วันเวลาปัจจุบัน 14 ก.ย. 2024, 10:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2011, 14:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ปริศนาธรรมจากเมรุ
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน


มีคติธรรมแฝงอยู่ดังนี้

ส่วนที่เห็นได้ออกแบบเป็น ๓ ชั้น หมายถึง เจดีย์ เพียงแต่ไม่มียอด เนื่องจากเจดีย์เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการสักการบูชา ซึ่งผู้ที่มีคุณความดีพิเศษควรสร้างสถูปหรือเจดีย์ไว้เคารพบูชา มี ๔ ประเภท ได้แก่

๑. พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระอรหันตสาวก
๔. พระเจ้าจักรพรรดิ


ฐานเจดีย์ชั้นที่ ๑ หมายถึง ศีล ซึ่งเป็นเครื่องรองรับสมาธิ ชั้นนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๐ เมตร สื่อถึง “กรรมฐาน ๔๐” คือ อุบาย ๔๐ วิธีในการฝึกจิตให้เป็นสมาธิ

ฐานเจดีย์ชั้นที่ ๒ หมายถึง สมาธิ เมื่อสมาธิแนบแน่นก็จะเป็นฐานให้เกิดปัญญาต่อไป ชั้นนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๓๒ เมตร สื่อถึง “กาย ๓๒” คือ ส่วนประกอบที่มีลักษณะต่างๆ กัน ๓๒ อย่างในร่างกาย เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ การพิจารณากาย ๓๒ จะตัดกามตัณหาราคะได้

ฐานเจดีย์ชั้นที่ ๓ หมายถึง ปัญญา หรือการศึกษาขั้นสูง เพื่อให้สามารถตัดกิเลสได้โดยสิ้นเชิง ชั้นนี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๖ เมตร สื่อถึง “โสฬสญาณ (ญาณ) ๑๖” คือญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด

ชั้นบนสุดวางเตาเผาลักษณะเรียบง่าย ผนังทำด้วยอิฐ เตานี้จะอยู่กึ่งกลางพอดี เพื่อสื่อถึงความหมายว่า หลวงตาได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ได้เสวยวิมุตติสุข เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานโดยแท้

บันไดทางขึ้นเมรุมี ๔ ทาง สื่อถึง “อริยสัจ ๔” คือหลักความจริง ๔ ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้

หัวเสา มี ๑๓ เหลี่ยม แทนหลัก “ธุดงควัตร ๑๓”

กลด มีรัศมีกว้าง ๘.๓๐ เมตร หมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ หรือจะหมายถึง มงคลสูตร ๓๘ ประการ ก็ได้ ซึ่งมงคลสูตร ๓๘ ประการนั้นมีเนื้อหาสำคัญคือ การปฏิเสธมงคลจากภายนอกศาสนา หรือการกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ให้เราหมั่นทำความดี สร้างมงคลชีวิตขึ้นด้วยตนเอง

:b8: (จากหนังสือ ธรรมะจากใจ
ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน หน้า ๒๕๒)


:b44: พุทธเจดีย์ เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๔ ประเภท
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43001

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ก.พ. 2011, 18:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


ปริศนาธรรมจากเชิงตะกอน
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ดำริไว้ก่อนมรณภาพว่า อยากให้ทำเมรุของท่านแบบเรียบง่าย ดังนั้น การก่อสร้างเมรุลอยชั่วคราวครั้งนี้ จึงเต็มไปด้วยความเรียบง่ายแต่งดงาม และแฝงไว้ซึ่งปริศนาธรรม

• จิตกาธาน หรือเชิงตะกอน

ลักษณะของจิตกาธาน หรือเชิงตะกอน หรือเมรุนั้น เป็นเนินดินทรงกลมสูง 3.80 เมตร หมายถึง มงคล 38 ประการ แบ่งเป็น 3 ชั้น หมายถึง ศีล สมาธิ ปัญญา ชั้นล่างสุดของเมรุมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เมตร หมายถึง กรรมฐาน 40 วิธี ชั้นที่ 2 เส้นผ่าศูนย์กลาง 32 เมตร หมายถึง กายคตา ซึ่งก็คือสติที่เป็นไปในกาย อันเป็นกรรมฐานอย่างหนึ่งในอนุสสติ 10 หรืออาการ 32 ของร่างกาย ส่วนชั้นบนสุดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร หมายถึง โสฬสญาณ 16 หมายถึง ญาณที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด และสุดท้ายจิตกาธาน ซึ่งอยู่ใจกลางของเมรุ คือ วิมุตติ หรือความหลุดพ้น ก่อด้วยอิฐทนความร้อน ด้านนอกเป็นอิฐประสานทำจากดิน และมีบันไดชั้นละ 7 ขั้น หมายถึง โพชฌงค์ 7 คือ องค์แห่งการตรัสรู้

และหากมองจากมุมสูงจะเห็นแสงไฟแต่ละดวงที่ส่องตามชั้นของเมรุ ดูคล้ายๆ กลีบบัว ซึ่งมีนัยสำคัญ 2 ความหมาย คือดอกไม้ที่ใช้บูชาพระ กับ ชื่อของหลวงตามหาบัว

ส่วนบริเวณบนเมรุชั่วคราว เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ได้นำหยวกกล้วยแกะสลักลวดลายไทยรวมทั้งดอกไม้สดขึ้นไประดับ การแทงหยวกครั้งนี้เป็นการผสานวัฒนธรรมท้องถิ่น และศิลปะวังหลวงเข้าด้วยกัน โดยนำมะละกอดิบมาใช้แกะสลักเป็นรูปดอกบัวขาว 50 ดอกติดประดับหน้าหยวกกล้วย นับเป็นครั้งแรกที่แกะสลักเป็นรูปดอกบัวขาว มีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อถึงความบริสุทธิ์ของพระสายกรรมฐาน

• กลดใหญ่

เหนือเมรุลอยชั่วคราวขึ้นไปเป็น กลดขนาดใหญ่ ใช้คลุมสรีระสังขารของหลวงตา ซึ่งกลดถือเป็นสัญลักษณ์ ของพระป่า กลดใหญ่นี้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 8.30 เมตร น้ำหนัก 400 กิโลกรัมเศษ ด้านบนกลึงด้วยไม้เรียกว่าหัวกลด มีซี่กลดคล้ายซี่ร่ม 42 ซี่ ทำจากไม้ตาลตะโนด ควบคุมซี่กลดด้วยกระดุมกลดซึ่งทำจากไม้ชิงชัน และคลุมด้วยผ้าสีกลัก โดยมีตุ้มระบายรูปดอกบัวอยู่รอบปลายกลด

ปริศนาธรรมจากของความกว้างของกลด 8.30 เมตร มาจาก เลข 8 คือ มรรค 8 เลข 3 หมายถึงรัตนตรัย และเลข 3 กับเลข 8 หมายถึง มงคล 38 ประการ ส่วนซี่กลด 42 ซี่ มาจากคำเทศนาของหลวงตา ซึ่งท่านเคยกล่าวไว้ว่าไม่ได้นอนกลดมา 42 ปีแล้ว

• ไม้จิก

สำหรับไม้ที่นำมาใช้เผาสรีรสังขารขององค์หลวงตานั้นคือ ไม้จิก มิใช่ไม้จันทน์แบบที่ใช้กันทั่วไป โดยพระครูอรรถกิจนันทคุณ หรือพระอาจารย์นพดล นันทโน เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร เปิดเผยถึงการใช้ไม้จิกมาเป็นเชื้อเพลิงในการเผาว่า เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทย โดยเฉพาะคนไทยอีสาน เวลาเผาผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโยมหรือพระก็ตาม เมื่อตั้งใจเก็บกระดูก ถ้าใช้ไม้จิกจะได้ฟืนที่แรงและแกร่ง หลังเผาไหม้แล้วจะเหลือส่วนที่เป็นเถ้าน้อยมาก อีกทั้งไม่เป็นมลภาวะทางอากาศ ที่สำคัญอัฐิอังคารเก็บได้จะสมบูรณ์ จัดเก็บได้ปริมาณมาก และสะอาดสวยงามมากกว่า

ต้นจิกหรือมุจลินท์เป็นไม้ที่ปรากฏในพุทธประวัติ ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า หลังจากที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ได้ทรงประทับอยู่ใต้ต้นโพธิ์และต้นไทร แห่งละ 7 วัน แล้วจึงเสด็จไปประทับใต้ต้นจิกอีก 7 วัน ในขณะที่ประทับใต้ต้นจิกนี้ ได้มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน พญานาคชื่อมุจลินท์จึงมาขดเป็นวง 7 รอบ ล้อมพระองค์ พร้อมกับแผ่พังพานปรกพระองค์ไว้ ต่อมาเมื่อมีผู้คิดประดิษฐ์พระพุทธรูปขึ้นภายหลัง จึงได้ประดิษฐ์พระพุทธรูปปางนี้ขึ้น เรียกว่า ปางนาคปรก และเรียกต้นจิกตามชื่อของพญานาค คือ มุจลินท์

• ผอบทองคำแท้บรรจุอัฐิ

ผอบทองคำสำหรับบรรจุอัฐิหลวงตามหาบัวส่วนที่สมบูรณ์และสวยที่สุดนั้น มีลักษณะเป็นรูปดอกบัวหลวงบาน ซึ่งหมายถึงหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ผอบนี้ทำด้วยทองคำบริสุทธิ์ 99.99% น้ำหนัก 1352.4 กรัม ดอกบัวมีความสูง 12 ซม. หมายถึง วันเกิดของหลวงตา มีความกว้างสุด 3.53 นิ้ว หมายถึง เวลาที่หลวงตาละสังขาร

กลีบบัวบานชั้นบนมี 8 กลีบ หมายถึงวิชชา 8 ส่วนชั้นล่างมี 8 กลีบ หมายถึง มรรคมีองค์ 8 และก้านบัวหมายถึง จุดศูนย์รวมหรือพระนิพพาน ฐานสูง 5 ซม. หมายถึงธาตุขันธ์ 5 กว้าง 8 ซม. หมายถึง อริยบุคคล 8 ด้านบนมี 16 กลีบหมายถึง ญาณ 16 หรือโสฬสญาณ ด้านล่างมี 16 กลีบ หมายถึง พรหมโลก 16 ใต้ฐานมีพลอยนพเก้าซึ่งประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน มุกดา เพทาย ไพฑูรย์

:b8: (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 125 เมษายน 2554 โดย กองบรรณาธิการ)

:b47: :b44: :b47:

พระอาจารย์อินทร์ถวาย สันตุสสโก เจ้าอาวาสวัดป่านาคำน้อย อ.นายูง จ.อุดรธานี ยกปริศนาธรรมองค์หลวงตาบัว ญาณสัมปันโน เตือนสติญาติธรรม...องค์หลวงตาเป็นผู้สงเคราะห์โลกจริงๆ มีน้ำใจต่อโลกจริงๆ การที่จะเอาเปรียบต่อโลกนั้นหลวงตาไม่เคยทำ ไม่เคยมี มีแต่เสียสละ ในคำพูดของหลวงตาบอกว่า “การเสียเปรียบคน การเสียเปรียบในหมู่เพื่อน การเสียเปรียบคนอื่นนั้นแหละคือเมตตา” นี้แหละคำพูดที่ฟังและลึกซึ้ง เพราะฉะนั้นการมางานขององค์หลวงตาต้องยอมเป็นผู้เสียเปรียบ อย่าเอาเปรียบ นี่คือคำพูดคำสั่งขององค์หลวงตา อย่างที่เคยได้พูดไปแล้วว่าการที่เราเข้ามาในวัด เข้ามาทำบุญ เข้ามาทำงาน สิ่งใดที่ไม่ดีไม่งามอย่าไปทำ

“หากเห็นสิ่งใดสกปรกรกรุรังเราต้องช่วยกัน มันจะเป็นบุญเป็นกุศลเกิดขึ้นในจิตใจของเรา เกิดพบหน้าชาติหน้าก็จะเป็นผู้ที่สวยงาม สวยงามทั้งกาย สวยงามทั้งใจ แต่ถ้าต่างคนเข้าแล้วทำสกปรก ทิ้งขยะรกรุงรังเกิดชาติหน้าภพใดก็จะเป็นคนไม่สวยงามนะ”

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ม.ค. 2015, 18:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เมรุ

ศิษยานุศิษย์เตรียมการจัดสร้างเมรุ
สำหรับพิธีพระราชทานเพลิงศพ
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)
ในวันเสาร์ที่ ๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔ นี้


คำว่า “เมรุ” (อ่านว่า เมน) หมายถึง ภูเขากลางจักรวาล
มียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นที่ประทับของพระอินทร์

นอกจากนี้ มีอีกความหมาย คือ
เป็นที่เผาศพมีหลังคาเป็นยอด มีรั้วล้อมรอบด้วย

สำหรับพระมหากษัตริย์ เรียกว่า พระเมรุมาศ
พระบรมวงศานุวงศ์ เรียกว่า พระเมรุ
ส่วนสามัญชนเรียกว่า เมรุ

จากหนังสือ “ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย”
ของสำนักพิมพ์มติชน อธิบายการสร้างเมรุหรือพระเมรุ
ว่าเกี่ยวพันถึงคติความเชื่อในสังคมไทย
ที่รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนาและพราหมณ์

ทางพุทธศาสนายึดถือคติไตรภูมิ
กล่าวถึงเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางของภูมิทั้งสาม

ทางศาสนาพราหมณ์ เชื่อถือว่าพระเจ้าแผ่นดิน
เป็นพระศิวะหรือพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาบำรุงโลกมนุษย์
เมื่อสิ้นอายุขัยย่อมกลับคืนสู่สวรรค์

ความเป็นสมมติเทพของพระมหากษัตริย์
ส่งผลถึงการเรียกสถานที่ตั้งพระบรมศพหรือพระศพ
เพื่อประกอบพิธีถวายพระเพลิงว่า เมรุ พระเมรุ หรือพระเมรุมาศ
เป็นการส่งพระศพและดวงวิญญาณเสด็จกลับยังเขาพระสุเมรุ

ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จดับขันธปรินิพพาน ผ่านพ้นไป ๘ วัน

ในครั้งนั้น มัลลกษัตริย์แห่งนครกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน
และพระสงฆ์ มี พระมหากัสสปเถระ เป็นประธาน
ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระแห่งองค์พระบรมศาสดา
ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ประดิษฐานบนจิตกาธาน
คือ เชิงตะกอนที่ทำด้วยไม้แก่นจันทน์สูง ๑๒๐ ศอก

แสดงให้เห็นว่า ในสมัยพุทธกาล
ยังไม่มีการทำรูปแบบเมรุอย่างเช่นในสมัยปัจจุบัน

ทั้งนี้ หลักฐานการสร้างพระเมรุในประวัติศาสตร์ไทย
มีปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยา ด้วยพิธีพระบรมศพ
ถือเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ของบ้านเมือง มีแบบแผนถือปฏิบัติอย่างมีระเบียบ

ความสำคัญของการจัดพระราชพิธีถวายพระเพลิงสร้างพระเมรุมาศ
เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศที่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่
ถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่สวรรคตล่วงแล้ว
พิจารณาพระเดชานุภาพในการสร้างพระเมรุมาศ

สันนิษฐานว่าการสร้างพระเมรุมาศสมัยอยุธยาตอนต้น
น่าจะนำคติการสร้างมาจากขอมเป็นแบบแผน
มีการปรับปรุงแบบแผนจนมีรูปแบบศิลปะไทยในยุคหลังๆ
แสดงงานศิลปกรรมแบบอยุธยาอย่างสมบูรณ์

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยึดหลักการสร้างแบบพระเมรุมาศ
ตามตำราโบราณราชประเพณีครั้งกรุงเก่าทุกประการ
คือ ทำเป็นพระเมรุอย่างใหญ่ มีตัวพระเมรุ ๒ ชั้น
ต่างไปอยู่ภายในพระเมรุชั้นนอกที่ทำเป็นพระเมรุ
ยอดปรางค์หรือยอดรูปดอกข้าวโพด
ส่วนใหญ่เป็นไปตามแบบแผนมีต่างกันไป
ในรายละเอียดเรื่องการออกแบบตามฝีมือช่าง

สำหรับพระเมรุมาศพระบรมศพรัชกาลที่ ๔ ถือได้ว่า
เป็นพระเมรุมาศสุดท้ายที่ทำตามแบบโบราณราชประเพณี

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันชาวบ้านนิยมเผาศพบนเมรุ
เลียนแบบพิธีศพของเจ้านายและขุนนางในอดีต
เห็นได้จากการพยายามสร้างเมรุเผาศพตามวัดต่างๆ
ทั้งในเขตเมืองและชนบททั่วประเทศ

ทุกวันนี้การเผาศพบนเมรุกลายเป็นสิ่งที่แสดงฐานะ
และเชิดชูคุณงามความดีของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว


ดังเช่นที่คณะศิษย์วัดป่าบ้านตาดร่วมกันถวายมุทิตาสักการะ
จัดสร้างเมรุให้หลวงตามหาบัวเป็นครั้งสุดท้าย


:b8: ที่มา : http://www.khaosod.co.th/ คอลัมน์ที่ ๑๓

:b47: :b40: :b47:

:b50: เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของงานที่ทุกคนไม่อยากเป็นเจ้าภาพ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=28134

:b50: เมรุปราสาทพญานกหัสดีลิงค์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=47415


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 09 ส.ค. 2022, 23:10 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร