วันเวลาปัจจุบัน 05 ต.ค. 2024, 08:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ต.ค. 2014, 06:29 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


วันอัฏฐมีบูชา
วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
ตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
หรือ เดือน ๗ (ปีที่มีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน)
หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน
คือหลังจาก “วันวิสาขบูชา” แล้ว ๘ วันนั่นเอง
ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง
ซึ่งเกี่ยวเนื่องต่อจาก “วันวิสาขบูชา”


“วันอัฏฐมีบูชา” เป็นวันที่ชาวพุทธต้องสูญเสีย
พระพุทธสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาสักการะอย่างสูงยิ่ง
เราชาวพุทธควรใช้วันนี้เป็นวันแสดงธรรมสังเวช อัปปมาทธรรม
(ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง)
ทำจิตใจให้สงบน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณอันหาประมาณมิได้
ให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศลด้วยเถิด


นอกจากนี้แล้ว วันนี้ยังเป็น...วันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา
พระพุทธมารดา สิ้นพระชนม์ หลังประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ

และเป็น...วันคล้ายวันที่พระพุทธองค์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข
ณ พระแท่นวัชรอาสน์ หรือโพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ตลอด ๗ วัน หลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอีกด้วย


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา
สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
ใน “วันอัฏฐมีบูชา” ซึ่งตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
หรือเดือน ๗ (ปีที่มีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน)
หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน
คือหลังจาก “วันวิสาขบูชา” แล้ว ๘ วันนั่นเอง
คนท้องถิ่นเรียก “มกุฏพันธนเจดีย์”
ว่า “รามภาร์-กา-ดีลา” หรือ รัมภาร์สถูป


รูปภาพ

**********************************

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
เหล่าภิกษุสงฆ์ เทพเทวดา พวกเจ้ามัลลกษัตริย์
ได้ถวายการสักการะพระพุทธสรีระ
พวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้
และเครื่องดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด ๗ วัน
แล้วให้พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ระดับหัวหน้า (มัลลปาโมกข์) ๘ องค์
สระสรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ แล้วอัญเชิญพระพุทธสรีระ
ไปทางทิศตะวันออกของพระนครเพื่อถวายพระเพลิง
พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ถามถึงวิธีปฏิบัติพระพุทธสรีระกับ

“พระอานนท์เถระ” แล้วทำตามคำของพระอานนท์เถระนั้น
คือ ห่อพระพุทธสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี
แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่
แล้วอัญเชิญประดิษฐานลงในหีบทองที่เต็มไปด้วยนํ้ามันหอม
แล้วทำจิตกาธาน (อ่านว่า จิต-ตะ-กา-ธาน แปลว่า เชิงตะกอน)
ด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด
จากนั้นให้พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ระดับหัวหน้า (มัลลปาโมกข์) ๔ องค์
พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุ


“พระอนุรุทธะเถระ” แจ้งว่า “เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอ
พระมหากัสสปเถระและหมู่ภิกษุใหญ่ ๕๐๐ รูป
ผู้กำลังเดินทางจากเมืองปาวามาสู่เมืองกุสินารานี้
เพื่อมาถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระบรมศาสดาเสียก่อน
ไฟก็จะลุกไหม้”

ก็เทวดาเหล่านั้นเคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ
และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อนในอดีต
จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปเถระอยู่ในพิธี


ครั้งนั้นพระมหากัสสปเถระและหมู่ภิกษุใหญ่ ๕๐๐ รูป
กำลังเดินทางจากเมืองปาวาจะไปยังเมืองกุสินารา
เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
ระหว่างทางได้แวะพักร้อนที่ร่มไม้ ขณะที่กำลังนั่งพักอยู่นั้น
ได้มีอาชีวกะ (พราหมณ์) ผู้หนึ่งถือ “ดอกมณฑารพ”
ที่ผูกติดกับกิ่งไม้ต่างร่ม เดินสวนทางมา
พระมหากัสสปเถระได้เห็นก็ทราบว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น
ดอกมณฑารพนี้มีเพียงในเทวโลกแดนสวรรค์ ไม่มีในเมืองมนุษย์
การที่มีดอกไม้นี้อยู่แสดงว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับพระบรมศาสดา
พระมหากัสสปเถระจึงถามอาชีวกะ (พราหมณ์) นั้นว่า
ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับพระบรมศาสดาบ้างหรือไม่
อาชีวกะ (พราหมณ์) นั้นตอบว่า...
พระสมณโคดมได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปล่วงเจ็ดวันแล้ว
ดอกไม้นี้ข้าพเจ้าได้เก็บมาจากบริเวณที่เสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น


เมื่อพระมหากัสสปเถระและหมู่ภิกษุใหญ่เดินทางมาถึง
สถานที่ถวายพระเพลิง “มกุฏพันธนเจดีย์” เมืองกุสินาราแล้ว
ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี
กระทำประทักษิณรอบเชิงตะกอน ๓ รอบ
พระมหากัสสปเถระเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว
ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้าแล้วอธิษฐานว่า

“ขอพระยุคลบาทของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักร
อันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่
พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง
ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด”


เมื่ออธิษฐานเสร็จ ก็บังเกิดความอัศจรรย์
พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา
โผล่พ้นปลายหีบทองพระบรมศพ
เพื่อประทานให้นมัสการเป็นพิเศษแก่พระเถระ
พระเถระจับพระยุคลบาทไว้และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน
เมื่อพระเถระและหมู่ภิกษุใหญ่ ๕๐๐ รูปถวายบังคมแล้ว
ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม
ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วม
พระพุทธสรีระของพระบรมศาสดาด้วยอำนาจของเทวดา
เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ
และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น

พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ก็ประพรม “พระบรมสารีริกธาตุ”
ด้วยของหอม ๔ ชนิด รอบๆ บริเวณก็โปรยข้าวตอกเป็นต้น
แล้วจัดกองกำลังอารักขา จัดทำสัตติบัญชร (ซี่กรงทำด้วยหอก)
เพื่อป้องกันภัย แล้วให้ขึงเพดานผ้าไว้เบื้องบน
ห้อยพวงของหอม พวงมาลัย พวงแก้ว
ให้ล้อมม่านและเสื่อลำแพนไว้ทั้งสองข้าง
ตั้งแต่มกุฏพันธนเจดีย์จนถึงศาลาด้านล่าง ให้ติดเพดานไว้เบื้องบน
ตลอดทางติดธง ๕ สีโดยรอบ ให้ตั้งต้นกล้วย และหม้อน้ำ
พร้อมกับตามประทีปมีด้ามไว้ตามถนนทุกสาย

พวกเจ้ามัลลกษัตริย์นำพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายวางลงในรางทอง
แล้วอัญเชิญไว้บนคอช้าง นำพระบรมสารีริกธาตุเข้าพระนคร
ประดิษฐานไว้บนบัลลังก์ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ อย่าง
กั้นเศวตรฉัตรไว้เบื้องบน แล้วจัดกองกำลังอารักขา
จากนั้นจัดเหล่าช้างเรียงลำดับกระพองต่อกันล้อมไว้
พ้นจากเหล่าช้างก็เป็นเหล่าม้าเรียงลำดับคอต่อกัน
จากนั้นเป็นเหล่ารถ เหล่าราบ รอบนอกสุดเป็นทหารธนูล้อมอยู่
พวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดฉลองพระบรมสารีริกธาตุตลอด ๗ วัน


“มกุฏพันธนเจดีย์” ตั้งอยู่ห่างจาก “มหาปรินิพพานสถูป”
ไปทางด้านทิศตะวันออก ๑ กิโลเมตร
เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
คนท้องถิ่นเรียกว่า “รามภาร์-กา-ดีลา” หรือ รัมภาร์สถูป
เดิมทีเป็นเชิงตะกอนไม้จันทร์หอม
หลังจากที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ก็ได้สร้างพระสถูปครอบลง
ต่อมาก็ได้ถูกรุกรานทำลายเหลือแต่ซากปรักหักพัง
ภายหลังได้ถูกขุดค้นพบเป็นซากกองอิฐพระสถูปขนาดใหญ่
ดังที่เห็นในปัจจุบัน พระสถูปนี้วัดโดยรอบฐานได้ ๔๖.๑๔ เมตร
และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๗.๑๘ เมตร
อย่างไรก็ตาม ตามหลักฐานก็เป็นที่ชัดเจนว่านั่นคือ
สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
หรือมกุฏพันธนเจดีย์ตามที่ชาวพุทธเรียกชื่อกัน
ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี


รูปภาพ
ภาพเขียน..พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

รูปภาพ
ภาพเขียน..พิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า

**********************************

:b8: :b8: :b8: ที่มา... http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=42337

มหาปรินิพพานสถูป และมหาปรินิพพานวิหาร
พระพุทธรูปปางปรินิพพาน กุสินารา สถานที่ปรินิพพาน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44811

พระมหากัสสปะ ประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=42337

รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอัฏฐมีบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45500


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร