วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 11:22  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 10:39 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


พระสูตรสำคัญของพระพุทธเจ้า
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

รูปภาพ

1. ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
กงล้อแห่งความจริงอันประเสริฐ


หลายคนขอร้องให้แปลธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อาทิตตปริยายสูตร และอนัตตลักขณสูตร ด้วยสำนวนไทยง่ายๆ เพื่อจะได้รู้ว่า พระสูตรเหล่านี้มีเนื้อหาสาระว่าอย่างไร ผมก็ผัดผ่อนหนี้ บัดนี้ได้เวลาใช้หนี้แล้วครับ ขออนุญาตเทศน์ เอ๊ย เล่าให้ฟังตามลำดับ

ก่อนอื่นก็ขอ “แวะข้างทาง” (ตามสไตล์) ก่อน การแปลภาษาหนึ่งสู่อีกภาษาหนึ่งนั้น มีอยู่ 2 อย่างคือ แปลโดยพยัญชนะ กับแปลโดยอรรถ

การแปลโดยพยัญชนะคือ แปลตามตัวอักษร รักษาโครงสร้างของประโยคไว้อย่างเคร่งครัด บางทีเคร่งครัดเกินไปอ่านแล้วฟังไม่รู้เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น ประโยคบาลีว่า

กายัสสะ เภทา ปรัมมะระณา สุคะติง สัคคัง อุปะปัชชะติ

ท่านแปลโดยพยัญชนะว่า “เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก เขาย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์”

แปลรักษาโครงสร้างของภาษาเปี๊ยบเลย ผมเคยอ่านให้ลูกศิษย์ฟังแล้วถามว่า รู้ไหมหมายความว่าอย่างไร? นักศึกษาจำนวนเกือบสามสิบคนสั่นหัวดิก คนหนึ่งถามขึ้นว่า

“การจะเข้าสู่สุคตินี่มันเบื้องหน้าเบื้องหลังด้วยหรืออาจารย์”

ผมตอบว่า “มีสิวะ เบื้องหน้าเบื้องหลังสกปรก ไม่มีสิทธิได้เข้านะ จะบอกให้” (ฮิฮิ)

ความจริงข้อความในประโยคนี้ ถ้าจะแปลโดยอรรถ คือแปลเอาความโดยไม่ต้องคำนึงถึงโครงสร้างของไวยากรณ์ก็ต้องแปลว่า “หลังจากตายแล้ว เขาไปเกิดในสวรรค์” หรือ “ตายแล้วก็ขึ้นสวรรค์” อย่างนี้ละก็ค่อยรู้เรื่องหน่อย

คัมภีร์พระไตรปิฎกแปลที่ใครต่อใครบ่นกันว่า อ่านแล้วไม่รู้เรื่องนั้น สาเหตุหนึ่งมาจากสำนวนการแปล อ่านแล้วต้องมานั่งแปลไทยเป็นไทยอีกทอดหนึ่ง คนที่ไม่มีพื้นฐานทางภาษาบาลี หรือไม่คุ้นกับศัพท์แสงทางศาสนาก็เดาไปผิดๆ ถูกๆ ได้ง่าย

จึงไม่แปลกที่เจ้ากูบางรูปบวชมาแล้วไม่สนใจเรียนบาลีนักธรรม ตั้งตนเป็นเจ้าสำนัก อ่านพระไตรปิฎกแปลไทย แล้วตีความกันเลยเถิด จนสร้างสิ่งที่ทางพระศาสนาเรียกว่า “สัทธรรมปลอม” (หรือลัทธิแก้) ขึ้น

แวะข้างทางมานาน ขอดำเนินเรื่องต่อ พระสูตรและที่จะนำมาเล่าให้ฟังคือ “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ธัมมจักร” เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ปฐมเทศนา” (การเทศน์ครั้งแรก) ที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพราะเป็นพระสูตรที่ว่าด้วยการหมุนกงล้อ คือ พระธรรม ที่เรียกว่า ปฐมเทศนา เพราะเป็นการเทศน์ครั้งแรก สดๆ ซิงๆ หลังตรัสรู้

ทำไมจึงตั้งชื่อการเทศน์ครั้งแรกนี้ว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (การหมุนกงล้อ คือ พระธรรม)

อันนี้คือต้องเปรียบเทียบกับเรื่องของทางโลกจึงจะเข้าใจพระมหาราชผู้ปรารถนาจะแผ่กฤษดาภินิหารไปยังแคว้นต่างๆ พูดง่ายๆ ว่า อยากเป็นใหญ่ทั่วทั้งโลก (ถ้าเป็นได้) ก็จะทำพิธีส่งม้าอุปการไป ม้าผ่านไปยังเมืองใด กษัตริย์หรือผู้ครองเมืองนั้น ถ้าเกรงกลัวก็ยอมสยบ ส่งเครื่องบรรณาการมา “จิ้มก้อง” เป็นเมืองขึ้น แต่ถ้าคิดว่า “ข้าก็หนึ่งในตองอู” คนหนึ่งนี่หว่า ก็จะฆ่าม้านั้นเสีย

ทีนี้แหละคุณเอ๋ย พระมหาราชพระองค์นั้น ก็จะทรงยกทัพไปบดขยี้ เอาให้แหลกกันไปข้าง เสียง “ล้อรถศึก” หมุนไปทางทิศใด ย่อมหมายถึงการฆ่าฟัน ทำลายชีวิตคนตกตายเป็นใบไม้ร่วง ไอ้ที่ว่าหนึ่งในตองอูก็อาจสิ้นชื่อในฉับพลัน

ท่านจึงว่าล้อศึกของพระมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ หมุนไปในทางทิศใด สุดที่ใครๆ จะต้านทานได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาอันบรรยายถึงอริยสัจสี่ประการ ที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อน ก็เท่ากับ “ทรงหมุนกงล้อ” ที่ไม่มีใครสามารถจะหยุดได้

แต่กงล้อที่ทรงหมุนเป็น “กงล้อแห่งธรรม” หรือ “กงล้อแห่งความจริงอันประเสริฐ”

ล้อธรรมหมุนไปยังทิศทางใด จะขจัดทำลายโมหะอวิชชาออกจากจิตใจของผู้คน ให้ได้พบแสงสว่างแห่งชีวิต บันดาลแต่ความสงบสันติสุขแก่ชาวโลก ไม่เหมือนล้อรถศึกของมหาราชทางโลก ที่พัดพาเอากลิ่นอายแห่งการฆ่าฟันตามไปด้วย

เพราะเหตุฉะนี้แหละครับ พระพุทธองค์จึงมีพระนามอีกอย่างว่า “พระธรรมราชา” (พระราชาแห่งธรรม) มีพระสารีบุตรอัครสาวกช่วยเผยแผ่พระธรรม เป็น “พระธรรมเสนาบดี” ซึ่งถ้ามีโอกาสจะกล่าวถึงข้างหน้า คราวนี้ขอเอวังแค่นี้ก่อน

2. ช่วงแห่งการแสวงหา

ได้พูดว่า ทำไมพระธรรมเทศนาครั้งแรกของพระพุทธเจ้าจึงมีชื่อเรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” (สูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อคือพระธรรม) ผิดถูกอย่างไรเป็นเพียงการสันนิษฐาน (ก็ “เดา” นั่นแหละ) ของผมนะครับ

คราวนี้มาพูดถึงสาเหตุที่พระองค์จำเพาะเจาะจงจะทรงแสดงเรื่องนี้แก่ศิษย์รุ่นแรก 5 คนของพระองค์ก่อน

ขออนุญาตย้อนหลังสักนิด

ช่วงระยะเวลา 6 ปีก่อนตรัสรู้พระพุทธองค์ทรงทำอะไรบ้าง

ผู้เขียนพุทธประวัติไม่ได้กล่าวโดยละเอียด พูดแต่เพียงว่า หลังจากเสด็จออกผนวชแล้วไปศึกษาอยู่กับสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร จนสำเร็จฌานสมาบัติถึงขั้นที่ 7 แล้วก็ไปศึกษาต่อกับอุทกดาบส รามบุตรจนสำเร็จฌานสมาบัติขั้นที่ 9 เมื่อเห็นว่ามิใช่ทางนำไปสู่การตรัสรู้ จึงอำลาอาจารย์ไปแสวงหาด้วยพระองค์เอง

จากนั้นพระองค์ก็ทรงทำ “ทุกรกิริยา” เมื่อพบว่าทุกรกิริยาก็มิใช่ทางเพื่อรู้แจ้ง จึงหันมาดำเนินตามทางสายกลาง แล้วก็ได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

ก็ว่ากันมาอย่างนี้ สิ่งที่ไม่ชัด หรือไม่ “แจ้งจางปาง” ก็คือระยะเวลาครับ

ไม่มีใครระบุไว้ว่า ช่วงเวลาที่พระองค์ศึกษาปฏิบัติอยู่กับอาจารย์ทั้งสองท่านนั้นนานเท่าใด

และหลังจากลาอาจารย์ทั้งสองไปแสวงหาด้วยพระองค์เอง ทรงทำอะไรบ้างนอกเหนือจาก “ทุกรกิริยา”

ผม “เดา” เองว่า พระองค์ทรงใช้เวลาไม่เกิน 2 ปี สำหรับการฝึกปฏิบัติโยคะอยู่กับอาจารย์สอนโยคะชื่อดังทั้งสองท่านอีก 4 ปี เป็นช่วงเวลาที่ทรงทดลองด้วยพระองค์เองโดย

(1) บำเพ็ญตบะต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น เปลือยกายนั่งนอนบนหนามแหลมคม กินโคมัย (มูลโค) กินหญ้าเหมือนโคกระบือ ลงแช่ในน้ำเย็นจัดวันละสามเวลา (ตปัสสีวัตร) เอาดินโคลนทาตัวให้สกปรก จนแห้งเกรอะกรัง (ลูขวัตร) ระมัดระวังตัวเป็นพิเศษเวลาจะเดินก็เอาไม้กวาดกวาดพื้นก่อนแล้วค่อยๆ ย่างเท้าไปช้าๆ กลัวจะเหยียบสัตว์เล็กๆ ตายโดยไม่เจตนา (เชคุจฉวัตร) หลบผู้คนไปอยู่ในป่าลึก ถ้าได้ยินเสียงคนถือว่าเสีย “วัตร” (ปวิวิตตวัตร) คลานสี่ขาเหมือนสุนัข ดื่มปัสสาวะตัวเอง กินโคมัย (มหาวิกัฏโภชนวัตร) นอนไม่ไหวติงในป่าช้า ฝึกฝนความไม่รู้สึกยินดียินร้าย (อุเบกขาวัตร)

(2) เมื่อเห็นว่าวิธีเคร่งครัดต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ผล ก็หันมาทำ “ทุกรกิริยา” ซึ่งตามหนังสือพุทธประวัติกล่าวว่า

“วาระแรก ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กลพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้แน่น จนพระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ …วาระที่สอง ทรงผ่อนกลั้นลมอัสสาสะปัสสาสะ เมื่อลมไม่ได้เดินสะดวก โดยช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์ ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณทั้งสองให้ปวดพระเศียร เสียดพระอุทร ร้อนในพระวรกายเป็นกำลัง …วาระที่สาม ทรงอดอาหาร…”

ใครอ่านตรงนี้แล้วยังไม่เข้าใจดี ก็ฝากการบ้านให้ไปเปิดราชาศัพท์เอาเองครับ

ระยะเวลาที่ทรงบำเพ็ญตบะต่างๆ ลงท้ายด้วย “ทุกรกิริยา” คงประมาณ 4 ปี รายละเอียดตบะต่างๆ ที่ทรงทดลองด้วยพระองค์เองนั้น พุทธประวัติไม่กล่าวถึง แต่ในพระไตรปิฎกมีพูดไว้ พระพุทธเจ้าทรงเล่าด้วยพระองค์เองทีเดียวแหละครับ

ที่บางท่านว่า ออกจากสำนักอาจารย์ทั้งสองแล้ว พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาตลอดหกปีนั้น คงไม่ถูกต้อง

ยิ่งเข้าใจว่า ทุกรกิริยาคืออดข้าวอย่างเดียว แล้วพูดว่าทรงอดข้าวอยู่ตั้งหกปี ยิ่งไม่ถูกใหญ่ ใครจะอดข้าวตั้งหกปีแล้วมีชีวิตอยู่ได้เล่าครับ

เมื่อตรัสรู้แล้วก็คิดหาคนที่มีสติปัญญาพอจะฟังรู้เรื่อง นึกถึงอาจารย์ทั้งสองขึ้นมาทันที แต่เมื่อทรงทราบว่า ท่านทั้งสองเสียชีวิตไปแล้วก่อนหน้านี้เพียง 7 วัน ก็ทรงนึกถึงศิษย์เก่า 5 คน ซึ่งเรียกว่า “ปัญจวัคคีย์”

ปัญจวัคคีย์ได้ตามมาบวชคอยปรนนิบัติพระองค์ ขณะทรงทำทุกรกิริยาอยู่ที่ถ้ำ ซึ่งปัจจุบันนี้เรียกว่า “ดงคศิริ” ประมุข เอ๊ย หัวหน้าชื่อ โกณฑัญญะ เคยเป็นหนึ่งในพราหมณ์ 8 คนที่ถูกเชิญให้ไปทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะ โกณฑัญญะทำนายหนักแน่นว่า พระราชกุมารจะเสด็จออกผนวชและจะได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อทราบข่าวพระองค์เสด็จออกผนวช จึงชวนพรรคพวกอีก 4 คน ตามมาทันขณะที่พระองค์กำลังบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่พอดี

แต่พอพระองค์ทรงเลิกอดอาหาร หันมาเสวยพระกระยาหาร โกณฑัญญะหมอดูแม่นๆ ก็ฉีกตำราทิ้ง ปักใจว่าพระองค์ไม่มีทางได้บรรลุแล้ว ได้กลายมาเป็นคนเห็นแก่กินเสียแล้ว จึงชวนพรรคพวกหนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี ปัจจุบันนี้เรียก “สารนาถ” ห่างจากดงคศิริประมาณสองร้อยกว่ากิโล

พระองค์เสด็จดำเนินโดยพระบาท ทรงพบอาชีวกชื่ออุปกะ เดินสวนทางมา อุปกะแกทึ่งในบุคลิกอันงามสง่าของพระองค์ จึงถามว่าใครเป็นอาจารย์ พระองค์ตรัสว่า พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธ ตรัสรู้ชอบเอง ไม่มีใครเป็นครูอาจารย์

แกสั่นศีรษะร้องว่า “I see” แล้วก็หลีกทางไป

3. สรุปเนื้อหาพระสูตรเป็นขั้นตอน

ข้อความตรงนี้ ผู้เขียนพุทธประวัติบอกว่า อุปกะไม่เชื่อบางฉบับเพิ่ม “แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก” เข้าไปด้วย เพื่อให้ชัดแจ้งว่า แกไม่เชื่อพระพุทธองค์แน่ๆ แต่ตามวัฒนธรรมแขก การสั่นศีรษะหมายถึงการยอมรับนะครับ ใครไม่เชื่อลองไปพิสูจน์ดูได้ เรื่องนี้ผมเขียนไว้ที่อื่นแล้ว จึงไม่ขอเข้าสู่รายละเอียดในที่นี้

ข้อความตอนหนึ่งที่ตรัสแก่อุปกะว่า “เราจะเดินทางไปยังแคว้นกาสี เพื่อหมุนกงล้อคือพระธรรม และเพื่อลั่นกลองอมตะ” เป็นภาษาสัญลักษณ์ที่ชาวพุทธในกาลต่อมานำเอามาใช้ คือสายมหายานนำเอากลองมาใช้ในพิธีสวดมนต์ทำพิธีกรรมทางศาสนา (เวลาพระสวดท่านก็จะตีกลองไปด้วย ว่ากันว่าทำจังหวะให้เข้ากับบทสวด แต่ที่จริงน่าจะหมายความว่า ท่านกำลัง “ตีกลองอมตะ” คือสอนธรรมมากกว่า)

ทางฝ่ายเถรวาทก็คิดประดิษฐ์ธงธรรมจักรขึ้นเป็นสัญลักษณ์แห่งการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีธงธรรมจักรที่ไหนก็แสดงว่าพระสงฆ์ท่านได้ “หมุนล้อธรรม” ไปที่นั่น

เมื่อพุทธองค์เสด็จไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พวกปัญจวัคคีย์มองเห็นแต่ไกลก็บอกกันว่า “โน่นไง! ผู้คลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากมาแล้ว พวกเราอย่าไปสนใจ ปูแต่อาสนะไว้ให้ก็พอ ไม่ต้องลุกขึ้นต้อนรับ” ว่าแล้วก็ทำเป็นไม่เห็น

แต่พอพระองค์เสด็จเข้าใกล้ ต่างคนต่างลืมสัญญาที่ให้กันไว้หมด ลุกขึ้นรับบาตรและจีวร แต่ปากยังแข็งอยู่ พูดทักทายพระพุทธองค์ว่า “อาวุโสโคตมะ” เทียบกับคำไทยก็คงเป็น “ว่าไง คุณโคตมะ” อะไรทำนองนั้น พระองค์ตรัสว่า “พวกเธออย่าพูดกับตถาคต จะแสดงธรรมให้ฟัง”

พูดยังไงๆ ปัญจวัคคีย์ก็ไม่เชื่อ “ท่านอดอาหารแทบตายยังไม่บรรลุเลย เมื่อกลายเป็นคนเห็นแก่กินยังมาพูดว่าได้บรรลุ ไม่เชื่อเด็ดขาด”

“ตั้งแต่อยู่ด้วยกันมา พวกเธอเคยได้ยินตถาคตพูดคำนี้บ้างไหม” พระพุทธองค์ย้อนถาม

ปัญจวัคคีย์อึ้ง “เออ จริงสินะ พระองค์ไม่เคยพูดเลย คราวนี้พูดขึ้นมา แสดงว่าคงจะจริงมั้ง”

จากนั้นพระพุทธเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรให้ปัญจวัคคีย์ฟัง เพื่อความเข้าใจง่าย

ผมขอสรุปเนื้อหาพระสูตรเป็นขั้นตอนคือ

ขั้นตอนที่หนึ่ง พูดถึงการปฏิบัติที่ไม่พึ่งการกระทำ หรือ “ทางที่ไม่ควรดำเนิน” 2 ทาง คือ การปล่อยกายปล่อยใจให้สนุกเพลิดเพลินในกามคุณทั้ง 5 (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส) แนวทางนี้เรียกว่า “กามสุขัลลิกานุโยโค” แปลตามตัวว่าการประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามสุข ก็หมายถึงการติดอยู่ในการเสพสุขทางเนื้อหนังมังสานั่นแหละครับ

ที่ทรงสอนว่าไม่ควรเดินทางสายนี้ เพราะ “เป็นของต่ำ เป็นกิจกรรมของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่สิ่งประเสริฐ และไม่มีประโยชน์”

อีกทางหนึ่งที่ไม่ควรเดินตามก็คือ การทรมานตนให้ลำบากเดือดร้อนต่างๆ เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” อันหมายถึงการบำเพ็ญตบะต่างๆ ที่นิยมทำกันในสังคมอินเดียยุคโน้นนั่นแหละครับ เพราะเป็นทุกข์ไม่ใช่สิ่งประเสริฐและไม่มีประโยชน์

ทั้งสองทางนี้ท่านเรียกว่า “ทางสุดโต่ง” หรือ “ทางตัน” (อันตะ = สุดโต่ง, ตัน) ทางแรกก็หย่อนเกินไป ทางที่สองก็ตึงเกินไป

หมายเหตุไว้ตรงนี้ว่า กามสุขัลลิกานุโยคนั้น พระพุทธองค์ทรงเน้นไปที่ลัทธิโลกายตะ หรือลัทธิวัตถุนิยมอินเดีย ส่วนอัตตกิลมถานุโยค ทรงเน้นไปที่ลัทธิเชน (นิครนถ์) ของศาสดามหาวีระ หรือนิครนถนาฏบุตร

ขั้นตอนที่สอง ทรงแสดง “ทางสายกลาง” (มัชฌิมาปฏิปทา) คือ อริยมรรค มีองค์แปด ได้แก่ เห็นชอบ, ดำริชอบ, เจรจาชอบ, การงานชอบ, เลี้ยงชีพชอบ, พยายามชอบ, ระลึกชอบ และตั้งใจมั่นชอบ

ขั้นตอนที่สาม ทรงแสดงอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อย่างพิสดารและครบวงจรว่าพระองค์ตรัสรู้สิ่งเหล่านี้อย่างไร?

ขั้นตอนที่สี่ ตอนนี้เป็นผมจากการแสดงธรรมจบลงท่านผู้รวบรวมนำมาผนวกไว้ด้วยว่า หลังจากพระพุทธองค์แสดงธรรมจบลง “โกณฑัญญะ” หัวหน้าปัญจวัคคีย์ “เกิดดวงตาเห็นธรรม” ขึ้น คือเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง (พูดอีกนัยหนึ่งก็ว่าได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน) พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ”

ขั้นตอนที่ห้า แทรกเข้ามาเหมือนกัน ตอนนี้กล่าวถึงพวกเทพ (ไม่ใช่พรรคการเมืองนะครับ เทพจริงๆ) ตั้งแต่ภุมมเทวดาได้ป่าวประกาศให้รู้ทั่วกันจนถึงหมู่พรหมทั้งหลายว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระธรรมอันยอดเยี่ยมที่ใครๆ ไม่ว่าสมณพราหมณ์ เทวดา มาร พรหม ก็คัดค้านไม่ได้

คราวต่อไปจะแปลธัมมจักกัปปวัตตนสูตรให้อ่านครับ

4. คำแปลธัมมจักกัปปวัตตนสูตรทั้งหมด

คราวนี้เป็นคำแปลธัมมจักกัปปวัตตนสูตรทั้งหมดดังนี้

“ข้าพเจ้า (พระอานนท์) ได้สดับมาดังนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาค (คือพระพุทธเจ้า) ประทับอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ว่า มีทางตัน 2 ทาง ที่บรรพชิตไม่พึ่งดำเนินคือ

1. การหมกมุ่นอยู่ในกามารมณ์ อันเป็นสิ่งเลวทรามเป็นเรื่องของชาวบ้าน ของปุถุชน (คนมีกิเลสหนา) ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์

2. การทรมานตนให้ลำบาก อันเป็นทุกข์ ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์

ตถาคต (คือพระพุทธเจ้า) ค้นพบทางสายกลาง ที่ไม่ข้องแวะเกาะเกี่ยวทางตัน 2 ทางนั้น เป็นทางที่ทำให้มองเห็นและรู้ความจริงอันสูงสุด เป็นไปเพื่อความสงบ ความรู้ยิ่งและความดับกิเลสได้สนิท ทางสายกลางนี้คือ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ

ทุกข์ คือ ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศก ความคร่ำครวญ ความน้อยใจ ความดับแค้นใจ ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก พลัดพรากจากสิ่งที่เป็นที่รัก ไม่ได้ตามปรารถนาโดยสรุป ขันธ์ 5 อันเป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นนี้แหละเป็นทุกข์

เหตุเกิดทุกข์ คือตัณหา (ความทะยานอยาก) 3 ชนิด ที่เป็นตัวสร้างภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัดยินดี เป็นตัวทำให้คิดเพลินในเรื่องต่างๆ คือ กามตัณหา (อยากได้ อยากมี อยากเป็น) ภวตัณหา (อยากให้สิ่งที่ได้ที่มี ที่เป็น คงอยู่นานๆ) วิภวตัณหา (อยากหนีหรือสลัดทิ้งซึ่งภาวะที่ไม่ชอบใจ)

การดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์แปดได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ

ทางดับทุกข์ คือ อริยมรรคมีองค์แปดได้แก่ เห็นชอบ ดำริชอบ เจรจาชอบ การงานชอบ อาชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ

เราเกิดการหยั่งรู้ ความรู้ทั่วถึง ความรู้แจ้ง ความสว่างในสิ่งที่เราไม่เคยได้สดับมาก่อนว่า นี้ทุกข์ ทุกข์นี้ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง และทุกข์นี้เราได้รู้แล้ว นี้เหตุเกิดทุกข์ เหตุเกิดทุกข์นี้ควรละและเหตุเกิดทุกข์นี้เราละได้แล้ว นี้การดับทุกข์ การดับทุกข์นี้ควรทำให้แจ้งประจักษ์ และการดับทุกข์นี้เราทำให้แจ้งประจักษ์แล้ว นี้ทางดับทุกข์ ทางดับทุกข์นี้ควรทำให้เจริญ และทางดับทุกข์นี้เราทำให้เจริญแล้ว

ตราบใดความรู้เห็นตามเป็นจริงในอริยสัจสี่ อันมี 3 รอบ 12 อาการนี้ ยังไม่ชัดแจ้ง ตราบนั้นเรายังไม่ประกาศยืนยันว่า เราได้ตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณอันประเสริฐ ต่อเมื่อการรู้เห็นนั้นชัดแจ้ง เราจึงกล้าประกาศยืนยัน ท่ามกลางหมู่สัตว์อันประกอบด้วยสมณะ พราหมณ์ มนุษย์ เทวดา มารและพรหม การรู้เห็นนั้นเกิดขึ้นแก่เราจริง การหลุดพ้นนั้นแท้จริงชาตินี้เป็นหนสุดท้าย ไม่มีภพใหม่อีกต่อไป

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสจบ พระปัญจวัคคีย์ ชื่นชมภาษิตของพระองค์โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” เป็นการรู้เห็นแจ่มกระจ่างว่า “สรรพสิ่งมีการเกิดขึ้นและดับไปเป็นธรรมดา”

เมื่อพระพุทธองค์ทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมแล้วเหล่าภุมมเทวดา (เทวดาสถิตอยู่บนพื้นดิน) ร้องบอกต่อกันว่า พระพุทธเจ้าทรงหมุนกงล้อคือพระธรรม ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันแล้ว ไม่มีใครหมุนกลับได้ ไม่ว่าสมณะหรือพราหมณ์มารหรือพรหม แล้วก็บอกต่อๆ กันไปจนถึงพรหมโลก หมื่นโลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหว ปรากฏแสงสว่างไปทั่วโลกหาประมาณมิได้ ยิ่งกว่าอนุภาพเทวดาบันดาลเสียอีก

พระพุทธองค์ทรงเปล่าอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ”

ดังนั้น โกณฑัญญะจึงได้นามต่อมาว่า “อัญญาโกณฑัญญะ” (โกณฑัญญะผู้ฉลาด) ด้วยประการฉะนี้แล

เนื้อหาพระสูตรมีแค่นี้ ท่านจึงสังเกตเห็นว่า สาระจริงๆ อยู่ที่ทรงแสดงอริยสัจสี่ครบวงจร นอกจากนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นหลังจากทรงแสดงจบ

ที่ว่า “การหยั่งรู้อริยสัจสี่ของพระพุทธองค์เป็นการรู้ครบวงจร” คือ รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร (สัจญาณ) รู้ว่าควรจัดการกับมันอย่างไร (กิจญาณ) และรู้ว่าเมื่อจัดการกับมันแล้วได้ผลอย่างไร (กตญาณ) ขอให้ดูชัดๆ อีกทีเพื่อความกระจ่าง

1. นี้คือทุกข์ (สัจญาณ) – ทุกข์ควรกำหนดรู้ (กิจญาณ) – ทุกข์กำหนดรู้แล้ว (กตญาณ)

2. นี้คือสมุทัย (สัจญาณ) – สมุทัยควรละ (กิจญาณ) – สมุทัยละได้แล้ว (กตญาณ)

3. นี้คือนิโรธ (สัจญาณ) – นิโรธควรทำให้แจ้ง (กิจญาณ) – นิโรธทำให้แจ้งแล้ว (กตญาณ)

4. นี้คือมรรค (สัจญาณ) – มรรคควรทำให้เจริญ (กิจญาณ) – มรรคทำให้เจริญแล้ว (กตญาณ)


สรุปแล้วรู้อริยสัจข้อละ 3 ขั้นตอน รวมเป็น 12 (3 x 4 = 12) นี้แหละที่ท่านว่า “รู้อริยสัจสี่อันมี 3 รอบ 12 อาการ (องค์ประกอบ)”

รู้ครบวงจรอย่างนี้จึงทำให้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง มิใช่เพียงท่องได้จำได้อย่างที่เราท่านทั้งหลายรู้


รูปภาพ
ธัมมเมกขสถูป หรือ ธรรมเมกขสถูป ภายในอาณาบริเวณสารนาถในปัจจุบัน
อนุสรณ์สถานแห่งการแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร”
พระปฐมเทศนา (เทศน์กัณฑ์แรกของโลก) ใน “วันอาสาฬหบูชา”


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 กุมภาพันธ์ 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 :b8: :b8: :b8:


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1-7 มีนาคม 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2562 :b8: :b8: :b8:


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8-14 มีนาคม 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2562 :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 10:55 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ซากฐาน “ธัมมราชิกสถูป” ภายในอาณาบริเวณสารนาถในปัจจุบัน
ซึ่งเคยเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนัตตลักขณสูตร” โปรดปัญจวัคคีย์
ยังผลให้ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ บรรลุเป็นพระอรหันต์พร้อมกันเป็นครั้งแรกของโลก


5. อนัตตลักขณสูตร
พระสูตรที่แสดงถึงอนัตตา


วันนี้ขอพูดถึงอนัตตลักขณสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์เป็นสูตรที่สอง

เล่าความตามพระบาลีพระไตรปิฎกว่า หลังจากโกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” ทูลขอบวชแล้ว พระพุทธองค์ประทานโอวาทแก่สี่ท่านที่เหลือ วัปปะกับภัททิยะ ได้ดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวช ภิกษุทั้งสาม (คือ โกณฑัญญะ วัปปะ และภัททิยะ) บิณฑบาตได้อาหารใดมา ทั้งหกท่าน (รวมพระพุทธเจ้าด้วย) ก็ยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยอาหารนั้น จากนั้นประทานโอวาทแก่สองท่านที่เหลือจนได้ดวงตาเห็นธรรมแล้วทูลขอบวช

ข้อความในพระบาลีนี้ทำนองจะให้เข้าใจว่า ในวันเพ็ญเดือน 8 นั้น หลังจากโกณฑัญญะบวชแล้ว วัปปะกับภัททิยะก็ได้บวชด้วย วันรุ่งขึ้นภิกษุทั้งสามรูปก็ออกบิณฑบาตนำอาหารมาเลี้ยงหกชีวิตที่เหลือ จากนั้นมหานามะกับอัสสชิก็บวชพร้อมกัน สองวันเท่านั้นก็ประทานการอุปสมบทให้ครบทั้งห้าท่าน (หรือไม่ก็ไม่เกินสามวัน)


แต่คัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายพระไตรปิฎกกล่าวข้อความคล้ายจะให้เข้าใจไปอีกนัยหนึ่ง ดังนี้

“ในวันแรมค่ำหนึ่ง ดวงตาเห็นธรรมได้เกิดขึ้นแก่พระวัปปะ ในวันแรม 2 ค่ำได้เกิดขึ้นแก่พระภัททิยะ ในวันแรม 3 ค่ำได้เกิดขึ้นแก่พระมหานามะ ในวันแรม 4 ค่ำได้เกิดขึ้นแก่พระอัสสชิ ในวันแรม 5 ค่ำแห่งปักษ์ พระองค์ให้เธอทั้งหมดประชุมพร้อมกันแล้วตรัสสอนด้วยอนัตตลักขณสูตร”

ถ้าหลังจากได้ธรรมจักษุ (ดวงตาเห็นธรรม) แล้วทูลขอบวชทันที ก็ต่างคนต่างบวชคนละวัน ความจริงจะเป็นฉันใดฝากให้ผู้ใฝ่รู้พิจารณาด้วย


วันที่ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตรเป็นวันไหน พระบาลี พระไตรปิฎกก็ไม่บอกชัด พูดเพียงว่า

“อถโข ภควา...ครั้งนั้นแลพระผู้มีพระภาคตรัสกับพระปัญจวัคคีย์ว่า...”

สมมุติว่าเป็นวันแรม 5 ค่ำ ตามนัยอรรถกถาก็แล้วกัน

เนื้อหาของพระสูตรความจริงไม่ยาวเลย เนื่องจากข้อความซ้ำไปซ้ำมาจึงดูยาวประมาณ 5 หน้า เมื่อตัดข้อความซ้ำๆ ออกแล้ว มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

พระพุทธเจ้าตรัสสอนปัญจวัคคีย์ว่า

รูป (ร่างกายอันประกอบด้วยธาตุ 4 และคุณสมบัติของธาตุ 4) เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำได้หมายรู้) สังขาร (ความคิดดีคิดชั่ว) วิญญาณ (ความรับรู้ผ่านประสาทสัมผัส) เป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน)

เพราะถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นอัตตา (เป็นตัวตนของเรา) แล้วมันก็จักไม่เจ็บป่วย ขอให้มันเป็นอย่างนี้ ไม่ให้เป็นอย่างนั้นได้ตามปรารถนา แต่เพราะมันเป็นอนัตตา (มิใช่ตัวตนของเรา) เราจึงขอร้องให้มันเป็นอย่างนี้ไม่ให้เป็นอย่างนั้นไม่ได้ตามปรารถนา

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า

พวกเธอคิดอย่างไร? รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน อนาคต ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งหยาบและประณีต ทั้งใกล้และไกล ทั้งหมดล้วนสักแต่ว่ารูป สักแต่ว่าเวทนา สักแต่ว่าสัญญา สักแต่ว่าสังขาร สักแต่ว่าวิญญาณ พวกเธอพึงพิจารณาด้วยปัญญาตามเป็นจริงว่านั่นมิใช่ของเรา ไม่เป็นเรา มิใช่ตัวตนของเรา

อริยสาวกผู้ใฝ่สดับเมื่อเห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายยึดติด เมื่อคลายยึดติด จิตก็หลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นก็รู้ว่าได้หลุดพ้นแล้ว ชาติสิ้นแล้ว ได้ประพฤติพรหมจรรย์สมบูรณ์แล้ว กิจที่ควรทำได้ทำหมดแล้ว ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไป

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาจบลง พระปัญจวัคคีย์ต่างก็โสมนัสชื่นชมภาษิตของพระองค์ ขณะพระพุทธองค์ตรัสอธิบายเรื่องนี้อยู่ จิตของพระปัญจวัคคีย์ก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายหมดความยึดมั่นถือมั่นแล้ว

พระอรหันต์เกิดมีในโลก 6 องค์ ณ ครานั้นแล


ใจความของพระสูตรก็จบลงเพียงเท่านี้ ผู้เคยผ่านการบวชเรียนมาคงพอฟังเข้าใจ สำหรับชาวบ้านทั่วไปที่ห่างวัดมากๆ ทั้งชีวิตนี้กะเข้าวัดครั้งเดียว คือตอนตาย คงเข้าใจยาก เอาไว้คราวหน้าผมจะลองอธิบายอีกแนวหนึ่งเผื่อจะง่ายขึ้น หรืออาจจะยากยิ่งขึ้นก็ไม่รู้สิครับ

6. ความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

มีท่านผู้รู้ท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของผม (ท่านไม่ยอมให้เอ่ยชื่อ) ตั้งข้อสังเกตว่า พระอัญญาโกณฑัญญะบวชวันเพ็ญเดือน 8 ในวันนั้นเองตอนเย็นหรือตอนค่ำ พระวัปปะและภัททิยะคงได้บวชด้วย รุ่งเช้าขึ้นมา ทั้งสามรูปก็ออกบิณฑบาตนำอาหารมาเลี้ยงทั้งหกชีวิต สายๆ หรือเย็น วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 นั่นเอง มหานามะและอัสสชิก็ได้บวช

“เข้าใจอย่างนี้ไม่ขัดพระบาลี”
ท่านย้ำ ผมเรียนถามท่านว่า ท่านมีเหตุผลอะไรที่เชื่อเช่นนั้น

“คุณลืมไปแล้วหรือ วันแรม 1 ค่ำ เป็นวันเข้าพรรษา ถ้าอีก 4 รูปที่เหลือบวชหลังวันเข้าพรรษา ก็นับพรรษาไม่ได้ละสิ”

เออ จริงแฮะ ผมคิด ฝากท่านผู้มีการศึกษาพิจารณาด้วยก็แล้วกัน


คราวนี้มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาอนัตตลักขณสูตรต่อไป พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงยก “ขันธ์ 5” ขึ้นมาอธิบายให้เห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือจะเรียกให้ถูกหลักวิชาจริงๆ ก็ต้องว่า อนิจจตา ทุกขตา อนัตตา เรียกว่า ไตรลักษณ์ (ลักษณะที่ปรากฏให้เห็นสามอย่าง) หรือสามัญ (ลักษณะที่มีเหมือนกันแก่สรรพสิ่ง)

อนิจจตา พระท่านแปลว่า “ความไม่เที่ยง” ฟังแล้วยังงงๆ อยู่ จนเด็กถามว่า ไม่เที่ยงนี้หมายถึงยังเช้าอยู่ หรือว่าบ่ายไปแล้ว! ความจริงถ้าจะแปลว่า “ความเปลี่ยนแปลง” จะเข้าใจทันที

ผมเมื่อก่อนยังดำสลวยเป็นเงางามชวนมอง เดี๋ยวนี้กลายเป็นสีดอกเลา แล้วก็ขาวโพลน นี่ก็อนิจจตา

ผิวพรรณเคยผ่องใส มีน้ำมีนวล เดี๋ยวนี้เหี่ยวย่น ตกกระ กระดำกระด่างน่าเกลียดจัง ถามดวงตาที่เคยดำกลับงามยิ่งกว่าตาเนื้อทราย (วรรณคดีว่างั้น) ไม่รู้กามันเหยียบเมื่อใดมีรอยตีนกาเต็มไปหมด นี่ก็อนิจจตา

ทุกขตา ท่านแปลว่า “ความทนไม่ได้” หมายถึงภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ตลอดกาล ภาวะที่ขัดแย้งในตัว ไม่สมบูรณ์ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อนิจจตากับทุกขตา ใกล้เคียงกันมาก ถ้าจะให้เข้าใจง่ายให้กำหนดดังนี้ครับ อาการปรากฏชัดภายนอก หรือความเปลี่ยนแปลงที่ปรากฏให้เห็น เช่น ผมหงอก ฟันหลุด หนังที่เหี่ยวย่น เป็นอนิจจตา ความไม่สมบูรณ์ในตัวมันเองความบกพร่องภายใน ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เป็นทุกขตา

พูดง่ายๆ ว่า ความเปลี่ยนแปลง (change) คือ อนิจจตา สาเหตุของความเปลี่ยนแปลง (subject to change) เป็นทุกขตา

ส่วน อนัตตา มีความหมาย 2 นัย คือ (1) “ไม่ใช่ตน” หมายถึงไม่ใช่ตัวตนของเรา สักแต่ว่าธาตุสี่ขันธ์ห้ารวมกันแล้วก็สมมติว่า นายนั่น นางนี่ เท่านั้นเอง แท้จริงแล้วไม่มีตัวตนที่แท้จริง ถึงเวลาก็ดับสลายไปตามเหตุปัจจัย

พระบาลีอธิบายไว้ชัดแล้วว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้เป็นตัวเป็นตนของใครจริงแล้ว เขาย่อมบังคับหรือขอร้องมันได้ เช่น บอกมันว่า ผมเอ๋ย ให้แกดำงามอยู่อย่างนี้นะเว้ย อย่าได้หงอกเป็นอันขาด ฟันเอ๋ย เอ็งอย่าโยกคลอนนาเว้ย เคี้ยวอะไรลำบากว่ะ กำลังวังชาขอให้เข้มแข็งอยู่อย่างนี้นา อย่าได้ “บ้อลั่ก” เป็นอันขาด ขอให้ “เตะปี้บ” ดังปังๆ ตลอดไป

มันฟังเราไหม ? เปล่าเลย ถึงเวลาผมมันก็หงอก ฟันมันก็โยกคลอนหรือหลุดไป และหมดเรี่ยวหมดแรงลงตามลำดับขนาดขึ้นบันไดยังหอบแล้วหอบอีก

นี่คือความหมายของอนัตตานัยที่หนึ่ง

ส่วนความหมายนัยที่สองคือ “ไม่มีตัวตนถาวร” อันนี้หมายถึง ไม่มีอัตตา หรืออาตมันถาวร อย่างที่คนสมัยนั้นเชื่อถือและสั่งสอนกัน คือชาวอินเดียสมัยโน้นสอนกันว่า ร่างกายแตกดับสลายไปแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งไม่ดับไปด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ “สมบูรณ์ที่สุด” (the absolute) สิ่งนี้เรียกกันว่า “อัตตา” (หรือ อาตมัน) บ้าง “ชีวะ” บ้าง

แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม่มีอัตตาอย่างที่ว่านั้น


พระพุทธองค์ทรงบอกให้พระปัญจวัคคีย์วิเคราะห์แยกแยะขันธ์ 5 ไปทีละอย่างๆ เพื่อให้เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความเปลี่ยนแปลง ความไม่มีตัวตนและมิใช่ตัวตน เมื่อแยกพิจารณาแล้วก็ให้พิจารณารวมอีกทีว่า เมื่อแยกแต่ละชิ้นส่วนออกแล้ว มันยังไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีตัวตนและมิใช่ตัวตน เวลารวมกันแล้วมันจะเที่ยงแท้แน่นอน มีตัวตนและเป็นตัวตนอย่างไร

ขันธ์ 5 คืออะไร คงไม่ต้องแจงอีกนะครับ เพราะได้พูดไว้ย่อๆ ในตอนก่อนแล้ว พระองค์ทรงใช้วิธีถามให้คิดตะล่อมให้เข้าจุด ในที่สุดปัญจวัคคีย์ก็ได้คำตอบด้วยตนเอง เป็นวิธีการที่เปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนและได้ใช้บทบาทแห่งปัญญาของตนคิด และเข้าใจโดยอิสระปราศจากการครอบงำและยัดเยียด นับเป็นวิธีการสอนที่ทันสมัยอยู่เสมอ

ผู้เรียนวิชาครูลองศึกษาเทคนิควิธีการสอนปัญจวัคคีย์ในพระสูตรนี้ ของสมเด็จพระบรมครูดูสิครับ บางทีท่านอาจ “ตรัสรู้” ก็ได้


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15-21 มีนาคม 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2562 :b8: :b8: :b8:


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 มีนาคม 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2562 :b8: :b8: :b8:


:b44: :b50: อนัตตลักขณสูตร
: พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48163

:b44: :b50: ธัมมราชิกสถูป หรือ ธรรมราชิกสถูป
อนุสรณ์สถานแห่งการแสดง “อนัตตลักขณสูตร”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43024


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 12:22 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
เขาพรหมโยนี หรือ เขาคยาสีสะ
สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “อาทิตตปริยายสูตร”


7. อาทิตตปริยายสูตร
ภูมิหลังของชฎิล 3 พี่น้อง


คราวที่แล้วเขียนว่า ท่านผู้รู้ที่ผมเคารพนับถือท่านหนึ่งทักว่า ถ้าวัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ บวชพระหลังวันแรม 1 ค่ำ ก็ไม่ได้เข้าพรรษาสิ น่าจะบวชวันแรม 1 ค่ำนั้น ผมก็ว่าเข้าทีดี ฝากให้ผู้ใฝ่การศึกษาพิจารณาด้วย

วันนี้มีผู้ใฝ่การศึกษาท่านหนึ่ง เพื่อนบ้านผมเองมาบอกว่า สมัยนั้นยังไม่มีพุทธบัญญัติว่าด้วยการอยู่จำพรรษามิใช่หรือ การเข้าพรรษาเพิ่งมามีขึ้นหลังจากนั้นหลายปี เนื่องจากมีพระมากขึ้น ท่องเที่ยวไปตามชนบทต่างๆ ในฤดูฝนบ้างก็เหยียบย่ำข้าวกล้าชาวนาเป็นที่ตำหนิติติงของชาวบ้าน พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติให้สาวกของพระองค์อยู่ประจำที่เป็นเวลาสามเดือน อันเรียกว่า จำพรรษา

ผมเห็นจะต้องพูดประโยคเดิมว่า “เออ เข้าทีดี ฝากให้ผู้ใฝ่การศึกษาพิจารณาด้วย”

ต่อไปมาว่าด้วยพระสูตรสำคัญที่ 3 คือ อาทิตตปริยายสูตร หลังจากทรงประทานอุปสมบทแก่ปัญจวัคคีย์แล้ว ก็มีบุตรชายเศรษฐีเมืองพาราณสี ชื่อ ยสะ หนีพ่อแม่มาบวช ยสะนี้ตำราอรรถกถาบอกว่า เป็นบุตรนางสุชาดา ผู้ถวายข้าวมธุปายาสแด่พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้

ผมก็งงๆ ว่า นางสุชาดานั้นอยู่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม พุทธคยา เมืองราชคฤห์ ห่างจากป่าอิสิปตนมฤคทายวัน หรือสารนาถปัจจุบันเป็นร้อยๆ กิโล ไฉนจึงว่าอย่างนั้น

ท่านก็บอกต่อไปว่า หลังจากถวายข้าวมธุปายาสแล้วไม่นาน นางก็ย้ายตามสามีซึ่งเป็นนักธุรกิจ มาอยู่ที่เมืองพาราณสี เรื่องนี้เกิดไม่ทัน ไม่มีปัญญาจะเถียงท่าน จำต้องฟังท่าน

เมื่อยสะบวชก็นำพาโยมพ่อโยมแม่มาเป็นอุบาสกคู่แรกที่นับถือพระรัตนตรัย และเพื่อนๆ อีก 4 คนคือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ พร้อมบริวารอีก 60 คน ตามมาบวชด้วย ตกลงในช่วงเวลาอันสั้นนี้ ได้มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกจำนวน 60 องค์ พระพุทธองค์จึงทรงสั่งแยกย้ายกันไปเพื่อประกาศพระพุทธศาสนา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอง ได้เสด็จดำเนินมุ่งหน้าไปยังเมืองราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารตามสัญญาที่ให้ไว้ก่อนตรัสรู้ ระหว่างทางพบมาณพ 30 คน เรียกว่า “ภัททวัคคีย์” กำลังตามไล่ลาโสเภณีคนหนึ่งที่พวกเธอ “หิ้ว” มาปิกนิก สบโอกาสเหมาะคุณโสฯ เธอลักเครื่องถนิมพิมพาภรณ์หนีไป พวกหนุ่มเจ้าสำราญทูลถามว่า พบหญิงสาวคนหนึ่งผ่านมาทางนี้ไหม

พระองค์ตรัสเตือนสติว่า “เที่ยวแสวงหาหญิงสาวทำไม แสวงหาตัวเองให้พบไม่ดีกว่าหรือ”

แล้วทรงแสดงธรรมให้ฟัง ทรงประทานอุปสมบทให้แล้วส่งไปเผยแผ่พระศาสนา หลังจากทรงอบรมสั่งสอนให้ได้บรรลุอรหัตผลแล้ว พระพุทธองค์เสด็จดำเนินต่อไปยังตำบลอุรุเวลา นอกเมืองราชคฤห์

อันเป็นนิเวศสถานของชฎิลสามพี่น้อง

ชฎิล คือนักบวชเกล้าผม พี่ชายใหญ่ชื่อ อุรุเวลกัสสปะ ตั้งอาศรมอยู่ต้นน้ำเนรัญชรา มีบริวาร 500 คน น้องคนกลางชื่อนทีกัสสปะ ตั้งอาศรมอยู่คุ้งน้ำถัดมา มีบริวาร 300 คน ส่วนน้องคนเล็กชื่อ คยากัสสปะ ตั้งอาศรมอยู่ใต้สุด มีบริวาร 200 คน ชฎิลพวกนี้ถือลัทธิบูชาไฟ

พูดถึงตรงนี้ ชาวพุทธทั่วไปก็คงงงเหมือนผมนั่นแหละว่า บูชาไฟคือทำอย่างไร ไฟมันสำคัญอย่างไร จึงต้องบูชามัน ขอแวะตรงนี้สักหน่อย (อาจแวะนานสักนิดนะครับ)

การบูชาไฟเป็นความเชื่อสืบมาแต่แนวคิดที่ว่า เดิมที่มีพระเจ้าผู้สร้างโลกองค์เดียวนามว่า “ปชาบดี” พระองค์ต้องการสร้างโลกสร้างสัตว์ทั้งหลายขึ้น จึงทรงบำเพ็ญตบะและได้ประทานกำเนิดแก่อัคนีเทพเป็นองค์แรก ออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์ (คำ “อัคนี” แปลว่ามีก่อน เกิดก่อน เพี้ยนมาจากคำว่า อัคร) เพราะเหตุที่อัคนีเกิดจากพระโอษฐ์ของปชาบดี จึงเป็นพี่ชายใหญ่ของปวงเทพทั้งปวง และมีหน้าที่เสวยอาหารหรือเครื่องสังเวย

เมื่อพวกพราหมณ์ประกอบพิธีบูชาไฟที่เรียกว่า อัคนิโหตระ (บาลีว่า อัคคิหุตตะ) เขาจะสวดอ้อนวอนอัคนีเทพให้ช่วยเป็นสื่อนำเครื่องสังเวยขึ้นไปถวายพระปชาบดีและทวยเทพบนสวรรค์ แล้วก็ใส่เครื่องสังเวยทั้งหลายลงในไฟ

การใส่เครื่องสังเวยลงในไฟก็เท่ากับว่าได้ใส่ลงในโอษฐ์ของอัคนีเทพ เมื่อเปลวไฟพวยพุ่งขึ้นก็หมายความว่า องค์อัคนีเทพทรงนำเอาเครื่องสังเวยเหล่านั้นขึ้นไปสรวงสวรรค์เมื่อถึงสวรรค์แล้วอัคนีเทพก็จะป้อนเครื่องสังเวยเหล่านั้นแก่พระปชาบดี และเทพอื่นๆ ด้วยปาก ดุจแม่นกป้อนเหยื่อแก่ลูกนกฉะนั้น


ไฟมีบทบาทสำคัญอย่างนี้จึงมีคำสรรเสริญไว้ในคัมภีร์พราหมณ์ว่า

“อัคนิโหตระ (การบูชาไฟ) เป็นประมุขแห่งยัญทั้งหลายการบูชาไฟประเสริฐที่สุดในบรรดาการบูชาทั้งปวง”


ชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารจำนวนพันก็เชื่อถืออย่างนี้จึงประกอบพิธีบูชาไฟอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อหวังให้จอมเทพและเทพทั้งหลายโปรดปราน

พระพุทธเจ้าเสด็จถึงอาศรมของอุรุเวลกัสสปะ พี่ชายใหญ่ของชฎิลทั้งปวงในเวลาเย็น ทรงขอพักอาศัยสักคืน อุรุเวลกัสสปะไม่อยากให้พักด้วย จึงบอกให้ไปพักที่โรงไฟอันเป็นสถานที่ประกอบพิธีบูชาไฟ ว่ากันว่ามีนาคราช (ก็คงเป็นงูใหญ่) อยู่ “เจองูใหญ่ เดี๋ยวก็เผ่นหนีเอง” แกคงคิดอย่างนี้

รุ่งเช้าขึ้นแกก็พาบริวารมาโรงไฟ เพื่อมาดูว่า สมณะหนุ่มคงเสร็จพญานาคเรียบร้อยแล้ว ที่ไหนได้กลับเห็นพระพุทธองค์ประทับนั่งเป็นสง่าอยู่ พากันมองหาพญานาคว่าไปอยู่เสียที่ใด พระพุทธองค์ทรงเปิดผาบาตรให้พวกเขาดู ต่างก็อุทานด้วยความประหลาดใจ

ทรงใช้อิทธิฤทธิ์ย่อให้มันเล็กนิดขดมะก้องด้องอยู่ในบาตรนั้นแล

8. สรรพสิ่งร้อนเป็นไฟ

พวกชฎิลมีอุรุเวลกัสสปะเป็นหัวหน้าต่างยอมศิโรราบคาบแก้ว (เป็นสำนวน มิได้คาบแก้วจริงๆ) ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รับฟังพระโอวาทจากพระพุทธองค์สลัดคราบนักบวชเกล้าผมบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์

บริขารเครื่องใช้ไม้สอยแบบชฎิลก็ถูกโยนทิ้งน้ำหมดว่ากันว่ามีเครื่องแต่งผม ชฎา สาแหรก คาน เครื่องบูชาไฟ น้ำเต้า หนังสือ ไม้สามง่าม ของเหล่านี้ลอยเท้งเต้งมาตามน้ำ

ชฎิลผู้น้อง หรือ “ซือตี๋” เห็นเข้านึกว่าเกิดอันตรายขึ้นแก่ “ซือเฮีย” พร้อมบริวาร จึงพากันขึ้นไปหา รู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็เกิดความเลื่อมใส พากันลอยบริขารลงแม่น้ำเช่นเดียวกัน

“น้องเล็ก” อยู่สุดคุ้งน้ำ นึกว่า “พี่ใหญ่” และ “พี่รอง” ประสบอันตรายจึงพาบริวารขึ้นไปดูก็สละเพศภาวะชฎิลเช่นเดียวกับพี่ชายทั้งสอง

พระพุทธองค์ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ชฎิลสามพี่น้องพร้อมบริวารรวมแล้วมีหนึ่งพันสามรูป แล้วทรงพาภิกษุเหล่านี้ไปยังตำบลคยาสีสะ ประทับอยู่ ณ ที่นั้นชั่วระยะหนึ่ง

เมื่อทรงเห็นว่าสาวกของพระองค์มีความพร้อมแล้ว จึงแสดงอาทิตตปริยายสูตรให้ฟัง

ต่อไปนี้จะขอสรุปเนื้อหาของพระสูตรให้ฟังดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย ทุกสิ่งร้อนเป็นไฟ ทุกสิ่งที่ว่าร้อนเป็นไฟคืออะไรเล่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ร้อนเป็นไฟ ความรู้สึกเกิดจากการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ร้อนเป็นไฟ

ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ร้อนเพราะความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ

นี้แหละที่ว่าทุกสิ่งร้อนเป็นไฟ

ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ ย่อมหน่ายในตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หน่ายในการรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หน่ายในสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หน่ายในความรู้สึกเกิดจากการสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อหน่ายก็ย่อมคลายกำหนัด

เมื่อคลายกำหนัด จิตก็หลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่าชาติสิ้นแล้ว เราได้ประพฤติพรหมจรรย์สมบูรณ์แล้ว (คือได้บรรลุจุดหมายปลายทางแล้ว) ไม่ต้องไปทำอะไรอีกต่อไปแล้ว”


พระสูตรนี้เป็นภาษาบาลี 2 หน้า สรุปข้างต้นก็ยังยาวไป ถ้าจะสรุปให้สั้นง่ายแก่การจำจะได้ดังนี้

“ทุกอย่างร้อนเป็นไฟ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ ร้อนด้วยไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะ ร้อนด้วยชาติ ชรา มรณะ ความโศก ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อริยสาวกรู้เห็นเช่นนี้ ย่อมหน่าย คลายกำหนัด ไม่ยึดมั่นถือมั่น มีจิตหลุดพ้นและรู้ว่าตนได้สิ้นภพสิ้นชาติ บรรลุเป้าหมายสูงสุดของพรหมจรรย์ ไม่ต้องทำอะไรอีกต่อไปแล้ว”

เมื่อทรงเทศน์จบลง อดีตชฎิล 1,003 รูปก็บรรลุพระอรหัต (อย่าแก้เป็น “อรหันต์” เพราะในที่นี้เป็นคำนามที่หมายถึง “ภาวะของพระอรหันต์”) พร้อมกัน เป็นอันว่าด้วยระยะเวลาอันสั้น พระพุทธองค์ทรงได้สาวกจำนวนพัน มากพอที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางภายในเวลาอันรวดเร็ว

มีข้อที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือ พระพุทธเจ้าทรงทราบนิสัย (ความเคยชิน) อุปนิสัย (แวว) และอธิมุติ (ความถนัด) ของผู้ฟังเทศน์ จึงทรงเลือกเรื่องแสดงให้เหมาะกับนิสัย อุปนิสัย และอธิมุติของผู้ฟัง เพราะเหตุนี้เองเวลาทรงแสดงธรรมให้ใครฟัง คนคนนั้นจึงบรรลุธรรมทันทีเป็นที่น่าอัศจรรย์

อย่างพวกชฎิลนี้ วันๆ ก็หมกมุ่นอยู่แต่กับการบูชาไฟหายใจเข้าก็บูชาไฟ หายใจออกก็บูชาไฟ ว่าอย่างนั้นเถอะย่อมมีประสบการณ์เกี่ยวกับความร้อน เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสประโยคแรกว่า

“สพฺพํ ภิกฺขเว อาทิตฺตํ ภิกษุทั้งหลาย ทุกสิ่งทุกอย่างร้อนเป็นไฟ”

เท่านั้น พวกนี้ก็หูผึ่ง

“เอ มันมีแต่ไฟเท่านั้นที่ร้อน ทำไมพระองค์บอกว่าร้อนไปหมดทุกอย่าง” ชักเกิดความอยากรู้ขึ้นมาทันที

พระพุทธองค์ก็ทรงรู้ความในใจของพวกเธอ จึงตรัสยั่วให้กระหาย ใคร่รู้มากขึ้นว่า

“กิญฺจ ภิกฺขเว สพฺพํ อาทิตฺตํ ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่ว่าทุกสิ่งร้อนเป็นไฟ”

ทรงเว้นระยะชั่วขณะยิ่งเร้าให้พวกเธออยากรู้ไวๆ “นั่นสิอะไรล่ะ”

“จกฺขํ อาทิตฺตํ...ตาร้อนเป็นไฟ หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ร้อนเป็นไฟ...”

พระองค์ตรัสต่อไป ค่อยๆ ขยาย ค่อยๆ อธิบายทีละนิดๆ พวกเธอก็ฟังเพลินจนกระทั่งเกิดญาณหยั่งรู้ในที่สุด

ที่บ่นกันว่าฟังพระเทศน์ ฟังผู้รู้ทางศาสนาเทศน์หรือบรรยายธรรมไม่ค่อยรู้เรื่อง ก็เพราะผู้เทศน์ผู้บรรยายไม่คำนึงถึงประสบการณ์ ภูมิหลังของผู้ฟัง ตนถนัดเรื่องอะไรก็พูดแต่แม่น้ำคงคา เมืองพาราณสีของพระเจ้าพรหมทัตโน่น แล้วใครมันจะมองเห็นภาพ

ใช่หรือเปล่า


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม-4 เมษายน 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ.2562 :b8: :b8: :b8:


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5-11 เมษายน 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2562 :b8: :b8: :b8:


:b44: :b50: อาทิตตปริยายสูตร
: พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48164

:b44: :b50: เขาพรหมโยนี หรือ เขาคยาสีสะ
สถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “อาทิตตปริยายสูตร”

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44908


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 13:30 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ในภาพ...พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา
“ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” ครั้งแรกแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕


พระธรรมเทศนากัณฑ์แรก : ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก

พระธรรมเทศนาครั้งแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลังตรัสรู้คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ อันมีโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ วันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะ (ตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด) ซึ่งต่อมาได้กำหนดเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาขึ้นอีกวันหนึ่งชื่อว่า วันอาสาฬหบูชา

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แปลตามตัวอักษรว่า “พระสูตรว่าด้วยการหมุนกงล้อคือพระธรรม” เนื้อหาว่าด้วยอริยสัจสี่ประการที่พระองค์ได้ตรัสรู้ ก่อนจะพูดถึงเนื้อหาพระสูตร ขอ “แวะข้างทาง” สักเล็กน้อย

ความหมายของพระสูตรนี้ คงเลียนความหมายทางโลก คือเวลาพระเจ้าจักรพรรดิต้องการกฤษดาภินิหารจะยกกองทัพไปโจมตีเจ้าเมืองที่ไม่ยอมอ่อนข้อ ไม่สยบต่ออำนาจของตน ล้อรถศึกของพระมหาจักรพรรดิผู้เกรียงไกรหมุนไปทางทิศใด ยากที่จะมีใครต้านทานได้ อุปมาฉันใด

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศสัจธรรมสูงสุดที่ได้ตรัสรู้ ก็เท่ากับ “ทรงหมุนล้อธรรม” เพื่อปราบตัณหาอวิชชาออกจากจิตใจของเวไนยสัตว์ให้ราบคาบ “ล้อแห่งสัจธรรม” นี้หมุนไปยังทิศทางใด จึงยากที่ใครๆ จะคัดค้านหรือยับยั้งได้ อุปไมยก็ฉันนั้น

เพราะฉะนั้น ตอนท้ายพระสูตร ผู้บันทึกจึงกล่าวว่า “เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมแล้ว ไม่มีใครๆ ในโลก สามารถยับยั้งได้ ไม่ว่าจะเป็น สมณะ พราหมณ์ มาร เทพ พรหม”

เนื้อของธัมมจักกัปวัตตนสูตร แบ่งได้เป็น 5 ตอน คือ

ตอนที่ 1 พูดถึงทางที่ไม่พึงดำเนิน หรือข้อปฏิบัติที่ไม่พึงทำ 2 ทาง คือ ความติดอยู่ในความสุขทางเนื้อหนังมังสา เพราะ “เป็นของต่ำ เป็นกิจกรรมของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ประเสริฐ และไม่มีประโยชน์”

ทางนี้เรียกตามศัพท์ว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” ถือว่าเป็นทางสายที่หย่อนเกินไป อีกทางหนึ่งคือ การทรมานตนด้วยตบะวิธีต่างๆ ทางนี้เรียกว่า “อัตตกิลมถานุโยค” ถือเป็นทางที่ตึงเกินไป

ตอนที่ 2 ทรงแสดง “ทางสายกลาง” ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป คืออริยมรรคมีองค์ 8 มีสัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) เป็นต้น มีสัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ) เป็นที่สุด

ตอนที่ 3 ทรงแสดงอริยสัจสี่ประการ คือ ทุกข์ (หรือปัญหาของชีวิต) สมุทัย (เงื่อนไขปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์) นิโรธ (ภาวะดับทุกข์ หรือภาวะหมดปัญหาโดยสิ้นเชิง) และมรรค (แนวทางปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ หรือทางแก้ไขปัญหา)

ทรงอธิบายว่า พระองค์ตรัสรู้อริยสัจทั้งสี่ประการนี้ผ่านญาณ (การหยั่งรู้) ทั้ง 3 ระดับ คือ

(1) ทรงรู้สภาพของปัญหา เหตุปัจจัยของปัญหา ภาวะหมดปัญหา และวิธีแก้ปัญหาคืออะไร อย่างไรบ้าง (สัจจญาณ = รู้ความจริงเกี่ยวกับเรื่องนั้น)

(2) ทรงรู้ว่าควรจะจัดการอย่างไรกับเรื่องนั้น (กิจจญาณ = รู้ว่าควรทำอย่างไร)

(3) ทรงรู้ว่าเมื่อทรงทำตามนั้นแล้วเกิดผลอะไร (กตญาณ = รู้ว่าทำเสร็จสิ้นแล้ว)

ตอนที่ 4 โกณฑัญญะดวงตาเห็นธรรม เมื่อทรงแสดงธรรมจบแล้ว อาจารย์ผู้รวบรวมพระสูตรกล่าวว่า โกณฑัญญะได้ “ดวงตาเห็นธรรม” คือ เข้าใจแจ่มแจ้งถึงธรรมชาติและธรรมดาของสรรพสิ่ง ว่ามีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา มีความดับเป็นธรรมดา พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญๆ) คำว่า “อัญญา” ในคำว่า “อญฺญาสิ” จึงกลายมาเป็นคำนำหน้าชื่อของท่านว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”

ตอนที่ 5 เหล่าเทพร้องบอกต่อๆ กัน พวกเทพทั้งหลาย ตั้งแต่ภุมมเทวดา ได้ร้องบอกต่อๆ กันไปจนถึงหมู่พรหมว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงหมุนกงล้อคือพระธรรมอันประเสริฐ

ยากที่ใครๆ ไม่ว่าสมณะ พราหมณ์ มาร เทวดา พรหม จะสามารถยับยั้งได้

สรุปเนื้อหาของพระสูตรอีกที พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ครบวงจร จึงสามารถหลุดพ้นจากกิเลสได้ คือ

รู้ว่าความจริงคืออะไร (สัจจญาณ)

รู้ว่าควรจะจัดการกับมันอย่างไร (กิจจญาณ)

รู้ว่าเมื่อจัดการกับมันแล้วได้ผลอย่างไร (กตญาณ)


รู้อริยสัจ 3 ขั้นตอนนี้ รวมเป็น 12 (3 x 4 = 12) เพราะเหตุฉะนี้ ท่านจึงกล่าวว่า “รู้อริยสัจสี่ อันมี 3 รอบ 12 อาการ” แล



ที่มา : หนังสือ สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก :b8: :b8: :b8:

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=20382

:b47: :b50: :b47:

:b44: บทสวด...ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=20815

:b44: ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
: พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48156

:b44: ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=28599

:b44: ธัมมเมกขสถูป หรือ “ธรรมเมกขสถูป”
อนุสรณ์สถานแห่งการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
ใน “วันอาสาฬหบูชา” วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=41327


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ก.ย. 2019, 10:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 เม.ย. 2020, 13:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 มิ.ย. 2020, 09:35 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: อัศจรรย์แห่งธรรมดีแท้
ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ

:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2023, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร