วันเวลาปัจจุบัน 19 พ.ค. 2025, 06:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 126 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 ... 9  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2011, 10:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๓๙ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ครั้นพระนารทฤาษีพรรณนาโลกันตนรกนั้นถวายแล้ว จึงทูลชี้แจงต่อไปว่า “ขอถวายพระพร ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงละมิจฉาทิฏฐิ ก็จักต้องได้รับทุกขเวทนา แม้อื่นๆ อีกไม่สิ้นสุด”


แล้วกล่าวคาถานี้ว่า “ในโลกันตนรกนั้น มีสุนัขอยู่ ๒ เหล่า คือด่างเหล่า ๑ ดำเหล่า ๑ ล้วนมีร่างกายกำยำล่ำสันแข็งแรง ย่อมพากันมากัดกิน ผู้ที่จุติตายจากมนุษยโลกนี้ ไปตกเกิดอยู่ในโลกันตนรกด้วยเขี้ยวเหล็ก ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง... ในปรโลก กะมหาบพิตร ผู้ตกอยู่ในนรก ถูกสุนัขอันทารุณร้ายกาจนำทุกข์มาให้ รุมกัดกินตัวขาดกระจัดกระจาย เลือดไหลโทรมได้ และในนรกอันร้ายกาจ พวกนายนิรยบาลชื่อ กาลูปกาละ ผู้เป็นข้าศึก พากันเอาดาบและหอกอันคมกริบ ทิ่มแทงนรชนผู้ทำกรรมชั่วด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิไว้ในภพก่อน กระทำร่างกายทั้งสิ้น ให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้ตกไป บนแผ่นดินเหล็กอันไฟลุกโชน ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่ง ในปรโลก กะมหาบพิตร ผู้ถูกทิ่มแทงที่ท้องที่สีข้าง พระอุทรพรุน วิ่งวุ่นอยู่ในนรก ตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้
ในโลกันตนรกนั้น มีห่าฝนต่างๆ ชนิด คือ หอก ดาบ แหลน หลาวมีประกายวาวดังถ่านเพลิงตกลงบนศีรษะ ห่าฝนสายอัสนีศิลาอันลุกโชนตั้งขึ้นบนอากาศ แล้วตกกระหน่ำลงบนศีรษะของผู้ทำกรรมชั่วเหล่านั้น เหมือนสายอัสนีตกลงในเมื่อฝนตก และในนรกนั้นมีลมร้อนยากที่จะทนได้ สัตว์ในนรกนั้น ย่อมไม่ได้รับความสุขแม้แต่น้อย ใครเล่าจะพึงไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งทรงกระสับกระส่ายวิ่งไปมาหาที่ซ่อนเร้นมิได้
ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรผู้ถูกเทียมที่รถอันแล้วด้วยโลหะ อันลุกโชนนั้นๆ ตามวาระโดยวาระวิ่งไปวิ่งมา ต้องเหยียบแผ่นดินอันลุกโพลง ถูกแทงด้วยปฏักอยู่ได้.
ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตรซึ่งทนไม่ได้ วิ่งไปขึ้นภูเขาอันดาดไปด้วยขวากกรด ลุกโชนน่าสยดสยองอย่างยิ่ง ตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้.
ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตร ซึ่งต้องวิ่งเหยียบกองถ่านเพลิงเท่าภูเขา ลุกโพลงน่ากลัว มีตัวถูกไฟไหม้ทนไม่ไหว ร้องครวญครางอยู่ได้ ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยหนามเหล็กคมกริบ กระหายเลือดคน หญิงผู้ประพฤติล่วงสามี และชายผู้กระทำชู้กับภรรยาของผู้อื่น ถูกนายนิรยบาลผู้ทำตามคำสั่งของพระยายม ถือหอกไล่ทิ่มแทงให้ขึ้นต้นงิ้วนั้น
ใครเล่าจะไปทวงทรัพย์จำนวนนั้นกะมหาบพิตรซึ่งต้องขึ้นต้นงิ้วในนรกเลือดไหลเปรอะเปื้อน มีกายเหี้ยมเกรียม หนังเนื้อถูกตัด ฉีกขาด ถลอกปอกเปิกกระสับกระส่าย เสวยเวทนาอย่างหนักแสนสาหัส

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 พ.ค. 2011, 14:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๐ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ใครเล่าจะไปขอทรัพย์จำนวนเท่านั้นกะพระองค์ผู้หอบแล้วหอบอีก อันเป็นโทษของบุรพกรรมต้องเดินทางผิดวกเวียนไปๆ มาๆ อย่างไม่สิ้นสุด มีหนังเนื้อถูกตัด ฉีกขาดถลอกปอกเปิก ต้นงิ้วสูงเทียมเมฆ เต็มไปด้วยใบเหล็กคมกริบ กระหายเลือดคน.

ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลก กะมหาบพิตร ผู้กำลังปีนขึ้นต้นงิ้วนั้น ก้าวไปเหยียบใบเหล็กอันคมดังดาบ ก็ถูกใบงิ้วอันคมนั้นบาด มีตัวขาดกระจัดกระจายเลือดไหลโทรมได้.
ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์จำนวนเท่านั้น กะมหาบพิตร ผู้วิ่งหนีออกจากขุมนรก...ไม้งิ้วอย่างหัวซุกหัวซุน ซึ่งมีใบเป็นดาบไปพลัดตกลงในแม่น้ำเวตรณี ซึ่งแม่น้ำกรดเวตรณี มีน้ำเป็นกรด เผ็ดร้อน ยากที่จะข้ามได้ ดาดาษไปด้วยบัวเหล็ก มีกลีบคมกริบเลื่อนไหลออกมาจากกลีบ
ใครเล่า จะไปทวงทรัพย์นั้นกะมหาบพิตร ผู้มีตัวขาดกระจัดกระจาย เปรอะเปื้อนไปด้วยโลหิตลอยอยู่ในแม่น้ำกรดเวตรณีที่นั้น หาที่เกาะมิได้
ส่วนพระเจ้าอังคติราช ได้ทรงสดับนิรยกถาของพระมหาสัตว์นี้ ก็มีพระหฤทัยสลด เมื่อจะทรงแสวงหาที่พึ่งกะพระมหาสัตว์ จึงตรัสว่า “ข้าพเจ้าแทบจะล้มเหมือนต้นไม้ที่ถูกตัด ข้าพเจ้า หลงสำคัญผิดจึงไม่รู้จักทิศ ท่านฤาษี ข้าพเจ้าได้ฟังคาถาภาษิตของท่านแล้ว ตามเดือดร้อนเพราะภัยแห่งบาปที่ตนทำไว้ เพราะกลัวมหาภัยและนิรยภัยใหญ่อันบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ท่านฤาษี ขอท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ประหนึ่งน้ำสำหรับแก้กระหายในเวลาร้อน เหมือนเกาะของบุคคลผู้ไม่ได้ที่พึ่งแห่งเรือที่อัปปางในห้วงน้ำหรือในมหาสมุทรท่านจงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า เหมือนแสงสว่างที่โชติช่วงแก่ผู้ไปในที่มืด ท่านฤาษี ขอท่านจงสอนอรรถและธรรมแก่ข้าพเจ้า ในกาลก่อนข้าพเจ้าได้กระทำความผิดอันเป็นกรรมชั่วไว้ในอดีต ล่วงกุศลทำแต่อกุศลไว้ส่วนเดียว ข้าแต่พระนารทะ ขอท่านจงบอกทางบริสุทธิ์แก่ข้าพเจ้า โดยข้าพเจ้าจะไม่พึงตกไปในนรกด้วยเถิด.
ครั้นเมื่อพระมหาสัตว์ ทูลบอกทางอันบริสุทธิ์แก่พระเจ้าอังคติราชนั้น เมื่อจะแสดงซึ่งข้อปฏิบัติชอบของพระราชาในปางก่อน โดยยกเป็นอุทาหรณ์จึงกล่าวว่า พระราชา ๖ พระองค์นี้ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสามิตร ท้าวอัฏฐกะ ท้าวยมทัตติ ท้าวอุสสินนระ ท้าวสิวิราชและพระราชาพระองค์อื่นๆ ได้ทรงบำรุงสมณพราหมณ์ทั้งหลายแล้วเสด็จไปยังสวรรค์ ได้ประพฤติธรรม อันเป็นวิสัยแห่งท้าวสักกะ ฉันใด ดูก่อนมหาบพิตรผู้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน แม้มหาบพิตร ก็ฉันนั้น จงทรงเว้นอธรรม แล้วทรงประพฤติธรรมราชบุรุษทั้งหลายจงถืออาหารไปประกาศไปในวิมาน ในบุรี ในราชนิเวศน์ และในพระนครของพระองค์ว่าใครหิว ใครกระหาย จงโฆษณาว่า ใครปรารถนามาลา ใครปรารถนาเครื่องลูบไล้ ใครไม่มีผ้านุ่งห่ม จงนุ่งห่มผ้าสีต่างๆ ตามปรารถนาใครต้องการร่ม ใครต้องการรองเท้า อย่างเนื้ออ่อนอย่างดี ราชบุรุษทั้งหลายจงประกาศดังนี้ ในพระนครของพระองค์ทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า มหาบพิตรอย่าได้ใช้คนแก่เฒ่า คือ ผู้ใดเป็นอุปัฏฐากของท่าน จะเป็นอำมาตย์ หรือ ผู้อื่นที่ทำอุปการะไว้ก่อน ในเวลาที่คร่ำคร่าเพราะชรา ไม่สามารถจะทำการงานได้เหมือนในก่อน และแม้โคม้าเป็นต้น ในเวลาแก่ ก็ไม่สามารถจะทำการงานได้ แม้ในบรรดาโคและม้าเป็นต้น แม้ตัวเดียวท่านก็อย่าใช้ในการงานทั้งหลายเช่นในก่อน จริงอยู่ ในเวลาแก่ สัตว์เหล่านั้นไม่สามารถจะทำการงานเหล่านั้นได้ และจงทรงพระราชทาน เครื่องสักการะแก่ผู้เป็นกำลังของท่าน คือ เป็นเจ้าหน้าที่ เคยทำอุปการะทำความดีมาก่อน ท่านพึงให้การบริหารแก่เขาเหมือนก่อนมา

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 พ.ค. 2011, 18:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๑ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
จริงอยู่ อสัตบุรุษในเวลาที่บุคคลสามารถเพื่อจะทำอุปการะแก่ตนย่อมทำความนับถือ ในเวลาที่เขาไม่สามารถก็ไม่แลดูบุคคลผู้นั้นเลย ส่วนสัตบุรุษในเวลาสามารถก็ดี ในเวลาไม่สามารถก็ดีย่อมสามารถกระทำสักการะเหมือนอย่างนั้นแก่เขาเหล่านั้น เพราะฉะนั้น แม้พระองค์ก็พึงกระทำอย่างนั้นแล.
ดังนั้น พระมหาสัตว์ครั้นแสดงทานกถาและศีลกถาแล้ว บัดนี้เพราะเหตุที่พระราชานี้ ย่อมยินดีในพรรณนา โดยเปรียบเทียบด้วยรถ ในอัตภาพของตน เพราะเหต...ุดังนี้นั้นเมื่อจะแสดงธรรมโดยเปรียบเทียบด้วยรถอันให้ความใคร่ทั้งปวงจึงกล่าวว่า
มหาบพิตร จงทรงสำคัญพระวรกายของพระองค์ว่า เป็นดังรถ อันมีใจประกอบด้วยกุศลจิตเป็นสารถี ผู้กระปรี้กระเปร่า(เพราะปราศจากถีนมิทธะ คือ ความง่วงและเซื่องซึม) อันมีอวิหิงสา(ไม่เบียดเบียน)เป็นเพลาที่เรียบร้อยดี มีการบริจาคจำแนกแจกทานเป็นหลังคา มีการสำรวมเท้าเป็นกง มีการสำรวมมือเป็นกระพอง มีการสำรวมท้องอันสำเร็จด้วยโภชนะพอประมาณเป็นน้ำมันหยอด มีการสำรวมวาจาเป็นความเงียบสนิท มีการกล่าวคำสัตย์เป็นองค์รถอันบริบูรณ์ มีการกล่าวคำไม่ส่อเสียดเป็นการเข้าหน้าไม้สนิท มีการกล่าวคำอ่อนหวานน่าคบเป็นสหายไม่มีโทษเป็นเครื่องรถอันเกลี้ยงเกลา มีการกล่าวพอประมาณอันสละสลวยเป็นเครื่องผูกรัด มีศรัทธาและอโลภะกล่าวคือการเชื่อกรรมและผลแห่งกรรมและสำเร็จด้วยอโลภะเป็นเครื่องประดับ มีการถ่อมตนและกราบไหว้ อันสำเร็จด้วยความประพฤติอ่อนน้อม และสำเร็จด้วยอัญชลีกรรมแก่ผู้มีศีลเป็นทูบ มีความไม่กระด้าง เพราะไม่มีความกระด้างกล่าว คือ ความเป็นผู้มีวาจาน่าคบเป็นสหาย และมีวาจานำมาซึ่งความบันเทิงใจเป็นงอนรถ มีการสำรวมศีล กล่าวคือ การสำรวมจักขุนทรีย์และมีศีล ๕ไม่ขาดเป็นต้นเป็นเชือกขันชะเนาะ มีความไม่โกรธเป็นอาการของไม่กระเทือน มีกุศลกรรมกล่าวคือ กุศลกรรมบถธรรม ๑๐ ประการเป็นเศวตฉัตรอันขาวผ่อง มีพาหุสัจจะอันสำเร็จด้วยความเป็นพหูสูตอันอิงอาศัยประโยชน์เป็นสายทาบ มีการตั้งจิตมั่น กล่าวคือ ความเป็นผู้มีอารมณ์เป็นหนึ่ง อันตั้งมั่นด้วยดีโดยภาวะไม่หวั่นไหวเป็นราชอาสน์อันยอดเยี่ยมมั่นคงไม่โยกคอน ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์ควรปรารถนาทัพสัมภาระทั้งหมด ตั้งต้นแต่ลิ่มแห่งรถและสิ่งอันบริสุทธิ์ สำเร็จแต่สิ่งอันเป็นสาระฉันใด รถนั้นก็ควรแก่การตั้งอยู่ได้นานฉันนั้น แม้รถคือกายของพระองค์ก็เหมือนกัน จึงมีจิตอันหมดจดรู้จักกาลแล้วจึงกระทำ จงประกอบด้วยกุศลสาระมีทานเป็นต้น ดังนั้นพระองค์พึงมีความคิดกุศลจิตอันเป็นสาระรู้จักกาลแล้วจึงกระทำ กล่าวคือ ความเป็นผู้รู้จักกาลอย่างนี้ว่า นี้กาลที่ควรให้ทาน นี้กาลที่ควรรักษาศีลเป็นไม้แก่น มีความแกล้วกล้าในท่ามกลางบริษัทเป็นไม้ค้ำ มีความประพฤติถ่อมตน กล่าวคือ ประพฤติตนอยู่ในโอวาท ซึ่งพระวรกายของพระองค์ก็เหมือนกัน อันการผูกมัดด้วยความประพฤติในโอวาทของบัณฑิตทั้งหลาย ย่อมแล่นไปได้อย่างสะดวกเป็นเชือกขันแอก

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 พ.ค. 2011, 19:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๒ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
จริงอยู่ม้าสินธพ ย่อมนำรถที่ถูกผูกไว้ด้วยเชือกผูกแอกอันอ่อนนุ่มจึงไปได้สะดวก มีความไม่เย่อหยิ่งทนงตนเป็นแอกเบา มีจิตไม่ท้อถอยไม่คดโกงไม่หดหู่ย่อหย่อนด้วยกุศลมีทานเป็นต้น คือเครื่องลาดจิตของพระองค์ ย่อมงดงาม เป็นเครื่องลาดอันโอฬารสำเร็จด้วยงา มีการเสพบุคคลผู้เจริญด้วยปัญญา (ทำให้พระองค์ดำเนินไปตามทางตรงคือ สัมมาทิฏฐิสม่ำเสมอ)เป็นเครื่องกำจัดธุลี รถเมื่อแล่นตามทางที่มีธุลี อันไม่เสมอ เกลื่อนกล่นไปด้วยธุลีย่อมไม่งาม เมื่อแล่นโดยหนทางสม่ำเสมอปราศจ...ากธุลีย่อมงดงาม มีสติตั้งมั่นของนักปราชญ์ประจำพระองค์เป็นประตัก มีความเพียรไม่ขาดสายและพยายามประกอบข้อวัตรปฏิบัติที่มีประโยชน์เป็นสายบังเหียนอันคงทนที่ร้อยไว้ในรถ มีใจของพระองค์ที่ถูกฝึกฝนดี สมบูรณ์ด้วยอาจาระ ย่อมละพยศไม่เสพทางผิด ถือเอาแต่ทางถูกเป็นเครื่องนำทางเช่นดังม้าสินธพที่หัดไว้ดีแล้ว ให้สำเนียกดีแล้ว ยังกิจแห่งม้าสินธพให้สำเร็จ ย่อมแล่นไปตามทางตรงทีเดียว ความปรารถนาและความโลภเป็นทางคด(หมายความว่า ความปรารถนาในวัตถุที่ยังไม่มาถึงและความโลภที่มาถึงเข้า เพราะฉะนั้นความปรารถนาและความโลภนี้ จึงชื่อว่า เป็นทางผิดเป็นทางคดโกง เป็นทางไม่ตรง ย่อมนำไปสู่อบายถ่ายเดียว) ส่วนความสำรวมเป็นทางตรง(หมายความว่า การสำรวมในศีล อันเป็นไปด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือมรรคมีองค์ ๘ ชื่อว่าทางตรง) ขอถวายพระพร พระองค์จงมีปัญญาเป็นเครื่องกระตุ้นเตือนใจ ในพระวรกายของพระองค์ผู้ถือเอานิมิต ในกามคุณมีรูปเป็นต้น อันเป็นที่ชอบใจเหล่านั้น เหมือนประตัก(ปัญญา) สำหรับเคาะห้ามม้าสินธพ(ใจ)แห่งราชรถ(วรกาย) ที่แล่นออกนอกทาง ก็ปัญญานั้นคอยห้ามรถ คือพระวรกายนั้นจากการแล่นไปนอกทาง ให้ขึ้นสู่ทางตรงคือทางสุจริต นายสารถีอื่น ย่อมไม่มีในรถคือพระวรกายของพระองค์นั้น พระองค์นั้นแหละเป็นสารถีของพระองค์เอง รถคือกายใด ย่อมมีความประพฤติสม่ำเสมอ และมีความตั้งมั่นคงทนถาวร รถนั้นกลายเป็นยาน(แปลว่า เครื่องแล่นไป ขับเคลื่อนได้)เห็นปานนั้นมีอยู่ เพราะเหตุที่รถนั้นย่อมให้ความใคร่ทั้งปวง ตามที่มหาบพิตรปรารถนา ฉะนั้น พระองค์ไม่ต้องไปนรกแน่นอน พระองค์ทรงยานนั้นไว้โดยส่วนเดียว พระองค์ไม่ไปสู่นรกด้วยยานนั้น มหาบพิตร ได้ตรัสความข้อใดกะอาตมภาพว่า “นารทะขอท่านจงบอกทางแห่งวิสุทธิ” ความข้อนั้นอาตมภาพได้บอกแก่พระองค์แล้วโดยอเนกปริยายแล

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 พ.ค. 2011, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๓ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ครั้นพระนารทฤาษีแสดงธรรมถวายพระเจ้าอังคติราช ให้ทรงละมิจฉาทิฏฐิ ให้ตั้งอยู่ในศีลอย่างนี้แล้ว จึงถวายโอวาทกะพระราชาว่า ตั้งแต่นี้ไปพระองค์จงละปาปมิตร เข้าไปใกล้กัลยาณมิตร อย่าทรงประมาทเป็นนิตย์ ดังนี้แล้วพรรณนาคุณของพระนางรุจาราชธิดา ให้โอวาทแก่ราชบริษัทและทั้งนางใน เมื่อมหาชนเหล่านั้น กำลังดูอยู่นั่นแล ได้กลับไปสู่พรหมโลก ด้วยอานุภาพอันใหญ่.
พระเจ้าอังคติราช ทรงตั้งอยู่ในโอวาทของพรหมนารทะ ละมิจฉาทิฏฐิ บำเพ็ญบารมีท...านเป็นต้น ได้เป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า.
พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนเราก็ทำลายข่ายคือ ทิฏฐิแล้วจึงทรมานอุรุเวลกัสสปะนั่นเอง เมื่อจะประชุมชาดก จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในตอนจบว่า
อลาตเสนาบดีเป็นพระเทวทัต สุนามอำมาตย์ เป็นพระภัททชิ วิชยอำมาตย์เป็นสารีบุตร คุณาชีวกผู้อเจลกเป็นสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร พระนางรุจาราชธิดา ผู้ทรงยังพระราชาให้เลื่อมใสเป็นพระอานนท์ พระเจ้าอังคติราช ผู้มีทิฏฐิชั่วในกาลนั้นเป็นพระอุรุเวลกัสสปะ มหาพรหมโพธิสัตว์เป็นเราตถาคต ท่านทั้งหลายจงทรงจำชาดกไว้ด้วยประการฉะนี้แล.
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ตัณหาได้แก่ความาสนุกสนานยินดีในกามคุณอารมณ์เป็นเหตุให้เกิดทิฏฐุปาทาน คือความเห็นผิดว่า “ทำดีไม่ได้รับผลดี ทำชั่วไม่ได้รับผลชั่ว การแสวหาความสุข ในกามคุณอารมณ์นั้นแหละ ที่ทำให้ได้รับประโยชน์มากที่สุด” นับว่าเป็นเรื่องอันตรายก่อผลให้ต้องตกนรก
ต่อไปนี้จะแสดงตัณหา เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสีลัพพตุปาทาน หมายความว่า ความต้องการความสุข คือ ให้พ้นจากความทุกข์ในสังสารวัฏอย่างหนึ่ง หรือมีความต้องการความสุขในเทวโลกอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่างนี้ ได้ชื่อว่า ตัณหา เมื่อตัณหาเหล่านี้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมหาหนทางปฏิบัติตนเพื่อให้ได้รับความสุขดังที่ตนปรารถนา ในการปฏิบัติตนนี้ ถ้าได้พบกับพวกสัปบุรุษที่เป็นบัณฑิต หรือตนเองมีความรู้ในข้อปฏิบัติที่ถูกต้องตามปริยัติศาสนาดีพอแล้ว การปฏิบัตินั้น ก็ดำเนินไปด้วยดีไม่ผิดแนวทางที่บัณฑิตทั้งหลายประพฤติกัน หากว่าผู้นั้น ไม่ได้คบหากับพวกบัณฑิตหรือไม่มีความรู้ในปริยัติศาสนาแล้ว การปฏิบัตินั้น ก็จะดำเนินไปในทางที่ผิด โดยหลงเข้าใจว่าเป็นทางที่ถูกซึ่งมีอยู่ ๒ ทางด้วยกัน คือปฏิบัติไปในทางทรมานร่างกายของตนให้ได้รับความลำบากต่างๆ เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค อย่างหนึ่ง หรือปฏิบัติไปในทางบำรุงบำเรอร่างกายของตนให้ได้รับความสุขต่างๆ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อย่างหนึ่ง การปฏิบัติทั้ง ๒ ทางนี้ ก็ล้วนแต่เป็นการปฏิบัติที่ผิดแนวทางทั้งสิ้น ซึ่งแทนที่จะได้รับผล เป็นความสุขตามที่ตนปรารถนาไว้ กลับให้ผลตรงกันข้าง คือ ย่อมได้รับความทุกข์ยิ่งขึ้นไปอีก
การปฏิบัติในแนวทางอัตตกิลมถานุโยคนี้ ก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน เช่น การทรมานร่างกายโดยอดอาหาร ไม่นอน ไม่เปลี่ยนอิริยาบถ ไม่อาบน้ำ หรือเผาร่างกาย ด้วยการตากแดดบ้าง ผิงไฟบ้าง แช่ตัวในน้ำบ้าง นอนบนขวากหนาม นอนบนตะปูบ้าง เหล่านี้เป็นต้นก็ดี หรือปฏิบัตินให้เหมือนโค เหมือนสุนัขก็ดีเหล่านี้เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยคทั้งสิ้น

เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๔ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ในที่นี้ ที่ชื่อว่า สีลัพพตุปาทาน นั้น ได้แก่ การปฏิบัติตนในแนวทางอัตตกิลมถานุโยค โดยวิธีประพฤติตนให้เหมือนโค เหมือนสุนัข ซึ่งการปฏิบัติตนชนิดนี้ ก็เป็นผลที่เนื่องมาจากตัณหาเป็นเหตุนั่นเอง

ในเรื่องที่ยกขึ้นแสดงไว้นกุกกุโรวาทสูตรแห่งมัชฌิมปัณณาสพระบาลีว่า



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จประทับอยู่ในโกลิยชนบท ทรงทำนิคมของชาวโกลิยะ ชื่อว่า หลิททวสนะให้เป็นโคจรคาม ครั้งนั้นปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโค(ผู้สมาทานโควัตร การพร...ะพฤติอย่างโค คือ ตั้งเขาทั้งสองเขาบนศีรษะ ผูกหาง เที่ยวเคี้ยวหญ้ากับเหล่าโค) และเสนิยอเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัข(ผู้สมาทานกุกกุรวัตร เปลือยกายประพฤติอย่างสุนัข ทำกิริยาเลียนแบบสุนัขทุกอย่าง ปุณณะ กับ เสนิยะทั้งสองนั้น เป็นสหายเล่นฝุ่นด้วยกันมา) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับแล้ว ปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโค ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฝ่ายเสนิยอเจละผู้พระพฤติวัตรดังสุนัข ขึ้นชื่อว่า สุนัข เมื่อนั่งใกล้ๆ นาย เอาเท้าทั้งสองข้างตะกุยที่พื้นนั่งเห่าเสียงสุนัข เสนิยะ คิดว่า แม้เราจักกระทำดุจกิริยาเเห่งสุนัข ครั้นกล่าวทักทายปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็เอาเท้าทั้งสองข้างตะกุยพื้น สลัดศีรษะทำเสียงภุภุ นั่งคู้มือและเท้าเหมือนสุนัข ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดังโค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสนิยอเจละนี้ ประพฤติวัตรดังสุนัข ทำกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้ บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่างบริบูรณ์ สิ้นกาลนาน คติของเขาจะเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าเลย ปุณณะ จงงดข้อนี้เสียเถิดอย่าถามเราถึงข้อนี้เลย. ปุณณโกลิยบุตรผู้ประพฤติวัตรดังโค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เสนิยอเจละ ประพฤติวัตรดังสุนัข ทำกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้ บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่างบริบูรณ์สิ้นกาลนานคติของเขาจะเป็นอย่างไรภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสห้ามว่า อย่าเลย ปุณณะจงงดข้อนี้เสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนี้เลย. ปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตร ดังโค ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญเสนิยอเจละ พระพฤติวัตรดังสุนัข ทำกรรมยากที่ผู้อื่นจะทำได้ บริโภคโภชนะที่วางไว้ ณ พื้นดิน เขาสมาทานกุกกุรวัตรนั้นอย่างบริบูรณ์สิ้นกาลนาน คติของเขาจักเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจักเป็นอย่างไร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง ด้วยทรงพระดำริว่า สิ่งที่ไม่น่ารักจักมีแก่เขา

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 พ.ค. 2011, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๕ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
พ. ดูก่อนปุณณะ เราไม่ได้จากท่านเป็นแน่ซึ่งคำนี้ว่า อย่าเลยปุณณะ จงงดข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย ดังนี้ แต่เราจักพยากรณ์แก่ท่าน ดูก่อนปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดความคิดอย่างนี้ว่าตั้งแต่วันนี้ เราจักกระทำเลียนแบบสุนัขทั้งหลายพึงกระทำจึงเป็นการบำเพ็ญกุกกุรวัตร คือ การถือเอาอากัปกิริยาของสุนัข บำเพ็ญกิริยาอาการของสุนัขให้บริบูรณ์ คือ อาการเดินของเหล่าสุนัขมีอยู่ อาการที่เมื่อเห็นสุนัขเหล่าอื่นแล้วแยกเขี้ยวใส่ตัวอื่นเด...ินไป ประพฤติอย่างไม่ขาดสาย ครั้นแล้วเมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า บรรดาเทวดาทั้งหลาย มีท้าวสักกะ ท้าวสุยามะเป็นต้น เราจักได้เป็นเทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยความประพฤติ ด้วยการสมาทานวัตร ด้วยการประพฤติตบะที่ทำได้ยาก หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ ความเห็นนั้นของเขา ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะการยึดถือทางที่มิใช่ทางไปสู่เทวโลก ว่าเป็นทางไปสู่เทวโลก ดูก่อนปุณณะ เรากล่าวคติของผู้เห็นผิดว่ามี ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดูก่อนปุณณะ กุกกุรวัตรที่เขาปฏิบัติอยู่ ไม่เจือด้วยทิฏฐิ ย่อมนำเข้าถึงความเป็นสหายของสุนัข เมื่อวิบัติย่อมนำเข้าถึงนรก ด้วยประการฉะนี้. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว เสนิยอเจละผู้ประพฤติวัตรดังสุนัขกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำพยากรณ์อันใด กะข้าพเจ้าอย่างนี้ “ข้าพระองค์มิได้ร้องไห้ มิได้คร่ำครวญ มิได้ทอดถอนถึงคำพยากรณ์อันนั้น ของพระผู้มีพระภาคเจ้าดอก” แล้วจึงร้องไห้น้ำตาไหล ด้วยอำนาจกรรมของตนเอง ด้วยประการฉะนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะปุณณโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโค ว่า ดูก่อนปุณณะ เราไม่ได้คำนี้จากท่านว่า อย่าเลยปุณณะจงงดข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย ดังนี้. เสนิยอเจละทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อนึ่งเล่ากุกกุรวัตรนี้ ข้าพเจ้าสมาทานมาเป็นเวลายาวนาน แม้เมื่อปฏิบัติกุกกุรวัตรนั้น ก็ไม่มีความเจริญ เมื่อปฏิบัติผิด ก็ไม่มีความเสื่อม (จัญไร) กรรมที่ข้าพเจ้ากระทำมาเป็นเวลาเพียงนี้ก็เกิดเป็นโมฆะ(ไม่มีผล) เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเมื่อพิจารณาเห็น ความวิบัติของตัวเอง จึงร้องไห้ พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปุณณโกลิยบุตร ประพฤติวัตรดังโค เขาสมาทานโควัตรนั้นอย่างบริบูรณ์มาช้านาน คติของเขาจะเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร
พ. อย่าเลย เสนิยะ จงงดข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย.
เสนิยอเจละทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นครั้งที่ ๒. . . เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ปุณณโกลิยบุตรนี้ ประพฤติวัตรดังโค เขาสมาทาน โควัตรนั้นอย่างบริบูรณ์มาช้านาน คติของเขาจะเป็นอย่างไร ภพหน้าของเขาจะเป็นอย่างไร.

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 พ.ค. 2011, 18:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๖ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
พ. ดูก่อนเสนิยะ เราไม่ได้จากท่านเป็นแน่ซึ่งคำนี้ว่า อย่าเลยเสนิยะ จงงดข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย ดังนี้ แต่เราจักพยากรณ์แก่ท่าน ดูก่อนเสนิยะ บุคคลบางคนในโลกนี้ เกิดความคิดอย่างนี้ว่าตั้งแต่วันนี้ เราจักกระทำเลียนแบบสุนัขทั้งหลายพึงกระทำจึงเป็นการบำเพ็ญโควัตร คือ การถือเอาอากัปกิริยาของโค บำเพ็ญกิริยาอาการของโคให้บริบูรณ์ คือ อาการเดินของเหล่าโคมีอยู่ อาการที่เมื่อเห็นโคเหล่าอื่น แล้วยกหูทั้งสองใส่ตัวอื่นเดินไป ประพฤติ...อย่างไม่ขาดสาย ครั้นแล้วเมื่อตายไป เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของโค อนึ่ง ถ้าเขามีความเห็นอย่างนี้ว่า บรรดาเทวดาทั้งหลาย มีท้าวสักกะ ท้าวสุยามะเป็นต้น เราจักได้เป็นเทวดาองค์ใดองค์หนึ่ง ด้วยความประพฤติ ด้วยการสมาทานวัตร ด้วยการประพฤติตบะที่ทำได้ยาก หรือด้วยพรหมจรรย์นี้ ความเห็นนั้นของเขา ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ เพราะการยึดถือทางที่มิใช่ทางไปสู่เทวโลก ว่าเป็นทางไปสู่เทวโลก ดูก่อนเสนิยะ เรากล่าวคติของผู้เห็นผิดว่ามี ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานอย่างใดอย่างหนึ่ง ดูก่อนเสนิยะ โควัตรที่เขาปฏิบัติอยู่ ไม่เจือด้วยทิฏฐิ ย่อมนำเข้าถึงความเป็นสหายของโค เมื่อวิบัติย่อมนำเข้าถึงนรก ด้วยประการฉะนี้. เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ปุณณะโกลิยบุตร ผู้ประพฤติวัตรดังโคกล่าวว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสคำพยากรณ์อันใด กะข้าพเจ้าอย่างนี้ “ข้าพระองค์มิได้ร้องไห้ มิได้คร่ำครวญ มิได้ทอดถอนถึงคำพยากรณ์อันนั้น ของพระผู้มีพระภาคเจ้าดอก” แล้วจึงร้องไห้น้ำตาไหล ด้วยอำนาจกรรมของตนเอง ด้วยประการฉะนี้
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกะเสนิยอเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัขว่า ดูก่อนเสนิยะ เราไม่ได้คำนี้จากท่านว่า อย่าเลยเสนิยะ จงงด ข้อนั้นเสียเถิด อย่าถามเราถึงข้อนั้นเลย ดังนี้ ปุณณโกลิยบุตรทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้ร้องไห้ถึงการพยากรณ์นั้น ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะข้าพเจ้า แม้ข้าพเจ้าสมาทานโควัตรนี้อย่างบริบูรณ์มาช้านาน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสามารถแสดงธรรมโดยประการที่ให้ข้าพเจ้าพึงละโควัตรนี้ได้และเสนิยอเจละผู้ประพฤติวัตรดังสุนัข พึงละกุกกุรวัตรนั้นได้.
ดูก่อนปุณณะ ถ้ากระนั้น ท่านจงฟัง จงมนสิการให้ดี เราจักกล่าวปุณณโกลิยบุตร ผู้พระพฤติวัตรดังโค ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
อนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงทราบว่าคนทั้งสองนี้จักเข้าใจกรรม ๔ หมวด ที่กำลังทรงแสดงนี้เท่านั้น ต่อนั้น คนหนึ่งจักถึงสรณะ คนหนึ่งจักบวชแล้วบรรลุพระอรหัต ดังนั้น เทศนานี้เท่านั้นเป็นสัปปายะของพวกเขา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้ เราทำให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ๔ ประการนั้นเป็นไฉน ดูก่อนปุณณะ กรรมดำมีวิบากดำมีอยู่ กรรมขาวมีวิบากขาวมีอยู่ กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวมีอยู่ กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมมีอยู่.

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 พ.ค. 2011, 20:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๗ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ดูก่อนปุณณะ ก็กรรมดำ(ได้แก่ กรรมที่เป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐) มีวิบากดำ(เพราะทำให้บังเกิดในอบาย) เป็นไฉน ดูก่อนปุณณะบุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์ ประมวลวจีสังขารอันมีความทุกข์ ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์
ครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์ ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลกอันมีทุกข์ เขาอันผัสสะประกอบด้วยทุกข์ถูกต้อง ย่อมเสวยเวทนาอันประกอบด้วยทุกข์ อันเป็นทุกข์โดยส่วนเดียว ดุจสัตว์นรก ฉะนั้น ดูก่อนปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติขอ...งสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะ ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูก่อนปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่าสัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมดำมีวิบากดำ.
ดูก่อนปุณณะ ก็กรรมขาว(ได้แก่ กรรมที่เป็นกุศลกรรมบถ ๑๐) มีวิบากขาว(เพราะทำให้บังเกิดในสวรรค์) เป็นไฉน ดูก่อนปุณณะบุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลวจีสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ประมวลมโนสังขาร อันไม่มีความทุกข์ ครั้นแล้วเขาย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ ผัสสะอันไม่มีความทุกข์ ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลกอันไม่มีความทุกข์ เขาอันผัสสะไม่มีความทุกข์ถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันไม่มีความทุกข์ เป็นสุขโดยส่วนเดียว ดุจเทพชั้นสุภกิณหาฉะนั้น ดูก่อนปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมี สัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูก่อนปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมขาว มีวิบากขาว.
ดูก่อนปุณณะ ก็กรรมทั้งดำทั้งขาว(มีสุขและทุกข์เป็นวิบาก) มีวิบากทั้งดำทั้งขาว(ก็ผิว่า กรรมนั้นพึงเป็นกรรมดำไซร้ ก็จะพึงให้วิบากดำ ผิว่าเป็นกรรมขาวไซร้ ก็จะพึงให้วิบากขาว) เป็นไฉน ดูก่อนปุณณะ บุคคลบางคนในโลกนี้ ประมวลกายสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลวจีสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ประมวลมโนสังขาร อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้างครั้นแล้ว เขาย่อมเข้าถึงโลกอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ผัสสะอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง ย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงโลก อันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้าง เขาอันผัสสะที่มีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้างถูกต้องแล้ว ย่อมเสวยเวทนาอันมีความทุกข์บ้าง ไม่มีความทุกข์บ้างมีทั้งสุขและทุกข์ระคนกัน ดุจพวกมนุษย์ เทพบางเหล่าและสัตว์วินิบาตบางเหล่าฉะนั้น ดูก่อนปุณณะ เพราะกรรมที่มีดังนี้แล ความอุปบัติของสัตว์จึงมีสัตว์ทำกรรมใดไว้ ย่อมเข้าถึงเพราะกรรมนั้น ผัสสะย่อมถูกต้องเขาผู้เข้าถึงแล้ว ดูก่อนปุณณะ แม้เพราะอย่างนี้ เราจึงกล่าวว่า สัตว์มีกรรมเป็นทายาท ข้อนี้เรากล่าวว่า กรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาว.
อธิบาย แท้จริง บุคคลทำกรรมคละกันทั้งดำและขาวแล้ว เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ในตำแหน่งช้างมิ่งมงคลเป็นต้น (ในปฏิสนธิกาล-ช่วงเวลาเกิดในครรภ์)ด้วยอกุศลกรรม, ก็จะเสวยสุขในปวัตติกาล(ช่วงระหว่างเวลาหลังเกิดจนถึงตาย)ด้วยกุศลกรรม; แม้เขาเกิดในราชตระกูล (ในปฏิสนธิกาล-ช่วงเวลาเกิดในครรภ์)ด้วยกุศลกรรม, ก็เสวยทุกข์ในปวัตติกาล(ช่วงระหว่างเวลาหลังเกิดจนถึงตาย)ด้วยอกุศลกรรม

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2011, 10:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๔๘ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ดูก่อนปุณณะ ก็กรรมไม่ดำไม่ขาว(กรรม คือเจตนาในมรรค ๔ อันกระทำให้สิ้นกรรม) มีวิบากไม่ดำไม่ขาว(เพราะมีวิบากไม่ดำไม่ขาวเหตุไม่ให้วิบากทั้งสอง) ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรมนั้นเป็นไฉน ดูก่อนปุณณะ บรรดากรรม ๓ ประการนั้น เจตนาเพื่อละกรรมดำ มีวิบากดำ เจตนาเพื่อละกรรมขาว มีวิบากขาว เจตนาเพื่อละกรรมทั้งดำทั้งขาว มีวิบากทั้งดำทั้งขาวนั้นเสีย ข้อนี้ เรากล่าวว่า กรรมไม่ดำไม่ขาว มีวิบากไม่ดำไม่ขาว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม ดูก่...อนปุณณะ กรรม ๔ ประการนี้แล เราทำให้แจ้งชัด ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว สอนผู้อื่นให้รู้ตาม
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้แล้ว ปุณณโกลิยบุตรผู้พระพฤติวัตรดังโค ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.
นายเสนิยะอเจละ ผู้ประพฤติวัตรดังสุนัขนั้นคิดว่า ตัวเราเหมือนจะเปลี่ยนความคิดว่า เราประกอบตัวไว้ในฝ่ายธรรมที่ไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์มาเป็นเวลานานแล้วหนอ ทำตนให้ลำบากเปล่า จักอาบน้ำที่ริมฝั่งแม่น้ำที่แห้ง เป็นเหมือนคนปักหลักลงในแกลบไม่ทำประโยชน์อะไรๆ ให้สำเร็จเลย เอาเถิด เราจะประกอบตัวไว้ในความเพียร ได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปในที่มืด ด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจักเห็นรูป ดังนี้ ฉันใด พระโคดมผู้เจริญ ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยายฉันนั้นเหมือนกัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ พึงได้บรรพชาอุปสมบท ในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า
พ. ดูก่อนเสนิยะ ผู้ใดเคยเป็นอัญญเดียรถีย์ หวังการบรรพชาอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือนก่อน ต่อล่วง ๔ เดือน ซึ่งอัญญเดียรถีย์ ต้องทำให้ภิกษุทั้งหลาย มีจิตยินดีแล้ว จึงจะให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุ ก็แต่ว่า เราทราบความต่างแห่งบุคคลในข้อนี้
เส. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์มาก่อน หวังการบรรพชาอุปสมบท ในพระธรรมวินัยนี้ ต้องอยู่ปริวาส ๔ เดือนก่อนต่อล่วง ๔ ซึ่งอัญญเดียรถีย์ ต้องทำให้ภิกษุทั้งหลาย มีจิตยินดีแล้ว จึงจะให้บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุไซร้ ข้าพระองค์จักอยู่ปริวาสถึง ๔ ปี ต่อล่วง ๔ ปี ซึ่งอัญญเดียรถีย์ ต้องทำให้ภิกษุทั้งหลาย มีจิตยินดีแล้ว จึงให้ข้าพระองค์บรรพชาอุปสมบทเพื่อความเป็นภิกษุเถิด
ครั้งนั้น ติตถิยปริวาส (การอยู่อบรมสำหรับเดียรถีย์)อันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้วในขันธกวินัยว่า ผู้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ตั้งอยู่ในภูมิของสามเณรแล้วสมาทานอยู่ปริวาส โดยนัยว่า ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้ามีชื่อนี้เคยเป็นอัญญเดียรถีย์ ประสงค์จะอุปสมบทในธรรมวินัยนี้ ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้านั้นขอปริวาส ๔ เดือนกะสงฆ์ ดังนี้เป็นต้น

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ค. 2011, 10:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๕๐ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ที่ได้อธิบายมานี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไปอยู่ในโลกนี้ นอกจากรูปกับนามแล้ว ก็ไม่มีอะไรอื่นอีก และในการเห็นดังกล่าวแล้วนั้น

ผู้เห็นก็มิใช่อื่นไกล รูปกับนามนั่นเองเป็นผู้เห็น คือ จักขุปสาท กับจักขุทวารวิถี และหทัยวัตถุ กับมโนทวารวิถี ทั้ง ๒ นี้เท่านั้น เป็นผู้รู้ เป็นผู้เห็น เป็นสภาพอนัตตาแท้ๆ ไม่ใช่เป็นอัตตา คือไม่ใช่เราเห็น คนนั้นเห็น คนนี้เห็น
หรือในอิริยาบถต่า...งๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน และการเคลื่อนไหวในอิริยาบถย่อยต่างๆ ที่จะสำเร็จกิจลงได้นั้น ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย เช่นเดียวกัน เช่น ในการเดินที่จะสำเร็จลงได้นั้น ต้องมีปัจจัย ๔ อย่าง คือ ๑) จะต้องมีการตั้งใจที่จะเดิน ๒) จะต้องมีจิตสั่ง ๓) จะต้องมีจิตตชวาโยธาตุเกิดขึ้น ๔) จะต้องมีขาดี เมื่อครบ ๔ อย่างนี้แล้ว การเดินก็สำเร็จลงได้ และผู้ที่กำลังเดินอยู่นั้น เมื่อว่าตามสภาวะแล้ว ผู้เดิน ได้แก่ จิต เจตสิก เป็นผู้มีความตั้งใจที่จะเดิน และเป็นผู้สั่ง จิตตชวาโยธาตุที่อยู่ในร่างกายนั้นเป็นผู้กระตุ้น ปถวีธาตุ คือร่างกายเป็นผู้เดินและสมมติกันว่า เราเดิน นาย ก. เดิน นาย ข. เดิน ดังนี้เป็นต้น ซึ่งความจริงนั้นเราหรือสัตว์บุคคลที่สามารถเดินไปได้นั้น ไม่มี มีแต่ รูปกับนามทั้งสิ้น
แม้ว่า การเห็น การได้ยิน เป็นต้นเหล่านี้ จะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยไม่มีบุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นผุ้จัดแจงก็จริง แต่ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายนั้น เมื่อมีการเห็น การได้ยิน เกิดขึ้นแล้ว ถ้าอารมณ์ที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นนั้น เป็นอารมณ์ที่ดีก็เกิดความชอบใจพอใจขึ้น เรียกว่า โลภะ หรือตัณหา เกิดขึ้นแล้วแก่ผู้นั้น ถ้าอารมณ์ที่เห็นที่ได้ยินเป็นต้นนั้น เป็นอารมณ์ที่ไม่ดีก็เกิดความไม่ชอบใจ ไม่พอใจขึ้น เรียกว่า โทสะเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้นั้น แต่อารมณ์ที่เป็นเหตุให้โทสะเกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะยึดจิตใจของสัตว์ทั้งหลายให้มีอุปาทานเกิดขึ้นได้ ส่วนอารมณ์ที่เป็นเหตุให้โลภะเกิดขึ้นนั้น ย่อมมีอำนาจที่ผูกจิตใจสัตว์ทั้งหลายให้เกิดอุปาทานยึดมั่นขึ้นได้ กล่าวคือ เมื่อได้เห็น หรือได้ยินอารมณ์ที่เป็นที่ชอบใจ พอใจบ่อยๆ ครั้งเข้าแล้วก็ทำให้จิตใจของผู้นั้น ยึดอารมณ์ๆ นั้นไว้ไม่ยอมปล่อย การยึดอารมณ์ไว้โดยไม่ยอมปล่อยเช่นนี้ เรียกว่าเป็นอุปาทาน และในเวลาเดียวกันนั้น ผู้นั้นก็เข้าใจผิดในรูปนามขั้นธ์ ๕ ที่เกิดขึ้นในขณะเห็น ขณะได้ยิน เป็นต้นนั้นว่า เราเห็น เราได้ยิน เราคิด เราถด เรากิน เรานั่ง เรานอน เราเดิน ดังนี้เป็นต้น เช่นนี้จัดเป็นตัตวาทุปาทานเกิดขึ้นเพราะอาศัยตัณหาเป็นเหตุ ดังมีเรื่องตัวอย่าง คือ



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ในพระวิหารยอดในป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น บุตรแห่งนิครนถ์ผู้หนึ่งได้เรียนพันวาทะแต่สำนักของมารดาบิดาและต่อจากนั้นได้เรียนลัทธิภายนอกมากเพิ่มเติมมาก จะไม่ไปไหน คอยสอนราชกุมารให้ศึกษาศิลปะอยู่ในกรุงเวสาลีนั้น.

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 พ.ค. 2011, 13:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๕๑ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
เขากลัวว่า “ท้องของเราน่าจะแตก เพราะเต็มด้วยปัญญาเกินไป” จึงเอาแผ่นเหล็กคาดท้องเที่ยวไป ชื่อว่า สัจจกะ อาศัยอยู่ในเมืองเวสาลี เป็นคนพอใจพูดสังสนทนาลัทธินั้นๆกล่าวยกตนว่าเป็นคนเจ้าปัญญา ย่อมอ้างสิ่งใดๆ มาด้วยนักขัตตวาร โดยมากสิ่งนั้นๆ ย่อมเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ชนเป็นอันมากย่อมยกย่องว่า เป็นเจ้าลัทธิดี เจริญ เขาได้กล่าววาจาในที่ประชุมชนในเมืองเวสาลีอย่างนี้ว่า “เราไม่เห็นสมณะหรือพราหมณ์ที่เป...็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ ที่เป็นคณาจารย์ ครูของหมู่คณะ แม้ปฏิญญา (ยืนยัน) ตนว่า เป็นพระอรหันต์ผู้ไกลจากกิเลสควรนับถือ ผู้รู้ชอบเองก็ตามที พอโต้ตอบถ้อยคำกับเราแล้ว ที่จะไม่ประหม่าตัวสั่นหวั่นไหว ที่จะไม่มีเหงื่อไหลโทรมจากรักแร้ ไม่มีเลย ถ้าแม้เราจะโต้ตอบถ้อยคำด้วยถ้อยคำกับเสาที่ไม่มีเจตนา แม้เสานั้นก็จะสั่นสะท้านหวั่นไหว จะกล่าวอะไร ถึงสัตว์ที่เป็นมนุษย์” สัจจกะนิครนถ์ประกาศเช่นนี้อยู่เสมอๆ ซึ่งความจริงในเวลานั้น ผู้ที่ตั้งตัวเป็นอาจารย์ต่างๆ ก็ไม่สามารถจะโต้ตอบวาทะกับสัจจกนิครนถ์ได้จริงๆ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้สัจจกนิครนถ์มีความหยิ่งทะนงตัวมากขึ้น
ครั้งนั้น เวลาเช้าวันหนึ่ง ท่านพระอัสสชิ ผู้เป็นอาจารย์ของพระสารีบุตรเถระ ครองผ้าตามสมณวัตรแล้วถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาต ณ เมืองเวสาลี. ได้ยินว่า สัจจกนิครนถ์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า “เราแตร่เดินไป ก็หวังว่า จักยกวาทะของพระสมณโคดม ดังนี้ จึงจะไม่ถูกจับผิดว่า เราไม่รู้ลัทธิของพระสมณโคดม ธรรมดาว่า ผู้ที่รู้ลัทธิของผู้อื่น พอได้ยกวาทประเด็นผิดพลาดขึ้น เป็นอันถือว่าได้ทีเป็นต่อทีเดียว ส่วนพระอัสสชิเถระนี้ ปรากฏเป็นสาวกของพระสมณโคดม ท่านเป็นผู้ฉลาดในลัทธิของศาสดาของตน เราถามลัทธินั้นเป็นการหยั่งเชิงดูก่อน แล้วจึงค่อยไปยกวาทะต่อพระสมณโคดม” ดังนี้ ทำเป็นเดินเตร็ดแตร่ในเมืองเวสาลี ได้แลเห็นท่านพระอัสสชิมาอยู่แต่ไกล จึงเข้าไปใกล้กล่าวปราศรัยกับท่านแล้ว ได้ยืนส่วนข้างหนึ่งแล้ว จึงถามท่านว่า “พระอัสสชิ พระโคดมแนะนำสั่งสอนสาวกทั้งหลายอย่างไร แลคำสั่งสอนของพระโคดม ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายมีส่วนอย่างไร”

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2011, 11:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๕๒ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ประเด็นเหตุที่ พระเถระจะตอบว่า ทุกข์ ก็เท่ากับให้สัจจกะได้โอกาสเปิดประเด็นแย้งได้ว่า มาตรว่า มรรคผลทั้งหลาย คือ ทุกข์ โดยปริยายว่า มรรคผลเป็นสังขารทุกข์ เมื่อได้รับคำตอบว่า เป็นทุกข์สัจจกะ ก็จะพึงถามพระเถระว่า อัสสชิผู้เจริญ ท่านบวชเพื่ออะไร จากนั้น พระเถระจะต้องตอบว่า เพื่อมรรคผล จึงยกประเด็นข้อผิดพลาดขึ้นว่า อัสสชิผู้เจริญ ท่านไม่ตั้งมั่นในคำสอน คำสอนนี้จึงชื่อว่า ไม่ใช่คำสอนของพระสัพพัญญูของท่าน เพราะคำสอนไม่หลุดพ้น...จากทุกข์ ขึ้นชื่อว่า ลัทธิศาสนาของท่านนั้น เป็นที่ทรมานแหล่งใหญ่ ยังได้ชื่อว่า เป็นอุสสทนรก เพราะคำสอนชี้แสดงให้เห็นทุกข์ขนาดมหึมา ท่านนี่ช่างหาความสุขมิได้ ท่านจะคอยลุกลี้ลุกลนเที่ยวเสวยทุกข์โดยประการทั้งปวง ฉะนั้น พระเถระจึงไม่ทำปริยายกถาเรื่องทุกข์ที่ไม่มีจบสิ้น แก่ผู้เป็นนักโต้วาที พระเถระจึงคิดว่า สัจจกะผู้นี้ จะยืนหยัดอยู่ไม่ได้ ฉันใด เราจักกล่าวกถาโดยตรงแก่เขาฉันนั้น จึงยกพระดำรัสนี้คือ รูป ภิกฺขเว อนิจฺจ เป็นต้น ว่า “อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนสาวกทั้งหลายอย่างนี้ แลคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายมีส่วน อย่างนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแนะนำสั่งสอนสาวกทั้งหลายอย่างนี้ แลคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่เป็นไปมากในสาวกทั้งหลายมีส่วนอย่างนี้แล.
สัจจกะตอบว่า ไม่น่าฟังเลยหนอ อัสสชิผู้เจริญ ฟังดูเถิด พวกข้าพเจ้าได้ฟัง ถึงพระสมณะโคดม ไฉยเลย สักวันหนึ่ง พวกข้าพเจ้าจะได้พบกับพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ไฉนเลย พึงจะได้สนทนากันสักหน่อย อย่างไรเสีย ก็จะเปลื้องจากความเห็นที่เลวทรามแบบนั้นเสียได้.
สมัยนั้น เจ้าลิจฉวี ประมาณห้าร้อยองค์ ประชุมกันอยู่ในศาลาที่ว่าราชการ ด้วยกิจอันหนึ่ง ได้ยินว่า สัจจกนิครนถ์นั้น ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า เรายังไม่ยกวาทะต่อพระสมณโคดม เพราะยังไม่รู้ลัทธิในกาลก่อน แต่เดี๋ยวนี้ เรารู้ลัทธิอันพระมหาสาวกของสมณโคดมนั้นกล่าวแล้ว ก็แหละ ลิจฉวี ๕๐๐ เหล่านี้ เป็นศิษย์เรา มาประชุมกันแล้ว เราจักไปพร้อมกับลิจฉวีเหล่านั้น แล้วจึงยกวาทะขึ้นต่อพระสมณโคดม ดังนี้ เพราะฉะนั้น สัจจกะเข้าไปหาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้นแล้วพูดว่า ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ข้าพเจ้าจักเจรจาต่อกร กับพระสมณโคดม. ถ้าพระสมณโคดม จักยืนยันอยู่ตามคำที่ภิกษุชื่ออัสสชิผู้เป็นสาวกมีชื่อ ซึ่งเป็นผู้หนึ่งในบรรดาปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ที่ได้พูดแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักใช้วาทะฉุดชักลากวาทะพระสมณโคดมไปมา ให้เหมือนบุรุษผู้มีกำลัง จับแกะตัวมีขนยาวที่ขนแล้ว ฉุดชักลากไปมาฉะนั้น หรือมิฉะนั้น เหมือนคนทำการในโรงสุรา ผู้มีกำลังวางลำแพนสำหรับรองแป้งสุราอันใหญ่ลงในห้วงน้ำอันลึกแล้ว จับที่มุมชักลากไปมา ฉะนั้น

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2011, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๕๓ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ข้าพเจ้าจะคว่ำเคาะงัดวาทะของพระสมณโคดมทิ้งเสีย เหมือนนักเลงสุราผู้มีพละกำลังต้องการจะล้างกะทะสำหรับกลั่นสุรา จับที่หูทั้ง ๒ แล้วคว่ำเคาะงัดกากทิ้ง ฉะนั้น ข้าพเจ้าจักเล่นกีฬาซักป่านจะทำพระสมณโคดมให้เป็นเหมือนเปลือกป่านสำหรับซัก เหมือนช้างที่มีวัยล่วงหกสิบปี หยั่งลงสู่สระโบกขรณีอันลึกเเล้วเล่นกีฬา ชื่อกีฬาซักป่าน ฉะนั้น. ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน ขอเจ้าลิจฉวีทั้งหลายจงไปด้วยกัน วันนี้ข้าพเจ้าจักสนทนากับพระสมณโคดม ดังนี้. ในบรรดาเจ้าลิจฉวีเหล่านั้น บางพวกกล่าวว่า เหตุอะไร พระสมณโคดมจักโต้วาทะของสัจจกะนิคัณฐบุตรได้ ที่แท้สัจจกะนิคัณฐบุตรกลับจะโต้วาทะของพระสมณโคดมเสียอีก. บางพวกกล่าวว่า สัจจกะนิคัณฐบุตรจักโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคเจ้า สัจจกนิครนถ์นั้นเป็นอะไรหรือ เป็นยักษ์ หรือเป็นพระอินทร์ หรือเป็นพระพรหม ที่จักโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ส่วนมนุษย์ตามปกติไม่อาจเพื่อจะโต้วาทะกับพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ ที่แท้พระผู้มีพระภาคเจ้ากลับจะโต้วาทะของสัจจกะนิคัณฐบุตรได้อีก ลำดับนั้น สัจจกะนิคัณฐบุตร อันเจ้าลิจฉวีประมาณห้าร้อยห้อมล้อมไปสู่พระวิหารยอดในป่ามหาวัน.
สมัยนั้น ภิกษุจำนวนมาก จงกรมอยู่ในที่แจ้ง เพื่อบรรเทาถีนมิทธะมีโภชนะอันประณีตเป็นปัจจัย อาบน้ำภายหลังอาหาร ให้ร่างกายได้รับความสบายแล้ว นั่งบำเพ็ญสมณธรรม สัจจกนิคันถบุตรนั้นคิดว่า “พระสมณโคดมอยู่ที่ไหน” จึงเดินไปรอบๆ แล้วเข้าไป เมื่อมองดูเห็นพวกภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร จงกรมอยู่บนจงกรมใหญ่เหมือนช้างป่า จึงได้ไปยังสำนักของภิกษุเหล่านั้น เขาเข้าไปถามเธอว่า “เดี๋ยวนี้พระโคดมอยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าทั้งหลาย ปรารถนาจะเข้าไปเฝ้าพระโคดม” ได้ยินว่า ในกาลนั้นในเวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเข้ามหากรุณาสมาบัติ ทรงแผ่ข่ายคือพระสัพพัญญุตญาณไปในหมื่นจักรวาล เมื่อทรงตรวจดูสัตว์ที่ควรแนะนำให้ตรัสรู้ ทรงเห็นว่า พรุ่งนี้ สัจจกนิคันถบุตร พาเจ้าลิจฉวีบริษัทเป็นจำนวนมาก ประสงค์จักมาโต้วาทะกับเรา ดังนี้ ฉะนั้น ทรงชำระพระวรกายแต่เช้าตรู่ มีภิกษุสงฆ์เป็นบริวารเสด็จเที่ยวบิณฑบาตในกรุงเวสาลี เสด็จกลับจากบิณฑบาตทรงดำริว่า เราจักนั่งในที่สบาย เพื่อจะประทับนั่งในบริษัท มีจำนวนมาก จึงไม่เสด็จเข้าไปพระคันธกุฏี ประทับนั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่งในป่ามหาวัน ภิกษุเหล่านั้นมาแสดงวัตร แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถูกสัจจนิครนถ์ถาม เมื่อจะแสดงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ประทับนั่งแล้วในที่ไกลออกไป ภิกษุทั้งหลายนั้นตอบว่า “นั่นแน่ะ อัคคิเวสสนะ พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จลงสู่ป่ามหาวัน ประทับนั่งพักร้อนอยู่ที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง”

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 พ.ค. 2011, 17:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๕๔ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
สัจจกะพร้อมด้วยเจ้าลิจฉวีหมู่ใหญ่ เข้าไปสู่ป่ามหาวัน ถึงที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่แล้ว ได้ทูลปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแม้เจ้าลิจฉวีทั้งหลายนั้น บางพวกถวายอภิวาทตามอาการของผู้เลื่อมใส บางพวกก็เป็นแต่กล่าววาจาปราศรัยแสดงความยินดี บางพวกเป็นแต่ประคองอัญชลีประณมมือ(มี ๒ ฝ่าย พวกเขาคิดอย่างนี้ว่า ถ้าพวกเป็นมิจฉาทิฏฐิจักท้วงพวกเราว่า ท่านไหว้พระสมณโคดมทำไม พวกเร...าจักบอกแก่เขาเหล่านั้นว่า ไหว้อะไรกันเพียงประนมมือเท่านั้น ถ้าพวกเป็นสัมมาทิฏฐิจักท้วงเราว่า ทำไมท่านไม่ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าเล่า พวกเราจักบอกว่าทำไมการถวายบังคมจะต้องเอาศีรษะจดพื้นเล่า เพียงอัญชลีกรรม ก็เป็นการถวายบังคมมิใช่หรือ) บางพวกก็ร้องประกาศชื่อแลโคตรของตนๆ (ทูลว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ชื่อว่า วาสิฏฐะ ชื่อว่า กัจจายนะ มาในที่นี้แล้ว ชื่อว่าประกาศโคตร. ได้ยินว่า ชนยากจนเหล่านั้นได้ประกาศกระทำอย่างนั้นด้วยคิดว่า เราผู้เป็นบุตรของตระกูลเก่าจักปรากฏ ชื่อและโคตร ในท่ามกลางบริษัท) บางพวกเป็นคนนิ่งเฉยอยู่ (พวกเหล่าใด นั่งนิ่ง พวกเหล่านั้น เป็นคนป่าเถื่อน และอันธพาล บรรดาชนเหล่านั้น คนป่าเถื่อนคิดว่า คนผู้ทำการสนทนากันคำสองคำเป็นผู้คุ้นเคยกัน เมื่อความคุ้นเคยมีอยู่เช่นนั้น จะไม่ถวายภิกษาหนึ่ง สองทัพพี ไม่ควร เพื่อจะให้ตนพ้นจากความคุ้นเคยนั้น จึงพากันนั่งนิ่ง พวกอันธพาล เป็นผู้นั่งนิ่งในที่แห่งใดแห่งหนึ่ง เพราะไม่รู้ เหมือนก้อนดินที่ถูกซัดไปข้างล่าง) ต่างคนก็นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งๆ แล้ว.
สัจจกะนิคัณฐบุตร ผู้นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า “ข้าพเจ้าขอถามปัญหา กะพระโคดมสักหน่อยหนึ่ง ถ้าพระโคดมจะทำโอกาส เพื่อการกล่าวแก้ปัญหาแก่ข้าพเจ้า” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้สัจจกนิครนถ์นั้นเกิดความอุตสาหะในการถามปัญหา
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ท่านประสงค์จะถามข้อใด ก็ถามเถิด ในการตอบปัญหาไม่เป็นภาระหนักอะไรเลยสำหรับเรา”
ส. “พระโคดมแนะนำสั่งสอนสาวกทั้งหลายอย่างไร แลคำสั่งสอนของพระโคดมเป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย มีส่วนอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสแก่สัจจกนิครนถ์นั้นว่า “ผู้เจริญ ท่าน เห็นสาวกกล่าวคำอื่น พระศาสดาตรัสคำอื่น เดิมทีเรากล่าวแล้วมิใช่หรือว่า ‘ถ้าสาวกของพระสมณโคดมยึดหลักการใด พระสมณโคดมจักยึดหลักการนั้น เราก็โต้วาทะอย่างนั้น’ ก็ สัจจกะนี้ ถึงจะกล่าวคำพูดอื่นเท่านั้น เราก็สามารถทำอะไร ก็ได้ ในเพราะคำเหล่านั้น” เมื่อจะตรัสโดยกำหนดที่พระอัสสชิเถระกล่าวแล้วในหนหลังว่า “อัคคิเวสสนะ เราแนะนำสั่งสอนสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเรา เป็นไปมากในสาวกทั้งหลาย มีส่วนอย่างนี้ว่า รูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง รูปไม่ใช่ตัวตน เวทนาไม่ใช่ตัวตน สัญญาไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน วิญญาณไม่ใช่ตัวตน สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่ตัวตน ดังนี้ เราแนะนำสั่งสอนสาวกทั้งหลายอย่างนี้ และคำสั่งสอนของเราเป็นไปมากในสาวกทั้งหลายมีส่วนอย่างนี้แล”
ส. “พระโคดม อุปมา อย่างหนึ่ง ข้าพเจ้า เข้าใจชัดเจน ข้าพเจ้า จะยกอุปมานั้นมา”
พ. “อัคคิเวสสนะ อุปมานั้น จงเข้าใจชัดเจน แก่ท่านเถิด ท่าน ผู้เชื่อมั่นนัก ก็จงนำอุปมานั้นออกมา”

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 พ.ค. 2011, 18:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 พ.ค. 2010, 23:10
โพสต์: 194

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่อง พวกเรามารู้จักพระพุทธเจ้ากันเถอะ! (ต่อครั้งที่แล้ว) ตอนที่ ๕๕ คุณสมบัติ อรหํ (อ่านว่า “อะระหัง”)
เจริญพร
ส. “พระโคดม เหมือนหนึ่งพืชพรรณไม้ทั้งหลาย เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ พืชพรรณไม้ทั้งหลายนั้นทั้งหมดต้องอาศัยแผ่นดิน ตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ หรือมิฉะนั้น เหมือนหนึ่งการงานเหล่าใดเหล่าหนึ่ง มีเกษตรกรรมและพาณิชกรรมเป็นต้น ที่ต้องทำด้วยกำลังแขน ที่บุคคลทำอยู่ การงานเหล่านั้นทั้งหมด บุคคลต้องอาศัยแผ่นดิน ต้องตั้งอยู่ในแผ่นดิน จึงทำได้ฉันใด บุรุษบุคคล ยึดหลักว่ารูปเป็นตัวตน สถิตในรูป...ที่ตนยึดถือว่า ตัวตนมีในรูปนั้น ย่อมได้รับกุศลบุญ หรืออกุศลมิใช่บุญ บุรุษบุคคล ยึดหลักว่าเวทนาเป็นตัวตน สถิตในเวทนาที่ตนยึดถือว่า ตัวตนมีในเวทนานั้น ย่อมได้รับกุศลบุญ หรืออกุศลมิใช่บุญ บุรุษบุคคล ยึดหลักว่าสัญญาเป็นตัวตน สถิตในสัญญาที่ตนยึดถือว่า ตัวตนมีในสัญญานั้น ย่อมได้รับกุศลบุญ หรืออกุศลมิใช่บุญ บุรุษบุคคล ยึดหลักว่าสังขารทั้งหลายเป็นตัวตน สถิตในสังขารทั้งหลายที่ตนยึดถือว่า ตัวตนมีในสังขารทั้งหลายนั้น ย่อมได้รับกุศลบุญ หรืออกุศลมิใช่บุญ บุรุษบุคคล ยึดหลักว่าวิญญาณเป็นตัวตน สถิตในวิญญาณที่ตนยึดถือว่า ตัวตนมีในวิญญาณนั้น ย่อมได้รับกุศลบุญ หรืออกุศลมิใช่บุญ ฉันนั้น”
สัจจกะนิคัณฐบุตรนำอุปมาพร้อมทั้งเหตุที่น่าฟังว่า ปัญจขันธ์เหล่านี้ เป็นที่อยู่อาศัยเหมือนแผ่นดินเป็นที่อยู่อาศัยของหมู่สัตว์เหล่านี้ สัตว์บุคคลเหล่านั้น อาศัยอยู่ในปัญจขันธ์เหล่านี้ ย่อมรวบรวมเอากุศลกรรม แลอกุศลกรรมไว้ ท่านเมื่อปฏิเสธตัวตนซึ่งมีอยู่เห็นๆ ปานนี้ ยังแสดงอยู่ว่า ปัญจขันธ์ไม่ใช่ตัวตน ดังนี้. ก็ข้อที่นิครนถ์นี้นำมาเปรียบ ก็แน่อยู่แล้ว ไม่มีคนอื่นนอกจากพระสัพพัญญูพุทธเจ้าที่ชื่อว่า สามารถ เชือดเฉือนถ้อยกระทงความของนิครนถ์นั้นแล้ว จับผิดในวาทะได้ จริงอยู่ บุคคลมี ๒ จำพวก คือ พุทธเวไนย ๑ สาวกเวไนย ๑ ในสาวกเวไนย พระสาวกแนะนำบ้าง พระพุทธเจ้าทรงแนะนำบ้าง ส่วนในพุทธเวไนย พระสาวกไม่สามารถแนะนำ พระพุทธเจ้าเท่านั้น ทรงแนะนำได้ นิครนถ์ผู้นี้ จัดเป็นพุทธเวไนย เพราะฉะนั้น ไม่มีคนอื่นที่ชื่อว่า สามารถจะเชือดเฉือนวาทะของนิครนถ์นั้นแล้วจับผิดในวาทะนั้นได้ เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงข้อผิดพลาดในวาทะลัทธิของสัจจกนิครนถ์นั้นนั่นเทียว ด้วยพระองค์เอง
พ. อัคคิเวสสนะ ท่านว่าอย่างนั้น ก็สรุปได้ว่า “รูปเป็นตัวตนของเรา เวทนาเป็นตัวของเรา สัญญาเป็นตัวของเรา สังขารทั้งหลาย เป็นตัวของเรา วิญญาณเป็นตัวของเรา” ดังนี้ใช่ไหม
ลำดับนั้น นิครนถ์คิดว่า พระสมณโคดม ให้เรายืนยันวาทะของเราเป็นพิเศษ ถ้าโทษบางอย่าง จักมีในเบื้องบน พระองค์จักข่มแต่เราผู้เดียว เอาเถอะ เราจะซัดวาทะนี้ไปบนศีรษะมหาชน เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า พระโคดมผู้เจริญ ข้าพเจ้าก็กล่าวอย่างนั้น และประชุมชนหมู่ใหญ่นี้ก็กล่าวอย่างนั้น ว่า รูปเป็นตัวตนของเรา เวทนาเป็นตัวของเรา สัญญาเป็นตัวของเรา สังขารทั้งหลาย เป็นตัวของเรา วิญญาณเป็นตัวของเรา ดังนี้.

พระมหาธีระยุทธ ปราชญ์นิวัฒน์


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 126 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7 ... 9  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 0 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร