วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:16  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2008, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระเสริมและพระแสน ภายในพระวิหาร


“วัดปทุมวนาราม” แดนสงบงามกลางป่าคอนกรีต

ถ้าจะพูดถึงแหล่งที่มีห้างสรรพสินค้ามารวมกันอยู่มากที่สุดในกรุงเทพฯ คงต้องยกให้ย่านสยามสแควร์ เพราะลองนับๆ ดูแล้วแถวนี้มีห้างสรรพสินค้าอยู่เกือบสิบแห่งทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นสยามสแควร์ สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์พลาซ่า เกษรพลาซ่า อัมรินทร์พลาซ่า และอื่นๆ อีกมากมาย เป็นต้น แน่นอนว่าจำนวนของผู้คนที่เดินทางผ่านไปมาในย่านนี้ก็ต้องยิ่งมากทวีคูณเข้าไปอีก

แต่ในวงล้อมของห้างสรรพสินค้าป่าคอนกรีต ความจอแจของผู้คนโดยเฉพาะเด็กแนวสายเดี่ยว รวมไปถึงรถราที่หนาแน่นทั้งหลายนี้ มีสถานที่อยู่แห่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะอยู่เหนือความพลุกพล่านทั้งหมด และยังคงความสงบอยู่ได้อย่างไม่น่าเชื่อ ที่แห่งนั้นก็คือ “วัดปทุมวนาราม” หรือ “วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร” นั่นเอง

เคยได้ยินชื่อเสียงของวัดปทุมวนารามมานานแล้ว ว่าเป็นวัดกลางเมืองที่มักจะมีผู้คนมานั่งสมาธิปฏิบัติธรรมกันมาก ก็ให้สงสัยยิ่งนักว่าจะมีความสงบได้จริงหรือในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ คราวนี้จึงต้องมาพิสูจน์ด้วยตนเอง ลงจากรถไฟฟ้าสถานีสยาม ก็เดินตรงเข้ามายังวัดปทุมวนาราม พร้อมกับนึกถึงประวัติของวัดที่รู้มาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดทำรมณียสถาน หรือพูดง่ายๆ ก็คือ สถานตากอากาศ ที่อยู่นอกพระนคร โดยทรงมีนาหลวงอยู่บริเวณทุ่งพญาไท ริมคลองบางกะปิ ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำมีน้ำขังตลอดเวลาและมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป บริเวณดังกล่าวเป็นที่อยู่ของชาวล้านช้าง หรือชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งแต่สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์

รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม

รูปภาพ
พระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 4


ในการก่อสร้างครั้งนั้น ได้มีการจ้างชาวจีนมาขุดลอกสระ 2 สระเชื่อมต่อกัน สระทางด้านเหนือเรียกว่า สระใน เป็นเขตหวงห้ามส่วนพระองค์และฝ่ายใน ส่วนทางด้านใต้เรียกว่า สระนอก ทรงอนุญาตให้ข้าราชการและราษฎรทั่วไปมาเล่นเรือกันได้ และภายในสระทั้งสองนั้นก็ปลูกบัวพันธุ์ต่างๆ ไว้ ไม่ว่าจะเป็นบัวสาย บัวผัน บัวเผื่อน บัวหลวง ฯลฯ ออกดอกงดงามเต็มสระ และบริเวณสระบัวนั้นยังได้สร้างที่ประทับสำหรับพระองค์ และเรือนฝ่ายในเป็นที่ประทับของเจ้าจอม รวมไปถึงโรงเรือนโรงครัวต่างๆ ซึ่งพระองค์ให้พระราชทานนามให้แก่สถานที่แห่งนี้ว่าปทุมวัน และทรงเรียกบริเวณที่ประทับว่า วังสระปทุม

ไม่ใช่เฉพาะแต่ที่ประทับเท่านั้น แต่พระองค์ยังได้ทรงสร้างวัดขึ้นบริเวณด้านทิศตะวันตกของสระนอก เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแก่ สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระอัครมเหสี และพระราชทานนามวัดว่า “วัดปทุมวนาราม” แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสระปทุม หรือวัดสระ โดยในเวลาที่พระองค์เสด็จมาประทับที่วังสระปทุมนี้ ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์จากวัดปทุมวนารามพายเรือเข้าไปบิณฑบาตในสระนี้ด้วย

มาจนถึงวันนี้ แม้ดอกบัวที่เคยมีอยู่เต็มสระจะเหลือเพียงแค่ไม่กี่ดอกอยู่ในอ่างบัวเท่านั้น แต่ภายในวัดปทุมฯ ก็ยังมีสิ่งที่น่าสนใจหลายสิ่งด้วยกัน สิ่งแรกก็ต้องเป็นเรื่องของพระพุทธรูป เพราะที่วัดแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จากฝั่งลาวถึง 3 องค์ด้วยกัน นั่นก็คือ “พระเสริม” , “พระแสน” และ “พระสายน์”

สำหรับพระเสริมและพระแสนนั้นประดิษฐานอยู่ด้วยกันในพระวิหาร “พระเสริม” นั้นเป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับ “พระสุก” และ “พระใส” ซึ่งพระราชธิดาของกษัตริย์ล้านช้างทั้ง 3 พระองค์ เป็นผู้สร้างขึ้นและถวายนามของพระองค์เองให้เป็นชื่อของพระพุทธรูปด้วย

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 กองทัพสยามเดินทางไปตีเมืองเวียงจันทน์เพื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ เมื่อกองทัพจะเดินทางกลับบ้านเมือง ก็ได้อัญเชิญพระพุทธรูปมาจากเมืองเวียงจันทน์มาด้วยหลายองค์ด้วยกัน รวมทั้ง พระสุก พระใส และพระเสริมด้วย

รูปภาพ
ทิวทัศน์ของวัดกลางเมือง

รูปภาพ
สาธุชนมานั่งสมาธิภายในศาลาพระราชศรัทธา


แต่ในขณะที่เคลื่อนย้ายพระพุทธรูปมาทางลำน้ำงึมออกแม่น้ำโขง ก็ได้เกิดพายุฝนตกหนัก จนทำให้พระสุกหล่นจากแท่นประดิษฐานจมลงใต้แม่น้ำ บริเวณนั้นต่อมาจึงเรียกกันว่าเวินพระสุก หรือเวินสุก ส่วนพระเสริมและพระใสก็ได้อัญเชิญข้ามมายังฝั่งไทยได้อย่างปลอดภัย แต่เมื่อจะอัญเชิญต่อมายังกรุงเทพฯ ก็ปรากฏว่าเกวียนที่ประดิษฐานพระใสนั้นเกิดหักลงอยู่ตรงหน้าวัดโพธิ์ชัย เมืองหนองคาย ทำอย่างไรก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องอัญเชิญพระใสให้ประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัย เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหนองคายมาแต่บัดนั้น ส่วนพระเสริมนั้นอัญเชิญต่อมาได้จนถึงกรุงเทพฯ และมาประดิษฐานไว้ที่วัดปทุมวนารามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ส่วน “พระแสน” พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารเดียวกันกับพระเสริมนั้น เดิมประดิษฐานอยู่ในถ้ำที่เมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง แต่ได้อัญเชิญมายังกรุงเทพฯ เมื่อรัชกาลที่ 4 มีพระราชประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธรูปโบราณจากล้านช้างมาประดิษฐานไว้ในพระอารามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่หลายแห่ง

เช่นเดียวกับ “พระสายน์” ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถของวัดปทุมวนาราม ก็เป็นพระพุทธรูปที่อัญเชิญมาจากเมืองมหาไชย แขวงล้านช้าง ในสมัยรัชกาลที่ 4 เช่นกัน โดยพระแสนและพระสายน์นั้นต่างก็มีความศักดิ์สิทธิเหมือนกัน ตรงที่เมื่อใดเกิดฝนแล้ง ก็จะอัญเชิญท่านออกมาบูชากลางแจ้งและบูชาขอฝนจากท่านได้

นอกจากพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้แล้ว ระหว่างพระวิหารและพระอุโบสถก็ยังมี พระเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลองทำด้วยหินอ่อน และพระพุทธไสยาสน์หินอ่อนซึ่งได้มาจากลังกาอีกด้วย ส่วนด้านหลังพระเจดีย์ตรงข้ามกับพระวิหารนั้นก็มี พระมณฑปของรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นผู้ทรงสร้างวัดนี้ขึ้นมา

รูปภาพ
พระเจดีย์บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ

รูปภาพ
บรรยากาศร่มครึ้มของต้นไม้ในสวนป่าพระราชศรัทธา


หากกราบพระเรียบร้อยแล้ว อย่าลืมเดินไปทางด้านหลังพระวิหารออกประตูเล็กๆ ไปเพื่อกราบพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าหอพระปริยัติธรรม ซึ่งภายในพระเจดีย์นั้นเป็นที่บรรจุ พระสรีรังคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก หรือพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงของเรานั่นเอง

หากใครที่เข้ามาชมวัดตรงบริเวณนี้แล้ว ถ้ายังคิดว่าวัดปทุมวนารามยังสงบไม่พอ ก็ต้องไปที่ “สวนป่าพระราชศรัทธา” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของวัด ที่เรียกว่าสวนป่าก็เนื่องจากว่าบรรยากาศในแถบนี้ร่มครึ้มเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น และมี “ศาลาพระราชศรัทธา” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้ที่ศรัทธามากราบไหว้ รวมทั้ง ศาลาแห่งนี้ยังเปิดให้ประชาชนเข้าไปนั่งสมาธิ และฟังธรรมได้ โดยจะมีเทปธรรมะเปิดให้ฟังตลอดทั้งวันอีกด้วย หรือหากใครต้องการเดินจงกรมก็สามารถทำได้เช่นกัน

ในตอนที่เดินชมพระอุโบสถและพระวิหารอยู่นั้น ก็รู้สึกขัดตาอยู่บ้างกับตึกสูงทั้งหลายที่ล้อมรอบวัดอยู่ แต่เมื่อเข้ามายัง “สวนป่าพระราชศรัทธา” แห่งนี้แล้ว บรรยากาศเหล่านั้นก็ถูกบดบังไปด้วยต้นไม้ใหญ่หลากหลายนานาพันธุ์มากมายที่อยู่เต็มบริเวณ ซึ่งทำให้เชื่อแล้วว่า แม้ว่าวัดปทุมวนารามจะอยู่ในย่านที่มีผู้คนพลุกพล่านที่สุด แต่ก็ยังคงมีความสงบ ร่มรื่น และมีบรรยากาศของความเป็นวัดอยู่ครบถ้วนไม่ตกหล่นไปไหนจริงๆ

ดังนั้น หากใครที่ต้องการมาสัมผัสบรรยากาศสงบของวัดที่อยู่ท่ามกลางชุมชน อยากมานั่งสมาธิ ฟังธรรม หรือสนใจอยากจะไปร่วมทำบุญเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่วัดปทุมวนาราม ก็ขอเชิญมาได้ ซึ่งนอกจากจะได้มาร่วมทำบุญถวายสังฆทาน ตักบาตรพระประจำวันเกิด และไหว้พระพุทธรูปสำคัญๆ ภายในวัดแล้ว ก็ยังมีการถวายเทียนพรรษาและผ้าอาบน้ำฝน รวมทั้งมีการเวียนเทียน และแสดงพระธรรมเทศนา 1 กัณฑ์ในวันอาสาฬหบูชาอีกด้วย...โอกาสนี้ก็ขอเชิญเด็กแนวทั้งหลายแถวสยามมาลิ้มรสพระธรรมด้วยเสียเลยก็แล้วกัน

รูปภาพ
พระอุโบสถ วัดปทุมวนาราม


* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนพระรามที่ 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างศูนย์การค้าสยามพารากอน และห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า มีรถประจำทางสาย 2 15, 16, 25, 40, 45, 48, 54, 73, 79, 204, 79 ฯลฯ ผ่าน หรือสามารถนั่งรถไฟฟ้ามาลงที่สถานีสยาม แล้วเดินมาทางที่จะไปแยกเฉลิมเผ่า วัดจะอยู่ทางซ้ายมือ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ในเวลา 07.00-18.00 น. สอบถามโทรศัพท์ 0-2251-6469

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2550 16:14 น.

:b44: พระเสริม พระแสน และพระสายน์ วัดปทุมวนาราม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47732

:b44: “พระสถูปเจดีย์แห่งราชสกุลมหิดล” วัดปทุมวนาราม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47372

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron