วันเวลาปัจจุบัน 07 ต.ค. 2024, 06:42  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ต.ค. 2022, 10:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


พุทธศาสนิกชน
จำเป็นต้องเข้าวัดเพื่อทำบุญหรือไม่

วิสัชนาธรรมโดย...หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต
วัดบรรพตคีรี (ภูจ้อก้อ) อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร


รูปภาพ

:b49: :b50: ปุจฉา :
ก่อนหน้าที่จะได้มีโอกาสกราบนมัสการหลวงปู่ที่วัดแห่งนี้ ผมไม่ค่อยได้เคยเข้าวัดเข้าวาทำบุญทำทานตามแบบอย่างของพุทธศาสนิกชนที่ดีเลย แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นก็ใช่ว่าจะไม่เชื่อถือ ไม่สนใจ หรือไม่ประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมเสียเลย เพียงแต่ไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี และมีความคิดในขณะนั้นด้วยว่า “วัดนะ เราไม่ต้องเข้าหรอกเพราะไม่ได้ทำบาป”

นอกจากนี้ผมยังเคยเห็นบางคนประกาศให้สังคมรู้อยู่เสมอว่าตนนั้นถือศีลห้ามานานแล้วนะ ตนนั้นมีคุณธรรมนะ ภาพพจน์ของเขาจึงดูน่าเชื่อถือในสังคม แต่จากการที่ผมสังเกตเห็นพฤติกรรมของเขา มันตรงกันข้ามกับคำพูดของเขาโดยสิ้นเชิง กล่าวคือเขาจะปากหวานหลอกใช้คนอยู่ตลอดเวลา สร้างสถานการณ์เพื่อประโยชน์ของตนเสมอ จนกระทั่งในปัจจุบันเขาคนที่ผมกล่าวถึง มีฐานะเป็นนักธุรกิจร้อยล้านพันล้าน มีหน้ามีตาในสังคมกรุงเทพฯ

ส่วนผมเองไม่เคยประกาศกับใครหรอกว่าถือศีล ๕ แต่ก็คิดว่าไม่เคยโกหกหลอกลวงใคร ยกเว้นศีลข้อที่หนึ่งเท่านั้น เพราะผมชอบตบยุง ดักหนู ตีแมลงวัน ตีแมลงสาบ (เพราะผมไม่ชอบสัตว์เหล่านี้) อีกอย่างหนึ่งที่เขาผิดกับผมคือเขาเคยได้บวชเรียนมาแล้ว แต่ผมเองไม่เคยเขาเข้าวัดทำบุญทำทานมานานแล้ว ส่วนผมเพิ่งจะเริ่ม เขาทำบุญครั้งละเป็นหมื่นเป็นแสน ส่วนผมทำครั้งละ ๑๐-๒๐ บาท หรือ ๑๐๐ บาท

จากความคิดของผมที่เล่าว่า “วัดนะ เราไม่ต้องเข้าหรอกเพราะไม่ได้ทำบาปนั้น” มาถึงขณะนี้ผมเพียงแต่รู้ครับ ว่าเป็นความคิดที่คับแคบไม่ถูกต้อง แต่ผมไม่ทราบว่าไม่ถูกต้องอย่างไร และต่อจากนี้ผมควรจะปฏิบัติอย่างไร ขอความกรุณาหลวงปู่ช่วยอธิบายและชี้แนะด้วยครับ

และจากข้อมูลตอนท้ายที่ผมได้เล่ามานี้ ผมเพิ่งจะมาเริ่มต้นสนใจทางธรรม เข้าวัดวาทำบุญทำทาน และจำนวนเงินที่ทำบุญก็ต่างกันราวฟ้ากับดินดังกล่าว กุศลผลบุญหรืออานิสงส์ที่ได้รับจะต่างกันหรือไม่อย่างไร


:b49: :b50: วิสัชนา :
การที่ไม่ไปวัดเพราะไม่ได้ทำผิดนั้นก็ถูกอยู่แบบหนึ่ง คงจะเป็นตามนิสัย ส่วนในครั้งพระพุทธกาล นางวิสาขาเป็นพระโสดาบันแต่อายุ ๗ ปี เป็นลูกเศรษฐีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ เข้าไปวัดในเวลาเช้ากับบริวารเพื่อไปถวายอาหารและต้องการทราบว่ามีพระป่วยเท่าใด มีผู้อุปัฏฐากพระป่วยกี่องค์ มีพระอาคันตุกะมาพักกี่องค์ และจะมีพระเดินทางไกลออกจากวัดกี่องค์ ก็จะได้เตรียมอาหารเช้าไปให้ครบ พร้อมกับพระที่อยู่ประจำวัด แม้ตอนบ่ายก็ไปคอยดูแลอยู่อีก และเอาน้ำอัฏฐบานไปด้วย พร้อมทั้งบริวารเพื่อจะไต่ถามในเรื่องพระป่วย และพระปฏิบัติผู้ป่วยตลอดสามเณรด้วย และในวันพรุ่งนี้จะมีพระเณรองค์ใดบ้างที่จะเดินทางไกล และจำพวกที่ป่วยอยู่ทุเลาหรือไม่ อาหารที่เอามาให้ประจำวันอันไหนแสลงกับโรคที่พระป่วยเณรป่วยก็อยากจะทราบ เพราะวันพรุ่งนี้จะได้จัดมาถูกดังนี้เสมอๆ ประจำวัน เว้นไว้แต่เจ้าของป่วย

ยังมีบุพกรรมของนางอีกที่ได้สร้างสมมาแต่ชาติก่อนๆ ในขณะที่นางจะไปสู่บ้านผัว พอแต่งงานแล้ว บิดามารดาก็แบ่งทรัพย์ให้หมดตามสติกำลังเท่าที่มีอยู่ แต่ยังไม่ทันได้แบ่งให้คือโคอันเต็มคอกอยู่ แล้วสั่งนายโคบาลว่า “วันนี้นางวิสาขาแต่งงานแล้วจะไปบ้านผัว สั่งว่าให้เปิดประตูคอกโค ให้โคออกไปประมาณหนึ่งส่วน ให้เหลือไว้เพียงสามส่วน” เขาก็เปิดประตูออกไปพอสมควรตามส่วนที่คาดคะเนไว้ แล้วก็ปิดประตู ส่วนโคที่ยังเหลือก็กระโดดข้ามไปหมด ตัวเล็กๆ ก็แซงเล็ดลอดออกไปหมดทั้งคอก บิดามารดาของนางวิสาขา ถ้าจะให้คนไปไล่ต้อนคืนมาก็เสียมารยาท ก็เลยยอมให้ลูกสาวไปหมด

นี้อย่างไรเล่า พระบรมศาสดาทราบเข้า ทรงพระกรุณาเทศน์ให้ฟังในเรื่องนี้ว่า “นางวิสาขาแต่ชาติก่อนๆ ของพระพุทธเจ้าองค์ก่อน นางไปใส่บาตรพระธุดงค์ พระธุดงค์บอกว่าพอแล้ว นางก็ไม่ยอม ขอวิงวอนว่า “อันนี้อร่อย อันนี้ฉันง่าย ทรงกรุณาให้ใส่เพิ่มด้วย” จะว่าพอสักเพียงใดก็ตาม นางก็ขอใส่จนได้ จนจุใจตนเอง ผลของบุญกุศลกรรมอันนี้จึงตามมาหา บันดาลให้โคได้เต้นออกคอกไปหมด มิหนำซ้ำทาสีทาสาก็ไปกับนางหมด” และตามตำนานยังมีอยู่อีกมาก


นางวิสาขา ถ้ากล่าวเรื่องอาหารแล้ว ย่อมหนักไปในการบริจาคทานมาแต่ชาติก่อนๆ ฉะนั้น นางวิสาขาจึงพละกำลังกายมาก เท่ากับช้าง ๗ เชือก นี่คือผลของการให้ทานอาหาร และพระบรมศาสดากล่าวไว้อีกว่า “นัตถิ พาลา อทานัง” คนพาลไม่สรรเสริญทาน บัณฑิตเท่านั้นสรรเสริญทาน และทรงอธิบายว่าถ้าขาดจากการบริจาคทาน เกิดชาติหน้าเป็นคนยากจน ทำพอจะได้ก็ไม่ได้ ถ้าไม่อย่างนั้นก็ตรงกันข้าม ผู้ขาดการรักษาศีลเกิดชาติหน้าเป็นผู้มีอายุสั้น ผู้ขาดจากการภาวนาเกิดในชาติหน้าเป็นผู้มักจะหลง หลงศาสนา เขาโกหกพกลมให้นับถือในสิ่งที่ไม่เป็นแก่นสารก็ไปหลงนับถือกับเขา ถ้าขาดความเคารพกับผู้ใหญ่ซึ่งมีวัยวุฒโฑ คุณวุฒโฑเหนือกว่าตน เกิดชาติหน้าก็เป็นคนเกิดในตระกูลต่ำ เหล่านี้เป็นต้น ถ้าจะบรรยายไปมากก็กลายเป็นจดหมายหลง แต่ก็ไม่หวังเอาคะแนนอะไรก็คงไม่เป็นปัญหา

อนึ่ง ผู้ที่ของทานน้อยและของทานมาก ก็ต้องอาศัยเจตนาของเจ้าตัวแต่ละท่านให้ชัดแจ้ง เช่น ผู้มีมูลค่ามากๆ ถ้าไม่ทำสมฐานะของตนก็ไม่เหมาะสมอีก ทำให้สมฐานะก็ดีหรือเกินกว่าก็ดี ถ้าทำเพื่ออวดโลกโดยเจตนา อานิสงส์ก็ไม่มาก เรื่องการให้ทานท่านบรรยายอเนกปริยายมาก เรียกว่า “ทักขิณาวิสุทธิ ๔”

ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหก
ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคคาหกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
ทักขิณาบางอย่างบริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย
ทักขิณาบางอย่างไม่บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย


ยกอุทาหรณ์ กล้าไม่ดี นาดี ก็พอได้เก็บเกี่ยวบ้าง
นาไม่ดี กล้าดี ก็พอได้เก็บเกี่ยวบ้าง
กล้าก็ไม่ดี นาก็ไม่ดี การเก็บเกี่ยวก็น้อยลงอีก
กล้าก็ดี นาก็ดี เป็นชั้นที่หนึ่ง ดังนี้

และอีกอย่างหนึ่ง ท่านอธิบาย
ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉานร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่เท่าให้ทานแก่มนุษย์
ให้ทานแก่มนุษย์ธรรมดาร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่เท่าให้ทานแก่มนุษย์ผู้มีศีลมีธรรมครั้งหนึ่ง
ให้ทานแก่มนุษย์มีศีลธรรมร้อยพันครั้ง ก็ไม่เท่าให้ทานแก่พระโสดาบันครั้งหนึ่ง
ให้ทานแก่พระโสดาบันร้อยพันครั้ง ก็ไม่เท่าให้ทานแก่พระสกทาคามีครั้งหนึ่ง
ให้ทานแก่พระสกทาคามีร้อยพันครั้ง ก็ไม่เท่าให้ทานแก่พระอนาคามีครั้งหนึ่ง
ให้ทานแก่พระอนาคามีร้อยพันครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้ทานแก่พระอรหันต์ครั้งหนึ่ง
ให้ทานแก่พระอรหันต์ร้อยพันครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้ทานแก่พระปัจเจกฯ ครั้งหนึ่ง
ให้ทานแก่พระปัจเจกฯ ร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่เท่ากับให้ทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งหนึ่ง
ให้ทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าร้อยครั้งพันครั้ง
ก็ไม่เท่าให้ทานแก่คณะสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์นับแต่ ๔ รูปขึ้นไปครั้งหนึ่ง
ให้ทานแก่พระอรหันต์นับแต่ ๔ รูปขึ้นไปร้อยครั้งพันครั้ง ก็ไม่เท่าให้ทานแก่อุภโตสงฆ์
มีทั้งนางภิกษุณีอรหันต์และพระภิกษุอรหันต์นับแต่ ๔ รูปขึ้นไปหนึ่งครั้ง
ให้ทานแบบนี้ร้อยครั้งพันครั้ง
ก็ไม่เท่าให้ทานแก่พระอรหันต์ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติครั้งหนึ่ง
เพราะท่านเข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน ๗ คืน
ไม่มีการดื่มและฉันอาหารอะไรๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อออกมาใหม่ๆ รู้สึกหิวมาก


อีกประการหนึ่งเจตนาของผู้ทาน ทานแก้รำคาญก็ไม่ได้บุญมาก ทำตามธรรมเนียมของชาวโลกก็ไม่ได้บุญมาก ทำเพื่อตอบแทนก็ไม่ได้บุญมาก ทำเกรงว่าถ้าเราไม่ทำก็ไม่มีผู้ทำแล้วลงมือทำก็ไม่ได้บุญมาก ทำเพื่อเห็นแก่หน้าผู้รับก็ไม่ได้บุญมาก ทำเพื่ออวดชาวโลกก็ไม่ได้บุญมาก ทำเพื่อให้ได้อานิสงส์มนุษย์สมบัติก็ไม่ได้บุญมาก ทำเพื่อให้ได้สวรรค์สมบัติก็ไม่ได้บุญมาก ทำเพื่อให้ได้พรหมสมบัติก็ไม่ได้บุญมาก ทำเพื่อพระนิพพานสมบัติสิ่งเดียว นั้นแหละจึงได้อานิสงส์มากชั้นหนึ่งที่หนึ่งในจำนวนที่ว่ามานี้...

อีกประการหนึ่ง คนจนแต่มีศรัทธามากได้คิดคำนึงว่าเราเป็นคนจนถึงเพียงนี้ แต่ชาติก่อนไม่ได้ให้ทานไว้ในพระพุทธศาสนาเลย จึงเป็นคนจนถึงเพียงนี้ จะอย่างไรก็ตามเรามีผ้านุ่งผืนเดียวติดตัวเท่านี้ เราจำเป็นจะเอาใบไม้มานุ่งชั่วคราว แล้วก็ทำอย่างนั้นจริง เอาผ้านั้นไปซักฟอกให้ดี แล้วเอาไปขายที่ตลาด ทั้งเป็นชายหนุ่มด้วย พวกหญิงสาวเขาเห็น เขาก็กล่าวว่า “ชายขี้เหร่ทำไมจึงทำอย่างนั้น” ชายนั้นก็ตอบเขาว่า “มันขี้เหร่แต่ชาตินี้เอง ชาติหน้ามันหากจะงามดอกนางเอ๋ย” พูดกับเขาด้วยน้ำใสใจดีไม่โกรธเลย แล้วก็ขายผ้าได้เป็นเงิน ๑ กหาปณะ ประมาณ ๔ บาทเงินไทยในปัจจุบัน แล้วเอาไปซื้อด้ายเย็บผ้าให้พระในกองกฐิน บันดาลให้บันลือในอากาศ เทวดาเทวบุตรแซ่ซ้องร้องสาธุการ เศรษฐีเห็นมีกุศลเจตนาดีมาก ก็เลยแบ่งทรัพย์ให้เป็นเศรษฐีในปัจจุบันชาตินั้น นี้เล่าเรื่องย่อเกินไป ต้องการพิสดารจงไปดูเรื่องของติณบาลในพระไตรปิฎกเทอญ

ส่อแสดงให้เห็นว่าเชื่อผลศีลผลทานอย่างเต็มภูมิ เพราะคำนึงเพ่งโทษตนเองที่ไม่เคยบริจาคทานมาแต่ชาติก่อนๆ ดังนี้ มีปัญหาว่า “ต่อไปจะให้กระผมปฏิบัติอย่างไร” ขอตอบว่า หลวงปู่จะให้สิทธิ์เจ้าตัว (ท่านผู้อ่านผู้ฟัง) ให้ตกลงใจเอาเอง จึงไม่เป็นการบังคับกันจึงถูก สันทิฏฐิโก ในพระบาลี ที่พระองค์ทรงให้เห็นเอง ยกอุทาหรณ์อีก เกลือนี้เค็มขนาดไหน จะให้จิ๊บแทนก็ไม่ได้ ขอให้จิ๊บเอาเองเถิดดังนี้เป็นต้น



คัดมาจาก...หนังสือ หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต ตอบปัญหาธรรมะ
ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒๐, เดือนกันยายน ๒๕๕๓
:b8: :b8: :b8:

:b50: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44660

:b50: รวมคำสอน “หลวงปู่หล้า เขมปัตโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=38521

:b50: นางวิสาขามหาอุบาสิกา (นางวิสาขามิคารมาตา มหาอุบาสิกา)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57225

:b50: น้ำแบบไหนคือ “น้ำปานะ” หรือ “น้ำอัฏฐบาน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=44859


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร