วันเวลาปัจจุบัน 15 ก.ย. 2024, 21:10  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2008, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
จารึกวัดโพธิ์บนศาลาราย


“จารึกวัดโพธิ์” ภูมิปัญญาไทยน่าทึ่ง
“มรดกความทรงจำแห่งโลก” สิ่งใหม่ของไทย


“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร” หรือ “วัดโพธิ์” เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า “วัดโพธาราม” เป็นวัดโบราณเก่าแก่ที่ราษฎรสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แม้ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นหลังจากปี พ.ศ.๒๒๓๑ ในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชาต่อกับรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็กอยู่ในเขตตำบลบางกอก ปากน้ำเจ้าพระยา เมืองธนบุรี ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดโพธิ์” มาจนทุกวันนี้

มาในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนาเมืองธนบุรีเป็นนครหลวง ได้ทรงกำหนดเขตเมืองหลวงทั้งสองฝั่ง มีแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ในเขตกลางเมืองหลวง วัดโพธารามตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาจึงอยู่ในเขตพระมหานคร และได้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีพระราชาคณะปกครองตั้งแต่นั้นมา

จนกระทั่งในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ องค์ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ขึ้นเสวยราชสมบัติ และได้ย้ายเมืองหลวงมายังฝั่งพระนคร มีการสร้างพระบรมมหาราชวังขึ้นใหม่ จึงทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธารามที่อยู่ในบริเวณเดียวกันไปด้วย โดยได้รวบรวมช่างฝีมือเยี่ยมมาร่วมสร้างจนวิจิตรงดงามบริบูรณ์ด้วยศิลปะอันประณีตทั้งสิ้น และภายหลังวัดแห่งนี้ก็ได้ถือว่าเป็นพระอารามหลวงประจำรัชกาลที่ ๑

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ ครั้งใหญ่อีกครั้ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ชึ่งสมควรจะเล่าเรียนเป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข โดยใช้ของเดิมบ้าง หรือประชุมปราชญ์ผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ ให้แต่งขึ้นใหม่บ้าง

รูปภาพ
จารึกวัดโพธิ์ติดอยู่บนเสาพระระเบียงชั้นในรอบๆ พระอุโบสถ

รูปภาพ
จารึกเกี่ยวกับจุดต่างๆ บนร่างกายมนุษย์


ในส่วนของ “จารึกวัดโพธิ์” นั้น ได้เริ่มมีขึ้นในช่วงการบูรณปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการบูรณะในครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงมีพระราชประสงค์ให้พระอารามแห่งนี้เป็น “มหาวิทยาลัย” สำหรับประชาชนทั่วไป พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำเอาองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทยและสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ เช่น ตำราการแพทย์ โบราณคดี และวรรณกรรม โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนทั้งหลาย ฯลฯ มาจารึกลงบนแผ่นหินอ่อนจำนวน ๑,๓๖๐ แผ่น ประดับไว้ตามบริเวณผนัง-เสาพระระเบียงรอบพระอุโบสถ พระวิหาร พระวิหารคด และศาลารายรอบพระมณฑปภายในวัด

ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในคำนำหนังสือ ‘ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน’ ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณ พ.ศ.๒๔๖๒ ว่า “.....ในการที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ มีพระราชประสงค์พิเศษอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งจะให้เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชนไม่เลือกชั้นบรรดาศักดิ์ ถ้าจะเรียกอย่างทุกวันนี้ ก็คือจะให้เป็นมหาวิทยาลัย เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการพิมพ์หนังสือไทย การเล่าเรียนส่วนสามัญศึกษาที่มี เรียนอยู่ตามวัดทั่วไป แต่ส่วนวิสามัญศึกษาอันจะเป็นวิชาอาชีพของคนทั้งหลายยังศึกษาได้แต่ในสกุล ผู้อยู่นอกสกุลโดยเฉพาะที่เป็นพลเมืองสามัญไม่มีโอกาสที่จะเรียนได้ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมเลือกสรรตำรับตำราต่างๆ ซึ่งสมควรจะ เล่าเรียนเป็นชั้นสามัญศึกษามาตรวจตราแก้ไข ใช้ของเดิมบ้าง หรือประชุมผู้รู้หลักในวิชานั้นๆ โดยมาก เพื่อคนทั้งหลายไม่เลือกว่าตระกูลชั้นใดๆ ใครมีใจรักวิชาอย่างใด ก็ให้สามารถเล่าเรียนได้จากศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีหลายอย่าง ทั้งเป็นความรู้ส่วนวรรณคดี โบราณคดี และ ศัสตราคมต่างๆ เป็นอันมาก และได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ศึกษา.....”

ศิลาจารึกทั้งหมดในวัดโพธิ์จาก หนังสือ ‘ประชุมจารึกพระเชตุพน’ (คณะสงฆ์วัดพระเชตุพนจัดพิมพ์เป็นที่ระลึกสมโภชหิรัญบัฏและฉลองอายุวัฒนมงคล ๘๕ ปี พระธรรมปัญญาบดี พ.ศ.๒๕๔๔) เมื่อแบ่งประเภทออกแล้วก็นับได้หลายหมวดด้วยกัน ดังนี้

หมวดประวัติ ได้แก่ จารึกเรื่องทรงสร้างวัดพระเชตุพน ครั้งรัชกาลที่ ๑, จารึกครั้งรัชกาลที่ ๑ จดหมายเหตุเรื่องว่าด้วยพระบรมธาตุมาแต่เมืองน่าน, การปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนถอดจากโคลงดั้นฯ, พระพุทธเทวปฏิมากร, พระพุทธโลกนาถ, พระพุทธมารวิชัย, พระพุทธชินราช, พระพุทธชินศรี, พระพุทธปาลิไลย, พระพุทธศาสดา, พระพุทธไสยาสน์, รายการแบ่งด้าน ปฏิสังขรณ์ถอดจากโคลงดั้นฯ, โคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพน (พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส) และโคลงบอกด้านการปฏิสังขรณ์

รูปภาพ
ดูภาพจิตรกรรมฝาผนังควบคู่กับการอ่านจารึก

รูปภาพ
แผ่นจารึกรูปร่างสวยงามพบเห็นได้ทั่วไป
ในวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)



หมวดพระพุทธศาสนา ได้แก่ จารึกเรื่องพระสาวกเอตทัคคะ ๔๑ องค์ ติดไว้ที่เชิงผนังหน้าต่างระหว่างพระอุโบสถ เนื้อหาอธิบายถึงประวัติของพระเถระแต่ละรูป เหตุที่ออกบวช และคุณสมบัติพิเศษที่ได้รับการยกย่องไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะของพระเถระแต่ละองค์ เช่น พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอัญญาโกณฑัญญะ ฯลฯ, จารึกเรื่องพระสาวิกาเอตทัคคะ ๑๓ องค์ ที่อยู่เชิงผนังหน้าต่างพระวิหารพระพุทธไสยาสน์, จารึกเรื่องอุบาสกเอตทัคคะ ๑๐ คน, จารึกเรื่องอุบาสิกาเอตทัคคะ ๑๐ คน, จารึกเรื่องอสุภ ๑๐ และญาณ ๑๐, จารึกเรื่องฎีกาพาหุง ๘ บท, จารึกเรื่องพระพุทธบาท, จารึกเรื่องธุดงค์ ๑๓, จารึกเรื่องพาหิรนิทาน, จารึกเรื่องอรรถกถาชาดก, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๓, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๔, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๐, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๒, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๓, จารึกเรื่องศาลารายหลังที่ ๑๖, จารึกเรื่องศาลาการเปรียญ, จารึกเรื่องเวสสันดรชาดก, จารึกเรื่องมหาวงษ์, จารึกเรื่องนิรยกถา และจารึกเรื่องเปรตกถา

หมวดวรรณคดี ได้แก่ จารึกเรื่องรามเกียรติ์, จารึกนิทานสิบสองเหลี่ยม ที่จารึกไว้ที่คอสอง เฉลียงศาลาล้อมพระมณฑปทิศตะวันตก (ปัจจุบันศาลาแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์เก็บของมีค่าของวัด), จารึกตำราฉันท์วรรณพฤติ, จารึกตำราฉันท์มาตราพฤติ, จารึกเพลงยาวกลบทและกลอักษร, จารึกโคลงกลบท ที่ติดอยู่ตามพระระเบียงของพระอุโบสถ และจารึกโคลงภาพเรื่องรามเกียรติ์ ที่เป็นแผ่นหินอ่อนอยู่รอบพระอุโบสถ

รูปภาพ
รูปสลักหินฤาษีดัดตน
จากเดิม ๘๐ ท่า ปัจจุบันเหลืออยู่ ๒๔ ท่า



หมวดทำเนียบ ได้แก่ จารึกทำเนียบตราตำแหน่งสมณศักดิ์, จารึกทำเนียบหัวเมืองขึ้นของกรุงสยามและผู้ครองเมือง และจารึกโคลงภาพคนต่างภาษา จารึกอยู่ตามผนังเฉลียงสกัดศาลารายรอบวัด เพื่ออธิบายลักษณะ อุปนิสัย บ้านเมืองชาวต่างประเทศที่ชาวสยามคุ้นเคย

หมวดประเพณี ได้แก่ จารึกเรื่องรามัญหุงข้าวทิพย์, จารึกเรื่องมหาสงกรานต์, จารึกเกี่ยวกับริ้วกระบวนแห่พระกฐินพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นต้น หมวดสุภาษิต ได้แก่ จารึกฉันท์กฤษณาสอนน้อง อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์หลังเหนือ, จารึกฉันท์พาลีสอนน้อง อยู่ที่ผนังด้านในศาลาหน้าพระมหาเจดีย์ทิศใต้, จารึกสุภาษิตพระร่วง, จารึกฉันท์อัษฎาพานร และจารึกโคลงโลกนิติ มีจำนวน ๔๒๐ บทด้วยกัน อยู่ที่ผนังด้านนอกศาลาทิศพระมณฑป หมวดอนามัย ได้แก่ จารึกโคลงภาพฤาษีดัดตน เป็นท่าดัดตนทั้ง ๘๐ ท่าที่จะแก้การปวดเมื่อยของอวัยวะต่างๆ และจารึกอาธิไท้โพธิบาทว์ เป็นต้น

รวมทั้ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปั้นรูปสลักหินฤาษีดัดตน ในท่าต่างๆ จำนวนทั้งหมด ๘๐ ท่า สำหรับอธิบายประกอบตำรับตำรา

รูปภาพ
จารึกเกี่ยวกับโคลง กลอน ฉันท์ต่างๆ


การบูรณปฏิสังขรณ์วัดโพธิ์ครั้งใหญ่ในครั้งนั้น ใช้เวลาไปถึง ๑๖ ปี ๗ เดือน จึงแล้วเสร็จ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้วัดโพธิ์ได้ชื่อว่าเป็น “มหาวิทยาลัย” เท่านั้น แต่ยังทำให้วัดโพธิ์ในตอนนั้นดูงดงามจนกวีเอกอย่าง “สุนทรภู่” ถึงกับเอ่ยชมออกมาเป็นบทกลอนว่า “...เห็นวัดโพธิ์โสภาสถาพร สง่างอนงามพริ้งทุกสิ่งอัน โอ้วัดโพธิ์เป็นวัดกษัตริย์สร้าง ไม่โรยร้างรุ่งเรืองดังเมืองสวรรค์...” เรียกได้ว่าพระองค์ทรงพัฒนาวัดนี้ในทุกด้านอย่างไม่ขาดตกบกพร่องเลยทีเดียว ซึ่งในรัชกาลต่อมาๆ จนถึงรัชกาลปัจจุบัน ก็ได้โปรดให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญมาตลอดทุกรัชกาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

จารึกทั้งหมดนี้จึงเป็นความรู้ด้านศาสนา วิชาการวรรณคดี โบราณคดี การแพทย์ ประวัติศาสตร์ และอีกหลายสาขา ซึ่งทรงมุ่งหวังให้ยั่งยืนและเผยแพร่ให้ประชาชนศึกษาได้อย่างเสรี เป็นแหล่งเล่าเรียนวิชาความรู้ของมหาชน โดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ ยศถาบรรดาศักดิ์ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีหนังสือ ไม่มีโรงเรียน การเล่าเรียนส่วนใหญ่จะมีสอนให้อยู่ตามวัดต่างๆ หรือตามบ้านผู้ดีมีสกุลเท่านั้น พระอารามแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทย เพิ่มเติมจากการเล่าเรียนวิชาสามัญศึกษาที่มีอยู่ตามวัดทั่วไป แม้ว่าเวลาจะผ่านไปกว่า ๑๗๘ ปี วัดโพธิ์ก็ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้สรรพวิทยา เห็นได้จากความรู้เกี่ยวกับโยคะศาสตร์และตำราการนวดแผนโบราณวัดโพธิ์ เป็นที่รู้จักแพร่หลายออกไปทั่วโลกในปัจจุบัน

รูปภาพ
จารึกโคลงกลอักษร “โคลงรวงผึ้ง”


ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย โดยคุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ประธานคณะกรรมการฯ จึงได้เสนอต่อคณะกรรมการองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ องค์การยูเนสโก (UNESCO) จนกระทั่งมีมติรับรองให้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นเอกสาร “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) ประจำปี พ.ศ.๒๕๕๒ ในส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หลังจากที่คณะกรรมการแห่งชาติฯ ได้มีการเสนอต่อคณะกรรมการองค์การยูเนสโก ไปเมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งได้มีการรับรองแล้วในที่ประชุมใหญ่องค์การยูเนสโก ประเทศออสเตรเลีย

ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกวิเคราะห์แล้วเห็นว่า จารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ไม่ได้ให้ผลกระทบต่อหลายประเทศในโลก แต่มีความสำคัญควรได้รับการขึ้นทะเบียนในระดับภูมิภาค เนื่องจากองค์ความรู้ในสรรพศิลปวิทยาการต่างๆ ของจารึกดังกล่าวมีความสำคัญระดับสากล และมีวิชาหลากหลายที่เป็นสากลด้วย โดยเฉพาะเรื่องการแพทย์แผนโบราณ การบริหารกายเพื่อบำบัดโรค เช่น ตำราแพทย์ วิชาฤาษีดัดตน เป็นต้น

รูปภาพ
โคลงกลอักษร “กลโคลงพรหมภักตร์”


คำว่า “มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) คือ มรดกเอกสารที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร (Documentary Heritage) ที่เกี่ยวกับมรดกวัฒนธรรมแห่งโลก แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบ และผลงานของสังคมมนุษย์ เป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีตให้แก่สังคมปัจจุบัน ที่จะสืบสานส่งต่อให้แก่สังคมในอนาคต

“มรดกความทรงจำแห่งโลก” (Memory of the World) นี้จะแตกต่างจาก “มรดกโลก” (World Heritage) ที่เรารู้จักกันดี ตรงที่ “มรดกโลก” นั้นเป็นมรดกที่ประกอบไปด้วยแหล่ง (sites) หรือสถานที่ ทั้งที่เป็น ‘แหล่งธรรมชาติ’ หรือ ‘แหล่งทางวัฒนธรรม’ ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เช่น อนุสรณ์สถาน เมือง ฯลฯ แต่ต้องเป็นแหล่งที่มีคุณค่าเป็นเอก เป็นสากล สมควรที่ทั่วโลกจะช่วยกันปกป้องรักษาไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รู้จักชื่นชมสืบไป ทั้งนี้ องค์การยูเนสโกได้ประกาศอนุสัญญาว่าด้วยมรดกโลกขึ้น โดยประเทศที่ร่วมเป็นภาคี ตกลงร่วมกันที่จะดำเนินการตามนัยของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์และดำเนินการเกี่ยวกับมรดกโลก

รูปภาพ
จารึกในพระวิหารพระพุทธไสยาส

รูปภาพ
จารึกที่ติดอยู่ใต้ภาพวาดจิตรกรรมในวิหารพระพุทธไสยาส


ประเทศไทยมี ‘แหล่งธรรมชาติ’ ที่ขึ้นทะเบียน “มรดกโลก” (World Heritage) แล้ว ๒ แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดอุทัยธานี-กาญจนบุรี-ตาก และผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสระบุรี-นครนายก-นครราชสีมา-ปราจีนบุรี-สระแก้ว และบุรีรัมย์ โดยเฉพาะด้านตะวันออกมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าบันทายฉมอร์ ซึ่งเป็นพื้นที่คุ้มครองภูมิทัศน์ของราชอาณาจักรกัมพูชา

ส่วน ‘แหล่งทางวัฒนธรรม’ มี ๓ แห่ง ได้แก่ มรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร จ.สุโขทัย, อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยากับเมืองบริวาร จ.พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี

ส่วนมรดกความทรงจำแห่งโลกนั้นจะต้องเป็นมรดกทางเอกสาร หรือข้อมูลความรู้ที่บันทึกไว้ หรือประกาศถ่ายทอดออกมา แต่ทั้งมรดกความทรงจำแห่งโลกและมรดกโลกนั้นต่างก็เป็นงานขององค์การยูเนสโกเหมือนกัน โดยมรดกความทรงจำแห่งโลกชิ้นแรกของไทยคือ ‘ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ ๑’ ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญ ที่บันทึกและประกาศข้อมูลข่าวสารสาธารณะ และนโยบายของรัฐโบราณให้สาธารณชนรับทราบ และมีผลต่อประวัติของโลกนอกพรมแดนวัฒนธรรมของไทย ทำให้เข้าใจความสำคัญของการปกครอง การค้าขาย การติดต่อแลกเปลี่ยนกับชาติต่างๆ ในช่วงเวลาของยุคสุโขทัย มีความสมบูรณ์ในตัวเอง นับเป็นเอกสารสาธารณะที่หาได้ยากยิ่ง ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖ ต่อมาก็คือ ‘จารึกวัดโพธิ์’ ที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียน

รูปภาพ
พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร)
เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)



โดยได้มีการส่งมอบเอกสารการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก มายังคณะกรรมการแห่งชาติฯ ต่อมา ฯพณฯ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ นายพงศกร อรรณนพพร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีการนำเอกสารนี้ถวายแด่พระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนฯ และพระราชเวที (สุรพล ชิตญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาส ในวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ อันตรงกับวันคล้ายวันเสด็จพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พร้อมกันนี้ทางวัดได้จัดงานรับเอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลก ควบคู่กันไปกับงานบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้ที่โปรดเกล้าฯ ให้มีการจารึกองค์ความรู้จากปราชญ์ของไทย และสรรพวิทยาการต่างๆ ไว้โดยรอบพระอุโบสถ พระวิหาร ศาลาราย ในวัดโพธิ์แห่งนี้

สำหรับ ‘แผนงานของยูเนสโกว่าด้วยความทรงจำแห่งโลก’ (Memory of the World Program) นั้น เป็นแผนงานที่องค์การยูเนสโกกำหนดให้มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๕ โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านสารนิเทศจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนจากทั่วโลก มาประชุมหารือร่วมกัน แผนงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์และการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกไว้ในรูปแบบใดๆ และไม่ว่าจะผลิตในประเทศใด ถือว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ความรู้ ประสบการณ์ ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทั้งในด้านของวัฒนธรรม และความคิดริเริ่มของมนุษยชาติ

นอกจากโคลงกลอนต่างๆ แล้ว วัดโพธิ์ยังมีตำนานของกวีเอกชั้นเยี่ยมอยู่ ณ วัดแห่งนี้ด้วย นั่นก็คือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี) “รัตนกวีแห่งวัดโพธิ์” ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และเจ้าจอมมารดาจุ้ย (ท้าวทรงกันดาล) และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับว่าเป็นพระบรมวงศ์ในราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อันเป็นพระประมุขสูงสุดทางฝ่ายสงฆ์

สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์หรือเจ้าอาวาสของวัดโพธิ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๖-๒๓๙๖ ในระหว่างนั้น พระองค์ได้ทรงนิพนธ์หนังสือต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งบทร้อยกรองและร้อยแก้ว ไม่ว่าจะเป็นโคลงดั้นเรื่องปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ลิลิตตะเลงพ่าย กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ปฐมสมโพธิกถา และอีกมากมายหลายเรื่องด้วยกัน ที่ล้วนแล้วแต่มีค่ายิ่งในวงการวรรณกรรม

รูปภาพ
พระรูปหล่อสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)


รูปภาพ
พระโกศทรงฝรั่ง บรรจุพระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
ณ พระตำหนักวาสุกรี วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)



เจ้าอาวาสหรืออธิบดีสงฆ์ที่สำคัญๆ อย่าง สมเด็จพระพนรัตน หรือสมเด็จพระวันรัตน ซึ่งเป็นอาจารย์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็เป็นผู้ชำระหรือผู้เขียนพระราชพงศาวดาร และส่วนกวีเอกผู้มีผลงานระดับโลกอย่างสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็จะมีผลงานหลายชิ้นด้วยกัน ท่านบวชเป็นสามเณรก็ที่วัดนี้ เป็นพระภิกษุก็ที่นี่ ขึ้นเป็นพระราชาคณะ จนกระทั่งเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า และสิ้นพระชนม์ก็ที่นี่ ไม่เคยไปอยู่วัดไหน เพราะฉะนั้นผลงานทั้งหมดของท่านสร้างขึ้นที่นี่ ด้วยพระอัจฉริยภาพและผลงานของพระองค์ที่ทรงสร้างไว้เหล่านี้ ทำให้องค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศยกย่องให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าวาสุกรี สุวณฺณรํสี) เป็นผู้มีผลงานดีเด่นระดับโลก เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๓ ซึ่งเป็นวันครบรอบ ๒๐๐ ปี วันประสูติของพระองค์

ปัจจุบัน พระตำหนักวาสุกรีซึ่งท่านเคยประทับอยู่ในเขตสังฆาวาสของวัดโพธิ์ก็ยังคงอยู่ และยังรักษาสภาพไว้อย่างดียิ่ง โดยภายในพระตำหนักจะมีบุษบกซึ่งบรรจุพระอัฐิของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ไว้ และมีรูปหล่อของพระองค์ รวมทั้งยังมีข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ อีกมากมายของพระองค์ที่ทางวัดโพธิ์ได้เก็บรักษาไว้ บริเวณหน้าบุษบกที่บรรจุพระอัฐิไว้นั้นมีกระดานจารึก กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงนิพนธ์ไว้ด้วยพระองค์เอง และเชื่อว่าทุกคนคงเคยท่องจำกันมาแล้วเมื่อสมัยเรียนหนังสือ ความว่า

“พฤษภกาสร อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี
นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา
ความดีก็ปรากฏ กิติยศฤาชา
ความชั่วก็นินทา ทุรยศยินขจร”


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
รูปสลักหินฤาษีดัดตน
จากเดิม ๘๐ ท่า ปัจจุบันเหลืออยู่ ๒๔ ท่า


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ตั้งอยู่ริมถนนสนามไชยและถนนมหาราช ติดกับพระบรมมหาราชวัง เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. สำหรับชาวต่างชาติจะต้องซื้อบัตรเข้าชมคนละ ๒๐ บาท ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวต้องแต่งกายสุภาพเรียบร้อย สุภาพสตรีห้ามสวมกางเกงขาสั้นเหนือเข่าเข้าไปเที่ยวชม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทรศัพท์ ๐-๒๒๒๕-๙๕๙๕, ๐-๒๒๒๑-๑๓๗๕

การเดินทาง : หากเดินทางโดยรถประจำทางธรรมดา มีรถผ่าน สาย ๑, ๓, ๖, ๙, ๑๒, ๒๕, ๓๒, ๔๓, ๔๔, ๔๗, ๔๘, ๕๓, ๖๐, ๘๒, ๙๑, ๑๒๓ รถประจำทางปรับอากาศ สาย ปอ. ๖, ๗, ๘, ๙, ๑๒, ๒๕, ๔๔, ๙๑ สำหรับเรือด่วนเจ้าพระยา สามารถขึ้นฝั่งที่ท่าเรือท่าช้าง ท่าเรือท่าเตียน หรือท่าเรือปากคลองตลาด แล้วเดินเข้าประตูทางถนนท้ายวังได้


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 มีนาคม 2551 16:26 น.

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดประจำรัชกาลที่ ๑ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19426

พระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพฯ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19303

ประวัติและปฏิปทาพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=23317

••••••••• ๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์ •••••••••
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=23364

“จารึกวัดโพธิ์” ภูมิปัญญาไทยน่าทึ่ง มรดกความทรงจำแห่งโลก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19751

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร