วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 10:25  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ต.ค. 2012, 06:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
หลังจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑
พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่ยังโลกมนุษย์
ณ ประตูเมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ (แคว้นปัญจาบ) ชมพูทวีป
หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระพุทธมารดา
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับพระบาทยังพื้นดินเท่านั้น
ก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์เปิดโลก “โลกรวิวรรณ” โดยแสดงกิริยาพระหัตถ์เปิดโลก
เนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ได้มองเห็นกันและกันตลอดทั้ง ๓ โลก
เพื่อให้ชนเหล่านั้นตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท ศรัทธาในพระรัตนตรัย
ชาวพุทธจึงเรียกวันนี้กันว่า “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก” หรือ “วันพระเจ้าเปิดโลก”
ภาพวาด...ผลงานการสร้างสรรค์ของ อ.กฤษณะ สุริยกานต์

----------------
วันออกพรรษา

“วันออกพรรษา” หมายถึง วันสิ้นสุดการอยู่จำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ครบถ้วนไตรมาส ตลอด ๓ เดือนในฤดูฝนตามพระพุทธบัญญัติ (นับตั้งแต่วันเข้าพรรษา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) วันออกพรรษานับเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือเพ็ญเดือน ๑๑ ของทุกปี หลังจากวันออกพรรษาแล้วพระภิกษุสงฆ์ก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้ อนึ่ง มีชื่อเรียก “วันออกพรรษา” อีกอย่างหนึ่งว่า วันปวารณา (อ่านว่า ปะ-วา-ระ-นา) หรือ “วันมหาปวารณา” คือ วันที่เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุสงฆ์กล่าวปวารณาต่อกัน ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ด้วยเมตตาจิต เมื่อได้เห็น ได้ฟัง หรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน พิธีดังกล่าวถือเป็นสังฆกรรมที่พิเศษอย่างหนึ่งที่ทำเฉพาะในวันออกพรรษา อันเป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันนั้นพระภิกษุสงฆ์จะงดสวดสาธยายพระปาติโมกข์ (คือการสวดสาธยายพระวินัย ๒๒๗ ข้อ และสวดสาธยายปาติโมกข์ในที่นี้มิใช่โอวาทปาติโมกข์) ที่ได้กระทำกันทุกๆ ๑๕ วันในที่ประชุมสงฆ์ช่วงเข้าพรรษา เรียกอีกอย่างว่า “ลงอุโบสถกรรม” แต่จะประกอบพิธีทำสังฆกรรมที่พิเศษอย่างอื่นแทน เรียกว่า “พิธีปวารณา”

พิธีปวารณา คือ การยอมให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนในหมู่สงฆ์ เพราะในระหว่างเข้าพรรษาพระภิกษุสงฆ์บางรูปอาจมีข้อบกพร่องที่ต้องแก้ไข ผู้ว่ากล่าวตักเตือนจะต้องกระทำด้วยความเมตตาจิต ปรารถนาดีต่อผู้ถูกตักเตือน ทั้งกาย วาจา และใจ ส่วนผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือนก็ต้องมีจิตใจกว้างขวาง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ถ้าเป็นจริงตามคำกล่าวก็ปรับปรุงตัวใหม่ หากไม่จริงก็สามารถชี้แจงแสดงเหตุผลให้กระจ่าง ทั้งสองฝ่ายต้องคิดว่าทักท้วงเพื่อก่อสุข ฟังเพื่อแก้ไข จึงจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และตรงกับความมุ่งหมายของการปวารณา ที่มุ่งเพื่อจะสร้างความสมัครสมานสามัคคี และดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมหมู่สงฆ์

• อ่านต่อจากที่นี่นะคะ...ประวัติ “วันออกพรรษา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=83&t=45497

มาปวารณากันเถิด (พระไพศาล วิสาโล)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=83&t=54503

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

(๑) ประเพณีตักบาตรเทโวฯ
ประเพณีตักบาตรเทโวฯ ซึ่งย่อมาจาก “เทโวโรหณะ” หมายถึง การเสด็จลงมาจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่ยังมนุษย์โลกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จไปประกาศพระศาสนาในแคว้นต่างๆ ทั่วชมพูทวีปแล้ว ในพรรษาที่ ๗ ทรงรำลึกถึง “พระนางสิริมหามายา” ซึ่งได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระองค์ประสูติได้ ๗ วัน จึงทรงดำริที่จะสนองคุณของพระพุทธมารดา ดังนั้น จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอภิธรรม ๗ คัมภีร์ (พระสัตตปกรณาภิธรรม) โปรด “สันดุสิตเทพบุตร” เทพบุตรพระพุทธมารดา (ซึ่งประทับอยู่ที่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์) และหมู่ทวยเทพเทวดาทั้งหลายอยู่ ๑ พรรษา ครั้นถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือหลังจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน พระมหาโมคคัลลานะแสดงปาฏิหาริย์เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทูลถามว่าพระองค์จะเสด็จมาสู่มนุษย์โลก ณ ที่ใด พระพุทธองค์ตรัสถามว่า พระสารีบุตรและเธอจำพรรษาที่ใด เมื่อทราบคำกราบทูลว่า ท่านทั้งสองจำพรรษาอยู่ที่เมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ (แคว้นปัญจาบ) ชมพูทวีป พระพุทธองค์จึงทรงตกลงพระทัยเสด็จลงสู่มนุษย์โลกตรงประตูเมืองสังกัสสะ ท่ามกลางหมู่ทวยเทพเทวดาซึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นมนุษย์โลกนั้นต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า “อจลเจดีย์” เรียกอย่างไทยเราก็ว่า “รอยพระพุทธบาท” ตามตำนานว่าที่นี่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่

ประชาชนต่างพากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อทำบุญตักบาตรกันอย่างเนืองแน่น ด้วยเหตุนี้ชาวพุทธจึงถือเอาวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก จึงนิยมตักบาตรกันเป็นพิเศษ และทำสืบต่อกันมาเป็นประเพณีที่เรียกว่า “พิธีตักบาตรเทโวฯ” ตราบเท่าจนทุกวันนี้

วันตักบาตรเทโวฯ หรือ วันตักบาตรเทโวโรหณะ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก” ด้วยว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่ยังโลกมนุษย์ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือหลังจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วันนั้น เล่ากันว่า ท้าวสักกเทวราช พร้อมด้วยเหล่าทวยเทพเทวดาบริวารจำนวนมากได้ตามส่งเสด็จทางบันไดสวรรค์จนถึงขั้นพิภพอย่างสมพระเกียรติ เมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับพระบาทยังพื้นดินเท่านั้น ก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์เปิดโลก “โลกรวิวรรณ” โดยแสดงกิริยาพระหัตถ์เปิดโลก เนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ได้มองเห็นกันและกันตลอดทั้ง ๓ โลก คือ เทวโลก มนุษย์โลก และยมโลก เสมือนนั่งอยู่พร้อมหน้ากันเป็นที่อัศจรรย์ เพื่อให้ชนเหล่านั้นตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท ศรัทธาในพระรัตนตรัย ทำให้ผู้ที่ไม่เลื่อมใสได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วยิ่งเลื่อมใสยิ่งขึ้น กล่าวคือ ญาติที่เสียชีวิตถ้าอยู่บนสวรรค์ก็สามารถเห็นญาติในเมืองมนุษย์ได้ ญาติที่ตกนรกอยู่ก็สามารถเห็นญาติในเมืองมนุษย์ได้ ส่วนมนุษย์ก็สามารถเห็นญาติของตนทั้งในนรกและบนสวรรค์ได้เช่นกัน อีกทั้งในวันนี้การลงโทษในเมืองนรกได้ยุติลงชั่วคราว ชาวพุทธจึงเรียกวันนี้กันว่า “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก” หรือ “วันพระเจ้าเปิดโลก”

สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หมายถึง สวรรค์ชั้นที่ ๒ แห่งสวรรค์ทั้งหมด ๖ ชั้น ซึ่งมีท้าวสักกะหรือพระอินทร์เป็นจอมเทพผู้ปกครอง สวรรค์ทั้งหมด ๖ ชั้นดังกล่าว เรียกว่า “กามภพ” หมายถึง ภพที่ท่องเที่ยวไปในกาม แบ่งออกเป็น ชั้นจาตุมหาราช เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้ง ๔, ชั้นดาวดึงส์ เป็นเมืองของท้าวสักกะหรือพระอินทร์, ชั้นยามา เป็นเมืองของพระสยามเทวาธิราช, ชั้นดุสิต (ดุสิต แปลว่า บันเทิง) มีท้าวสันดุสิตเทวราชเป็นใหญ่, ชั้นนิมมานนรดี (อ่านว่า นิม-มาน-นอ-ระ-ดี) หมายถึง ผู้ยินดีในการเนรมิต มีท้าวสุนิมมิตเทวราชเป็นใหญ่ และ ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี (อ่านว่า ปอ-ระ-นิม-มิด-ตะ-วะ-สะ-วัด-ดี) มีพระยามาราธิราชเป็นใหญ่

ของทำบุญที่นิยมกันเป็นพิเศษในประเพณีตักบาตรเทโวฯ คือ ข้าวต้มลูกโยน โดยจะเอาข้าวเหนียวมาห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาว กล่าวกันว่าที่นิยมทำข้าวต้มลูกโยนคงเป็นเพราะเมื่อพระพุทธองค์เสด็จลงมาจากดาวดึงส์เทวโลก พระบรมศาสดาถูกห้อมล้อมด้วยมนุษย์และเทวดาเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ที่เข้าไม่ถึง คิดวิธีใส่บาตรโดยโยนเข้าไป และที่ไว้หางยาวก็เพื่อให้โยนได้แม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งการโยนลักษณะนี้คงเกิดขึ้นภายหลังมิใช่สมัยพระพุทธองค์จริงๆ และทำให้เป็นนัยยะมากกว่า เพราะปัจจุบันจะใช้การแห่พระพุทธรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า


• อ่านต่อจากที่นี่นะคะ...พิธีตักบาตรเทโว (วันพระเจ้าเปิดโลก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=35189

เมืองสังกัสสะ สถานที่ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44853

บันไดขึ้นสู่ยอดเขาสะแกกรัง (เขาแก้ว) ๔๔๙ ขั้น ณ วัดสังกัสรัตนคีรี
สถานที่จัดงานประเพณีตักบาตรเทโวฯ ที่เลื่องชื่อที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือหลังจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19278


(๒) พิธีทอดกฐิน
การทอดกฐินเป็นบุญพิเศษที่ทำได้ยากยิ่ง จัดเป็นการถวายสังฆทานชนิดหนึ่ง คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยมิได้เฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง โดยเป็นการถวายทานตามกาล เรียกว่า “กาลทาน” ตามพระธรรมวินัยกำหนดกาลไว้ คือ มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัดเพียง ๑ เดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว กล่าวคือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ โดยแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น และจะต้องมีพระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษาครบ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ครบองค์สงฆ์ตามพระวินัยบัญญัติ

• อ่านต่อจากที่นี่นะคะ...พิธีการทอดกฐิน
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=19697

ความหมายของธงกฐิน (อ.ชำนาญ นิศารัตน์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=26063

ความหมายกฐิน (ท.เลียงพิบูลย์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=43804

พระอยู่จำพรรษาองค์เดียว...ไม่ครบ ๕ องค์จะรับกฐินได้ไหม ?
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=83&t=61113


(๓) พิธีทอดผ้าป่า
การทอดผ้าป่า เป็นประเพณีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชน คล้ายกับการทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจํากัด คือสามารถทำได้ทุกฤดูกาล ไม่จำกัดเวลา คือทำได้ตลอดทั้งปี และวัดหนึ่งๆ ในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้เช่นกัน

• อ่านต่อจากที่นี่นะคะ...พิธีการทอดผ้าป่า
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=19683


(๔) ประเพณีเทศน์มหาชาติ
การเทศน์มหาชาติ เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินแล้ว ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า “งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลางบางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี บางแห่งนิยมทำกันในเดือน ๑๐ ส่วนทางดินแดนล้านนาทางภาคเหนือจะเรียกการเทศน์มหาชาติว่า “การตั้งธรรมหลวง” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนยี่เพง (ยี่เป็ง) คือ วันเพ็ญเดือน ๑๒ เรื่องที่นำมาใช้ในการเทศน์มหาชาตินั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

• อ่านต่อจากที่นี่นะคะ...เวสสันดรชาดก และเทศน์มหาชาติ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=25632

อานิสงส์ในฟังเทศน์มหาชาติ (พระมหา ดร.ไสว เทวปุญฺโญ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=44683


(๕) งานบั้งไฟพญานาค
หนึ่งในประเพณีอันลือลั่นที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและเป็นที่สนใจของคนไทยทั้งประเทศ ก็คือ “งานบั้งไฟพญานาค” บั้งไฟพญานาคเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน “วันออกพรรษา” ของทุกๆ ปี ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ มีลักษณะเป็นดวงไฟพวยพุ่งขึ้นจากน้ำสู่อากาศ พุ่งสูงประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร แล้วหายไปโดยไม่มีการโค้งตกลงมายังพื้นเช่นบั้งไฟทั่วๆ ไป ขนาดของบั้งไฟพญานาคนั้นมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ ไปจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็นหรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จำนวนดวงไฟมีระหว่างหลายสิบถึงหลายพันลูกต่อคืน บั้งไฟพญานาคจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน โดยบั้งไฟจะเอนเข้าหาฝั่งหากขึ้นกลางแม่น้ำโขง แต่หากขึ้นริมฝั่งบั้งไฟจะเอนออกไปกลางแม่น้ำโขง คลื่นมนุษย์หลายแสนคนแห่กันไปชมบั้งไฟพญานาคที่สองริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งไทย จ.หนองคาย, จ.บึงกาฬ และฝั่งลาว งานบั้งไฟพญานาคถือเป็นงานเทศกาลประเพณีที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารของอังกฤษว่า เป็น ๑ ใน ๕ กิจกรรมในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกไม่ควรพลาด

บั้งไฟพญานาคยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด แต่มีคำอธิบายเป็น ๓ แนวทาง คือ ๑. เป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติตามตำนาน...จริงหรือไม่ที่พญานาคกลั่นดวงประทีปเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ?? ๒. เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ๓. เป็นการกระทำของมนุษย์


• อ่านต่อจากที่นี่นะคะ...“พญานาค” กับ พระพุทธศาสนา (มมร.)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=26019

“พระอริยสงฆ์” กับ “พญานาค”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=35186

รูปภาพ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ย. 2016, 15:01 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2018, 09:12 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ต.ค. 2019, 10:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2024, 06:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร