วันเวลาปัจจุบัน 16 ก.ย. 2024, 20:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.ค. 2013, 10:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ธ.ค. 2009, 00:22
โพสต์: 223

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

------------------------------------

ในการศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนานั้น ผู้ศึกษาจำเป็นต้องศึกษาให้เข้าใจในเรื่องการทำบุญประเภทต่าง ๆ ว่า มีอะไรบ้าง และการทำบุญประเภทนั้น ๆ ทำอย่างไรจึงจะถูกต้องและได้ผลมาก เพราะการทำบุญเป็นกรรมดีหรือกุศลกรรม ที่ทุกคนควรบำเพ็ญ

ฉะนั้น ในตอนนี้ จะพูดถึงบุญกิริยาวัตถุ คือ หลักแห่งการบำเพ็ญบุญ ในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เข้าใจกฎแห่งกรรมชัดเจนยิ่งขึ้น


:b39: ลักษณะของบุญ

บุญ คือ อะไร? บุญคือสภาพที่ทำจิตใจให้สะอาดให้ผ่องใส ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายแรกนี้ จึงหมายถึงสภาพของจิตหรือคุณภาพของจิตที่ผ่องใส

อีกอย่างหนึ่ง บุญ หมายถึงความสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย คำว่าบุญนี้ เป็นชื่อของความสุข" ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายที่ ๒ นี้ จึงหมายถึงความสุขความเจริญ

อีกอย่างหนึ่ง บุญ หมายถึงการทำความดี ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "พึงสั่งสมบุญทั้งหลาย อันจะนำความสุขมาให้" ฉะนั้น ลักษณะของบุญในความหมายที่ ๓ นี้ หมายถึงการทำดี เช่น การให้ทาน การรักษาศีล เป็นต้น

ดังนั้น บุญจึงมีลักษณะ ๓ ประการ คือ

๑. เมื่อว่าถึงเหตุของบุญ บุญได้แก่การทำความดี

๒. เมื่อว่าถึงผลของบุญ บุญได้แก่ความสุขความเจริญ

๓. เมื่อว่าถึงสภาพของจิต บุญได้แก่จิตใจที่ผ่องใส สะอาด


แม้ลักษณะของบาปก็มีนัยตรงกันข้ามกับลักษณะของบุญ การเข้าใจเรื่องบุญจะต้องเข้าใจลักษณะของบุญทั้ง ๓ ประการนี้ ถ้าเข้าใจเพียงลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ชื่อว่ายังเข้าใจบุญไม่ตลอด เช่น บางคนเข้าใจบุญเพียงแต่เหตุของบุญ เช่นว่า คนนี้ทำบุญด้วยการให้ทาน ส่วนคนโน้นทำบุญด้วยการรักษาศีล เป็นต้น นี้เข้าใจเพียงแต่เหตุของบุญเท่านั้น

บางคนเข้าใจบุญเพียงแต่ผลของบุญ เช่นว่า "คนนั้นมีความสุข เพราะเขามีบุญ" นี้เข้าใจเพียงผลของบุญเท่านั้น

บางคนเข้าใจบุญเพียงแต่สภาพของจิตที่ผ่องใส เช่นว่า "คนนั้นจิตใจของเขาสะอาด มีเมตตากรุณา เพราะเขาเป็นคนใจบุญ" นี้เข้าใจเพียงสภาพจิตที่สะอาดผ่องใสเท่านั้น

เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจเรื่องบุญในพระพุทธศาสนา เราจะต้องเข้าใจถึงลักษณะของบุญทั้ง ๓ ประการดังกล่าวแล้ว จึงจะชื่อว่าเข้าใจบุญได้หมดและถูกต้อง


:b39: บุญกิริยาวัตถุ

บุญกิริยาวัตถุ แปลว่า หลักแห่งการบำเพ็ญบุญ หรือ ที่ตั้งแห่งการทำบุญ

บุญกิริยาวัตถุ โดยย่อมี ๓ อย่าง คือ

๑. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน

๒. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล

๓. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา


หมายความว่า วิธีหรือหลักแห่งการทำบุญในพระพุทธศาสนา เมื่อพูดโดยย่อแล้วก็มีเพียง ๓ อย่าง คือ ทาน ศีล และภาวนา

แต่ถ้าขยายความให้กว้างออกไป บุญกิริยาวัตถุมี ๑๐ ประการ คือ

๑. ทานมัย บุญเกิดจากการให้ทาน

๒. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล

๓. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา

๔. อปจายนมัย บุญเกิดจากการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่

๕. เวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ

๖. ปัติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ

๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ

๘. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม

๙. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม

๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง


การทำบุญในพระพุทธศาสนา มี ๑๐ อย่างนี้เท่านั้น ไม่ได้มากไปกว่านี้ ถ้านอกไปจากนี้ก็ไม่ใช่บุญในพระพุทธศาสนา

บุญกิริยาวัตถุ ๓ ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ปรากฏในคัมภีร์รุ่นหลัง ๆ คือ อรรถกถาทีฆนิกาย และอภิธัมมัตถสังคหะ การที่ท่านขยายบุญกิริยาวัตถุออกเป็น ๑๐ ก็เพื่อให้เข้าใจหลักการทำบุญในพระพุทธศาสนาชัดเจนยิ่งขึ้น

บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ย่อลงในบุญกิริยาวัตถุ ๓ ดังนี้

บุญกิริยาวัตถุข้อ ๔ และข้อ ๕ คือ อปจายนมัย และเวยยาวัจจมัย จัดเข้าใน ศีล เพราะเข้าในลักษณะของความเรียบร้อย

บุญกิริยาวัตถุข้อ ๖ และข้อ ๗ คือ ปัตติทานมัย และปัตตานุโมทนามัย จัดเข้าใน ทาน เพราะเข้าลักษณะการให้

บุญกิริยาวัตถุข้อที่ ๘ และข้อ ๙ คือ ธัมมัสสวนมัย และธัมมเทสนามัย จัดเข้าใน ภาวนา เพราะเข้าในลักษณะของการอบรมจิต

ส่วนทิฏฐุชุกัมม์ จัดเป็นภาวนา เพราะเป็นลักษณะของปัญญา เป็นสัมมาทิฐิ อันตรงกันข้ามกับมิจฉาทิฏฐิ แต่บางอาจารย์จัดให้ทิฏฐุชุกัมม์เป็นได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา เพราะการที่คนจะให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาได้ก็ต่อเมื่อความเห็นชอบตรง มิฉะนั้นแล้วเขาจะไม่ทำบุญไม่ว่าอย่างไหน

คำว่า "มัย" ที่ต่อท้ายบุญกิริยาวัตถุทุกข้อนั้น มาจากคำบาลีว่า "มะยะ" แปลว่า "สำเร็จหรือเกิด" เช่น ทานมัย บุญสำเร็จจากการให้ทาน หรือบุญเกิดจากการให้ทาน


ขยายความบุญกิริยาวัตถุ ๑๐

ในการทำบุญตามหลักพระพุทธศาสนานั้น บางคนก็ทำถูก เพราะเข้าใจในการทำบุญและทำด้วยความมั่นใจเพราะเห็นว่าเป็นบุญ เป็นกุศล เป็นความดี หรือเป็นกรรมดี จึงทำ แม้จะสิ้นเปลือง เหน็ดเหนื่อยลำบาก และใช้เวลานานเพียงไร ก็ยินดีทำ เพราะเห็นชัดว่าการทำบุญนี้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนและผู้อื่นเป็นอันมาก

แต่บางคนไม่เข้าใจเรื่องบุญ หรือหลักการทำบุญ หรือเข้าใจเพียงบางส่วน เพราะไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ เมื่อผู้อื่นบอกให้ทราบหรือบอกให้ทำอย่างใดก็ทำอย่างนั้น หรือเห็นเขาทำก็ทำบ้าง แต่ไม่เข้าใจในเรื่องของบุญ หรือเข้าใจเพียงบางส่วน อาจจะผิดหรือถูกก็ไม่รู้แน่

บางคนก็ทำด้วยความงมงายและถูกหลอกลวง เพราะไม่รู้หลักการทำบุญที่ถูกต้อง พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะเข้าใจเรื่องการให้ทานมากกว่าการทำบุญอย่างอื่น แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่ถูกหลอกลวง หรือให้ทานอย่างผิดหลักและได้ผลน้อย

ฉะนั้น จึงควรศึกษาให้เข้าใจถูกต้อง ในเรื่องการทำบุญในพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะหลักการทำบุญ ๑๐ อย่าง ที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุ เพราะถ้าเข้าใจหลักการทำบุญ ๑๐ อย่างนี้แล้วก็จะได้ทำบุญหรือสร้างความดีอย่างถูกต้อง ไม่งมงาย และได้ผลมาก ไม่เสียทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์นับถือพระพุทธศาสนา


๑. ทานมัย บุญที่เกิดจากการให้ทาน

การให้ทาน คือ การให้เป็นวัตถุสิ่งของของตนแก่ผู้อื่น เป็นบุญชนิดหนึ่ง เรียกว่า บุญ เกิดจากการให้

จุดมุ่งหมายของการให้ทานของคนเรามีหลายอย่าง เช่น

๑. ให้เพื่อบูชาคุณ เช่น ให้แก่พระสงฆ์ พ่อแม่ หรือครูอาจารย์ ผู้มีคุณแก่คนและสังคมโดยส่วนรวม

๒. ให้เพื่อสาธารณประโยชน์ เช่น มอบเงินทองหรือสิ่งของให้แก่พระศาสนา หรือเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์แก่ประเทศชาติ

๓. ให้เพื่ออนุเคราะห์ เช่น ให้ญาติพี่น้อง ลูกหลาน ผู้น้อย เพื่อช่วยเหลือ หรือให้ด้วยความรักความเอ็นดู

๔. ให้เพื่อสงเคราะห์ เช่น ให้แก่คนตกทุกข์ได้ยาก คนประสบภัยพิบัติ หรือแก่สัตว์ดิรัจฉาน เป็นต้น

๕. ให้เพื่อชำระกิเลส เพื่อสร้างความดี เช่น ให้ทานเพื่อสำเร็จมรรคผล หรือการบำเพ็ญทานบารมีของพระพุทธเจ้าเพื่อสำเร็จพระโพธิญาณ

แต่การให้ดังต่อไปนี้ ไม่จัดเป็นทาน คือ ให้ยาพิษ ให้น้ำเมา ให้ของเสพติดให้โทษ ให้สินบน ให้ค่าจ้าง ให้อาวุธเพื่อฆ่าตนเองหรือฆ่าผู้อื่น เพราะไม่ใช่ให้ด้วยกุศลจิต

การให้ทานทุกชนิด ย่อมมีผลทั้งสิ้น แม้แต่บุคคลเทน้ำลงในหลุมหรือบ่อเล็ก ๆ ด้วยหวังว่าจะให้สัตว์เล็ก ๆ ได้อาศัยน้ำนั้นเป็นอยู่ พระพุทธองค์ยังตรัสว่า เป็นบุญ ไม่จำเป็นต้องพูด ถึงทานที่ให้แก่มนุษย์ แต่ทานที่จะให้ผลมากได้นั้น ก็ต้องเป็นทานที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

๑. ของที่ให้ทานนั้น เป็นของที่ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ไม่ใช่ของโกง หรือลักจากผู้อื่นมา

๒. ของที่ให้นั้น เป็นของดี ของบริสุทธิ์ หรือของมีค่ามาก

๓. ปฏิคาหกผู้รับทาน เป็นผู้มีคุณธรรมสูง หรือกิเลสเบาบาง ปฏิบัติเพื่อทำลายกิเลส หรือปราศจากกิเลส

๔. ให้แก่สงฆ์ คือ เป็นสังฆทาน

๕. ทายกผู้ให้มีใจเลื่อมใส ในกาลทั้ง ๓ คือ

๑. ปุพพเจตนา ก่อนแต่ให้มีใจยินดี
๒. มุญจนเจตนา กำลังให้มีใจเลื่อมใส
๓. อปรเจตนา ให้เสร็จแล้วมีใจเบิกบาน

ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

ปุพฺเพว ทานา สุมโน ททํ จิตฺตํ ปสาทเย
ทตฺวา อตฺตมโน โหติ เอสา ยญฺญสฺส สมฺปทา.

ทายกผู้ให้ทานนั้น ก่อนให้ก็มีใจยินดี กำลังให้ก็ทำ
ใจให้เลื่อมใส ให้เสร็จแล้วก็มีใจเบิกบาน ข้อนี้ คือ
ความสมบูรณ์ของยัญ (ทาน)


ทาน กับ จาคะ

การให้ทานในพระพุทธศาสนา บางครั้งเรียกว่า การบริจาค แต่บางทีก็พูดรวมกันว่า บริจาคทาน

แท้ที่จริง ทาน ก็คือการบริจาคหรือจาคะนั้นเอง เป็นเพียงแต่ว่า ถ้าพูดแยกกัน ทานก็มีความหมายอย่างหนึ่ง จาคะก็มีความหมายอย่างหนึ่ง คือ

ทาน หมายถึง การให้ โดยหวังผลตอบแทน เช่น หวังให้ร่ำรวย หวังให้รูปสวย หรือหวังให้เกิดในสวรรค์ เป็นต้น

ส่วน จาคะ หรือการบริจาค หมายถึง การสละ คือสละกิเลส สละความตระหนี่ถี่เหนี่ยวของตน สละความเห็นแก่ตัว สละความสุขส่วนตัว เพื่อส่วนรวม เช่น พระพุทธเจ้าทรงบริจาคทาน เพื่อมุ่งสำเร็จพระโพธิญาณ เพื่อตรัสรู้ มุ่งรื้อสัตว์ขนสัตว์ให้พ้นจากทุกข์

แต่ถ้าพูดถึงทานอย่างเดียว ไม่พูดถึงการบริจาค จาคะ หรือการบริจาคก็รวมลงในทานอย่างเดียว คือ ทาน หมายถึงการบริจาคด้วย แต่ถ้าพูดแยกกัน อย่างในทศพิธราชธรรม พูดถึงเรื่องทานด้วย พูดถึงการบริจาคด้วย ทานก็มีความหมายอย่างหนึ่ง บริจาคก็มีความหมายอย่างหนึ่ง ดังกล่าวข้างต้น

ผลของทานมีมาก ให้มนุษย์สมบัติก็ได้ ให้สวรรค์สมบัติก็ได้ ให้นิพพานสมบัติก็ได้ แต่โดยเฉพาะทำให้เป็นคนไม่ยากจน มีทรัพย์สมบัติ ทำให้มีบริวารมาก และเป็นที่รักของคนทั้งหลาย


๒. สีลมัย บุญเกิดจากการรักษาศีล

ศีล หมายถึง การรักษากายและวาจาให้เรียบร้อย ศีล แปลได้ ๓ อย่าง คือ

๑. ศีล แปลว่า "ปกติ" คือ ทำกาย และวาจาให้เป็นปกติให้เรียบร้อย ไม่ทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้ใด

๒. ศีล แปลว่า "เย็น" คือ ทำให้คนเยือกเย็น ทำให้เย็นกาย เย็นใจ ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะขาดศีล

๓. ศีล แปลว่า "เกษม" คือ ปลอดภัย ทำให้เบากายเบาใจ

ศีลมีหลายประเภท คือ

๑. ศีล ๕ หรือ ศีลกรรมบถ สำหรับคนทั่วไป

๒. ศีล ๘ หรือ ศีลอุโบสถ สำหรับอุบาสกอุบาสิกา

๓. ศีล ๑๐ สำหรับสามเณร

๔. ศีล ๒๒๗ หรือ ปาริสุทธิศีล ๔ สำหรับพระภิกษุ

การรักษาศีลต้องมีเจตนาจึงจะเป็นศีลได้ ถ้าไม่มีเจตนาจะงดเว้นหรือจะรักษาศีลแล้ว แม้ผู้นั้นไม่ทำความชั่ว เช่น ไม่ฆ่าสัตว์หรือไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น ก็ไม่มีศีล เหมือนเด็กที่นอนแบเบาะ แม้ไม่ทำชั่วก็ไม่ก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น หรือเหมือนอย่างวัวควาย แม้มันไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ก็ไม่มีศีล เพราะไม่มีเจตนาจะงดเว้น

การที่จะมีศีลได้ก็ต้องมีวิรัติ คือมีเจตนาที่จะงดเว้นจากโทษนั้น ๆ


วิรัติ ๓

วิรัติ แปลว่า การงดเว้น มี ๓ อย่าง คือ

๑. สมาทานวิรัติ งดเว้นด้วยการสมาทาน เป็นวิรัติของปุถุชนทั่วไป เช่น สมาทานศีล ๕ สมาทานศีล ๘ เป็นต้น

๒. สัมปัตตวิรัติ งดเว้นด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจำเพาะหน้า เป็นวิรัติของผู้ที่ไม่ตั้งใจจะรักษาศีลมาก่อน คือ คนบางคนไม่ตั้งใจว่าจะรักษาศีล แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจำเพาะหน้าอันอาจจะให้ล่วงศีลได้ แต่ไม่ยอมล่วงศีล เกิดงดเว้นขึ้นมาในขณะนั้น

เช่น มีโอกาสจะฆ่าสัตว์ หรือฆ่าคนได้ แต่ไม่ฆ่า หรือมีโอกาสจะลักของของคนอื่นได้แต่ไม่ลัก หรือมีโอกาสจะประพฤติผิดในกามได้ แต่ไม่ยอมประพฤติผิดในกาม โดยมาคำนึงว่า การกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะไม่ควรแก่ฐานะ และสกุลของตนอย่างตนเอง จึงงดเว้นเสียในขณะนั้น การงดเว้นอย่างนี้ ท่านเรียกว่า สัมปัตตวิรัติ

๓. สมุจเฉทวิรัติ งดเว้นได้เด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป คือ พระอริยบุคคลทุกจำพวกมีศีล ๕ บริบูรณ์ที่สุด ท่านงดเว้นจากเวร ๕ ได้เด็ดขาด โดยไม่ต้องสมาทาน หรือคอยพะวงรักษา เพราะท่านเห็นโทษของการประพฤติล่วงศีลอย่างแท้จริง

แม้ใครจะมาบังคับให้ท่านประพฤติล่วงศีล ๕ ท่านยอมตายเสียดีกว่าที่จะประพฤติล่วง การละความชั่วในขั้นนี้ของท่านจึงเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ละได้เด็ดขาด หรือเป็นสมุจเฉทวิรัติ คืองดเว้นได้เด็ดขาด


อานิสงส์ของศีล

ศีลมีอานิสงส์เป็นอันมาก เช่น ทำให้เป็นที่รักเป็นที่เคารพของคนทั้งหลาย อยู่ในสังคมอย่างสงบสุข ไม่ก่อเวรก่อภัยต่อผู้ใด ทำให้เป็นคนสง่างาม มีผิวพรรณผ่องใส แต่กล่าวโดยสรุปอานิสงส์ของศีล มี ๓ อย่าง ดังคำพระบาลีบอกอานิสงส์ของศีลว่า

๑. สีเลน สุคฺตึ ยนฺติ บุคคลจะไปสู่สุคติได้ก็เพราะศีล

๒. สีเลน โภคสมฺปทา บุคคลจะได้โภคทรัพย์สมบัติได้ก็เพราะศีล

๓. สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ บุคคลจะดับทุกข์ความเดือดร้อนจนเข้าถึงพระนิพพานได้ก็เพราะศีล

เพราะฉะนั้น ทุกคนควรรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไว้เถิด ก็จะรับอานิสงส์ดังกล่าวแล้วในที่สุดได้


๓. ภาวนามัย บุญเกิดจากการเจริญภาวนา

ภาวนา เป็นหลักธรรมชั้นสูงในพระพุทธศาสนา หมายถึง การอบรมจิต หรือ การพัฒนาจิต คือ ทำจิตให้มีค่าสูง ได้แก่ ทำจิตให้สะอาด สงบ สว่าง

ภาวนา มี ๒ อย่าง คือ

๑. สมถภาวนา การทำใจให้สงบ เป็นหลักธรรมขั้นสมาธิ

๒. วิปัสสนาภาวนา การทำใจให้รู้แจ้งเห็นจริงจนตัดกิเลสได้หมด เป็นหลักธรรมขั้นปัญญา

ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนา ถ้าไม่ได้เจริญหรือบำเพ็ญภาวนาจนจิตของตนเกิดความสงบ เยือกเย็น เห็นคุณค่าของพระศาสนาในด้านนี้แล้ว ชื่อว่ายังไม่รู้จักพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เพราะธรรมขั้นทานและศีลนั้นแม้ในศาสนาอื่นก็มี ถึงจะไม่เหมือนกันก็ตาม

ในสมัยพุทธกาล เรียกการฝึกจิตว่า ภาวนา หรือ จิตตภาวนา แต่ในสมัยต่อมา ศัพท์ทางพระพุทธศาสนาเปลี่ยนไป พุทธศาสนิกชน จึงเรียกการฝึกจิตว่า "กรรมฐาน" แทนที่จะเรียกว่า "ภาวนา" คำว่า "กรรมฐาน" ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ปรากฎในคัมภีร์อรรถกถา หรือ คัมภีร์รุ่นหลัง

คำว่า "กรรมฐาน" จึงมักคุ้นหูกว่าคำว่า "ภาวนา" แต่ในปัจจุบันคำว่า "ภาวนา" เริ่มนำมาใช้กันมากขึ้น เช่นมีการชักชวนให้มีการเจริญภาวนาพุทโธ กันในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทยองค์ปัจจุบัน เป็นต้น

กรรมฐาน แปลว่า "ที่ตั้งแห่งการงาน" คือ จิตต้องมีงานทำจึงมีคุณค่าสูงขึ้นได้ และงานนั้นจะต้องมีฐานที่ตั้ง จึงเรียกงานฝึกจิตว่า "กรรมฐาน" คือ งานประเสริฐของจิต กรรมฐานก็คือภาวนานั่นเอง และมี ๒ อย่างเช่นกัน คือ

๑. สมถกรรมฐาน กรรมฐานขั้นทำใจให้สงบ

๒. วิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานขั้นทำใจให้รู้แจ้งเห็นจริง

การเจริญภาวนาหรือการทำกรรมฐานนี้ได้บุญกุศลมากกว่าการให้ทาน และการรักษาศีล คือ ทาน มีผลน้อยกว่าศีล ศีลมีผลน้อยกว่าสมาธิ สมาธิมีผลน้อยกว่าปัญญา ปัญญามีผลมากที่สุด เพราะสามารถนำไปสู่การตัดกิเลสได้ เข้าสู่พระนิพพาน เข้าถึงความสิ้นทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง


๔. อปจายนมัย บุญเกิดจากการอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่

การอ่อนน้อมถ่อมตน จัดเป็นบุญประการหนึ่ง เพราะจิตไม่แข็งกระด้าง แต่การอ่อนน้อมนั้นต้องอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรอ่อนน้อม ถ้าไปอ่อนน้อมหรือบูชาคนที่ไม่ควรบูชา ก็จะเกิดโทษแทนที่จะเกิดคุณ

คนที่ควรอ่อนน้อม ท่านเรียกว่า วุฑฒบุคคล ซึ่งมีอยู่ ๓ ประเภท คือ

๑. วัยวุฑฒะ คือ คนที่แก่กว่าเรา อายุมากกว่าเรา เช่น พี่ ป้า น้า อา ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า


๒. ชาติวุฑฒะ คือ คนที่มีชาติกำเนิดสูงกว่าเรา คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา แม้จะมีอายุน้อยกว่าเรา แต่ชาติตระกูลสูงก็ควรแสดงความเคารพ เพราะเป็นไปเพื่อความเจริญ

๓. คุณวุฑฒะ คือ คนที่มีคุณธรรมสูงกว่า เช่น พระภิกษุสามเณร แม้จะมีอายุน้อยกว่า เราก็ควรนอบน้อมถ่อมตนต่อท่าน เพราะท่านมีคุณธรรม คือ ศีลสูงกว่าเรา หรือคนที่มีบุญคุณต่อเรา เช่น พ่อ แม่ หรือ ครูอาจารย์ เพราะท่านมีคุณต่อเรา หรือต่อสังคม

การแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนต่ออวุฑฒบุคคล ๓ ประเภทดังกล่าวมาแล้ว ด้วยการกราบไหว้ ลุกรับ หรือพูดจาแสดงสัมมาคารวะ หรือให้เกียรติต่อท่านเป็นต้น จัดเป็นการทำบุญประการหนึ่งในพระพุทธศาสนา ย่อมได้รับความสุขความเจริญในชีวิตได้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

อภิวาทนสีลิสฺส นิจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํฯ

พร ๔ ประการ คือ อายุยืน ๑ ผิวพรรณผ่องใส ๑
การมีความสุขกายสุขใจ ๑ การมีกำลังกายกำลังใจ ๑
ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีการกราบไหว้เป็นปกติ
ประพฤตินอบน้อมต่อวุฑฒบุคคล (ผู้ใหญ่) อยู่เป็นนิตย์ฯ


๕. เวยยาวัจจมัย บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ

การช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ คือ การช่วยในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นต่อส่วนรวมจัดเป็นบุญประการหนึ่ง เช่น ช่วยเขาสร้างสะพาน สร้างถนน ขุดคลอง ขุดสระ ขุดบ่อน้ำ สร้างศาลา สร้างวัด สร้างโรงพยาบาลปลูกต้นไม้ ทำถนนหนทางให้สะอาด ช่วยกวาดวัด ด้วยกำลัง กาย หรือช่วยงานบวชนาค งานกฐิน หรือช่วยงานทำบุญเลี้ยงพระ ช่วยนิมนต์พระ หรือช่วยขับรถรับส่งพระ หรือคนที่มาช่วยในงานเป็นต้น ทั้งหมดนี้จัดเป็นบุญทั้งสิ้น

แม้การช่วยเหลือคนเจ็บป่วย คนตกน้ำ คนถูกรถชน หรือคนประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ ก็เป็นบุญ แม้แต่ช่วยนำคนแก่ข้ามถนนให้ปลอดภัย และชี้ทางให้แก่คนหลงทางก็จัดเป็นเวยยาวัจจมัย อันจัดเป็นบุญทั้งสิ้น

ผลของบุญข้อนี้มีมาก เช่น ไปที่ใดก็จะได้รับความสะดวกได้รับความช่วยเหลือ ไม่ขัดข้องเดือดร้อน ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ มฆมาณพพร้อมด้วยเพื่อน ๓๓ คน ที่สร้างถนน และสร้างศาลา เพื่อสาธารณประโยชน์แก่คนทั้งหลายแล้วไปเกิดในสรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งกล่าวไว้ในอรรถกถาธรรมบท เป็นตัวอย่างของบุญข้อนี้


๖. ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ

พุทธศาสนิกชน เมื่อทำบุญอันใดแล้วก็มักจะอุทิศส่วนบุญนั้นแก่ท่านผู้มีพระคุณ หรือแก่คนอื่น สัตว์อื่นเป็นอันมาก เพราะทำให้ได้รับผลบุญเพิ่มขึ้น เป็นการแสดงออกถึงการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่ขี้เหนียว มีใจกว้างหวังประโยชน์สุขต่อคนอื่นสัตว์อื่น

เมื่อตนได้รับบุญแล้วก็หวังจะให้คนอื่นสัตว์อื่นได้รับบุญนั้นด้วย เหมือนคนมีความรู้แล้วก็ถ่ายทอดให้แก่คนอื่น ด้วยหวังให้เขาได้มีความรู้ความสามารถด้วย

บางคนทำบุญ เช่น ให้ทาน รักษาศีล หรือเจริญภาวนาแล้วก็ไม่ยอมอุทิศบุญที่ได้รับนั้นให้แก่ผู้ใดก็ได้บุญแต่ผู้เดียว และได้บุญเฉพาะในเรื่องของทาน ศีล หรือ ภาวนาที่ตนได้ทำเท่านั้น แต่ไม่ได้บุญข้อปัตติทานมัย แต่ถ้าหากว่าผู้นั้นอุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้อื่นด้วย เขาก็จะได้บุญเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ ปัตติทานมัย บุญเกิดจากการให้ส่วนบุญ

การให้ส่วนบุญนั้น สามารถให้ได้ทั้งแก่คนเป็นและคนที่ตายไปแล้ว บางคนเข้าใจผิดว่าการให้ส่วนบุญหรืออุทิศส่วนกุศลให้ได้เฉพาะคนตายเท่านั้น ข้อนี้เข้าใจผิด แท้ที่จริง การให้ส่วนบุญนี้สามารถให้ได้ทั้งแก่คนที่ยังมีชีวิตและแก่ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว

การให้ส่วนบุญแก่คนที่ยังมีชีวิตอยู่ จะให้ต่อหน้าก็ได้ ให้ลับหลังก็ได้การให้ต่อหน้า เช่น เราทำบุญมาสักอย่างหนึ่ง จะเกิดจากทานก็ตามจากศีลก็ตาม หรือจากภาวนาก็ตาม เมื่อเราพบพ่อแม่หรือญาติมิตร ก็บอกว่า "วันนี้กระผม (หรือดิฉัน) ได้บวชลูกหรือบวชหลานมา ขอให้คุณพ่อ...จงได้ได้รับส่วนกุศลนั้นด้วย ขอให้อนุโมทนาในส่วนกุศลครั้งนี้ด้วย" ผู้รับจะอนุโมทนาหรือไม่ก็ตาม แต่ผู้ให้ย่อมได้รับส่วนบุญแล้ว ถ้าเขาอนุโมทนา เขาก็ได้รับบุญข้อปัตตานุโมทนามัย

การให้ลับหลัง เข่น ในปัจจุบัน ชาวไทยจำนวนมากรวมทั้งพระสงฆ์ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ก็มักจะบำเพ็ญบุญกุศลโดยเสด็จพระราชกุศล มีการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา แล้วถวายพระราชกุศลแก่พระองค์ท่าน อย่างนี้ก็เรียกว่า ปัตติทานมัยเช่นกัน

การให้ส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เขาจะตายไปแล้วนานเท่าไรก็ได้ จะอุทิศเป็นภาษาไทยก็ได้ เป็นภาษาบาลี หรือภาษาอื่นใดก็ได้ มีน้ำกรวดก็ได้ ไม่มีน้ำกรวดก็ได้ มีกระดูกและชื่อของผู้นั้นก็ได้ ไม่มีก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้งสิ้น

อย่างในกรณีเปรตผู้เป็นพระญาติของพระเจ้าพิมพิสาร พระองค์ก็ทรงจำชื่อพระญาติเหล่านั้นไม่ได้แม้แต่คนเดียว พระองค์อ้างในคำอุทิศว่า เป็นญาติเท่านั้นก็ถึงได้ เพราะเปรตผู้เป็นญาติเหล่านั้นกำลังรอรับส่วนบุญอยู่แล้ว ดังคำบาลีที่พระองค์อุทิศส่วนกุศลแก่พระญาติของพระองค์หลังจากที่พระองค์ทรงบริจาคทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขว่า

"อิทํ เม ญาตีนํ โหตุ ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า สุขิตา โหนตุ ญาตโย ขอญาติทั้งหลายจงถึงความสุข"

เพียงเท่านี้ก็สำเร็จ โดยพระองค์ไม่ได้บ่งชื่อญาติเหล่านั้นเลยแม้แต่พระองค์เดียว และในการกรวดน้ำครั้งนั้นไม่ต้องใช้น้ำเลย

การอุทิศส่วนบุญโดยมีน้ำกรวดเพิ่งนำมาใช้ในยุคหลังนี้เอง คือหลังจากครั้งพุทธกาล แต่จะเกิดขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่เท่าไร ยังหาหลักฐานไม่พบกล่าวกันว่า พุทธศาสนิกชนในประเทศอินเดียเห็นพราหมณ์ลงไปในแม่น้ำคงคา เอามือวักน้ำแล้วหยอดลงไปในแม่น้ำตามเดิม พร้อมกับกล่าวอุทิศว่า "ขอให้น้ำนี้จงถึงแก่พ่อแม่ของข้าพเจ้า"

พุทธศาสนิกชนเห็นพวกพราหมณ์กรวดน้ำเช่นนี้ จึงเห็นว่าเข้าทีดี จึงได้นำน้ำมาประกอบในการอุทิศส่วนกุศล เรียกกันในปัจจุบันว่า "การกรวดน้ำ" พระสงฆ์เห็นว่าไม่ผิดหลักพุทธศาสนาอันใด จึงอนุโลมให้ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน

แท้ที่จริง การอุทิศส่วนกุศลที่เรียกว่าปัตติทานมัยนั้น เดิมทีไม่ต้องใช้น้ำเลย ฉะนั้น การอุทิศส่วนกุศล จะมีน้ำด้วยก็ได้ ไม่มีก็ได้ ย่อมสำเร็จทั้งสิ้น

แต่การอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ไปเกิดเป็นเปรตนั้น บุญนั้นจะต้องเกิดจากทานเท่านั้น และเปรตที่จะได้รับส่วนบุญนี้ก็เฉพาะ ปรทัตตูปชีวิเปรต คือ เปรตที่อาศัยทานที่คนอื่นให้ ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์อย่างนี้

การที่พวกเปรตจะได้รับส่วนบุญนั้น ต้องประกอบด้วยปัจจัย ๓ ประการ คือ

๑. การอุทิศของผู้ให้
๒. การอนุโมทนาของเปรต
๓. ปฏิคาหก (ผู้รับทาน) เป็นผู้ทรงศีล


ต้องพร้อมทั้ง ๓ ประการนี้ จึงจะสำเร็จผล ถ้าขาดแม้ข้อเดียว เช่น ปฏิคาหกไม่มีศีล บุญก็ไม่ถึง อันปฏิคาหกผู้รับทานนั้นไม่จำเป็นต้องได้ภิกษุสามเณรผู้ทรงศีลเท่านั้นเสมอไป ในคัมภีร์ท่านกล่าวไว้ว่า แม้อุบาสกผู้ทรงศีลก็สามารถทำให้ทานสำเร็จแก่พวกเปรตได้เช่นกัน ดังมีตัวอย่างปรากฏอยู่ในเรื่องนางเวมาณิกาเปรต ในอรรถกถาเปตวัตถุ


๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญเกิดจากการอนุโมทนาส่วนบุญ

การอนุโมทนาหรือการยินดีส่วนบุญที่คนอื่นให้ หรือส่วนบุญที่คนอื่นทำ ก็เป็นบุญเช่นกัน

ปกติ พุทธศาสนิกชนเมื่อทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะการให้ทาน ก็มักจะอุทิศหรือให้ส่วนกุศลแก่ผู้อื่น ทั้งผู้ที่มีชีวิตอยู่และล่วงลับไปแล้ว

ผู้ที่ต้องการบุญและเข้าใจเรื่องนี้ ก็อนุโมทนาหรือพลอยยินดีในส่วนบุญนั้น เช่น เปรตพระญาติของพระเจ้าพิมพิสารอนุโมทนาส่วนบุญ ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงอุทิศให้ ก็พ้นจากภาวะแห่งเปรต อันตนได้รับทุกข์ทรมานอยู่เป็นเวลานาน ได้เกิดเป็นเทพบุตรเทพธิดา หลังจากที่ได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว

แม้ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็อนุโมทนาส่วนบุญที่คนอื่นให้ได้เช่นกัน ดังที่คนไทยสมัยก่อนนิยมปฏิบัติกัน คือเมื่อปู่ ย่า ตา หรือยาย กลับมาจากทำบุญที่วัดมาถึงบ้าน เดินขึ้นบันได ลูกหลานก็ต้อนรับด้วยการช่วยรับปิ่นโตหรือกระเช้าใส่หมากพลู พร้อมกับจูงมือท่านขึ้นบนบ้าน ท่านเมื่อเห็นลูกหลานมาต้อนรับเช่นนั้น ก็ให้ศีลให้พรลูกหลาน พร้อมกับกล่าวว่า "วันนี้ย่า (ยาย ปู่ หรือตา) ได้ไปทำบุญที่วัด ขอให้ลูกหลานทุกคนได้รับส่วนกุศลโดยทั่วกัน"

ลูกหลานก็จะรับด้วยการกล่าวอนุโมทนาว่า "สาธุ" อย่างนี้ก็ชื่อว่าได้รับส่วนบุญนั้นแล้ว

การอนุโมทนาส่วนบุญนั้น แม้ไม่มีใครบอกให้ แต่เมื่อเราทราบว่าคนโน้นคนนี้ทำบุญอย่างนั้น อย่างนี้ เช่น สร้างโบสถ์ ๑,๐๐๐ บาท สร้างโรงพยาบาล ๑ ล้านบาท หรือได้ยินเขาประกาศทางวิทยุหรือเครื่องขยายเสียงว่า คนนั้นคนนี้ทำบุญเท่านั้นเท่านี้ ก็พลอยยินดีอนุโมทนาต่อส่วนบุญของเขา เราก็ได้บุญทุกครั้งที่อนุโมทนา เป็นการทำบุญที่ไม่ต้องลงทุนลงแรงมากอันใดเลย แต่ถ้าเราไปริษยาเขา ก็จะไม่ได้บุญ แต่กลับได้บาป


๘. ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม

การฟังธรรมจัดเป็นบุญประการหนึ่ง เพราะทำให้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เพราะผู้ที่เป็นสาวกนั้นจำเป็นจะต้องฟังธรรม (สาวก แปลว่า ผู้ฟัง) มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีทางเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าและบรรลุมรรคผลได้ เพราะไม่ใช่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้เองได้

ในสมัยพุทธกาล การเข้าใจพระพุทธศาสนาและการบรรลุมรรคผลส่วนใหญ่แล้ว เนื่องมากจากการฟังธรรมทั้งสิ้น เพราะไม่มีสื่อการฟังอย่างอื่นหนังสือก็มีใช้กันน้อยมาก

แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การได้ความรู้จากผู้อื่นมาก็จัดเข้าในการฟังทั้งสิ้นคือ การอ่านหนังสือ การฟังเทป การดูทางโทรทัศน์ ถ้าเกี่ยวกับเรื่องธรรมะแล้วก็เกิดบุญทั้งสิ้น และบุญประเภทนี้รวมเรียกว่า ธัมมัสสวนมัย บุญเกิดจากการฟังธรรม

ในปัจจุบันหนังสือทางพระพุทธศาสนาประเภทต่าง ๆ มีมากขึ้น จึงทำให้เกิดความสะดวกในการทำบุญประเภทนี้ คือ บุญเกิดจากการฟังธรรม และบางคนก็ได้รับบุญนี้ทุกวัน เพราะชอบอ่านหนังสือธรรมะหรือชอบฟังรายการธรรมะ หรือรายการสวดมนต์ทางวิทยุ หรือจากเทปธรรมะ

การฟังธรรม ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ได้แต่ความเสื่อมใสอย่างเดียว เช่น ผู้ที่ไม่รู้ภาษาบาลี ฟังเสียงสวดมนต์หรือฟังพระสวดอภิธรรมในงานศพ ไม่รู้ไม่เข้าใจ ได้แต่ความเลื่อมใสอย่างเดียว อย่างนี้ท่านกล่าวว่าได้แต่บุญไม่ได้กุศล เพราะกุศล แปลว่า "ความฉลาด"

ฉะนั้น บางคนฟังธรรมได้แต่บุญอย่างเดียวไม่ได้กุศล แต่บางคนได้ทั้งบุญ ได้ทั้งกุศล แต่โดยทั่วไปแล้ว การฟังธรรมได้ทั้งบุญทั้งกุศล จึงมักพูดรวมกันว่า "ได้บุญ" คือ บุญอันเกิดจากการฟังธรรม

การฟังธรรม ถ้าให้ได้ประโยชน์มาก ผู้ฟังจะต้องตั้งใจฟังจริง ๆ มุ่งฟังเอาเนื้อหาสาระ เพื่อนำไปปฏิบัติและสั่งสอนผู้อื่น จึงจะเกิดปัญญาความรู้ความเข้าใจได้มาก ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

สุสฺสูสํ ลภเต ปญฺญํ ผู้ตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา

ฉะนั้น การฟังธรรมจะมีอานิสงส์มากก็ต่อเมื่อผู้ฟังตั้งใจฟัง


อานิสงส์ของการฟังธรรม

การฟังธรรมมีประโยชน์มาก เพราะพุทธศาสนาได้ดำรงมาได้จนถึงปัจจุบันก็เนื่องจากการฟังธรรม พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า การฟังธรรมมีประโยชน์หรืออานิสงส์ ๕ อย่าง คือ

๑. ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง

๒. สิ่งใดที่เคยฟังแล้ว ถ้ายังไม่เข้าใจชัดย่อมเข้าใจชัด

๓. บรรเทาความสงสัยเสียได้

๔. ทำความเห็นให้ถูกต้องได้

๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส


๙. ธัมมเทสนามัย บุญเกิดจากการแสดงธรรม

การแสดงธรรมเป็นบุญประการหนึ่ง และทำให้พระศาสนาดำรงมั่นมาได้จนถึงทุกวันนี้ ก็เพราะมีการแนะนำสั่งสอนสืบต่อกันมา แม้เราทุกคนที่เข้าใจพระพุทธศาสนาอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะได้อาศัยครูบาอาจารย์ หรือ พ่อแม่แนะนำสั่งสอน หรือ อ่านหนังสือธรรมที่ท่านผู้รู้ธรรมได้แต่งหรือเขียน หรือรวบรวมไว้

การแสดงธรรมนี้ จัดเป็นทานอย่างหนึ่ง เรียกว่า "ธรรมทาน" เป็นทานที่มีผลมากกว่าทานทั้งปวง ดังพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ การให้พระธรรมชนะการให้ทั้งปวง"

ทั้งนี้ก็เพราะว่า คนจะให้ทานก็ดี จะรักษาศีลก็ดี จะเจริญภาวนาก็ดี ก็ต้องอาศัยได้ฟังธรรมมาก่อน เขาจึงได้ทำบุญประเภทอื่น ๆ ถ้าไม่ได้ฟังธรรมมาก่อนแล้ว คนจะไม่ทำบุญอันใด แม้ใครจะทำบุญบ้างตามอัธยาศัยของตน แต่บุญนั้นก็มีผลน้อย เพราะทำไม่ถูกวิธี เพราะขาดผู้แนะนำสั่งสอน

การแสดงธรรมที่จัดว่าเป็นบุญนั้น ไม่ได้มีเพียงพระภิกษุสามเณรเท่านั้นที่แสดงได้ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ย่อมแสดงได้ หรือทำบุญข้อนี้ได้ทั้งสิ้น

การแสดงธรรมนั้น ไม่จำเป็นต้องแสดงบนธรรมาสน์เสมอไป ที่ใดก็แสดงหรือแนะนำสั่งสอนได้ เช่น ในบ้าน ในป่า ตามถนนหนทาง ในรถ ในเรือ แม้ในเครื่องบิน ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง หรือทางสถานีโทรทัศน์ และการสอนในชั้นเรียน เป็นต้น

บุญอันเกิดจากการแสดงธรรมนั้น ไม่ใช่การพูดอย่างเดียว แม้การเขียนหนังสือธรรมะ การพิมพ์หนังสือธรรมะ หรือการให้ทุนในการพิมพ์หนังสือธรรมะออกเผยแพร่ก็จัดเข้าในบุญข้อนี้ทั้งสิ้น


แม้การบริจาคทุนทรัพย์ในการพิมพ์หนังสือธรรมะ หรือซื้อหนังสือธรรมะ หรือพระไตรปิฎกถวายพระ ถวายไว้ประจำวัด หรือแจกคนทั่วไป ก็จัดเป็นธรรมทาน คือ บุญอันเกิดจากการให้ธรรมะเป็นทานได้เช่นกัน

แม้การแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ลูกหลาน หรือญาติมิตร ให้เข้าถึงธรรม ให้ประพฤติธรรม ให้รู้จักบาป บุญ คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ก็จัดเป็นบุญในข้อแสดงธรรม การที่พ่อแม่แนะนำสั่งสอนลูกให้ประพฤติดี หรือพี่แนะนำน้องให้ละชั่วประพฤติดี ก็จัดเป็นบุญข้อนี้ทั้งสิ้น

หลักการแสดงธรรม

การแสดงธรรมจะมีประโยชน์มากก็ต่อเมื่อผู้สอนผู้แสดงมีจิตเมตตาหวังให้ประโยชน์ต่อผู้ฟังจริง ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า นักเทศน์ หรือ ผู้แสดงธรรม จะต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการคือ

๑. แสดงธรรมโดยลำดับ ไม่ตัดลัดให้ขาดความ

๒. อ้างเหตุผลแนะนำให้ผู้ฟังเข้าใจ

๓. ตั้งจิตเมตตาปรารถนาให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง

๔. ไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ

๕. ไม่แสดงธรรมกระทบตนและผู้อื่น คือ ไม่ยกตนเสียดสีผู้อื่น

หากผู้สอนธรรม แสดงธรรมหรือเขียนหนังสือธรรมะ ท่านใดมีคุณสมบัติ หรือใช้หลักการแสดงธรรม ๕ ประการนี้แล้ว ผลแห่งการแสดงธรรมและบุญอันเกิดจากการแสดงธรรมจะมีมาก


๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง

การทำความเห็นให้ตรง คือ มีสัมมาทิฏฐิ-เห็นชอบนั่นเอง คือเห็นตรงตามทำนองคลองธรรม จัดเป็นบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา

ส่วนการเห็นผิด จากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วไม่ได้ชั่ว บาปบุญไม่มี นรกสวรรค์ไม่มี ตายแล้วสูญ เป็นต้น เป็นมิจฉาทิฐิ เป็นอกุศลกรรมบถ จัดเป็นบาป แม้ไม่ได้ทำชั่วด้วยกาย หรือวาจา แต่ถ้ามีความคิดเห็นเช่นนี้ก็จัดเป็นบาป และบาปมากถึงขั้นห้ามสวรรค์ห้ามนิพพานทีเดียว เพราะจิตตั้งไว้ผิดหลงทางเสียแล้ว จึงไม่ยอมทำความดี มีแต่จะทำความชั่วถ่ายเดียว

ส่วนการทำความเห็นให้ตรง เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น แม้ผู้นั้นยังไม่ทำดีด้วยกาย หรือว่าไม่ทำดีด้วยกาย หรือวาจา เป็นเพียงแต่เห็นถูก เห็นตรงเท่านั้น ก็จัดเป็นบุญ และเป็นบุญที่ครบคลุมบุญอื่นทั้งหมด เพราะเมื่อคนเราเห็นถูกเห็นตรงเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว ก็ย่อมทำบุญประเภทอื่น ๆ ด้วยความสนิทใจและตั้งใจทำ


สัมมาทิฏฐิ ๑๐

ทิฏฐุชุกัมม์ การทำความเห็นให้ตรง ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หมายถึง สัมมาทิฏฐิ ๑๐ คือ มีความเห็นตรง เห็นถูกต้องตามความเป็นจริงใน ๑๐ เรื่อง โดยเห็นว่า

๑. การให้ทานมีผล

๒. การบูชามีผล

๓. การต้อนรับแขกด้วยของต้อนรับมีผล

๔. ผลของกรรมดีกรรมชั่วมี

๕. โลกนี้มี (คือสัตว์จากโลกอื่นมาเกิดในโลกนี้มี)

๖. โลกอื่นมี (คือสัตว์จากโลกนี้ไปเกิดในโลกอื่นมี)

๗. มารดามีคุณ

๘. บิดามีคุณ

๙. สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ (เช่น เทวดาและเปรต) มี

๑๐. สมณพราหมณ์ ผู้ปฏิบัติชอบ ทราบชัดถึงโลกนี้และโลกอื่นด้วยปัญญาได้เอง และสามารถให้ผู้อื่นรู้ได้ด้วย มี (คือ พระอรหันต์มี)

ผู้ใดมีความเห็นชอบ เห็นตรง ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ ชื่อว่าทำความเห็นให้ตรง เป็นทิฏฐุชุกัมม์ เป็นสัมมาทิฐิ ถ้าเห็นตรงกันข้ามก็เป็นมิจฉาทิฐิ

จิตที่ตั้งไว้ถูกทางนั้น ย่อมนำความสุขความเจริญมาให้แก่เจ้าของได้มาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในคัมภีร์ธรรมบทว่า

น ตํ มาตา ปิตา กยิรา อญฺญเฌ วาปิจ ญาตกา สมฺมาปณิหิตํ จิตฺตํ เสยฺยโส นํ ตโต กเร

จิตที่ตั้งไว้ชอบ (เป็นสัมมาทิฐิ) ย่อมทำบุคคลนั้นให้ประเสริฐยิ่งกว่าสิ่งที่พ่อแม่หรือญาติพี่น้องอื่นทำให้เสียอีก


การทำบุญในพระพุทธศาสนามีเพียง ๑๐ ประการดังกล่าวมา ไม่ได้นอกเหนือไปกว่านี้เลย ใครจะเลือกทำอย่างไหนก็สามารถทำได้ตามกำลังและความสมารถของตน แม้คนไม่มีเงินทองเลย เป็นคนยากจนก็สามารถทำบุญได้ และสามารถทำได้มากด้วย ถ้าหากผู้นั้นประสงค์จะบำเพ็ญบุญจริง ๆ เพราะบุญไม่ใช่เพียงให้ทานอย่างเดียว ยังมีอีกถึง ๙ อย่างที่ไม่ต้องใช้เงินทอง และมีอยู่หลายอย่างที่มีผลมากกว่าทาน

บุญทุกประเภทเป็นตัวนำสุขมาให้ ทั้งโจรจะลักไปก็ไม่ได้ ทั้งสามารถนำติดตัวไปได้ด้วย แม้เมื่อตายไปแล้ว ไม่เหมือนทรัพย์สมบัติ เมื่อตายแล้วก็ทิ้งไว้หมดสิ้นแม้แต่รูปร่างกาย ดังคำกลอนที่ว่า

"มีเจ้ามามีอะไรมากับเจ้า เจ้าจะเอาแต่สุขสนุกไฉน

เมื่อเจ้าไปเจ้าจะเอาอะไรไป เจ้าก็ไปมือเปล่าเหมือนเจ้ามา"


เพราะฉะนั้น จึงขอให้ทุกคนสั่งสมแต่ความดี คือ บุญ เพราะการสั่งสมบุญนำความสุขมาให้ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

"ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ
บุคคลพึงทำบุญทั้งหลายไว้เถิด ซึ่งจะนำสุขมาให้"

............
............
หนังสือกฎแห่งกรรม เลือกเกิดได้ถ้าตายเป็น
ตอนที่ ๘ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
ผู้เขียน สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระธรรมวิสุทธิกวี

https://archive.org/details/navy2506_gmail_088
:b48: :b8: :b8: :b8: :b48: อนุโมทนาครับ

:b44: รวมคำสอน “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50222

:b44: สมณศักดิ์ “พระสาสนโสภณ” หรือ “พระศาสนโศภน”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50748

:b50: :b49: บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=43424

:b50: :b49: บุญและความหมายแห่งบุญ ๓ ระดับ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=29834


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ธ.ค. 2016, 07:20 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 718

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มี.ค. 2018, 01:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 11 มี.ค. 2018, 02:56
โพสต์: 2158

โฮมเพจ: maybe
แนวปฏิบัติ: สติปัฎฐาน
งานอดิเรก: กีฬา
สิ่งที่ชื่นชอบ: แบรนด์เเนม
ชื่อเล่น: เม
อายุ: 22
ที่อยู่: Bangkok Thailand

 ข้อมูลส่วนตัว


กราบบูชาพระคุณค่ะ

........................................................................

การปฎิบัติบุญกริยาวัตถุ 10 ประการนั้น

ผู้ที่ไปทำบุญกริยา ปฏิบัติ ตามวัดต่างๆ ตามสำนักต่างๆ

ผู้ที่กระทำ

มักจะมีคำ บูชาพระพุทธ บูชาพระรัตนตรัย

มีคำอาราธนาศีล

อาราธนาพระปริต

มีคำถวายดอกไม้ธูปเทียน

คำถวายสังฆทาน

คำถวายเงินทำบุญ

คำถวายของไส่บาตร คำถวายอื่นๆ ฯลฯ

ผู้ทำด้วยเจตนา ตั้งใจ ด้วยความเคารพนับถือต่อพระรัตนตรัย พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ

แต่ในปัจจุบัน

กลับมีบุคคลบางประเภท และมีจำนวนมากขึ้น มากขึ้น ที่เข้าไป ก่นด่า ไปบริภาษ ไปด่าทอ ว่ากล่าว ไปดูถูกเหยียดหยามการกระทำนั้น

หาว่าไปซื้อสวรรค์ ซื้อวิมาน

โดยไม่รู้ว่าการกระทำเช่นนั้น จักนำหนทางเสื่อม จักนำหายนะ นำความพินาส ตกต่ำสู่อบายภูมิ มาสู่ตนเอง
ไม่ได้ไปสู่คนที่ทำบุญกริยาเลย แม้แต่น้อยค่ะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2022, 23:12 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ม.ค. 2023, 13:47 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2024, 06:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร