วันเวลาปัจจุบัน 15 ก.ย. 2024, 17:37  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 02 ก.พ. 2016, 11:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๕ วันสำคัญพิเศษทางพระพุทธศาสนา
“วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

รูปภาพ

ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐบาลได้ประกาศกำหนดให้ “วันเข้าพรรษา” ของทุกปี เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยให้เริ่มต้นใช้บังคับในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ (วันเข้าพรรษาของปีนั้น)

ปีถัดมา พ.ศ. ๒๕๕๒ รัฐบาลยังได้ประกาศกำหนดให้ “วันเข้าพรรษา” เป็น วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้เริ่มต้นใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป


ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยร่วมกันตั้งสัจจอธิษฐานรักษาศีล ๕ งด-ลด-ละ-เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันเข้าพรรษา และในช่วงตลอด ๓ เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา อันจะเป็นพื้นฐานในการที่จะเลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตลอดไป เพื่อส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ
(๑) พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑
(๒) พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓


:b44: พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑

๏ มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้


มาตรา ๒๗ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
(๑) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา
.
.
(๘) สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ


มาตรา ๒๘ ห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันหรือเวลาที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าวจะกำหนดเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใดๆ เท่าที่จำเป็นไว้ด้วยก็ได้

บทบัญญัติในวรรคหนึ่ง มิให้ใช้บังคับกับการขายของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือตัวแทนของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไปยังผู้ขายซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสุรา


๏ มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณดังต่อไปนี้
(๑) วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา


มาตรา ๓๙ ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๒๗ หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

๏ มาตรา ๔๒ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๓๑ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


:b44: ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๓)
พ.ศ. ๒๕๕๘


อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๔ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ นายกรัฐมนตรีโดยคําแนะนําของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ และประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กําหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒ ลงวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

ข้อ ๒ ห้ามผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ

ข้อ ๓ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


:b50: :b50: หมายเหตุ : โดย สาวิกาน้อย แห่งลานธรรมจักร
(ก) ประกาศฯ ฉบับนี้ กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันออกพรรษา เพิ่มเติมจากเดิมที่ประกาศไว้เพียงวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา

(ข) ประกาศฯ ฉบับนี้ ได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๒, ตอนพิเศษ ๓๙ ง, หน้า ๑๐, วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ จึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๘ เป็นต้นไป


รูปภาพ

วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

๕ วันสำคัญพิเศษทางพระพุทธศาสนา
(๑) วันมาฆบูชา
(๒) วันวิสาขบูชา
(๓) วันอาสาฬหบูชา
(๔) วันเข้าพรรษา
(๕) วันออกพรรษา


จากพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๗ (๘), มาตรา ๒๘, มาตรา ๓๙ โดยพิจารณาประกอบกับ “ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘” สรุปสาระสำคัญเรื่อง...วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ดังนี้


>>>> วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา (๕ วันสำคัญพิเศษทางพระพุทธศาสนา) เป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งชนิดขายส่งและขายปลีก ทั่วราชอาณาจักร ตลอด ๒๔ ชั่วโมง (เริ่มนับตั้งแต่หลังเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันก่อนหน้า ไปจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ของวันที่ห้ามนั้น) โดยยกเว้นให้ขายได้เพียง ๒ กรณีเท่านั้น คือ

๑. การขายของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือตัวแทนของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าไปยังผู้ขายซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยสุรา
๒. การขายเฉพาะในร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ


หากพบว่ามีการฝ่าฝืนกฎหมาย จะมีความผิดต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ วันอาสาฬหบูชา-วันเข้าพรรษา ซึ่งเป็น ๒ ใน ๕ วันสำคัญพิเศษทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันที่ ๓๐-๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ฉะนั้น จึงเป็นวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งชนิดขายส่งและขายปลีก ทั่วราชอาณาจักร ทั้งสองวัน ตลอด ๒๔ ชั่วโมง กล่าวคือ เริ่มนับตั้งแต่หลังเวลา ๒๔.๐๐ น. ของคืนวันพุธที่ ๒๙ กรกฎาคม ไปจนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ของคืนวันศุกร์ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๘

ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกคนร่วมกันรักษาศีล ๕ งด-ลด-ละ-เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในวันพระใหญ่ที่เป็นวันสำคัญพิเศษของชาวพุทธ ซึ่ง ๑ ปี มีเพียง ๕ วันเท่านั้น และหากจะให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในช่วงตลอด ๓ เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา หรือทุกวันของชีวิต ก็ควรงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน เพราะล้วนเป็นคุณและเจริญกุศลให้แก่สุขภาพ ชีวิต และสังคมของเราค่ะ สาธุๆๆ นะคะทุกท่าน

ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
โทร. ๐๒-๕๙๐-๓๐๓๒-๓๕ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง

https://www.egov.go.th/th/e-government-service/76/


รูปภาพ

กว่าจะมาเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”

สังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม
จนยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวิถีชีวิต
ต่อเนื่องกันมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
โดยเมื่อถึงช่วงเวลาเข้าพรรษาตลอด ๓ เดือน
จะตั้งสัจจอธิษฐาน ลดละเลิกเหล้า รักษาศีล ๕


(๑) จากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และองค์กรภาคี
ได้รณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมา
พบว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
จากปกติที่เคยมีผู้งดเหล้าเข้าพรรษาร้อยละ ๑๕
เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ ๔๐-๕๐ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ
ซึ่งหากรัฐบาลรับรองให้มี “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”
ยิ่งเป็นการสนับสนุนธรรมเนียมปฏิบัติที่ดีงามนี้ให้ดียิ่งขึ้น

(๒) จากการสำรวจความคิดเห็นโดยสำนักวิจัยเอแบลโพลล์ ปี ๒๕๔๙
พบว่าประชาชนร้อยละ ๘๘.๖ เห็นด้วยกับ
การกำหนดให้มี “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ๑ วันต่อปี และเห็นว่า
“วันเข้าพรรษา” ควรเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ร้อยละ ๖๑.๖

(๓) การประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล (มติคณะรัฐมนตรี)
จะทำให้ความร่วมมือในการรณรงค์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะกระทรวงทางสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นต้น

ต่อมารัฐบาลได้มีนโยบายในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชน
งดดื่มเหล้าในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา
อันจะเป็นพื้นฐานในการที่จะเลิกดื่มเหล้าตลอดไป
คณะรัฐมนตรจึงได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
เห็นชอบให้กำหนด “วันเข้าพรรษา” เป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ”
โดยให้เริ่มต้นใช้บังคับในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑
(วันเข้าพรรษาของปีนั้น)


มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นมติที่น่าอนุโมทนายิ่ง
หากพุทธศาสนิกชนได้นำไปปฏิบัติก็จะเกิดผลแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง
เพราะการดื่มสุราเป็นที่ตั้งของความประมาท

“ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ปมาโท มจฺจุโน ปทํ”

“ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย อปฺปมาโท อมตํ ปทํ”
(ขุ.ธ. ๒๕/๑๘)


น่าสังเกตว่า ในศีลทั้ง ๕ ข้อนั้นดูเหมือนการดื่มสุรา
จะเป็นศีลข้อเดียวที่เกี่ยวกับการทำร้ายตัวเอง
ถ้าคนมีสติก็จะไม่ประมาท แต่เพราะสุราดื่มแล้วทำให้ทำให้มึนเมา
คนเมาย่อมขาดสติ ถ้างดดื่มสุราก็จะเป็นการฝึกสติไปในตัว
และจะทำประโยชน์ได้ดังเช่นพระพุทธวจนะ ที่ว่า

“มนุชสฺสา สทา สตีมโต เป็นคนควรมีสติทุกเมื่อ”

หากมีพลังใจที่มั่นคงจะงดเหล้าตลอดพรรษา
น่าจะเป็นผลดีต่อสุขภาพ ชีวิตจะได้ยืนยาวอยู่ดูโลกนานๆ


เรียบเรียงส่วนหนึ่งมาจาก ::
บทความของพระมหาบุญไทย ปุญญมโน
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=16666

:b39:

พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. ๒๕๕๑
http://udn.onab.go.th/attachments/138_prb-al2551.pdf

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/E/039/10.PDF

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๒

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2552/E/096/77.PDF

พระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. ๒๔๙๓
http://web.krisdika.go.th/data/law/law2 ... update.pdf

:b47: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอาสาฬหบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45499

:b47: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันเข้าพรรษา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45498

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2016, 16:40 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร