วันเวลาปัจจุบัน 15 พ.ค. 2025, 15:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านนิทาน จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=5



กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ธ.ค. 2009, 19:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


ชาดก คือ ?

ชาดก คือ เรื่องราวของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งที่เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ พระองค์เสวยพระชาติต่างๆ เป็นมนุษย์บ้าง อมนุษย์บ้าง เทวดาบ้าง สัตว์บ้าง เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ผู้ใดจะทรงยกชาดก ซึ่งเป็นนิทานอิงธรรมมาเล่าเป็นบุคคลาธิษฐาน คือเป็นวิธีการสอนแบบยกเอาเรื่องราวนิทานมาประกอบ เพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย แทนที่จะสอนธรรมะกันตรงๆ
ประเภทของชาดก มี 2 ประเภทคือ
1. ชาดกนิบาต
2. ชาดกนอกนิบาต
ชาดกในนิบาต หรือที่เรียกว่า นิบาตชาดก หมายถึงชาดกทั้ง 547 เรื่องที่มีอยู่ในคัมภีร์ขุททกนิกาย ของพระสุตตันตปิฎก หนึ่งในตะกร้า 3 ใบ(พระไตรปิฎก)
นิบาตชาดกแต่งเป็นคาถาคือคำฉันท์ล้วนๆโดยจะมีการแต่งขยายความเป้นร้อยแก้ว เป็นอรรถกถาชาดก
เหตุที่เรียกว่า นิบาตชาดก ก็เพราะว่า ชาดกในพระไตรปิฎกนี้จะถูกจัดหมวดหมู่ตามจำนวนคาถา มีทั้งหมด 22 หมวด หรือ 22 นิบาต นิบาตสุดท้ายคือ นิบาตที่ 22 ประกอบด้วยชาดก 10 เรื่อง หรือที่เรียกว่า "ทศชาติชาดก"
ชาดกนอกนิบาต หมายถึง ชาดกที่ไม่ปรากฎในคัมภีร์พระไตรปิฎก เป็นชาดกที่ภิกษุชาวเชียงใหม่ได้รวบรวมเรื่องราวมาจากนิทานพื้นบ้านไทยมาแต่งเป็นชาดก ขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.2000-2200 ชาดกนี้เรียกอีกชื่อว่า "ปัญญาสชาดก"แปลว่า ชาดก 50 เรื่อง และรวมกับเรื่องในปัจฉิมภาคอีก 11 เรื่อง รวมเป็น 61 เรื่อง




ขอยกคำอธิบายด้วยข้อมูลในพระไตรปิฎก ดังนี้

.......


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ สุตตันตปิฎกที่ ๑๙ ขุททกนิกายชาดก ภาค ๑


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เป็นภาคแรกของชาดก ได้กล่าวถึงคำสอนทางพระพุทธศาสนา อันมีลักษณะเป็นนิทานสุภาษิต แต่ในตัวพระไตรปิฎกไม่มีเล่าเรื่องไว้ มีแต่คำสุภาษิต รวมทั้งคำโต้ตอบในนิทาน เรื่องละเอียดมีเล่าไว้ในอรรถกถา คือหนังสือที่แต่งขึ้นอธิบายพระไตรปิฎกอีกต่อหนึ่ง
คำว่า ชาตก หรือ ชาดก แปลว่า ผู้เกิด คือเล่าถึงการที่พระพุทธเจ้าทรงเวียนว่ายตายเกิด ถือเอากำเนิดในชาติต่างๆ ได้พบปะผจญกับเหตุการณ์ดีบ้างชั่วบ้าง แต่ก็ได้พยายามทำความดีติดต่อกันมากบ้างน้อยบ้างตลอดมา จนเป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย กล่าวอีกอย่างหนึ่ง จะถือว่า เรื่องชาดก เป็นวิวัฒนาการแห่งการบำเพ็ญคุณงามความดีของพระพุทธเจ้า ตั้งแต่ยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็ได้ ในอรรถกถาแสดงด้วยว่า ผู้นั้นผู้นี้กลับชาติมาเกิดเป็นใครในสมัยพระพุทธเจ้า แต่ในบาลีพระไตรปิฎกกล่าวถึงเพียงบางเรื่อง เพราะฉะนั้น สาระสำคัญจึงอยู่ที่คุณงามความดีและอยู่ที่คติธรรมในนิทานนั้นๆ
อนึ่ง เป็นที่ทราบกันว่าชาดกทั้งหมดมี ๕๕๐ เรื่อง แต่เท่าที่ได้ลองนับดูแล้วปรากฏว่า ในเล่มที่ ๒๗ มี ๕๒๕ เรื่อง, ในเล่มที่ ๒๘ มี ๒๒ เรื่อง รวมทั้งสิ้นจึงเป็น ๕๔๗ เรื่อง ขาดไป ๓ เรื่อง แต่การขาดไปนั้น น่าจะเป็นด้วยในบางเรื่องมีนิทานซ้อนนิทาน และไม่ได้นับเรื่องซ้อนแยกออกไปก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนที่นับได้ จัดว่าใกล้เคียงมาก




พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ สุตตันตปิฎกที่ ๒๐ ขุททกนิกายชาดก ภาค ๒


ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๗ เป็นเล่มที่รวมเรื่องชาดกที่เล็กๆน้อยๆรวมกันถึง ๕๒๕ เรื่อง แต่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๘ นี้มีเพียง ๒๒ เรื่อง เพราะเป็นเรื่องยาวๆทั้งนั้น โดย ๑๒ เรื่องแรกเป็นเรื่องที่มีคำฉันท์ ส่วน ๑๐ เรื่องหลัง คือเรื่องที่เรียกว่า มหานิบาตชาดก แปลว่า ชาดกที่ชุมนุมเรื่องใหญ่ หรือที่โบราณเรียกว่า ทศชาติ


......


ข้อมูลจาก : พระไตรปิฎกฉบับประชาชน อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ


:b47: :b46: :b47: :b46: :b47: :b46: :b47: :b46: :b47: :b46: :b47: :b46: :b47: :b46: :b47:

ทศชาติชาดก เป็นชาดกที่สำคัญ กล่าวถึง 10 ชาติสุดท้ายของพระโพธิสัตว์ ก่อนจะเสวยพระชาติมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้า หรือเจ้าชายสิทธัตถะแห่งศากยวงศ์


ชาดกทั้ง 10 เรื่อง มีดังนี้


ชาติที่ 1 เตมีย์ชาดก เพื่อบำเพ็ญเนกขัมมบารมี
ชาติที่ 2 ชนกชาดก เพื่อบำเพ็ญวิริยบารมี
ชาติที่ 3 สุวรรณสามชาดก เพื่อบำเพ็ญเมตตาบารมี
ชาติที่ 4 เนมิราชชาดก เพื่อบำเพ็ญอธิษฐานบารมี
ชาติที่ 5 มโหสถชาดก เพื่อบำเพ็ญปัญญาบารมี
ชาติที่ 6 ภูริทัตชาดก เพื่อบำเพ็ญศีลบารมี
ชาติที่ 7 จันทชาดก เพื่อบำเพ็ญขันติบารมี
ชาติที่ 8 นารทชาดก เพื่อบำเพ็ญอุเบกขาบารมี
ชาติที่ 9 วิทูรชาดก เพื่อบำเพ็ญสัจจบารมี
ชาติที่ 10 เวสสันดรชาดก เพื่อบำเพ็ญทานบารมี


เพื่อให้จำง่าย มักนิยมท่องโดยใช้พยางค์แรกของแต่ละชาติ คือ เต ช สุ เน ม ภู จ นา วิ เว
สำหรับชาติสุดท้าย เป็นชาติที่สำคัญ และบำเพ็ญบารมีอันยิ่งใหญ่ คือ เวสสันดรชาดก หรือเรื่องพระเวสสันดร

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แก้ไขล่าสุดโดย Bwitch เมื่อ 06 ธ.ค. 2009, 21:50, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ธ.ค. 2009, 19:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

๑. เ ต มี ย์ ช า ด ก - ( พระเตมีย์ใบ้ )


พระเจ้ากาสิกราช ครองเมืองพาราณสี มีพระมเหสี พระนามว่า จันทรเทวี พระราชาไม่มีพระโอรสที่จะครองเมืองสืบต่อจากพระองค์ จึงโปรดให้พระมเหสีทำพิธีขอพระโอรสจากเทพเจ้า พระมเหสีจึงทรงอธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าได้รักษาศีลบริสุทธิ์ตลอดมา ขอให้บุญกุศลนี้ บันดาลให้ข้าพเจ้ามีโอรสเถิด”
ด้วยอานุภาพแห่งศีลบริสุทธิ์ พระนางจันทรเทวีทรงครรภ์ และประสูติพระโอรสสมดังความปรารถนา พระโอรสมีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก ทั้งพระราชาพระมเหสี และประชาชนทั้งหลาย มีความยินดีเป็นที่สุด พระราชาจึงตั้งพระนามโอรสว่า เตมีย์ แปลว่า เป็นที่ยินดีของคนทั้งหลาย
บรรดาพราหมณ์ผู้รู้วิชาทำนายลักษณะบุคคล ได้กราบทูลพระราชาว่า พระโอรสองค์นี้มีลักษณะประเสริฐ เมื่อเติบโตขึ้น จะได้เป็นพระราชาธิราชของมหาทวีปทั้งสี่ พระราชาทรงยินดีเป็นอย่างยิ่ง และทรงเลือกแม่นมที่มีลักษณะดีเลิศตามตำรา จำนวน ๖๔ คน เป็นผู้ปรนนิบัติเลี้ยงดูพระเตมีย์กุมาร

วันหนึ่ง พระราชาทรงอุ้มพระเตมีย์ไว้บนตัก ขณะที่กำลังพิพากษาโทษผู้ร้าย ๔ คน พระราชาตรัสสั่งให้เอาหวายที่มีหนามแหลมคมมาเฆี่ยนผู้ร้ายคนหนึ่ง แล้วส่งไปขังคุก ให้เอาฉมวกแทงศีรษะผู้ร้ายคนที่สาม และให้ใช้หลาว เสียบผู้ร้ายคนสุดท้าย
พระเตมีย์ซึ่งอยู่บนตักพระบิดาได้ยินคำพิพากษาดังนั้น ก็มีความตกใจหวาดกลัว ทรงคิดว่า "ถ้าเราโตขึ้น ได้เป็นพระราชา เราก็คงต้องตัดสินโทษผู้ร้ายบ้าง และคงต้องทำบาป เช่นเดียวกันนี้ เมื่อเราตายไป ก็จะต้องตกนรกอย่างแน่นอน"

เนื่องจากพระเตมีย์เป็นผู้มีบุญ จึงรำลึกชาติได้ และทรงทราบว่า ในชาติก่อน ได้เคยเป็นพระราชาครองเมือง และได้ตัดสินโทษผู้ร้ายอย่างเดียวกันนี้ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ จึงต้องตกนรกอยู่ถึงเจ็ดพันปี ได้รับความทุกข์ทรมานเป็นอันมาก พระเตมีย์ทรงมีความหวาดกลัวอย่างยิ่ง ทรงรำพึงว่า "ทำอย่างไรหนอ เราจึงจะไม่ต้องทำบาป และไม่ต้องตกนรกอีก”

ขณะนั้น เทพธิดาที่รักษาเศวตฉัตร ได้ยินคำรำพึงของพระเตมีย์ จึงปรากฏกายให้พระองค์เห็นและแนะนำพระเตมีย์ว่า “หากพระองค์ทรงหวั่นที่จะกระทำบาป ทรงหวั่นเกรงว่าจะตกนรก ก็จงทำเป็นหูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อยเปลี้ย อย่าให้ชนทั้งหลายรู้ว่าพระองค์เป็นคนฉลาด เป็นคนมีบุญ พระองค์จะต้องมีความอดทน ไม่ว่าจะได้รับความเดือดร้อนอย่างใด ก็ต้องแข็งพระทัย ต้องทรงต่อสู้กับพระทัยตนเองให้จงได้ อย่ายอมให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดมาชักจูงใจพระองค์ไปจากหนทางที่พระองค์ตั้งพระทัยไว้”

พระเตมีย์กุมารได้ยินเทพธิดาว่าดังนั้น ก็ดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า "ต่อไปนี้ เราจะทำตนเป็นคนใบ้ หูหนวก และง่อยเปลี้ย ไม่ว่าจะมีเรื่องอันใดเกิดขึ้น เราก็จะไม่ละความตั้งใจเป็นอันขาด”


นับแต่นั้นมา พระเตมีย์ก็ทำพระองค์เป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อย ไม่ร้อง ไม่พูด ไม่หัวเราะ และไม่เคลื่อนไหวร่างกายเลย พระราชาและพระมเหสีทรงมีความวิตกกังวล ในอาการของพระโอรส ตรัสสั่งให้พี่เลี้ยงและแม่นมทดลองด้วยอุบายต่างๆ เช่น ให้อดนม พระเตมีย์ก็ทรงอดทน ไม่ร้องไห้ ไม่แสดงความหิวโหย ครั้นพระราชาให้พี่เลี้ยงเอาขนมล่อ พระเตมีย์ก็ไม่สนพระทัย นิ่งเฉยตลอดเวลา
พระราชาทรงมีความหวังว่า พระโอรสคงไม่ได้หูหนวก เป็นใบ้ และง่อยเปลี้ยจริง จึงโปรดให้ทดลองด้วยวิธีต่างๆเป็นลำดับ
เมื่ออายุ ๒ ขวบ เอาผลไม้มาล่อ พระกุมารก็ไม่สนพระทัย
อายุ ๔ ขวบ เอาของเสวยรสอร่อยมาล่อ พระกุมารก็ไม่สนพระทัย
อายุ ๕ ขวบ พระราชาให้เอาไฟมาขู่ พระเตมีย์ก็ไม่แสดงความตกใจกลัว
อายุ ๖ ขวบ เอาช้างมาขู่
อายุ ๗ ขวบ เอางูมาขู่ พระเตมีย์ก็ไม่หวาดกลัว ไม่ถอยหนีเหมือนเด็กอื่นๆ


พระราชาทรงทดลองด้วยวิธีการต่างๆเรื่อยมา จนพระเตมีย์อายุได้ ๑๖ พรรษา ก็ไม่ได้ผล พระเตมีย์ยังทรงทำเป็นหูหนวก ทำเป็นใบ้ และไม่เคลื่อนไหวเลย ตลอดเวลา ๑๖ ปี ในที่สุด พระราชาก็ให้หาบรรดาพราหมณ์และที่ปรึกษาทั้งหลายมา และตรัสถามว่า “พวกเจ้าเคยทำนายว่า ลูกเราจะเป็นผู้มีบุญ เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อลูกเรามีอาการเหมือนคนหูหนวก เป็นใบ้ และเป็นง่อยเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรดี”
พราหมณ์และที่ปรึกษาทั้งหลาย พากันกราบทูลว่า “เมื่อตอนที่ประสูตินั้น พระโอรสมีลักษณะเป็นผู้มีบุญ แต่บัดนี้ เมื่อได้กลับกลายเป็นคนหูหนวก เป็นใบ้ เป็นง่อย ก็กลายเป็นกาลกิณี จะทำให้บ้านเมืองและประชาชนเดือดร้อน ขอให้พระองค์สั่งให้นำพระโอรสไปฝังที่ป่าช้าเถิดพะย่ะค่ะ จะได้สิ้นอันตราย”

พระราชาได้ยินดังนั้นก็ทรงเศร้าพระทัยด้วยความรักพระโอรส แต่ก็ไม่อาจแก้ไขอย่างไรได้ เพราะเป็นห่วงบ้านเมืองและประชาชน จึงต้องทรงทำตามคำกราบของพราหมณ์และที่ปรึกษาทั้งหลาย
พระนางจันทเทวีทรงทราบว่า พระราชาให้นำพระโอรสไปฝังที่ป่าช้า ก็ทรงร้องไห้คร่ำครวญว่า “พ่อเตมีย์ลูกรักของแม่ แม่รู้ว่าลูกไม่ใช่คนง่อยเปลี้ย ไม่ใช่คนหูหนวก ไม่ใช่คนใบ้ ลูกอย่าทำอย่างนี้เลย แม่เศร้าโศกมาตลอดเวลา ๑๖ ปีแล้ว ถ้าลูกถูกนำไปฝัง แม่คงเศร้าโศกจนถึงตายได้นะลูกรัก”
พระเตมีย์ได้ยินดังนั้น ก็ทรงสงสารพระมารดาเป็นอันมาก ทรงสำนึกในพระคุณของพระมารดา แต่ในขณะเดียวกันก็ทรงรำลึกว่า พระองค์ตั้งพระทัยไว้ว่า จะไม่ทำการใดที่จะทำให้ต้องไปสู่นรกอีก จะไม่ทรงยอมละความตั้งใจที่จะทำเป็นใบ้ หูหนวก และเป็นง่อย จะไม่ยอมให้สิ่งใดมาชักจูงใจพระองค์ไปจากหนทางที่ทรงวางไว้แล้วนั้นเป็นอันขาด

พระราชาได้ตรัสสั่งให้นายสารถีชื่อ สุนันทะ นำพระเตมีย์ขึ้นรถเทียมม้า พาไปที่ป่าช้าผีดิบ ให้ขุดหลุม แล้วเอาพระเตมีย์โยนลงไปในหลุม เอาดินกลบเสียให้ตาย นายสุนันทะจึงอุ้มพระเตมีย์ขึ้นรถเทียมม้า พาไปที่ป่าช้าผีดิบ

เมื่อไปถึงป่าช้า นายสุนันทะก็เตรียมขุดหลุมจะฝังพระเตมีย์ พระเตมีย์กุมารประทับอยู่บนราชรถ ทรงรำพึงว่า "“บัดนี้เราพ้นจากความทุกข์ ว่าจะต้องเป็นพระราชา พ้นความทุกข์ ว่าจะต้องทำบาป เราได้อดทนมาตลอดเวลา ๑๖ ปี ไม่เคยเคลื่อนไหวร่างกายเลย เราจะลองดูว่า เรายังคงเคลื่อนไหวได้หรือไม่ มีกำลังร่างกายสมบูรณ์หรือไม่” รำพึงแล้ว พระเตมีย์ก็เสด็จลงจากราชรถ ทรงเคลื่อนไหวร่างกาย ทดลองเดินไปมา ก็ทราบว่า ยังคงมีกำลังร่างกายสมบูรณ์เหมือนคนปกติ ทดลองยกราชรถ ก็ปรากฏว่า ทรงมีกำลังยกราชรถขึ้นกวัดแกว่งได้อย่างง่ายดาย พระเตมีย์จึงทรงเดินไปหานายสุนันทะที่กำลังก้มหน้าก้มตาขุดหลุมอยู่ ตรัสถามนายสุนันทะว่า “ท่านเร่งรีบขุดหลุมไปทำไม” นายสุนันทะตอบคำถามโดยไม่ได้เงยหน้าขึ้นดู ว่า "“เราขุดหลุมจะฝังพระโอรส ของพระราชา เพราะพระโอรสเป็นง่อย เป็นใบ้ และหูหนวก พระราชาตรัสสั่งให้ฝังเสีย จะได้ไม่เป็นอันตรายแก่บ้านเมือง” พระเตมีย์ก็ตรัสว่า "“เราไม่ได้เป็นใบ้ ไม่ได้หูหนวก และไม่ง่อยเปลี้ย จงเงยขึ้นดูเราเถิด ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็จะประพฤติสิ่งที่ไม่เป็นธรรม"

นายสารถีเงยขึ้นดู เห็นพระเตมีย์ก็จำไม่ได้ จึงถามว่า “ท่านเป็นใคร ท่านมีรูปร่าง งามราวกับเทวดา ท่านเป็นเทวดาหรือ หรือว่าเป็นมนุษย์ ท่านเป็นลูกใคร ทำอย่างไร เราจึงจะรู้จักท่าน”
พระเตมีย์ตอบว่า “เราคือเตมีย์กุมาร โอรสพระราชาผู้เป็นนายของท่าน ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็จะได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม พระราชาเปรียบเหมือนต้นไม้ ตัวเราเปรียบเหมือนกิ่งไม้ ท่านได้อาศัยร่มเงาไม้ ถ้าท่านฝังเราเสีย ท่านก็ได้ชื่อว่า ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”

นายสารถียังไม่เชื่อว่าเป็นพระกุมารที่ตนพามา พระเตมีย์ทรงประสงค์จะให้นายสารถีเชื่อ จึงตรัสอธิบายให้เห็นว่า หากนายสารถีจะฝังพระองค์ ก็ได้ชื่อว่าทำร้ายมิตร ทรงอธิบายว่า “ผู้ไม่ทำร้ายมิตร จะไปที่ได ก็มีคนคบหามาก จะไม่อดอยาก ไปที่ใดก็มีผู้สรรเสริญบูชา โจรจะไม่ข่มเหง พระราชาไม่ดูหมิ่น จะเอาชนะศัตรูทั้งปวงได้ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร เมื่อมาถึงบ้านเรือนของตน หมู่ญาติและประชาชน จะพากันชื่นชมยกย่อง ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ย่อมได้รับการสักการะ เพราะเมื่อสักการะท่านแล้ว ย่อมได้รับการสักการะตอบ เมื่อเคารพบูชาท่านแล้ว ย่อมได้รับการเคารพตอบ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ย่อมรุ่งเรืองเหมือนกองไฟรุ่งโรจน์ ดังเทวดา เป็นผู้มีมิ่งขวัญสิริมงคลประจำตนอยู่เสมอ ผู้ไม่ทำร้ายมิตร จะทำการใดก็สำเร็จผล โคจะมีลูกมาก หว่านพืชลงในนา ก็จะงอกงาม แม้จะพลัดตกเหว ตกจากภูเขา ตกจากต้นไม้ ก็จะไม่เป็นอันตราย ผู้ไม่ทำร้ายมิตร ศัตรูไม่อาจข่มเหงได้ เพราะเป็นผู้มีมิตรมาก เปรียบเหมือนต้นไทรใหญ่ที่มีราก ติดต่อพัวพัน ลมแรงก็ไม่อาจทำร้ายได้”

นายสารถีได้ยินพระเตมีย์ตรัส ยิ่งเกิดความสงสัย จึงเดินมาดูที่ราชรถ ก็ไม่เห็นพระกุมารที่ตนพามา ครั้นเดินกลับมา พินิจพิจารณาพระเตมีย์อีกครั้งก็จำได้ จึงทูลว่า "ข้าพเจ้าจะพาพระองค์กลับวัง ขอเชิญเสด็จกลับไป ครองพระนครเถิด”

พระเตมีย์ตรัสตอบว่า “เราไม่กลับไปวังอีกแล้ว เราได้ตัดขาดจากความยินดีในสมบัติทั้งหลาย เราได้ตั้งความอดทนมาเป็นเวลาถึง ๑๖ ปี อันราชสมบัติทั้งพระนครและความสุขความรื่นเริงต่างๆ เป็นของน่าเพลิดเพลิน แต่ว่าเราไม่ปรารถนาจะหลงอยู่ในความเพลิดเพลินนั้น ไม่ปรารถนาจะกระทำบาปอีก เราจะไม่ก่อเวรให้เกิดขึ้นอีกแล้ว บัดนี้เราพ้นจากภาระนั้นแล้ว เพราะพระบิดาพระมารดา ปล่อยเราให้พ้นจากราชสมบัติมาแล้ว เราพ้นจากความหลงใหลในกิเลสทั้งหลาย เราจะขอบวชอยู่ในป่านี้แต่ลำพัง เราต่อสู้ได้ชัยชนะในจิตใจของเราแล้ว"

เมื่อตรัสดังนั้น พระเตมีย์กุมารมีความชื่นชมยินดีอย่างยิ่ง รำพึงกับพระองค์เองว่า
"ผู้ที่ไม่ใจเร็วด่วนได้ ผู้ที่มีความอดทน ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี”

นายสุนันทะสารถีได้ฟังก็เกิดความยินดี ทูลพระเตมีย์ว่า จะขอบวชอยู่กับพระเตมีย์ในป่า แต่พระองค์เห็นว่า หากนายสารถีไม่กลับไปเมือง จะเกิดความสงสัยว่าพระองค์ หายไปไหน ทั้งนายสารถี ราชรถ เครื่องประดับทั้งปวงก็สูญหายไป ควรที่นายสารถีจะนำสิ่งของทั้งหลายกับไปพระราชวัง ทูลเรื่องราวให้พระราชาทรงทราบเสียก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาบวชเมื่อหมดภาระ นายสุนันทะจึงกลับไปกราบทูลพระราชาว่า พระเตมีย์กุมาร มิได้วิกลวิการ แต่ทรงมีรูปโฉมงดงามและตรัสได้ไพเราะ เหตุที่แสร้งทำเป็นคนพิการก็เพราะไม่ปรารถนาจะครองราชสมบัติ ไม่ปรารถนาจะก่อเวรทำบาปอีกต่อไป

เมื่อพระราชาและพระมเหสีได้ทรงทราบ ก็ทรงปลื้มปิติยินดี โปรดให้จัดกระบวนไปรับพระเตมีย์กลับจากป่า ขณะนั้น พระเตมีย์ทรงผนวชแล้ว ประทับอยู่ในบรรณศาลาซึ่งเทวดาเนรมิตไว้ให้ เมื่อพระบิดาพระมารดาเสด็จไปถึง พระเตมีย์จึงเสด็จมาต้อนรับ ทักทายปราศรัยกันด้วยความยินดี พระราชาเห็นพระโอรสผนวชเป็นฤาษี เสวยใบไม้ลวก เป็นอาหาร และประทับอยู่ลำพังในป่า จึงตรัสถามว่า เหตุใดจึงยังมีผิวพรรณผ่องใส ร่างกายแข็งแรง พระเตมีย์ตรัสตอบพระบิดาว่า "อาตมามีร่างกายแข็งแรง ผิวพรรณผ่องใส เพราะไม่ต้องเศร้าโศกถึงอดีต ไม่ต้องรอคอยอนาคต อาตมาใช้ชีวิตให้เป็นไปตามที่สมควรในปัจจุบัน คนพาลนั้นย่อมซูบซีดเพราะมัวโศกเศร้าถึงอดีต เพราะมัวรอคอยอนาคต”
พระราชาตรัสตอบว่า “ลูกยังหนุ่มยังแน่นแข็งแรง จะมามัวอยู่ทำอะไรในป่า กลับไปบ้านเมืองเถิดกลับ ไปครองราชสมบัติ มีโอรสธิดา เมื่อชราแล้ว จึงค่อยมาบวช”
พระเตมีย์ตรัสตอบว่า "การบวชของคนหนุ่มย่อมเป็นที่สรรเสริญ ใครเล่าจะนอนใจได้ว่ายังเป็นหนุ่ม ยังอยู่ไกลจากความตาย อายุคนนั้นสั้นนัก เหมือนอายุของปลาในเวลาที่น้ำน้อย”

พระราชาตรัสขอให้พระเตมีย์กลับไปครองราชสมบัติ ทรงกล่าวชักชวนให้นึกถึงความสุขสบายต่างๆ พระเตมีย์จึงตรัสตอบว่า "วันคืนมีแต่จะล่วงเลยไป ผู้คนมีแต่จะแก่ เจ็บและตาย จะเอาสมบัติไปทำอะไร ทรัพย์สมบัติและความสุขทั้งหลายเอาชนะความตายไม่ได้ อาตมาพ้นจากความผูกพันทั้งหลายแล้ว ไม่ต้องการทรัพย์สมบัติอีกแล้ว"

เมื่อพระราชาได้ยินดังนั้น จึงเห็นประโยชน์อันใหญ่ยิ่งในการออกบวช ทรงประสงค์ที่จะละทิ้งราชสมบัติออกบวช พระมเหสี และเสนาข้าราชบริพารทั้งปวง รวมทั้งบรรดาประชาชนทั้งหลายในเมืองพาราณสี ก็พร้อมใจกันออกบวช บำเพ็ญเพียรโดยทั่วหน้ากัน เมื่อตายไปก็ได้ไปเกิดในสวรรค์ พ้นจากความผูกพันในโลกมนุษย์ ทั้งนี้เป็นด้วยพระเตมีย์กุมารทรงมีความอดทน มีความตั้งใจอันมั่นคงแน่วแน่ในการที่ไม่ก่อเวรทำบาป ทรงมุ่งมั่นอดทน จนประสบผลสำเร็จดังที่หวัง เหมือนดังที่ทรงรำพึงว่า “ผู้ที่ไม่ใจเร็วด่วนได้ ผู้ที่มีความอดทน ย่อมได้รับผลสำเร็จด้วยดี”




คติธรรม : บำเพ็ญเนกขัมมบารมี


“เมื่อมีประสงค์ในสิ่งใด ก็สมควรมุ่งมั่นตั้งใจกระทำตามความมุ่งหมายนั้นอย่างหนักแน่น อดทนอย่างเพียรพยายามเป็นที่สุด และความพากเพียรอันเด็ดเดี่ยวแน่วแน่นั้น ย่อมนำบุคคลนั้นไปสู่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง”

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ธ.ค. 2009, 20:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

๒. ช น ก ช า ด ก - ( พระมหาชนก )


ณ เมืองมิถิลาแห่งรัฐวิเทหะ พระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระเจ้ามหาชนก ทรงมีพระโอรสสององค์ คือ เจ้าอริฏฐชนก และ เจ้าโปลชนก , เจ้าอริฏฐชนกทรงเป็นอุปราช ส่วนเจ้าโปลชนกทรงเป็นเสนาบดี เมื่อพระราชบิดาสวรรคต เจ้าอริฏฐชนกผู้เป็นอุปราช ก็ได้ครองบ้านเมือง ต่อมา เจ้าโปลชนกทรงเป็นอุปราช ทรงเอาใจใส่ดูแลบ้านเมืองช่วยเหลือพระเชษฐาอย่างดียิ่ง มีอำมาตย์คนหนึ่งไม่พอใจพระเจ้าโปลชนก จึงหาอุบายให้พระราชาอริฏฐชนกระแวงพระอนุชา โดยทูลพระราชาว่า เจ้าโปลชนกคิดขบถ จะปลงพระชนม์พระราชา พระราชาทรงเชื่อคำอำมาตย์ จึงให้จับเจ้าโปลชนกไปขังไว้ เจ้าโปลชนกเสด็จหนีไปจากที่คุมขังได้ หลบไปอยู่ที่ชายแดนเมืองมิถิลา เจ้าโปลชนกทรงคิดว่า เมื่อครั้งที่ยังเป็นอุปราชนั้น มิได้เคยคิดร้ายต่อพระราชาผู้เป็นพี่เลย แต่ก็ยังถูกระแวงจนต้องหนีมา ถ้าพระราชาทรงรู้ว่าอยู่ที่ไหน ก็คงให้ทหารมาจับไปอีกจนได้ บัดนี้ผู้คนมากมายที่ชายแดนที่เห็นใจและพร้อมที่จะเข้าเป็นพวกด้วย ควรที่จะรวบรวมผู้คนไปโจมตีเมืองมิถิลาเสียก่อนจึงจะดีกว่า
เมื่อคิดดังนั้นแล้ว เจ้าโปลชนกก็พาสมัครพรรคพวก ยกเป็นกองทัพไปล้อมเมืองมิถิลา บรรดาทหารแห่งเมืองมิถิลาพากันเข้ากับเจ้าโปลชนกอีกเป็นจำนวนมาก เพราะเห็นว่าเจ้าโปลชนก เป็นผู้ซื่อสัตย์และมีความสามารถ แต่กลับถูกพระราชาระแวง และจับไปขังไว้โดยไม่ยุติธรรม

ครั้นเมื่อเจ้าโปลชนกมีผู้คนไพร่พลเข้าสมทบด้วยเป็นจำนวนมากมายเช่นนี้ พระเจ้าอริฏฐชนกทรงเห็นว่า ไม่มีทางจะเอาชนะได้ จึงตรัสสั่งพระมเหสีซึ่งกำลังทรงครรภ์แก่ ให้ทรงหลบหนีเอาตัวรอด ส่วนพระองค์เองทรงออกทำสงคราม และสิ้นพระชนม์ในสนามรบ เจ้าโปลชนกจึงทรงได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองมิถิลาสืบต่อมา

ฝ่ายพระมเหสีของพระเจ้าอริฏฐชนก เสด็จหนีออกจากเมืองมา ตั้งพระทัยจะเสด็จไปอยู่เมืองกาลจัมปากะ แต่กำลังทรงครรภ์แก่ เดินทางไม่ไหว ด้วยเดชานุภาพแห่งพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในพระครรภ์ พระอินทร์จึงเสด็จมาช่วย ทรงแปลงกายเป็นชายชราขับเกวียนมาที่ศาลาที่พระนางพักอยู่ และถามขึ้นว่า “มีใครจะไปเมืองกาลจัมปากะบ้าง” พระนางดีพระทัยรีบตอบว่า “ลุงจ๋า ฉันจะไปจ้ะ”
พระอินทร์แปลง จึงรับพระนางขึ้นเกวียน พาเดินทางไปเมืองกาลจัมปากะ ด้วยอานุภาพเทวดา แม้ระยะทางไกลถึง ๖๐ โยชน์ เกวียนนั้นก็เดินทางไปถึงเมืองในชั่ววันเดียว พระมเหสีเสด็จไปนั่งพักอยู่ในศาลาแห่งหนึ่งในเมืองนั้น บังเอิญมีพราหมณ์ทิศาปาโมกข์ผู้หนึ่งเดินผ่านมาเห็นพระนางเข้า ก็เกิดความเอ็นดูสงสาร จึงเข้าไปไต่ถาม พระนางก็ตอบว่า หนีมาจากเมืองมิถิลา และไม่มีญาติพี่น้องอยู่ที่เมืองนี้เลย
พราหมณ์ทิศาปาโมกข์จึงรับพระนางไปอยู่ด้วยที่บ้านของตน อุปการะเลี้ยงดูพระนางเหมือนเป็นน้องสาว ไม่นานนัก พระนางก็ประสูติพระโอรส ทรงตั้งพระนามว่า มหาชนกกุมาร ซึ่งเป็นพระนามของพระอัยกาของพระกุมาร

มหาชนกกุมารทรงเติบโตขึ้นในเมืองกาลจัมปากะ มีเด็กๆเพื่อนเล่นในวัยเดียวกันเป็นจำนวนมาก วันหนึ่ง มหาชนกกุมารโกรธกับเพื่อน จึงลากเพื่อนคนนั้นไปด้วยกำลังมหาศาล เพื่อนเด็กนั้นก็ร้องไห้ เที่ยวบอกกับคนอื่นๆว่า ถูกลูกหญิงหม้ายรังแกเอา
มหาชนกกุมารได้ยินก็แปลกพระทัย จึงไปถามพระมารดาว่า “ทำไมเพื่อนๆพูดว่า ลูกเป็นลูกแม่หม้าย พ่อของลูกไปไหน” พระมารดาตอบว่า “ก็ท่านพราหมณ์ทิศาปาโมกข์นั่นแหล่ะเป็นพ่อของลูก”
เมื่อมหาชนกกุมารไปบอกเพื่อนเล่นทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นก็หัวเราะเยาะ บอกว่า “ไม่จริง ท่านอาจารย์ทิศาปาโมกข์ไม่ใช่พ่อของเจ้า”
มหาชนกก็กลับมาทูลพระมารดา อ้อนวอนให้บอกความจริง พระมารดาขัดไม่ได้ จึงตรัสเล่าเรื่องทั้งหมดให้พระโอรสทรงทราบ

เมื่อพระกุมารทราบว่าพระองค์ทรงมีความเป็นมาอย่างไร ก็ทรงตั้งพระทัยว่า จะร่ำเรียนวิชาการเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ จะได้เสด็จไปเอาราชสมบัติเมืองมิถิลาคืนมา ครั้นมหาชนกกุมารร่ำเรียนวิชาในสำนักพราหมณ์จนเติบใหญ่ พระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา จึงทูลพระมารดาว่า “หม่อมฉันจะเดินทางไปค้าขาย เมื่อมีทรัพย์สินมากพอแล้ว จะได้คิดอ่าน เอาบ้านเมืองคืนมา”
พระมารดาทรงนำเอาทรัพย์สินมีค่ามาจากมิถิลา ๓ สิ่ง คือ แก้วมณี แก้วมุกดา และแก้ววิเชียร อันมีราคามหาศาล จึงประทานแก้วนั้นให้พระมหาชนกเพื่อนำไปซื้อสินค้า พระมหาชนกทรงจัดซื้อสินค้าบรรทุกลงเรือร่วมไปกับพ่อค้าชาวสุวรรณภูมิ
ในระหว่างทาง เกิดพายุใหญ่โหมกระหน่ำ คลื่นซัดจนเรือจวนจะแตก บรรดาพ่อค้าและลูกเรือพากันตระหนกตกใจ บวงสรวงอ้อนวอนเทพยดาขอให้รอดชีวิต

ฝ่ายมหาชนกกุมาร เมื่อทรงทราบว่าเรือจะจมแน่แล้ว ก็เสวยอาหารจนอิ่มหนำ ทรงนำผ้ามาชุบน้ำมันจนชุ่ม แล้วนุ่งผ้านั้นอย่างแน่นหนา ครั้นเมื่อเรือจมลง เหล่าพ่อค้ากลาสีเรือทั้งปวงก็จมน้ำ กลายเป็นอาหารของสัตว์น้ำไปหมด แต่พระมหาชนกทรงมีกำลังจากอาหารที่เสวย มีผ้าชุบน้ำมัน ช่วยไล่สัตว์น้ำ และช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำได้ดี จึงทรงแหวกว่ายอยู่ในทะเลได้นานถึง ๗ วัน

ฝ่ายนางมณีเมขลา เทพธิดาผู้รักษามหาสมุทร เห็นพระมหาชนกว่ายน้ำอยู่เช่นนั้น จึงลองพระทัยพระมหาชนก “ใครหนอ ว่ายน้ำอยู่ได้ถึง ๗ วัน ทั้งๆที่มองไม่เห็นฝั่ง จะทนว่ายไปทำไมกัน”
พระมหาชนกทรงตอบว่า “ความเพียรย่อมมีประโยชน์ แม้จะมองไม่เห็นฝั่ง เราก็จะว่ายไปจนกว่าจะถึงฝั่งเข้าสักวันหนึ่ง”
นางมณีเมขลากล่าวว่า “มหาสมุทรนี้กว้างใหญ่นัก ท่านจะพยายามว่ายสักเท่าไรก็คงไม่ถึงฝั่ง ท่านคงจะตายเสียก่อนเป็นแน่”
พระมหาชนกตรัสว่า “คนที่ทำความเพียรนั้น แม้จะต้องตายไปในขณะกำลังทำ ความเพียรพยายามอยู่ ก็จะไม่มีผู้ใดตำหนิติเตียนได้ เพราะได้ทำหน้าที่เต็มกำลังแล้ว”
นางมณีเมขลาถามต่อว่า “การทำความพยายามโดยมองไม่เห็นทางบรรลุเป้าหมายนั้น มีแต่ความยากลำบาก อาจถึงตายได้ จะต้องเพียรพยายามไปทำไมกัน”
พระมหาชนกตรัสตอบว่า “แม้จะรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังกระทำนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม ถ้าไม่เพียรพยายาม แต่กลับหมดมานะเสียแต่ต้นมือ ย่อมได้รับผลร้ายของความเกียจคร้านอย่างแน่นอน ย่อมไม่มีวันบรรลุถึงเป้าหมายที่ต้องการ บุคคลควรตั้งความเพียรพยายาม แม้การนั้นอาจไม่สำเร็จก็ตาม เพราะเรามีความพยายาม ไม่ละความตั้งใจ เราจึงยังมีชีวิตอยู่ได้ในทะเลนี้ เมื่อคนอื่นได้ตายกันไปหมดแล้ว เราจะพยายามสุดกำลัง เพื่อไปให้ถึงฝั่งให้จงได้”
นางมณีเมขลาได้ยินดังนั้น ก็เอ่ยสรรเสริญความเพียรของมหาชนกกุมาร และช่วยอุ้มพามหาชนกกุมารไปจนถึงฝั่งเมืองมิถิลา วางพระองค์ไว้ที่ศาลาในสวนแห่งหนึ่ง


ในเมืองมิถิลา พระราชาโปลชนกไม่มีพระโอรส ทรงมีแต่พระธิดาผู้ฉลาดเฉลียวเป็นอย่างยิ่ง พระนามว่า เจ้าหญิงสิวลี ครั้นเมื่อพระองค์ประชวรหนักใกล้จะสวรรคต บรรดาเสนาทั้งปวงจึงทูลถามขึ้นว่า เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว ราชสมบัติ ควรจะตกเป็นของผู้ใด ในเมื่อไม่ทรงมีพระโอรส
พระเจ้าโปลชนกตรัสสั่งเสนาว่า “ท่านทั้งหลายจงมอบราชสมบัติให้แก่ผู้มีความสามารถดังต่อไปนี้ ประการแรก เป็นผู้ที่ทำให้พระราชธิดาของเราพอพระทัยได้ ประการที่สอง สามารถรู้ว่าด้านไหนเป็นด้านหัวนอนของบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยม ประการที่สาม สามารถยกธนูใหญ่ ซึ่งต้องใช้แรงคนธรรมดาถึงพันคนจึงจะยกขึ้นได้ ประการที่สี่ สามารถชี้บอกขุมทรัพย์มหาศาลทั้ง ๑๓ แห่งได้”
แล้วจึงตรัสบอกปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง ๑๓ แห่ง แก่เหล่าอำมาตย์ เช่น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ขึ้น ขุมทรัพย์ที่ดวงอาทิตย์ตก ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายใน ขุมทรัพย์ที่อยู่ภายนอก ขุมทรัพย์ที่ไม่ใช่ภายในและภายนอก ขุมทรัพย์ที่ปลายไม้ ขุมทรัพย์ที่ปลายงา ขุมทรัพย์ที่ปลายหาง เป็นต้น


เมื่อพระราชาสิ้นพระชนม์ บรรดาเสนาบดี ทหาร พลเรือน และประชาราษฎร์ทั้งหลายต่างพยายามที่จะเป็นผู้สืบราชสมบัติ แต่ก็ไม่มีผู้ใดสามารถทำให้เจ้าหญิงสีวลีพอพระทัยได้ เพราะล้วนแต่พยายามเอาพระทัยเจ้าหญิงมากเกินไป จนเสียลักษณะของผู้ที่จะปกครองบ้านเมือง ไม่มีผู้ใดสามารถยกมหาธนูใหญ่ได้ ไม่มีผู้ใดรู้ทิศหัวนอนของบัลลังก์สี่เหลี่ยม และไม่มีผู้ใดไขปริศนาขุมทรัพย์ได้
ในที่สุด บรรดาเสนาข้าราชบริพารจึงเห็นควรตั้งพิธีเสี่ยงราชรถ เพื่อหาตัวบุคคลผู้มีบุญญาธิการสมควรครองเมือง บุษยราชรถเสี่ยงทายนั้นก็แล่นออกจากพระราชวัง ตรงไปที่สวน แล้วหยุดอยู่หน้าศาลาที่พระมหาชนกทรงนอนอยู่ ปุโรหิตที่ตามราชรถจึงให้ประโคมดนตรีขึ้น พระมหาชนกได้ยินเสียงประโคม จึงลืมพระเนตรขึ้น เห็นราชรถ ก็ทรงดำริว่า คงเป็นราชรถเสี่ยงทายพระราชาผู้มีบุญเป็นแน่ แต่ก็มิได้แสดงอาการอย่างใด กลับบรรทมต่อไป
ปุโรหิตเห็นดังนั้น ก็คิดว่า บุรุษผู้นี้เป็นผู้มีสติปัญญา ไม่ตื่นเต้นตกใจกับสิ่งใดโดยง่าย จึงเข้าไปตรวจดูพระบาทพระมหาชนก เห็นลักษณะต้องตามคำโบราณว่าเป็นผู้มีบุญ จึงให้ประโคมดนตรีขึ้นอีกครั้ง แล้วเข้าไปทูลอัญเชิญพระมหาชนกให้ทรงเป็นพระราชาเมืองมิถิลา พระมหาชนกก็ตรัสถามว่า พระราชาไปไหนเสีย ปุโรหิตกราบทูลว่า พระราชาสวรรคต ไม่มีพระโอรส มีแต่พระธิดา คือเจ้าหญิงสิวลี แต่องค์เดียว
พระมหาชนกจึงทรงรับเป็นกษัตริย์ครองมิถิลา ฝ่ายเจ้าหญิงสิวลีได้ทรงทราบว่า พระมหาชนกได้ราชสมบัติ ก็ประสงค์จะทดลองว่า พระมหาชนก สมควรเป็นกษัตริย์หรือไม่ จึงให้ราชบุรุษไปทูลเชิญเสด็จมาที่ปราสาทของพระองค์ พระมหาชนกก็เฉยเสีย มิได้ไปตามคำทูล เจ้าหญิงให้คนไปทูลถึงสามครั้ง พระมหาชนกก็ไม่สนพระทัย จนถึงเวลาหนึ่งก็เสด็จไปที่ปราสาทของเจ้าหญิงเอง โดยไม่ทรงบอกล่วงหน้า เจ้าหญิงตกพระทัยรีบเสด็จมาต้อนรับ เชิญไปประทับบนบัลลังก์
พระมหาชนกจึงตรัสถามอำมาตย์ว่า พระราชาที่สิ้นพระชนม์ ตรัสสั่งอะไรไว้บ้าง อำมาตย์ก็ทูลตอบ

พระมหาชนกจึงตรัสสั่งว่า
ข้อที่ ๑ “ที่ว่าทำให้เจ้าหญิงพอพระทัย เจ้าหญิงก็ได้แสดงแล้วว่าพอพระทัยเรา จึงได้เสด็จมาต้อนรับเรา”
ข้อที่ ๒ เรื่องปริศนาทิศหัวนอนบัลลังก์นั้น พระมหาชนกทรง คิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วถอดเข็มทองคำที่กลัดผ้าโพกพระเศียรออก ส่งให้เจ้าหญิงให้วางเข็มทองคำไว้ เจ้าหญิงทรงรับเข็มไปวางไว้บนบัลลังก์สี่เหลี่ยม พระมหาชนกจึงทรงชี้บอกว่าตรงที่เข็มวางอยู่นั้นแหละ คือทิศหัวนอนของบัลลังก์ โดยสังเกตจากการที่เจ้าหญิงทรงวางเข็มทองคำจากพระเศียรไว้
ข้อที่ ๓ นั้นก็ตรัสสั่งให้นำมหาธนูมา ทรงยกขึ้นและน้าวอย่างง่ายดาย
ข้อที่ ๔ เมื่ออำมาตย์กราบทูลถึงปัญหาของขุมทรัพย์ทั้ง ๑๓ แห่ง พระมหาชนกทรงคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ตรัสบอกคำแก้ปริศนาขุมทรัพย์ทั้ง ๑๓ แห่งได้หมด และเมื่อสั่งให้คนไปขุดดู ก็พบขุมทรัพย์ตามที่ตรัสบอกไว้ทุกแห่ง ผู้คนจึงพากันสรรเสริญปัญญาของพระมหาชนกกันทั่วทุกแห่งหน
พระมหาชนกโปรดให้เชิญพระมารดาและพราหมณ์ทิศาปาโมกข์จากเมืองกาลจัมปากะ ทรงอุปถัมภ์บำรุงให้สุขสบายตลอดมา จากนั้นทรงสร้างโรงทานใหญ่ ๖ ทิศในเมืองมิถิลา ทรงบริจาคมหาทานเป็นประจำ เมืองมิถิลาจึงมีแต่ความผาสุกสมบูรณ์ เพราะพระราชาทรงอยู่ในทศพิธราชธรรม

ต่อมา พระนางสิวลีประสูติพระโอรส ทรงนามว่า ทีฆาวุกุมาร เมื่อเจริญวัยขึ้น พระบิดาโปรดให้ดำรงตำแหน่งอุปราช อยู่มาวันหนึ่ง พระราชามหาชนกเสด็จอุทยานทอดพระเนตรเห็นมะม่วงต้นหนึ่ง กิ่งหัก ใบไม้ร่วง แต่อีกต้น มีใบแน่นหนาร่มเย็นเขียวชอุ่ม จึงตรัสถาม อำมาตย์กราบทูลว่า ต้นมะม่วงที่มีกิ่งหักนั้น เป็นเพราะรส มีผลอร่อย ผู้คนจึงพากันสอยบ้าง เด็ดกิ่งและขว้างปาเพื่อเอาบ้าง จนมีสภาพเช่นนั้น ส่วนอีกต้น ไม่มีผล จึงไม่มีคนสนใจ ใบและกิ่งจึงสมบูรณ์เรียบร้อยดี
พระราชาได้ฟัง ก็ทรงคิดว่า ราชสมบัติ เปรียบเหมือนต้นไม้มีผล อาจถูกทำลาย แม้ไม่ถูกทำลายก็ต้องคอยระแวดระวังรักษา เกิดความกังวล เราจะทำตนเป็นผู้ไม่มีกังวลเหมือนต้นไม้ไม่มีผล เราจะออกบรรพชา สละราชสมบัติเสีย มิให้เกิดกังวล
พระราชาเสด็จกลับมาปราสาท ปลงพระเกศาพระมัสสุ ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ครองอัฏฐบริขารครบถ้วน แล้วเสด็จออกจากมหาปราสาทไป

ครั้นพระนางสิวลีทรงทราบ ก็รีบติดตามมา ทรงอ้อนวอนให้พระราชาเสด็จกลับ พระองค์ก็ไม่ยินยอม พระนางสิวลีจึงทำอุบายให้อำมาตย์เผาโรงเรือนเก่าๆ และกองหญ้า กองใบไม้ เพื่อให้พระราชาเข้าพระทัยว่า ไฟไหม้พระคลัง จะได้เสด็จกลับ
พระราชาตรัสว่า พระองค์เป็นผู้ไม่มีสมบัติแล้ว สมบัติที่แท้จริงของพระองค์ คือความสุขสงบจากการบรรพชานั้นยังคงอยู่กับพระองค์ ไม่มีผู้ใดทำลายได้
พระนางสิวลีทรงทำอุบายสักเท่าไร พระราชาก็มิได้สนพระทัย และตรัสให้ประชาชนอภิเษก พระทีฆาวุราชกุมาร ขึ้นเป็นกษัตริย์ เพื่อปกครองมิถิลาต่อไป

พระนางสิวลีไม่ทรงละความเพียรพยายาม ติดตามพระมหาชนกต่อไปอีก วันรุ่งขึ้น มีสุนัขคาบเนื้อที่เจ้าของเผลอ วิ่งหนีมาพบผู้คนเข้า ก็ตกใจทิ้งชิ้นเนื้อไว้ พระมหาชนกคิดว่า ก้อนเนื้อนี้เป็นของไม่มีเจ้าของ สมควรที่จะเป็นอาหารของเราได้ จึงเสวยก้อนเนื้อนั้น พระนางสิวลีทรงเห็นดังนั้น ก็เสียพระทัยอย่างยิ่ง ที่พระสวามีเสวยเนื้อที่สุนัขทิ้งแล้ว แต่พระมหาชนกตรัสว่า นี่แหล่ะเป็นอาหารพิเศษ
ต่อมา ทั้งสองพระองค์ทรงพบเด็กหญิงสวมกำไลข้อมือ ข้างหนึ่งมีกำไลสองอัน อีกข้างมีอันเดียว พระราชาตรัสถามว่า “ทำไมกำไลข้างที่มีสองอันจึงมีเสียงดัง” เด็กหญิงตอบว่า “เพราะกำไลสองอันนั้น กระทบกัน จึงเกิดเสียงดัง ส่วนที่มีข้างเดียวนั้น ไม่ได้กระทบกับอะไรจึงไม่มีเสียง” พระราชาจึงตรัสแนะให้พระนางคิดพิจารณาถ้อยคำของเด็กหญิง กำไลนั้นเปรียบเหมือนคนที่อยู่สองคน ย่อมกระทบกระทั่งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็จะสงบสุข แต่พระนางสิวลียังคงติดตามพระราชาไปอีก จนมาพบนายช่างทำลูกศร นายช่างทูลตอบคำถามพระราชาว่า “การที่ต้องหลับตาข้างหนึ่งเวลาดัดลูกศรนั้น ก็เพราะถ้าลืมตาสอง ข้างจะไม่เห็นว่าข้างไหนคด ข้างไหนตรง เหมือนคนอยู่สองคนก็จะขัดแย้งกัน ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่ขัดแย้งกับใคร” พระราชาตรัสเตือนพระนางสิวลีอีกครั้งหนึ่งว่า พระองค์ประสงค์จะเดินทางไปตามลำพัง เพื่อแสวงหาความสงบ ไม่ประสงค์จะมีเรื่องขัดแย้งกระทบกระทั่ง หรือความไม่สงบอันเกิดจากการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นอีกต่อไป

พระนางสิวลีได้ฟังพระวาจาดังนั้น ก็น้อยพระทัย จึงตรัสว่า “ต่อไปนี้ หม่อมฉันหมดวาสนาจะได้อยู่ร่วมกับพระองค์อีกแล้ว” พระราชาจึงเสด็จไปสู่ป่าใหญ่แต่ลำพังเพื่อบำเพ็ญสมาบัติ มิได้กลับมาสู่พระนครอีก ส่วนพระนางสิวลี เสด็จกลับเข้าสู่พระราชวัง อภิเษกพระทีฆาวุกุมารขึ้นเป็นพระราชา แล้วพระนางโปรดให้สร้างเจดีย์ขึ้นในที่ต่างๆ เพื่อรำลึกถึงพระราชามหาชนกผู้ทรงมีพระสติปัญญา และที่ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด คือ ทรงมีความเพียรพยายามเป็นเลิศ มิได้เคยเสื่อมถอยจากความเพียร ทรงตั้งพระทัยที่จะกระทำการโดยเต็มกำลังความสามารถ เพราะทรงยึดมั่นว่า บุคคลควรตั้งความเพียรพยายาม ไม่ว่ากิจการนั้นจะยากสักเพียงไหน คนมีปัญญา แม้ได้รับความทุกข์ ก็จะไม่สิ้นหวัง ไม่สิ้นความเพียรที่จะพาตนให้พ้นจากความทุกข์นั้นให้ได้ในที่สุด




คติธรรม : บำเพ็ญวิริยบารมี


“เกิดเป็นคน ควรมีความพากเพียรให้ถึงที่สุด เพื่อให้ถึงแก่สิ่งที่มุ่งหวัง เพียรสุดกำลังจนชีวิตหาไม่ก็จงเพียร แล้วความสำเร็จจะมาเยือน

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ธ.ค. 2009, 21:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


ความแตกต่างระหว่างพระมหาชนกในพระไตรปิฎกและพระมหาชนกในปัจจุบัน

เรื่องพระมหาชนกฉบับเดิมในพระไตรปิฎก จบตรงที่พระมหาชนกบำเพ็ญพระวิริยะบารมี โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ จนกระทั่งได้ทรงครองราชสมบัติ และนำความเจริญมั่งคั่งสู่กรุงมิถิลาด้วยพระปรีชาสามารถ เมื่อพระองค์เสด็จประพาสอุทยานและเห็นการแย่งชิงผลมะม่วงจึงสละราชสมบัติเสด็จออกผนวชแสวงโมกขธรรม

..:b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42: :b42:..


แต่สำหรับพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงพระราชดำริว่า พระมหาชนกยังไม่ถึงเวลาอันสมควรที่จะทรงผนวช ด้วยบ้านเมืองยังไม่เจริญครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหมู่เหล่าต่างๆ ยังขาดภูมิปัญญา ดังนั้น จึงต้องจัดการบำรุงการ ศึกษาของประชาชนให้บรรลุความมุ่งหมายนั้น โดยที่พระราชดำริว่า พระมหาชนกจะบรรลุ โมกขธรรมได้ง่ายกว่า หากได้ประกอบพระราชกรณียกิจในโลกให้ครบถ้วนก่อน ดังนั้น ตอนจบของ "พระมหาชนก" ฉบับพระราชนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงดัดแปลงแก้ไขในตอนที่มะม่วงต้นนั้นโค่นลง แล้วพระมหาชนกเกิดความสังเวชที่คน ทั้งหลายหวังแต่ประโยชน์อย่างขาดปัญญา รำลึกได้ว่านางมณีเมขลาเคยสั่งให้พระองค์ตั้ง มหาวิทยาลัย จึงได้ปรึกษากับพราหมณ์ ในที่สุดได้ตั้งมหาวิทยาลัยปูทะเลย์ขึ้น โดยรำลึกว่า ขณะที่ทรงว่ายนำในมหาสมุทรทั้ง ๗ วัน ๗ คืนนั้น มีปูทะเลยักษ์มาช่วยหนุนพระบาท ใน "พระมหาชนก" ฉบับพระราชนิพนธ์ พระองค์ยังทรงเพิ่มเติมเรื่องราวเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในวิธีการฟื้นฟูมะม่วงต้นที่โค่นลง ๙ ประการด้วยกัน นอกจากนั้นยังทรงเน้นความเจริญรุ่งเรือง ของดินแดนสุวรรณภูมิ ที่พระมหาชนกทรงมุ่งเดินเรือมาค้าขาย ทรงแสดงตำแหน่งที่ตั้ง ของเมือง พยากรณ์ทางอุตุนิยมวิทยา และโหราศาสตร์ ด้วยแผนที่ฝีพระหัตถ์ถึง ๔ แผ่น ทรง ปรารภเรื่องการเกษตรกรรม และการจัดการศึกษาอย่างทั่งถึงแพร่หลาย ทรงแสดงให้เห็นว่า ความเพียรที่บริสุทธ์เป็นคุณธรรมสำคัญที่ต้องรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิต และเป็นมรดกธรรมแก่กุลบุตรกุลธิดาชาวไทยสืบไป พระมหาชนก ฉบับพระราชนิพนธ์ทรงใช้ภาษาที่กระชับ สละสลวย ได้อรรถรสน่าอ่านตั้งแต่ ต้นจนจบ ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ



http://www.skn.ac.th/skl/project/chanok92/menu01.htm

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ธ.ค. 2009, 21:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

๓. สุ ว ร ร ณ ส า ม ช า ด ก - ( พระสุวรรณสาม )



ครั้งหนึ่ง มีสหายสองคนรักใคร่กันมาก ต่างก็ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกัน ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ทั้งสองคนตั้งใจว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกชาย ก็จะให้แต่งงานกัน เพื่อครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะได้ผูกพันใกล้ชิดกัน ไม่มีวันเสื่อมคลาย
อยู่ต่อมา ฝ่ายหนึ่งก็มีลูกชายชื่อว่า ทุกูลกุมาร อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว ชื่อว่า ปาริกากุมารี เด็กทั้งสองมีรูปร่างหน้าตางดงาม สติปัญญาฉลาดเฉลียว และมีจิตใจมั่นอยู่ในศีล เมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่ของทั้งสองก็ตกลงจะทำตามที่เคยตั้งใจไว้ คือให้ลูกของทั้งสองบ้านได้แต่งงานกัน แต่ทั้งทุกูลกุมารและปาริกากุมารี ต่างบอกกับพ่อแม่ของตนว่า ไม่ต้องการแต่งงานกัน แม้จะรู้ดีว่า ฝ่ายหนึ่งเป็นคนดี รูปร่างหน้าตางดงาม และเป็นเพื่อนสนิทมาตั้งแต่เด็กก็ตาม
ในที่สุด พ่อแม่ของทั้งสองก็จัดการแต่งงานให้จนได้ แต่แม้ว่า ทุกูลและปาริกาจะแต่งงานกันแล้ว ต่างยังคงประพฤติปฏิบัติเสมือนเป็นเพื่อนกันตลอดมา ไม่เคยประพฤติต่อกันฉันสามีภรรยา ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองคนมีความปรารถนาตรงกัน คือประสงค์จะออกบวช ไม่อยากดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้านธรรมดา ซึ่งจะต้องพัวพันอยู่กับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อเป็นอาหารบ้าง เพื่อป้องกันตัวเองบ้าง
เมื่อได้อ้อนวอนพ่อแม่ทั้งสองบ้านอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุด ทั้งสองก็ได้รับคำอนุญาตให้บวชได้ จึงพากันเดินทางไปสู่ป่าใหญ่ และอธิษฐานออกบวช นุ่งห่มผ้าย้อมเปลือกไม้และไว้มวยผมอย่างดาบส บำเพ็ญธรรมอยู่ ณ ศาลาในป่านั้น ด้วยความเมตตาอันมั่นคงของทั้งสองคน บรรดาสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต่างก็มีเมตตาจิตต่อกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ต่างหากินอยู่ด้วยความสุขสำราญ
ต่อมาวันหนึ่ง พระอินทร์เล็งเห็นอันตรายซึ่งจะบังเกิดแก่ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินี จึงตรัสบอกแก่ดาบสว่า “ข้าพเจ้าเล็งเห็นว่า อันตรายจะเกิดขึ้นแก่ท่าน ขอให้ท่านจงมีบุตร เพื่อเป็นผู้ช่วยเหลือปรนนิบัติในยามยากลำบากเถิด”
ทุกูลดาบสจึงถามว่า “อาตมาบำเพ็ญพรตเพื่อความพ้นทุกข์ อาตมาจะมีบุตรได้อย่างไร อาตมาไม่ต้องการดำเนินชีวิตอย่างชาวโลก ที่จะทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์อีก” พระอินทร์ตรัสว่า “ท่านไม่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติอย่างชาวโลก แต่ท่านจำเป็นต้องมีบุตรไว้ช่วยเหลือปรนนิบัติ ขอให้เชื่อข้าพเจ้าเถิด ท่านเพียงแต่เอามือลูบท้องนางปาริกา ดาบสินี นางก็จะตั้งครรภ์ ลูกในครรภ์ของนางจะได้เป็นผู้ดูแลท่านทั้งสองต่อไป”

เมื่อพระอินทร์ตรัสบอกดังนั้น ทุกูลดาบสจึงทำตาม และต่อมา นางปาริกาก็ตั้งครรภ์ ครั้นครบกำหนดก็คลอดบุตร มีผิวพรรณงดงามราวทองคำบริสุทธิ์ จึงได้ชื่อว่า “สุวรรณสาม” ปาริกาดาบสสินีเลี้ยงดูสุวรรณสามจนเติบใหญ่อยู่ในป่านั้น มีบรรดาสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดแวดล้อมเป็นเพื่อนเล่น
ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ สุวรรณสามหมั่นสังเกตจดจำสิ่งที่พ่อและแม่ได้ปฏิบัติ เช่น การไปตักน้ำ ไปหาผลไม้เป็นอาหาร เส้นทางที่ไปหาน้ำและอาหาร สุวรรณสามพยายามช่วยเหลือพ่อและแม่ กระทำกิจกรรมต่างๆเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พ่อแม่ได้มีเวลาบำเพ็ญธรรมตามที่ประสงค์

วันหนึ่ง เมื่อทุกูลดาบสและปาริกาดาบสสินีออกไปหาผลไม้ในป่า เผอิญฝนตกหนัก ทั้งสองจึงหลบฝนอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ใกล้จอมปลวก โดยไม่รู้ว่าที่จอมปลวกนั้นมีงูพิษอาศัยอยู่ น้ำฝนที่ชุ่มเสื้อฝ้า และมุ่นผมของทั้งสองไหลหยดลงไปในรูงู งูตกใจจึงพ่นพิษออกมาป้องกันตัว พิษร้ายของงูเข้าตาทั้งสองคน ความร้ายกาจของพิษ ทำให้ดวงตาบอดมืดมิดไปทันที ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินี จึงไม่สามารถจะกลับไปถึงศาลาที่พักได้ เพราะมองไม่เห็นทาง ต้องวนเวียนคลำทางอยู่แถวนั้นเอง
คนทั้งสองต้องเสียดวงตา เพราะกรรมในชาติก่อน เมื่อครั้งที่ทุกูลดาบสเกิดเป็นหมอรักษาตา ปาริกาเกิดเป็นภรรยาของหมอนั้น วันหนึ่ง หมอได้รักษาตาของเศรษฐีคนหนึ่งจนหายขาดแล้ว แต่เศรษฐีไม่ยอมจ่ายค่ารักษา ภรรยาจึงบอกกับสามีว่า “พี่จงทำยาขึ้นอย่างหนึ่งให้มีฤทธิ์แรง แล้วเอาไปให้เศรษฐีผู้นั้น บอกว่าตายังไม่หายสนิท ขอให้ใช้ยานี้ป้ายอีก” หมอตาทำตามที่ภรรยาบอก ฝ่ายเศรษฐีเชื่อในสรรพคุณยาของหมอ ก็ทำตาม ตาของเศรษฐีก็กลับบอดสนิทในไม่ช้า ด้วยบาปที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่งผลให้ทั้งสองคนต้องตาบอดไปในชาตินี้

ฝ่ายสุวรรณสาม คอยพ่อแม่อยู่ที่ศาลา ไม่เห็นกลับมาตามเวลา จึงออกเดินตามหา ในที่สุดก็พบพ่อแม่วนเวียนอยู่ข้างจอมปลวก เพราะนัยน์ตาบอด หาทางกลับไม่ได้ สุวรรณสามจึงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เมื่อพ่อแม่เล่าให้ฟัง สุวรรณสามก็ร้องไห้ แล้วก็หัวเราะ พ่อแม่จึงถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้แล้วก็หัวเราะเช่นนั้น สุวรรณสามตอบว่า “ลูกร้องไห้เพราะเสียใจที่พ่อแม่นัยน์ตาบอด แต่หัวเราะเพราะลูกดีใจที่ลูกจะได้ปรนนิบัติดูแล ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกมา พ่อแม่อย่าเป็นทุกข์ไปเลย ลูกจะปรนนิบัติไม่ให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนแต่อย่างใด”
จากนั้น สุวรรณสามก็พาพ่อแม่กลับไปยังศาลาที่พัก จัดหาเชือกมาผูกโยงไว้โดยรอบ สำหรับพ่อแม่จะได้ใช้จับเป็นราวเดินไปทำอะไรๆได้สะดวกในบริเวณศาลานั้น ทุกๆวัน สุวรรณสามจะไปตักน้ำมาสำหรับพ่อแม่ได้ดื่มได้ใช้ และไปหาผลไม้ในป่ามาเป็นอาหารให้พ่อแม่และตนเอง เวลาที่สุวรรณสามออกป่าหาผลไม้ บรรดาสัตว์ทั้งหลาย จะพากันมาแวดล้อมด้วยความไว้วางใจ เพราะสุวรรณสามเป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่เคยทำอันตรายแก่ฝูงสัตว์ สุวรรณสามจึงมีเพื่อนแวดล้อมเป็นบรรดาสัตว์นานาชนิด พ่อแม่ลูกทั้งสามจึงมีแต่ความสุขสงบ ปราศจากความทุกข์ร้อนวุ่นวายทั้งปวง

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาแห่งเมืองพาราณสี พระนามว่า “กบิลยักขราช” เป็นผู้ชอบออกป่าล่าสัตว์ พระองค์เสด็จออกล่าสัตว์มาจนถึงท่าน้ำที่สุวรรณสามมาตักน้ำไปให้พ่อแม่ พระราชาสังเกตเห็นรอยเท้าสัตว์ชุกชุมในบริเวณนั้น จึงซุ่มคอยจะยิงสัตว์ที่ผ่านมากินน้ำ ขณะนั้น สุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยมากมาย พระราชาทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงแปลกพระทัยว่า สุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึงเดินมากับฝูงสัตว์ ครั้นจะเข้าไปถาม ก็เกรงว่าสุวรรณสามจะตกใจหนีไป ก็จะไม่ได้ตัว จึงคิดจะยิงด้วยธนูให้หมดกำลังก่อน แล้วค่อยจับตัวไว้ซักถาม เมื่อสุวรรณสามลงไปตักน้ำ แล้วกำลังจะเดินกลับไปศาลา พระราชากบิลยักขราชก็เล็งยิงด้วยธนูอาบยา ถูกสุวรรณสามที่สำตัวทะลุจากขวาไปซ้าย สุวรรณสามล้มลงกับพื้น แต่ยังไม่ถึงตาย จึงเอ่ยขึ้นว่า “เนื้อของเรากินไม่ได้ หนังของเราเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ จะยิงเราทำไม คนที่ยิงเราเป็นใคร ยิงแล้วจะซ่อนตัวอยู่ทำไม”
กบิลยักขราชได้ยินวาจาอ่อนหวานเช่นนั้นก็ยิ่งแปลกพระทัย ทรงคิดว่า “หนุ่มน้อยนี้เป็นใครหนอ ถูกเรายิงล้มลงแล้ว ยังไม่โกรธเคือง กลับใช้ถ้อยคำอันอ่อนหวาน แทนที่จะด่าว่า ด้วยความโกรธแค้น เราจะต้องแสดงตัวให้เขาเห็น” คิดดังนั้นแล้ว พระราชาจึงออกจากที่ซุ่มไปประทับอยู่ข้างๆสุวรรณสาม พลางตรัสว่า “เราชื่อกบิลยักขราช เป็นพระราชาแห่งแมืองพาราณสี เจ้าเป็นผู้ใด มาทำอะไรอยู่ในป่านี้”
สุวรรณสามตอบไปตามความจริงว่า “ข้าพเจ้าเป็นบุตรดาบส ชื่อว่าสุวรรณสาม พระองค์ยิงข้าพเจ้าด้วยธนูพิษ ได้รับความเจ็บปวดสาหัส พระองค์ประสงค์อะไรจึงยิงข้าพเจ้า” พระราชาไม่กล้าตอบความจริง จึงแสร้งตรัสเท็จว่า “เราตั้งใจจะยิงเนื้อเป็นอาหาร แต่พอเจ้ามา เนื้อก็เตลิดหนีไปหมด เราโกรธจึงยิงเจ้า” สุวรรณสามแย้งว่า “เหตุใดพระองค์จึงตรัสอย่างนั้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่านี้ไม่เคยกลัวข้าพเจ้า ไม่เคยเตลิด หนีข้าพเจ้าเลย สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า”

พระราชาทรงละอายพระทัยที่ตรัสความเท็จแก่สุวรรณสามผู้ถูกยิงโดยปราศจากความผิด จึงตรัสตามความจริงว่า “เป็นความจริงตามที่เจ้าว่า สัตว์ทั้งหลายมิได้กลัวภัย จากเจ้าเลย เรายิงเจ้าก็เพราะความโง่เขลาของเราเอง เจ้าอยู่กับใครในป่านี้ ออกตักน้ำไปให้ใคร” สุวรรณสามบ้วนโลหิตออกจากปาก ตอบพระราชาว่า “ข้าพเจ้าอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งตาบอดทั้งสองคนอยู่ในศาลาในป่านี้ ข้าพเจ้าทำหน้าที่ปรนนิบัติพ่อแม่ ดูแลหาน้ำและอาหารสำหรับท่านทั้งสอง เมื่อข้าพเจ้ามาถูกยิงเช่นนี้ พ่อแม่ก็จะไม่มี ใครดูแลปรนนิบัติอีกต่อไป อาหารที่ศาลายังพอสำหรับ ๖ วัน แต่ไม่มีน้ำ พ่อแม่ของข้าพเจ้าจะต้องอดน้ำและอาหาร เมื่อปราศจากข้าพเจ้า โอ พระราชา ความทุกข์ความเจ็บปวด ที่เกิดจากถูกยิงด้วยธนูของท่านนั้น ยังไม่เท่าความทุกข์ความเจ็บปวดที่เป็นห่วงพ่อแม่ของข้าพเจ้า จะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติ ต่อไปนี้พ่อแม่คงไม่ได้เห็นหน้าข้าพเจ้าอีกแล้ว”

สุวรรณสามรำพันแล้วร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง พระราชาทรงได้ยินดังนั้นก็เสียพระทัยยิ่งนัก ว่าได้ทำร้ายสุวรรณสามผู้มีความกตัญญูสูงสุด ผู้ไม่เคยทำอันตราย ต่อสิ่งใดเลย จึงตรัสกับสุวรรณสามว่า “ท่านอย่ากังวลไปเลยสุวรรณสาม เราจะรับดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ของท่านให้เหมือนกับที่ท่านได้เคยทำมา จงบอกเราเถิดว่าพ่อแม่ของท่านอยู่ที่ไหน” สุวรรณสามได้ยินพระราชาตรัสให้สัญญาก็ดีใจ กราบทูลว่า “พ่อแม่ของข้าพเจ้าอยู่ไม่ไกลจากที่นี่มากนัก ขอเชิญเสด็จไปเถิด” พระราชาตรัสถามว่า สุวรรณสามจะสั่งความไปถึงพ่อแม่บ้างหรือไม่ สุวรรณสามจึงขอให้พระราชาบอกพ่อแม่ว่า ตนฝากกราบไหว้ลาพ่อแม่มากับพระราชา เมื่อสุวรรณสามประนมมือกราบลงแล้ว ก็สลบไปด้วยธนูพิษ ลมหายใจหยุด มือเท้าและร่างกายแข็งเกร็งด้วยพิษยา
พระราชาทรงเศร้า เสียพระทัยยิ่งนัก รำลึกถึงกรรมอันหนักที่ได้ก่อขึ้นในครั้งนี้ แล้วก็ทรงระลึกได้ว่า ทางเดียวที่จะช่วยผ่อนบาปอันหนักของพระองค์ได้ ก็คือ ปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือไปปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สุวรรณสาม เหมือนที่สุวรรณสามได้เคยกระทำมา พระราชากบิลยักขราชจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้น ออกเดินทางไปศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้
ครั้นไปถึง ทุกูลดาบสได้ยินเสียงฝีเท้าพระราชา ก็ร้องถามขึ้นว่า “นั่นใครขึ้นมา ไม่ใช่สุวรรณสามลูกเราแน่ ลูกเราเดินฝีเท้าเบา ไม่ก้าวหนักอย่างนี้” พระราชาไม่กล้าบอกไปในทันทีว่าพระองค์ยิงสุวรรณสามตายแล้ว จึงบอกแต่เพียงว่า “ข้าพเจ้าเป็นพระราชาแห่งเมืองพาราณสี มาเที่ยวยิงเนื้อในป่านี้” ดาบสจึงเชิญให้พระราชาเสวยผลไม้ และเล่าว่าบุตรชายชื่อสุวรรณสาม เป็นผู้ดูแลจัดหาอาหารไว้ให้ ขณะนี้สุวรรณสาม ออกไปตักน้ำ อีกสักครู่ก็คงจะกลับมา

พระราชาจึงตรัสด้วยความเศร้าเสียพระทัยว่า “สุวรรณสามไม่กลับมาแล้ว บัดนี้สุวรรณสามถูกธนูของข้าพเจ้าถึงแก่ความตายแล้ว” ดาบสทั้งสองได้ยินดังนั้นก็เสียใจยิ่งนัก นางปาริกาดาบสินีนั้นแต่แรกโกรธแค้นที่พระราชายิงสุวรรณสามตาย แต่ทุกูลดาบสได้ปลอบประโลมว่า “จงนึกว่าเป็นเวรกรรมของสุวรรณสามและของเราทั้งสองเถิด จงสำรวมจิต อย่าโกรธเคืองเลย พระราชาก็ได้ยอมรับผิดแล้ว”
พระราชาตรัสปลอบว่า “ท่านทั้งสองอย่ากังวลไปเลย ข้าพเจ้าได้สัญญากับสุวรรณสามแล้วว่าจะปรนนิบัติท่านทั้งสองให้เหมือนกับที่สุวรรณสามเคยทำมาทุกประการ”

ดาบสทั้งสองอ้อนวอนพระราชาให้พาไปที่สุวรรณสามนอนตายอยู่ เพื่อจะได้สัมผัสลูบคลำลูกเป็นครั้งสุดท้าย พระราชาก็ทรงพาไป ครั้นถึงที่สุวรรณสามนอนอยู่ ปาริกาดาบสินีก็ช้อนเท้าลูกขึ้นวางบนตัก ทุกูลดาบสก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามประคองไว้บนตัก ต่างพากันรำพันถึงสุวรรณสามด้วยความโศกเศร้า บังเอิญปาริกาดาบสินีลูบคลำบริเวณหน้าอกสุวรรณสาม รู้สึกว่ายังอบอุ่นอยู่ จึงคิดว่าลูกอาจจะเพียงแต่สลบไป ไม่ถึงตาย นางจึงตั้งสัตยาธิษฐานว่า “สุวรรณสามลูกเราเป็นผู้ที่ประพฤติดีตลอดมา มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่อย่างยิ่ง เรารักสุวรรณสามยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง ด้วยสัจจวาจาของเรานี้ ขอให้พิษธนูจงคลายไปเถิด ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามได้เลี้ยงดูพ่อแม่ตลอดมา ขออานุภาพแห่งบุญจงดลบันดาลให้สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาเถิด”

เมื่อนางตั้งสัตยาธิษฐานจบ สุวรรณสามก็พลิกกายไปข้างหนึ่งแต่ยังนอนอยู่ ทุกูลดาบสจึงตั้งสัตยาธิษฐานเช่นเดียวกัน สุวรรณสามก็พลิกกายกลับไปอีกข้างหนึ่ง
ฝ่ายนางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ บริเวณเขาคันธมาทน์ ก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “เราทำหน้าที่รักษาเขาคันธมาทน์มาเป็นเวลานาน เรารักสุวรรณสามผู้มีเมตตาจิตและมีความกตัญญูยิ่งกว่าใคร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้พิษจงจางหายไปเถิด”

ทันใดนั้น สุวรรณสามก็พลิกกายฟื้นตื่นขึ้น หายจากพิษธนูโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นดวงตาของพ่อและแม่ของสุวรรณสามก็กลับแลเห็นเหมือนเดิม พระราชาทรงพิศวงยิ่งนัก จึงตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร สุวรรณสามตอบพระราชาว่า “บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมช่วยคุ้มครองบุคคลนั้น นักปราชญ์ย่อมสรรเสริญ แม้เมื่อตายไปแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ เสวยผลบุญแห่งความกตัญญูกตเวทีของตน” พระราชากบิลยักขราชได้ยินดังนั้นก็ชื่นชมโสมนัส ตรัสกับสุวรรณสามว่า “ท่านทำให้จิตใจและดวงตาของข้าพเจ้าสว่างไสว ข้าพเจ้ามองเห็นธรรม ต่อนี้ไป ข้าพเจ้าจะรักษาศีล จะบำเพ็ญกุศลกิจ จะไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์อีกแล้ว” ตรัสปฏิญาณแล้ว พระราชาก็ทรงขอขมาโทษที่ได้กระทำให้สุวรรณสามเดือดร้อน แล้วพระองค์ก็เสด็จกลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ

ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติพ่อแม่ บำเพ็ญเพียรในทางธรรม เมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลกร่วมกับพ่อแม่ ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมา คือ ความเมตตากรุณาต่อมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย และความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา อันเป็นกุศลกรรมสูงสุดที่บุตรพึงกระทำต่อบิดามารดา




คติธรรม : บำเพ็ญเมตตาบารมี


“ความมีเมตตาจิต จะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันตรายใดๆ ธรรมนั้นคือเกราะแก้ว มิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้”


.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ธ.ค. 2009, 09:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ธ.ค. 2009, 13:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ



๔. เ น มิ ร า ช ช า ด ก


พระราชาแห่งเมืองมิถิลา ทรงมีพระโอรสนามว่า เนมิกุมาร ผู้จะทรงสืบสมบัติในกรุงมิถิลาต่อไป พระเนมิกุมารทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบำเพ็ญทานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงรักษาศีลอุโบสถอย่างเคร่งครัด


วันหนึ่ง พระบิดาทอดพระเนตรเห็นเส้นพระเกศาหงอกขาว ก็ทรงรำพึงว่า บัดนี้ถึงเวลาที่จะมอบราชสมบัติให้แก่โอรสแล้ว พระองค์เองก็จะได้เสด็จออกบำเพ็ญเพียรในทางธรรมต่อไป จึงทรงมอบราชสมบัติเมืองมิถิลาให้แก่พระเนมิราชกุมารขึ้นครองเป็นพระเจ้าเนมิราช ส่วนพระองค์เองก็เสด็จออกบวชรักษาศีล ตราบจนสวรรคต

เมื่อพระเจ้าเนมิราชครองราชสมบัติ โปรดให้สร้างโรงทานริมประตูเมืองสี่แห่ง โรงทานกลางพระนครหนึ่งแห่ง ทรงบริจาคทานแก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงรักษาศีล และสั่งสอนประชาชนของพระองค์ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ครั้งนั้นปรากฏว่า ประชาชนทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ไม่มีการเบียดเบียนทำบาปหยาบช้า บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนพากันสรรเสริญพระคุณของพระเจ้าเนมิราชอยู่ทั่วไป


วันหนึ่ง ขณะที่ทรงปฏิบัติธรรมอยู่นั้น พระเจ้าเนมิราช ก็ทรงสงสัยขึ้นมาว่า การให้ทานกับการประพฤติพรหมจรรย์ คือ การรักษาความบริสุทธิ์ ไม่ข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวโลกนั้น อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน

พระอินทร์ได้ทรงทราบถึงความกังขาในพระทัยของพระเจ้าเนมิราช จึงเสด็จจากดาวดึงส์ลงมาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระราชา แล้วตรัสกับพระราชาว่า “หม่อมฉันมาเพื่อแก้ข้อสงสัย ที่ทรงมีพระประสงค์จะทราบว่าระหว่างทานกับการประพฤติพรหมจรรย์ สิ่งใดจะเป็นกุศลยิ่งกว่ากัน หม่อมฉันขอทูลให้ทราบว่า บุคคลได้เกิดในตระกูลกษัตริย์นั้น ก็เพราะประพฤติพรหมจรรย์ในขั้นต่ำ บุคคลได้เกิดในเทวโลก เพราะได้ประพฤติ พรหมจรรย์ขั้นกลาง บุคคลจะถึงความบริสุทธิ์ ก็เพราะประพฤติพรหมจรรย์ขั้นสูงสุด การเป็นพรหมนั้น เป็นได้ยากลำบากยิ่ง ผู้จะประพฤติพรหมจรรย์ จะต้องเว้นจากวิถีชีวิตอย่างมนุษย์ปุถุชน ต้องไม่มีเหย้าเรือน ต้องบำเพ็ญธรรมสม่ำเสมอ ดังนั้น การประพฤติพรหมจรรย์จึงทำได้ยากยิ่งกว่าการบริจาคทาน และได้กุศลมากยิ่งกว่าหลายเท่านัก บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย มักบริจาคทานกันเป็นการใหญ่ แต่ก็ไม่สามารถจะล่วงพ้นจากกิเลสไปได้ แม้จะได้ไปเกิดในที่อันมีแต่ความสนุก ความบันเทิงรื่นรมย์ แต่ก็เปรียบไม่ได้กับความสุขอันเกิดจากความสงบวิเวก อันจะได้มา ก็ด้วยการประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น”

พระอินทร์ได้ทรงเล่าถึงเรื่องราวของพระองค์เอง ที่ได้ประกอบทานอันยิ่งใหญ่ เมื่อชาติที่เกิดเป็นพระราชาแห่งพาราณสี ได้ทรงถวายอาหารแก่นักพรตที่อยู่บริเวณแม่น้ำสีทาเป็นจำนวนหมื่นรูป และได้รับกุศลยิ่งใหญ่ แต่ก็เพียงได้เกิดในเทวโลกเท่านั้น ส่วนบรรดานักพรตที่ประพฤติพรหมจรรย์เหล่านั้น ล้วนได้ไปเกิดในพรหมโลก อันเป็นแดนที่สูงกว่าและมีความสุขสงบอันบริบูรณ์กว่า แต่แม้ว่าพรหมจรรย์จะประเสริฐกว่าทาน พระอินทร์ก็ได้ทรงเตือนให้พระเจ้าเนมิราชทรงรักษาธรรมทั้งสองคู่กัน คือ บริจาคทานและรักษาศีล

ครั้นเมื่อพระอินทร์เสด็จกลับไปเทวโลกแล้ว เหล่าเทวดา ซึ่งครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์นั้นได้เคยรับทานและฟังธรรมจากพระเจ้าเนมิราช จนได้มาบังเกิดในเทวโลก ต่างพากันไปเฝ้าพระอินทร์และทูลว่า “พระเจ้าเนมิราชทรงเป็นอาจารย์ของเหล่าข้าพระบาทมาแต่ก่อน ข้าพระบาททั้งหลายรำลึกถึงพระคุณพระเจ้าเนมิราช ใคร่จะได้พบพระองค์ ขอได้โปรดเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชมายังเทวโลกนี้ด้วยเถิด”
พระอินทร์จึงมีเทวบัญชาให้มาตุลี เทพสารถี นำเวชยันตราชรถไปเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชจากกรุงมิถิลาขึ้นมายังเทวโลก มาตุลีเทวบุตรรับโองการแล้ว ก็นำราชรถไปยังมนุษยโลกในคืนวันเพ็ญ

ขณะพระเจ้าเนมิราชกำลังประทับอยู่กับเหล่าเสนาอำมาตย์
มาตุลีทูลเชิญพระราชาว่า เทพบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์รำลึกถึงพระคุณของพระองค์ ปรารถนาจะได้พบพระองค์ จึงนำราชรถมาเชิญเสด็จไปยังเทวโลก
พระเจ้าเนมิราชทรงรำพึงว่า พระองค์ยังมิเคยเห็นเทวโลก ปรารถนาจะเสด็จไปตามคำเชิญของเหล่าเทพ จึงเสด็จประทับบนเวชยันตราชรถ
มาตุลีจึงทูลว่า สถานที่ที่จะเชิญเสด็จไปนั้น มีสองทาง คือ ไปทางที่อยู่ของเหล่าผู้ทำบาปหนึ่ง และไปทางสถานที่อยู่ของผู้ทำบุญหนึ่ง พระราชาประสงค์จะเสด็จไปที่ใดก่อนก็ได้
พระราชาตรัสว่า พระองค์ประสงค์จะไปยังสถานที่ของเหล่าผู้ทำบาปก่อน แล้วจึงไปยังที่แห่งผู้ทำบุญ
มาตุลีก็นำเสด็จไปยังเมืองนรก ผ่านแม่น้ำเวตรณี อันเป็นที่ทรมานสัตว์นรก แม่น้ำเต็มไปด้วยเถาวัลย์ หนามโตเท่าหอก มีเพลิงลุกโชติช่วง มีหลาวเหล็กเสียบสัตว์นรกไว้เหมือนย่างปลา เมื่อสัตว์นรกตกลงไปในน้ำ ก็ถูกของแหลมคมใต้น้ำสับขาดเป็นท่อนๆ บางที นายนิรยบาลก็เอาเบ็ดเหล็กเกี่ยวสัตว์นรกขึ้นมาจากน้ำ เอามานอนหงายอยู่บนเปลวไฟบ้าง เอาก้อนเหล็กมีไฟลุกแดงอุดเข้าไปในปากบ้าง สัตว์นรกล้วนต้องทนทุกขเวทนาด้วยอาการต่างๆ

พระราชาตรัสถามถึงโทษของเหล่าสัตว์นรกเหล่านี้ว่า ได้ประกอบกรรมชั่วอะไรไว้ จึงต้องมารับโทษดังนี้ มาตุลีก็ตอบบรรยายถึงโทษกรรมที่สัตว์นรกเหล่านี้ประกอบไว้ เมื่อครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์
จากนั้น มาตุลีก็พาพระราชาไปทอดพระเนตรขุมนรกต่างๆ ที่มีบรรดาสัตว์นรกถูกจองจำและลงโทษอยู่ด้วยความทรมานแสนสาหัส น่าทุเรศเวทนาต่างๆ เป็นที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่ง
พระราชาตรัสถามถึงโทษของสัตว์นรกแต่ละประเภท มาตุลีก็ตอบโดยละเอียด เช่น ผู้ที่เคยทรมานไล่จับไล่ยิงนก ขว้างนก จะถูกนายนิรยบาลเอาเหล็กพืดรัดคอ กดหัว แล้วดึงเหล็กนั้นจนคอขาด , ผู้ที่เคยเป็นพ่อค้าแม่ค้า แล้วไม่ซื่อต่อคนซื้อ เอาของเลวมาหลอก ว่าเป็นของดี หรือเอาของเลวมาปนของดี ก็จะถูกลงโทษให้เกิดความกระหายน้ำ ครั้นเมื่อไปถึงน้ำ น้ำนั้นก็กลายเป็นแกลบเพลิง ลุกเป็นไฟ ก็จำต้องกินแกลบนั้นต่างน้ำ เมื่อกินเข้าไป แกลบน้ำ ก็แผดเผาร่างกายได้รับทุกขเวทนาสาหัส , ผู้ที่เคยทำความเดือดร้อนให้มิตรสหายอยู่เป็นนิตย์ รบกวนเบียดเบียนมิตรสหายด้วยประการต่างๆ เมื่อตายไปเกิดในขุมนรก ก็จะรู้สึกหิวกระหาย ปรารถนาจะกินอาหาร แต่อาหารที่ได้พบ ก็คืออุจจาระปัสสาวะ สัตว์นรกเหล่านี้จำต้องดื่มกินต่างอาหาร , ผู้ที่ฆ่าบิดามารดา ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าผู้มีศีลธรรม จะถูกไฟนรกแผดเผาให้กระหาย ต้องดื่มเลือดดื่มหนองแทนอาหาร

ความทุกข์ทรมานอันสาหัสในขุมนรกต่างๆมีอยู่มากมาย เป็นที่น่าทุเรศเวทนา ทำให้พระราชารู้สึกสยดสยองต่อผลแห่งกรรมชั่วร้ายของมนุษย์ใจบาปหยาบช้าทั้งหลายยิ่งนัก
พระราชาทอดพระเนตรเห็นวิมารแก้วของนางเทพธิดาวารุณี ประดับด้วยแก้วแพรวพรายมีสระน้ำ มีสวนอันงดงามด้วยดอกไม้นานาพรรณ จึงตรัสถามมาตุลีว่า นางเทพธิดาวารุณีประกอบกรรมดีอย่างใดไว้ จึงได้มีวิมานที่งดงามวิจิตรเช่นนี้
มาตุลีตอบว่า นางเทพธิดาองค์นี้ เมื่อเป็นมนุษย์ เป็นสาวใช้ของพราหมณ์ มีหน้าที่จัดอาสนะสำหรับภิกษุ และจัดสลากภัตถวายภิกษุอยู่เนืองๆ นางบริจาคทานและรักษาศีลตลอดเวลา ผลแห่งกรรมดีของนาง จึงได้บังเกิดวิมานแก้วงามเรืองรอง
พระราชาเสด็จผ่านวิมานต่างๆอันงดงามโอฬาร และได้ตรัสถามเทวสารถี ถึงผลบุญที่เหล่าเทพบุตร เทพธิดาเจ้าของวิมานเหล่านั้น ได้เคยประกอบไว้ เมื่อครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์ มาตุลีก็ทูลให้ทราบโดยละเอียด ความงามและความรื่นรมย์ในเทวโลก เป็นที่จับตาจับใจของพระราชาเนมิราชยิ่งนัก
ในที่สุด มาตุลีก็นำเสด็จพระราชาไปถึงวิมานที่ประทับของพระอินทร์ เหล่าเทพยดาทั้งหลาย มีความโสมนัสยินดีที่ได้พบพระราชาผู้เคยทรงมีพระคุณต่อเทพยดาเหล่านั้น ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็นมนุษย์อยู่ในมนุษยโลก เหล่าเทพได้ทูลเชิญให้พระราชาประทับอยู่ในวิมานของตน เพื่อเสวยทิพย์สมบัติอันรื่นรมย์ในดาวดึงส์
พระราชาตรัสตอบว่า “สิ่งที่ได้มาเพราะผู้อื่น ไม่เป็นสิทธิขาดแก่ตน หม่อมฉันปรารถนาจะประกอบกรรมดี เพื่อให้ได้รับผลบุญตามสิทธิอันควรแก่ตนเอง หม่อมฉันจะตั้งหน้าบริจาคทาน รักษาศีล สำรวมกาย วาจา ใจ เพื่อให้ได้รับผลแห่งกรรมดี เป็นสิทธิของหม่อมฉันโดยแท้จริง”

พระราชาประทับอยู่ในดาวดึงส์ชั่วเวลาหนึ่งแล้ว จึงเสด็จกลับเมืองมิถิลา ได้ตรัสเล่าสิ่งที่ได้พบเห็นมาแก่ปวงราษฎร ทั้งสิ่งที่ได้เห็นในนรกและสวรรค์ แล้วตรัสชักชวนให้ประชาชนทั้งหลาย ตั้งใจมั่น ประกอบกรรมดี บริจาคทาน รักษาศีล เพื่อให้ได้ไปเกิดในเทวโลก ได้รับความสุขสบายรื่นรมย์ในทิพยวิมาน
พระราชาเนมิราชทรงครองแผ่นดินสืบต่อมาด้วยความเป็นธรรม ทรงตั้งพระทัยรักษาศีลและบริจาคทานโดยสม่ำเสมอมิได้ขาด วันหนึ่ง เมื่อทอดพระเนตรเห็นเส้นพระเกศาหงอกขาวก็สลดพระทัยในสังขาร ทรงดำริที่จะออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสเรียกพระโอรสมาเฝ้าและทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส หลังจากนั้น พระราชาเนมิราชก็ออกผนวช เจริญพรหมวิหาร ได้สำเร็จบรรลุธรรม ครั้นเมื่อสวรรคต ก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอันรื่นรมย์ กุศลกรรมที่พระราชาทรงประกอบ อันส่งผลให้พระองค์ได้ไปสู่เทวโลกนั้น คือ การพิจารณาเห็นโทษของความชั่ว และความสยดสยองต่อผลแห่งกรรมชั่วนั้น และเห็นอานิสงส์ของกรรมดีที่ส่งผลให้บุคคลได้เสวยสุขในทิพยสมบัติ อานิสงส์อันประเสริฐที่สุด คือ อานิสงส์แห่งการประพฤติพรหมจรรย์ คือการบวชเมื่อถึงกาลอันสมควร




คติธรรม : บำเพ็ญอธิษฐานบารมี


“การหมั่นรักษาความดี ประพฤติชอบโดยตั้งใจ โดยมุ่งมั่น หากทำความดีแล้ว ย่อมได้ดี ประพฤติชั่ว ย่อมได้ผลชั่วตอบแทน นี้เป็นเรื่องที่สมควรยึดมั่นโดยแท้”

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร