมันไปในที่ๆ เราต้องการได้

ข้าวฟ่างเริ่มงงแล้วว่า อะไรน้อมอะไรกันแน่ ตอนแรกบอกว่าวิญญาณธาตุน้อมไปตามอารมณ์ พูดไปพูดมาพูดว่า เราไปน้อมอารมณ์ได้

พิสมัยดูท่าชักรำคาญข้าวฟ่าง เลยรีบตัดบทว่า

“เออน่า ตอนแรกวิญญาณธาตุมันน้อมไปตามอารมณ์ แต่พอเราฝึกนั่งสมาธิจนเข้าที่เข้าทางแล้ว วิญญาณธาตุมันก็ไปน้อมอารมณ์ได้ก็แล้วกัน”

“เดี๋ยวตอนนั่งสมาธิจะบอกละเอียดอีกครั้ง รับรองได้เลยว่าถึงตอนนั้นไม่สงสัยเลย รู้เรื่องเลย ภาษาบาลีเขาบอกว่ามันเป็น สันทิฏฐิโก แปลว่ารู้เห็นได้ด้วยตนเอง อย่างที่ข้าวฟ่างเคยได้ยินในบทสวดมนต์อย่างนั้นแหละ ที่เล่ามาให้ฟัง 6 ธาตุนี่เราไม่ได้ยกเมฆขึ้นมาเองนะ”

พิสมัยรีบบอกข้าวฟ่าง เพราะกลัวข้าวฟ่างจะดักคอ

“มันอยู่ในบาลีที่ท่านเขียนไว้ว่า ดูก่อน ภิกษุ บุรุษหรือคนเรานี้ ประกอบไปด้วยธาตุ 6 อย่าง (ฉ ธาตุโย อะยัง ภิกขุ ปุริโส)”

“เมื่อมีการประชุมพร้อมกันสมบูรณ์ครบถ้วนตามสัดส่วนของธาตุทั้ง 6 อย่างแล้ว ก็จะเกิดสิ่งที่มีชีวิตขึ้นมา หรือเกิดคนขึ้นมา หรือเกิดข้าวฟ่างขึ้นมานั่นเอง”

พิสมัยรีบสรุปตัดบท


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ม.ค. 2025, 22:00 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วิญญาณธาตุก่อให้เกิดอายตนะที่เป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราวของมนุษย์

“ธาตุ จะเปลี่ยนชื่อมาเป็นอายตนะได้หรือไม่”

อยู่ๆ พิสมัยก็ถามข้าวฟ่าง ข้าวฟ่างก็งงน่ะซิ

พิสมัยเลยถามใหม่ว่า

“ย้ายธาตุที่ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน มาอยู่ในบริเวณเดียวกัน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นอายตนะอย่างนี้ได้หรือไม่”

ข้าวฟ่างก็ยังงงอีก ไม่รู้เรื่อง

พิสมัยคงเคยนั่งสมาธิมาได้ระดับหนึ่งแล้ว ใจเย็น เลยถามใหม่ว่า

“ย้ายพวกเซลล์ต่างๆ ของข้าวฟ่างที่ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน มาอยู่ในที่เดียวกัน เช่น เซลล์ที่ทำหน้าที่ประสาทสมอง ก็มารวมกันที่สมอง แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็นเซลล์สมอง หรือย้ายพวกเซลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการมองเห็น มาอยู่ในที่ตาของข้าวฟ่าง แล้วเรียก ดวงตาอย่างนี้ได้หรือไม่”

เอ๊ะ อย่างนี้ชักจะเข้าเค้า ต้องเทียบเคียงกับวิชาวิทยาศาสตร์ที่เคยเรียนมาจากโรงเรียน ก็ได้ซิ เราพูดถึงเซลล์ เราก็พูดรวมๆ กันทั้งหมด แต่พอพวกที่ทำหน้าที่ที่เหมือนๆ กันไปอยู่ในที่เดียวกัน ก็เรียกว่าเชลล์สมอง เซลล์ดวงตา เซลล์แก้วตา แล้วก็เซลล์อะไรต่อมิอะไรอีกร้อยแปดจำพวก

“เหมือนกัน ธรรมชาติมันย้ายพวกธาตุที่ทำหน้าที่เหมือนๆ กัน ให้มาอยู่ในที่เดียวกันอย่างเช่นที่ตา จากธาตุเลยกลายมาเป็นจักขุธาตุ พอมันทำหน้าที่ เราก็เปลี่ยนชื่อให้มันใหม่ว่า จักขุอายตนะ”

แล้วข้าวฟ่างก็งงอีก จักขุ แปลว่าตา ธาตุ แปลว่าส่วนที่เป็นรากฐาน จักขุธาตุ คือส่วนที่เป็นรากฐานของตา

ธรรมชาติเอาพวก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ทั้ง 6 ธาตุ ผสมคลุกเค้ากันไปตามสัดส่วนของมันจนเป็นดวงตา เป็นธาตุที่เกี่ยวกับตา หรือ จักขุธาตุ อย่างนี้ ข้าวฟ่างพอยอมรับได้ แล้วอายตนะมันเกี่ยวอะไรด้วย พิสมัยพูดมาทำไม

ข้าวฟ่างถนัดทางท่อง ท่องตะพึดตะพือ ขนาดตารางธาตุตั้งร้อยกว่าธาตุ ข้าวฟ่างยังท่องได้เลย ท่องจนครูรำคาญ เลยให้ข้าวฟ่างสอบผ่าน พอมาศึกษาเรื่องอายตนะ พิสมัยก็ให้ข้าวฟ่างท่องอีก

“พอพูดถึงอายตนะ ก็ต้องแปลว่า ทางมา ที่มา หรือบ่อเกิดแห่งเรื่องราว หรืออาจจะแปลว่า ที่ต่อ หรือแดนต่อ หมายถึง ที่ต่อกันทำให้เกิดความรู้ หรือแดนเชื่อมต่อให้เกิดความรู้ก็ได้ แต่ตอนนี้แค่ท่องว่า อายตนะหมายถึง บ่อเกิดแห่งเรื่องราว ก็พอ”

แล้วพิสมัยก็เล่าต่อว่า

“อายตนะก็มี 6 อย่าง ภาษาไทยเรียกว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างนี้เรียกว่า อายตนะภายใน หรือแดนต่อความรู้ภายใน หรือ บ่อเกิดแห่งเรื่องราวภายใน”

ส่วน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แล้วก็ ธรรมารมณ์ ก็เป็นอายตนะภายนอก หรือแดนต่อความรู้ภายนอก อย่างโผฏฐัพพะ นี่อ่านดูแล้วชื่อแปลกๆ ข้าวฟ่างก็ต้องท่องคำแปลด้วย คือแปลว่า สิ่งที่มากระทบผิวหนัง ส่วนธรรมารมณ์ นั้น ก็คือ สิ่งที่เป็นความรู้สึกทางใจ ทำให้เกิดวิญญาณ หรือ มโนวิญญาณขึ้นมาที่ฝ่ายใจ

อายตนะภายนอก เราอาจแปลว่ายินดีทั่วก็ได้ สรรพสิ่งทั้งหลายรอบๆ กายเราเป็นสิ่งที่น่ายินดีทั่ว เราไปเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีทั้งภูเขา น้ำตก อากาศดีสูดหายใจได้เต็มปอด เราก็ชอบมันยินดีกับมัน ให้เราไปอีกเราก็จะไปอีก สรรพสิ่งรอบๆ กายเรามันน่ายินดีทั่วไปหมด

หรือบางทีเราอาจแปลคำว่าอายตนะภายนอกว่า อารมณ์ ก็ได้ คือเวลาเรานั่งสมาธิ เราจะเรียกพวกนี้ว่า อารมณ์ เรานั่งสมาธิโดยใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์ อย่างนี้ก็ได้ ยิ่งอากาศดีๆ มีออกซิเจนแยะๆ อย่างเขาใหญ่อย่างนี้ยิ่งดีใหญ่ อารมณ์คือสิ่งที่จิตรับรู้ หรือ จิตคือธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ มันก็เหมือนกัน แล้วแต่ว่าเราจะมองออกไป หรือ มองเข้ามา

อารมณ์ตัวนี้ไม่ใช่อารมณ์ในภาษาที่เราเคยพูดๆ กันที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Emotion นะ แต่อารมณ์ตัวนี้เป็นอารมณ์ในภาษาธรรมะหรือใช้ภาษาอังกฤษ แทนว่า Object

พิสมัยบอกต่อว่า

“ถ้าจะให้ง่ายเขียนผังสรุปย่อแล้วอธิบายมันน่าจะง่ายดีกว่า เพราะมันจะเกิดเป็นเรื่องเป็นราว หรือบ่อเกิดแห่งเรื่องราว เป็นอย่างๆ ไป”

ว่าแล้วก็หันไปที่กระดานเขียนผังย่อไว้ดังนี้

ตา(จักขุ) กระทบ รูป(รูป) เกิด จักขุวิญญาณ(เห็น)
หู(โสต) กระทบ เสียง(สัททะ) เกิด โสตวิญญาณ(ได้ยิน)
จมูก(ฆานะ)กระทบ กลิ่น(คันธะ) เกิด ฆานวิญญาณ(ได้กลิ่น)
ลิ้น(ชิวหา) กระทบ รส(รส) เกิด ชิวหาวิญญาณ(รู้รส)
กาย(กาย) กระทบ สิ่งกระทบกาย(โผฏฐัพพะ) เกิด กายวิญญาณ(สิ่งที่ต้องกาย)
ใจ(มโน) กระทบ สิ่งกระทบใจ(ธรรมารมณ์) เกิด มโนวิญญาณ(รู้เรื่องในใจ)

ข้าวฟ่างเห็นที่พิสมัยเขียนแล้ว รู้สึกลานตาไปหมด มันแยะเกินไป ถ้าพิสมัยไม่เล่าอะไรต่อเพิ่มเติมบ้าง ข้าวฟ่างว่าข้าวฟ่างม้วนเสื่อกลับบ้านดีกว่า เรื่องอายตนะนี่มันคงยากเกินไปสำหรับข้าวฟ่างแล้ว

พิสมัยคงเข้าใจความรู้สึกของข้าวฟ่าง ว่าข้าวฟ่างเตรียมจะลาโรงแล้ว เลยเอาใจข้าวฟ่างว่า

“เนียะ ท่องแค่เนี๊ยะ เอาบรรทัดบนสุดบรรทัดเดียว ได้บรรทัดแรกแล้ว อีก 5 บรรทัดที่เหลือก็วิเคราะห์เอาเอง เพราะมันก็เหมือนๆ กัน”

เอ้า ท่อง

“ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ.....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ แล้วเดี๋ยวเข้าใจเอง มันเป็นสูตร เหมือนท่องสูตรคูณ ซองหนึ่งซอง...ซองซองสี่...ซองซามหก...ซองสี่แปด...ซองห้าสิบ..อย่างงั้นแหละ”

ข้าวฟ่างก็ท่องซิ ท่องแค่นี้สบายมาก ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ ...ท่องได้แล้ว ข้าวฟ่างรีบบอก

พิสมัยเล่าต่อว่า

“ตาเนียะ เรามองเป็นสองนัยยะ หรือสองมุมมองว่างั้นเถิด นัยยะแรกก็คือก้อนเนื้อที่เป็นลูกกะตา ส่วนอีกนัยยะหนึ่งก็คือ ตาที่มีประสาทมองเห็นด้วย ที่ภาษาบาลีใช้คำว่า ปสาท (ที่เราอ่านว่า ปะ-สา-ทะ : ประสาท แปลว่าสิ่งที่ทำให้รู้สึกได้)”

“ปกติแล้วถ้าไม่กระทบอะไรมันก็จะเป็นตาแบบแรก ก็คือลูกตา มันก็เป็นตาเฉยๆ ไม่เกิดทุกข์เกิดสุขอะไร หรือมันไปกระทบแล้วเราไม่ไปปรุงมันต่อ มันก็คล้ายไม่เห็นอะไร มันก็เป็นลูกตาเฉยๆ อยู่ดี คือมันเป็นธาตุตา หรือจักขุธาตุเท่านั้น”

ใช่แล้ว ข้าวฟ่างชักจะยอมรับ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ข้าวฟ่างอกหัก แฟนไปมีแฟนใหม่ ข้าวฟ่างเสียใจมากเลย มึนไปหมดเหมือนถูกค้อนทุบหัว คิดอะไรก็ไม่ออก เลยเดินไปเรื่อยๆ พอดีเกิดไปเดินผ่านเพื่อนอีกคนหนึ่ง ตาของข้าวฟ่างก็มองไปที่เพื่อนคนนี้แหละ แต่ข้าวฟ่างไม่รู้หรอกว่าเป็นเพื่อนคนนี้ มันเบลอไปหมด

เพื่อนคนนี้ตอนหลังโกรธกับข้าวฟ่างเลย หาว่าข้าวฟ่างหยิ่ง เดินผ่านไม่ทักไม่ทายกันเลย มองเห็นแล้วยังไม่ทัก ความจริงแล้วข้าวฟ่างมองไม่เห็นหรอก ตามันไม่ทำหน้าที่ของมัน มันก็เลยเป็นแค่ลูกตาเฉยๆ ตามแบบนัยยะแรก คือมองไปงั้นแหละ แต่ก็แยกไม่ออกว่าสิ่งที่ผ่านตาไปนั้นมันเป็นอะไร มันเลยไม่ใช่ตาที่มีประสาทมองเห็นและรับรู้ตามแบบนัยยะที่สอง

ตาแบบนัยยะแรก คือลูกตาเฉยๆ อย่างนี้เราอาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า จักขุธาตุก็ได้ คือมันเกิดจากส่วนผสมของพวก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ทั้ง 6 อย่างนี้ผสมปนเปกันไปตามสัดส่วนของมัน

หรือพูดตามแบบวิชาพันธุศาสตร์ที่เราเรียนมา เราก็ว่ามันตกทอดมาตามยีนของพ่อแม่ปู่ย่าตาทวด เลยทำให้ตาของข้าวฟ่างมีลักษณะเหมือนตาของมนุษย์อย่างนี้แหละ พวกนี้เป็นธาตุที่อยู่ในลักษณะที่มีรูป

เอาอีกแล้ว ธาตุที่อยู่ในลักษณะมีรูป แล้วพิสมัยเคยเล่าให้ข้าวฟ่างฟังหรือเปล่าเนียะ

พิสมัยได้ทีเลยบอกว่า

“เคยเล่าแล้ว ข้าวฟ่างจำไม่ได้เอง ตอนนั้นคงจะมัวใจลอยคิดถึงแฟนอยู่มั้ง บอกใหม่ก็ได้ ธาตุในคนเรามีอยู่ 6 ธาตุ (ฉะธาตุโย อะยัง ภิกขุ ปุริโส... : ดูก่อนภิกขุ บุรุษคือคนเรานี้ ประกอบด้วยธาตุหกอย่าง....)”

ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม พวกนี้จัดเป็นพวกรูปธาตุ ส่วนพวกอากาศธาตุเป็นธาตุกลางๆ แล้วก็วิญญาณธาตุจัดเป็นพวกอรูปธาตุ คือไม่มีรูปปรากฏให้เห็น หรือนามธาตุ หรือนามธรรม

กลุ่มนามหรือจิตเป็น Mentality หมายถึงนาม ส่วนรูปก็เรียกว่า Form รูปธรรมก็เรียก Corporeality สองอย่างหลังนี่ใกล้ๆ กัน รูป กับรูปธรรม

“คราวนี้กลับฐานเดิมใหม่ เดินต่อเดี๋ยวหลงทาง กลับฐานเดิมคือสูตรของเราใหม่ ท่องใหม่” พิสมัยบอก

“ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ .....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ...”

เมื่อกี๊นี้เราเล่าให้ข้าวฟ่างฟังแล้วว่า “ตาที่เป็นอายตนะภายใน มันมีสองนัยยะ คราวนี้เราจะเล่าต่อถึงคำว่ากระทบบ้าง”

กระทบ คือสัมผัส หรือในภาษาบาลีเรียกว่าผัสสะ อาจแบ่งเป็นสามประเภทคือ

กระทบตามธรรมชาติตามปกติ เช่นเราได้ยินเสียงนกหรือเสียงอะไรก็ได้ เราไม่มีความรู้สึกมากกว่าการได้ยิน ไม่เกิดเรื่องราวอะไร ไม่เป็นบ่อให้เกิดเรื่องราวอะไร

ประเภทที่สองคืออวิชชาสัมผัส เช่นเราเห็นรูปที่น่ารักหรือน่าเกลียด หรือรูปยั่วยวนอะไรก็ได้ เราคิดต่อเลย อย่างนี้อายตนะก็เป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราว คือนำไปปรุงต่อ อันนี้สำคัญ อาจก่อให้เกิดทุกข์เกิดสุขได้

ส่วนอันสุดท้ายคือ วิชชาสัมผัส คือมีสติ สัมปชัญญะอยู่ มีความรู้อยู่ แสดงว่าเราก็รู้แจ้งว่า อย่างนี้ดีอย่างนี้เสียอย่างไร วิชชาสัมผัสจึงไม่เป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราว เพราะเรารู้แล้ว

ท่องใหม่

“...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ...ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ....”

ตาไปแล้ว กระทบไปแล้ว คราวนี้มาถึงรูปกันบ้าง รูปมันอยู่ภายนอก เรียกเป็นอายตนะภายนอกก็ได้ รูปมันก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งที่อยู่ล้อมรอบตัวเรา พูดภาษาสมัยใหม่เขาก็บอกว่าเป็นสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบตัวเรา ก็ได้

“สมมติเรามองตาข้าวฟ่าง เป็นตามองตา ตาของข้าวฟ่างก็คือรูป ตาของเราก็คือตา ตาของเราก็เป็นอายตนะภายใน ตาของข้าวฟ่างก็คือรูปของเรา หรือเป็นอายตนะภายนอกของเรา เมื่อมันกระทบกัน เราเห็นแล้ว ท่าทางข้าวฟ่างตั้งใจฟังดีมากเลย”

พิสมัยเริ่มประจบข้าวฟ่าง เพราะเล่ามาถึงตอนนี้สังเกตเห็นว่าข้าวฟ่างชักง่วงแล้ว เพราะฟังไม่ค่อยเก็ท (Get) เท่าไร จึงพยายามเล่าลงไปในรายละเอียดเพื่อให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า

“ตามองตา อย่างนี้เป็นตาของเรากระทบรูป รูปก็คือตาของข้าวฟ่างหรือตัวของข้าวฟ่าง หรือท่าทางของข้าวฟ่าง”

ปรากฏการณ์อย่างนี้เกิดแล้ว เกิดจักขุวิญญาณ จักขุแปลว่าตา วิญญาณแปลว่ารับรู้ รวมกันเรียกว่าการรับรู้ทางตา อย่างนี้ตาเราเปลี่ยนชื่อเป็นอายตนะภายใน ตาของข้าวฟ่างหรือตัวของข้าวฟ่าง หรือลักษณะท่าทางของข้าวฟ่างก็เปลี่ยนชื่อเป็น อายตนะภายนอก

เมื่ออายตนะภายใน...กระทบ...อายตนะภายนอก ก็เกิดการรับรู้ทางอายตนะ อายตนะก็เกิดขึ้น แต่ถ้าจะให้ชี้ที่ตัวเราว่าอายตนะอยู่ตรงไหนแล้ว ก็ไม่มีส่วนไหนเลยที่เรียกว่าอายตนะ อายตนะเกิดขึ้นแป๊บเดียวแล้วมันก็หายไป เหลือแต่ลูกกะตา ซึ่งมันเป็นธาตุเฉยๆ ตามที่เราเคยเล่าให้ฟัง

เมื่อธาตุทั้งสามอย่างนี้พบกัน ท่านเรียกว่าผัสสะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ติณนัง ธรรมานัง สังคติ ผัสโส แปลว่า การกระทบกัน หรือความพบกัน หรือการประจวบกันระหว่างสิ่งทั้งสามคือ ตากับรูป และวิญญาณทางตา เรียกว่าผัสสะ เมื่อเกิดผัสสะ นั่นหมายถึงธาตุทั้งสามอย่างมันทำหน้าที่แล้ว

“ดังนั้น ผัสสะ จึงเป็นกริยาอาการ ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วทำให้ธาตุต่างๆ เปลี่ยนชื่อไป”

พิสมัยพยายามเน้นจุดนี้ แล้วย้ำต่อว่า

“เช่น จักขุธาตุ (ธาตุที่ประกอบเป็นตาของเรา) กระทบรูป (ธาตุที่ประกอบเป็นตัวของข้าวฟ่าง) เกิดจักขุวิญญาณธาตุ (ธาตุที่เกี่ยวกับการรู้เห็นทางตาของเรา)”

เมื่อเกิดผัสสะของสิ่งทั้งสามสิ่งนี้ มันก็จะเปลี่ยนชื่อไป เป็นตา (อายตนะภายในของเรา) กระทบรูป (อายตนะภายนอกของเรา หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ธาตุที่ประกอบเป็นตัวของข้าวฟ่าง) เกิด จักขุวิญญาณ (การรับรู้ทางตาของเรา)

“อย่างนี้เกิดแล้ว อายตนะภายใน กระทบอายตนะภายนอก เกิดจักขุวิญญาณ ที่ตาเรารู้เห็น อย่างที่เราเห็นนี่ เห็นข้าวฟ่างตั้งใจฟังมากเลย เราก็เลยเล่าใหญ่ มันจึงเกิดเรื่องราวให้เราอยากเล่า อายตนะ จึงมีความหมายว่า บ่อเกิดแห่งเรื่องราว ตามที่เราได้เกริ่นนำไปก่อนแล้ว”

พอฟังมาถึงช่วงนี้ ข้าวฟ่างเข้าใจแล้ว ของที่มีรากมาจากสิ่งๆ เดียวกัน อาจเปลี่ยนชื่อไปได้ อย่างเช่นเราปลูกฝ้าย หรือเราเรียกเต็มยศว่าเราปลูกต้นฝ้าย ตี๊ต่างว่า ปลูกปุ๊บให้ผลปั๊บ ผลของฝ้ายเราก็เรียกว่า สมอฝ้ายก็ได้ ผลฝ้ายก็ได้ หรือ Boll ก็ได้ มันเป็นสิ่งๆ เดียวกันแต่สมมติชื่อต่างกัน

ถ้าเราเอาสมอฝ้ายมาใส่เครื่องอิ้ว หรือเครื่องหีบฝ้าย เราก็จะสามารถแยกเมล็ดฝ้ายออกจากปุยฝ้าย

ถ้าเอาปุยฝ้ายไปปั่น มันก็จะได้เส้นด้ายจากฝ้าย

ถ้าเอาเส้นด้ายจากฝ้ายไปถักทอเป็นผืน ก็จะได้ผ้าฝ้าย

พอเราเอาผ้าฝ้ายมาตัดเป็นกางเกงสวมใส่ เราก็เรียกว่ากางเกง แต่ถ้าเอาไปตัดเป็นเสื้อสวมใส่ เราก็เรียกมันว่าเสื้อ ทั้งๆ ที่ทั้งเสื้อและกางเกงมันก็มาจากฝ้ายด้วยกันทั้งคู่

ที่ชื่อมันเปลี่ยนไปเพราะมันไปทำหน้าที่ต่างกัน ชื่อมันจึงเป็นเพียงสมมติ เพื่อสะดวกในการสื่อกัน ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ

เปลี่ยนชื่อจากฝ้ายมาเป็นกางเกง เพราะมันผ่านกระบวนการตัดเย็บนิดหน่อย เลยเปลี่ยนรูปมาเป็นกางเกง แล้วทำหน้าที่เป็นกางเกง เราเลยเรียกมันว่ากางเกง

พอกางเกงมันขาดแล้ว ใช้ไม่ได้แล้ว หมดหน้าที่ที่จะเป็นกางเกงของเราแล้ว เราก็เอามันไปเช็ดถูพื้น เราก็เลยเปลี่ยนชื่อมันเป็นผ้าขี้ริ้วซะเลย

ดังนั้น สรรพสิ่งทุกชนิดมันเปลี่ยนชื่อไปได้ เราสมมติชื่อมันไปตามหน้าที่ ที่มันเป็นอยู่

มันก็เหมือนกับธาตุ ที่ผ่านกระบวนการผัสสะ หรือกระบวนการกระทบกันนิดหน่อย มันก็เลยเปลี่ยนชื่อมาเป็นอายตนะขณะทำหน้าที่ของมัน

แล้วอายตนะพวกนี้มันจึงกลายมาเป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราว ที่เราจะต้องศึกษาและวิเคราะห์มัน ทำความเข้าใจกับมัน ด้วยประการฉะนี้แล


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2025, 16:48 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขันธ์ 5 เป็นกลไกของระบบการทำงานของมนุษย์


ข้าวฟ่างรู้จักกับคำว่า

“ขัน”

มาตั้งแต่ตอนเป็นเด็กแล้ว ในช่วงนั้น พอหม่าม้าของข้าวฟ่างพูดถึงขัน ข้าวฟ่างก็เข้าใจได้เลยว่ามันเป็นขันที่เรานำไปใช้ตักน้ำจากตุ่มมาใช้ทำอะไรก็ได้ ตามวัตถุประสงค์ของเรา

โตขึ้นมาหน่อย ตอนข้าวฟ่างแกงไก่ พอข้าวฟ่างคั่วน้ำพริกแกงกับน้ำกะทิและเนื้อไก่จนได้ที่แล้ว ข้าวฟ่างก็เอาขันนี่แหละ ไปตักน้ำมาจากตุ่มแล้วเทใส่กระทะที่กำลังคั่วแกงไก่อยู่

ขันอย่างนี้ ข้าวฟ่างฟังแล้วเข้าใจ ให้ข้าวฟ่างชี้ว่าขันอยู่ที่ไหน ข้าวฟ่างชี้ถูก เพราะมันเป็นรูปธรรม เห็นชัดเลยว่ามันวางอยู่ตรงไหน บริเวณใด

พอข้าวฟ่างเริ่มเข้ามาศึกษาธรรมะ ข้าวฟ่างได้ยินคำว่า

“ขันธ์”

ข้าวฟ่างก็เริ่มงง จับต้นชนปลายไม่ถูก ยิ่งอ่านไปอ่านมาพบว่า คนเราประกอบไปด้วยขันธ์ 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้ว ข้าวฟ่างก็ชักสับสนหนัก ไม่รู้ว่าขันธ์ มันอยู่ส่วนไหนของร่างกายกันแน่

รูปพอรู้ ก็โครงสร้างที่เป็นตัวคนนี่แหละ พอชี้ได้ แต่อีก 4 ตัวที่เหลือ ข้าวฟ่างชี้ไม่ได้ ไม่รู้ว่ามันอยู่ส่วนไหนของร่างกาย

“เราไม่สามารถชี้ได้” พิสมัยบอก

“สี่ตัวที่เหลือมันเป็นนามธรรม เรามองไม่เห็นมัน แต่มันก็ทำงานกันอยู่ในรูปนี่แหละ เรามองไม่เห็นมันเท่านั้น ตัวรูปที่เป็นรูปธรรมมันบังอยู่”

เปรียบง่ายๆ ก็คือ ตัวรูปมันก็เหมือนกันกับออฟฟิศ (Office) ที่เป็นอาคารที่ทำงาน ส่วนภายในออฟฟิศมันก็มีพวกคนที่ทำงานกันอยู่ แล้วก็อุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการทำงาน ทั้งคนทั้งอุปกรณ์มันก็ทำงานกันอยู่ในออฟฟิศนี่แหละ แต่เวลาเรามองจากภายนอก เราจะมองไม่เห็นเขากำลังทำงานกัน เราจะมองเห็นแต่ตัวออฟฟิศ

เปรียบได้กับพวก เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นี่ก็คล้ายกันกับพวกคนและอุปกรณ์ต่างๆ ในออฟฟิศนั่นแหละ เพราะเวลาพวกนี้เขาทำงานกัน เรามองไม่เห็น

ความจริง ออฟฟิศ เขาก็ไม่ได้ทำงานกันตลอด 24 ชั่วโมง ทำงานกัน 8 ชั่วโมงก็หยุดแล้ว ภายใน ออฟฟิศมันก็เงียบสงบ เราดูอยู่ภายนอกก็เห็นออฟฟิศตั้งอยู่เฉยๆ

ขันธ์ก็เหมือนกัน บางช่วงเราจะเห็นแต่รูปขันธ์เฉยๆ ภายในมันไม่ทำงาน เมื่อเป็นเช่นนี้มันก็อยู่ในภาวะสงบเงียบ ดูได้จากช่วงตอนเรานอนหลับ หรือนั่งสมาธิได้จนถึงจุดๆ หนึ่ง ผลของมันก็คือความสงบ ถ้ามันสงบแล้วเราก็จะสบาย ที่มันสบายเพราะขันธ์หลายส่วนมันไม่ทำงาน หรืออาจพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า ขันธ์มันไม่ทำหน้าที่ของมัน

“ในการศึกษาธรรมะ มันมีหลักพิเศษอยู่หลักหนึ่งว่า เมื่อสิ่ง...สิ่งนั้นทำหน้าที่ จึงเรียกว่า สิ่งนั้นมี สิ่งนั้นเกิด”

พิสมัยบอก

“เราจะต้องให้คำจำกัดความไว้ในทุกเรื่องทุกราว ต้องเข้าใจให้ตรงกัน ไม่งั้นเละ พูดกันไปได้เรื่อยเปื่อย เรื่องขันธ์ก็อยู่ในกฎเกณฑ์นี้”

ตอนข้าวฟ่างทำวิทยานิพนธ์ ถ้าเราจะวิเคราะห์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ครูที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ท่านก็ไล่ให้ไปหาคำจำกัดความมา ไม่ใช่พูดขึ้นมาลอยๆ ถ้าเรื่องนั้นไม่มีคำจำกัดความ ครูก็ไม่ให้ข้าวฟ่างจบแน่ๆ ใช่หรือไม่ เรื่องขันธ์นี่ก็เหมือนกัน พิสมัยกล่าว

“เช่นถ้าเราพูดคุยกัน หรือภาษาคนที่เราคุยๆ กัน เราพูดว่าเรามีตาอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้าเราพูดเรื่องตา ซึ่งเป็นอายตนะภายในแล้วมันจะเชื่อมต่อมาเป็นขันธ์ ซึ่งมันปรุงต่อไปเป็นอุปาทานขันธ์ ที่เป็นเหตุแห่งทุกข์นั้น ตอนนั้นตายังไม่มี เพราะมันก็เหมือนกันกับเราไม่มอง หรือมองไม่เห็น เราก็ไม่เกิดทุกข์”

“ถ้าเป็นทุกข์ทางอื่นไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นทุกข์ทางตาตอนตาเรามองไม่เห็น หรือไม่เคยมองเลย อย่างนี้ยังไม่ต้องมาศึกษาธรรมะ ต้องไปโรงพยาบาลบ้าให้หมอรักษาก่อน อย่ามาศึกษาเรื่องธรรมะ อย่ามาศึกษาเรื่องขันธ์” พิสมัยดุข้าวฟ่าง เพราะกลัวว่าข้าวฟ่างจะเสียเวลาศึกษาธรรมะไปฟรีๆ แล้วดับทุกข์ไม่ได้เลย

ในภาษาธรรมะที่เราจะพูด จะวิเคราะห์กันนี้ พวกตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมันทำหน้าที่

ข้าวฟ่างจำสูตรได้หรือเปล่า สูตรที่เราเคยท่องกันมาว่า ตากระทบรูป เกิดจักขุวิญญาณ.... ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ คือตามันเข้าถึงกันกับรูป ที่อยู่ตรงหน้าเรานี่แหละ แล้วมันก็เกิดการเห็นทางตา ที่เรียกว่า จักขุวิญญาณ อย่างนี้ตาเกิดแล้ว

จักขุ แปลว่าตา วิญญาณ แปลว่ารับรู้ เมื่อแปลรวมกันก็คือ การรับรู้ทางตา เมื่อมีการรับรู้ทางตา ตาก็เกิด ตาที่เป็นเนื้อตา พอถูกกระทบโดยรูป มันก็เปลี่ยนเป็นตาที่เป็นรูปด้วย แล้วก็ตาที่มีวิญญาณด้วย

“แล้วจักขุวิญญาณมันเกิดขึ้นมาอย่างไร ?”

พิสมัยเล่าต่อ

“มันก็เกิดมาจากวิญญาณธาตุ ที่เราเคยเล่าให้ฟังแล้วว่า คนเรามี 6 ธาตุ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุและวิญญาณธาตุ”

ตัววิญญาณธาตุ ก่อนการกระทบก็จะทรงตัวอยู่เป็นปกติ เป็นวิญญาณธาตุอยู่เฉยๆ แต่พอไปกระทบรูปก็เลยเกิดเป็นจักขุวิญญาณ คือจักขุมันรับรู้ เพราะวิญญาณแปลว่ารับรู้ ตามันทำหน้าที่ คือมันไปกระทบ มันเลยเกิดจักขุวิญญาณ คือตัววิญญาณธาตุบางส่วนมันเปลี่ยนรูปมาเป็นจักขุวิญญาณ คือเป็นวิญญาณหรือรับรู้เกี่ยวกับตา

นี่สำคัญ 5 ดาวเลย คือตัววิญญาณธาตุมันเริ่มเป็นตัวป่วน ก่อให้เกิดอายตนะ แล้วปรุงต่อเป็นวิญญาณในขันธ์ 5 เลยทำให้วิญญาณขันธ์ตัวนี้มันรับรู้เรื่องราวทางตาต่างๆ มากมายเลย เพราะวิญญาณแปลว่ารับรู้ ขันธ์แปลว่ากลุ่มหรือกองหรือส่วน คือกลุ่มหรือกองหรือส่วนที่รับรู้หรืออวัยวะที่รับรู้ ว่างั้นเถิด

คือมันเกิดกลุ่มเซลล์ที่มันรับรู้ในร่างกายของเราขึ้นมาเพราะมันถูกกระทบ ถ้าไม่ถูกกระทบมันก็ไม่เกิดตัวป่วนขึ้นมา ตัวป่วนนี่เราก็ต้องเปลี่ยนชื่อมันไปด้วย คนธรรมดาเมื่อมาขโมยของเรา มากระทบของๆ เรา มาหยิบของๆ เราไป ก็ต้องเปลี่ยนชื่อมันไปว่าเป็นโจร ใช่หรือไม่ ดังนั้น เราก็ต้องจัดการกับตัวป่วนทั้งโจร แล้วก็วิญญาณขันธ์ ให้ดี

พอข้าวฟ่างฟังมาถึงตอนนี้ ข้าวฟ่างชักเกิดเค้ารางความคิดขึ้นมาทันที ใช่ซิ มันเป็นการเปลี่ยนชื่อให้มัน สมมติชื่อให้มัน เพื่อสะดวกในการเรียก สะดวกในการที่พิสมัยจะอธิบายให้ข้าวฟ่างเข้าใจ

เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้ว เมื่อสิ่ง...สิ่งหนึ่ง กระทบ หรือผ่านสิ่งอีกสิ่งหนึ่ง ชื่อมันก็ต้องเปลี่ยนไปอยู่แล้ว

สมมติสิ่งแวดล้อมที่ล้อมรอบตัวเราอยู่นี้ เราตั้งชื่อให้มัน หรือสมมติชื่อให้มันว่า อากาศ พอร้อนเราก็บอกว่าอากาศร้อน เย็นเราก็บอกว่าอากาศเย็น หนาวเราก็บอกว่าอากาศหนาว สรุปในภาพรวมกว้างๆ ก็คือ เราสมมติชื่อมันว่า อากาศ

คราวนี้ถ้าเราเอาโคนนิ้วชี้ อังไว้ที่ปลายจมูก แต่ไม่ต้องสัมผัสกับปลายจมูก แล้วเราก็สูดหายใจเข้า ยาว.... ยาววววว.. เราก็จะรู้สึกว่ามันมีอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่ดูคล้ายๆ ลมเย็นๆ พยายามดูดเอาสิ่งที่ติดอยู่ที่โคนนิ้วเข้าไปในจมูก....แม้เราจะมองไม่เห็นด้วยตา แต่มันก็จะต้องมี..สิ่ง..สิ่ง...หนึ่งแน่ๆ

สิ่ง...สิ่ง... หนึ่งที่ว่านี้ ถ้าเราไม่ไปพูดคุยกับใครแล้ว เราก็จะรู้ว่าสิ่ง..สิ่งนี้คืออะไร แต่ถ้าเราไปสื่อกับคนอื่น คนอื่นเขาก็จะไม่รู้ว่าเราพูดถึงเรื่องอะไร วิธีที่จะสื่อให้รู้เห็นด้วยกันทั้งคู่ก็คือ สมมติชื่อ สิ่ง....สิ่ง..นี้ออกมาว่า ลมหายใจเข้า

ลมหายใจเข้า ตอนแรกมันก็ถูกสมมติชื่อว่าเป็นอากาศ แต่ตอนนี้ชื่อมันถูกเปลี่ยนไปแล้ว อากาศมันก็ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ตามกฎของอนิจจัง (The law of impermanence)

ถ้าเราเอาโคนนิ้วชี้ อังไว้ที่ปลายจมูกเหมือนเดิม แต่คราวนี้ หายใจออก ยาว...ยาวววว.....เราก็จะรู้สึกว่า มันมีความร้อนออกมาสัมผัสที่โคนนิ้ว แล้วก็มี สิ่ง..สิ่งหนึ่ง ที่มีแรงพยายามผลักโคนนิ้ว ออกจากปลายจมูก

สิ่ง..สิ่ง..หนึ่งที่ว่านี้ เราก็สมมติชื่อให้มันว่า ลมหายใจออก พอลมหายใจออก เลยนิ้วไปแล้ว มันก็กลายเป็นอากาศไป ถูกสมมติชื่อเป็นอากาศต่อเหมือนเดิม ลมหายใจออก มันถูกเปลี่ยนชื่อไปอีกเหมือนกัน

ทั้ง..ทั้งที่ตอนแรกมันถูกสมมติชื่อเป็นอากาศ แต่มันก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นลมหายใจเข้า กับลมหายใจออกไปได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องยอมรับในเรื่องการสมมติชื่อ ที่มันสามารถเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ก่อน

ก่อนที่ลมหายใจออก มันจะถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็นอากาศ มันก็มาจากอากาศที่เป็นลมหายใจเข้าเหมือนกัน พอลมหายใจเข้ามันเข้าไปกระทบ หรือสัมผัส หรือผ่านร่างกาย หรือพูดให้ชัดๆ ก็คือปอด ชื่อก็ถูกเราเปลี่ยนไปเป็นลมหายใจออก ทั้งๆ ที่ส่วนผสม หรือองค์ประกอบของอากาศมันยังอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน

มีนักวิทยาศาสตร์เขาเคยไปวิเคราะห์มาแล้วว่า ส่วนผสมของอากาศที่เป็นลมหายใจเข้า ถ้าว่ากันเป็นร้อยละตามน้ำหนักแล้ว ก็จะมีไนโตรเจนร้อยละ 78.62 ออกซิเจนร้อยละ 20.34 คาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 0.04 ที่เหลือเป็นน้ำ และอื่นๆ

ส่วนอากาศที่เป็นลมหายใจออก ถ้าว่ากันตามน้ำหนักเช่นกัน ก็จะมีส่วนผสมของไนโตรเจนร้อยละ 74.90 ออกซิเจนร้อยละ 15.30 คาร์บอนไดออกไซด์ ร้อยละ 3.60 ส่วนที่เหลือก็จะเป็นน้ำ และอื่นๆ

เห็นได้จากข้อเท็จจริงโดยการใช้เครื่องมือวัดว่า ทั้งอากาศที่เป็นลมหายใจเข้า กับอากาศที่เป็นลมหายใจออก ส่วนผสมจะไม่ต่างกันมากเลย แต่เราก็เปลี่ยนชื่อมันเป็นลมหายใจเข้า กับลมหายใจออก เพื่อสะดวกในการเรียก เพื่อสะดวกในการสื่อกัน

ลมหายใจเข้ามันผ่านรูจมูกแล้วเข้าไปกระทบกับปอด พอออกจากปอดผ่านรูจมูกออกมา มันก็เลยถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็นลมหายใจออก มันก็เหมือนกันกับตัววิญญาณธาตุในตาหรือในจักขุ ที่พอมันไปกระทบกับรูป มันก็เลยเปลี่ยนชื่อไปเป็นจักขุวิญญาณ เหมือนกันเลย

แล้ววิญญาณธาตุมันเกี่ยวอะไรกับขันธ์ ข้าวฟ่างมัวคิดตามเพลิน เพิ่งนึกออกว่า เรากำลังพูดกันถึงเรื่องขันธ์ พิสมัยกำลังใจดีเลยเริ่มเล่าใหม่ว่า

“ขันธ์ 5 นี่มันก็มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ประกอบรวมๆ กัน มันก็คลุกๆ กันไป”

รูป ก็คือสิ่งที่มีรูป เราเห็นได้ด้วยประสาทสัมผัส เช่นร่างกายอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่ารูป (Form)

เวทนา ต้องอ่านว่า เว-ทะ-นา ไม่ใช่ เวด-ทะ-นา คำว่า เวด-ทะ-นา เป็นคำกริยา แปลว่า สังเวชสลดใจ (Pity) ซึ่งเราจะไม่กล่าวถึงคำนี้ แต่เราจะกล่าวถึงคำว่า เว-ทะ-นา ที่เป็นคำนาม แปลว่า ความรู้สึก เป็นความรู้สึกประเภทที่รู้สึกว่าเป็นสุข หรือเป็นทุกข์ หรือไม่อาจบอกได้ว่าสุขหรือทุกข์ อย่างนี้เราเรียกว่า เวทนา (Feeling)

สัญญา หรือจำได้หมายรู้ คือรู้สึกว่า อะไรเป็นอะไร เช่นจำได้ว่ารูปนี้รูปอะไร เสียงนี้เสียงอะไร แล้วเราก็สำคัญต่อไปตามความรู้สึกว่าดีว่าชั่ว อย่างนี้เราเรียกว่า สัญญา (Perception) เพราะตามสูตรเขาบอกไว้ว่า บุคคลเสวยเวทนาใด แล้วไปหมายมั่นไว้ เราเรียกว่าสัญญา

สังขาร คือความคิดปรุงแต่ง ความคิดนึกว่าจะเอาอย่างนั้น จะทำอย่างนี้ ไม่ใช่ร่างกายเอา แต่สังขารเป็นเพียงความคิด คิดด้วยเจตนาก็ได้ ไม่เจตนาก็ได้ อะไรก็ตามที่เป็นความคิด คิดดี คิดชั่ว อย่างนี้เรียกว่า สังขาร (Conception) หมด เป็นเรื่องของการตริ ตรึก นึกคิด เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างที่เราชอบบ่นกันว่ามันลืมไปแล้ว คือมันดับไปแล้ว แต่พอมีปัจจัยให้มันเกิด มันก็เกิดขึ้นอีกครั้ง วนไปเวียนมาอยู่อย่างนี้แหละ

วิญญาณ แปลว่าการรับรู้ หรือความรู้แจ้งอารมณ์ทางประสาททั้ง 5 และทางใจ คือการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้สัมผัสทางกาย และการรู้อารมณ์ทางใจ (Consciousness)

“ตามแนวอภิธรรม เขาเรียกวิญญาณขันธ์ว่าจิต แล้วก็จำแนกจิตออกเป็น 89 หรือ 121 ดวงซึ่งมันก็เป็นเรื่องยาวเลย แล้วเราก็จะไม่เล่ารายละเอียดของจิตแต่ละอย่างให้ข้าวฟ่างฟังละ เพราะมันเกินจำเป็น ข้าวฟ่างจะได้เอาเวลาไปปฏิบัติ คือนั่งสมาธิบ้าง”

คราวนี้เราจะเล่าต่อไปว่า เจ้าขันธ์ทั้ง 5 ที่เป็นกลไกภายในของสิ่งมีชีวิตนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

หรือถ้าจะให้ง่ายเข้า เราอาจเริ่มที่พระพุทธภาษิตที่ตรัสว่า อาศัยตากับรูปย่อมเกิดจักขุวิญญาณ (จกฺขุญฺจ ปฏิจจ รูเป จ อุปฺปชฺชติ จกฺขุวิญฺญาณ) และความที่มันมาพร้อมกัน มีด้วยกันทั้งสามอย่างนี้ เราเรียกมันว่า ผัสสะ (ติณฺณํ ธมฺมานํ สงฺคติ ผสฺโส) ผัสสะตัวนี้ ถ้าดูตามสายของปฏิจจสมุทปบาท มันก็เป็นปัจจัยให้เกิด
เวทนา

เวทนานี้เป็นเรื่องของขันธ์ ขันธ์เกิดในช่วงนี้ ...ตรงนี้สำคัญต้องทำความเข้าใจให้ดี ตอนนั่งสมาธิจะมีประโยชน์ แต่ตอนนี้อาจดูตัวอย่างแบบไม่ต้องนั่งก่อน

ให้ข้าวฟ่างมองอะไรซักอย่างดี สมมติมองกระดาษหน้าข้าวฟ่างก็แล้วกัน เห็นกระดาษแล้วก็ตัวอักษรที่เขียนเยอะแยะเลย เกิดการรับรู้ที่เรียกว่า จักขุวิญญาณ คือเห็นทางตาแล้ว อย่างนี้ เกิดขันธ์ขึ้น 2 ขันธ์แล้ว

รูปขันธ์ ก็คือตาของข้าวฟ่างนี่แหละ ที่เป็นลูกกะตา เป็นรูปขันธ์ (Form) ที่เปลี่ยนชื่อมาจากอายตนะภายใน ที่เราเรียกว่า ตา ...ตา ที่เป็นอายตนะภายใน กระทบรูป ที่เป็นอายตนะภายนอก เกิดจักขุวิญญาณ ตามที่เราเคยท่องกันมา

ส่วนวิญญาณขันธ์ก็คือ การรับรู้ทางตา เพราะเราเห็นมัน เรารับรู้มัน มันก็เป็นสิ่งที่เรียกว่า วิญญาณ (Consciousness) ในขันธ์ 5

วิญญาณแปลว่ารับรู้ ตัวรับรู้ในร่างกายก็ได้ หรือตัวรับรู้ในขันธ์ 5 ก็ได้ ทั้งนี้เพราะขันธ์ 5 ที่เป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน แล้วก็เนื่องกันต่อๆ มาจนเป็นรูปร่างแล้วก็ความรู้สึกนึกคิดนั้น จะประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เห็นไหม เราแยกได้สองขันธ์แล้ว รูปขันธ์ก็คือรูปลูกกะตาของเรานี่เอง ส่วนวิญญาณขันธ์ก็คือตัวรูปลูกกะตาเรานี่แหละ แต่ภายในมันมีการรับรู้ว่า มีตัวอักษรในกระดาษอยู่ข้างหน้าเรา

โดยหลักกว้างๆ ของมันแล้ว เมื่ออายตนะภายใน...กระทบ..อายตนะภายนอก...เกิดวิญญาณ...วิญญาณมันก็อยู่ในขันธ์ 5 นั่นเอง เพราะมันกระทบกันมันเลยเกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา ความจริงมันก็สิ่งเก่านั่นแหละ แต่เปลี่ยนลักษณะไปนิดหน่อย

ลองดูจากตัวอย่างของจริงอีกมุมมองหนึ่งบ้าง เช่น ถ้าเราเอาก้อนหินขว้างลงไป กระทบ..น้ำ...มันก็เกิดสิ่ง..สิ่ง..หนึ่งที่เรียกว่า..คลื่น..ขึ้นมา

การเกิดคลื่นมันก็เหมือนกับการเกิดของวิญญาณที่เกิดมาจากตากระทบกับรูป หินกระทบน้ำเราสมมติชื่อมันว่า คลื่น ตากระทบรูป เราสมมติชื่อมันว่าวิญญาณ

“ทั้งคลื่นทั้งวิญญาณ มันเป็นมายาจับต้องไม่ได้ด้วยกันทั้งคู่”

เราเห็นสิ่งที่ถูกสมมติชื่อว่าคลื่นซัดเข้าหาตัวข้าวฟ่าง แต่ให้ข้าวฟ่างไปจับคลื่นมาให้ดูซิ ก็จับไม่ได้ ให้ข้าวฟ่างไปจับสิ่งที่ถูกสมมติชื่อว่าเป็นวิญญาณดูซิ ก็จับยากเหมือนกัน ทั้งคลื่นทั้งวิญญาณ เป็นสิ่ง..สิ่ง..เดิมที่ถูกเปลี่ยนชื่อไปด้วยกันทั้งคู่

มันเปลี่ยนชื่อกันได้ แต่ถ้าเรารู้ทันมัน ก็ไม่เป็นบ่อเกิดแห่งเรื่องราว พอเราเห็นคลื่นเราก็เห็นเป็นเรื่องปกติ ไม่ไปไล่จับมัน แต่ถ้ามีใครซักคนหนึ่ง จะวิ่งไปไล่จับคลื่นมาเก็บไว้ นั่นมันก็ไม่ใช่คนปกติแล้ว

“ลองมองดูอีกมุมหนึ่งใหม่ก็ได้ ถ้าข้าวฟ่างเห็นว่ามันมี Technical terms หรือศัพท์เฉพาะทางมากไป เอาตามที่เราเคยท่องกันสั้นๆ ว่าตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าผัสสะ แค่นี้ก็ได้” พิสมัยแนะนำ

ตามันเข้าถึงกับรูป หรือตากระทบกับรูป สมมติเราไม่หลับตา เราลืมตา ให้ข้าวฟ่างลืมตาดู ตามันก็เข้าถึงกับรูป หรือกระทบกับรูปที่อยู่ข้างหน้า รูปที่อยู่หน้าของข้าวฟ่างก็คือกระดาษ มันก็เกิดการเห็นทางตาขึ้นมา เราเรียกมันว่า จักขุวิญญาณ (คือตามันรับรู้ จักขุแปลว่าตา วิญญาณแปลว่ารับรู้)

ถ้าเป็นอย่างนี้ ตาเกิดขึ้นแล้ว เพราะข้าวฟ่างไปเห็นกระดาษเข้า

แต่ถ้าข้าวฟ่างหลับตา ข้าวฟ่างก็จะไม่เห็นกระดาษ พิสมัยก็จะดุข้าวฟ่างว่า

“..ทำไมไม่เห็น ไม่มีตารึไง....” แสดงว่าตามันยังไม่มี ตามันยังไม่เกิด

แต่พอเราลืมตา ตามันทำหน้าที่ ข้าวฟ่างก็เห็นกระดาษ พิสมัยก็ไม่ดุข้าวฟ่าง ตาเกิดแล้ว

ตาก็เกิดแล้ว เพราะข้าวฟ่างไปเห็นกระดาษ กระดาษเป็นรูป สมมติมีหนังสือเล่มใหญ่มาทับกระดาษไว้ ข้าวฟ่างก็ไม่เห็นกระดาษ กระดาษที่เป็นรูปก็ไม่เกิด แต่เกิดรูปที่เป็นหนังสือเล่มใหญ่แทน อย่างนี้ก็ต้องไปพูดอีกแบบหนึ่ง อธิบายอีกแบบหนึ่ง

แต่ตอนนี้เราจะพูดถึง ตาที่เป็นอายตนะภายใน กระทบกระดาษที่เป็นอายตนะภายนอก แล้วเกิดจักขุวิญญาณ คือการเห็นกระดาษ

ปรากฏการณ์แบบนี้เราบอกว่า ขันธ์เกิดแล้ว ทำหน้าที่แล้ว 2 ขันธ์ รูปขันธ์คือ ลูกกะตาข้าวฟ่างนั่นแหละ เราเห็นตาข้าวฟ่างลืมอยู่ตอนข้าวฟ่างมองกระดาษ เพราะถ้าข้าวฟ่างหลับตาเราก็ไม่เห็นดวงตาข้าวฟ่าง รูปที่เป็นลูกกะตาของข้าวฟ่างก็ยังไม่เกิด

แล้วเมื่อข้าวฟ่างเห็นกระดาษก็เกิดการเห็นทางตา หรือที่เรียกว่าจักขุวิญญาณ จักขุก็คือรูปขันธ์ วิญญาณก็คือ วิญญาณขันธ์ เกิดแล้ว 2 ขันธ์

“เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน”

ข้าวฟ่างขัดขึ้น ข้าวฟ่างชักเข้าใจแล้ว พิสมัยเล่าแบบนี้เข้าใจลำบาก ข้าวฟ่างงงไปหมด ข้าวฟ่างรู้แล้ว มาฟังในมุมของข้าวฟ่างบ้างดีกว่า ก็เอาตามที่พิสมัยเคยให้ข้าวฟ่างท่องนั่นแหละ

ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ....ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ.......ตากระทบรูปเกิดจักขุวิญญาณ......มันเป็นเรื่องของอายตนะภายในคือตา..กระทบกับอายตนะภายนอกคือรูป...... แล้วมันก็เกิดจักขุวิญญาณ ที่เราแปลว่าการรับรู้ทางตา เพราะวิญญาณแปลว่ารับรู้ จักขุแปลว่าตา

ตา ก่อนที่มันจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นอายตนะภายใน ตานี่มันก็เป็นธาตุด้วยเหมือนกัน เราสมมติชื่อมันว่าจักขุธาตุ หรือเทียบเคียงกับทางวิทยาศาสตร์ที่เราเคยเรียนมาก็คือ เซลดวงตา นักวิทยาศาสตร์เขาสมมติชื่อเป็นเซลดวงตา แต่ของเราสมมติชื่อเป็นจักขุธาตุ

จักขุธาตุมันก็เป็นส่วนผสมของธาตุต่างๆ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ แล้วก็วิญญาณธาตุ

วิญญาณธาตุนี่มันก็เป็นนามธาตุ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ นี่มันก็เป็น รูปธาตุ ส่วนอากาศธาตุมันก็อยู่ระหว่างรูปธาตุกับนามธาตุ เป็นที่ตั้ง ที่ปรากฏของธาตุอื่นๆ

มันก็ทรงกันอยู่ของมันไปแบบนี้แหละ ทรงต่อเนื่องกันไป มันจึงเป็นรูปร่างของข้าวฟ่างอยู่ ถ้ามันไม่ทรงอยู่ มันก็ไม่เป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญาณธาตุ ที่รวมกันเป็นรูปร่างของข้าวฟ่าง คนโบราณเขาจึงอ้างถึงคนตายว่าธาตุดับแล้ว ธาตุของนาย ก ธาตุของนาย ข ดับแล้ว คือมันไม่ทรงอยู่แล้วกลับลงดินหมด กลับลงสู่ธรรมชาติหมด

คราวนี้ พอสิ่งที่เรียกว่าตาของข้าวฟ่างที่เป็นอายตนะภายในนี้กรอกไปกรอกมา ไปกระทบกับรูปที่เป็นอายตนะภายนอก แล้วก็รูปที่เป็นอายตนะภายนอกนี่เพื่อให้มันง่ายเข้าสมมติชื่อให้มันใหม่ว่า รูป (Object) ก็แล้วกัน

พอตาข้าวฟ่าง ไปกระทบกับรูป (Object) ก็เกิดจักขุวิญญาณ ขบวนการหรือปรากฏการณ์นี้เราเรียกว่า ผัสสะ มันก็เกิดขันธ์ขึ้นมาสองขันธ์

ขันธ์แรกคือรูปลูกกะตาของข้าวฟ่างนี่แหละ เรียกมันว่า รูป (Form) ก็ได้ เป็นรูปขันธ์

ส่วนอีกขันธ์หนึ่งก็คือวิญญาณ ที่สืบเนื่องมาจากการเห็นทางตา หรือวิญญาณ(Consciousness) ทางตาก็ได้ เพราะมันผัสสะหรือกระทบกัน ธาตุ 6 ธาตุในลูกกะตา จึงแตกตัวออกเป็นรูปธาตุกับนามธาตุ

ตัวนามธาตุที่สำคัญก็คือวิญญาณธาตุ คือตัววิญญาณธาตุเมื่อถูกกระทบจึงเปลี่ยนสภาพไปจากธาตุ 6 เป็นอายตนะภายใน 6 มันเปลี่ยนสภาพได้ แล้วเกิดสิ่งใหม่ๆ ได้

เหมือนเอาเหล็กกระทบกับเหล็กมันก็มีการแตกตัวเป็นสะเก็ดไฟ เป็นแสงสว่าง อย่างนั้นแหละ เพราะมันกระทบมันจึงมีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้น

สรุปคือ เพราะมันผัสสะ หรือกระทบกันตามกระบวนการของมันระหว่างตากับรูป ธาตุทั้ง 6 ธาตุ ซึ่งก็คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม อากาศธาตุ วิญญาณธาตุ ที่มันทรงอยู่ที่ตาในร่างกายเรา หรือในนามรูปของเรา มันก็เลยแตกออกมาเป็นรูปธาตุ กับนามธาตุ

เราเลยได้ ขันธ์ 2 ขันธ์แล้ว คือรูปลูกกะตา (Form) กับวิญญาณทางตา ที่เป็นวิญญาณขันธ์ (Consciousness) แล้ว มันก็เหลืออีก 3 ขันธ์ คือ เวทนา สัญญา สังขาร

เวทนานั้นเมื่อเกิดผัสสะก็ต้องเกิดเวทนาตามสายของปฏิจจสมุปบาท พอพูดถึงเวทนาเมื่อไร เรารีบแบ่งไว้ก่อนเลยว่ามันไปได้ 3 ทาง คือ ชอบ ไม่ชอบ แล้วก็ไม่อาจบอกได้ว่าชอบหรือไม่ชอบ แต่กรณีนี้เราแบ่งไว้ว่า สบายตา ไม่สบายตา หรือไม่อาจบอกได้ว่าสบายตาหรือไม่สบายตา เป็นต้น

พอเกิดเวทนาแล้ว สัญญามันก็มั่นหมายเอาเวทนา คือเอาค่าของเวทนา ว่าสบาย ว่าไม่สบาย มาจำไว้ อย่างนี้เรียกว่าสัญญาขันธ์

สรรพสิ่งทั้งหลายที่มันมีก็เพราะเราไปสัญญามันไว้ คือมันไปจำได้หมายรู้มันไว้ หรือไปสัญญามันไว้ พอเห็นมันปุ๊บเราก็จำมันได้เลย มันเลยมีสิ่งนั้น ถ้าข้าวฟ่างจำแฟนไม่ได้ ข้าวฟ่างก็เห็นคนๆ หนึ่งใครก็ไม่รู้ ไม่ใช่แฟนข้าวฟ่าง แฟนของข้าวฟ่างก็ยังไม่มีในสถานการณ์นั้น

พอสัญญาขันธ์มันเกิดแล้ว มันก็เนื่องกันไปเป็นความคิด เพราะเราไปมั่นหมายว่าจะทำอย่างไร คิดว่าจะทำอย่างไร อย่างนี้เราเรียกว่าสังขาร

เพราะตัวสังขารนี้มันอยู่ในหมวดขันธ์ เราเลยเรียกมันว่าสังขารขันธ์

ตัวสังขารขันธ์นี่มันสุดยอดเลย เพราะมันเป็นความคิด เป็นนามธรรมมันก็แล่นไปแล่นมา ถ้าเราควบคุมมันไม่ดี มันก็เป็นความคิดปรุงแต่งที่ก่อให้เกิดเรื่องราวต่างๆ ที่ชุลมุนชุลเกกันตลอดช่วงชีวิตของเรา

“เรารู้แล้ว เรารู้แล้ว”

พิสมัยสอดขึ้นมา

“เรารู้แล้วว่าตอนแรกเราเล่าให้ข้าวฟ่างฟัง แล้วข้าวฟ่างไม่เข้าใจเกี่ยวกับขันธ์ ก็เพราะคำว่ารูป หรือการสมมติชื่อคำว่ารูป นี่เอง”

มันมีคำว่ารูปที่อยู่ในเรื่องอายตนะภายนอก แล้วก็รูปที่อยู่ในเรื่องขันธ์ มันซ้ำกัน เวลาศึกษาธรรมะมันเลยงงไปหมด

ถ้าเราระบุให้มันชัดเจนลงไปตั้งแต่ตอนแรกเลยว่า คำว่ารูปในเรื่องอายตนะภายนอกนี้เราเรียกว่า รูป (Object) แล้วก็คำว่ารูปในเรื่องขันธ์ เราก็ระบุลงไปเลยว่า รูป (Form) แล้ว รับรองข้าวฟ่างจะไม่สับสนขนาดนี้เป็นแน่

“คราวหน้าเราจะเปลี่ยนวิธีระบุชื่อใหม่ก็แล้วกัน”

พิสมัยกลัวว่าข้าวฟ่างจะมึนจนกระทั่งเลิกกิจการศึกษาธรรมะไปเสียก่อน พูดเอาใจข้าวฟ่าง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2025, 22:52 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 17:07
โพสต์: 44

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ภาค 3 แต่ถ้าให้ดีต้องมีปฏิบัติ



เรามารู้จักกับคำว่าอร่อยจากการปฏิบัติกันบ้าง



จนถึงขณะนี้ ข้าวฟ่างยังไม่ทราบชัดเจนเลยว่า ทำไมข้าวฟ่างจึงอร่อยเมื่อกินข้าวฟ่าง

พิสมัยผู้ที่เล่าถึงกระบวนการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายของข้าวฟ่าง จากสิ่งที่เรียกว่าธาตุ เมื่อเปลี่ยนหน้าที่ก็เปลี่ยนชื่อไปเป็นอายตนะ แล้วจากอายตนะเมื่อเปลี่ยนหน้าที่ ก็เปลี่ยนชื่อไปเป็นขันธ์ แล้วถ้าขันธ์ไม่ทำหน้าที่ของมัน มันก็คือธาตุนั่นเอง บอกข้าวฟ่างว่า

“เพราะขาดสติ”

ถ้าคนๆหนึ่งกินอาหารหรือเคี้ยวอาหารอยู่ในปาก แล้วเอร็ดอร่อยแสดงว่าในช่วงนั้นคนๆ นั้น ขาดสติ

ดูได้จากพระที่ปฏิบัติในป่าจะไม่กินอาหารอร่อย จะเอาอาหารคาวหวานที่อร่อยๆ มาคลุกกันลงไปในบาตร แล้วก็ฉันแบบคลุกๆ อย่างนั้นแหละ เพื่อเป็นการฝึกสติ

“เมื่อไม่มีความอร่อยเป็นตัวกระตุ้น สติจะยังมีอยู่ คือมีสติ นี่เป็นการฝึกสติเพื่อให้มีสติ” พิสมัยสาธยายต่อ

ใช่แล้ว ข้าวฟ่างนึกออกแล้ว ครั้งหนึ่งข้าวฟ่างเคยไปเข้าคอร์ส ฝึกสติ อยู่ 8 วัน ที่สถานปฏิบัติธรรมในจังหวัดนครราชสีมา ของวัดสังฆทาน นนทบุรี คือเข้าไปกินนอนมันอยู่ในนั้นแหละ ใน 8 วัน ไม่ต้องทำงานอะไร มีหน้าที่กิน นั่งสมาธิ แล้วก็เดินจงกรม

ก่อนไปข้าวฟ่างก็คิดว่าหน้าที่แค่นี้สบายมาก หวานเรา ไปกิน นั่งสมาธิ เดินจงกรม แล้วก็นอน ไม่ต้องทำงานให้ปวดหัวเหมือนกับอยู่ในที่ทำงาน

แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น พอไปปฏิบัติเข้าจริงๆ แล้ว แค่เรื่องกินเรื่องแรกข้าวฟ่างยังทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์เลย มันคล้ายๆ ง่าย แต่ไม่ง่ายสำหรับคนฝึกครั้งแรกอย่างข้าวฟ่าง

ตอนแรกครูฝึกท่านก็สั่งว่า

“จะทำอะไรก็ให้ทำอย่างมีสติ กินก็ให้มีสติ นั่งสมาธิก็ให้มีสติ เดินจงกรมก็ให้มีสติ นอนก็ให้มีสติ”

ข้าวฟ่างก็ฟังไปเรื่อยๆ เอ้า สติก็สติ ตอนแรกก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร แต่ในที่สุดก็มาเข้าใจเอาตอนกินมีสติ นี่แหละ

อาหารการกินที่นี่อร่อยมาก มันมีหลากหลายทั้งคาวหวาน เหมือนอาหารในห้องอาหารของโรงแรมชั้นหนึ่งเลย ผู้เข้าฝึกสติทุกคนก็ยอมรับ ชมกันว่าอร่อย

สำหรับข้าวฟ่างแล้ว อร่อยสุด..สุด เพราะหัวหน้าแม่ครัวของที่นี่ ในอดีตเคยเป็นเจ้าของร้านอาหารขนาดใหญ่อยู่ข้างๆ โรงเรียนข้าวฟ่างนี่แหละ ข้าวฟ่างฝากท้องอยู่เป็นประจำ แล้วก็คุ้นกับรสอาหาร อร่อยกับรสอาหารของพี่เค้ามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ดูๆ แล้ว อยู่ฝึกสติแบบนี้ครบ 8 วันคงน้ำหนักเพิ่มแน่ ถ้าให้กิน 3 มื้อเหมือนอยู่ที่บ้าน

แต่ที่นี่เขาให้กินเพียงมื้อเดียว วิธีการกินก็ไม่มีอะไรมาก ไปหยิบกะละมังกันคนละลูก คือไม่ทราบว่าจะเรียกอะไรดี มันเป็นภาชนะขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งฟุตได้มั๊ง แล้วก็หยิบช้อนอีกคนละอัน

เข้าแถวตอนสองแถว แล้วเดินไปตักอาหารกันคนละด้านของโต๊ะขนาดกว้างประมาณเมตรครึ่ง ใครจะตักเท่าไรก็ได้ ตามความพอใจ อาหารก็มีหลายอย่างมากมายหลากหลาย ไทยจีนฝรั่งมีครบ มีทั้ง แกงจืด แกงเผ็ด ปลาร้า ขนมปัง ดูลานตาไปหมด ใครจะตักกี่อย่างก็ได้ไม่มีใครว่าอะไร

ข้าวฟ่างก็ตักตามความพอใจของข้าวฟ่าง แล้วมานั่งกิน วันเดียวกินมื้อเดียวในตอนเช้า กินอีกครั้งก็พรุ่งนี้เช้าโน่น ไม่ได้ ไม่ได้ เราต้องกินให้มากๆ และจะต้องเลือกกินของอร่อยๆ

แล้วข้าวฟ่างก็กินอย่างเอร็ดอร่อยจริงๆ ไม่มีปัญหาอะไรมาก เสียงครูฝึกท่านก็พูดผ่านเครื่องขยายเสียงว่า

“ให้กินอย่างมีสติ.......ให้กินอย่างมีสติ”

ข้าวฟ่างก็ได้ยิน ข้าวฟ่างก็อยากกินอย่างมีสติเหมือนกัน เพราะตั้งใจมาฝึกเพื่อเจริญสติอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ก็เคี้ยวอย่างเอร็ดอร่อยไปเรื่อยๆ สรุปก็คือ วันแรกมันก็ผ่านไปได้ด้วยดี น่าสุโขสโมสรในการกินจริงๆ

พอวันที่สองได้เรื่องเลย ตอนเข้าไปในโรงทาน ข้าวฟ่างกะไว้ว่าวันนี้จะกินให้อร่อยแบบเมื่อวานนี้เลย แล้ววันนี้มันก็น่าจะอร่อยมากกว่าเมื่อวานนี้ด้วย เพราะไม่ได้กินอาหารมา 24 ชั่วโมงแล้ว กำลังหิวสุดๆ เลย

เสียงครูผู้ฝึกท่านสั่งว่า

“วันนี้ให้นับคำข้าว แล้วแต่ละคำข้าวที่ตักเข้าปากนี้มีการเคี้ยวกี่ครั้ง ให้แต่ละคนนับไว้ แล้วจะถามเรียงคน”

สบายมาก ข้าวฟ่างคิด ไม่เห็นลำบากลำบนอะไรเลย ก็ตักข้าวขึ้นมาหนึ่งช้อน ใส่เข้าไปในปากให้หมด ก็เรียกว่าหนึ่งคำข้าว พอข้าวเข้าปากแล้วเคี้ยวครั้งที่หนึ่งก็นับหนึ่ง เคี้ยวครั้งที่สองก็นับสอง ไปเรื่อยๆ แล้วก็จำไว้ พอหมดคำข้าวที่หนึ่ง ก็ตักคำข้าวที่สองเข้าปาก เคี้ยวแล้วก็นับต่อๆ กันไป แบบเดิม

พออิ่ม ก็จะได้จำนวนคำข้าว แล้วก็จำนวนครั้งของการเคี้ยวข้าวในวันนั้น แล้วเราก็รายงานครูฝึกได้อย่างสบาย

แต่จริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น พอตอนปฏิบัติจริงๆ มันหิวเพราะไม่ได้กินอะไรเลยตั้งแต่เมื่อวาน เห็นอาหารไม่ว่าอะไรมันก็ดูอยากจะกินไปหมด อร่อยไปหมด พอตักเข้าปากได้ ก็เคี้ยวจุ๊บจั๊บ จุ๊บจั๊บ อย่างเอร็ดอร่อย แล้วกลืนพรึบหายเข้าไปในท้อง หมดทั้งคำข้าวนั้นเลย

อ้าว...ครูฝึกท่านบอกให้เรานับว่าเคี้ยวกี่ครั้ง แล้วคำแรกที่เรากลืนลงท้องไปนี่เราเคี้ยวกี่ครั้งหว่า...ปรากฏว่าจำไม่ได้แล้ว เพราะไม่ได้นับ มันขาดสติ พออร่อยแล้วมันขาดสติ การนับวันแรกก็เลยล้มเหลว

วันต่อมาเริ่มใหม่ เพราะตั้งใจมาดี ตอนแรกก็นับได้ว่าตักกี่คำเคี้ยวกี่ครั้ง แต่พอตอนหลังๆ คือคำข้าวหลังๆ นับว่าเคี้ยวกี่ครั้ง ก็นับถูกบ้างข้ามไปบ้าง สาเหตุก็ไม่มีอะไรมาก เพียงเพราะตอนที่เราอร่อยเราก็จะเคี้ยวเร็ว แล้วลืมนับ

ดังนั้น ข้าวฟ่างจึงต้องฝึกอยู่หลายวันกว่าจะนับได้ครบ แต่ข้าวฟ่างก็ต้องแลกมาด้วยรสอาหารที่ไม่อร่อยเลย

ข้าวฟ่างไม่รู้สึกในรสอาหารเลย ทั้งๆ ที่มันเป็นอาหารชนิดเดียวกันกับอาหารวันแรกที่ข้าวฟ่างอร่อย ที่ไม่อร่อยเพราะมัวแต่ตั้งหน้าตั้งตานับจำนวนคำข้าวและจำนวนคำเคี้ยวข้าว

เมื่อจิตของเราไปจดจ่ออยู่ที่การนับ มันก็จะไม่ไปจดจ่ออยู่ที่รสอาหาร จิตมันมีอยู่ดวงเดียว นี่เป็นการรู้แบบสันทิฏฐิโก คือรู้เห็นได้ด้วยตนเอง ตามบทสวดมนต์ที่ข้าวฟ่างเคยท่องสวดอยู่เป็นประจำนั่นแหละ

ข้าวฟ่างก็เลยเห็นด้วยกับคำพูดของพิสมัยที่พูดว่า

“ตอนที่เราอร่อย เราจะขาดสติ”


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร