วันเวลาปัจจุบัน 09 ก.ย. 2024, 21:03  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ธ.ค. 2008, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 มี.ค. 2005, 04:18
โพสต์: 1877


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b47: :b45: ไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด

หลวงพ่อพระไชยเชษฐา
พระประธานในอุโบสถ วัดถ้ำสุวรรณคูหา
บ้านคูหาพัฒนา ต.นาสี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู


ชาวอำเภอสุวรรณคูหามีสิ่งเคารพบูชาสูงยิ่ง คือ หลวงพ่อพระไชยเชษฐา
เป็นพระพุทธรูปปางมุจลินทร์ นาคปรก ๗ เศียร ที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา
เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวอำเภอสุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู เป็นยิ่งนัก

ทั้งนี้ พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรล้านช้าง
ได้สร้างไว้เมื่อเกือบ ๕๐๐ ปีมาแล้ว พร้อมถวายวิสุงคามสีมาให้แก่วัด
มอบ “นาจังหัน” (ที่ทำกิน) ให้ชาวบ้านได้ทำไร่ทำนา
และประกาศให้ผู้ที่ได้นาจังหันเสียภาษีร้อยละ ๑๐ ให้การทำนุบำรุง
วัดถ้ำสุวรรณคูหา และหลังฤดูเก็บเกี่ยวชาวบ้านก็นำภาษีมาส่งให้วัด


ช่วงดังกล่าวเข้าสู่ฤดูหนาว ชาวบ้านต้องมาพักอาศัยค้างแรมในบริเวณวัด
จึงต้องนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นย่างไฟเป็นข้าวจี่กินกัน
และถวายเป็นการสักการะหลวงพ่อพระไชยเชษฐา และถวายพระสงฆ์
จนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน

แต่ละปีชาวบ้านที่นี่มีหน้าที่ต้องทำข้าวจี่ยักษ์ที่น่าจะบอกว่าใหญ่ที่สุดในโลก
ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเจริญของบ้านเมือง
ความศรัทธาของชาวบ้าน ที่ได้สืบสานประเพณีที่ดีงามซึ่งเป็นสิ่งที่ดี
และเป็นความภาคภูมิใจของคนอำเภอสุวรรณคูหา และจังหวัดหนองบัวลำภู

“วัดถ้ำสุวรรณคูหา” บ้านคูหาพัฒนา ต.นาสี อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู
เป็นวัดที่มีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้เรียบร้อยแล้ว
ในสมัยก่อนเป็นวัดอรัญวาสี (ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย) ปัจจุบันเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย
สร้างในภูเขาหินปูน โดยพระเถระในสมัยนั้นได้ดัดแปลงถ้ำ
ให้เป็นที่พักอาศัยจำวัดบำเพ็ญภาวนา ภูเขาลูกดังกล่าวมีถ้ำอยู่กว่า ๔๐ ถ้ำ
มีถ้ำใหญ่เรียกว่า ถ้ำสุวรรณคูหา ใช้เป็นสถานที่ทำสังฆกรรม (ลงอุโบสถ)


รูปภาพ

รูปภาพ
ด้านหน้า “ถ้ำสุวรรณคูหา” อันเป็นสถานที่ทำสังฆกรรม (ลงอุโบสถ)


ภายในถ้ำมีพระประธานปางมุจลินทร์ ศิลปะสมัยล้านช้าง
มีนาคปรก ๗ เศียร หน้าตักกว้าง ๔ เมตร สูง ๕ เมตร สร้างด้วยปูนทราย
มีส่วนผสมเป็นปูนขาว ๒ ส่วน ทราย ๕ ส่วน น้ำมะขาม ๒ ส่วน
ก่ออิฐเป็นโครงสร้างภายใน มีชื่อเรียกว่า “พระไชยเชษฐา”
สร้างในสมัยพระไชยเชษฐาธิราช เจ้าผู้ครองอาณาจักรล้านช้าง

ตามศิลาจารึกที่ปรากฏที่วัดถ้ำสุวรรณคูหา
ระบุเทียบเท่าปีพุทธศักราช ๒๐๑๖ หรือกว่า ๔๘๔ ปีล่วงมาแล้ว
จารึกไว้ว่า พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ทรงทำนุบำรุงวัดถ้ำสุวรรณคูหา
ถึงแม้ไม่ได้สร้างถาวรวัตถุ แต่ได้พระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัด
ด้านละ ๑,๐๐๐ วา (รวมเป็นจำนวน ๒,๕๐๐ ไร่)
พระราชทานนาจังหัน คือ พื้นที่ในหมู่บ้านเป็นสิทธิของวัด
เมื่อมีผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าว มะพร้าว
ตาล หมาก พลู เป็นต้น ต้องเป็นสิทธิของวัดร้อยละ ๑๐

หมู่บ้านในเขตนาจังหันในปัจจุบันนี้มี บ้านดงยาง บ้านนาตาแหลว
บ้านนาสึกสาง (บ้านนาสี) บ้านนาท่าเป็ด (บ้านนาไร่เดียว)
บ้านกุดผึ้ง บ้านนาหัน บ้านโนนสง่า บ้านนาแพงเมือง บ้านคูหาพัฒนา

ซึ่งชาวบ้านที่อยู่ในเขตนาจังหันไม่ต้องถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร
และไม่ต้องเสียค่าส่วยไร่ (ภาษี) แก่เจ้าเมือง
เป็นการแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา
และความศักดิ์สิทธิ์ของพระไชยเชษฐามาโดยตลอด


พระอธิการเพิ่ม พุทธธัมโม เจ้าอาวาสวัดถ้ำสุวรรณคูหา
เปิดเผยว่า ปัจจุบันจะมีชาวบ้านมาจากหลายแห่งทั้งภาคอีสานหรือภาคอื่นๆ
เดินทางมากราบไหว้ บนบานศาลกล่าว ด้วยการนำดอกไม้ธูปเทียน
โพธิ์เงินโพธิ์ทอง พวงมาลัย มากราบไหว้ขอพรพระไชยเชษฐา
ชาวบ้านทำไร่ทำนาก็ขอให้มีผลิตผลออกมาดีไร่นาอุดมสมบูรณ์
หลายคนมาบนบานขอให้มีตำแหน่งหน้าที่ดีๆ สอบได้ที่ดี
หรือทำมาหากินมีรายได้ดี ซึ่งก็มักประสบผลสำเร็จ
ลูกศิษย์ลูกหาที่ศรัทธาก็สร้างองค์พระไชยเชษฐาจำลองมาถวาย

รูปภาพ

รูปภาพ
ภายใน “ถ้ำสุวรรณคูหา” ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระไชยเชษฐา”


ส่วนคนในอำเภอสุวรรณคูหา หากจะออกไปต่างจังหวัดไปทำงานต่างถิ่น
หรือออกไปประกอบอาชีพที่อื่น จะเข้ามากราบไหว้ขอพร ขอให้แคล้วคลาด
หรือมีรายได้กลับมาเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งมักจะเห็นผล
บางคนถึงกับปวารณาตัวกลับเข้ามาบำรุงรักษาวัด

และในวันขึ้น ๑๓-๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
อำเภอสุวรรณคูหา ร่วมกับเทศบาลตำบลสุวรรณคูหา
จะจัดงานบวงสรวงพระไชยเชษฐา เป็นประจำทุกปี
โดยจะมีชาวบ้านร่วมนำข้าวเปลือก ข้าวสาร ผลิตผลทางการเกษตร
นำมาถวายพระไชยเชษฐา พร้อมทั้งจัดขบวนแห่รำฟ้อนอย่างสวยงาม

ที่ถือปฏิบัติมิได้ขาดเป็นประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ
คือ การที่ชาวบ้านในสมัยก่อนในนาจังหัน
เมื่อนำสิ่งของมาถวายเพื่อทำนุบำรุงรักษาวัด
ซึ่งอยู่ในช่วง ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ที่มีอากาศหนาวเย็น
มักจะนำข้าวเหนียวนึ่งมาปั้นย่างไฟเป็นข้าวจี่
มีการร่วมวงกินร่วมกันและสนทนาพาทีกัน เรียกกันว่ารวมบุญข้าวจี่

ก่อนจะรับประทาน ต้องถวายพระสงฆ์เป็นภัตตาหาร
ได้ถือปฏิบัติมาช้านานจนปัจจุบันกลายเป็นประเพณีบุญข้าวจี่
ซึ่งคณะกรรมการจัดงานก็ได้จัดสร้างข้าวจี่ยักษ์ขนาดใหญ่
ถวายหลวงพ่อพระไชยเชษฐา
ก่อนจะแจกจ่ายให้ประชาชนที่มาร่วมงานได้รับประทาน

ถือเป็นการรับบารมีหลวงพ่อพระไชยเชษฐา
ที่มีประชาชนมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมากในทุกปีด้วย

รูปภาพ
ป้ายประวัติย่อของ “หลวงพ่อพระไชยเชษฐา”


หนังสือไหว้พระประธาน ๗๗ จังหวัด
กองบรรณาธิการข่าวสด สำนักพิมพ์มติชน


:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของรูปภาพ
http://photoclub.lumphu.com/forums.php?m=posts&q=82
http://www.koratphotoclub.net/mambo/

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2015, 19:49 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มิ.ย. 2011, 14:07
โพสต์: 278


 ข้อมูลส่วนตัว


เรื่องราวเกี่ยวกับองค์พระประธาน มีประโยชน์และน่าสนใจมากเลยค่ะ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร