วันเวลาปัจจุบัน 19 ก.ย. 2024, 20:53  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2009, 01:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

วั น ม า ฆ บู ช า :
แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน

กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม

๑. ค ว า ม เ ป็ น ม า

วันมาฆบูชา ตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓)
เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนา
ในวันนั้นนอกจากเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะแล้ว
ยังเป็นวันที่พระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป
มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

พระสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็นเอหิกขุ
ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้า
และล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา ๖

การประจวบของเหตุการณ์ทั้ง ๔ ประการนี้ เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”
คือการประชุมซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔
ในโอกาสนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นขณะที่พระพุทธเจ้าทรงประทับอยู่
วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์
ก่อนเข้าพรรษาที่ ๒ (หลังจากตรัสรู้ ๙ เดือน)


ส่วนประเทศไทยนั้น พิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชาเริ่มมีเป็นครั้งแรก
ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เพราะพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงปรารถถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาว่า
มีเหตุการณ์สำคัญ ๔ ประการ
ที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” เกิดขึ้นในวันเดียวกัน
สมควรที่พุทธศาสนิกชนจะได้ทำการบูชา
เพื่อระลึกถึงความสำคัญของวันดังกล่าว และพระคุณของพระพุทธเจ้า

พระองค์จึงให้จัดพิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชาขึ้นในพระราชวัง
โดยโปรดให้มีการประกอบพระราชกุศลในเวลาเช้า
ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
และฉันภัตตาหารในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในเวลาค่ำ พระองค์จะเสด็จออกฟังพระสงฆ์ทำวัตรเย็น สวดโอวาทปาติโมกข์
และทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ จำนวน ๑,๒๕๐ เล่ม
พระภิกษุเทศนาโอวาทปาติโมกข์
พระสงฆ์จำนวน ๓๐ รูป สวดมนต์รับเทศนา เป็นเสร็จพิธี

รัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระองค์ทรงนำพิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา
ไปประกอบในสถานที่อื่นๆ นอกพระบรมมหาราชวัง
ในคราวเสด็จประพาสต้น เช่น บางปะอิน พระพุทธบาท
พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ พระแท่นดงรัง
เป็นต้น

ประชาชนได้นำเอาพิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชาไปปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง
และสืบมาจนถึงทุกปัจจุบันนี้ฯ


ปัจจุบัน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อวันมาฆบูชา
โดยกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ๑ วัน

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2009, 01:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๒. แ น ว คิ ด

โอวาทปาติโมกข์ ให้แนวคิดว่า
การเผยแผ่ของพระศาสนาของพระพุทธเจ้าในช่วงแรกไม่ราบรื่นนัก
เนื่องจากพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาองค์ใหม่
ในท่ามกลางศาสดาเก่าที่มีชื่อเสียง ๖ ท่าน
และศาสนาของพระองค์ก็เป็นศาสนาใหม่
ในท่ามกลางลัทธิศาสนาเก่า ถึง ๖๒ ลัทธิ

ทำให้พระองค์และพระสาวกได้รับผลกระทบอย่างมาก
จากสังคมที่ไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่มีกุลบุตรจำนวนมาก
ซึ่งเป็นผู้ที่จะสืบตระกูล ได้ออกบวชตามพระพุทธเจ้า

โดยพวกเขาคิดว่าเป็นการทำลายล้างตระกูล
จึงพากันโจมตีพระพุทธเจ้าและพระสาวก

ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอนเชิดชู
ความอดทนเป็นตบะ (ธรรมเผากิเลส) ที่สูงสุด


ความอดทนที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า “ตบะ”
มีความสำคัญต่อนักบวชที่เรียกว่าว่าบรรพชิต บ้าง สมณะบ้าง
การที่ทรงสอนว่า บรรพชิตหรือสมณะจะทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่นไม่ได้
เป็นผลมาจากนักบวชบางนิกายได้มีการกระทำดังกล่าว
แต่นักบวชในพระพุทธศาสนาต้องไม่ทำอย่างนั้น

เพราะการบวชในพระพุทธศาสนามุ่งนิพพาน
(การดับกิเลสเพื่อความสงบเย็น)
นักบวชที่มุ่งนิพพานต้องไม่ทำบาปทั้งปวง
ทำความดีถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์


การจะทำอย่างนั้นได้ นอกจากจะไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้ายใครแล้ว
ต้องมีวิถีชีวิตเรียบง่าย คือ อยู่ในที่เสนาสนะอันสงบสงัด
รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
อันเกื้อกูลต่อการฝึกฝนอบรมจิตในระดับสูง
เพื่อบรรลุนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุด
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสสรรเสริญว่ายอดเยี่ยม


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2009, 14:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๓. ค ว า ม สำ คั ญ

วันมาฆบชา มีความสำคัญในฐานะ
เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์
ไว้เป็นหลักพิจรณา และปฏิบัติของพระสาวกในการดำเนินชีวิต
และเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ปาติโมกข์ ตามรูปศัพท์ มีความหมายว่า
ทำผู้รักษาให้พ้นจากกิเลส และทุกข์
แบ่งออกเป็น อาณาปาติโมกข์ กับ โอวาทปาติโมกข์
ในที่นี้จะกลาวเฉพาะ โอวาทปาติโมกข์

โอวาทปาติโมกข์ คือ โอวาทหรือคำแนะนำสั่งสอนที่ไม่มีการปรับโทษ
ประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
อธิบายความหมายของสมณะและบรรพชิต
หน้าที่ที่จะพึงทำ และวิธีการดำเนินชีวิตของสมณะและบรรพชิต


ดังนั้น โอวาทปาติโมกข์
จึงชี้ชัดถึงความเป็นสมณะและบรรพชิตในพระพุทธศาสนา
ที่แตกต่างจากศาสนาอื่น
อันเป็นรากฐานที่ทำให้พระพุทธศาสนามั่นคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2009, 14:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๔. ส า ร ะ

๔.๑ คุณลักษณะของพระพุทธศาสนา

ดังที่ได้กล่าวว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในตอนต้น
พระพุทธเจ้าและพระสาวกได้รับผลกระทบอย่างมากจากสังคมที่ไม่เข้าใจ
พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความยากลำบาก
ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดังกล่าว

จึงตรัสสอนพระสาวกให้มีความอดทน
ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งมั่นไปส่จุดมุ่งหมายอย่างไม่ลดละ

ความอดทน อดกลั้นที่พรั่งพร้อมเช่นนี้เอง
ที่ถือว่าเป็น ตบะ หรือเครื่องเผาผลาญที่ยอดเยี่ยม


นอกจากตรัสสอนเรื่องความอดทนแล้ว
พระพุทธเจ้ายังตรัสยกย่องนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด
ที่นักบวชหรือบรรพชิตหรือสมณะในทางพระพทุธศาสนา

คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น การไม่ทำร้ายผู้อื่น
และการเป็นผู้สงบเยือกเย็น
ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง


ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างจากนักบวชในศาสนาอื่น
ที่มักปฏิบัติไปในทางสุดโต่ง

เนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวกับการแสดงคุณลักษณะของพระพุทธศาสนาดังกล่าวมานี้
ปรากฏอยู่มีอยู่ใน โอวาทปาติโมกข์ คาถาแรกที่ว่า

ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่า นิพพานเป็นธรรมอันยอดเยี่ยม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2009, 14:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๔.๒ หลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน

พระพุทธเจ้าได้สรุปหลักธรรมคำสอน
ที่พระสงฆ์จะนำไปสั่งสอนประชาชนให้ยึดถือปฏิบัติ
ดังปรากฏอยู่ในโอวาทปิโมกข์คาถาที่สองว่า

การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
การทำความดีให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์


หลักการปฏิบัติของพระพุทธศาสนา
หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า
หัวใจของพระพุทธศาสนา ทั้ง ๓ ประการนี้
สรุปแล้วคือ “ไตรสิกขา” อันได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง


นอกจากนั้นการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำในตอนท้ายของคาถาที่สองนี้ว่า

“นี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

เป็นการสร้างความมั่นใจแก่พระสงฆ์สาวก
ในการที่จะนำเอาหลักปฏิบตินี้ไปเผยแผ่ว่า

ไม่เพียงแต่พระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้นที่สอนอย่างนี้
แม้พระพุทธเจ้าในอดีตและในอนาคตก็ทรงสอนอย่างนี้เช่นกัน


จึงเป็นการรับรองให้เกิดความเชื่อมั่นว่า
หลักธรรมทั้ง ๓ ประการนี้เป็นหลักการที่ถูกต้อง

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ม.ค. 2009, 14:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๔.๓ คุณสมบัติของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักปฏิบัติของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ไว้ในคาถาที่สาม กับอีกครึ่งคาถาว่า

การไม่ว่าร้ายผู้อื่น
การไม่เบียดเบียน
การสำรวมในพระปาฏิโมกข์
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การประกอบควาเพียรในอธิจิต
นี้คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงคุณสมบัติของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา
เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยดี และประสบความสำเร็จว่า

จะต้องไม่ว่าร้ายผู้อื่น
มุ่งที่จะแสดงแต่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องเท่านั้น
จะต้องไม่ทำร้ายผู้อื่น แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน
เพราะบรรพชิตจะต้องมีความแมตตาต่อสรรพสัตว์

ส่วนการสำรวมในพระปาฏิโมกข์
เป็นการระมัดระวังตัวเองอย่างเข้มงวดกวดขัน
ควบคุมตัวเองให้อยู่ในหลักการอย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้นบรรพชิตยังจะต้องรู้จัก
ประมาณการในการบริโภคอาหาร
เป็นหลักการที่ให้พระสงฆ์ทำตัวเป็นผู้เลี้ยงง่าย
ใช้ปัจจัย ตามที่ได้รับการถวาย

เพราะพระสงฆ์จะต้องอาศัยพุทธบริษัทเพื่อการดำรงชีพ
ไม่ควรทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่อุบาสกอุบาสิกาผู้อุปถัมภ์เหล่านั้น


ยิ่งกว่านั้น บรรพชิตควรนั่งหรือนอนในที่อันสงัด
ยินดีที่จะอย่ในที่อันสงบ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
ทำให้มีเวลาในการบำเพ็ญเพียรมากขึ้น
และต้องประกอบความเพียรในอธิจิต
หรือการฝึกฝนพัฒนาจิตของตนให้มากขึ้น
เพราะมีเวลามากกว่าฆราวาส
ที่ต้องวุ่นวายกับการประกอบกิจการงาน และการเลี้ยงชีพ

ในท้ายของคาถานี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำอีกครั้งว่า

“นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย”

เพื่อให้พระสงฆ์ได้ทราบว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีงาม
จึงได้รับการสั่งสอนสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน
จึงควรนำไปปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติของตนเอง
ในฐานะนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ที่จะต้องเดินทางไปเทศนาสั่งสอนชาวบ้านและชุมชนต่างๆ
เพื่อประโยชน์สุขของคนเหล่านั้นเป็นสำคัญ สมดังพระดำรัสที่ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายขอเธอจงจาริกไป
เพื่อประโยชน์แก่ชนจำนวนมาก
เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก และความสุขและเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”


ดังนั้นสาระสำคัญแห่งวันมาฆบูชานี้
ถือได้ว่า เป็นการสรุปหลักปฏิบัติทั้งหมดที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา
จนกล่าวได้ว่า วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม


หลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้า
ได้ทรงแสดงแก่พระสงฆ์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป

ได้แก่ ความอดทน อดกลั้น การปฏิบัติเพื่อการดับกิเลส
การไม่ร้ายคนอื่น การไม่ทำร้ายคนอื่น การไม่เบียดเบียนคนอื่น
การละความชั่ว การทำความดี
การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
การระมัดตนเองไม่ให้ประพฤติผิดทำนองคลองธรรม
การกินอยู่แต่พอประมาณ


ทั้งหมดนี้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้แม้ในสังคมปัจจุบัน

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 ม.ค. 2009, 23:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

:b44: กรณีศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรม

หลักธรรมสำคัญของวันมาฆบูชามีหลายประการ
เพราะถือว่า วันมาฆบูชาเป็นวันพระธรรม
เนื่องจากพระพุทธเจ้าวางหลักธรรม
ที่ถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้ใน โอวาทปาติโมกข์

หลักธรรมสำคัญประการหนึ่งที่ได้กล่าวถึงไว้ใน โอวาทปาติโมกข์
และได้ถูกนำมาใช้ป็นข้อปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรม
หรือทศพิธราชธรรม คือ ขันติ หรือความอดทน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภุมิพลอดุลยเดช
ทรงประกอบด้วบทศพิธราชธรรม ข้อที่ว่า ขันติ เป็นอย่างยิ่ง


ดังจะเห็นได้จากพระราชจริยาวัตรของพระองค์ท่าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
ทรงเป็นผู้มีขันติธรรม คือ ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงยิ่ง
ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ
อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย


ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในชนบท
ถิ่นทรุกันดารห่างไกลความเจริญเพียงใด
และไม่ว่าจะมีภยันตรายและอุปสรรคมากเพียงใด
พระองค์ก็ไม่ทรงท้อพระราชหฤทัย
แลไม่ทรงหวั่นไหวต่อปัญหา อุปสรรค
ทั้งนี้เป็นเพราะพระองค์ทรงมีขันติธรรมอย่างสูงยิ่งนั่นเอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทว่า

ขันติเป็นคุณธรรมที่คู่กับวิริยะความเพียรหรือวิริยะอุตสาหะ
เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความพยายาม
และความชำนาญในทักษะในความรู้ที่จำเป็น
เพื่อให้งานที่ทำดำเนินไปได้

ขันติหรือความอดทนนั้น
มีส่วนที่ทำให้ไม่เกิดความท้อใจง่ายๆ
ความอดทนจึงมีส่วนที่ทำให้มีความพยายาม
เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ
ทั้งความขยันหมั่นเพียร และความอดทน
เป็นคุณสมบัติที่ช่วยบังคับตัวเองให้ต้องสู้
เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ราษฏรของพระองค์อยู่เสมอ
ให้มีความขยันหมั่นเพียร อดทนอดกลั้น
ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งมีใจความว่า

"...ขอให้ทุกคนมีความพยายามช่วยกัน
และพยายามที่จะขยันหมั่นพียรพยายามอดทนต่อไป
แล้วสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ส่วนรวม
แก่บ้านของเรา แก่ครอบครัว และแก่ตนเอง
เชื่อว่าถ้าทุกคนมีความอดทน มีความเพียรพยายาม
ก็เชื่อว่าหมู่บ้านนี้จะเจริญรุ่งเรือง”


จะเห็นได้ว่า ขันติ หรือความอดทนอดกลั้นนั้น
เป็นธรรมะที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับพระมหากษัตริย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวครองสิริราชสมบัติเป็นเวลานานถึงกว่า ๕๐ ปี
และตลอดระยะเวลาครองราชย์มานี้
พระองค์ทรงยึดถือคุณธรรมข้อ ขันติ นี้
ในการบำเพ็ญพระราชภารกิจมาโดยตลอด
และพระราชกรณียกิจต่างๆ ล้วนบรรลุผลสำเร็จด้วยดี
ก็โดยอาศัยความอดทนอดกลั้นอย่างสูงในการบำเพ็ญปฏิบัตินั่นเอง

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 21:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๕. แ น ว ท า ง ที่ พึ ง ป ฏิ บั ติ

วันมาฆบูชา ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติเช่นเดียวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันอื่นๆ
และควรปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ เป็นกรณีพิเศษในวันสำคัญนี้ ดังนี้


๕.๑ แนวทางการปฏิบัติกิจกรรมสำหรับกิจกรรมสำหรับสถาบันต่างๆในสังคม

พุทธศาสนิกชนผู้มุ่งที่จะพัฒนาตนเอง
ตามหลักธรรมแห่งวันมาฆบูชาดังกล่าวข้างต้น
พึงยึดถือแนวทางการปฏิบัติธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
มาประยุกต์ในชีวิตประจำวัน

เพราะพระจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ถือว่าเป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี
นอกจากนั้นพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธายึดมั่นในคุณของพระรัตนตรัย
พึงปฏิบัติตามหลักธรรมอื่นที่นำสุขมาให้อีกดังนี้


๕.๑.๑ แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน

• ให้ทาน

ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรในช่วงเช้า หรือเพล
บริจาคทรัพย์เกื้อกูลผู้ยากไร้
และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

• รักษาศีล

สำรวมระวังกายและวาจา ด้วยการรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘
พร้อมทั้งบำเพ็ญเบญจธรรมสนับสนุน

• เจริญภาวนา

บำเพ็ญภาวนาด้วยการไหว้พระสวดมนต์
และปฏิบัติสมาธิตามแนวสติปัฏฐาน ๔

• เวียนทียน

การเวียนเทียนเป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา
ในการนี้ควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย

๕.๑.๒ แนวทางการปฏิบัติกิจกรรมสำหรับสถาบันต่างๆในสังคม

• กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว

๑) ทำความสะอาด ประดับธงชาติและธงธรรมจักร
และจัดแต่งที่บูชาพระประจำบ้าน

๒) ศึกษาเอกสาร หรือสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา
รวมทั้งหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์
และแนวทางการปฏิบัติธรรมในครอบครัว

๓) นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน

๔) ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์
ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญจิตภาวนา

• กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา

๑) ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติ ธรรมจักร จัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา

๒) ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา
และหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์
และแนวทางปฏัติธรรมในสถานศึกษา

๓) ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ
หรือจัดนิทรรศการประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ
ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม

๔) ประกาศเกียรติคุณนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี

๕) ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด
บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล
ฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญจิตภาวนา

• กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน

๑) ทำความสะอาดบริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติ ธงธรรมจักร และจัดโต๊ะหมู่บูชา

๒) ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา
รวมทั้งหลักธรรม คือโอวาทปาติโมกข์
และแนวทางการปฏิบัติในสถานที่ทำงาน

๓) จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม

๔) ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต ฯลฯ

๕) หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 22:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม

๑) วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน
ประชาสัมพันธ์เรื่องวันมาฆบูชา โดยใช้สื่อทุกรูปแบบ

๒) จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา
และหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์
และแนวทางปฏิบัติเพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น
และตามสถานที่ชุมชน เช่น วัด หรือศูนย์ปฏิบัติธรรม
สนามบิน สถานีรถไฟ สถานนีขนส่ง ศูนย์การค้า
รวมทั้งบนยานพาหนะต่างๆ

๓) เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม

๔) และพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล
ไหว้พระสวดมนต์ สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญจิตภาวนา

๕) รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่างๆให้ ลด ละ เลิก อบายมุข
งดจำหน่ายสุรา และสิ่งเสพติดทุกชนิด

๖) ประกาศเกียรติคุณสถาบัน
หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และสังคม

๗) รณรงค์ให้มีการการรักษาสภาพแวดล้อม
ปลูกต้นไม้ทำความสะอาดที่สาธารณะ

๘) จัดประกวดกิจกรรมต่าง เช่น สวดมนต์ทำนองสรภัญญะ
บรรยายธรรม แต่งคำขวัญ แต่งบทร้อยกรอง
และแต่งเรียงความเกี่ยวกับวันมาฆบูชา

• กิจกรรมเกี่ยวกับวัด

๑) ก่อนถึงวันมาฆบูชา

๑.๑ เจ้าอาวาสแจ้งแก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา
ในวันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ว่าวันพระหน้า
คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันทำพิธีมาฆบูชา

๒) ในวันมาฆบูชา

๒.๑ ภิกษุ สามเณร ศิษย์วัด คนวัด
ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณวัด ปูลาดอาสนะ
จัดตั้งเครื่องสักการะ ตั้งน้ำใช้ น้ำฉัน และประดับธงธรรมจักร

๒.๒ เวลาเช้าและบ่ายมีการฟังพระธรรมเทศนา

๒.๓ เวลาค่ำ ให้ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา
พร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ ถือดอกไม้ พร้อมธูปทียน
ก่อนจุดธูปเทียนให้พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน
ประกาศเตือนใจให้พุทธศาสนิกชน
เกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อการเวียนเทียน
เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วจึงจุดธูปเทียน

๒.๔ พระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชา
แล้วทำประทักษิณ คือ เดินเวียนไปที่ทางมือขวาของตน
หันเข้าหาพุทธสถาน เช่น พระอุโบสถ พระมหาธาตุเจดีย์ เป็นต้น
จนครบ ๓ รอบ แล้วจึงนำดอกไม้ธูปทียนไปปักตามที่ที่กำหนด


๒.๕ จากนั้นภิกษุ สามเณรเข้าไปในพระอุโบสถ
บูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรเย็น
สวด โอวาทปาติโมกขกถา จบแล้ว
ให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรเย็น
แล้วพระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับ โอวาทปาติโมกขกถา

จากนั้นหากพระภิกษุ สามเณร
สวดมนต์ทำนองสรภัญญะได้ ก็ให้สวดด้วย

๒.๖ ก่อนจบกิจกรรมในวันมาฆบูชา
ให้พุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล
ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา
และสนทนาธรรม เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัย


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ก.พ. 2009, 00:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

๖. ป ร ะ โ ย ช น์ ที่ พึ ง จ ะ ไ ด้ รั บ

กิจกรรมของวันมาฆบูชาที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันปฏิบัติ
จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่พุทธศาสนิกชนและสังคมโลกอย่างมาก กล่าวคือ

๖.๑ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนิกชน

๖.๑.๑ เกิดความรู้ความใจเกี่ยวกับความสำคัญของ วันมาฆบูชา
รวมทั้งหลักธรรม คือความอดทน ละเว้นการทำบาป
การไม่เบียดเบียนผู้อื่น และแนวทางที่พึงปฏิบัติ

๖.๑.๒ เกิดความศรัทธา ซาบซึ้ง
ละตระหนักในความสำคัญองพระพุทธศาสนา

๖.๑.๓ เห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตาม โอวาทปาติโมกข์

๖.๑.๔ เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี
รู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง

๖.๒ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นสังคมโลก

คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องความอดทน
อดกลั้น การละชั่ว การไม่เบียดเบียนผู้อื่น

ถือเป็นข้อปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้โลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2009, 16:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• อ ธิ บ า ย ศั พ ท์

• พระสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป

พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป
ประกอบด้วยพระภิกษุได้รับการบวชด้วยวิธี เอหภิกขุอุปสัมปทา

คือ การบวชที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง
เป็นพระภิกษุที่มาจากกลุ่มผู้ซึ่งเคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่นๆ กล่าวคือ

๑. พระอรหันต์จำนวน ๑,๐๐๐ รูป

เดิมเป็นชฎิลที่เป็นศิษย์ของชฎิลเจ้าลัทธิ ๓ พี่น้อง
คือ อุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ

๒. พระอรหันต์จำนวน ๒๕๐ รูป

เดิมเป็นปริพาชกที่เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ
ตั้งตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก

นอกจากพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ยังเชื่อว่า ชฎิลสามพี่น้อง
คือ อุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ
รวมทั้งพระสารีบุตรและพระโมคัลลานะ
ก็น่าจะอยู่ในที่ประชุมพร้อมกับพระบริวารเหล่านั้นด้วย

แต่เนื่องจากในการแต่งภาษาบาลี
มีคตินิยมที่จะคงไว้แต่จำนวนเต็ม
เพื่อง่ายต่อการทรงจำ
ฉะนั้นจึงปัดเศษ ๕ รูปออกไป
ดังนั้นจำนวนของพระสงฆ์ที่มาชุมนุมครั้งนี้ จึงเป็น ๑,๒๕๐ รูป

• อภิญญา ๖

หมายถึง ความรู้ยิ่งยวด มี ๖ อย่าง ได้แก่

๑. อิทธิวิธา หรืออิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ได้
๒. ทิพยโสตญาณ ญาณที่ทำให้มีหูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่กำหนดใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสนุสสติญาณ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุญาณ ญาณที่ทำให้ตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวักสิ้นไป

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2009, 16:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ศาสดาเก่าที่มีชื่อเสียง ๖ ท่าน

เป็นครูผู้เป็นเจ้าลัทธิในสมัยพุทธกาล
มีชื่อเสียง มีศิษย์มาก จำนวน คน คือ

๑. บูรณะกัสสปะ

มีความเชื่อว่า เมื่อบุคคลทำบุญหรือทำบาปเอง
หรือใช้ให้ผู้อื่นทำบุญหรือบาป
ก็ไม่มีผลของการทำบุญหรือผลของการทำบาปนั่นแก่เขา

๒. มักขลิ โคสาล

มีความเชื่อว่า ความเป็นอยู่หรือเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย
ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเป็นไปเอง
ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งได้

แม้การที่จะบรรลุถึงความบริสุทธิ์พ้นทุกข์สิ้นเชิงในวัฏสงสารนี้ก็เป็นไปเอง
มิใช่ด้วยการกระทำใดๆ เป็นเหตุ

๓. อชิตะ เกสะกัมพล

ยึดถือว่า ผลกรรมไม่มี โลกนี้โลกหน้าไม่มี การรู้แจ้งไม่มี
บุคคลและสัตว์ไม่มี เป็นพียงธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกัน ตายแล้วขาดสูญ

๔. ปกุธ ะกัจจายนะ

ถือมั่นว่า สภาวะ ๗ กอง
คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะนี้

ไม่มีใครทำหรือเนรมิต
มีอยู่ยั่งยืน ไม่แปรปรวน
ไม่มีผู้กระทำการใดใดๆ ต่อกัน

แม้การเอามีดตัดศรีษะกัน ก็ไม่มีผู้ใดฆ่าใคร
เป็นแต่การเอามีดผ่านช่องสภาวะ ๗ กองนี้เท่านั้น

๕. นิครนถะ นาฏบุตร

เห็นว่า นิครนถ์เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ

คือ เป็นผู้ห้ามน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง ๑
เป็นผู้กำจัดด้วยน้ำทั้งปวง ๑
เป็นผู้ประพรมด้วยน้ำทั้งปวง ๑
จึงเป็นผู้ถึงที่สุดสำรวมและตั้งมั่นแล้ว

๖. สัญชัย เวลัฏฐบุตร

เชื่อมั่นว่า ถามปัญหาว่า ข้อนั้นเป็นอย่างนั้นหรือ
หากเราจะเห็นว่าเป็นอย่างนั้นก็จะตอบว่าเป็นอย่างนั้น
แต่เราไม่มีมีความเห็นตายตัวเช่นนั้น

เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่
อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.พ. 2009, 16:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• อาณาปาติโมกข์

อาณาปาติโมกข์ ปาติโมกข์
คือ อาณาหรือพุทธบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ
เมื่อมีพระสาวกทำผิดจากความเป็นพระ
และปรับโทษหนักเบาตามความผิดที่เรียกว่า อาบัติ

• ทางสุดโต่ง

หมายถึงข้อปฏิบัติ หรือการดำเนินชีวิตที่ผิดไปจากข้อปฏิบัติสายกลาง
(มัชฌิมาปฏิปทา) มี ๒ อย่าง คือ

๑. การทำตนให้หมกหมุ่น
และลุ่มหลงอยู่กับความสุขในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (กามสุขัลลิกานุโยค)

๒. การทรมานตนให้ลำบาก
เช่นการอดอาหาร การนั่งหรือนอนบนหนาม เป็นต้น (อัตตกิลมถานุโยค)

• คาถาแรก ภาษาบาลีว่า

ขนฺตี ปรมัง ตโป ตีติกฺขา
นิพพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ

• คาถาที่สอง ภาษาบาลีว่า

สพพปาปสฺส กรณํ กุสลสฺสูปสมปทา
สจิตตปริโยทปน เอต พุทธานสาสนํฯ
อธิจิต หมายถึง สมาบัติ สมาบัติ ๘ ประกอบด้วย

~ รูปฌาน ๔

ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ ระดับ อ

๑. ปฐมฌาน

ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก (ตรึก) วิจาร (ตรอง)
ปีติ (อิ่มใจ) สุข (สบายใจ) เอกัคคตถา
(จิตทีอารมณ์เป็นหนึ่ง)

๒. ทุติยฌาน

ฌาน ที่ ๒ มีองค์ คือ คือ ปิตี สุข เอกัคคตา

๓. ตติยฌาน

ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา

๔. จตุตถฌาน

ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา

~ อรูปฌาน ๔

ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ ระดับ คือ

๑. อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)
๒. วิญญาณณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์)
๓. อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์)
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)

• คาถาที่สาม ภาษาบาลีว่า

อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติมกเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมิ ปนฺตญจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํฯ

• ภาษาบาลีว่า

...จรถ ภิกขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย
โลกานุกมฺปาย อตฺถายหิตาย สุขาย เทวมนุสสานํ...”

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2009, 14:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

• ร ะ เ บี ย บ ป ฏิ บั ติ ก า ร เ วี ย น เ ที ย น

การเวียนทียนใน วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา
และวันอาสาฬหบูชา มีระเบียบการปฏิบัติดังนี้


๑. เมื่อถึงกำหนดวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา
ให้ทางวัดประกาศให้พุทธบริษัททราบทั่วกัน (ทั้งชาววัดและชาวบ้าน)
และบอกกำหนดเวลาประกอบพิธีด้วยว่า
จะประกอบเวลาไหนจะเป็นตอนบ่ายหรือค่ำก็ได้ แล้วแต่สะดวก

๒. เมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัททั้งภิกษุ สามเณร
อุบาสก และอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ
หรือลานพระเจดีย์อันเป็นหลักของวัดนั้นๆ

ภิกษุอยู่แถวหน้า ถัดไปสามเณร ท้ายสุด อุบาสกอุบาสิกา
จะจัดให้ชายอยู่กลุ่มชาย หญิงอยู่กลุ่มหญิง
หรือปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่จะกำหนด

ทุกคนถือดอกไม้ ธูปเทียนบูชาตามแต่จะหาได้ และศรัทธาของตน
ควรกะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้จนครบ ๓ รอบสถานที่ที่เดิน
ไม่หมดเสียในระหว่างเดิน

๓. เมื่อพร้อมกันแล้ว ประธานสงฆ์จุดเทียนและธูป
ทุกคนจุดของตนตาม เสร็จแล้ว ถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุด
แล้วประนมมือหันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้น
แล้วกล่าวคำบูชาตามแบบที่กำหนดไว้ ตามประธานสงฆ์จนจบ

๔. ประธานสงฆ์ประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินนำหน้าแถว
ไปทางขวามือของสถานที่เวียนเทียนนั้นจนครบ ๓ รอบ

๕. การเดินขวาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง
ตามธรรมเนียมอินเดียสมัยพุทธกาล

๖. ในแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ
และพระสังฆคุณตามลำดับ ดังนี้

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.พ. 2009, 14:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รอบแรก : ระลึกถึงพระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ


(คำแปล)

เพราะเหตุอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงไกลจากกิเลส
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
ทรงเป็นผู้สามารถฝึกบรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
ทรงเป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้


รอบที่สอง : ระลึกถึงพระธรรมคุณ

สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก
เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ
(อ่านว่า วิญญูฮีติ) (ธรรมคุณ)


(คำแปล)

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
เป็นสิ่งปฏิบัติได้และให้ผลได้โดยไม่จำกัดกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้


รอบที่สาม : ระลึกถึงพระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ (สังฆคุณ)


(คำแปล)

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด
ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่
นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาต้อนรับ
เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี
เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้


รูปภาพ

๕. เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว
นำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่เตรียมไว้
ต่อจากนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถ
หรือวิหารหรือศาลาการเปรียญ แล้วแต่ที่ทางวัดกำหนด

เริ่มทำวัตรเย็นและสวดมนต์
ทั้งบรรชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะธรรมดา
เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติ
และเรื่องที่เกี่ยวกับ วันมาฆบูชา ๑ กัณฑ์ เป็นอันเสร็จพิธี


หมายเหตุ :

- ควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นพุทธบูชา
- ลำดับพิธีกรรมปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม


(มีต่อ)


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 21 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร