วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 13:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 01:25 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เทศนาฌาปนกิจวิภาค
พระธรรมเทศนาโดย...
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
วัดบรมนิวาส ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

:b44: :b50: :b44:

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโขติ.


จะอธิบายบังสุกุลวิธีที่ใช้กันมาสำหรับการศพ เป็นแบบแผนสืบเนื่องกันมา
เรียกกันว่านิมนต์พระบังสุกุล คือให้พระจับสายโยงแล้วว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา ฯลฯ สุโขฯ
แล้วพระชักเอาผ้าไป ถ้าจะถวายของอีกก็นิมนต์ให้ชักซ้ำอีก ๒ หรือ ๓ หน
พระที่มาไม่ได้หรือมาไม่ทันก็นิมนต์ให้ชักแทน
รู้กันทั้งชาวบ้านชาววัดว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา ฯลฯ นี้เป็นตัวบังสุกุล
แต่ทางซึ่งพระบรมครูทรงอนุญาตให้ภิกษุผู้มักน้อยยินดีบังสุกุลจีวรนั้น
คือผ้าที่เขาพันศพไปทิ้งตามป่าช้า พระไปพิจารณาโดยเห็นว่าเป็นของไม่มีเจ้าของหวงแหน
นำไปซักฟอกเย็บย้อมบริโภค ชื่อว่าผ้ามหาบังสุกุล
ส่วนผ้าที่เขาทอดทิ้งโดยวิธีอื่นไม่ได้พันศพ พระพิจารณาโดยเห็นว่าไม่มีเจ้าของ
แล้วนำไปทำให้เป็นของควรแล้วบริโภค ก็ชื่อว่าผ้าบังสุกุล
แต่ไม่ตั้งชื่อว่ามหาบังสุกุล เรียกแต่ว่าบังสุกุลเฉยๆ เท่านั้น
ถ้าจะคำนวณตามโดยอาการนี้ คำว่าบังสุกุลดูเหมือนเป็นชื่อของจีวรที่เศร้าหมองเท่านั้น
แต่ที่เข้าใจกันอยู่โดยมาก คำที่ว่าบังสุกุลออกจะเป็นชื่อของ อนิจฺจา วต สงฺขารา
ถ้าจะให้เหมาะให้ตรงดี ชักบังสุกุลต้องทอดผ้า
จะใหญ่ เล็ก ขาว เหลือง ก็ควร จะชักแต่สายโยงเปล่าไม่แยบคาย

บัดนี้จะอธิบายเรื่อง
ปลงศพเสียก่อน คำที่ว่าปลง คือวางของหนัก
เหมือนผู้ที่ยกแบกหามของหนัก ต้องปลงต้องวาง
ศพนี้เป็นของหนัก ด้วยเป็นของเหม็น เป็นของปฏิกูลน่าเกลียดเหลือทนส่วนหนึ่ง
เป็นของหนักแก่พวกสัปเหร่อผู้หามอย่างหนึ่ง เป็นของหนักแก่พวกญาติผู้จัดการทำธุระ
คือต้องหนักความรัก หนักความคิด หนักแรงกาย หนักทรัพย์ต้องจับจ่ายส่วนหนึ่ง
การฌาปนกิจเผาศพจึงให้ชื่อว่าปลงศพ เมื่อเผาเมื่อปลงเสร็จแล้ว
อาการหนักเหล่านั้นสงบระงับดับลงสิ้น จะเหลืออยู่ก็แต่ความรักเท่านั้น จึงชื่อว่าปลงศพ


อีกประเภทหนึ่งปลงศพนั้น เห็นจะหมายอนิจจสัญญา นิจจสัญญา
คือให้หมู่ญาติและมิตรซึ่งมาประชุมกันนั้น
พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยงและความเที่ยงของความเกิดและความตาย
พิจารณาให้เห็นคุณและโทษของความเกิดและความตาย
ความตายที่มีซากศพเป็นพยานนี้ เป็นผลของความเกิด ถ้าเกิดแล้วต้องตายทุกคน

แต่ความเกิดนั้นถ้าจะพรรณนาโดยคุณก็ไม่มีที่สิ้นสุด
ในเบื้องต้นนั้นก็คือทำความยินดีให้เกิดแก่มารดาบิดาไม่มีที่สิ้นสุด
ครั้นเติบโตเจริญขึ้นได้เล่าเรียนศิลปวิทยา ตั้งตนในที่ชอบจนได้สนองคุณบิดามารดาให้อิ่มใจ
และได้สนองคุณครูบาอาจารย์ และคุณพระราชามหาอำมาตย์
บางคนก็ได้ปฏิญญาตนเป็นข้าพระรัตนตรัย คือถึงพระไตรสรณคมน์
เป็นอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนา หรือได้บวชเรียนในพระพุทธศาสนา
เป็นศาสนูปถัมภก ยกย่องพระพุทธศาสนาจนได้รู้จักของจริงตามกระแสพระธรรมเทศนา
ไม่ตื่นเต้นตกใจต่อความแก่ไข้เจ็บตาย โดยเห็นว่าเป็นธรรมดา
คือว่าที่ได้เป็นพระราชามหาอำมาตย์ เป็นเศรษฐี คฤหบดี
เป็นนักปราชญ์บัณฑิต เป็นอุบาสกอุบาสิกา
เป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ ล้วนเป็นผลของความเกิดทั้งสิ้น


ส่วนความตายนั้นก็มีคุณบ้างเหมือนกัน ถ้าหากจะมีแต่เกิด ไม่มีตายเสียบ้าง
ลองคิดดูสิแผ่นดินไม่พออาศัย แต่ตายอยู่เสมอๆ ดังทุกวันนี้
ยังต้องแย่งบ้านแย่งเมืองรบพุ่งชิงชัยแก่กันและกัน แย่งที่บ้านที่เรือน แย่งที่ไร่ที่นา
แย่งที่ป่าที่สวน แย่งสินค้าของขาย แย่งพวงแพนาวาแก่กันและกัน
ถึงกับได้ตั้งโรงศาลไว้ระงับคดีถ้อยความเหลือลำบากเหลือทนอยู่แล้ว
ถ้าไม่ตายเสียบ้างจะเป็นอย่างไร เราก็รู้ไม่ได้
กล่าวคุณของความเกิดและความตาย พอเป็นเค้าทางไว้เพียงเล็กน้อย
ความเกิดความตายมีคุณมากพรรณนาไม่มีที่สิ้นสุด ฉันใด
แม้โทษก็มีมากจะพรรณนาไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนกัน ฉันนั้น
ธรรมชาติสิ่งใดมีคุณมาก ธรรมชาติสิ่งนั้นย่อมมีโทษมาก
ดังดินน้ำไฟลมให้คุณแก่สัตว์ คือให้สำเร็จความปรารถนาได้ทุกประการ
ที่ให้โทษแก่สัตว์ก็เหลือเกิน จะหาอะไรเปรียบก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 01:33 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อผู้เห็นโทษและคุณของเกิดๆ ตายๆ ว่าเป็นของสำหรับสัตว์ผู้เกิดมาในโลก
ก็จะเบื่อหน่ายต่อสังขาร ถ้าเกิดความเบื่อหน่าย จะหนีทางใด ต้องหนีทางพระ
โบราณจึงชี้ทางโดยปริศนา คือให้มีพระนำศพสวดอภิธรรมองค์หนึ่ง
พระผู้จะนำศพนั้นต้องเลือก คือที่เชื่อว่าท่านนั้นคงจะไม่กลับเป็นคฤหัสถ์ต่อไปอีก
ทั้งเป็นที่เคารพนับถือของตนด้วย ถ้าได้ผู้เช่นนั้นในวงศ์ญาติยิ่งดีหนักขึ้น
คือพวกญาติที่มาทั้งหลายจะได้พิจารณา ว่าท่านผู้นำหน้าศพไปนั้น
แต่เดิมก็เกิดร่วมวงศ์ญาติของเรา ถ้าท่านมีเหย้าเรือนเหมือนดังพวกเรา
ท่านก็คงจะได้รับความเศร้าโศกสะอื้นอาลัย
เพราะเหตุแห่งพ่อแม่ผัวเมียและลูกหลานเหลนตาย ดังพวกเราเช่นเดียวกัน
อันนี้ท่านตัดอาลัยใยห่วงออกประพฤติพรต
นับว่าท่านเกิดในอริยชาติอริยภูมิ สมบูรณ์ด้วยกายวิเวก จิตตวิเวก
ควรพวกเราผู้ไม่ชอบความเศร้าโศก จะออกประพฤติเพศอย่างท่านนั้นจึงจะชอบ

ซึ่งนำเวียนให้ซ้ายแก่เชิงตะกอน ๓ รอบนั้น เป็นอุบายบอกว่า
ความเกิดแก่เจ็บตายเช่นนี้ จำเพาะมีอยู่ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ ๓ ภพ ๓ ภูมิเท่านี้
การจี่การเผาการฝังกันเช่นนี้ จำเพาะมีอยู่ในกามภพเท่านี้
ควรจะให้เบื้องซ้ายแก่มันเสีย อธิบายว่าไม่ควรยินดีต่อเชิงตะกอน
และการจี่การเผาการฝังอย่างนี้บ่อยๆ ดูเหมือนท่านจะสอนให้พวกเราผู้มาในงานเผาศพ
พิจารณาให้เกิดอนภิรตสัญญา ปลงพระกรรมฐานให้เกิดขึ้นในตนอย่างนี้
เพราะเหตุนั้นผู้มาในงานเผาศพควรแสดงอาการเคารพในศพ
คือเอาศพเป็นครูปลงพระกรรมฐาน จึงชื่อว่ามาปลงศพ

ไม่ควรจะมาแสดงความรื่นเริงเหลือเกิน จนถึงหัวเราะเฮฮา
ไม่ควรจะมาแสดงความเศร้าโศกเหลือเกิน จนถึงแก่ร้องไห้ร่ำไร ชักนำผู้อื่นให้ใจเสียไปด้วย

ซึ่งทุบต่อยมะพร้าวล้างหน้าซากศพนั้น
เป็นอุบายบอกว่าน้ำมะพร้าวนี้เป็นน้ำใสสะอาดปราศจากเปือกตม
ถึงแม้ถูกทุบต่อยล้างซากศพเช่นนี้ ก็ไม่แสดงความขุ่นมัวเศร้าหมอง
และไม่ละรสอันหวานของตนด้วย เปรียบดังน้ำใจของพระอริยเจ้า
ด้วยว่าพระอริยเจ้านั้น ถึงจะกระทบถูกต้องอารมณ์อันเข้มแข็งอย่างไร มีความตายเป็นที่สุด
ก็มิได้แสดงอาการขุ่นมัวเศร้าหมอง และไม่ละเมตตากรุณาซึ่งเป็นปกติของตนด้วย
เพราะเป็นน้ำใจอันสะอาดปราศจากเปือกตมคือกิเลส ซึ่งเป็นเครื่องจะทำให้เศร้าหมอง
ควรพวกเราทั้งหลายจะมีความยินดีพากเพียรละกิเลส
ทำใจของตนให้ใสสะอาดดังน้ำมะพร้าว ซึ่งแสดงให้เห็นเป็นพยานนี้

การที่เอาเทียนธูปและดอกไม้ไปเผาศพนั้น คืออธิบายว่าไปขอขมาโทษแก่ศพ
เหตุใดจึงต้องขอขมาโทษ เรามีความผิดแก่ศพด้วยเหตุอะไร
ออ ! เราผิดมากทีเดียว เพราะความตายเป็นของมีอยู่แก่เรา เราควรกำหนดให้แน่ใจเสียทีเดียว
ศพที่เรามาเผานี้เป็นเทวทูต คือเป็นทูตอันศักดิ์สิทธิ์
ดังเทวดามาบอกว่าตัวของเจ้าก็จะเป็นอย่างนี้
ซึ่งเราไม่รู้ว่าความตายมีอยู่ที่ตัวของเราและไม่เชื่อเทวทูตนั้นเอง
จึงต้องเกลียดจึงต้องกลัว เป็นความประมาทเป็นความผิดของเรา

จึงต้องมีเทียนธูปบูชาขอขมาโทษแก่ศพ
ถ้าอย่างนั้นศพที่ตายแล้วเช่นนี้ จะรู้เนื้อรู้ตัวอดโทษให้แก่เราหรือ ?
ออ ! ไม่ใช่อย่างนั้น ประสงค์ความที่เราทำถูกต้องในคลองธรรม ย่อมเป็นผลแก่เราเอง
เปรียบดังเราทำสวนทำนา ดินที่สวนที่นาจะมีความยินดีให้เราทำก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม
เมื่อเราทำลงที่ดีที่งามแล้ว ก็คงได้ผลตามภูมิตามประเทศสมความประสงค์ อย่างเดียวกันเช่นนั้น

ยังมีวิธี ๓ หาบในวันแปรธาตุอีก คือต้องหาบ ๓ หาบเวียนรอบเชิงตะกอนที่เผา
กู่ร้องหากันถึง ๓ รอบ จึงจะนำไปถวายพระ คนผู้หาบนั้นถ้าได้พวกญาติเป็นดีที่หนึ่ง
๓ หาบนั้นเห็นจะเป็นอุบายบอกว่า ถ้าผู้เวียนวนหลงใหลอยู่ในภพทั้ง ๓
ต้องเกี่ยวข้องด้วยอาหารอย่างนี้ในกามภพ ต้องบริโภคอาหารหยาบ
ต้องหาบต้องหามอย่างนี้ ในรูปภพ อรูปภพ มีปีติเป็นอาหาร เป็นชาติ มีอาหารละเอียด
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่พ้นความหน่วงเหนี่ยวด้วยใจ ชื่อว่ายังต้องหาบอาหารด้วยใจอยู่นั้นเอง
การแสวงหาอาหาร เป็นอาหารปริเยสิกทุกข์ เป็นทุกข์สำคัญส่วนหนึ่ง
ที่หาบเวียนกู่ร้องหากันนั้น เห็นจะเป็นอุบายบอกว่าพวกเราซึ่งได้มาเป็นญาติกันนี้
ต่างคนต่างหลงไม่รู้จักทางพระนิพพาน
ธรรมดาผู้หลงทาง ผู้ไปก่อนต้องร้องกู่หาผู้ตามหลัง ผู้ตามหลังก็ต้องร้องกู่หาผู้ไปก่อน
เช่นเดียวกันกับพวกเราซึ่งพากันหลงภพหลงชาติ เวียนว่ายตายเกิด
เวียนร้องไห้หาผู้ตายก่อนตายหลัง ไม่รู้ว่าใครร้องไห้หาใคร
และจะต้องยังหลงยังเวียนอยู่อย่างนี้ต่อไปอีก กำหนดที่สุดชาติยังไม่ได้
น่าสมเพชเวทนานี้หนักหนา ควรจะคิดตรึกตรองให้เห็นใจความอย่างนี้

แสดงวิธีปลงศพโดยสังเขปไว้เพียงเท่านี้ แต่เป็นส่วนอัตโนมัติยาธิบาย
จะเห็นสมควรพอเป็นคติได้หรือไม่ได้ ข้อนั้นเป็นหน้าที่ของผู้อ่านผู้ฟัง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2014, 01:47 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 มิ.ย. 2014, 09:57
โพสต์: 667

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


บัดนี้จะอธิบาย อนิจฺจา วต สงฺขารา ที่พระชักบังสุกุลเป็นลำดับไป
ความว่า อนิจฺจา วต สงฺขารา สังขารคือสิ่งอาศัยสภาวธรรมปรุงขึ้นแต่งขึ้น
จะเป็นอุปาทินนกะ มีใจครองก็ตาม หรืออนุปาทินนกะ หาใจครองมิได้ก็ตาม
จะเป็นปุญญาภิสังขารคือกุศลเจตสิกก็ตาม หรืออปุญญาภิสังขารคืออกุศลเจตสิกก็ตาม
หรืออเนญชาภิสังขาร คืออัญญสมานาเจตสิกก็ตาม
หรือกายสังขาร วจีสังขาร มโนสังขารก็ตาม
ขึ้นชื่อว่าสังขารแล้วเป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนทีเดียวหนอ
อุปฺปาทวยธมฺมิโน มันมีความเกิดขึ้นและเสื่อมสิ้นดับไปเป็นธรรมดา
อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ สังขารเหล่านั้นครั้นเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมเสื่อมทรุดดับไป
เตสํ วูปสโม สุโข ถ้าถึงความระงับสังขารเหล่านั้น
คือพระนิพพานเป็นสุขอันสะอาดปราศจากอามิสดังนี้


อธิบายเนื้อความนั้นว่า ให้โยคาพจรเจ้าเพ่งโทษแห่งสังขาร
ให้เห็นความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เพราะเกิดๆ ดับๆ มีแล้วหาไม่ ได้แล้วหายไป
พระนิพพานเป็นธรรมระงับสังขารเหล่านี้ได้ จึงเป็นสุข
ความระงับสังขารเป็นชื่อของนิพพาน
วิปัสสนาญาณเป็นชื่อของวิชชาวิมุตติ วิชชาวิมุตติเป็นธรรมเครื่องระงับสังขาร
เป็นมรรคคือสัมมาทิฏฐิญาณทัสสนะ เป็นธรรมเครื่องรู้เท่าสังขาร
ความรู้เท่าสังขารนั้นเอง ชื่อว่าสังขารดับ สังขารระงับ
อย่าเข้าใจว่าความตายเป็นชื่อของสังขารดับสังขารระงับ
ความตายจะเป็นพระนิพพานไป
ถ้าความตายเป็นพระนิพพาน พระนิพพานก็จะมีดื่นไป
ไม่ต้องพากเพียรให้อริยมรรคเป็นขึ้นมีขึ้น ก็จะพากันได้พระนิพพานทั่วไป


นักปราชญ์ผู้ตรองธรรมมักเห็นว่าตายแล้วเป็นสิ้นเรื่องกันมีไม่อะไรจะไปเกิดอีก
ความรู้ความเห็นที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นแสงของธาตุซึ่งคุมกันอยู่เท่านั้น
ถ้าธาตุแตกออกจากกันแล้ว เราเขาสัตว์บุคคลก็ดับกันเท่านั้น
อีกพวกหนึ่งเห็นว่าธาตุ คือดินน้ำไฟลมอากาศวิญญาณนี้
เป็นตัวตนจริงๆ ตายแล้วต้องเกิดอีกร่ำไป เคยเป็นมาอย่างใดก็เป็นไปอย่างนั้น
ดังต้นไม้ต้นหญ้าเคยเป็นสิ่งใดก็เป็นสิ่งนั้น จะกลายเป็นสิ่งอื่นไม่ได้
จะเอาบุญเอาบาปที่ไหนมาแต่งภพแต่งชาติ
คนเราจะชั่ว จะดี จะมี จะจน ก็เพราะความประพฤติของตนเท่านั้น
ทิฏฐิทั้ง ๒ นี้ชื่อว่ามิจฉาทิฏฐิ ทิฏฐิทั้ง ๒ นี้ลงกัน
คือในเบื้องต้นก็แลเห็นเพียงมารดาบิดาเท่านั้น เบื้องปลายก็เห็นเพียงมรณะเท่านั้น
ท่ามกลางก็เห็นเพียงชราพยาธิเท่านั้น เข้าใจว่าตนเห็นปัจจุบันธรรม
ความเป็นจริง ความเห็นปัจจุบันธรรมเพียงเท่านั้น
จะเป็นทางพระนิพพาน ทางดับทุกข์ ทางออกจากวัฏฏะหามิได้
เพราะว่าชาติชราพยาธิมรณะเป็นตัววัฏฏะ เป็นตัวทุกข์
เมื่อเปลื้องออกจากตนไม่ได้ คือเห็นว่าตนจะต้องแก่จะต้องไข้จะต้องตาย
จึงชื่อว่าติดวัฏฏะ ติดทุกข์ตาย ชื่อว่าตายในห่วง ตายในสมมติ ชื่อว่าหลับตาตาย
น่าเสียดายชาติที่เกิดมาได้เป็นบัณฑิต คิดอะไรๆ ก็ได้กว้างขวาง
แต่งข้ออรรถข้อธรรมแนะนำผู้อื่นได้ลึกซึ้ง ส่วนตัวออกจากเกิดแก่เจ็บตายไม่ได้
ถ้าเกิดแก่เจ็บตายยังมีในตนตราบใด อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ยังมีอยู่ในตนตราบนั้น
เมื่อเกิดแก่เจ็บตายดับลงไม่มีในตนแล้ว อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ก็ดับไปตามกัน
ตรงกับพระคาถาบาทท้ายว่า เตสํ วูปสโม สุโข
สังขารเหล่านั้นเข้าถึงความระงับ เป็นนิพพานสุขดังนี้


พระนิพพานไม่ใช่ความตาย ท่านจึงให้ชื่อว่าอมตธรรมคือเป็นธรรมอันไม่ตาย
เพราะพระนิพพานเป็นธรรมอันไม่ตาย จึงเป็นที่ปรารถนาของบัณฑิต
คนพาลไม่ปรารถนาเพราะไม่รู้จักว่าพระนิพพานจะมีรสอย่างไร
ส่วนท่านผู้เป็นบัณฑิตท่านได้สัมผัสกายวิเวกคือศีล
ได้แก่ องค์สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว
ท่านได้สัมผัสจิตตวิเวกคือสมาธิ ได้แก่ องค์สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ท่านได้สัมผัสอุปธิวิเวกคือปัญญา ได้แก่ องค์สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป
เมื่อท่านได้รู้รสสัมผัสเพียงชั้นมรรคปฏิปทา ข้อปฏิบัติเป็นทางตรงต่อพระนิพพาน
เท่านั้นก็สิ้นความสงสัย เชื่อแน่ว่าพระนิพพานมีความสุขจริง
เพียงแต่ชั้นมรรคเท่านั้นยังสุขหาส่วนเปรียบไม่ได้เสียแล้ว
ท่านจึงเป็นนิยโตบุคคลคือเป็นผู้เที่ยงที่จะได้ตรัสรู้
ตามกำลังแห่งอุปนิสัยแห่งสาวกบารมีภูมิ

พระภิกษุสามเณรผู้พิจารณาบังสุกุลและผู้ฟังพระเณรบังสุกุล
ควรพิจารณาให้เห็นโทษของสังขาร ว่าเป็นธรรมดาของสังขาร
ต้องเกิดแก่เจ็บตายอย่างนี้เอง จึงเป็นทุกข์เหลือทน
ผู้มีปัญญาเพิกสังขารออกจากตนเสียได้ ตนที่เป็นสังขารก็จักดับไป
ตนที่เป็นวิสังขารก็จักปรากฏขึ้น เป็นองค์วิปัสสนาญาณ
ก็จักรู้จักธรรมซึ่งเป็นแก่นสารซึ่งมีอยู่ในตน จักพ้นจากความสงสัยได้
ชื่อว่าทำตนให้เป็นที่พึ่งแก่ตน จักเป็นผู้ลืมตาตาย ตายนอกห่วง ไม่หลงตาย
เป็นผู้ได้ที่พึ่งในพระพุทธศาสนา
เกิดมาชื่อว่ามีกำไร ไม่เสียทีที่ได้ประสบพบพระพุทธศาสนา
ควรพวกเราที่มีความตายเสมอกันซึ่งมาปลงศพ
พึงพิจารณาให้เห็นเนื้อความโดยนัยดังอธิบายมานี้เทอญ

รูปภาพ

หนังสือ อนุสรณ์เนื่องในการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์
และเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร
วันเสาร์ที่ ๒๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๕ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย


เทศน์กัณฑ์นี้ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท จันทร์)
ท่านเรียบเรียงตั้งแต่ยังเป็น “พระราชกวี”
ตรวจพิมพ์ใหม่เมื่อเป็น “พระโพธิวงศาจารย์” พ.ศ. ๒๔๖๘
:b8: :b8: :b8:


:b44: รวมคำสอน “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=47595

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจนฺโท)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=26908


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร