วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 09:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 19:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วัดสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



วัดสุนันทวนาราม ประกอบด้วยพื้นที่ซึ่งมีสถานะแตกต่างกัน 3 สถานะ คือ
(1) ป่าสงวนแห่งชาติ
(2) อุทยานแห่งชาติศรีนครินทร์
(3) จังหวัดทหารบกกาญจนบุรี


วัดสุนันทวนาราม หรือ วัดป่าสุนันทวนาราม เป็นวัดป่าสำหรับปฏิบัติธรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยมี พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันประกอบด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวน 20 รูป สามเณรจำนวน 2 รูป และคนงานจำนวนประมาณ 10 คน

ปัจจุบันวัดสุนันทวนาราม มีศาลาปฏิบัติธรรม 1 หลัง บรรจุคนได้ประมาณ 150 คน กุฏิสงฆ์ถาวรและชั่วคราวรวม 35 หลัง ที่พักอุบาสกอุบาสิกา 10 หลัง บรรจุคนได้ประมาณ 150 คน มีโรงครัว ห้องน้ำ รวมทั้งชุดปักกลดที่รอง รับผู้ปฏิบัติธรรมประมาณ 200 ชุด และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นตามแนวทางของวัดป่า

ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าไปปฏิบัติธรรม เช่น ข้าราชการตำรวจ ทหาร ข้าราชการฝ่ายปกครองระดับสูง นักเรียน นิสิต นักศึกษา อุบาสก และอุบาสิกา โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา เฉลี่ยจำนวนปีละประมาณ 5,000 คน ชุมชนโดยรอบปริมณฑลวัดส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำพืชไร่ เช่น ไร่อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ละหุ่ง มันสำปะหลัง ฯลฯ

รูปภาพ
อุโบสถ วัดป่าสุนันทวนาราม


ประวัติการสร้าง “วัดสุนันทวนาราม”

ในปี พ.ศ. 2533 นางสุนันท์ บุษสาย คหบดีชาวจังหวัดกาญจนบุรี ผู้ประกอบธุรกิจเหมืองแร่และครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวนมากภายในจังหวัดกาญจนบุรี มีความศรัทธาในปฏิปทาและข้อวัตรอันเคร่งครัดของพระธุดงค์สายวัดป่า (สายหลวงพ่อชา สุภัทโท) ผู้ซึ่งเดินธุดงค์รอนแรมอยู่ในป่าเขาบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี

จึงได้ถวายที่ดินประมาณ 500 ไร่ ซึ่งหมดสภาพป่า และทำไร่อ้อยมาประมาณ 20 ปี ณ บริเวณบ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี เพื่อจัดตั้งวัด ทั้งนี้ เพื่อพระสงฆ์จะได้มีเสนาสนะ และชาวบ้านจะได้มีโอกาสเข้าวัดปฏิบัติธรรมตามแนวทางของพระธุดงค์สายวัดป่า อีกทั้ง เมื่อมีพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเข้าไปพำนักจำพรรษาอยู่ จะสามารถยับยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและการล่าสัตว์ในบริเวณดังกล่าวได้อีกด้วย

พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ผู้ได้บวชบำเพ็ญเพียรมาหลายรูปแบบ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2518 ออกเดินธุดงค์มาแล้วหลายแห่ง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งที่อุดมสมบูรณ์และที่ทุรกันดาร และเป็นผู้ซึ่งอยู่ในคณะผู้บุกเบิกวัดป่านานาชาติ บ้านบุ่งหวาย ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้บุกเบิกก่อตั้งวัด ซึ่งรู้จักกันทั่วไปในชื่อ “วัดป่าสุนันทวนาราม” ในปี พ.ศ. 2533 ด้วยเจตนารมณ์ในการเผยแผ่การปฏิบัติธรรมแก่พุทธศาสนิกชนในละแวกนั้นและละแวกใกล้เคียง ตลอดจน เพื่อให้ราษฎรรู้จักหวงแหนและร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ และสัตว์ป่า ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างวัดป่าให้เป็นวัดป่าอย่างแท้จริง

ด้วยข้อวัตรอันเคร่งครัดและเรียบง่ายของความเป็นพระป่าของพระอาจารย์มิตซูโอะ ทำให้ประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงเข้าวัดปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก

การสถาปนาวัดสุนันทวนารามบนพื้นที่ดังกล่าว เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะสถาบันวัดได้เข้าไปเป็นอุปสรรคต่อการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ ด้วยความเพียรไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคของคณะผู้บุกเบิกนำโดยพระอาจารย์มิตซูโอะ จึงสามารถพัฒนาพื้นดินซึ่งเป็นป่าเสื่อมโทรมด้วยการทำไร่อ้อย จนกระทั่งเป็นพื้นที่ซึ่งเขียวชอุ่มไปด้วยต้นไม้ยืนต้นน้อยใหญ่ มีเสนาสนะอันสมควรแก่วัด ได้แก่ ศาลาปฏิบัติธรรม โรงฉัน และที่พักสำหรับพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ตามสมควร เป็นต้น

รูปภาพ

เนื่องจากพี้นที่ก่อตั้งวัดสุนันทวนารามอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาพระฤาษี และป่าเขาบ่อแร่แปลงที่ 1 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 802 (พ.ศ. 2521) และอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ สำนักสงฆ์วัดป่าสุนันทวนารามจึงขอเข้าร่วมโครงการของกรมป่าไม้ภายใต้ชื่อ “พระสงฆ์ช่วยงานด้านป่าไม้” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2536 เป็นต้นมา

พ.ศ. 2545 กองทัพบกได้ถวายที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ซึ่งติดต่อกับเขตวัดสุนันทวนารามจำนวน 12 ไร่ ให้ใช้เพื่อสร้างวัดได้ และได้ประกาศตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อ “วัดสุนันทวนาราม” เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2545 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2545 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 และแต่งตั้งพระมิตซูโอะ คเวสโก เป็นเจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ในการนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาเสด็จฯ เป็นองค์ประธานประกอบพิธีผูกพัทธสีมา-ฝังลูกนิมิตอุโบสถตามประเพณี ในวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2545 และทรงปลูกต้นสาละเป็นที่ระลึก ณ สวนสาละ บริเวณทางเข้าวัด

วัดสุนันทวนาราม จึงได้สถาปนาเป็นวัดโดยสมบูรณ์แต่นั้นมา และดำรงสถานภาพเป็นวัดสาขาลำดับที่ 117 ของวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันวัดมีพื้นที่ในความรับผิดชอบประมาณ 1,000 ไร่ สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นที่ราบเชิงเขา ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ภูเขาสำคัญ คือ เขารูงู ซึ่งเป็นเทือกเขาสูงประมาณ 800 เมตร จากระดับน้ำทะเล และเขาเหมาะบาง สูงประมาณ 200 เมตร


(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 19:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


..................รูปภาพ
.............รูปภาพ
รูปภาพ

ประวัติการจัดตั้ง “มูลนิธิมายา โคตมี”


• ความเป็นมา •

เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2532 พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก พร้อมลูกศิษย์ที่เป็นพระภิกษุชาวญี่ปุ่นอีกองค์หนึ่งชื่อ พระญาณรโต ได้ออกเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อเดินธุดงค์จากสนามบินนาริตะ ถึง PEACE MEMORIAL PARK เมืองฮิโรชิมา การเดินธุดงค์ครั้งนี้ใช้เวลาทั้งหมด 72 วัน เป็นการเดินทางด้วยเท้ากว่า 1,000 กิโลเมตร ตลอดทางได้โปรดคณะศรัทธาญาติโยมทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่นไปด้วย โทรทัศน์ของญี่ปุ่นติดตามถ่ายภาพทำสารคดีออกอากาศ เป็นการเผยแผ่พุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้อย่างดี รวมการเดินทั้งหมดประมาณ 2 ล้าน 2 แสนก้าว หลังจากนั้นท่านจึงได้อยู่จำพรรษา ณ วัด SHINAGAWA-JI ในกรุงโตเกียว

การเดินธุดงค์ครั้งนี้ พระอาจารย์มิตซูโอะ และพระญาณรโต ตั้งใจเดินเพื่อเป็นการระลึกถึงสันติภาพของโลก และตลอดการเดินธุดงค์นั้นท่านยังคงเคร่งครัดต่อพระวินัยโดยไม่มีการยืดหยุ่น คือการไม่ถือเงิน และการฉันมื้อเดียวด้วยการอาศัยอาหารที่ได้จากการบิณฑบาตหรืออาหารที่มีผู้จัดถวาย นอกจากนั้นพระภิกษุทั้ง 2 รูป ยังได้สมาทานการเดินธุดงค์โดยไม่มีการนั่งรถ นับตั้งแต่สนามบินนาริตะจนถึงเมืองฮิโรชิมา

ดังนั้น ระหว่างการเดินทางท่านได้ประสบและพบเห็นกับสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ท่านหวนระลึกได้ว่าสันติภาพที่แท้จริงจะเกิดขึ้นในโลกได้ ก็ต่อเมื่อชาวโลกทั้งหลายละความเห็นแก่ตัว โดยการให้ทาน 10 ประการ เป็นทานจักร แล้วสังคมของเรา โลกของเราก็จะมีแต่ความสงบ ความร่มเย็น โดยไม่ต้องสงสัย

ในประเทศญี่ปุ่น เด็กๆ และเยาวชนได้รับการปฏิบัติราวกับเป็นสมบัติอันมีค่า เพราะชาวญี่ปุ่นถือว่าเด็กและเยาวชนคือทรัพยากรที่จะเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต และด้วยความปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยมีโอกาสเหมือนเด็กญี่ปุ่นบ้าง พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก จึงได้ปรารภปัญหาดังกล่าวรวมทั้งความประสงค์ในการสงเคราะห์เด็กๆ ของไทยแก่ญาติโยมชาวญี่ปุ่น ซึ่งท่านเหล่านั้นเมื่อได้ฟังแล้วก็ยินดีสนับสนุนในการจัดหาทุนเพื่อโครงการนี้กันอย่างเต็มที่ โดยเริ่มแรกได้ถวายทุนมาเป็นจำนวนเงิน 160,000 บาท

ดังนั้น ในปลายปี พ.ศ. 2532 เมื่อพระอาจารย์มิตซูโอะเดินทางกลับถึงประเทศไทย ท่านจึงได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความดำริของท่านและการสนับสนุนจากสาธุชนชาวญี่ปุ่นให้ศรัทธาญาติโยมชาวไทย อาทิเช่น คุณสิริลักษณ์ รัตนากร, คุณวิชา มหาคุณ, คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และคุณดารณี บุญช่วย ฟัง ท่านทั้ง 4 เห็นดีและสนับสนุนในกุศลเจตนาของพระอาจารย์ และมีความเห็นว่าน่าจะได้ดำเนินการในรูปของมูลนิธิ

ในที่สุดด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย คุณสุขสันต์ จิรจริยาเวช และผู้ช่วยคือ คุณสุกัญญา รัตนนาคินทร์ จึงได้เริ่มจัดตั้งและจดทะเบียนมูลนิธิจนแล้วเสร็จเป็นมูลนิธิมายา โคตมี ในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2533 โดยมีคุณมนูญ เตียนโพธิ์ทอง อนุเคราะห์สถานที่ให้เป็นที่ตั้งของมูลนิธิ

ชื่อของ มูลนิธิ “มายา โคตมี” นั้น มาจากพระนามของ พระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา และ พระนางปชาบดีโคตมี พระน้านาง ซึ่งเป็นพระมารดาเลี้ยงของพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณของพระมารดาทั้ง 2 พระองค์ ที่ได้ทรงทะนุถนอมเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะจนเติบใหญ่ กระทั่งตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตาและคุณประโยชน์อันหาค่ามิได้แก่ชาวโลก ตราบเท่าทุกวันนี้

สำหรับตราสัญญลักษณ์ของมูลนิธินั้น เนื่องจากมูลนิธิมายา โคตมี มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการศึกษาและด้านจริยธรรม แก่เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนในชนบท พระอาจารย์มิตซูโอะ ท่านจึงพิจารณาเห็นสมควรที่จะอัญเชิญ พระรูปของพระพุทธองค์ปางประสูติ ประทับยืนบนดอกบัว เบื้องหน้าของวงล้อแห่งทานจักร 10 ประการ โดยล้อมรอบด้วยวงกลม 2 ชั้น ซึ่งภายในวงกลมด้านบนมีชื่อภาษาไทยว่า “มูลนิธิมายา โคตมี” ด้านล่างเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า “MAYA GOTAMI FOUNDATION” มาเป็นตราสัญญลักษณ์ของมูลนิธิ

ทั้งนี้ เพื่อให้ตราสัญญลักษณ์เป็นนิมิตหมายว่า การที่เราทั้งหลายร่วมมือร่วมใจกันหมุนทานจักร 10 ประการนี้ จะยังผลให้เด็กและเยาวชนในความอุปการะของมูลนิธิฯ ได้เติบโตขึ้นเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาอบรมบ่มนิสัยให้มีความรู้ ความเฉลียวฉลาด มีกิริยามารยาทงดงาม มีจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยคุณธรรม เฉกเช่นเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะ ฉะนั้น

ทานจักร 10 ประการ ประกอบด้วย
1. ให้ทานด้วย ทรัพย์สินเงินทอง
2. ให้ทานด้วย สายตาที่เมตตาปรานี
3. ให้ทานด้วย ใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
4. ให้ทานด้วย วาจาที่ไพเราะน่าฟัง
5. ให้ทานด้วย แรงกายโดยการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น
6. ให้ทานด้วย ใจ โดยยินดีอนุโมทนาเมื่อผู้อื่นทำความดี และเมื่อเขาได้ดี
7. ให้ทานด้วย การให้อาสนะและที่นั่ง
8. ให้ทานด้วย การให้ที่พักอันสะดวกสบาย
9. ให้ทานด้วย การให้อภัย หรืออภัยทาน
10. ให้ทานด้วย ธรรมะ

รูปภาพ

ผู้เริ่มก่อการและกรรมการมูลนิธิ
นางสิริลักษณ์ รัตนากร ประธานกรรมการ
นายวิชา มหาคุณ รองประธานกรรมการ
นางสาวดารณี บุญช่วย กรรมการและเหรัญญิก
นายสุขสันต์ จิรจริยาเวช กรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการมูลนิธิมายา โคตมี
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ประธานกรรมการกิตติมศักดิ์
พลโทหญิงภัทราวรรณ ตระกูลทอง ประธานมูลนิธิ

รองประธาน
คุณศิริศักดิ์ ถิรวัฒนางกูร
คุณสุจิตรา หิรัญพฤกษ์

กรรมการ
คุณเกียรติ วิมลเฉลา
คุณกิตินันท์ อนุพันธ์
คุณจิราพร ทรัพย์ชูงาม
คุณณิชมน เรืองฤทธิ์ราวี
คุณนิศากร วนาพงษ์
คุณพาสินี ถิระธรรม
คุณมยุรี ไตรรัตโนภาส
คุณอดุลย์ ฉันตระกูลโชติ
คุณอุษณีย์ เลิศรุ่งวิเชียร

กรรมการและเหรัญญิก
คุณดารณี บุญช่วย

กรรมการและเลขานุการ
คุณกิ่งแก้ว วิไลวัลย์

ปัจจุบัน มูลนิธิมายา โคตมี ตั้งอยู่เลขที่ 3 ถ.กรุงเทพกรีฑา 20 แยก 7 แขวง/เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ 10250 โทรศัพท์ 02-368-3991 โทรสาร 02-368-3575 Website : http://www.mayagotami.org E-mail Address : mayagotami@gmail.com (ที่ทำการเดียวกันกับมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก)

รูปภาพ

• ศิลปะทอผ้าซาโอริ •

ครั้งเมื่อเกิดภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิในภาคใต้ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 “มูลนิธิมายา โคตมี” ได้จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย ศิลปะการทอผ้าด้วยมือแบบซาโอริ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดพังงา โดยมีเป้าหมายระยะยาวให้ราษฎรผู้ประสบภัยประมาณ 300 ครอบครัวในหมู่บ้านต่างๆ สามารถนำทักษะที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ ไปพัฒนาเป็นอาชีพเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ปัจจุบันโครงการดังกล่าวดำเนินไปด้วยดี มีราษฎรผู้ประสบภัยสนใจเข้าร่วมโครงการอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งสามารถพัฒนาทักษะและคุณภาพในการผลิตงาน มีฝีมือการผ้าทอซาโอริดีขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์จากผ้าทอซาโอริออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อช่วยสนับสนุนโครงการดังกล่าวให้ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อช่วยให้ราษฎรผู้ประสบภัยมีรายได้เลี้ยงตนเองและจุนเจือครอบครัว ทางมูลนิธิฯ จึงขอเรียนเชิญทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือพี่น้องของเรา ด้วยวิธีการดังนี้

* ช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ผ้าทอซาโอริ
* ร่วมเป็นอาสาสมัครประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์
* ร่วมสมทบทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเครื่องทอผ้า
จักรเย็บผ้า และค่าใช้จ่ายในการขยายงานของวัดสุนันทวนาราม

ศิลปะการทอผ้าด้วยมือแบบซาโอริ เป็นการทอผ้ารูปแบบใหม่ของประเทศญี่ปุ่นที่สะท้อนให้เห็นแนวคิด “ความเป็นอิสระ” เพราะผู้ทอทุกคนสามารถเป็นศิลปินที่มีเสรีในการแสดงออกได้อย่างแท้จริง ตาม บุคลิกลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล โดยไม่จำกัดเพศและการศึกษา การทอผ้าซาโอริจึงเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับทุกคน แม้กระทั่งผู้พิการที่บกพร่องทางด้านสติปัญญาก็สามารถสร้างสรรค์ผลงาน ด้วยจินตนาการออกมาจากใจอย่างเป็นอิสระโดยไม่ต้องคำนึงถึงรูปแบบใดๆ ด้วยปรัชญาของการทอผ้าซาโอริ จากการที่ผู้ทอสามารถสร้างงานศิลปะได้อย่างอิสระ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากผ้าทอซาโอริมีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำแบบใคร

นอกจากนี้ การช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ซาโอริของมูลนิธิมายา โคตมี ยังเป็นการให้กำลังใจและสร้างงานและรายได้ รวมถึงโอกาสทางด้านอาชีพแก่พี่น้องผู้ประสบภัย เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไป หากท่านกำลังมองหาของที่ระลึกเพื่อแจกแก่ญาติมิตรในวาระสำคัญต่างๆ หรือกำลังมองหาของขวัญปีใหม่ โปรดให้ “ผลิตภัณฑ์ซาโอริ” ได้เป็น “สื่อแทนน้ำใจ” ของท่านที่มอบให้แก่ญาติมิตรและพี่น้องชาวใต้ในโอกาสเดียวกันด้วย

รูปภาพ


(มีต่อ)

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ประวัติการจัดตั้ง
“มูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก”



• ความเป็นมา •

มูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551 เป็นองค์กรการกุศลที่มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจน สร้างสรรค์ชุมชนของการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ระหว่างชาวบ้าน สัตว์ป่า และธรรมชาติ โดยการใช้ธรรมะเป็นแนวทางแห่งการพัฒนา เบื้องต้นกำหนดพื้นที่เป้าหมายในเขตชุมชนรอบวัดสุนันทวนาราม

นับแต่พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ได้มาบุกเบิกก่อตั้งสำนักสงฆ์ในพื้นที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2532 พระอาจารย์ท่านพบว่าป่ารอบๆ บริเวณวัดยังมีสัตว์ป่าชุกชุมอยู่พอสมควร กล่าวคือ บ่ายวันหนึ่งขณะที่ท่านนั่งพักฉันน้ำปานะอยู่บนศาลาเล็กๆ ที่พักสงฆ์ชั่วคราวเชิงเขา กับพระสงฆ์ชาวต่างชาติอีกสองรูปที่อยู่จำพรรษาด้วยกันในขณะนั้น ปรากฏว่ามีกวางใหญ่ตัวหนึ่งเดินผ่านศาลาเข้ามาและเล็มหญ้าอยู่ใกล้ๆ ขณะนั้นเวลาประมาณ 17.00 นาฬิกา ของวันอาสาฬหบูชาในปีนั้น และในเวลาต่อมาก็ได้พบว่า มีทั้งเก้ง กวาง และเลียงผา มาหากินอยู่บริเวณศาลาอยู่เนื่องๆ พื้นที่ภายในเขต วัดสุนันทวนาราม จึงได้รับการพัฒนาปรับปรุงเป็นป่าสมบูรณ์ขึ้น จากสภาพพื้นที่เสื่อมโทรม และสามารถป้องกันปัญหาไฟป่าได้ดี แต่พระอาจารย์สังเกตุเห็นว่าบริเวณรอบนอกวัด แม้ว่าป่ามีสภาพสมบูรณ์มากขึ้น แต่การล่าสัตว์ป่ากลับมีอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้สัตว์ป่าลดน้อยลง

ดังนั้น ในขณะที่พระอาจารย์ได้ปฏิบัติภารกิจด้านการฝึกอบรมปฏิบัติธรรม พร้อมๆ กับการพัฒนาและแก้ปัญหาภายในวัดไปด้วยนั้น พระอาจารย์ก็ได้แต่คิดคำนึงตลอดมาว่า การทำเรื่องการพัฒนาที่จะประสบผลสำเร็จได้จริงนั้น ควรต้องสร้างโลกที่สมบูรณ์ให้ได้ กล่าวคือ ต้องดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งป่า ดิน น้ำ และสัตว์ป่า ให้อุดมสมบูรณ์ พัฒนาคนในชนบทให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกับทรัพยากรเหล่านี้ได้อย่างกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้โดยอาศัยธรรมะ แนวความคิดนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นที่มาของการก่อตั้งมูลนิธิ ที่คณะศิษยานุศิษย์ได้พร้อมใจกันใช้ชื่อมูลนิธิว่า พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ซึ่งมีสัญลักษณ์เป็น ภาพต้นไม้ สัตว์ คน และพระ ที่แสดงถึง วัตถุประสงค์สำคัญของมูลนิธิ ดังนี้

ต้นไม้ : สภาพทรัพยากรธรรมชาติ คือ ป่า เขา ต้นไม้ ดิน และน้ำที่อุดมสมบูรณ์
สัตว์ : สัตว์ป่าทั้งหลายที่อาศัยอยู่ในป่าอย่างมีความสุขและมีความปลอดภัย
คน : คนในชุมชนมีธรรมะพัฒนาตนเองในการดูแลสัตว์ป่า
ให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างยั่งยืนและมีความสุข
พระ : การอบรมสั่งสอนธรรมะที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคน
ในชุมชนให้มีสัมมาชีพ ดำรงตนอยู่ในมนุษยธรรม

สัญลักษณ์ทั้งสี่ของมูลนิธิจึงเป็น มรรคสมังคี ที่จะทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพชีวิต และทุกอย่างมีความสุข โลกนี้ก็จะเป็นโลกสมบูรณ์

• วัตถุประสงค์ •

(1) ส่งเสริมการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(2) พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนและชุมชน
เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
(3) ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์อื่นๆ
(4) ร่วมมือกับรัฐบาล หน่วยงานราชการ องค์กรชมชน
และองค์กรการกุศลอื่นๆ ในประเทศที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน
(5) ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างไร

• โครงการและกิจกรรม •

รูปภาพ

“อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา”

โครงการเขตอภัยทาน อุทยานการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เป็นโครงการหนึ่งของมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ที่ริเริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในปี พ.ศ. 2553 เพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสปีมหามงคลสมัยทรงมีพระชนมายุครบ 7 รอบ 84 พรรษา โครงการนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์ป่า พรรณพืช เพื่อความสันติสุขอย่างยั่งยืนภายในเขตปฏิบัติธรรมและชุมชนโดยรอบ และเป็นศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนและชุมชน โดยอาศัยหลักธรรมะนำทาง โดยตั้งเป้าหมายคือ ประกาศให้พื้นที่ป่า 6,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ภายในและพื้นที่ชายป่ารอบวัดสุนันทวนารามเป็นเขตอภัยทาน เพื่อป้องกันการบุกรุกป่าผืนใหญ่ โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ และชุมชนรอบวัดสุนันทวนาราม ซึ่งสามารถจำแนกขอบข่ายการทำงานได้ดังนี้

(1) เขตอภัยทาน

* สำรวจจัดทำข้อมูลทรัพยากรและข้อมูลพื้นฐานชุมชน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการจัดการพื้นที่ป่า นำไปสู่การสร้างกติกาการใช้ประโยชน์และการอยู่ร่วมกัน โดยมีชุมชนเป้าหมาย ได้แก่ ชุมชนบ้านท่าเตียน ชุมชนบ้านหนองบาง ชุมชนบ้านท่าทุ่งนา และชุมชนบ้านแม่น้ำน้อย

* ฟื้นฟูสภาพป่าและอนุรักษ์สัตว์ป่าภายในพื้นที่ 6,500 ไร่ ของเขตอภัยทานวัดสุนันทวนารามและพื้นที่โดยรอบ

(2) สนับสนุนเครือข่ายพิทักษ์ป่า

* เสริมประสิทธิภาพการทำงานเครือข่ายพิทักษ์ป่า โดยการสนับสนุนเสบียง ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เปล มุ้ง วิทยุสื่อสาร ฯลฯ

* อุทยานการศึกษา

* เผยแผ่ข้อมูลความรู้สู่ชีวิตพอเพียงวิถีพุทธ โดยหลักกสิกรรมธรรมชาติ ได้แก่ สวนสมุนไพรพื้นบ้าน สวนกล้วย สวนไผ่ สวนป่า 76 จังหวัด แปลงไม้มงคล สวนไม้หอม ฯลฯ

* จัดกิจกรรมปลูกป่าสร้างเครือข่ายจิตอาสา “เด็ก วัด ป่า”, ค่ายผู้นำเยาวชน “เด็ก วัด ป่า” และกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรูปแบบต่างๆ

รูปภาพ

“สนับสนุนเครือข่ายพิทักษ์ป่า”

โครงการสนับสนุนเครือข่ายพิทักษ์ป่า ได้สนับสนุนด้านเสบียง ยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ เช่น เปล มุ้ง วิทยุสื่อสาร ฯลฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลาดตระเวนพื้นที่ป่าแก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครพิทักษ์ป่า

รูปภาพ

“เด็ก วัด ป่า”

โครงการ “เด็ก วัด ป่า” คือ นิยามของผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้อาศัยหรือเคยอยู่อาศัยในวัดป่า ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายอยู่กับธรรมชาติ รับใช้ครูบาอาจารย์ ได้รับการอบรมจากพระสงฆ์ สามารถน้อมนำหลักธรรมคำสอนมาพัฒนาตนเอง ใช้ชีวิตด้วยสติปัญญา เป็นแบบอย่างชีวิตพอเพียงวิถีพุทธ มีจิตอาสาที่จะร่วมเป็นพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาสังคม

เด็ก : คือสัญลักษณ์ของการพัฒนาและการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ
วัด : คือสถานที่สงบสุขและสันติ เป็นอารามพักอาศัยของพระสงฆ์
ป่า : คือสัญลักษณ์ของธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่เกิดอันอุดมของมวลสรรพสิ่ง
พ่อแม่ครูอาจารย์ได้อาศัยความสงบสงัดของป่า เจริญภาวนาพัฒนาตน
จนเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงทุกสิ่งบนโลกนี้

“เด็ก วัด (ป่า)” คือผู้ที่ได้อาศัยอยู่ในอาราม ภายใต้การดูแลและอบรมขัดเกลาแห่งสงฆ์ อาศัยอาหารจากบิณฑบาต มีหน้าที่พัฒนาตนเองและดูแลรับใช้ครูบาอาจารย์

“(เด็ก) วัด ป่า” คืออารามท่ามกลางธรรมชาติป่าเขา เป็นที่พักพิงของพระเพื่อหลีกเร้นฝึกปฏิบัติตน เจริญภาวนา มีวิถีปฏิบัติเรียบง่ายดีงามตามพระวินัยสืบทอดแบบอย่างจากครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด

หน้าที่ของ “เด็ก วัด ป่า” (DEK WAT PAH) คือการมีหน้าที่ต่อตนเอง พ่อแม่ครูอาจารย์ และธรรมชาติ

* พัฒนาฝึกฝนตนเองให้มีหลักใจ คือศีล 5 เป็นเครื่องรักษาตนและน้อมนำหลักธรรมของพระอาจารย์ “อดได้ ทนได้ รอได้ ด้วยใจดี” เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

* อาสารับใช้พ่อแม่ครูอาจารย์ ดูแลรักษาป่าและสรรพสิ่งทั้งผองของธรรมชาติ ทั้งภายในเขตอภัยทานวัดสุนันทวนาราม และบนโลกนี้ให้คงความสมบูรณ์ สงบ สะอาด งดงาม

* ใช้ชีวิตด้วยสติปัญญา เป็นแบบอย่างชีวิตพอเพียงวิถีพุทธ และช่วยกันเผยแผ่วิถีชีวิต “เด็ก วัด ป่า” เป็นพลังเครือข่ายพัฒนาตนเอง สังคม และเพื่อนมนุษย์ ร่วมสร้างวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงามเพื่อเป็นต้นแบบ “เด็ก วัด ป่า” ถวายเป็นอาจาริยบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้เลิศคุณ

ปัจจุบัน มูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ตั้งอยู่เลขที่ 3 ถ.กรุงเทพกรีฑา 20 แยก 7 แขวง/เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ 10250 โทรศัพท์ 02-368-3991 โทรสาร 02-368-3575 Website : http://www.praajahn-mitsuo.org E-mail Address : pamgfoundation@gmail.com (ที่ทำการเดียวกันกับมูลนิธิมูลนิธิมายา โคตมี)

รูปภาพ



.............................................................

♥ รวบรวมและเรียบเรียงมาจาก ::
http://www.watpahsunan.org/
♥ ขอกราบขอบพระคุณที่มาของรูปภาพทุกแหล่ง

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

แผนที่เดินทางไปวัดสุนันทวนาราม
เลขที่ 110 หมู่ 8 บ้านท่าเตียน
ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี 71150
โทรศัพท์ 087-045-7232, 034-546-635
E-mail Address :
watsunan@hotmail.com
Website : http://www.watpahsunan.org



ปากทางเข้าวัดอยู่หลักกม.ที่ 90 ของทางหลวงหมายเลข 323
ช่วงอำเภอไทรโยค-อำเภอทองผาภูมิ


- ระยะทางจากกรุงเทพฯ ถึงวัดประมาณ 220 กิโลเมตร
- จากตัวเมืองกาญจนบุรี ถึงน้ำตกไทรโยคน้อยประมาณ 60 กิโลเมตร
- จากน้ำตกไทรโยคน้อย ถึงปากทางเข้าวัดประมาณ 47 กิโลเมตร
- จากปากทาง ถึงวัดประมาณ 3 กิโลเมตร

การเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง
จากกรุงเทพฯ ไปวัดสุนันทวนาราม


- ขึ้นรถทัวร์ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ที่สถานีขนส่งสายใต้ใหม่
ต่อรถทัวร์ กาญจนบุรี-อ.ทองผาภูมิ ที่สถานีขนส่ง จ.กาญจนบุรี
ไปลงหลักกิโลเมตรที่ 90 (ปากทางเข้าวัดสุนันทวนาราม)

- รถตู้จากหน้าโรงแรมรอยัล มุมถนนราชดำเนิน
เชื่อมติดต่อจากท้องสนามหลวง ไปสถานีขนส่ง จ.กาญจนบุรี

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 พ.ค. 2009, 23:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

แผนที่แสดงที่ตั้งมูลนิธิมายา โคตมี
และมูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก

เลขที่ 3 ถนนกรุงเทพกรีฑา 20 แยก 7
แขวงสะพานสูง เขตสะพานสูง กรุงเทพฯ 10240
โทรศัพท์ 02-368-3991, 085-662-5490
โทรสาร 02-368-3575


มูลนิธิมายา โคตมี
E-mail Address :
mayagotami@gmail.com
Website : http://www.mayagotami.org

มูลนิธิพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
E-mail Address :
pamgfoundation@gmail.com
Website : http://www.praajahn-mitsuo.org



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอน “พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=38514

ประมวลภาพ “พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39056

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 18:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ก.ค. 2008, 15:51
โพสต์: 334

งานอดิเรก: ชอบเรื่องพลังงาน
สิ่งที่ชื่นชอบ: มิลินทปัญหา
ชื่อเล่น: อมร
อายุ: 63
ที่อยู่: 138 หมู่ที่ 1 ต.โนนคูณ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 36180

 ข้อมูลส่วนตัว www


ท่าน webmaster ผมเห็นภาพอุโบสถ ที่มีคำว่าพระอุโบสถ ผมถามว่าเป็นวัดหลวงหรือยัง ถ้าเป็นพระอารามหลวงจึงสามารถใช้คำว่า พระอุโบสถ ได้

ขออนุโมทนาในกุศลจิตที่ท่านนำมาให้คนทั้งหลายได้ทราบวัดในป่า

.....................................................
ทำบุญตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาทำบุญอุทิศหา รักษาศีลตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาเคาะโลงลุกขึ่นมารักษาศีล เข้าวัดตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาหามเข้าแล้วเผาเลย ฮิฮิฮิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2009, 07:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: :b8: :b8: ขอกราบขอบพระคุณ
ท่าน tanaphomcinta สำหรับคำท้วงติงเจ้าค่ะ

tanaphomcinta เขียน:
ท่าน webmaster ผมเห็นภาพอุโบสถ ที่มีคำว่าพระอุโบสถ ผมถามว่าเป็นวัดหลวงหรือยัง

วัดป่าสุนันทวนาราม เป็น “วัดราษฎร์” เจ้าค่ะ

ร่วมกันศึกษา....พระอารามหลวง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19072

tanaphomcinta เขียน:
ถ้าเป็นพระอารามหลวงจึงสามารถใช้คำว่า พระอุโบสถ ได้

พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุดคำวัด โดย พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ. ๙, ราชบัณฑิต) วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. ๒๕๔๘, หน้า ๘๗๐ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า

ถาวรวัตถุภายใน “พระอารามหลวง” หรือ “วัดหลวง” ที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่น อุโบสถ วิหาร ระเบียง มณฑป ให้เติมคำว่า “พระ” นำหน้าด้วย เป็น พระอุโบสถ พระวิหาร พระระเบียง พระมณฑป


ตามพจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุดคำวัด ดังกล่าว รวมทั้ง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้ให้ความหมาย “อุโบสถ” ไว้ดังนี้

อุโบสถ (อ่านว่า อุ-โบ-สด) ถือเป็นอาคารที่สำคัญภายในวัด เนื่องจากเป็นสถานที่ที่พระภิกษุสงฆ์ใช้ทำสังฆกรรม ซึ่งแต่เดิมในการทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์จะใช้เพียงพื้นที่โล่งๆ ที่กำหนดขอบเขตพื้นที่สังฆกรรมโดยการกำหนดตำแหน่ง “สีมา” เท่านั้น แต่ในปัจจุบันจากการมีผู้บวชมากขึ้น อีกทั้งภายในอุโบสถมักประดิษฐานพระประธานที่เป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญๆ ทำให้มีผู้มาสักการบูชาและร่วมทำบุญเป็นจำนวนมาก อุโบสถจึงถูกสร้างขึ้นเป็นอาคารถาวรและมักมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

และยังมีอีกมีหลายความหมาย คือ หมายถึง

- สถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมทำสังฆกรรมตามพระวินัย เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า โบสถ์

- การเข้าจำ คือการรักษาศีล ๘ ของอุบาสก อุบาสิกา ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เรียกว่า รักษาอุโบสถ และ รักษาอุโบสถศีล

- วันพระหรือวันฟังธรรมของคฤหัสถ์ ในวันขึ้นและแรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งเป็นวันที่คฤหัสถ์รักษาอุโบสถกัน เรียกว่า วันอุโบสถ

- วันที่พระสงค์ลงฟังพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือน เรียกว่า วันอุโบสถ

- การสวดพระปาติโมกข์ทุกกึ่งเดือนหรือทุกวันอุโบสถของพระสงฆ์ เรียกว่า การทำอุโบสถ

นอกจากนี้ พจนานุกรมฯ ดังกล่าว ได้ให้ความหมาย “โบสถ์” ไว้ดังนี้

โบสถ์ หมายถึง สถานที่สำหรับพระสงฆ์ใช้ประชุมกันทำสังฆกรรมตามพระวินัย เช่น สวดพระปาติโมกข์ ให้อุปสมบท มีสีมาเป็นเครื่องบอกเขต เรียกตามคำวัดว่า อุโบสถาคาร บ้าง อุโบสถัคคะ บ้าง แต่เรียกโดยทั่วไปว่า โบสถ์ คำว่า โบสถ์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะในพระพุทธศาสนา โบสถ์ เรียกเต็มคำว่า อุโบสถ หรือ โรงอุโบสถ ถ้าเป็นของ “พระอารามหลวง” เรียกว่า “พระอุโบสถ” บางถิ่นเรียกว่า สีมา หรือ สิม

โบสถ์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า เป็นเขตแดนที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่สงฆ์เป็นพิเศษ เรียกว่า วิสุงคามสีมา ซึ่งที่ที่พระราชทานแล้วจะมีเครื่องหมายเป็นเครื่องบอกเขต เครื่องหมายนี้เรียกว่า “นิมิต” การที่จะเป็นโบสถ์ที่ถูกต้องตามพระวินัยนั้น จะต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาก่อน แล้วพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันสวดถอนพื้นที่ทั้งหมดในเขตสีมานั้น เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่เป็นสีมาเก่า เรียกว่า “ถอนสีมา” หลังจากนั้นจึงสวดประกาศให้พื้นที่นั้นเป็นสีมา เรียกว่า “ผูกสีมา” หรือ “ผูกพัทธสีมา” ทำดังนี้จึงจะเป็นสีมาหรือเป็นอุโบสถถูกต้องตามพระวินัย

:b12: :b1: ท่าน tanaphomcinta ขอปรึกษาเจ้าค่ะ

ปัจจุบัน คำว่า “พระอุโบสถ” “อุโบสถ” และ “โบสถ์”
ชาวพุทธคนไทยส่วนใหญ่ เข้าใจว่าเหมือนกัน ไม่น่าจะมีความหมายแตกต่างกัน
ที่สำคัญ !! นำมาใช้แทนกันได้ เอ๊ !! แบบนี้จะทำอย่างไรดีเจ้าค่ะ

แม้แต่ตัวเอง แม้พอทราบว่า
“พระอุโบสถ” ใช้เรียกกันเฉพาะใน “พระอารามหลวง”
แต่ก็ยังชอบเรียก อุโบสถ ใน “วัดราษฎร์” ทั่วไป ว่า “พระอุโบสถ”
ประมาณว่า เป็นการให้เกียรติและยกย่องสถานที่เจ้าค่ะ

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2009, 08:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ก.ค. 2008, 15:51
โพสต์: 334

งานอดิเรก: ชอบเรื่องพลังงาน
สิ่งที่ชื่นชอบ: มิลินทปัญหา
ชื่อเล่น: อมร
อายุ: 63
ที่อยู่: 138 หมู่ที่ 1 ต.โนนคูณ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 36180

 ข้อมูลส่วนตัว www


webmaster เขียน:
:b12: :b1: ท่าน tanaphomcinta ขอปรึกษาเจ้าค่ะ

ปัจจุบัน คำว่า “พระอุโบสถ” “อุโบสถ” และ “โบสถ์”
ชาวพุทธคนไทยส่วนใหญ่ เข้าใจว่าเหมือนกัน ไม่น่าจะมีความหมายแตกต่างกัน
ที่สำคัญ !! นำมาใช้แทนกันได้ เอ๊ !! แบบนี้จะทำอย่างไรดีเจ้าค่ะ

แม้แต่ตัวเอง แม้พอทราบว่า
“พระอุโบสถ” ใช้เรียกกันเฉพาะใน “พระอารามหลวง”
แต่ก็ยังชอบเรียก อุโบสถ ใน “วัดราษฎร์” ทั่วไป ว่า “พระอุโบสถ”
ประมาณว่า เป็นการให้เกียรติและยกย่องสถานที่เจ้าค่ะ

ที่คุณว่านั้นมันก็ใช่

ก็เหมือนกับการรับประทานอาหารนั้นแหละก็อาการเดียวกันหมด คือทำให้อิ่มท้อง

แต่ทำไมต้องเรียกไม่เหมือนกัน /รับประทาน/กิน/ทานข้าว/และเสวย/ฯลฯ

ก็ทำไมไม่ว่าให้เหมือนกันไปหมด ฉันใดก็ฉันนั้น

วัดก็มีหลายอย่าง /สำนักสงฆ์ /ที่พักสงฆ์ /วัดราษฎร์/วัดหลวงหรือพระอารามหลวง

มันก็มีความมายแตกต่างกัน หรืออีกอย่างก็ได้ /เด็กชายมี/น้องมี/นายมี/น่ามี/ลุงมี/พ่อใหญ่มี/ตามี/ปู่มี/

คนเดียวกันไหม เรียกว่ามันอยู่ที่ฐานะชั้นก็ว่าได้ แต่อย่างไรก็ตามมันก็ไม่ผิดมากตามความรู้สึก

แต่ถ้าราชการก็ถือว่าผิดมากด้วย ไม่รู้กาลเทศะ เรียกไม่ถูกต้องตามฐานะของตนฯ

.....................................................
ทำบุญตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาทำบุญอุทิศหา รักษาศีลตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาเคาะโลงลุกขึ่นมารักษาศีล เข้าวัดตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ ดีกว่าตายแล้วให้เขาหามเข้าแล้วเผาเลย ฮิฮิฮิ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2009, 09:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 1
สมาชิก ระดับ 1
ลงทะเบียนเมื่อ: 26 ม.ค. 2009, 14:49
โพสต์: 26


 ข้อมูลส่วนตัว


เป็นสถานที่ที่น่าไปปฏิบัติมากครับ ร่มรื่น และพระอาจารย์ก็ใจดีมากด้วย


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 มิ.ย. 2009, 10:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 15:36
โพสต์: 435

ที่อยู่: malaysia

 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุค่ะ ท่านเวปมาสเตอร์
ด้วยความเคารพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 มิ.ย. 2009, 21:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มี.ค. 2009, 20:48
โพสต์: 745


 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ

.....................................................
“เวลาทำสมาธิ ให้ระลึกลมหายใจเข้าออก ให้รู้ลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องบังคับลมหายใจ ตามรู้ลมหายใจเข้าออก สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ สงบก็ไม่ยินดี ไม่สงบก็ไม่ยินร้าย ไม่เอาทั้งสงบและไม่สงบ เอาแค่รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมปัจจุบันนั้น”

ธรรมเหล่านี้เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด
เป็นไปเพื่อไม่ประกอบสัตว์ไว้
เป็นไปเพื่อไม่สั่งสมกิเลส
เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย
เป็นไปเพื่อสันโดษ
เป็นไปเพื่อความสงัดจากหมู่คณะ
เป็นไปเพื่อปรารภความเพียร
เป็นไปเพื่อความเป็นคนเลี้ยงง่าย


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 11 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร