วันเวลาปัจจุบัน 08 ก.ย. 2024, 22:40  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มิ.ย. 2012, 07:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


วันอัฏฐมีบูชา
วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
ตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
หรือ เดือน ๗ (ปีที่มีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน)
หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน
คือหลังจาก “วันวิสาขบูชา” แล้ว ๘ วันนั่นเอง
ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง
ซึ่งเกี่ยวเนื่องต่อจาก “วันวิสาขบูชา”


“วันอัฏฐมีบูชา” เป็นวันที่ชาวพุทธต้องสูญเสีย
พระพุทธสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาสักการะอย่างสูงยิ่ง
เราชาวพุทธควรใช้วันนี้เป็นวันแสดงธรรมสังเวช อัปปมาทธรรม
(ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง)
ทำจิตใจให้สงบน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณอันหาประมาณมิได้
ให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศลด้วยเถิด


นอกจากนี้แล้ว วันนี้ยังเป็น...วันคล้ายวันที่พระนางสิริมหามายา
พระพุทธมารดา สิ้นพระชนม์ หลังประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ

และเป็น...วันคล้ายวันที่พระพุทธองค์ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข
ณ พระแท่นวัชรอาสน์ หรือโพธิบัลลังก์ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์
ตลอด ๗ วัน หลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอีกด้วย


รูปภาพ

:b44: :b47: :b44:

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
เหล่าภิกษุสงฆ์ เทพเทวดา พวกเจ้ามัลลกษัตริย์
ได้ถวายการสักการะพระพุทธสรีระ
พวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้
และเครื่องดนตรีทุกชนิดที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอด ๗ วัน
แล้วให้พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ระดับหัวหน้า (มัลลปาโมกข์) ๘ องค์
สระสรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ แล้วอัญเชิญพระพุทธสรีระ
ไปทางทิศตะวันออกของพระนครเพื่อถวายพระเพลิง
พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ถามถึงวิธีปฏิบัติพระพุทธสรีระกับ

“พระอานนท์เถระ” แล้วทำตามคำของพระอานนท์เถระนั้น
คือ ห่อพระพุทธสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี
แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่
แล้วอัญเชิญประดิษฐานลงในหีบทองที่เต็มไปด้วยนํ้ามันหอม
แล้วทำจิตกาธาน (อ่านว่า จิต-ตะ-กา-ธาน แปลว่า เชิงตะกอน)
ด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด
จากนั้นให้พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ระดับหัวหน้า (มัลลปาโมกข์) ๔ องค์
พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุ


“พระอนุรุทธะเถระ” แจ้งว่า “เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอ
พระมหากัสสปเถระและหมู่ภิกษุใหญ่ ๕๐๐ รูป
ผู้กำลังเดินทางจากเมืองปาวามาสู่เมืองกุสินารานี้
เพื่อมาถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระบรมศาสดาเสียก่อน
ไฟก็จะลุกไหม้”

ก็เทวดาเหล่านั้นเคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ
และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อนในอดีต
จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปเถระอยู่ในพิธี


ครั้งนั้นพระมหากัสสปเถระและหมู่ภิกษุใหญ่ ๕๐๐ รูป
กำลังเดินทางจากเมืองปาวาจะไปยังเมืองกุสินารา
เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา
ระหว่างทางได้แวะพักร้อนที่ร่มไม้ ขณะที่กำลังนั่งพักอยู่นั้น
ได้มีอาชีวกะ (พราหมณ์) ผู้หนึ่งถือ “ดอกมณฑารพ”
ที่ผูกติดกับกิ่งไม้ต่างร่ม เดินสวนทางมา
พระมหากัสสปเถระได้เห็นก็ทราบว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น
ดอกมณฑารพนี้มีเพียงในเทวโลกแดนสวรรค์ ไม่มีในเมืองมนุษย์
การที่มีดอกไม้นี้อยู่แสดงว่าจะต้องมีอะไรเกิดขึ้นกับพระบรมศาสดา
พระมหากัสสปเถระจึงถามอาชีวกะ (พราหมณ์) นั้นว่า
ได้ข่าวอะไรเกี่ยวกับพระบรมศาสดาบ้างหรือไม่
อาชีวกะ (พราหมณ์) นั้นตอบว่า...
พระสมณโคดมได้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปล่วงเจ็ดวันแล้ว
ดอกไม้นี้ข้าพเจ้าได้เก็บมาจากบริเวณที่เสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น


เมื่อพระมหากัสสปเถระและหมู่ภิกษุใหญ่เดินทางมาถึง
สถานที่ถวายพระเพลิง “มกุฏพันธนเจดีย์” เมืองกุสินาราแล้ว
ห่มจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี
กระทำประทักษิณรอบเชิงตะกอน ๓ รอบ
พระมหากัสสปเถระเปิดผ้าทางพระบาทแล้ว
ถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้าแล้วอธิษฐานว่า

“ขอพระยุคลบาทของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักร
อันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่
พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง
ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด”


เมื่ออธิษฐานเสร็จ ก็บังเกิดความอัศจรรย์
พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้า ๕๐๐ คู่ออกมา
โผล่พ้นปลายหีบทองพระบรมศพ
เพื่อประทานให้นมัสการเป็นพิเศษแก่พระเถระ
พระเถระจับพระยุคลบาทไว้และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน
เมื่อพระเถระและหมู่ภิกษุใหญ่ ๕๐๐ รูปถวายบังคมแล้ว
ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิม
ครั้นแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วม
พระพุทธสรีระของพระบรมศาสดาด้วยอำนาจของเทวดา
เมื่อเพลิงใกล้จะดับ ก็มีท่อน้ำไหลหลั่งลงมาจากอากาศ
และมีน้ำพุ่งขึ้นจากกองไม้สาละ ดับไฟที่ยังเหลืออยู่นั้น

พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ก็ประพรม “พระบรมสารีริกธาตุ”
ด้วยของหอม ๔ ชนิด รอบๆ บริเวณก็โปรยข้าวตอกเป็นต้น
แล้วจัดกองกำลังอารักขา จัดทำสัตติบัญชร (ซี่กรงทำด้วยหอก)
เพื่อป้องกันภัย แล้วให้ขึงเพดานผ้าไว้เบื้องบน
ห้อยพวงของหอม พวงมาลัย พวงแก้ว
ให้ล้อมม่านและเสื่อลำแพนไว้ทั้งสองข้าง
ตั้งแต่มกุฏพันธนเจดีย์จนถึงศาลาด้านล่าง ให้ติดเพดานไว้เบื้องบน
ตลอดทางติดธง ๕ สีโดยรอบ ให้ตั้งต้นกล้วย และหม้อน้ำ
พร้อมกับตามประทีปมีด้ามไว้ตามถนนทุกสาย

พวกเจ้ามัลลกษัตริย์นำพระบรมสารีริกธาตุทั้งหลายวางลงในรางทอง
แล้วอัญเชิญไว้บนคอช้าง นำพระบรมสารีริกธาตุเข้าพระนคร
ประดิษฐานไว้บนบัลลังก์ที่ทำด้วยรัตนะ ๗ อย่าง
กั้นเศวตรฉัตรไว้เบื้องบน แล้วจัดกองกำลังอารักขา
จากนั้นจัดเหล่าช้างเรียงลำดับกระพองต่อกันล้อมไว้
พ้นจากเหล่าช้างก็เป็นเหล่าม้าเรียงลำดับคอต่อกัน
จากนั้นเป็นเหล่ารถ เหล่าราบ รอบนอกสุดเป็นทหารธนูล้อมอยู่
พวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดฉลองพระบรมสารีริกธาตุตลอด ๗ วัน


“มกุฏพันธนเจดีย์” ตั้งอยู่ห่างจาก “มหาปรินิพพานสถูป”
ไปทางด้านทิศตะวันออก ๑ กิโลเมตร
เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
คนท้องถิ่นเรียกว่า “รามภาร์-กา-ดีลา” หรือ รัมภาร์สถูป
เดิมทีเป็นเชิงตะกอนไม้จันทร์หอม
หลังจากที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว ก็ได้สร้างพระสถูปครอบลง
ต่อมาก็ได้ถูกรุกรานทำลายเหลือแต่ซากปรักหักพัง
ภายหลังได้ถูกขุดค้นพบเป็นซากกองอิฐพระสถูปขนาดใหญ่
ดังที่เห็นในปัจจุบัน พระสถูปนี้วัดโดยรอบฐานได้ ๔๖.๑๔ เมตร
และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๗.๑๘ เมตร
อย่างไรก็ตาม ตามหลักฐานก็เป็นที่ชัดเจนว่านั่นคือ
สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
หรือมกุฏพันธนเจดีย์ตามที่ชาวพุทธเรียกชื่อกัน
ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี


รูปภาพ
มกุฏพันธนเจดีย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
ใน “วันอัฏฐมีบูชา” ซึ่งตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๖
หรือเดือน ๗ (ปีที่มีอธิกมาส คือมีเดือน ๘ สองหน)
หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน
คือหลังจาก “วันวิสาขบูชา” แล้ว ๘ วันนั่นเอง
คนท้องถิ่นเรียก “มกุฏพันธนเจดีย์” ว่า
“รามภาร์-กา-ดีลา” หรือ รัมภาร์สถูป


รูปภาพ
ภาพเขียน..พระพุทธองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน

รูปภาพ
ภาพเขียน..พิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า


:b8: :b8: :b8: ที่มา...“ภาพพุทธประวัติ” อันงดงามมาก
พร้อมคำบรรยายโดยสังเขป จำนวน ๘๑ ภาพ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39272

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มิ.ย. 2012, 07:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระมหากัสสปะ
ประธานในการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ


เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วถึงวันที่เจ็ด ครั้งนั้น “พระมหากัสสปะ” พร้อมด้วยภิกษุบริวารหมู่ใหญ่ ๕๐๐ รูป กำลังเดินทางจากเมืองปาวา จะไปยังเมืองกุสินาราเพื่อเข้าเฝ้าองค์พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ระหว่างทางได้แวะพักร้อนที่ร่มไม้ ขณะที่กำลังนั่งพักอยู่นั้น ได้มีอาชีวกะ (พราหมณ์) ผู้หนึ่งถือ “ดอกมณฑารพ” ที่ผูกติดกับกิ่งไม้ต่างร่ม เดินสวนทางมา พระเถระคิดว่า ดอกมณฑารพปกติจะมีก็แต่ในแดนสวรรค์ จะมีในโลกมนุษย์ก็ต่อเมื่อผู้มีฤทธิ์บางท่านแผลงฤทธิ์ หรือเมื่อพระสัพพัญญูโพธิสัตว์เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา เป็นต้น แต่วันนี้ผู้มีฤทธิ์ใดๆ ก็ไม่ได้แสดงฤทธิ์ พระบรมศาสดาของเราก็ไม่ได้เสด็จลงสู่พระครรภ์ของพระมารดา มิใช่เวลาที่ทรงประสูติ ทั้งวันนี้พระองค์ก็มิได้ทรงตรัสรู้ ไม่ได้ประกาศพระธรรมจักร ไม่ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ยมกปาฏิหาริย์ ไม่ได้เสด็จลงจากเทวโลก ไม่ได้ทรงปลงอายุสังขาร แต่พระบรมศาสดาของเราทรงพระชรา คงจะเสด็จดับขันธปรินิพพานเสียเป็นแน่แล้ว

เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว พระมหากัสสปะท่านจึงได้ลุกขึ้นจากที่นั่ง เข้าไปหาอาชีวกะ (พราหมณ์) ผู้นั้น ถามว่า ท่านทราบข่าวพระบรมศาสดาของเราบ้างหรือไม่

อาชีวะ (พราหมณ์) จึงตอบว่า พระสมณโคดมได้เสด็จดับขันธปรินิพพานได้เจ็ดวันเช้าวันนี้ ดอกไม้นี้ข้าพเจ้าได้เก็บมาจากบริเวณที่เสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น

บรรดาภิกษุที่เดินทางมาพร้อมกับพระมหาเถระ ภิกษุพวกที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล ต่างก็โศกเศร้าคร่ำครวญ ล้มลงกลิ้งเกลือกไปมา รำพันถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ส่วนภิกษุที่บรรลุอรหัตผลแล้ว มีสติสัมปชัญญะ ปลงธรรมสังเวชถึงความไม่เที่ยงของสังขารทั้งหลาย

ในกลุ่มภิกษุที่ยังไม่บรรลุพระอรหัตผลนั้น มีพระภิกษุปุถุชนรูปหนึ่งชื่อว่า พระสุภัททะ ซึ่งบวชเมื่อแก่และและมีใจอาฆาตพระพุทธองค์มาแต่เดิม ได้เที่ยวกล่าวแก่ภิกษุทั้งหลายว่าพวกท่านอย่าเศร้าโศก อย่าร่ำไรไปเลย พวกเราจะสบายแล้ว ด้วยเมื่อพระมหาสมณะยังอยู่นั้น ก็ได้คอบห้ามพวกเราอยู่ว่า สิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ไม่ควรทำ บัดนี้ พวกเราปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็จะกระทำสิ่งนั้น ไม่ปรารถนาจะทำสิ่งใด ก็จะไม่กระทำสิ่งนั้น

“พระมหากัสสปะ” ฟังคำที่พระสุภัททะ ได้เที่ยวพูดกับหมู่ภิกษุเหล่านั้นแล้ว ท่านก็เกิดธรรมสังเวช ว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเพิ่งจะปรินิพพานได้เพียง ๗ วัน พระบรมศพก็ยังอยู่ เสี้ยนหนามศาสนาอันใหญ่เกิดขึ้นเร็วถึงปานนี้ พระศาสนาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำมาด้วยทุกข์ยากนี้ถ้าปล่อยให้คนบาปเหล่านี้เติบโตและได้คนบาปอื่นมาเป็นพรรคพวก ก็อาจจะทำพระพุทธศาสนาให้เสื่อมถอยได้

ถ้าเราจะให้ขับไล่พระชั่วองค์นี้ไป ผู้คนทั้งหลายก็จะพากันตำหนิโทษเราว่า พระศาสดาปรินิพพานไปยังไม่ทันไร พระบรมศพของพระสมณโคดมยังคงอยู่ เหล่าสาวกก็เกิดวิวาทกันเสียแล้ว เพราะฉะนั้น เราควรอดกลั้นไว้ก่อน พระธรรมที่ทรงแสดงแล้วนั้น เปรียบเหมือนดอกไม้ทั้งหลายที่เมื่อต้องลมก็ย่อมกระจัดกระจายไป ฉันใด สิกขาบทในวินัยก็จะพินาศ ธรรมในพระสูตรก็จะพินาศ ธรรมในพระอภิธรรมก็จะพินาศ ด้วยอำนาจของบุคคลชั่วเช่นนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราจะต้องสังคายนาธรรมวินัย เพื่อให้พระธรรมนี้ พระวินัยนี้ มั่นคงเหมือนดอกไม้ที่ผูกไว้ด้วยด้ายเหนียว

ในอดีต เหตุที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จต้อนรับเราตลอดทาง ๓ คาวุต (๓๐๐ เส้น) และทรงประทานอุปสมบทด้วยโอวาท ๓ ประการ ทรงประทานเปลี่ยนจีวรจากพระวรกายกับจีวรเก่าของเรา ตรัสทรงยกย่องว่าเราเป็นกายสักขี (มีวิหารธรรมเสมอด้วยพระองค์) ทรงมอบความเป็นสกลศาสนทายาท ก็เพื่อประโยชน์ว่าเราจะทำสังคายนาพระธรรมและพระวินัย เพื่อให้พระศาสนามั่นคงและแพร่หลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า กัสสปะผู้นี้จักเป็นผู้ดำรงวงศ์พระสัทธรรมของเรา จึงทรงอนุเคราะห์เรา ด้วยการอนุเคราะห์ที่ไม่ทรงกระทำแก่ผู้อื่นโดยทั่วไปนี้ เปรียบเหมือนพระราชาทรงอนุเคราะห์พระราชโอรสผู้ดำรงวงศ์ตระกูล ด้วยทรงมอบเกราะและพระราชอิสริยยศมิใช่หรือ เรานั้นจะมีหนี้อื่นอะไรเล่า จึงควรจักทำความอุตสาหะให้เกิดแก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อช่วยกันสังคายนาธรรมและวินัย การแสดงออกของพระสุภัททะ ทำให้พระมหากัสสปะได้ถือเป็นเหตุสำคัญกระทำปฐมสังคายนาพระธรรมวินัย


ทางด้านคณะสงฆ์และเจ้ามัลลกษัตริย์ ผู้ครองเมืองกุสินารา ได้ทำพิธีสักการบูชาพระบรมศพพระพุทธเจ้าเป็นเวลาถึง ๖ วัน ในวันที่ ๗ จึงเชิญพระบรมศพเป็นขบวนไปทางทิศเหนือของเมือง ผ่านใจกลางเมือง แล้วเชิญพระบรมศพไปมกุฏพันธนเจดีย์ ที่อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมือง เพื่อถวายพระเพลิง

วันที่กำหนดจะถวายพระเพลิงนั้น ตรงกับวันแรม ๘ คํ่า เดือน ๖ ซึ่งทุกวันนี้ทางเมืองไทยเราถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง เรียกว่า “วันอัฏฐมีบูชา”

พระบรมศพพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ในหีบทองที่เต็มไปด้วยนํ้ามันหอม ตั้งอยู่บน จิตกาธาน (อ่านว่า จิต-ตะ-กา-ธาน แปลว่า เชิงตะกอน) ที่ทำด้วยไม้หอมหลายชนิด ครั้นได้เวลา มัลลปาโมกข์ (หมายถึงเจ้ามัลลกษัตริย์ระดับหัวหน้า) ๔ องค์ ที่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้จุดเพลิง แต่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็มิอาจทำให้เพลิงติดได้ พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราจึงได้ถามพระอนุรุทธะ ว่าอะไรเป็นเหตุที่ทำให้มัลลปาโมกข์ทั้ง ๔ องค์นี้ มิอาจทำให้ไฟติดได้

พระอนุรุทธเถระ ตอบว่า เป็นความประสงค์ของพวกเทวดา ที่ทราบว่า “ท่านพระมหากัสสปเถระ” พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป กำลังเดินทางไกลจากเมืองปาวามาสู่เมืองกุสินารานี้ จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคจะยังไม่สามารถติดไฟขึ้นได้ จนกว่า “ท่านพระมหากัสสปเถระ” จะถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยมือของตน


ในอรรถกถา กล่าวว่า เทวดาเหล่านั้นเป็นอุปัฏฐากในอดีตของพระมหาเถระนั่นเอง เพราะมีจิตเลื่อมใสในพระมหากัสสปเถระ อุปัฏฐากเหล่านั้นก็ไปบังเกิดในสวรรค์ ในครั้งนี้เหล่าเทวดาเหล่านี้ไม่เห็นพระเถระในสมาคมผู้ร่วมกระทำพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระนั้น ก็พากันคิดว่า พระมหาเถระประจำตระกูลของพวกเราไปเสียที่ไหนหนอ ก็เห็นท่านเดินอยู่ระหว่างทาง จึงพากันอธิษฐานว่าเมื่อพระเถระประจำตระกูลของพวกเรายังไม่ได้ถวายบังคมพระสรีระของพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอจิตกาธานอย่าเพิ่งติดไฟ ดังนี้

ครั้นเมื่อ “ท่านพระมหากัสสปเถระ” พร้อมหมู่ภิกษุมาถึง จึงได้เข้าไปถึงมกุฏพันธนเจดีย์ของพวกเจ้ามัลละ ในเมืองกุสินารา เมื่อถึงจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค ครั้นแล้วกระทำจีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี กระทำประทักษิณจิตกาธาน ๓ รอบ แล้วเปิดทางพระบาท ถวายบังคมพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า เหล่าภิกษุ ๕๐๐ รูป เหล่านั้น ก็กระทำเช่นเดียวกัน เมื่อท่านพระมหากัสสปเถระและภิกษุ ๕๐๐ รูปนั้นถวายบังคมแล้ว จิตกาธานของพระผู้มีพระภาคก็มีเพลิงลุกโพลงขึ้นเอง

เมื่อพระสรีระของพระผู้มีพระภาคถูกไฟไหม้แล้ว ท่อน้ำก็ไหลหลั่งมาจากอากาศและจากไม้สาละดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาค พวกเจ้ามัลละเมืองกุสินาราดับจิตกาธานของพระผู้มีพระภาคด้วยน้ำหอมล้วนๆ แล้วเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานไว้ที่สันคารศาลา คือ หอประชุมกลางเมือง รอบหอประชุมนั้นจัดทหารถืออาวุธพร้อมสรรพคอยพิทักษ์รักษา และทำสักการบูชาด้วยฟ้อนรำ ดนตรีประโคมขับ และดอกไม้นาๆ ประการ และมีนักขัตฤกษ์เอิกเกริกกึกก้อง ฉลองถึง ๗ วันเป็นกำหนด


:b44: ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7539

ในคัมภีร์พระสาวกนิพพาน กล่าวว่า “พระมหากัสสปะ” เมื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการทำปฐมสังคายนาแล้ว ได้พักอยู่ที่พระเวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์ ดำรงอยู่ถึง ๑๒๐ ปี ก่อนที่ท่านจะนิพพาน ๑ วัน ท่านได้ตรวจดูอายุสังขารของท่านแล้วทราบว่าจะอยู่ได้อีกเพียงวันเดียวเท่านั้น ท่านจึงประชุมบรรดาภิกษุผู้เป็นศิษย์ของท่าน แล้วให้โอวาทเป็นครั้งสุดท้าย สั่งสอนภิกษุผู้ยังเป็นปุถุชนมิให้เสียใจกับการจากไปของท่าน ให้พยายามทำความเพียรและอย่าประมาท แล้วพระเถระก็เข้าไปถวายพระพรลาพระเจ้าอชาตศัตรู จากนั้นท่านได้พาหมู่ภิกษุไปยังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต แสดงอิทธิปาฏิหาริยิ์ และให้โอวาทแก่พุทธบริษัท แล้วอธิษฐานจิตขอให้ภูเขาทั้ง ๓ ลูกมารวมเป็นลูกเดียวกัน ให้ปรากฏเป็นห้องหับอยู่ภายในภูผาอุปมาดังห้องที่ไสยาสน์ ซึ่งในภูเขาทั้ง ๓ ลูกนั้นมีภูเขาเวภารบรรพต สถานที่ทำปฐมสังคายนา รวมอยู่ด้วย จากนั้นท่านจึงเข้าไปสู่ที่ไสยาสน์ระหว่างภูเขาทั้ง ๓ ลูก แล้วก็ดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน ณ ที่นั้น

ท่านยังอธิษฐานขอให้สรีระสังขารของท่านยังคงสภาพเดิมไม่สูญสลาย จนกระทั่งพระศาสนาพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า (พระศรีอาริย์) ซึ่งพระองค์จะพาหมู่ภิกษุสงฆ์มายังภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพต แล้วยกสรีระสังขารของ “พระมหากัสสปะ” วางบนพระหัตถ์ขวา ชูขึ้นประกาศสรรเสริญคุณของพระเถระแล้ว เตโชธาตุ (ธาตุไฟ) ก็จะเกิดขึ้นเผาสรีระสังขารของท่านบนฝ่าพระหัตถ์ของพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า (พระศรีอาริย์) นั้น


:b8: :b8: :b8: ปรับปรุงมาจาก : หนังสือ เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา
พระครูกัลยาณสิทธิวัฒน์ (สมาน พรหมอยู่/กัลยาณธัมโม), พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๔๔
(๑๘. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์)

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
“ดอกมณฑารพ” ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์ ที่ไม่มีในโลกมนุษย์
และจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับพระพุทธเจ้า
เช่น ประสูติ, ตรัสรู้, ปลงอายุสังขาร, ดับขันธปรินิพพาน,
วันจาตุรงคสันนิบาต, วันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร
และวันที่เสด็จลงจากเทวโลก หรือผู้มีฤทธิ์บางท่านแผลงฤทธิ์ เป็นต้น
ซึ่งเทพเทวดาจะบันดาลให้ “ดอกมณฑารพ” ตกลงมาจากเทวโลก


:b8: :b8: :b8:

:b47: “พระมหากัสสปะ” เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=7539

:b47: ดอกมณฑารพ ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19556

:b47: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอัฏฐมีบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45500

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มิ.ย. 2012, 09:44 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 พ.ค. 2012, 02:09
โพสต์: 456


 ข้อมูลส่วนตัว


.. :b8: :b8: :b8: ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2012, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b42: งานประเพณี “วันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง”

ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง
บ้านทุ่งยั้ง ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์
ในระหว่างวันจันทร์ที่ ๔-วันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕

หลังจากได้เล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนานในวันสงกรานต์ที่ผ่านมากันถ้วนหน้าแล้ว ก็มาถึงวันสำคัญยิ่งของผู้นับถือพระพุทธศาสนา นั่นก็คือ “วันวิสาขบูชา” ที่แม้แต่องค์การสหประชาชาติยังยกย่องและประกาศให้เป็นวันสำคัญสากลโลก สำหรับในประเทศไทยได้มีประเพณีหนึ่งอันเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักหรือแพร่หลายในหมู่พุทธศาสนิกชนนัก นั่นก็คือประเพณี “วันอัฏฐมีบูชา”

“วันอัฏฐมีบูชา” หมายถึง การบูชาพระพุทธเจ้าในวันแรม ๘ ค่ำ แห่งเดือนวิสาขะ เดือน ๖ (หรือเดือน ๗ ในปีที่มีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕

ตามพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ ป่าสาละ เมืองกุสินารา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เจ้ามัลลกษัตริย์ ผู้ครองนครกุสินารา ได้ทำพิธีสักการบูชาพระบรมศพพระพุทธองค์เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นถึงวันที่ ๘ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ จึงได้อัญเชิญพระบรมศพไปถวายพระเพลิง ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง วันนี้เองจึงเรียกว่า “วันอัฏฐมีบูชา”


ความเป็นมาของประเพณีการจำลองพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าในบ้านเรานั้น พบว่าเคยมีมานานแล้ว แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเริ่มขึ้นในสมัยใด ในปัจจุบันประเพณีนี้ได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน โดยจัดเป็นงาน “วันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้ง” สถานที่ที่จัดงานพิธีนี้อย่างยิ่งใหญ่จนเป็นที่รู้จักกันดี ก็คือ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง บ้านทุ่งยั้ง ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

พระอธิการวรกูล ธมฺมทินโน เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง กล่าวว่า วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ได้ร่วมกับ อบจ.อุตรดิตถ์, เทศบาลตำบลทุ่งยั้ง, กระทรวงวัฒนธรรม, ททท., อำเภอลับแล และจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชา และงานอัฏฐมีบูชา (ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง) ประจำปี ๒๕๕๕ เพื่อสืบสานงานประเพณีท้องถิ่นสำคัญของชาวอุตรดิตถ์ ที่มีการจัดงานสืบต่อกันมาช้านานถึง ๕๒ ปีแล้ว ในระหว่างวันจันทร์ที่ ๔-วันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ถึง วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ รวม ๙ วัน ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

วันอัฏฐมีบูชารำลึก เมืองทุ่งยั้งแห่งนี้ เดิมเป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลทุ่งยั้งได้ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประกอบกับที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งแห่งนี้ มี “พระธาตุเจดีย์” ทรงระฆังสมัยกรุงสุโขทัย ฐานสี่เหลี่ยมกว้าง-ยาว ๒๒.๒๐ เมตร สูง ๒๕ เมตร ซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระนลาฎ (หน้าผาก) ตั้งตระหง่านอยู่ข้างหลังวิหารของวัด ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อหลักเมือง” หรือ “หลวงพ่อประธานเฒ่า” พระคู่เมืองอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวตำบลทุ่งยั้งมายาวนาน

ใน “วันวิสาขบูชา” มีพิธีเวียนเทียนรอบพระธาตุเจดีย์ และในวันสุดท้ายมีพิธีการแสดงสมมติขั้นตอนการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า ตามขั้นตอนในพิธีที่กล่าวไว้ในพุทธประวัติตามลำดับ คือ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานในวันวิสาขบูชา จะมีการสร้างพระพุทธเจ้าจำลองสานด้วยไม้ไผ่บรรจุในโลงแก้วจำลอง แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่ศาลาการเปรียญของวัด เพื่อประกอบพิธีทำบุญ ถวายสังฆทาน และสวดพระอภิธรรม ตั้งแต่วันแรกไปจนถึง “วันอัฏฐมีบูชา” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕

ณ เมืองทุ่งยั้ง แห่งนี้ จะได้รับการสมมติว่าเป็นเมืองกุสินารา ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จ.อุตรดิตถ์ จะถูกตกแต่งอย่างสวยงาม ก่อนถึงวันงานที่ยิ่งใหญ่นี้ มีการสร้างพระบรมศพจำลองของพระพุทธเจ้าในพระอิริยาบถ “ไสยาสน์” ด้วยไม้ไผ่สาน พอกด้วยปูนปลาสเตอร์ผสมกระดาษ ห่มพระวรกายด้วยจีวรสีเหลือง ยาว ๙ ศอก ประดิษฐานอยู่ภายใต้พระเมรุมาศที่สร้างขึ้นอย่างสวยงาม สีแดงสลับเหลือง ด้วยฝีมือช่างอาวุโสชาวเมืองลับแล

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

พิธีการสำคัญจะเริ่มขึ้นในวันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ซึ่งตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในช่วงกลางวันจะมีพิธีสงฆ์ การทำบุญตักบาตร พิธีการถวายสลากภัต การสวดพระอภิธรรม เมื่อถึงเวลาค่ำประมาณ ๒๐.๐๐ น. จะเริ่มพิธีการจำลองถวายพระเพลิงพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นการแสดงแสงสีเสียงอย่างยิ่งใหญ่สวยงาม บรรดาชาวเมืองทุ่งยั้งจะได้รับการสมมติว่าเป็นชาวเมืองกุสินาราในสมัยพุทธกาล ต่างถือดอกไม้ธูปเทียนเข้าร่วมพิธี ภายในงานจะมีโฆษกบรรยายพุทธประวัติในช่วงที่พระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน และการถวายพระเพลิงพระบรมศพ มีผู้แสดงเป็นพราหมณ์-เทวดาตั้งขบวนมาถวายความเคารพ พร้อมอุบาสกอุบาสิกา

และบุคคลผู้ที่ขาดไม่ได้ ก็คือ “พระมหากัสสปะ” ผู้ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยไว้ว่า หาก “พระมหากัสสปะ” ยังไม่มาถวายความเคารพพระบรมศพ พระเพลิงก็จะไม่ไหม้เลย ดังนั้น เมื่อพระสงฆ์ผู้สมมติเป็นพระมหากัสสปะมาเคารพพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลองแล้ว พระบรมศพจำลองจะเกิดไฟลุกท่วมขึ้นทันที พลุหลายหลากสีจะถูกจุดทะยานขึ้นเต็มท้องฟ้าอย่างงดงาม ขณะที่เพลิงซึ่งไหม้พระสรีระจำลองของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามอดลงทีละน้อย...ก็เป็นอันเสร็จพิธี

ผู้เข้าร่วมงานจะได้เห็นเหตุอัศจรรย์หลายอย่างที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาล ซึ่งได้จำลองมาให้ชมในครั้งนี้ด้วย จนเสร็จสิ้นพิธีแล้วอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุในพระบรมธาตุ ปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ใกล้กับบริเวณจัดงาน ด้วยเทคนิคแสงสีเสียงประกอบ ซึ่งผู้เข้าร่วมงานจะได้มีโอกาสร่วมพิธีทุกขั้นตอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถวายดอกบัวเป็นพุทธบูชาก่อนการถวายพระเพลิง นับได้ว่าเป็นบุญอันยิ่งใหญ่สำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน ในงานจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมแก่เยาวชน การแข่งขันตอบปัญหาทางพุทธศาสนา การประกวดโต๊ะหมู่บูชา การประกวดวาดภาพวันวิสาขบูชา การทำบุญตักบาตร พิธีถวายพระอภิธรรม ฟังเทศน์ฟังธรรม และพิธีการจำลองการถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ซึ่งเป็นในลักษณะการแสดงประกอบแสง สี เสียง อย่างยิ่งใหญ่งดงามตระการตา

สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง โทร. ๐๕๔-๘๑๖-๖๕๒, ๐๘๔-๔๙๓-๙๙๗๒, ททท. สำนักงานแพร่ โทร. ๐๕๔-๕๒๑-๑๑๘, ๐๕๔-๕๒๑-๑๒๗

รูปภาพ

รูปภาพ
วิหาร วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์
ซึ่งเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อหลักเมือง” หรือ “หลวงพ่อประธานเฒ่า”
พระคู่เมืองอันเป็นที่เคารพสักการะของชาวตำบลทุ่งยั้งมายาวนาน


:b8: ขอขอบพระคุณ...
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์
ที่มาของรูปภาพ : http://www.utdclub.com


:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันอัฏฐมีบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45500

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2012, 09:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ขอเชิญร่วมงานบุญประเพณี
“วันอัฏฐมีบูชา” ณ วัดใหม่สุคนธาราม
ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
ในวันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕

การถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง (วันอัฏฐมีบูชา) หรือชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่าประเพณีเผาศพพระพุทธเจ้าจำลอง ซึ่งพุทธศาสนิกชน ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม จัดสืบทอดกันมายาวนานกว่า ๑๐๐ ปีแล้ว เพื่อมุ่งหวังให้เป็นเครื่องเตือนสติพุทธศาสนิกชนได้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ อันเป็นหลักแหล่งการประพฤติปฏิบัติที่เกื้อกูลขนบธรรมเนียมประเพณี รวมทั้งเพื่อรักษาประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ดีงามให้คงอยู่กับชุมชนท้องถิ่นสืบไป

การจัดงาน “วันอัฏฐมีบูชา” มีกำหนดจัดหลังงาน “วันวิสาขบูชา” ๘ วัน หรือตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ (หรือเดือน ๗ ในปีที่มีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน) โดยในปีนี้กำหนดจัดขึ้นในวันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ซึ่งตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗

กิจกรรมทางพระพุทธศาสนา อาทิเช่น การถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ การแห่พระบรมศพพระพุทธเจ้าจำลอง การกระทำทักษิณาวรรต เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น

การจัดขบวนแห่จำลองเหตุการณ์เกี่ยวกับพุทธประวัติ นรกภูมิและวิถีชีวิตไทย ที่แสดงให้เห็นถึงผู้ที่กระทำผิดศีลจะได้รับกรรมตอบสนองในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นความทุกข์ทรมานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อต้องการย้ำเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ไปร่วมงานได้เกิดสติคำนึงถึงบาปบุญคุณโทษ และมีความเกรงกลัวที่จะกระทำบาป นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีการแสดงมหรสพ การละเล่นและการจุดพลุตะไล และดอกไม้ไฟถวายเป็นพุทธบูชาด้วย

พิธีกรรมของการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า จะเริ่มตั้งแต่ตอนเช้าของวันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ชาวบ้านช่วยกันตักบาตรและถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ณ วัดใหม่สุคนธาราม จ.นครปฐม จนกระทั่งถึงช่วงบ่ายมีการจำลองพิธีอัญเชิญพระบรมศพพระพุทธเจ้าไปยังพระเมรุมาศ โดยพราหมณ์ เทวดา นางฟ้า พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน จากศาลาการเปรียญเดินทักษิณาวรรตพระเมรุมาศ ๓ รอบ

ต่อจากนั้นจึงได้อัญเชิญพระบรมศพพระพุทธเจ้าไปประดิษฐานยังแท่นพระเมรุมาศ (จำลอง) ซึ่งพระเมรุมาศ เป็นลักษณะสี่เสาทรงสูงแบบโบราณ ที่ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามด้วยการแทงหยวก ประดับด้วยผ้าแพรพรรณ และจัดโต๊ะหมู่บูชาไว้ด้านหน้าของพระเมรุมาศ เพื่อให้พระสงฆ์ พุทธศาสนิกชน และผู้เลื่อมใสศรัทธาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สักการบูชาพระบรมศพ

เวลา ๑๔.๐๐ น. จะมีขบวนแห่เกี่ยวกับพุทธประวัติ นรกภูมิ และวิถีชีวิตไทย จากหมู่บ้านต่างๆ จำนวน ๙ ขบวน เคลื่อนจากหมู่บ้านมายังวัดใหม่สุคนธาราม ขบวนที่ ๑ การแสดงรำลึกประวัติศาสตร์ตอนสมเด็จพระนเรศวรกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ขบวนที่ ๒ พุทธประวัติตอนประสูติ ขบวนที่ ๓ พุทธประวัติตอน นายขมังธนูได้รับว่าจ้างจากพระเทวทัต ให้ไปปลงพระชนม์พระพุทธองค์ ตอนที่ ๔ พุทธประวัติตอนโสตถิยะเกิดความเลื่อมใส ถวายฟ่อนหญ้าคา พระองค์ทรงรับและใช้ปูลาดใต้ร่มโพธิบัลลังก์ ขบวนที่ ๕ พุทธประวัติตอนเสด็จออกบรรพชา โดยมีนายฉันนะ เป็นผู้ผูกม้ากัณฐกะให้ใช้ในการเดินทาง ขบวนที่ ๖ พุทธประวัติตอนพระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาทรมานพระวรกาย ขบวนที่ ๗ พุทธประวัติตอนเทวดาแสดงนิรมิตพิณบรรเลงถวาย ขบวนที่ ๘ และ ๙ พุทธประวัติตอนนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส และตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา

เมื่อขบวนแห่ถึงวัดแล้ว เวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. จะเริ่มพิธีสงฆ์ โดยพระสงฆ์ที่อยู่บริเวณพิธีจะร่วมกันสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ เมื่อสวดจบแล้วประธานฝ่ายสงฆ์และประธานฝ่ายฆราวาส นำดอกบัวและธูปเทียนไปถวายหน้าพระบรมศพ ต่อจากนั้นผู้มาร่วมพิธีจะทยอยนำดอกบัว ธูปเทียนไปถวายหน้าพระบรมศพ และชาวบ้านในแต่ละขบวนจะเดินออกบริเวณพิธีเพื่อไปจุดพลุตะไล และดอกไม้ไฟเพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ถือเป็นเสร็จพิธี

โดยในช่วงกลางคืนจะมีมหรสพพื้นบ้าน ดนตรีไทย และการละเล่นที่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านส่งมาร่วมแสดง ซึ่งนับเป็นงานบุญประเพณีที่พุทธศาสนิกชนจะได้ช่วยกันอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่สืบไป


รูปภาพ


:b8: ขอขอบพระคุณ...
ที่มาของข้อมูล : หนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 มิ.ย. 2012, 16:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระพุทธรูปปางปรินิพพาน ณ เมืองกุสินารา สถานที่ปรินิพพาน
รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย



วัดป่างิ้ว ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่
กำหนดจัดงาน “วันอัฏฐมีบูชา”
ในวันจันทร์ที่ ๑๑-วันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕

วัดป่างิ้ว ต.ท่าวังตาล อ.สารภี จ.เชียงใหม่ กำหนดจัดงาน “วันอัฏฐมีบูชา” หรือวันถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันจันทร์ที่ ๑๑-วันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ นี้

“วันอัฏฐมีบูชา” วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ (หรือเดือน ๗ ในปีที่มีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน) ในปีนี้กำหนดตรงกับวันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ เป็นวันที่มีเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนา ถือเป็นวันที่ตรงกับวันถวายพระเพลิงพระบรมพุทธสรีระ เป็นวันที่ชาวพุทธต้องสูญเสียพระบรมพุทธสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดาซึ่งเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงยิ่ง และเป็นวันที่แสดงธรรมสังเวช ระลึกถึงพระพุทธคุณให้สำเร็จเป็นพุทธานุสสติภาวนามัยกุศล

ในการจัดงานมีพระสงฆ์รวมพิธีจำนวนมากกว่า ๔๐๐ รูป จำลองเหตุการณ์ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้า ผสมผสานกับจารีตประเพณีพื้นบ้าน มีการแห่ขบวนเครื่องสักการะมาถวาย ซึ่งประชาชนในพื้นที่และต่างจังหวัดที่ศรัทธาทางวัดมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยขบวนแห่เครื่องสักการะการจัดงานวันอัฏฐมีบูชา ประจำปี ๒๕๕๕ ได้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสนับสนุน พร้อมกันนี้ สถาบันการศึกษา ได้ให้ความสำคัญแจ้งความประสงค์มาร่วมงาน เพื่อให้เยาวชนนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้ามาศึกษาประวัติพระพุทธศาสนา และปลูกจิตสำนึกเยาวชนให้เข้าวัดปฏิบัติธรรมให้มากยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับพิธีกรรมทางศาสนาในงาน ประกอบไปด้วย พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์สมโภชน้ำศักดิ์สิทธิ์, พระมหานาค สวดพระคาถาพุทธาภิเษกสมโภช ในวันอังคารที่ ๑๒ มิถุนายน พระราชาคณะจำนวน ๙ รูป เจริญพระพุทธมนต์สืบชะตาหลวง, ทอดผ้าป่ามหากุศล เวลา ๑๔.๐๐ น. ประกอบพิธิอัฏฐมีบูชา


:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูล...
หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ออนไลน์


รูปภาพ

วัดอโศการาม
บ้านนาแม่ขาว ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่าน
ร่วมเวียนเทียนเนื่องใน “วันอัฏฐมีบูชา”
วันอังคาร์ที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๕ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗
ณ พระธุตังคเจดีย์ วัดอโศการาม


เริ่มเวียนเทียนตั้งแต่เวลา ๒ ทุ่มเป็นต้นไป
หลังจากพระภิกษุสวดมนต์ ทำวัตรเย็น เสร็จเรียบร้อยแล้ว


• แผนที่วัดอโศการาม •
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=2002


:b8: ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูล...
fb. ลูกศิษย์ท่านพ่อลี ธัมมธโร วัดอโศการาม



.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ค. 2014, 12:11 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 มิ.ย. 2013, 14:43
โพสต์: 68

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: สาธุ :b8: สาธุ :b8: สาธุ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2016, 15:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1013


 ข้อมูลส่วนตัว


กราบสาธุๆๆ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 พ.ค. 2019, 14:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: :b8: :b8: วันอัฏฐมีบูชา
วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
หลังจากเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ ๘ วัน


เหตุการณ์ต่อเนื่องจาก “วันอัฏฐมีบูชา”
โทณพราหมณ์ แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆ กัน
แล้วมอบให้ผู้ครองนครทั้ง ๘ นำไปสักการบูชาที่บ้านเมืองของตน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 พ.ค. 2019, 21:28 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 10 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร