วันเวลาปัจจุบัน 12 ก.ย. 2024, 23:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ธ.ค. 2008, 06:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วันมาฆบูชา
:: อ.เสฐียรพงษ์ วรรณปก


“มาฆบูชา” ถอดเป็นอักษรโรมันว่า Maghapuja แปลว่า การบูชาในวันที่พระจันทร์เสวยฤกษ์มาฆะ นับทางจันทรคติ ก็เป็นวันเพ็ญเดือน 3 (หรือวันเพ็ญเดือน 4 สำหรับปีที่มีอธิกมาส อย่าถามล่ะ ปีที่มีอธิกมาสคือปีอะไร อยากทราบไปค้นหาคำตอบเอาเอง)

ความเป็นมาของวันมาฆบูชา มีว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาวันมาฆบูชาขึ้น โดยทรงคำนึงถึงเหตุการณ์สำคัญครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล คือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงส่งพระสาวกผู้เป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญาจำนวน 60 รูปไปประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรกนั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสสั่งว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วง ทั้งที่เป็นทิพย์ และเป็นของมนุษย์ บัดนี้พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นกัน พวกเธอจงจาริกไป เพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”

แปลไทยเป็นไทยว่า พระพุทธเจ้าทรงหลุดพ้นจากกิเลสแล้ว พระสาวกของพระองค์ก็หลุดพ้นแล้วเช่นกัน (พูดภาษาสมัยใหม่ว่า “มีความพร้อมแล้ว”) ต่อแต่นี้ไป จงออกไปทำประโยชน์แก่สังคม โดยสั่งสอนประชาชนจำนวนมาก ใครที่คิดว่าพระพุทธศาสนาสอนให้สนใจแต่ตัวเอง สอนให้เห็นแก่ตัว ไม่คำนึงถึงสังคมนั้น จงเข้าใจเสียใหม่ว่า พระพุทธศาสนาเน้นการอนุเคราะห์สัตว์โลกทั้งปวง เน้นการสั่งสอนอบรม ให้แสงสว่างทางธรรมแก่คนทั้งปวง พระดำรัสข้างต้นถือว่าเป็น “อุดมการณ์” ของพระพุทธศาสนา ทีเดียว

เมื่อส่งพระสาวกแยกย้ายกันไปสั่งสอนประชาชนแล้ว พระองค์ก็เสด็จพุทธดำเนินไปยังอุรุเวลาเสนานิคม ทรงแสดงธรรมโปรดชฎิลสามพี่น้อง พร้อมทั้งบริวาร 1,000 คน ให้บรรลุธรรม แล้วประทานอุปสมบทให้เป็นภิกษุ ชฎิลเหล่านี้เป็นที่เคารพของพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ ทุกกึ่งเดือน พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองจะพากันมาฟังธรรมจากอาจารย์ของพวกตน วันนั้น มาเห็นสมณะหนุ่มรูปหนึ่ง นั่งเป็นสง่าอยู่ท่ามกลางชฎิลทั้งหลาย ซึ่งนุ่งห่มแปลกไปจากเดิม มีความสงสัยว่า สมณะรูปนี้ใหญ่กว่าอาจารย์ของเราหรือหนอ

พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของพระราชาและประชาชน จึงรับสั่งให้พระปูรณะกัสสปะไขข้อข้องใจของพวกเขา พระปูรณะกัสสปะ จึงกราบแทบพระยุคลบาทของพระพุทธเจ้า ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นศาสดาของเรา เราเป็นสาวกของพระองค์ พระราชาและประชาชนจึงหายสงสัย

มีข้อสังเกตตรงนี้คือ ความจริงพระพุทธเจ้าต้องการไปโปรดพระเจ้าพิมพิสาร แต่ทรงเห็นว่า ชฎิลสามพี่น้องเป็นที่เคารพนับถือของพระราชาและประชาชน การจะให้พระราชาและประชาชนนับถือ ก็จะต้องให้คนที่พวกนั้นนับถือมาสยบยอมก่อน เมื่อหัวหน้าใหญ่ยอมแล้ว ลูกน้องจะไปไหนเสีย และเมื่อพระเจ้าแผ่นดินมาเป็นลูกศิษย์พระพุทธองค์แล้ว ชาวเมืองจะไปไหนเสีย ผู้รู้จึงกล่าวว่า พระพุทธองค์เป็นนักรัฐศาสตร์ชั้นยอด จับหัวหน้าอยู่หมัดแล้ว ลูกน้องก็เฮโลมาหาเอง

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารหันมาเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ถวายป่าไผ่อยู่นอกเมือง ให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ และภิกษุสงฆ์ นับว่าป่าไผ่นี้เป็น “วัดแห่งแรก” ในพระพุทธศาสนา ชื่อว่า “พระเวฬุวันวิหาร” ต่อมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสาม พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน พระสาวกที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในครั้งนั้น หลายรูปก็เดินทางมายังเมืองราชคฤห์ เพื่อรายงานเกี่ยวกับกิจการพระศาสนาที่ตนได้ทำมา

คืนนั้นเป็นวันเพ็ญเดือน 3 พระจันทร์เพ็ญส่องแสงนวลใย พระสาวกจำนวน 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายล่วงหน้า ท่านเหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา ท่านเหล่านั้นพระพุทธเจ้าทรงบวชให้เอง พระพุทธเจ้าทรงเห็นปรากฏการณ์พิเศษนี้ จึงทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่ที่ประชุมสงฆ์ อันประกอบด้วยองค์ 4 เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” (ที่ประชุมอันมีองค์ 4) เนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์ว่าอย่างไร ค่อยว่ากันภายหลัง

พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงปรารภเหตุการณ์พิเศษนี้ จึงทรงสถาปนา “วันมาฆบูชา” เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่ง นอกจากวันวิสาขบูชาที่มีมาก่อนนานแล้ว นี้คือความเป็นมาของวันมาฆบูชา

ทีนี้มาพูดถึง เนื้อหาของโอวาทปาติโมกข์ คนส่วนมากมักจำกันแค่ 3 ข้อคือ ไม่ทำชั่ว, ทำดี, ทำจิตให้ผ่องใส เพราะโบราณไทยท่านบัญญัติให้เป็น “หัวใจ” ของพระพุทธศาสนา ความจริงโอวาทปาติโมกข์มีถึง 13 หัวข้อ คือ

1. ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นเครื่องเผากิเลสที่ยอดเยี่ยมที่สุด
2. พระนิพพาน ผู้รู้ทั้งหลายกล่าวว่าเป็นยอด (เป็นเป้าหมายสูงสุดแห่งชีวิต)
3. ผู้ที่ฆ่าหรือทำร้ายคนอื่นอยู่ มิใช่บรรพชิต
4. ผู้เบียดเบียนคนอื่นอยู่ มิใช่สมณะ
5. ไม่ทำบาปทั้งปวง
6. ทำความดีให้พร้อม
7. ทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส
8. ไม่ว่าร้ายคนอื่น
9. ไม่เบียดเบียนคนอื่น
10. เคร่งครัดในระเบียบข้อบังคับ
11. อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด
12. รู้จักประมาณในอาหารการกิน
13. ฝึกจิตให้มีสมาธิขั้นสูง


พระโอวาทนี้จะเรียกว่า เป็นการปัจฉิมนิเทศแก่คณะธรรมทูตที่ส่งไปเผยแผ่ครั้งแรก และเป็นปฐมนิเทศแก่คณะที่สองที่จะส่งต่อไปก็ได้ เนื้อหาสรุปลงได้ 3-4 ประเด็น ดังนี้

1. เน้นถึง อุดมการณ์ของพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพาน (ข้อ 2)

2. พูดถึง หลักการทั่วไปของพระพุทธศาสนา คือ ไม่ทำชั่ว, ทำดี, ทำใจให้ผ่องใส (ข้อ 5, 6, 7)

3. พูดถึง วิธีการเผยแผ่ คือ ให้ใช้ขันติ รู้จักประสานประโยชน์ ไม่ว่าร้ายเขา ไม่เบียดเบียนเขา
(ข้อ 1, 3, 4, 8, 9, 10)

4. พูดถึง คุณสมบัติของผู้เผยแผ่ จะต้องเป็นคนเคร่งครัดในพระวินัย คือ มีศีล, มีความประพฤติดีงาม,
อยู่เรียบง่าย, ชอบที่สงบสงัด, ไม่เห็นแก่กิน และฝึกจิตจนได้สมาธิขั้นสูง
(ข้อ 10, 11, 12, 13)


รูปภาพ

อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีมากถึง 13 ข้อ แต่ถ้าพูดถึงหลักการทั่วไปเพียง 3 ข้อ (ไม่ทำชั่ว, ทำดี, ทำใจให้ผ่องใส) ก็ครอบคลุมเนื้อหาของพระพุทธศาสนาแล้ว โบราณท่านจึงนำเอา 3 หัวข้อนี้มาเป็น “หัวใจ” หรือแก่นพระพุทธศาสนา เพราะเหตุไรจึงว่าครอบคุลม เพราะพระอรรถกถาจารย์ (อาจารย์ผู้อธิบายพระไตรปิฎก) ได้บอกเราว่า การไม่ทำความชั่วทั้งปวงนั้น หมายเอา ศีล การทำความดีให้พร้อม หมายเอา สมาธิ การทำจิตของตนให้ผ่องใส หมายเอา ปัญญา

ศีล สมาธิ และปัญญา ก็คือ ไตรสิกขา (หลักแห่งการฝึกฝนอบรม 3 ประการ) อันเป็นสรุปความแห่งอริยมรรค มีองค์แปดนั้นเอง

ในความหมายที่สูงสุด การมีศีลสมบูรณ์ทุกข้อ ไม่บกพร่อง ไม่ด่างพร้อยเลย จึงจะเรียกได้ว่า เป็นการไม่ทำความชั่วทั้งปวง

การฝึกสมาธิจนถึงขั้นแน่วแน่ สามารถระงับนิวรณ์ (เครื่องปิดกั้นความงอกงามในธรรม) ทั้ง 5 ได้ ได้บรรลุฌาน 4 ขั้น จึงนับว่า เป็นการทำความดีสมบูรณ์

การฝึกวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดญาณหยั่งรู้ อย่างต่ำตั้งแต่ธัมมจักขุ (ดวงตาเห็นธรรม) ซึ่งเป็นภูมิธรรมของพระโสดาบันขึ้นไปจนถึงพระอรหัตผล จึงจะเรียกว่า การทำจิตให้ผ่องใส


ถ้าลด “เพดาน” ลงมาให้ต่ำหน่อย ก็จะต้องอธิบายง่ายๆ อย่างนี้ เราต้องพยายามละเว้นจากสิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เป็นหลักของสังคมเห็นว่าไม่ดี อะไรที่นักปราชญ์ท่านบอกว่าไม่ดี ก็อย่าไปทำ เช่น การพนันไม่ดี ยาบ้ายาอีไม่ดี บุหรี่ กัญชา สุรายาเมาไม่ดี อย่าไปเสพไปเกี่ยวข้อง การละเว้น การไม่ทำสิ่งที่ท่านว่าไม่ดีทั้งหลาย ไม่ว่าเรื่องเล็ก หรือใหญ่ เป็นคนมีวินัยในตัวเอง ควบคุมจิตใจตัวเองได้ อย่างนี้เรียกว่า “ไม่ทำความชั่ว” ได้แล้วครับ ถ้าจะให้ดีถึงที่สุด ต้องไม่ทำความชั่วทั้งปวง ไม่ใช่เว้นแค่อย่าง สองอย่าง

เพียงแต่ไม่ทำความชั่วอย่างเดียว ยังไม่นับว่าเป็นคนดีดอกนะ ต้องสร้างความดีอื่นประกอบด้วย เช่น ไม่ฆ่าสัตว์อย่างเดียวไม่พอ ต้องสร้างความเมตตากรุณาให้เกิดขึ้นในใจด้วย เพราะถ้าไม่มีเมตตากรุณาในใจ โอกาสจะฆ่า หรือเบียดเบียนคนอื่นย่อมมีได้ง่าย เพียงแต่ไม่ลักขโมยของคนอื่น ก็ยังไม่ถือว่าเป็นคนดี ต้องมีอาชีพที่สุจริตทำด้วย เพราะถ้าว่างงาน ไม่มีเงินทอง ไม่มีข้าวปลาอาหารกิน ย่อมเสี่ยงต่อการลักเล็กขโมยน้อย (จนกระทั่งขโมยมาก) ได้ในที่สุด ไม่ทำชั่ว ทำดี ก็ยังไม่นับว่าดีแท้ ต้องฝึกฝนจิต ทำจิตให้มีคุณภาพ (ความดีงาม) สมรรถภาพ (ความสามารถ) สุขภาพ (ความปลอดโปร่งผ่อนคลาย) และอิสรภาพ (ความเป็นอิสระ ไม่ถูกกิเลสตัณหาสนตะพายจูงไป มีความยึดมั่นถือมั่นน้อย)

ชาวนาที่ปลูกข้าวได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย จะต้องทำเป็นขั้นตอน ดังนี้

1. ถางหญ้าและวัชพืชที่รกที่นาให้เตียน ไถ คราด ให้ดี จนเหมาะที่จะหว่านเมล็ดพืชได้

2. หว่านเมล็ดพืชลงไปยังพื้นที่ที่ปรับให้เหมาะนั้น เมื่อกล้าโตก็ปักดำลงบนผืนนานั้น

3. คอยเอาใจใส่ดูแลข้าวกล้าที่ปักดำแล้วนั้น เช่นเมื่อน้ำมากไปไขออก เมื่อน้ำน้อยไปก็ไขเข้า ขจัดศัตรูพืช ระวังมิให้วัวควายลงมากิน

ผมเป็นลูกชาวนา ถึงไม่เคยไถ ไม่เคยหว่าน ก็เห็นพ่อ เห็นพี่ๆ เขาทำ เรียกว่าพอมีความรู้อยู่บ้าง ลองนึกภาพดูก็จะเห็น ข้าวกล้าที่ชาวนาปลูกและดูแลเป็นขั้นเป็นตอนอย่างนี้ ย่อมให้ผลผลิตได้มากกว่าปล่อยให้มันเติบโตตามบุญตามกรรม ฉันใดก็ฉันนั้นแหละครับ คนเราจะพัฒนาตนเองให้เป็นดีพอสมควร ก็จะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนเหมือนกัน เริ่มด้วยละเว้นจากสิ่งที่ไม่ดี ขัดกับจารีตประเพณีอันดีงาม ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม แล้วก็บำเพ็ญความดีงามเสริม จากนั้นก็คอยระวังรักษาความดีงามที่ได้ทำมานั้นให้ดี พร้อมทั้งพัฒนาให้มีมากยิ่งๆ ขึ้น

ถ้าจะสรุปด้วยคำพูดอีกนัยหนึ่งก็ว่า ต้องมีความเพียร 4 ขั้นตอน คือ
1. พยายามระวังมิให้ความชั่วที่ยังไม่เกิด ได้เกิด
2. เพียรละความชั่วที่ทำลงไป
3. เพียรสร้างความดี ที่ยังไม่มี ให้มีขึ้น
4. เพียรอนุรักษ์ และพัฒนาความดีนั้นให้เจริญยิ่งๆ ขึ้นไป

สรุปด้วยคำพูดสั้นๆ ว่า เพียรระวัง-เพียงละ-เพียรสร้าง-เพียรรักษา

ทำได้ตามขั้นตอนนี้ ก็นับว่าเป็นคนดีแล้ว ทำได้มากก็ดีมาก ทำได้น้อยก็ดีน้อย (พูดอีกก็ถูกอิฐ เอ๊ย ถูกอีก) ขอฝากไว้ให้พิจารณาด้วยครับ

รูปภาพ

หนังสือมติชน รายวัน หน้า 6
คอลัมน์ รื่นร่มรมเยศ โดย เสฐียรพงษ์ วรรณปก
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 10928


:b44: รวมกระทู้ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับ “วันมาฆบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=45501

:b44: “วันมาฆบูชา” ขอเชิญชวนเพื่อนๆ ทุกท่าน “ปฏิบัติบูชา”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=23&t=41353

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2020, 18:31 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร