วันเวลาปัจจุบัน 18 ก.ค. 2025, 19:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านนิทาน จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=5



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 เม.ย. 2011, 19:39 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 มี.ค. 2011, 13:20
โพสต์: 12


 ข้อมูลส่วนตัว


เกตุดาราตั้งใจเรียนปริญญาโทสาขา History & Social Sciences โดยตั้งความหวังไว้ว่าถ้าเรียนจบแล้วเธอจะกลับมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่เมืองไทย เธอมุมานะตั้งใจเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อให้คุณพ่อและคุณแม่ภาคภูมิใจในตัวลูกสาวคนเดียว และเพื่อให้หายคิดถึงนาเคนทร์นาคราช เธอจึงทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้กับการค้นคว้า วิจัย และทำงานที่อาจารย์มอบหมายอย่างเต็มความสามารถ จนได้รับคำชมเชยจากอาจารย์หลายท่าน จากการหมกมุ่นอยู่กับ การศึกษาเล่าเรียนและงาน ก็ทำให้ลืมเรื่องความรักที่ไม่สมหวังของตัวเองไปได้ แต่เมื่อเผลอสติ ใจก็อดกระหวัดไปถึง บุรุษผู้เป็นที่รักไม่ได้ อีกทั้งยังนึกเสียใจ น้อยใจในวาสนา ชะตาชีวิตของตัวเอง แต่ ยังโชคดีที่ได้ไปฝึกปฏิบัติธรรม แล้วจำได้ว่าพระอาจารย์สอนไว้ว่า
“ ผู้ถึงธรรม จะไม่เศร้าโศก อาลัยในสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่พร่ำเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ดำรงชีวิตอยู่กับสิ่งที่เป็นปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส ส่วนคนทั้งหลายผู้ยังด้อยปัญญา เฝ้าแต่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง อีกทั้งยังหวนละห้อย โหยหาถึงความหลังที่ล่วงผ่านไปแล้ว จึงซูบซีดหม่นหมอง เสมือนต้นอ้อสด ที่เขาถอนทึ้งขึ้นทิ้งไว้ ในที่กลางแดด ผู้ถึงธรรมดับกิเลสเสียได้ อยู่สบายทุกเวลา” พระอาจารย์ยังสอนอีกว่า
“ ผู้ใดไม่ติดอยู่ในกามทั้งหลาย เขาจะเย็นสบาย ไม่มีที่ให้กิเลสตั้งตัวได้ ตัดความติดยึด ติดข้องในอดีตเสียให้หมด กำจัดความกระวนกระวายในใจเสียให้ได้ พักจิตได้แล้ว จึงถึงความสงบ อยู่สบาย” คำสอนที่วิเศษสุดนี้ ช่วยให้เธอคลายความยึดมั่นถือมั่นไปได้มาก ก่อให้เกิดกำลังใจในการมีชีวิตอยู่เพื่อสร้างคุณงามความดี ตามที่เธอหวังไว้ว่าจะไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเพื่อสอนหนังสือและสอนลูกศิษย์ให้เป็นคนดีมีศีลธรรมเพื่อเป็นกำลังของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตรย์และเพื่อตอบแทนคุณของแผ่นดิน กระนั้นในบางครั้งบางเวลาใจก็ยังหวนคิดถึงคะนึงหาบุรษอันเป็นที่รักดั่งดวงใจอยู่มิวาย

ต่อมาเธอได้อ่านหนังสือของท่าน ว.วชิรเมธี ท่านเขียนไว้ว่าถ้าคนเรารักจะเป็นคู่แท้กันทุกภพทุกชาติ พุทธศาสนาแนะเคล็ดลับให้ปฏิบัติ โดยพระพุทธเจ้าทรงให้แนวทางไว้ว่า คู่รักทั้งหญิงและชายจะต้องมีพฤติกรรมที่เหมาะสมกัน ๔ ประการดังนี้
๑. มีศรัทธาสมกัน คือเคารพนับถือในศาสนา สิ่งเคารพบูชา มีแนวความคิด ความเชื่อถือ ความสนใจในเรื่องต่างๆ อย่างเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องมีความหนักแน่นเสมอกัน ปรับตัวเข้าหากันได้ ยอมลงให้กันได้ในทุกเรื่อง ได้แก่เรื่องศาสนา อุดมคติ หรือรสนิยมทางจิตวิญญาณ
๒. มีศีลสมกัน คือ มีความประพฤติ มีศีลธรรม จรรยา มารยาทพอเหมาะสอดคล้องไปกันได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ มีพื้นฐานการศึกษาอบรมใกล้เคียงกัน หรืออยู่ในระดับเดียวกัน
๓. มีจาคะสมกัน คือ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี มีใจกว้าง เสียสละ และพร้อมที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นในระดับที่เสมอกัน มีความเห็นกลมกลืน ไม่ขัดแย้ง
๔. มีปัญญาสมกัน คือ ใช้ปัญญาเป็นเข็มทิศในการครองคู่ ไม่ใช้อารมรณ์หรือความถือตนเป็นศูนย์กลางมาเป็นบรรทัดฐานในการใช้ ชีวิตคู่ จะตัดสินใจอะไรต้องปรึกษาหารือกันด้วยเหตุผล มีความเข้าอกเข้าใจและถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ดังนั้น การที่คนสองคนจะรักกันได้นั้นเพราะมีสาเหตุ สองประการ (อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างประกอบกัน) คือ (๑) .เคยเป็นคู่แท้กันมาแต่ปางก่อน (๒).เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในปัจจุบัน

เกตุดาราลองเคยวิเคราะห์ความรักของตัวเองกับนาเคนทร์นาคราชดู ก็ได้คำตอบว่า เหตุที่มารักกันได้ก็ตรงตามที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ในอดีตชาติเคยรักกันมาก่อนแต่อาจจะไม่ใช่คู่แท้กันมาแต่ปางก่อน เพราะเธอและนาเคนทร์นาคราชไม่ได้ครองคู่อยู่ด้วยกัน ทั้งทั้งที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันมา เมื่อเกิดในภพเดียวกัน จึงมีเหตุให้ต้องพลัดพรากจากกัน และไม่สมหวังในความรักทั้งในอดีตชาติ และในชาตินี้ และโดยเฉพาะในชาตินี้ยิ่งแล้วใหญ่เพราะมนุษย์จะไปใช้ชีวิตคู่กับพญานาคได้อย่างไร และประการสำคัญ เป็นพญานาคที่มีชายาแล้ว อาจจะเป็นเพราะว่าไม่ได้ทำบุญร่วมกันทั้งในอดีตชาติและในชาตินี้

เกตุดารานั่งคิด ใช้วิจารณญาณไตร่ตรอง ทบทวนไปมา ถึงความรักที่ไม่สมหวังของตน คิดไปคิดมาก็อับจนหนทางที่จะหาทางแก้ไข ถ้าจะไปแย่งสามีเขามาเธอก็ทำไม่ได้ ความคิดที่จะไปแย่งสามีของใครไม่เคยอยู่ในหัวสมองเลย เพราะความที่กลัวบาปและสงสารคนที่ถูกแย่งของรักของหวง เขาคงต้องเสียใจ และเจ็บแค้นจนกระทั่งผูกพยาบาทอาฆาตมาดร้าย ชีวิตคู่ที่ครองคู่อยู่ด้วยกันโดยไปแย่งสามีของคนอื่นคงจะไม่มีความสุขหรอก เพราะวันหนึ่งก็จะถูกแย่งไปบ้างเนื่องจากกรรมตามมาทันนั่นเอง วิธีการแก้ปัญหารักไม่สมหวัง โดยไปแย่งสามีของเขามาจึงไม่อยู่ในความคิดของเธอเลย แต่ด้วยได้ศึกษาธรรมะ ได้ถือศีลปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เป็นนิจศีล ผลบุญจากการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบจึงทำให้เธอพอจะคลายทุกข์ได้ และพยายามธำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและจริยธรรมอันงดงาม

เกตุดารานึกขอบคุณ ที่คุณพ่อและคุณแม่ พยายามปลูกฝังนิสัย “รักการอ่าน” ให้เธอมาตั้งแต่ยังเด็ก เธอจำได้ว่า เคยได้อ่านหนังสือชื่อ พุทธธรรม ของท่านพระอาจารย์ พระธรรมปิฎก ( ป.อ.ปยุตโต) ท่านสอนว่า พระไตรลักษณ์เป็นจุดกำเนิดของจริยธรรม เพราะไตรลักษณ์ ก็คือ ลักษณะโดยธรรมชาติ ๓ อย่างของสิ่งทั้งปวง ซึ่งได้แก่ (๑) อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง ไม่คงที่ ความไม่ยั่งยืน ภาวะที่เกิดขึ้นแล้ว เสื่อมแล้วสลายไป (๒) ทุกขตา คือความเป็นทุกข์ ภาวะที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว ไม่ให้ความพึงพอใจเต็มที่แก่ผู้อยากด้วยตัณหา แต่ก่อให้เกิดทุกข์แก่ผู้เข้าไปยึดด้วยตัณหาอุปทาน (๓) อนัตตา คือ ความไม่ใช่ตัวตน ความไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ล้วนตกอยู่ภายใต้กฎของพระไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
เกตุดาราอ่านและศึกษาจนเข้าใจ และเห็นคุณค่าทางจริยธรรมของพระไตรลักษณ์ในการใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุข โดยพยายามถือประโยชน์จากหลักอนิจจัง สองขั้นตอน คือ หนึ่ง เมื่อต้องพลัดพรากจากคนรัก ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ปรารถนา เพราะเป็นเรื่องของความไม่เที่ยงแท้ แน่นอน เมื่อมีพบก็ต้องมีพราก ไม่จากกันวันนี้ก็ต้องจากกันในวันหน้า เธอจึงสามารถบรรเทาหรือกำจัดทุกข์ลงได้ การใช้ประโยชน์จากหลักอนิจจังประการที่สองคือ การเร่ง ขวนขวายหางานทำ ดังนั้นเกตุดาราจึงมุ่งเรียนต่อ โดยตั้งใจเรียนอย่างดีที่สุด ด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ เพราะรู้ว่า ความเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปเองหรือเลื่อนลอย ทั้งนี้เพราะถ้าเกตุดาราไม่เร่งขวนขวายทำกิจที่ควรทำ ทั้งๆที่รู้ว่า สิ่งทั้งหลายไม่ยั่งยืน แต่ไม่ยอมทำอะไร ปล่อยชีวิตให้เลื่อนลอย ปล่อยอะไรๆไปตามเรื่อง เป็นการปฏิบัติผิดต่อหลักอนิจจัง และขัดกับพุทธโอวาทที่เป็นปัจฉิมวาจาว่า
“สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำกิจด้วยความไม่ประมาท”

แต่กระนั้นในบางเวลาเธอก็ยังคงทุกข์เพราะคิดถึงเจ้านาเคนทร์นาคราชเสียหนักหนา เกตุดาราจึงพยายามดับทุกข์โดยใช้ประโยชน์จากคุณค่าทางจริยธรรมของหลักทุกขตา ฝึกสติให้ รู้เท่าทันกิเลสคือความอยากพบ อยากเจอคนรัก โดยพยายามหักห้ามใจ เอาชนะใจตัวเองให้ได้เพราะรู้ว่า ความสุขจากการได้พบ ได้พูด ได้คุย ได้เห็นหน้าคนรักนั้นมันไม่ยั่งยืน จะต้องมีวันที่ความสุขแปรปรวนไปจากสภาพที่เป็นสุขเมื่อคนรักต้องจากไป ถ้าเธอถ้าไปหวังความสุขมากเท่าใด ความทุกข์ก็จะรุนแรงมากขึ้นตามอัตรา

ดังนั้น เธอจึงพยายามรักษา อิสรภาพของจิตใจของตนให้ได้ ไม่ยอมตกเป็นทาสของความคิดถึง เธอก็จะหลุดพ้นจากทุกข์และพบความสุขได้ เพราะความสุขมี ๒ ประเภท คือ (๑) ความสุขในการได้สนองความต้องการทางประสาททั้งห้า และสนองความคิด ความอยากต่างๆซึ่งเป็นความอยากตามอำนาจของกิเลส ตัณหา (๒) ความสุขในสภาวะจิตที่ปลอดโปร่งผ่องใส ปราศจากสิ่งข้องขัด กีดกั้น เช่นกิเลสต่างๆ เมื่อศึกษาธรรมะไปเรื่อยๆ เธอก็ยิ่งตระหนักว่า ความสุขประเภทแรก ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก วัตถุและอารมณ์ สำหรับสนองความต้องการ ส่วนลักษณะอาการของจิตใจในสภาพที่เกี่ยวข้องกับความสุขประเภทนี้ คือ การแสวงหาดิ้นรน กระวนกระวายเป็นอาการนำหน้าอย่างหนึ่ง และความรู้สึก ยึดติด คับแคบ หวงแหน ผูกพัน เฉพาะตัวอย่างหนึ่ง อาการเหล่านี้สำคัญมากในทางจริยธรรม เพราะเป็นอาการของความยึดอยาก หรือความเห็นแก่ตัว และเมื่อไม่จัดการควบคุมให้ดี ย่อมเป็นที่มาแห่งปัญหาต่างๆ

ความสุขประเภทที่สอง มีคุณค่าสูงสุดในทางจริยธรรม เรียกว่า นิรามิสสุข เป็นภาวะจิตที่โปร่งเบา ไม่ยึดติด ไม่คับแคบ เปิดกว้าง คุณธรรมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญก็คือ ความเป็นอิสระ ไม่เกาะเกี่ยวผูกพันเป็นทาส และมีปัญญา ความรู้ ความเข้าใจ ตามความเป็นจริง คุณธรรมทั้งสองอย่างแสดงออกในภาวะจิตที่เรียกว่า อุเบกขา คือภาวะจิตราบเรียบเป็นกลาง และมีปัญญา ความรู้ ความเข้าใจตามความเป็นจริง
ยิ่งไปกว่านั้น เธอยังโชคดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะยิ่งเมื่อหาหนังสือธรรมะ ที่เขียนโดยท่านพระพรหมคุณาภรณ์ของคุณแม่ที่ท่านสะสมไว้มาอ่าน เธอก็ยังได้เรียนรู้อีกว่า การแสวงหาความสุขที่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก วัตถุ และอารมณ์ เพื่อสนองความต้องการ ส่วนใหญ่จะเป็นการเข้าไปสัมพันธ์กับของคู่สัมพันธ์สองฝ่าย ได้แก่ บุคคลสองคน เช่น บุคคลที่อยากได้ของสิ่งเดียวกัน อยากได้คนๆเดียวกัน เป็นต้น ย่อมมีการแข่งขัน ต่อสู้ แย่งชิง เป็นอาการรูปต่างๆ ของความทุกข์ ยิ่งจัดการกับปัญหาด้วยความยึดอยากมากเท่าใด ความทุกข์ก็ยิ่งรุนแรงเท่านั้น แต่ถ้าจัดการด้วยปัญญามากเท่าใด ปัญหาก็จะหมดไปเท่านั้น ทุกข์ในธรรมชาติ หรือสังขารทุกข์ จึงแสดงผลออกมาเป็นความทุกข์ที่รู้สึกได้ในตัวคน เช่น
๑. เกิดความรู้สึกคับแคบ มืด ขุ่นมัว อึดอัด เร่าร้อน กระวนกระวาย กลัดกลุ้ม
๒. เกิดผลร้ายต่อบุคลิกภาพ และก่ออาการทางร่างกาย เช่น เกิดมีโรคภัยไข้เจ็บ
๓. ความทุกข์ที่เป็นอาการตามปกติทางร่างกาย อันเป็นธรรมดาสังขาร เช่น ความเจ็บปวดในยาม ป่วยไข้ จะทวีความรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะเป็นตามปกติของมัน เพราะความเข้าไปยึดติดด้วย ตัณหา อุปทาน เป็นการซ้ำเติมตนเองให้หนักยิ่งขึ้น
๔. เป็นการก่อความทุกข์ ความขัดแย้ง ความคับแคบ อึดอัด ขุ่นมัว ให้เกิดแก่คนอื่น ๆขยายกว้างออกไป
๕. เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่ละคนต่างระดมสร้างกิเลสขึ้นมาปิดกั้น แยกตัวเองด้วยความเห็นแก่ตัว ความขัดแย้งต่างๆ ก็เกิดเพิ่มพูนมากขึ้น สังคมก็เสื่อมโทรมเดือดร้อน เพราะผลกรรมร่วมกันของคนในสังคม
นี่คือความทุกข์เพราะการยึดมั่น ถือมั่น

เกตุดาราพยายามอย่างยิ่งที่จะปล่อยวาง ซึ่งบางเวลาเธอก็ปล่อยวางได้บ้าง แต่บางเวลาเมื่อเผลอสติใจก็หวนคิดถึงคนรักเสียหนักหนา โดยเฉพาะเมื่อปิดภาคเรียนภาคแรก เมื่อมีเวลาว่างมาก ใจก็คิดฟุ้งซ่าน ไม่สามารถตัดใจจากคนรักได้ ประกอบกับมีสัญญาใจที่จะกลับไปเมืองไทยเพื่อจะพากันไปทำบุญ โดยหวังว่ากุศลผลบุญที่ได้ทำร่วมกันจะช่วยให้ความรักของเธอกับเจ้านาเคนทร์นาคราชสมหวังได้ ไม่ว่าในชาตินี้หรือชาติหน้า เมื่อไม่สามารถหักอกหักใจให้เลิกคิดถึงคนรักได้ เธอจึงตัดสินใจขออนุญาตคุณพ่อคุณแม่กลับเมืองไทยในช่วงปิดภาคเรียน โดยเรียนท่านว่าจะมาหาข้อมูลที่เมืองไทย เพื่อใช้ในการทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งเธอก็นึกละอายใจอยู่บ้างที่ไม่ได้เรียนความจริงให้ท่านทราบ แต่ก็ยังสบายใจอยู่บ้างว่าเธอก็ไม่ได้โกหกท่าน เพราะเธอก็ตั้งใจมาหาข้อมูลจริง เพียงแต่เธอบอกความจริงท่านทั้งสองเพียงครึ่งเดียว นึกเสียใจที่ต้องปกปิดท่านเรื่องเจ้านาเคนทร์นาคราช ดังนั้นจึงสัญญากับตัวเองว่าจะขอไถ่โทษ โดยการจะตั้งใจเรียนให้ดีที่สุด เพื่อไปเป็นอาจารย์ที่ดี และจะยึดแนวคำสอนที่ว่า “การปฏิบัติงาน คือการปฏิบัติธรรม”เป็นหลักในการดำรงชีวิต


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร